๖. อนุสสติ ๑๐

 อนุสสติ ๑๐

อนุสสติ หมายความว่า การระลึกเนืองๆ เป็นการระลึกถึงอยู่เนืองๆ เสมอๆ คือมีสติระลึกถึงใน ๑๐ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาเป็นอารมณ์
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคเป็นอารมณ์
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดาเป็นอารมณ์
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์
๘. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
๙. กายคตาสติ ระลึกถึงลักษณะอาการของร่างกายส่วนต่างๆ เป็นอารมณ์
๑๐. อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์


๑. พุทธานุสสติ
พุทธานุสสติ คือ การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ องค์ธรรม (สภาพธรรมที่ทำ
หน้าที่ระลึก) ได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ วิธีการปฏิบัติ การระลึกนั้นจะระลึกเป็นภาษาไทยหรือภาษาบาลีก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือต้องเข้าใจและรู้ถึงความหมายนั้นๆ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ควรไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ให้มั่นคง ไม่ถูกรบกวนจิตไม่ฟุ้งซ่าน พระพุทธคุณมี ๙ ประการ ระลึกในบทพระพุทธคุณเป็นภาษาบาลี ดังนี้

อิติปิ โส ภควา , อรหัง , สัมมาสัมพุทโธ , วิชชาจรณสัมปันโน , สุคโต , โลกวิทู , อนุตตโรปุริสทัมมสารถิ , สัตถา เทวมนุสสานัง , พุทโธ , ภควา ฯ หรือระลึกเป็นภาษาไทย ดังนี้คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น :- 
พระพุทธคุณประการที่ ๑ ผู้เป็นพระอรหันต์ (อรหัง) เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ๑,๕๐๐ อย่างเด็ดขาด มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสงดงาม เป็นผู้ควรได้รับการสักการบูชาเป็นพิเศษจากมวลมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลายพระพุทธคุณประการที่ ๒ ผู้ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ (สัมมาสัมพุทโธ) เพราะทรงฆ่าอวิชชา เพราะเป็นผู้ตรัสรู้เญยยธรรม ๕ ประการ คือ สังขาร วิการ ลักขณะ นิพพาน บัญญัติ ด้วยอำนาจแห่งพระสัพพัญญุตญาณโดยลำพังพระองค์เองอย่างถูกถ้วน
พระพุทธคุณประการที่ ๓ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (วิชชาจรณสัมปันโน) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐ คือ วิชชาและจรณะ วิชชา หมายถึง ความรู้ จรณะ หมายถึง ความประพฤติ

คำว่า วิชชา มีวิชชา ๓ และวิชชา ๘

วิชชา ๓ ได้แก่
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ (หรือ ทิพยจักขุญาณ) รู้การตายและเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๓. อาสวักขยญาณ รู้ในธรรมที่สิ้นอาสวะ

วิชชา ๘ ได้แก่
๑. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งรูปนามทั้งปวงที่มีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. อิทธิวิธญาณ ปัญญาที่สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๓. มโนมยิทธิญาณ ปัญญาที่สามารถเนรมิตร่างกายอื่นๆ ให้เกิดขึ้นภายในร่างกายของตน
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้
๕. เจโตปริยญาณ ปัญญาที่สามารถรู้จิตใจของบุคคลอื่นๆได้อย่างถี่ถ้วน
๖. ทิพพจักขุญาณ ปัญญาที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ในที่ห่างไกล หรือเล็กที่สุดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะอยู่ในที่แจ้ง หรือ ลี้ลับกำบังไว้อย่างมิดชิดประการใดๆ ก็ตาม ย่อมสามารถเห็นได้เป็นอย่างดี เหมือนกับตาของเทวดาและพรหมทั้งหลาย
๗. ทิพพโสตญาณ ปัญญาที่สามารถได้ยินเสียงในที่ห่างไกล หรือเบาที่สุดเหมือนกับหูของเทวดาและพรหมทั้งหลาย
๘. อาสวักขยญาณ ปัญญาที่สามารถทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

