โลกุตรจิต ๘

โลกุตรจิต เป็นจิตที่พ้นจากโลก หมายความว่า เป็นจิตที่มีอารมณ์เหนือสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลก หรือเป็นจิตที่มีความสามารถรับอารมณ์พิเศษที่เหนือโลก คือ นิพพานอารมณ์ จิตเหล่านี้มีจำนวน ๘ ดวง และสามารถรับนิพพพานอารมณ์ โดยแน่นอนอย่างเดียว จึงเรียกจิต ๘ ดวงนี้ว่า โลกุตรจิต

โลกุตตรจิตฺต เมื่อแยกศัพท์ ย่อมได้แก่ โลก  + อุตฺตร + จิตฺต = โลกุตตรจิตฺต โลก หมายถึง โลกทั้ง ๓ คือ กามโลก (กามภูมิ) รูปโลก (รูปภูมิ) และอรูปโลก (อรูปภูมิ) หรืออีกนัยหนึ่ง “โลก” หมายถึง สิ่งที่ต้อง แตกดับ สูญสิ้นไป เป็นธรรมดา “อุตตร” หมายความว่า เหนือ หรือ พ้น โลกุตรจิต จึงหมายถึงจิตที่เหนือโลกทั้ง ๓ หรือจิตที่พ้นจากการท่องเที่ยวไปในโลกทั้ง ๓ หมายความว่า จิตนี้มีอารมณ์ที่เหนือโลก มีอารมณ์ที่พ้นจากโลก กล่าวคือ โลกุตรจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ และนิพพานนี้จัดเป็นธรรมที่พ้นโลก เป็นธรรมที่เหนือโลกทั้ง ๓

โลกุตรจิต เป็นจิตที่มีอารมณ์พ้นจากการเกิดดับนั้น ก็มิได้หมายความว่าจิตจะไม่เกิด-ดับ จิตก็ยังคงมีอาการเกิดดับตามสภาพของจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์พิเศษอันพ้นจากการเกิดดับ อารมณ์ที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ “นิพพาน” เป็นอารมณ์ที่ไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความพินาศ เป็นธรรมที่พ้นจากการถูกปรุงแต่งเป็นอสังขตธรรม

ธรรมดาธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในโลกทั้ง ๓ ย่อมเกิดดับทั้งสิ้น แต่นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ เป็นธรรมที่พ้นจากการเกิดดับ นิพพานจึงเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก เป็นธรรมที่เหนือโลก พ้นจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยธรรม คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ทั้งสิ้น

คาถาสังคหะ
จตุมคฺคปฺปเภเทน จตุธา กุสลนฺตถา
ปากนฺตสฺส ผลตฺตาติ อฏฺฐธานุตฺตรํ มตํฯ

แปลความว่า โลกุตรจิตโดยย่อ มี ๘ คือ โลกุตรจิตว่าโดยประเภทแห่งมรรคมี ๔ และโลกุตรวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของโลกุตรกุศลจิต ก็มี ๔

🔅 จำแนกโลกุตรจิต ๘ โดยประเภทแห่งชาติ

โลกุตรจิต ๘ นั้น มีอยู่ ๒ ชาติ คือ : -

  • ๑. ชาติกุศล ชื่อว่า โลกุตรกุศลจิต หรือ มัคคจิต มีจำนวน ๔ ดวง เรียกตามชื่อของญาณที่เกิดในขณะจิตนั้นๆ เพราะเป็นจิตประเภทที่ประกอบด้วยอริยมรรค
  • ๒. ชาติวิบาก ชื่อว่า โลกุตรวิบากจิต หรือ ผลจิต เพราะเป็นผลของโลกุตรกุศลจิต จึงมีจำนวน ๔ ดวงเหมือนกัน

จึงรวมเป็นโลกุตรจิต ๘ ดวง จำง่ายๆ ว่า มรรค คือ กุศล ผล คือ วิบาก ซึ่งมีความหมายว่า มัคคจิต เป็นชาติกุศล และผลจิต เป็นชาติวิบาก

👉ข้อควรสังเกต โลกุตรจิตนี้ มีแต่โลกุตรกุศล และโลกุตรวิบากเท่านั้นไม่มีโลกุตรกิริยาด้วยเลย ทั้งนี้ เพราะถ้ามีโลกุตรกิริยา ก็ย่อมหมายถึงโลกุตรกุศลที่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ทำนองเดียวกับมหากุศล หรือมหัคคตกุศล ถ้าเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ที่ชื่อว่า มหากิริยา หรือมหัคคตกิริยา และทั้งมหากิริยาและมหัคคตกิริยานั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในสันดานของพระอรหันต์

แต่ส่วนมัคคจิตนั้น เกิดได้เพียงมรรคละครั้งเดียว คือ โสดาปัตติมรรค, สทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค ตลอดจนอรหัตมรรค จะเกิดได้มรรคละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะมัคคจิตนั้นเกิดขึ้นได้แต่ละครั้ง เพื่อกิจในการประหาณอนุสัยกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย จึงไม่ต้องมีมัคคจิต เพื่อประหาณกิเลสอีก ฉะนั้น โลกุตรกิริยา จึงไม่มี

โลกุตรธรรม หมายถึง มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ และนิพพาน ๑ รวมสภาวะที่เป็นโลกุตรธรรม มี ๙ ประเภท โลกุตรจิต ๘ แม้เป็นโลกุตรธรรม แต่ยังเป็นสังขตธรรมอยู่ นิพพานเท่านั้นที่เป็นทั้งโลกุตรธรรม และอสังขตธรรมด้วย

🔅 โลกุตรกุศล หรือ มัคคจิต

โลกุตรกุศล มีความหมายเป็นหลายนัย คือ

  • นัยที่ ๑ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ทำให้ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก ได้แก่ กามภูมิ ๑๑, รูปโลก ได้แก่ รูปภูมิ ๑๖ และ อรูปโลก ได้แก่ อรูปภูมิ ๔
  • นัยที่ ๒ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นอริยบุคคล
  • นัยที่ ๓ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลจิตที่เกิดขึ้นรับ โลกุตรอารมณ์ คือ นิพพาน
  • นัยที่ ๔ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลจิตที่มีอำนาจเหนือโลกียกุศลด้วยเหตุว่า ดับอกุศล หรือ ประหาณกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน

กุศลอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ ที่ชื่อว่า โลกียกุศล นั้น ย่อมก่อ จุติ และปฏิสนธิ ทำให้สัตว์เจริญอยู่ในวัฏฏะ ฉะนั้น โลกียกุศล อันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ จึงชื่อว่าเป็น อาจยคามี หรือ วัฏฏคามินีกุศล แต่ในโลกุตรกุศลนั้น ย่อมเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้าม คือ โลกุตรกุศลนี้ ย่อมรื้อทำลายจุติและปฏิสนธิแห่งสัตว์ที่โลกียกุศลก่อไว้แล้วโดยกระทำความบกพร่องแห่งปัจจัยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด โลกุตรกุศลนี้ชื่อว่า อปจยคามี หรือ วิวัฏฏคามินีกุศล

โลกุตรกุศลจิต หรือ มัคคจิตนี้ กล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

๑. โสดาปัตติมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๑
๒. สกทาคามิมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๒
๓. อนาคามิมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๓
๔. อรหัตมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๔

อธิบาย
นัยที่ ๑
โลกุตรกุศล หมายถึง เป็นกุศลที่ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ นั้น คือ
- โสตาปัตติมัคคจิต กับ สกทาคามีมัดจิต ทำให้ข้ามพ้นจากกามโลกได้ ๔ ภูมิ คือ อบายภูมิ ๔
- อนาคามีมรรค ทำให้ข้ามพ้นจากกามโลกทั้งหมด คือ กามภูมิทั้ง ๑๑ ภูมิ
- อรหัตมัคคจิต ทำให้ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก, รูปโลก, อรูปโลก



นัยที่ ๒ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลที่ทำให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคล คือ
    โสดาปัตติมัคคจิต ทำให้เป็น โสดาปัตติมัคบุคคล
    สกทาคามิมัคคจิต ทำให้เป็น สกทาคามิมัคบุคคล
    อนาคามิมัคคจิตทำให้เป็น อนาคามิมัคบุคคล   
    อรหัตมัคคจิต ทำให้เป็น อรหัตมัคบุคคล

นัยที่ ๓ โลกุตรกุศล หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นรับโลกุตรอารมณ์ คือ พระนิพพานนั้น เพราะพระนิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยให้แก่มัคคจิต ๔ กล่าวคือ โลกุตรกุศลจิต ๔ ดวงนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของพระนิพพานเป็นปัจจัยเพราะพระนิพพานนั้นเป็นโลกุตรธรรม มัคคจิตทั้ง ๔ ดวงนี้ จึงเรียกว่า โลกุตรกุศล เพราะเป็นกุศลธรรมที่เกิดจากโลกุตรธรรม

นัยที่ ๔ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลจิตที่มีอำนาจดับอกุศล หรือประหาณกิเลสได้ เป็นสมุจเฉทปหาน


🔅 ลักษณะของการประหาณกิเลส

กิเลส คือ ธรรมที่เศร้าหมองเร่าร้อน ในพระอภิธรรมได้แบ่งกิเลสตามอาการ แสดงออกได้เป็น ๓ ชั้น คือ :-    ก. วีติกกมกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างหยาบที่สามารถก่อให้เกิดการ เคลื่อนไหวออกมาทางกายทวาร หรือวจีทวารได้ เป็น ทุจริตกรรม กิเลสชนิดนี้ ประหาณได้ด้วยศีล เป็นการสงบระงับชั่วครั้งชั่วคราว ขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ การประหารกิเลสได้ชั่วขณะนี้ เรียกว่า ตหังคปหาน

ข. ปริยุฏฐานกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างกลางที่เกิดอยู่ภายในมโนทวาร ไม่ถึงกับแสดงอาการล่วงออกมาทางกายทวารหรือวจีทวาร นิวรณ์กิเลสชนิดนี้ประหาณได้ด้วยสมาธิ คือฌาน ย่อมดับไว้หรือระงับไว้ได้ตามอำนาจของฌาน ได้นานตราบ เท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม เรียกว่า วิกขัมภนปหาน

ค. อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันไม่มีใครอื่นที่สามารถจะรู้ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุสัยกิเลสชนิดนี้ต้อง ประหาณด้วยปัญญาในมัคคจิต และมัคคจิตนี้เอง ที่สามารถประหาณกิเลสได้หมดสิ้น สูญเชื้อ ไม่กลับมีขึ้นมาใหม่อีก เรียกการประหาณนี้ว่า “สมุจเฉทปหาน”

สรุปความว่า

วิติกกมกิเลส ต้องประหาณด้วยมหากุศลจิตที่เกี่ยวกับศีล เป็น ตทังคปหาน
ปริยุฏฐานกิเลส ต้องประหาณด้วยมหัคคตกุศลจิต เป็น วิกขัมภนปหาน   
อนุสัยกิเลส ต้องประหาณด้วยมัคคจิต เป็น สมุจเฉทปหาน


🔅 การประหาณกิเลสชนิดสมุจเฉทปหาน

กิเลส อันเป็นที่ยังจิตให้เศร้าหมองเร่าร้อนนี้ ย่อมเกิดพร้อมและประกอบด้วยอกุศลจิตเท่านั้น ฉะนั้นการประหาณกิเลสก็เท่ากับประหาณอกุศลจิตนั่นเอง ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงอกุศลไว้ ๙ กอง คือ :-   

