๔.๑ อกุศลกรรม

อกุศลกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่อยู่ในอกุศลจิต ๑๒ กรรมจะสำเร็ได้ ๓ ทวาร คือ 
  • กายทวาร 
  • วจีทวาร 
  • มโนทวาร 
เจตนาเจตสิกที่ประกอบใน อกุศลจิต ๑๒ เป็นเจตนาตั้งใจในการทำความชั่ว หนทางแห่งความชั่วได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ คำว่า “ อกุศลกรรมบถ” หมายความว่าเป็นกรรมด้วย เป็นหนทางไปสู่อบายด้วย ฉะนั้น กรรมทั้งหลายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เป็นหนทางไปสู่ทุคติ จึงเรียกว่าอกุศลกรรมบถ ในกรรมบถ ๒ ฝ่าย คือกุศลและอกุศล อกุศลเป็นของ หยาบเห็นได้ง่าย และเมื่อเข้าใจฝ่ายอกุศลได้ดีแล้วก็จะเข้าใจฝ่ายกุศลได้ดีตามไปด้วย จึงแสดงฝ่ายอกุศลกรรมบถก่อนกุศลกรรมบถ

อกุศลกรรมบถ ๑๐

กายทุจริต ๓ ได้แก่ 

๑. ปาณาติบาต คือ การ ฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน คือ การลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม

วจีทุจริต ๔ ได้แก่
๔. มุสาวาท คือ การพูดเท็จ
๕. ปิสุณวาจา คือ การพูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ

มโนทุจริต ๓ ได้แก่
๘. อภิชฌา คือ การเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น
๙. พยาบาท คือ การปองร้าย
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด



๓.๔ อโหสิกรรม

อโหสิกรรมนี้ไม่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะ แต่จะหมายเอาเจตนาที่เกิดขึ้นกับจิตทุกดวงใน ชวน จิตทั้ง ๗ ดวง เมื่อล่วงเลยเวลาที่จะส่งผลไปแล้วและยังไม่ได้ส่งผลเลย ก็แสดงว่ากรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผลอีก ต่อไป จึงเรียกว่า อโหสิกรรม

ตัวอย่างเช่น นายทองแก้วระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้สร้างกรรม ๓ อย่าง คือ ให้ทานแก่ผู้มีศีล รักษา อุโบสถศีลทุกวันพระ และในตอนเป็นเด็กเคยฆ่าปลา ในชาตินี้กรรมที่เคยรักษาอุโบสถศีลได้มีโอกาสส่งผลทำหน้าที่ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมอีกสองอย่าง คือ การให้ทานและการฆ่าปลานั้นไม่มีโอกาสส่งผลในชาตินี้ กรรมทั้งสองอย่างนี้แหละที่ไม่มีโอกาสส่งผลเป็น🔎ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมในชาตินี้และหมดโอกาสส่งผลแล้ว จัดเป็นอโหสิกรรม ชีวิตของบุคคลที่เกิดมา หนีกรรมไม่พ้น ทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมใหม่ก็ทำตลอดเวลาทั้งทางกาย วาจาและใจ โดยเฉพาะกรรมใหม่ที่ทำนั้นถ้าเป็นอกุศลจะแก้ไขอย่างไรที่จะให้อกุศลกรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม หรือทำกุศลมากมายแต่กุศลนั้นไม่ให้ผล แล้วจะทำอย่างไรกุศลนั้นจึงจะส่งผลได้ เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่ากรรมจะสำเร็จได้ด้วยเจตนาของผู้ทำ บางครั้งทำกุศลอย่างที่เห็นเขาทำก็ทำบ้าง ทำด้วยความไม่ ตั้งใจ กุศลอย่างนี้ไม่มีกำลัง อินทรีย์ไม่เข้มแข็ง ถ้าจะให้กุศลที่ทำมีกำลัง ผู้ทำจะต้องประกอบด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ ที่มีกำลัง


อินทรีย์ ๕ อย่าง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อพิจารณาแล้วก็เหมือนไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างจึงทำได้สำเร็จ อินทรีย์คือ กำลัง การประกอบกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ ถ้าจะให้สำเร็จได้โดยไม่ย่อท้อ ทำได้อย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไม่ขาดสาย บุคคลผู้นั้นต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว ความมีกำลังในการเพียรสร้างกุศลความดี เพราะว่าถ้าขาดกำลังในการกระทำแล้วกุศลนั้นๆ อาจอ่อนกำลังลง อาจสำเร็จไม่สมดังที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก หรือไม่สามารถจะกระทำกุศลนั้นได้อีกต่อไป เพราะขาดกำลังคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไปเสียแล้ว

เมื่ออินทรีย์ ๕ คือ ความเป็นใหญ่ในแต่ละทางเกิดขึ้นได้ ก็จะเกิดเป็นกำลังในการขับเคลื่อนให้การทำกุศลนั้นเป็นไปได้อย่างเต็มกำลัง กำลังหรือพลังนี้ก็คือ พละ โดยเฉพาะพลังใจต้องทำให้เกิดขึ้น และ ที่สำคัญ คือจะต้องเพิ่มพูนอยู่เสมอ ในพละทั้ง ๕ คือ

  • ๑. สัทธาพละ คือ ความเชื่อ บุคคลควรจะต้องปลูกความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้มั่นคง ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญาความรู้ เช่น มีความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกรรม เชื่อโลกนี้ โลกหน้า เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อผลของกรรมดีกรรมชั่ว
  • ๒. วิริยพละ คือ ความเพียร ความบากบั่น เพราะว่าการทำความดีถ้าไม่มีความเพียร ก็ทำไม่สำเร็จ และความเพียรที่ทำความดีให้สำเร็จนั้นต้องเป็นชนิด “ทำความดีเพื่อความดี” ไม่ใช่ทำความดีเพื่อลาภสักการะ สรรเสริญ หรือความสุข ต้องมุ่งมั่นทำความดีเพื่อผลของความดี 
  • ๓ . สติพละ คือ ความระลึกได้อยู่เสมอ สติจะต้องระลึกในสติปัฏฐาน ถ้านอกจากสติปัฏฐานแล้ว ก็ ควรระลึกคือพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่างคนมีสติไม่ใช่มองอย่างคนมีโมหะ สติจะสกัดกั้นความยินดีความยินร้ายไม่ให้เข้าครอบงำใจได้ เช่น โดยปกติของปุถุชนเมื่อพบหรือได้รับอารมณ์ที่ดี ก็จะเกิดความรู้สึกพอใจ มีความรักในสิ่งนั้น แต่ถ้ามีสติกำกับอยู่ในขณะรับอารมณ์แล้ว ความชอบใจก็จะไม่มีในขณะนั้น ทำให้ลดละความเพลิดเพลินยินดีลงไปได้ ความเพลิดเพลินยินดีในอารมณ์ก็เป็นสาเหตุให้บุคคลหลงลืมสติ 
  • ๔. สมาธิพละ คือ ความตั้งใจที่มั่นคง ความมั่นคงในการทำกิจการทั้งปวง การทำความดีต้องมีสมาธิ คือมีความมั่นใจใน ตัวเองว่าจะทำความดีต่อไปโดยไม่หวั่นไหว 
  • ๕. ปัญญาพละ คือ ความรอบรู้ ความรู้เท่าทัน ความเข้าใจในสิ่งที่กระทำ ไม่ใช่ทำด้วยความไม่รู้ แต่ทำด้วยความรู้คือทำด้วยปัญญา 
เมื่อผู้ใดทำให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างดังที่กล่าวมานี้ ทำได้อย่างครบถ้วน อย่างแก่กล้า แล้ว ก็อาจทำให้ผู้นั้นได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วคุณสมบัติ ๕ อย่าง ในภพต่อ ๆ ไปได้ทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้อกุศล🔎อปราปริยเวทนียกรรมนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะส่งผลได้ กลายเป็นอโหสิกรรมไป ส่วนอกุศลกรรมนั้น บางคนทำอกุศลตามๆ แบบเขาชวนทำก็ทำ ชวนไปกินสุรายาเมา ชวนไปเที่ยวรื่นเริง ก็ทำตามๆ เขาไป เพราะมีโมหะ ไม่มีปัญญา มีแต่ความหลง ทำโดยไม่ได้ตั้งใจทำ อกุศลกรรมเหล่านี้ก็มีกำลังอ่อน การจะแก้ไขเพื่อให้เป็นอโหสิกรรม ก็ต้องแก้ไขด้วยการสร้างกุศล เช่น ศึกษาธรรมะ เรียนให้รู้เรื่อง พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และไม่นึกถึงอกุศลกรรมเก่าๆ นั้น เพียรสร้างความดีละความชั่วคือบาปอกุศลทั้งมวล

