มหาวิบากจิต ๘

วิบากจิต มีสภาพดังนี้ คือ : -

๑. ไม่ใช่เป็นจิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นเหตุแล้ววิบากจิต คือ ผล ก็ต้องมีแน่นอน
๒. วิบากจิต เป็นจิตที่สงบ ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวาย หรือวิริยะ อุตสาหะ ยังมีกำลังอ่อน ต่างกับกุศล อกุศล และกิริยา
๓. วิบากจิต ไม่ปรากฏชัด ที่รู้สึกปรากฏชัดเฉพาะขณะหลับ ส่วนเวลาตื่น จิตขึ้นสู่วิถี เป็นกุศลบ้าง อกุสลบ้าง กิริยาบ้าง ย่อมเด่นชัดมากกว่าวิบากจิต
๔. เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ก็มีกำลังอ่อนไปด้วย รวมทั้งปฏิสนธิ กัมมชรูปและจิตชรูป ที่เกิดจากวิบากจิตนั้น ก็ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้ว ความชราจะต้องมีแน่นอน

🔅สเหตุกกามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก)

สเหตุกามาวจรวิบากจิต นิยมเรียกกันว่า กามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากเพราะเป็นจิตที่เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต หรือ มหากุศลจิต ๘ ดวงโดยตรง กล่าวคือ

มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นเหตุให้มหาวิบากจิตเกิด ๘ ดวง เป็นผล และย่อมให้ผลตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหากุศลจิต เป็นโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ก็ให้ผลเป็น มหาวิบากโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ด้วยเหมือนกัน ดังนี้ เป็นต้น กามาวจรวิบากจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมี ๒๓ ดวง คือ

        กามาวจรวิบากจิต
                🅞 อเหตุกะ >> อกุศลวิบาก ๗ 
                                  >> กุศลวิบาก ๘ 
                🅞 สเหตุกะ >> กามาวจรวิบาก ๘

                      รวมเป็นจิตที่เกิด ๒๓ ดวง

ในกามาวจรวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ และสเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ รวมจิต ๑๖ ดวงนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ หรือที่เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง เพราะเหตุที่ให้ผลมากกว่าตน เช่นนี้เอง แม้อเหตุกกุศลวิบากจิต และมหาวิบากจิต จะเนื่องแต่มหากุศลจิตอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความแตกต่างกันระหว่างอเหตุกกุศลวิบากจิต กับ มหาวิบากจิตย่อมมีอยู่เสมอ คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศล แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใด ๆ ประการหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็ไม่มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้กว้างขวาง ทั้งในกามภูมิและรูปภูมิตามสมควร ประการหนึ่ง

มหาวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต แต่ประกอบด้วยเหตุประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นประการหนึ่ง

ฉะนั้น สเหตุกกามาวจรวิบากจิต หรือมหาวิบากจิต ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงหมายถึงจิตที่จะเป็นผลของมหากุศล เพราะเมื่อกล่าวโดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขารแล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ จึงชื่อว่า "มหาวิบากจิต" สเหตุกกามาวจรวิบากจิตนี้ มีจำนวน ๘ ดวง และมีชื่อเหมือนกันกับมหากุศลจิต คือ 

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

🔅 มหาวิบากเป็นอัพยากตธรรม

มหาวิบากที่เป็นอัพยากตธรรม คือ ในสมัยใด เพราะกามาวจรกุศล อันได้กระทำไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดผลเป็นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับความยินดีบ้าง ความเฉยๆ บ้าง ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีรูปารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน หรือมีการชักชวน เป็นมหาวิบากจิต ๘ ดวง

ในสมัยนั้น ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์มนสิการ สัทธา ฯลฯ เกิด อวิกเขป คือ สภาวะที่สงบอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน สภาวธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมเป็นอัพยากต เพราะมีอัพยากตมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ เป็นมูลฐานให้สภาวธรรมเหล่านั้น ปรากฏขึ้น

🔅 มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล

มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล คือ ในมหากุศลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันแห่งกรรม, ทวาร, กรรมบถและบุญกิริยาวัตถุ แต่ความแตกต่างกันเหมือนในมหากุศลนั้นไม่มีในมหาวิบาก ทั้งนี้ เพราะมหาวิบากไม่ยังวิญญัติให้เกิด เพราะมหาวิบากเป็นผลที่สุกแล้ว ไม่มีวิบากต่อไปอีก และเพราะมหาวิบากไม่ได้กระทำสัตวบัญญัติให้เป็นอารมณ์ คือ กรุณา มุทิตา และแม้วิรัติ คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวจาและสัมมาอาชีวะ ไม่มี ธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนั้น จึงเกิดกับมหาวิบากจิตไม่ได้เลย ส่วนสภาวะแห่งสังขารธรรมนั้น คือ ประเภทแห่งอสังขาริกและสสังขาริกเหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ

🔅 ฐานะที่อำนวยผลของมหาวิบาก

มหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น ย่อมอำนวยผลในฐานะ ๔ ประการ คือ

ในฐานะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิกิจ
ในฐานะที่รักษาภพชาติที่ดำรงอยู่นั้นไว้ เรียกว่า ภวังคจิต
ในฐานะสิ้นไปจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติกิจ
ในฐานะหน่วงอารมณ์ที่เหลือจากการที่เสพแล้ว เรียกว่า ตทาลัมพนกิจ

 🅞 ฐานะผู้อำนวยผลเป็นปฏิสนธิกิจ ผู้ที่เคยทำบุญกุศล ทั้งชนิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม อำนาจแห่งกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวงนั้น ย่อมยังผลให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเป็นเทวดา ชั้นกามาวจร ผู้ปฏิสนธิ คือ มหาวิบากจิต ๘ และกัมมชรูป
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นภวังค์กิจ เมื่อสัตว์ทั้งหลายผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว ก็อำนวยผลเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ในการรักษาภพชาติของมนุษย์ หรือเทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นไว้ในปวัตติกาลตลอดอายุขัย ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตามสมควรแก่อายุขัยแห่งสัตว์ในภพภูมิที่เป็นอยู่นั้น
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นตทาลัมพูนกิจ ยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือต่อจากขณะเสพอารมณ์นั้น ได้แก่ รับอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนจิตวิบากจิตที่จะอำนวยผลเป็นตทาลัมพนกิจนี้มีได้แต่เฉพาะกามสัตว์ที่ในกามภูมิ เท่านั้น คือ เป็นกามบุคคล มีกามอารมณ์ และกามชวนะ
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นจุติกิจ ในมรณกาลแห่งภพชาติที่เป็นอยู่นั้น มหาวิบากจิตที่ปรากฏครั้งแรกในภพชาตินั้นๆ และดำรงสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนไปจากภพชาติที่เป็นอยู่ ฉะนั้น มหาวิบากจิตประเภทเดียวกับที่ถือปฏิสนธินั่นเอง เป็นผู้จุดสิ้นไปจากภพชาตินั้น



ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มหาวิบากทั้ง ๘ ดวงนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งต้นสัตว์ให้ปรากฏขึ้นใหม่ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่กำลังของมหากุศล ซึ่งทำให้สัตว์แตกต่างกันด้วยภูมิหรือกำเนิด และแม้อยู่ในภูมิเดียวกัน ก็ยังต่างกันด้วยอำนาจแห่งกิเลสและต่างกันด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ปัญญาของกุศลเจตนาในอดีต อันยังเป็นวิบากที่ให้สัตว์เหล่านั้นพึงได้รับภายหลังจากที่ได้เกิดมาแล้ว สัตว์เหล่านี้ บางพวกมีโลภะเป็นส่วนมาก บางพวกมีโทสะเป็นส่วนมาก และบางพวกมีโมหะเป็นส่วนมาก ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ธรรมอันใดเป็นผู้กำหนดภาวะที่เป็นส่วนข้างมาก ก็ให้ปรากฏเป็นผลขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น คำตอบ ก็คือ เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เป็นผู้กำหนดให้ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ขวนขวายประกอบกรรมในปัจจุบัน ความแตกต่างในการขวนขวายของบรรดาสัตว์เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นผลที่แตกต่างกัน คือ 


  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ อโมหะ แรง แต่อโลภะ โทสะ และโมหะอ่อน ผู้นั้นเป็นคนมักได้ ชอบสบาย มักไม่โกรธ แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง แต่มีอโลภะ อโทสะ และโมหะอ่อน ย่อมเป็นคนมักได้และฉุนเฉียว แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักได้ โง่เขลาและชอบสบาย มักไม่โกรธง่าย
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ โมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักได้ ฉุนเฉียวและลุ่มหลง
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ โมหะ แรง ผู้นั้นย่อมมักน้อย แต่เป็นผู้ฉุนเฉียว และมีปัญญาน้อย
  • ผู้ใด มีอโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักน้อย ไม่ฉุนเฉียว และ เป็นคนเขลา
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักน้อย และมีปัญญาแต่เป็นผู้ฉุนเฉียว มักโกรธ
  • ผู้ใด มือโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้ง ๓ แรง ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่ฉุนเฉียวและมีปัญญา

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ว่า เหตุเบื้องต้น ย่อมกำหนดผลให้ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอุปการะในการประกอบกรรมในปัจจุบัน ความต่างกัน จึงย่อมปรากฏขึ้นในขณะขวนขวายประกอบกรรมนั้น ๆ ภาวะที่ติดมาแต่อดีตนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวิบากนั่นเอง แต่การที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า วิบากใด เป็นผลของกรรมอันไหน ได้ทำไว้แล้วเมื่อใด ย่อมไม่อาจชี้เจาะจงลงได้ และยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ในจตุกนิบาตอังคุตรพระบาลีว่า การค้นหาวิบากกรรมนั้น เป็นสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ใด เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะค้นคิดได้พระองค์ตรัสมีใจความว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ที่ชื่อว่า อจินไตยธรรม มีอยู่ ๔ ประการ และถ้ามีผู้ใดเอามาคิด ผู้นั้นอาจจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พุทธวิสัย คือ เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
ฌานวิสัย คือ ฌานอภิญญาแห่งท่านทั้งหลายผู้ทรงฤทธิ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
กรรมวิบาก คือ ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
โลกจินตา คือ ความเป็นไปของโลก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง ดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดคิดผู้นั้นจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามคิดในเรื่องของวิบากไว้นั้น ก็เพราะสภาวะที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมจะห้ามวิบากไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบกรรมให้เป็นไปตามกุศล อกุศลกรรมแห่งตน อันย่อมประพฤติเพื่อความหมุนเวียนเปลี่ยนไปในคติทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า "สมังคีตา" สมังคีตา ๕ หมายถึง กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมยังความพร้อมแห่งธรรม ๕ ประการให้เกิดขึ้น คือ

๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ ความเพียร ในขณะกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่ เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศล อกุศลกรรม เจตนา สมังคีตานี้ มีในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในพระอรหันต์
๓. กมุมสมงฺคิตา ได้แก่ กุศลกรรม อกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ครบองค์แห่งกรรมบถ
๔. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ ผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน ถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคีตาอยู่ตราบนั้น คือ จะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ
๕. อุปฎฐานสมงฺคิตา ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้จะตายอุปัฏฐานสมังคีตานี้มีกำลังอ่อนกว่าสมังคีทั้งปวงอำนาจของกรรมที่จะส่งผลย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย

มหากุศลจิต ๘

กามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม จึงเป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข และยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน คือให้เกิดผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และมหาวิบากจิต ๘ ดวง ยิ่งกว่านั้นที่ชื่อว่า “มหากุศลจิต” นั้น เพราะเหตุที่

ก. เป็นจิตที่เกิดได้กว้างขวางในอารมณ์ ๖ คือเกิดได้ในอารมณ์ที่เป็นรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งเป็นจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นได้กว้างขวางทั่วไปไม่จำกัดขอบเขตภพภูมิ และประเภทแห่งสัตว์และบุคคล กล่าวคือเกิดได้ในภูมิต่าง ๆ ตลอด ๓๐ ภูมิ ตั้งแต่นิรยภูมิ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) และเกิดได้ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่อบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม (เว้นอสัญญสัตตพรหม) และอรูปพรหม เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในจิตสันดานของมรรคบุคคลกับพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น

ข. เป็นจิตเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และภาวนาเบื้องต้นให้เกิดฌาน มรรค ผล ตลอดจนน้อมเอาอารมณ์พระนิพพาน (ขณะที่มหากุศลจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ และปัจจเวกขณญาณ) อีกด้วย

สภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นกามาวจรกุศลนี้ จึงชื่อว่า “มหากุศลจิต” ด้วยเหตุดังกล่าว และมหากุศลจิต จำแนกออกได้เป็น ๘ ประเภท คือ

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ ดวง

มหากุศลจิต
    โสมนัส
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

    อุเบกขา
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

ข้อควรสังเกต
มหากุศลจิตที่จำแนกออกไปได้เป็น ๘ ดวงนั้น เพราะอาศัยสภาพธรรม ๓ ประการ คือ เวทนา ญาณ และสังขาร เป็นตัวการที่ปรุงแต่งจิตให้ผิดแผกแตกต่างกันไป คล้ายกับสภาพของเวทนา ทิฏฐิ และสังขาร ที่จำแนกโลภมูลจิตให้แตกต่างกันไปได้ ๘ ดวง ฉะนั้น


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ โดยธรรม ๓ ประการ

๑. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งเวทนา
  • โสมนัส ๔
  • อุเบกขา ๔
๒. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งญาณ

