มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเลยก็หาไม่ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก
ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด
ทั้งนี้ตามบาลีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ
ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า
“มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก”
ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ
คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา
ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดาและการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ “เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” [ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]
มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ “อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ. “ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส. “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” [สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก” [ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ “พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ” [องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]
คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ
ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ
ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักย-ภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา
สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จากการที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง ความพิเศษของมนุษย์นั้น คือการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลีเรียกว่า ทัมมะ พูดสั้นๆว่า ทัมม์ (ทัมม์ ท ทหาร)
สัตว์ทั้งหลายอื่นโดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตจำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก
ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ม้าฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ลิงฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ต้องให้คนฝึกให้ทั้งนั้น ท่านจึงว่า
วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) เป็นต้น แปลว่า อัสดร สินธพ ม้าอาชาไนย ช้างหลวง ช้างพลาย เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่เก่ง
แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น คือ สัตว์ทั้งหลายที่ฝึกไปถึงระดับหนึ่ง มันไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด จนเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา อย่าเอาเลย หันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษและประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้มีประโยชน์กว่า ถ้าเรามาถือตามพุทธพจน์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึกนี้ เราจะเห็นทางปฏิบัติเดินหน้าไป บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาคำที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ต้องต่อด้วยว่า เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก จึงจะครบถ้วนใจความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้