อุเทสวาระ คือหัวข้อของเนื้อหา หรือเป็นมาติกาที่จะนำไปขยาย
ในอุเทสวาระให้เอาหาระ ๑๖ นัย ๕ มูลบท ๑๘ มามาบอกว่าหาระ ๑๖ คืออะไร, นัย ๕ คืออะไร, มูลบท ๑๘ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อันนี้ไม่แปลให้เพราะต้องท่องอย่างเดียว แต่ในนิทเทศวาระจะบอกอีกครั้งนึงอันนี้คือถ้าไปแปลเฉย ๆ แปลแบบธรรมดา ๆ โดยที่ไม่รู้อรรถะมันแปลแล้วไม่ได้ประโยชน์สักเท่าไหร่ แต่ในอรรถกถาท่านก็แปลให้อะนะ แต่ของอาตมาแปลไม่ได้ ก็เป็นภาษาบาลีทั้งหมดเลย เราจะค่อยไปทําความเข้าใจต่อเมื่อเรียนนิทเทศวาระ
สรุปว่าหาระ ๑๖ ก็ควรจำ เทศนา วิจโย ยุตฺติ ปทฎฺฐาโน ลกฺขโณ จตุพยูโห อาวฎโฎ วิภตฺติ ปริวตฺตโน เนี่ยนะท่องเป็นภาษาบาลีก็อาจจะคุ้นหน่อย ใครถนัดภาษาไทยก็เอา
หาระ ๑๖ ประกอบด้วย
๑. เทศนาหาระ คือ แนวทางในการแสดงประกอบด้วย อัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ จุดมุ่งหมาย อุบายและการชักชวน
๒. วิจยหาระ คือ แนวทางในการจำแนกบท คำถาม และคำตอบ
๓. ยุตติหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบความเหมาะสมโดยพยัญชนะและอรรถ
๔. ปทัฎฐานหาระ คือ แนวทางในการแสดงปทัฎฐาน (เหตุใกล้) โดยอนุโลมนัยและปฎิโลมนัย
๕. ลักขณหาระ คือ แนวทางในการแสดงธรรมอื่นที่มิได้กล่าวไว้โดยตรง
๖. จตุพยูหหาระ คือ แนวทางในการอธิบายวิธี ๔ กลุ่ม คือ
- รูปวิเคราะห์
- ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า, พระสาวก
- เหตุของการแสดงธรรม
- การเชื่อมโยงพระสูตร
๗. อาวัฎฎหาระ คือ แนวทางในการเวียนไปสู่ธรรมที่เสมอกันและไม่เสมอกัน
๘. วิภัตติหาระ คือ แนวทางในการจำแนกสภาวะธรรม (เหตุใกล้ , ภูมิ) โดยทั่วไปและไม่ทั่วไป
๙. ปริวัตตนหาระ คือ แนวทางในการเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม
๑๐. เววจนหาระ คือ แนวทางในการแสดงคำไวพจน์ (คำความหมายเหมือนกัน)
๑๑. ปัญญัตติหาระ คือ แนวทางในการแสดงบัญญัติ
๑๒. โอตรณหาระ คือ แนวทางในการหยั่งลงสู่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ และปฎิจสมุปบาท
๑๓. โสธนหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบบท อรรถของบท คำถามและคำตอบ
๑๔. อธิฎฐานหาระ คือ แนวทางในการโดยสามัญทั่วไปหรือโดยพิเศษ
๑๕. ปริกขารหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุปัจจัย
๑๖. สมาโรปนหาระ คือ แนวทางในการยกขึ้นแสดงด้วยเหตุใกล้ คำไวพจน์ การภาวนา และการละกิเลส
หาระ ๑๖ ที่ข้าพเจ้าแสดงนั้นไม่มีการปะปนระคนกัน โดยเนื้อความ การจำแนกโดยนัยอันสมควรจะมีโดยพิสดาร (ต่อไป) อันนี้ให้เข้าใจหัวข้อเฉย ๆ ถ้าเป็นหนังสือสมัยนี้เราก็เรียกว่าสารบัญ ตรงนี้นะคือในภาษาบาลีเขาไม่ได้พิมพ์แบบเราที่จะบอกสารบัญอยู่ในหน้านี้ บทนี้ เพราะฉะนั้นอุเทสวาระก็คือสารบัญนั่นเอง ส่วนสังคหวาระก็คือคํานํา อุเทสวาระคือสารบัญหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งจะเรียกว่า "มาติกา" ก็ได้ หัวข้อหรือแม่บท ในพระไตรปิฎกเนี่ยเค้าจะไม่อยู่ๆ แล้วแสดงอธิบายไปโดยที่ไม่มีแม่บท จะต้องวางหัวข้อไว้ก่อนหรือเรียกว่าแม่บทแล้วจะขยายไปตามแม่บท พอจบแล้วขึ้นหัวข้อใหม่แล้วขยายไปตามนั้นอันนี้คือลักษณะพระไตรปิฎกเป็นแบบนั้น
นัย ๕ ก็คือ
๑. นันทิยาวัฏฏนัย คือนัยที่เหมือนการเวียนของดอกกฤษณาที่เวียนจากด้านในไปด้านนอก โดยเวียนจากธรรมฝ่ายหลักไปสู่ธรรมคล้อยตาม กล่าวคือ การประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายสังกิเลสด้วยตัณหาและอวิชชาโดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และการนำเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายโวทานด้วยสมถะและวิปัสสนา โดยจำแนกตามสัจจะ ๔
