พิจารณาเวทนา พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ ผู้เสด็จไปดีแล้วผู้รู้แจ้งโลก ผู้ฝึกสารถีที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้จำแนกแจกแจงพระธรรมอันประเสริฐ

ขอนอบน้อมแด่พระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงเคารพบูชา เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงปรากฏชัดได้ด้วยตัวเอง

ขอนอบน้อมแด่พระอริยสงฆเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ตรัสรู้อริยสัจตามพระผู้มีพระภาคเจ้า

ขอความเจริญในธรรมจงบังเกิดมีแก่พวกท่านทั้งหลาย

 👉 กดฟังเสียงได้ที่นี่🔊
พิจารณาเวทนา
 ธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก

ก็ไม่มีอะไรในโลกเนี่ยนะที่น่ากลัวเท่ามิจฉาทิฎฐิ มิจฉาทิฎฐิเนี่ยน่ากลัวที่สุดในโลก มันขวางทุกเรื่องหมด แล้วก็ไม่มีใครคิดด้วยนะว่าฉันเป็นมิจฉาทิฎฐิ  ฉันเนี่ยจะต้องอยู่ฝ่ายถูกต้องเสมอ ก็ไม่มีใครคิดว่าตัวเองอยู่ฝ่ายมารง่ายๆ หรอก ฉันอยู่ฝ่ายเทพหมดอะ ถ้าอยู่สมัยพุทธกาลนะ ถึงอยู่กับกลุ่มพระเทวทัตก็ยังคิดว่ากลุ่มตนถูกต้องอีกนั่นแหล่ะ พระเทวทัตนี่ไปสอนศากยะคนหนึ่ง (คนในตระกูลของเจ้าชายสิททัตถะ)

เทวทัตแกบอกว่า “นี่ฉันเนี่ยเสียหายเพราะสมณะโคดมมากมายเลยรู้ไหม ฉันเคยมีน้องสาว(พระนางยโสธรรา พิมพา) เขาก็บวชทิ้งให้น้องสาวฉันเป็นม่าย แล้วฉันนี่ก็เป็นคนที่ผูกพันธ์กับหลานมาก(พระอานนท์) หลานของฉันก็ไปบวช ฉันก็อยู่ห่างหลานไม่ค่อยได้ ก็เลยต้องบวช ทีนี้พอฉันบวชเข้ามาดูสิ แต่ละวันแต่ละวันเนี่ยนะ สมณะโคดมไม่ได้หาความเจริญให้ฉันแม้แต่อย่างเดียวเลย แบบนั้นเถอะเป็นศัตรูกันตลอด แกฟังดูนะว่าฉันเนี่ยไม่ได้รับความยุติธรรมขนาดไหน” 

เทวทัตจะพูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จ้าวศากยะคนนั้นเชื่อเลยนะว่าเออพระเถวทัตถูกพระพุทธเจ้ากลั่นแกล้งจริงๆ ยังเอาพระเทวทัตเป็นฝ่ายถูกต้องอยู่ดี และยังมีพวกที่ไปฝักใฝ่ในพระเทวทัต เขาก็ถือความถูกต้องแบบของเขาอ่ะนะ ฉะนั้นในโลกนี้ ใครยืนอยู่ตรงไหน ก็มองตัวเองถูกต้องได้หมดอะ เชื่อสิ่ ขนาดฉันโกรธมันยังไม่ผิดเลย คนผิดมันหายากมากเลยนะ แต่ถ้าตั้งต้นการศึกษาด้วยสุจริตธรรม จริงๆแล้วน่าจะสมบูรณ์ที่สุดและว่าสุจริต ๓ สําคัญที่สุด พระพุทธองค์ตรัสว่าสมจริยายกับธมฺมจริยายก็คือความประพฤติสงบทางกายทางวาจาและก็ทางใจ เนี่ยนะความประพฤติเป็นธรรม ทางกาย, ทางวาจาและก็ทางใจ ๓ ประการนี่แหละถือว่าเป็นพื้นฐานเป็นบาทที่ที่สําคัญมากมาก ฉะนั้นการที่จะกล่าวคําใดออกไปนั้นถ้าหากว่าขาดการทบทวนพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจะสร้างความเสียหายโดยมากและก็ไอ้ความเสียหายนั้นตอนกล่าวมันก็สุขโสมนัส พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าธมฺมสมาทานบางอย่างตอนประพฤติเนี่ยมีความสุข แต่ว่าผลให้เป็นทุกข์


ธมฺมสมาทานที่ตอนทํานั้นเป็นสุขแต่ว่าผลกลับเป็นทุกข์ ทีนี้พอผลที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นมาก็จะรําพึงรําพันในตอนหลังกัน สมมุติถ้าอกุศลวิบากมันให้ผลนะ คนโดยมากก็จะครวญครางในภายหลังว่า"ทําไมความทุกข์จึงมาลงที่ฉัน คนอื่นทําไมไม่เป็นเหมือนฉันบ้าง ทําไมฉันทุกข์จังเลย" เนี่ยนะอันเมื่อโทมนัสเกิดขึ้นก็จะโทษใคร เพราะว่าไม่ได้สํารวมไม่ได้ระวังในต้นเหตุ ฉะนั้นเหตุสําคัญที่สุด

อย่างการศึกษาพระธรรมตามพระไตรปิฏกเหมือนกัน แปลว่าเรามีโอกาสค้นคว้าขนาดไหนและก็จําคําสอนได้ขนาดไหน จําและจําแม่นยําขนาดไหน ที่มาที่ไปเนี่ยชัดเจนขนาดไหน ถ้าหากว่าศึกษายังไม่มากนักอะไรไม่มากนักและก็ปฏิเสธก่อน คนอย่างนั้นน่ะน่าเห็นใจที่สุดเลยนะ น่ากลัวที่สุด สมมุติถ้าหากว่าอย่างยุคนี้นะถ้าจะพูดให้ตรงเลยพูดแบบตามเงื่อนไขกฎธรรมชาติทั่วๆไป ถ้าว่าคําสอนในพระไตรปิฏกไม่ใช่เป็นหนทางเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว คนที่บอกว่าฉันยังมีทางเลือกใหม่ คนนั้นนะโดยการปฏิญญาเท่ากับบอกว่าฉันคือพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ เพราะอะไร? เพราะว่าคนที่จะค้นพบทางคือมรรคมีองค์ ๘ มีอยู่คนเดียวคือพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็แบ่งออกเป็นสองคือ พระปัจเจกพุทธเจ้า คือตรัสรู้แล้วแต่บอกคนอื่นไม่ได้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้แล้วสอนคนอื่นได้ ทีนี้ถ้าหากว่าใครบอกว่าในพระไตรปิฏกเนื้อหาที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามันผิดนะ ที่ถูกมันเป็นอย่างนี้ ซึ่งสิ่งที่ฉันทําอยู่นี่มันถูก ก็เท่ากับบอกกล่อมตัวเองว่าฉันคือพระพุทธเจ้า โดยรวมๆ แล้วผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิก็มักเป็นอย่างนั้น ทีนี้มั่นใจขนาดไหนว่าตนจะพ้นอบายได้ ถ้ามั่นใจแล้วก็เอาเถอะ คือถ้าดีจริง มันก็ควรจัดการมุทิตา แต่ถ้าหากว่าเอาผลของการปฏิบัติของเขาเป็นเกณฑ์โดยลําพัง เราเองก็ไม่ได้เชื่ออะไรมากนัก ก็ถือเอาผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าจริงๆดีกว่า และก็เท่าที่ศึกษาประวัติตามคําสอนในพระไตรปิฏกมาเนี่ย โดยเฉพาะแม้กระทั่งอรรถกถาเป็นต้น ท่านสังวรมากๆเลยนะ คนที่เรียบเรียงคัมภีร์ท่านสังวรมาก ท่านสํารวมมากจริงๆ เรียกว่าคําที่เขียนด้วยความพลั้งเผลอไม่มีเลย ไม่มีจริงๆ ท่านสังวรท่านสํารวมระวังมาก ถ้าหากว่าเราได้ค้นคว้าไปเยอะๆ นะจะรู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ทีนี้คนที่ปฏิเสธส่วนใหญ่ก็คือคนที่ไม่เคยอ่าน แต่ก็มันมีหลักที่ว่านะ ถ้าคนที่ฟังเรื่องศีลแล้วตําหนิเรื่องศีล ขอให้รู้เถอะว่าเขานั้นเป็นผู้ทุศีล ถ้าหากว่าฟังเรื่องสมาธิเรื่องความสงบแล้วเขาตําหนิเรื่องความสงบขอให้รู้เถอะว่าเขาเป็นคนฟุ้งซ่าน ถ้าหากว่าฟังเรื่องปัญญาแล้วเค้าไม่ชื่นชมขอให้รู้เถอะว่าเขาเป็นคนเขลา ก็ถือว่าไม่น่าสนใจอย่างหนึ่ง

ในมหาจัตตารีสกสูตรเนี่ยกล่าวถึงว่า อริยมรรคอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ที่พระองค์จําแนกไว้ดีแล้วขนาดนี้นะ ถ้าสมณพราหมณ์หรือผู้ใดผู้หนึ่งคิดตําหนิขึ้นมา บุคคลนั้นจัดเป็นมิจฉาทิฎฐิบุคคล ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวว่าสัมมาสังกัปปะไม่ดี แสดงว่าเขานี้ยังมากไปด้วยอกุศลวิตก ถ้าบอกว่าสัมมาวาจาที่พระองค์ตรัสไว้ไม่ดี คนที่พูดนั้นก็เป็นคนนิยมมิจฉาวาจา สมมุติว่า..มรรคที่พระองค์จําแนกไว้ดีแล้วเนี่ย เขาว่ามันใช้ไม่ได้ ก็แสดงว่าเขานั้นย่อมยินดีในมิจฉามรรค ถ้าเขายินดีในมิจฉามรรคเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรจําต้องกล่าวอีกแล้วนะก็ถือว่าเป็นคนละแนวกันว่างั้นเถอะ

แต่ถ้าหากว่าอย่างคนที่กล่าวปฏิเสธเป็นต้น ถ้าท่านทรงจําดีแล้วก็เป็นคนที่สมาจารทั้งกายวาจาและอาชีพดีอยู่แล้วเป็นคนพูดก็น่าคิดมากๆ แต่โดยทั่วๆไปแล้วไม่ค่อยพบแบบนั้น แต่ทีนี้ที่กล่าวมานั้นไม่ได้มุ่งหมายไปตําหนิผู้อื่น แต่หมายความว่าถ้าเราศึกษานะเราควรตั้งอตฺตสมฺมาปณิธิหรือควรตั้งจิตให้ชอบไว้ให้ถูกต้องว่าสิ่งที่เราศึกษาเนี่ยนะ ศึกษาไปเพื่ออะไร? เราก็ไม่ได้มุ่งศึกษาไปว่าเราจะไปชนะใครใช่มั้ย ของฉันถูกต้องกว่าของคุณ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ปัญหาที่เราศึกษา อย่างอานิสงส์ของสติปัฏฐานเนี่ย น่าจะบอกไว้ชัดเจนมากๆ เพราะอาตมาชอบมากเลยนะที่กล่าวถึงอานิสงส์ของสติปัฏฐาน เพราะจะเห็นว่า เออเนี่ยแหละจุดหมายที่เราศึกษาเนี่ย เป็นอย่างนี้นะ จํากันได้ทุกคนแล้วนะอานิสงส์ของสติปัฏฐาน

ก็มีผู้ถามว่า อานิสงส์สติปัฏฐาน ๗ นี้เขานับยังไง ? คือ ๕ บรรทัดจริงแต่ขยายเป็น ๗

  • อานิสงส์ที่ ๑) เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย

ข้อหนึ่งนะเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ไอ้คําว่าความหมดจดในที่นี้เนี่ยนะ หมายถึงหมดจดจากอะไร หมดจดหมายถึงว่าความบริสุทธิ์ มีสองอย่างคือทางกายกับทางจิต บริสุทธิ์ทางกายใช่ไหมจึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์ในศาสนานี้ ไม่ใช่ ศาสนานี้ไม่ได้วัดความบริสุทธิ์ที่รูปปกาย แต่ความบริสุทธิ์ต้องบริสุทธิ์ที่จิต ที่นี่ถามว่าจิตนี้ก็แบ่งเป็นสองส่วน ในส่วนที่บริสุทธิ์ กับไม่บริสุทธิ์

ถามว่าจิตไม่บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเนี่ยจิตยังไงจึงจะเรียกว่าจิตเศร้าหมอง ?
จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ, จิตที่เกิดร่วมกับโทสะ, จิตที่เกิดร่วมกับโมหะ
โลภะเป็นอย่างไร, โทสะเป็นอย่างไร, โมหะเป็นอย่างไร เช่น โมหะ ความไม่รู้ ๘ ประการ โทสะคือความขัดเคืองในอารมณ์ทั้งหมด โลภะคือความยึดข้องในอารมณ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะกามคุณ ๕ และก็ยังมีบริวารของโลภะ คือ ทิฐิ กับ มานะ บริวารของโทสะ คือ อิสสา, มัจฉริยะ และ กุกกุจจะ ส่วนโมหะนั้นน่ะบริวารของเขาคืออุทธัจจะ กับ วิจิกิจฉา

แล้วตัวโมหะเขาเองเนี่ย ไม่รู้ ๘ ประการ คือ

๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์
๒. ทุกขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. ทุกฺขนิโรธ อญาณํ ไม่รู้ธรรม อันเป็นที่ดับแห่งทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้ทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์
๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอดีต
๖. อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอนาคต
๗. ปุพฺพนฺตา ปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต
๘. อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกัน ตามนัยปฏิจจสมุปบาท

โมหเจตสิกนี้ เป็นมูล เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง มูล แปลเป็นไทยว่ารากนะถ้าเป็นเผือกมันก็เรียกว่าเหง้าใช่มั้ย เหง้ามันเหง้าเผือก แต่ถ้าเป็นต้นไม้ทั่วๆไปก็เรียกว่าราก บางทีก็เลยเรียกว่ามูลรากหรือว่ารากเหง้าใช้ทั้งรากทั้งเหง้าเลยนะ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ถ้าล่วงมาทางความคิดเฉยๆเรียกว่าอะไร? เรียกว่า มโนทุจริต ถือว่าเป็นความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่สม่ําเสมอ ความไม่สะอาดทางใจ คําใดที่พูดออกมา โดยที่มีมโนทุจจริตพวกนี้เป็นสมุฏฐานเรียกว่าอะไร? เรียกว่า วจีทุจริต และก็กรรมใดที่ทำทางกายคือกายกรรมอ่ะ ได้มีทุจริตเหล่านั้นเป็นสมุฏฐานล่วงมาทางกาย เรียกว่า กายทุจริต

