เรามักจะได้ยินคำกล่าวของผู้รู้อยู่เสมอว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้” ซึ่งหมายความว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสนาที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ และตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรู้ ถ้ากล่าวโดยเฉพาะคำสอนที่เป็นหลักสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความรู้นั้น ก็มีธรรมที่สำคัญ คือ “โพธิปักขิยธรรม” ซึ่งแปลว่าธรรมฝ่ายให้เกิดความรู้ หรือ ธรรมที่สนับสนุนให้เกิดความรู้ และเป็นความรู้ที่ตรงด้วยพระพุทธประสงค์นั้น ได้แก่ ความรู้อริยสัจ เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ที่สามารถทำลายกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้อย่างแท้จริง โดยเหตุนี้ โพธิปักขิยธรรม จึงเรียกได้ว่าเป็นธรรมที่เป็นอิสระจากกิเลส เป็นธรรมที่ไม่เป็นทาสของกิเลส และบุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่อิสระจากกิเลส ไม่เป็นทาสของกิเลส ผู้ประสงค์จะมีความรู้ ต้องการทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงควรศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์ และโดยเฉพาะในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้
โพธิปักขิยสังคหะแบ่งเป็น ๗ หมวด มี ๓๗ ประการ ดังนี้
สติ แปลว่า ความระลึกได้ สตินั้น มีลักษณะเตือนใจให้ระลึกได้ ช่วยให้ไม่หลงลืม มีการคุ้มครองรักษาใจหรือทำใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ ฝ่ายดีกล่าวคือนามกับรูป อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม สติเป็นประดุจนายประตู เพราะคอยเฝ้ารักษาทวาร (ประตูทั้ง ๖ มี ตา หู เป็นต้น ) ทำให้ระลึกทันต่อรูปนามขันธ์ ๕ และสามารถละความเห็นผิดในรูปและนามว่า รูปเป็นของงาม เวทนาเป็นสุข จิตนี้เที่ยง และสภาพธรรมต่าง ๆ เป็นตัวตนได้ อันเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน
สติเป็นธรรมที่มีคุณมาก สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า สติเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ความไม่ปราศจากสติ สติปัฏฐานเป็นชื่อของสติที่มั่นคงอยู่เป็นนิจนั่นเอง สติเป็นกุศลเจตสิกที่เข้าประกอบกับกุศลจิต เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งช่วยให้สำเร็จประโยชน์ในทุกกรณี เพราะสติช่วยทำให้ระลึกสิ่งที่ทำ คำที่พูดไว้ แม้เป็นเวลานานได้ ช่วยให้มีความยับยั้งชั่งคิด ควบคุมการกระทำ การพูด การคิดให้เป็นระเบียบ สติยังช่วยปิดกั้นกระแสกิเลสตัณหาไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสนิมในใจได้ และเป็นเครื่องปิดประตูบาปไว้มิให้บาปผ่านเข้าไปในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสติเข้ากำกับทุกขณะ เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐาน การที่จะให้มีสติเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาลักษณะของสติให้เข้าใจจึงจะทำให้สติเกิดขึ้นได้
ลักษณะของสติมี ๔ ประการ คือ
๑. มีความระลึกได้ในอารมณ์เนือง ๆ คือ มีความไม่ประมาท เป็นลักษณะ
๒. มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
๓. มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล
๔. มีความจำอันมั่นคง เป็นเหตุใกล้
สตินั้นเป็นประดุจเชือกผูกจิตให้ติดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน การเจริญสติอย่างย่อที่สุดก็คือ เมื่อมีสติก็ให้รู้ว่ากำลังมีสติ เมื่อหลงลืมสติก็ให้รู้ว่าหลงลืมสติ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่
สติปัฏฐานแบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายอันเป็นรูปขันธ์มีลมหายใจเข้าออก อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ (คือ มหัคคกุศลจิต ๙ มหัคคกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘)