จรณะ หมายความว่า ความประพฤติ จรณะ มี ๑๕ คือ
๑. ศรัทธา เชื่อต่อการงานของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี และจะได้รับผลของ บุญ บาป นั้นอย่างแน่แท้ เชื่อในคุณของพระรัตนตรัยว่ามีจริง เชื่อว่าเคยเกิดมาแล้วในภพก่อนๆ
๒. สติ มีการระลึกอยู่ในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๓. หิริ มีความละอายในการงานอันเป็นทุจริตทุราชีพ
๔. โอตตัปปะ มีความสะดุ้งกลัวในการงานที่เป็นทุจริตทุราชีพ
๕. วิริยะ มีความขยันในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๖. สุตะ เคยฟัง เคยเห็นมามาก
๗. ปัญญา การเฉลียวฉลาดในกิจการทั้งปวง
๘. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค
๙. ชาคริยานุโยค ตื่นไวในยามหลับ หรือ มีการหลับนอนน้อย
๑๐. ศีล มีศีลสมบูรณ์
๑๑. อินทรียสังวร การสำรวมในทวาร ๖
๑๒. ปฐมฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๕
๑๓. ทุติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๓
๑๔. ตติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒
๑๕. จตุตถฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒

พระพุทธคุณประการที่ ๔ เสด็จไปดีแล้ว (สุคโต) เพราะทรงบรรลุหนทางที่ดี เพราะจะไม่เสด็จกลับมา(สู่โลกนี้)อีก เพราะทรงบรรลุความดับโดยไม่มีภาวะเหลืออยู่ (อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสทั้งหมดสิ้นพร้อมขันธ์ ๕) เพราะคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มากไม่น้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงได้รับพระนามว่า สุคโต
พระพุทธคุณประการที่ ๕ ทรงรู้แจ้งโลก (โลกวิทู) โลก มี ๓ คือ
    ๑. สัตตโลก (โลกคือ หมู่สัตว์)
    ๒. สังขารโลก (โลกคือ สังขาร)
    ๓. โอกาสโลก (โลกคือ ที่ตั้ง)

สัตตโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งสัตตโลกตลอดเวลาที่บำเพ็ญพุทธกิจ ที่ว่าทรงรู้แจ้ง สัตตโลก คือ ทรงรู้แจ้งความปรารถนาต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้ความต่างกันแห่งอินทรีย์ของหมู่สัตว์

สังขารโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งกรรมทุกอย่าง ทรงรู้แจ้งกุศลธรรม อกุศลธรรมและอัพยากตธรรม ทรงรู้แจ้งขันธ์ อายตนะ ธาตุ พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในธรรมทุกประการ

โอกาสโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า จักรวาลหนึ่งกว้างยาว ประมาณ ๑,๒๐๓.๔๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบ ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์ ในจักรวาลมีแผ่นดินหนาประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ บนแผ่นดินมีน้ำตั้งอยู่บนลมรองรับไว้โดยความหนาประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ มีลมรองรับให้จักรวาลนี้ลอยอยู่ได้ ประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นต้น

พระพุทธคุณประการที่ ๖ เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึกที่ยอดเยี่ยม (อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ) คำว่า “ยอดเยี่ยม” (อนุตตโร) เพราะไม่มีใครเหนือกว่าในโลก เพราะปราศจากคนที่เสมอ เพราะทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะหาใครเทียบไม่ได้ และเพราะไม่มีบุคคลอื่นยอดเยี่ยมกว่าคำว่า “เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึก” (ปุริสทัมมสารถิ)
บุคคลมี ๓ จำพวก คือ
    ๑. บุคคลฟังธรรมแล้วสามารถอธิบายธรรมนั้นได้
    ๒. บุคคลอธิบายหลักแห่งเหตุและปัจจัยได้
    ๓. บุคคลทำให้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณชัดแจ้ง

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงรู้แจ้งอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางแห่งความ หลุดพ้นแล้ว ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์(บุคคล)ทั้งหลาย ทรงฝึกมนุษย์เทวดา พรหมทั้งหลาย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย โดยวิธีการต่างๆ ทั้งปลอบโยน ทรมาน ยกย่อง ตามควร ตามความเหมาะสมแก่อัธยาศัยของสัตว์นั้นๆ 

