แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด

กิจจสังคหะ

แสดงการรวบรวมจิต เจตสิก โดยประเภทแห่งกิจชื่อว่า “กิจจสังคหะ

คาถาสังคหะ
ปฏิสนฺธาทโย นาม-  กิจฺจเภเทน จุทฺทส
ทสธา ฐานเภเทน   จิตฺตุปฺปาทา ปกาสิตา ฯ

แปลความว่า บรรดาจิตทั้งหลายที่ปรากฏขึ้น มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น ว่าโดยประเภทแห่งกิจ มี ๑๔ กิจ ว่าโดยประเภทแห่งฐาน มี ๑๐ ฐาน

🔅 อธิบาย

ในบรรดาการงานทั้งหลาย ที่เกี่ยวด้วย กาย, วาจา หรือใจ ต่าง ๆ เหล่านี้ จะสำเร็จลุล่วงลงได้ ก็ล้วนแต่จะต้องอาศัยจิตและเจตสิก เป็นผู้ควบคุมและสั่งการให้การงานที่เกี่ยวด้วย กาย, วาจา ใจ ต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นไปได้จนเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือ ทางกาย ให้สำเร็จเป็นการกระทำต่าง ๆ มีการนั่ง-นอน-ยืน-เดิน-ขีด-เขียน เป็นต้น การงานเหล่านี้สำเร็จลงได้ เพราะจิตเจตสิกสั่งให้กระทำ ถ้าจิตเจตสิกไม่สั่งให้กระทำแล้ว การงานนั้นๆ ก็จะสำเร็จลงไม่ได้

ทางวาจา ให้สำเร็จเป็นการพูด, การอ่าน, การร้องเพลง, ร้องไห้, การปาฐกถา, การแสดงธรรม, การด่าทอ-บริภาษ เป็นต้น เหล่านี้สำเร็จลงได้เพราะจิตและเจตสิกสั่งให้กระทำ ถ้าจิตและเจตสิกไม่สั่งให้พูดแล้ว การงานนั้นก็จะสำเร็จลงไม่ได้แน่นอน

ทางใจ การงานที่เกี่ยวกับใจ มีการคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ นั้น จิตและเจตสิกเป็นผู้สั่งตนเองให้กระทำการคิดถึง ไม่ได้สั่งให้กายหรือวาจากระทำ อุปมา


ปกิณณกสังคหวิภาค จิต เจตสิกนั้น เหมือนหัวหน้าผู้บริหารงานต่าง ๆ มีหน้าที่สั่งให้ผู้อื่นทำ คือ กายและวาจาเป็นผู้กระทำการงาน เป็นการทำงาน, การพูด และสั่งตนเอง คือ สั่งให้ จิต-เจติก คิดนึกเรื่องราวต่างๆ อีกด้วย ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า จิต เจตสิก เกิดขึ้นและดับไปเหมือนกระแสน้ำ มีความเป็นไปแห่งจิต เจตสิกรวดเร็ว ดุจแล่นไปในอารมณ์อยู่ตลอดเวลาและด้วยสามารถยังกิจต่างๆ ให้สำเร็จหลายๆ อย่าง โดยที่จิต เจตสิกนั้นเป็นประธานในธรรมทั้งปวง มีการนั่ง, นอน, พูด และคิดนึก เป็นต้น

ฉะนั้น จิต เจตสิกทุกดวงที่ปรากฏขึ้นนั้น ย่อมมีหน้าที่การงานของตน ๆ อยู่เสมอ จิต เจตสิกจะปรากฏขึ้นโดยไม่มีหน้าที่การงานอะไรเลยนั้นย่อมไม่มี อนึ่ง การทำกิจการงานของจิต เจตสิกนั้น จำเป็นต้องมีสถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานนั้น สถานที่ทำกิจของจิต เจตสิกเหล่านี้ ชื่อว่า ฐาน

ถ้าจะอุปมาแล้ว จิต เจตสิก เปรียบเหมือนผู้ทำงาน กิจ เปรียบเหมือนการงานต่าง ๆ ฐาน เปรียบเหมือนสถานที่ทำงาน ความสำเร็จแห่งการงานต่างๆ นั้น จึงย่อมประกอบด้วย จิต เจตสิก กิจ คือ หน้าที่การงาน และฐาน คือ สถานที่ทำงาน เรื่องจิต เจตสิกนั้นได้แสดงมาแล้วในปริจเฉทก่อนๆ ต่อนี้ไปจะได้แสดง กิจและฐาน โดยลำดับต่อไป


แสดงกิจของจิต ๑๔ 

หน้าที่ของจิต เจตสิก ที่ทำกิจการงานทั้งหมดนั้น มีอยู่ ๑๔ อย่าง คือ

๑. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ คือ หน้าที่ของจิต ที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นสืบต่อไปในภพใหม่ เป็นขณะจิตแรกที่ปรากฏขึ้นในภพใหม่นั้น และจะปรากฏขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้นในภพชาติหนึ่ง ๆ

๒. ภวังคกิจ ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ คือ จิตที่ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ หมายความถึงรักษากรรมวิบากของรูปธรรม นามธรรม สืบต่อจากปฏิสนธิวิบากจิต และปฏิสนธิกัมมชรูป ให้ดำรงอยู่ได้ในภพนั้นๆ ตราบเท่าอำนาจแห่งชนกกรรมจะส่งผลให้เป็นไปเท่าที่อายุสังขาร จะพึงตั้งอยู่ได้ ภวังคจิตนี้ เป็นหน้าที่ตามธรรมดาของจิต ที่จะต้องทำกิจนี้อยู่เสมอ จิตจะหยุดทำกิจนี้ ก็ต่อเมื่อขณะที่มีอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันมาคั่นตอน ให้จิตขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันเสียเท่านั้น พ้นจากการขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่แล้ว จิตจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาองค์แห่งภพนี้อยู่เสมอตลอดเวลา

