๑๐. อรูปาวจรภูมิ

เป็นภูมิที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีรูปมีแต่นาม เพราะเห็นโทษของการมีอัตภาพร่างกายว่าเป็นไปด้วยทุกข์โทษนานาประการ จากการถูกทำร้าย ถูกประหาร มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นต้น จึงขวนขวายในการเจริญสมถภาวนาเพื่อปรารถนาที่จะไม่มีรูปร่างกาย เมื่อบรรลุถึงอรูปฌานและสิ้นชีพ แล้วจึงได้มาบังเกิดในอรูปภูมิ ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้ต้องผ่านการเจริญรูปฌานมาจนถึงฌานสุดท้าย คือ ปัญจมฌาน (หรือถ้ากล่าวตามสุตตันตนัย คือ จตุตถฌาน) จึงจะเจริญอรูปฌานต่อไปได้ 

อรูปาวจรภูมิ มี ๔ ภูมิ คือ 
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้จะต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปัญจมฌานมาก่อน แล้วมาเจริญอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน กำหนดอากาศที่อยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “อากาศไม่มีสิ้นสุดๆๆ” จนสำเร็จอรูป ฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อสิ้นชีวิตและฌานยังไม่เสื่อมจะมาเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป
๒. วิญญาณัญจายนตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของวิญญาณัญจายตนพรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยการพิจารณาจิตที่เข้าไปรู้อากาศไม่มีที่สิ้นสุดใน อากาสานัญจายตนฌานตั้งอยู่ห่างจากอากาสา- นัญจายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีตละเอียดกว่าอากาสานัญจาย ตนภูมิ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป  
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอากิญจัญญายตนพรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๓ คือ
อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาความไม่มีอะไร คือไม่มีทั้งอากาศและวิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่ ๑ และอรูปฌานที่ ๒ ตั้งอยู่ห่างจาก วิญญาณัญจายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป ผู้ที่ไปเกิดอยู่ใน ภูมินี้ ได้แก่ อาฬารดาบส (อ่านว่า อา-ลา-ระ-ดา-บด) เป็นครูที่สอนการทำฌาน สมาบัติให้แก่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็จะเสด็จไปโปรดอาจารย์ผู้นี้ แต่รู้ด้วยทิพยจักขุว่าอาฬารดาบสตายไปแล้วเมื่อ ๗ วันก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อาฬารดาบสได้เข้าสู่ความเป็นอรูปพรหมในอากิญจัญญายตนภูมิ
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ได้อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญา- ยตนฌาน ด้วยการพิจารณาสัญญาที่เข้าไปรู้ในบัญญัติอารมณ์ว่า “มีก็ใช่ ไม่มีก็ใช่” อุปมาเสมือนกับน้ำมันที่ทาบาตร จะว่า บาตรนั้นมีน้ำมันอยู่ก็ไม่ใช่ หรือไม่มีน้ำมันอยู่ก็ไม่ใช่เพราะเทออกมาไม่ได้ ภูมินี้เป็นภูมิที่สูงสุด ตั้งอยู่ห่างจากอากิญจัญญายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีความสุขประณีตละเอียดกว่าอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป ผู้ที่ไปเกิดอยู่ในภูมินี้ ได้แก่ อุทกดาบส (อุ-ทะ-กะ-ดา-บด) เป็นครูสอนฌานสมาบัติให้แก่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกับอาฬารดาบส เมื่อพระองค์จะเสด็จไปโปรด ก็ทราบด้วยทิพยจักขุว่าได้สิ้นชีพไปแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง ได้เข้าสู่ความเป็นอรูปพรหมในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ 


คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด  ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชซึ่งอยู่ในแคว้นนี้มีสองคณะด้วยกันคือ คณะอาฬารดาบสกาลามโคตรและคณะอุทกดาบสรามบุตร ทั้งสองคณะนี้ตั้งอาศรมสอนศิษย์อยู่ในป่านอกเมือง พระมหาบุรุษจึงเสด็จไปยังที่นี่ เพื่อทรงศึษาเล่าเรียนและทดลองดูว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่ เสด็จไปทรงศึกษาที่สำนักแรกก่อน ทรงศึกษาจนสิ้นความรู้ของท่านคณาจารย์เจ้าสำนักแล้วทรงเห็นว่ายังมิใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จไปทรงศึกษาในสำนักคณาจารย์ที่สอง ทรงได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นนิดหน่อยแต่ก็ได้เพียงสมาบัติแปด



'สมาบัติ'  หมายถึง ฌาณ คือวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ มีตั้งแต่อย่างหยาบขึ้นไปจนถึงละเอียดที่สุด  ทั้งหมดมีแปดขั้นด้วยกัน ทรงเห็นว่า จิตใจในระดับนี้ก็ยังอยู่ในชั้นของโลกีย์ ปุถุชนสามารถมีได้แต่มีแล้วยังเสื่อมได้ ยังไม่ใช่โลกุตตระคือทางหลุดพ้น



๙. รูปาวจรภูมิ

จากสวรรค์ ๖ ชั้นแล้ว ภูมิที่อยู่สูงขึ้นไปอีก คือพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปาวจรภูมิ และ อรูปาวจรภูมิ ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌาน คือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน คือทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มี รูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌาน นั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม คำว่า พรหม แปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้น ในพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑ รูปาวจรภูมิ มี ๑๖
๒.๒ อรูปาวจรภูมิ มี ๔ 



รูปาวจรภูมิ มี ๑๖ ภูมิ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌานภูมิ ๗
ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข
 เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญปฐมฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญปฐมฌานอย่างใดๆแล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ดังนี้
๑. ปาริสัชชาภูมิ  ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปาริสัชชา แปลว่า  เป็นบริษัทของท่านมหาพรหม เป็นผู้บำรุงมหาพรหม ที่จะได้กล่าวในชั้นที่ ๓ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังอ่อน
๒. ปุโรหิตาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปุโรหิตา แปลว่า เป็นปุโรหิตของมหาพรหม พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังปานกลาง
๓. มหาพรหมาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า มหาพรหม แปลว่า พรหมผู้ใหญ่ เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าของพรหมทั้ง ๒ ที่กล่าวมาเป็นพรหมที่มี วรรณะยิ่งกว่า มีอายุยืนกว่าเป็นต้น พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังแก่กล้า

ที่ตั้งของปฐมฌาน 
ที่ตั้งของปฐมฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ตั้งห่างจากเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมานสวนดอกไม้และสระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมี แวววาวสวยงามยิ่ง

ทุติยฌานภูมิ มี๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา หรือบรรลุตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา โดย แบ่งการเจริญออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่ เจริญทุติยฌานหรือตติยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ผู้ที่ได้ทุติยฌานและผู้ที่ได้ตติยฌาน จะไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ เช่นเดียวกัน เพราะ อำนาจของวิตกและวิจารนั้นใกล้เคียงกันมาก ทุติยฌาน มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมปริตตาภา แปลว่า มีรัศมีน้อย คือ มีแสงสว่างน้อยกว่าพรหมชั้นทุติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือ ตติยฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้อาภัสสาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณาภา แปลว่า มีรัศมีไม่มีประมาณ คือมีแสงสว่างมากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌานหรือ ตติยฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็น ผู้ให้คำปรึกษาในกิจการงานของอาภัสสาพรหม
๓. อาภัสสราภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอาภัสสรา แปลว่ามีรัศมีซ่านไป คือแผ่ออกไปแต่ที่นั้นที่นี้ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เพราะมีขันธสันดานเกิดจากฌานที่มีปีติ หรืออีกนัยหนึ่ง อาภัสสรา แปลว่า มีรัศมีพวยพุ่ง คือหยดย้อยออกเหมือนย้อยหยดออกมาจากสรีระ หรือดุจเปลวไฟ แห่งโคมประทีป อีกอย่างหนึ่งอาภัสสรา แปลว่า มีปกติสว่างไสวด้วยรัศมี พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือตติยฌานที่มีกำลังแก่กล้า พรหมอาภัสสราเป็นหัวหน้าในชั้นทุติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากปฐมฌานภูมิขึ้นมาประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มี วิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาว สวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าปฐมฌานภูมิ ๓ 

ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุจตุตถยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญทุติยฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่าง กลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญ จตุตถยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลนำเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ ได้ ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปริตตสุภา แปลว่า มี รัศมีแห่งสรีระสวยงามน้อย คือ น้อยกว่าพวกพรหมชั้นตติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้สุภกิณหาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณสุภา แปลว่า มีรัศมีแห่งสรีระสวยงามอย่างไม่มีประมาณ คือ มากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถ-ฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็นพรหมให้คำปรึกษาในกิจการงานของสุภกิณหาพรหม ซึ่งเป็นหัวหน้า 
๓. สุภกิณหาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมสุภกิณหา แปลว่า มากมายไปด้วยรัศมีที่สวยงาม คือ มีรัศมีผุดสว่างทั่วไป แผ่ซ่านออกจากสรีระ เป็นอันเดียวกัน มีสิริเหมือนอย่างแท่งทองที่โรจน์รุ่งอยู่ในหีบทอง หรืออีกนัยหนึ่ง รัศมีสวยงามของพรหมเช่นกับรัศมีของดวงจันทร์ มีแสงสว่างของรัศมี รวมกันอยู่เป็นวงกลม ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังแก่กล้า เป็นหัวหน้าปกครองพรหมในชั้นตติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากทุติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวน ดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าทุติยฌานภูมิ ๓ 


คราวที่โลกถูกทำลาย โลกจะถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ ลม ในคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ไฟจะลุกไหม้ตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ จนถึง ปฐมฌานภูมิ ๓ ถูกทำลาย ทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย น้ำ น้ำจะท่วมตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย ลม ลมจะพัดทำลายตั้งแต่อบายภูมิ มนุษย ภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายทั้งหมด ภูมิที่พ้นจากการถูกทำลายด้วยไฟ น้ำ ลม คือ จตุตถฌานภูมิ และ อรูป ภูมิ 
 
จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา มี ๗ ภูมิ คือ 
๑. เวหัปผลาภูมิ 
๒. อสัญญสัตตภูมิ 
๓. อวิหาภูมิ 
๔. อตัปปาภูมิ  
๕. สุทัสสาภูมิ  
๖. สุทัสสีภูมิ  
๗. อกนิฎฐาภูมิ 
(รวมเฉพาะภูมิที่ ๓ – ๗ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุทธาวาสภูมิ ๕ )

เวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตภูมิ
๑. เวหัปผลา แปลว่า มีผลไพบูลย์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน พ้นจากการถูกทำลายทั้งปวง ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมเวหัปผลา พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของปัญจมฌาน พรหมชั้นนี้ไม่ได้แบ่งเป็น ๓ ชื่อสำหรับผู้ ได้อย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีตแต่อย่างใด กล่าวไว้ชื่อเดียว รวมๆ กันไป 
๒. อสัญญี แปลว่า ไม่มีสัญญาเสียเลย พรหมชั้นนี้เป็นที่เกิดของผู้ได้ปัญจมฌานแบบเพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มี เห็นโทษของจิตว่าจิตเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ได้รับอารมณ์แล้วก็เป็นทุกข์ก็เพราะมีจิต ราคะ โทสะ โมหะ ล้วนอาศัยจิตเกิดขึ้น มีความเห็นว่าไม่มีจิตเป็นของดีเป็นนิพพานในปัจจุบัน จึง เพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มีๆ สำรอก ดับนามขันธ์ และเวลาตายจากมนุษย์ ถ้ายืนตายก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่ายืน ถ้านั่งก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่านั่ง และก็อยู่ในอิริยาบถนั้นจนถึงจุติ หรือเรียกว่า พรหมลูกฟัก ซึ่งมีเพียงรูปขันธ์อย่างเดียวไม่มีนามขันธ์ เมื่อหมดอายุขัย นามขันธ์ก็จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปเกิดในภพ ใหม่ชาติใหม่ต่อไป เป็นพรหมภายนอกพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ปฏิบัติเพื่อไปเกิดเป็นพรหมพวกนี้ ที่ตั้งของเวหัปผลาภูมิ และอสัญญสัตตภูมิ ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ ทั้ง ๒ ภูมิ อยู่ในระนาบเดียวกัน ห่างจากตติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี ล้วนด้วย รัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีต ยิ่งกว่าพรหมชั้นตติยฌาน 

สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ
สุทธาวาส แปลว่าอาวาส คือที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่อันบริสุทธิ์ หมายถึงภูมิอันเป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ เป็นที่อยู่ของพระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือ พระอนาคามี และพระอรหันต์ และมีคุณสมบัติ พิเศษอีก ๒ ประการคือ ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่กล้าด้วยและเจริญสมถะจนได้ปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นชีวิตจะไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาสภูมิ และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสภูมินั้น ไม่กลับมาเกิดอีก สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ ผู้ที่เกิดในสุทธาวาสภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้วจะไม่เกิดซ้ำภูมิ ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไปตามลำดับและจะต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอกนิฏฐาภูมิและนิพพานในอกนิฏฐาภูมินี้

๓. อวิหา แปลว่า ไม่ละฐานของตนโดยกาลอันน้อย หรือ ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้ที่เกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์มี ๕ คือ
๑.สัทธินทรีย์
๒.วิริยินทรีย์
๓.สตินทรีย์ 
๔.สมาธินทรีย์ 
๕.ปัญญินทรีย์ 
พรหมที่จะได้เกิดในภูมินี้ต้องสำเร็จพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีผู้มีสัทธินทรีย์แก่กล้าและสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อมาเกิดในชั้นอวิหาภูมิแล้วถ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็จะดำรงขันธ์อยู่จนสิ้นอายุขัย และนิพพานในภูมินี้ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้น
๔. อตัปปา แปลว่า ไม่สะดุ้งกลัวอะไร หรือไม่เดือดร้อน พรหมในภูมินี้เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะเข้าฌานสมาบัติหรือผลสมาบัติอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้จิตเร่าร้อนจากนิวรณธรรม ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของวิริยินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้นไป หรือ บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๕. สุทัสสา แปลว่า ดูงาม เป็นพรหมที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มใสบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ ธัมมจักขุ ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสตินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำ
เร็จฌานขั้นจตุตถฌานด้วยปัญญาจักขุ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และอยู่จนสิ้นอายุขัย จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๖. สุทัสสี แปลว่า มีทัสนะคือความเห็นดีบริสุทธิ์ เป็นผู้ที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าพรหมสุทัสสา ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ และปัญญาจักขุ ส่วนธัมมจักขุนั้นมีกำลังเสมอกันกับพรหมสุทัสสา ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้อง เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสมาธินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๗. อกนิฏฐา แปลว่า ไม่มีเป็นรอง เพราะมีสมบัติอันอุกฤษฏ์ เสวยอริยผลจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของ ปัญญินทรีย์แก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น อกนิฏฐาภูมิเป็นยอดภูมิของพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลที่อยู่ในภูมินี้จะต้องสำเร็จเป็นพระ อรหันต์ในภูมินี้แล้วจึงเข้าสู่นิพพาน

ที่ตั้งสุทธาวาสภูมิ
ตั้งอยู่ในอากาศทั้ง ๕ ภูมิ จะไม่อยู่ในแนวระนาบเดียวกันเหมือนกับภูมิที่ผ่านมา แต่จะตั้งสูงขึ้นไป อวิหาภูมิจะตั้งห่างจากเวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตาภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อก นิฏฐาภูมิ มีความสูงห่างจากกันระหว่างภูมิ ชั้นละ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ สิ่งสำคัญในอกนิฏฐาภูมิ ในอกนิฏฐาภูมิมีพระเจดีย์ชื่อ ทุสสเจดีย์ หรือพระเจดีย์ผ้าขาว ที่เจดีย์บรรจุเครื่องแต่งกายของพระโพธิสัตว์ในคราวที่ทรงออกผนวช(ก่อนตรัสรู้ เรียกว่าพระโพธิสัตว์) โดยฆฏิการพรหมนำบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวาย พระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลก และ ในคราวที่ปรินิพพาน พรหมก็ได้นำพระอุณหิส (พระบรมสารีริกธาตุส่วน หน้าผาก) ไปบรรจุไว้ที่ทุสสเจดีย์ ในคราวออกบวช พระอินทร์ได้พระจุฬาโมฬี ปิ่น และเครื่องรัดเกล้า ไปบรรจุไว้ที่จุฬามณีเจดีย์ พระพรหมคือฆฏิการพรหมได้ถวายบริขาร ๘ และ นำพระภูษาคฤหัสถ์ขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ เรื่องบาตรที่เป็นส่วนหนึ่งใน บริขาร ๘ มีเรื่องพิเศษอีกว่า เมื่อนางสุชาดาน้อมถาดทองข้าวมธุปายาส เข้า
ไปถวายพระโพธิสัตว์ในเช้าวันที่จะตรัสรู้ บาตรดินที่ฆฏิการพรหมถวายมีเหตุ ทำให้อันตรธานหายไป ไม่ทรงเห็นบาตรจึงทรงรับทั้งถาด ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อพาณิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ ภัลลิกะ ได้น้อมข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงถวาย พระองค์ไม่มีบาตรที่จะทรงรับ ท้าวจตุโลกบาตรทั้งสี่จึงได้นำบาตรศิลาจาก ทิศทั้งสี่มาถวาย รวมเป็นสี่บาตร พระองค์ทรงรับแล้วอธิษฐานให้เป็นบาตรใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุจากพาณิชทั้งสองคน 



๘. เทวภูมิ

เทวภูมิเป็นภูมิที่มีความสุข แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

กามาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ได้แก่ สวรรค์ ๖ ชั้น
รูปาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ชั้น 
อรูปาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปฌาน ได้แก่อรูป พรหม ๔ ชั้น 

ฉะนั้นในสวรรค์กามาวจร ๖ ชั้น จึงยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ท่านแสดงว่า
ชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์ มีเหมือนมนุษย์
ชั้นยามา มีแต่กายสังสัคคะ
ชั้นดุสิต มีเพียงจับมือกัน
ชั้นนิมมานรตี มีเพียงยิ้มรับกัน
ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีแต่มองดูกันเท่านั้น
ส่วนในรูปาวจรและอรูปาวจร ที่ เรียกว่า พรหมโลก ทุกชั้นไม่เกี่ยวข้องกับกาม 

ในอรรถกถาวิภังค์กล่าวว่าไม่ มีเพศสตรีเพศบุรุษในพรหมโลก คำว่า เทวะ ในคัมภีร์สัททนีติ แปลไว้ ๘ อย่าง ต่อนี้

๑. ผู้ที่เล่น
 หมายถึง ผู้ที่เล่นด้วยกามคุณทั้ง ๕ คือ มีสุขสนุกสบายอยู่ด้วยทิพยสมบัติทุกเวลา 
๒. ผู้ที่ปรารถนา หมายถึง ปรารถนาจะชนะปฏิปักษ์ คือต้องการชนะข้าศึก ไม่ยอมแพ้ 
๓. ผู้ที่กล่าว หมายถึง มีวาจาที่โลกนับถือ บอกว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรก็เชื่อฟัง 
๔. ผู้ที่รุ่งเรืองสว่าง หมายถึง รุ่งเรืองด้วยแสงสว่าง คือ สรีระมีความสว่างรุ่งเรืองอย่างยิ่ง 
๕. ผู้ที่ได้รับความชมเชย หมายถึงเป็นผู้ที่ถูกยกย่องสรรเสริญ
๖. ผู้ที่มีผู้ใคร่ หมายถึง ใคร่จะเห็นจะได้ยินเป็นต้น ล้วนประกอบด้วยความงามเป็นพิเศษ 
๗. ผู้ที่ไปได้ หมายถึง ผู้ที่ไปได้โดยไม่ขัดข้องในทุกที่ตามปรารถนา 
๘. ผู้ที่สามารถ หมายถึง ผู้ที่สามารถยังกิจนั้นๆ ให้สำเร็จด้วยอานุภาพสมบัติ 
สวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ เทพหรือเทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิมีกายทิพย์ เป็นกายสว่าง ละเอียด ไม่มีปฏิกูล เกิดเป็นโอปปาติกะกำเนิด คือผุดเกิดขึ้นโตทันที แต่เป็นกายที่ไม่ปรากฏแก่ตาคน

ส่วนเทพในรูปภูมิและอรูปภูมิ ก็มีกายทิพย์เช่นเดียวกันแต่มีความละเอียดประณีตกว่า เทพบุตรเทพธิดามีแต่ความหนุ่มสาว เทพธิดาจะมีรูปลักษณะอยู่ในวัยอายุราว ๑๖ ปี เทพบุตรจะมีรูปลักษณะ อยู่ในวัยอายุราว ๒๐ ปี เหมือนกันหมด มีความบริบูรณ์ด้วยความสุข อายุยืนยาว ความแก่ เจ็บ ตาย ไม่ปรากฏ ตายก็ไม่ปรากฏซาก จึงเห็นทุกข์ได้ยาก

เทวดาจะมีแต่ความสุขเพลิดเพลินอยู่ตลอดเวลา เทวดาชั้นกามาวจรภูมิ เมื่อหมดบุญจะตายจากเทวภูมิ จะมีสิ่งปรากฏให้ทราบ ๕ อย่างคือ
มรณนิมิตของเทวดา ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ผิวกายเศร้าหมอง 
๒.พวงดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง 
๓.ผ้านุ่งห่มเศร้าหมอง 
๔.เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสองข้าง 
๕.อาสนะแข็ง

ทำกุศลอย่างไรจึงเกิดเป็นเทวดา 
๑. สร้างบุญกุศลไว้มากจะเกิดในวิมานของตนเอง เหมือนคนรวยย่อมมีบ้านของตนเอง ไม่ต้องเช่าหรืออาศัยคนอื่นอยู่ 
๒. สร้างบุญกุศลไว้น้อย ไม่มีวิมานของตนเองเกิดในวิมานเทวดาอื่นๆ โดย
  • ผุดปรากฏขึ้นที่ตักของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบุตร ธิดา ของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นที่แท่นบรรทมของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบาทบริจาริกาหรือภรรยาของเทวดาองค์นั้น 
  • ผุดปรากฏขึ้นใกล้แท่นบรรทมของเทวดาองค์ใด ก็เป็นผู้รับใช้ของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นภายในวิมานของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบริวารของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นนอกวิมาน ใกล้วิมานของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบริวารของเทวดาในวิมานนั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นระหว่างวิมานพอดี ก็ดูว่าเวลาผุดเกิดหันหน้าไปทางวิมานใดก็ต้องเป็นบริวารของเทวดาในวิมานนั้น 
  • ผุดปรากฏขึ้นระหว่างวิมานพอดี แต่ไม่หันหน้าไปทางวิมานใดก็ตกเป็นบริวารของเทวดาที่เป็นใหญ่ปกครองสวรรค์ชั้นนั้นๆ หรือจะยกให้เป็นบริวารของเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
เทวะ หรือ เทวดา มี ๓ ประเภท คือ 
๑. อุปปัตติเทวะ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาและพรหม
๒. สมมติเทวะ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา
๓. วิสุทธิเทวะ เทวดาที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง หมายถึง พระอรหันต์