พระพุทธคุณประการที่ ๗ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ (สัตถา เทวมนุสสานัง) 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพร่ำสอนเวไนยสัตว์ ด้วยประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ตามสมควร
พระพุทธคุณประการที่ ๘ ผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม (พุทโธ) พระผู้มีพระภาคทรงรู้อะไรๆ ที่ควรรู้ ซึ่งมีอยู่อย่างทั่วถ้วน ด้วยอำนาจ
พุทธญาณ ๑๘ คือ
    ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้อดีตทั้งปวง
    ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้อนาคตทั้งปวง
    ๓. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้ปัจจุบันทั้งปวง
    ๔. กายกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๕. วจีกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๖. มโนกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๗. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งฉันทะ
    ๘. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งวิริยะ
    ๙. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งสติ
    ๑๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งสมาธิ
    ๑๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งปัญญา
    ๑๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งวิมุตติ
    ๑๓. พระผู้มีพระภาคเจ้า มีความไม่มีการเล่น ท่าทางของพระองค์มีลักษณะผึ่งผาย ไม่มีอะไรที่ไม่สมควรในกิจกรรมของพระองค์
    ๑๔. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีความหลอกลวง
    ๑๕. ไม่มีอะไรที่พระญาณของพระองค์ไม่สามารถรับรู้ได้
    ๑๖. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีความหุนหันพลันแล่น
    ๑๗. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสภาพที่ไม่รู้
    ๑๘. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสภาพแห่งอุเบกขาที่ปรากฏโดยพระองค์ไม่รู้

พระพุทธคุณประการที่ ๙ (ภควา) เพราะพระพุทธองค์ได้รับการยกย่องจากชาวโลก เพราะบรรลุอริยสัจ เพราะทรงเป็นผู้ควรแก่ของถวาย เพราะจะทำให้ผู้ถวายได้รับความดีสูงสุด

เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นเจ้าของมรรคสัจ 
ผู้เจริญพุทธานุสสติย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลาจิตใจไม่ให้ราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุมได้ เพราะจิตใจมุ่งตรงต่อพระพุทธเจ้า จิตของผู้มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นสมาธิได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้นเพราะการระลึกพุทธคุณมีมากประการ สมาธิจึงไม่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวได้ จึงไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

อานิสงส์ของพุทธานุสติ 
ผู้ที่เจริญพุทธานุสติ จะได้รับอานิสงส์ดังนี้ คือ
๑. ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
๒. มีความไพบูลย์แห่งศรัทธา
๓. มีความไพบูลย์แห่งสติ
๔. มีความไพบูลย์แห่งปัญญา
๕. มีความปีติปราโมทย์
๖. สามารถอดกลั้นทุกข์ได้
๗. ทนความกลัวในอารมณ์ที่น่ากลัวได้
๘. มีความรู้สึกเสมือนว่าได้อยู่ใกล้พระศาสดา
๙. ร่างกายของผู้เจริญพุทธานุสสติอย่างดีแล้ว ย่อมเป็นของที่ควรแก่การบูชาของมนุษย์และเทวดาประดุจดังเรือนเจดีย์
๑๐. จิตจะน้อมไปสู่พุทธภูมิ
๑๑. แม้ประสบกับสิ่งที่จะทำให้ล่วงละเมิด หรือทำความผิดได้ ก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ มีความกลัวและละอายต่อบาป ประดุจว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ตรงหน้า
๑๒. หากยังไม่สามารถสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็จะไปสู่สุคติ

การเจริญพุทธานุสติ ให้เห็นคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่ควรพร่ำบ่นแต่ปาก แต่ควรนึกถึงเนื้อความ ความหมายของพุทธคุณ อย่ามุ่งถือตามตัวอักษรหรือพยัญชนะ จะทำให้ไม่เห็นพุทธคุณ การระลึก จะระลึกทุกบท หรือบทใดบทหนึ่งก็ได้ปุถุชนทั่วไปมีความเข้าใจพุทธคุณได้น้อย มักจะใช้พุทธคุณเป็นคาถาเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าจะระลึกถึงด้วยความเคารพ เช่น ใช้บทสวด อิติปิโส เดินหน้าถอยหลัง หรือใช้หัวใจ อิติปิโส เป็นคาถาในการปลุกเสกทำพิธี หรือทำให้ขลัง เป็นต้น