🔎อกุศลอปราปริยเวทนียกรรม จะเป็นอโหสิกรรมได้นั้น เราต้องพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ 
  • ๑. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ที่ได้ทำบุญกุศลไว้ในกาลก่อน จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ และจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้น ต่อไปอีกด้วย หมายความว่าชาตินี้ก็ต้องทำบุญ สั่งสมบุญ
  • ๒. ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นฐานหรือประเทศที่สมควร อยู่ในถิ่นฐานที่มีพุทธศาสนา มีคนเป็น นักปราชญ์ มีศีลธรรม
  • ๓. สัปปุริสูปัสสยะ ต้องสมาคมกับสัตบุรุษ คบคนดี สัตบุรุษคือคนดี คนดีคือคนที่มีศีลธรรม อย่าไปคบค้า สมาคมกับคนอันธพาล คนเลว
  • ๔. สัทธัมมัสสวนะ ต้องหมั่นฟังธรรม ศึกษาธรรมอยู่เสมอ เพื่อจะได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้า แล้วก็นำคำสอนนั้นมาใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต
  • ๕. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนของเราไว้ในทางที่ชอบ ไม่ตั้งตนไว้ในทางที่ผิด
คุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ควรปลูกฝังไว้ในชาตินี้ อกุศลกรรมที่เคยทำไว้ก็อาจจะไม่มีโอกาสที่จะส่งผล และคุณธรรมทั้ง ๕ นี้ ย่อมทำให้มีเสบียงบุญหนุนนำสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ในอัตภาพ สมบูรณ์ในภพชาติ และเสบียงนี้จะเป็นประโยชน์นำส่งไปจนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน


๓.๓ อปราปริยเวทนียกรรม

อปราปริยเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผลในภพอื่นๆ คำว่า ภพอื่นๆ คือภพที่นอกจากภพนี้ และภพหน้า ฉะนั้นภพอื่นๆ จึงหมายถึงตั้งแต่ภพที่ ๓ เป็นต้นไป การทำกุศลหรืออกุศลเมื่อสำเร็จแล้ว ถ้าไม่ส่งผลในภพที่ ๒ ที่เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ก็จะส่งผลเป็น อปราปริยเวทนียกรรม คือจะต้องได้รับผลในภพต่อๆ ไปอาจจะเป็นภพที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๐ ถึงจะได้รับก็ได้ไม่จำกัด จนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน

ในนิบาตชาดกได้แสดงไว้หลายเรื่องที่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ตายตัวหนึ่ง เมื่อตายจากโลกนี้ ไปแล้วก็ไปเกิดในนรก และเมื่อพ้นกรรมจากนรกไปเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ถูกฆ่าตายเรื่อยๆไป ด้วย อำนาจแห่งอปราปริยเวทนียกรรม คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ มีเรื่องโดยสรุปดังนี้

เรื่องที่ ๑
ภิกษุหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เชตวัน เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านเลื่อมใสนิมนต์ให้ฉัน ก่อนฉันภิกษุผู้เป็นหัวหน้าได้แสดงธรรมให้ฟังก่อนเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาของทายกผู้ถวาย ขณะที่ชาวบ้านนั่งฟังธรรมอยู่นั่นเอง ไฟจากเตาไฟลุกขึ้นติดชายคาทำให้เสวียนหญ้า(ขดหญ้าที่ทำไว้เพื่อรอง หม้อที่เพิ่งยกขึ้นจากเตา) อันหนึ่งถูกไฟไหม้และลมพัดปลิวขึ้นจากชายคาลอยอยู่ในอากาศ ขณะนั้น กาตัวหนึ่งบินมาสอดคอเข้าไปในเสวียนหญ้า เกลียวหญ้าพันคอไหม้ กาตกลงมาตายกลางบ้าน ภิกษุทั้งหลายเห็นเช่นนั้นแล้วคิดว่า “กรรมนี้หนักหนอ เว้นพระศาสดาเสียใครเล่าจักรู้กรรมที่กาได้กระทำแล้ว เราจักทูลถามพระศาสดา” เมื่อลาชาวบ้านจึงมุ่งหน้าเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา

เรื่องที่ ๒
ภิกษุอีกพวกหนึ่งต้องการไปเฝ้าพระศาสดาที่เชตวันเหมือนกัน โดยสารเรือไป เรือหยุดนิ่งในมหาสมุทร คนในเรือปรึกษากันว่าคงจะมีคนกาลกิณี (คนชั่ว) อยู่ในเรือนี้จึงจับสลากกัน สลากไปตกอยู่ที่ภรรยา นายเรือซึ่งยังสาวสวยและอายุยังน้อย คนทั้งหลายต้องการเอาใจนายเรือจึงให้จับสลากใหม่ สลากไปตกแก่ภรรยาในเรือถึง ๓ ครั้ง พวกลูกเรือและคนโดยสารมองหน้านายเรือเหมือนจะถามว่า “จะทำอย่างไรกัน? ” นายเรือตรองแล้ว จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจให้คนทั้งปวงพินาศลงเพราะคนๆ เดียว ข้าพเจ้าจะสละหญิงนี้ ขอท่านทั้งหลายจงทิ้งเธอลงในมหาสมุทรเสียเถิด” คนทั้งหลายจับหญิงนั้นเพื่อโยนลงน้ำ หญิงนั้นก็ร้องขอความช่วยเหลือ นายเรือจึงสั่งลูกเรือว่า “จงเปลื้องอาภรณ์ของเธอออกเสียก่อน ใส่ไว้ก็ไม่มีประโยชน์ เอาผ้าเก่าๆ ให้เธอนุ่ง และที่สำคัญคือเราไม่อาจเห็น ความทรมานของเธอบนผิวน้ำได้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเอาหม้อบรรจุทรายผู้เชือกแล้วผูกติดกับคอของเธอ เพื่อให้จมลงไปเร็วๆ” ลูกเรือก็จัดการตามนั้น นางนั้นได้กลายเป็นเหยื่อของปลา แล้วเรือก็แล่นไปได้อย่างปกติ ภิกษุทั้งหลายเห็นเรื่องนี้แล้วคิดว่ายกเว้นพระศาสดาเสียใครเล่าจักรู้อดีตกรรมของหญิงนี้ เราจักทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา

เรื่องที่ ๓
ภิกษุอีก ๗ รูปเดินทางจากชนบทมุ่งหน้าไปเฝ้าพระศาสดาที่เชตวัน ระหว่างเดินทางมาค่ำลง ณ ที่แห่งหนึ่ง เข้าไปขออาศัยวัดแห่งหนึ่งพักนอน ใกล้วัดมีถ้ำ ในถ้ำมีเตียง ๗ เตียง ภิกษุเจ้าของถิ่นจึงจัดให้ภิกษุพักในถ้ำนั้น ตอนกลางคืนหินก้อนใหญ่กลิ้งลงมาปิดปากถ้ำ ภิกษุเหล่านั้นออกไม่ได้ พวกภิกษุเจ้าของ ถิ่นช่วยกันผลักก็ไม่ออก ประกาศให้ชาวบ้านถึง ๗ ตำบลรอบๆ นั้นมาช่วยกันผลักก็ไม่ออก ภิกษุ ๗ รูปนั้นติดอยู่ในถ้ำ ๗ วัน อดข้าวอดน้ำได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าเกือบจะสิ้นชีวิต พอถึงวันที่ ๗ หินก้อนนั้นก็เคลื่อนออกไปพ้นจากปากถ้ำ พวกภิกษุออกจากถ้ำได้ คิดว่า “บาปกรรมของพวกเรานี้ เว้นพระศาสดาเสียแล้ว ใครเล่าจักรู้ พวกเราจักทูลถามพระศาสดา” แล้วมุ่งหน้าไปเมืองสาวัตถี

ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๓ พวก มาพบกันในระหว่างทาง รู้ว่ามีความประสงค์เหมือนกัน จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงข้อข้องใจของตนตามลำดับดังต่อไปนี้
  


๑. กรรมเก่าของกา พระศาสดาตรัสอดีตกรรมของกา มีเรื่องโดยสรุปดังนี้ ในอดีตกาลชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตนในเมืองพาราณสี แต่ไม่อาจฝึกได้ เพราะโคนั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็หยุด เมื่อเขาตีให้ลุกขึ้น มันเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็หยุดอีก เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด เขาโกรธมาก กล่าวว่า “ต่อไปนี้มึงจงนอนให้สบายเถอะ ” เขาได้เผาโคตัวนั้นทั้งเป็นโดยการนำหญ้ามาพันเป็นพวงมาลัยจุดไฟแล้วคล้องคอโค เขาตายจากชาตินั้นไปเกิดในนรกนาน พ้นจากนรกมาเกิดเป็นกา ถูกไฟคลอกตายมา ๗ ครั้งแล้ว ด้วยเศษกรรมที่เหลือ

