💬 กลับไป โพธิปักขิยสังคหะ หน้าแรก
หมวดที่ ๕ พละ ๕
พละ คือ กำลัง หมายถึงธรรมที่เป็นกำลังที่เป็นเครื่องต่อต้านอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ เพราะว่าเมื่อใดที่กำลังคือพละ เกิดขึ้นในใจเมื่อนั้นอกุศลธรรมฝ่ายปฏิปักษ์ก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมที่เป็นกำลังนี้จะต้านทานไว้ ป้องกันไว้อย่างมั่นคนและแข็งแรง ไม่หวั่นไหว มิให้อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ครอบงำได้
พละ ในหมวดของมิสสกสังคหะ ได้แสดงพละไว้ ๙ ประการ แต่พละในหมวดของโพธิปักขิยธรรมแสดงพละ ๕ ประการ คือ
๑. สัทธาพละ สัทธาเป็นความเชื่อ ความเลื่อมใ สในกุศลธรรมเป็นกำลัง ไม่หวั่นไหว ย่ำยีอกุศลธรรม คือ ตัณหา อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๒. วิริยพละ วิริยะที่เป็นความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า ไม่หวั่นไหวและทำลายโกสัชชธรรม คือ ความเกียจคร้าน อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๓. สติพละ สติที่เป็นความระลึกในอารมณ์สติปัฏฐาน มีกำลังตั้งมั่นไม่หวั่นไหวและทำลายความหลงลืมสติ อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. สมาธิพละ สมาธิที่เป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่านอัน เป็นข้าศึกต่ออารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๕. ปัญญาพละ ปัญญาที่กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานตามความเป็นจริงไม่หวั่นไหว และทำลายความมืดมน ความหลงงมงาย อันเป็นข้าศึกให้พินาศไป องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖
พละธรรมทั้ง ๕ นี้ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อการประหาณกิเลส เป็นกำลังภายใน ที่ทำให้ผู้นั้นมีกำลังใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ไม่ย่อมให้ความไม่ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความโง่ และความหลง ครอบงำย่ำยีจิตใจได้
หมวดที่ ๖ โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้เกิดความรู้ยิ่ง โพชฌงค์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๗ อย่าง คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์ สติที่มีความเจริญ คือ ตั้งอยู่ได้ติดต่อกันในอารมณ์ของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายความประมาท และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และ อัปปนาชวนะ ๒๖
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่มีความเจริญ คือ รู้อยู่ในรูป นาม ขันธ์ ๕ และเห็นความเกิด ดับ ของรูปนาม ด้วยอำนาจวิปัสสนาภาวนา ทำลายโมหะ และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรค ทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ วิริยะที่มีความเจริญ คือ มีความพยายามอย่างแรงกล้าในการละอกุศล การป้องกันระวังไม่ให้อกุศลเกิด การทำให้กุศลใหม่เกิด การทำให้กุศลตั้งมั่นและเจริญขึ้น ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายโกสัชชะ คือความเกียจคร้านได้แล้วทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติที่มีความเจริญ คือ มีความชื่นใจในอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา แล้วทำลายอรติ คือ ความไม่ยินดี และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ ปีติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ สัปปีติกอัปปนาชวนะ ๓๐
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือความสงบกายสงบใจ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่ในอารมณ์ของรูปนามด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความสงบนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนาภาวนา สามารถทำลายความหยาบกระด้างทางกาย และทำลายความเร่าร้อนทางใจลงได้ ทำให้เข้าถึงสัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ กายปัสสัทธิ และ จิตตปัสสัทธิที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ สมาธิที่มีความเจริญ คือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนสามารถทำลายความฟุ้งซ่าน และทำให้สัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่มีความเจริญ คือ ไม่ตกไปในอภิชฌาและโทมนัส ขณะที่วิปัสสนาญาณมีความเจริญมาก สามารถกระทำให้องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำหน้าที่ของตน ๆ อย่างสม่ำเสมอ องค์ธรรมได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
เหตุเกิดโพชฌงค์ ๗
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า “ กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร(เหตุ)ให้สติสัมโพชฌงค์ (ตลอดจน ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์………..อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่เหตุแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์”
