พระพุทธดำรัส (๗)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 วิธีพิจารณาธาตุ ๖
ปัญหา ภิกษุควรจะพิจารณาธาตุ ๖ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อากาศ และวิญญาณอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายใน (กายเรา) ก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุและจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้

“ดูก่อนภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ.....

“ดูก่อนภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ.....

“ต่อจากนั้น สิ่งที่เหลืออยู่อีก ก็คือ วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดูก่อนภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกินสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนาย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุข .....บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกข์....บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุข.......ย่อมดับย่อมเข้าไปสงบ

“ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง....”

ธาตุวิภังคสูตร


🔅 ฆ่าตัวตายไม่ควรตำหนิเสมอไป
ปัญหา เรื่องมีอยู่ว่า พระฉันนะอาพาธหนัก และคิดจะฆ่าตัวตายด้วยศาสตรา พระสารีบุตรได้เทศนาสั่งสอนและห้ามปรามไว้ แต่ในที่สุดพระฉันนะก็ฆ่าตัวตายจนได้ และได้รับคำตำหนิติเตียนจากญาติมิตรและคนเป็นอันมาก พระสารีบุตรจึงทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนสารีบุตร พระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหายและสกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่...... บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนะภิกษุหามีลักษณะนี้ไม่ ฉันนะภิกษุหาศาสตรามาฆ่าตัว อย่างไม่ควรถูกตำหนิ (สมสีสีบุคคล)”

ฉันโนวาทสูตร

🔅 ข้อปฏิบัติเมื่อถูกทำร้าย
ปัญหา เมื่อถูกทำร้าย ด้วยวาจาก็ดี ด้วยกายก็ดี พุทธศาสนิกชนที่แท้จริง ควรจะปฏิบัติอย่างไร?

พระปุณณะ (ทูลตอบพระพุทธเจ้า) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตขึ้น จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตรา.....

“ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาสตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตราอันคม....

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่ามีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาสตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาสตราสังหารชีพแล้ว....”

ปุณโณวาทสูตร


🔅 สมณพราหมณ์ที่ไม่ควรไหว้
ปัญหา ขึ้นชื่อวาเป็นสมณพราหมณ์ ครองเพศบรรพชิตแล้ว เราควรเคารพกราบไหว้บูชาทั้งนั้นหรือ ? หรือว่ามีสมณพราหมณ์ประเภทใดบ้างที่ไม่ควรเคารพกราบไหว้ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์ เหล่าใดยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ..... ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต.... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา.... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย.... ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังมีความประพฤติลุ่ม ๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อยู่สมณพราหมณ์ เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ.... ธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้วยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอน ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็น แม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์ พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนั้น ฉะนั้นท่านสมณพราหมณ์ เหล่านั้นจึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา....”

นครวินเทยยสูตร


🔅 วิธีสังเกตสมณพราหมณ์แท้
ปัญหา เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสมณพราหมณ์ พวกไหนเป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่น ถามท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า ก็อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเช่นไร จึงเป็นเหตุให้พวกท่านกล่าวพึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อจัดโมหะ ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่าความจริงท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดงเป็นที่ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้ว ๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย

“นี้แล อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่....”

นครวินเทยยสูตร

🔅 การเจริญอินทรีย์ในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่า ลัทธิอื่นบางลัทธิ เช่น ลัทธิของปาราสิริยพราหมณ์ สอนให้สำรวมอินทรีย์อย่างเคร่งครัด คือไม่ให้เห็นรูปด้วยจักษุ ไม่ให้ฟังเสียงด้วยโสต เป็นต้น ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคทรงมีทรรศนะอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้ว ตามคำของปาราสิริยพราหมณ์ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต.....

“.....ดูก่อนอานนท์ ก็การเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร ? ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ.... เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต.... เพราะได้ดมกลิ่นด้วยฆานะ... เพราะได้ลิ้มรสด้วยชิวหา.... เพราได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย.... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่าเธอเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นและเป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสียอุเบกขาจึงดำรงมั่น

“.....ดูก่อนอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกะพริบตาฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น

“.....ดูก่อนอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ.... ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต..... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ.... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา.... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย.... ในธรรมารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยมโน อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ...”