กามาวจรภูมิ ๖ (สวรรค์ ๖ ชั้น)
ชั้นที่๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ 
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ มีท้าวมหาราช ๔ องค์ แบ่งกันปกครอง ดังนี้
๑. ท้าวธตรฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองคันธัพพเทวดา
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคเทวดา
๔. ท้าวกุเวระ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขเทวดา

ในอาฏานาฏิยสูตร ได้กล่าวถึงหน้าที่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ 
และ บริวาร คือ
เป็นผู้รักษาด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูร ซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกทัพขึ้นมาตีเอาถิ่นสวรรค์คืน แต่ใน สุตตันตปิฎกติกนิบาต ได้แสดงหน้าที่ว่า เป็นผู้ตรวจดูโลกซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ อมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักษ์ บุตรทั้งหลายของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกเองว่า พวกมนุษย์พากันบำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล เป็นต้น มีจำนวนมากอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้วถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่ง ประชุมกันในสุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ 
ทิพยกายจักลดถอย อสุรกายจักเพิ่มพูน 

แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็จะพากันชื่นบาน ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ดังกล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลก ทั้ง ๔ ทิศ 

ในเรื่องความคุ้มครองโลกนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมที่เป็นธรรมคุ้มครองโลก(โลกบาล)ไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายใจที่จะทำชั่ว
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว 
บุคคลทั้งหลายเมื่อมีธรรมคุ้มครองโลก รักษาไว้แล้วก็จะไม่ทำความชั่วเพราะความละอาย ไม่ทำความชั่วเพราะมีความเกรงกลัว เมื่อเป็นเช่นนี้ถึงจะมีท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาตรวจตราที่จิตใจ หรือไม่มีก็ตาม บุคคลทั้งหลายก็เป็นผู้ที่ละเว้นความชั่วได้แล้วด้วยความมีหิริและโอตตัปปะ

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่ตั้งแต่กลางภูเขาสิเนรุจนกระทั่งถึงพื้นดินมนุษย์ มีชื่อเรียกตามที่อยู่ที่อาศัย ดังนี้ 
๑. ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนพื้นดิน
๒. รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนต้นไม้
๓. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่ในอากาศ (มีวิมานอยู่)

ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ภูเขา แม่น้ำ มหาสมุทร ตามบ้านเรือน ซุ้มประตู เจดีย์ ศาลา ใต้พื้นดิน เป็นต้น โดยถือเอา สถานที่นั้นเป็นวิมานของตน
รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ มี ๒ จำพวก คือ มีวิมาน และไม่มีวิมาน รุกขเทวดาที่มีวิมานวิมานจะตั้งอยู่บนยอดไม้ เทวดาที่ไม่มีวิมานก็จะอาศัยอยู่ บนคบไม้ กิ่งไม้
อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่มีวิมานของตนเองตั้งอยู่ในอากาศ ภายในภายนอกวิมาน ประกอบด้วย รัตนะ ๗ อย่าง ได้แก่ แก้วมรกต แก้วมุกดา แก้วประพาฬ แก้ว มณี แก้ววิเชียร เงิน ทอง บางวิมานมี ๒ รัตนะ ๓ รัตนะ ขึ้นอยู่กับกุศลที่ตน เคยสร้างไว้ วิมานเหล่านี้จะลอยหมุนเวียนไปในอากาศรอบ ๆ ภูเขาสิเนรุ 

เทวดาใจร้าย ๔ จำพวก 
เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ บางพวกขาดเมตตาธรรม เป็นเทวดา ใจร้าย มี ๔ จำพวก คือ 
๑. คันธัพโพ คันธัพพี คือ เทวดาชาย หญิง ที่ถือกำเนิดภายในต้นไม้ที่ มีกลิ่นหอม เรียกว่านางไม้ หรือแม่ย่านาง ชอบรบกวนให้เกิดอุปสรรคต่างๆ เช่น เจ็บป่วย หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติที่นำไม้นั้นมาใช้สอย เทวดา จำพวกนี้อยู่ในความปกครองของ ท้าวธตรัฏฐะ คันธัพพเทวดานี้ สิงอยู่ในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ว่าใครจะตัดฟันไป ทำเรือ แพ บ้านเรือน เครื่องใช้สอย ก็คงสิงอยู่ในไม้นั้น ซึ่งผิดกับรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ถ้าต้นไม้นั้นตายหรือถูกตัด ก็ย้ายจากต้นไม้นั้นไปต้นไม้อื่น 
๒. กุมภัณโฑ กุมภัณฑี คือ เทวดาชาย หญิง ที่เรียกว่ารากษส (อ่านว่า ราก-สด) เทวดารักษาสมบัติต่างๆ รักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ เทวดาจำพวกนี้ อยู่ ในความปกครองของท้าววิรุฬหกะ
๓. นาโค นาคี คือ นาคเทวดาชาย หญิง มีวิชาเวทมนต์คาถา ขณะท่องเที่ยวในโลกมนุษย์ บางทีก็เนรมิตเป็นคน สัตว์ นาคเทวดาบางพวกมีอัธยาศัยชอบลงโทษพวกสัตว์นรก จะเนรมิตตัวไปเป็นนายนิรยบาลคอยลงโทษสัตว์นรก เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าววิรูปักขะ
๔. ยักโข ยักขี คือ เทวดายักษ์ชาย หญิง พอใจการเบียดเบียนสัตว์นรกเช่นเดียวกับนาคเทวดา เทวดาพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ

มนุษย์จะไปเกิดเป็นเทพยดาในสรวงสวรรค์ก็เนื่องด้วยบุญ เช่น การทำบุญใส่บาตร ทำทาน รักษาศีล ไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดจะต้องทราบวิธีการวางใจในการทำบุญว่าทำเพื่ออะไร ทำอย่างไรบุญนั้นจึงมีผลมีอานิสงส์มาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในทานสูตรมีใจความสรุปว่า
“ผู้ใดให้ทานโดยหวังผลบุญจากการให้ทานเมื่อตายไปจะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา” เช่นใส่บาตรแล้วอธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ให้มีอาหารกินในชาติหน้า ขอให้ได้เลื่อนยศตำแหน่งเร็วๆ เป็นต้น จัดเป็นการให้ทาน แล้วหวังผลบุญจากการให้ทาน

ชั้นที่๒ ตาวติงสาภูมิ

ตาวติงสา หรือ ดาวดึงส์ เป็นที่เกิดของบุคคล ๓๓ คน เหตุแห่งชื่อ ตาวตึงสะ มีเหตุพอเป็นสังเขปดังนี้ 

ในอดีตกาลมีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่ามจลคาม หมู่บ้านนี้มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ชื่อว่าคณะสหบุญญการี แปลว่า คณะ
ทำบุญร่วมกัน มี ๓๓ คนเป็นผู้ชายทั้งหมด หัวหน้าชื่อว่า มาฆมานพ ชายทั้ง ๓๓ คนนี้ช่วยกันทำความสะอาด ถนนหนทาง ถนนแห่งใดชำรุดทรุดโทรมก็ช่วยกันซ่อมแซม เพื่อให้เป็นที่ สะดวกสบายแก่บุคคลทั่วไป ทำที่สำหรับเก็บน้ำเพื่อให้คนที่ผ่านไปมาได้อาศัยดื่มกิน สร้างศาลาที่ทาง ๔ แพร่ง เพื่อให้คนเดินทางได้มีที่นั่งพัก เมื่อชายทั้ง ๓๓ คนนี้สิ้นชีวิต ได้บังเกิดในเทวภูมินี้ มาฆมานพที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้เกิดเป็นพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้เทวภูมิชั้นที่สองนี้จึงชื่อว่าตาวติงสะ แปลว่า ๓๓ เทวดาชั้นดาวดึงส์มี ๒ จำพวก คือ
๑. ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนพื้นดิน ได้แก่ พระอินทร์และเทวดา ผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ พร้อมทั้งบริวาร และ เทวอสุรา ๕ จำพวก ที่อยู่ใต้เขาสิเนรุ 
๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่ในอากาศ ได้แก่ เทวดาที่มีวิมานลอย ไปในกลางอากาศตั้งแต่เหนือพื้นดินยอดภูเขาสิเนรุ ไปจดขอบจักรวาล บางวิมานก็มีเทวดาอยู่ บางวิมานก็ไม่มีเทวดาอยู่ 

ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แผ่นดินชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาสิเนรุ ลักษณะกลม กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีสุทัสสนนคร กลางสุทัสสนนครมีปราสาทเวชยันต์เป็นที่อยู่ ของพระอินทร์ สุทัสสนะนคร เป็นที่ตั้งของสิ่งบันเทิงใจ ดังนี้ 
ทิศตะวันออก มีสวนนันทวัน กว้าง ๑,๐๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ สระ ชื่อ มหานันทา และ จูฬนันทา 

ทิศตะวันตก มี สวนจิตรลดากว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อวิจิตรา และ จูฬจิตรา 
ทิศเหนือ มีสวนมิสสกวัน กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อธัมมา และ สุธัมมา 
ทิศใต้ มีสวนผารุสกวัน กว้าง ๗๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อภัทรา และ สุภัทรา
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสวน ๒ แห่ง ชื่อปุณฑริกะ และมหาวัน มีความพิเศษ คือ

๑. สวนปุณฑริกะ มีต้นปาริชาติ สูง ๑๐๐ โยชน์ แผ่กิ่งก้าน ออกไป ๕๐ โยชน์ เมื่อคราวออกดอกกลิ่นหอมไป ไกลได้ ๑๐๐ โยชน์ ใต้ต้นปาริชาติมีแท่น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์(เป็นแท่นศิลาที่มีสีแดงเหมือน ดอกชบา) กว้าง ๕๐ โยชน์ ยาว ๖๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ มีความอ่อนนุ่ม เมื่อพระอินทร์ประทับพักผ่อน อิริยาบถอยู่เหนือแท่นศิลาอาสน์แล้ว แท่นทิพย์นี้ก็จะอ่อนยุบลงไป เมื่อพระองค์ทรงลุกขึ้นแท่นศิลาก็จะฟูขึ้นตามเดิม สวนนี้มีศาลาฟังธรรมชื่อ ศาลาสุธัมมา มีเจดีย์มรกต คือ จุฬามณี สูง ๑๐๐ โยชน์
๒. สวนมหาวัน เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของ ท้าวสักกเทวราช มีสระโบกขรณีชื่อ สุนันทา กว้าง ๑ โยชน์ และมีวิมานรายล้อมอยู่ ๑,๐๐๐ วิมาน ต้นปาริชาติ หรือต้นกัลปพฤกษ์ ในสวนปุณฑริกะ กลางสวนมีต้นไม้ใหญ่แผ่สาขาอยู่ต้นหนึ่ง ชื่อปาริชาติ เป็นต้นไม้ทิพย์ ๑๐๐ ปี จะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงคราวนั้นดอกไม้ในสวรรค์นี้ก็จะบานสะพรั่ง เหล่าเทพบุตรเทพธิดาก็จะพากันมารื่นเริง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเฝ้าจนกว่าดอกไม้จะบาน ครั้นดอกไม้สวรรค์บานก็จะปรากฏแสงรุ่งเรืองไปไกลหลายหมื่นวา เมื่อลมรำเพยพัดไปทิศใดย่อมส่งกลิ่นหอมไปทิศนั้น เป็นระยะไกล ดอกจะบานสะพรั่งไปทุกกิ่งก้านทั่วทั้งต้น เทพบุตรเทพธิดาองค์ใดปรารถนาจะได้ดอกปาริชาต ก็จะตกลงมาในมือดั่งรู้ ใจ