  • ญาณสัมปยุต ๔
  • ญาณวิปปยุต ๔

๓. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งสังขาร

  • อสังขาริก ๔
  • สสังขาริก ๔


๑. มหากุศลจิต ๘ ดวง นั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว มหากุศลจิตย่อมเกิดพร้อมกับเวทนาได้ ๒ เวทนา คือ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา และเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า จิตที่เป็นไปในการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกปีติยินดีมาก ที่เรียกว่า โสมนัสเวทนา หรือมิฉะนั้นก็เป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ที่เรียกว่า อุเบกขาเวทนา จะเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ ศรัทธา ของผู้กระทำ ถ้าผู้กระทำมีศรัทธามาก การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกยินดีมาก แต่ผู้กระทำมีศรัทธาน้อย การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ

๒. มหากุศลจิต ๘ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งญาณ คือ การประกอบด้วยปัญญาแล้วก็มี ๒ อย่าง คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณสัมปยุต” และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณวิปปยุต

ญาณสัมปยุต หมายถึง ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเห็นถูกต้องตามสภาวะความจริง ปัญญาที่กล่าวนี้ มุ่งหมายเอาปัญญาที่ประกอบกับกามาวจรกุศลจิตเท่านั้น คือ กัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญา กัมมัสสกตาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน ทั้งที่เป็นไปในฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ทรัพย์สินเงินทอง บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร ธิดา ทั้งหลาย มิใช่เป็นสิทธิของสัตว์เหล่านั้นโดยแท้ เพราะไม่อาจติดตามสัตว์ทั้งหลายไปในภพอื่นได้ และแม้ในภพนี้ ก็ยังมีสิทธิอันไม่แน่นอนอีกด้วย เพราะอาจมีภัยพิบัติให้ต้องเสียหาย ต้องล้มตาย ต้องพลัดพรากจากกัน หรือถูกแย่งชิงเอาไปได้

กมุม สกํ เยสนฺติ = กมฺมสฺสกา แปลว่า กรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน มีแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า กัมมัสกะ

กมฺมสฺสกานํ ภาโว = กมฺมสฺสกตา แปลว่า ความเป็นอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายที่มีกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ชื่อว่า กัมมัสสกตา

กมฺมสฺสกตา ญาณํ = กมฺมสฺสกตาญาณํ แปลว่า ความรู้เหตุผล ในความเป็นอยู่แห่งสัตว์ชื่อว่า กัมมัสสกตาปัญญา

ฉะนั้น ความรู้เหตุผลในความเป็นอยู่ของสัตว์ที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน หรือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ความรู้นั้น ชื่อว่า “กัมมัสสกตาปัญญา” และปัญญาย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ๓ ประการ

🙏 การเกิดขึ้นของปัญญา ๓ ประการ

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาใดที่เกิดขึ้นด้วยการศึกษาเล่าเรียน หรือได้ยิน ได้ฟังมา ปัญญานั้น เรียกว่า “สุตมยปัญญา” ปัญญานี้ แก้ความเข้าใจผิดที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือให้เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน
๒. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย โดยความมีโรค ไม่มีโรค โดยความโง่ ความฉลาด สุข หรือทุกข์ อายุยืนหรือสั้น ยากจนหรือมั่งมี เหล่านี้ เป็นต้น หรือปัญญาใดที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนำมานึกคิด หรืออนุมานโดยเทียบเคียงตามวัตถุเหล่านั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น โดยอาศัยกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ปัญญานี้ เรียกว่า “จินตามยปัญญา
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา ได้แก่ วิปัสสนาภาวนา ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น ปัญญานั้น เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา”

ปัญญาตามที่ได้แสดงมาแล้ว จึงแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ปัญญาที่เป็นเหตุ ได้แก่ปัญญาทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น และ ปัญญาที่เป็นผล ได้แก่ กัมมัสสกตาปัญญาหรือวิปัสสนา ปัญญา แม้ว่า ชนทั้งหลายยังไม่อาจละสักกายทิฏฐิ (ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน) ได้ก็ตาม แต่เมื่อมีความเห็นถูกตรงอยู่ในอารมณ์ ๑๐ ประการที่เรียกว่า ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ๆ เป็นกัมมัสสกตาปัญญา แต่วิปัสสนาปัญญานั้น ต้องรู้รูป-นามไม่เที่ยง เป็นต้น ย่อมละสักกายทิฏฐิ

🙏 ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ

๑. อตฺถิ ทินนํ เห็นว่า การทำบุญให้ทานได้รับผลดีมีประโยชน์
๒. อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาได้รับผลดีมีประโยชน์
๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญ ปฏิสันถาร ได้รับผลดีมีประโยชน์
๔. อตฺถิ สุกตทุกกตานํ กมุมาน ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดีและทำชั่ว มีการได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อม
๕. อตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้มีอยู่ คือ ผู้ที่จะมาเกิดในภพนี้มีอยู่
๖. อตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ คือผู้ที่จะไปเกิดภพหน้าในอนาคตมี
๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๙. อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เติบโตขึ้นทันทีมีอยู่ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา และพรหม นั้นมี
๑๐. อตฺถิ โลเก สมณพราหมณา สมมาปฏิปันนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และประกาศให้ผู้อื่นได้นั้น มีอยู่

ความเห็นตรงตามหลักของทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิแล้วทุกประการนั้น ชื่อว่า กัมมัสสกตาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว การบริจาคทาน การรักษาศีล เจริญภาวนาของผู้นั้น มีอานิสงส์สมบูรณ์เหมือนการเพาะเมล็ดโพธิ์ให้เจริญเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ ตรงกันข้ามถ้าทาน ศีล ภาวนา ของผู้ที่ไม่มีกัมมัสสกตาญาณ มีอานิสงส์น้อยเหมือนต้นโพธิ์ที่ให้ผลเกิดเป็นเมล็ดโพธิ์เท่านั้น ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ อุปมาเหมือนหินฝน ที่ใช้ฝนดูเนื้อทองว่า แท้หรือเทียม หรือเหมือนน้ำกรดที่ใช้หยอดดูเนื้อเงิน, ทอง, นาก ว่าแท้หรือไม่ฉันใด ความเห็นชอบประกอบด้วยปัญญาอาศัยทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องมือตรวจกรรมของสัตว์ก็อุปไมยฉันนั้น

วิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ว่า เป็นสภาวะของรูปนาม ที่เป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา กล่าวคือ มีปัญญารู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตก็ตาม คงมีแต่รูปกับนาม ใน ๒ อย่างนี้เท่านั้น และรูปนามนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเสมอ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่าไม่เที่ยง เป็นต้น โดยเข้าไปพิสูจน์แล้วด้วยตนเอง ปัญญานั้นเรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา”