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนืองๆ ซึ่งเวทนาอันเป็นเวทนาขันธ์มีสุข ทุกข์เฉย ๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิตอันเป็นวิญญาณขันธ์ มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ในนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ โดยเป็นไปตามอาการของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ๆ อันปราศจากตัวตน องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณากายอันเป็นรูปขันธ์ เช่น ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เพราะว่าจิตเมื่อมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ เวลาที่จิตมีสติก็ทำให้มีลมหายใจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการเจริญกายานุปัสสนา จะต้องให้มีสติไปรู้ลมหายใจเข้า-ออกนั้น ในขณะที่มีสติไปกำกับในหายใจนั้น อย่างนี้ยังเป็นเพียงการเจริญสมถะ ยังไม่ใช่วิปัสสนา ต่อเมื่อพิจารณาเห็นการเกิด-ดับของลมหายใจ หรือเห็นไตรลักษณ์ของลมหายใจว่าลมหายใจนี้เป็นเพียงเป็นที่อาศัยระลึกของสติเท่านั้น ลมหายใจนี้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน และสติที่เข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจนั้นก็เป็นเพียงนาม คือ สติเป็นเพียงสังขารขันธ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้ จึงเป็นวิปัสสนา
การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยจำแนกตามอารมณ์เป็น ๔ อย่างนั้น ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติละวิปัลลาส คือความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจผิด ๔ อย่าง คือ
๑. สุภวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสวยว่างาม เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้นร่างกายทุกส่วนไม่มีความสวยงาม เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกทั้งสิ้น
๒. สุขวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข เมื่อเห็นว่าสุขเวทนาเป็นสุขที่แท้จริง ชื่อว่าสุขวิปัลลาส เพราะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น เวทนาเป็นทุกข์ แม้สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะต้องแปรเปลี่ยนไป
๓. นิจจวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นของเที่ยง ความเข้าใจว่าจิตใจเป็นของเที่ยง หรือวิญญาณเป็นของเที่ยงไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง
๔. อัตตวิปัลลาส ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นอัตตา เข้าใจว่าธรรมทั้งหลาย(ขันธ์ ๕) เป็นอัตตา คือ เห็นไปว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง ชื่อว่าอัตตวิปัลลาส เพราะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งความจริงนั้น ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ที่เรียกกันว่าเป็นคนนั้นคนนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น
วิปัลลาส นั้น แต่ละอย่างยังแบ่งออกไปอีกอย่างละ ๓ ประเภท คือ สัญญาวิปัลลาส ความจำคลาดเคลื่อน จิตตวิปัลลาส ความคิดคลาดเคลื่อน ทิฏฐิวิปัลลาส ความเห็นคลาดเคลื่อนคือเห็นผิด จึงรวมเป็นวิปัลลาสทั้งสิ้นได้ ๑๒ อย่าง
สติปัฏฐานละวิปัลลาสธรรม ดังนี้
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุภวิปัลลาส
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดสุขวิปัลลาส
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดนิจจวิปัลลาส
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขจัดอัตตวิปัลลาส
หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔
สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรกล้าแข็งโดยชอบ หมายความว่า เป็นความเพียรต่อกุศลธรรมอย่างแรงกล้า
สัมมัปปธาน แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๒. ปหาณปธาน คือ เพียรพยายามในการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๓. ภาวนาปธาน คือ เพียรพยายามสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
๔. อนุรักขณาปธาน คือ เพียรพยายามรักษาให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้นไป องค์ธรรมได้แก่วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑
การที่จะไม่ให้กิเลสอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ต้องรู้วิธี คือ ถ้าอยู่ในการทำวัตรต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ กวาดลานวัด ช่วงนี้กิเลสก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ในขณะกำลังศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรม พระไตรปิฎก พระบาลี อรรถกถา ในขณะนั้นกิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่เจริญสมถะวิปัสสนาที่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นกิเลสก็อาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น
การที่จะปลูกฝังสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการ มีข้อปฏิบัติดังนี้
๑. ปลูกฉันทะ คือ สร้างความพอใจในการทำกุศล