ความเป็นอยู่ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นนี้มีความเป็นอยู่โดยเสวยผลบุญที่ได้ทำไว้ จึงได้ทิพยสมบัติ เทพบุตรเทพธิดามีแต่ความสวยงามเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดไปไม่มีแก่ เจ็บ ตายปรากฏให้เห็น เทพบุตรองค์หนึ่งๆ อาจมีนางฟ้าเป็นบาทบริจาริกา ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ องค์ เทวดาในชั้นนี้ มีการไปมาหาสู่กันและกัน เทพบุตร เทพธิดา มีความรักใคร่ปรารถนาเป็นคู่ครองกัน หากขาดคู่ครองก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของตน ไม่เบิกบานรื่นเริงเหมือนเทวดาที่มีคู่ครอง เทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายต่างหาความสุขสำราญพร้อมด้วยบริวารของตน ในสวนทั้ง ๔ ทิศ 

ความสุขที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้มีมากมายโดยเฉพาะสวนนันทวัน เป็นที่ให้ความสุขได้อย่างดีเลิศกว่าสถานที่ใดๆ เทพบุตรเทพธิดาองค์ใดเกิดความทุกข์โศกเศร้าใจเพราะกลัวความตาย ถ้าได้เข้าไปยังสวนนันทวันแล้วความเศร้าโศกก็จะหายไปสิ้น เทวดาองค์ใดถ้ายังไม่เคยเข้าไปในสวนนันทวัน จัดว่าเขายังไม่รู้ถึงความสุขที่ดีเลิศในสวรรค์ สวนนันทวันอย่างในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ มีอยู่ในสวรรค์ทุกๆ ชั้น

สิ่งสำคัญๆ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๑. พระเจดีย์จุฬามณี พระเจดีย์จุฬามณีเป็นสถานที่สำคัญที่สุดเป็นที่บรรจุจุฬา คือ ส่วนของ พระเกศาบนกระหม่อม พร้อมกับโมฬี คือ มุ่นหรือมวยผมทั้งหมด และ มณี คือ ปิ่นมณี หรือ ปิ่นแก้ว สำหรับปักมวยผม กับ เวฐนะ คือ เครื่องรัดมวยผม หรือที่ เรียกว่า รัดเกล้า ของพระโพธิสัตว์ คำว่า จุฬา แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ปิ่น เพราะฉะนั้น พระเจดีย์นี้จึงเป็นที่ บรรจุ พระเกศา ปิ่นมณี และเครื่องรัดมวยผม ในตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ มีกล่าวไว้ใน อวิทูเรนิทาน ในอรรถกถาชาดก มีใจความสรุปว่า 
เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงม้ากัณฐกะเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมา เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนลานทราย ทรงเปลื้องอาภรณ์ประทานแก่นายฉันนะ และประทานม้ากัณฐกะแก่เขา แล้วทรงจับพระขรรค์ แสงดาบด้วยพระหัตถ์ขวา จับพระจุฬา(ยอดพระเกศา) กับพระโมฬี(มุ่นพระ เกศาทั้งหมด) ด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ พระเกศายังเหลือแนบพระเศียรประมาณสององคุลีม้วนกลับมาทางเบื้องขวา คงอยู่ขนาดนั้นตลอดพระชนม์ชีพ พระมัสสุ(หนวด)ก็มีสมควรแก่พระเกศา ไม่ต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีก พระโพธิสัตว์ทรงโยนพระจุฬากับพระโมฬีขึ้นไปในอากาศ ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงรับด้วยผอบรัตนะ ทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในที่เทวสถูป ชื่อจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับอีกสองสิ่ง คือ ปิ่นมณีและเครื่องรัดเกล้า รวมเป็น ๓ สิ่ง คือ
๑.พระจุฬาและพระโมฬี
๒.ปิ่นมณี
๓.เครื่องรัดเกล้า

นอกจากนี้ยังเป็นที่ บรรจุพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาในคราวแบ่งพระธาตุ พระจุฬามณีเจดีย์จึงบรรจุ ของสำคัญรวมไว้ ๔ สิ่ง 
การแบ่งพระธาตุ มีใจความสรุปดังนี้
เมื่อโทณพราหณ์แบ่งพระธาตุ แอบหยิบเอาพระทาฐธาตุ คือเขี้ยวแก้ว เบื้องขวาขึ้นซ่อนไว้ ณ ภายใต้ผ้าโพกศีรษะ พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็น ด้วยทิพยจักษุ ทรงดำริว่าโทณพราหมณ์ไม่อาจทำสักการะให้สมควรแก่พระทาฐธาตุ ควรจะนำมาบูชาในเทวโลก จึงทรงอัญเชิญพระทาฐธาตุนั้นจากผ้าโพกของโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศ ทรงนำขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงส์ 
 
 ๒. เทวสภาสุธัมมา เทวสภาสุธัมมา หรือ สุธรรมสภา หรือ ศาลาสุธัมมา เป็นสถานที่ฟังธรรมในเทวโลก ศาลานี้ประดับด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีความสูง ๕๐๐ โยชน์ กว้าง ๓๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ พื้นของศาลาเป็นแก้วผลึก เสาเป็นทอง เครื่องบนมี ขื่อ คาน ระแนง หลังคา เพดาน เป็นต้น เป็นแก้ว หลังคามุง ด้วยแก้วอินทนิล เพดานและเสาสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประดับด้วยแก้ว ประพาฬ ช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยเงิน กลางศาลาตั้งธรรมาสน์สูง ๑ โยชน์ ทำ ด้วยรัตนะทั้ง ๗ กั้นด้วยเศวตฉัตรสูง ๓ โยชน์ ข้างธรรมาสน์เป็นที่ประทับ ของท้าวสักกเทวราช ถัดไปเป็นที่ประทับของเทวดาผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ และ ถัดไปเป็นที่นั่งของเทวดาผู้ใหญ่องค์อื่นๆ และเทวดาผู้น้อยทั่วไป ศาลาสุธัมมาตั้งอยู่ข้างต้นปาริชาติ ซึ่งออกดอกปีละครั้ง เมื่อใกล้จะผลิดอก ใบจะมีสีนวล เหล่าเทวดาจะมีความยินดีปรีดาว่าอีกไม่ช้าจะได้เห็นดอก ออกสะพรั่งฉายสีแดง รัศมีแผ่ไปในปริมณฑลประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ส่งกลิ่นหอมไปตามลมไกล ๑๐๐ โยชน์ 
ลมชื่อ กันตนะ ทำหน้าที่พัดให้ดอกหล่นลงมาเอง
ลมชื่อสัมปฏิจฉนะ ทำหน้าที่รองรับดอกไม้ไม่ให้ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน
ลมชื่อ ปเวสนะ ทำหน้าที่พัดเอาดอกไม้นั้นเข้าไปในศาลาสุธัมมา
ลมชื่อ สัมมิชชนะ ทำหน้าที่ พัดเอาดอกเก่าออกไป
ลมชื่อ ลมสันถกะ ทำหน้าที่พัดจัด ระเบียบดอกไม้นั้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้รวมกันเป็นกอง 

เมื่อถึงเวลาประชุมธรรม ท้าวสักกเทวราชจะทรงเป่าสังข์วิชยุตตระ ยาว ๑๒๐ ศอก เสียงสังข์ดังก้องกังวานทั่วทั้งภายในภายนอกพระนครสุทัสสนะ เป่าครั้งหนึ่งจะดังปรากฏอยู่นานถึง ๔ เดือนมนุษย์ เทพบุตรเทพธิดา ทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ยินเสียงสังข์ต่างพากันมาสู่ศาลาสุธัมมา รัศมีกายและแสงจากเครื่องประดับของเทวดาทั้งหลาย สว่างไสวไปทั่วศาลา ท้าว สักกเทวราชเมื่อทรงเป่าสังข์แล้วก็เสด็จจากปราสาทเวชยันต์ พร้อมด้วยมเหสี ทั้ง ๔ องค์ ทรงขึ้นช้างเอราวัณ มีเทพยดาห้อมล้อมตามเสด็จไปสู่ศาลาสุธัมมา ประมาณ ๓ โกฏิ ๖ ล้านองค์ ผู้แสดงธรรมได้แก่พรหมชื่อว่า สุนังกุมาระ ได้เสด็จลงมาแสดงธรรมเสมอ บางครั้งท้าวสักกเทวราชก็ทรงแสดงเอง หรือ เทพบุตรองค์ใดที่มีความรู้ธรรมะดีก็จะเป็นผู้แสดง เทวภูมิเบื้องบนอีก ๔ คือ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีศาลาสุธัมมา เช่นกัน ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ทรงบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนา

ในระหว่างที่พระศาสนาของพระสมณโคดมยังไม่อุบัติขึ้น ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรัศมีกาย รัศมีวิมานด้อยกว่าเทพยดาชั้นผู้ใหญ่บางองค์ เมื่อศาสนาของพระสมณโคดมอุบัติขึ้นแล้ว ความสวยงามของวิมานและรัศมีกายจึงมีบริบูรณ์เต็มที่ ทั้งนี้เป็นเพราะกำลังของกุศลกรรมที่ท้าวเธอได้ลงมาถวายทานแด่พระมหากัสสปะที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เรื่องมีอยู่ว่า 

พระมหากัสสปะเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติต้องการโปรดคนยากจนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระอินทร์ทรงทราบก็ชวนพระมเหสีเสด็จสู่โลกมนุษย์และแปลงกายเป็นคนยากจน เมื่อพระมหากัสสปะอุ้มบาตรเดินเข้าไปในหมู่บ้านและหยุดยืนอยู่ที่หน้าบ้านแรกที่ถึง ท้าวสักกะแปลงเห็นพระมหากัสสปะหยุดอยู่ที่หน้าบ้านตน จึงรีบออกมาแล้วบอกพระมเหสีแปลงให้ยกอาหารมาใส่บาตร พระเถระไม่ได้พิจารณาจึงไม่รู้ว่าสองสามี ภรรยานี้เป็นท้าวสักกะและพระมเหสี แต่พอได้กลิ่นอาหารก็รู้ว่านี่เป็นอาหารทิพย์ พระมหาเถระรู้ดังนั้นก็ต่อว่าพระอินทร์ว่า “อาตมาตั้งใจมาโปรดคนยากจน มิได้ตั้งใจจะมาโปรดผู้ที่มีบุญอยู่แล้วเช่นองค์อมรินทร์ เหตุไฉนท่านจึงมาทำเช่นนี้ ” พระ อินทร์ตรัสว่า “ข้าพระองค์ก็เป็นคนยากจนเหมือนกัน เพราะ ถึงแม้ว่าข้าพระองค์จะเป็นใหญ่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ แต่ว่ารัศมีกายก็ดี วิมานก็ดี ของข้าพระองค์ยังด้อยกว่าเทวดาบางองค์ มากนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าพระองค์ไม่ได้ทำกุศลในเวลาที่มีพระพุทธศาสนา มาบัดนี้ข้าพระองค์ได้มาพบกับพระผู้เป็นเจ้า แล้วจึงต้องการสร้างกุศลในศาสนา เพื่อให้รัศมีกายและวิมานของข้าพระองค์ได้มีความสว่างรุ่งโรจน์ จึงแปลงตนมากระทำดังนี้ ”

