ถุลลัจจัยจักพรรณนาในถุลลัจจยาบัติ ข้อหนึ่งภิกษุอย่าพึงสละ ข้อหนึ่งอย่าพึงแจก ครุภัณฑ์ที่เป็นของสงฆ์ถ้าสละ หรือแจกก็เป็นถุลลัจจัยด้วยพุทธบัญญัติห้ามไว้
ถุลลัจจัย ว่าด้วย ครุภัณฑ์ นั้นมี ๕ หมวด ดังนี้
หมวดที่ ๑ (๒ อย่าง)
สวนดอกไม้ลูกไม้ ๑
ที่ดินพื้นสวน ๑
หมวดที่ ๒ (๒ อย่าง)
วิหาร คือ กุฏิตึกเรือนที่อยู่ เป็นต้น ๑
ที่ดินพื้นแห่งวิหาร ๑
หมวดที่ ๓ (๔ อย่าง)
เตียง ๑
ตั้ง ๑
ฟูก ๑
หมอน ๑
หมวดที่ ๔ (๙ อย่าง)
หม้อทำด้วยโลหะ ๑
คะนนทำด้วยโลหะ ๑
กระปุกขวดทำด้วยโลหะโตจุของกว่า ๕ ทะนานมคธขึ้นไป ๑
กระถางกระทะทำด้วยโลหะ แม้เล็กจุน้ำได้ซองมือเดียว ๑
โลหะนั้นเป็นชื่อแห่งทองเหลือง ทองขาว ทองแดง ทองสัมฤทธิ์ ของหล่อ แลมีดใหญ่ที่ตัดฟันของใหญ่ พ้นจากตัดไม้สีฟัน แลปอกอ้อยขึ้นไปได้ ๑
ขวานเครื่องผ่าไม้ ๑
พึ่งเครื่องถากไม้ ๑
จอบเสียมเครื่องขุดดิน ๑
เหล็กหมาดบิดหล่า เครื่องเจาะไข ๑
หมวดที่ ๕ (๘ อย่าง)
เถาวัลย์ยาวแต่กิ่งแขนขึ้นไป ๑
ไม้ไผ่ยาว ๘ นิ้วขึ้นไป ๑
หญ้ามุงกระต่าย ๑
หญ้าปล้อง ๑
หญ้าต่าง ๆที่สำหรับมุงบังได้แต่กำมือหนึ่งขึ้นไป ๑
ดินปกติและดินที่สีต่าง ๆ เป็นเครื่องทา ๑
เครื่องใช้ทำด้วยไม้ต่างๆ ยาวแต่ ๙ นิ้วขึ้นไป ๑
เครื่องใช้ทำด้วยดินต่าง ๆ ๑
บรรจบเป็นของ ๒๕ สิ่ง สิ่งเหล่านี้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทายกถวายแก่สงฆ์ก็ดี เกิดในที่สงฆ์ก็ดี ชื่อว่าเป็นของสงฆ์ เป็นครุภัณฑ์ อันสงฆ์และคณะและบุคคลจะพึงสละและแจกไม่ได้ ถึงสละและแจกไป ก็ไม่เป็นอันสละและแจก คงเป็นของ ๆ สงฆ์อยู่อย่างเดิม ภิกษุได้สละหรือแจกของเหล่านี้ ด้วยถือตัวว่าเป็นใหญ่ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเสียสละหรือแจกด้วยไถยจิต ให้พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของนั้น ๆ
ครุภัณฑ์เหล่านี้กำหนดเห็นว่าทำอย่างนี้จะเป็นอุปการะแก่สงฆ์ เอาสิ่งที่เป็นของถาวรแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นของถาวรด้วยกันก็ดี เอาสิ่งนอกนั้นที่เป็นกัปปิยะแม้ที่ราคามากแลกเปลี่ยนของนอกนั้นด้วยกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนเป็นกัปปิยะก็ดีก็ควร หรือจะเสียสละครุภัณฑ์เหล่านั้นที่เป็นของเลวแล้ว แลกเปลี่ยนบิณฑบาตเป็นต้นเอามาบริโภค เพื่อจะรักษาเสนาสนะเป็นต้น ที่เป็นของดีในเวลาข้าวแพงเป็นต้นก็ควร ในครุภัณฑ์เหล่านี้ของสิ่งใด สิ่งหนึ่งมีไม้ไผ่เป็นต้น ภิกษุจะถือเอาเพื่อประโยชน์ตนพึงทำผาติกรรมใช้หนี้ตอบแทนให้เสมอกันหรือยิ่งกวาจึงถือเอาก็ควร
หม้อบาตรถ้วยขันทองห้า กาน้ำที่ไม่จุน้ำได้ ๕ ทะนานมคธก็ดี ไม้ด้ามหยอดตา กล้องยานัตถ์ ไม้ไขหู เข็มเย็บผ้า เข็มเย็บใบไม้ มีดพับ เหล็กแหลมเล็ก ๆ กุญแจดาล เป็นต้น เครื่องโลหะก็ดี เครื่องไม้ก็ดีที่ทำค้างอยู่ เหล่านี้ไม่เป็นครุภัณฑ์ เป็นของแจกได้ เถาวัลย์และไม้ เป็นต้น เมื่อทำการสงฆ์และการเจดีย์เสร็จแล้วเหลืออยู่จะน้อมเข้าไปในการบุคคลก็ควร ซึ่งว่ามานี้สังเขป ถ้าประสงค์จะรู้พิสดาร พึงดูในจตุตถสมันตปาสาทิกา เถิด ฯ
ถุลลัจจัย ว่าด้วย สัตถกรรม
ข้อหนึ่ง อย่าให้เขาทำสัตถกรรมในที่แคบ
ข้อหนึ่ง อย่าให้เขาทำสัตถกรรมในโอกาสที่เพียง ๒ นิ้ว แต่ที่ใกล้คือทวารหนัก ถ้าให้เขาทำ ต้องถุลลัจจัย สัตถกรรมนั้น คือตัดหรือผ่าหรือแทงหรือขีด ด้วยศัสตราหรือเข็มหรือหนามหรือกระเทาะศิลาหรือเล็บก็ดี อันใดอันหนึ่ง ในโอกาสที่กำหนดในทวารหนักนั้น อย่างนี้ชื่อว่าทำสัตถกรรมทั้งสิ้น เป็นถุลลัจจัย แล้วบีบหัวใส้ด้วยหนังหรือผ้าอันใดอันหนึ่ง ก็อย่าพึ่งทำด้วยอาการทั้งสิ้นนั้นชื่อว่า วัตถิกรรม ถ้าทำเป็นถุลลัจจัย
ก็แลว่าในโอกาสที่เพียง ๒ นิ้ว แต่ที่ใกล้ที่แคบ คือทวารหนักนั้น ห้ามแต่สัตถกรรมและวัตถิกรรมในที่แคบอย่างเดียว ก็แต่ว่าภิกษุจะหยอดน้ำแสบน้ำด่างในหัวใส้นั้น หรือจะเอาเชือกอันใดอันหนึ่งผูกรัดหัวไส้ ก็ควรอยู่ ถ้าหากว่าหัวไส้นั้นขาดออกมาด้วยน้ำแสบหรือเชือก ชื่อว่าขาดด้วยดี ไม่มีโทษ
จะทำสัตถกรรม ผ่าเจาะในอัณฑะที่บวมนั้นไม่ควรเพราะเหตุนั้นจะทำอัณฑะควักเอาพืชออกเสีย ด้วยคิดจะทำให้หายโรคเช่นนี้ อย่าพึงทำ ก็แต่จะรมจะย่างด้วยเพลิงแลทายาเหล่านี้ ไม่ห้าม ในทวารหนักจะเอากรวยใบไม้ หรือเกลียวชุด หรือกระบอกไม้ไผ่ที่ทายาสวม แล้วเอาน้ำด่างน้ำแสบหยอดลงในกรวย หรือเอาน้ำมันเทลงไปในกระบอกไม้ไผ่นั้น ให้ไหลเข้าไปในทวารหนักดังนี้ควรอยู่
ถุลลัจจัย ว่าด้วย สจิตตกะและอจิตตกะ
๔ สิกขาบทนี้เป็นสจิตตกะ ไม่รู้ ไม่เป็นอาบัติ
ข้อหนึ่งภิกษุอย่าพึ่งฉันเนื้อมนุษย์ ถ้าฉันเป็นถุลลัจจัย ด้วยทรงห้ามไว้ ใช่แต่เนื้ออย่างเดียว แม้กระดูกและเลือด หนังแลขนก็ไม่ควร สิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะรู้ไม่รู้ก็เป็นอาบัติ
อนึ่ง ถุลลัจจยาบัติมีมาก ไม่ได้ขึ้นสู่ปาฏิโมกขุเทศว่าโดยอาคัฏฐานที่มามี ๓ สถาน คือ
มาในขันธกะแห่ง ๑ เรียกชื่อว่าขันธกถุลลัจจัย
มาในวินีตวัตถุแห่งปาราชิกแลสังฆาทิเสสแห่ง ๑ เรียกชื่อว่า วินีตวัตถุถุลลัจจัย
มาในวิภังค์แห่งปาราชิกแลสังฆาทิเสสแห่ง ๑ เรียกชื่อว่าวิภังคถุลลัจจัย
เพราะเหตุนั้นบัญญัติแห่งถุลลัจจยาบัติจึงมีมาก ไม่มีกำหนด
ขันธกถุลลัจจัยนั้น ดังนี้
ภิกษุอย่าพึ่งถือ🔎ติตถิยวัตร(๘๔) เปลือยกายไม่นุ่งห่มถ้าภิกษุใดปฏิบัติดังนี้ต้องถุลลัจจัย
ภิกษุอย่าทรงผ้าคากรอง อย่าทรงผ้าที่เขากรองถักด้วยเปลือกไม้ อย่าทรงผ้าที่เขาทำด้วยกระดาน อย่าทรงผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์ อย่าทรงผ้าทำด้วยปีกนกเค้า อย่าทรงหนังเสือ อย่าทรงผ้าทำด้วยปอ ผ้าเหล่านี้เป็นธงแห่งติตถิยะ ภิกษุใดทรงผ้าเหล่านี้ ต้องถุลลัจจัย
ข้อหนึ่งภิกษุอย่าพึ่งต้ององคชาตนิมิตแห่งเดรัจฉานตัวเมีย ด้วยจิตกำหนด ถ้าถูกต้องเป็นถุลลัจจัย
ข้อหนึ่งวันอุโบสถหรือวันปวารณา ภิกษุเจ้าอาวาสตั้งแต่ ๔ หรือ ๕ ขึ้นไป รู้อยู่ว่าภิกษุเจ้าอาวาสด้วยกันหรือภิกษุเป็นอาคันตุกะอื่น อยู่ในสีมาอันเดียวกันมีอยู่แต่ยังไม่มาสู่โรงอุโบสถโรงปวารณา เข้าหัตถบาสแกล้งจะให้เธอเหล่านั้นฉิบหาย หรือด่วนทำอุโบสถหรือปวารณาเสียก่อน ต้องถุลลัจจัย เหล่านี้ก็ดี ถุลลัจจัย ๔ ข้อก่อนก็ดี เป็นขันธกถุลลัจจัย
วินิตวัตถุถุลลัจจัย มีดังนี้
ภิกษุหนึ่งปรารถนาจะให้อสุจิเคลื่อนเดินทางไป อสุจิไม่เคลื่อน ต้องถุลลัจจัย
อนึ่งภิกษุเคล้าคลึงหญิงที่ตายแล้ว ต้องถุลลัจจัย ๆ อย่างนี้ชื่อ วินิตวัตถุถุลลัจจัย
วิภังคถุลลัจจัยนั้นมีหลายอย่าง
คือ เป็นอนุสาวนถุลลัจจัยบ้าง วิมติถุลลัจจัยบ้าง ยถาสัญญาถุลลัจจัยบ้าง ยถาเขตตถุลลัจจัยบ้าง ยถาวัตถุถุลลัจจัยบ้าง ยถาปโยคถุลลัจจัยบ้าง ยถาวัชชถุลลัจจัยบ้าง อนุสาวนถุลลัจจัยนั้น ดังอาบัติถุลลัจจัย เพราะสงฆ์ทำสมนุภาสนกรรม ๔ อย่าง หรือ ๘ อย่าง อันใดอันหนึ่งแก่ภิกษุหรือภิกษุณี เพื่อจะให้ละกรรมนั้น ๆ เสีย แลเธอไม่ละเสียจบอนุสาวนาที่ ๑ ที่ ๒ ลง ต้องถุลลัจจัย ๆ อย่างนี้ชื่อว่า อนุสาวนถุลลัจจัย ๆ นี้ เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ นี้ ต้องครุกาบัติ แล้วรำงับไปเอง ไม่ต้องแสดง
หญิง...ภิกษุสงสัยอยู่ว่าหญิงหรือมิใช่ แลกำหนัดยินดีถูกต้องกายหญิงนั้นด้วยกายตน ต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยดังนี้ชื่อว่าวิมติถุลลัจจัย เพราะต้องด้วยความสงสัย
หญิง....ภิกษุสำคัญว่าเป็น 🔎บัณเฑาะก์(๘๕) กำหนัดยินดีถูกต้องกายหญิงนั้นด้วยกายตน ต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยดังนี้ชื่อว่า ยถาสัญญาถุลลัจจัย เพราะเป็นอาบัติตามสัญญาความสำคัญ
ภิกษุมีความกำหนัด สรรเสริญหรือติเตียนอวัยวะหญิงเบื้องบนแต่รากขวัญลงไป เบื้องต่ำแต่เข่าขึ้นมา ยกทวารหนักทวารเบาเสีย ต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยดังนี้ชื่อว่า ยถาเขตตถุลลัจจัย เพราะเป็นอาบัติตามเขต
ภิกษุจับต้องกายบัณเฑาะก์ด้วยกายตน ด้วยความกำหนัด ต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยดังนี้ชื่อว่า ยถาวัตถุถุลลัจจัย เพราะเป็นอาบัติตามวัตถุ
ภิกษุมีไถยจิตจะพาทาสเขาหนี ชวนก็ดี หรือไม่ก็ดีให้ทาสนั้นยกเท้าที่แรกก้าวไป ต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยข้อนี้ชื่อว่า ยถาปโยคถุลลัจจัย เพราะเป็นอาบัติตามประโยค
ภิกษุเฉพาะตนเอง แลอ้างเอาผู้อื่นเป็นปริยาย อวดอ้างอุตตริมนุสสธรรมว่า ผู้ใดอยู่ในวิหารของท่านผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ ดังนี้เป็นต้น ผู้ฟังรู้ความในขณะนั้น เธอนั้นต้องถุลลัจจัย ถุลลัจจัยดังนี้ชื่อว่า ยถาวัชชถุลลัจจัย เพราะเป็นอาบัติตามโทษ
เพราะอาบัติถุลลัจจัยมีมากต่าง ๆ อย่างนี้ จึงไม่มีกำหนดดังปาราชิกแลสังฆาทิเสสเป็นต้น ฯ
จบถุลลัจจัยแต่เท่านี้
สมณวิสัย