๙. รูปาวจรภูมิ

จากสวรรค์ ๖ ชั้นแล้ว ภูมิที่อยู่สูงขึ้นไปอีก คือพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปาวจรภูมิ และ อรูปาวจรภูมิ ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌาน คือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน คือทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มี รูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌาน นั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม คำว่า พรหม แปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้น ในพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑ รูปาวจรภูมิ มี ๑๖
๒.๒ อรูปาวจรภูมิ มี ๔ 



รูปาวจรภูมิ มี ๑๖ ภูมิ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌานภูมิ ๗
ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข
 เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญปฐมฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญปฐมฌานอย่างใดๆแล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ดังนี้
๑. ปาริสัชชาภูมิ  ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปาริสัชชา แปลว่า  เป็นบริษัทของท่านมหาพรหม เป็นผู้บำรุงมหาพรหม ที่จะได้กล่าวในชั้นที่ ๓ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังอ่อน
๒. ปุโรหิตาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปุโรหิตา แปลว่า เป็นปุโรหิตของมหาพรหม พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังปานกลาง
๓. มหาพรหมาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า มหาพรหม แปลว่า พรหมผู้ใหญ่ เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าของพรหมทั้ง ๒ ที่กล่าวมาเป็นพรหมที่มี วรรณะยิ่งกว่า มีอายุยืนกว่าเป็นต้น พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังแก่กล้า

ที่ตั้งของปฐมฌาน 
ที่ตั้งของปฐมฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ตั้งห่างจากเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมานสวนดอกไม้และสระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมี แวววาวสวยงามยิ่ง

ทุติยฌานภูมิ มี๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา หรือบรรลุตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา โดย แบ่งการเจริญออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่ เจริญทุติยฌานหรือตติยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ผู้ที่ได้ทุติยฌานและผู้ที่ได้ตติยฌาน จะไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ เช่นเดียวกัน เพราะ อำนาจของวิตกและวิจารนั้นใกล้เคียงกันมาก ทุติยฌาน มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมปริตตาภา แปลว่า มีรัศมีน้อย คือ มีแสงสว่างน้อยกว่าพรหมชั้นทุติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือ ตติยฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้อาภัสสาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณาภา แปลว่า มีรัศมีไม่มีประมาณ คือมีแสงสว่างมากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌานหรือ ตติยฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็น ผู้ให้คำปรึกษาในกิจการงานของอาภัสสาพรหม
๓. อาภัสสราภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอาภัสสรา แปลว่ามีรัศมีซ่านไป คือแผ่ออกไปแต่ที่นั้นที่นี้ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เพราะมีขันธสันดานเกิดจากฌานที่มีปีติ หรืออีกนัยหนึ่ง อาภัสสรา แปลว่า มีรัศมีพวยพุ่ง คือหยดย้อยออกเหมือนย้อยหยดออกมาจากสรีระ หรือดุจเปลวไฟ แห่งโคมประทีป อีกอย่างหนึ่งอาภัสสรา แปลว่า มีปกติสว่างไสวด้วยรัศมี พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือตติยฌานที่มีกำลังแก่กล้า พรหมอาภัสสราเป็นหัวหน้าในชั้นทุติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากปฐมฌานภูมิขึ้นมาประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มี วิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาว สวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าปฐมฌานภูมิ ๓ 

ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุจตุตถยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญทุติยฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่าง กลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญ จตุตถยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลนำเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ ได้ ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปริตตสุภา แปลว่า มี รัศมีแห่งสรีระสวยงามน้อย คือ น้อยกว่าพวกพรหมชั้นตติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้สุภกิณหาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณสุภา แปลว่า มีรัศมีแห่งสรีระสวยงามอย่างไม่มีประมาณ คือ มากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถ-ฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็นพรหมให้คำปรึกษาในกิจการงานของสุภกิณหาพรหม ซึ่งเป็นหัวหน้า 
๓. สุภกิณหาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมสุภกิณหา แปลว่า มากมายไปด้วยรัศมีที่สวยงาม คือ มีรัศมีผุดสว่างทั่วไป แผ่ซ่านออกจากสรีระ เป็นอันเดียวกัน มีสิริเหมือนอย่างแท่งทองที่โรจน์รุ่งอยู่ในหีบทอง หรืออีกนัยหนึ่ง รัศมีสวยงามของพรหมเช่นกับรัศมีของดวงจันทร์ มีแสงสว่างของรัศมี รวมกันอยู่เป็นวงกลม ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังแก่กล้า เป็นหัวหน้าปกครองพรหมในชั้นตติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากทุติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวน ดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าทุติยฌานภูมิ ๓ 