อินทริยภาวนาสูตร


🔅 ทำไมคนจึงตายช้า-เร็วต่างกัน
ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนเกิดมาในโลกนี้จึงมีอายุสั้น ตายตั้งแต่เยาว์วัยเพราะเหตุไร บางคนจึงอายุยืน ตายต่อเมื่อแก่หง่อมเต็มที่แล้ว?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนเป็นสตรี หรือบุรุษในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ฆ่าสัตว์มีชีวิต ใจดุร้าย ชอบใจในการฆ่าฟัน ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรก ด้วยกรรมนั้น..... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีอายุสั้น

“.....บางคนย่อมเป็นผู้ละเว้นจากปาณาติบาต มีท่อนไม้แลศัสตราอันวางแล้วมีความละอาย มีความเอ็นดู อนุเคราะห์เพื่อความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุขคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น..... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีอายุยืน....”

👇 มีต่อ

🔅 ทำไมจึงเป็นคนขี้โรค

ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนเกิดมาแล้ว จึงมักจะถูกโรคภัยเบียดเบียน แม้จะมีทรัพย์มากและรักษาความสะอาดเท่าไร ก็ไม่พ้นเป็นคนขี้โรค เพราะเหตุไรบางคนจึงมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ยากจนแลไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ?

พุทธดำรัสตอบ “..... คนบางคนย่อมเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยมือ หรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีโรคมาก

.... คนบางคนย่อมเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือหรือก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีโรคน้อย

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะมีรูปงาม
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้ง ๆ ที่มารดาบิดามีรูปงาม เพราะเหตุไรคนบางคนจึงมีรูปร่างสวย มีผิวพรรณงาม ทั้งๆ ที่มารดาบิดามีรูปร่างไม่สวย?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้น้อยย่อมขัดใจโกรธ พยาบาทคิดแก้แค้น ทำความโกรธ ความดุร้ายแลความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชัง

“.... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ไม่มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้มากย่อมทำความโกรธ ความดุร้ายและความขึ้งเคียดไม่ให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชม"

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะมีอำนาจมาก
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงมียศ มีอำนาจ มีศักดามาก เพราะเหตุไรคนบางคนจึงมียศ มีอำนาจมีศักดาน้อย?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มีใจประกอบด้วยความอิจฉาริษยา ย่อมริษยา คิดร้าย ผูกริษยาในลาภสักการะ ในการทำความเคารพในความนับถือกราบไหว้และการบูชาของผู้อื่นทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีศักดาน้อย

“.... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มีน้ำใจไม่ริษยา.... ในลาภสักการะ ในการทำความเคารพ ในความนับถือ กราบไหว้ และการบูชาของผู้อื่นทั้งหลาย ครั้นตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุขคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีศักดาใหญ่”

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะรวย
ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก เพราะเหตุไร คนบางคนจึงร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา ที่นอน ที่อยู่ เครื่องตามประทีป แก่สมณพราหมณ์ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดในมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีสมบัติน้อย

“..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา ที่นอน ที่อยู่ เครื่องตามประทีป แก่สมณพราหมณ์ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดในมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีสมบัติมาก”

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นดอกฟ้า
ปัญหา ทำไมคนบางคนจึงเกิดในตระกูลสูง คนบางคนจึงเกิดในตระกูลต่ำ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ดื้อดึง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้ ผู้ที่ควรกราบไหว้ ไม่ต้อนรับผู้ที่ควรต้อนรับ ไม่ให้ที่นั่งแก่ผู้ที่ควรได้ที่นั่ง ไม่ให้ทางแก่ผู้ควรได้ทาง ไม่สักการะแก่ผู้ควรสักการะ ไม่ทำความเคารพแก่ผู้ควรทำความเคารพ ไม่นับถือผู้ควรนับถือ ไม่บูชาผู้ที่ควรบูชา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีตระกูลต่ำ

“บุคคลบางคนย่อมไม่เป็นผู้ดื้อดึงเย่อหยิ่ง กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ ต้อนรับผู้ที่ควรต้อนรับ ให้ที่นั่งแก่ผู้ควรได้ที่นั่ง..... บูชาผู้ที่ควรบูชา ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีตระกูลสูง

👇 มีต่อ

🔅 ทำอย่างไรจึงจะฉลาด
ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนเกิดมาจึงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะเหตุไร คนบางคน เกิดมาจึงโง่ทึบ?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลบางคนย่อมไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ สิ่งไรควรเสพ สิ่งไรไม่ควรเสพ สิ่งใดที่ข้าพเจ้าทำจะไม่เกื้อกูล จะเป็นทุกข์แก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนาน ก็หรือสิ่งไรที่ข้าพเจ้าทำจะเกื้อกูล จะเป็นสุขแก่ข้าพเจ้าชั่วกาลนาน ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้โง่เขลา

“บุคคลบางคนย่อมเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ..... ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้เฉลียวฉลาด