ทีนี้ในทุจริต ๓ ประการเหล่านี้มีเจตนาเกิดร่วมด้วย เจตนานั้นเรียกว่า กรรม ถ้ามันล่วงมาทางกาย ก็เรียกว่ากายกรรม เรียกว่าวจีกรรม และก็เรียกว่ามโนกรรม เพราะฉะนั้นถือว่าอันนี้เป็นความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย ความไม่บริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายเนี่ยเป็นอย่างนี้ สติปัฏฐานพระองค์ตรัสว่าเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายใช่มั้ย คือถ้าเจริญสติปัฏฐานนะ ไอ้ความเศร้าหมองเหล่าเนี้ยจากจะหายไป ละความเศร้าหมองเหล่านี้ได้ทั้งหมดนะ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน

  • อานิสงส์ที่ ๒) เพื่อก้าวล่วงทุกข์
  • อานิสงส์ที่ ๓) เพื่อก้าวล่วงโทมนัส
  • อานิสงส์ที่ ๔) เพื่อก้าวล่วงอุปายาส

แต่ตรงนี้เค้าเรียกทุกข์กับโทมนัสคู่กัน แล้วก็ก้าวล่วงทุกข์กับโทมนัส ทุกข์ก็เน้นทุกข์กาย โทมัสก็เสียใจคือเน้นที่ใจ ถ้าเจริญสติปัฏฐานพ้นจากทุกข์ทางกายและก็ทุกข์ทางใจ 

  • อานิสงส์ที่ ๕) เพื่อความอัสดงอันแปลว่าดับ 
* หมายเหตุ คำว่าก้าวล่วง แบ่งเป็น ๒ คือ ปริเทวะ กับ อุปายาส ในอานิสงค์ ข้อ ๒,๓ คือ ก้าวล่วงปริเทวะ หมายถึง ปริเทวทุกขํ คือ ความคร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์ มีอาการร้องไห้ ร่ำไห้ พิรี้พิไร มีน้ำตาไหล ฟูมฟาย มีสาเหตุจากการที่มารดา บิดา บุตร ภรรยา หรือญาติ ถึงแก่ความตาย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ แล้วทำให้บ่นเพ้อละเมอ ราวกับคนวิกลจริตทุกวันเวลา ส่วน อุปายาสทุกขํ คือ ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นมาจากการประสบภัยพิบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง และอานิสงส์ข้อ ๕ คือ ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส(กายและใจ)
  • อานิสงส์ที่ ๖) เพื่อการบรรลุ อริยมรรค

คือการบรรลุญาญธรรม ญาญธรรมตัวนี้แปลว่าอริยมรรค 

  • อานิสงส์ที่ ๗) เพื่อทํานิพพานให้แจ้ง

เพื่อทําพระนิพพานให้แจ้ง อันนี้ถือว่าอานิสงส์ทั้ง ๗ ประการของสติปัฎฐาน ทั้งหมดเนี่ยนะทั้งสูตรเลย ทีนี้อานิสงส์ทั้งหลายแหล่เนี่ย ถามว่าข้อไหนสําคัญที่สุด? ทั้งหลายเนี่ยนะถือว่ามีความสําคัญที่สุดแล้วก็คือข้อสุดท้าย คือการทําพระนิพพานให้แจ้ง อันใดคนที่แทงตลอดพระนิพพานได้ คนนั้นแสดงว่าได้บรรลุญายธรรมคืออริยมรรค คนที่บรรลุญายธรรมคืออริยมรรคมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเนี้ยเค้าจึงจะละโสกะปริเทวะได้คนที่ละโสกะปริเทวะได้เนื่องจากหมดความทุกข์ทางกายและทางใจคนที่หมดทุกกายทุกข์ใจจริงจริงคือคนตัดกิเลสได้และก็อานิสงส์ทั้ง ๗ ประกาศนี้ก็มันก็จะหมุนรอบตัวกันเอง อธิบายกันเองทั้ง ๗ ประการเหล่านี้ ทีนี้ถ้ามีความเข้าใจว่า อานิสงส์ทั้ง ๗ ประการเนี่ยนะ ควรจะเรียนรู้ควรจะเข้าใจขนาดไหน จึงจะได้อานิสงส์ทั้ง ๗ ประการอย่างนี้ โดยเฉพาะอานิสงส์ข้อแรกๆ เลยใช่ไหม ทําอย่างไรจึงจะละโลภะได้ ทําอย่างไรจึงจะละโทสะได้ ทําอย่างไรจึงจะละโมหะได้ 

ถ้าจับเอาอานิสงส์ ๗ ประการนะแล้วกลับมาศึกษาว่าสิ่งที่เราเรียนเนี่ยคู่ควรกันใหม่ที่จะได้อานิสงส์อย่างนี้ สมมุติถ้าฝั่งนี่เป็นอานิสงส์แปลว่าอะไร? อานิสงส์ หมายความว่า กําไร ทีนี้มาดูเหตุ เหตุเพื่อให้ได้กําไรเหล่านั้นเนี่ยพระพุทธองค์ตรัสบอกว่าสติปัฏฐาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนี่มีเท่าไหร่นะ สติปัฏฐานมี ๓ ใช่มั้ย หนึ่งอารมณ์ของสติ สองหลักการตั้งสติของพระพุทธเจ้า สามตัวสติ ฉะนั้นสติปัฏฐานที่พูดถึงหมายถึงตัวสติ ที่นี้สตินั้นเป็นสติที่เกิดร่วมกับอะไร? สตินั้นต้องเป็นสติที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาในตัวสติที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาเรียกว่าสติปัฏฐานภาวนา

ทีนี้สติปัฏฐานภาวนาเนี่ยคนที่จะเจริญ เจริญยังไง? ยกตัวอย่างก่อนนะ เวทนาเอาเวทนาบรรพที่เรากําลังเรียน เวทนา, เวทนานุปัสสี วิหะระติ (พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมไป), อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา(มีสติ เฝ้าเพียรเผากิเลส ด้วยปัญญาภาวนา) , วิเนยยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง(นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้) ข้อปฏิบัติตามนี้นะจึงจะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ได้อานิสงส์ตามที่กล่าวไปแล้ว ทีนี้โดยคําแล้ว เวทนาสู่เวทนานุปัสสีเนี่ยนะ คํานี้หมายถึงอะไรขันธ์? เวทนาขันธ์, อนุปัสสี ตัวนี้เป็นชื่อของ อนุปัสสนา ๗, วิหะระติ ตัวนี้หมายถึง อิริยาบถ ๔, อาตาปี เป็นชื่อของ ความเพียร, สัมปะชาโน ก็คือเป็นชื่อของ ปัญญา, สติมา ก็คือ ตัวสตินั่นเอง

อีกในหนึ่งท่านอธิบายว่า สัมปะชาโนคือตัววิปัสสนา สติมาเป็นสมถะ ทีนี้ถ้าปฏิบัติถูกต้องนะ ต้องเป็นวินัยวินัยตัวนี้แปลว่ากําจัด กําจัดมีสองอย่างคือ ตทังคะวินัย๑ กับ วิขัมภนวินัย๑ และ (กำจัด ๒ อย่างนี้คือ ตทังคปะหานะ) ก็ละตัวอภิชฌากับโทมนัส อภิชฌา ได้แก่ โลภะ โทมนัส ได้แก่ โทสะ

ทีนี้ค่อยๆมาประกอบคําใหม่นะว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ที่พระองค์ตรัสว่าอานิสงส์ทั้งหลายเหล่านั้นเนี่ยนะต้องเจริญคือ :-

ขั้นที่ ๑ เวทนา สู่ เวทนานุปัสสี
คือเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาโดยอนุปัสสนา ๗ ในเวทนาทั้งหลาย ทีนี้ไอ้เวทนาทั้งหลายเนี่ยนะที่เรากําลังจะเรียนต่อไปคือเวทนา ๙ เวทนานี้มี ๙ นะ แต่ว่าจะพิจารณาจริงๆ ก็พิจารณาได้ทีละหนึ่ง แต่ว่าต้องเอาทั้ง ๙ นั้นแหละมาพิจารณา แต่ว่าพิจารณาทีละหนึ่งโดยอนุปัสสนา ๗ อนุปัสสนา ๗ มีอะไรบ้าง?

    ๑. อนิจจาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ไม่เที่ยง
    ๒. ทุกขาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า เป็นทุกข์
    ๓. อนัตตา วิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน
    ๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า เบื่อหน่าย (เบื่อในวัฏฏะ)
    ๕. วิราคาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า(น่าเบื่อหน่าย) จึงคลายราคะ
    ๖. นิโรธวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ความดับสนิท (นิพพานนั้นพ้นจากวัฎฎะ)
    ๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ความสละคืน (ทวนกลับปฎิจสมุปบาทสายดับ)

ต้องมีอนุปัสสนา ๗ ในเวทนาทั้งหลาย แต่ให้รู้ว่าเวทนานุปัสสี คือมี อนุปัสสนา ๗ พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้ง ๙ แต่ก็จะมีเพิ่มแบ่งเป็นเวทนา ๑๒ ก็มี เดี๋ยวจะกล่าวต่อไปนะ แล้วก็ในระหว่างการเจริญอนุปัสสนาเนี่ยนะไม่เกี่ยงอิริยาบถ เจริญตอนยืนก็ได้, เจริญตอนเดิน, ตอนนั่งและก็ตอนนอน ได้หมด ไม่จํากัดอิริยาบถ ไม่จํากัดอิริยาบทเลยวิหะระติเนี่ยนะ และผู้ที่เจริญต้องเจริญด้วยความเพียรจริงๆ สัมปะชาโนเนี่ยนะคือมีปัญญาบริหารเป็นต้นอย่างดี สติมา คือมีสติ มีสัมปชัญญะเป็นอย่างดี และก็กําจัดอภิชฌาและโทมนัส เมื่อเจริญถูก ต้องเป็นตทังคะปหาน กับ วิขัมภนปะหาน ต้องละอภิชฌาและโทมนัสได้ เพราะอะไร? เพราะว่าสติปัฏฐานที่เรากล่าวเป็นบุพพภาค (คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค) ตอนนี้นะ เป็นสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาคอยู่บุพพภาคแปลว่าส่วนเบื้องต้น สติปัฏฐานเรียกเป็นส่วนเบื้องต้น ถ้าสติปัฏฐานตรงนี้ไม่ใช่ส่วนเบื้องต้นอานิสงส์อันนี้ไม่จําต้องกล่าวใช่มั้ย แต่ว่าสติปัฏฐานที่เรากล่าวนี่ถือว่าเป็นส่วนเบื้องต้นทำปัจจัยให้แทงตลอดญายธรรม คือ อริยมรรค สติปัฏฐานเบื้องต้นที่เจริญ เพื่อให้แทงตลอดญายธรรม คือ อริยมรรค

หลักของโสดาปฏิยังคะ มีอยู่คํานึงว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ทั่วๆไปภาษาไทยนิยมแปลว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็แบ่งเป็นสองคํานะ ธมฺม ก็คือคําว่า ธรรมะ ศัพท์หนึ่ง อนุธมฺมปฏิปตฺติ ก็คือ อนุธรรมะปฎิบัติ ก็เป็นสองคํา ธรรมะตัวนี้ ถ้ายกนะ คือ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่าธรรมะ ส่วนอนุธรรมะ คือ การปฏิบัติธรรม อนุธรรมปฏิบัติอะไร? ก็คือปฏิบัติบุพพภาคเหล่านี้ให้สมควรแก่มรรค ทีนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เราเจริญนี่มันคู่ควรไหมแก่อริยมรรค ที่บอกว่าทำเหตุให้มันคู่ควรกับกําไร(อานิสงส์) ที่กล่าวไว้หรือเปล่า ว่ากําไรนี้ตั้งไว้ใหญ่โตมากเลยนะ ผู้ที่มีปัญญานะเขาฟังแค่นี้เข้าไปปฏิบัติตามได้เลยจริงๆ เพราะตรงนี้เนี่ยนะ คงเข้าใจกันหมดนะ ย้อนมาอีกครั้งนึง ถ้าสงเคราะห์เป็นอริยสัจหน่อยนึงว่าถ้าโดยสัจจะแล้ว การตรัสรู้ธรรมะอย่างไรเสียก็พ้นอริยสัจไม่ได้ใช่มั้ย เมื่อพ้นอริยสัจไม่ได้นะ เวทนาสู่เวทนาเนี่ย คํานี้เท่ากับ เวทนาขันธ์ เมื่อเวทนาขันธ์ก็คือเท่ากับทุกขสัจจะ โดย อภิชฌากับโทมนัส โลภะกับโทสะ อันนี้เท่ากับอะไรสัจจะ = สมุทยสัจจะ โลภะกับโทสะ=อภิชฌากับโทมนัส เนี่ยเป็นสมุทยสัจจะ

ที่นี้ เวทนา สู่ เวทนานุปัสสี คือตัวอนุปัสสนาก็เท่ากับวิปัสสนา แต่ถ้าจะสงเคราะห์มรรคทั่วๆไปแล้วเนี่ยนะอาตาปี คืออะไร? คือ สัมมาวายามะ อาตาปีเป็นสัมมาวายามะ สัมปะชาโน เป็น สัมมาทิฏฐิ สัมปะชาโนเป็นสัมมาทิฏฐิ สติมา ตัวนี้เป็น สัมมาสติ สติมาเป็นสัมมาสติ วิเนยยะ โลเก เป็น สัมมาสมาธิ ได้กี่มรรคละ (๑) สัมมาทิฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ (๔) สัมมาสมาธิ (ห้า สัมมาสังกัปปะ พระอาจารย์สมบัติ จะแสดงร่วมกับสัมมาทิฎฐิ)

อรรถกถาอานาปานสตินิเทศในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่าวิปัสสนามีจํานวนเท่าไหร่ จําต้องมีวิตกจํานวนเท่านั้น วิตกนี้เป็นตัวที่อุปการะต่อวิปัสสนา วิปัสสนาเนี่ยขาดวิตกไม่ได้โดยประกาศทั้งปวง เมื่อพูดสัมมาทิฏฐิแล้ว สัมมาสังกัปปะเท่ากับแสดงแล้วเพราะอะไร? เพราะว่าไอ้ความตรึกแม้นอันใด อันนั้นเป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะว่าในขณะที่พิจารณาหรือในขณะที่เจริญเช่นนี้ เป็นการออกจากวัฎฎะใช่ไหม อันนี้แหละเป็นเนกขัมมะสังกัปปะ เพราะในระหว่างเจริญภาวนานี้เพื่อมุ่งออกจากเวทนา เพื่อออกจากอภิชฌาและโทมนัสความยึดถือ, ความติดข้องในเวทนาทั้งหลาย อันนี้เป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะฉะนั้นได้มรรค คือ เรียกว่าได้มรรคปัจจัย ๕ องค์ แล้วยังไงเค้าไม่เรียกว่าองค์มรรค แต่ก็เรียกว่ามรรคปัจจัย เพราะว่าถ้าองค์ของมรรคหรือว่าถ้าเรียกเป็นมรรคจริงๆแล้วอ่ะ ถ้าเป็นมรรคจริงๆ ต้องหมายถึงในขณะโลกุตระจิต แต่อันนี้เป็นบุพพภาค คือ แปลว่าเบื้องต้นของอริยมรรค ทีนี้เราเห็นแค่ ๕ องค์ขาดไปเท่าไหร่ ขาดไป ๓ ถามว่าทําไมตรงนี้จึงไม่แสดงอีก ๓ ? ไม่จําต้องแสดง เพราะคนที่เจริญอันนี้ ท่านถือว่าคนนั้นอ่ะมีกายกรรมบริสุทธิ์, วจีกรรมบริสุทธิ์ และก็มีอาชีพที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนในสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว เอาเหอะถ้าหากว่าคนที่มีความผิดพลาดทางกายกรรม วจีกรรมและอาชีพนะ เจริญอนุปัสสนาอันนี้ไม่ได้เด็ดขาด