คราวที่โลกถูกทำลาย โลกจะถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ ลม ในคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ไฟจะลุกไหม้ตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ จนถึง ปฐมฌานภูมิ ๓ ถูกทำลาย ทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย น้ำ น้ำจะท่วมตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย ลม ลมจะพัดทำลายตั้งแต่อบายภูมิ มนุษย ภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายทั้งหมด ภูมิที่พ้นจากการถูกทำลายด้วยไฟ น้ำ ลม คือ จตุตถฌานภูมิ และ อรูป ภูมิ 
 
จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา มี ๗ ภูมิ คือ 
๑. เวหัปผลาภูมิ 
๒. อสัญญสัตตภูมิ 
๓. อวิหาภูมิ 
๔. อตัปปาภูมิ  
๕. สุทัสสาภูมิ  
๖. สุทัสสีภูมิ  
๗. อกนิฎฐาภูมิ 
(รวมเฉพาะภูมิที่ ๓ – ๗ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุทธาวาสภูมิ ๕ )

เวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตภูมิ
๑. เวหัปผลา แปลว่า มีผลไพบูลย์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน พ้นจากการถูกทำลายทั้งปวง ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมเวหัปผลา พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของปัญจมฌาน พรหมชั้นนี้ไม่ได้แบ่งเป็น ๓ ชื่อสำหรับผู้ ได้อย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีตแต่อย่างใด กล่าวไว้ชื่อเดียว รวมๆ กันไป 
๒. อสัญญี แปลว่า ไม่มีสัญญาเสียเลย พรหมชั้นนี้เป็นที่เกิดของผู้ได้ปัญจมฌานแบบเพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มี เห็นโทษของจิตว่าจิตเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ได้รับอารมณ์แล้วก็เป็นทุกข์ก็เพราะมีจิต ราคะ โทสะ โมหะ ล้วนอาศัยจิตเกิดขึ้น มีความเห็นว่าไม่มีจิตเป็นของดีเป็นนิพพานในปัจจุบัน จึง เพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มีๆ สำรอก ดับนามขันธ์ และเวลาตายจากมนุษย์ ถ้ายืนตายก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่ายืน ถ้านั่งก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่านั่ง และก็อยู่ในอิริยาบถนั้นจนถึงจุติ หรือเรียกว่า พรหมลูกฟัก ซึ่งมีเพียงรูปขันธ์อย่างเดียวไม่มีนามขันธ์ เมื่อหมดอายุขัย นามขันธ์ก็จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปเกิดในภพ ใหม่ชาติใหม่ต่อไป เป็นพรหมภายนอกพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ปฏิบัติเพื่อไปเกิดเป็นพรหมพวกนี้ ที่ตั้งของเวหัปผลาภูมิ และอสัญญสัตตภูมิ ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ ทั้ง ๒ ภูมิ อยู่ในระนาบเดียวกัน ห่างจากตติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี ล้วนด้วย รัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีต ยิ่งกว่าพรหมชั้นตติยฌาน 

สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ
สุทธาวาส แปลว่าอาวาส คือที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่อันบริสุทธิ์ หมายถึงภูมิอันเป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ เป็นที่อยู่ของพระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือ พระอนาคามี และพระอรหันต์ และมีคุณสมบัติ พิเศษอีก ๒ ประการคือ ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่กล้าด้วยและเจริญสมถะจนได้ปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นชีวิตจะไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาสภูมิ และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสภูมินั้น ไม่กลับมาเกิดอีก สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ ผู้ที่เกิดในสุทธาวาสภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้วจะไม่เกิดซ้ำภูมิ ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไปตามลำดับและจะต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอกนิฏฐาภูมิและนิพพานในอกนิฏฐาภูมินี้