ญาณวิปปยุต นั้น แปลว่า ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ทั้งที่เป็นกัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญาฉะนั้น มหากุศลจิตชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น จึงหมายถึง จิตที่มีเจตนามุ่งกระทำความดี แต่มิได้เป็นไปโดยประกอบด้วยปัญญา เช่น การทำบุญให้ทานตามเทศกาลประเพณี เป็นต้น อาศัยศรัทธาเป็นประธาน

มหากุศลจิต ๘ ดวงเมื่อว่าโดยประเภทแห่งสังขาร คือ ต้องอาศัยมีการชักชวนและไม่ต้องอาศัยการชักชวน ได้แก่ อสังขาริกจิต ๔ ดวง และสสังขาริกจิต อีก ๔ ดวง ตาม นัยเดียวกันกับโลภมูลจิต ๘ ดวง นั่นเอง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเหตุ
กามาวจรกุศลนี้ เมื่อจำแนกโดยเหตุแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศล

ติเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ติเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔

ทวิเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้ที่กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นมิได้ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณแต่อย่างใด กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ทวิเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยกุศลเหตุเพียง ๒ ประการ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุเท่านั้น (ไม่ประกอบด้วยอโมหเหตุ) ฉะนั้น องค์ธรรม จึงได้แก่มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเจตนา

ในการกระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นติเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม ย่อมประกอบด้วยเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ
๑. ปุพพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนการกระทำ
๒. มุญจฺเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังกระทำ
๓. อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อกระทำไปแล้ว

ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลนั้น เมื่อจำแนกออกโดยอำนาจแห่งเจตนาดังกล่าวแล้ว ย่อมได้อย่างละ ๒ ชนิด คือ

๑. อุกกัฏฐกุศล หมายถึง กุศลชั้นสูง คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำนั้น ไม่มีอกุศลเจือปน คือ มีเจตนาบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศล หรือภาวนากุศลที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศลหรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม จัดเป็นอุกกัฏฐกุศล คือ กุศลชั้นสูง
๒. โอมกกุศล หมายถึง กุศลชั้นต่ำ คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำ นั้นมีอกุศลเข้าเจือปน คือมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศลหรือภาวนากุศล ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศลก็ตาม จัดเป็นโอมกกุศล คือ กุศลชั้นต่ำทั้งสิ้น

🔅 จำแนกติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอุกกัฏฐะ และ โอมกะ

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

บรรดา เจตนา ที่เป็นเครื่องตัดสินกุศลกรรมว่า เป็นชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศลนั้น อปรเจตนา มีความสำคัญมากกว่าปุพพเจตนาและมุญจเจตนา เพราะอปรเจตนาเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำกุศลนั้น ๆ สำเร็จแล้วแม้ปุพพเจตนาหรือมุญจเจตนา จะไม่บริสุทธิ์ แต่อปรเจตนาบริสุทธิ์ก็จัดว่า เป็นอุกกัฏฐกุศล แต่ถ้าปุพพเจตนาและมุญจเจตนาบริสุทธิ์อปรเจตนาไม่บริสุทธิ์กุศลนั้น จัดเป็นโอมกกุศล ด้วยเหตุนี้อปรเจตนา จึงมีความสำคัญมากในการตัดสินว่ากุศลนั้นเป็นกุศลชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศล

อปรเจตนานี้ ท่านอรรถกถาจารย์ได้จำแนกพิสดารออกไปอีก เป็น "อปราปรเจตนา" นั้น คือเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังอปรเจตนาได้เกิดล่วงไปแล้ว ๑ วัน หรือ ๑ เดือน เป็นต้น กล่าวคือ เมื่อได้นึกถึงการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้ว แม้จะล่วงเลยมาหลายวันหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ความปีติ โสมนัสศรัทธา และปัญญาอันมีในกุศลของตนนั้นยังเกิดอยู่เสมอๆ เจตนาที่เป็นความคิดคำนึงในหนหลังนี้ จัดเป็นกุศลอปราปรเจตนา ถ้าการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้วในเวลาต่อๆ มา เกิดความเสียดาย กลุ้มใจ หรือมิฉะนั้นเกิดความยินดีเพลิดเพลินเกี่ยวด้วยตัณหา หรือเกิดความผยองในใจว่า เราทำได้ดีกว่าผู้อื่นอันเป็นตัวมานะอปราปรเจตนาเป็นอกุศล กุศลกรรมนั้นๆ ก็จัดเป็นกุศลชนิดโอมกะ

ฉะนั้น เมื่อจะจำแนกอุกกัฏฐกุศล และโอมกกุศล ทั้งที่เป็นเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนาแล้ว ย่อมจำแนกได้ ๘ ประการ

🔅 แสดงการจำแนกอุกกัฏฐะ และ โอมกะของติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนา

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ติเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ติเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกโอมโกมกะ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ทวิเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ทวิเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกโอมโกมกะ

ความเป็นไปของเหตุกกุศล และ ทวเหตุกกุศลทั้ง ๘ ประการนี้ อาศัยมุญจเจตนาเป็นตัวนำ และอาศัย อปรเจตนา กับ อปราปรเจตนา เป็นตัวจำแนกกล่าวคือ ขณะที่มุญจเจตนาเกิดขึ้นประกอบด้วยไตรเหตุ ชื่อว่า "ติเหตุกกุศล" แต่ถ้าขณะมุญจเจตนาประกอบด้วยทวิเหตุ (ไม่มีอโมหะประกอบ) ก็ชื่อว่า "ทวิเหตุกกุศล" ทั้งติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นขณะที่...

อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาก็ดี จัดเป็น อุกกัฏฐุกกัฏฐะ
อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาไม่ดี จัดเป็น อุกกัฏโฐมกะ

อปรเจตนาไม่ดี แต่อปราปรเจตนาดี จัดเป็น โอมกุกกัฏฐะ
อปรเจตนาไม่ดี และ อปราปรเจตนาก็ไม่ดี จัดเป็น โอมโกมกะ

🙏 กามาวจรกุศลกรรม

กามาวจรกุศลกรรม หมายถึง การกระทำความดี หรือการกระทำสุจริตที่เกี่ยวข้องด้วยกามารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น และกรรมดีหรือสุจริตกรรมนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของเจตนาที่มีอยู่ในมหากุศลจิตเป็นประการสำคัญ จึงสำเร็จเป็นการงานที่ชื่อว่า “กามาวจรกุศลกรรม” หรือ “กามกุศลกรรม” 

กามาวจรกุศลกรรม หรือกามกุศลกรรมนี้ มีการแสดงไว้เป็น ๒ นัย คือ
๑. โดยกรรมทวาร
๒. โดยบุญกิริยาวัตถุ