อาศัยการถวายทานนี้ พระอินทร์จึงมีรัศมีกาย และวิมาน สว่างรุ่งโรจน์สวยงามบริบูรณ์อย่างเต็มที่ ท้าวสักกเทวราชเป็นพระโสดาบัน ท้าวสักกเทวราชพระองค์นี้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และจะอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนสิ้นอายุขัย เมื่อจุติ(ตาย)จากชั้นดาวดึงส์จะเกิดในมนุษยโลกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และสำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วก็กลับไปเกิดในชั้นดาวดึงส์อีกและได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นอายุขัยจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จะไปบังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ ชั้นอวิหา เป็นต้นไป จนถึงชั้น อกนิฏฐาภูมิและปรินิพพานในภูมินี้

คุณธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ(พระอินทร์)
ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้สมาทานประพฤติปฏิบัติวัตตบท ๗ ประการ จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ คือ
๑. เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต 
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต 
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต 
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต 
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ครอบครองเรือนตลอดชีวิต 
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต 
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าเกิดโกรธขึ้นก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต
 
พระอภิธรรม เกิดขึ้นครั้งแรกที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ ของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่ไปอุบัติเป็นสันดุสิตเทพบุตร ฉะนั้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้จึงมีสาระที่สำคัญๆ สรุปไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว 

ทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในทานสูตรกล่าวไว้โดยสรุปว่า 
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่าการทำทานนั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม ตายลงย่อมไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” 

ชั้นที่๓ ยามาภูมิ
สวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อว่า ยามา หรือ ยามะ แปลว่า สิ้นไปจากทุกข์ หรือ บรรลุทิพยสุขพร้อมพรั่ง สวรรค์ชั้นยามามีความสวยงามและประณีตกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรั่งพร้อมด้วยความสุขที่เป็นทิพย์ มีผู้เป็นใหญ่ คือพระสุยามเทวาธิราช หรือเรียกว่า พระสุยามะ หรือ ยามะ มีที่ตั้งอยู่ในอากาศ สูงกว่ายอดภูเขาสิเนรุ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ไม่มีเทวดาประเภทที่อาศัยบนพื้นดิน มีแต่พวกอากาสัฏฐเทวดาพวกเดียว มีวิมาน ทิพยสมบัติ ร่างกาย สวยงามและประณีตกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์

ทางไปสวรรค์ชั้นยามา ทานสูตรกล่าวว่า
“ถ้าผู้ใดทำทานโดยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยทำบุญทำทานมา โดยตลอด เราก็ควรจะได้ทำตามประเพณีที่ท่าน เคยทำมา” ถ้าผู้นั้นให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นยามา ตัวอย่างผู้ที่ไปเกิดในชั้นยามาภูมิ คือ อุบาสกผู้หนึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายอาหารเป็นสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์วันละ ๔ รูปทุกวัน เขาได้จ้างบุรุษผู้หนึ่งให้คอยเปิดปิดประตูเวลาพระจะมารับสังฆทาน บุรุษนั้นต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ที่มารับสังฆทานด้วยความนอบน้อมเลื่อมใส ศรัทธา เมื่ออุบาสกผู้นั้นดับชีพลง ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นยามา ส่วนบุรุษผู้ต้อนรับเฝ้าประตูไปบังเกิดในดาวดึงส์

ชั้นที่๔ ดุสิตาภูมิ
ดุสิตาภูมิ สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ มักเรียกว่าชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือ มีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติของตน เป็นภูมิที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะไปบังเกิดในมนุษยโลก เทวดาในชั้นดุสิตนับว่าเป็นเทวดาที่ประเสริฐกว่าเทวดาในภูมิอื่นๆ มีท้าวสันตุสิตเทวราชเป็นผู้ปกครอง มีร่างกาย วิมาน ทิพยสมบัติ สวยงามประณีตกว่าเทวดาในชั้นยามา ดุสิตาภูมิตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ สูงจากชั้นยามาขึ้นไป ๔๒,๐๐๐ โยชน์ บริเวณแผ่กว้างออกไปจนจรดขอบจักรวาล เทวดาเป็นอากาสัฎฐเทวดาเท่านั้น 

ความโกลาหลในสวรรค์ 
ความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของพวกเทวดาทั้งปวงมีอยู่สามสมัย คือ
๑. สมัยเมื่อโลกจะวินาศ
๒. สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
๓. สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้ ก่อนที่จะลงมาเกิดในโลกนี้ ได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อกาลใกล้กำหนดที่จะตายจากเทวดา ลงมาตรัสรู้ในมนุษย์โลก เทวดาทั้งปวงก็เกิด โกลาหล พากันไปเฝ้าทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์ลงไปตรัสรู้ พระโพธิสัตว์ได้ทรงตรวจดูสถานะ ๕ อย่างคือ
๑. กาล
๒. ทวีป
๓. ประเทศ 
๔. ตระกูล
๕. มารดาและกำหนดอายุของมารดา 

กาล คือ กาลแห่งอายุขัยของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีอายุขัยมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือ ต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุขัยมากไปก็ไม่อาจเห็นไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา น้อยไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้ 
ทวีป คือทรงเห็นชมพูทวีปเหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
ประเทศ คือ ทรงเห็นมัชฌิมประเทศคือท้องถิ่นของชมพูทวีปเป็นที่ เหมาะ เช่นสถานที่ประสูติปัจจุบันอยู่ในเนปาล 
ตระกูล ทรงเห็นศักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะเป็นพระบิดาได้
มารดา ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรมสมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก 

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอาราธนาของเทพทั้งปวง
ทางไปสวรรค์ชั้นดุสิต ทานสูตรกล่าวว่า
“ผู้ใดให้ทานโดยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ได้หุงหากิน ถ้าเราไม่ให้ทานก็เป็นสิ่งไม่ควรอย่างยิ่ง เมื่อเขาตายลงแล้วกุศลนั้นส่งผล ย่อมทำให้เขาไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิต” ตัวอย่างผู้ไปเกิดในชั้นดุสิต ได้แก่ พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นประสูติพระโพธิสัตว์แล้ว ๗ วัน สวรรคตแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร อาจมีคำถามว่า ทำไมต้องเกิดเป็นเทพบุตรซึ่งเป็นชาย เกิดเป็นเทพธิดาไม่ได้หรือ ? เหตุผลคือ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธชนนีซึ่งมีบุญญาธิการ ถ้าเกิดเป็นเทพธิดาหากเทพบุตรเกิดความปฏิพัทธ์มีจิตรักใคร่เสน่หา จะเกิดเป็นโทษอย่างยิ่งแก่เทพบุตรองค์นั้น

สวรรค์ชั้นที่ ๕ ชื่อว่า นิมมานรตี หรือ นิมมานรดี แปลว่า อภิรมย์ยินดีในสิ่งที่นิรมิตขึ้น คือนอกจากทิพอารมณ์ที่ได้รับอยู่โดยปรกติแล้ว ในเวลาที่ต้องการสิ่งใด ก็นิรมิตสิ่งนั้นขึ้นได้อีกตามความต้องการ เทวดาที่เกิดในชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงดุสิต ทั้ง ๔ ภูมินี้ ย่อมมีคู่ครองของตนเป็นประจำอยู่มากบ้าง น้อยบ้าง ตามบุญญาธิการของตน แต่ในชั้นนิมมานรตีและปรนิมมิตวสวัตตี ไม่มีคู่ครองของตนเป็นประจำ เวลาใดที่ปรารถนาใคร่จะเสพกามคุณก็จะเนรมิตขึ้นมาตามที่ใจปรารถนา เมื่อได้เพลิดเพลินกับการเสพกามคุณแล้ว เทพเนรมิตจะอันตรธานไป มีความเพลิดเพลินเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นภูมิที่น่ารื่นรมย์ แต่ถ้าจะพิจารณาโดยสภาวธรรมแล้วเห็นว่าเป็นการไปใช้บุญเก่าพร้อมกับสะสมกิเลสใหม่ไปด้วย เมื่อหมดบุญเก่าก็ต้องไปรับผลของกิเลสที่สะสมใหม่ เมื่อตายจากเทวภูมิแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิด้วยกำลังแห่งอกุศลที่ได้กระทำไว้ในเทวภูมินั้น เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วก็ไม่ควรยินดี แต่ให้มองเห็นวัฏฏะของชีวิตว่าถึงจะเกิดมาได้รับความสุขอย่างล้นเหลือในเทวภูมิใดๆ ก็ตาม ตราบใดเมื่อยังมีการเกิดอีก ความทุกข์ความโทมนัสไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่นอน นิมมานรตีภูมิ อยู่กลางอากาศห่างจากดุสิตาภูมิขึ้นไป ๔๒,๐๐๐ โยชน์ มีแต่อากาสัฏฐเทวดาอย่างเดียว ที่มีความสวยงามประณีต มีอายุยืนกว่าเทวดาในชั้นดุสิต

ทางไปสวรรค์ชั้นนิมมานรตี ในทานสูตรกล่าวว่า
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่าเราจะให้ทานเหมือน อย่างฤาษีทั้งหลายที่ได้กระทำมาในอดีต เมื่อตายและกุศลนั้นจะส่งผล ย่อมทำให้เขาไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี” ตัวอย่างผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ คือ หญิงชราอนาถาผู้หนึ่งได้ใส่บาตรด้วยน้ำผักดอง แด่พระมหากัสสปเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ที่ออกจาก นิโรธสมาบัติ พอตกกลางคืนเข้านอนเกิดเป็นโรคลมฉับพลันถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะตายนางยังชื่มชมปีติโสมนัสอยู่ในใจที่พระมหากัสสปเถระเจ้าได้กรุณามาโปรดถึงหน้าบ้านเพื่ออนุเคราะห์ให้นางได้ทำทาน กุศลนี้เองที่นำให้นางไปเกิดเป็นเทพนารี มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี เสวยทิพยสมบัติอยู่ในปราสาทพิมาน 
สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แปลว่า ทำอำนาจของตนให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่ผู้อื่นรู้ความคิดของจิตแล้วนิรมิตให้ เทวดาในสวรรค์ชั้นนี้เพียงแต่คิด ก็จะมีผู้เนรมิตสิ่งปรารถนานั้นให้ไม่ต้องเนรมิตเอง ผู้ที่มาคอยนิรมิตให้นั้นไม่มีกล่าวว่าเป็นเทพพวกไหนชั้นไหนทำให้ เทวดาชั้นนี้มีความสุขความสำราญยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นที่ ๕ เมื่อปรารถนาเสวยกามคุณก็มีผู้นิรมิตให้ เมื่อได้เสวยกามคุณสมความปรารถนาแล้ว เทพเนรมิตจะอันตรธานไป ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิตั้งอยู่ในอากาศ ห่างจากนิมมานรตีภูมิ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ มีแต่อากาสัฏฐ-เทวดาอย่างเดียว มีท้าวปรนิมมิตตเทวราช หรือ ท้าววสวัตตีเทวราช เป็นผู้ปกครองเทวดาทั้ง ๖ ชั้น เทวดาในชั้นนี้มีร่างกาย วิมานทิพยสมบัติ สวยงามประณีตมากกว่าเทวดาในชั้นนิมมานรตี ภูมินี้ถือว่าเป็นยอดภูมิ คือ ภูมิที่สูงสุดของเทวดา

ทางไปสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ในทานสูตรกล่าวไว้ว่า 
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่า ทำทานเพื่อให้จิตเกิดความปลื้มปีติในบุญที่ทำ เมื่อตายลงและกุศลนั้นจะส่งผลจะทำให้ไปเกิดใน สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี”

ในมนุษยโลกและเทวโลก ภูมิไหนจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า
ในเทวภูมิมีพระอริยบุคคลมากกว่ามนุษยภูมิ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อแสดงธรรมแต่ละครั้งมีเทวดาฟังธรรมและบรรลุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเทวดาที่ฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามี มีเป็นจำนวนมาก ส่วนที่บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อหมดอายุขัยจากเทวดาแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมภูมิ ส่วนที่บรรลุเป็นพระอรหันต์เมื่อหมดอายุขัยแล้วก็ปรินิพพานไม่มีการเกิดอีก 

การที่พระอริยบุคคลในมนุษยโลกมีน้อยกว่าในเทวโลก เพราะบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนาในมนุษยโลกนี้ มีความสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาน้อย และยิ่งในปัจจุบันมนุษยโลกเข้าสู่กลียุค คือ มีสัปบุรุษ (คนดี)อยู่เพียง ๑ ใน ๔ ส่วน นอกนั้นเป็นอสัปบุรุษ (คนพาล) ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่สนใจเรื่องปริยัติและปฏิบัติจึงขาดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ไม่อาจนำตนให้พ้นจากปุถุชนไปสู่อริยบุคคลได้ ฉะนั้น การจะเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องมีคุณธรรม ๗ ประการ คือ
๑. ต้องเป็นติเหตุกบุคคล(อ่านว่า ติ-เห-ตุ-กะ-บุค-คล) คือ บุคคลที่เกิดมาประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ
อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยปัญญา
๒. เคยสร้างปัญญาบารมีในการเจริญวิปัสสนามาแต่ชาติก่อน
๓. ขวนขวายในการเจริญวิปัสสนาในปัจจุบันชาติ
๔. วิธีการเจริญวิปัสสนาถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
๕. สถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ
๖. ไม่มีความกังวลใดๆในปลิโพธิ ๑๐ ประการ คือ กังวลเรื่องที่อยู่ กังวลเรื่องตระกูล กังวลเรื่องลาภสักการะ กังวลเรื่องหมู่คณะ กังวลเรื่องนวกรรม(งานก่อสร้าง) กังวลเรื่องการเดินทาง กังวลเรื่องญาติ กังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ กังวลเรื่องการเล่าเรียน กังวลเรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์
๗ . มีเวลาในการปฏิบัติอันสมควร



๗. มนุษยภูมิ

สัตว์ทั้งหลายที่ชื่อว่ามนุษย์ เพราะว่ามีใจสูงด้วยคุณทั้งหลาย คือ มีสติ มีความเป็นผู้กล้าและความเป็นผู้สมควรแก่พรหมจรรย์ เป็นต้น

ที่อยู่ของมนุษย์มีอยู่ในทวีปใหญ่ ๔ ทวีป คือ
๑. อุตตรกุรุทวีป (อ่านว่า อุด-ตะ-ระ-กุ-รุ-ทวีป)
๒. ปุพพวิเทหทวีป (อ่านว่า ปุบ-พะ-วิ-เท-หะ-ทวีป)
๓. อปรโคยานทวีป (อ่านว่า อะ-ปะ-ระ-โค-ยาน-ทวีป)
๔. ชมพูทวีป (อ่านว่า ชม-พู-ทวีป) ทวีปทั้ง ๔ นี้ ตั้งอยู่รอบภูเขาสิเนรุตามทิศทั้ง ๔ ทวีปหนึ่งๆ มีทวีปใหญ่ น้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐ ทวีป (ทวีปใหญ่ ๔ ทวีป คูณ ทวีปบริวาร ๕๐๐ เท่ากับ ๒,๐๐๐ ทวีป)
 
อธิบายลักษณะของภูเขาสิเนรุ
ภูเขาสิเนรุ เป็นศูนย์กลางของมงคลจักรวาล คือ จักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะอุบัติขึ้นเฉพาะในมงคลจักรวาลนี้เท่านั้น ยอดเขาสิเนรุเป็นผืนแผ่นดินแห่งแรกที่โผล่ขึ้นหลังจากโลกธาตุถูกทำลายลงด้วยน้ำ แผ่นดินที่โผล่ครั้งแรกเป็นที่ตั้งของเทวดาชั้นตาวติงสาภูมิ และภูมิที่อยู่สูงขึ้นไปในอากาศ คือ ยามา - ดุสิต - นิมมานรตี - ปรนิมมิตวสวัตตี ต่อจากนั้น ก็เป็นภูมิของรูปพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ตามลำดับ

ภูเขาสิเนรุ มีความสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ จมอยู่ในมหาสมุทรสีทันดรครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งอยู่เหนือพื้นมหาสมุทร วัดโดยรอบได้ ๒๕๒,๐๐๐ โยชน์ ยอดเขามีลักษณะกลมมีความกว้างและความยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ พื้นแผ่นดินยอดเขาประกอบด้วยรัตนะเจ็ด ตามไหล่เขา ๔ ด้าน ทิศตะวันออก เป็นเงิน ทิศตะวันตกเป็นแก้วผลึก ทิศใต้เป็นแก้วมรกต ทิศเหนือเป็นทอง น้ำในมหาสมุทรตลอดจนอากาศ ต้นไม้ ใบไม้ ที่อยู่ทิศนั้นๆ จะเป็น สีเงิน สีแก้ว ผลึก สีเขียว สีทอง ตามสีของรัตนะที่อยู่ตามไหล่เขาด้วย

ตอนกลางภูเขาสิเนรุลงมาจนถึงใต้พื้นน้ำมหาสมุทร มีชานบันไดเวียนห้ารอบ คือ
ชั้นที่ ๑ ที่อยู่ใต้พื้นน้ำเป็นที่อยู่ของพญานาค
ชั้นที่ ๒ เป็นที่อยู่ของครุฑ
ชั้นที่ ๓ เป็นที่อยู่ของกุมภัณฑเทวดา
ชั้นที่ ๔ เป็นที่อยู่ของยักขเทวดา
ชั้นที่ ๕ เป็นที่อยู่ของจาตุมหาราชิกา ๔ องค์ 

พื้นรากฐานของภูเขาสิเนรุ มีภูเขา ๓ ลูกตั้งรับอยู่ ๓ ด้าน พื้นฐานของภูเขาสิเนรุหยั่งลงตั้งอยู่ในช่องระหว่างกลางของภูเขาทั้ง ๓ ใต้พื้นฐานของ ภูเขาสิเนรุลงไปมีช่องว่างเป็นอุโมงค์ มีความกว้างหนึ่งหมื่นโยชน์ เป็นที่อยู่ของเหล่าอสูร ในระหว่างโลกธาตุหนึ่งๆ มีภูเขากั้นไว้เรียกว่าภูเขาจักรวาล มีขนาด ต่ำกว่าภูเขาสิเนรุ รอบภูเขาสิเนรุ มีภูเขาสัตตบรรพ์ ๗ ชั้นล้อมรอบ
ชั้นที่ ๑ ชื่อยุคันธร
ชั้นที่ ๒ ชื่ออิสินธร
ชั้นที่ ๓ ชื่อกรวิกะ
ชั้นที่ ๔ ชื่อสุทัสสนะ
ชั้นที่ ๕ ชื่อเนมินธร
ชั้นที่ ๖ ชื่อวินตกะ
ชั้นที่ ๗ ชื่ออัสสกัณณะ

คัมภีร์สารัตถทีปนีฎีกา กล่าวไว้ว่ามหานรก ๘ ขุม และอุสสทนรก นรกบริวารของมหานรก ตั้งอยู่ใต้พื้นดินธรรมดา ลึกลงไปตรงกันกับชมพูทวีป รวมเนื้อที่กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ สูง ๑๐,๐๐๐โยชน์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม อธิบายลักษณะของพื้นแผ่นดิน ดังนี้คือ พื้นแผ่นดินตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ โลกตามพุทธภาษิตได้อธิบายว่า พื้นดินหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ชั้นบนครึ่งหนึ่งเป็นดินธรรมดาเรียกว่า ปสุปถวี หนา ๑๒๐,๐๐๐ โยชน์ ชั้นล่างครึ่งหนึ่งเป็นหินเรียกว่า สิลาปถวี หนา ๑๒๐,๐๐๐ โยชน์ พื้นแผ่นดินตั้งอยู่บนพื้นน้ำ น้ำที่รองรับแผ่นดินนี้เป็นน้ำแข็ง มีความหนา ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ น้ำแข็งนี้ตั้งอยู่บนพื้นลม มีความหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากพื้นลมไปเป็นอากาศว่างเปล่ามีแต่ความมืด ไม่มีน้ำ ไม่มีลม มีความหนาหาประมาณมิได้
 

มนุษย์ที่อยู่ในทวีปต่าง ๆ รอบเขาสิเนรุ 
๑. มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป อายุ ๑,๐๐๐ ปี 
๒. ปุพพวิเทห ทวีป อายุ ๗๐๐ ปี 
๓. อปรโคยานทวีป อายุ ๕๐๐ ปี
๔. ชมพูทวีป อายุไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับคุณธรรม 

