มิสสกสังคหะ ซึ่งเป็นการรวบรวมธรรมที่คละปนกันทั้งกุศล อกุศล และอพยากฤต จำแนกเป็น ๗ คือ
๑. เหตุ ๖ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น
๒. ฌานังคะ ๗ เป็นธรรมที่กระทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์
๓. มัคคังคะ ๑๒ เป็นหนทางที่นำไปสู่ที่หมาย คือ สุคติภูมิ ทุคติภูมิ และนิพพาน
๔. อินทรีย์ ๒๒ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองธรรมอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกันกับตน
๕. พละ ๕ ธรรมที่ทำให้ไม่หวั่นไหวต่อปฏิปักษ์ธรรม
๖. อธิบดี ๔ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้นำให้สำเร็จ
๗. อาหาร ๔ ธรรมที่เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น
เหตุ ๖
เหตุ เป็นธรรมที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายที่ได้อุปการะจากเหตุ คือมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมทำให้มีสภาพมั่นคงในอารมณ์ เช่นมั่นคงในความอยากได้ในรูปารมณ์เป็นต้น เหมือนต้นไม้ที่มีรากงอกงามแผ่ขยายกว้างขวางออกไป
เหตุ มี ๖ ประการ ได้แก่
๑) โลภเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความอยากได้ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ตลอดจนความคิดนึกติดใจในเรื่องราวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีความอยากเกิดขึ้นคราวใด ก็จะเกิดความร้อนใจเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการและจะกระทำไปตามความอยากที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วก็เป็นทุกข์กับการดูแลรักษา ห่วงแหน หรือถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการก็เป็นทุกข์อีก
องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘
๒) โทสเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจทำให้เกิดความไม่พอใจ ไม่ปรารถนาที่จะได้พบเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนกับการเห็นศัตรูหรืออสรพิษ ย่อมเกิดความไม่พอใจ หรือหวาดกลัวขึ้นมาทันที
องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๓) โมหเหตุ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตใจให้โง่ หลง งมงาย ไม่รู้ในสัจจะตามที่เป็นจริง เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความคิดนึกในเรื่องราวต่าง ๆ ปรากฏขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ก็ไม่เข้าใจสภาวะความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงนาม เป็นเพียงรูป แต่กลับไปคิดยึดติดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา
องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๔) อโลภเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโลภเหตุ คือความไม่อยากได้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสทางกาย และความคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ
องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๕) อโทสเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโทสเหตุ คือเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่พอใจ (อิฏฐารมณ์) หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ (อนิฏฐารมณ์) จิตใจก็จะไม่เกิดความโกรธ หรือความไม่พอใจในอารมณ์นั้น ๆ
องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๖) อโมหเหตุ มีความหมายตรงกันข้ามกับโมหเหตุ คือมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น มิใช่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นเพียงสภาวะที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในญาณสัมปยุตตจิต ๔๗ หรือ ๗๙
สรุปความได้ว่า ** โลภเจตสิก โทสเจตสิก และ โมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบาปอกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบาป ๓ คือเป็นต้นเหตุให้บุคคลทำอกุศล
** อโลภเจตสิก, อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของบุคคลใดแล้ว ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นทำบุญกุศล เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เหตุบุญ ๓ คือ เป็นต้นเหตุให้บุคคลทำกุศล โดยที่กุศลขั้นกามาวจรนั้น เมื่อตายลงบุญจะนำไปสู่สุคติภูมิ คือ มนุษยภูมิและเทวภูมิ ถ้าเป็นกุศลขั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เมื่อตายลง บุญจะนำไปสู่รูปภูมิและอรูปภูมิ แต่ถ้าเป็นมรรคกุศล ก็จะส่งผลให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล หมดสิ้นจากกิเลสทั้งปวงและพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ในที่สุด
ฌานังคะ เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตจดจ่อต่ออารมณ์ หรือเพ่งอารมณ์ มีกสิณ เป็นต้น ในฌานังคะ มีองค์ฌาน ๗ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา แต่เรามักคุ้นเคยกับองค์ฌาน ๕
คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้เพราะเนื้อหาที่ศึกษาในหมวดมิสสกะนี้ มุ่งแสดงธรรมที่คละเคล้ากันไปทั้งที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต จึงนับเอาเวทนา ๓ คือ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา รวมเข้ากับสุขนั่นเอง
** ในฌานังคะทั้ง ๗ นี้ โทมนัส* เกิดได้เฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียว ทำหน้าที่เผาหทยวัตถุให้เหือดแห้งไป
ส่วนที่เหลืออีก ๖ นั้นเกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นอกุศล กุศล และอพยากฤต
คำว่า ฌาน หมายถึง การเพ่งอารมณ์ทั้งหลาย (มีรูปารมณ์เป็นต้น) อย่างแน่วแน่ โดยมีวิตก วิจาร ปีติ เวทนา และเอกัคคตา เป็นหัวหน้า ชักจูงให้จิตและเจตสิกทำหน้าที่เพ่งอารมณ์นั้น ๆ ตามไปด้วย ที่เรียกว่า ฌาน นั้นก็ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ซึ่งทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นองค์ธรรมของฌานนั่นเอง
องค์ฌานทั้ง ๕ นี้ กระทำหน้าที่ต่างกัน แต่เป็นไปในกิจการงานอันเดียวกัน คือการเพ่งจับจ้องอยู่ในอารมณ์อันเดียวกันนั่นเอง ว่าโดยเป็นองค์ธรรม ก็ได้แก่องค์ฌานทั้ง ๕ ดังกล่าวมานี้ แต่หากจำแนกออกไปโดยประเภทแล้วมีด้วยกัน ๗ ประการ เรียกว่า ฌานังคะ ๗ คือ วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส อุเบกขา
คำว่า ฌาน หมายถึงการเข้าไปเพ่งซึ่งอารมณ์นั้น มีด้วยกัน ๒ อย่าง คือ
🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญสมถภาวนา มีการเพ่งกสิณเป็นต้น เรียกว่า อารัมมณุปนิชฌาน
🔰 การเข้าไปเพ่งอารมณ์ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา คือ เพ่งอารมณ์ที่เป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
การที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน ซึ่งเป็นเครื่องขวางกั้นการทำความดี ที่เรียกว่า นิวรณ์ธรรม โดยทำหน้าที่กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ดังนี้ คือ
** ในการเจริญสมถกรรมฐาน หรือการทำสมาธิ องค์ฌานจะเกิดขึ้นเพื่อกำจัดนิวรณ์ธรรม ๕ เช่นในขณะที่เพ่ง กสิณ อยู่นั้น
🔘 ถ้าง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิทธะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องยกจิต (วิตก) ขึ้นสู่การเพ่งกสิณอยู่เรื่อย ๆ
🔘 ถ้าเกิดความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องพินิจพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า (วิจาร)
🔘 ถ้ามีโทสะ พยาบาท (พยาปาทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องแผ่เมตตาทำจิตใจให้อิ่มเอิบอยู่ในอารมณ์ (ปีติ)
🔘 ถ้าจิตฟุ้งซ่าน (อุทธัจจกุกกุจจะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ยึดเหนี่ยวอยู่ในอารมณ์ที่ดีงาม (สุข)
🔘 ถ้าจิตปรารถนากามคุณ (กามฉันทะ) เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดไม่ได้ ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะในกสิณ (เอกัคคตา) โดยไม่ส่งจิตไปในเรื่องอื่น ๆ
มัคคังคะ ๑๒
มรรค หรือ ทาง แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ
๑.) สัมมามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ประการ
๒.) มิจฉามรรค คือ หนทางที่ประกอบด้วยองค์มรรคที่เหลืออีก ๔ ประการ
๑.) สัมมามรรค มี ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก อันประกอบด้วยความรู้ที่ถูกต้องในอริยสัจจ์ ๔ การมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของกุศลและอกุศล หรือมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำดีทำชั่วว่าย่อมมีผล เป็นทางให้เข้าถึงสุคติและนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙
ในเรื่องการทำดีทำชั่วนี้ มีบุคคลเป็นจำนวนมากอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าทำดีได้ดี จึงพากันตีความในเรื่องการทำดีไปในรูปของการได้มาซึ่งวัตถุ ถ้าหากทำสิ่งใดแล้วได้ผลมากก็เรียกการกระทำนั้นว่า ได้ดี อันเป็นความหมายที่ทางโลก (โลกียธรรม) เข้าใจกันเอาเอง แต่แท้จริงแล้วทำดี ได้ดี ในความหมายที่ถูกทางธรรมะ คือ การได้มาซึ่งความสงบเย็นภายในจิตใจ จากการกระทำที่มิได้หวังผลใด ๆ ตอบแทน โดยกระทำไปเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอันควร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อกัน เช่น การให้ทาน การให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังสามารถ โดยมิได้มีจิตมุ่งหวังผลตอบแทนทั้งในทางวัตถุและทางจิตใจ
ดังที่กล่าวมานี้ ผู้ที่ได้รับการอบรมจนมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องการทำดีทำชั่วตามที่เป็นจริง จึงไม่ปรารถนาทำความชั่วใด ๆ เลย เพราะละอายต่อการทำบาปทั้งปวง และจะกระทำความดีอย่างบริสุทธิ์โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน นอกจากความรู้ที่ถูกต้องดังที่กล่าวมานี้แล้ว ยังรวมถึงการมีความรู้ที่ถูกต้องหรือเห็นแจ้งในหลักไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทด้วย