ถามว่าทําไมจึงเจริญไม่ได้? ก็จะถามนะ เอานะสมมติว่าถ้าอาศัยจักขุกับรูป เกิดจักขุวิญญาณใช่ไหมธรรมะ ๓ อย่างประชุมกันเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เวทนามี ๓ ทั้งให้เป็นสุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขขมสุขเวทนา ขณะที่เสวยสุขเวทนาขณะนั้นก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา มีแต่สุขเวทนาล้วนๆ ในขณะที่เสวยทุกขเวทนา ก็ไม่มีอทุกขมสุขเวทนา ไม่มีสุข ไม่มีอุเบกขา มีแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว และขณะที่เสวยอุเบกขาเวทนา ก็ไม่มีสุขเวทนา ไม่มีทุกขเวทนา มีแต่อุเบกขาเวทนาอย่างเดียว แต่ว่าสุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้นมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเสื่อมไป คลายไปดับไปเป็นธรรมดา เหมือนกันนะอุเบกขาเวทนาก็เหมือนกัน แล้วเมื่อกี้นี้พูดถึงมาจากเวทนาจากทวารไหน? ทวารตาใช่ไหมทวารตานี้ก่อให้เกิดเวทนา ๓ หู ก็ ๓ จมูก ก็ ๓ ลิ้น ก็ ๓ กาย ก็ ๓ จากทวารใจก็อีก ๓ เท่ากับเวทนาเท่าไหร่?เวทนา ๑๘ ละ

เอาเวทนา ๓ คูณทวาร ๖ เท่ากับเวทนา ๑๘ ตามเห็นอย่างที่กล่าวไปเมื่อกี้เนี่ยนะ ลองไปเจริญดูนะยังไงสูตรเขาจําไม่ยากแต่ว่าลองไปเจริญดูว่าเจริญได้หรือเปล่าว่างั้นเถอะ ลองไปสมมุตินะไปหลอกใครสักคนหนึ่งไว้ก่อนแล้วก็มาเจริญอย่างนี้ดูนะ ถ้าเจริญได้ ขออาตมายอมรับเลยว่าทําไมเก่งขนาดนั้น ก็เท่าที่รู้จักไม่มีใครเจริญได้ ถ้าผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นะ ถ้าท่านมีทุจริตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ที่ตัวเองนึกแล้วไม่สบายใจเจริญพวกนี้ไม่ได้ ถึงเจริญได้ไม่เกิน ๓ นาที เก่งมากครึ่งชั่วโมงเนี่ยหมดล่ะ แต่ไอ้ที่จะไปเจริญทั้งวันทั้งคืนเนี่ยหมดสิทธิ์ได้ การเจริญเหล่านี้เนี่ยท่านเรียกว่าเจริญแบบสาตัตจจริยาหมายความว่าต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง เจริญต่อเนื่องเป็นต้นแล้วจึงจะได้ผล

เพราะฉะนั้นศีลนี้นับว่าสําคัญมาก ถือว่าเป็นบาทเป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นพื้นฐานเป็นบาทเบื้องต้นของการเจริญวิปัสสนาทั้งหลาย ในเมื่อกี้กล่าวว่าพิจารณาด้วยความเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้นมีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเสื่อมไปคลายไปดับไปเป็นธรรมดา อันนี้กล่าวอนุปัสนาเดียวนะ คือ อนิจานุปัสสนาแล้วไปตามเห็นโดยทุกขานุปัสสนา ตามเห็นโดยอนัตตานุปัสสนา จนคู่ควรแก่อะไร? เห็นแค่ไหนจึงคู่ควรแก่การเบื่อหน่ายในเวทนาทั้งปวง ก็ให้คู่ควรแก่นิพพิทาแล้วเบื่อหน่ายนี้เบื่อหน่ายแค่ไหนจึงเบื่อหน่ายคู่ควรแก่การคลายกำหนัด ถามว่าถ้าคลายกําหนัดเนี่ยจะเอาแค่ไหน ถึงคู่ควรแก่ความไม่ปรารถนาเวทนาอันใหม่ ต้องการดับเวทนาและไม่ต้องการเวทนาอันใหม่ พอที่จะสลัดคืนเนี่ยนะ บอกคืนเวทนาทุกอันเลยเนี่ย ก็ต้องเรียกว่าปฏินิสสัคคา ต้องขนาดนั้นจึงจะได้ อันนี้คงผ่านนะในแง่ของอุเทศวาระ


>>> (มีผู้ถาม) พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก ถึงการบรรลุธรรมของพระจูฬปันถก ซึ่งในประวัติเป็นผู้ที่มีปัญญาทึบมาก ทึบขนาดที่ว่าคาถาเพียง ๔ บท(๔ บรรทัด) ใช้เวลาท่องถึง ๔ เดือนก็ยังจดจำไม่ได้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าให้นั่งลูบผ้าขาว พร้อมภาวนาว่า"ผ้าเปื้อนธุลี" ท่านก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาได้ภายในวันนั้น <<<

(พระอาจารย์ตอบ) เพราะนั่นผู้ที่ให้กรรมฐานเนี่ยคือพระพุทธเจ้าและก็พระองค์ไม่ได้ตรัสเฉพาะแค่(ผ้าเปื้อนธุลี)นั้น อันนั้นเบื้องต้นเฉยๆ แต่ว่าหลังจากนั้นพระองค์ก็มาแสดงธรรมที่ประกาศอริยสัจตรงตามอัทธยาศัย ฟังแล้วท่านได้อภิญญา ได้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ได้เป็นพันๆ ท่านปฏิบัติอยู่ไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้น(ก่อนบรรลุอรหันต์) หมอชีวกโกมารภัจจ์นิมนต์ให้ไปฉันท์ที่บ้าน พระพี่ชายของพระจูฬปันถกนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดกิจนิมนต์ รับกิจนิมนต์ได้ก็รับให้องค์อื่นหมดเว้นน้องชายของตัวเองไว้ ไม่รับนิมนต์ให้ ท่านก็บอกว่าพระองค์นี้(พระจูฬปันถก) ไม่มีวาสนาในพระศาสนา เพราะฉะนั้นท่านสมควรสึกได้แล้ว อยู่ไปมันเสียหายศาสนาเค้านะ พี่ชายนี่ไล่ให้สึกเลย พี่ชายนี่เป็นพระอรหันต์เนี่ยนะ คือพี่ชายเนี่ยคือพระมหาปันถกเป็นเอตทักคะในด้านอรูป ในด้านอรูปฌาน ส่วนน้องชาย(ในเวลาต่อมา) นี้เป็นเอตทักคะในด้านรูปฌาณ จริงๆ ก็เอตทักคะทั้งคู่แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้อัธยาศัยนะ พี่ชายไล่สึกไป ไล่ไปสึก ก็เสียใจมากร้องไห้จะออกไปแล้ว พระพุทธองค์รีบไปยืนรออยู่หน้าวัดโน่นเสร็จแล้วก็บอกว่า อ้าวเธอบวชในศาสนาของเราไม่ใช่หรือ ไม่ได้บวชในศาสนาของพี่ชายเธอนี่อย่าสึกเลย ปลอบใจแล้วก็ให้กรรมฐานไปพิจารณาผ้าขาวอย่างว่านั่นแหล่ะ  ผ้าขาวผืนหนึ่งไปลูบนะแล้วภาวนา รโชหรณํ ผ้าเปื้อนธุลี เนี่ยทีนี้พอท่านนั่งลูบไปเรื่อยๆ เนี่ยนะ ผ้ามันก็เศร้ามองมันก็เปื้อน พอมันผ้ามันเปื้อนเนี่ยมันมีอุปนิสัยของเดิมว่าสมัยหนึ่งท่านเคยเกิดเป็นพระราชา เกิดเป็นพระราชาเนี่ยประทับบนคอช้างแล้วก็เหงื่อมันออกหน้าผากเยอะนะก็เลยเอาผ้า ผ้าขนหนูผ้าเช็ดตัวเช็ดหน้าผาก เช็ดแล้วก็มาพิจารณานะท่านเกิดสังเวชใจขึ้นเป็นอย่างมากเลยตอนนั้น นั่นแหละก็อุปนิสัยอันนั้นได้ พอลูบผ้าไปอุปนิสัยอันนั้นเกิดเข้ามาได้ เลยเบื่อหน่ายในวัฎฎะเห็นทุกข์เห็นโทษขึ้นมาเลย

พอเห็นโทษในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ก็แผ่รัศมีมาเลย ก็มาเหมือนกับประทับยืนแสดงธรรมอยู่เฉพาะหน้า ท่านก็พิจารณาธรรมะแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ที่เป็นเอตทักคะในด้านที่เรียกว่าเนรมิตกายอื่นจากกายนี้นะก็คือมโนมยิทธินั่นเอง เป็นผู้ที่บําเพ็ญบารมีมาแสนกัปป์แล้ว พระจูฬปันถกน่ะบำเพ็ญภาวนามาแสนกัปป์แล้ว คือกรรมที่ทำให้จําอะไรไม่ได้ มีอยู่ในอดีตชาติเนี่ยท่านเป็นคนเก่งมาก เป็นผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก แต่ในตอนที่เรียนพระไตรปิฎกนี่มันมีศิษย์โง่คนหนึ่งอยู่ในนั้นอ่ะ ไอ้ความที่ท่านเป็นคนเก่งก็ชอบไปล้อเลียนเขา เรียกว่าพูดจาถากถาง ไปพูดถากไปถากมาจนคนนั้นเลิกเรียนเลยอะ ก็บอกว่าด้วยกรรมอันนั้นแหละทําให้ท่านจําอะไรไม่ได้เลย จําอะไรไม่ได้แล้วไม่ใช่ชาติเดียวนะ โง่ตั้งหลายชาติ ว่าแล้วก็อย่าไปแซวให้ใครท้อแท้เข้าล่ะ ทําง่ายที่สุดเลยนะมิจฉาวาจาเนี่ย แต่ทางใจนี่มากกว่านั้นอีก มากกว่าวาจาอีก เพราะว่าวาจากว่าจะพูดทีมันก็ต้องรอคนฟังก่อนใช่มั้ย แต่ว่าไอ้คนที่จะพูดอะไรเนี่ยใจมันคิดมาตั้งนานแล้วนะ คิดตั้งหลายตลบแล้ว เพราะฉะนั้นไอ้มโนกรรมเนี่ยน่ากลัวที่สุด


ในหน้าสองนะหน้าสอง

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาอยู่
เสวยทุกขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาอยู่
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่
เสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่
เสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสอยู่
เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยอทุกขสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่

เห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง เห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง เห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง เห็นธรรมะคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง เห็นธรรมะคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง เห็นธรรมะคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง อนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าเวทนามีอยู่เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้วและไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ พิสูจน์เชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

จําง่ายๆ นะมันมีเวทนาอยู่ ๙ ข้อนะ เวทนา ๙ ข้อนั้น ข้อหนึ่งก็เป็นสุขก่อนใช่มั้ย สุขขเวทนา ข้อสองก็ทุกข์ขเวทนา ข้อสามก็อทุกขมสุข เรียกว่าอทุกขมสุขเนี่ยนะคือ อทุกขํ บวก อสุขขํ เอาไอ้นิคหิต  อันนี้มาเป็น ม.ม้า ก็เลยเรียกว่า อทุกขสุข คือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันนี้เท่ากับ ๓ ข้อ และทีนี้ข้อ ๔ ก็คือเอาสุขนั่นแหละมาแบ่งออกเป็นสองประการ คือมีอามิสกับไม่มีอามิส อามิสในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ คือหมายความว่าเป็นเวทนาที่เสวยเพราะอะไร เสวยคือความสุขในกามคุณ ๕ กับที่เกิดจากเนกขัมมะ เนกขัมมะก็คือการออกจากกามนั่นเอง อันนี้เรียกว่าสุขเวทนามีอามิสกับสุขเวทนาแบบไม่มีอามิส ส่วนข้อ ๖ ข้อ ๗ ก็ทุกขเวทนามีอามิสกับทุกขเวทนาไม่มีอามิส ข้อ ๘ ข้อ ๙ ก็คือเหมือนกัน อทุกขมสุขเวทานามีอามิสกับอทุกขมสุขเวทนาแบบไม่มีอามิส ก็เรียกว่าเวทนา ๙ ยังไงก็จําได้แล้วนะ จำ ๓ ก่อนนะ หนึ่งสุข สองทุกข์ สามอทุกขมสุข เสร็จแล้วสุขเเบ่งออกเป็นอย่างละ ๒ ทุกข์ก็แบ่งเป็น ๒ อทุกขมสุข ก็แบ่งออกเป็น ๒ ก็คือมีอามิสกับไม่มีอามิสเท่านี้เอง

ที่นี้เวทนาทั้งหลายเหล่านี้เนี่ยนะ ก็เท่ากับเวทนา ๙ เวทนา ๙ เหล่านี้ ถ้าจะให้เต็มแล้วควรจะมาจากเวทนาที่มาจากทวารตา ทั้งหมดเนี่ยชื่อว่าเวทานามาจากทวารตาอย่างเดียว โดยที่มีอารมณ์เดียวคือ รูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นอารมณ์แล้วก็ได้เวทนา ๙ อย่างงี้ก็ได้ ถ้าจะเอาเวทนาให้พิสดารขึ้นใครที่ชอบคิดอะไรแบบกว้างขวางอะนะ สีเป็นอารมณ์อย่างเดียว บางครั้งก็เป็นสุข บางครั้งก็เป็นทุกข์ บางครั้งก็เป็นอุเบกขา ที่นี้ในความสุขเนี่ยนะก็แบ่งออกเป็นสุข บางครั้งสุขมีอามิสเป็นสุขที่เกี่ยวข้องกับอามิส บางครั้งก็สุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับอามิส มีรูปเป็นอารมณ์นั่นแหละ บางครั้งมีทุกข์ ในทุกข์เหล่านั้นบางครั้งเป็นทุกข์ที่มีอามิส บางครั้งก็เป็นทุกข์ที่ไม่มีอามิส ในอารมณ์เดียวนั่นแหละบางทีก็เป็นอุเบกขา ในอุเบกขานะบางครั้งก็เป็นอุเบกขามีอามิส บางครั้งก็อุเบกขาไม่มีอามิส เพราะงั้นถ้าเป็นอารมณ์ ๖ อารมณ์

อารมณ์ ๖ คูณ เวทนา ๙ อ้าวเท่าไร? ก็จะเอาเวทนาแบบนี้ก็เยอะ แต่ก็มีวิธีคิดอีกตั้งหลายนัยอ่ะ เดี๋ยวข้างหน้าจะกล่าวถึงเวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ จริงๆ แล้วก็คือมาจากแบบใช้วิธีแบบเนี้ย สัมพันธ์กันแบบนี้ว่าอะไรเป็นอะไรได้บ้างนั่นเอง ทีนี้เมื่อเวทนาเยอะๆ อย่างนี้แล้วเค้าเจริญอย่างไร ว่าเกี่ยวข้องกับสี ก็เป็นทั้งสุขทุกข์และอุเบกขา เสียงก็มีทั้งสุขก่อให้เกิดสุขทุกข์และอุเบกขาเนี่ยนะ กลิ่น, รส,โผฐัพพะ, ธัมมารมณ์ก็ก่อให้เกิดสุขทุกข์และก็อุเบกขา แล้วเขาพิจารณาอย่างไร ?