๓. อาวัชชนกิจ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏใหม่ คือ จิต ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ ที่มาถึงตนทั้งทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร เป็นจิตขณะแรกที่ทิ้งจากภวังคกิจ แล้วจะต้องทำหน้าที่อาวัชชนกิจนี้ทันที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นจิตที่ทำหน้าที่ต้อนรับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันภพ กล่าวได้ว่าเป็นจิตดวงที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่

๔. ทัสสนกิจ ทำหน้าที่เห็น คือ จิตที่ทำหน้าที่เห็นรูปารมณ์ จิตนี้มีชื่อเรียกว่าจักขุวิญญาณเพราะอาศัยจักขุวัตถุรู้เห็นรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาททำหน้าที่เป็นจักขุวัตถุแล้วทัสสนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่เห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่เห็นนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ทัสสนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นในจักขุทวารวิถีเท่านั้น

๕. สวนกิจ ทำหน้าที่ได้ยิน คือ จิตที่ทำหน้าที่ได้ยินสัททารมณ์ จิตนี้มีชื่อว่าโสตวิญญาณเพราะอาศัยโสตวัตถุเกิด เพื่อได้ยินสัททารมณ์ ถ้าไม่มีโสตปสาททำหน้าที่เป็นโสตวัตถุแล้ว สวนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินจะเกิดขึ้นไม่ได้และจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ สวนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ขณะที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นในโสตทวารวิถี

๖. ฆายนกิจ ทำหน้าที่รู้กลิ่น คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้กลิ่นคันธารมณ์ จิตนี้ชื่อว่าฆานวิญญาณ เพราะอาศัยฆานวัตถุรู้กลิ่นคันธารมณ์ถ้าไม่มีฆานปสาททำหน้าที่เป็นฆานวัตถุแล้วฆายนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นก็มีขึ้นไม่ได้ และกิจที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นนี้ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ฆายนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะที่ฆานวิญญาณเกิดขึ้นในฆานทวารวิถี

๗. สายนกิจ ทำหน้าที่รู้รส คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้รสารมณ์ จิตนี้เรียกว่าชิวหาวิญญาณ เพราะอาศัยชิวหาวัตถุรู้รสารมณ์ ถ้าไม่มีชิวหาปสาททำหน้าที่เป็นชิวหาวัตถุแล้ว สายนกิจจิตที่ทำหน้าที่รู้รสารมณ์ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่รู้รสนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ สายนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ชิวหาวิญญาณ ที่เกิดในชิวหาทวารวิถี

๘. ผุสนกิจ ทำหน้าที่รู้สัมผัสกาย คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้การกระทบโผฏฐัพพารมณ์ จิตนี้ชื่อว่ากายวิญญาณ เพราะอาศัยกายวัตถุเพื่อทำกิจรู้ การกระทบถูกต้องสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ถ้าไม่มีกายปสาทเพื่อทำหน้าที่เป็นกายวัตถุแล้วผุสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้ การกระทบโผฏฐัพพารมณ์ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่ผุสนกิจนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ ผุสนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะกายวิญญาณเกิดในกายทวารวิถีเท่านั้น

๙. สัมปฏิจฉนกิจ ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ในปัญจทวารวิถีหนึ่ง ๆ สัมปฏิจฉนกิจจะเกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น

๑๐. สันตีรณกิจ ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉนกิจในปัญจทวารวิถีจิตหนึ่ง ๆ สันตีรณกิจจะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ โวฏฐัพพนกิจ คือ จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ โดยความเป็น กุศล, อกุศล เป็นต้น จิตนี้ ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารวิถีในวิถีจิตที่สมบูรณ์ วิถีจิตหนึ่ง ๆ ย่อมเกิดได้ขณะจิตเดียว ในวิถีจิตที่ไม่สมบูรณ์ คือ ในโวฏฐัพพนวาระ อาจเกิดได้ ๒-๓ ขณะ

๑๒. ชวนกิจ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์ ๖ ด้วย กุศลจิต, อกุศลจิต, สเหตุกกิริยาจิต, หสิตุปปาทจิต และโลกุตตรวิบากจิต ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ที่เป็นกามวิถีแล้ว ส่วนมากเกิดติดต่อกัน ๗ ขณะ และในอัปปนาวิถี อาจเกิดขึ้นได้มากมายจนประมาณมิได้ก็มี

๑๓. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ  คือ จิตที่ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนจิตเสพแล้ว ในกามอารมณ์ทั้ง ๖ ที่มีกำลังแรง ในวิถีจิตทีรับอติมหันตารมณ์หรือวิภูตารมณ์ ซึ่งมีจิตที่ชื่อว่า ตทาลัมพนจิต แล้วจะทำตทาลัมพนกิจ และเป็น ๒ ขณะจิตสุดท้ายในวิถีจิตที่เป็นตทาลัมพนวาระ

๑๔. จุติกิจ ทำหน้าที่ดับสิ้นไปจากภพ คือ จิตที่ ทำหน้าที่สิ้นจากภพปัจจุบัน เป็นจิตดวงสุดท้ายที่จะปรากฏในภพชาตินั้น และจะปรากฏได้เพียงขณะจิตเดียว ในภพชาติหนึ่ง คล้ายคลึงกับปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำหน้าที่จุตินี้ เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตนั่นเอง


แสดงการจำแนกกิจ ๑๔ โดยจิต

๑. ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันติรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘  ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง
๒. ภวังคกิจ จิตที่ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง

๓. อาวัชชนกิจ จิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่ มี ๒ ดวง คือ : -

  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

๔. ทัสสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่เห็น มี ๒ ดวง คือ :-

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง

๕. สวนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ได้ยิน มี ๒ ดวง คือ :-