  • ๑. อาสวะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องหมักดองอกุศล มี ๔ อย่าง คือ :-
    - กามาสวะ ความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    - ภวาสวะ ความยินดีในภพภูมิต่าง ๆ 
    - ทิฏฐาสวะ ความยินดีตามความเห็นผิด
    - อวิชชาสวะ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๒. โอฆะ เป็นธรรมอันเปรียบเสมือนห้วงน้ำ อันยังสัตว์ทั้งหลายให้จมอยู่ใน สังสารวัฏ คือ :-
    - กาโมฆะ ความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    - ภโวฆะ ความยินดีในอัตภาพและภพภูมิต่าง ๆ 
    - ทิฏโฐฆะ ความยินดีในความเห็นผิด
    - อวิชโชฆะ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๓. โยคะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องประกอบสัตว์กับภพภูมิต่าง ๆ ไว้ มี ๔ คือ :-
    - กามโยคะ คือ ความยินดีในกามคุณอารมณ์ทั้ง ๕
    - ภวโยคะ คือ ความยินดีในภพภูมิต่าง ๆ
    - ทิฏฐิโยคะ คือ ความยินดีในความเห็นผิด
    - อวิชชาโยคะ คือ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๔. คันถะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ไม่ให้หลุดรอดพ้นไปจากโลกได้ มี ๔ คือ : -
    - อภิชฌากายคันถะ ได้แก่ ความโลภทั้งหลาย
    - พยาปาทกายคันถะ ได้แก่ ความโกรธทั้งหลาย
    - สีลัพตปรามาสกายคันถะ ได้แก่ ลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด
    - อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ยึดความเห็นผิดอย่างเหนียวแน่น 
  • ๕. อุปาทาน เป็นธรรมที่เป็นเครื่องยึดถือให้ผูกพันอยู่กับความเป็นไปในโลก มี ๔ คือ :-
    - กามุปาทาน ได้แก่ ความยึดถือติดอยู่กับภพและกามคุณอารมณ์
    - ทิฏฐุปาทาน ได้แก่ ยึดมั่นอยู่ในความเห็นผิด
    - อัตตวาทุปาทาน ได้แก่ ยืดความเห็นผิดว่ามีตัวตน 
    - สีลัพพัตตุปาทาน ได้แก่ ถือการปฏิบัติที่ผิด เพราะไม่รู้ข้อปฏิบัติอันไหนที่จะ นำให้พ้นทุกข์อย่างถูกต้อง
  • ๖. นิวรณ์ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นความดี มี ๖ อย่าง คือ : -
    - กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ ความยินติดใจในกามคุณอารมณ์
    - พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ความที่จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ต่าง ๆ
    - อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยลังเลใจ
    - อวิชชานิวรณ์ ได้แก่ ความไม่รู้ในสัจจธรรม
  • ๗. อนุสัย เป็นธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน มี ๗ อย่าง คือ : -
    - กามราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอารมณ์
    - ทิฏฐานุสัย ได้แก่ ความเห็นผิด
    - ปฏิฆานุสัย ได้แก่ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - ภวราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีในความเป็นอยู่แห่งภพ
    - มานานุสัย ได้แก่ ความอวดดื้อถือตัว
    - วิจิกิจฉานุสัย ได้แก่ ความลังเลสงสัยในสภาวธรรม
    - อวิชชานุสัย ได้แก่ ความไม่รู้ในสัจจธรรม
  • ๘. สัญโภญชน์ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องร้อยรัดสัตว์ทั้งหลายไว้ในสังสารวัฏมี ๑๐ อย่าง คือ :-
    - กามราคสัญโญชน์ ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอารมณ์
    - ภวราดสัญโญชน์ ได้แก่ ความยินดีในความเป็นอยู่แห่งภพ
    - มานสัญโญชน์ ได้แก่ ความอวดดื้อถือตัว
    - ทิฏฐิสัญโญชน์ ได้แก่ ความเห็นผิด
    - วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ได้แก่ ความลังเลสงสัยในเหตุผลแห่งธรรม
    - สีลัพพัตตปรามาสสัญโญชน์ ได้แก่ ถือปฏิบัติที่ผิด คิดว่า พ้นทุกข์ได้
    - อิสสาสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่อยากให้คนอื่นดีกว่าตน
    - มัจฉริยสัญโญชน์ ได้แก่ ความหวงแหนในสมบัติของตน
    - ปฏิฆสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่ชอบใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - อวิชชาสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่รู้สัจธรรม
  • ๙. กิเลส เป็นธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง มี ๑๐ อย่าง คือ
    - โลภกิเลส ได้แก่ ความโลภ
    - โทสกิเลส ได้แก่ ความโกรธ
    - โมหกิเลส ได้แก่ ความหลง
    - มานกิเลส ได้แก่ ความถือตน
    - ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ ความเห็นผิด
    - วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ความลังเลสงสัย
    - ถีนกิเลส ได้แก่ ความท้อถอย
    - อุทธัจจกิเลส ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน
    - อหิริกกิเลส ได้แก่ ความไม่ละอายต่อบาปทุจริต
    - อโนตตัปปกิเลส ได้แก่ ความไม่กลัวต่อบาปทุจริต


🔅 
มัคคจิตทำลายอกุศล

มัคคจิต หรือ โลกุตรจิต ทำลายอกุศล ๙ กอง ดังนี้ คือ

โสดาปัตติมัคคจิต 
ทำลาย 
- อาสวะ ได้ ๑ คือ ทิฏฐาสวะ
- โอฆะ ได้ ๑ คือ ทิฏโฐฆะ
- โยคะ ได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ
- คันถะ ได้ ๒ คือ สีลัพพัตตปรามาส และ อิทังสัจจาภินิเวส
- อุปาทาน ได้ ๓ คือ ทิฏฐปาทาน, อัตตวาทุปาทาน, สีลัพพัตตุปาทาน
- นิวรณ์ ได้ ๒ คือ วิจิกิจฉานิวรณ์, กุกกุจจนิวรณ์
- อนุสัย ได้ ๒ คือ ทิฏฐานุสัย, วิจิกิจฉานุสัย
- สัญโญชน์ ได้ ๕ คือ ทิฏฐิสัญโญชน์, วิจิกิจฉาสัญโญชน์, อิสสาสัญโญชน์, มัจฉริยสัญโญชน์, สีลัพพัตตปรามาสสัญโญชน์
- กิเลส ได้ ๒ คือ มิจฉาทิฏฐิ, วิจิกิจฉา

สกทาคามิมัคคจิต หรือ มัคคจิตดวงที่ ๒ นั้น ทำลายอกุศลส่วนหยาบๆ ที่เหลือจากโสดาปัตติมัคคจิตได้ทำลายมาแล้ว และการทำลายอกุศลของสกทาคามิมัคคจิตนี้ เพียงแต่ทำลายอกุศลให้เบาบางลงเท่านั้น

อนาคามิมัคคจิต ทำลาย
- อาสวะ ได้ ๑ คือ กามาสวะ
- โอฆะ ได้ ๑ คือ กาโมฆะ
- คันถะ ได้ ๑ คือ พยาปาทกายคันถะ
- นิวรณ์ ได้ ๒ คือ กามฉันทนิวรณ์ และ พยาปาทนิวรณ์
- อนุสัย ได้ ๒ คือ กามราคานุสัย, ปฏิฆานุสัย
- สัญโญชน์ ได้ ๒ คือ กามราคสัญโญชน์ และ ปฏิฆสัญโญชน์
- กิเลส ได้ ๑ คือ โทสกิเลส

อรหัตมัคคจิต ทำลายอกุศลที่เหลือทั้งหมด ที่เป็นส่วนเหลือจากมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ ยังไม่ได้ทำลาย


🔅 
การละอกุศลกรรมบถโดยล่าดับของมัคคจิต

ปาณาติปาต                โสดาปัตติมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
อทินนาทาน                                                        "
กาเมสุมิจฉาจาร                                                  "
มุสาวาท                                                              "
มิจฉาทิฏฐิ                                                           "

อกุศลกรรมบถที่เหลือ สกทาคามิมัคคจิตละได้โดยกระทำให้เบาบางลงเป็นตนุกรปหาน

ปิสุณวาจา                   อนาคามิมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
ผรุสวาจา                                                            "
พยาปาท                                                            "

สัมผัปปลาปะ              อรหัตมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
อภิชฌา                                                            "


🔅 โลกุตรวิบาก หรือ ผลจิต

โลกุตรวิบากจิต หรือผลจิตนี้ เป็นจิตที่เป็นผลของโลกุตรกุศลจิตหรือมัคคจิตนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลสไปแล้ว ผลจิตก็จะเกิดติดต่อขึ้นในทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น คือ ไม่มีจิตประเภทอื่นใดเกิดขึ้นมาแทรกแซงคั่นกลางไว้เลย เมื่อมัคคจิตเกิดและดับลงแล้ว ผลจิตก็เกิดทันที จึงเรียกมัคคจิตและผลจิตนี้ว่า เป็น อกาลิโก คือ เป็นเหตุให้ผลจิตเกิดขึ้นในปัจจุบันทันใดไม่ต้องรอเวลาแห่งการเกิดขึ้นของจิตเลย ผลจิตนี้จะต้องเกิดขึ้นทันทีที่มัคคจิตดับลงเพื่อเสวยผลเนื่องจากการประหาณกิเลสของมัคคจิตโดยเฉพาะ ๆ แต่ละประเภทของมรรคทั้ง ๔ ฉะนั้น โลกุตรวิบากจิตหรือผลจิตจึงมีจำนวน ๔ ดวง เท่ากันกับมัคคจิต คือ

๑. โสดาปัตติผลจิต
๒. สกทาคามิผลจิต
๓. อนาคามิผลจิต
๔. อรหัตผลจิต


🙏 อรรถแห่งโลกุตรจิต ๘ 🙏 

พระโสดาบัน

ต่อไปนี้จะได้แสดงความหมายของโลกุตรจิต โดยมัคคจิตและผลจิตไปตามลำดับ

๑. โสตาปตฺติมคฺคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๔ ศัพท์ คือ โสต + อาปตฺติ + มคฺค + จิตฺต

  • โสต แปลว่า กระแสน้ำ หรือหมายถึงองค์มรรค ๘ ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำ
  • อาปตฺติ แปลว่า เข้าถึงอริยมรรคครั้งแรก
  • มคฺด แปลว่า ทาง หมายถึง องค์มรรค ๘
  • จิตฺต แปลว่า จิต หมายถึง จิตที่ประกอบองค์มรรค ๘

รวมความแล้ว โสดาปัตติมัคคจิต มีอรรถว่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเข้าสู่อริยมรรค หรือเข้าถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรก มีพระบาลีแสดงว่า “สวติ สุนฺทตีติ โสโต” แปลโดยอรรถว่า กระแสน้ำชื่อว่า โสต เพราะเป็นผู้ไหลไปไม่ทวนกลับ ได้แก่ กระแสน้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำ หรือ “โสโต วิยาตีติ = โสโต” อริยมรรค ๘ ชื่อว่า โสตะ เพราะเหมือนกระแสน้ำ “อาทิโต ปชฺชนํ = อาปตฺติ" การเข้าถึงอริยมรรคครั้งแรก ชื่อว่า อาปตฺติ “โสตสฺส อาปตฺติ = โสตาปตฺติ" การเข้าถึงอริยมรรคที่สภาพเหมือนกระแสน้ำ ของปุถุชนเป็นครั้งแรก ชื่อ “โสตาปตฺติ” 

“นิพฺพานตฺถิเกหิ มคฺคียตีติ = มคฺโค” ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ ที่ผู้ปรารถนานิพพานทั้งหลายควรได้แสวงหา ฉะนั้น ทางสายกลาง จึงชื่อว่า “มรรค” หรือ “กิเลเส มาเรนุโต คจฺฉตีติ = มคฺโค” ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ นี้ เป็นผู้ประหาณกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานทางสายกลางนี้ จึงชื่อว่า “มรรค

โสตาปตฺติ จ สา มคฺโค จาติ = โสตาปตฺติมคฺโค ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ เป็นผู้เข้าถึงอริยมรรค ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย และเป็นทางที่ควรแสวงหาด้วย จึงชื่อว่า “โสดาปัตติมรรค" ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นผู้ประหารกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานด้วย จึงชื่อว่า “โสดาปัตติมรรค"

โสตาปตฺติ มคฺเคน สมปยุตตํ จิตฺตนฺติ = โสตาปตฺติมคฺคจิตตํ จิตที่ประกอบกับองค์มรรค ๘ ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงอริยมรรคที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นทางที่ควรแสวงหาด้วย จึงชื่อว่า โสดาปัตติมรรค หรืออีกนัยหนึ่งจิตที่ประกอบกับองค์มรรค ๘ ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงอริยมรรคที่มีสภาพเป็นกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นผู้ประหาณกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานด้วย ชื่อว่า “โสดาปัตติมัคคจิต”

เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้น ย่อมสำเร็จกิจดังนี้ คือ

๑. โสดาปัตติมัคคจิต เกิดแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่าโสดาปัตติมรรคบุคคล
๒. โสดาปัตติมัคคจิต ทำให้พ้นจากกามภูมิในส่วนที่เป็นอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน
๓. โสดาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลสทำลายอกุศลจิต ๕ ดวง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป คือ โลภจิตที่มีทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวง และ โมหจิตที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุต ๑ ดวง และนอกจากนั้น ยังให้กิเลสที่ประกอบในทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง และโทสมูลจิต ๒ ดวง เบาบางลง จนไม่อาจจะนำไปสู่อบายภูมิได้


๒.โสดาปัตติผลจิต
เป็นโลกุตรจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นเพื่อเสวยสันติสุขที่โสดาปัตติมัคคจิตประหาณอนุสัยกิเลสลงแล้ว กล่าวคือ เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นประหาณอนุสัยกิเลสและดับไป ทันใดนั้น โสดาปัตติผลจิตก็จะเกิดขึ้นเสวยผลที่เป็นสันติสุขอันเกิดแต่โสดาปัตติมัคคจิตได้ประหาณอนุสัยกิเลสลงแล้ว