ในอรรถกถานั้นยกมาจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาส ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดย ๑๔ บรรพดังที่พรรณนามานี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะตรัสเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยอาการ ๙ อย่าง จึงตรัสคํามีอาทิว่า กะถัญจะ ภิกขะเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ก็อธิบายว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขขํเวทนํ เนี่ยนะมีอธิบายว่าเมื่อเสวยสุขเวทนาที่เป็นไปทางกายหรือเป็นไปทางจิตก็ย่อมรู้ชัดว่าเรากําลังเสวยสุขเวทนาดังนี้ ทีนี้ในข้อนี้ท่านก็เปรียบเทียบว่า เหมือนทารกทั้งหลายแม้ยังนอนหงายอยู่ในเวลาดื่มน้ํานมเป็นต้น เมื่อเสวยความสุขก็รู้ชัดว่าเราเสวยความสุข ถึงกระนั้นคํานี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไม่เอาความรู้เช่นนั้น เพราะว่าความรู้เช่นนั้นย่อมไม่ละสัตตูปลัทธิ คือสักกายะทิฐินั่นเอง อ่ะนะ สัตตูปลัทธิก็คือสักกายทิฏฐิ ที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ ไม่เพิกถอนสัตตสัญญาทั้งไม่เป็นกรรมฐานทั้งไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา คือถ้าแบบสุขทั่วๆไปนะใครได้รับความสุขอะไรสักอย่างเนี่ย ไอ้ความสุขอันนั้นแบบทารก เรากําลังเสวยสุขอยู่เลย ถ้าแบบนี้ท่านบอกว่าไม่ละสัตตูปลัทธิและก็ไม่ถอนสัตตสัญญา ถ้าไม่ถอนสัตตูปลัทธิก็คือลัทธิที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ก็คือ ลัทธิแปลว่าทิฐิ ที่สําคัญว่าเป็นสัตว์หรือว่าสัตตสัญญา อันนี้เท่ากับอธิบายถึงการถือความเป็นสัตว์เนี่ยนะ โดยที่มีอะไรเป็นอารมณ์ ? มีเวทนาเป็นอารมณ์ เวทนาเหล่านี้ของทิฐิบางกลุ่มสําคัญว่าเราเนี่ยเวทนานี้เป็นอัตตาก็เท่ากับสักกายะทิฐิ เป็นสักกายะทิฐิที่สําคัญว่าเวทนาเป็นเรา เวทนาอันใดเราก็อันนั้น หรือเห็นเราด้วยความเป็นเวทนา หรือว่าเวทนานี้เป็นของเรา หรือว่าเราเนี่ยมีอยู่ในเวทนา หรือว่าเวทนาเนี่ยมีอยู่ในเรา ลักษณะนี้เป็นชื่อของทิฐิ แต่ถ้าพูดทิฐิ ทิฐินี้มีบริวารอยู่สองอย่างคือ ถ้าชุดไหนที่บอกว่าทิฐิมานะ ให้รู้ซะว่า มานะก็มา ตัณหาก็มา มากันทั้งบ้านเลยนะ มากันทั้งหมดเลย ถ้าบอกว่าที่ไหนมีทิฐิ ที่นั่นมีมานะกับตัณหา มาด้วยแล้ว ถ้าพูดหมดทีเดียวมันก็ไม่จบเป็นว่างั้นเถอะ ท่านก็เลยยกพอเป็นตัวอย่างให้

อนึ่งถ้าสุขเวทนาแล้วเนี่ยนะพูดว่าถ้าสําคัญว่าเป็นสัตว์ สุขเวทนานั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งมานะสบายๆ แล้วสุขเวทนานั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา อันนี้สบายมากนะ สุขใครไม่ชอบบ้างว่างั้นเถอะ ผู้ที่ทําปริญญาเข้ารอบรู้ในเวทนาแต่บุคคลทั่วๆไปก็ยินดีในความสุข ถ้าความสุขแบบเนี้ยที่เกิดขึ้นกับทุกคนแล้วถ้ารู้ว่าเออนี่นะฉันกําลังมีความสุข ถ้ารู้แค่อย่างนี้แล้วจัดว่าเป็นเวทนานุปัสสนา ก็คงไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เจริญวิปัสสนา ไม่มีสัตว์ตอนไหนที่ไม่เจริญวิปัสสนาเลย ถ้ารู้อย่างนี้ แค่นี้แล้วเป็นวิปัสสนา 

ทีนี้ถามว่าอ้าวแล้วรู้แบบวิปัสสนานี่เป็นยังไง?
ถ้าสําหรับรู้แบบนี้ปฏิเสธนะ แค่เนี้ย สมมติว่าดื่มน้ำปานะแล้วมันหวานอร่อย แหม…สุขดีจัง ถ้าอย่างนี้เป็นวิปัสสนานะไม่มีใครไม่เจริญวิปัสสนา แต่วิปัสสนาไม่ใช่เช่นนั้น

ส่วนการรู้ของภิกษุนี้ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจริงๆ ต้องละสัตตูปลัทธิได้ คือหมายถึงละทิฐิที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ได้ ถอนสัตตสัญญา สัตสัญญาตัวเนี้ยเท่ากับอัตตวิปลาสนั่นเอง เป็นทั้งกรรมฐานเป็นทั้งสติปัฏฐานภาวนา ทีนี้ก็ความรู้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเนี่ยตรัสหมายเอาการเสวยโดยการรู้ทั่วอย่างนี้ คือคนที่เจริญเวทนานุปัสสนาเป็นคนที่รอบรู้เรื่องเวทนา ก็เลยตั้งคําถามเหล่านี้ขึ้น ถ้าเข้าใจคําถามนี้ดี ก็แสดงว่าเข้าใจเวทนาดี

ถ้าถามว่าใครเสวย ?
คําพูดแบบไทยๆนะเขาบอกใครรู้สึก หรือว่าการเสวยของใคร หรือว่าความรู้สึกเนี่ยมันของใคร หรือว่าเสวยเพราะเหตุใด

คําถามแรกนะเป็นคําถามที่เป็นโมฆะ ว่าการเสวยของใครเนี่ย ไม่ใช่ใครเสวย เพราะไม่ใช่สัตว์,ไม่ใช่บุคคลและก็ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลยอ่ะเวทนาไม่ใช่ใครอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไอ้คําถามว่าใครเสวยก็ไม่ใช่ตอบไม่ถูก ถ้าตั้งคําถามว่าใครเสวย ก็ไม่มีใครอยู่แล้วเอาใครไปเสวยล่ะ แล้วถามว่าการเสวยของใครมาจาก กสฺส เวทนา ตอบว่า ไม่ใช่การเสวยของใคร ไม่ใช่การเสวยของสัตว์หรือบุคคลใดๆ เพราะฉะนั้นปฏิเสธคําถามหนึ่งสองปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นเช่นนั้นนะ ทีนี้ถามว่า กึ การณา เวทนา เพราะเหตุใดจึงเสวย ความว่าก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์เนี่ยจึงมีการเสวย คําถามนี้นะคนที่เจริญเวทนานุปัสสนาจะเข้าใจ บอกว่าเพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์จึงมีการเสวย เข้าใจไหมคำนี้ ก็หมายถึงว่าเวทนาเนี่ยถ้าจะเกิดขึ้นเนี่ยนะถ้าเวทนามีอะไรเป็นปัจจัย ? มีอะไรเป็นปัจจัย ก็มีธาตุใช่มั้ย มีสฬายตนะ  สฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ มีผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เวทนาทีเกิดขึ้นเนี่ยพ้นผัสสะได้มั้ย? ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่รอบรู้เวทนาก็คือรู้จักผัสสะซึ่งเป็นปัจจัยแห่งเวทนา เพราะฉะนั้นเพราะอะไรเพราะว่าไอ้วัตถุเป็นอารมณ์เนี่ย คือวัตถุแห่งเวทนาเกิดขึ้น จึงมีเวทนาเกิดขึ้น เวทนาเกิดขึ้นโดยปราศจากวัตถุได้มั้ย คือหนึ่งนะ ปราศจากตา เวทนาทางตานะถ้าไม่มีตาไม่มีสีไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีผัสสะ เวทนานี้เกิดได้มั้ย? เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีหู ไม่มีเสียง ไม่มีโสตะวิญญาณ ไม่มีโสตะสัมผัส เวทนาเกิดได้มั้ย? เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจมูก ไม่มีกลิ่น ไม่มีฆานะวิญญาณไม่มีฆานะสัมผัสเนี่ยนะเวทนาทางจมูกก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีลิ้น ไม่มีรส ไม่มีชิวหาวิญญาณ ไม่มีชิวหาสัมผัส เวทนานี้ก็เกิดไม่ได้ ทางกายทางใจก็เหมือนกัน เพราะเหตุนั้นเค้ารู้ชัดอย่างนี้ว่าเวทนาทั้งหลายนั่นเองเสวยเพราะธรรมวัตถุแห่งความสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ แต่เพราะถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นย่อมเป็นเพียงโวหารเท่านั้นว่า อหํ เวทยามิ (เราเสวย) ก็คือเป็นสํานวนโวหาร ก็คือเป็นสํานวนเอาไว้พูดคุยกันเท่านั้นแหละ

พระโยคาพจรเมื่อกําหนดอยู่ว่าเวทนานั่นเองเสวยโดยธรรมวัตถุให้เป็นอารมณ์ คือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั่นแหละ ธรรมนั่นแหละให้เป็นอารมณ์อย่างนี้ พึงทราบว่าเธอยอมรู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา เหมือนพระเถรรูปหนึ่งที่จิตตลดาบรรพต ยกตัวอย่างผู้ที่ที่พิจารณาวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาว่าได้ยินว่าพระเถระในคราวอาพาธไม่สบายนอนร้องครวญครางอยู่เพราะเวทนาเนี่ยกล้าแข็ง ทุรนทุรายพลิกกลับไปกลับมาอยู่

ภิกษุหนุ่มรูปนักเรียนถามท่านว่า "ท่านเจ็บตรงไหนขอรับ"
พระเถระก็ตอบว่า "บอกที่เจ็บไม่ได้หรอกเธอ ฉันเสวยเวทนาโดยทําวัตถุให้เป็นอารมณ์"

คือไปพิจารณาไอ้วัตถุเหล่านั้นน่ะคือเวทนาเนี่ยนะ มันเกิดเหมือนกับสมมุติว่าเหมือนกับเสียงตบมือใช่มั้ยถ้าจะรู้เสียงก็แสดงว่ารู้วัตถุกับอารมณ์ ท่านไปพิจารณาตัวนั้นน่ะ เออเนี่ยถือว่ารอบรู้เวทนา ทีนี้ท่านก็เพ่งแต่สิ่งเหล่านั้นนะพวกเนี้ยเป็นปัจจัย เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา พิจารณาตัวเวทนาโดยจับที่ปัจจัยเนี่ยเป็นหลัก

ภิกษุหนุ่มก็เรียนถามว่า "ตั้งแต่เวลารู้ชัดอย่างนั้น ท่านอดกลั้นไว้ไม่ควรหรือขอรับ" เอ้อ… เจริญวิปัสสนาเป็นขนาดนี้ก็น่าจะอดทนกันบ้างอ่ะนะ
พระเถระตอบว่า "ฉันจะอดกลั้นนะเธอ จะไม่บิดแล้วนะจะปล่อยให้มันดิ้นไปอย่างนั้น" พระเถระก็อดกลั้นทุกขเวทนา ลําดับนั้นลมเสียดแทงถึงหัวใจ ไส้ใหญ่ก็ได้ออกมากองอยู่บนเตียง

ก็ถามคุณหมอวันก่อนว่าเอ๊ะมันเป็นไปได้มั้ยที่ว่าไส้แตกออกมา แล้วคุยกันว่าก็เป็นไปได้ ก็โรคบางโรคเนี่ยนะ ที่ๆ มันจะเกิดการขยับตัวแล้วมันจะเสียดผิวท้องให้ผิวท้องบางมากว่างั้น แล้วก็สามารถแตกออกได้อย่างนี้จริงๆ คือเนื่องจากว่าข้างในลําไส้เนี่ยนะมันเกิดการขยับตัวตลอดเวลาและบ่อยๆก็ทําให้ผิวหน้าท้องบางลง พระเถระก็ได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดู แล้วก็ถามว่า" อดกลั้นขนาดนี้ควรหรือยัง" ภิกษุหนุ่มก็นิ่ง ไส้ทะลักขนาดนั้นเงียบอย่างเดียวแล้ว

พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นพระอรหันต์ (ประเภท) สมสีสี คือ มีที่สุดเสมอกัน คือการสิ้นชีวิตพร้อมกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์ คือหมายถึงว่าเจริญวิปัสสนาให้โสดาปฏิมรรคเกิด แล้วก็ออกจากโสดาปฏิมรรคเจริญวิปัสสนาใหม่คือได้มรรคผลปัจจเวกขณญาณเกิด เจริญวิปัสสนาได้เป็นพระสกิทาคามี ได้มรรคผล ปัจจเวกขณญาณ หลังจากนั้นเจริญวิปัสสนาเป็นพระอนาคามีแล้วก็ได้มรรคผล ปัจจัยก็เจริญวิปัสสนาให้อรหัตมรรคเกิด ที่นี้พออรหัตมรรคเกิดผลจิตเกิด ปัจจเวกขณญาณเกิด พอปัจจเวกขณญาณจบก็จุติจิตของพระอรหันต์เกิดทันทีเรียกว่าพระอรหันต์ชีวิตสมสีสี (*พระอริยบุคคลตั้งอยู่ในปัจจเวกขณญาณ ๑๙ คือ ในโสดาปัตติมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในสกทาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในอนาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในอรหัตมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๔, แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน)

