มรรคในหมวดศีล มี ๓ ข้อดังนี้
สัมมาวาจา เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ
หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ หมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน ความชั่วที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในขั้นต้น มี ๓ อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม, การครอบครองทรัพย์ไว้โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์, การใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นโทษ ในขั้นสูง เน้นที่ ความรู้เท่าทันเข้าใจขอบเขตแห่งคุณค่า และโทษของทรัพย์ มีจิตใจเป็นอิสระเป็นนาย ไม่เป็นทาสของทรัพย์ ใช้ทรัพย์เพื่อทำประโยชน์และความสุข มิใช่กลายเป็นเหตุเพิ่มทุกข์ เป็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตปัญญายิ่งๆขึ้นไปจนถึงขั้น นิสสรณปัญญา
สาระของศีล
ศีล คือเจตนาอันคิดจะระวังรักษาความประพฤติกายวาจาให้เรียบร้อยดีงามปราศจากโทษ ศีลเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม มีความปกติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันในสังคม รวมถึงแสดงสิ่งที่พึงปฏิบัติในสังคมด้วย ดังที่ท่านจัดธรรมหมวด*สังคหวัตถุอยู่ในหมวดศีล (สังคหวัตถุ ๔ อย่าง ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว) ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง เป็นธัมมานุธรรมปฏิบัติ
คุณค่าของศีล
แยกออกได้เป็น ๒ ด้าน คือ เพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง และเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยเฉพาะในวินัยของสงฆ์ ท่านเน้นความสำนึกในประโยชน์ของผู้อื่นไว้หนักแน่น เพราะวิถีชีวิตของสงฆ์สมควรเป็นไปเพื่อปสาทะ คือ ความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว (การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีล จึงมิใช่เพื่อมุ่งประโยชน์ที่พึงมีแก่ตนจากความเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดพลาดอย่างเต็มที่ แต่ต้องมุ่งเพื่อ การขัดเกลาตน และประโยชน์สุขของสงฆ์ในส่วนรวมและชาวบ้านที่ได้มาเลื่อมใสนั้น)
วัตถุประสงค์ในภาพรวมในขั้นศีล
เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิ ให้พร้อมและสามารถใช้กำลังงานของจิต ให้เป็นบาทฐานของปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระ, เจตนาที่จะงดเว้น หรือการไม่มีความดำริในการที่จะทำความชั่วใดอยู่ในใจ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดวุ่นวายขุ่นมัวหรือกังวลใดๆ มารบกวน จิตใจจึงสงบ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย (ส่วนการไปสวรรค์ พ้นจากอบายภูมิ เป็นต้น เป็นผลพลอยได้ในระหว่าง ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย)
ธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเรียกเป็นมรรค เป็นโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสัมมัปปธานก็ตาม คนตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงจะปฏิบัติได้ผล เปรียบเหมือนคนจะทำงานที่ใช้กำลัง ก็ต้องอาศัยพื้นแผ่นดินเป็นฐาน พ้นจากศีลขึ้นไป แรงหนุนสำคัญในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นตัวเด่น ที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำบ่อยมาก ก็คือ ความไม่ประมาท ความมีกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ
การปฏิบัติ การพัฒนา การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อจับหลักนี้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น ตัวศีลจริงๆแท้ๆ มีเท่านี้ ต่อจากนี้ ก็แบ่งซอยย่อยต่อออกไป เช่น เมื่อจะจัดการฝึกการศึกษาแก่คนพวกไหน กลุ่มใด ความเป็นอยู่อย่างไร ความมุ่งหมายใด เน้นหนักด้านใด ก็แยกย่อยรายละเอียดออกไป เป็น ศีลพระ ศีลสามเณร ศีลชาวบ้าน เป็นต้น
ศีล เป็นสภาพปกติทางกาย วาจา และอาชีวะ ของผู้ที่มีชีวิตดีงามบรรลุภูมิธรรมอันสูงแล้ว สำหรับในคนทั่วไป ศีลขั้นพื้นฐาน ในมรรค ๘ นี้ สาระเดียวกับ ศีล ๕ โดยถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติของมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้อยู่ในภาวะที่เกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาที่สูงขึ้นไป
ศีล ๕ โดยสาระมีดังนี้
๑. งดเว้นจากการเบียดเบียนประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
๒. งดเว้นจากการลักขโมย แย่งชิง ล่วงละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ บริโภคกามแต่ในทางที่ปราศจากโทษ
๔. งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา
๕. งดเว้นจากสุรา ยาเสพติด อันเป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ศีล ให้ดูที่เจตนา ดังแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก พระสงฆ์ทำผิดสิกขาบทโดยไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นอาบัติ, ส่วนคฤหัสถ์ ศีล ๕ ดูที่เจตนาไม่เบียดเบียน อย่างไรก็ตาม เจตนานั้นเป็นของละเอียดไม่ควรตัดสินอย่างง่ายๆเกินไป เช่น ขับรถชนคนตาย ถ้าขับเร็วด้วยความคึกคะนอง หรือดื่มสุรา แม้ไม่เจตนาขับรถชนผู้อื่น แต่ย่อมถือว่ามีเจตนาประมาทชัดเจน เรื่องของศีลถ้าจะให้ดี ท่านจึงว่าควรถือข้างเคร่งไว้ก่อน ขอยกเนื้อหาที่น่าสนใจจากปาฐกถาธรรม จัดโดยชุมนุมพุทธธรรมศิริราช วันที่ ๒๕ ก.พ. ๓๖ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ตอบคำถามที่บุคคลากรทางการแพทย์ถามเกี่ยวกับศีลข้อปาณาติบาต ความโดยย่อดังนี้