  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง

๖. ฆายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่น มี ๒ ดวง คือ :-

  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง

๗. สายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้รส มี ๒ ดวง คือ :-

  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง

๘. ผุสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ถูกต้องสัมผัส มี ๒ ดวง คือ :-

  • กายวิญญาณ ๒ ดวง

๙. สัมปฏิจฉนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ มี ๒ ดวง คือ :-

  • สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง

๑๐. สันตีรณกิจ จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ มี ๓ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ มี ๑ ดวง คือ :-

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

๑๒. ชวนกิจ จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์ มี ๕๕ ดวง คือ :-

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง
  • มหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

๑๓. ตทาลัมพนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ มี ๑๑ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต ๓ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง

๑๔. จุติกิจ จิตที่ทำหน้าที่ดับสิ้นไปจากภพ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง


แสดงการจำแนกจิตโดยประเภทแห่งกิจ

๑. จิตที่ทำกิจได้ ๕ อย่าง มี ๒ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ทำกิจ ๕ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. สันตีรณกิจ
  • ๕. ตทาลัมพนกิจ

๒. จิตที่ทำกิจได้ ๔ อย่าง มี ๘ ดวง ได้แก่ มหาวิปากจิต ๘ ทำกิจ ๔ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. ตทาลัมพนกิจ

๓. จิตที่ทำกิจได้ ๓ อย่าง มี ๙ ดวง ได้แก่ มหัคคตวิปากจิต ๙ ทำกิจ ๓ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ

๔. จิตที่ทำกิจได้ ๒ อย่าง มี ๒ ดวง ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ทำกิจ ๒ อย่าง คือ :-

  • ๑. สันตีรณกิจ
  • ๒. ตทาลัมพนกิจ

มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ทำกิจ ๒ อย่าง คือ :-

  • ๑. โวฏฐัพพนกิจ
  • ๒. อาวัชชนกิจ (มโนทวารวิถี)

๕. จิตที่ทำกิจได้ ๑ อย่า มี ๖๘ ดวง (หรือ ๑๐๐ ดวง) ได้แก่

ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทำกิจ อาวัชชนกิจ (ปัญจทวารวิถี)
จักขุวิญญาณ ๒ ทำกิจ ทัสสนกิจ
โสตวิญญาณ ๒ ทำกิจ สวนกิจ
ฆานวิญญาณ ๒ ทำกิจ ฆายนกิจ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ทำกิจ สายนกิจ
กายวิญญาณ ๒ ทำกิจ ผุสนกิจ
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ทำกิจ สัมปฏิจฉนกิจ
อกุศลจิต ๑๒ ทำกิจ ชวนกิจ
หสิตุปปาทจิต ๑ ทำกิจ ชวนกิจ
มหากุศลจิต ๘ ทำกิจ ชวนกิจ
มหากิริยาจิต ๘ ทำกิจ ชวนกิจ
มหัคคตกุศลจิต ๙ ทำกิจ ชวนกิจ
มหัคคตกิริยาจิต ๙ ทำกิจ ชวนกิจ
โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ทำกิจ ชวนกิจ

แสดงการจำแนกเจตสิก ๕๒ โดยกิจ ๑๔ มี ๗ นัย

๑. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๑ กิจ มี ๑๗ ดวง :-

  • อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้นและอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น ทำหน้าที่เสพอารมณ์ เป็นชวนกิจอย่างเดียว
  • วิรตีเจตสิก ຕ ดวง ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ เป็นชวนกิจ 

๒. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๔ กิจ มี ๒ ดวง คือ :

  • อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๔ อย่าง คือ ปฏิสนธิกิจ,ภวังคกิจ, จุติกิจ,ชวนกิจ

อธิบาย อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงนี้ ถ้าประกอบกับมหากุศลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๔, รูปาวจรกุศลจิต ๔, รูปาวจรกิริยาจิต ๔ ทำหน้าที่ชวนกิจ แต่ถ้าประกอบกับรูปาวจรวิบาก ๔ ทำหน้าที่ ๓ อย่าง คือ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ รวมอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ทำกิจได้ ๔ กิจ ดังกล่าวข้างต้น

๓. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๕ กิจ มี ๒๑ ดวง คือ :-

  • ฉันทเจตสิก ๑ ดวง
  • โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
  • ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง

เจตสิกทั้ง ๒๑ ดวงนี้ทำหน้าที่ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. ชวนกิจ ๕. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย ฉันทเจตสิก ๑, โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙, ปัญญาเจตสิก ๑ รวมเจตสิก ๒๑ ดวงนี้ ไม่ประกอบในอเหตุกจิต ๑๘ จึงเว้นกิจที่อเหตุกจิตทำหน้าที่ ๙ กิจ คือ อาวัชชนกิจ, ทัสสนกิจ, สวนกิจ, ฆายนกิจ, สายนกิจ, ผุสนกิจ, สัมปฏิจฉนกิจ, สันตีรณกิจ และโวฏฐัพพนกิจ ซึ่งกิจทั้ง ๔ นี้ เป็นหน้าที่ของอเหตุกจิตโดยเฉพาะ ฉะนั้น จึงคงทำหน้าที่ได้เพียง ๕ กิจ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง

๔. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๖ กิจ มี ๑ ดวง คือ :-

  • ปีติเจตสิก ทำหน้าที่ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. สันตีรณกิจ ๕. ชวนกิจ ๖. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย ปีติเจตสิกนี้
๑. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็นอกุศล, กุศล, กิริยา และผลจิต ย่อมทำหน้าที่ ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับโสมนัสสันตีรณจิต ทำหน้าที่สันตีรณกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็นรูปาวจรวิบาก ๓ ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ
๔. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็น มหาวิบาก ๔ ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และตทาลัมพนกิจ