หรืออีกนัยหนึ่ง โสดาปัตติผลจิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในโอกาสที่พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติ เมื่อโสดาปัตติผลจิตเกิด ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ
    ๑) โสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าโสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกว่า พระโสดาบัน หรือบางทีก็เรียกว่า “เสกขบุคคล” คือบุคคลที่ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีก จนกว่าจะพ้นจากสภาวะที่ไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกเป็นอเสกขบุคคล หรือ พระอรหันต์
    ๒) โสดาปัตติผลจิต ทำให้พ้นจากอบายภูมิโดยเด็ดขาด กล่าวคือพระโสดาบัน เมื่อจุติย่อมไม่ไปปฏิสนธิในอบายภูมิอีก เพราะได้ทำลายอกุศลกรรมที่เป็นตัวการนำไปสู่อบายได้อย่างเด็ดขาดแล้ว
    ๓)โสดาปัตติผลจิต ย่อมเกิดขึ้น เพื่อเสวยสันติสุขจากการประหาณทิฏฐิและวิจิกิจฉา ที่ละได้แล้วโดยเด็ดขาด

ประเภทของพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนาจำแนกพระโสดาบันได้เป็น ๓ ประเภท โดยกำหนดภพชาติไว้เป็นที่แน่นอน คือ

๑. เอกพีซีโสดาบัน คือ พระโสดาที่มีชาติกำเนิดอีกชาติเดียว เอกํ พีชํ อสุสาติ = เอกพิซี เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกชาติเดียวก็จะบรรลุอรหัต แล้วก็จะเข้าปรินิพพานในชาตินั้น
๒. โกลังโกลโสดาบัน คือ พระโสดาบันผู้จะต้องมีพืชกำเนิดระหว่าง ๒-๖ ชาติ กุลโต กุลํ คจฺฉตีติ = โกล์โกโล เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกตั้งแต่ ๒ ถึง ๖ ชาติ เป็นอย่างมาก ก็จะบรรลุอรหัตผลแล้วจึงปรินิพพาน
๓. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือพระโสดาบันผู้ต้องมีพืชกำเนิดอีก ๗ ชาติ สตฺตกฺขตตุ ปรมํ อสุสาติ = สตฺตกฺขตตุปรโม เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ ก็จะบรรลุอรหัตผลแล้วจึงปรินิพพาน

เหตุที่ทำให้พระโสดาบันบรรลุอรหัตผลต่างกัน การที่พระโสดาบันบรรลุอรหัตผลแตกต่างกันออกไปได้ ถึง ๓ ประเภทนั้นเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

  • ๑. ต่างกันด้วยกำลังแห่งอินทรีย์ ที่ได้สร้างสมอบรมมาแต่อดีต กล่าวคือ ถ้าในอดีตชาติได้อบรมอินทรีย์ คือ สัทธินทรีย์, วิริยินทรีย์, สตินทรีย์, สมาธินทรีย์และปัญญินทรีย์มาแล้วอย่างแก่กล้า ครั้นเมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็นเอกพิซีโสดาบัน ถ้าในอดีตชาติได้สร้างสมอบรมบารมีอินทรีย์มาปานกลางเมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็น โกลังโกลโสดาบัน ถ้าในอดีตชาติได้สร้างสมอบรมบารมีอินทรีย์ไว้อย่างอ่อนเมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็น สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน
  • ๒. ต่างกันด้วยความมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ กล่าวคือ ถ้าพระโสดาบันที่มีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียรเจริญวิปัสสนา ด้วยกำลังเจตนาอันแรงกล้าก็เป็นเอกพีซีโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันที่มีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียรเจริญวิปัสสนาด้วยกำลังเจตนาอย่างปานกลาง ก็เป็นโกลังโกลโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันมีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียร เจริญวิปัสสนาด้วยกำลังเจตนาอย่างอ่อน ก็เป็น สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

พระโสดาบันที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๓ ประเภทนี้ แม้จะแตกต่างกันด้วยการอบรมบารมีอินทรีย์ที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรือแม้จะแตกต่างกันด้วยจิตที่มุ่งมั่นในอริยมรรคเบื้องบน และยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างไรก็ตาม พระโสดาบันเหล่านั้น ก็จะไม่ต้องถือปฏิสนธิในภพชาติที่ ๘ อีก ดังปรากฏในสุตตนิบาตพระบาลีว่า "เย อริยสัจฺจาน วิภาวยนฺติ คมฺภีรปญฺเญน สุเทสิตานิ กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา น เต ภวํ อฏฺฐมมาทิยนฺติฯ" ชนเหล่าใดได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้วนั้น ชนเหล่านั้น แม้ประมาทมากก็ไม่ถือเอาภพที่ ๘ คือจะเกิดได้อีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ฉะนั้น พระอริยโสดาบันทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเทศนาการสิ้นสุดแห่งภพชาติไว้เป็นการแน่นอน

แต่ยังมีพระโสดาบันอีกประการหนึ่ง ที่ไม่นับรวมอยู่ในพระอริยโสดาบันประเภทที่กล่าวมานั้น พระอริยโสดาบันประเภทนี้ เรียกว่า "วัฏฏาภิรตโสดาบัน" เป็นพระอริยโสดาบันที่มีอัธยาศัยยังยินดีพอใจในวัฏฏะปรารถนาที่จะเที่ยวปฏิสนธิไปในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น ตลอดไปจนถึงอกนิฏฐภพ ดังปรากฏในบุคคลบัญญัติอรรถกถาว่า เอกจฺโจหิ โสตาปนฺโน วัฏฏชฺฌาสโย โหติ วุฎฏาภิรโต ปุนปฺปุนํ วัฏฺฏสมึเยว วิจรติ สนฺทิสฺสติ อนาถบิณฑิกเสฏฐิ วิสาขา อุปาฬิกา จูฬรตฺถ มหารตฺถ เทวปุตฺต อเนกวณฺโณ เทวปุตโต สกโก เทวราชา นาคทตฺโต เทวปุตโต อิเมหิ เอตตฺถาชนา วฎฺฏชฺฌาสยา วฎฺฏาภิรตา อาทิโต ปฏฐฺาย ฉ เทวโลกํ โสธิตฺวา อกนิฏฺเฐ จตวา ปรินิพฺพาเย สนฺติ อิเม อิเม น คหิตาฯ ยังมีพระโสดาบันบางจำพวก มีอัธยาศัยยินดีพอใจในวัฏฏะ ท่องเที่ยวไปปรากฏในวัฏฏะบ่อย ๆ ชนเหล่านั้น คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขาอุบาสิกา จูฬรัตถเทพบุตร มหารัตถเทพบุตร อเนกวรรณเทพบุตร ท้าวสักกเทวราช นาคทัตตเทพบุตร ท่านเหล่านี้ยังมีอัธยาศัยยินดีพอใจในวัฏฏะ กระทำเทวโลกทั้ง ๖ ให้หมดจดตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะดำรงอยู่ในอกนิฏฐภพ จึงจปรินิพพาน พระโสดาบันเหล่านี้ ท่านประมวลเข้าในสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

ฉะนั้น จึงมีข้อยกเว้นสำหรับวัฏฏภิรตโสดาบันว่า พระโสดาบันอาจถือปฏิสนธิมากกว่า ๗ ชาติก็ได้ แต่อีกมติหนึ่งว่า วัฏฏาภิรตโสดาบันนี้ หมายถึง พระโสดาบันที่ย่อมมีอายุขัยโดยตลอด จะไม่สิ้นชีวิตก่อนอายุขัย แต่จะไม่เกิน ๗ ชาติ


พระสกทาคามี

๓. สกทาคามิมคฺคจิตฺต
แยกศัพท์ออกได้ ๔ ศัพท์ คือ

สกึ (ครั้งเดียว) + อาคามี (กลับมา) + มคฺค (ทาง) + จิต แปลความว่า จิตที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีกเพียงครั้งเดียว ชื่อว่า “สกทาคามี” ดังบาลีที่แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า “สกึ เอกวาร์ ปฏิสนธิวเสน อิมํ มนุสฺสโลกํ อาคจฺฉตีติ” = สกทาคามี แปลความว่า พระอริยบุคคลส่วนมากที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิอีกเพียงครั้งเดียว ชื่อว่า สกทาคามี ตสฺส มคฺโค = สกทาคามิมคฺโคฯ ทางปฏิบัติของพระสกทาคามีนั้น ชื่อว่า สกทาคามิมรรค

เตน สมฺปยุตตํ จิตฺตํ = สกทาคามิมคฺคจิตตํ จิตที่ประกอบด้วยองค์ของสกทาคามิมรรค ชื่อว่า สกทาคามิมัคคจิต

เมื่อสกทาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ

  • สกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า สกทาคามิมรรค
  • สกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลส ที่เหลือจากโสดาปัตติมัคคจิตได้ประหาณมาแล้วโดยกระทำให้กิเลสเหล่านั้นเบาบางลงอีกเรียกว่า ตนุกรปหาน

๔. สกทาคามิผลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นทันทีที่สกทาคามิมัคคจิตดับลง หรือเกิดขึ้นได้กับสกทาคามีที่เข้าผลสมาบัติ เมื่อสกทาคามิผลจิตปรากฏขึ้น ย่อมสำเร็จกิจ คือ

    ๑) สกทาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใดในขณะแรกทันที บุคคลนั้นได้ชื่อว่า “สกทาคามิผลบุคคล” สกทาคามิผลบุคคล ก็คือ ผู้ที่เรียกกันว่า พระสกทาคามี หรือบางทีก็เรียกว่า พระสกิทาคา พระอริยบุคคลในชั้นนี้ ยังเป็นเสกขบุคคล เพราะยังจะต้องศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้สำเร็จเป็นอรหันต์ต่อไป
    ๒) สกทาคามิผล เกิดขึ้นเพื่อเสวยผลที่สกทาคามิมัคคจิตได้ประหาณกิเลสชนิดตนุกรปหานแล้ว และเพื่อเสวยวิมุตติสุขขณะเข้าผลสมาบัติ

ประเภทของพระสกทาคามี ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา แสดงว่า พระสกทาคามีนั้น มี ๕ ประเภท คือ

    ๑) อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล ในมนุษยภูมิและบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมิชาติเดียวกัน
    ๒) ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล ในเทวโลกและบรรลุอรหัตผลในเทวภูมิชาติเดียวกัน
    ๓) อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพพายีฯ เป็นพระสกทาคามีบุคคล ในมนุษยภูมิ แล้วจุติจากมนุษยภูมิไปปฏิสนธิในเทวภูมิ และบรรลุอรหัตผลในเทวภูมินั้น
    ๔) ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในเทวภูมิแล้วจุติจากเทวภูมิมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิ และบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมินั้น
    ๕) อิธ ปตวา ตตฺถ นิพพฤติตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในมนุษยภูมิแล้ว จุติจากมนุษยภูมิไปปฏิสนธิในเทวภูมิ แล้วจุติจากเทวภูมิกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีก และบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมินี้

พระสกทาคามีบุคคลประเภทที่ ๑ ถึงประเภทที่ ๔ เป็นนัยที่แสดงไว้โดยปริยาย ส่วนประเภทที่ ๕ เป็นนัยโดยตรง ตามพระบาลีในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า สกึ เอกวาร์ ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ มนุสฺสโลกํ อาคจฺฉตีติ = สกทาคามี พระอริยบุคคลส่วนมากที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีกเพียงครั้งเดียวชื่อว่าพระสกทาคามี

พระอนาคามี

๕. อนาคามิมคฺคจิตฺต
เป็นมัคคจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นเพื่อละกามราคะและพยาบาทไม่ให้เหลือ อนาคามิมคคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์แล้ว ได้แก่ น (ไม่) + อาคามี (กลับมา) + มคฺค (ทาง) + จิตฺต (จิต) = มีความหมายว่า จิตที่ถึงซึ่งทางที่จะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามภูมิอีก ชื่อว่า อนาคามี ดังมีวจนัตถะว่า ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ กาเมธาตุํ น อาคจฺฉตีติ = อนาคามีฯ ผู้ที่จะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามภูมิอีก ชื่อว่า อนาคามี ตสฺส มคฺโค = อนาคามิมคฺโคฯ ทางปฏิบัติของผู้บรรลุอนาคามีนั้น ชื่อว่า อนาคามิมรรค เตน สมุปยุตฺตํ จิตฺตํ = อนาคามิคฺคจิตตํฯ

จิตที่ประกอบด้วยองค์แห่งอนาคามิมรรคนั้น ชื่อว่า อนาคามิมัคคจิต เมื่ออนาคามิมัคคจิตปรากฏขึ้น ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ : -
    ๑) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น แก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า อนาคามิมรรคบุคคล
    ๒) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น เพื่อข้ามพ้นจากการกลับมาเกิดในกามโลกอีก และจะเกิดในพรหมโลกแน่นอน
    ๓) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น เพื่อประหาณกามราคะและพยาบาทโดยสิ้นเชิง