๒. ติปุกขลนัย คือนัยที่งามด้วยส่วนทั้ง ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ในฝ่ายสังกิเลส (ฝ่ายเศร้าหมอง) และงามด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ในฝ่ายโวทาน (ฝ่ายหมดจด) กล่าวคือการประกอบเนื้อความของพุทธพจน์ฝ่ายสังกิเลสด้วยอกุศลมูล ๓ อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะโดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และประกอบเนื้อความพุทธพจน์ของฝ่ายโวทานด้วยกุศลมูล ๓ อันได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ โดยจำแนกตามสัจจะ ๔
๓. สีหวิกกีฬิตนัย คือนัยที่เหมือนการย่างกายของราชสีห์คือพระผู้มีพระภาคเพราะแสดงวิปัลลาสและอินทรีย์ ๕ ที่เป็นปฎิปักษ์ต่อวิปัลลาสเหล่านั้น กล่าวคือ การประกอบเนื้อความของพุทธพจน์ฝ่ายสังกิเลสด้วยสุภสัญญาเป็นต้น โดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และประกอบเนื้อความของพุทธพจน์ฝ่ายโวทานด้วยอสุภสัญญาเป็นต้น โดยจำแนกตามสัจจะ ๔
๔. ทิสาโลจนนัย คือนัยที่สอดส่องกุศลธรรมเป็นต้นโดยความเป็นหัวข้อหลักแห่งนัย ๓
๕. อังกุสนัย คือนัยที่เหมือนตาขอซึ่งเกี่ยวธรรมมารวมกันไว้ในนัย ๓ อย่างแรก
มูลบท ๑๘ แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ
กุศลบท กับ อกุศลบท อย่างละ ๙
อกุศลบท
ชุดที่ ๑ ตัณหา, อวิชา
ชุดที่ ๒ โลภะ, โทสะ, โมหะ
ชุดที่ ๓ วิปลาส ๔ (สุภสัญญา, สุขสัญญา, นิจจสัญญา, และ อัตตสัญญา)
ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลทั้งหมดย่อมถึงการรวมเข้าในอกุศลบทเหล่านี้ อันนี้คือหัวข้อของอกุศล สารพัดอกุศลเนี่ยมีประธานอยู่ ๙ บทนี้แหละ
กุศลบท
ชุดที่ ๑ สมถะ, วิปัสสนา
ชุดที่ ๒ อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ
ชุดที่ ๓ สติปัฏฐาน ๔ (อสุภสัญญา, อสุขสัญญา, อนิจจสัญญา และ อนัตตสัญญา
ถ้าแยกคู่นะคือ ตัณหากับอวิชา จะอยู่ในกลุ่มนันทิยาวัฎฎนัย โลภะ, โทสะ,โมหะ อยู่ในกลุ่มติปุกขลนัย สุภสัญญาเป็นต้นอยู่ในสีหวิกกีฬิตนัย ส่วนสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอกุศลคือกุศล กุศลบทนี้ก็แบ่งออกเป็น ๙ อีกเหมือนกัน คือสมถะกับวิปัสสนา สมถะนี่เป็นตัวกําจัดตัณหา วิปัสสนาเป็นตัวกําจัดอวิชชา อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นเครื่องกําจัดโลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็สุภสัญญาเป็นต้น ก็คือสติปัฏฐานนั่นแหละเป็นตัวที่กําจัดวิปลาส อย่างอสุภสัญญาก็คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อสุขสัญญาก็คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อนิจจสัญญาก็คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อนัตตสัญญาก็คือธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง ก็คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องกําจัดวิปลาส ๔
สรุป
ในอุเทศวาระแบ่งเป็น ๓ กลุ่มนะจํา ๓ กลุ่มเอาไว้ คือ
กลุ่มที่ ๑. หาระ ๑๖ เป็นหลักในการพิจารณาพยัญชนะ (ศัพท์)
กลุ่มที่ ๒. นัย ๕ นันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีฬิตนัย ๓ นัยนี้เป็นหลักในการพิจารณาอรรถะ ทิสาโลจนนัย และอังกุสนัย เรียกว่า กรรมนัยหรือโวหารนัย เป็นเพียงการตรวจดูธรรมที่แสดงแล้วโดยอรรถนัย ๓ อย่างข้างต้นเท่านั้น ไม่มีการพรรณนาอรรถต่างหาก
กลุ่มที่ ๓. มูลบท ๑๘ ประกอบด้วยอกุศลมูล ๙ กุศลมูล ๙
อันเนี้ยอุเทสวาระเค้ามีอยู่เท่านี้เลยตามหัวข้อ หาระและนัยเหล่านี้ ผู้ศึกษาสามารถนำไปใช้ในสูตรทั้งปวงได้ เพราะท่านกำหนดจากพระบาลีแล้วนำมาวางเป็นกฎเกณฑ์ เป็นหลักในการศึกษา ดังนั้นคัมภีร์เนตติจึงจัดเป็นสังวรรณนาสูตรที่ขยายความตามสมควรแก่พระบาลีที่เป็นสังวัณเณตัพพสูตร หรือสูตรที่ควรขยาย
ไม่ทราบครับพอจับอะไรได้บ้างไหม จริงอ่ะนะจับได้ ๓ อย่างเนี่ยใช้ได้ เอาอย่างแรกก่อนนะคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร คัมภีร์นี้ในเนติเพราะนําไปสู่มรรค ผล นิพพาน อันนี้ก็ใช้ได้แล้วหนึ่ง สองศาสนามีกี่อย่าง ๓ ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวช ปริยัติมีสอง คืออรรถกับพยัญชนะ คัมภีร์เนตติแปลว่านําไปสู่มรรคผลนิพพานคัมภีร์เนตติเนี่ยมีหัวข้ออยู่ ๓ กลุ่ม หาระ ๑๖ นัย ๕ มูลบท ๑๘