ผู้ที่จะ
มองเห็นพุทธคุณโดยชัดแจ้ง ก็คือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะเป็นผู้เห็นธรรมเข้าถึงซึ่งธรรมโดยการปฏิบัติเอง ปุถุชนทั่วไปถ้าต้องการให้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณก็ต้องศึกษาทั้งปริยัติ (ทฤษฎี) และปฏิบัติ เพื่อจะได้เข้าถึงข้อธรรมที่ทรงแสดงทั้งศีล สมาธิ ปัญญา จะศึกษาโดยไม่ปฏิบัติไม่ได้ ควรระลึกไว้ว่าพระอริยบุคคล ผู้บรรลุมรรคผล ท่านก็เคยเป็นปุถุชนมาก่อน แต่เพราะได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์จึงได้เห็นแจ้งปรากฏชัดในพระพุทธคุณ

จบ พุทธานุสสติ

๒. ธัมมานุสสติ
ธัมมานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระธรรม มี สวากขาโต เป็นต้น อยู่เนืองๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์

ธรรม หมายถึง ความดับ(นิพพาน) หรือข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้บรรลุถึงนิพพาน การทำลายกิจกรรมทุกอย่าง การละกิเลสทุกอย่าง การกำจัดตัณหา ความเป็นผู้บริสุทธิ์และสงบ

ข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ วิธีการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องมีความสงบนิ่งอยู่กับการระลึก มีความตระหนักรู้คุณของพระธรรม เข้าใจในความหมายของธรรมคุณนั้นๆ ด้วย ไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ไม่ให้ถูกรบกวน

ธัมมานุสสติ มี ๖ ประการ จะระลึกเป็นภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ ระลึกดังนี้ว่า :- สวากขาโต ภควตา ธัมโม , สันทิฏฐิโก , อกาลิโก , เอหิปัสสิโก , โอปนยิโก , ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ ฯ

ระลึกเป็นภาษาไทยว่า :- พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นไ ด้ด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ควรเชื้อเชิญให้มาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน
พระธรรมคุณประการที่ ๑ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว (สวากขาโต ภควตา ธัมโม) เพราะพระธรรมนั้นเว้นที่สุดโต่งทั้ง ๒ ไม่มีความขัดแย้งกันในพระธรรม และพระธรรมนั้น ประกอบด้วยความดีพระธรรมนั้นปราศจากข้อเสียโดยสิ้นเชิง พระธรรมนั้นย่อมนำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความดับ (นิพพาน)
พระธรรมคุณประการที่ ๒ เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก) เพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรมสามารถบรรลุมรรคและผลได้ตามลำดับ เพราะบุคคลย่อมเห็นแจ้งพระนิพพานและมรรคผล
พระธรรมคุณประการที่ ๓ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา (อกาลิโก) คือ ผลย่อมเกิดขึ้น โดยไม่มีการรอเวลา
พระธรรมคุณประการที่ ๔ ควรเชื้อเชิญให้มาดู(เอหิปัสสิโก) พระธรรม ๙ อย่าง มีมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เป็นธรรมที่ควรแก่การ เชื้อเชิญชนทั้งหลายให้มาชมได้ โดยกล่าวคำว่า ท่านจงมาดูเถิด มาเเลดูคุณค่าของพระธรรม
พระธรรมคุณประการที่ ๕ ควรน้อมเข้ามาใส่ตน (โอปนยิโก) พระธรรม ๙ อย่าง มีมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เป็นธรรมที่ควรยึดหน่วงให้มาปรากฏแก่ใจ แม้ที่สุดจะถูกไฟไหม้ศีรษะ ก็มิยอมที่จะทำการดับไฟนั้น โดยเหตุว่า ธรรมเหล่านี้เมื่อปรากฏขึ้นแล้วเพียงครั้งเดียวก็สามารถปิดประตูอบายได้
พระธรรมคุณประการที่ ๖ อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) ถ้าบุคคลยอมรับพระธรรมนั้น ไม่ยอมรับลัทธิอื่น เขาย่อมทำความรู้ในนิโรธให้เกิดขึ้น ย่อมทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ทำความรู้ในวิมุตติให้เกิดขึ้น

