พระพุทธดำรัส (๑๒)

🙏 พระพุทธดำรัส 🙏




🔅 ทำอย่างไรจึงจะค้าขายมีกำไร
ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนค้าขายจึงขาดทุน บางคนไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนกลับได้ยิ่งกว่าที่มุ่งหมายไว้ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด เขากลับไม่ถวายปัจจัยดังที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด เขาย่อมขาดทุน

“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด แต่เขาถวายปัจจัยไม่เต็มตามที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์

“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด เขาถวายปัจจัยเต็มตามที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์

“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด แต่เขาถวายปัจจัยยิ่งกว่าที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์

วณิชชสูตร


🔅 เหตุที่ทำให้เป็นเทพี
ปัญหา ทำไมสตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้งยังยากจนและต่ำศักดิ์อีกด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ไม่เป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ยวดยาน ระเบียบ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือการไหว้ การบูชาของผู้อื่น กีดกันตัดรอนผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนันมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนยากจนขัดสนทรัพย์สมบัติและต่ำศักดิ์”

มหาวรรค


🔅 ทำไมไม่สวยแต่รวยและสูงศักดิ์
ปัญหา ทำไมสตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ แต่มีทรัพย์สมบัติมากและมีศักดิ์สูง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคามบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด.... แต่เขาเป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ยวดยาน แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจไม่ริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ไม่กีดกันตัดรอน.... ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งมีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์สมบัติและสูงศักดิ์”

มหาวรรค


🔅 ทำไมจึงสวยแต่ยากจนและต่ำศักดิ์
ปัญหา เพราะเหตุไร สตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปงาม แต่ยากจนขัดสน และต่ำศักดิ์?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเล็กน้อยก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว แต่เขาเป็นผู้ไม่ให้ทานคือข้าว น้ำ ผ้า..... แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้..... ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม..... แต่เป็นคนยากจนขัดสนและต่ำศักดิ์”

มหาวรรค


🔅 ทำไมจึงสวย รวยทรัพย์ สูงศักดิ์
ปัญหา เพราะเหตุไร สตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปงาม บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ และสูงศักดิ์อีกด้วย?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง... เป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม..... แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้ไม่มีใจริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน... ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้น..... กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม..... ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณดียิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์ฯ”

มหาวรรค


🔅 ทำอย่างไรจะได้พบกันอีกในชาติหน้า
ปัญหา ถ้าสามีภรรยารักกันมากๆ ในชาตินี้ และปรารถนาจะพบกันอีก ได้เป็นสามีภรรยากันอีกในชาติหน้า จะมีทางเป็นไปได้ไหม? และควรจะปฏิบัติอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ (ชาติหน้า) ไซร้ทั้งสองคนนั้นแลพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ...”

สมชีวสูตร


🔅 อย่าน้อยใจว่าเราเกิดมามีกรรม
ปัญหา คนที่เกิดมามีกรรม ยากจน อัปลักษณ์ อับปัญญา จะมีวิธีปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น หรือกลับตนกลับตัวได้หรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “....บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดมาในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างเย็บหนัง หรือในตระกูลคนเทหยากเยื่อ อันเป็นตระกูลเข็ญใจ มีข้าวน้ำและโภชนะน้อย เป็นอยู่โดยฝืดเคือง หาของบริโภคและผ้านุ่งห่มได้โดยฝืดเคือง อนึ่ง เขามีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เป็นคนแคระ มีโรคมาก เป็นคนตาบอด เป็นคนง่อย เป็นคนกระจอก หรือพิการไปแถบหนึ่ง ไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ยานพาหนะ ระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปตามสมควร แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา แลด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าพึงสุคติโลกสวรรค์ บุคคลเป็นผู้มืดมาแล้วมีสว่างไปอย่างนี้แล”

ตามสูตร


🔅 ผู้เสียสละนั้นดีแล้วหรือ
ปัญหา คนบางคนชอบสละเวลาของตนทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว เพิกเฉยละเลยประโยชน์ของตน ชาวโลกสรรเสริญว่าเป็นคนเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวมควรได้รับการยกย่อง พระพุทธองค์ทรงยกย่องคนประเภทนี้อย่างไรหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก คือ
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ๑
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ๑

บรรดาบุคคล ๔ จะพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้เลิศ เป็นผู้วิเศษ เป็นประธาน อุดม และเป็นผู้ประเสริฐ....”