๕. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๗ กิจ มี ๑ ดวง คือ

  • วิริยเจตสิก ทำหน้าที่ ๗ กิจ คือ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. อาวัชชนกิจ ๕. โวฏฐพพนกิจ ๖. ชวนกิจ ๗. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย วิริยเจตสิกนี้
๑. ประกอบกับอกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิตและผลจิต ทำหน้าที่ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับมโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ และ โวฏฐัพพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับมหาวิบากจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๔. เมื่อประกอบกับมหัคคตวิบากจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ

๖. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๙ กิจ มี ๓ ดวง คือ :-

วิตกเจตสิก, วิจารเจตสิก, อธิโมกข์เจตสิก ทำหน้าที่ ๙ กิจ ได้แก่

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒.ภวังคกิจ 
  • ๓.จุติกิจ 
  • ๔. อาวัชชนกิจ 
  • ๕. สัมปฏิจฉนกิจ
  • ๖. สันตีรณกิจ
  • ๗. โวฏฐพพนกิจ
  • ๘. ชวนกิจ
  • ๙.ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย วิตก วิจาร และอธิโมกข์เจตสิก ๓ ดวงนี้
๑. เมื่อประกอบกับอกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิต และผลจิต ก็ทำหน้าที่ ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับมโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ และ โวฏฐพพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับสัมปฏิจฉนจิต ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ
๔. เมื่อประกอบกับสันตีรณจิต ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ, ตทาลัมพนกิจ, ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ
๕. เมื่อประกอบกับมหาวิบากจิต ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๖. เมื่อประกอบกับมหัคคตวิบากจิต ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ


๗. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๑๔ กิจ มีจำนวน ๗ ดวง คือ :-

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๒ ทำหน้าที่ ๑๔ กิจ คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. อาวัชชนกิจ
  • ๕.ทัสสนกิจ
  • ๖. สวนกิจ
  • ๗. ฆายนกิจ
  • ๘. สายนกิจ
  • ๙. ผุสนกิจ
  • ๑๐. สัมปฏิจฉนกิจ
  • ๑๑. สันตีรณกิจ
  • ๑๒. โวฏฐพพนกิจ
  • ๑๓. ชวนกิจ
  • ๑๔. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ ๑๔ อย่างได้ทั้งหมด การจำแนกกิจโดยจิต และจำแนกจิตโดยกิจได้แสดงมาแล้ว ต่อไปนี้จะได้แสดงฐาน คือ สถานที่ทำการงานของจิตและเจตสิก ซึ่งมีอยู่โดยสังเขป ๑๐ ฐาน

แสดงฐาน ๑๐ อย่าง

๑. ปฏิสนธิฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานสืบต่อภพใหม่
๒. ภวังคฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานรักษาองค์แห่งภพ
๓. อาวัชชนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานพิจารณาอารมณ์ใหม่
๔. ปัญจวิญญาณฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงาน เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, รู้รส, รู้ถูกต้องสัมผัส
๕. สัมปฏิจฉนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานรับปัญจารมณ์
๖. สันตีรณฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานไต่สวนปัญจารมณ์
๗. โวฏฐัพพนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานตัดสินปัญจารมณ์
๘. ชวนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานเสพอารมณ์
๙. ตทาลัมพนฐาน คือ สถานที่ ที่ทำงานรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ
๑๐. จุติฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานสิ้นจากภพ


แสดงการจำแนกฐาน โดยจิต

๑. ปฏิสนธิฐานเป็นสถานที่ทำงานสืบต่อภพใหม่ของจิต ๑๙ ดวง คือ: -

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

๒. ภวังคฐาน เป็นสถานที่ทำงานรักษาองค์แห่งภพของจิต ๑๙ ดวง คือ : -

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

๓. อาวัชชนฐาน เป็นสถานที่ทำงานพิจารณาอารมณ์ของจิต ๒ ดวง คือ :-

  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑

๔. ปัญจวิญญาณฐาน เป็นสถานที่ทำงานในการ เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, รู้รส, รู้ถูกต้องสัมผัส ของจิต ๑๐ ดวง คือ :-

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐

๕. สัมปฏิจฉนฐาน เป็นสถานที่รับปัญจารมณ์ของจิต ๒ ดวง คือ :-

  • สัมปฏิจฉนจิต ๒

๖. สันตีรณฐาน เป็นสถานที่ไต่สวนปัญจารมณ์ของจิต ๓ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต 

๗. โวฏฐพพนฐาน เป็นสถานที่ตัดสินปัญจารมณ์ของจิต คือ :-

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑

๘. ชวนฐาน เป็นสถานที่เสพอารมณ์ของจิต ๕๕ ดวง คือ :-

  • อกุศลจิต ๑๒
  • หสิตุปปาทจิต ๑
  • มหากุศลจิต ๘
  • มหากิริยาจิต ๘
  • มหัคคตกุศลจิต ๙
  • มหัคคตกิริยาจิต ๙
  • โลกุตตรจิต ๘

๙. ตทาลัมพันฐาน เป็นสถานที่ทำงานรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะของจิต ๑๑ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต ๓
  • มหาวิบากจิต ๘
๑๐. จุติฐาน เป็นสถานที่ทำงานสิ้นไปจากภพ ของจิต ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาส้นตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

แสดงการจำแนกจิตโดยกิจและฐาน

คาถาสังคหะ

อฏฺฐสฏฐิ ตถา เทฺว จ   นวาฎฺฐ เทฺว ยถากฺกมํ
เอกทฺวิติจตุปญฺจ—   กิจฺจฐานานิ นิทฺทิเส ฯ

แปลความว่า แสดงจำนวนจิตโดยหน้าที่ และฐาน ตามลำดับ ดังนี้คือ

จิตมีหน้าที่ ๑ และฐาน ๑ มีจำนวน ๖๘ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๒ และฐาน ๒ มีจำนวน ๒ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๓ และฐาน ๓ มีจำนวน ๙ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๔ และฐาน ๔ มีจำนวน ๘ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๕ 
และฐาน ๕ มีจำนวน ๒ ดวง