โหน่าตื่นเต้นมากเลยนะ มาไส้ทะลักและค่อยบรรลุเนี่ยนะแต่คนอื่นก็ผ่าท้องผ่าไส้กันเยอะแยะแต่ก็ไม่ได้บรรลุอะไร อนึ่งพิสูจน์ผู้เจริญเวทนานุปสนาสติปัฎฐานนั้นเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา อันนี้เป็นข้อสอง ข้อที่สองเสวยทุกขเวทนา ก็เลยไปข้อเก้าเลยว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส เหมือนเมื่อเธอเสวยสุขเวทนาแล โดยทําวัตถุให้เป็นอารมณ์เหมือนกัน


เอาใหม่นะ ตามสูตรที่เราคุ้นเคยกันแล้วนะว่าอาศัยจักขุกับรูปทําให้เกิดอะไร ? จักขุวิญญาณ

ธรรมะ ๓ อย่างประชุมกันนั่นแหละเป็นผัสสะ คําว่าผัสสะที่ไหนเนี่ยหมายถึงถ้าอย่างผัสสะทางตา จักขุสัมผัสหมายถึงผัสสะที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา หรือว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่มีผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึง
๑) สุขเวทนา
๒) ทุกขเวทนา
๓) อทุกขมสุขเวทนา

ในจักขุวิญญาณจริงๆแล้วอ่ะ มีแต่อทุกขมสุขเวทนา ก็คืออะไร? คืออุเบกขาเวทนานั่นเอง ที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ จิตที่เกิดถัดต่อมาเนี่ยนะเรียกว่า สัมปฏิจฉนะจิต (รับอารมณ์) สัมปฏิจฉนะจิตก็มีเวทนาเดียวคืออุเบกขาเวทนา ถ้า สันตีรณะจิต (พิจารณาอารมณ์) อันนี้มีเวทนา๒ โสมนัสกับอุเบกขา สามารถเป็นได้สองถ้ารูปารมณ์นั้นเป็นรูปารมณ์อย่างดีเลิศ ถ้ารูปารมณ์ชนิดดีนะ เวทนานี้จะเป็นโสมนัส สํานวนว่าอารมณ์ดีเลยตื่นใจเลย ตื่นตาตื่นใจเสร็จแล้วก็อันนี้ก็เป็นโวฏฐัพพนะจิต (ตัดสินอารมณ์) อันนี้ก็เป็นอุเบกขาอย่างเดียวส่วนชวนะเป็นได้ทั้ง ๓ เลยนะ (👉 อ่านกระบวนการของจิต เพิ่มเติม) คือทั้งที่เป็นสุขเวทนาทั้งที่เป็นโทมนัสเวทนา แต่ก็เรียกทุกข์เหมือนกัน และก็อุเบกขาเวทนา ทีนี้ผู้ที่เจริญวิปัสสนานั้นนะเขาก็เอาตัวฝั่งนี้ทั้งหมดนะ เวทนาฝั่งนี้ทั้งหมดนี้เป็นนามธรรมใช่มั้ย ทีนี้นามธรรมอันเนี้ย เค้าจะพิจารณานั้นน่ะเค้าไปเน้นพิจารณาที่รูปธรรมนี้ให้มากกว่า ไม่ใช่ว่าโอ้ยนี่กําลังสบายอยู่ ก็ไม่ใช่เค้าพิจารณาอยู่เท่านั้น เค้าพิจารณาไอ้ตัวต้นเหตุต้นเหตุของเวทนาอันนั้น

จักษุเราก็มีกันอยู่และถ้าพูดถึงคําว่าจักษุนะ ธาตุ ๔ ที่เรียนมานี่ถือว่าใช้ได้แล้วนะ คลองแคล่วแล้ว ละไว้ในฐานะคนเก่งแล้วว่างั้นเถอะ ( 👉 อ่านรูปสมุทเทส เพิ่มเติม) ทีนี้ในตัวรูปารมณ์เนี่ยโดยลําพังแล้วรูปปารมณ์เนี่ยเป็นตัวกําหนดเวทนา เช่นรูปารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์เนี่ยนะ หรืออิฎฐะแปลว่าน่าปรารถนา, อารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ กับอารมณ์อีกอย่างนึงเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ ก็คืออนิษฐาแปลว่าอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, ไม่น่าพอใจ เสร็จละก็อะไรอีก มัชฌัตตารมณ์ คือไอ้มัชฌัตตารมณ์เนี่ยมันแล้วแต่บุคคลนะ โดยลําพังบางคนก็เป็นที่ตั้งแห่งความดีใจนะ บางคนก็เป็นที่ตั้งแห่งความเสียใจนะ ไอ้ของกลางๆ นี้ไม่แน่เสมอไปใช่มั้ย บางคนนี่ดีใจมากนะ บางคนนี่เฉยๆ ก็เลยเรียกว่ามัชฌัตตารมณ์

อิฏฐารมณ์ตัวเนี้ยเป็นที่ตั้งแห่งอะไร ส่วนทั่วๆไปนะ เวทนาที่ในชวนะเนี่ยสําคัญที่สุด ผู้ที่พิจารณานะก็พิจารณาตัวชวนะก่อน เพราะว่าไอ้ชวนะเนี่ยมันเป็นตัวบอก เพราะมันเห็นแล้วมันดีใจเลยอะ เห็นแล้วโกรธเลยยังไงใช่มั้ย เห็นแล้วเสียใจเลยนะ มันดูเหมือนเห็นแล้วเสียใจเลยอะ มันก็ต้องมาฝึกคิด ไอ้ชวนะที่หยาบๆ แบบนี้ก่อน


ไม่ใช่ไปจ่อที่จักขุวิญญาณ จ่อแบบนี้ไม่ไหวหรอก จ่อทําอะไรอย่างงั้น ก็สังเกตพยายามสังเกตนะ สังเกตคร่าวๆ ก่อนว่า เอ๊ะ เห็นรูป รูปตัวนี้ส่วนใหญ่ก็เอาคนเลยนะ เอาคนเลยไปเห็นคนหนึ่งคนน่ะ ถ้าเกิดเป็นคนที่น่าปรารถนาว่างั้นเถอะ เห็นแล้วใครๆ ก็ชอบว่างั้น อันเนี้ยถือว่าสุขเวทนาเนี่ยเกิด เหตุคือเห็นแล้วนะ ถ้าสังเกตนะ ไม่ระคายเคือง, ไม่ขัดใจ, ไม่อะไรเลยสักอย่างหนึ่ง แต่เห็นแล้วก็ดีหรือโสมนัสนั่นเกิดขึ้นนั่นแหละสุขเวทนา ทีนี้ถ้าหากว่าไปเห็นอีกคนหนึ่งแล้วเป็นยังไง ขัดใจนิดๆ เริ่มขัดใจนิดๆ, ขัดใจน้อยๆ หรือว่าขัดใจมากๆ ก็ตามอะ แต่รู้สึกว่าสังเกตว่าโสมนัสไม่เกิด ปีติไม่รู้มันแห้งหายไปไหนหมด ประเภทนั้นให้รู้ว่านั่นคือโทมนัสเวทนา เช่น เห็นคนที่เราไม่ค่อยชอบ ไอ้คนทั่วไปเนี่ยก็มีอยู่สองประการ อุเบกขาเวทนาบ้างนะถ้าเป็นคนที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่บางทีอ่ะบางครั้งก็เป็นที่ตั้งแห่งสุขบางครั้งว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์บางทีก็เฉยๆ

งั้นการจะพิจารณาเวทนาก็สังเกตที่อารมณ์เนี่ยเป็นหลัก อารมณ์เนี่ยเป็นตัวบอกเวทนา เสร็จแล้วถ้าไม่มีอารมณ์ที่น่าปรารถนาเลยนะ ไม่มีอิฏฐารมณ์เลยอ่ะ แต่ต้องการให้โสมนัสเกิด มันเกิดได้ไหม? เกิดไม่ได้ ถ้าเป็นคนสมัยใหม่บางทีเขาก็ชอบดูประเภทดอกไม้นะ ถ้าสมมุติว่าอิฏฐารมณ์เป็นไง สมมุติดอกไม้งาม ดอกไม้งาม…อารมณ์เนี่ย เห็นแล้วส่วนใหญ่นะ ถ้าดอกไม้บานหมดเลยเนี่ยก็จะยิ้มก่อนนะ ยิ้มก่อน ทีนี้ถ้าดอกไม้นี้เสียหมดเลย ดอกไม้เน่า อันนี้โทมนัสเวทนาเป็นต้นก็จะเกิด ถ้าเป็นแบบทั่วๆไปนะ เหมือนกับดูใบไม้ทั่วๆ ไปอันนี้ก็อุเบกขาก็เกิด มันก็อย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าไปเจอดอกไม้เน่าหมดแล้วแหมมีความสุขเหลือเกิน, ดีใจเหลือเกินนะ อันนี้เว้นไว้แต่ศัตรูของเจ้าของดอกไม้ซะก็อาจจะโสมนัส แต่ถ้าทําลําพังทั่วไปแล้วมันไม่โสมนัสอยู่แล้ว มันก็จะเป็นอย่างเงี้ย ถ้าได้รับอิฏฐารมณ์อยู่ส่วนใหญ่ก็จะโสมนัส ถ้ารับอนิฏฐารมณ์อยู่ส่วนใหญ่ก็โทมนัส ถ้าอารมณ์ทั่วๆ ไปแล้ว หรือจะหนักไปข้างชอบหรือข้างชัง ถ้าชอบก็โสมนัสไปถ้าไม่ชอบก็เป็นโทมนัสไป สังเกตที่อารมณ์ก็บอกเวทนาได้

อันนี้ถ้าถ้ามองแบบคร่าวๆ นะก็เอาสักคน ๓ คนเนี่ยมาตั้งก่อน (คนที่ชอบ, คนที่ชัง, คนที่เฉยๆ) นี้ถ้าดูแบบแบบหยาบเลยนะ ถ้าละเอียดไปกว่านั้นก็ในสิ่งเดียวกันอ่ะ ก็สังเกตดูในอารมณ์เดียวนั่นแหละ เพราะอย่าลืมว่าเวทนาเนี่ยนะมีอะไรเป็นปัจจัย? ยกผัสสะอันนี้นะ ถ้าทางตานะ ผัสสะอันนี้เป็นสัมปยุตตปัจจัย (นามขันธ์ ๔ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน) ตะกูลนี้เรียกว่าสหชาตะ (เกิดพร้อมกัน) เป็นกลุ่มที่เกิดร่วมกัน ผัสสะกับเวทนานี้เกิดร่วมกัน ถ้าผัสสะอันนี้เป็นอนันตรปัจจัย(เป็นปัจจัยโดยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิด>ดับ>เกิด>ดับ…∞) แต่ถ้าเวทนาที่เหลือทั้งหมดเลยนะ ผัสสะอันนี้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย(เป็นปัจจัยที่ให้เกิดปัจจยุบบันนธรรม) ก็จะแบ่งเป็น ๓ ชุดแบบเนี่ย เพราะถ้าในขณะเวทนาที่เกิดในจักขุวิญญาณ สัมปฎิจฉนะ สันตีรณะ อย่างนี้เรียกว่าชาติวิบาก

ถ้าชาติวิบากอย่างนี้นะโดยทั่วๆ ไปเขาบอกว่า เมื่อไปเห็นอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คนก็จะเห็นเหมือนๆ กันหมด ลักษณะตรงนั้นแหละเรียกว่าชาติวิบาก แต่ถ้าเห็นแล้วใครมีความรู้สึกอย่างไร(บางคนชอบ, บางคนชัง, บางคนเฉยๆ) อันนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว ก็พยายามเอาแต่เรื่องหยาบหยาบมาคิดให้มากๆก่อนนะ เรื่องละเอียดไม่ค่อยยากหรอก ถ้าคิดเรื่องหยาบๆ ให้เยอะเนี่ยนะ แม้กระทั่งเห็นเสื้อลายอย่างเงี้ยนะ สมมุติในเสื้อลายเนี่ย ถ้าเป็นลายดอก ดอกไหนบางดอกนี่ก็ชอบใช่มั้ย บางดอกก็ไม่ชอบ หรือว่าบางดอกก็เฉยๆ เนี่ยนะ ชอบดอกไหนเป็นพิเศษแล้วก็มาวิเคราะห์ดูในสิ่งนั้นแหละเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

เป็นที่ตั้งแห่งเวทนาก็มาฝึกวิเคราะห์ที่อารมณ์และจะเข้าใจเวทนา แต่ถ้าอยู่ๆ แล้วกําหนดพรวดที่เวทนาเลยกําหนดยังไง…? ในพระไตรปิฏกเขาจะไม่นิยมพูดอะไรที่มันแบบขาดห่วงขาดตอน เขาไม่จะไม่แสดงแบบนั้น จะแสดงว่าธรรมะไหลมาจากปัจจัย ไหลมาจากเหตุ แล้วเหตุนั้นนะเนี่ยมาจากอะไร ถึงจะพิจารณาที่เวทนาก่อนอันดับแรกก็ยังต้องสาวไปหาเหตุและก็สาวกลับไปกลับมาอย่างนี้ โดยเงื่อนไขทั่วไปแล้วท่านบอกว่าเวทนาเหล่านี้เนี่ยนะทั้งที่เป็นสุข, ทุกข์, อุเบกขา เหล่านี้นะเมื่อรับอารมณ์ขึ้นแม้ในอดีต เวทนาก็เกิดเช่นนี้แหละ ในอนาคตเวทนาก็เกิดเช่นนี้ ปัจจุบันเวทนาก็เกิดเช่นนี้ โดยที่มีอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะ ท่านให้ผัสสะเป็นใหญ่ เพราะถือว่าผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา แต่ท่านใช้คําว่าวัตถุ เมื่อใช้คําว่าวัตถุนั้น ต้ององค์ประกอบเยอะแยะเลย จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ ประการนี้ถือว่าเป็นปัจจัยของผัสสะแต่ว่าในการเสวยอารมณ์จริงๆนั้นอ่ะ ไม่ได้เสวยตัวผัสสะ เสวยอารมณ์คือรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ในจักขุวิญญาณเนี่ยนะ สัมปฎิจฉนะ สันตีรณะ โวฎฐัพพนะ ชวนะ ถือว่ามีสีเป็นอารมณ์ทั้งหมด มีสีเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่เค้าบอกว่าเวทนาที่เกิดในจักขุวิญญาณเนี่ย ถือว่าของเล็กของน้อย ของน้อยมากแต่เวทนาที่เกิดในชวนะนี้เป็นของใหญ่ ใหญ่ยังไง? ก็บอกเหมือนอย่างว่ากํานันเนี่ยนะ ถ้าตัดสินคดีแล้วก็จะเรียกเก็บค่าสินไหมอะนะ สินไหมเนี่ยก็เข้ากํานัน โบราณนะเข้ากํานันก็บอกว่าอย่างมากก็แค่ ๕ กหาปณะ, ๑๐ กหาปณะ อย่างมากก็ ๕๐ กหาปณะนี้แค่นั้นแหละ แต่ถ้าเป็นร้อยเป็นพันขึ้นไปเมื่อไหร่นะ อันนี้ต้องเป็นส่วยของพระราชาแล้วพวกนี้กินส่วยแรง