๒. กรรมเก่าของภรรยานายเรือ พระศาสดาตรัสอดีตกรรมของภรรยานายเรือ มีเรื่องโดยสรุปดังนี้ ในอดีตกาล ภรรยานายเรือเป็นบุตรีของคหบดีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี นางทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง เช่น ตักน้ำ ซ้อมข้าว ปรุงอาหาร เป็นต้น นางเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง มันรักนางมาก นั่งดูนางทำงานต่างๆ อยู่ตลอดเวลาไม่เคยห่าง เมื่อนางนำอาหารไปให้สามีที่นา หรือไปเก็บผัก สุนัขนั้นจะตามไปด้วยทุกหนแห่ง จนพวกหนุ่มๆล้อกันว่า “แน่ะ พรานสุนัขออกแล้ว วันนี้พวกเราต้องได้กินข้าวกับเนื้อเป็นแน่” เป็นเช่นนี้หลายครั้งเข้า นางก็เกิดความอายเพราะคำพูดนั้น จึงเอาก้อนดินบ้าง ก้อนหินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ไล่ตี เพื่อต้องการให้สุนัขนั้นจากไปให้ได้ มันไปได้หน่อยหนึ่งก็หวนกลับมาหานางอีก นับถอยหลังจากชาติปัจจุบันไป ๓ ชาติ สุนัขนั้นเคยเป็นสามีของนาง มันจึงมีความรักในตัวนางมาก วันหนึ่งนางเอาอาหารไปให้สามีแล้วก็เอาเชือกไปด้วย เมื่อให้อาหารแก่สามีแล้ว เอากระออมเปล่าไปยังท่าน้ำแห่งหนึ่ง เอาทรายใส่จนเต็มแล้วเอาปลายเชือกผูกเข้ากับปากหม้อ แล้วเรียกสุนัขเข้ามาใกล้ มันดีใจว่านานเหลือเกินแล้วที่ไม่เคยได้ยินเสียงอันแสดงความปรานีอย่างนี้จากนายของมันเลย จึงกระดิกหางเข้าไปหาอย่างดีใจล้นเหลือ นางเอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกคอสุนัขแล้วผลักกระออมลงน้ำ สุนัขนั้นตายเพราะถูกถ่วงจมลงน้ำ ด้วยกรรมนี้นางตกนรกหมกไหม้ในนรกนาน ด้วยเศษกรรมที่เหลือจึงถูกถ่วงน้ำด้วยหม้อทรายมาถึง ร้อยชาติแล้ว

๓. กรรมเก่าของภิกษุ ๗ รูป ในอดีตกาลเด็กเลี้ยงโค ๗ คนในเมืองพาราณสี จะต้อนฝูงโคไปเลี้ยงในที่ต่างๆ ที่ละ ๗ วัน วันหนึ่งพวกเขาได้พบเหี้ยตัวหนึ่งจึงช่วยกันไล่เหี้ยวิ่งหนีเข้ารูในจอมปลวก ตอนนั้นเย็นมากแล้วต้องนำโคกลับ จึงปรึกษากันว่าพรุ่งนี้ค่อยมาจับ แล้วช่วยกันเอาใบไม้อุดรูทั้ง ๗ รู ของจอมปลวก วันรุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดที่จะต้องย้ายโคไปเลี้ยงที่อื่น พวกเด็กๆ ลืมเสียสนิทว่าได้ขังเหี้ยไว้ ตลอดเจ็ดวันพวกเด็กๆ ก็เลี้ยงโคในที่ใหม่ เมื่อครบ ๗ วันแล้ว จึงตอนฝูงโคย้อนไปที่เก่าอีก เพราะหญ้าที่เป็นอาหารโคในที่เก่านั้นก็งอกใหม่แล้ว เมื่อไปถึงจึงนึกได้ช่วยกันเอาใบไม้ออก เหี้ยอดอาหาร อดน้ำ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกคลานออกมา เด็กๆ รู้สึกสงสาร จึงไม่ได้ทำร้ายมัน ปล่อยมันไป เด็กพวกนั้นไม่ได้ไปตกในนรก เพราะมิได้ฆ่าเหี้ย แต่ได้ถูกขัง ครั้งละ ๗ วัน อดข้าวอดน้ำมา ๑๔ ชาติแล้ว เด็กเลี้ยงโค ๗ คนนั้น คือภิกษุ ๗ รูปที่มาติดอยู่ในถ้ำนั่นเอง ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระศาสดาว่า “สถานที่ๆพ้นจากกรรมไม่มีหรือ ” พระศาสดาตรัสเป็นพุทธภาษิตมีคำแปลว่า

"ไม่ว่าในกลางหาว หรือท่ามกลางมหาสมุทร 
หรือระหว่างภูเขา แผ่นดินที่มัจจุราชเอื้อมมือไปไม่ถึงนั้นมิได้มี"



๓.๒ อุปปัชชเวทนียกรรม

อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผล คือ นำไปเกิดในภพที่ ๒ เป็นภพที่ต่อจากปัจจุบันที่สิ้นชีวิตลง กรรมที่ทำให้สำเร็จประโยชน์ในภพที่ ๒ มีทั้งฝ่ายอกุศลและกุศล 



ฝ่ายอกุศลนั้นก็คือผู้ประกอบ
อนันตริยกรรมทั้ง ๕ ประการ ซึ่งเป็นกรรมหนักย่อมจะส่งผลในภพที่ ๒ คือเมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้ไป ย่อมส่งผลนำเกิดในอบายภูมิทันที

ฝ่ายกุศลก็ได้แก่
มหากุศล ๘ ที่จะทำหน้าที่ส่งผล คือนำไปเกิดในมนุษย์และเทวดา รูปาวจรกุศล และ อรูปาวจรกุศล จะทำหน้าที่ส่งผล คือนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ



อริยสัจ ๔



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔” 

ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เราเศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้.

ข้อนี้ เป็นธรรมที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ เราอาศัยซึ่งอะไรเล่า จึงกล่าวแล้วอย่างนี้ ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยซึ่งธาตุทั้งหลาย ๖ ประการ การก้าวลงสู่ครรภ์ ย่อมมี;
เมื่อการก้าวลงสู่ครรภ์ มีอยู่, นามรูป ย่อมมี;
เพราะ มีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมบัญญัติว่า “นี้ เป็นความทุกข์” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขสมุทัย” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธ”ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ดังนี้; แก่สัตว์ผู้สามารถเสวยเวทนาอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์,
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์,
แม้ความตายก็เป็นทุกข์,
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์,
การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ : กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; 
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป;
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกขสมุทยอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร ;
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ;
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ;
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ;
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
เพราะมีความดับแห่งภพจึงมีความดับแห่งชาติ;
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? 

มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔ ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมอง

ไม่ได้ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้ ดังนี้อันใด อันเรากล่าวแล้ว ; ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง ข้อความนี้, ดังนี้ แล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ

สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา
ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไรย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

- ฉบับหลวง ๒๐/๕๘/๒๗๕-๖.

๓.๑ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ได้นั้นต้องเป็นกรรมที่มีกำลังแรง ในการกระทำกรรมครั้งหนึ่งๆ วิถีจิตคือลำดับจิตที่เกิดขึ้นดับไปสืบต่อกัน ย่อมเกิดขึ้นมากมายหลายวิถี และในวิถีจิตหนึ่งๆ ก็มีชวนะจิตคือจิตที่เสพอารมณ์แล่นไปในอารมณ์ที่ปรารภจะทำกรรม

ชวนะมี ๗ ขณะ เจตนาในชวนะทั้ง ๗ นั้นเองส่งผล กล่าวคือ
ชวนะดวงที่ ๑ ส่งผลในชาตินี้ ชื่อว่า ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ส่งผลในชาตินี้ แบ่งออกได้ ๒ คือ 
๑. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ ภายใน ๗ วัน
ตัวอย่างฝ่ายกุศล เช่น นายมหาทุคตะได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง เป็นกุศลที่มีกำลังมากจึงส่งผลทำให้เป็นเศรษฐี ภายใน ๗ วัน หรือ นายปุณณะกับภรรยา ซึ่งเป็นคนยากจนได้ถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตรที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ก็ทำให้เป็นเศรษฐีภายใน ๗ วัน 

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล เช่น พระเทวทัตกระทำโลหิตุปบาทและทำสังฆเภท, นายนันทมานพ ที่ทำลายพระอุบลวรรณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ อกุศลกรรมหนักเช่นนี้ก็ส่งผลทำให้ถูกธรณีสูบลงไปสู่อเวจีมหานรก
๒. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้แต่หลัง ๗ วันไปแล้ว มี ๓ ประการ คือ 
๒.๑ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยเด็ก ส่งผลในวัยเด็ก วัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๒ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยกลางคน ส่ง ผลในวัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๓ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยชรา ส่งผลในวัยชรา 

เหตุที่จะทำให้ผลของทานกุศลปรากฏได้ในชาตินี้ มี ๔ คือ 
๑. วัตถุสัมปทา คือ ผู้รับต้องเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ 
๒. ปัจจยสัมปทา คือ ปัจจัยที่ทำกุศลได้มาด้วยความบริสุทธิ์ 
๓. เจตนาสัมปทา คือ มีเจตนาตั้งใจในการทำกุศลอย่างแรงกล้า 
๔. คุณาติเรกสัมปทา คือ พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้รับทานนั้นได้พร้อมด้วยคุณพิเศษ กล่าวคือ พึ่งออกจากนิโรธสมาบัติเมื่อครบด้วยองค์ทั้ง ๔ แล้ว ทานของผู้นั้นก็สำเร็จเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรมและให้ได้รับผลในชาติปัจจุบันทันที 

