เพราะฉะนั้น อิทธิพลจากมาลัยสูตร จึงทำให้เรื่องเวสสันดรชาดก มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะชาวพุทธของเราทุกคนก็มีความปรารถนาจะเกิดให้ทันศาสนาพระศรีอารย์อยู่แล้ว ท่านยังบอกวิธีเหตุให้เกิดทันศาสนาของพระองค์ จะต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียวแล้วบูชาด้วยธูปพันดอก เทียนพันเล่ม ดอกบัวพันดอก บูชากัณฑ์เทศน์ ๑๓ กัณฑ์ นั่นแหละครับ จึงกลายเป็นประเพณีตั้งแต่สุโขทัยเรื่อยมาตราบกาลปัจจุบันนี้ แต่เรื่องเวสสันดรชาดกนี้ เคยมีอยู่ในสมัยหนึ่ง ที่นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยนี้ ไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางไม่ดี บอกว่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเหตุทำให้คนไทยใจอ่อน ใจดีเกินไป มีอะไรก็หยิบยื่นให้เขาหมด ต่อไปถ้าจะมีใครมาขอชาติไทย ก็จะหยิบยกชาติไทยให้เขาทั้งชาติเลย แล้วก็มี
ครู อาจารย์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยบางท่าน พอสอนเรื่องเวสสันดรชาดก ก็หัวเราะเยาะหาว่าเป็นเรื่องหลอกคนเรื่องไร้สาระ นิทานอะไรใครเขาจะมาให้ลูกให้เมียใครได้ หาว่าท่านเวสสันดรเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ถ้าเป็นพ่อก็เป็นพ่อที่ไม่ดียกลูกให้เขาเป็นข้าทาสทาสี หาว่าเป็นผัวที่ใช้ไม่ได้ ดูหรือพระนางมัทรีมีความจงรักภักดีเป็นนักหนา กลับไปยกให้กับตาพราหมณ์ที่มาขอได้ ดูช่างกระไรเลย อย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เป็นบาปอย่างอนันต์แล้ว ผู้ที่กล่าวผู้ที่เข้าใจเช่นนั้นเราจึงควรจะมาวิเคราะห์ข้อคิดบางประการในเวสสันดรชาดกว่า:-
เพราะการกระทำของเวสสันดรถูกต้องหรือผิด เป็นการกระทำของคนโง่หรือคนฉลาด
👉ประการแรก เรามาพิจารณากันเรื่องช้างปัจจัยนาค อันเป็นเหตุให้พระเวสสันดรต้องพลัดบ้านพลัดเมืองไป พร้อมทั้งลูกเต้า ความจริงช้างตัวนี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวแคว้นสีพี ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวเชตุดร ช้างตัวนี้เป็นช้างคู่บุญ เกิดในวันเดียวกับพระนางผุสดีประสูติพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เป็นช้างคู่บุญ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็เป็นสมบัติส่วนบุคคล การที่ชาวสีพีเอะอะโวยวาย หาว่าพระเวสสันดรบริจาคกับพราหมณ์กลิงครัฐที่มาทูลขอ เพราะว่าช้างตัวนี้เป็นปัจจัยนาเคนทร์ สามารถเรียกร้องบันดาลให้เกิดฝนตกได้ โบราณเราถืออย่างนี้ ช้างที่เป็นมงคลแล้ว สามารถทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ช้างปัจจัยนาคเป็นช้างเผือก ชาวแคว้นสีพีจึงไม่พอใจ หาว่าพระเวสสันดรยกเอาสมบัติของชาติไปให้คนชาติอื่น