จะได้แสดงนัยทั้ง ๒ นี้ ต่อไปโดยลำดับ

👉ก. กามาวจรกุศลว่าโดยกรรมทวาร 
กามาวจรกุศล เมื่อว่าโดยกรรมทวารแล้ว มีอยู่ ๓ ทวาร คือ
๑. กรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า “กายกรรม”
๒. กรรมที่เกิดขึ้นทางวาจา เรียกว่า “วจีกรรม”
๓. กรรมที่เกิดขึ้นทางใจ เรียกว่า “มโนกรรม”

และเมื่อว่าโดยประเภทแห่งกุศลกรรมแล้วมี ๑๐ อย่าง

กายกรรม ๓ คือ

  • ๑. ปาณาติปาตวิรติ เว้นจากการฆ่าสัตว์
  • ๒. อทินนาทานวิรติ เว้นจากการลักทรัพย์
  • ๓. กาเมสุมิจฉาจารวิรติ เว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ
วจีกรรม ๔ คือ

  • ๑. มุสาวาทวิรติ เว้นจากการกล่าวเท็จ
  • ๒. ปิสุณวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวส่อเสียด
  • ๓. ผรุสวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวคำหยาบ
  • ๔. สัมผัปปลาปวิรติ เว้นจากการกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์

มโนกรรม ๓ คือ

  • ๑. อนภิชฌา สังวรเพื่อไม่ให้ความโลภเกิด
  • ๒. อพยาปาท สังวรเพื่อไม่ให้พยาบาทเกิด
  • ๓. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง

กามาวจรกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ เรียกว่า "กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐"

🙏  องค์ธรรมของกุศลกรรมบถ ๑๐

กายกรรม ๓ องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
วจีกรรม ๔ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
มโนกรรม ๓ อนภิชฌา องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก
                    อพยาปาท องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก
                    สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก


👉 ข. กามาวจรกุศลโดยบุญกิริยาวัตถุ

บุญกิริยาวัตถุ มาจากคำบาลีว่า "ปุญญกริยาวตฺถุ"
ปุญฺญ หมายถึง ความดีที่ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน
กริย หมายถึง ควรกระทำ
วัตถุ หมายถึง เป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดี

ฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงแปลความว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีที่เกิดขึ้น คือ เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จเป็นบุญเป็นกุศล พร้อมทั้งอานิสงส์ผลที่ผู้กระทำพึงได้รับ ตามสมควรแก่โอกาส

🔅 กามาวจรกุศลกรรมที่เป็นบุญกิริยาวัตถุนี้ มี ๑๐ ประการ

๑. ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล การระวังรักษากาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีล
๓. ภาวนา การเจริญสมถะ และวิปัสสนา
๔. อปจายนะ การคารวะอ่อนน้อมแก่ผู้เจริญด้วยชาติวุฒิวัยวุฒิและคุณวุฒิ
๕. เวยยาวัจจะ การเข้าช่วยเหลือกิจการงานเกี่ยวกับปริยัติ และปฏิบัติ
๖. ปัตติทานะ การอุทิศแผ่กุศลให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนารับส่วนบุญที่เขาอุทิศให้
๘. ธรรมสวนะ การตั้งใจฟังธรรม
๙. ธรรมเทศนา การแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐชุกรรม การทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้เป็นการงานของจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นเหตุให้เกิดผลดีมีสุข ฉะนั้น จิตที่จัดว่าเป็นมหากุศลจิตนั้น จึงต้องเป็นจิตที่เป็นไปในอารมณ์แห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว

🔅 สงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ โดย ทาน ศีล ภาวนา

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เมื่อจะสงเคราะห์ลงในประเภทแห่งทาน ศีล และภาวนา ได้ดังนี้ คือ

สงเคราะห์ในทาน ได้แก่

  • ๑. ทาน
  • ๒. ปัตติทาน
  • ๓. ปัตตานุโมทนา

สงเคราะห์ในศีล ได้แก่

  • ๑. ศีล
  • ๒. อปจายนะ
  • ๓. เวยยาวัจจะ

สงเคราะห์ในภาวนา ได้แก่

  • ๑. ภาวนา
  • ๒. ธรรมสวนะ
  • ๓. ธรรมเทศนา
  • ๔. ทิฏฐชุกรรม

อนึ่ง ตามนัยแห่งพุทธภาษิตอรรถกถา แสดงว่า ธรรมสวนะ คือ ให้การฟังธรรมด้วยสัจจะเคารพ และธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรมเพื่อให้เป็นธรรมทาน สงเคราะห์ลงใน ทาน ก็ได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง และส่วนทิฏฐธุกรรมนั้น ก็สงเคราะห์ลงในทาน ศีล ภาวนาได้ทั้ง ๓ ประการ เพราะในสังคีติสูตร ปาฏิกวรรค อรรถกถา แสดงว่า ทิฏฐชุกมุมํ สพเพสํ นิยมกฺขณํ หมายความว่า ทิฏฐธุกรรม คือปัญญาที่เห็นถูกต้องตรงตามความจริง ถ้าการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา โดยไม่มีทิฏฐธุกรรมประกอบด้วยแล้ว การให้ผลของทาน ศีล ภาวนาเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ มีการขาดตกบกพร่อง และยิ่งกว่านั้น ทิฏฐธุกรรมนี้เป็นที่ตั้งและเป็นปัจจัยให้เกิดบุญกิริยาวัตถุอื่นๆ ทั้งปวง จึงสงเคราะห์ลงในทาน ศีล และภาวนา ได้ทั้งสิ้น

🔅 เหตุให้เกิดมหากุศล

เหตุที่ทำให้เกิดกามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิตเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมอาศัย “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย กล่าวคือ เมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทางทวารทั้ง ๖ ก็มีการพิจารณากำหนดถึงสภาวะความจริงที่ปรากฏขึ้นแห่งอารมณ์นั้นๆ การพิจารณากำหนดตามสภาวะความจริงที่ปรากฏนั้นชื่อว่า มี โยนิโสมนสิการ แต่การที่จะมี โยนิโสมนสิการต่ออารมณ์ที่กระทบจิตนั้น ย่อมอาศัยเหตุอดีต และปัจจุบัน ๕ ประการ คือ 

๑. ปุพเพกตปุญญตา เคยสร้างบุญไว้แต่ชาติปางก่อน
๒. ปฏิรูปเทสวาส ได้อยู่ในประเทศที่สมควร มีพุทธศาสนา
๓. สปปุริสปนิสสย ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
๔. สทฺธมฺมสฺสวน ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตสมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนี้ ประการแรกอาศัยอดีตกรรมเป็นเหตุ ส่วนที่เหลืออีก ๔ ประการ อาศัยปัจจุบันกรรม เป็นเหตุ

กามาวจรโสภณจิต ๒๔

กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่ยังท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ คือภูมิอันเป็นแดนเกิดแห่งกิเลสกาม และวัตถุกาม แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ประพฤติเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ ปราศจากโทษร้ายภัยพิบัติ กามาวจรโสภณจิตนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า

