เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกคือ นักปราชญ์เมืองฝรั่งและในอินเดียส่วนมาก อ่านหรือศึกษาศิลาจารึกนั้นแล้ว มักลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แม้จะทรงเป็นพุทธมามกะที่มีศรัทธาแรงกล้าและเอาพระทัยใส่ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ในเวลาที่ทรงเผยแผ่สั่งสอนธรรมในศิลาจารึกได้ทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลางๆ ไม่ตรัสถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเลย แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นหลักความประพฤติทั่วไปอันมีหรือเป็นที่ยอมรับในทุกๆ ศาสนา
ยกตัวอย่าง T.W. Rhys Davids กล่าวว่า (ในศิลาจารึกนั้น) “ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา ... อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และหลักธรรมสําคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา ไม่ปรากฏในศิลาจารึกเลย" แต่ถ้าพูดถึงจารึกที่กล่าวถึงพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ศิลาจารึกแห่งไพรัต ว่า “โยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด...สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต”
ท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับพุทธศาสนา หนังสือ The Cambridge History of India (5 vols.,1922-37) เขียนว่า “เราไม่ได้ฟังพระเจ้าอโศกตรัสถึงธรรมที่ลึกซึ้งหรือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาเลย ไม่มีการกล่าวถึงอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมุปบาท พระอัจฉริยคุณของพระพุทธเจ้า (อีกทั้ง) ไม่มีคำกล่าวถึงหรือแสดงหลักแห่งนิพพานเลย R.K. Mookerjee กล่าวไว้ในหนังสือ Asoka ว่า “ธรรมที่นําเสนออย่างนั้น ในธรรมโองการเหล่านี้ เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกชีวิตที่ดีงาม มีศีลธรรม และตั้งอยู่บนฐานร่วมของทุกศาสนา...สามารถนําไปใช้ได้และรับได้ทั่วกันว่าเป็นสาระของทุกศาสนา...ดังนั้น พระเจ้าอโศก์จึงนับว่าได้ทรงวางฐานแห่งศาสนาสากล (universal religion) และน่าจะทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำการนี้ในประวัติศาสตร์ คำที่ปราชญ์และท่านผู้รู้เหล่านี้ว่ามาก็น่าฟัง และดูคล้ายจะน่าเชื่อ แต่พอพิเคราะห์ให้ชัดลงไป กลายเป็นต้องแยกว่าในส่วนของข้อมูลด้านศิลาจารึกเอง ต้องชื่นชมท่าน และเราได้อาศัยท่านเหล่านี้มาก
แต่ในขั้นลงมติที่โยงมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้จับจุดจับหลักไม่ถูก ได้แต่มองดูหลักธรรมสำคัญๆ ที่ได้ยินได้พูดกันมาก พอไม่พบ ก็สรุปลงไปอย่างนั้น แต่ถ้าจับจุดได้ ทัศนะของท่านเหล่านี้ ที่ว่าจะเป็นพุทธต้องพูดถึงอริยสัจ สมาธิ นิพพาน เป็นต้นนั้น กลายเป็นทัศนะที่น่าขำขันไป อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นว่าธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักพุทธศาสนาก็มีไม่น้อย เช่น ผู้เขียนหัวข้อ “Inscriptions as historical source material. Ancient India.” ใน Encyclopedia Britannica ซึ่งได้กล่าวว่า “คำจารึกโองการของพระเจ้าอโศก เป็นประกาศและข้อกําหนดตามสารัตถะแห่งพุทธศาสนา” (ขณะที่อีกบางท่าน ซึ่งเขียนหัวข้ออื่นเกี่ยวกับพระเจ้าอโศก ใน Encycl. ชุดนั้น เห็นว่าจารึกอโศกเป็นคำสอนกลางๆ) ท่านอื่นที่มั่นใจว่า ธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักในพระพุทธศาสนาก็เช่น D. R. Bhandarkar และ H. C. Ray Chaudhuri โดยทีสองท่านนี้ ถือว่าเป็นไปตามอุดมคติแห่งจักกวัตติธรรมราชา รวมทั้ง B. M. Barua “ธรรมของพระเจ้าอโศกสอดคล้องกับหลักพุทธปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เขียนไว้ในหนังสือ Asoka and His Inscriptions, Part I, p. 225 ว่าทีนี้ก็มาดูว่า จุดและหลักที่ต้องจับและแยกแยะให้ได้ เพื่อเข้าใจธรรมในศิลาจารึกนั้น คืออะไร?