อธิบายลักษณะของมนุษย์ที่อยู่ในทวีปทั้ง ๔
๑. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทิศเหนือของเขาสิเนรุ มนุษย์ในทวีปนี้มีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีเสมอ มีการรักษาศีล ๕ เป็นนิจ ฉะนั้นเมื่อตายจะได้ไปเกิดในเทวโลกแน่นอน เมื่อถึงเวลาตายจากเทวโลกแล้วอาจไป เกิดในอบายภูมิ ๔ หรือเกิดในทวีปอื่น หรือเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งได้แล้วแต่บุญ กรรมที่ทำในขณะที่เกิดในเทวโลก ฉะนั้นการที่คนอุตตรกุรุไม่ไปสู่อบายภูมิ ก็จะเป็นเพียงชาติเดียวจากภพที่เขากำลังเป็นอยู่เท่านั้น มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป มีความประเสริฐกว่าคนในชมพูทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดังนี้ 
๑ . ไม่ยึดถือเอาทรัพย์สินเงินทองว่าเป็นของตน
๒ . 
ไม่ยึดถือในบุตร ภริยา สามี ว่าเป็นของตน
๓.มีอายุยืนยาวถึง ๑,๐๐๐ ปีเสมอ
๒. ปุพพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ มนุษย์ในทวีปนี้มี ใบหน้าคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก มีอายุ ๗๐๐ ปี
๓. อปรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ มนุษย์ในทวีปนี้มีใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์วันเพ็ญ มีอายุ ๕๐๐ ปี
๔. ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทิศใต้ของเขาสิเนรุ มนุษย์ในทวีปนี้มีใบหน้ารูปไข่ มีอายุขัยไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับคุณธรรม สมัยใดคนในชมพูทวีปมีกาย วาจา ใจ สูงด้วยคุณธรรม สมัยนั้นอายุยืนถึง อสงไขยปี สมัยใดมีกาย วาจา ใจ หย่อนในคุณธรรมต่ำสุด สมัยนั้นอายุจะลดลงมาเหลือเพียง ๑๐ ปี คุณสมบัติของมนุษย์ในชมพูทวีป
๑. มีจิตใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง กล้าหาญที่จะทำดีและไม่ดีได้อย่างสุดๆ ทางดีทำได้จนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก อภิญญา ทางไม่ดีทำได้ถึงฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท สังฆเภท หรือเรียกว่าทำอนันตริยกรรม ๕ 
๒. มีความเข้าใจในเหตุอันควรและไม่ควร เข้าใจเหตุผลและปฏิบัติให้รู้ รูปนามตามความเป็นจริง
๓. เข้าใจสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ รู้และเข้าใจว่าการ ทำ พูด คิด อย่างไรจึงจะให้ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ทำให้พ้นจากทุกข์โดยเด็ดขาด ๔. เข้าใจในกุศลและอกุศล การทำ พูด คิด ที่เป็นไปด้วยอำนาจของความโลภ เป็นไปด้วยอำนาจของความโกรธ เป็นไปด้วยอำนาจของความลุ่มหลง ก็จะหลีกเลี่ยงไม่กระทำ เพราะเข้าใจผลกรรมที่จะตามมาจากการทำ พูด คิด แล้วมาทำในสิ่งที่เป็นบุญกุศล
๕. เชื่อว่าพวกตนนั้นมีเชื้อสายมาจากพระเจ้ามนุ ซึ่งมีตำนานเล่าว่า พระเจ้ามนุนี้เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ปกครองชาวชมพูทวีปมาด้วยความเที่ยงธรรม ทำ
ให้ชมพูทวีปมีความรุ่งเรืองสืบทอดกันมา
 
มนุษย์ในชมพูทวีปจึงมีลักษณะพิเศษกว่าทวีปอื่นทั้งหมด ๓ ประการ คือ
๑. เป็นผู้มีจิตใจกล้าแข็งแน่วแน่ในการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
๒. มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๓. ประพฤติพรหมจรรย์ คือ มีการอุปสมบท



 


๖. อสุรกายภูมิ

อสุรกาย หรือ อสูร เรามักเข้าใจว่าได้แก่พวกยักษ์ตามเรื่องรามเกียรติหรือในเรื่องอื่นๆ ซึ่งลักษณะดุร้ายน่ากลัว แต่ตามคัมภีร์ทางพระ อภิธรรมได้กล่าวถึงอสุรกายไว้ ๒ จำพวก คือ
  • อสุระ ที่เป็นข้าศึกของเทพดาชั้นดาวดึงส์ 
  • อสุรเปรต นิรยอสุรา


คำว่า อสุระ จึงแปลว่า ไม่ใช่เทพ และคำว่า สุระ แปลว่า เล่น หมายถึงเสวยสุข พวกเทวดาเสวยสุขด้วยทิพยสมบัติ จึงเรียกว่าสุรเทพ แต่อสุระมีภาวะตรงกันข้าม คือ เสวยทุกข์ เท่ากับเป็นเปรตชนิดหนึ่ง คือ นิรยอสุรา อสุระพวกที่เป็นข้าศึกของเทพชั้นดาวดึงส์ แต่เดิมก็อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้แก่ เวปจิตติอสุรา สุพลิอสุรา ราหุอสุรา ปหาระอสุรา สัมพรตีอสุรา และ วินิปาติกอสุรา เฉพาะเทวดา ๕ ประเภทแรกเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ อาศัยอยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ มีเรื่องกล่าวไว้ว่าแต่เดิมอสุราทั้ง ๕ พวกนี้ เคยอยู่บนชั้นดาวดึงส์ ต่อมามฆมานพและบริวาร ๓๒ คน ขึ้นไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

มฆมานพเป็นพระอินทร์ และบริวาร ๓๒ คน ได้มาเกิดก็มีการฉลองกันเป็นการใหญ่ เมื่ออสุราทั้ง ๕ พวกนี้เมาสุราจนได้ที่แล้ว พระอินทร์และบริวาร จึงจับพวกอสุราโยนลงจากยอดเขาสิเนรุ ทำให้ต้องมาอยู่ใต้เขาสิเนรุ ด้วยเหตุนี้เองทำให้อสุรา ๕ พวกนี้แค้นเทวดาชั้นดาวดึงส์มาก และได้เคยยกพวกขึ้นเขาสิเนรุไปรบกับเทวดาชั้นดาวดึงส์หลายครั้ง บางครั้งก็ชนะบางครั้งก็แพ้ วินิปาติกอสุราเทวดาพวกที่ ๖ นี้ เป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์เช่นกัน มีรูปร่างเล็กกว่าเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ มีอำนาจน้อยกว่า และอาศัยอยู่ในมนุษย์โลกทั่วไป เช่น ตามป่าเขา ต้นไม้ ศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ภุมมัฏฐเทวดา วินิปาติกอสุรานี้เป็นบริวารของภุมมัฏฐเทวดานั่นเอง 
 
นิรยอสุรา เปรตจำพวกหนึ่งที่ต้องเสวยทุกข์อยู่ในโลกันตนรก โลกันตนรกนี้ ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสามที่มีเขตเชื่อมติดต่อกัน อุปมาเหมือน เอาแก้วสามใบมาตั้งรวมกันเข้าเป็นสามมุม ช่องว่างที่อยู่ระหว่างกลางของถ้วยแก้วที่ตั้งไว้ฉันใด จักรวาลทั้งสามจักรวาลได้เชื่อมต่อกันเข้าเป็นสามมุม แล้วมีช่องว่างระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสามก็ฉันนั้น โลกันตนรกนี้แสงใดๆก็ไม่สามารถเล็ดลอดมาถึงได้ ใต้พื้นเป็นน้ำที่เย็นมากที่สุด เย็นเป็นกรด นิรยอสุราเป็นสัตว์จำพวกที่เกาะอยู่ตามขอบจักรวาลที่มืดมิด เหมือนค้างคาวที่เกาะไต่ไปมาตามฝาผนัง มีความหิวกระหายเป็นกำลัง เกาะไต่ไปพลางเมื่อพบพวกเดียวกันจะโผเข้าหากัน ต่างฝุายต่างคิดว่าเป็นอาหารของกันและกันเพราะความมืดมิด ต่อสู้กันถ้าพลัดตกไปในน้ำกรดข้างล่าง กายก็จะละลายหายไปทันที แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ เกาะอยู่ที่ขอบจักรวาลอีกตกตายไปอีก วนเวียนเช่นนี้จนกว่าจะหมดกรรม อสุรกายภูมินี้ ก็สงเคราะห์เข้าในเปรตภูมิ แต่การที่ท่านจัดเป็นอสุรกายภูมิเข้าอีกภูมิหนึ่งเช่นนี้ ก็เพราะว่าในบรรดาเปรตทั้งหลายนั้น มีเปรตที่พิเศษอีกพวกหนึ่ง เปรตที่พิเศษนี้ท่านจึงเรียกว่าอสุรกาย 



 

๕. เปรตภูมิ

เปรตภูมิ เป็นที่อยู่ของบุคคลที่ทำบาปเบากว่าพวกที่ไปเกิดในนรกภูมิ เป็นภูมิที่สัตว์นรกถูกทรมานด้วยการอดอยากหิวโหย เปรตบางชนิดต้องกิน หนอง เลือด เสมหะ อุจจาระ เป็นอาหาร 

ที่อยู่ของเปรต เปรตไม่มีที่อยู่โดยเฉพาะ จะอยู่ทั่วๆ ไปตามป่า ภูเขา เหว เกาะ แก่ง ทะเล มหาสมุทร ป่าช้า เป็นต้น
ชนิดของเปรต เปรตมีหลายจำพวก มีทั้งพวกที่ตัวเล็ก ตัวใหญ่ บางพวกแปลงกายเป็นเทวดา มนุษย์ผู้ชาย มนุษย์ผู้หญิง ดาบส พระ เณร หรือชี ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเทวดา พระ เณร จริงๆเจตนาของการแปลงกายก็เพื่อจะช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้พบเห็นนั้น ส่วนการแปลงกายที่มุ่งจะทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัวเสียขวัญตกใจ ก็จะแปลงกายเป็นวัว ควาย ช้าง สุนัข รูปร่างใหญ่โตน่าเกลียดน่ากลัว
อาหารของเปรต เปรตทั้งหลายต้องเสวยทุกข์เวทนาคือการอดข้าวอดน้ำ เปรตบางพวกจึงเข้าไปกินเศษอาหารที่ชาวบ้านเขาทิ้งไว้ บางพวกกินเสมหะ น้ำลาย ของโสโครกต่างๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่าเปรตที่อาศัยอยู่ตาม ภูเขา เช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏ นอกจากจะอดอาหารแล้วยังต้องถูกทรมานเหมือนสัตว์นรกด้วย ต่อไปจะแสดงเปรตประเภทต่าง ๆ ตามพระอรรถกถาและพระคัมภีร์ดังนี้
 
ในอรรถกถาเปตวัตถุ แสดงเปรตไว้ ๔ จำพวก คือ
๑. ปรทัตตุปชีวิกเปรต เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยส่วนบุญที่เขาอุทิศให้ ถ้าไม่มีผู้อุทิศให้ก็ต้องอดอยากหิวโหยได้รับทุกขเวทนาอยู่เช่นนั้น ปรทัตตุปชีวิกเปรต เป็นเปรตประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถจะรับส่วนกุศลที่มนุษย์แผ่ไปให้ได้ อยู่ใกล้มนุษย์ เนื่องจากเวลาใกล้ตายมีความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สินเงินทอง ห่วงใยในสามีภรรยา ลูกหลานหรือมิตรสหาย เมื่อตายก็จะอยู่ในบริเวณบ้านเรือนนั้นเอง ส่วนใหญ่เรียกว่าผี ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นเปรตอยู่ในบริเวณนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ก็ไม่มีโอกาสได้อนุโมทนา เปรตก็จะไม่ได้รับส่วนบุญนั้น แต่บุญที่อุทิศให้แก่ญาติผู้ตายแล้วนั้น หากไม่ถึงหรือไม่สำเร็จ บุญนั้นก็ไม่สูญหายไปไหน คงเป็นบุญที่ติดตัวแก่ผู้อุทิศให้นั้น ซึ่งจะเป็นผลบุญอีกต่อหนึ่งของผู้ทำบุญ ฉะนั้นเมื่อทำบุญกุศลทุกครั้งควรอุทิศส่วนกุศลให้ญาติทั้งหลายของเราทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ เพราะในสังสารวัฏที่ผ่านมานี้อาจมีญาติของเรายังคอยการอุทิศส่วนกุศลจากเราอยู่ สำหรับพระโพธิสัตว์เมื่อได้รับพยากรณ์แล้ว ถ้าจะเกิดเป็นเปรต ก็จะเกิดเป็นเปรตได้ประเภทเดียวเท่านั้น คือ ปรทัตตุปชีวิกเปรต
๒. ขุปปิปาสิกเปรต เป็นเปรตชนิดที่ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าวหิวน้ำ ไม่มีเรี่ยวแรงแม้จะลุกขึ้น นอนแซ่วอยู่เหมือนคนป่วยที่ใกล้จะตาย
๓. นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่มีตัวตัณหาทำให้หิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ เนื่องจากเปลวไฟที่ลุกอยู่ในปากนั่นเอง
๔. กาลกัญจิกเปรต เป็นเปรตจำพวกอสุรกาย หรือ อสุรา ลักษณะของอสุรกายประเภทกาลกัญจิกเปรต มีร่างกายสูงสามคาวุต (๑ คาวุต ประมาณ ๔,๐๐๐ เมตร) ไม่มีแรง เพราะมีเลือดและเนื้อน้อย มีสีสันคล้ายกับใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนกับตาของปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ เวลาจะกินต้องห้อยหัวลง