๒. พยายาม คือ ขะมักเขม้น ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรในการเจริญกุศลต่าง ๆ
๓. ปรารภความเพียร คือ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติจริง ๆ เพียรทำอย่างมากไม่ท้อถอย
๔. ประคองจิต คือ ต้องประคับประคองใจ ค้ำชูใจไว้ในการทำความเพียรนั้น
๕. ตั้งความเพียรไว้ คือ ตั้งความอุตสาหะ ความบากบั่นไว้ให้มั่นคง
๖. ระลึกอยู่เสมอว่า คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
๗. ระลึกอยู่เสมอว่า คนเกียจคร้านจะพ้นทุกข์ไม่ได้
สรุปว่า สัมมัปปธาน เป็นความเพียรชนิดเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ความเพียรนั้นว่าโดยสภาวะก็เป็นเจตสิกธรรมประเภทปกิณณกะ ซึ่งเกิดประกอบกับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลได้ องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก อย่างเดียว แต่ความเพียรที่เป็นสัมมัปปธานที่จะเป็นบาทฐานแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้น มุ่งเฉพาะความเพียรที่เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น
หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔
อิทธิบาท แปลว่า ธรรมที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ หมายความว่า เมื่อประสงค์สิ่งใด ถ้าได้อาศัยปฏิบัติตามอิทธบาทแล้ว ความประสงค์นั้นจะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
ธรรมที่เป็นอธิบดีที่ศึกษาผ่านไปแล้วกับธรรมที่เป็นอิทธิบาท องค์ธรรมเหมือนกัน แต่ธรรมที่เป็นอิทธิบาทจะเป็นธรรมมุ่งเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว ฉะนั้นการมีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า เช่น การเรียน การเล่นกีฬา การอ่านหนังสือ จัดเป็นอธิบดีเท่านั้น ไม่เป็นอิทธิบาท
อิทธิบาท แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ฉันทิทธิบาท คือ ความพอใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ฉันทเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ ฉันทิทธิบาท ต้องมีความพอใจในกุศล ต้องชอบใจในการทำกุศล ต้องเป็นความพอใจชนิดที่ว่า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นฉันทิทธิบาท ไม่ใช่ว่าพอใจในตอนแรก พอนานวันเข้าก็ละทิ้งเบื่อหน่ายท้อถอย อย่างนี้ไม่จัดเป็นฉันทิทธิบาท ฉะนั้น ฉันทะ คือความพอใจชนิดที่จะเป็นฉันทิทธิบาท จึงหมายเอาเฉพาะความพอใจชนิดที่เป็นบาทฐานแห่งการสำเร็จในฌาน มรรค ผล
๒. วิริยิทธิบาท คือ ความพยายามอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่ง ความสำเร็จฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ วิริยะ ได้แก่ ความปรารภอย่างแรงกล้า ความเพียรทางใจ มีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะทำกุศล ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๓. จิตติทธิบาท คือ ความตั้งใจอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ กุศลจิต ๒๑ จิตตะ ได้แก่ สิ่งที่รู้จักนึก รู้จักคิด นั่นก็คือใจ ซึ่งเป็นมโนวิญญาณธาตุ เป็นการนึก คิด ที่จะเจริญธรรมที่เป็นกุศลอย่างชนิดแรงกล้า ต้องส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก จึงจะเป็นอิทธิบาท
๔. วีมังสิทธิบาท คือ ปัญญาอย่างแรงกล้า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ ฌาน มรรค ผล องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบในกุศลญาณสัมปยุตตจิต ๑๗ วีมังสา ได้แก่ ปัญญา ต้องเป็นปัญญาชนิดที่เป็นความรู้ชัด ไม่หลง ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญานี้ก็จัดเป็นองค์มรรคด้วย เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในการทำกุศลชนิดที่มีความแรงกล้า ก็จัดได้ว่าได้เจริญองค์มรรคด้วย
อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจ ได้แก่ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการปราบปรามอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตน นั่นคือ เมื่ออบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าแล้ว อินทรีย์ก็จะมีอำนาจปราบปรามขจัดอกุศลธรรมให้พินาศไป อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์แก่อินทรีย์นั้น ได้แก่ ความไม่มีศรัทธา เช่น ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรมหรือประกอบการงาน ความประมาทเลินเล่อ เผลอสติ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ ตลอดจนความหลง ความโง่ ถ้ามีการอบรมอินทรีย์อย่างแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถปราบปรามอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อินทรีย์นี้ เป็นธรรมปกครองจิตใจ ทำให้จิตใจมีอำนาจเหนือกิเลสได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า อินทรีย์ คือ คุณธรรมที่มีอำนาจยิ่งใหญ่