เพราะฉนั้นเวลาเกี่ยวข้องกับอารมณ์อะไรนะ ชวนะเนี่ยเกิดมาก เวทนาในชวนะนี้ก็ถือว่าใหญ่มาก แต่นี้ลําพังของเวทนานะเมื่อเสวยสิ่งใด สัญญาก็จะมีในสิ่งนั้น เจตนาก็จะเกิดในสิ่งนั้น จิตเนี่ยทั้งหมดนะ คือกระแสของความคิด ไอ้สัญญาตัวนี้นี่แหละเป็นปัจจัยสําคัญต่อไปของวิตก ก็วิตกบ่อยหรือวิตกมาก ถ้ามากก็พูดอีก ก็ไปเรื่อยนะทางกายก็มาก็จะไหลไปในลักษณะนี้ แต่ว่าไอ้ผัสสะหน่อยๆ นี่อย่าไปดูถูกมันนะ ก็เหมือนกับว่าป้ายที่อยู่ข้างตาเวลาเราขับรถผ่านไปนะ มันก็เหมือนกับป้ายนั้นก็ผ่านๆ ดูเหมือนไม่สนใจแต่จริงๆแล้วเนี่ยนะเมื่อได้ผัสสะเนี่ย ถือว่าป้ายนั้นเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาไว้หมดแล้ว สัญญาเกิดขึ้นกับอารมณ์เหล่านั้นแล้ว จะสังเกตนะเมื่อมีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น สัญญาเหล่านั้นจะมาเป็นปัจจัยทันทีเลย สัญญาเหล่านั้นก็จะเป็นปัจจัยที่สําคัญของวิตก ถามว่าทั้งหมดเนี่ยมีอะไรเป็นอารัมมณปัจจัย มีรูปเป็นอารัมมณปัจจัย อันนี้เราพูดถึงทางทวารตาอย่างเดียวนะ งั้นคนที่เจริญวิปัสสนา หนึ่งเบื้องต้นรู้ความเป็นมาเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ก่อน รู้ผัสสะ รู้เวทนาว่ามาจากอะไร ฉะนั้นเมื่อเชื่อมอย่างนี้แล้วก็เห็น👉ปฎิจสมุปบาทแล้วใช่ไหม

ผัสสะ มาจากอายตนะ อายตนะ นี้มาจากอะไร? จากธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นี้เท่ากับ ตัวรูป รูปนี้เกี่ยวข้องก็เป็นนามรูปมาจากวิญญาณ วิญญาณก็มาจากสังขาร สังขารก็มาจากอวิชชา ทีนี้พอตั้งแต่เห็นมาจนถึงให้มีสัญญา มีเจตนา มีวิตกวิจารณ์ ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นกรรมภพ

เพราะฉะนั้นกรรมภพก็เป็นปัจจัยสบายๆของชาติ วัฏฏะก็เป็นไปอย่างนี้แหละ คือ ชีวิตตามคําสอนนั้นน่ะจะไม่ได้พูดเป็นเรื่องนั้นเป็นเรื่องยาวๆ แต่เป็นเรื่องสั้นๆ แต่สิ่งที่สั้นๆ นั้นมาต่อกันเลยดูเหมือนกับยาว ยังเช่นถ้าเรียนเวทนานะ เวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางหูก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางจมูกก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางกายก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางใจก็อย่างหนึ่ง เวทนานี้มี ๓ นะ สุขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง ทุกขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง ก็จะตัดตอนไปอีกแล้วในแต่ละอย่างเหล่าเนี่ยเป็นไปตามปัจจัย ก็เป็นไปตามปัจจัยเพราะฉะนั้นอันนี้เรียกว่าความสืบเนื่อง ผู้ที่ไม่ได้สดับก็สําคัญสิ่งเหล่านี้ว่าเที่ยง ผู้ที่ไม่รู้ปัจจัยก็สําคัญว่าสิ่งเหล่านี้ศูนย์ ปฏิเสธเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปตามปัจจัย ใครสามารถเสวยเวทนา ๒ ประการพร้อมกันมั้ย ในขณะที่ดีใจก็ไม่เสียใจ สลับกันได้ แต่อาจจะเกิดสลับกันได้แต่ก็ไม่มากนัก นั่งอยู่แล้วเดี๋ยวก็ยิ้มเดี๋ยวก็หัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้ในที่นั่งเดียวกันมีไม่ค่อยมาก

มีอยู่ในพระไตรปิฎกมีอยู่เรื่องหนึ่งนางภิกษุณีมองดูพระพุทธเจ้า พระองค์กําลังนั่งแสดงธรรมอยู่ นางเห็นพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วก็หัวเราะ หัวเราะเสร็จแล้วก็ร้องไห้ คนก็งง เอ๊ะทําไมประเดี๋ยวก็หัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้แต่ว่าไม่ใช่หัวเราะร้องไห้พร้อมกันนะ แต่ว่าก็หัวเราะเสร็จก็ร้องไห้ ก็ทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก็บอกว่านางระลึกชาติได้ คือพอเห็นพระพุทธเจ้าปั๊บนางก็ระลึกชาติได้ระลึกชาติว่า "โอ้บุรุษผู้นี้หน้าเราเคยเป็นบาทบริจาริกาของท่านหรือเปล่าน้อ" ก็คิดแบบนี้นะคิดว่า คือถ้าแปลเป็นไทยก็ว่าเคยเกิดเป็นเมียท่านรึเปล่า พอนึกแค่นี้ก็ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นภรรยาท่านตอนที่เป็นพญาช้าง พญาช้างฉัททันต์เนี่ยนะ ก็เป็นภรรยา พญาช้างนั้นมีเมียมีนางช้างหลายตัว นางก็เป็นหนึ่งในภรรยาของพญาช้างว่างั้นเถอะ

ทีนี้พอหลังจากนั้นเนี่ยมีอยู่วันหนึ่งพระโพธิสัตว์นี้ก็เอาเก็บดอกบัวเนี่ยนะเก็บดอกไม้ให้กับพวกพวกนางช้างทั้งหลายแหล่ ก็มีดอกบัวดอกนึงอ่ะมันมีมดแดงอยู่ พญาช้างก็เอาไอ้ดอกที่มีมดแดงนี่แหล่ะไปให้กับนางช้าง(นางภิกษุณี) เนี่ยนั่นแหละ นางช้างตัวนั้นก็เลยได้ดอกบัวมีมดแดงก็เสียใจมาก รำพึงว่าเอ้…ผัวนี่ไม่ค่อยรักเราเลย ตอนหลังๆ ก็คอยน้อยใจอยู่ร่ำไปจนกลายเป็แค้นใจมาก ตอนหลังเอาดอกไม้บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า อธิฐานขอให้ไปเกิดเป็นมเหสีของพระราชา และขอให้พระราชาหลงรักจนสั่งอะไรก็ได้ นางช้างก็วางแผนเป็นสัญญาในใจเอาไว้ ว่าจะต้องสั่งให้นายพรานมาฆ่าเอางาของพญาช้างสามีตัวเองให้ได้ เมื่อนางช้างอธิฐานเสร็จก็งดข้าวงดน้ำจนถึงแก่ความตาย และก็ได้ไปปฎิสนธิเกิดในตระกูลมัททราช และได้นามว่า สุภัททาราชกัญญา เมื่อได้เป็นมเหสีราชาแล้วก็สั่งให้นายพราน ชื่อโสณุดรคือพระเทวทัสนั่นแหละ ไปตัดงาของพระพระโพธิสัตว์มา ทีนี้ไอ้จําได้ตอนที่สั่งให้ไปฆ่าพระโพธิสัตว์ตัดงามานั้นอ่ะ นึกได้ตอนนั้นก็เลยร้องไห้ ไอ้ตอนหัวเราะเนี่ย หัวเราะตรงที่ว่าเคยได้เป็นภรรยา ไอ้ตอนร้องไห้ ร้องไห้ตอนที่สั่งให้ไปตัดงา ถึงอย่างงั้นก็ไม่ใช่ในขณะเดียวกันอ่ะ ลําดับเรื่องราวมาตั้งนานแล้วจึงได้หัวเราะและร้องไห้แต่ว่าในมณสิการเดียวกันเนี่ยทั้งหัวเราะและร้องไห้พร้อมกันไม่ได้ มันก็จะเกิดสลับคละเคล้ากันไปแบบนี้นี่แหละ แล้วก็หมั่นเอาไปไปสังเกตดูนะ

ก็คือรอบรู้ว่าเอ๊ะปัจจัยของเวทนานั้นๆ เนี่ยมาจากอะไร ทีนี้ถ้าหากว่าเราเข้าใจปัจจัยแบบนี้นะ ถ้าเราไม่สบายใจอยู่นะ ถามว่าทําให้ดีใจเกิดได้มั้ย ถ้าหากว่ากําลังเสียใจอยู่กับสิ่งหนึ่งเลยนะ ถามว่าเปลี่ยนได้ไหมเปลี่ยนความรู้สึกได้ไหม กําลังเสียใจอย่างสุดซึ้งอยู่นะถามว่าเปลี่ยนได้ไหม ก็สมมุตินะเสียใจกับสิ่งใดนั้นเลิกคิดถึงสิ่งนั้นนะแค่นั้นแหละก็เลิกเสียใจไปเยอะแล้ว สมมติถ้าหากว่าคนที่มีลูกตายเป็นต้น ส่วนใหญ่เค้าจะทุกข์มาก ถามว่าวิธีแก้ทุกข์อันนั้นนะเขาบอกให้เลิกคิดถึงลูกเท่านั้นแหละ ไอ้ความเสียใจก็หมดซะแล้ว ถ้าหากว่าจะให้เขาดีใจนะ ไปให้เขาคิดถึงสิ่งที่เขากําลังชอบอยู่ คิดพักเดียวเขาก็ดีใจ แค่เปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง อารมณ์ก็เปลี่ยนผัสสะ ถ้าเปลี่ยนผัสสะก็เปลี่ยนเวทนา เวทนามันเป็นผลพวงของผัสสะแล้ว ถ้าเปลี่ยนผัสสะได้ก็เปลี่ยนเวทนาได้ เว้นไว้แต่ว่าแหมดีใจเหลือเกินที่เวทนานี้อยู่นะ แต่ว่าถ้าโทมนัสเกิดนี้มันก็ต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย(ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล) มันก็เป็นความสะใจอย่างหนึ่งนะ ถ้าทุกข์ๆ แล้วมันก็ชอบได้เหมือนกันนะ


วันนี้ก็ใช้เวลาแต่เพียงเท่านี้ ด้วยผลแห่งกุศลที่ได้ฟังธรรมนี้ก็ขอให้ได้เห็นพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่แสดงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ รู้จักความปฏิบัติดีของพระสงฆ์ทั้งหลายที่ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ และก็พระนิพพานที่พระพุทธเจ้าแสดงถึงก็เป็นธรรมะที่นําออกจากทุกข์ ก็ขอให้ประสบกับพระนิพพานเป็นที่พ้นทุกข์โดยทั่วหน้ากัน ในที่สุดนี้ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดไป ก็อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง เจริญพร



อยู่ระหว่างเรียบเรียง 
🔅 เวทนากับไตรลักษณ์ พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก
🔅 เวทนานุปัสนา พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก


อกุศลเจตสิก

อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายชั่ว, ที่หยาบ, ที่บาป, ไม่ดีงาม และไม่ฉลาด เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตเศร้าหมองเร่าร้อน ตกเป็นอกุศลจิตไปด้วย อกุศลเจตสิกนี้ จึงประกอบได้เฉพาะอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับจิตประเภทอื่น (อเหตุกจิต ๑๘ หรือ โสภณจิต ๕๙) ไม่ได้เลย

















อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แบ่งออกเป็น ๕ นัย คือ
    ก. โมจตุกเจตสิก ๔ ดวง
    ข. โลติกเจตสิก
    ค. โทจตุกเจตสิก
    ง. ถีทุกเจตสิก
    จ. วิจิกิจฉาเจตสิก

อธิบาย

🔅 ก. โมจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโมหเจตสิกเป็น
ประธาน มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โมหเจตสิก, อหิริกเจตสิก, อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก 

โมจตุกเจตสิกนี้ ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง จึงมีชื่อเรียก
อีกอย่างหนึ่งว่า “สัพพากุสลสาธารณเจตสิก” ซึ่งหมายความว่า เป็นเจตสิกที่ประกอบทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด

โมหเจตสิก

โมหเจตสิก คือความหลงใหลในอารมณ์ ได้แก่ หลงจากรูปนามเพราะความไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อญาณ ลกฺขโณ มีความไม่รู้ความจริงของสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    อารมฺมณ สภาวจฺฉาทน รโส มีการปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
    อนฺธการ ปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจต่ออารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

อรรถ ๔ ประการ ของโมหเจตสิก อีกนัยหนึ่ง

    จิตฺตสฺส อนฺธภาว ลกฺขโณ มีความมืดบอดแห่งจิต เป็นลักษณะ
    อสมฺปฏิเวธ รโส มีความไม่แทงตลอดในสภาวธรรม เป็นกิจ
    อสมฺมาปฏิปตฺติ ปจฺจุปฏฐาโน มีการปฏิบัติผิด เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจในอารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

โมหเจตสิกนี้เป็นองค์ธรรมของอวิชชา ซึ่งแปลว่า “ไม่รู้” หรือธรรมชาติที่ตรงข้ามกับปัญญา ฉะนั้น การไม่รู้ของโมหเจตสิก จึงไม่ได้หมายถึงการไม่รู้อะไรๆ เอาเสียเลย แต่หมายถึงการไม่รู้ธรรม ตามความเป็นจริงที่ควรรู้คือ รู้แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่าความหลงจากรูปนามที่เป็นความจริงนั่นเอง การไม่รู้ตามความเป็นจริงที่ควรรู้ของอวิชชาหรือโมหะนี้ จึงมี ความหมายจำกัดเฉพาะความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ

๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์
๒. ทุกขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. ทุกฺขนิโรธ อญาณํ ไม่รู้ธรรม อันเป็นที่ดับแห่งทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้ทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์
๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอดีต
๖. อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอนาคต
๗. ปุพฺพนฺตา ปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต
๘. อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกัน ตามนัยปฏิจจสมุปบาท

โมหเจตสิกนี้ เป็นมูล เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง

อหิริกเจตสิก

อหิริกเจตสิก คือความไม่ละอายต่อบาปธรรมได้แก่ สภาพที่ไม่มีความละอายต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อชิคุจฺฉน ลกฺขณํ(วา) มีความไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น (หรือ) อลชฺชา ลกขณํ มีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    อตฺตอคารว ปทฏฐานํ มีความไม่เคารพตน เป็นเหตุใกล้