จากพระพุทธพจน์ แสดงให้เห็นว่า “โยนิโสมนสิการ” ทำให้โพชฌงค์ทั้ง ๗ เกิดขึ้นได้ “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาใส่ใจในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏด้วยความแยบคาย พิจารณาไปตามลำดับไม่ละทิ้ง พิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอย่างจดจ้อง พิจารณาอย่างพิเศษ เพื่อให้สติเกิดขึ้น เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ไปบังคับให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยการไปกระทำขึ้นมาเอง เป็นสติที่กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาตินั่นเอง เช่น ไม่เดินแบบช้ามาก เพื่อให้สติระลึกรู้ได้ทัน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นโยนิโสมสิการ คือ การมีสติที่มีการกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏให้เห็นตามอาการสภาพปกติจึงจะเหมาะสม
หมวดที่ ๗ มรรคมีองค์ ๘
มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึงทางปฏิบัติ หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เข้าถึงพระนิพพาน คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ เรียกอีกอย่างว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง อันหมายถึงข้อปฏิบัติที่ไม่สุดโต่ง กล่าวคือ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่เคร่งในทางที่ผิด มรรค แบ่งเป็น ๘ อย่าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึงการเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ โดยกิจ ๔
เห็นแจ้งใน ทุกขสัจจะ โดย ปริญญากิจ (กำหนดรู้ ทุกขสัจ)
เห็นแจ้งใน สมุทยสัจจะ โดย ปหานกิจ (การละ สมุทัย)
เห็นแจ้งใน นิโรธสัจจะ โดย สัจฉิกรณกิจ (การรู้แจ้ง นิโรธ)
เห็นแจ้งใน มัคคสัจจะ โดย ภาวนากิจ (การเจริญมรรค)
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ความตรึกอยู่ในเรื่องราวที่เป็นกุศล องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ ปฐมฌานชวนะ ๑๐
๓. สัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ หมายถึง การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘
๔. สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ หมายถึง การเว้นจากกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐานตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐานดำเนินไปตามสัมมัปปธาน ๔ และ การงดเว้นจาก กายทุจริต ๓ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ องค์ธรรมได้แก่สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ หมายถึง สติระลึกรู้อยู่แต่เฉพาะอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ จนถึงมรรค ผล เป็นที่สุดเท่านั้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง ความตั้งใจมั่นในอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
มิตรดีกับการเจริญอริยมรรค
การมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี และผู้ปฏิบัติมีความเพียรอย่างดี ก็จะพากันขวนขวาย ชักชวนกันในการปฏิบัติ ซึ่งก็จะเป็นหนทางแห่งการเจริญอริยมรรคได้ ในปัจจุบันมิตรดีที่สุดก็ยังมีอยู่ มิตรนั้นก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คำสอนนั้น ๆ เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามก็เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ได้
อริยมรรคมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
คำสอนเรื่องการพ้นทุกข์ ออกไปจากทุกข์ ออกไปจากการเวียนตายเวียนเกิด ออกไปจากสงสารวัฏ ออกไปจากวัฏฏะ มีอยู่เพียงในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทาง เป็นเส้นทางไปสู่ความดับทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเราเป็นชาวพุทธได้พบพระพุทธศาสนา เป็นผู้สนใจในคำสอนของพระพุทธองค์ จงรีบขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนจากพระไตรปิฎก รีบขวนขวายปฏิบัติธรรม แม้ชีวิตปุถุชนอย่างเรา ๆ จะเต็มไปด้วยหนทางแห่งกิเลส แต่ถ้าเรายึดหลักข้อรักษากาย ประคองใจ ที่กล่าวไว้แล้วในโพธิปักขิยธรรมนี้ จะเป็นหนทางไปสู่เส้นทางสายนิพพานได้
ธรรมที่เป็นอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค ได้แก่
๑. กัลยาณมิตร ความเป็นผู้มีมิตรดี ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อมิตรดี
๒. ศีล ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เพราะว่าศีลเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา ศีลนั้นจะรักษากาย วาจาของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุให้จิตใจเบาสบาย เหมาะแก่การประพฤติธรรม
๓. ฉันทะ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยฉันทะ คือการเป็นผู้มีความพอใจ ชอบใจ มุ่งหมายในเรื่องการเจริญมรรค
๔. มีตนถึงพร้อม ไม่บกพร่องเรื่องสุขภาพร่างกาย เมื่อกายพร้อมไม่เจ็บป่วยก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
๕. มีความเห็นถูกต้อง การมีความเห็นถูกเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อมีความเห็นถูก การปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ถูกทาง ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว ก็อย่าหวังความสำเร็จในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อมีความเห็นผิดการปฏิบัติก็ผิดทาง ทำให้กลายเป็นมิจฉามรรค ความเห็นผิดอย่างนี้จะพาไปสู่นรกได้
๖. ไม่ประมาท คือไม่ประมาทในวัยว่ายังเด็กอยู่ ยังหนุ่มยังสาวอยู่ หรือประมาทโดยการผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยไปไม่เร่งขวนขวายในการปฏิบัติ