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมจะส่งผลในชาตินี้ จะต้องมีลักษณะ ๔ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง คือ 
๑. ไม่ถูกเบียดเบียนจากกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ ถ้าเป็นกุศลก็ต้องไม่ถูกเบียดเบียนจากอกุศล 
๒. ได้รับการเกื้อหนุนเป็นพิเศษทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ต้องได้รับการ เกื้อหนุนเป็นพิเศษ คือ

ก. ฝ่ายกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติสัมปัตติ ๔ คือ เกิดในสุคติภูมิ มนุษย์, เทวดา
ก. ฝ่ายอกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติวิปัตติ ๔ คือ เกิดในทุคติภูมิ

ข. กาลสัมปัตติ คือ เกิดในสมัยที่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฏฐิ 
ข. กาลวิปัตติ คือ เกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฏฐิ 

ค. อุปธิสัมปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะครบสมบรูณ์ 
ค. อุปธิวิปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะไม่ครบหรือบกพร่อง 

ง. ปโยคสัมปัตติ คือ เพียรประกอบแต่สุจริตกรรม 
ง. ปโยควิปัตติ คือเพียรประกอบในทางทุจริตกรรม
 
๓. มีเจตนาตั้งใจอย่างแรงกล้า การกระทำกรรมใดๆก่อนที่จะกระทำสำเร็จล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ต้องมีการพิจารณา ไตร่ตรองก่อน ถ้ามีเจตนาที่มีกำลังแรงกล้าอย่างมาก กุศลหรืออกุศลที่สำเร็จด้วยเจตนาที่แรงกล้านี้ ก็จะส่งผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันได้

๔. กระทำต่อผู้มีคุณพิเศษ การกระทำกรรมใดๆ เมื่อกระทำต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณพิเศษ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี เป็นต้น ฉะนั้นการบริจาคทานจึงต้อง ทำความเข้าใจว่าเราควรมีเจตนาตั้งใจในการทำทาน แต่ปฏิคาหก คือ ผู้รับทานนั้นอย่าได้ปรารภเลย ขอให้น้อมระลึกบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ น้อมระลึกอย่างนี้แล้วจึงให้ทาน ผลแห่งทานนั้นย่อมมีผลอย่างมากหรืออย่างสูงได้

ชวนะดวงที่ ๗ ส่งผลในชาติที่ ๒ ชื่อว่า อุปปัชชเวทนียกรรม 
ชวนะดวง ที่ ๒-๖ ส่งผลกรรมในชาติที่ ๓ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ชื่อว่า อปราปริยเวทนียกรรม 



๒.๔ กฏัตตากรรม

กฏัตตากรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้พอประมาณ พอประมาณในที่นี้หมายถึงไม่เท่าถึงกรรมทั้ง ๓ ข้อ ที่กล่าวมาแล้ว หรือหมายถึงกรรมในอดีตภพ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ทำกุศลหรืออกุศลโดยไม่มีความตั้งใจ คล้ายกับว่าไม่เต็มใจทำ ทำบุญกฐินผ้าป่าก็ ทำอย่างจำใจ บุญอย่างนี้เมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่เข้าข่ายครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม จึงกลายเป็นบุญ ชนิดกฏัตตากรรมไป

สรุป กรรมทั้ง ๔ อย่าง คือ ครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม จะส่งผลเรียงไปตามลำดับดังนี้ 
ลำดับที่ ๑ คือ ครุกกรรมจะส่งผลนำไปเกิด 
ลำดับที่ ๒ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรม อาสันนกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไป 
ลำดับที่ ๓ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรมและอาสันนกรรม อาจิณณกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไป
ลำดับที่ ๔ คือ ถ้าไม่มีกรรมทั้ง ๓ อย่างข้างต้น กฏัตตากรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไปได้เป็นลำดับสุดท้าย



๒.๓ อาจิณณกรรม

อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ เป็นกรรมที่บุคคลสั่งสมไว้บ่อยๆ ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘ อาจิณณกรรม ในบางแห่งเรียกว่า พาหุลกรรม แปลว่า กรรมที่ทำไว้มาก



กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ บ่อย ๆ คำว่าทำบ่อยๆ ไม่ใช่หมายถึงเพียงจะต้องทำทางกายตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นกรรมที่ทำครั้งเดียว แต่นึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมแล้ว เช่นเคยสร้างโบสถ์ ตลอดชีวิตอาจทำได้ครั้งเดียว แต่ว่านึกถึงบ่อยๆ ก็จัดเป็น อาจิณณกรรมฝ่ายกุศล เพราะนึกถึงครั้งใดจิตใจก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นอกุศลถึงแม้ทำครั้งเดียวแต่ ถ้ามีการนึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาลมีคนฆ่าหมูชื่อนายจุนทะ ฆ่าหมูทุกวัน เมื่อนายจุนทะใกล้ตาย เขาร้องเป็นเสียงหมูเมื่อตอนถูกเชือด กรรมที่เขาทำอยู่เสมอๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่กรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผล แต่เมื่อ ใกล้ตายก็มาส่งผล ฉะนั้นกรรมใดที่บุคคลได้ทำไว้บ่อยๆ ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นแหละเป็นอาจิณณกรรม ในขณะใกล้ตายถ้าไม่มีกรรมอื่นๆมาให้ผล กรรมที่เป็นอาจิณณกรรมก็จะให้ผลนำไปเกิด



๒.๒ อาสันนกรรม

อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย เป็นการระลึกถึงสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้ตาย หรือการกระทำที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้จะตาย องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘

ในการให้วิบากปฏิสนธิ ถ้าหากว่าครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั้นแหละจะให้ผลก่อน เพราะอยู่ใกล้ปาก ทาง คือ ความตาย อุปมาดังนี้ ในตอนเย็นก็ต้องต้อนฝูงโคกลับเข้าคอก โคที่แข็งแรงทั้งหมดก็เดินเข้าคอกไปได้ก่อนโคแก่ที่อ่อนกำลัง โคแก่เดินเข้าคอกได้เป็นลำดับสุดท้าย ก็ปิดประตูคอกได้ เมื่อถึงเวลาเช้าเปิดประตูคอกแล้ว ถึงแม้โคที่มีกำลังมีอยู่มากหลายตัวแต่ทั้งหมดก็ออกจากคอกไม่ได้ มีแต่โคแก่เท่านั้นที่จะได้โอกาสออกจากคอกก่อนเพราะว่าอยู่ตรงใกล้ปากประตูคอก ฉันใด ก็ฉันนั้น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมทั้งหลาย เมื่อครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั่นแหละย่อมให้ผลก่อน เพราะเหตุว่าอยู่ใกล้ปากทางแห่งความตายนั่นเอง 



ตัวอย่างเช่น พระนางมัลลิกาทำกุศลไว้มาก แต่ในเวลาใกล้ตายนางนึกถึงอกุศลที่เคยทำไว้แล้วอกุศลที่นึกถึงในขณะใกล้ตายนั้นเอง เป็นอาสันนกรรมนำให้นางไปเกิดในนรก กุศลที่ทำไว้ไม่มีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในกามสุคติภูมิ หรือบางคนกำลังมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ ดูหนังดูละคร รับประทานอาหารอย่างเฮฮากับเพื่อนฝูง หรือบางคนกำลังทำมิจฉาอาชีพมีการลักทรัพย์เป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นอกุศลทั้งสิ้น ถ้าในขณะนั้นมีเหตุที่ต้องเสียชีวิตลง อกุศลเหล่านั้นก็เป็นอกุศลอาสันนกรรม สามารถนำไปเกิดในอบายภูมิ หรือ บุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีอดีตกรรมที่เคยทำไว้มาเป็นเครื่องให้ระลึกถึงว่าเคยฆ่าสัตว์ ฯลฯ หรือ บางบุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีลูกหลานทะเลาะกันอาจจะแย่งสมบัติกัน หรือตัวเองห่วงทรัพย์สมบัติ อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย นั้นคือกรรมที่เป็นอาสันนกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติได้ อาสันนกรรมจึงเป็นกรรมที่สำคัญ จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆเว้นไว้แต่กรรมที่เป็นครุกกรรม



๒.๑ ครุกกรรม

ครุกกรรม หมายถึง กรรมที่หนักแน่นจนกรรมอื่นๆ ไม่สามารถห้ามการให้ผลได้ องค์ธรรมได้แก่ 

มหัคคตกุศลกรรม ๙ ทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ (เฉพาะที่เกี่ยวกับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓) และโทสมูลจิต ๒ (เฉพาะที่เกี่ยวกับปัญจานันตริยกรรม ๕) รวมทั้งสิ้นเป็น ๑๕ ครุกกรรมเป็นกรรมหนัก เมื่อจัดลำดับการส่งผลของกรรมแล้ว ครุกกรรมจึงเป็นกรรมลำดับแรกที่จะส่งผลนำไปเกิดในภพที่สองก่อนกรรมอื่นๆ คือ ส่งผลก่อนอาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม 

ครุกกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ครุกกรรมฝ่ายบาป และครุกกรรมฝ่ายบุญ