อโนตตัปปเจตสิก

อโนตตัปปเจตสิกคือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาปกรรม ได้แก่ สภาพที่ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อสารชฺช ลกฺขณํ (วา) มีความไม่กลัวกายทุจริต เป็นต้น  (หรือ) อนุตฺตาส ลกฺขณํ มีความไม่หวาดเสียวกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    ปรอคารว ปทฏฺฐานํ มีความไม่เคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโนตตัปปะนี้ เป็นความไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการกระทำอกุศลกรรม เกิดขึ้นโดยอาศัยความไม่เคารพต่อผู้อื่นคือ ไม่เกรงกลัวว่าใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากตนเองจะรู้เห็นการกระทำอกุศลกรรมของตนเองนั้นแต่อย่างใด

อหิริกเจตสิก และอโนตตัปปเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกันคือ ทำให้กล้าทำอกุศลกรรมด้วยกัน แต่เมื่อกล่าวโดยอรรถแล้วย่อมมีความต่างกันคือ อหิริกะ ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่มีความละอาย หรือไม่เกลียดต่อบาปธรรม ส่วนอโนตตัปปะนี้ หมายถึง ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปธรรม ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา เปรียบเทียบไว้ว่า บุคคลผู้ไม่มีหิริ ย่อมไม่เกลียดบาป เหมือนสุกรไม่เกลียดคูถ บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมไม่กลัวบาปดุจตั๊กแตนไม่กลัวไฟ ฉะนั้น"

อหิริกะ และอโนตตัปปะ ทั้งสองประการนี้ เป็นเหตุ เป็นพละกำลังในการทําทุจริตทั้งปวง

อุทธัจจเจตสิก

อุทธัจจเจตสิก คือความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ สภาพจิตที่รับอารมณ์ไม่มั่นคง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อวูปสม ลกฺขณํ มีความไม่สงบ เป็นลักษณะ
    อนวตฺถาน รสํ มีความไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นกิจ
    ภนฺตตฺต ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความพล่านไปในอารมณ์ เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีความใส่ใจอันไม่แยบคายในอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

ความหมายของอุทธัจจะโดยปริยายอื่น ตามอัฏฐสาลินีอรรถกถาได้แสดงไว้ดังนี้ คือ :-

    จิตฺตสฺส อุทฺธจฺจํ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
    อวูปสโม ความไม่สงบแห่งจิต
    เจตโสวิกฺเขโป ความวุ่นวายใจ
    ภนฺตตฺตํ จิตฺตสฺส ความพล่านแห่งจิต

อกุศลเจตสิกที่กล่าวแล้ว ๔ ดวง คือ โมหะ, อหิริกะ, อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ชื่อว่า “โมจตุกเจตสิก” โดยยกโมหเจตสิกเป็นประธาน และโมจตุกเจตสิกนี้เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในจิตทั้งหมด ฉะนั้นเมื่ออกุศลจิตเกิด สภาพของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมต้องประกอบกับอกุศลจิตพร้อมกัน แต่เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีสภาวะลักษณะที่ตรงกันข้าม ไม่น่าที่จะประกอบในจิตดวงเดียวกันได้ แก้ว่า เพราะสภาพของจิตนั้นเกิดดับรวดเร็วมาก จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งก็รับอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิกทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้รับอารมณ์เดียวนั้นอยู่ได้นานเท่าที่กำลังสามารถของเอกัคคตาเจตสิกจะกระทำได้แต่ละในขณะจิต ส่วนอุทธัจจเจตสิกเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านรับอารมณ์ไม่มั่นคง เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้ว จิตดวงหลังก็เกิดขึ้นอุทธัจจะก็จะปรุงแต่งให้รับอารมณ์อื่นต่อไป อกุศลจิตที่เกิดขึ้นทุกดวงนั้น จึงมีเจตสิกทั้ง ๒ ดวงประกอบพร้อมกันได้ในลักษณะดังกล่าวนั้น อารมณ์ของอกุศลจิตแต่ละดวงจะตั้งมั่นหรือฟุ้งซ่าน ย่อมแล้วแต่กำลังอำนาจของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ว่าฝ่ายใดจะมีกำลังยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามธรรมดาแล้วกำลังอำนาจของเอกัคคตาเจตสิกในอกุศลจิต ย่อมมีกำลังอ่อนกว่ากำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิกเอกัคคตาเจตสิกจะมีกำลังมาก ก็ต่อเมื่อประกอบกับกุศลจิต ยิ่งกุศลจิตขึ้นสู่อัปปนาชวนะแล้ว เอกัคคตาเจตสิกก็ยิ่งสามารถทำให้จิตรับอารมณ์เดียวได้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะอุทธัจจเจตสิกฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น หรือปรุงแต่งจิตให้เปลี่ยนรับอารมณ์อื่นอยู่เสมอเช่นนี้ กำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิก จึงขวนขวายประมวลกรรมไว้ได้อ่อนลง ฉะนั้นในอุทธัจจสัมปยุตแห่งอกุศลจิตนั้นจึงมีกำลังอำนาจน้อย ไม่อาจนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้เหมือนอย่างอกุศลจิตอื่น ๑๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิตที่สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ


🔆 ข. โลติกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโลภเจตสิกเป็นประธาน มี
อยู่ด้วยกัน ๓ ดวงคือ โลภเจตสิก, ทิฏฐิเจตสิก และมานเจตสิก โลติกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิต ที่เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่น เช่น โทสมูลจิตและโมหมูลจิตไม่ได้เลย ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโลติกเจตสิกตามลำดับ

โลภเจตสิก

โลภเจตสิก คือธรรมชาติที่เป็นความยินดีติดใจอยู่ในอารมณ์ ได้แก่สภาพความปรารถนา ความอยากได้ และความติดใจอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มี อรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อภิสงฺค รโส มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ
    อปริจาค ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความไม่ยอมละ เป็นผล
    สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสน ปทฏฺฐาโน มีการเห็นความสำราญในสังโยชนธรรม เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ได้อุปมาสภาพของโลภเจตสิกว่า

    มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง
    มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่ซัดไปบนกระเบื้องอันร้อนจัด
    มีความไม่ยอมละไป ดุจการติดสีที่อาบน้ำมัน

ความหมายของโลภะโดยปริยายอื่น ในปรมัตถทีปนีฎีกาได้แสดงเววจนะธรรม คือ ธรรมที่ใช้แทนกันได้ไว้ ๑๐ ประการ คือ :

๑) ตัณหา ได้แก่ ความต้องการ
๒) ราคะได้แก่ ความกำหนัด
๓) กามะ ได้แก่ ความใคร่
๔) นันทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลิน
๕) อภิชฌา ได้แก่ ความเพ่งเฉพาะ
๖) ชเนตติ ได้แก่ ความก่อกิเลส
๗) โปโนพภวิกะ ได้แก่ ความนำให้เกิดในภพใหม่.
๘) อิจฉา ได้แก่ ความปรารถนา
๙) อาสา ได้แก่ ความหวัง
๑๐) สังโยชน์ ได้แก่ ความผูกพันเกี่ยวรัดไว้

ความหมายต่างๆ ของโลภะดังกล่าวข้างต้นนั้น คำว่า “ตัณหา” ย่อมเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง แต่ความเข้าใจของคนส่วนมากนั้น เข้าใจคำว่า “ตัณหา” เป็นความยินดีในทางเพศไป ที่แท้จริง “ตัณหา” นั้นหมายถึงความติดใจในอารมณ์ทุกชนิด ดังพระบาลี “ปริตสฺสตีติ = ตณฺหา” ความต้องการอารมณ์ชื่อว่า “ตัณหา

กาโม จโส ตณฺหาจาติ = กามตณฺหา สภาวธรรมที่ต้องการกามารมณ์ทั้ง ๖ ด้วย ติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย สภาวธรรมนั้นชื่อว่า กามตัณหา

สสฺสตทิฏฺฐิ สหคโต หิราโค ภวตณฺหาติ วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิชื่อว่า ภวตัณหา

อุจฺเฉททิฏฐิ สหคโต หิราโค วิภวตณฺหา วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า วิภวตัณหา

ฉะนั้น ความหมายของคำว่า “ตัณหา” คือความต้องการอารมณ์นั้นจึงเป็นความหมายที่กว้างขวาง แม้เป็นความต้องการ หรือความยินดีติดใจในการเจริญกรรมฐาน ก็ชื่อว่าเป็นตัณหา คือเป็นธรรมราคะ ธรรมนันทิ หรือ ธรรมตัณหา แต่ตัณหาประเภทที่กล่าวนี้ หามีโทษถึงทุคติไม่ เพราะความต้องการกุศลธรรมเช่น อยากทำสมถกรรมฐาน จิตจะได้สงบ หรืออยากได้ฌานนั้น ฌานนี้ ความอยากเกิดขึ้นด้วยอำนาจโลภมูลจิตก็จริง แต่ขณะกระทำกรรมฐานเพื่อสนองความอยากนั้น ทำด้วยจิตอื่นไม่ใช่โลภมูลจิต จะต้องกระทำด้วยมหากุศลจิตเป็นเบื้องต้น จนถึงฌานกุศลจิตเป็นที่สุด แม้การอยากทำวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกัน วิบากจิตที่เป็นผลนั้น ย่อมต่างกัน ฉะนั้นความอยากหรือความต้องการในกุศลธรรม จึงไม่มีโทษแต่กลับเป็นคุณประโยชน์

ทิฏฐิเจตสิก

ทิฏฐิเจตสิก คือความเห็นผิด ได้แก่ความเห็นที่มิใช่ตามความเป็นจริงหรือความเห็นที่คลาดเคลื่อน เพราะเชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า สภาพของทิฏฐิ มีสภาพต่างกันอย่างตรงกันข้ามกับปัญญาคือ ปัญญารู้อารมณ์ได้ตามสภาพที่เป็นจริง แต่ทิฏฐินั้นละสภาพที่เป็นจริงเสีย และกลับไปยึดถือเอาโดยสภาพที่ไม่เป็นจริง ทิฏฐิเจตสิกมีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อโยนิโสอภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยหาปัญญามิได้ เป็นลักษณะ
    ปรามาส รสา มีความถือผิดจากสภาวธรรม เป็นกิจ
    มิจฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีการยึดถือความเห็นที่ผิด เป็นผล
    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

คำว่า “ทิฏฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง “มิจฉา” แต่ “ทิฏฐิเจตสิก” ตามความหมายในอภิธรรมแล้ว ทิฏฐิ” คือความเห็นผิด ฉะนั้น เมื่อพบคำว่า “ทิฏฐิ” แล้วจึงเข้าใจว่าเป็นความเห็นผิด แต่ถ้าจะแสดงความหมายถึงความเห็นถูกแล้ว จะต้องใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะ ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดจากความเป็นจริงนั้น อาจจำแนกได้เป็น ๒ ประการคือ :- ทิฏฐิสามัญ และทิฏฐิพิเศษ

ทิฏฐิสามัญ คือ ความเห็นผิดที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน, เราเขาที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ จัดเป็นทิฏฐิสามัญ เพราะมีอยู่ประจำทั่วทุกตัวคนและสัตว์ เป็นปกติวิสัย เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะละความเห็นผิดชนิดนี้ได้

ทิฏฐิพิเศษ คือ ความเห็นผิดที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุ, นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในผล, อกิริยทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุและผลของกรรม และ สัสสตทิฏฐิ มีความเห็นว่าเที่ยง, อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ตลอดทั้งความเห็นผิดในทิฏฐิ ๖๒ ประการ ที่นอกจากสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิพิเศษนี้ปรากฏได้เฉพาะในบุคคลบางคน และบางโอกาสเท่านั้น ไม่ได้เกิดเป็นประจำในบุคคลอื่นทั่วไป เป็นปกติวิสัยอย่างทิฏฐิสามัญ

ธรรมชาติที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผิดโดยไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง มิจฉาทิฏฐินั้นมีความวิปริตเช่นเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผลเป็นลักษณะ มิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นมโนทุจริต มีองค์ ๒ คือ :-

๑. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปริตตา มีเรื่องที่วิปริตจากอาการที่เป็นจริงยึดถือไว้
๒. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสูปฏฐานํ ความปรากฏแห่งเรื่องนั้น ไม่เป็นอย่างที่ยึดถือ

บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมถึงกรรมบถเป็นมโนทุจริตด้วย นัตถิกทิฏฐิ, อเหตุกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิเท่านั้น หาถึงเพราะทิฏฐิเหล่าอื่นไม่ มิจฉาทิฏฐินี้ถ้ายึดดิ่ง ก็มีโทษมาก ไม่ยึดดิ่ง ก็มีโทษน้อย ในสามัญผลสูตร แสดงความไม่เชื่อในผล คือ นัตถิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ ได้แก่
    ๑. นตฺถิ ทินฺนํ 
เห็นว่า การให้ทาน ไม่มีผล
    ๒. นตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่มีผล
    ๓. นตฺถิ หุตํ เห็นว่า การต้อนรับปฏิสันถาร ไม่มีผล
    ๔. นตฺถิ สุกต ทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดี ทำชั่วไม่มีผล
    ๕. นตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้ไม่มี
    ๖. นตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพอื่นไม่มี
    ๗. นตฺถิ มาตา เห็นว่า คุณของมารดา ไม่มี
    ๘. นตฺถิ ปิตา เห็นว่า คุณของบิดา ไม่มี
    ๙. นตฺถิ โอปฺปาติกา เห็นว่า สัตว์ผุดเกิดเติบโตขึ้นทันที ไม่มี (เช่น สัตว์นรก, เปรต, เทวดา)
    ๑๐. นตฺถิโลเก สมณพฺรหฺมณา สมคฺคตา สมฺมา ปฏิปนฺนา เย อิมญฺจโลกํ ปรญฺจ โลกํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ เห็นว่า สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้า ด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงสมณพราหมณ์ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้น ไม่มี

ผู้มีนัตถิกทิฏฐินี้ ปฏิเสธผล เท่ากับปฏิเสธเหตุแห่งกุศล และอกุศลกรรมด้วย นับเป็นทิฏฐิพิเศษ ย่อมเกิดกับบุคคลผู้มิได้สดับพระสัทธรรม


มานเจตสิก

มานเจตสิก คือ ความถือตัว ความทะนงตน ได้แก่ สภาพความถือตัวว่าเราสำคัญกว่าคนอื่น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อุนฺนติ ลกฺขโณ มีการทะนงตน เป็นลักษณะ
    สมฺปคฺคห รโส มีการยกย่อง (ตนและสัมปยุตตธรรม) เป็นกิจ
    เกตุกมฺยตา ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความปรารถนาสูงเหมือนธง เป็นผล
    ทิฏฐิวิปปยุตฺตโลภ ปทฏฺฐาโน มีความโลภที่ปราศจากทิฏฐิ เป็นเหตุใกล้

มานะ คือ ความถือตัวนี้ จำแนกเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ ประการคือ :-

๑. อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
๒. ยาถาวมาน ความถือตัวที่เป็นไปตามความเป็นจริง