๑. สัทธินทรีย์ ศรัทธาเป็นผู้ปกครองในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส ได้แก่ ความเลื่อมใสในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา มีการปฏิบัติที่จะดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ องค์ธรรมได้แก่ สัทธาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สัทธินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว ผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกคนชั้นยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ กล่าวโดยรวม สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา (ความเชื่อ)
๒. วิริยินทรีย์ วิริยะเป็นผู้ปกครองในความพยายามต่ออารมณ์ในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาอย่างแรงกล้า องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ วิริยินทรีย์ คือ ความเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีความเข้มแข็ง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลายเพื่อเลิกละอกุศลธรรม เพื่อทำให้กุศลธรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้น บุคคลที่ทำให้ฉันทะเกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งความเพียรไว้ เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นความเพียรพยายามให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญบริบูรณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ (ความเพียร)
๓. สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการระลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูป นาม ขันธ์ ๕ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖
๔. สมาธินทรีย์ สมาธิเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการกระทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์กรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อัปปนาชวนะ ๒๖ สมาธินทรีย์ คือ ความแน่วแน่แห่งจิต ผู้เจริญสมาธิจนบรรลุผลของสมาธิ จะทำให้จิตเป็นหนึ่ง แน่วแน่ในอารมณ์ ทำให้บรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ได้ และสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา สมาธิก็เป็นบาทฐานของผู้ที่จะเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะสมาธิเป็นเหตุใกล้ของปัญญา
๕. ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้ตามความเป็นจริงของอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบใน มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ อัปปนาชวนะ ๒๖ ปัญญินทรีย์ คือ ความกำหนดรู้ความเป็นจริง รู้ความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปและนาม อันเป็นปัญญาขั้นอริยะ เป็นปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เป็นปัญญาให้ถึงความสิ้นทุกข์ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้สมุทัย ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้นิโรธ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค) นี้เรียกว่า ปัญญินทรีย์
อินทรีย์ทั้ง ๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับสูง คือระดับพระอริยบุคคล
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมระดับต้นและผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ ก็ขอให้พยายามปฏิบัติไป ผู้ที่ประสงค์จะปราบปรามอกุศลธรรม เช่น ความไม่มีศรัทธา ความเกียจคร้าน เป็นต้น ก็ต้องพยายามอบรมอินทรีย์ให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่ออกุศลธรรมทั้งหลายถูกปราบปรามแล้ว การเจริญกุศลก็จะทำได้ดีต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เจริญกุศลธรรม เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดคุณธรรมอื่น ๆ ได้ แต่ศรัทธานั้นต้องเป็นศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่ใช่ศรัทธาแบบเชื่องมงาย
ศรัทธาที่มีเหตุผลมี ๔ อย่าง คือ
๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม
๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๑. กัมมสัทธา เป็นความเชื่อว่า คนเราเกิดมามีสุขมีทุกข์ ย่อมเนื่องมาจากเหตุปัจจัย มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ได้แก่กรรม คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพบผลแล้ว เชื่อว่ามาจากเหตุคือกรรม ในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อกรรมและเชื่อผลของกรรม คือ บางคนอาจจะเข้าใจดิ่งลงไปว่าการที่ได้รับทุกข์ ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเบียดเบียนหรือประหัตประหารนั้นเป็นเพราะกรรมของตนอย่างเดียว กรรมของคนอื่นไม่มี และบางคนอาจจะเชื่อดิ่งลงไปในทางตรงกันข้ามกับคนประเภทแรก โดยเชื่อว่า กรรมของคนอื่นต่างหากที่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เพราะคนเรารักตนจะทำให้ตนเดือดร้อนได้อย่างไร คนที่เชื่อดิ่งลงไปฝ่ายเดียวจัดเป็นพวกที่มีความคิดเห็นคลาดเคลื่อน อันที่ถูกนั้นจะต้องถือว่าชีวิตของคนต้องเป็นไปตามกรรม อาจเป็นกรรมของตนเองโดยเฉพาะก็ได้ เป็นเพราะกรรมของคนอื่นก็ได้ หรือเป็นเพราะกรรมทั้งของตนเองและของผู้อื่นก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกบุคคลในโลกไว้เป็น ๔ จำพวก ตามลักษณะที่ประกอบกรรมต่าง ๆ กัน คือ
๑. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเดือดร้อน
๒. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
๓. ผู้ประกอบกรรม ที่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน
๔. ผู้ประกอบกรรม ที่ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน
๒. วิปากสัทธา เป็นความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ คำพูดที่เราพูด และสิ่งที่เราคิดทุกอย่างเป็นกรรม คือเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และเชื่อว่ากรรมนั้นจะต้องให้ผลแก่ผู้ทำอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว สุดแท้แต่แรงกรรม ทำกรรมไว้อย่างไร จะต้องได้รับผลเป็นอย่างนั้น ทำกรรมดี ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่ว ต้องได้รับผลชั่ว เหมือนหว่านพืชอย่างใด ปลูกพืชชนิดใด ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น ความเชื่อว่าผลของกรรมมีจริง จะทำให้เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นว่าทุกข์ที่เกิดขึ้น ลาภ ยศ สักการะ ชื่อเสียงอะไรต่าง ๆ มันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากกรรม คือ การกระทำ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจมาดลบันดาล ไม่ใช่เรื่องอำนาจของดวงดาวต่าง ๆ อำนาจลี้ลับต่าง ๆ คือเชื่อมั่นว่า ความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ นี้ เกิดมาจากกรรมอย่างแน่นอน การเห็น การได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมทั้งนั้น
เรื่องหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของเหตุของผล ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีการเกิดขึ้นลอย ๆ โดยการขาดเหตุขาดปัจจัย ต้องมีเหตุทั้งนั้น ฉะนั้น เราก็อนุมานเอาได้ว่า เมื่อผลเป็นอย่างไร เหตุก็ต้องสอดคล้องกับผลอย่างนั้น ในเมื่อเราได้ยินเสียงด่า เขาด่าว่ามา เราก็รู้แล้วว่านี้เป็นผลของบาป แสดงว่าเราคงด่าเขาไว้ ตอนนี้เป็นผลของบาปเกิดขึ้น ก็จะทำให้ไม่ต้องโกรธใคร รู้ว่ากำลังใช้หนี้อยู่ การทำใจให้ยอมรับวิบากที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยลดความโกรธลงไป เมื่อได้รับอารมณ์ที่ดี ก็ให้รู้ว่านี้เป็นผลบุญ ได้ฟังเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม ได้อาหารอร่อย ได้สัมผัสดี ก็รู้ว่านี้เป็นผลบุญ การทำใจให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงได้บ้าง
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เป็นความเชื่อว่าทั้งกรรมทั้งผลของกรรมนั้น จะต้องเป็นของผู้กระทำเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าเมื่อทำสิ่งใดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ พูดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้พูด คิดไปแล้วจะปฏิเสธว่าไม่ได้คิดไม่ได้ ปฏิเสธเมื่อใดก็เป็นการโกหกเมื่อนั้น เพราะเป็นการปฏิเสธความจริงและเมื่อกรรมนั้นให้ผลก็จะต้องรับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เป็นความเชื่อว่าพระพุทธองค์ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระปัญญาของพระพุทธองค์ประเสริฐยิ่งกว่าปัญญาของใครๆ ในพื้นพิภพ คำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำสอนที่เป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง
การเกิดขึ้นของอินทรีย์ ๕
อินทรีย์ ๕ นั้น เกิดขึ้นได้ ดังนี้
๑. สัทธินทรีย์ ปรากฏที่ องค์คุณของพระโสดาบัน ๔
๒. วิริยินทรีย์ ปรากฏที่ สัมมัปปธาน ๔
๓. สตินทรีย์ ปรากฏที่ สติปัฏฐาน ๔
๔. สมาธินทรีย์ ปรากฏที่ ฌาน ๔
๕. ปัญญินทรีย์ ปรากฏที่ อริยสัจ ๔
๑. ศรัทธา จะปรากฏชัด คือความเชื่อสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อเป็นศรัทธาของพระโสดาบัน ซึ่งมีองค์คุณ ๔ ประการ คือ
๑.๑ เลื่อมใสในพระพุทธรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
๑.๒ เลื่อมใสในพระธรรมรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
๑.๓ เลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
๑.๔ มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย
๒. วิริยะ จะปรากฏชัด เมื่อปรารภสัมมัปปธาน ๔ กล่าวคือ เมื่อใช้ความเพียรตามหลักของสัมมัปปธาน ๔
๓. สติ จะปรากฏชัด เมื่อใช้กำหนดสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ สติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภสติปัฏฐาน ๔ ย่อมเป็นสติที่ปรากฏชัด
๔. สมาธิ จะปรากฏชัด เมื่อได้บรรลุฌาน ๔ กล่าวคือ สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะได้บรรลุฌาน ๔ ย่อมเป็นสมาธิที่ปรากฏชัด
๕. ปัญญา จะปรากฏชัด เมื่อเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ กล่าวคือ เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ เมื่อใด ปัญญาก็ปรากฏชัดเมื่อนั้น
อินทรีย์ทั้ง ๕ ควรมีเสมอกันหรือไม่
อินทรีย์ ๕ เป็นคุณธรรมที่สำคัญในการประคองใจ เพื่อให้ใจมีอำนาจเหนืออกุศลธรรม มีความไม่เชื่อ ความไม่มีศรัทธา เป็นต้น อินทรีย์ ๕ จะมีประสิทธิภาพสูงในการปราบปรามอกุศลกรรม ก็จะต้องมีความสมดุลกัน ฉะนั้นจึงต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกันสมดุลกัน ดังนี้
สัทธินทรีย์ กับ ปัญญินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน
สมาธินทรีย์ กับ วิริยินทรีย์ ควรมีกำลังเสมอกัน
บุคคลที่มีสัทธินทรีย์มีกำลังกล้า อินทรีย์อีก ๔ อย่างมีกำลังอ่อนกว่า อินทรีย์ ๔ ที่เหลือ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จได้ กล่าวคือ วิริยินทรีย์ จะไม่สามารถทำหน้าที่ประคองใจให้ขะมักเขม้นได้ สตินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุมใจให้จดจ้องอยู่กับอารมณ์ได้ สมาธินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ระงับใจไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ และ ปัญญินทรีย์ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่เห็นสภาพธรรมโดยแจ่มแจ้งได้
เพราะฉะนั้น เมื่อสัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น ๆ เช่นนี้ จึงควรปรับสัทธินทรีย์ให้อ่อนลงเสมอกับอินทรีย์อื่น ๆ โดยพิจารณาสภาวธรรมตามความจริง หรือโดยไม่เอาใจใส่กับอารมณ์ที่จะเป็นเหตุให้สัทธินทรีย์มีกำลังแก่กล้ากว่า
บุคคลที่มีศรัทธามากแต่ปัญญาน้อย ก็จะกลายเป็นคนหลงงมงายได้ง่าย มักจะเลื่อมใสในสิ่งต่าง ๆและเป็นเหตุให้เลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใสได้ ส่วนบุคคลที่มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อย ก็มักจะเป็นคน เกเรดื้อรั้น ยากที่จะแก้ไขได้ คนที่มีปัญญามาก เมื่อคิดเลยเถิดไปว่า บุญกุศลย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงคิดขึ้นในใจเท่านั้น จึงไม่กระทำบุญ เช่นการบริจาคทานเป็นต้น เหล่านี้จะเป็นเหตุให้การทำกุศลไม่ถึงพร้อม แต่ถ้าสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์สม่ำเสมอกันทั้งสองอย่าง บุคคลจึงจะเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เจริญกุศลทุกอย่างได้อย่างดียิ่ง สมบูรณ์ ดีพร้อม ฉะนั้น จึงควรปรับสัทธินทรีย์กับปัญญินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน
สมาธิและความเพียร ก็ควรมีกำลังเสมอกัน เพราะบุคคลใดมีสมาธิมากแต่มีความเพียรน้อย จะทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เกิดความเซื่องซึมได้ ส่วนบุคคลใดมีความเพียรมากแต่มีสมาธิน้อยจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ฉะนั้นจึงควรปรับสมาธินทรีย์กับวิริยินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสตินทรีย์นั้นมีมากเท่าใดยิ่งดี ไม่ต้องปรับลดแต่ควรมีให้มากเพราะจะทำให้จิตรู้เท่าทันตลอดเวลาไม่หลงลืม
💬 อ่านต่อ โพธิปักขิยสังคหะ หน้าต่อไป