จากลักขณสังยุตในนิทานวรรค กล่าวถึงเรื่องเปรตมีใจความสรุปดังนี้
การไปเกิดเป็นเปรตชนิดต่างๆ นั้นเพราะเศษกรรม คำว่า เศษกรรม คือ บาปกรรมที่ยังเหลืออยู่ หมายถึงเศษบาปนั่นเอง คือเมื่อเป็นมนุษย์ทำบาปหยาบช้าไว้ ตายไปเกิดในนรก พ้นจากนรกแล้วยังไม่สิ้นบาปกรรมทั้งหมด จึงต้องไปเป็นเปรตเสวยทุกข์ต่อไปอีก เพราะกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้น

ตัวอย่างเรื่องเปรตจากพระไตรปิฏก
  • ท่านพระลักขณะ (พระองค์หนึ่งในชฎิลพันองค์) และท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่บนภูเชาคิชฌกูฏใกล้พระนครราชคฤห์ เวลาเช้าท่านทั้งสองออกบิณฑบาต ขณะที่เดินลงจากภูเขา ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แย้มพระโอษฐ์ (คืออาการบันเทิงของพระอรหันต์ไม่ถึงยิ้ม) พระลักขณะได้ถามถึงเหตุ ของอาการแย้ม ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า ไม่ใช่เวลาถามปัญหา ให้ถามในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด เมื่อท่านทั้งสองบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์และทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเวฬุวัน ท่านพระลักขณะจึงกล่าวถามขึ้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงเล่าว่าได้เห็นร่างสัตว์อย่างหนึ่งลอยไปในอากาศ มีลักษณะอาการตามที่ท่านได้เห็น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรับรอง และได้ทรงกล่าวถึงบาปที่สัตว์นั้นได้ทำขณะเมื่อเป็นมนุษย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นบ่อยๆ ขณะที่เดินลงจากเขาคิชฌกูฏ และได้เล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ทุกครั้ง การแย้มของพระโมคคัลลานะเพราะท่านดำริว่าท่านเองพ้นแล้วจากอัตภาพเช่นนั้น ต่างจากผู้ที่ยังไม่เห็นสัจจะ ยังมีภพไม่แน่นอน ซึ่งอาจไปเกิดเป็นเปรตเช่นนั้นอีกก็ได้ ท่านจึงบันเทิงใจ (ไม่ใช่ว่าแย้มเพราะเป็นการเย้ยหยัน
  • เปรตตนหนึ่งมีแต่โครงกระดูก ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าโค เพราะเคยเป็นคนฆ่าโค ชำแหละเนื้อให้เหลือแต่กระดูกอยู่ในพระนคร ราชคฤห์ 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นชิ้นเนื้อ ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าโค เพราะเคยเป็นคนฆ่าโคชำแหละเนื้ออยู่ในพระนครนั้นเช่นเดียวกัน ที่แตกต่างกันตนหนึ่งเป็นโครงกระดูก ตนหนึ่งเป็นชิ้นเนื้อ เพราะว่านิมิตที่สัตว์นั้นเห็นในเวลาที่ไปเกิดต่างกัน จึงไปเกิดมีรูปลักษณะที่ต่างกัน คือ เมื่อเห็นนิมิตเป็นโครงกระดูกก็ไปเกิด เป็นเปรตโครงกระดูก เห็นนิมิตเป็นชิ้นเนื้อก็ไปเกิดเป็นเปรตชิ้นเนื้อ
  • เปรตตนหนึ่งเป็นก้อนเนื้อ ถูกแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่านก ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษไม่มีผิวหนัง ถูกแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าแกะ เพราะเคยเป็นคนฆ่าถลกหนังแกะขายอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งมีขนทั่วสรรพางค์กาย กลายเป็นดาบที่หลุดกระเด็นออกไป แล้วกลับมาทิ่มแทงกายตนเอง ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าสุกร เพราะเคยเป็นคนฆ่าสุกรขายด้วยอาวุธชนิดนั้นอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษ มีขนทั่วสรรพางค์กาย กลายเป็นหอกที่หลุดกระเด็นออกไป แล้วกลับมาทิ่มแทงกาย ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าเนื้อ ด้วยเคยเป็นคนใช้หอกฆ่าเนื้อขาย อยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษ มีขนทั่วสรรพางค์กาย กลายเป็นดอกธนูที่หลุดกระเด็นออกไปแล้วกลับมาทิ่มแทงกาย ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่เคยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเบียดเบียนประชาชนด้วยอำนาจของตน มีการทรมานบ้าง ฆ่าบ้าง ยิงให้ตายด้วยธนูอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษ มีขนทั่วสรรพางค์กายกลายเป็นปฏักที่หลุดกระเด็นออกไปแล้วกลับมาทิ่มแทงกาย ลอยร้องครวญครางไปในเวหาส เพราะเศษกรรมที่ฝึกม้าอย่างโหดร้ายทารุณ เคยเป็นคนฝึกม้า ด้วยวิธีโหดร้ายทารุณ ใช้ปฏักแทงม้าถึงพิการหรือตายอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษ มีขนทั่วสรรพางค์กายกลายเป็นเข็มทิ่มเข้าไปในศีรษะออกทางปาก ทิ่มเข้าไปในปากออกทางอก ทิ่มเข้าไปในอกออกทางท้อง ทิ่มเข้าไปในท้องออกทางขา ทิ่มเข้าไปในขาออกทางแข้ง ทิ่มเข้าไปทางแข้งออกทางเท้า ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่มีปากเป็นเข็ม คือ เป็นคนพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน เป็นคนที่พูดทิ่มแทงให้เขาเจ็บใจเป็นทุกข์ 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษมีอวัยวะรหัสโตอย่างหม้อน้ำขนาดใหญ่ ต้องเดินแบกขึ้นคอไป หรือต้องนั่งทับ ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฉ้อโกงชาวบ้าน ชาวเมือง เคยเป็นอมาตย์ฉ้อโกง รับสินบนในลับแล้วสั่งให้วินิจฉัย บิดเบือน ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองต้องแบก ภาระเป็นทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงฝุาฝืนไม่ได้ เศษกรรมที่รับสินบนในที่ลับ จึงส่งให้อวัยวะ รหัสปรากฏอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องแบกทุกข์ทรมานไป 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษจมหลุมคูถมิดศีรษะ เพราะเศษกรรมที่เป็นชู้กับภริยาของผู้อื่น ด้วยได้เคยเป็นชายชู้ดังกล่าวอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นบุรุษจมอยู่ในหลุมคูถ กอบคูถด้วยมือทั้งสองเข้าปากเคี้ยว เพราะเศษกรรมที่เอาคูถใส่บาตรพระ เคยเป็นพราหมณ์ผู้เกลียดและแกล้งพระในพระพุทธศาสนาดั่งกล่าวในพระนครนั้น
  • เปรตตนหนึ่งเป็นสตรีไม่มีหนัง ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ประพฤตินอกใจ เคยเป็นสตรีประพฤตินอกใจสามี เป็นชู้กับชายอื่นอยู่ในพระนครนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งเป็นสตรีมีกลิ่นเหม็น รูปร่างน่าเกลียด ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่เป็นแม่มดหลอกลวงคน เคยเป็นผู้หลอกลวงแสดงตน ตัวแทน เป็นสื่อทรงของยักษ์ หรือภูตผีปีศาจ รับบูชาพลีกรรมของคนผู้หลงเชื่ออยู่ในพระนครนั้น
  • เปรตตนหนึ่งเป็นสตรี ถูกไฟไหม้สุกเกรียมดำคล้ำไปทั้งตัวเยิ้มเกรอะกรังไปด้วยน้ำเลือดน้ำหนอง ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่โรยถ่านเพลิงบนศีรษะหญิงอีกคนหนึ่งด้วยแรงริษยา ด้วยสตรีคนนั้นได้เคยเป็นอัครมเหสีของพระราชากลิงคะ มีความริษยาในสตรีร่วมพระสวามีคนหนึ่ง ถึงกับใช้กระทะเหล็กตักถ่านเพลิงโปรยลงบนศีรษะของนางนั้น 
  • เปรตตนหนึ่งไม่มีศีรษะ มีตาและปากอยู่ที่อก ถูกฝูงแร้งกานกตะกรุมรุมเจาะจิก ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่ฆ่าตัดศีรษะคน เคยเป็นเพชฌฆาตชื่อว่า หาริกะ ตัดศีรษะโจรเป็นอันมากอยู่ในพระนครนั้น 
เปรตตนหนึ่งเป็นภิกษุตนหนึ่ง เป็นภิกษุณีตนหนึ่ง เป็นสิกขมานา (สามเณรีผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี ต้องรักษาศีลพิเศษอยู่สองปีก่อน ระหว่างนี้เรียกว่าสิกขมานา) ตนหนึ่ง เป็นสามเณรตนหนึ่ง เป็นสามเณรีตนหนึ่ง ทุกคนทรงสังฆาฏิ บาตร ประคต เป็นไฟ ลุกโชน ตลอดทั้งร่างกาย ลอยร้องครวญครางไปในอากาศ เพราะเศษกรรมที่เป็นผู้บวชแล้วทำชั่ว ด้วยได้เคยเป็นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ผู้ประพฤติไม่ดี บริโภคปัจจัยลาภที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้วไม่สำรวมกายวาจา หาเลี้ยงชีพผิดทางสมณะ คะนองระเริงใจจนถึงวิบัติต่างๆ 

เปรตเหล่านี้เป็นเปรตในพระนครราชคฤห์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นด้วยทิพย์จักษุ มีผู้ไม่เชื่อมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลแล้วเหมือนกัน ดั่งที่มีกล่าวไว้ในพระวินัยว่า พวกภิกษุเมื่อได้ฟังท่านพระมหาโมคคัลลานะเล่าเรื่องนี้ ก็กล่าวโทษว่าท่านพูดอวดอุตริมนุษยธรรม (คือธรรมที่ยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่ง) พระพุทธเจ้าตรัสว่าสาวกทั้งหลาย ผู้มีดวงตาญาณจักรู้จักเห็นได้ และเพราะว่าพระพุทธองค์เองก็ได้เคยทรงเห็นสัตว์นั้นมาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ทรงพยากรณ์หรือตรัสบอกแก่ใคร เพราะถ้าทรงตรัสบอกไปแล้วถ้าเขาไม่เชื่อคำของพระพุทธองค์ บุคคลนั้นๆ ก็จะมีแต่โทษไม่มีประโยชน์อะไร ครั้นทรงได้พระมหาโมคคัลลานะเป็นพยานจึงทรงพยากรณ์ตรัสกล่าวถึงบุพกรรมของเปรตเหล่านี้