ฉลาวาตสูตร


🔅 ควรติคนอื่นหรือไม่
ปัญหา คนบางคนถืออุเบกขา ไม่ยุ่งกับคนอื่น ไม่สรรเสริญผู้ควรสรรเสริญโดยกาลอันควร ไม่ติเตียนผู้ควรติเตียนโดยกาลอันควร เฉยๆ เสียสบายดีเหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงเห็นอย่างไรในคนประเภทนี้?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนโปตลิยะ บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ ผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนโดยกาลอันควร ตามความเป็นจริง (แต่) ไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริงโดยกาลอันควร ๑ ผู้กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริงโดยกาลอันควร (แต่) ไม่ติเตียนตามความเป็นจริง โดยกาลอันควร ๑ ผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง โดยกาลอันควร ทั้งไม่กล่าว สรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริงโดยกาลอันควร ๑ ผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง โดยกาลอันควร ทั้งกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริงโดยกาลอันควร ๑

“ดูก่อนโปตลิยะ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง โดยกาลอันควร และกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริงโดยกาลอันควร นี้ เป็นผู้งามกว่า และประณีตกว่าบุคคล ๔ ประเภทนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมีความงาม คือความเป็นผู้รู้จักกาลในอันควรสรรเสริญและติเตียนนั้น ๆ....”

โปตลิยสูตร


🔅 สตรีจะเท่าเทียมบุรุษหรือไม่
ปัญหา ทำไมสตรีจึงทำงานใหญ่ๆ อย่างผู้ชายไม่ได้ ถึงจะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย จะเป็นเพราะว่าถูกผู้ชายกีดกันหรือเพราะความสามารถของสตรีเอง ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนอานนท์ มาตุคาม (สตรี) มักโกรธ มักริษยา มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม ดูก่อนอานนท์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้มาตุคามนั่งในสภาพไม่ได้ ประกอบการงานใหญ่ ๆ ไม่ได้ ไปนอกเมืองไม่ได้”

กัมโมชสูตร


🔅 ถ้าขืนคิดจะเป็นบ้าตาย
ปัญหา ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะสอนเราเสมอว่า ถ้าเราฆ่าวัวในชาตินี้ ชาติหน้าเราจะไปเกิดเป็นวัว ข้าพเจ้ามองไม่เห็นทางเลย ว่าเราจะไปเกิดเป็นวัวได้อย่างไร โปรดอธิบายการทำงานของกรรมที่สามารถติดตามไปให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปด้วย?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑
ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑
วิบากแห่งกรรม ๑
ความคิดเรื่องโลก ๑

อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน”

อจินติตสูตร


🔅 คาถากันงู
ปัญหา เวลาเราเดินทางในป่า หรือเดินทางในยามค่ำคืน จะทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกงูกัด ?

พุทธดำรัสตอบ (ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดตาย มีคนไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า) “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดกาละ (ตาย) ตระกูลพญางูทั้ง ๔ .... คือตระกูลพญางูชื่อวิรูปักข์ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ทั้ง ๔ จำพวกนี้เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน.....”

อหิสูตร

🔅 ควรศึกษาค้นคว้าอวกาศหรือไม่
ปัญหา ในห้วงอวกาศอันหาที่สุดมิได้นี้ จะมีที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ซึ่งเราควรไปถึง ควรรู้ ควรเห็น เพื่อความดับทุกข์ ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนผู้มีอายุ สัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติในที่ใด เราไม่ประกาศว่าที่นั่นเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ ที่ควรเห็น ที่ควรไปถึงได้ด้วยการเดินทาง อีกทั้งเราก็ไม่ประกาศว่า จักมีการกระทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ โดยไม่ไปถึงที่สุดแห่งโลก

“ผู้มีอายุ... เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับแห่งโลก ลงที่ร่างกายอันมีความยาวประมาณหนึ่ง มีสัญญาและมีใจครองนี้เท่านั้น.....”

โคหิตัสสสูตร



🔅 วิธีตอบคำถาม
ปัญหา ถ้ามีคนมาถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรา เราควรจะพิจารณาตอบอย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามีอยู่ ๔ ประการ ๔ ประการ คืออะไรบ้าง คือ
ปัญหาที่พึงตอบทันที ๑
ปัญหาที่พึงแยกตอบบางประเด็น ๑
ปัญหาที่พึงย้อนถามก่อนแล้วจึงตอบ ๑
ปัญหาที่ควรงดไว้ 
(ไม่ตอบ) 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามี ๔ อย่างนี้แล....”