๖. อนาคามิผลจิตฺต เป็นผลจิตดวงที่ ๓ ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับที่อนาคามิมัคคจิตดับลงทันที ไม่มีระหว่างคั่นเป็นอกาลิโก หรืออนาคามิผลจิตย่อมเกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีเข้าผลสมาบัติ อนาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า “อนาคามิผลบุคคล” หรือ “อนาคามี” ซึ่งก็ยังเป็นพระเสกขบุคคลอยู่ ยังจะต้องศึกษา คือ เจริญปัญญาต่อไปจนบรรลุอรหัตผล

อนาคามิผลจิต เป็นจิตที่โทสะและโลภะ ที่เกี่ยวกับกามราคะ ถูกประหาณแล้วโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน อนาคามิผลจิต จึงเป็นจิตที่พ้นจากกามโดยเด็ดขาด คือ พระอนาคามี เมื่อจุติแล้วจะไม่ปฏิสนธิในกามภูมิอีกเลย จะไปปฏิสนธิเป็นพรหมในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ ตามสมควรแก่การเจริญสมถภาวนาของอริยบุคคลผู้พ้นจากกาม

ประเภทของพระอนาคามี

ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา แสดงว่า พระอนาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ :
    
๑) อนุตรปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผล และจะปรินิพพานภายในกึ่งแรกแห่งอายุขัยของภูมินั้นๆ
๒) อุปหลุจปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผล และจะปรินิพพานภายในกึ่งหลังแห่งอายุขัยของภูมินั้นๆ
๓) อสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผลได้สะดวกไม่ต้องใช้ความพยายามมากก็บรรลุได้
๔) สสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งซึ่งบรรลุอรหัตผลได้โดยยากลำบาก จะต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะบรรลุอรหัตผลได้
๕) อุทฺธโสต อกนิฏฐฺคามี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิเบื้องต่ำ ตั้งแต่อวิหาภูมิ แล้วจะจุติและปฏิสนธิในภูมิที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ คือ อตัปปาภูมิ สุทัสสา สุทัสสี จนถึง อกนิฏฐาภูมิ และจะได้บรรลุอรหัตผลแล้วปรินิพพานในยอดภูมินั้น

๗. อรหตุตมคฺคจิตฺต เป็นมัคคจิตดวงที่ ๔ เมื่อพระอนาคามีได้เจริญวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว อรหตุตมคฺคจิตฺต จะเกิดขึ้นเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ไม่ให้มีเหลือ อรหตุตมคฺคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์แล้ว ได้แก่ อรหตุต (ผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง) + มคฺค (ทาง) + จิตฺต (จิต) รวมความว่า เป็นจิตถึงซึ่งทางที่เป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง ดังปรากฏวจนัตถะว่า

๑) อคฺคทักขิเณยุยภาเวน ปูชาวิเสสํ อรหีติอรหาฯ พระอริยบุคคลผู้ควรแก่การบูชาของเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาอันเลิศนั้น จึงชื่อว่า อรหันต์
๒) ตสฺส ภาโว อรหตฺตํ จตุตฺถผลสุสเสตํ อธิวจนํฯ ความเป็นอริยบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอันวิเศษ ชื่อว่า อรหัต หมายถึง อรหัตผล
๓) ตสฺส อาคมนภูโต มคฺค อรหตุตมคฺโคฯ ทางอันเป็นที่มาแห่งอรหัตผลนั้น ชื่อว่า “อรหัตมัค
๔) เตน สมฺปยุตตํ อรหตุตมคฺคจิตตํฯ จิตที่ประกอบด้วยองค์แห่งอรหัตมัค ชื่อว่า “อรหัตมัคคจิต”

เมื่ออรหัตมัคคจิตปรากฏขึ้น ย่อมให้สำเร็จการงาน ดังนี้ คือ

- อรหัตมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ชื่อว่า "อรหัตมัคคบุคคล"
- อรหัตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังข้ามพ้นรูปโลก อรูปโลก โดยเด็ดขาด
- อรหัตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหาณกิเลส กล่าวโดยจิต ก็เป็นการกำลังประหานอกุศลจิต ที่เหลือจากอริยมัคจิตเบื้องต่ำได้ประหาณแล้ว คงเหลืออีก๕ ดวง คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุต ๔ โมหมูลจิต ที่เป็นอุทธัจจสัมปยุต ๑ ดวง, กล่าวโดยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อรหัตมัคคจิตเป็นจิตที่กำลังประมาณอกุศลกรรมบถที่เหลืออีก ๒ คือ สัมผัปปลาปะ และอภิชฌา

๘. อรหตุตผลจิตฺต เป็นผลจิตดวงที่ ๔ และเป็นโลกุตรจิตดวงสุดท้ายที่เกิดขึ้นทันทีที่อรหัตมัคคจิตดับลง โดยไม่มีจิตอื่นมาคั่น หรืออีกนัยหนึ่ง อรหัตผลจิตย่อมเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์เข้าผลสมาบัติ

เมื่ออรหัตผลจิตเกิดขึ้นแก่ผู้ใด บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า "อรหัตตผลบุคคล" อรหัตผลจิต เป็นจิตที่พ้นจากความขัดข้องอยู่ในโลกใด ๆ กล่าวคือ พระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องไปปฏิสนธิที่ไหนอีกเลย เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ พ้นจากสังสารวัฏ อันไม่ต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อย-ภพใหญ่อีกต่อไป อรหัตผลจิตเป็นจิตที่อกุศลถูกประหาณสิ้นแล้วโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาณหรือกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ต้องไม่มีอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงเกิดขึ้นได้ในสันดานอีกเลย และ อรหัตผลจิต เป็นจิตที่อกุศลกรรมบถถูกประหาณสิ้นแล้วโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน หรือกล่าวได้ว่า พระอรหันต์นั้นไม่มีอกุศลกรรมบถ ๑๐ เกิดขึ้นในสันดานได้อีกเลย

พระอรหันต์

อรหัตผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ชื่อว่า อรหัตผลบุคคล และอรหัตผลบุคคลนี้ มีชื่อเรียกหลายอย่าง คือ

พระอรหันต์ หมายถึง บุคคลผู้ควรเคารพสักการะบูชายิ่ง ดังพระบาลีว่า ปูชาทิวิเสสํ อรหตีติ = อรหํ
พระขีณาสพ หมายถึง บุคคลผู้สิ้นกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง
พระเสกขบุคคล หมายถึง ผู้ไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกแล้ว (เพราะบริบูรณ์แล้วด้วยศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา) ดังพระบาลีในพระธรรมสังคณีปกรณ์ที่แสดงว่า อุปรสิกฺขิตฺตพฺพา ภาวโต น เสกฺชาติ = อเสกขา บุคคลเหล่าใด ไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะไม่มีธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่า "อเสกข"

ประเภทของพระอรหันต์

พระอรหันต์นั้น จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายประเภท ที่จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ : -

๑. พระอรหันต์ ที่สำเร็จโดย ปัญญาวิมุตติ  หมายถึง พระอรหันต์ที่สำเร็จด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาล้วนๆ ไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนา คือ ไม่ได้ทำฌานเลย และเมื่อมรรคผลเกิดขึ้น ก็ไม่มีอารัมมนูปนิชฌานเกิดขึ้นด้วย พระอรหันต์ผู้ที่ไม่ได้ฌานนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขวิปัสสกพระอรหันต์

๒. พระอรหันต์ ที่สำเร็จโดย เจโตวิมุตติ หมายถึง พระอรหันต์ที่สำเร็จด้วยวิปัสสนาภาวนาพร้อมสำเร็จสมถภาวนาจนได้ฌานด้วย และการได้มาซึ่งฌาน อาจได้มา ๒ วิธีด้วยกัน คือ :-

  • ก. ฌาน อาจได้มาด้วยการปฏิบัติสมถภาวนาจนสำเร็จฌาน เรียกการได้ฌานโดยวิธีนี้ว่า “ปฏิปทาสิทธิฌาน” คือได้ฌานจากการปฏิบัติสมถภาวนาแล้ว จึงยกฌานขึ้นมาเจริญวิปัสสนา จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์
  • ข. ฌาน อาจได้มาแม้ไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนา แต่เมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนาตามลำดับ จนบรรลุอรหัตมรรค อรหัตผล และขณะเมื่อได้มรรคผลนั้น อารัมมนูปฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ด้วยอำนาจแห่งบุญญาธิการแต่ปางก่อน ฌานที่เกิดขึ้นพร้อมนี้ เรียกว่า “มัคคสิทธิฌาน” คือได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมรรค และฌานประเภทนี้ อาจได้อภิญญาด้วยก็มี เช่น พระจูฬปันถก เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ได้อภิญญา แล้วได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์

พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตตินี้ เป็นผู้ที่สำเร็จฌานด้วย เรียกว่า พระอรหันต์ฌานลาภีบุคคล และพระอรหันต์ฌานลาภบุคคลนี้ บางองค์ไม่ได้อภิญญาด้วยก็มี แต่บางองค์ได้อภิญญาด้วยก็มี พระอรหันต์ฌานลาภีบุคคลที่ได้อภิญญาด้วยนั้น ความสามารถในการสำเร็จอภิญญายังต่างกันก็มี คือบางองค์ได้เพียงอภิญญา ๓ บางองค์ก็ได้ถึงอภิญญา ๖

อภิญญา ๓” หรือที่เรียกว่า “วิชชา ๓” นั้น ได้แก่

    ๑. บุพเพนิวาสานุสติญาณ มีปัญญาที่ระลึกชาติในอดีตได้
    ๒. ทิพยจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ มีตาทิพย์ หรือ รู้จุติ และ ปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย
    ๓. อาสวักขยญาณ มีปัญญารู้วิชาที่ทำให้สิ้นอาสวะกิเลส

สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ หรือฌานลาภีพระอรหันต์ที่ได้อภิญญา หรือไม่ได้อภิญญาด้วยก็ตาม เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ต้องมีอภิญญาข้อที่ ๓ นี้ด้วยกันทุกองค์

"อภิญญา ๖" หรือ "วิชชา ๖" นั้น ได้แก่ อภิญญา ๓ หรือ วิชชา ๓ นั่นเอง และมีความรู้เพิ่มขึ้นอีก ๓ ประการ คือ

    ๔. ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ คือมีความรู้ซึ้งถึงจิตใจผู้อื่น
    ๕. ทิพโสตญาณ มีหูทิพย์
    ๖. อิทธิวิธ สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้


พระอรหันต์ที่จำแนกเป็น ๒ ประเภทอีกนัยหนึ่ง การจำแนกพระอรหันต์เป็น ๒ ประเภทตามนัยนี้ คือ

๑. พระอรหันต์ ผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ คือ ถึงพร้อมด้วยความรู้อันแตกฉานในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รอบรู้อรรถ รู้ธรรมต่าง ๆ
๒. พระอรหันต์ ผู้ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณ

ปฏิสัมภิทาญาณ มี ๔ ประการ คือ

        ๑.๑. อตฺถปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในผลทั้งปวง อันบังเกิดจากเหตุอตฺถ หมายถึง ผล ได้แก่ ธรรม ๕ ประการ คือ : -

  • ๑) ยํกิญฺจิ ปจฺจยสมฺภูตํ คือ รูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้น มีปัจจัยประชุมปรุงแต่ง
  • ๒. นิพฺพานํ คือ พระนิพพาน
  • ๓. ภาสิตตฺโถ คือ อรรถที่กล่าวแก้ให้รู้วิบากขันธ์ ๓๒ ดวง
  • ๔. กฺริยจิตฺตํ คือ กิริยาจิต ๒๐ ดวง
  • ๕. ผลจิตฺตํ คือ ผลจิต ๔ ดวง

        ๑.๒. ธมฺมปฏิสมฺภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในเหตุที่ทำให้บังเกิดผล ธมฺม หมายถึงเหตุ ได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ : -

  • ๑. โย โกจิ ผลนิพฺพตฺตโก เหตุ คือ เหตุทั้งปวงบรรดาที่ยังผลให้เกิดขึ้น
  • ๒. อริยมคุโค คือ มัคคจิตทั้ง ๔ ดวง
  • ๓. ภาสิตํ คือ พระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก
  • ๔. กุสลจิตฺตํ คือ โลกียกุศลจิต ๑๗ ดวง
  • ๕. อกุสลจิตฺตํ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง

        ๑.๓. นิรุตติปฏิสมภิทาญาณ คือ แตกฉานในภาษาอันเป็นบัญญัติที่เนื่องด้วยหมายความว่า ในการอธิบายขยายความแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและธรรมปฏิสัมภิทา ให้ผู้สดับตรับฟังรู้และเข้าใจได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งโดยอัตถปฏิสัมภิทาและธรรมปฏิสัมภิทาถูกต้องและถี่ถ้วนจำเป็นต้องรู้จักใช้ถ้อยคำหรือภาษาอันเป็นบัญญัติที่เรียกว่า รู้จักใช้โวหาร เช่นนี้ ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา

        ๑.๔. ปฏิภาณปฏิสมภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทาเบื้องต้นทั้ง ๓ หมายความว่า มีปัญญาว่องไวเฉียบแหลมคมคาย ไหวพริบดีในการโต้ตอบอัตถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ทั้ง ๓ นั้น ได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ชัดแจ้งความรู้แตกฉาน เช่นนี้ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

พระอรหันต์ที่จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท จำแนกได้ดังนี้ คือ : -

๑. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และสามารถโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้โดยแนะให้ถึงอริยมรรค อริยผลได้ เพราะทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยญาณ อันเป็นเครื่องโปรดสัตว์ ๓ ประการ คือ : -

  • ก. อาสยานุสยญาณ คือ ญาณที่สามารถหยั่งรู้อนุสัยกิเลส และ อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
  • ข. อินฺทฺริยปโรปริยตฺติญาณ คือ ญาณที่สามารถรู้อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่งหรือหย่อนเพียงใด
  • ค. สพฺพญฺญุตฺญาณ คือ ญาณที่สามารถรอบรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรม รวมทั้งบัญญัติธรรมสิ้นทั้งปวง พระอรหันต์ประเภทนี้ จึงได้ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเหมือนกัน แต่ไม่สามารถบัญญัติพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ถึงพร้อมด้วยญาณอันเป็นเครื่องโปรดสัตว์ ๓ ประการ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ พระอรหันต์ประเภทนี้ได้ชื่อว่า พระอรหันตปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า

๓. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ธรรม สำเร็จอรหัตผล ตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ได้ชื่อว่า “พระอรหันต์” ซึ่งได้แก่ พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป ที่นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า อรหันตสาวก, สุตพุทธ, อนุพุทธ

อรหันตสาวก มี ๓ ประเภท คือ : -

  • ๑. ปกติสาวก หมายถึง สาวกที่บรรลุอริยสัจจะสิ้นอาสวกิเลสแล้วโดยทั่วไป
    ๒. มหาสาวก หมายถึง พระอรหันต์ที่เป็นสาวกผู้ใหญ่ใกล้ชิดกับพระศาสดาได้รับยกย่อง (เอตทัคคะ) เป็นพิเศษ ๔๑ องค์ อีก ๓๙ องค์ ไม่ได้รับยกย่อง รวม ๘๐ องค์
    ๓. อัคคสาวก หมายถึง สาวกที่เป็นยอดสูงสุด อยู่เบื้องขวา และเบื้องซ้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แก่พระสารีบุตร (เบื้องขวา) และพระโมคคัลลาน์ (เบื้องซ้าย)









พระอภิธรรม ปรมัตถสัจจ


ปรมัตถธรรม
 คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธ ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง มี ๔ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน





🙏ธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์ สมบัติ นันทิโก

๑. ปรมัตถสัจจ ๐๑
๒. ปรมัตถสัจจ ๐๒
๓. ปรมัตถสัจจ ๐๓
๔. ปรมัตถสัจจ ๐๔
๕. ปรมัตถสัจจ ๐๕
๖. ปรมัตถสัจจ ๐๖
๗. ปรมัตถสัจจ ๐๗
๘. ปรมัตถสัจจ ๐๘
๙. ปรมัตถสัจจ ๐๙
๑๐. ปรมัตถสัจจ ๑๐
๑๑. ปรมัตถสัจจ ๑๑
๑๒. ปรมัตถสัจจ ๑๒

อรูปาวจรจิต ๑๒

เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาของผู้ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานแล้ว เมื่อได้เจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงอรูปฌาน ฉะนั้นอรูปาวจรจิตจึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลส อรูปเป็นส่วนมาก

    วัตถุอรูป ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ (วัตถุธรรม)
    กิเลสอรูป ได้แก่ อรูปตัณหา หรือความยินดีพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ

อรูปสฺฺส ภโวติ = อรูปํ 
ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูป ฉะนั้น ภูมินั้น ชื่อว่า อรูปภูมิ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔

อรูเป อวจรตีติ = อรูปาวจรํ
จิตใดย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งกิเลสอรูป และวัตถุอรูปฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า อรูปาวจรจิต


คาถาสังคหะ

อาลมฺพนปุปเภเทน  จตุธารุปฺปมานสํ
ปุญฺญปากกฺริยาเภทา  ปุน ทฺวาทสธาฐิตํฯ

แปลความว่า "อรูปาวจรจิตนั้น กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือกุศล วิบาก กิริยา แล้ว มีจำนวน ๑๒ ประเภท"

อธิบาย อรูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง คือ

อากาสานัญจายตนะ ๑
วิญญาณัญจายตนะ ๑
อากิญจัญญายตนะ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๑

อรูปาวจรจิตทั้ง ๔ อย่างนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยาแล้ว ได้แก่ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ รวมเป็นอรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภท อรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภทนี้ นับเป็นฌานจิตในชั้นปัญจมฌานทั้งหมด เพราะองค์ของอรูปฌานประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา อย่างเดียวกัน และเหมือนกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌาน แต่ความแตกต่างกันของอรูปาวจรจิต นี้ ต่างกันที่อารมณ์ มิใช่ต่างกันที่องค์ฌาน เหมือนอย่างในรูปาวจรจิต คือ 

อากาสานัญจายตนะ (ปฐมารูปฌาน) มีอากาศที่เพิกแล้วจากกสิณ (กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ) เป็นอารมณ์วิญญาณัญจายตนะ (ทุติยารูปฌาน) มีปฐมารูปฌานจิต เป็นอารมณ์
อากิญจัญญายตนะ (ตติยารูปฌาน) มีนัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์
เนวสัญญานาสัญญายตนะ (จตุตถารูปฌาน) มีตติยารูปฌานจิตเป็นอารมณ์


อารมณ์ของอรูปาวจรจิต

อารมณ์ของอรูปาวจรจิต มี ๔ อย่าง คือ : -

๑. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์ หมายถึงการกำหนดเอาอากาศที่เพิกแล้วจากองค์กสิณ ๙ (เว้นอากาศกสิณ) เป็นอากาศที่ว่างเปล่าหาที่สุดมิได้โดยบริกรรมว่า “อากาโส อนนฺโต” อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดฌานจิตที่เกิดขึ้น โดยมีกสิณุคฆาฏิกาสบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ มีชื่อว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" หรือ "ปฐมารูปจิต"

๒. อากาสนัญจายตนฌาน เป็นอารมณ์ หมายถึงมีวิญญาณที่เป็นไปในอากาศที่ว่างเปล่านั้นเป็นอารมณ์ หรือมีการเพ่งหน่วงเอาปฐมารูปจิตฌานเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “วิญญาณํ อนนฺตํ” วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิด ฌานจิตที่เกิดโดยมีอากาสานัญจาตนฌานจิตเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "วิญญาณัญจายตนฌาน" หรือ "ทุติยารูปจิต"

๓. นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์ คือ สภาวะที่ไม่มีอะไรเหลือเป็นอารมณ์เลยหมายความว่า เมื่อต้องการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเข้าวิญญาณัญจายตนฌานบ่อยๆ จนเป็นวสีแล้ว พิจารณาเห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่า ถ้าขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอแล้ว ฌานนี้อาจจะเสื่อมคลาย กลับไปตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานตามเดิมอีก และสมาธิที่เกิดจากวิญญาณัญจายตนฌานนี้ก็ยังหยาบอยู่ จึงเกิดการฝักใฝ่สนใจที่จะให้อากาสานัญจายตนฌานดับขาดสูญไปจากจิตสันดานอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย โดยกลับพยายามหน่วงให้นัตถิภาวบัญญัติปรากฏขึ้นแทน โดยบริกรรมว่า “นตฺถิ กิญฺจิ” ความเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น โดยมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "อากิญจัญญายตนฌาน" หรือ "ตติยารูปจิต"

๔. อากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์ คือ หน่วงเอาตติยารูปจิตเป็นอารมณ์ กำหนดเอาความละเอียดประณีตของตติยารูปจิต โดยสร้างความรู้สึกว่าสัญญา คือจิตที่ไม่มีความเหลืออยู่แม้เพียงเล็กน้อย จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เพราะยังมีตัวที่รู้ว่า มีอยู่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง เพราะสัญญานั้นประณีตละเอียดอ่อนสงบนิ่ง จนไม่รู้ว่ามีอะไร แล้วพยายามหน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานให้มาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า "สนุตเมตํ ปณีตเมตํ" หรือ "เอตํ สนฺติ เอตํ ปณีตํ" สงบหนอประณีตหนอจนฌานจิตเกิดขึ้น ฌานที่เกิดขึ้นโดยมีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์นี้ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แปลว่า ฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาละเอียด หรือฌานที่จะว่าไม่มี สัญญาก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่เชิง บางที เรียกฌานนี้ว่า จตุตถารูปจิต


จําแนกอรูปาวจรจิตโดยประเภทแห่งชาติ

อรูปาวจรจิต เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ อรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต และอรูปาวจรกิริยาจิต มี อย่างละ ๔ ประเภท ตามประเภทแห่งอารมณ์ คือ

อรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เจริญสมถภาวนาจนถึงอรูปฌาน เป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่งอรูปกุศลไว้ให้ได้รับสมบัติเป็นอรูปพรหมในพรหมโลก หรืออรูปภูมิมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกุศล
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกุศล
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกุศล
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกุสลจิตตํ
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล

อรูปาวจรวิบากจิต

อรูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุ อรูปาวจรวิบากจิต เป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิ ๔ ตรงกันดวงต่อดวงกับอรูปาวจรกุศลจิตนั่นเอง จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ :-

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานวิบาก
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานวิบาก

อรูปาวจรกิริยาจิต

อรูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ ที่เข้าถึงอรูปฌาน โดยนัยเดียวกันกับอรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า อรูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ อรูปาวจรกุศลนั่นเอง หากแต่จิตนั้นเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น อรูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกิริยา
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกิริยา
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกิริยา
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยา

ความหมายของอรูปฌาน ๔

ความหมายของอรูปฌานทั้ง ๔ คือ

๑. อากาสานัญจายตน แยกศัพท์ได้เป็น ๓ คำ คือ
อากาส + อนัญจ + อายตน = อากาสานัญจายตน
อากาสะ = ที่ว่าง (หมายถึงที่ที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิต)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้ (มาจาก อนันตะ)
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

อากาสานัญจายตน จึงหมายถึง อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออกแล้วหาที่สุดมิได้ เป็นที่ตั้งแห่งจิต หรือ จิตที่ยึดเอาที่ว่าง (อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออก) อุปมาเหมือนศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องประดับ การเพิกปฏิภาคนิมิตเหมือนกับการยกเอาเครื่องประดับออกไปเสีย เหลือแต่ศาลาว่างเปล่า จิตนี้ จึงเพ่งอยู่ที่ว่างเปล่าภายในขอบเขตแห่งศาลา

๒. วิญญาณัญจายตน แยกศัพท์ออกได้ ๓ ศัพท์เช่นกัน คือ
วิญญาณ + อนัญจ + อายตน = วิญญาณัญจายตน
วิญญาณ = จิต (ธรรมชาติรู้อารมณ์)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้
อายตนะ = - เป็นที่ตั้ง

วิญญาณัญจายตน จึงหมายถึง จิตที่ยึดหน่วงจิตดวงก่อนที่รู้อากาศนิมิตอันหาที่สุดมิได้มาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาที่ว่างอยู่นั้น บัดนี้ มีพระสงฆ์มาประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่ จิตจึงเพ่งอยู่เฉพาะพระสงฆ์หมู่ที่มาประชุมกันอยู่นั้นโดยมิได้เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นเลย

๓. อากิญจัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + กิญจน + อายตน = อากิญจัญญายตน
น = ไม่มี
กิญจนะ = เหลืออยู่
อายตนะ = เป็นตั้ง

อากิญจัญญายตน หมายถึง จิตที่ยึดสภาพความไม่มีปฐมารูปจิตเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาใหญ่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่นั้น บัดนี้ได้ออกไปจากศาลานั้นหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่องค์เดียว จิตดวงนี้จึงเพ่งอยู่ที่ความไม่มีพระสงฆ์หมู่นั้นเลย และพร้อมทั้งไม่เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นด้วย

๔. เนวสัญญานาสัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + เอว + สัญญา + น + อสัญญา + อายตน = เนวสัญญานาสัญญายตน
น = ไม่ใช่
เอว = นั่นเทียว
น = ไม่ใช่
สัญญา = มีสัญญา
อสัญญา =ไม่มีสัญญา
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