ความถือตัวทั้ง ๒ ประการนี้ อาจแยกย่อยได้อีก ๙ ประการคือ :-

อยาถาวมาน ถือตัวที่ไม่เป็นความจริง ๖ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง

ยาถาวมาน ถือตัวที่เป็นไปตามความจริง ๓ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ

รวมมานะความถือตัวทั้งสิ้น ๙ ประการ

อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่ตรงความจริง ละได้ด้วย โสดาปัตติมรรค
ยาถาวมาน ความถือตัวที่ตรงความจริง ละได้ด้วย อรหัตตมรรค

ความถือตัวนี้ แม้จะถือว่า ตนเป็นคนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ อย่างไรก็ตามและการถือตัวนั้น จะเป็นไปตามความจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เห็นว่าตนเป็นคนสำคัญกว่าผู้อื่น ไม่ยินดีคบหาสมาคมกับใคร ไม่ต้อนรับใคร และไม่ยอมอ่อนน้อมแก่ใคร อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, สารัมภะ แข่งดี, ถัมภะ หัวดื้อ, สาเลยยะ โอ้อวด เหล่านี้จัดเป็นมานะทั้งสิ้น อนึ่ง ถ้ามีการเปรียบเทียบ ระหว่างเรากับเขาขึ้นเมื่อใด และไม่ว่าการเปรียบเทียบนั้น เปรียบด้วยโคตร, สกุล, รูป, สมบัติ, ทรัพย์, ศิลปวิทยา การงาน ก็เป็นมานะทั้งสิ้น

เจตสิก ๓ ดวงที่กล่าวมาแล้วนี้ ชื่อว่าโลกเจตสิก เพราะมีโลภเจตสิกเป็นประธาน และเป็นเจตสิกที่ประกอบเฉพาะในโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น


🔆 ค. โทจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโทสเจตสิกเป็นประธาน

มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โทสเจตสิก, อิสสาเจตสิก, มัจฉริยเจตสิก และ กุกกุจจเจตสิก

โทจตุกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิต ๒ ดวง ตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่นเช่น โลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตไม่ได้ ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโทจตุกเจตสิกตามลำดับ

โทสเจตสิก

โทสเจตสิก คือความโกรธ ความไม่ชอบใจ ความประทุษร้าย ได้แก่ สภาพธรรมที่ประทุษร้ายในอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    จณฺฑิกลกฺขโณ มีความดุร้ายหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ
    อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส (วา) มีการเผาที่อาศัยของตนเอง เป็นกิจ(หรือ) วิสปฺปนรโส มีความกระสับกระส่าย พลุ่งพล่าน เป็นกิจ
    ทุสฺสน ปจฺจุปฏฐาโน มีประทุษร้ายตน และผู้อื่น เป็นผล
    อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้

โทสเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพดุร้าย เหมือนอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่ายเหมือนถูกวางยาพิษ หรือมีการเผาที่อาศัยของตนเหมือนไฟไหม้ป่า มีการประทุษร้ายตนเหมือนศัตรูที่ได้โอกาส และโทสะนี้ย่อมอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตก่อให้เกิด 

อาฆาตวัตถุ อันเป็นเหตุใกล้ ก่อให้เกิดโทสะนั้น มี ๑๐ ประการคือ :-
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตที่เกิดขึ้น นอกจากฐานะทั้ง ๙ ประการดังกล่าวแล้ว (เช่น โทสะเกิดเมื่อเดินสะดุด หรือเหยียบหนาม เป็นต้น)

อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุใกล้ให้โทสะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า โทสจิตตุปบาท ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโทมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ และโทมนัสที่เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ย่อมแสดงว่าจิตกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นโดยสภาวะที่ไม่พอใจ การกระทบอารมณ์โดยสภาวะที่ไม่พอใจนี้ชื่อว่า “ปฏิฆะ” โทสมูลจิตจึงชื่อว่า “ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ” เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือประกอบกับโทสเจตสิก เพราะกระทบอารมณ์อันไม่พอใจ โทสมูลจิตหมายรวมถึงจิตที่มีความไม่ชอบใจ เสียใจ กลุ้มใจ หงุดหงิดรำคาญใจ โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้นด้วย เมื่อ โทสะ เกิดแล้ว พยาบาท ย่อมเกิด ดังในกรรมบถที่เป็นมูลทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสว่า “โทโสโหติ” โทสะย่อมเกิด “พยาปาโทโหติ” พยาบาทนี้ย่อมเกิด

ย่อมแสดงให้เห็นว่า โทสะย่อมเป็นมูลให้เกิดพยาปาทะ ที่ชื่อว่า
พยาปาทะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ถึงความฉิบหาย คือเข้าถึงความเสียแห่งจิต หรือเพราะอรรถว่า ทำให้ระเบียบกิริยามารยาท อวัยวะร่างกายและประโยชน์เป็นต้น ให้ถึงความพินาศไป แต่โดยเนื้อความแล้ว พยาปาทะก็คือโทสะนั่นเอง ฉะนั้นโทสะจึงมีชื่อเรียกว่า “ปฏิฆะ” หรือ “พยาปาทะ” ก็ได้

อิสสาเจตสิก

อิสสาเจตสิก คือสภาพที่ไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่นมีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปรสมฺปตฺตีนํ อุสฺสูยนลกฺขณา มีความริษยาสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ
    ตตฺเถว อนภิรติรสา มีความไม่ยินดีในสมบัติผู้อื่น เป็นกิจ
    ตโตวิมุขภาว ปจฺจุปฏฐานา มีการเบือนหน้าหนีจากสมบัติผู้อื่น เป็นผล
    ปรสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานา มีสมบัติของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

ความไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่น ถ้าเป็นเพียงความไม่พอใจด้วยเห็นว่าไม่ใช่ของตนแล้ว ก็ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พอใจด้วยเห็นว่าผู้อื่นนั้นไม่ควรจะมีแล้วย่อมชื่อว่า “ริษยา” จึงจะมีโทษ และเป็นสภาพของอิสสา จึงเห็นว่าสภาพของอิสสานี้เป็นภาวะที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์จึงย่อมจะผูกพันสัตว์ไว้ในภพน้อยใหญ่ ซึ่งเรียกสภาพธรรมที่ผูกสัตว์นั้นว่า “สังโยชน์” อันได้แก่ “อิสสาสังโยชน์”


มัจฉริยเจตสิก

มัจฉริยเจตสิก คือความตระหนี่ ได้แก่ สภาพความหวงแหนทรัพย์สมบัติ หรือคุณงามความดีของตน มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อตฺตโนสมฺปตฺตีนํ นิคูหนลกฺขณํ มีความหวงแหนสมบัติของตน เป็นลักษณะ
    เตสํ เยว ปเรหิ สาธารณภาวอกฺขมนรสํ มีการไม่ชอบให้สมบัติของตนเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่น เป็นกิจ
    สงฺโกจน ปจฺจุปฏฐานํ (วา) มีการบูดเบี้ยวหน้า เป็นผล (หรือ) กฎกญฺจุกตา ปจฺจุปัฏฐานํ มีความเหนียวแน่น เป็นผล
    อตฺตสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานํ มีสมบัติของตน เป็นเหตุใกล้

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ มี ๕ ประการ คือ :-
๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย
๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ หรือความงาม
๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ ความรู้ธรรม

อธิบาย อาวาสมัจฉริยะ คือตระหนี่ที่อยู่อาศัยนั้น นอกจากจะหวงแหนที่อยู่อาศัย อันได้แก่ อาคารบ้านเรือน กุฏิวิหารแล้ว แม้หวงที่นั่ง, ที่นอน, ที่ยืน, ที่เดิน ก็ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ

กุลมัจฉริยะ คือ ตระหนี่ตระกูล ได้แก่ การที่ภิกษุหวงตระกูลอุปัฏฐากไม่ยินดีให้ภิกษุอื่นไปรู้จักคุ้นเคยกับอุปัฏฐากของตน และสำหรับฆราวาสการกีดกันพวกพ้องวงศ์ตระกูลของตน ไม่ให้เกลือกกลั้วพัวพันกับตระกูลอื่นก็ชื่อว่ากุลมัจฉริยะ แต่ถ้าการกีดกันนั้นเพราะเห็นว่า บุคคลตระกูลอื่นนั้นเป็นอันธพาลชน ก็ไม่เป็นกุลมัจฉริยะ

ลาภมัจฉริยะ คือตระหนี่ลาภ ได้แก่การหวงแหนวัตถุสิ่งของอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อผู้อื่นมาขอ ก็มีความหวงแหน ไม่ให้ปันตามสมควรชื่อว่าลาภมัจฉริยะ แต่ถ้าผู้มาขอวัตถุสิ่งของอันเป็นลาภนั้น เป็นอันธพาลชนผู้ไม่ให้ลาภ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นลาภมัจฉริยะ

วัณณมัจฉริยะ คือ ตระหนี่วรรณะ วรรณะมี ๒ อย่าง คือ สรีรวัณณะ และคุณวัณณะ
    (๑) สรีรวัณณมัจฉริยะ หมายถึง ความอยากให้มีรูปร่างสวยงามเฉพาะตนผู้เดียว ไม่ยินดีในความสวยของผู้อื่น แม้ได้ยินใครกล่าวคำยกย่องความสวยงามของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า สรีรวัณณมัจฉริยะ
    (๒) คุณวัณณมัจฉริยะ หมายถึง หวงแหนคุณงามความดีไว้เฉพาะตน แม้มีผู้สรรเสริญคุณงามความดีของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า คุณวัณณมัจฉริยะ ธัมมมัจฉริยะ คือตระหนี่ธรรม ได้แก่ ความหวงแหนปริยัติธรรมมีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาต่างๆ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ตามที่ตนรู้ ชื่อว่า ธัมมปัจฉริยะ

กุกกุจจเจตสิก

กุกกุจจเจตสิก คือสภาพความเดือดร้อนใจ ได้แก่ ความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้ว และในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปจฺฉานุตาปลกฺขณํ มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง เป็นลักษณะ
    กตากตานุโสจน รสํ มีความเศร้าโศกเนืองๆในกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ เป็นกิจ
    วิปฺปฏิสาร ปญฺจุปัฏฐานํ มีความร้อนใจ เป็นผล
    กตากต ปทฏฺฐานํ มีอกุศลกรรมที่ทำแล้วและกุศลกรรมที่ยังไม่ได้ทำ เป็นเหตุใกล้

ความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร หรือสำคัญว่า ไม่ควรในของที่ควร เป็นมูลแก่กุกกุจจะ



🔆 ง. ทุกเจตสิก
หมายถึง เจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ ถีนเจตสิก และ 
มิทธเจตสิก ชื่อว่า ถีทุกะ โดยยกถีนเจตสิกเป็นประธาน เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ถ้าจะเกิดขึ้นประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง ก็เกิดพร้อมกันทั้ง ๒ ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิดด้วยกัน

ถีนเจตสิก

ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ สภาพที่จิตคลายลงจากอำนาจความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อนุสฺสาห ลกฺขณํ มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
    วิริยวิโนทน รสํ มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
    สํสีทน ปจฺจุปฏฐานํ มีความท้อถอย เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

มิทธเจตสิก

มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้เจตสิกเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อกมฺมญฺญตา ลักขณํ มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
    โอนหน รสํ มีการกั้นกำบังสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
    ลีนตา ปจฺจุปฏฺฐานํ (วา) มีความท้อถอย เป็นผล (หรือ) จปลายิกานิทฺทา ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการโงกง่วงเป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้


ข้อสังเกต

ถีนเจตสิก มีหน้าที่ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ 
มิทธเจตสิก มีหน้าที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดพร้อมตนท้อถอยจากอารมณ์ อุปมา ถีนะ เหมือนดวงไฟ มิทธะเหมือนแสงสว่างจากดวงไฟ เมื่อดวงไฟหรี่ แสงสว่างก็จะลดน้อยลงพร้อมๆ กันด้วย ถีนมิทธเจตสิกนี้ ละได้ด้วยอรหัตตมรรค จึงแสดงว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ได้หลับนอนด้วยกิเลส แต่หลับนอนด้วยความอ่อนเพลียของกรัชกาย

🔆 จ. วิจิกิจฉาเจตสิก
เป็นธรรมชาติที่มีความเคลือบแคลงสงสัยใน
อารมณ์ เจตสิกดวงนี้จะเกิดขึ้นประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตได้ดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉาเจตสิก

วิจิกิจฉาเจตสิก คือสภาพที่มีความสงสัย ไม่อาจแก้ไขเยียวยาด้วยญาณปัญญาของตนได้ จึงสงสัยในคุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สํสย ลกฺขณา มีความสงสัย เป็นลักษณะ
    กมฺปน รสา มีความหวั่นไหวในอารมณ์ เป็นกิจ
    อนิจฺฉย ปจฺจุปัฏฐานา มีความไม่สามารถตัดสินใจได้ ป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานา มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

ความสงสัยในความหมายของวิจิกิจฉานั้น ไม่ใช่เป็นความสงสัยในวิชาการต่างๆ หรือบัญญัติธรรมอื่นๆ แต่หมายเฉพาะความสงสัยในลักษณะ ๘ ประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ :-

๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่ สงสัยในพระสรีระ หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ
๒. สงสัยในพระธรรม ได้แก่ สงสัยในมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกว่า เป็นธรรมที่จะนำออกจากวัฏฏทุกข์ได้โดยเด็ดขาดจริงหรือ?
๓. สงสัยในพระสงฆ์ ได้แก่ สงสัยว่า พระอริยสงฆ์นั้นมีจริงหรือ? พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน มีหรือ? ผลแห่งทานที่ถวายแก่พระสงฆ์นั้น มีจริงหรือ?
๔. สงสัยในสิกขา ๓ ได้แก่ สงสัยว่า ศีล สมาธิ ปัญญาดีจริงหรือ? และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขา ๓ นั้นมีจริงหรือ?
๕. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอดีต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติก่อนนั้น มีหรือ?
๖. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติหน้าจะ มีอีกจริงหรือ?
๗. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตและอนาคต ได้แก่สงสัยในสภาพตัวตน คน สัตว์ว่า ทั้งอดีตและอนาคตชาติหน้านั้น จะมีจริงหรือ?
๘. สงสัยในปฏิจจสมุปบาทธรรม ได้แก่ สงสัยในสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล อาศัยกันเกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกันไปไม่ขาดสายเลยนั้น มีจริงหรือ?

ความสงสัยประการอื่น ที่นอกจากสงสัยในสภาพธรรม ๘ ประการนี้ เช่น สงสัยในวิชาการต่างๆ อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัตินั้น เพราะสัญญายังอ่อน ไม่ใช่สภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก ที่ประกอบด้วยอกุศลจิต ชนิดที่เป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุต ความสงสัยประเภทนี้ชื่อว่า “ปฏิรูปกวิจิกิจฉา” ซึ่งไม่จัดว่าเป็นกิเลสที่ประกอบในโมหมูลจิต อาจสงเคราะห์ในอุทธัจจสัมปยุตจิตได้