ปัญหาสูตร

🔅 รู้มากๆ เพียงพอหรือยัง
ปัญหา ความเป็นพหูสูต คือได้เรียนรู้มาก พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นมงคลประการหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นพหูสูตอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่? มีอะไรที่มีจะต้องเรียนรู้อีก ?

พุทธดำรัสตอบ “....บุคคลบางคนในโลกนี้ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชากด อัพภูตธรรม เวทัลละ เขาไม่รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคลนี้เป็นดุจวลาหก (เมฆ) คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก...

“.....การก้าว การถอย การเหลียว การแล การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรของบุคคลบางคนในโลกนี้ ล้วนน่าเลื่อมใส แต่เขาไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคล (นี้) เป็นดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึก... เป็นดุจหม้อเปล่าที่เขาปิดไว้.... เป็นดุจมะม่วงดิบผิวสุก... เป็นดุจหนูขุดรูแต่ไม่อยู่....”

วลาหกสูตรที่ ๖ กุมภสูตร อุทกหรทสูตร


🔅 ทำไมพระจึงบวชไม่นาน
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงมูลเหตุที่ทำให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาลาสิกขาบทไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ด้วยคิดว่าเราถูกชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ครอบงำ ชื่อว่าตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์เป็นเบื้องหน้า แม้ไฉน การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏเธอบวชอย่างนั้นแล้วเพื่อนสพรหมจารีตักเตือนสั่งสอนว่า ท่านพึงก้าวไปอย่างนั้น พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้ พึงเหลียวอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงทรงสังฆาฏิบาตรและจีวรอย่างนี้ เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่าเมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่จะตักเตือนสั่งสอนผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้ คราวลูกคราวหลานของเรา สำคัญเราว่าควรตักเตือนสั่งสอน เธอโกรธเคืองแค้นใจบอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือคลื่นนี้ เป็นชื่อแห่งความโกรธและความแค้นใจ นี้เรียกว่าภัยคือคลื่น

“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชอย่างนั้นแล้ว เพื่อนสพรหมจารีตักเตือนสั่งสอนว่า สิ่งนี้เธอควรเคี้ยว สิ่งนี้ไม่ควรเคี้ยว สิ่งนี้ควรบริโภค สิ่งนี้ไม่ควรบริโภค สิ่งนี้ควรลิ้ม สิ่งนี้ไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้ควรดื่ม สิ่งนี้ไม่ควรดื่ม ของเป็นกัปปิยะเธอควรเคี้ยว ของเป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรเคี้ยว.... เธอควรเคี้ยวในกาล.... เธอไม่ควรเคี้ยวในวิกาล... เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาสิ่งใดก็เคี้ยวสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่เคี้ยวสิ่งนั้น.... ย่อมเคี้ยวสิ่งเป็นกัปปิยะบ้าง สิ่งเป็นอกัปปิยะบ้าง... ย่อมเคี้ยวในกาลบ้าง ในวิกาลบ้าง.... คฤหบดีผู้มีศรัทธา ย่อมถวายของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภค แม้ใด อันประณีตในกลางวัน ในเวลาวิกาลแก่เราทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ ย่อมกระทำเสมือนหนึ่งปิดปากแม้ในของเหล่านั้น เธอโกรธเคืองแค้นใจ บอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือจระเข้นี้แล เป็นชื่อแห่งความเป็นผู้เห็นแก่ท้องนี้เรียกว่าภัยคือจระเข้

“.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคฤหบดี ในบ้านหรือนิคมนั้น เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ เธอคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ก็บริโภคสมบัติในสกุลของเรามีอยู่พร้อม เราอาจเพื่อจะบริโภคโภคะทั้งหลายแลทำบุญได้ ถ้ากระไรเราพึงบอกคืนสิกขาลาเพศ แล้วบริโภคโภคะทั้งหลายและทำบุญเถิดเธอย่อมบอกคืนสิกขาลาเพศ ภิกษุนี้เรียกว่ากลัวต่อภัยคือน้ำวน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือน้ำวนนี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕ นี้เรียกภัยคือน้ำวน