เนวสัญญานาสัญญายตน จึงหมายถึง สภาพจิตที่ยึดอารมณ์อันละเอียดยิ่งเฉพาะอารมณ์เท่านั้น จะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อุปมาเหมือน สามเณรเอาน้ำมันทาบาตไว้เพื่อกันสนิม พระเถระเรียกเอาบาตจากสามเณรเพื่อใส่ภัตสามเณรจึงเรียนว่า “บาตติดน้ำมันอยู่” พระเถระก็ว่า “ยกเอามาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ำมัน สามเณรจึงตอบว่า “น้ำมันนั้นทาบาตไว้แต่พอกันสนิมไม่มีมากพอจนถึงเทใส่กระบอกได้” อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตน จึงกล่าวว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ มีแต่สภาพสัญญาอันละเอียด

ภูมิอันเป็นที่เกิดของอรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                            กามสุคติภูมิ ๗
                                            รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                            อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)

อรูปาวจรวิบากจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ในอรูปภูมิ ๔ (โดยเฉพาะภูมิของตนๆ )

อรูปาวจรกิริยาจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                             กามสุคติภูมิ ๗
                                             รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                             อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)  


ติเหตุกบุคคลที่อยู่ในกามสุคติภูมิก็ดี ที่อยู่ในรูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) ก็ดี อาจเจริญสมถภาวนาให้อรูปฌานจิตเกิดขึ้นได้ในสันดานแห่งตน ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของปุถุชน หรือพระเสกขบุคคลแล้ว ก็ชื่อว่า อรูปาวจรกุศลจิตเกิด แต่ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ที่ชื่อว่า อรูปาวจรกิริยาจิตเกิด ส่วนในอสัญญสัตตภูมินั้น อรูปาวจรจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีจิตอยู่แล้ว ไม่อาจที่จะกระทำกิจใดๆ ได้ ในอรูปภูมิทั้ง ๔ นั้น แต่ละภูมิย่อมเจริญอรูปฌานเฉพาะที่เป็นฌานในภูมิของตน หรือในอรูปฌานที่สูงกว่าของตนเท่านั้น จะไม่เจริญอรูปฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตนเลย ทั้งนี้ เพราะได้เห็นโทษในแต่ละอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น


มหัคคตจิต

มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาแสดงว่า มหนฺตภาวํ คตาติ มหคฺคตา แปลว่า ธรรมชาติใดที่ถึงความเป็นใหญ่ ฉะนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มหัคคตะ” หรือ “มหนฺตํ คโตติ = มหคฺคโต” จิตใดย่อมเข้าถึงความเป็นใหญ่ จิตนั้นชื่อว่า “มหัคคตะ” จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่นั้น หมายถึง มีกำลังจิตอันแก่แล้วสามารถกระทำให้สำเร็จกิจต่าง ๆ ได้ คือ

    ก. ข่มกิเลสไว้ได้นานตามสมควร ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
    ข. ให้ผลอันไพบูลย์ คือ มีพรหมวิหารธรรม ให้ได้เสวยพรหมสมบัติในพรหมโลก
    ค. ให้ชวนจิตมีการเกิดขึ้นสืบต่อกันได้เป็นเวลานานเป็นพิเศษ คือ ฌาน

สมาบัติ หรือความเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ที่มีอายุยืนยาวกว่าสัตว์อื่นๆทั้งหลาย ล้วนอาศัยมหัคคตปฏิสนธิจิตทั้งสิ้น จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐดังกล่าวนี้ ชื่อ มหัคคตจิต มีจำนวน ๒๗ ดวง คือ

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕

🙏 รูปาวจรจิต ๑๕ 🙏 

รูปาวจรจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงอารมณ์ของรูปฌาน หรือหมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูป และกิเลสรูปเป็นส่วนมาก

วัตถุรูป ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ (วัตถุธรรม)
กิเลสรูป ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกี่ยวด้วยรูปตัณหา คือ ความพอใจในรูป ฌาน อภิญญา และรูปภพ มีพระบาลีว่า

รูปสฺส ภโวติ = รูป “ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป ภูมินั้นชื่อว่า รูป” ได้แก่ รูปภูมิ ๑๕
รูเป อวจรตีติ = รูปาวจรํ “จิตใด ย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป จิตนั้นชื่อว่า รูปาวจรจิต

คาถาสังคหะ
ปญฺจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานสํ ปุญฺญปากกฺกริยาเภทา ตํ ปญฺจทสธา ภเว ฯ

แปลความว่า รูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทฌาน มี ๕ เมื่อจำแนกโดยกุศล วิบาก กิริยา แล้วมี ๑๕
อธิบาย รูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งฌาน มี ๕ คือ

  • รูปาวจรปฐมฌานจิต ๑
  • รูปาวจรทุติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรตติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรจตุตถฌานจิต ๑
  • รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๑

รูปาวจรฌานจิตทั้ง ๕ นี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา แล้วได้รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิต มี ๑๕

📀 อรรถแห่งฌาน

ฌาน หมายถึงการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตติดแนบอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่การที่จิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ด้วยอำนาจของอัปปนาสมาธิอย่างหนึ่งและหมายถึงธรรมชาติที่เป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อการเพ่งอารมณ์เพื่อให้ฌานจิตเกิดอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่เป็นข้าศึกหรือปฏิปักษ์ต่อฌานจิตนั้น เรียกว่า นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นขัดขวางของการกระทำความดี ในที่นี้ หมายถึงกั้นขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานจิตได้

ฌานมี ๒ อย่าง คือ

๑. อารัมมนูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งนิมิตของอารมณ์ เพื่อให้จิตแนบแน่นกับอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง และมหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง
๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งสภาวลักษณะของอารมณ์ เพื่อให้ปัญญารู้ปรมัตถอารมณ์โดยมีอนิจลักษณะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ และโลกุตรจิต ๘ ขณะที่วิปัสสนาญาณ มัคคญาณ และผลญาณเกิดขึ้น

ในฌานทั้ง ๒ นี้ โดยอรรถประสงค์เอาอารัมมนูปนิชฌาน เพราะฉะนั้นฌานในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เพราะเพ่งอารมณ์ หรือเพราะเป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่ฌานจิต

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า “อารมฺมณูปนิชฺฌานโต ปจฺจนิกฌานปนโต วาฌานํ” แปลว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ก็ดี หรือธรรมชาติที่แผดเผาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ก็ดี ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ฌาน

อารมณ์สำหรับเพ่ง ได้แก่ อารมณ์กรรมฐาน คือ สมถกรรมฐาน มีจำนวนทั้งหมด ๔๐ คือ 🔎กสิณ ๑๐ 🔎อสุภะ ๑๐ 🔎อนุสสติ ๑๐ (ให้เข้าถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติและ อานาปานสติ เท่านั้น) 🔎อัปปมัญญา ๔ 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ 🔎ตุธาตุววัตถานะ ๑ 🔎อรูปกรรมฐาน ๔   รวมอารมณ์กรรมฐาน ๔๐

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของฌาน ได้แก่นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นการกระทำความดีในที่นี้ หมายถึงขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานได้ นิวรณ์มี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่เป็นความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ มี รูป รส กลิ่น และสัมผัสถูกต้อง เป็นต้น กามารมณ์เหล่านี้เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้ฌานจิตเกิด
๒. พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่เป็นความผูกโกรธ คิดจะปองร้ายผู้อื่นย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ถีนะและมิทธเจตสิก ที่มีความหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่งเพียร ย่อมเป็นเครื่องกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก ที่เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานเพราะต้องอาศัยการเพ่งอารมณ์ด้วยความสงบฌานจึงเกิดไม่ได้
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่มีความลังเลไม่แน่ใจเคลือบแคลงสงสัย ย่อมทำลายความเข้มแข็งของการเพ่งอารมณ์ให้เสียไป จึงไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ชื่อว่า เป็นปฏิปักษธรรม หรือ เป็นธรรมอันเป็นข้าศึกที่ต้องใช้องค์ฌานเป็นเครื่องทำลาย

📀 ฌานสงัดจากกามคุณ และ อกุศลธรรม

ในอัฏฐสาลินีอรรกถา แสดงว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ มีอรรถว่า สงัดจากกามทั้งหลาย และสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย 

วิวิจฺจ
หมายถึง วิเวก แปลว่า ความสงัด คือ หลีกออก
วิวิจฺเจว กาเมหิ หมายถึง หลีกออกไปจากกามทั้งหลาย คือ ทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม

กามทั้งหลายดังกล่าวนี้ แม้จะไม่มีอยู่ในเวลาเข้าปฐมฌานก็จริง แต่ก็ยังเป็น
ข้าศึกต่อปฐมฌานได้ ดังนั้น การบรรลุปฐมฌานได้จำต้องสลัดกามออกไปให้ได้ ที่เรียกว่าสงัดจากกาม นั่นเอง แม้ฌานนี้จะปรากฏผลว่า เป็นเครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปก็จริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเพียงสลัดกามทั้งหลายออกไปเท่านั้น พระโยคาวจรก็จะสามารถเข้าฌานได้ เพราะกามหรือกามฉันทะนั้น เป็นเพียง ๑ ใน ๕ ของนิวรณธรรมเท่านั้น นิวรณ์เหล่าอื่นนอกจากกามยังมีเหลืออยู่ พวกเหล่านั้นก็เป็นข้าศึกต่อฌานด้วยเหมือนกัน จึงต้องละนิวรณธรรม หรือ อกุศลธรรมเหล่านั้นด้วย จึงจะเข้าถึงได้ จึงแสดงว่า ฌานย่อมสงัดจากกามทั้งหลายและอกุศลธรรมทั้งปวง สมดังบาลีที่ยกมากล่าวข้างบนนี้

สรุปความว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ นี้ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มกามฉันทะ และ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มนิวรณ์ธรรมที่เหลือ คือ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และวิจิกิจฉานิวรณ์ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยอภิธรรมนัยแล้ว ย่อมเป็นอันหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโลภมูลจิต ๘ ดวง และย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

📀 องค์แห่งฌาน

ในการประกอบกุศลกรรม อันมีทานเป็นต้นนี้ กุศลเจตนา ปรากฏขึ้นในขณะใดมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นทันที แต่รูปาวจรกุศลจิต มิใช่เป็นเช่นนั้น รูปาวจรจิตจะเกิดขึ้นได้ เมื่อการเจริญสมถภาวนานั้นเข้าถึงอัปปนาสมาธิ คือ จิตเข้าถึงความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ ฌาน มีกสิณ เป็นต้น กล่าวคือ ขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่นั้น กลุ่มเจตสิกธรรม อันเกิดพร้อมกับจิตกลุ่มหนึ่ง จะทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ นิวรณธรรมทั้ง ๕ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งยังมีอยู่ ฌานจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้น เมื่อกลุ่มเจตสิกธรรมดังกล่าว ทำหน้าที่ขับไล่หรือข่มนิวรณธรรมให้สลายไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้

ขณะที่ฌานจิตปรากฏขึ้นนี้เอง กลุ่มเจตสิกธรรม คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เวทนา (สุข หรือ อุเบกขา) เจตสิก และเอกัคคตาเจตสิกที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณธรรมได้แล้ว จึงปรากฏเด่นชัดเป็นองค์ฌาน เพราะฉะนั้น องค์แห่งฌานจึงได้แก่ วิตกวิจาร ปีติ สุข (เวทนา) เจตสิก และเอกัคคตา เพียง ๕ องค์นี้

📀 ฌานประหาณนิวรณ์

การข่มนิวรณ์ หรือ ประหาณนิวรณ์ด้วยอำนาจของฌาน เรียกว่า วิกขัมภนประหาณ ตราบใดที่ฌานจิตยังไม่เสื่อม ตราบนั้นนิวรณธรรมย่อมถูกข่มไว้ไม่ให้ปรากฏขึ้นมาได้ หรือกล่าวว่า นิวรณธรรมกำเริบขึ้นเมื่อใด ฌานก็เสื่อมไปเมื่อนั้น การประหาณนิวรณธรรม ๕ ประการได้นั้น ย่อมต้องอาศัยองค์ฌาน เป็นเครื่องประหาณ ดังนี้ คือ

  • วิตก ประหาณ ถีนมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ประหาณ วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ประหาณ พยาปาทนิวรณ์
  • สุข (เวทนา) ประหาณ อุทธัจจกุกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ประหาณ กามฉันทนิวรณ์

อธิบาย
๑. วิตก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ในการทำฌาน (รูปฌาน) นั้นต้อง
สร้างบัญญัติอารมณ์ ที่เรียกว่า องค์กสิณ เป็นต้น ไว้สำหรับให้จิตเข้าไปเพ่งให้ทั่วองค์กสิณนั้น เพราะฉะนั้น การเพ่งองค์กสิณนี้ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติจะต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานที่กำหนดไว้เสมอ จะต้องพยายามไม่ปล่อยให้จิตหลุดจากอารมณ์ที่กำหนดไว้ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าขณะใดจิตหลุดจากอารมณ์ที่เพ่ง ถีนมิทธะคือสภาพที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง หรือคลายความสนใจต่ออารมณ์ที่เพ่ง ขณะนั้น จิตย่อมตกไปจากองค์กสิณต้องยกจิตให้กลับมาตั้งที่องค์กสิณใหม่คือให้เพ่งองค์กสิณอีก จนไม่คลาดไปจากองค์กสิณ ฉะนั้น วิตก คือ ธรรมชาติที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นี้ จึงทำหน้าที่ประหาณ ถีนมิทธะ โดยลักษณะแห่งการข่มไว้

๒. วิจาร คือ การประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารณ์ก็ทำหน้าที่ประคองจิตไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่งนั้น ถ้าเกิดความลังเลสงสัยขึ้นในขณะเพ่งอารมณ์ว่า การเพ่งอารมณ์เช่นนั้นจะสามารถทำให้ฌานเกิดขึ้นได้จริงหรือ เมื่อความลังเลสงสัยเกิดขึ้น การประคองจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์ก็จะเสื่อมคลายความหน่ายในการประคองจิตจะเกิดขึ้น ฉะนั้น พระโยคาวจร จำต้องใช้วิจารคอยประคองจิตให้เพ่งอารมณ์โดยปราศจากความลังเลสงสัยพร้อมกับวิจาร ย่อมทำหน้าที่ข่มวิจิกิจฉานิวรณ์ในลักษณะวิกขัมภนปหาณ

๓. ปีติ คือ ความปลาบปลื้มยินดี เมื่อวิตกได้ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์และวิจารประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์แล้ว ย่อมเกิดความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจในการที่สามารถทำได้เช่นนั้น ขณะจิตที่กำลังชื่นชมยินดีอยู่นั้น ความพยาบาทมาดร้ายต่อใคร ๆ ย่อมไม่เกิด ฉะนั้น ปีนี้ จึงสามารถข่มความพยาบาทนิวรณ์ได้โดยวิกขัมภนปหาณ ปีติ ความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจนี้ มี ๕ ประการ คือ

            ๓.๑ ขุททกาปีติ คือความปลาบปลื้ม ที่สามารถทำให้ขนในร่างกายชูชันได้
            ๓.๒ ขณิกาปีติ คือความปลาบปลื้มเหมือนสายฟ้าแลบเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นขณะๆ
            ๓.๓ โอกกันติกาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซึมไปทั่วร่างกาย ถึงกับไหวโคลง
            ๓.๔ อุพเพงคาปีติ คือปลาบปลื้มจนตัวลอยขึ้นไปในอากาศ
            ๓.๕ ผรณาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย เหมือนสูบที่เต็มลม และเหมือนหลืบภูเขา ที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลเข้าไปซึมซาบ

ปีติที่เป็นองค์ฌานสามารถประหาณพยาบาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึงขนาดผรณาปีติ ส่วนปีตินอกนั้นอีก ๔ ยังไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังมีสภาพหยาบและมีกำลังน้อย

๔. สุข คือ สุขเวทนาในองค์ฌาน หมายถึงความสุขใจหรือโสมนัสเวทนานั่นเอง ขณะบริกรรม คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ จนเกิดความปลาบปลื้มปีติเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้สึกเป็นสุขใจ เพราะมีความสงบปราศจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ขณะที่กำลังเสวยความสุข สุขเวทนาจึงมีสภาพเป็นผู้เผาหรือข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ สุขเวทนา จึงชื่อว่า เป็นผู้ประมาณอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์โดยวิกขัมภนปหาณ

ปีติและสุข มีสภาวะที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ปีติ คือความปลาบปลื้มยินดีที่ได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ ส่วนสุข มีการเสวยอารมณ์ที่ได้ประสบแล้ว ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่ถ้าสุขมีในที่ใด ปีติอาจมีไม่ได้ในที่นั้นปีติ เป็นสังขารขันธ์ ส่วนสุข เป็นเวทนาขันธ์

๕. เอกัคคตา ได้แก่ การที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอันเดียวแล้วชื่อว่า จิตมีสมาธิคือความไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้วยกามคุณอารมณ์ จิตจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียว ย่อมเป็นสมาธิ คือความหยุดนิ่งแห่งจิต ดุจความตั้งอยู่นิ่ง ๆ ของเปลวประทีปในที่ที่สงัดลมฉะนั้น สมาธิจิตนั้นไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านดิ้นรนไปสู่อารมณ์ที่ปรารถนา นั่นคือ อำนาจแห่งสมาธิหรือเอกัคคตานี้ ย่อมเผากิเลสหรือข่มกามฉันทนิวรณ์

📀 สมาธิ มี ๓ อย่าง

ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง
อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใกล้จะได้ฌาน
อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ และฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้ที่อัปปนาสมาธินี้ 

📀 ประเภทแห่งฌาน

ฌานปัญจกนัย ได้แก่ 
ตามนัยแห่งพระอภิธรรมได้จำแนกประเภทแห่งฌานไว้ ๕ ประเภท เรียกว่า
ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

๑. ปฐมฌาน หมายถึง ฌานที่ ๑ เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นก่อนเป็นครั้งแรกที่ข้ามจากโคตรกามได้ ปฐมฌานนี้ จึงต้องอาศัยองค์ฌานครบทั้ง ๕ องค์ เป็นเครื่องข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนั้น จิตที่สงัดจากนิวรณธรรมโดยการข่มไว้ได้ในครั้งแรกนี้ จึงชื่อว่า ปฐมฌานกุศลจิต องค์ฌานทั้ง ๕ ย่อมเกิดพร้อมกันและขณะเดียวกัน ย่อมทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณ์พร้อมกันอีกด้วย มิใช่ว่าองค์ฌานจะเกิดขึ้นทีละองค์ และข่มนิวรณ์ทีละอย่างไม่

๒. ทุติยฌาน หมายถึง ฌานที่ ๒ ที่เกิดขึ้นได้ในลำดับต่อไป ภายหลังจากที่ปฐมฌานได้เกิดขึ้นแล้วในการปฏิบัติ เพื่อให้ทุติยฌานเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องกระทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นติดต่อกันบ่อยๆ เพื่ออบรมจิตใจให้มีสมาธิกล้าแข็งยิ่งขึ้น และมีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญในการเข้าฌานและออกจากฌาน ความชำนาญเกี่ยวกับฌานนี้ เรียกว่า “วสี” ซึ่ง มี ๕ อย่าง คือ

            ๒.๑ อาวชชนวสี ได้แก่ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานก่อนเข้าฌานเพื่อให้เข้าฌานได้โดยเร็วพลัน
            ๒.๒ สมาปัชนวสี ได้แก่ ความชำนาญในการเข้าสมาบัติ
            ๒.๓ อธิฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการตั้งอยู่ในฌาน
            ๒.๔ วุฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการออกจากฌาน
            ๒.๕ ปัจจเวกขณวสี ได้แก่ ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานหลังออกจากฌาน

เมื่อพระโยคาวจร ได้ปฐมฌานชำนิชำนาญพร้อมด้วยวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็สามารถเจริญทุติยฌานได้ โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เคยได้จากปฐมฌานมาแล้วไม่ต้องเพ่งองค์ กสิณเหมือนเมื่อเริ่มเจริญปฐมฌาน การเพ่งปฏิภาคนิมิตนี้ เพราะความชำนาญจนได้เป็นวสีแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และเพราะจิตที่เข้าฌานจนชำนาญแล้ว จิตย่อมไม่หดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ แต่จะติดอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอันดี จึงไม่ต้องอาศัยวิตกข่มถีนมิทธนิวรณ์ ซึ่งไม่เกิดขึ้นอีกเพราะข่มมาแล้วแต่ในปฐมฌาน ฉะนั้น ทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๔ โดยละวิตกออกได้แล้ว

๓. ตติยฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๓ เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว จะต้องหมั่นกระทำทุติยฌานให้ชำนาญจนเป็นวสีเสียก่อน ผู้ที่จะเจริญฌานให้เข้าถึงตติยฌานนั้นย่อมเห็นโทษของวิจารว่า มีสภาพหยาบไม่คงทน มีความเสื่อมง่าย จึงพยายามละวิจาร อันเป็นองค์ฌานที่ตนเห็นว่า มีสภาพหยาบนี้เสีย เพื่อเข้าสู่ตติยฌาน อันมีสภาพของปีติ สุขและเอกัคคตา ที่ประณีตกว่าทุติยฌาน จึงตั้งต้นด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิต และบริกรรมจนตติยฌานเกิด ตติยฌานจิต จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา โดยละได้ทั้งวิตกและวิจาร

๔. จตุตถฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๔ ตติยฌานลาภีบุคคล เมื่อได้เข้าตติยฌานคล่องแคล่วจนเป็นวสี ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในตติยฌานนั้น พร้อมกับพิจารณาเห็นว่า ปีติที่เกิดในตติยฌาน เป็นความปลาบปลื้มซาบซ่านไปทั้งกายและใจ มีอาการโน้มน้าวไปในทางลิงโลดใจ ซึ่งนับว่า เป็นสภาพที่ยังหยาบอยู่ และประสงค์จะได้ฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ควรที่จะติดใจอยู่ในปีติที่เป็นของหยาบอยู่เพียงนี้ จึงเริ่มเจริญจตุตถฌาน โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตเพื่อละปีติเสีย เมื่อจตุตถฌานจิตเกิด จึงเหลือองค์ฌานเพียง ๒ องค์ คือ สุขกับเอกัคคตาเท่านั้น

๕. ปัญจมฌาน เป็นฌานขั้นสุดท้ายของรูปฌาน จตุตถฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขึ้นปัญจมฌาน ต้องพิจารณาเห็นโทษของสุข ที่มีสภาพหยาบกว่าอุเบกขาเอกัคคตาแล้วก็ตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิต โดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา เพื่อละสุขต่อไป จนเข้าถึงปัญจมฌาน ฉะนั้น ในปัญจมฌานนี้จึงเปลี่ยนเวทนาจากสุขเวทนาในจตุตถฌานมาเป็นอุเบกขาเวทนา องค์ฌาน จึงมี ๒ ได้แก่อุเบกขา และเอกัคคตา สุขที่เป็นองค์ฌาน อันจตุตถฌานลาภีบุคคลละได้นั้น หมายถึง สุขทางใจ คือโสมนัสเวทนา นั่นเอง ส่วนความสุขกายและโทมนัสนั้น แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละองค์ฌานเหล่านี้ก็ตาม แต่ก็ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์ โดยอรรถว่าทุกข์โทมนัสและสุขกายย่อมละได้ ในขณะแห่งอุปจารภาวนาของฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ โดยอาการอย่างนี้

อานิสงส์ของโสมนัสเวทนา และ อุเบกขาเวทนา

ในมหากุศล หรือ กามาวจรกุศล โสมนัสเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าอุเบกขาเวทนา แต่ในฌานกุศล อุเบกขาเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าโสมนัสเวทนาความต่างกันของประเภทแห่งฌาน ประเภทแห่งฌานทั้ง ๕ มีปฐมฌานเป็นต้น จนถึงปัญจมฌานเป็นที่สุดนั้นย่อมมีแตกต่างที่องค์ฌานแต่ละฌาน ซึ่งจะมีจำนวนองค์ฌานมากน้อยลดหลั่นกันเป็นข้อสำคัญ ส่วนอารมณ์ที่เพ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์เดียว ไม่แตกต่างกันก็ได้

อารมณ์ของฌานประเภทต่าง ๆ

อารมณ์ที่ใช้เพ่งเพื่อให้เกิดฌานจิตประเภทต่าง ๆ ในฌานทั้ง ๕ นั้น จะต้องอาศัยบัญญัติอารมณ์ทั้งสิ้น คือ จะต้องสมมุติกำหนดเครื่องหมายอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องเพ่ง และอารมณ์ที่เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌานนั้น ย่อมจำกัดอยู่เฉพาะอารมณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

  • ปฐมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งได้ ๒๕ อย่าง ได้แก่ กสิณบัญญัติ ๑๐ อสุภบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ โกฏฐาสบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ คือ ปิยมนาปสัตวบัญญัติ, ทุกขิตสัตวบัญญัติ, สุขิตสัตวบัญญัติ
  • ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๔ อย่าง ได้แก่กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ (เว้นมัชฌัตตสัตวบัญญัติ)
  • ปัญจมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๒ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๑ คือ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ 