อันนี้ถ้าวิเคราะห์แล้ว จะเห็นทันทีว่าเกิดการเข้าใจผิด เพราะช้างตัวนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของชาติ แต่เป็นสมบัติของส่วนบุคคล ของพระเวสสันดร ก็เมื่อเป็นสมบัติของส่วนบุคคลของพระเวสสันดรแล้ว พระเวสสันดรก็มีสิทธิ์ที่จะยกให้กับใครก็ได้ พวกชาวแคว้นสีพีเสียอีกที่มาขี้โกง เอาช้างนั้นเป็นของพวกตนไป แอบอ้างว่า ไม่ได้ ช้างตัวนี้เป็นช้างของชาวแคว้นสีพี แล้วเอะอะโวยวายขึ้น อีกประการหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า แคว้นกลิงครัฐกับแคว้นสีพีนั้น หยาบกับละเอียดกันเลย ถ้าจะเปรียบกันก็ได้แก่ยักษ์กับมนุษย์นั่นเอง ช้างกับตัวผึ้งนั่นแหละถ้าจะเปรียบกัน แคว้นสีพีนั้นเป็นแคว้นเล็ก ๆ แต่แคว้นกลิงครัฐนั้น เป็นมหาอำนาจชั้น ๑ ในอินเดียในครั้งนั้น มีรี้พลกลไกรพยุหโยธามากมาย การที่พวกกลิงครัฐส่งทูตมาขอช้างปัจจัยนาคนั้น ไม่ได้ขอเปล่านะ ไม่ได้ขอเอาไปเด็ดขาด เป็นเพียงการขอยืมไปเพื่อเป็นเหตุทำให้บ้านเมืองฝนตกหน่อยเพราะแล้งมาตั้งเจ็ดปีแล้ว ทำนาไม่ได้ผล ขอยืมเอาไป ไม่ได้โกงเอาเป็นของตัวหรอก เมื่อฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้วจะนำมาคืนให้
คราวนี้ สมมุติว่า พระเวสสันดรไม่ยอมให้ ผลจะมีอะไรเกิดขึ้น จะต้องเกิดสงครามอย่างแน่นอน ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ กองทัพจากกลิงครัฐจะต้องบุกเมืองสีพีแน่ แล้วแคว้นสีพีซึ่งเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ก็ต้องพินาศตกเป็นเมืองขึ้นของเขา ราษฎรสีพีก็จะกลายเป็นเชลยศึก เพราะฉะนั้นการที่พระเวสสันดรยอมยกช้างปัจจัยนาคให้แก่เขาไปนั้น เป็นการเสียสละทำเพื่อชาติและประชาชนโดยตรง เป็นการตัดต้นเหตุการทำสงคราม ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาราษฎรโดยเสรี ให้ปลอดภัย แต่เป็นการไม่เข้าใจ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพวกชาวแคว้นสีพี ซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรู ไปให้แก่คนอื่นเขา เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดร ยอมยกช้างปัจจัยนาคให้เขาไป จึงเป็นการทำเพื่อชาติโดยตรงทีเดียว เป็นการตัดการทำสงคราม ช่วยสร้างความสุขให้แก่ประชาราษฎร์ชาวสีพีให้ปลอดภัย แต่เป็นความเข้าใจผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวแคว้นสีพีซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรูหรือไปให้ผู้อื่นเขา และตามเรื่องราวปรากฏว่า เมื่อชาวแคว้นกลิงครัฐได้ช้างตัวนี้ไปแล้ว ไม่ช้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเขาก็ส่งมาคืน แถมกลับมีพระราชสาสน์มาขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่ นี่เราจะเห็นได้แล้วว่า พระเวสสันดรท่านทำถูกตั้งแต่กรณีแรกที่ทรงให้ช้างเป็นทาน ไม่ว่าจะมองในแง่การเมืองหรือในแง่ส่วนตัว เราตำหนิท่านไม่ได้เลย