ผู้ปฏิบัติระลึกถึงพระธรรมโดยวิธีอื่นๆ ได้อีกดังนี้ คือ
พระธรรมนั้นเป็นดวงตา เป็นความรู้ เป็นความสงบ เป็นหนทางที่นำไปสู่อมตะ (นิพพาน) พระธรรมนั้นเป็นการหลีกออก เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้บรรลุถึงนิโรธ (ความดับทุกข์) เป็นหนทางสู่ทิพยภาวะ (เป็นทิพย์หรือคุณวิเศษ) เป็นการไม่ถอยกลับ เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เป็นความสงัด เป็นความวิเศษ พระธรรมเป็นการข้ามไปสู่ฝั่งโน้น เป็นที่พึ่ง ผู้ปฏิบัตินั้นระลึกถึงพระธรรมด้วยวิธีการเหล่านี้ โดยอาศัยคุณความดีเหล่านี้

การเจริญธัมมานุสสติได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะอารมณ์ในการเจริญมีมาก จิตจึงไม่อาจตั้งมั่นจนทำให้อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นได้

อานิสงส์ของธัมมานุสสติ
เหมือนกันกับพุทธานุสสติ

จบ ธัมมานุสสติ

๓. สังฆานุสสติ 
สังฆานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ มี สุปฏิปันโน เป็นต้น อยู่เนืองๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์

พระสงฆ์มี ๒ จำพวก คืออริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์
อริยสงฆ์ คือ ท่านที่ดำรงอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔
สมมติสงฆ์ คือพระสงฆ์โดยสมมติได้แก่ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูป ที่สามารถทำสังฆกรรมได้

พระสงฆ์มีคุณเพราะท่านเป็นผู้รักษาและสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นบุญเขตเป็นเนื้อนาบุญของโลก

วิธีการปฏิบัติ ควรไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ไม่ให้ถูกรบกวน
พระสังฆคุณมี ๙ ประการ จะระลึก
เป็นภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ ระลึกดังนี้ว่า :- สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ , อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ , ญายปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ , สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคลา เอสะภควโต สาวกสังโฆ , อาหุเนยโย , ปาหุเนยโย , ทักขิเณยโย , อัญชลีกรณีโย , อนุตตรัง ปุญญักเขตตังโลกัสสะ ฯ

ระลึกเป็นภาษาไทยดังนี้ :-
พระสังฆคุณประการที่ ๑ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) หมู่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี โดยปฏิปทาอันถูกต้อง เป็นข้อปฏิบัติตรง คือไม่คด ไม่โกง ไม่โค้ง เป็นการปฏิบัติที่ไกลจากกิเลส เป็นเหตุให้รู้แจ้ง
พระสังฆคุณประการที่ ๒ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) ชื่อว่าปฏิบัติดีและปฏิบัติตรงตามปฏิปทาอันถูกต้อง เพราะเว้นทางสุดโต่งทั้ง ๒ และถือเอาทางสายกลาง ชื่อว่าปฏิบัติดีและปฏิบัติตรง เพราะปราศจากกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สะอาด
พระสังฆคุณประการที่ ๓ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ (ญายปฏิปันโน) พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพาน อันเป็นอมตธรรม ไม่มีการปรารถนาอยากได้ภวสมบัติ และโภคสมบัติแต่อย่างใด
พระสังฆคุณประการที่ ๔ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติสมควร (สามีจิปฏิปันโน) ชื่อว่าปฏิบัติสมควร เพราะสมบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติที่พร้อมเพรียงกันในหมู่ภิกษุ เพราะเมื่อเห็นอานิสงส์อย่างมากแห่งคุณความดี และการเพิ่มพูนคุณความดีที่เกิดจากความสามัคคี จึงรักษาความสามัคคีนี้ไว้ ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ (ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคลา.....)