โดยสรุปแล้ว ความคิดที่ถูกต้องก็คือการเห็นที่ตรงตามสภาวะ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เราเป็นผู้มีความคิดเป็นระเบียบระบบ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน แต่จะมองอย่างวิเคราะห์แยกแยะ ตลอดจนสนใจในการค้นหาต้นเค้าของเหตุปัจจัยของสิ่งหรือเรื่องนั้น ๆ ทำให้ไม่ถูกหลอกลวงหรือถูกปลุกปั่นได้โดยง่าย เพราะเป็นผู้มีอิสระในการคิดที่เป็นตัวของตัวเอง มีสติสัมปชัญญะในการตัดสินใจ ทั้งนี้โดยมีสัมมาทิฏฐิ หรือการมีความคิดถูกต้องเป็นรากฐาน สัมมาทิฎฐิจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรคในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม และเป็นธรรมะที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับจนถึงการตรัสรู้ได้ในที่สุด
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริถูก หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นทางให้เข้าถึงสุคติ และนิพพาน
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในกามาวจรโสภณจิต ๒๔ และปฐมฌานจิต ๑๑
โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั้งหลายก็มีความดำริที่เป็นไปตามกามกิเลสเป็นปกติ กล่าวคือเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการเห็น ได้ยิน ได้สัมผัส เป็นต้น ย่อมจะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่าง คือ ถ้าถูกใจในอารมณ์นั้นก็ชอบ ติดใจ อยากได้ พัวพัน คล้อยตาม แต่ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่ชอบ ขัดเคืองใจ เกลียดชัง ผลักออก เป็นปฏิปักษ์ จากนั้นความดำริคิดนึกต่าง ๆ ก็จะดำเนินไปตามแนวทางหรือแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบที่เกิดขึ้นนั้น
ด้วยเหตุนี้ ความนึกคิดของปุถุชนโดยปกติ จึงมักเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเสมอ โดยมีความพอใจและไม่พอใจของตนเข้าไปเคลือบแฝงและคอยชักจูงให้เป็นไป ทำให้ไม่เข้าใจถึงสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เพราะถูกความชอบใจ จนเกิดความติดใคร่ พัวพัน จึงเอียงเข้าหาความนึกคิดนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติ (หรือเจตคติ) ต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง
ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบือนและถูกเคลือบแฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการขาดโยนิโสมนสิการ คือการมอง พิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยแยบคาย จึงมองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้นโดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยใจให้นึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบและความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ
ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นของมันเองได้ โยนิโสมนสิการเป็นธรรมะที่ขาดไม่ได้เลย การมีโยนิโสมนสิการ ทำให้ผู้นั้นมีสัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือดำริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัดเคือง ผลักใส หรือเป็นปฏิปักษ์ เมื่อมีความดำรินึกคิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เสริมสร้างสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้นองค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนซึ่งกันและกันหมุนเวียนต่อไป
๓. สัมมาวาจา คือ การกล่าววาจาถูก หมายถึง การมีคำพูดที่ถูกต้อง เว้นจากวจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท การกล่าวคำเท็จ, ปิสุณาวาจา การส่อเสียดนินทาผู้อื่น, ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ และ สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ตลอดจนการพูดที่ไม่ก่อให้เกิดการปรุงแต่งกามกิเลสขึ้นมาด้วย
องค์ธรรมได้แก่สัมมาวาจาเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐
สัมมาวาจา หรือคำพูดที่ดีนั้นต้องมีประโยชน์ พูดถูกกาลเทศะ ไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และพูดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
๔. สัมมากัมมันตะ คือ การงานถูก หมายถึง การกระทำในด้านร่างกายที่ถูกต้อง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเว้นจากกายทุจริต ๓ คือ ปาณาติปาต การฆ่าสัตว์, อทินนาทาน การขโมย ฉ้อฉลของผู้อื่น หรือทำลายของสาธารณประโยชน์ และ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม
องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรกุศลจิต ๘ หรือ ๔๐
๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก หมายถึง การมีสัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนผู้ใดจนทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนหรือเสียประโยชน์
องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
การประกอบอาชีพที่ไม่ควรประกอบที่เรียกว่ามิจฉาวณิชชา ๕ มีดังนี้ ๑) ค้าขายอาวุธ
๒) ค้าขายมนุษย์
๓) ค้าขายเนื้อสัตว์
๔) ค้าขายน้ำเมา
๕) ค้าขายยาพิษ
๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรถูก หมายถึง ความพยายามในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งชัดในความจริง และจะได้พบกับความสงบเย็นภายในจิตใจอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่สมบูรณ์ เช่น ความเพียรพยายามในการฝึกฝนอบรมทางกาย วาจา และเพียรอบรมจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวไปกับความยั่วยวนของกิเลสและความอยาก
องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๗. สัมมาสติ คือ การระลึกถูก หมายถึง ความรำลึกประจำใจที่ถูกต้อง คือ มีการตื่นตัวอยู่เสมอ เราต้องรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถอยู่เสมอ มีความตื่นตัวต่อหน้าที่ พร้อมเสมอที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เมื่อดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ การระลึกแต่ในเรื่องการทำบุญทำกุศล ระลึกถึงทาน ศีล ภาวนา ที่เคยได้ทำมาแล้วหรือตั้งใจว่าจะทำอีก
องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
สติ นอกจากจะหมายถึง ระลึกได้ จำได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอยด้วย สติจึงเป็นธรรมสำคัญ เพราะเป็นตัวควบคุม เร้า เตือน การปฏิบัติหน้าที่ และคอยป้องกันยับยั้งตนเองที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว หรือไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในจิตใจได้ เตือนตนเองในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว หรือเรียกในทางธรรมว่าเป็น อัปปมาทธรรม
อัปปมาทธรรม เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา มีคำเปรียบเทียบว่า สติ เหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู เพราะเฝ้าอายตนะต่าง ๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
๘. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นถูก หมายถึง การตั้งมั่นแห่งจิต ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ หรือสิ่งที่กำหนดซึ่งปราศจากโทษ เพื่อให้จิตได้ยึดไว้
องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
คำจำกัดความของสมาธิที่พบอยู่เสมอ คือ คำว่า เอกัคคตา ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป
สมาธิแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือ
๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการปฏิบัติหน้าที่กิจการงาน ในชีวิตประจำวัน ให้ได้ผลดี
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียด ๆ หรือจวนจะแน่วแน่
๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ แนบสนิท เป็นการเจริญสมาธิในขั้นฌาน (ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป) ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเจริญสมาธิ
ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ
ประโยชน์ของสมาธิ
๑. ทำให้จิตเหมาะแก่การงาน เพื่อเป็นฐานให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด สมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด ในทางตรงข้าม ลำพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด แต่หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของสูงสุด คือบรรลุมรรคผลนิพพานได
๒. ภาวะของการได้ฌาน เป็นการหลุดพ้นเพียงชั่วคราว เพราะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ถูกทำลายอย่างราบคาบ เป็นเพียงระงับไว้ได้ด้วยกำลังของฌาน เปรียบเหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่
๓. ประโยชน์ที่แท้ของสมาธิก็คือ การใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญา หรือเป็นบาทฐานของวิปัสสนาโดยตรง เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือความหลุดพ้นสิ้นอาสวะ
สัมมามรรคทั้ง ๘ ประการนี้ ยังสามารถนำมาจัดเป็นระบบได้ ๓ อย่าง เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเทียบได้ดังนี้ คือ
🔘 ศีล (อธิศีลสิกขา) คือความปกติ เป็นการตั้งใจรักษาความปกติของตนนั่นเอง ศีลนั้นเป็นหลักแห่งการประพฤติดีที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จำแนกไว้เป็นศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ เป็นต้น เพื่อความสงบเรียบร้อยปราศจากโทษชั้นต้น ๆ ทางกายและวาจา หรือเกี่ยวกับสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่ของตนและที่เกี่ยวกับ สังคม ศีล จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็นมูลฐานที่จะนำไปสู่ความสงบของจิตใจ
🔘 สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) เป็นการฝึกอบรมทางด้านจิตหรือกระบวนการทำสมาธิ จิตที่เกิดจากสัมมาสมาธิจะเป็นจิตที่นำไปสู่ความไม่เศร้าหมอง ไม่ฟุ้งซ่าน และอยู่ในสภาพที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมันจนฝึกฝนจิตได้ถึงที่สุด มีผลเกิดขึ้นเป็นความตั้งมั่นของจิตที่เรียกว่า สมาธิ
🔘 ปัญญา (อธิปัญญาสิกขา) เป็นการฝึกฝนอบรมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง ปัญญาสิกขานี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสมาธิสิกขา เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็มีลักษณะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ สามารถน้อมจิตไปสู่การพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ตามที่มันเป็นจริงจนมีความเห็นแจ้ง มีผลให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายสลดสังเวช ถอนตนออกจากสิ่งทั้งปวงที่ตนเคยรักเคยยึดถือ เกิดความบริสุทธิ์สะอาด สว่าง และสงบเย็น ดังนั้นคำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึง การถอนตนออกมาจากสิ่งทั้งปวงโดยทำลายความยึดมั่น ถือมั่น ให้หมดสิ้นไป อันเป็นการปลดเปลื้องจิตใจให้พ้นจากความเป็นทาสหรือไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ๆ
๒.) มิจฉามรรค มี ๔ ประการ คือ
๙. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์
องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
อาจสรุปได้ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
๑.) ปุพเพกเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงในปัจจุบันเป็นเพราะกรรมเก่าเท่านั้น จะยอมรับเฉพาะการได้รับสุขหรือทุกข์อยู่นี้เพราะเกิดจากวิปาก(คือผลของกรรมในอดีตภพอย่างเดียว) เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโรคไว้ ๘ อย่างเหล่านี้ คืออาพาธมีน้ำดี (กำเริบ) เป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ โรคลม มาประชุมกัน ๑ อาพาธที่เกิดจากเปลี่ยนฤดู ๑ อาพาธที่เกิดจากการบริหาร(ร่างกาย)ไม่ถูกต้อง ๑ อาพาธที่เกิดจากการพยายาม (ทำให้เกิดขึ้น) ๑ อาพาธที่เกิดจากวิบากกรรม ๑ ในสมุฏฐานโรคทั้ง ๘ อย่างนั้น มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธโรค ๗ อย่างข้างต้นแล้วยอมรับแต่เฉพาะโรคชนิดที่ ๘ เท่านั้น
๒.) อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่เท่านั้น เช่นเหตุแห่งการเกิดโรค ๘ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้แล้ว บุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐินี้จะปฏิเสธทั้งหมดและเชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการบันดาลของเทพเจ้าเท่านั้น
๓.) อเหตุกปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่าง ๒ ข้อข้างต้น แต่สุขทุกข์เกิดขึ้นเอง
๑๐. มิจฉาสังกัปปะ คือ ความดำริผิด
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
ที่เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ เพราะมีความดำริไปใน ๓ ประการ คือ
๑.) กามสังกัปปะ หรือ กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ความนึกคิดในทางที่จะแสวงหาสิ่งเสพ ความคิดอยากได้หรือหมกมุ่นพัวพัน ติดข้องอยู่กับสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ หรือสิ่งสนองตัณหา อุปาทานต่าง ๆ ความคิดในทางเห็นแก่ตัวนั้นจึงเป็นความนึกคิดในฝ่ายราคะหรือโลภะ
๒.) พยาบาทสังกัปปะ หรือ พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง ไม่พอใจ เคียดแค้น ชิงชัง คิดเห็นในแง่ร้ายต่าง ๆ ความขาดเมตตา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่ถูกกระทบ
๓.) วิหิงสาสังกัปปะ หรือ วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียนทำร้าย การคิดที่จะข่มเหงรังแก ต้องการก่อทุกข์ ทำให้คนและสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อน ขาดความกรุณา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะ
ความโดยละเอียดในแง่ของความดำริผิดได้อธิบายโดยรวมไว้แล้วในหัวข้อสัมมาสังกัปปะ ในที่นี้จึงแสดงให้ทราบถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาสังกัปปะเท่านั้น
๑๑. มิจฉาวายามะ คือ ความเพียรผิด เป็นความเพียรในข้อปฏิบัติที่ผิดทาง เช่น เพียรปฏิบัติตนเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข ปฏิบัติแบบไม่นุ่งผ้า นั่งหรือนอนบนของมีคมเพื่อทรมานตน เป็นต้น
องค์ธรรม ได้แก่วิริยเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๑๒. มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นผิด มีความตั้งมั่นในอารมณ์ที่ผิด ซึ่งอารมณ์นั้นไม่นำไปสู่การเจริญทั้งสมถและวิปัสสนา มีนัยตรงกันข้ามกับสัมมาสมาธิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
องค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๑ (เว้นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑)
💬อ่านต่อ มิสสกสังคหะ หน้าต่อไป