👉ประการที่สอง ในการที่ท่านให้บุตรกัณหาชาลีเป็นทานถูกไหม? ในกรณีที่ท่านให้ชาลีกัณหา หรือพระนางมัทรีเป็นทานนั้น ถ้าเราเอาจิตใจพวกเราอย่างปุถุชนธรรมดาผู้มีกิเลสไปวัดจิตใจท่าน เราก็อาจจะประณามและโวยวายหาว่า “เห็นแก่ตัว ๆ” เที่ยวยกลูกให้เขาไป เทินให้เขาไป นี่ แต่ข้อนั้นเราพูดตามวิสัยของเราที่มีกิเลส เป็นปุถุชน แต่ถ้าเรามองด้วยใจของพระเวสสันดรแล้ว ตรงกันข้าม พระเวสสันดรเป็นพระโพธิสัตว์ เราเป็นโพธิสัตว์หรือเปล่า และการที่พระเวสสันดรให้สิ่งเหล่านี้ไป ให้เพื่อหวังอะไร ให้เพื่อหวังชื่อเสียง เพื่อความสุข เพื่อพระองค์หรือ? ถ้าเพื่อชื่อเสียง เพื่อความสุขแล้ว ลูกเมียเป็นที่รักดังแก้วตา จะให้เขาไปไม่ได้หรอก จะต้องอยู่กับลูกอยู่กับเมีย แต่ที่พระองค์ให้เขาไป ก็เพื่อหวังพระโพธิญาณ พระโพธิญาณเพื่อใคร ถามต่อไปอีก ก็ได้รับคำตอบว่าพระโพธิญาณเพื่อสรรพสัตว์โลก เพราะฉะนั้น การทำประโยชน์ การให้ทานของพระเวสสันดรนั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์เสียแล้ว แต่เพื่อสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นการทำประโยชน์เพื่อชนหมู่มาก โดยการที่พระองค์ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยอมทุกข์ในส่วนพระองค์ เพื่อความสุขของชนมหาศาลทั้งโลก การทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ มนุษย์ผู้มีความเห็นแก่ตัวทำได้อย่างนี้หรือ?
ถ้าหากเราถือว่าการทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวแล้ว เราก็น่าจะตำหนิทหารหาญที่ไปตายเพื่อชาติว่า ทหารเหล่านั้นเห็นแก่ตัว เพราะอะไร เพราะแม่หรือก็แก่ ไม่มีใครเลี้ยง ลูกหรือก็ยังแดง ๆ แม่อีหนูหรือก็ยังสาว อะไรไปเป็นทหารรบสงครามป้องกันประเทศชาติ เห็นแก่ตัวนี่ ทหารคนนี้ นี่ถ้าใครมีความรู้สึกตัวอย่างนี้ละก็ ชาติบ้านเมืองประเทศนั้นจะต้องล่มจมแน่ ถ้าประชาชนในบ้านเมืองนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้ต่อทหาร ว่าทหารทิ้งลูก ทิ้งเมียไปรบเพื่อชาติ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวละก็ ไม่ช้าชาตินั้นก็วิบัติ การที่ทหารไปรบเพื่อชาติ เราไม่ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการเห็นแก่ตัว แต่เราให้ความยกย่องว่า เป็นวีรชนของเรา บรรดาพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีอย่างอุกฤษ์ ถึงขั้นสละชีวิต และลูก และเมีย เป็นทาน เพื่อพระโพธิญาณ ก็มีอุปมัยดุจเดียวกับทหาร ซึ่งเป็นวีรชนของชาติฉันนั้นเหมือนกัน แต่ว่าวัตถุประสงค์ของพระโพธิสัตว์ยิ่งกว่าทหาร ทหารนั้น รบเพื่อชาติ แต่พระโพธิสัตว์นั้น รบกะกิเลสเพื่อเห็นแก่สรรพสัตว์ ไม่มีชาติและไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ แต่แผ่ไพศาลไปยังมารอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เดียรัจฉาน เป็นที่สุด นี่แหละครับเป็นลักษณะมหากรุณาของพระโพธิสัตว์เจ้า มีกี่คนทำได้อย่างนี้
คราวนี้เรามองดูในแง่พ่อกับลูกว่า ที่พูดเมื่อกี้เป็นเรื่องสละประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดร ท่านจะยกลูกให้กับท่านชูชกได้คิดวางแผนการอะไร เพื่ออนาคตลูกท่านไม่ให้ลำบากไหม ท่านวางแผนไว้แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ท่านบอกดัง ๆ ให้ชูชกได้ยิน ท่านบอกชาลีกัณหาว่า ลูกเอ๋ย ถ้าหากลูกไปอยู่กับพ่อเฒ่าชูชกคนนี้ละก็ ใครจะมาเอาตัวลูกไถ่ไปละก็ พ่อตีราคาลูกแต่ละคน แต่ละคน สำหรับชาลีนั้น ผู้ที่มีทองคำพันลิ่ม ถึงจะมาไถ่ชาลีได้ ส่วนแม่กัณหาซึ่งเป็นน้องเล็กนั้น จะต้องผู้ที่มีโคร้อยตัว ม้าร้อยตัว ช้างร้อยตัว ทองพันลิ่ม เงินพันลิ่ม ทาสร้อยคน ทาสีร้อยคน รถร้อยเล่มมาไถ่แม่ถึงจะยอมตัวไปอยู่กับเขานั่น ท่านสั่งของท่านยังงี้ ชูชกฟังหูผึ่งทีเดียว ชูชกนี่ฉลาด ถ้าเอาใจชูชกมาใส่ใจเราบ้างว่า เราได้ลูกเขามาสองคน ชายคนหญิงคน มันก็ยังเล็กอยู่ ผู้หญิงก็ไม่เกินเจ็ดขวบ ผู้ชายก็ไม่เกินสิบสอง ได้มาสองคนอย่างนี้ อย่างมากก็เอาไปตักน้ำตักท่า ปัดกวาดถูบ้านถูเรือนเท่านั้นเอง กับที่ว่าเอาไปขายได้สินไถ่มากมายพอกินเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็น เราจะเลือกเอาอย่างไหน แน่นอน ชูชกซึ่งเป็นนักเศรษกิจตัวยง ก็จะต้องเอาชาลีกัณหาไปขายเพื่อเอาสินไถ่ คราวนี้ใครบ้างเล่าที่จะมาไถ่ด้วยราคาค่างวดอันมากมายอย่างนี้ เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขด้วย ก็เท่ากับว่าพระเวสสันดรนั้นได้ยืมมือชูชก ให้พาชาลีกัณหาออกจากป่าไปหาปู่เท่านั้นเอง
เท่านั้นเองละซิ พระเจ้ากรุงสัญชัยนั้นแหละจะเป็นผู้ไถ่ ไม่ใช่ใครหรอกครับ พระเจ้ากรุงสัญชัยซึ่งเป็นพระอัยกานั่นเองเป็นผู้ไถ่ กษัตริย์หรือเศรษฐีบ้านไหนเมืองไหนเขาจะมาไถ่กัน เด็กกะเปี๊ยก ๒ คน จะเอาไปทำอะไรกัน ทองคำพันลิ่ม ช้างม้าวัวควายทาส ทาสา อีกมากมาย อย่างละร้อย เอาทำไมกัน คนซื้อคนได้มากมายกว่านี้ ดีกว่าเด็ก ๒ คน เป็นอันว่าชูชกนี่จะต้องมุ่งพาเด็ก ๒ คนนี้ไปหาปู่ เพราะไปที่ไหนก็ไม่มีใครเขาเอา ปู่กับย่านั้นจะเป็นผู้ไถ่เอง แล้วการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคาดไว้จริง พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไถ่จริง ๆ ข้อเสนอราคาที่ชูชกบอกว่า พระเวสสันดรตีราคาอย่างนี้ อย่างนี้ พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไม่เชื่อ หาว่าชูชกไปขโมยเด็กมา ฝ่ายเด็ก ๒ คน ก็ยืนยันว่าพระบิดาได้ยกให้ชูชกไปจริง ๆ พระบิดาได้ตีราคาไว้จริง ๆ ชูชกเลยกลายเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็นในวันนั้นเองที่พาหลานไปหาปู่ เรื่องนี้เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวแต่ได้นกสองตัว คือ ข้อที่พระองค์ให้ลูกเป็นทานนั้น มีประโยชน์ ๔ สถาน
๑. ชื่อว่าบำเพ็ญปุตตปริจาค
๒. ชื่อว่าไม่ทำให้พระโอรสและธิดาต้องตกระกำลำบากอยู่ในป่า แต่กลับมาอยู่ในอ้อมอกของปู่-ย่า
๓. ทำให้ชูชกซึ่งแกยากจนเป็นเศรษฐีรวยมั่งมีทันตาเห็น
๔. พระอัยกาได้ฟังนัดดาทั้งสองเล่าถึงความทุกข์ยากของพระโอรสและพระสุณิสา มีความเศร้าพระทัย เป็นเหตุให้ชาวสีพีรัฐทั้งปวงก็มีความเศร้าใจสงสารพระเวสสันดร พากันยกโทษให้ กลับไปทูลเชิญให้เสด็จกลับไปเสวยราชย์
กลับได้ประโยชน์ถึง ๔ สถาน การกระทำของพระเวสสันดร จึงไม่ใช่การกระทำที่โง่เขลา ดังที่พวกเราบางคนเข้าใจ แต่เป็นการกระทำของบัณฑิตผู้เห็นการณ์ไกล ที่เอาประโยชน์ ได้ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ข้อนี้เห็นได้ชัดเจน
👉ประการที่สาม ทรงให้พระนางมัทรีเป็นทาน พระนางมัทรีใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นยอดมิ่งขวัญ ยอดกัลยาเป็นเมียแก้ว เมียขวัญที่ดี เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้พราหมณ์นั้น พระนางมัทรีก็รู้อยู่แก่ใจว่า พระเวสสันดรมุ่งประสงค์อะไร และพระนางก็ยินดีที่จะร่วมเสียสละกับพระองค์ ยอมให้เป็นเครื่องมือของพระองค์เพื่อที่จะช่วยกันบ่มโพธิญาณให้สุกงอม เพื่อประโยชน์แก่มหาชนในอนาคตกาลเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อพราหมณ์จำแลงมาขอพระนางมัทรีจากพระองค์ เมื่อพระเวสสันดรบอกยกให้แล้ว ยังไม่แน่แก่พระทัยว่า พระนางมัทรีจะเศร้าใจ หรือเสียใจ จึงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรพระนางมัทรีว่า จะมีการแสดงอาการอย่างไรปรากฏหรือไม่ พระนางมัทรีก็ได้ทูลออกมาด้วยน้ำใจที่แกล้วกล้าเยี่ยงสุรนารีว่า:- โกมารี ยสฺสาหํ ภริยา สามิโก มม อิสฺสโร ยสฺลิจฺเฉ ตสฺส มํ ทชฺชา วิกฺกีเณยฺย หเนยฺยา วา แปลความว่า หม่อมฉันผู้องอาจ เป็นเทวีของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้น เป็นภัสดาของหม่อมฉัน เมื่อพระองค์จำนงค์ให้หม่อมฉันแก่บุคคลใด ขอจงประทานให้แก่บุคคลนั้นเถิด พึงขาย หรือพึงฆ่าเสียก็ตาม หม่อมฉันยอมทั้งนั้น
นี่ก็แสดงว่า จิตใจของนางมัทรีเต็มเปี่ยมแล้ว เข้าใจในเหตุผลของสวามีแล้ว พระนางมิได้เศร้าใจหรือเสียใจ พระนางยินดี เพราะยิ่งเป็นการช่วยให้พระสวามีได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เร็วขึ้น เสร็จแล้ว พราหมณ์ผู้นั้น ก็เป็นพราหมณ์ที่มาทดลองพระเวสสันดรและได้คืนพระนางมัทรีให้ ใครเลยจะกล้ารับพระนางมัทรีไป สมมุติว่าเรา ไปเจอคนอย่างนั้นเข้า คู่ผัวตัวเมียทีมีความรักมั่นคง และเข้าใจถึงขนาดเสียสละอย่างนั้น ใครเลยพอที่จะยังใจร้ายไส้ระกำหินชาติ พรากเขาได้หรือ? ทำไม่ได้แน่ ถ้าเรายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในสันดาน ฉะนั้นในที่สุดพระนางมัทรีก็ไม่ได้เสียอะไรไป ก็กลับอยู่ในสำนักของพระสวามีอีก
เรื่องเวสสันดรชาดก จึงเป็นเรื่องที่ให้คติธรรม ความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นโบราณกาลของเราจึงได้เลือกเอาชาดกเรื่องนี้มาเป็นเทศน์ประจำ ยิ่งกว่าชาดกเรื่องอื่น โดยมุ่งหวังสอนให้ประชาชนรู้สึกเลยสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยการเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าสังคมทุกยุคทุกสมัย มีความเดือดร้อนขึ้นนั้น ไม่ใช่เดือดร้อนเพราะคนเสียสละ ความเดือดร้อนส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่รู้จักเสียสละ ถ้าทุกคนรู้จักสละอย่างพระเวสสันดรแล้ว สังคมนี้ก็จะน่าอยู่ โลกนี้ก็จะน่าอยู่มาก โลกไม่เคยเดือดร้อน เพราะคนเสียสละ ตรงกันข้ามโลกเดือดร้อน เพราะคนกอบโกย ที่ไม่รู้จักเสียสละ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เรายังจะมาตำหนิอีกหรือว่า เทศน์มหาชาติคร่ำครึ ฟังแล้วถ้าใครขืนปฏิบัติตาม เมืองไทยต้องขายชาติ ต้องยกให้บุคคลอื่น เป็นไปได้หรือที่จะเกิดโทษอย่างนั้นขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย
เราฟังเทศน์มหาชาติมากี่ปีแล้ว จนกระทั่งบัดนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี นับตั้งแต่พุทธกาลมา มีการแสดงมาโดยลำดับ จนบัดนี้ แล้วเราพบคนอย่างพระเวสสันดรมีกี่คน ที่จะยกลูกยกเมียยกบ้าน ยกเมือง ยกทุกสิ่งทุกอย่างให้เขา ยังไม่พบเลย ก็จะไปพบได้อย่างไร ถ้าทุกคนทำอย่างพระเวสสันดรละก็ เจ๊งแน่นอนละซิ ถ้าคนในประเทศไทยทุกคน เกิดนัดกันทำอย่างพระเวสสันดรละ มันก็เจ๊งแน่ แต่จะมีคนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ก็ตั้งสองพันกว่าปี มีกี่คนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ยังไม่พบไม่มีเลย ถ้าพบกรุณาบอกกระผมด้วย การกลัวว่าทุกคนเป็นอย่างพระเวสสันดรแล้วก็แย่ โลกนี้ก็ลำบากละซิ ยกให้เขาหมดละซิ จึงเป็นเหมือนหนึ่งคนที่กลัวฟ้าจะพังหล่นมาทับฉะนั้น เป็นโรคเส้นประสาท คนที่กลัวอย่างนี้ เป็นโรคจิตทุกชนิด ไม่ใช่โรคสามัญชาติ อย่างกระต่ายตื่นตูมอย่างนี้เป็นต้น เรื่องเวสสันดรชาดกนั้น ให้คติธรรมในการสอนให้สัตว์รู้จักการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เราควรจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และรักษาประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติไว้ โดยช่วยกันบอกเล่า ชี้แจงความเข้าใจผิดอันไร้สาระ ของคนที่ไม่ได้ศึกษาถึงสารัตถะแก่นสารของเวสสันดรชาดกให้ถูกต้องเข้าใจเสียให้ดี บุคคลที่จะประพฤติอย่างพระเวสสันดรนี้ ถ้าหากเป็นคำถามขึ้นก็ไม่มีใครเป็นพระเวสสันดรอีกแล้ว เราจะมาฟังเทศน์เวสสันดรชาดกทำไม เทศน์เพื่ออบรมจิตใจของพวกเราให้รู้จักเป็นคนเสียสละ ขนาดเทศน์อย่างนี้ทุกปี ๆ เรายังจะหาคนที่มีความเสียสละได้ยากยิ่ง ไม่ต้องเสียสละอย่างพระเวสสันดรหรอกครับ เอาเพียงหนึ่งในร้อยของพระเวสสันดร ยังหาไม่ค่อยจะพบ นี่ถ้ายิ่งไม่เทศน์ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ นี่ละซิ เราควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเผอิญเราพบคนอย่างพระเวสสันดรเข้า ท่านทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เราพบพระโพธิ์สัตว์องค์ใหม่แล้ว ท่านผู้นั้นเป็นหน่อเนื้อ พระพุทธางกูร กราบไหว้ท่านไว้เถิด เพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ ในประเทศไทยถามว่ามีตัวอย่างบ้างไหม ? มีครับ มีบุคคลผู้ประพฤติอย่างพระเวสสันดร ท่านผู้นั้นได้แก่รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีปฏิปทาประหลาดมากครับ กระผมมั่นใจว่าพระองค์ท่านเป็นพระพุทธางกูร มาเกิดในบรมราชขัตติยวงศ์ เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ในประเทศไทยเพื่อสร้างบารมี ที่เชื่ออย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมีปฏิปทาพระองค์ จริยาวัตรของท่านบ่งให้ทราบ ให้ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้เขียนบันทึกเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกจริยาวัตรของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า ละครผู้หญิงท่านก็ไม่ค่อยจะทรง (โปรด) ท่านทรงแต่การวัดการวา การกุศลเท่านั้น เขียนไว้ย่อ ๆ เท่านี้ เขียนบอกไว้ว่าท่านไม่เพลิดเพลินต่อเรื่องกามสุข เพลิดเพลินแต่การสร้างวัดสร้างวา เจริญแต่ในทางพระกุศล อีกประการหนึ่ง อัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ฝักใฝ่แต่ในเรื่องทานบริจาคอย่างมากน่าประหลาด เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงว่ากรมท่า กรมท่าซ้ายท่าขวาขึ้นกับท่านหมด กรมท่าในสมัยนี้ก็เทียบกับกระทรวงต่างประเทศกับกระทรวงเศรษฐการเดี๋ยวนี้รวมกันเท่ากับกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาในโบราณ แม่ทัพฝ่ายจีน-ญวนแขก ชวา มาลายู สังกัดอยู่ในสองกรมนี้ ว่าด้วยเรื่องสำเภา เรื่องค้าขาย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงตั้งโรงทานหน้าวังของพระองค์ นิมนต์พระมาเทศน์ทุกวันให้เป็นธรรมทาน และถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตผ่านมา และยาจกวณิพกคนเข็ญใจ คฤหัสถ์ไม่มีข้าวปลาจะกิน ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งจะห่ม ให้มาเอาที่นี่ ทรงให้ทานไม่อั้นทุกอย่าง จนกระทั่งรัชกาลที่สองซึ่งเป็นพระราชบิดา ออกอุทานเรียกพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสว่า เจ้าสัว ว่าฉันทำบุญสู้เจ้าสัวเขาไม่ได้ พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ดูซิ เขาเป็นแต่เพียงกรมหมื่น เขายังอุตส่าห์ตั้งโรงทานสองโรงหน้าวังเขาเลย เราเป็นถึงพระยามหากษัตริย์ ทำไมไม่มีโรงทานกับเขาบ้างเล่า เลยมีพระบรมราชโองการให้ตั้งโรงทานทางด้านประตูวิเศษไชยศรีปัจจุบันนี้ โรงทานนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยความดลใจของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นตัวอย่าง ต่อมานี้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อท่านทรงบำเพ็ญทานครั้งใด ท่านก็เปล่งว่า พุทโธ โหมิ อนาคเต ฯขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล เวลาสร้างวัดวาอารามหลั่งน้ำทักษิโณทกถวายสงฆ์ท่านก็เปล่งสีหนาทประกาศยืนยันความปรารถนาความเป็นพุทธภูมิของท่าน อะไรไม่ประหลาดเท่ากับที่พระองค์บริจาคลูกเป็นทาน เรื่องนี้แปลกมาก เพราะพระองค์บริจาคพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นทาน ประวัติศาสตร์ตอนนี้ลี้ลับมาก ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ที่เป็นที่เปิดเผยไม่ปรากฏ ไปปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความอยู่ตอนหนึ่ง