อธิบาย

จิตที่ทำหน้าที่ ๑ อย่าง ที่ฐาน ๑ ฐาน มีจำนวน ๖๘ ดวง คือ :-

จักขุวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
โสตวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ สวนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ฆานวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ฆายนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ชิวหาวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ สายนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
กายวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ผุสนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทำหน้าที่ อาวัชชนกิจ ที่ อาวัชชนฐาน
สัมปฏิจฉนจิต ๒  ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ ที่ สัมปฏิจฉนฐาน
ชวนจิต ๕๕ ทำหน้าที่ชวนกิจ ที่ ชวนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๒ อย่าง ที่ฐาน ๒ ฐาน มีจำนวน ๒ ดวง คือ :-

โสมนัสสันตีรณจิต ๑ 
- ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ ที่ สันตีรณฐาน
- ทำหน้าที่ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน
มโนทวาราวัชชนจิต ๑
- ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ ที่ อาวัชชนฐาน
- ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ที่ โวฏฐัพพนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๓ อย่าง ที่ฐาน ๓ ฐาน มีจำนวน ๙ ดวง คือ :-

มหัคคตวิบากจิต ๙
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๔ อย่าง ที่ฐาน ๔ ฐาน มีจำนวน ๘ ดวง คือ :-
มหาวิบากจิต ๘
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน
- ทำหน้าที่ ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๕ อย่าง ที่ฐาน ๕ ฐาน มีจำนวน ๒ ดวง คือ :-
อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน
- ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ ที่ สันตีรณฐาน
- ทำหน้าที่ ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน

๑.๓๐ ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”

ขณะจิตหนึ่งๆ ประกอบด้วยขณะเล็ก ๓ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรไป ขณะจิตเล็ก ๓ ขณะนี้รวมเป็นขณะจิตใหญ่ขณะ ๑ ขณะจิตใหญ่เกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปธรรมจึงดับหน ๑ กล่าวคือ จิต เกิดดับเร็วกว่า รูป ๑๗ เท่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการของจิตแบบที่เรียกว่า “อติมหันตารมณ์” ซึ่งเป็นจิตที่รับรู้ทางทวาร ๕ (ปัญจทวารวิถี) ประกอบด้วย ๑๗ ขณะจิตเล็ก ดังนี้

ขณะที่ ๑ อตีตภวังคจิต ภวังคจิตที่สืบต่อมา
ขณะที่ ๒ ภวังคจลนจิต ภวังคจิตเริ่มไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ
ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทจิต จิตขาดจากกระแสภวังค์ของอารมณ์เก่า
ขณะที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนจิต จิตขึ้นสู่ปัญจทวาร, คำนึงถึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ (ถ้าเป็นมโนทวารวิถี ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต)
ขณะที่ ๕ ปัญจวิญญาณจิต จิตรับรู้อารมณ์ในปัญจทวาร คือ เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ขณะที่ ๖ สัมปฏิจฉันนจิต จิตรับเอาอารมณ์จากปัญจวิญญาณ
ขณะที่ ๗ สันตีรณจิต จิตพิจารณาไต่สวนเปรียบเทียบอารมณ์
ขณะที่ ๘ โวฏฐัพพนจิต จิตตัดสินอารมณ์, กำหนดอารมณ์
ขณะที่ ๙-๑๕ ชวนจิต การแล่นไปในอารมณ์ เกิดดับอยู่อย่างนี้ติดต่อกัน ๗ ขณะ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยจะเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) อยู่ใน ๗ ขณะนี้
ขณะที่ ๑๖-๑๗ ตทาลัมพนจิต จิตยึดหน่วงเอาอารมณ์ตามชวนะ เป็นการเกิดวิบากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ก่อนตกภวังค์

ในรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถีดังข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (เรียกว่า อติมหันตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัวจนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔ จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏมีกำลังน้อย (ปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นอ่อนกำลังเกินไป (อติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย เรียกว่าเป็นโมฆวาระ

ส่วนในมโนทวารวิถี เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ แล้วเกิดเป็นวิถีจิต ๗ ขณะต่อไปเลย ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฏเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย

กรณีอื่นๆยังมีอีก เช่น เมื่ออ่อนกำลังชวนจิตเกิดแค่ ๖ ขณะก็มี, ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ, ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลังยิ่ง อย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดเพียง ๔-๕ ขณะ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะ ไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้เป็นต้น



๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, วิญญาณขันธ์ (ศัพท์คำว่า “อารมณ์” ในภาษาบาลีหมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือ จิตระดับวิถี กับ จิตระดับภวังค์

วิถีจิต คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ วิถีจิตเป็นจิตภาคปฏิบัติการ จะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) ปรุงแต่งในวิถีจิตนี้เอง

ภวังคจิต คือ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ภพ+องค์) เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภวังคจิตเป็นจิตส่วนวิบาก (คือส่วนที่เป็นผล)

ตามแนวพระอภิธรรมเรียกวิญญาณขันธ์ว่าจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นลำพังโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าจิตแล้วไม่ว่างจากอารมณ์ (คือเมื่อมีจิตแล้วต้องมีสิ่งที่จิตเข้าไปรู้ หรืองานของจิตเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ) ถ้าจิตไม่จับยึดอารมณ์ในปัจจุบันก็ต้องจับยึดเอาอารมณ์ในอดีต แม้แต่ขณะหลับสนิท จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ภวังคจิตก็ยึดธรรมารมณ์ในอดีตเป็นอารมณ์ และถือว่าสรรพสังขารธรรมของจิตเกิดดับทุกขณะ สืบสันตติเรื่อยไปดุจดังสายน้ำในแม่น้ำซึ่งไหลไม่ขาดสาย จนกว่าจะถึงภาวะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภวังคจิตจึงดับสนิท

ประเด็นที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับภวังคจิต คือ
ประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะถูกบันทึกไว้ในภวังคจิตทั้งหมด

กรรมของเราสั่งสมสืบมาในภวังคจิตนี้ จึงเป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ทั้งนี้เป็นการ สั่งสม เคลื่อนย้าย เกิดดับ ไปในลักษณะของสังขตธรรม ไม่ได้เป็นอัตตา ยืนโรง ฝืนกระแสอยู่)

ภวังคจิต คือ มโน เป็นอายตนะที่ ๖ (มโนทวาร) อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต (ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพหรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ภายนอก

ภวังคจิตเป็นจิตส่วนหลักหรือส่วนใหญ่ของชีวิตเรา จะเรียกว่าเป็นจิตยืนพื้น จิตตสันดาน หรือปกติจิตก็ได้

ภวังคจิตทำงานเกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย และนำพาชีวิตไป (แม้แต่ช่วงที่จิตวิถีดับไป เช่น หลับสนิท หรือ หมดสติ ภวังคจิตก็ยังทำงานอยู่)

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นที่ว่า เมื่อพระอรหันต์อนุปาทิเสสนิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ประจักษ์แก่ตนเองก็ไม่สามารถรู้ชัดได้ กล่าวตามตำราคือ เป็นนิพพานธาตุ ซึ่งนิพพานธาตุนี้อาจมีข้อสงสัยว่า คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือ ไม่มีจิตซึ่งเสวยอารมณ์ใดๆเลย ปัญหาข้อนี้ในพระอภิธรรมแสดงไว้ชัดเจน

“ธรรมมีอารมณ์ เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์

“ธรรมไม่มีอารมณ์ เป็นไฉน? รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีอารมณ์

“ธรรมเป็นจิต เป็นไฉน? จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นจิต

“ธรรมไม่เป็นจิต เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นจิต” (มหันตรทุกะ)

    ในบทเดียวกันนี้ยังแสดงอีกว่า อสังขตธาตุ ไม่เป็นเจตสิก, วิปยุตจากจิต, ไม่เจือกับจิต, ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, ไม่เกิดร่วมกับจิต, ไม่เกิดคล้อยตามจิต (แต่จิตเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยะบุคคล) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับภาวะของนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นภาวะที่เข้าใกล้นิพพานที่สุด ท่านก็ว่านอกจาก เวทนา สัญญา ดับแล้ว ขันธ์ส่วนที่เป็นนามธรรมที่เหลืออย่าง สังขาร วิญญาณ ก็เกิดน้อยเต็มที (ในวิสุทธิมรรคท่านใช้คำว่า “ไม่มีจิต” เลยทีเดียว)

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้เป็นเรื่องรายละเอียด ซึ่งการจะทำเข้าใจให้กระจ่าง สิ้นสงสัย ก็ต้องเกิดจากการได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองไปตามลำดับ ท่าทีที่เหมาะสมของผู้ศึกษาอาจจะเพียงแต่พิจารณาลักษณะและภาวะของนิพพานตามตำราให้เข้าใจในหลักการสำคัญๆให้ชัดไว้ก็น่าจะเพียงพอในเบื้องต้น เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “กายก็แตกทำลายแล้ว สัญญาก็ดับแล้ว เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง

“เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น” (ทัพพะสูตร)



ภวังคจิต

ภวังคจิต ภวังคะ หรือ ภะ-วัง-คะ ภว+องฺคะ แปลตามพยัญชนะว่า "องค์ของภพ" มักใช้รวมกับจิต เป็นภวังคจิต ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า จิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสืบต่อสันตติของจิต ย่อมอาศัยการถ่ายทอดข้อมูลจากภวังคจิตจิตดวงเดิม ไปสู่จิตดวงใหม่ ด้วยกระบวนการของการทำงานของภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตเป็นเหตุให้สร้างจิตดวงใหม่ตลอดเวลาก่อนจิตดวงเก่าจะดับไป จึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่ง "ภพ" หรือเป็นเหตุสร้าง"ภพ" 


จิต ในทางศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
๑.วิถีจิต จิตสำนึก
๒.ภวังคจิต จิตใต้สำนึก

ภวังคจิต คือจิตใต้สำนึกในทางศาสนาพุทธหมายถึงเป็นกระบวนการทำงานแบบอัตตโนมัติของจิต จิตใต้สำนึกในความหมายของภวังคจิตนี้จึงอาจแตกต่างจากทางจิตวิทยาภวังคจิต เป็น วิบากจิต คือ จิตใต้สำนึกส่วนลึกที่สุดของจิตเป็นที่สั่งสมอารมณ์จนกลายเป็นอุปนิสัย ภวังคจิต จะเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตในแต่ละวาระ ทำหน้าที่สืบต่อและดำรงภพชาติ ภวังคจิต จะเกิดขึ้นเมื่อวิถีจิตดับและเมื่อเกิดวิถีจิตกลับมาทำหน้าที่ ภวังคจิตก็จะดับลง เมื่อวิถีจิตดับลงภวังคจิตจะเกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีภวังคจิต พอขาดวิถีจิต จิตจะไม่มีการสืบต่อสันตติก็เท่ากับสิ้นชีวิต ภวังคจิต ในขณะที่เปลี่ยนภพจุติใหม่สู่ชาติใหม่ จะใช้ชื่อว่า ปฏิสนธิจิตแทน ซึ่งเป็นขณะจิตแรกของแต่ละชาติ ภวังคจิตจึงสืบต่อภพในระดับเปลี่ยนชาติด้วย ภวังคจิต คือมโนทวารเป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต(ธรรมอันเป็นกลาง ระหว่างกุศลกับอกุศล ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล, กลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพปกติ เมื่อยังไม่ขึ้นสู่วิถีจิตรับรู้อารมณ์ จะเป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ เมื่อรับอารมณ์คือเจตสิก จะกลายเป็นมโนวิญญาณ

มีพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา" จิตที่ประภัสสรในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าหมายถึงภวังคจิต

อธิบายอินทรียสังวรศีล

อธิบายอินทรียสังวรศีล

ในอินทรียสังวรศีลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในลำดับแห่ง 🔎ปาติโมกขสังวรศีล โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุ ดังนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีล
คำว่า เห็นรูป
ด้วยจักษุ อธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูปได้ ซึ่งได้โวหารว่า จักษุด้วยอำนาจแห่งเหตุ ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า จักษุเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกันบุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตซึ่งมีจักขุปสาทเป็นวัตถุ ก็แหละ การพูดที่ประกอบด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมมีได้เหมือนอย่างในคำมีอาทิว่า คนยิงด้วยธนู เพราะฉะนั้น 
อรรถาธิบายในคำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนี้ ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณนั่นเทียว
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิต อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิตว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีนิมิตสวยงามเป็นต้น หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งอาการอันต่างด้วย มือ, เท้า, การยิ้ม, การหัวเราะ, การพูดและการเหลียวแลเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่า อนุพยัญชนะ เพราะกระทำความปรากฏ โดยเป็นที่ปรากฏเนือง ๆ ของกิเลสทั้งหลาย อาการใดปรากฏในสรีระนั้น ก็ถือเอาเพียงอาการนั้น เหมือนพระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่เจติยบรรพต

เรื่องพระมหาติสสเถระ

ได้ยินว่า ขณะเมื่อพระเถระจากเจติยบรรพตมายังเมืองอนุราธบุรี เพื่อเที่ยวบิณฑบาตนั้น ยังมีหญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง เกิดทะเลาะกับสามีแล้วประดับตกแต่งตนอย่างสวยงามเป็นเสมือนเทพกัญญา แล้วหนีออกจากเมืองอนุราธปุรีไปแต่เช้ามืดทีเดียว เมื่อเดินไปเรือนญาติ ได้พบพระเถระเข้าในระหว่างทางพอดี เกิดมีจิตวิปลาสขึ้น จึงหัวเราะเสียอย่างดัง พระเถระมองดูด้วยคิดว่า นี่อะไรกัน แล้วได้อสุภสัญญากัมมัฏฐานที่กระดูกฟันของหญิงนั้น เลยได้บรรลุพระอรหัต ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พระเถระนั้นเห็นกระดูกฟันของหญิงสะใภ้นั้นแล้วก็ ระลึกขึ้นได้ซึ่งอสุภสัญญากัมมัฏฐานที่ตนเคยได้มาแล้วในกาลก่อน ได้บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตทั้งยืน ณ ที่ตรงนั้นนั่นเทียว

ฝ่ายสามีของนางตามหาไปโดยทางนั้นเห็น
พระเถระเข้า จึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ท่านเห็นสตรีอะไร ๆ บ้าง ไหม ?” พระเถระได้ตอบกับชายสามีนั้นว่า “จะเป็นหญิงหรือเป็นชายเดินไปทางนี้ อาตมาไม่ทราบ แต่ว่าโครงกระดูกนี้เดินไปในทางใหญ่”

ฉะนี้
ในคำว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้จึงไหลไป คือพึ่งติดตามไปซึ่งบุคคลนี้ผู้ไม่ปิดซึ่งจักขุนทรีย์ด้วยบานประตูคือสติ คือไม่ได้ปิดจักขุทวาร เพราะการไม่สังวรจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ คือเพราะเหตุแห่งไม่สังวรจักขุนทรีย์ใด
คำว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรจักขุนทรีย์นั้น ความว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดซึ่งจักขุนทรีย์นั้นด้วยบานประตูคือสติ และเมื่อภิกษุปฏิบัติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั่นแลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า รักษาจักขุนทรีย์บ้าง ถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์บ้าง 

สังวร อสังวร ไม่มีที่จักขุนทรีย์

ในคำว่า ย่อมถึงซึ่งความสังวรในจักขุนทรีย์นั้น อันที่จริง ความสังวรหรือความไม่สังวร ย่อมไม่มีที่จักขุนทรีย์ดอก ความมีสติหรือความเผลอสติก็หาได้บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุปสาทไม่ ก็แต่ว่า กาลใดอารมณ์คือรูปมาสู่คลองจักษุ (รูปกระทบตา) กาลนั้นเมื่อ ภวังคจิต เกิดดับ ครั้ง > กิริยามโนธาตุ (หมายเอาปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำอาวัชชนกิจ* (กิจคือการนึกเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไปแต่นั้น จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้น ทำทัสสนกิจ (กิจคือการเห็นรูป) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากมโนธาตุ (หมายเอาสัมปฏิจฉันนจิต) เกิดขึ้น ทำปฏิจฉันนกิจ (กิจคือการรับเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอาสันตีรณจิต) เกิดขึ้น ทำสันตีรณกิจ (กิจคือการพิจารณารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอามโนทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำโวฏฐพพนกิจ (กิจคือการตัดสินรูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป ลำดับต่อจากกิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้น ชวนจิต ก็แล่นไป ๗ ขณะ สังวรและอสังวรมีขณะแห่งชวนจิต แม้ในสมัยเหล่านั้น สังวรก็ดี อสังวรก็ดี ย่อมไม่มีในภวังคสมัยนั่นเทียว ย่อมไม่มีในอาวัชชนสมัย เป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้าว่า ความทุศีล ความเผลอสติ ความไม่รู้ ความไม่อดทน หรือความเกียจคร้าน เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต อสังวรก็ย่อมมีได้ แหละอสังวรนั้นเมื่อมีอยู่โดยทำนองนี้ ท่านเรียกว่า ความไม่สังวรในจักขุนทรีย์

(* 
อาวัชชนกิจ หน้าที่ของจิตคือรำพึงถึงอารมณ์ หมายถึง กิจของวิถีจิตที่รู้อารมณ์ เป็นขณะแรกทางทวารทั้ง ๖ จิตที่ทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง เป็นอเหตุกิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง คือ
๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวาร
๒. มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร)

เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า เมื่ออสังวรนั้นมี แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันไม่รักษาแล้ว ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันไม่รักษาแล้วตลอดแถว 
ข้อความที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนประตูเมือง ๔ ประตูไม่ได้ปิด ถึงจะปิดประตูเรือน, ยุ้งฉางและห้องหับอันเป็นภายในอย่างเรียบร้อยแล้วก็ตาม แม้ถึงกระนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาไม่คุ้มครองสิ่งของทั้งมวลอันอยู่ภายในเมืองนั่นเทียว เพราะเหตุว่าโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูเมืองแล้วจะทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้อยู่ฉันใด เมื่อโทษทั้งหลายมีความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ชวนะ ครั้นความไม่สังวรมี
อยู่ที่ชวนะนั้น แม้ทวารก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมี อาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน นี้คือลำดับแห่งวิถีจิตที่เกิดขึ้นในทางจักขุทวารเป็นธรรมนิยม ต้อง 🔎เรียนพระอภิธรรมประกอบด้วย จึงจะเข้าใจแจ้งชัด สำหรับผู้เรียนพระอภิธรรมแล้ว แม้จะไม่แปล พอได้ยินศัพท์ก็เข้าใจได้ เช่นคำว่า อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ และกิริยามโนธาตุ วิปากมโนธาตุ เป็นต้น

แต่เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ นั้น แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันรักษาแล้วเช่นกัน 
ที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูเมืองปิดแล้ว ถึงเรือนทั้งหลายที่อยู่ภายในเมืองเป็นต้นมิได้ปิดประตู แม้ถึงกระนั้น ก็ได้ชื่อว่ารักษาดีแล้วคุ้มครองดีแล้ว ซึ่งสิ่งของทั้งมวล ที่มีอยู่ภายในเมืองนั่นแล เพราะเหตุว่า เมื่อปิดประตูเมืองทั้ง ๔ ประตูแล้ว โจรทั้งหลายย่อมเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ แม้ทวารก็ชื่อว่ารักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันรักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังบรรยายมา แม้ถึงความสังวรจะเกิดขึ้นอยู่ที่ขณะแห่ง ชวนะ ท่านก็กล่าวว่าความสังวรในจักขุนทรีย์ ฉะนี้ แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า ฟังเสียงด้วยโสตะ เป็นต้น ก็มีอรรถาธิบายโดยทำนองเดียวกันนี้นั่นเที่ยว

นักศึกษาพึงทราบว่า เมื่อว่าโดยย่อแล้ว อินทรียสังวรศีล นี้ มีอันเว้นจากการยึดถือซึ่งนิมิต อันเป็นที่ตามผูกพันแห่งกิเลสในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้





พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร


ประมาณปี พ .ศ. ๑๒๐๐ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราธบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งมากนั้นให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์ได้อาศัยพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์มาเป็นหลักในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ+ธัมมะ+อัตถะ+สัง+คหะ
อภิ = อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ = สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ = เนื้อความ
สัง = โดยย่อ
คหะ = รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึงคัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็ว พระอภิธรรมแบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉทมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงเรื่องธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อและโดย พิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบาก จิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงเรื่องเจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเพื่อปรุงแต่งจิต มี ทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภท เจตสิกฝ่ายกุศลและเจตสิกฝ่ายอกุศล

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค แสดงการนำจิตและเจตสิกมาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่
– ความรู้สึกของจิต (เวทนา)
– เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ)
– หน้าที่ของจิต (กิจ)
– ทางรับรู้ของจิต (ทวาร)
– สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์)
– ที่ตั้งที่อาศัยของจิต (วัตถุ)

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้วจะทำให้รู้กระบวนการทำงานของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญหรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิดประตูให้เกิดจิตบุญหรือจิตบาป จิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับการวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือการวางใจอย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ ) หากเราได้เข้าใจก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้จิตบาปเกิดขึ้นได้

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะ เกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษยภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ ) ขณะเวลาใกล้จะตาย ภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรวางใจอย่างไรจึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าตายแล้วต้องเกิดทันที มิใช่ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบายเรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาคและนิพพาน เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตและเจตสิก อันเป็นนามธรรมมาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูป ร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็นรูปต่างๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึงสมุฏฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่างๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร ในตอนท้ายได้กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานว่ามีสภาวะอย่างไร อันจะทำให้เข้าใจเรื่องของพระนิพพานได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค เมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มา จากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความสุขและธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ ในสภาวะความเป็นจริงแล้วกุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจและไม่รู้จักกับกุศลและอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรมที่ควรรู้ที่สำคัญๆได้แก่ อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทานยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น) อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์) , ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่ง สภาพ ของตน ), อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ ),โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลการตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏ ฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้ายยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุติโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึงความแตกต่างของสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตเกิดความสงบ และเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ) เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำสมาธิหรือสมถกรรมฐานนั้นเป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญสมถกรรมฐานถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุข อยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น
จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า จิต + เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตต่างก็มีการเกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป – เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนอะไรของใคร ไม่มี ใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็จะสามารถประหารกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด



อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


วิกิ

ผลการค้นหา