“.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม (หญิง) ในบ้านหรือนิคมนั้น นุ่งไม่เรียบร้อย หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะย่อมรบกวนจิตของเธอ เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิต อันราคะรบกวน ย่อมบอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือปลาฉลามนี้เป็นชื่อของมาตุคาม นี้เรียกว่าภัยคือปลาฉลาม

“ภัย ๔ ประการนี้แล กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วย ศรัทธา ในธรรมวินัยนี้จะพึงหวังได้”

ภยสูตร ที่ ๒

🔅 ทำไมคนจึงไม่กล้าทำชั่ว
ปัญหา ตามปกติ คนไม่กล้าทำความชั่ว เพราะความกลัวต่อผลบางอย่าง มีเหตุบ้างที่ทำให้คนไม่กล้าทำความชั่ว?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็เราแลพึงประพฤติทุจริตด้วยกาย... ด้วยวาจา.... ด้วยใจ ไฉนตัวเราจะไม่พึงติเตียนเราได้ด้วยศีลเล่า ดังนี้ เขากลัวต่อภัยเกิดแต่การติเตียนตัวเอง จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ย่อมรักษาตนให้บริสุทธิ์

“....บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นเจ้านายจับโจรผู้ประพฤติชั่วช้ามาลงกรรมกรณ์ต่าง ๆ คือโบยด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง.... บุคคลนั้นจึงมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เจ้านายจับโจรผู้ประพฤติชั่วช้ามาลงกรรมกรณ์ต่างๆ ...เพราะเหตุแห่งกรรมอันลามกเห็นปานใด ถ้าเราจะพึงทำกรรมอันลามกเป็นปานนั้นบ้าง เจ้านายจะพึงจับเราไปลงกรรมกรณ์ต่าง ๆ เห็นปานนั้น.... เขากลัวต่อภัย คืออาญา ไม่กล้าฉกชิงทรัพย์ของผู้อื่น

“....บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริต.... ของวจีทุจริต... ของมโนทุจริตในภายหน้าชั่วร้าย ก็เราแลพึงประพฤติทุจริตด้วยกาย...ด้วยวาจา ด้วยใจ.. เมื่อกายแตกตายไปเราจะพึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เขากลัวต่อทุคติภัย ย่อมละกายไปเราจะพึงเข้าพึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เขากลัวต่อทุคติภัย ยอมละกายทุจริต .... วจีทุจริต... มโนทุจริต... ย่อมบริหารตนให้หมดจดได้...”

ภยสูตร


🔅 โรคกายโรคใจ
ปัญหา พระพุทธองค์ตรัสถึงโรคทางกาย โรคทางใจไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคด้วยโรคทางกายตลอดปีหนึ่งมีปรากฏ ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคตลอด ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง มีปรากฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความมีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยากในโลก เว้นจากพระขีณาสพ....”

อิทริยวรรค ที่ ๑

🔅 กิเลสหนากับการบรรลุมรรคผล
ปัญหา ผู้รู้บางท่านแสดงไว้ว่า คนที่มีอุปนิสัยหยาบ มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลช้า คนที่มีอุปนิสัยละเอียด มี ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มีหวังได้บรรลุมรรคผลเร็ว จริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “....บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง.... เป็นผู้มีโทสะกล้าย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนือง ๆ บ้างเป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนือง ๆ บ้าง (แต่) อินทรีย์ ๕ ประการ.... คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษ เพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า.....

“....บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า... ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า... ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ ราคะ โทสะ โมหะ เนืองๆ
 (แต่) อินทรีย์ ๕ ประการ.... คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของเขา ปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน....”

ปฏิปทาวรรค ที่ ๒

🔅 สมถะหรือวิปัสสนาก่อน
ปัญหา การเจริญกรรมฐานมี ๒ อย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา ใน ๒ อย่างนี้ จะเจริญสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน? จะเจริญควบคู่กันไปจะได้หรือไม่ ?

พระอานนท์ตอบ ว่า “....ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า (หรือ).... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า (หรือ).... เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป.... มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด....”

ปฏิปทาวรรค ที่ ๒

🔅 ศาสนาอื่นมีพระอริยบุคคลหรือไม่
ปัญหา พระอริยบุคคลที่ได้บรรลุมรรคผล เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ มีอยู่ในศาสนาอื่นหรือไม่? หรือว่ามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ?

พุทธดำรัสตอบ ว่า “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้นสมณะที่ ๑.... สมณะที่ ๒.... สมณะที่ ๓.... สมณะที่ ๔.... มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาท(ประกาศ) โดยชอบอย่างนี้เถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน?