คาถาสังคหะ
เวทนาญาณสังขาร เภเทน จตุวีสติ สเหตุกามาวจร ปุญฺญปากกริยา มตาฯ
แปลว่า “จิต ๒๔ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่ง เวทนา ญาณ และสังขารเรียกว่า สเหตุกกามาวจรกุศลจิต สเหตุกกามาวจรวิบากจิต และ สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต”

อธิบาย
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เหตุที่ประกอบกับจิตนี้ เป็นฝ่ายโสภณเหตุหรือเหตุบุญ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ตามสมควร จิตที่มีเหตุต่างๆ ประกอบนี้ เรียกว่า “สเหตุกจิต” ในกามาวจรโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวงนี้ มีเหตุประกอบทุกดวง จึงชื่อว่าเป็นสเหตุกจิตทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยออกไปเป็น ๓ ประเภทแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอาคำ “สเหตุก” นำหน้าอีก คงใช้แต่ กามาวจรกุศล กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิตเท่านั้น

แสดงการจําแนกกามาวจรโสภณจิต ๓ ประเภท
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

  • กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
  • กามาวจรวิบากจิต ๘ ดวง
  • กามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง

กามาวจรกุศลจิต กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิต ทั้ง ๓ ประเภทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหากุศลจิต มหาวิบากจิต และมหากิริยาจิต

อรรถแห่งกุศล
กุจฺฉิเต ปาปธมฺเม สลยติ กมุเปติ วิทฺธํเสตีติ = กุสลํ
แปลว่า ธรรมชาติใด ย่อมทำให้หวั่นไหว หรือย่อมทำลายซึ่งบาปธรรม อันบัณฑิตทั้งหลายจึงเกลียด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า กุศล

คำว่า “กุศล” หมายถึง กุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ปราศจากความเศร้าหมองเร่าร้อนไม่มีโทษ และให้ผลเป็นความสุขมีความหมายอยู่ ๕ ประการ คือ

๑.อโรคยตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสราคะ เป็นต้น เสียดแทงจิตใจและร่างกาย ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เหล่านี้ ชื่อว่า “โรค” เพราะเสียดแทงประทุษร้ายจิตใจและร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย
๒. สุนทรตฺก มีอรรถว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายได้
๓. เฉกตฺถ มีอรรถว่า เป็นสิ่งฉลาดเรียบร้อย คือ เมื่อเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศลจึงมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม
๔. อนวชฺชตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโทษอันใดจะพึงติเตียนได้
๕. สุขวิปากตฺถ มีอรรถว่า ให้ผลเป็นความสุขสมปรารถนา

อรรถแห่งบุญ
อตฺตโน สนฺตานํ ปุนาติ โสเธตีติ = ปุญฺญํ
แปลว่า การกระทำใด ย่อมชำระสันดานของตนให้ขาวสะอาด ฉะนั้นการกระทำนั้น ชื่อว่า บุญ

อโสภณจิต กับ โสภณจิต

จำนวนจิตทั้งหมดนับโดยย่อ ๘๙ หรือนับโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยความเป็นอโสภณจิต และ โสภณจิตแล้ว ได้อโสภณจิต ๓๐ ดวง และ โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

แสดงการจำแนกจิตโดย อโสภณะ และโสภณะ

จิต ๘๙, ๑๒๑ 

อโสภณจิต ๓๐ ดวง (จิตที่ไม่ดีงาม)
  • อกุศลจิต
    • โลภมูลจิต ๘
    • โทสมูลจิต ๒
    • โมหมูลจิต ๒
  • อเหตุกจิต
    • อกุศลวิบากจิต ๗
    • อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘
    • อเหตุกกิริยาจิต ๓

โสภณจิต ๕๙, ๙๑ ดวง (จิตที่ดีงาม)

  • กามาวจรโสภณจิต
    • มหากุศลจิต ๘
    • มหาวิบากจิต ๘
    • มหากิริยาจิต ๘
  • รูปาวจรจิต
    • รูปาวจรกุศลจิต ๕
    • รูปาวจรวิบากจิต ๕
    • รูปาวจรกิริยาจิต ๕
  • อรูปาวจรจิต
    • อรูปาวจรกุศลจิต ๔
    • อรูปาวจรวิบากจิต ๔
    • อรูปาวจรกิริยาจิต ๔
  • โลกุตตรจิต
    • มัคคจิต
    • ผลจิต

อโสภณจิต หมายถึง จิตที่นอกจากโสภณจิต หรือหมายถึงจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกับโสภณเจตสิก, อโสภณจิตนี้ มีจำนวน ๓๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ และ อเหตุกจิต ๑๘ รวมอโสภณจิต ๓๐ ดังได้แสดงมาแล้ว ต่อไปนี้ จะได้แสดงถึงโสภณจิต ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า

คาถาสังคหะ

ปาปาเหตุกมุตตานิ        โสภณานีติ วุจฺจเร
เอกูนสฎฺฐี จิตฺตานิ        อเถกนวุตีปิ วาฯ

แปลความว่า จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิต และ อเหตุกจิต นั้นเรียกว่า “โสภณจิต” อธิบาย โสภณจิต เป็นจิตที่ดีงาม หรือเป็นจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน นับโดยย่อ ๕๙ ดวง หรือโดยพิสดาร ๙๑ ดวง เมื่อจำแนกจิตเหล่านี้โดยภูมิแล้วได้ ๔ ภูมิ


แสดงการจำแนกโสภณจิตโดยภูมิ

โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔
  • รูปาวจรจิต ๑๕
  • อรูปาวจรจิต ๑๒
  • โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ หรือในกามารมณ์นั้น มีทั้งอโสภณจิตและโสภณจิตฉะนั้น เมื่อจำแนกโสภณจิตโดยกามภูมิแล้ว จึงจำต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับให้ชัดเจน ส่วนในรูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ จิตจะเกิดขึ้นได้แต่โสภณจิตอย่างเดียวจึงไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับ เหมือนอย่างโสภณจิตที่เกิดในกามภูมิด้วย

ต่อไปจะได้แสดงโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงโดยลำดับ นับตั้งแต่กามาวจรโสภณจิต ๒๔ เป็นต้นไป

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า ๑)

คำว่า “อเหตุกะ” หมายถึง ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จึงหมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ตามธรรมดาจิตที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบุญ ก็เหตุบาป อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กุศลเหตุ อกุศลเหตุ

เหตุบาป หรือ อกุศลเหตุนั้น ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, และโมหเหตุ
เหตุบุญ หรือ กุศลเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

รวมเหตุบุญและเหตุบาปมีอยู่ด้วยกันเพียง ๖ เหตุนี้เท่านั้น ธรรมที่เป็นเหตุนี้เป็นเจตสิกธรรม ที่ประกอบกับจิต จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุดังกล่าวประกอบด้วยนั้น ชื่อว่า “สเหตุกจิต” แต่ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๖ เหตุดังกล่าวแล้วนั้นเลย จิตประเภทนี้แหละ ที่ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบุญและเหตุบาปประกอบด้วยเลย เหตุที่ประกอบนี้ มุ่งหมายถึง สัมปยุตเหตุ คือเหตุที่ประกอบกับจิตทันที แต่อุปัตติเหตุ คือเหตุที่ทำให้จิตแต่ละดวงปรากฏขึ้น เหล่านี้ย่อมมีอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุนี้ มีอยู่ ๑๘ ดวง แบ่งออกตามที่แสดงไว้ในคาถาสังคหะได้ ๓ จำพวก

คาถาสังคหะ

สตฺตากุศลปากานิ  ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กริยาจิตฺตานิ ตีณีติ  อฏฐารส อเหตุกา ฯ แปลความว่า อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวงนี้ เป็น "อเหตุกจิต"

🔆 แสดงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อกุศลวิปากจิต ๗ เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม หมายความว่า อกุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่อดีต ย่อมไม่สูญหายไปไหน จะคอยโอกาสเพื่อสนองให้ได้รับผลเป็นอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส รับ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ อันมีแต่จะเป็นผลให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน จิตที่รับรู้ผลของอกุศลกรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อกุศลวิปากจิต ซึ่งมีจำนวน๗ ดวง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หมายความว่ากุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายดี คือ บุญ ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ย่อมจะไม่สูญหายไปไหนเช่นเดียวกัน จะคอยโอกาสที่จะสนองให้ได้รับผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้ากุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมีกำลังอ่อน คือเป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร หรือกุศลชวนะดวงที่ ๑ ในปัจจุบันภพนี้ ย่อมจะมีกำลังในการให้ผลอ่อนเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ มีการเห็น ได้ยินได้กลิ่น รู้รสที่ดีๆ เป็นต้น ผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนนี้ ย่อมให้จิตรับรู้โดยความเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต คือเป็นจิตที่รับรู้ผลในทางที่มีอยู่ ๘ ดวง

อเหตุกกิริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมแต่อย่างใด และก็ไม่ใช่เป็นกุศลจิตด้วย หรืออกุศลจิตด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่เปิดทวารให้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ได้ผ่านเข้ามากระทบกับ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็นกิริยาของจิตที่จะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น จึงชื่อว่า เป็นอเหตุกกิริยาจิตมีจำนวน ๓ ดวง


ข้อควรสังเกต จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลวิปากจิต” แต่ส่วนจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เรียกว่า “อเหตุกกุศลวิปากจิต” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะอกุศลกรรมนั้น มีกำลังอ่อน ให้ผลแต่ในประเภทอเหตุกจิตประเภทเดียว ทั้งนี้เพราะอกุศลกรรมย่อมเกิดจากอกุศลจิต และอกุศลจิตทุกดวง สัมปยุตด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ทำให้จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคงทำให้อกุศลเจตนาที่ประกอบด้วยเหตุนั้นอ่อนกำลังลง และไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากชนิดที่ประกอบด้วยเหตุได้ฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม จึงมีแต่ประเภทอเหตุกจิตฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นประเภทสเหตุกจิต เหมือนอย่างผลของมหากุศล จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อเหตุกอกุศลวิปากจิต” คงเรียกแต่ “อกุศลวิปากจิต”เท่านั้น

ส่วนผลของกุศลกรรมนั้น ถ้ากุศลกรรมมีกำลังมาก ก็ให้ผลเป็นสเหตุกจิต คือ มีกุศลเหตุเข้าประกอบ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุสัมปยุตด้วย แต่ถ้ากุศลกรรมมีกำลังในการให้ผลน้อย เพราะกุศลมีอกุศลเป็นบริวารแล้ว ก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีกุศลสัมปยุตเหตุ ด้วยเหตุนี้ ผลของกุศลจึงมี ๒ ฝ่าย คือ สเหตุกกุศลวิปากจิต และอเหตุกกุศลวิปากจิต ฉะนั้น ผลของกุศลที่มีกำลังน้อย จึงต้องแยกเรียกเป็น“อเหตุกกุศลวิปากจิต”

กิริยาจิตก็มี ๒ ฝ่าย คล้ายกุศลวิปากจิต คือมีทั้งสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่กระทำการงานต่าง ๆ เป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่ามหากิริยาจิตมีจำนวน ๘ ดวง และอเหตุกิริยาจิต ซึ่งได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่การงานเปิดทวารรับกระทบอารมณ์ใหม่ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายมีจำนวน ๒ ดวง และจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” เกิดขึ้น เพราะประสบอนิฏฐารมณ์อีก ๑ ดวง จิตทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ ไม่มีสัมปยุตเหตุ จึงชื่อว่า “อเหตุกจิต” และสักแต่ว่ามีหน้าที่ในการกระทำกิจการงานจึงชื่อว่า “อเหตุกกิริยาจิต” ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดต่อไป


👉 อกุศลวิปากจิต ๗

อกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต มีจำนวน ๗ ดวง ได้แก่

๑. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม เห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดี
๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดี
๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้รสที่ไม่ดี
๕. ทุกขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญญาณ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศลกรรม ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สมปฏิจฉนจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆเป็นผลของอกุศลกรรม รับอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ) ที่ไม่ดี
๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สนุรณจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่ไม่ดี

ในอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการ คือ

        ๑. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนั้น มีชื่อเรียกต่างกัน คือ เรียกว่า “วิญญาณ” บ้าง เรียกว่า “จิต” บ้าง ที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้น ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา คือ เห็น
  • โสตวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยิน
  • ฆานวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่น
  • ชิวหาวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รส
  • กายวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้สัมผัสถูกต้อง

การบัญญัติชื่อเรียก จิต ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัย เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม ในที่นี้จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุทวาร ถ้าเรียกว่า จักขุจิต จะทำให้เข้าใจไปว่า “จักขุ” นั้นเป็น “จิต” แท้ที่จริงแล้วจักขุมีสภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่อาจรู้อารมณ์ได้ สภาพที่รู้อารมณ์ได้แก่วิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม แต่วิญญาณนี้อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” วิญญาณอื่นๆ มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกัน แต่ส่วนอกุศลวิปากจิตที่เหลืออีก ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนั้น เรียกว่า “จิต” ไม่เรียกว่า “วิญญาณ”

เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว จักขุวิญญาณ เป็นต้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัยทวารและวัตถุ ซึ่งเป็นชื่อของรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดไปว่า รูปธรรมนั้นเป็นจิตได้ ส่วนสัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนี้ บัญญัติโดยอาศัยกิจคือ หน้าที่การงานของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และจิตก็เป็นผู้กระทำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอาคำว่าวิญญาณมาซ้อนกับจิตอีกซึ่งเรียกชื่อโดยตรงว่า “สัมปฏิจฉนจิต” เป็นจิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์โดยตรง และ “สันตีรณจิต” ก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญจารมณ์โดยตรง

        ๒. เวทนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลวิปากจิตนั้น มี ๒ เวทนา คือ อุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉนจิตและสันตีรณจิต จิตทั้ง ๖ นี้ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือความเฉยๆ ไม่รู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูป กับ อุปาทายรูป คือ รูปารมณ์ กับ จักขุปสาท เป็นต้น อุปมาเหมือนสำลีกระทบกับสำลีย่อมมีกำลังแห่งการกระทบกันน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขนาดเป็นทุกข์ เป็นสุขขึ้นมาได้ ส่วนกายวิญญาณนั้น จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายอกุศลวิบากกายวิญญาณจิตย่อมเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป คือ ปถวี เตโช วาโย ธาตุ (เว้นอาโป คือ ธาตุน้ำ) กับอุปาทายรูป (กายปสาท) อุปมาเหมือนเอาฆ้อนทุบสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังในการกระทบกันแรง จึงก่อให้เกิดทุกขเวทนาปรากฏขึ้นได้


👉 อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘

อเหตุกกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือจิตที่เกิดจากอำนาจของกุศลเจตนาในมหากุศลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่เพราะความบกพร่องแห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ เจตนาก่อนการกระทำกุศลกรรม เจตนาขณะกำลังกระทำกุศลกรรม และเจตนาภายหลังที่ได้กระทำกุศลกรรมนั้นแล้ว กาลใดกาลหนึ่งจึงทำให้ผลแห่งกุศลเจตนานั้น มีกำลังอ่อน และให้ผลเป็นอเหตุกะ คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบในฐานะเป็นสัมปยุตเหตุ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ จึงปรากฏขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต มีจำนวน ๘ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดีๆ
๒. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี
๓. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี
๔. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี
๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมกับสุขเวทนาเป็นผลของกุศล ได้สัมผัสสิ่งที่ดี
๖. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สมปฏิจฉนจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๗. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สนุรณจิตตํ จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนุตีรณจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีเป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวงนี้ เป็นสภาพจิตที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารทำนองเดียวกับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่ว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนี้ เป็นผลในทางดีที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัสแต่ที่ดีๆ ซึ่งเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับอกุศลวิปากจิต เป็นที่น่าสังเกตว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนั้น มีจำนวน ๘ ดวง ซึ่งมีมากกว่าอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิต ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสันตีรณจิต เป็นจิตที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอารมณ์ และอารมณ์ทางฝ่ายกุศลวิปากจิตนั้นจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างธรรมดาอย่างหนึ่ง
  • อติอิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
กุศลวิบากสันตีรณจิตนั้นเมื่อเวลาได้รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา กุศลวิบากสันตีรณจิตนี้ จึงชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต << ขยายความ เช่น ท่านได้ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทุกวัน ๆ  อาหารเป็นกุศลวิบากที่ท่านได้รับ แต่อารมณ์ที่ได้ลิ้มรสอาหารมันก็ธรรมดาๆ เหมือนๆเ ดิม อารมณ์ในการกินอาหารจึงเป็นได้แค่อิฎมัชฌัตตารมณ์ แต่ถ้าวันไหนมื้อเช้าเปลี่ยนจากข้าวต้ม เป็นอาหารเริสรสอย่างอื่น เป็นเป็ดย่าง ขาหมูรมควัน อารมณ์ท่านก็จะดียิ่งขึ้น มีความโสมนัส ความพอใจยิ่งๆกว่าเก่า เกิดขึ้น อารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นโสมนัสนี้ก็เรียกว่า อติอิฎฐารมณ์ >> เมื่อเวลาได้รับอติอิฏฐารมณ์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา กุศลวิบากชนิดนี้ จึงชื่อว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

แต่ส่วนอกุศลวิบากสันตีรณจิตนั้น เมื่อเวลาได้รับอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างธรรมดา หรือได้รับอติอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ไม่อาจเกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเฉพาะทางใจ) ได้เพราะโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ) นั้น จะต้องประกอบกับโทสมูลจิตเท่านั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าโทสมูลจิตนี้ เมื่อว่าโดยชาติตระกูลของจิตแล้วก็เป็นอกุศลชาติ และเมื่อว่าโดยเหตุแล้ว ก็เป็นอกุศลเหตุ คือ โทสะเหตุ แต่สันตีรณจิตนั้น ย่อมเป็นจิตที่เป็นวิปากชาติอย่างเดียว คือ เป็นจิตชนิดที่เป็นผล ไม่ใช่ชนิดที่เป็นเหตุ และยังเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นอกุศลวิบากสันตีรณจิต ถึงแม้จะได้รับอารมณ์ชนิดที่เป็นอติอนิฏฐารมณ์ ก็เกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนาไม่ได้เลยต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อกุศลวิปากจิต จึงต้องมีเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าอเหตุกกุศลวิปากจิตอยู่ ๑ ดวง <<ตรงนี้ให้พิจารณา อกุศลวิบากสันตีรณจิตก็เป็นจิตดวงนึง โทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นจิตดวงนึง ตัวสันตีรณะ เป็นวิบากจิตก็จริง ตัวมันเองไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่ก็เป็นเหตุส่งต่ออารมณ์ให้จิตดวงต่อไปว่าจะเกิดเป็นโทสะ,โทมนัส หรือ มีปัญญาไต่สรวญอารมณ์ที่ไม่ดีให้ยุติที่อุเบกขาคือรู้ตามสภาพจริงว่ามันคืออกุศลวิบาก ข้อนี้พระพุทธองค์จึงกล่าวแยกจิตออกเป็น ๒ ดวง เพราะแม้แต่ผู้บรรลุอรหันตผลแล้วก็ยังต้องรับอกุศลวิบากอยู่ แต่การปรุงแต่งของจิตต่อจากนั้นไม่มีแล้ว คือก็สักแต่ว่ารับรู้จิตดวงที่เป็นอกุศลวิบากแต่จิตที่เป็นโทสะจะไม่เกิดขึ้นตาม โทสะมูลจิตไม่เกิดโทมนัสก็เกิดไม่ได้>>

อนึ่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ที่เป็นไปทั้งฝ่ายอกุศลวิบาก และ กุศลวิบากนั้น นิยมเรียกกันว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งหมายถึงจิต ๑๐ ดวง ที่อาศัยเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกายทั้งทางฝ่ายดี และไม่ดีเพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และเรียกชื่อจิตเหล่านั้นนั่นเอง

👉 หน้าต่อไป

วิกิ

ผลการค้นหา