๑. ครุกกรรมฝ่ายบาป เป็นกรรมหนักฝ่ายบาป เมื่อตายลงผลของบาปจะส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ในชาติต่อไปทันที ครุกกรรมฝ่ายบาป มี ๒ อย่าง คือ 
๑.๑ นิยตมิจฉาทิฏฐิ มี ๓ คือ
ก. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็น ชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกัน มาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี
ข. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย
ค. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ และผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ แสดงโทษของมิจฉาทิฏฐิ นิยตมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถืออยู่ในมิจฉาทิฏฐินี้มากจนดิ่งลงไปแล้ว หรือแนบแน่นแล้ว เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงกล้า ผลก็จะส่งให้นำไปเกิดในนรก เมื่อพ้นจากนรกถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีความเห็นผิดเช่นนั้นๆ ต่อๆไปอีก นับภพ ชาติไม่ถ้วน พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถทรงโปรดให้บุคคลที่มีความเห็นผิดนั้นกลับมาเห็นถูกได้ 

๑.๒ อนันตริยกรรม มี ๕ คือ
๑. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๒. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต
๕. สังฆเภท ทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน 

ในบรรดาอนันตริยกรรม ๕ นี้ เป็นอกุศลกรรมอย่างหนักทั้งสิ้น แต่สามารถจัดลำดับการส่งผลจากมากไปหาน้อย คือ สังฆเภทกกรรมหนักที่สุด รองลงมาคือ โลหิตุปบาท รองลงมาคือ อรหันตฆาต ส่วนมาตุฆาตและ ปิตุฆาตทั้งสองนี้ต้องแล้วแต่คุณสมบัติ ท่านใดมีศีลธรรมมากกว่า กรรมนั้นย่อมหนักกว่า ถ้ามารดามีศีลธรรม บิดาไม่มีศีลธรรม มาตุฆาตย่อมหนักกว่า ถ้าทั้งบิดามารดามีศีลธรรมด้วยกันหรือไม่มีศีลธรรมเหมือนกันแล้ว มาตุฆาตกรรมย่อมหนักกว่า ถ้าลูกที่มีพ่อแม่ป่วยไข้มีความทุกข์ทรมาน ก็อย่าไปสั่งหมอให้ฉีดยาให้ตายไปจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมาน หรือสั่งให้หมอเอาสายออกซิเจนออก เพราะการทำอย่างนี้เป็นอนันตริยกรรม บางครั้งลูกคิดไม่ถึง ไม่เข้าใจในเหตุและผลแห่งความทุกข์ของบิดามารดาว่าท่านต้องได้รับเช่นนั้นเป็นเพราะผลกรรมของท่านเอง เมื่อคิดไม่เป็นหรือเพราะมุ่งแต่สงสารจึงอาจพลาดพลั้งทำอนันตริยกรรมโดยไม่รู้ตัว เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องระมัดระวัง การทำกรรมใดๆก็ตาม จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “นิสมฺม กรณ เสยฺโย” ใคร่ครวญเสียก่อนจึงทำ

อนันตริยกรรม ๕ นี้ จัดเป็นกรรมหนัก แต่ก็ยังหนักไม่เท่ากับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม เพราะนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมเป็นกรรมที่ให้ผลไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนอนันตริยกรรมเมื่อส่งผลให้ไปเสวยกรรมครบ ตามกำหนดก็พ้นจากกรรมนั้นๆ ได้ แต่นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมจะจมปลักอยู่ในกรรมเช่นนี้ตลอดกาล 
 
๒. ครุกกรรมฝ่ายบุญ กรรมหนักฝ่ายกุศล คือ มหัคคตกุศลกรรม ๙ ได้แก่ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ ผู้ที่บำเพ็ญฌานบรรลุถึงปฐมฌาน ถึงฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ และฌานที่ ๕ การได้ฌานที่เป็นรูปฌาน ทั้ง ๕ นี้จัดว่า เป็นครุกกรรมฝ่ายกุศล และเมื่อได้ถึงปัญจมฌานแล้วไปเจริญอรูปฌานต่ออีก ๔ นั้นก็เป็น ครุกกรรมฝ่ายกุศล ครุกกรรมฝ่ายกุศลกรรมทั้ง ๙ ประการนี้ เมื่อเจริญสำเร็จแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตายจากโลกมนุษย์จะต้องได้รับผลกรรมนั้นในชาติที่สองทันที คือนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ 

ส่วนโลกุตตรกุศลกรรม คือ มรรคจิต ๔ จัดว่าเป็น กรรมหนักคือครุกกรรมฝ่ายบุญเหมือนกัน แต่ไม่เป็นกรรมที่จะนำไปเกิดได้ มีแต่จะทำลายการเกิด จึงไม่ถือว่าเป็นกรรมที่จะส่งผลให้เกิดในชาติหน้า จึงไม่จัดเข้าเป็นกรรมในหมวดนี้ 



ชาวบ้านก็เป็นภิกษุได้

มาดูคําจํากัดความ “ภิกษุ” ใน พระไตรปิฎกกันก่อน
เริ่มที่วินัยปิฎก ซึ่งแสดงความหมายของภิกษุด้วยคําจํากัดความ อย่างที่ใช้กันในกฎหมาย คือ ชี้ลงไปว่า “ภิกษุ” ที่กล่าวถึงในพระวินัย โดยเฉพาะในสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัตินั้น หมายถึงใคร ได้แก่บุคคลผู้ใด ดังนี้


🔔ภิกษุความหมายตามพระวินัย (วินย.๑/๒๖/๔๒) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ขอภิกษา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ดําเนินภิกขาจริยา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ครองผืนผ้าที่ตัดฉีก
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมัญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้เจริญงดงาม
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ทรงสาระ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุ ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกันนี้ ชื่อว่า “ภิกษุ” ที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้. ข้อความนี้บอกว่า ในพระวินัย ซึ่งว่าตามบัญญัติ ยึดถือรูปแบบ รักษาแบบแผน “ภิกษุหมายถึงผู้ที่สงฆ์อุปสมบทให้ด้วยสังฆกรรมที่เป็นญัตติจตุตถกรรม เท่านั้น ไม่นับผู้ที่เรียกว่าเป็นภิกษุในความหมายอื่น นี่เรื่องของวินัย หรือกฎหมาย ต้องให้แน่ชัด ตายตัว

🔔 ภิกษุความหมายตามพระอภิธรรมปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านบอกวจนัตถ์ คือความหมายของคําว่า “ภิกษุ” ไว้คล้าย กับในพระวินัยปิฎก ดังนั้น ก่อนจะไปที่พระสุตตันตปิฎก จึงดูความหมายในคัมภีร์ฝ่ายพระอภิธรรมเสียก่อน แต่พึงทราบว่าข้อความจากพระอภิธรรมนี้ อยู่ในภาคสุตตันตภาชนีย์ (แจงความแบบพระสูตร) จะเห็นว่า ในพระอภิธรรมปิฎก บอกความหมายต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดหรือระบุ เจาะจงลงไปว่าจะต้องใช้ความหมายใด ขอยกมาให้ดู ดังนี้ (อภิ.วิ.๓๕/๖๐๑/๓๓๐: หลายข้อ เหมือนกับในพระวินัยปิฎกข้างต้น แต่ที่นี่แปลโดยใช้สํานวนต่างออกไปบ้าง) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 เพราะเป็นสมัญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะการปฏิญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะขอภิกษา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะเป็นผู้ขอภิกษา จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะดําเนินภิกขาจาร จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะครองผืนผ้าตัดฉีก จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะกําลังทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสจําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสไม่จําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 พระเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ไม่ใช่พระเสขะและไม่ใช่พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ลุถึงธรรมอันเลิศ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้เจริญงดงาม ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ผุดผ่อง ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ทรงสาระ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่ พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ

🔔 ภิกษุความหมายตามพระสูตร/พระสุตตันตปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพูดสั้นๆ ว่า ในพระสูตร ซึ่งแสดงธรรมมีคําสอนทุกระดับ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ อันจัดปรับให้เหมาะกับพื้นเพภูมิธรรมจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ความหมายของ “ภิกษุ” มีทั้งแบบพื้นๆ ตามหลักการทั่วไป และแบบปลุกให้ตื่น ยกมาดูพอเห็น คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะได้ทําลายธรรม ๗ ประการ คือ ทําลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ. ภิกษุนั้นได้ทําลายบาปอกุศลธรรม อันก่อความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไป. (ขุ.ม.๒๙/๘๖/๘๒) ดังที่ว่าแล้ว ในพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับบุคคล และ สถานการณ์ ความหมายของ “ภิกษุ” แม้จะคงอยู่ตามหลักใหญ่ แต่มีรายละเอียดและแง่มุมยักเยื้องต่างกันไป ขอเล่าบางเรื่องเป็นตัวอย่าง (สํ.ส.๑๕/๗๑๗/๒๖๗)