“....ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ 
(สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยวจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า นี้สมณะที่ ๑
“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง เป็นพระสกทาคามีมาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้สมณะที่ ๒
“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นอุปปาติกะ 
(เป็นพระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้สมณะที่ ๓
“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๔ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญหาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน... นี้สมณะที่ ๔

“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑.... สมณะที่ ๒.... สมณะที่ ๓.... สมณะที่ ๔.... มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด”

กรรมวรรค

🔅 องค์ประกอบชีวิตนักบวช
ปัญหา การออกบวชเป็นภิกษุครองชีวิตบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวด้วยกามนั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันมีสิกขา (อภิสมาจาร = มารยาทอันดีงาม) เป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย

อาปัตติภยวรรค 

🔅 วิธีเรียนหนังสือเก่ง
ปัญหา ในการเรียนวิชาต่างๆ ทำไม บางที่จึงเข้าใจง่ายจำได้ดี ทำไมบางทีจึงเข้าใจยาก จำได้ยาก ทั้งๆ ที่เรื่องที่เรียนนั้นมีความยากง่ายพอๆ กัน?

พุทธดำรัสตอบ “....เมื่อใด บุคคลมีจิตอันกามราคะครอบงำแล้ว และไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น.... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้...เหมือนพื้นน้ำที่ระคนด้วยครั่งก็ดี ด้วยขมิ้นก็ดี ด้วยครามก็ดี ด้วยฝางก็ดี บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันพยาบาท (ความมุ่งร้าย) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ร้อนจัดด้วยไฟเดือดพล่านแล้ว บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาเคลิบเคลิ้ม) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำสาหร่ายแลแหนปกคลุม แล้วบุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ลมพัดไหวกระเพื่อมเป็นระลอกแล้ว บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันวิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงสงสัย) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ขุ่นมัวเป็นตม อันเขาตั้งไว้แล้วในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันกามราคะไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันพยาบาทไม่รุมครอบงำแล้ว แลย่อมรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันถีนมิทธะไม่รุมครอบงำ รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันวิจิกิจฉาไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาไม่ได้ท่องสาธยายไว้ตลอดกาลนาน ก็แจ่มแจ้งอยู่ได้ จะกล่าวอะไรถึงมนต์ทั้งหลายที่เขาได้ท่องสาธยายไว้เล่า... เหมือนพื้นน้ำที่ไม่ระคนด้วยครั้งก็ดี ด้วยขมิ้นก็ดี ด้วยครามก็ดี ด้วยฝางก็ดี เหมือนพื้นน้ำที่ไม่ร้อนจัดด้วยไฟ ไม่เดือนพล่านแล้ว....เหมือนพื้นน้ำที่ไม่มีสาหร่ายและแหนปกคลุมแล้ว.... เหมือนพื้นน้ำที่ลมพัดไหวกระเพื่อมไม่เป็นระลอกแล้ว..... เหมือนพื้นน้ำที่ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว อันเขาตั้งไว้ในที่ส่งว่า บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็พึงรู้พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้

สังคารวสูตร


🔅 เหตุให้อายุสั้น
ปัญหา ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเกิดมามีอายุสั้น เพราะในชาติก่อนเป็นผู้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สำหรับในชาติปัจจุบันนี้เล่ามีปฏิปทาใดบ้างที่เป็นเหตุให้บุคคลมีอายุสั้น หรือตายเร็ว?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม (เหล่า) นี้เป็นเหตุให้อายุสั้น... คือ
บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑
ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑
บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑
เป็นผู้เที่ยวไปในกาลไม่สมควร ๑
ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม ๑
เป็นคนทุศีล ๑
มีมิตรเลวทราม ๑”

อนายุสสสูตร ที่ ๑-๒


🔅 วิธีแก้ความอาฆาต
ปัญหา ถ้าเกิดความอาฆาตขึ้นในจิตใจเรา ทำให้เราคิดมุ่งร้ายหมายแก้แค้นต่อบุคคลบางคน ซึ่งได้ล่วงเกินเราก่อน ควรจะแก้ไขอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใด
พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑
พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑
พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน ให้มั่นในบุคคลนั้นว่าท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นดังนี้ ๑

พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้”


อาฆาตวินัยสูตร ที่ ๑