พระอริยสงฆ์จัดได้เป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล คือ
คู่ที่ ๑ ได้แก่ โสดาปัตติมรรคบุคคล โสดาปัตติผลบุคคล
คู่ที่ ๒ ได้แก่ สกทาคามิมรรคบุคคล สกทาคามิผลบุคคล
คู่ที่ ๓ ได้แก่ อนาคามิมรรคบุคคล อนาคามิผลบุคคล
คู่ที่ ๔ ได้แก่ อรหัตตมรรคบุคคล อรหัตตผลบุคคล

พระสังฆคุณประการที่ ๕ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา (อาหุเนยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถให้ผลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นผู้ควรรับอามิสบูชาที่เขานำมา 
พระสังฆคุณประการที่ ๖ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ (ปาหุเนยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นแขกที่ประเสริฐสุดของคนทั่วโลก เพราะมีแต่ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่ควรแก่การต้อนรับด้วยปัจจัย ๔ ที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
พระสังฆคุณประการที่ ๗ พระสงฆ์สาวกผู้ควรรับทักขิณาทาน (ทักขิเณยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถให้อานิสงส์ผลเกิดขึ้นตามความประสงค์ของคนทั้งหลายได้ ดังนั้น จึงควรแก่การรับทักขิณาทาน คือ การบริจาคทานของผู้มีความปรารถนาภวสมบัติ โภคสมบัติ ที่เกี่ยวกับตน หรือ คนอื่นในภพหน้า
พระสังฆคุณประการที่ ๘ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่การกราบไหว้ (อัญชลีกรณีโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น จึงสมควรแก่การกระทำอัญชลีของมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลาย
พระสังฆคุณประการที่ ๙ พระสงฆ์สาวกผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ( อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ เป็นบุญเขตที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้รับบุญ เมื่อหว่านพืชแห่งบุญลงไปบนผืนนานี้แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็จะได้รับผลมากมาย การเจริญสังฆานุสสติจะพิจารณาเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้ จะได้บรรลุเพียงอุปจารสมาธิ

อานิสงส์ของสังฆานุสสติ
เช่นเดียวกับ พุทธานุสสติ และธัมมานุสสติ

จบ สังฆานุสสติ

๔. สีลานุสสติ 
สีลานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลที่ตนรักษาไว้ โดยศีลนั้นไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ต้องเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทิน เป็นศีลที่ผู้รักษา รักษาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้มุ่งโลกียสมบัติ ไม่ได้เป็นทาสของตัณหา องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิตที่มีการเว้น การรักษา ในศีลนั้นๆ

การเจริญสีลานุสสตินี้ ผู้เจริญจะต้องมีความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักทั้ง ๕ ประการเสียก่อน คือ
    ๑. จะต้องชำระศีลของตนให้สะอาด หมดจด ครบบริบูรณ์
    ๒. จะต้องมีจิตใจพ้นไปจากความเป็นทาสแห่งตัณหา คือ การรักษาศีลที่ไม่มีความมุ่งหวังต่อโลกียสมบัติ
    ๓. มีการปฏิบัติกาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัด จนมิอาจที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะมาจับผิดโดยอ้างวัตถุขึ้นแสดงเป็นหลักฐานได้
    ๔. ความประพฤติด้วยกาย วาจา ของตนนั้น แม้ว่าคนอันธพาลและผู้ที่เป็นศัตรูแก่ตนจะไม่มีความเห็นชอบด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญ
    ๕. ต้องประกอบด้วยความรู้ว่า ศีลนี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มรรคสมาธิ ผลสมาธิ เกิดขึ้นได้

เมื่อความประพฤติปฏิบัติของตนถูกต้องตรงตามหลักทั้ง ๕ ประการนี้แล้วก็ลงมือทำการระลึกไปในศีล ระลึกเป็นภาษาบาลี ดังนี้:- อโห เม วต สีลัง เห อขัณฑัง อฉิททัง หเว อสพลัง อกัมมาสัง ภุชิสสัง อปรามสัง ปสัฏฐัง สัพพวิญญูหิ สมาธิ สังวัตตนกัง ฯ
ระลึกเป็นภาษาไทยดังนี้ :- ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ดีน่าปลื้มใจจริงหนอ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแน่นอน ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ ทำให้เราพ้นไปจากการเป็นทาสของตัณหา ศีลของเรานี้มิอาจที่จะมีผู้มากล่าวหาได้ ศีลของเรานี้ คนอันธพาลและผู้ที่เป็นศัตรูกับเราจะไม่มีการเห็นดีด้วยก็ตาม แต่คนดีทั้งหลายย่อมสรรเสริญ ศีลของเรานี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และมรรคสมาธิ ผลสมาธิ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แสดงศีลที่มีโทษ และ พ้นไปจากโทษ
ศีลที่มีโทษนั้นมี ๔ อย่าง คือ
    ๑. ศีลขาด ศีลของคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตก็ตาม ที่มีสิกขาบทข้อแรกสุด หรือ ข้อท้ายสุด อย่างใดอย่างหนึ่งขาดไป อย่างนี้เรียกว่า ขัณฑสีล หรือ ศีลขาด เช่นศีล ๘ มีปาณาติปาตาเวรมณี เป็นข้อแรกสุด และมี อุจจาสยนมหาสยนาเวรมณี เป็นของท้ายสุด
    ๒. ศีลทะลุ ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ศีลข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ ข้อใดข้อหนึ่งขาดไป อย่างนี้เรียกว่าฉิททสีล หรือ ศีลทะลุ 
    ๓. ศีลด่าง ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ศีลข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ ขาดไป ๒ หรือ ๓ ข้อ แต่ไม่ใช่ขาดไปเป็นลำดับ (คือติดกัน) เช่น ในศีล ๘ นั้นสิกขาบทข้อที่ ๒ กับ ข้อที่ ๔ หรือข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๖ หรือข้อที่ ๔ กับข้อที่ ๖ หรือข้อที่ ๒ ที่ ๔ กับที่ ๖ เป็นต้น เหล่านี้ขาดไป ศีลอย่างนี้ เรียกว่า สพลสีล หรือ ศีลด่าง
    ๔. ศีลพร้อย ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ นั้น ขาดไป ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ข้อติดต่อกันโดยลำดับ (ถ้าขาดไปถึง ๔ ข้อ ก็นับว่าหนัก) เช่นในศีล ๘ นั้น ข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๓ หรือข้อที่ ๒ - ๓ - ๔ หรือข้อที่ ๒ - ๓ - ๔ - ๕ หรือ ข้อที่ ๓ - ๔ – ๕ หรือ ข้อที่ ๓ - ๔ - ๕ - ๖ เป็นต้น ถ้าขาดติดต่อกันไปโดยลำดับ ศีลอย่างนี้เรียกว่า กัมมาสสีล หรือ ศีลพร้อย

อานิสงส์ของสีลานุสสติ คือ
๑. ทำให้เคารพพระพุทธ
๒. ทำให้เคารพพระธรรม
๓. ทำให้เคารพพระสงฆ์
๔. เอื้อเฟื้อต่อศีล คือยินดีปฏิบัติศีลอย่างถูกต้อง
๕. เคารพทาน
๖. มีสติ
๗. มองเห็นภัยในความผิดแม้เป็นความผิดเพียงล็กน้อย
๘. รักษาตนเอง
๙. คุ้มครองผู้อื่น
๑๐. ไม่มีภัยในโลกนี้
๑๑. ไม่มีภัยในโลกอื่น
๑๒. ได้รับอานิสงส์ต่างๆ อันเกิดจากการรักษาศีล เช่น เมื่อสิ้นชีวิตจะสู่สุคติทำให้มีโภคทรัพย์ เป็นเหตุให้มีชื่อเสียง ไม่หลงตาย แกล้วกล้าในที่ประชุมชน เป็นต้น

การเจริญสีลานุสติอยู่เนืองๆ ทำให้
บรรลุเพียงอุปจารสมาธิ

จบ สีลานุสสติ อ่านต่อ อนุสติ ๑๐ หน้าต่อไป

วิกิ

ผลการค้นหา