ที่เมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้ขอภิกษา พระองค์ก็เป็นผู้ขอภิกษา ในภาวะนี้ เราจะต่างอะไรกัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงเพราะขอภิกษาจากคนอื่น ก็หาไม่ ตราบเท่าที่ยังสมาทานธรรมอันเป็นพิษ จะเป็นภิกษุหาได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ลอยบุญลอยบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในโลกด้วยปัญญา ผู้นั้นแลจึงเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ ดังได้พูดแล้ว คนจํานวนมากติดรูปแบบ ถือลักษณะอาการภายนอกเป็นมาตรฐาน จนไปๆ มาๆ มองแค่รูปลักษณ์ ไปไม่ถึงสาระ หรือลืมสาระไปเลย เอาแค่ว่า จะเป็นฤๅษี ก็เกล้าผมทรงชฎา จะเป็นพระ ก็โกนศีรษะนุ่งเหลืองห่มเหลือง เพราะการยึดติดอย่างนี้ บางทีพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนแบบเปิดตาปลุกให้ตื่น ดังที่ตรัสครั้งหนึ่งว่า (ขุ.ธ.๒๕/๒๐/๓๓) ผู้ใด ถึงจะตกแต่งกาย สวมใส่อาภรณ์ แต่หากประพฤติชอบ เป็นผู้สงบ ฝึกอบรมตนแน่วแน่ เป็นผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เลิกละการเบียดเบียน ปวงสัตว์ทั้งหมดแล้ว ผู้นั้นแล จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นพระภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น

ฟังพุทธพจน์นี้แล้ว ผู้ที่ไม่ได้บวชพระ ก็สบายใจได้ว่าโอกาสทางธรรมไม่ได้หายไปไหน ในพระสูตร พุทธพจน์ที่ตรัสแสดงความหมายของ “ภิกษุ” ยังมีอีก ใครสนใจก็ไปค้นดู ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ คําว่า “ภิกฺขุ” นี้ ตามปกติก็ถือกันว่ามาจากธาตุคือ “ภิกฺข” (+ รู ปัจจัย) ดังที่ วิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะขอภิกษา) หมายถึง ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตด้วยการขอที่ประเสริฐคือสงบนิ่งไม่เอ่ยปาก(วิ.อ.๑.๒๕๓)

อัฏฐิเสนชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ หน้า ๒๙๔ บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างเดียวเท่านั้น คือไม่ให้องค์คือกายและองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิกาล ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่าให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่า ให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้นยืนอยู่เฉย ๆ.

บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์คือวาจาไหว ยืนอยู่เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่า เป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. แต่ท่านบอกนัยอื่นว่า มาจาก “อิกฺข” ธาตุ ก็ได้ คือ ภย+อิกฺข+รู =ภิกฺขุ ตาม วิเคราะห์ที่ว่า ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย) ภัย แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว น่าหวาดสะดุ้ง น่าเกรงขาม มีอยู่หลายประการ จะพึงเห็นได้จาก หลักฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๖๒ เป็นต้นว่า “จัตตารีมานิ ภิกขเว ภยานิ” ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ภัยมี ๔ อย่าง เหล่านี้คือ
๑. อัตตานุวาทภยัง แปลว่า ภัย คือ การติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า การติเตียนตนจึงได้ละกายทุจริต วจีทุจริตเสีย แล้วประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๒. ปรานุวาทภยัง ภัย คือ การถูกผู้อื่นติเตียน หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าคนได้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ถึงคนอื่นเขามิได้ติเตียนโดยศีลก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็กลัวต่อการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๓. ทัณฑภยัง ภัย คือ อาชญา หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นโจรผู้ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองถูกจับได้ ถูกโบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตลอดจนถึงเอาขวายผ่าอกบ้าง แทงด้วยหอกทีละน้อยจนตายบ้าง ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุมครอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาเหล็กไถบ้าง เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินบ้าง รวมทั้งสิ้นมี ๓๒ ประการ ครั้นเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงพิจารณาว่าถ้าเราทำชั่วเช่นนั้น ก็จะต้องได้รับโทษอย่างนี้แน่นอน เขาไม่ยอมทำความชั่วทางกาย วาจา ใจเลย มีแต่ทำความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่า กลัวต่อภัยคือ อาชญา
๔. ทุคคติภยัง ภัย คือ ทุคคติ ทุคคติมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า ผลชั่วของทุจริตทางกาย วาจา ใจเป็นของมีอยู่แน่นอน หากว่าเราประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ในโลกนี้ เราก็เดือดร้อน แม้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ไปสู่ปรโลก เราก็จะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่นอน เมื่อเขากลัวต่อทุคติภัยเช่นนี้ จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ เสียหมดสิ้น รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี

อย่างนี้ เรียกว่า ภัย ทีนี้ ก็จะว่าไม่ชัด จะถามได้ว่า ภัยอะไร ภัยที่ไหน ท่านจึงบอกไว้ด้วยว่าภัยอะไร ตรงนี้ ในคัมภีร์ส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าแทบทั้งนั้น บอกว่าภัยในสังสารวัฏ ดังวิเคราะห์ที่ว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังสารวัฏ) หมายความว่า ภัย คือ ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย นั้น มีอยู่ในสงสารทั้ง ๓ คือ
สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบาย ๔
สงสารเบื้องกลาง ได้แก่ มนุษย์กับเทวดา
สงสารเบื้องบน ได้แก่ พรหมโลก

ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้ง ๓ นี้ เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น จึงพยายามหาทางหลุดพ้น แต่บางคัมภีร์บอกต่างออกไป กลายเป็นวิเคราะห์ว่า สงฺขาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังขาร) ชื่อว่า ภิกษุ หมายความว่า สังขารนั้น คือ สกลกายของแต่ละบุคคล ย่นให้สั้น ได้แก่ รูป กับ นาม สัตว์โลกพากันเดือดร้อนอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะมีรูปกับนาม คือสังขาร ถ้าไม่มีสังขารเสียแล้ว ภัยต่าง ๆ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็ไม่มีเป็นอันขาด ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า รูปนามเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลก แล้วพยายามหาทางหลุดพ้น ชื่อว่า ภิกษุ ที่ว่าเห็นภัยในสังสารวัฏนั้น เข้าใจง่าย แต่ที่ว่าเห็นภัยในสังขาร ดูเหมือนว่าเป็น ความหมายที่ลึกเข้าไปอีกหน่อย พูดให้สั้นว่า เมื่อภิกษุเห็นภัยในสังขารแล้ว ก็พยายามที่ จะประพฤติปฏิบัติบําเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้พ้นจากสังขาร ไปสู่วิสังขาร (คือนิพพาน) ความหมายอย่างนี้ ก็เป็นแง่นามธรรม

ทีนี้ก็มีอีกวิเคราะห์หนึ่ง ที่อยู่ในฝ่ายรูปธรรม คล้ายๆ กับที่ว่ามาจาก “ภิกฺข” คือ ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอภิกษา เป็นเรื่องอาหาร คราวนี้เป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ท่านว่า ภิกขุ นั้นมาจาก “ภิท” (ธาตุ-รากศัพท์นี้ มีรูปกริยาช่องสามเป็น “ภินฺน”) ซึ่งแปลว่าทําลาย เช่น ตัด ฉีก ทุบ ผ่า ก็ได้ ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะครองผืนผ้าที่ตัดฉีกแล้ว) นี่คือเป็นผู้ทรงหรือครองผ้าที่ฉีกๆ ขาดๆ เอามาตัดต่อ เย็บติดกัน เต็มไปด้วยรอยตะเข็บ ไม่สวยไม่งาม ไม่เรียบไม่รื่น อย่างบังสุกุลจีวร ที่เคยเล่าว่า พระไปเที่ยวเก็บเอาผ้า ที่เขาทิ้ง เป็นเศษเป็นชิ้นมา แล้วก็มาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ทําเป็นจีวร เพราะฉะนั้น ผ้าของท่านจึงเป็นชิ้นเป็นแผ่น คือมาจากเศษผ้า หรือมีลักษณะอย่างเศษผ้านั่นเอง ทีนี้ “ภิท” ธาตุ ที่แปลว่าทําลายนั่นแหละ เมื่อกี้ใช้ในความหมายที่เป็นรูปธรรม คือทําลายผืนผ้า ทีนี้ ท่านให้ความหมายทางนามธรรมบ้าง แทนที่จะทําลายตัดฉีกผ้า ก็เปลี่ยนเป็นทําลายกิเลส ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนตฺตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมแล้ว)

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก หมายความว่า กำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่  โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗ ว่าตามวิเคราะห์นี้ ภิกษุต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จึงมีอีกวิเคราะห์ หนึ่ง ซึ่งแสดงความหมายผ่อนลงมาว่า ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ. หรือสั้นๆ ว่า : กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายกิเลส) หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าวมานี้ ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นภิกษุ