๓. อวิหา แปลว่า ไม่ละฐานของตนโดยกาลอันน้อย หรือ ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้ที่เกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์มี ๕ คือ
๑.สัทธินทรีย์
๒.วิริยินทรีย์
๓.สตินทรีย์ 
๔.สมาธินทรีย์ 
๕.ปัญญินทรีย์ 
พรหมที่จะได้เกิดในภูมินี้ต้องสำเร็จพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีผู้มีสัทธินทรีย์แก่กล้าและสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อมาเกิดในชั้นอวิหาภูมิแล้วถ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็จะดำรงขันธ์อยู่จนสิ้นอายุขัย และนิพพานในภูมินี้ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้น
๔. อตัปปา แปลว่า ไม่สะดุ้งกลัวอะไร หรือไม่เดือดร้อน พรหมในภูมินี้เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะเข้าฌานสมาบัติหรือผลสมาบัติอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้จิตเร่าร้อนจากนิวรณธรรม ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของวิริยินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้นไป หรือ บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๕. สุทัสสา แปลว่า ดูงาม เป็นพรหมที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มใสบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ ธัมมจักขุ ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสตินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำ
เร็จฌานขั้นจตุตถฌานด้วยปัญญาจักขุ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และอยู่จนสิ้นอายุขัย จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๖. สุทัสสี แปลว่า มีทัสนะคือความเห็นดีบริสุทธิ์ เป็นผู้ที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าพรหมสุทัสสา ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ และปัญญาจักขุ ส่วนธัมมจักขุนั้นมีกำลังเสมอกันกับพรหมสุทัสสา ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้อง เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสมาธินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๗. อกนิฏฐา แปลว่า ไม่มีเป็นรอง เพราะมีสมบัติอันอุกฤษฏ์ เสวยอริยผลจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของ ปัญญินทรีย์แก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น อกนิฏฐาภูมิเป็นยอดภูมิของพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลที่อยู่ในภูมินี้จะต้องสำเร็จเป็นพระ อรหันต์ในภูมินี้แล้วจึงเข้าสู่นิพพาน

ที่ตั้งสุทธาวาสภูมิ
ตั้งอยู่ในอากาศทั้ง ๕ ภูมิ จะไม่อยู่ในแนวระนาบเดียวกันเหมือนกับภูมิที่ผ่านมา แต่จะตั้งสูงขึ้นไป อวิหาภูมิจะตั้งห่างจากเวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตาภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อก นิฏฐาภูมิ มีความสูงห่างจากกันระหว่างภูมิ ชั้นละ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ สิ่งสำคัญในอกนิฏฐาภูมิ ในอกนิฏฐาภูมิมีพระเจดีย์ชื่อ ทุสสเจดีย์ หรือพระเจดีย์ผ้าขาว ที่เจดีย์บรรจุเครื่องแต่งกายของพระโพธิสัตว์ในคราวที่ทรงออกผนวช(ก่อนตรัสรู้ เรียกว่าพระโพธิสัตว์) โดยฆฏิการพรหมนำบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวาย พระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลก และ ในคราวที่ปรินิพพาน พรหมก็ได้นำพระอุณหิส (พระบรมสารีริกธาตุส่วน หน้าผาก) ไปบรรจุไว้ที่ทุสสเจดีย์ ในคราวออกบวช พระอินทร์ได้พระจุฬาโมฬี ปิ่น และเครื่องรัดเกล้า ไปบรรจุไว้ที่จุฬามณีเจดีย์ พระพรหมคือฆฏิการพรหมได้ถวายบริขาร ๘ และ นำพระภูษาคฤหัสถ์ขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ เรื่องบาตรที่เป็นส่วนหนึ่งใน บริขาร ๘ มีเรื่องพิเศษอีกว่า เมื่อนางสุชาดาน้อมถาดทองข้าวมธุปายาส เข้า
ไปถวายพระโพธิสัตว์ในเช้าวันที่จะตรัสรู้ บาตรดินที่ฆฏิการพรหมถวายมีเหตุ ทำให้อันตรธานหายไป ไม่ทรงเห็นบาตรจึงทรงรับทั้งถาด ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อพาณิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ ภัลลิกะ ได้น้อมข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงถวาย พระองค์ไม่มีบาตรที่จะทรงรับ ท้าวจตุโลกบาตรทั้งสี่จึงได้นำบาตรศิลาจาก ทิศทั้งสี่มาถวาย รวมเป็นสี่บาตร พระองค์ทรงรับแล้วอธิษฐานให้เป็นบาตรใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุจากพาณิชทั้งสองคน 



วิกิ

ผลการค้นหา