๑.๑๐ กรรม

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด ได้แก่ หลักกรรม เนื่องจากการอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม
กรรมในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่า แม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ถือว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น เหงื่อออก อาจเป็นเพราะอากาศร้อนก็ได้ ความเครียดก็ได้ เป็นอาการของโรคบางอย่างก็ได้ เป็นต้น

ความหมายของกรรม
คือ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือ การกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม

ประเภทของกรรม
ถ้ามี กุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น กุศลกรรม
ถ้ามี อกุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น อกุศลกรรม

กุศลมูล : อโลภะ อโทสะ อโมหะ
กุศลกรรม : กรรมดี กรรมอันเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา เกิดจากกุศลมูล ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้าย ไม่มีโทษ สะอาด ผ่องแผ้ว ฉลาด ทำให้มีความสุข มีสุขเป็นวิบาก ผ่อนคลาย บริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่น เป็นอิสระ เหมาะแก่การใช้งาน เป็นเครื่องชำระสันดาน ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป
อกุศลมูล : โลภะ โทสะ โมหะ
อกุศลกรรม : กรรมชั่ว เกิดจากอกุศลมูล

(โดยความหมายอย่างกว้าง บุญมีความหมายเท่ากับ กุศล, บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล)

กรรม จะให้ผลสำเร็จตามต้องการต้องมากับความเพียร (วิริยะ) และ ปัญญา ซึ่งทำให้เห็นธรรม รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำกรรมได้ตรงที่จะให้เกิดผลดีที่พึงต้องการ เมื่อพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งพ้นกรรมไปเลย นี่คือหลักการใหญ่ๆของพระพุทธศาสนา

การนับถือสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เสียหลักกรรม ก็ยังไม่ตกจากพระพุทธศาสนา แต่ถ้าผิดหลักกรรมเมื่อไร ก็หลุดจากพระพุทธศาสนาทันที เพราะกรรมคือธรรมส่วนที่โยงมาหามนุษย์ ที่ว่าไม่เสียหลักกรรมอย่างไร คือ ถ้าเราไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หวังผลจากการดลบันดาล อ้อนวอนนอนรอคอย ก็เป็นอันว่าพลาดหลักกรรมแล้ว ถ้าเชื่อถือแล้วทำให้มีความมั่นคงในการกระทำ ทำการเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพียรพยายามกระทำการตามเหตุปัจจัย ก็ยังไม่หลุดไปจากหลักกรรม ฉะนั้นชาวพุทธ ในขั้นเบื้องต้น แม้จะนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็อนุโลมได้ (เฉพาะในขั้นต้น เพื่อนำไปสู่ปัญญา) ถ้ายังไม่หลุดจากหลักกรรม พระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อย่าไปหลงติดพูดด้วนๆขาดห้วนใจความไปแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ จุดสำคัญที่ประเสริฐของมนุษย์ก็คือ การฝึกตัวเองได้ และฝึกได้จนประเสริฐเลิศที่สุด

มีพุทธพจน์หลายบทที่ท่านทรงตรัสถึงการให้ความสำคัญกับการกระทำอันเป็นกุศล แทนการถือเรื่องฤกษ์ยาม ความฝัน ฯลฯ เช่น “ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว” (มังคลชาดก)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” (นักขัตตชาดก)

“ฤกษ์ดีสำเร็จทุกเมื่อแก่ผู้บริสุทธิ์” (วัตถูปมสูตร)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี” (สุปุพพัณหสูตร)

ผลกรรมตามนัยแห่งพระไตรปิฎก ที่บรรยายในลักษณะสืบเนื่องไปถึงภพภายภาคหน้า (จูฬกัมมวิภังคสูตร) ผู้มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีอายุสั้น
ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโรคมาก
ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นพยาบาท, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีลักษณะทราม ไม่สวยไม่งาม
ผู้มีใจริษยา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนต่ำต้อยด้อยอำนาจ
ผู้ไม่บำเพ็ญทาน, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโภคะน้อย
ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่กราบไหว้ ไม่เคารพนับถือแก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีตระกูลต่ำ
ผู้ไม่ศึกษาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาปัญญา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนทรามปัญญา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติในทางกุศล ซึ่งตรงข้ามกับสาระในแต่ละหัวข้อนั้น ก็จะได้รับผลดีที่ตรงข้ามกันนั้น

จะเห็นว่าในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่ประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน ที่อาศัยกรรมคือคุณภาพจิตใจและคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง ที่เป็นปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่าทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว ก็มีผลมากมายไม่มีขอบเขต

ควรสังเกตว่า ท่านตรัสผลในภพภายภาคหน้า เช่น ผู้บำเพ็ญทาน เมื่อมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีโภคะสมบัติมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุไกล-ผลไกล ส่วนถ้าหวังผลในปัจจุบัน ควรทำเหตุใกล้ ดังธรรมหมวดที่มีชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ บางแห่งนิยมเรียกว่า หัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ ขยันหมั่นเพียร, รู้จักรักษาทรัพย์, คบคนดีไม่คบคนชั่ว, เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ

หลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา พูดอย่างกว้างๆท่านจัดว่าเป็นบุญที่มีผลมากกว่ากันตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ศีล และภาวนา นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองก็ทำได้

“บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของๆเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นติดตามไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า” (ทุติยาปุตตกสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม, กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตจำนง เป็นที่เสวยเวทนา นี้เรียกว่า กรรมเก่า, กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่, ความดับกรรมเป็นไฉน? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เรียกว่า ความดับกรรม, ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่ มรรคามีองค์ ๘ประการอันประเสริฐนี้เอง เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม” (กรรมสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นอกุศล มีโทษ มีทุกข์เป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด หรือในลำดับต่อๆไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความดับแห่งกรรม

ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นกุศล ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรม” (นิทานสูตร)



วิกิ

ผลการค้นหา