การรับประทานยาถ่ายพยาธิเพื่อรักษาโรค ต้องตั้งเจตนาให้ถูกต้อง คือใช้ยาด้วยเจตนาจะรักษาโรค รักษาร่างกาย ไม่ใช่มีเจตนามุ่งร้ายจะทำลายจะฆ่าชีวิตผู้อื่น ก็ไม่เป็นปาณาติบาต ไม่ผิดศีล
ส่วนการทำแท้ง ในกรณีที่มีเหตุผลบางอย่างเช่น การทำแท้งในวัยนักศึกษาซึ่งไม่พร้อมจะมีบุตร หรือเด็กมีความพิการรุนแรง กรณีเช่นนี้เป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง ทำแท้งก็เป็นการฆ่าเด็ก เป็นปาณาติบาต ไม่ทำแท้งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เมื่อเป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง จะทำได้ก็แค่พิจารณาว่าทางเลือกไหน มีคุณหรือโทษมากกว่ากัน โดยใช้หลักในการพิจารณาคือ ตัดสินใจด้วยเจตนาที่ดีที่สุด โดยใช้ปัญญาให้มากที่สุด เมื่อทำด้วยความรับผิดชอบ ไม่ประมาท ไม่ทำไปแบบเอาง่ายๆ ลากเข้าหาตัว สะดวกตัวเข้าว่า ก็พูดได้ว่าบาปน้อยกว่าการฆ่าด้วยเจตนาที่เป็นโทสะเต็มที่ แต่เมื่อทำบาปแล้ว ก็ยอมรับกับตนเองว่าบาป ไม่หลอกตัวเอง ส่วนนี้เป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาต่อไป
ศีล ๕ เป็น มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ (ปุญญาภิสันทสูตร)
ในกรณีของชาวบ้าน การถือศีล ๕ สาระมีเพียงอยู่ในขั้นไม่กระทำชั่ว ยังไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาก้าวไปในวิถีของพระพุทธศาสนา ธรรมชุดที่ถือว่าครบถ้วนสำหรับชาวบ้าน คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ (มนุษยธรรม) หรือ อารยวัฒิ ๕ ซึ่งมีเรื่องการพัฒนา สมาธิ และปัญญาด้วย จึงครบองค์มรรค
ศีลนั้นคลุมไปถึงทานด้วย ซึ่งทานนั้นแม้เป็นในแง่ของการช่วยเหลือผู้อื่น แต่การช่วยผู้อื่นนั้น ก็คือการที่ตัวเองได้ปฏิบัติธรรมและพัฒนาฝึกฝนตนเองไปมากมายเช่นเดียวกัน การบำเพ็ญทาน เป็นจิตตาลังการ คือเป็นอลังการของจิต หมายความว่า ส่งผลทางจิตใจมาช่วยประกอบประดับปรับแต่งจิตให้นุ่มนวล อ่อนโยน โน้มน้อมไปในกุศล เสริมเพิ่มกำลังให้แก่จิต โปร่ง เบา ผ่อนคลาย เอื้อต่อการพัฒนาสูงขึ้นไป เพราะอย่างนี้ แม้จะเป็นอริยสาวก ก็นิยมบำเพ็ญทาน
พุทธพจน์เกี่ยวกับทาน
“ดูกรอานนท์ บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า (น่าจะหมายถึงอย่างมากไม่เกินร้อยเท่า คือ ถ้าเหตุปัจจัยครบถ้วนสมบูรณ์ก็ได้ผลร้อยเท่า), ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า, ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า, ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (พวกฤๅษีที่ได้ฌานสมาบัติ) พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้, จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน และท่านผู้ที่คุณธรรมสูงยิ่งกว่านั้น” (ทักขิณาวิภังคสูตร)
เรื่องตัวเลขในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ๕๐๐ ๑,๐๐๐ ๘๔,๐๐๐ แสนโกฏิ เป็นต้นนั้น ในสมัยพุทธกาลบ่อยครั้งใช้ในลักษณะเป็นสำนวน หมายความว่ามีจำนวนมาก เข้าใจว่าบางครั้งก็ไม่ได้ใช้สื่อถึงจำนวนดังกล่าวตรงๆเสมอไป
“ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง, ผู้ให้ผ้านุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ, ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสะดวก, ผู้ให้ดวงประทีป ชื่อว่าให้ดวงตา, ผู้ใดให้ที่พำนักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทั้งหมด, ผู้ใดสั่งสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย” (กินททสูตร)
“การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรมะ ย่อมชนะรสทั้งปวง” (ตัณหาวรรค)
“ภิกษุทั้งหลาย การให้ธรรม เป็นยอดแห่งทาน” (พลสูตร)
“ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู (ภิกษุทุศีล) มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานแก่สงฆ์ได้เฉพาะในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น (สังฆทาน) ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่ให้เจาะจงไปที่ตัวบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย” (ทักขิณาวิภังคสูตร)
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระนางปชาบดีโคตมีถวายผ้าที่นางทอเองนั้นแก่สงฆ์ โดยตรัสว่าเมื่อถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันได้บูชาทั้งพระพุทธเจ้าและสงฆ์ รวมความว่า คฤหัสถ์เมื่อจะอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ พึงคำนึงถึงประโยชน์ที่สถาบันสงฆ์ในภาพรวมจะได้รับ แม้ในกรณีที่เป็นปาฏิปุคคลิก เมื่อจะเลือกเกี่ยวข้องหรือบำรุงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พึงทำด้วยประสงค์ที่จะให้สงฆ์ดำรงอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากตลอดกาลยาวนาน ดังข้อความในพระไตรปิฏก “ให้ด้วยพิจารณา พระศาสดาทรงสรรเสริญ” (สาธุสูตร)