ถ้าอย่างนี้ แค่กําลังทําลายกิเลส ก็หมายถึงพระที่ยังอยู่ในอริยมรรค ความหมายแบบนี้ มุ่งเอาคุณสมบัติในระดับสูง บ่งชี้ว่าต้องบําเพ็ญไตรสิกขา ได้ผลก้าวหน้า จึงทําลายกิเลสได้ หันมาดูด้านพระวินัย ท่านไม่วิเคราะห์ศัพท์ ไม่พูดถึงคุณสมบัติภายในอะไรทั้งนั้น ท่านให้ความหมายในทางปฏิบัติ ว่าไปตามรูปแบบที่มองเห็น ซึ่งเกี่ยวข้องจัดการได้ในชีวิตประจําวัน ในสังคม ดังนั้น เมื่อว่าตามคําจํากัดความในทางวินัย ภิกษุก็คือ ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวินัยจะเอาความหมายแค่รูปธรรมตามรูปแบบที่มองเห็นกันง่ายๆ แต่ก็ต้องใช้ถ้อยคําที่แสดงความหมายนั้นตรงจําเพาะ แน่นอน ชัดเจน ไม่ให้ดิ้นได้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้บอกเพียงแค่ว่า ภิกษุคือผู้ที่อุปสมบทแล้ว แต่ท่านใช้ถ้อยคําที่ชี้ชัด จํากัดจําเพาะ จึงกลายเป็นข้อความที่ยาวหน่อย ดังได้ยกมาให้ดูข้างต้นแล้ว ที่ว่า “ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ” ที่ว่าอุปสมบทนั้น หมายถึงว่า ได้เข้าสู่สังฆกรรม โดยที่ประชุมสงฆ์มีมติพร้อมกัน รับเข้ามา เป็นความหมายตามวินัย ซึ่งเป็นรูปแบบ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็เป็นภิกษุที่มาอยู่ในสงฆ์ เป็นสมาชิกแห่งสงฆ์ ที่เรียกว่า สมมุติสงฆ์ ว่าในเชิงสังคม ก็เท่านี้ คือ ยึดถือตาม รูปแบบเคร่งครัด เช่น จะแต่งตั้ง หรือจะลงโทษ ก็ว่าไปตามบทบัญญัติกฎกติกา อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเอาสาระกันจริงๆ ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปแบบ ที่ว่า ปลงผม ห่มเหลือง อย่างที่พูดกันว่า โกนหัวนุ่งเหลือง ได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น แต่ในความหมายที่เป็นเนื้อหาสาระ ยังต้องว่ากันต่อไปอีก

ในวินัย ถือรูปแบบสําคัญ ยึดตามที่สั่ง ทีนี้พอเข้ามาในพระสูตร ที่นี่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คราวนี้เป็นการสอน ทรงสอนคนไม่ให้อยู่แค่รูปแบบ แต่ให้ก้าวไปในสาระ ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสตักเตือนแนะนําต่างๆ เช่นตรัสว่า ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวนุ่งห่มเหลืองเข้าพิธีบวชมาเท่านั้น แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามหลักการ ได้แก่การบําเพ็ญไตรสิกขา เริ่มตั้งแต่การที่ได้ประพฤติห่างไกลจากการเบียดเบียน อย่างที่ได้ยกพุทธพจน์ ที่เป็นคาถาธรรมบท มาให้ดูทีหนึ่งแล้ว ซึ่งบอกว่า แม้จะ แต่งกายสวมใส่อาภรณ์ แต่ถ้าประพฤติสงบ เป็นผู้ที่ฝึกตน เป็นผู้แน่วแน่ต่อมรรคาแห่งชีวิตที่ดีงาม ดําเนินชีวิตประเสริฐ เป็นผู้วางอาชญาแล้วในสัตว์ทั้งปวง คือไม่เบียดเบียนใคร คนอย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นภิกษุ เป็นสมณะ ก็ได้ทั้งสิ้น นี่คือไม่ถือรูปแบบกันละ เอาสาระกันเลย ถึงจะไม่ได้บวช ทั้งที่เป็นชาวบ้าน แต่งตัว ประดับกาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์นี่แหละ แต่ถ้าเขามีจิตใจอย่างที่ว่านี้ ประพฤติ ตัวอย่างที่ว่านี้ จะเรียกเขาเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกพราหมณ์มาก เฉพาะอย่างยิ่งที่ตรัสว่า ความเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นคนประเสริฐเลิศกว่าใครนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้เกิดใน วรรณะพราหมณ์ คนมิใช่เป็นพราหมณ์ มิใช่เป็นคนเลิศประเสริฐ โดยชาติกําเนิด ความเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่อยู่ที่การถือพรตปฏิบัติตามแบบแผนของวรรณะ อย่างที่พราหมณ์ บัญญัติกันไว้ แต่ความเป็นพราหมณ์อยู่ที่การกําจัดสิ่งชั่วร้ายในตัว ละกิเลสได้แล้ว พราหมณ์ถือว่าพวกตนเป็นผู้ลอยบาปแล้ว เวลาจะลอยบาป เขาก็ลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์ เฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ําคงคา เดี๋ยวนี้ก็ยังไปอาบกันอยู่ ลองไปอินเดีย ไปดูที่เมือง พาราณาสี จะเห็นคนอินเดียมากมายลงไปอาบน้ําลอยบาป ล้างบาปกันในแม่น้ําคงคา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์แล้ว บาปมันลอยไปได้ เต่า ปลามันคงหมดบาปไปก่อนพวกท่าน และตรัสด้วยว่า ถ้าแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์พาเอาบาปของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ มันก็ต้องพาบุญของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะลอยบาปล้างบาปได้จริง ไม่ใช่มาลอยมาล้างในแม่น้ําอย่างนี้ แต่ต้องลอยหรือล้างด้วยน้ําแห่งธรรม คือการชําระล้างตัวเอง ด้วยการฝึก การศึกษาพัฒนาตน ขัดเกลากิเลสของตัวเอง ละเลิกบาปกรรม เพิ่มพูนกุศลธรรม บําเพ็ญบุญกิริยา หรือเจริญไตรสิกขา พระพุทธเจ้าจึงประทานความหมายของการลอยบาปให้ใหม่ ไม่ใช่ไปลอยใน แม่น้ําคงคา แต่หมายถึงลอยบาปด้วยการกําจัดออกไปจากตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงตรัส เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นการสร้างความหมายเชิงสาระ ไม่เอาแค่รูปแบบ นี่คือที่ตรัสว่า คนไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกําเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม คือการกระทํา ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา,ภิกฺขูติ สงฺขํ คจฺฉติเยว. (ที.อ.๒.๓๗๐) "ที่จริงแล้ว เทวดาหรือมนุษย์ก็ตามผู้เพียรปฏิบัติอยู่ ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุโดยแท้" เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตาติ เทฺว อิเม ภิกฺขเว โกฏฺฐาสา. (สํ.อ.๓.๓๗๙) "พระดำรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนทั้ง ๒ อย่างนี้"
ถ. คนอื่น ๆ เช่น เทวดา มนุษย์ ผู้ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุหรือไม่
ต. ชื่อว่า เป็นภิกษุได้
ถ. เพราะเหตุไร ?
ต. เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เสฏฺฐตฺตา เพราะความเป็นผู้ประเสริฐด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
๒. ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต เพราะชี้ให้เห็นว่า เป็นภิกษุ ด้วยการปฏิบัติ
ถ. มีอะไร เป็นหลักอ้าง จึงตอบเช่นนี้ ?
ต. มีหลักอ้างอันปรากฏอยู่ใน อรรถกถามหาสติปัฏฐานว่า เสฏฺฐตฺตา ปน ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต จ ภิกฺขูติ อาห จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ถ้ายังข้อปฏิบัติให้เกิดขึ้นอยู่ ผู้นั้นกล่าวได้ว่า เรียกได้ว่า เป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ ดังนี้
ถ. บรรดาบริษัท ๔ นั้น บริษัทไหนเป็นผู้ที่จะรับโอวาททานุสาสนีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด ? เพราะเหตุไร ?
ต. ภิกษุบริษัท เป็นผู้ที่จะรับโอวาทนุสาสนีของสมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ
    ประการที่ ๑ เพราะท่านเป็นอุตตมเพศ เป็นเพศที่สูงส่งอยู่แล้ว
    ประการที่ ๒ เพราะท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นภาชนะแห่งอนุสาสนีของพระพุทธองค์ทุกประการ
    ประการที่ ๓ เพราะเมื่อท่านรับเอาโอวาทนุสาสนีมาปฏิบัติตามแล้ว บริษัททั้ง ๓ ที่เหลือ ก็จะได้ถือเอา    เป็นทิฏฐานุคติต่อ ๆ ไป โดยไม่ยาก
    ประการที่ ๔ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะธำรงไว้ซึ่งอนุสาสนี อันเป็นมรดกของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานไว้แก่เหล่าพุทธสาวก
    ประการที่ ๕ เพราะสละเพศของฆราวาสอันคับแคบมาสู่ของสมณะอันสงบ มีโอกาสที่จะศึกษาปริยัติ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดปฏิเวธได้ดีที่สุด
    ประการที่ ๖ เพราะมีภาระและมีปลิโพธิกังวลอันตัดออกมากแล้ว เครื่องผูกต่างๆ เช่น บุตร ภรรยา ไม่มี เพราะเหตุดังนี้ ภิกษุบริษัทจึงถือว่า เป็นบริษัทที่เลิศที่ประเสริฐสุด ในพระพุทธศาสนา สามารถรับโอวาทานุสาสนี เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบ ๆ ไป ตลอดกัลปาวสานต์
ถ. ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะทำอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ?
ต. ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ที่ตอบมานี้มีอะไรเป็นหลักหรือค้นเดาเอาเอง ?
ต. มิได้ค้นเดาเอาเองเลย มีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่ คือ ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า โย จ อิมํ ปฏิปตฺติ ปฏิปชฺชติ โส ภิกฺขุ นาม โหติ จริงอยู่ ท่านผู้ใด ลงมือปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานนี้ ท่านผู้นั้นชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ถ้าถือตามนี้ก็ได้ความว่า จะเป็นใคร ๆ ก็ตาม เช่น เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานนี้ นับว่า เป็นภิกษุได้ทั้งนั้น ใช่หรือไม่ ?
ต. ใช่แล้ว นับว่าเป็นภิกษุได้เหมือนกัน
ถ. ที่ตอบเช่นนั้นมีอะไรเป็นหลักฐานอ้างอิงบ้างหรือไม่ ?
ต. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เช่น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๔ ที่ ๕ ว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา ภิกฺขูติ สํขยํ คจฺฉติเยว จริงอยู่ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้แล้ว จะเป็นเทวดาก็ตามจะเป็นมนุษย์ก็ตาม ถึงการนับว่า เป็นภิกษุได้เหมือนกัน ดังนี้
ถ. ขอให้ยกตัวอย่างมาประกอบอธิบายว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้เป็นสักขีพยาน สืบต่อไป ?
ต. ตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มีอยู่มาก เฉพาะในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ ความว่า สันตติมหาอำมาตย์นั้น ได้ลงมือปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๆ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องแบบของนายทหารอย่างเต็มยศ ก็ปรากฏว่า ได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล ในที่เฉพาะพักตร์ของสมเด็จพระทศพลและภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งบริวารชนเป็นอันมาก แล้วก็ปรินิพพานบนอากาศ ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันว่า จะเรียกสันตติมหาอำมาตย์ว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ จึงจะถูก จึงจะควร ดังนี้ ในทันทีทันใดนั้น สมเด็จพระจอมไตรก็ได้เสด็จมาตรัสถามว่า พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไร ? เมื่อทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า “สมโณปิ วตฺตํ วฏฺฏติ พฺราหฺมโนปิ วตฺตํ วฏฺฏติเยว” จะเรียกว่า สมณะก็ได้ จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ได้ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ และธรรมบทภาค ๕ ว่า อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ ถึงแม้ว่าบุคคลจะประดับตกแต่งเครื่องแบบอย่างเต็มยศ แต่ปรากฏว่ามีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ สุภาพ เรียบร้อยดี เป็นผู้สงบ ฝึกตนดีแล้วเที่ยงต่อมรรค ๔ ประพฤติประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุก ๆ หมู่เหล่า ผู้นั้นเรียกว่า พราหมณ์ก็ได้ เพราะลอยบาปได้แล้ว เรียกว่า สมณะก็ได้ เพราะบาปสงบแล้ว เรียกว่า ภิกษุก็ได้ เพราะทำลายกิเลสหมดแล้ว ดังนี้.

