ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความเครียด มีความวิตกกังวลกันมาก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาทางคลายความเครียดคลายความวิตกกังวลโดยการเจริญสมาธิ สมาธิมีประโยชน์ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ไม่สับสน ไม่กังวล ได้อย่างแท้จริง แต่สมาธิไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อคลายความเครียด ความวิตก กังวลเท่านั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ สมาธิ หรือสัมมาสมาธิเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน สมาธิเป็นองค์หนึ่งในอริยมรรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า “สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”
สรุปประโยชน์ของสมาธิทั้งทางตรงและทางอ้อม มี ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายทางศาสนา คือ สมาธิเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
๑. ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้ คือ การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นให้รู้แจ้งสภาวธรรมของความเป็นจริง (คือได้รู้ว่าชีวิตและสรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน) เรียกว่า สมาธิเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
๒. ประโยชน์ที่รองลงมา คือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสชั่วคราว ด้วยการกด การข่มไว้ ด้วยกำลังของฌาน ด้วยอำนาจของพลังจิตที่แน่วแน่ จะสามารถข่มนิวรณ์ ๕ ไว้ได้ตลอดเวลาที่ยังมีสมาธิ เรียกตามศัพท์ว่า “วิกขัมภนวิมุตติ” แต่พึงทราบว่าเมื่อถอนออกจากสมาธิแล้ว กิเลสเหล่านั้น หรือนิวรณ์ ๕ ก็มีเช่นเดิม เพราะไม่ได้ถูกกำจัด เป็นแต่ถูกกดถูกข่มไม่ให้แสดงตัวหรืองอกงามได้ในช่วงที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น อุปมาเหมือนหินทับหญ้า ทำให้หญ้าไม่เจริญเติบโตชั่วคราว แต่เมื่อนำหินออก หญ้าได้แดดได้น้ำ ก็จะเจริญเติบโตตามปกติ
ประการที่ ๒ ประโยชน์ในการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย เป็นผลสำเร็จอย่างสูงทางจิตใจ หรือเรียกว่าประโยชน์ในด้านอภิญญา คือใช้สมาธิระดับฌานสมาบัติเป็นฐาน ทำให้เกิดฤทธิ์และอภิญญาขั้นโลกียะ อภิญญาคือความรู้ยิ่ง หรือความรู้ขั้นสูง มี ๖ อย่าง คือ
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้ล่องหนได้ ดำดิน เดินบนน้ำ เดินทะลุกำแพงได้ เป็นต้น
๒. ทิพพโสต หรือ หูทิพย์ เช่น สามารถฟังเสียงในที่ไกล ๆ ได้ ได้ยินสิ่งที่ต้องการได้ยินได้
๓. เจโตปริยญาณ ทายใจผู้อื่นได้ รู้ว่าผู้อื่นคิดอะไร
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ดูเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป
อภิญญา ที่เกิดจากสมาธิ จนสำเร็จฌาน เป็นโลกียอภิญญา คืออภิญญาในข้อที่ ๑-๕ ส่วนอาสวักขยญาณ เป็นโลกุตตรอภิญญา
ประการที่ ๓ ประโยชน์ด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจและบุคลิกลักษณะเข้มแข็งหนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระฉับกระเฉง เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา รู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง (ตรงข้ามกับลักษณะของคนมีนิวรณ์ เช่น อ่อนไหว ติดใจหลงใหลง่าย หยาบกระด้าง ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้าน สอดแส่ ลุกลี้ลุกลน หรือ หงอยเหงา เศร้าซึม หวาดระแวง ลังเล)
เตรียมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ เสริมสร้างนิสัยที่ดี ทำให้สงบ ผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความคุ้มกันทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต
ประการที่ ๔ ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
๑. ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาที่รอคอยอะไร หรือตอนรถติด หรือปฏิบัติเมื่อทำงานใช้ความคิดมากๆ เป็นต้น
๒. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน และการทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย
๓. ช่วยเสริมสุขภาพกาย ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน ปุถุชนทั่วไปเมื่อกายไม่สบายจิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมองขุ่นมัว ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ พอประสบเรื่องราวให้เศร้าเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกายก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย ยิ่งกว่านั้นกลับใช้ใจที่สบายมีกำลังจิตเข้มแข็งนั้น หันกลับมาส่งอิทธิพลบรรเทาหรือผ่อนเบาโรคทางกายได้อีกด้วย อาจทำให้โรคหายง่ายและไวขึ้น หรือแม้แต่ใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาทางกายไว้ก็ได้ ในด้านดีผู้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอาบผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายดีเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว
ปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธิ
ก. ตัดปลิโพธ หรือ ความวิตกกังวลทำให้จิตขัดข้อง มี ๑๐ ประการ
ข. หากัลยาณมิตร หรือ ครูอาจารย์ผู้ที่จะสอนการเจริญสมาธิ
ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน
ง. อยู่ในสถานที่ที่เหมาะกับการเจริญสมาธิ
จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ
การอธิบายในเรื่องปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธินี้ กล่าวไว้สำหรับผู้ที่จะเจริญสมาธิทั้งที่เป็นฆราวาส และภิกษุสามเณร ทั้งผู้จะเจริญสมาธิในช่วงสั้น ๆ และผู้ที่มุ่งมั่นสละชีพเพื่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง
ก. ปลิโพธ คือ ข้อติดขัดทำให้กังวล มีความค้างคาในใจ เมื่อเกิดกังวลหรือปลิโพธ ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า ปลิโพธมี ๑๐ ประการ คือ
๑) กังวลเรื่องที่อยู่หรือวัด
๒) เรื่องตระกูล
๓) เรื่องลาภ
๔) เรื่องหมู่คณะ
๕) เรื่องงาน
๖) เรื่องการเดินทาง
๗) เรื่อง ญาติ
๘) เรื่อง อาพาธ
๙) เรื่องคันถะ
๑๐) เรื่องอิทธิ คือฤทธิ์ของปุถุชนกังวลเรื่องรักษาฤทธิ์ แต่กังวลเรื่องนี้เป็นความกังวลของผู้เจริญวิปัสสนาเท่านั้น เพราะผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิยังไม่มีฤทธิ์ จึงไม่ต้องกังวล
ข. แสวงหาอาจารย์หรือกัลยาณมิตร ผู้ที่จะช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนในการปฏิบัติ กัลยาณมิตร คือ ผู้ที่ประกอบไปด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ คือ
๑) น่ารัก
๒) น่าเคารพ
๓) น่าเจริญใจ น่านับถือ รู้คุณค่าของการเจริญสมาธิเป็นผู้เที่ยงธรรม
๔) สอนได้ดี
๕) ยอมให้ศิษย์แนะนำท้วงติงได้
๖) สอนเรื่องที่ลึกซึ้งได้
๗) ไม่แนะนำ ไม่ชักชวนในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร
การมีกัลยาณมิตรจะช่วยเป็นขวัญเป็นกำลังใจในเวลาปฏิบัติแล้วประสบอารมณ์ที่น่ากลัว ทำให้ไม่ดื้อรั้น เพราะมีอาจารย์คอยดูแลควบคุมความประพฤติอยู่ การแสวงหากัลยาณมิตรที่ดีที่สุด แนะนำข้อปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาได้ถูกต้องที่สุด ในปัจจุบันยังหาได้อยู่คือ คำสอนในพระไตรปิฎก และอรรถกถา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๖๘-๖๙ ชื่อว่า ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา ได้แก่ คัมภีร์วิสุทธิมรรค และคัมภีร์วิมุตติมรรค ทั้ง ๓ คัมภีร์นี้จัดได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับนักปฏิบัติอย่างดี
ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน จริต หรือ จริยา หมายถึง พื้นเพของจิต ลักษณะนิสัยความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง คนที่มีจริตแบบใดลักษณะนิสัยจิตใจก็จะเป็นไปในทางนั้น จริตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๖ คือ
๑. ราคจริต นิสัยหนักไปทางราคะ รักสวย รักงาม ยืน เดินเยื้องย่างละมุนละไม ไม่รีบร้อน รักสะอาด พิถีพิถันเรื่องของใช้เครื่องแต่งตัวเครื่องประดับ ชอบบริโภคอาหารรสกลมกล่อม ประณีตและหวาน ทำการใดๆ ก็ทำอย่างเรียบร้อยมีระเบียบสวยงาม
๒. โทสจริต นิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อนหงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ทำการงานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ตึงตัง โครมคราม ชอบอาหารรสเปรี้ยว รสจัด รับประทานอาหารเร็ว เดินเร็ว ฝีเท้าหนัก ชอบวิวาท
๓. โมหจริต นิสัยหนักไปทางโมหะ ค่อนข้างเขลา เชื่อง่ายงมงาย เซื่องซึม ไม่กระปรี้กระเปร่า เหม่อลอย ท้อถอย ไม่เข้มแข็ง ทำงานใดก็ทำอย่างหยาบๆ ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ชอบเผลอสติ
๔. สัทธาจริต นิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเลื่อมใสได้ง่าย ไม่มีมารยาสาไถย เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์
๕. วิตกจริต นิสัยหนักไปทางวิตกกังวล ย้ำคิด ฟุ้งซ่าน วาดวิมานในอากาศ กลัวไปล่วงหน้าทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น
๖. พุทธิจริต นิสัยหนักไปทางชอบใช้เหตุผล สติปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบศึกษาครุ่นคิด
คนแต่ละคนจะมีจริตอย่างเดียว อาจมีจริตผสมกันได้ เช่น เป็นคนราคจริตและโทสจริตในคนๆเดียวกัน เป็นคนโทสจริตและโมหจริตด้วย เป็นต้น บุคคลที่เกิดมาในโลก มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แม้พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ก็มีอัธยาศัยจิตใจผิดแผกกันไป ทั้งที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูเหมือนๆ กัน พุทธศาสนาได้อธิบายสาเหตุ ของความแตกต่างกันของนิสัยนี้ว่า มาจากกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่บุคคลผู้นั้นได้สั่งสมมาในชาติปางก่อนๆ ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในชาติปัจจุบัน หรือ การอบรมเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว เหตุจากชาติปางก่อนมีส่วนด้วยและการเลี้ยงดูความประพฤติการปฏิบัติตนในชาตินี้ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้พุทธศาสนาเห็นว่าคนสามารถพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ แก้ไข ปรับปรุงตนเองได้ มิใช่ยินยอม ถูกกระทำหรือยอมรับทุกสิ่ง หรือปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแส แต่คนมีศักยภาพ (potential) ที่จะเป็นผู้ฝ่าฟัน ชนะสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ในใจของตน และสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่ดีงามให้งอกงามผลิบานได้ ในจิตใจและชีวิตของตนเอง
จริตนิสัยเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เช่น คนโมหจริต โง่เขลา ด้อยปัญญา ก็สามารถแก้ไข หรือปรับปรุงตัว โดยหมั่นไต่ถามผู้รู้ ขยันศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ สนทนาธรรม เป็นต้น การแก้ไขจริตนิสัยที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ นั้น ถ้าบุคคลผู้นั้นเห็นโทษของมันและมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง ก็สามารถบรรเทาหรือทำให้ดีขึ้นได้ เช่น เห็นโทษของโทสะ ก็หาอุบายวิธีระงับ หรือบรรเทาไม่ให้โทสะกำเริบ หรือแสดงออกมาให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและผู้คนรอบข้าง การเจริญเมตตาภาวนาซึ่งเป็นการเจริญสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้จิตใจอ่อนโยนและบรรเทาโทสะลงได้ การเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริต ต้องพิจารณาว่าอุปนิสัยของเราโน้มเอียงหรือหนักไปทางใด มีหลักพิจารณาดังต่อไปนี้
๑. คนราคจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อสุภะ ๑๐ (พิจารณาซากศพ) และ กายคตาสติ (พิจารณากาย คือ พิจารณาอาการ ๓๒ ของกาย)
๒. คนโทสจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ พรหมวิหาร ๔ (อัปปมัญญา ๔) วรรณกสิณ ๔ ได้แก่ กสิณสีแดง กสิณสีขาว กสิณสีเขียว และกสิณสีเหลือง
๓. คนโมหจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ (การดูลมหายใจเข้าออก)
๔. คนสัทธาจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อนุสสติ ๖ (พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ)
๕. คนวิตกจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ
๖. คนพุทธิจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ มรณานุสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐานและอาหาเรปฏิกูลสัญญา
ส่วนอรูปฌาน ๔ และมหาภูตกสิณทั้ง ๔ คือ ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) อาโปกสิณ (กสิณน้ำ) เตโชกสิณ (กสิณไฟ) และวาโยกสิณ (กสิณลม) เหมาะกับคนทุกจริต เมื่อเจริญสมาธิแบบใดแล้วเห็นว่าเหมาะกับจริตของตนเอง ก็ไม่ควรโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำวิธีโน้นบ้าง ทำวิธีนี้บ้าง จนท้ายที่สุดสมาธิก็ไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อได้สมาธิที่เหมาะกับจริตก็ควรตั้งใจปฏิบัติไปจนถึงที่สุดแห่งวิธีการหรือสมาธินั้นๆ
ง. อาวาสหรือที่อยู่ หรือวัดที่ไม่เหมาะกับการเจริญสมาธิ ควรหลีกเลี่ยงวัดที่มีลักษณะ ๑๘ ประการนี้ คือ (ในที่นี้จะกล่าวถึงวัด แต่อันที่จริงแล้วจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ที่สามารถจัดเป็นที่ปฏิบัติ เช่น บ้าน สำนัก ฯลฯ)
๑. วัดใหญ่ เพราะมีพระเณร มีคนมาก ต่างจิตต่างใจเรื่องก็มาก หาความสงบไม่ได้
๒. วัดเก่า มีเรื่องที่ต้องดูแลมาก ต้องซ่อมแซมรักษาโบราณวัตถุ
๓. วัดใหม่ มีเรื่องต้องก่อสร้าง มีเรื่องต้องทำให้วัดสมบูรณ์
๔. วัดใกล้ทางเดินทางสัญจร อาจหมายถึงวัดที่ติดถนนทางสัญจรจะมีคนมาบ่อย ทำให้ไม่สงบ
๕. วัดใกล้สระน้ำ ท่าน้ำ คนจะพากันมาใช้น้ำ ทำให้พลุกพล่าน ไม่สงบ
๖. วัดที่มีผัก หรือใบไม้ที่บริโภคได้
๗. วัดที่มีดอกไม้
๘. วัดที่มีไม้ผล หรือผลไม้ต่างๆ
(วัดในข้อ ๖-๘ จะทำให้คนมาเก็บผัก ขอดอกไม้ ขอผลไม้คนจะพากันมาเสมอทำให้ไม่สงบ วัดที่สร้างไว้เพื่อจะให้เป็นวัดสำหรับปฏิบัติสมาธิภาวนาจริงๆ จะไม่ตกแต่งทำสวนดอกไม้ เพราะผู้คนจะพากันมาเก็บดอกไม้ มาเที่ยวอยู่ไม่ขาด)
๙. วัดที่ใครๆ อยากไปมา วัดที่มีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล เป็นต้น
๑๐. วัดที่อยู่ใกล้เมือง
๑๑. วัดที่อยู่ใกล้ที่ไม้ที่ฟืน หมายถึง วัดที่อยู่ใกล้ป่าที่มีคนมาหาฟืนหาของป่ากันมาก
๑๒. วัดอยู่ใกล้นา ชาวนาก็จะนวดข้าว ทำนา เสียงจะอื้ออึง
๑๓. วัดที่มีคนไม่ถูกกัน ทะเลาะวิวาทกัน
๑๔. วัดติดท่าน้ำ ผู้คนจะใช้สัญจรไปมามาก และมาอาบน้ำตักน้ำกัน
๑๕. วัดในถิ่นห่างไกลที่คนไม่นับถือพุทธศาสนา
๑๖. วัดติดพรมแดน อยู่ระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐ อาจเกิดสงคราม รบพุ่งไม่สงบ เป็นการเสี่ยงภัยและมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้
๑๗. วัดที่ไม่สัปปายะ อยู่ไม่สบายมีอารมณ์ต่างๆ มารบกวน
๑๘. วัดที่ไม่มีกัลยาณมิตร หรือไม่มีอาจารย์คอยแนะนำดูแล
จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติต่างๆ ๔๐ วิธี ในบทต่อๆ ไป ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการต่างๆ เหล่านั้นจึงจะได้ผลแห่งสมาธิวิธีนั้นๆ ยังมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกหลายประการ ที่จะช่วยในการปฏิบัติสมาธิให้ก้าวหน้า ช่วยให้กรรรมฐานเจริญ นอกจากปัจจัยทั้ง ๔ ประการที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีข้อธรรมที่มีผลโดยตรงกับการอบรมจิต อันได้แก่ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
ธุดงควัตร ๑๓
ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส เป็นชื่อของข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น การปฏิบัติธุดงควัตรไม่ใช่สิ่งที่บังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ผู้ใดจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ จะปฏิบัติเป็นครั้งคราวหรือตลอดไปก็ได้ จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอุกฤษฎ์ก็ได้ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงธุดงควัตรว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม (ความดีเพิ่มพูน ความไม่ดีลดลง)
ธุดงควัตร ๑๓ข้อ นั้น ได้แก่
๑. ใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ หรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาตัดเย็บจีวร
๒. ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ
๓. บิณฑบาตเป็นวัตร (บิณฑบาตเป็นประจำ)
๔. บิณฑบาตตามลำดับเรือน (บ้าน)
๕. ฉันมื้อเดียว
๖. ฉันในบาตร
๗. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่ม (ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง)
๘. อยู่ป่า
๙. อยู่โคนไม้
๑๐. อยู่ป่าช้า
๑๑. อยู่กลางแจ้ง
๑๒. อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ (ไม่จู้จี้เลือกที่พักที่ตนพอใจ)
๑๓. ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน
ธุดงควัตรนั้นพระภิกษุ สามเณร สามารถปฏิบัติได้ทุกข้อ ในสมัยพุทธกาลนั้น ภิกษุณีก็มีการปฏิบัติธุดงควัตรเพื่อช่วยให้กรรมฐานเจริญเร็วเช่นกัน แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติธุดงควัตรเพียง ๘ ข้อ คือ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ใช้เพียง ๓ ผืน ถือการบิณฑบาต บิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ฉันมื้อเดียว ฉันเฉพาะในบาตร ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน และอยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้ ส่วนธุดงควัตรอีก ๕ ข้อ คือ อยู่ป่า อยู่ป่าช้า อยู่โคนไม้ ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง และอยู่กลางแจ้งนั้น ทรงห้ามเพื่อสวัสดิภาพของภิกษุณีเอง เพราะความเป็นหญิงถึงแม้จะบวชปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ต้องระวังเรื่องสวัสดิภาพเป็นสำคัญ แม้แต่พระอุบลวรรณาเถรี พระภิกษุณีผู้บรรลุอรหัตตผล ก็ยังถูกย่ำยีข่มเหงได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นฆราวาส สามารถปฏิบัติธุดงควัตรที่เหมาะสมกับตนและอยู่ในวิสัยที่ฆราวาสจะปฏิบัติได้ในบางข้อ เช่น รับประทานอาหารมื้อเดียว รับประทานอาหารในภาชนะใบเดียว (เพราะอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสไม่ใช้บาตร) อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ ถือการนั่งไม่นอน ดังที่ผู้ปฏิบัติมักจะไม่นอนตลอดคืนวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา เพื่อเจริญสมาธิ หรือฟังธรรม บูชาพระพุทธองค์ เป็นต้น