กระผมจะอ่านถวายให้พระคุณเจ้าได้ฟังกล่าวว่า "... ได้ทรงสร้างพระบารมีโปรดคนโทษ ทำผิดคิดไม่ชอบต้องด้วยบทพระอัยการ ยกประทานชีวิตไว้ หลังน้ำทักษิโณทกตกศีรษะทั้งผู้ชาย ผู้หญิง โปรดประทานชีวิตปล่อยเจ็ดคน แล้วมีสงฆ์มาขอพระองค์ใหญ่วิลาศ พระองค์ลักขนา อุทิศถวาย ไม่เสียดาย เด็ดดวงพระทัยยื่นแล้ว สงฆ์ถวายคืน ว่าจะเพิ่มพระบารมี...” นี่เป็นตอนหนึ่งในจดหมายเหตุของกรมหลวงนริทรเทวี ซึ่งเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า จดหมายเหตุเจ้าครอกวัดโพธิ เพราะพระองค์เป็นพระกนิษฐาของรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่าพระองค์เจ้าหญิงกุ ท่านสร้างวังอยู่ที่ข้างวัดโพธิ์ ตรงที่สร้างวิหารพระนอน ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นวังของกรมหลวงนรินทรเทวี เจ้าครอกวัดโพธิ์สร้างวังอยู่ และท่านเป็นคนเก็บอากรขอนตลาดที่ตลาดท่าเตียน รัชกาลที่ ๑ ยกให้ เพราะพระองค์เป็นน้องสาวคนละแม่ พ่อเดียวกัน และท่านผู้นี้ดำรงพระชนม์ชีพมาถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาถึง ๓ แผ่นดิน ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า ได้มีพระสงฆ์มาขอพระราชโอรสพระราชธิดารัชกาลที่ ๓ ไป คือพระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กับพระองค์เจ้าชายลักขณามงคล นี่ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เทียบได้กับชาลีกัณหา แล้วก็รัชกาลที่ ๓ ก็เด็ดดวงพระทัยยื่นยกให้เป็นทานอย่างพระเวสสันดรเหมือนกัน แต่แล้วพระท่านก็ถวายคืน แล้วทูลบอกว่าที่มาขอนี่ก็เพื่อทดลองบารมีว่า ที่อ้างปรารถนาพุทธภูมินั้นจะทำได้จริงไหม เป็นการทดสอบบารมีเป็นการส่งเสริมพระบารมี น่าเสียดายที่ว่าพระสงฆ์ที่ไปทูลขอนั้น ในจดหมายเหตุไม่ได้ระบุว่า เป็นพระวัดไหน น่ารู้จริงนะครับ
ฉะนั้น เรื่องพระเวสสันดรชาดก กระผมขอจบด้วยการยกเอาอภิสวาจาของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่ได้ประกาศไว้ว่า หทยํ จกฺขุมปหํ ทชฺชํ กึ เม พาหิรกํ ธนํ หริญฺญํ วา สุวณฺณํ วา มุตฺตา วา เวฬุริยา มณี แปลความว่า เราพึงให้ดวงหทัยหรือดวงจักษุก็ยังให้ได้ เราจะหวงแหนอะไรกับทรัพย์ภายนอก คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์ มณี ได้ ชาลึ กณฺหาชินํ ธีตํ มทฺทึ ปติพฺพตํ จชมาโน น จินฺเตสึ โพธิยาสึ เยว การณา แปลความว่า เราสละชาลีผู้โอรส กัณหาผู้ธิดา ตลอดจนมัทรีเทวี ผู้เคารพสามี โดยที่เราไม่คิดอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เพราะเหตุอันจักสำเร็จโพธิญาณเท่านั้น น เม เทสฺสา อุโภ ปุตฺตา มทฺที เทวี น อปฺปิยา สพฺพญฺญุตํ ปิยํ มยฺหํ ตสฺมา ปิเย อทาสหํ แปลความว่า โอรสธิดาทั้งสองของเรา เราจะเกลียดชังก็หาไม่ พระนางมัทรีไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เราจึงสละโอรสและธิดาพร้อมทั้งมัทรีเสีย เพื่อแลกกับสิ่งที่เรารักยิ่งกว่านั้นคือ พระสัพพัญญุตญาณ ขอจบปาฐกถาวันนี้ แต่เพียงเท่านี้