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :-
๑.หนังสือชื่อ ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ภาค ๒ หน้า ๑๕๕ - ๑๖๐ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ ปยุตฺโต) ๒.ความหมายของคำว่า "ภิกษุ" - ธรรมบรรยาย โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) ครั้งที่ ๑๑๓ บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน. (ข้อว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ) ๓.พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ภัยในวัฏสงสาร วัดยานนาวา



ทำไมเทวดาจึงอยากเกิดมาเป็นมนุษย์

ข้อเปรียบเทียบระหว่างฐานะของมนุษย์กับเทวดา ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ว่าโดยส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะคนมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาเพื่อผลในทางปฏิบัติ คือ หวังพึ่งและขออำนาจดลบันดาลต่างๆ เช่นเดียวกับที่หวังและขอจากอิทธิฤทธิ์ และเทวดาก็เป็นผู้มีฤทธิ์ หลักการทั่วไปที่บรรยายแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับคุณและโทษ จึงนำมาใช้กับเรื่องเทวดาได้ด้วย แต่ก็ยังมีเรื่องที่ควรทราบเพิ่มเติมบางอย่าง ดังนี้ 

ว่าโดยภาวะพื้นฐาน เทวดาทุกประเภท ตลอดจนถึงพรหมที่สูงสุด ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย และส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสคล้ายมนุษย์ แม้ว่าจะมีเทพที่เป็นอริยบุคคลบ้าง ส่วนมากก็เป็นอริยะมาก่อนตั้งแต่ครั้งยังเป็นมนุษย์ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบโดยเฉลี่ยตามลำดับฐานะ เทวดาจะเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่า แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จนพูดรวมๆ ไปได้ว่า เป็นระดับสุคติด้วยกัน 

ในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบ บางอย่างเทวดาดีกว่า แต่บางอย่างมนุษย์ก็ดีกว่า เช่น ท่านเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ชาวชมพูทวีปกับเทพชั้นดาวดึงส์ว่า เทพชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ ๓ อย่างคือ มีอายุทิพย์ ผิวพรรณทิพย์ และความสุขทิพย์ แต่มนุษย์ชาวชมพูทวีปก็เหนือกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓ ด้าน คือ กล้าหาญกว่า มีสติดีกว่า และมีการประพฤติพรหมจรรย์ (หมายถึงการปฏิบัติตามอริยมรรค) 

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์ แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสุคติของพวกเขา ดังพุทธพจน์ยืนยันว่า "ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสุคติของเทพทั้งหลาย" 

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะจุติ เพื่อนเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่า ให้ไปสุคติคือไปเกิดในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบกุศลกรรมทำความดีงามต่างๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรืออกุศลกรรมต่างๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน) การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่ง ในการที่จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตามอริยมรรค) เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างเคล้าระคน มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดี เกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม 

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีก จะเห็นว่า มนุษยภูมินั้นอยู่กลางระหว่างเทวภูมิหรือสวรรค์ กับอบายภูมิมีนรกเป็นต้น พวกอบายเช่นนรกนั้น เป็นแดนของคนบาปด้อยคุณธรรม แม้ชาวอบายบางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป ส่วนสวรรค์ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป สวนโลกมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาวอบาย เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือคนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป 

พวกอบายมีหลายชั้น ชั้นเดียวกันก็มีบาปธรรมใกล้เคียงกัน พวกเทพมีหลายชั้นซอยละเอียดยิ่งกว่าอบาย มีคุณธรรมพื้นฐานประณีตลดหลั่นกันไปตามลำดับ ชั้นเดียวกันก็มีคุณธรรมใกล้เคียงกัน ส่วนโลกมนุษย์แดนเดียวนี้ เป็นที่รวมของบาปธรรมและคุณธรรมทุกอย่างทุกระดับ มีคนชั่วซึ่งมีบาปธรรมหยาบหนาเหมือนดังชาวนรกชั้นต่ำสุด และมีคนดีซึ่งมีคุณธรรมประณีตเท่ากับพรหมผู้สูงสุด ตลอดจนท่านผู้พ้นแล้วจากภพภูมิทั้งหลาย ซึ่งแม้แต่เหล่าเทพมารพรหมก็เคารพบูชา ภาวะเช่นนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของโลกมนุษย์ที่เป็นวิสัยกว้างสุดแห่งบาปอกุศลและคุณธรรม เพราะเป็นที่ทำมาหากรรม และเป็นที่หว่านธรรม 

เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับเทวดาได้ว่า เมื่อเทียบโดยคุณธรรมและความสามารถทั่วไปแล้ว ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างก็มิได้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน เป็นระดับเดียวกัน แต่มนุษย์มีวิสัยแห่งการสร้างเสริมปรับปรุงมากกว่า ข้อแตกต่างสำคัญจึงอยู่ที่โอกาสกล่าวคือมนุษย์มีโอกาสมากกว่าในการที่จะพัฒนาคุณธรรม และความสามารถของตน ถ้ามองในแง่แข่งขัน (ทางธรรมไม่สนับสนุนให้มอง) ก็ว่า ตามปกติธรรมดาถ้าอยู่กันเฉย ๆ เทวดาทั่วไปสูงกว่า ดีกว่าเก่งกว่ามนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ปรับปรุงตัวเมื่อไร ก็จะขึ้นไปเทียมเท่า หรือแม้แต่สูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าเทวดา


พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า  ๙๕๒ - ๙๕๔





อธิบายเรื่องกรรม

ความหมายและประเภทของกรรม

ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ
๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี
๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า “กรรม” นั้นแปลว่าการกระทำเป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหมายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม เขาก็คงจะคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า อ๋อ คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่า เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิต ตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขา ก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนา คือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรมก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรมก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม

กรรมโดยทั่วไปนั้นเมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม และเป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม

ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุขกรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย

จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

จากหนังสือ หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ หน้า ๓ - ๘
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต