๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์

พึงสังเกตว่า หลัก🔎ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ในบทที่ ๑ ก็ดี หลัก🔎อายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ในบทที่ ๒ ก็ดี แสดงเนื้อหาของชีวิต เน้นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับชีวิต คือ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และอายตนะภายในเป็นสำคัญ ส่วนหลักไตรลักษณ์ในบทที่ ๓ นี้ ขยายขอบเขตการพิจารณาออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และขันธ์ ๕ ที่เป็นภายนอก ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นการมองทั้งชีวิตและสิ่งทั้งปวงที่ชีวิตเกี่ยวข้อง คือว่าด้วยชีวิตและโลกทั่วไปทั้งหมดทั้งสิ้น ความหมายของไตรลักษณ์แต่ละข้อ ได้แสดงไว้พอเห็นเค้าในเบื้องต้นแล้ว ในที่นี้จะวิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์เหล่านั้นให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ตามหลักวิชาโดยหลักฐานในคัมภีร์


๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์แสดงอรรถ (ความหมาย) ของอนิจจตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่า เป็นของสิ้นไปๆ (ขยฎฺเฐน)" (*๑๒๓) หมายความว่า เกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ก็ดับไปที่นั่น เมื่อนั้น เช่น รูปธรรมในอดีต ก็ดับไปในอดีต ไม่มาถึงขณะนี้ รูปในขณะนี้ ก็ดับไปที่นี่ ไม่ไปถึงข้างหน้า รูปในอนาคตจะเกิดถัดต่อไป ก็จะดับ ณ ที่นั้นเอง ไม่ยืนอยู่ถึงเวลาต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านต้องการให้ผู้ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น จึงได้ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่าง ๆ ยักย้ายคำอธิบายออกไปให้เห็นความหมายในหลายๆ แง่ และหลายๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับคร่าวๆ หยาบๆ ลงมาจนถึงความเป็นไปในแต่ละขณะๆ เช่น เมื่อมองชีวิตของคน เบื้องต้นก็มองอย่างง่ายๆ ดูช่วงชีวิตทั้งหมด ก็จะเห็นว่าชีวิตมีการเกิดและการแตกดับ เริ่มต้นด้วยการเกิดและสิ้นสุดลงด้วยความตาย เมื่อซอยลงไปอีก ก็ยิ่งเห็นความเกิดและความดับ หรือการเริ่มต้นและการแตกสลายกระชั้นถี่เข้ามา เป็นช่วงวัยหนึ่งๆ ช่วงระยะสิบปีหนึ่งๆ ช่วงปีหนึ่งๆ ช่วงฤดูหนึ่งๆ ช่วงเดือนหนึ่งๆ ฯลฯ ช่วงยามหนึ่งๆ ตลอดถึงชั่วเวลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแต่ละครั้งแต่ละหน จนกระทั่งมองเห็นความเกิดดับที่เป็นไปในทุกๆ ขณะ ซึ่งเป็นของมองเห็นได้ยากสำหรับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบันนี้ ที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว อนิจจตาหรือความไม่เที่ยงโดยเฉพาะในด้านรูปธรรม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก จนเกือบจะกลายเป็นของสามัญไปแล้ว ทฤษฎีต่างๆ ตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดดับของดาว ลงมาจนถึงทฤษฎีว่าด้วยการสลายตัวของปรมาณู ล้วนใช้ช่วยอธิบายหลักอนิจจตาได้ทั้งสิ้น ที่ว่าคัมภีร์ชั้นอรรถกถายักเยื้องคำอธิบายออกไปหลายๆ แง่ ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ นั้น เช่น บางแห่งท่านอธิบายว่า “ที่ชื่อว่าเป็นอนิจจัง ก็เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป (อนจฺจนุติกตาย) และเพราะเป็นสิ่งที่มีความเริ่มต้นและความสิ้นสุด (มีจุดเริ่มและมีจุดจบ, อาทิอนุตวนุตตาย)" (*๑๒๔) แต่คำอธิบายอย่างง่ายๆ ที่ใช้บ่อย ก็คือข้อความว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่าเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี (คือมีหรือปรากฏขึ้นแล้ว ก็หมดหรือหายไป, หุตฺวา อภาวเฐน)" (*๑๒๕) บางแห่งก็นำข้อความอื่นมาอธิบายเสริมเข้ากับข้อความนี้อีก เช่นว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง เพราะเกิดขึ้น เสื่อมสลาย และกลายเป็นอย่างอื่น หรือเพราะมีแล้ว ก็ไม่มี (อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา หุตฺวา อภาวโต วา) (*๑๒๖) แต่ที่ถือว่าท่านประมวลความหมายต่างๆ มาแสดงไว้โดยครบถ้วน ก็คือ การแสดงอรรถแห่งอนิจจตาเป็น ๔ นัย หมายความว่า เป็นอนิจจังด้วยเหตุผล ๔ อย่าง คือ (*๑๒๗)

    ๑. อุปปาทวยปุปวตุติโต เพราะเป็นไปโดยการเกิดและการสลาย คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
    ๒. วิปริณามโต เพราะเป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อยๆ
    ๓. ตาวกาลิกโต เพราะเป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะ ๆ
    ๔. นิจจปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความเที่ยง คือ สภาวะของมันที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงนั้น ขัดกันอยู่เองในตัวกับความเที่ยง หรือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว เมื่อมองดูรู้เห็นตรงตามสภาวะของมันแล้ว ก็จะหาไม่พบความเที่ยงเลย ถึงคนจะพยายามมองให้เห็นเป็นเที่ยง มันก็ไม่ยอมเที่ยงตามที่คนอยาก จึงเรียกว่ามันปฏิเสธความเที่ยง

(๑๒๓) ขุ.ปฏิ๓๑/๗๔/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕.
(๑๒๔ )วิสุทธิ.๓/๒๓๗.
(๑๒๕) เช่น วิสุทธิ.๓/๒๖๐
(๑๒๖)วิสุทธิ.๓/๒๗๕
(๑๒๗ )วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๐; วิภงด.อ.๖๒; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๗๙ ว่า เหตุผล ๔ อย่างนี้เป็นวิธีพิจารณาที่ใช้สำหรับสังขารฝ่ายรูปธรรมแต่ความในอรรถกถาวิภังค์แสดงให้เห็นว่า ใช้ได้สำหรับสังขารทุกอย่าง, ดู วินยฎีกา ๓/๔๐ ด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๑. อนิจจตา และอนิจจลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

วิกิ

ผลการค้นหา