๑. ชนกกรรม ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำให้วิบากเกิดขึ้น เป็นกรรมที่ทำให้วิปากทั้งนามและรูปเกิดขึ้นได้ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และโลกียกุศลกรรม ๑๗ คือ มหากุศลกรรม ๘ รูปาวจรกุศลกรรม ๕ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔ กรรมที่ชื่อว่า ชนกกรรม เพราะมีความหมายว่า “ทำให้เกิด” คือ เจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งทำ ให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล คือ ในเวลาที่สัตว์เกิด และทำให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้น ในปวัตติกาล คือ ในเวลาต่อมาหลังจากปฏิสนธิแล้ว
คำว่า วิบาก แปลว่า ผล เปรียบเทียบว่า ข้าวสารที่หุงแล้วย่อมเป็นข้าวสวยให้คนได้รับประทาน ได้รับความอร่อยหรือไม่อร่อย จึงเรียกข้าวสวยนั้นว่า “ข้าวสุก” หรือ ผลมะม่วงเมื่อเริ่มแก่ก็เหมาะแก่การนำมา รับประทาน ได้รับความอร่อย หรือไม่อร่อย จึงเรียกมะม่วงแก่นั้นว่า “มะม่วงสุก” ฉันใด กรรมที่บุคคลทำ คือก่อไว้แล้ว ย่อมมีผลที่บุคคลพึงได้รับเป็นความสุขหรือทุกข์ในภายหลัง จึงเรียกผลของกรรมนั้นว่า วิบาก คือเป็นผล หรือเป็นของสุกงอม เพราะเป็นเหมือนความสุกงอมของกรรมฉันนั้น คำว่า วิบาก นี้ เป็นชื่อผลของกรรมฝ่ายนามธรรม คำว่า กัมมชรูป เพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จึงได้ชื่อว่า กัมมชรูป (🔎ทบทวนเรื่องรูป) รูปเกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ ปสาทตา รวมตลอดถึง อวัยวะ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น
๑. ชนกกรรมนำเกิดในสุคติภูมิ
๑.๑ มหากุศลกรรม ๘ ส่งผลนำไปเกิดในมนุษย์ภูมิและเทวภูมิ
มหากุศลกรรม ๘ จะส่งผลเป็นวิบากที่ดี เจตนาที่อยู่ในมหากุศลกรรมจะส่งผลทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายปรากฏอัตภาพของสัตว์ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดา อันจะเป็นปัจจัย คือ เป็นที่รองรับความสุขได้มากกว่าความทุกข์ และการมีวิมาน มีรัศมีของเทวดาก็ด้วยอำนาจของกรรมที่เกิดจากชนกกรรมนี้เอง๑.๒ รูปาวจรกุศลกรรม ๕ นำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔ นำไปเกิดในอรูปภูมิ สำหรับรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล คือผู้ที่ประกอบกรรมในภาวนากุศล เช่น ปัจจุบันชาตินี้เจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป เจตนาที่เกิดขึ้นในรูปาวจรกุศล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในรูปภูมิเป็นรูปพรหม ถ้าเจริญอรูปาวจรกุศลก็จะส่งผลนำไปเกิดในอรูปภูมิ เป็นอรูปพรหม
๒. ชนกกรรมนำเกิดในอบายภูมิ
๒.๑ อกุศลกรรม ๑๒ ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ
อกุศลกรรม ๑๒ เป็นกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นวิบากที่ชั่ว เจตนาที่อยู่ในอกุศลกรรมนั้น จะส่งผลทำหน้าที่ ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายก็ปรากฏเป็นอัตภาพของสัตว์ในทุคติภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ เดรัจฉาน เป็นที่รองรับความทุกข์ได้มากกว่าความสุข
นรกภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบใน โทสมูลจิต เช่น การอาฆาต พยาบาท เบียดเบียน ปองร้าย ความโกรธที่รุนแรงก็จะเป็นตัวชนกกรรมนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก จะถูกเผาด้วยไฟ ถูกทรมาน ด้วยวิธีการต่างๆแต่ก็ไม่ตาย เพราะเหตุว่ากรรมยังไม่หมดเป็นทุกข์ทรมานจากการถูกทรมาน ก็ด้วยอำนาจของกรรมที่ทำด้วยความโกรธ
เปรต และอสุรกายภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโลภมูลจิต เจตนาในโลภมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดในสองภูมินี้
เดรัจฉานภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโมหมูลจิต เจตนาในโมหมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
อนึ่ง การที่มนุษย์ เทวดา พรหม และ สัตว์ทั้งหลาย ได้รูปร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งรูปลักษณ์ ทรวดทรง สัณฐาน สูง ต่ า ดำ ขาว และด้านอาการ ๓๒ ตลอดจนด้านประสาท ความต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เรียกว่า กัมมชรูปเหมือนกัน ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับภพชาติไม่ถ้วน จึงทำกรรมมาแล้วทุกอย่าง ในกรรมทั้งหลายนั้น ถ้ากรรมดีอย่างหนึ่งให้ผลทำหน้าที่ปฏิสนธิให้เกิดขึ้นในมนุษย์ กรรมดีอย่างนั้นและกรรมดีอย่างอื่นที่เหลือก็ยังตามให้ผลในปวัตติกาล โดยการให้ผลอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขตามสมควรแก่โอกาส ส่วนกรรมชั่วทั้งหลายก็มีแต่จะตามให้ผลในเวลาหลังจากปฏิสนธิแล้วอย่างเดียว โดยการให้ผลเป็นความทุกข์ตามสมควรแก่โอกาสของตน กรรมเหล่านั้นชื่อว่า ชนกกรรมทั้งสิ้น คือ ทำวิบากให้เกิดและในเวลาที่กรรมชั่วให้ผลนำไปเกิดในอบายภูมิก็มีนัยเดียวกันนี้