ฌานจตุกนัย และ ปัญจกนัย

ประเภทแห่งฌานตามที่กล่าวมาแล้ว ๕ อย่าง อันเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งจำแนกประเภทของฌานไปตามองค์ฌาน ที่ปัญญาของมันทบุคคลผู้มีปัญญารู้ช้า ไม่อาจพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ ในเวลาเดียวกันได้จึงจำแนกฌานออกเป็น ๕ ประเภท เรียกว่า ปัญจกนัย ส่วนตามนัยแห่งพระสูตร ได้จำแนกประเภทของฌานออกเป็น ๔ ประเภท โดยแสดงถึงติกขบุคคลผู้เจริญทุติยฌานนั้น เมื่อจะขึ้นทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้ เพราะสามารถละทิ้งวิตกและวิจารได้ในขณะเดียวจึงจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท เรียกว่า จตุกนัย ซึ่งมีองค์ฌานดังนี้

ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

นัยแห่งพระอภิธรรม ที่จำแนกฌานเป็นปัญจกนัยนั้นก็เพื่อให้ตรงตามสภาวะเพราะจิตของมันทบุคคลตรงตามประเภทและจำนวนของจิตที่มีอยู่ในส่วนข้างมาก ผู้รู้ช้านั้น จะละองค์ฌานได้เพียงฌานละหนึ่งองค์เท่านั้น คือ ทุติยฌาน ละวิตก และ ตติยฌาน และวิจาร แต่ถ้าเป็น ติกขบุคคล คือ ผู้รู้เร็วนั้น ย่อมมีสติปัญญาไหวพริบแหลมคมสามารถที่จะละองค์ฌาน ทั้งวิตก วิจาร ได้ในคราวเดียวพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ พระโยคาวจรที่สามารถเข้าฌานสมาบัติ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดนั้นจึงกล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๘ และในบางแห่งก็กล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๙ 

ที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งแสดงว่า 
รูปฌานมี ๔ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌานสมาบัติ ๘ และที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นั้นเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งแสดงว่า รูปฌานนั้นมี ๕ อรูปฌานมี ๔ รวม เป็นฌานสมาบัติ ๙ ฌานปัญจกนัย ตามแนวแห่งพระอภิธรรมนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก และกิริยาแล้ว จึงได้แก่ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิตทั้งหมด ๑๕ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

📀  รูปาวจรกุศลจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนา ซึ่งย่อมต้องอาศัยบัญญัติของรูปธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนี้ ย่อมเป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุสลจิตอยู่ในชั้นบริกรรม สมาธิกับอุปจารสมาธิ เมื่อเจริญภาวนาสมาธิจนแนบแน่นเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิต จะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ เป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆ ได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้นๆ รูปาวจรกุศลจิต มีจำนวน ๕ ดวง คือ

  • ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
  • ๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

รูปวจรวิบากจิต

รูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิภวังค์และจุติของรูปพรหม ในรูปภูมิ ๑๕ มีจำนวน ๕ ดวง เท่ากันกับรูปาวจรกุศลจิต

๑. วิวิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานวิปากจิตฺตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานวิปากจิตฺตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตาวิปาก

📀  รูปาวจรกุศลจิตให้ผลเป็นรูปาวจรวิบากจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุทำให้รูปาวจรวิบากจิตปรากฏขึ้น เป็นผลตรงกันดวงต่อดวง และให้ปฏิสนธิในรูปภูมิต่าง ๆ ดังนี้ คือ 

  • ปฐมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปฐมฌานวิบาก ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ
  • ทุติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ทุติยฌานวิบาก ปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิ
  • ตติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ตติยฌานวิบาก                 "
  • จตุตถฌานกุศล ให้ผลเป็น จตุตถฌานวิบาก ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ
  • ปัญจมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปัญจมฌานวิบาก ปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิ

ข้อสังเกต

ทุติยฌานวิบาก และตติยฌานวิบากให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้น เพราะสภาพองค์ฌานของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ใกล้ชิดกันมาก และย่อมอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรละวิตกได้ แต่ละวิจารไม่ได้หรือละได้ทั้งวิตกและวิจาร ก็คงให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้นเอง แต่ผลที่จะได้รับในปวัตติกาลนั้น ย่อมจะยิ่งหย่อนกว่ากันบ้าง


📀  
รูปาวจรกิริยาจิต

รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงรูปฌานโดยนัยเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า รูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ รูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง หากแต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้น รูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๕ ดวง เช่นเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต คือ

    ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓.ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
    ๕. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมฌานกริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

ข้อสังเกต

ในการเจริญฌานโดยทั่วไปนั้น เมื่อเข้าถึงฌาน องค์ฌานย่อมข่มนิวรณ์ใน ขณะที่ฌานจิตเกิดเป็นวิกขัมภนปทาน เมื่อจิตพ้นจากฌานแล้ว หรือฌานจิตเสื่อมเสีย นิวรณ์ที่เกิดขึ้นได้อีก ย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์ฌานนั้นมีหน้าที่ ข่มนิวรณ์ แต่สำหรับพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์โดยสิ้นเชิงแล้ว การกำหนดองค์ฌาน เพื่อละองค์ฌานที่หยาบถือเอาองค์ฌานที่ประณีต โดยสภาวะของสัมปยุตธรรมที่เพ่งอารมณ์ตามธรรมนิยาม เพื่อจำแนกให้กำหนดรู้ได้ว่า พระอรหันต์ผู้เจริญฌานนั้น ได้เข้าถึงฌานชั้นไหน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่เป็นอันกำหนดรู้ฌานจิตสำหรับพระอรหันต์ได้เลย

📀  ภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปาวจรจิต ๑๕

  • รูปาวจรกุศลจิต ๕ เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ (มนุษย์ ๑ เทวดา ๖) รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรวิปากจิต ๕ เกิดได้ใน ๑๕ ภูมิ คือ รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรกิริยาจิต ๕  เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ (เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต) คือกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕

ส่วนใน อรูปภูมิ รูปาวจรจิต ย่อมเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีกรรมฐาน อันเป็นอารมณ์ของรูปฌาน ใน อสัญญสัตตภูมิ นั้น ไม่มีสัญญา หมายถึง ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้เลย รูปาวจรจิต จึงเกิดไม่ได้ และใน อบายภูมิ ๔ ไม่มีติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ และฌานจิตนั้น ย่อมเกิดได้เฉพาะแต่ติเหตุกบุคคลเท่านั้น อบายภูมิ มีแต่ทุคติอเหตุกบุคคล ฌานจิต จึงเกิดไม่ได้

มหากิริยาจิต ๘

กิริยาจิต” หมายถึงจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เป็นเพียงจิตที่กระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ หรือทำหน้าที่ให้สำเร็จการคิด การทำ การพูด เป็นกิริยาโดยภาวะที่เกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ ไม่มีปัจจัยแห่งกุศล และอกุศลในอนาคตอีก กิริยาจิต จึงมี ๒ ประเภท คือ : -

  • ๑. อเหตุกกิริยาจิต ได้แก่ จิตที่ไม่ใช่เป็นผลของกุศลและอกุศล และทั้งไม่ใช่จิตที่เป็นตัวกุศลและอกุศลด้วยเป็นจิตที่สักแต่เพียงกระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านทวารทั้ง ๖ เท่านั้น ยังไม่ให้ถึงความเป็นชวนะ (เว้นแต่ หสิตุปาทะ เกิดที่ชวนะ) จึงยังไม่มีโอกาสสร้างเหตุ ฉะนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลเหมือนดอกไม้ลม กล่าวคือ เป็นดอกไม้ที่ไร้ผล
  • ๒. สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต เป็นจิตที่ทำให้สำเร็จ การทำการพูด การคิดของพระอรหันต์ ผู้สิ้นกิเลสทั้งปวง เป็นกิริยาจิตที่เข้าถึงความเป็นชวนะ เสวยอารมณ์ที่เป็นโสมนัส หรือ อุเบกขา ซึ่งสักแต่เพียงว่าเป็นเวทนาชนิดที่ไม่ใช่เป็นเหตุแห่งตัณหาและอุปาทาน จึงไม่สามารถก่อให้เกิดผลในอนาคตขึ้นใหม่อีกได้ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีต้นอันขาดรากเสียแล้ว

อเหตุกกิริยาจิตได้แสดงมาแล้วในบทเรียนก่อน ต่อไปนี้จะได้แสดงถึง สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต (มหากิริยาจิต)

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิตนี้ เป็นจิตที่มีเหตุประกอบเกิดขึ้นรับกามารมณ์เป็นส่วนมาก และเกิดขึ้นได้กว้างขวางในภูมิต่าง ๆ ได้ถึง ๒๖ ภูมิ (เว้นอบายภูมิ ๔ และอสัญญสัตตภูมิ ๑ ซึ่งไม่มีพระอรหันต์) มหากิริยาจิตนี้ จึงมีสภาพคล้ายกันกับมหากุศลจิต ผิดกันแต่ว่า ถ้าเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตเหล่านั้นคงเรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์โดยเฉพาะแล้ว จิตเหล่านั้นก็เรียกว่า “มหากิริยาจิต” ฉะนั้น มหากิริยาจิต จึงมีจำนวนเท่ากับมหากุศลจิต ๘ ดวง

🔅 มหากิริยาจิต ๘

โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน

อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๖ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๗ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน


🔅 มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา

มหากิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดแต่เฉพาะในสันดานของพระอรหันต์ผู้ประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น เมื่ออารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ ย่อมจะพิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยความเป็นอุเบกขาไม่มีความยินดียินร้ายประการใดแล้ว มหากิริยาจิตจึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ เช่น

จักขุทวารของพระอรหันต์ได้เห็นสถานที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสมแก่การเจริญกรรมฐาน ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้โสมนัสด้วยมหากิริยาจิตดวงนี้ หรือ ทางโสตทวาร สดับเสียงเซ็งแซ่ของผู้ละโมบโลภมากในโรงทาน ก็เป็นผู้เข้าถึงซึ่งความโสมนัส ด้วยมหากิริยาจิตนี้ โดยคิดว่า “เราละตัณหาอันโลเลเห็นปานนี้ได้แล้ว” ทางฆานทวาร เวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่เป็นผู้ถึงความโสมนัสด้วยมหากริยาจิตได้

ความโสมนัสที่เกิดพร้อมกับมหากิริยาจิตของพระขีณาสพ สักแต่เป็นเวทนาที่เป็นผลของผัสสะเท่านั้นหาใช่เป็นเหตุแห่งตัณหา อุปาทาน และกรรมต่อไปไม่ มหากิริยาจิต จึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ ส่วนมหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนานั้น ย่อมปรากฏในขณะพิจารณาอารมณ์นั้นด้วย 👉ฉฬังคุเบกขา ซึ่งไม่มีความยินดีประการใด

🔅 มหากิริยาจิตกับการประกอบด้วยปัญญา

มหากิริยาจิตที่เกิดในสันดานของพระขีณาสพนั้น ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลสมลทิน จิตที่บริสุทธิ์เช่นนี้ น่าจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแต่ฝ่ายเดียว ที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา คือ ชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น ไม่น่าจะมีได้

มหากิริยาจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมมีได้ กล่าวคือ ในขณะที่พระอรหันต์ทั้งหลาย ต้องประกอบกิจการอันเป็นไปตามธรรมดาของสังขาร หรือกิจการที่ได้กระทำจนเป็นความเคยชินซึ่งไม่ต้องประกอบด้วยปัญญาเลยก็มีได้ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น การงานต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมต้องอาศัยมหากิริยาจิตเป็นผู้จัดแจง และไม่ต้องใช้ปัญญามาประกอบด้วยเลย

มหากิริยาจิต ๘ เป็นจิตที่กระทำกิจการงานของกุศลนั่นเอง แต่ การงานของกุศล นั้น ย่อมให้ผลเป็นความสุขต่อไปอีก ส่วนพระอรหันต์ท่านทำกิจการงานที่ไม่ต้องการผล แม้เป็นความสุขต่อไปอีก จึงเรียกว่า สักแต่ทำ, พูด, คิด ด้วยมหากิริยาจิตเท่านั้นเอง ที่ว่าเป็นการงานของกุศลนั้น หมายความว่า การงานที่พระอรหันต์ทำนั้นถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ปุถุชน หรือ พระเสกขบุคคลทำ ก็ล้วนเป็นการงานที่เป็นกุศลไปทั้งสิ้น ส่วนการงานที่เป็นอกุศลนั้น แม้เพียงแต่คิดด้วยจิตอันเป็นอกุศลก็ไม่มีแล้วแก่จิตใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย

คาถาสังคหะ

กาเม เตวีส ปากานิ     ปุญฺญาปุญฺญานิ วีสติ
เอกาทส กฺริยา เจติ     จตุปญฺญาส สพฺพถาฯ

แปลความว่า : กามาวจรวิบากจิต มี ๒๓, กามาวจรกุสลจิต และอกุสลจิต มี ๒๐, กามาวจรกิริยาจิต มี ๑๑ รวมกามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง ดังนี้

วิกิ

ผลการค้นหา