“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาท (คือผู้รับผล) แห่งกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ต่ำช้าแลประณีตฉะนี้แล”

จุฬกัมมวิภังคสูตร


🔅 ทุกข์เพราะความมี
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะของตน) คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย คนมีโค ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉันนั้น เพราะอุปธิ (อรรถกถาว่า หมายถึง ขันธ์ กาม กิเลส กรรม) เป็นความดีของตน บุคคลนั้นไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มีความยินดีเลย?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลผู้มีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลายบุคคลมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉันนั้น เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย”

นันทิสูตรที่ ๑ นันทวรรคที่ ๒


🔅 ยอดของความรัก
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะของตน) ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลายมีทะเลเป็นยอด?

พุทธดำรัสตอบ “ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม”

นันถิปุตตสมสูตร


🔅 ยอดของภรรยา
ปัญหา (เทวดากล่าวเป็นเชิงแสดงทรรศนะ) กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์สองเท้า โคประเสริฐสุดกว่าสัตว์สี่เท้า ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ?

พุทธดำรัสตอบ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์สองเท้า “สัตว์อาชาไนยประเสริฐสุกกว่าสัตว์สี่เท้า “ภรรยาที่ปรนนิบัติดีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย “บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย”

ขันติยสูตร


🔅 พระอรหันต์กับภาษาสามัญ
ปัญหา พระอรหันต์ที่พ้นจากการสมมติและบัญญัติแล้ว เวลาพูดกับสามัญชนใช้ภาษาอะไรพูด ?

พุทธดำรัสตอบ “ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่น พูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาดทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน”

อรหันตสูตรที่ ๕


🔅 ลักษณะพระนิพพาน
ปัญหา จงแสดงลักษณะของพระนิพพานว่ามีอย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใด สงสารทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่นี้ วัฏฏะย่อมไม่เป็นไปในที่นี้ นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่นี้”

สรสูตรที่ ๗


🔅 สิ่งที่ไม่รู้จักตาย
ปัญหา สังขารร่างกายย่อมตายหายสูญไปเป็นธรรมดา มีอะไรบ้างที่ไม่ตายไปตามสังขารร่างกาย ?

เทวดาตอบ (พระบรมศาสนาทรงรับรอง)

“ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้เหมือนพวกเดินทางไกล ก็แบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่าย่อมตาย ธรรมนี้เป็นของบัญฑิตแต่ปางก่อน....”

มัจฉริยสูตรที่ ๒


🔅 ฆ่าแล้วทำบุญ
ปัญหา บางคนฆ่าสัตว์แล้วนำมาให้ทาน ผลทานของเขาจะเป็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก แล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เท่าพึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ....”

มัจฉริยสูตรที่ ๒

🔅 ยอดของทาน
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง?

พุทธดำรัสตอบ “บุคคลให้อาหารชื้อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ป ระทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม”

กินททสูตรที่ ๒

🔅 การพัฒนาชนบท
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญการพัฒนาชนบทไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้) ปลูกหมู่ไม้สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัยชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์”

วนโรปสูตรที่ ๑ 


🔅 ยอดของมิตร
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ?

พุทธดำรัสตอบ “พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า”

มิตรสูตรที่ ๓


🔅 ภัยใหญ่ของมนุษย์
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรของเขาหนอย่อมวิ่งพล่าน อะไรของเขาหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ของเขา ?

พุทธดำรัสตอบ “ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา”

ปฐมชนสูตรที่ ๕

🔅 อำนาจจิต

ปัญหา (เทวดาทูลถาม) โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอเสือกไสไปได้ โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกใสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต ”

จิตตสูตรที่ ๒


🔅 สง่าราศีของสตรี
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของสตรี?

พุทธดำรัสตอบ “ธงเป็นสง่าของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟพระราชาเป็นสง่าของแว่นแคว้น สามีเป็นสง่าของสตรี”

รถสูตรที่ ๒


🔅 ชีวิตประเสริฐ
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พุทธดำรัสตอบ “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ”

วิตตสูตรที่ ๓

🔅 ความเพลิดเพลินและทุกข์
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่งแต่ผู้เดียว ?

พุทธดำรัสตอบ “ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์....”

กกุธสูตรที่ ๘

,
🔅 สิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น
ปัญหา มีอะไรบ้าง ที่คนไม่ควรดูหมิ่น แม้จะดูเป็นของเล็กน้อยไม่สำคัญก็ตาม ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย... คือ
๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม”

ทหรสูตรที่ ๑