เริ่มแรก ควรมองภาพทั่วไปก่อนว่า
๑) พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพุทธศาสนิก แต่ทรงดำรงสถานะเป็นราชา คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง และเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่มากด้วย
๒) ทรงมีข้อพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ ทรงหันมาทรงธรรมโดยมีความสลดพระทัยจากการทำสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแรง
๓) การใช้ธรรมในระดับกว้างใหญ่นี้ จะต้องมองที่หลักการทั่วไป ซึ่งจะให้เห็นบรรยากาศทั้งหมด ไม่มัวมองหัวข้อย่อยหรือรายละเอียด
จากข้อ ๑) ในฐานะมหาราชผู้เป็นชาวพุทธ ผู้มีสถานะสูงสุดในฝ่ายบ้านเมือง หรือในสังคมของชาวโลก เมื่อปกครองมหาอาณาจักรจะใช้หลักการปกครองอย่างไรจึงจะสมกับความเป็นชาวพุทธ หรือพระพุทธศาสนาวางหลักการอะไรไว้ให้โดยเฉพาะประสานกับข้อ ๒) ที่ทรงละเลิกสงครามแล้ว จะดำรงความเป็นมหาราชไว้ให้เหมาะสมและเป็นคุณแก่การปกครองนั้นได้อย่างไร ถึงตอนนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคติใหญ่ ก็มาได้ทันที เริ่มด้วยพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ นี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๒ เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระราชา จักรพรรดิ ๑” (องฺ.ทุก.๒๐/๒๙๗) นี่คือได้บุคคลที่มีสถานะสูงสุดในโลก เทียบคู่กับองค์พระศาสดาโดยมาเป็นผู้สนองธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายบ้านเมือง เรียกง่ายๆ ว่าคติจักกวัตติราชา จักรวรรดิราชา หรือคติพระเจ้าจักรพรรดิราช พอจับจุดได้แล้ว หลักคำสอนในคตินี้ก็ตามมา ซึ่งหาได้มากมายเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เป็นความหมาย หรือเป็นคําจํากัดความของการเป็นจักรวรรดิราชานั้น ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่งคือเป็นธรรมราชา ผู้มีชัยชนะด้วยธรรม (ธมฺเมฆ อภิวิชัย → ธรรมวิชัย) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา
ยกบาลีมาดูเป็นตัวอย่าง
“มา ภิกฺขเว ปุญญาน ภาษิต สุขเสต์ ภิกฺขเว อธิวจน... ยาท ปุญญาน ...ราชา อโหสี จากวาติ ธมมโก ธมฺมราชา จาตุรนโต วิชิตา ชนบทตถาวริยปปตโต สตรอนสมนาคโต ... โส อิมปฐวี สาครปริยนต์ อุเทน อสเป็น ธมฺเมน อภิวิชัย” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข...เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชนะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราครอบครองปฐพีมณฑล อันมีสาครเป็นขอบเขตฯ” (อง.สตฺตก. ๒๓/๕๙/๙๐)
พุทธพจน์ที่มีข้อความอย่างนี้ คือที่มาแห่งหลักการหรือนโยบายการปกครองอย่างใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราช ข้อความสำคัญที่ว่าเป็นดังคำจำกัดความของ “ธรรมวิชัย” คือตอนที่ว่า “มีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา” อย่างที่กล่าวแล้ว พุทธพจน์ส่วนนี้ตรัสในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ตรัสโยงกับเรื่องบุญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในศิลาจารึกอโศกนั้นด้วย