นวโกวาท (ฉบับประชาชน)

 คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๕/๒๔๔๒)

หนังสือเล่มนี้เรียงย่อโดยประมาณดังนี้ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่, เพราะผู้บวชใหม่ย่อมบวชเพียงพรรษาเดียว คือสี่เดือนเป็นพื้น อุปัชฌาอาจารย์ผู้หวังความรู้แก่สัทธิวิหารกและอันเตวาสิกต้องหาอุบายสั่งสอนให้เขาได้ความรู้มากที่สุดตามแต่จะเป็นได้ ถ้าใช้แบบสอนที่พิสดาร เรียนรู้ยังไม่ถึงไหนก็ถึงเวลาสึก จะต้องใช้แบบย่อให้จุข้อความที่ควรจะศึกษา นี้เป็นเหตุผลเริ่มเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น หนังสือนี้ถือเป็นแบบย่อ ถ้าเข้าใจวิธีสอน ก็ทำให้ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่เข้าใจกว้างขวางได้เหมือนกัน ข้าพเจ้าได้ใช้ฝึกศิษย์ด้วยวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้

ให้ผู้ศึกษากำหนดจำหัวข้อในหนังสือเล่มนี้ให้ได้ตลอด เอาแต่ใจความ ไม่ต้องจำถึงพยัญชนะ, แต่คนอ่านแล้วถอดใจความไว้ในใจไม่ได้ ยังต้องท่องเหมือนท่องสวดมนต์ กำหนดระยะให้ ๓ เดือน (ยกเดือนต้นไว้สำหรับบุรพกิจอย่างอื่น) เดือนที่ ๒ วินัยบัญญัติ เดือนที่ ๓ ธรรมวิภาค เดือนท้ายเมื่อจวนสึก คิหิปฏิบัติ ผู้ประกอบด้วยสติปัญญา อุตสาหะกล้าก็ได้เร็วกว่ากำหนด ปานกลางก็พอทันกำหนด ทรามก็ไม่ทันกำหนด

ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ในขั้นต้น เมื่อถึงกถาอะไร ได้สอบถามให้เล่าหัวข้อเหล่านั้นให้ฟังจนเห็นว่าขึ้นใจแล้ว ส่วนวินัยได้ผูกเป็นปัญหาให้ตัดสิน ปัญหานั้นให้ตัดสินได้ด้วยเทียบตามแบบ เช่น " ภิกษุพยาบาลไข้ วางยาผิด คนไข้ตาย จะต้องปาราชิกหรือไม่? " ผู้ตอบต้องใคร่ครวญดูเจตนาของผู้วางยาว่า เหมือนกับเจตนาของผู้ที่กล่าวไว้ในแบบหรือไม่? เท่านี้ก็ตัดสินได้

ถึง ธรรมวิภาคและ คิหิปฏิบัติ ก็มีปัญหาถามเหมือนกัน เช่น "อย่างไร ความคบสัตบุรุษ เป็นต้น จึงจะเป็นเครื่องเจริญของมนุษย์? " ในที่นี้ผู้ตอบต้องอธิบายตามความเห็นของตนให้สมแก่รู้ปัญหา อีกข้างหนึ่ง " ทรัพย์ที่จับจ่ายด้วยประการไร จึงได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์? " ในที่นี้ต้องเอากระทู้ความในหมวดที่ว่าด้วยประโยชน์เกิดแต่การถือเอาโภคทรัพย์ มาอธิบายแก้ให้สมรูปปัญหา เมื่อถึงกำหนด ได้มีการสอนความรู้ใน ๓ อย่างนั้น เพื่อเป็นอุบายให้เอาใจใส่ดีขึ้น

ยังมีวิธีที่ช่วยทำให้ผู้บวชใหม่ ได้ความรู้กว้างขวางออกไปกว่านี้อีก ส่วนวินัย ถามปัญหาให้เทียบตามแบบไม่ได้ เช่น " ภิกษุตีเด็ก ต้องอาบัติอะไร ? " ในแบบมีแต่ว่าตีภิกษุต้องปาจิตตีย์ เช่นนี้ทำให้ค้นคว้าในสิกขาเล่มใหญ่ พอพบแล้วก็จำได้ทันที ส่วนธรรมวิภาคนั้นได้แจกกระทู้พุทธภาษิต เช่น " คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร, ได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ " วันละข้อ แจกให้อย่างเดียวกันหมด ให้ไปแต่งแก้แล้วนำมาอ่านในที่ประชุมในกำหนด ผู้แต่งต้องตริตรองด้วยน้ำใจให้เห็นเองก่อนว่า " ความเพียรเป็นเหตุ, ความล่วงทุกข์เป็นผล ความสัตย์เป็นเหตุ, ชื่อเสียงเป็นผล " จึงจะเรียงแต่งมาอ่านได้ในเวลาที่อ่าน ต่างก็ต่างมุ่งฟังของกันและกัน เมื่อใครอธิบายดีก็จำไว้ และที่สุดได้รับวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด ข้อนี้เป็นเหตุผลให้ค้นคว้าข้อความในหนังสือธรรมมาอธิบาย ได้ความรู้กว้างขวางและตริตรองให้เห็นความดี เห็นความชั่วด้วยน้ำใจเอง

หนังสือเล่มนี้ แต่งขึ้นสำหรับสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้พอควรแก่เวลาจะศึกษาได้ จึงตั้งชื่อว่า นวโกวาท และมีข้อความแต่งโดยย่อเพียงเท่านี้


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘


ทุกะ คือ หมวด ๒

ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง
๑. สติ ความระลึกได้
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว

ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง
๑. ขันติ ความอดทน
๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยม

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง
๑. บุพพการีบุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน

ติกะ คือ หมวด ๓

รัตนะ ๓ อย่าง
๑. ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย กาย วงจา ใจ ตามพระธรรมวินัยชื่อพระพุทธเจ้า
๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อ พระธรรม
๓. หมู่ชนที่ฟังคำสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อ พระสงฆ์

คุณของรัตนะ ๓ อย่าง
๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 3 อย่าง
๑. ทรงสั่งสอนเพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์ โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ

โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเรื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ทุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียก กายทุจริต
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียก วจีทุจริต
๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียกว่า มโนทุจริต

กายทุจริต ๓ อย่าง
ฆ่าสัตว์ ๑ ลักฉ้อ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑
วจีทุจริต ๔ อย่าง 
พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑
มโนทุจริต ๓ อย่าง
โลภอยากได้ของเขา ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากครองธรรม ๑

ทุจริต ๓ อย่างนี้เป็นกิจไม่ควรทำ ควรละเสีย

สุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่ากายสุจริต
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต

กายสุจริต ๓ อย่าง
เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักฉ้อ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑
วจีสุจริต ๔ อย่าง
เว้นจากพูดเท็จ ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑
มโนสุจริต ๓ อย่าง
ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นชอบตามคลองธรรม ๑

สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ

อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. โลภะ อยากได้
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง

เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย

กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของกุศล เรียกกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ ๑. อโลภะ ไม่อยากได้
๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา
๓. อโมหะ ไม่หลง

เมื่อกุศลมูลเหล่านี้ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน

สัปปุริสบัญญัติ ๓ อย่าง
๑. ทาน สละสิ่งของๆ ตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียนกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข

อปัณณกปฏิปทา คือปฏิบัติใม่ผิด ๓ อย่าง
๑. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยินดียินร้ายเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๒. โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอควร ไม่มากไม่น้อย
๓. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรเพื่อชำระใจให้หมดจด ไม่เห็นแก่นอนมากนัก

บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ ย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

สามัญลักษณะ ๓ อย่าง
ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกสามัญลักษณะ ไตรลักษณะก็เรียก แจกเป็น ๓ อย่าง
๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์
๓. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าสัตบุรุษ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว

จักร ๔
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน

ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ

อคติ ๔
๑. ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียก ฉันทาคติ
๒. ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียก โทสาคติ
๓. ลำเอียงเพราะเขลา เรียก โมหาคติ
๔. ลำเอียงเพราะกลัว เรียก ภยาคติ

อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ

อันตรายของภิกษุผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง
๑. อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
๒. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓. เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. รักผู้หญิง

ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ๔ อย่างนี้ย่ำยีได้

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน

อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ความตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว จะชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก

อีกอย่างหนึ่ง

๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ปาริสุทธิศึล ๔
๑. ปาติโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำข้อที่พระองค์อนุญาต
๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๓. อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา

อารักขกัมมัฏฐาน ๔
๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่มีในพระองค์และทรงเกื้อกูลแก้ผู้อื่น
๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน

กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์

พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตาความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข
๒. กรุณาความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตาความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขาความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่

สติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนา 
๒. เวทนานุปัสสนา
๓. จิตตานุปัสสนา 
๔. ธัมมานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก กายานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก เวทนานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก จิตตานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก ธัมมานุปัสสนา

ธาตุกัมมัฏฐาน ๔ 
ธาตุ ๔ คือ
ธาตุดิน เรียก ปฐวีธาตุ
ธาตุน้ำ เรียก อาโปธาตุ
ธาตุไฟ เรียก เตโชธาตุ
ธาตุลม เรียก วาโยธาตุ

ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

ธาตุอันมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ธาตุอันมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ เตโชธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย

ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ วาโยธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัด ไปตามตัว ลมหายใจ

ความกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน

อริยสัจ ๔
๑. ทุกข์ คือความทนอยู่ไม่ได้
๒. สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่า ทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก

ตันหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่า สมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

ตันหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่า กามตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า ภวตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า วิภวตัณหา อย่าง ๑

ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมดได้ชื่อว่า นิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์

ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่า มรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีพชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑

ปัญจกะ คือ หมวด ๕

อนันตริยกรรม ๕
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน

กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุดห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษามาก
๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
๕. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้

องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา
๔. อยู่ในเสนาเสนะอันสงัด
๕. มีความเห็นชอบ

ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้

องค์แห่งธรรมกถึก คือ นักเทศก์ ๕ อย่าง
๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่า ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

ภิกษุผู้ได้ธรรมกถึก พึงตั้งองค์ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน

ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

พละ คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
๑. สัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๕. ปัญญา ความรอบรู้

อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน

นิวรณ์ ๕
๑. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรู้เป็นต้น เรียก กามฉันท์
๒. ปองร้ายผู้อื่น เรียก พยาบาท
๓. ความที่จิตใจหดหู่และเคลิบเคลิ้ม เรียก ถีนมิทธะ
๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ เรียก อุทธัจจกุกุจจะ
๕. ลังเลไม่ตกลงได้ เรียก วิจิกิจฉา

๕ อย่างนี้ เป็นสิ่งอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุธรรม 

ขันธ์ ๕
๑. รูป 
๒. เวทนา 
๓. สัญญา 
๔. สังขาร 
๕. วิญญาณ

กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕
รูป คือธาตุ ๔  ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นกายนี้

ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ สบายกาย สบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า เวทนา

ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียก สัญญา

เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ เป็นส่วนดี เรียก กุศล เป็นส่วนชั่ว เรียก อกุศล เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียก อัพยากฤต เรียกว่า สังขาร

ความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรู้มากระทบตา เป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ย่นเรียกว่า นามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูป

ฉักกะ คือ หมวด ๖

คารวะ ๖ อย่าง
๑. ในพระพุทธเจ้า 
๒. ในพระธรรม 
๓. ในพระสงฆ์ 
๔. ในความศึกษา 
๕. ในความไม่ประมาท 
๖. ในปฏิสันถาร คือต้อนรับปราศรัย 

คาราวะคือ 
การเคารพนับถือในสิ่งสำคัญ ภิกษุควรทำคารวะ ๖ ประการนี้ 

สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียกสาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง คือ
๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เข่นกล่าวคำสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรมให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน

ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อายตนะภายใน ๖
๑. ตา 
๒. หู 
๓. จมูก 
๔. ลิ้น 
๕. กาย 
๖. ใจ 
อายตนะภายใน ๖ หรือจะเรียกว่า อินทรีย์ ๖ ก็ได้

อายตนะภายนอก ๖
๑. รูป 
๒. เสียง 
๓. กลิ่น 
๔. รส 
๕. โผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่มาถูกต้องกาย 
๖. ธรรมารมณ์ คืออารมณ์เกิดกับใจ 
อายตนะภายนอก ๖ หรือจะเรียกว่า อารมณ์ ๖ ก็ได้

วิญญาณ ๖
๑. จักขุวิญญาณ อาศัยรูปกระทบตา เกิดความรับรู้ขึ้น
๒. โสตวิญญาณ อาศัยเสียงกระทบหู เกิดความรับรู้ขึ้น
๓. ฆานวิญญาณ อาศัยกลิ่นกระทบจมูก เกิดความรับรู้ขึ้น
๔. ชิวหาวิญญาณ อาศัยรสกระทบลิ้น เกิดความรับรู้ขึ้น
๕. กายวิญญาณ อาศัยโผฏฐัพพะกระทบกาย เกิดความรับรู้ขึ้น 
๖. มโนวิญญาณ อาศัยอารมณ์กระทบกับใจ เกิดความรับรู้ขึ้น 

สัมผัส ๖
อายตนะภายในมีตาเป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น กระทบกันเรียกสัมผัส มีชื่อตามอายตนะภายใน เป็น ๖ คือ
๑. จักขุ 
๒. โสต 
๓. ฆาน 
๔. ชิวหา 
๕. กาย 
๖. มโน

เวทนา ๖
สัมผัสนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง มีชื่อตามอายตนะภายในเป็น ๖ คือ
๑. จักขุ
๒. โสต 
๓. ฆาน 
๔. ชิวหา 
๕. กาย 
๖. มโน

ธาตุ ๖
๑. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน
๒. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ
๓. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ
๔. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม
๕. อากาสธาตุ คือ ช่องว่างมีในกาย
๖. วิญญาณธาตุ คือ ความรู้อะไรก็ได้

สัตตกะ คือ หมวด ๗

อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ชื่อว่า อปรหานิยธรรม มี ๗ อย่าง
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น
๖. ยินดีในเสนาสนะป่า
๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว

อริยทรัพย์ ๗
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต
๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก คือ จำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก
๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนให้แก่คนที่ควรให้ปัน
๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
ทรัพย์ทั้ง ๗อย่างนี้ คือคุณความดีที่มีอยู่ในสันดาน ประเสริฐกว่าทรัพย์ใดๆในโลก

สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันใด ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันใด
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติตระกูล ยศศักดิ์สมบัติบริวารความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต แต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนและกริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่าหมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดแบบนี้ เป็นต้น
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นผู้ดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น

สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง
๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใครๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. จะพูดสิ่งใดก็พูดเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวเองให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

โพชฌงค์ ๗
๑. สติ ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปีติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗. อุเปกขา ความวางเฉย
รียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับจนถึงอุเปกขาสัมโพชฌงค์

อัฏฐกะ คือ หมวด ๘

โลกธรรม ๘
ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น เรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมนั้นมี ๘ อย่าง คือ
๑. มีลาภ
๒. เสื่อมลาภ
๓. มียศ
๔. เสื่อมยศ
๕. ถูก
สรรเสริญ
๖. ถูกนินทา
๗. มีสุข
๘. มีทุกข์
ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
๑. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อความไม่สละกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ คือ มีนี่แล้วอยากได้นั่น
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

๑. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อความสละกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความไม่อยากได้อยากเป็น
๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของมีอยู่
๖. เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่
๗. เป็นไปเพื่อความเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็น อริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปปะดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑
๓. สัมมาวาจาเจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔
ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั้น เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าใน ปัญญาสิกขา วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์เข้าใน สีลสิกขา เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ สงเคราะห์เข้าใน จิตตสิกขา


นวกะ คือ หมวด ๙ 

มละ ๙

คือ มลทิน ๙ อย่าง
๑. โกรธ
๒. ลบหลู่คุณท่าน
๓. ริษยา
๔. ตระหนี่
๕. มายา
๖. มักอวด
๗. พูดปด
๘. มีความปรารถนาลามก
๙. เห็นผิด

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

อกุศลกรรมบถ ๑๐
กรรมทั้ง ๑๐ อย่างที่เป็นทางบาป ไม่ควรดำเนิน
จัดเป็นกายกรรม คือทำด้วยกาย ๓ อย่าง
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง คือฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

จัดเป็นวจีกรรม คือทำด้วยวาจา ๔ อย่าง
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

จัดเป็นมโนกรรม คือทำด้วยใจ ๓ อย่าง
๘. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท ปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม

กุศลกรรมบถ ๑๐
กรรม ๑๐ อย่างที่เป็นทางบุญ ควรดำเนิน
จัดเป็นกายกรรม คือทำด้วยกาย ๓ อย่าง
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

จัดเป็นวจีกรรม คือทำด้วยวาจา ๔ อย่าง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

จัดเป็นมโนกรรม คือทำด้วยใจ ๓ อย่าง
๘. อภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง
๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ
๒. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
๓. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า อาการ กาย วาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้
๔. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัวของเราเองโดยศีลได้หรือไม่
๕. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
๖. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
๗. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
๘. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๙. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรายินดีที่สงัดหรือไม่
๑๐. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

นาถกรณธรรม คือ ธรรมที่พึ่ง ๑๐ อย่าง
๑. ศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๒. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก
๓. กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีเพื่อนดีงาม
๔. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา ความขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของเพื่อนภิกษุสามเณร
๖. ธัมกามตา ความใคร่ในธรรมที่ชอบ
๗. วิริยะ เพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี
๘. สันโดษ ยินดีด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่งและยา ตามมีตามได้
๙. สติ จำการที่ได้ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้
๑๐. ปัญญา รอบรู้ในกองสังขารตามเป็นจริงอย่างไร

กถาวัตถุคือถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชัดนำให้มีความปรารถนาน้อย
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชัดนำให้ตั้งอยู่ในศีล
๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ
๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส

อนุสสติ คือ อารมณ์ควรระลึก ๑๐ ประการ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา
๗. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน
๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นว่า ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก
๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๑๐. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงพระคุณพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์

ปกิณณกะ คือ หมวดเบ็ดเตล็ด

อุปกิเลส ๑๖
คือ โทษเครื่องเศร้าหมอง ๑๖ อย่าง
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ
๒. โทสะ ร้ายกาจ
๓. โกธะ โกรธ
๔. อุปนาหะ ผูกโกรธไว้
๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน
๖. ปลาสะ ตีเสมอ คือยกตัว
๗. อิสสา ริษยา คือเห็นเขาได้ดี ทนอยู่ไม่ได้
๘. มัจฉริยะ ตระหนี่
๙. มายา มารยา คือเจ้าเล่ห์
๑๐. สาเถยยะโอ้อวด
๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ
๑๒. สารัมภะ แข่งดี
๑๓. มานะ ถือตัว
๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน
๑๕. มทะ มัวเมา
๑๖. ปมาทะ เลินเล่อ

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ 
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘
ทั้ง ๓๗ นี้คือองค์แห่งการตรัสรู้

กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย

อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง
๑. ความเป็นนักเลงหญิง
๒. ความเป็นนักเลงสุรา
๓. ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
๔. ความคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษ ๔ ประการนี้ไม่ควรประกอบ

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตัว ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก

สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รูจัก บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
๑. คนปอกลอก
๒. คนดีแต่พูด
๓. คนหัวประจบ
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย
คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ

คนปอกลอก มีลักษณะ ๔
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับเอากิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้

คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา

คนชักนำในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน

มิตรแท้ ๔ จำพวก
๑. มิตรมีอุปการะ
๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๓. มิตรแนะนำประโยชน์
๔. มิตรมีความรักใคร่
มิตร ๔ จำพวกนี้เป็นมิตรแท้ ควรคบ

มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ ๔
๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้

มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะ ๔
๑. ทุกข์ ๆ ด้วย
๒. สุข ๆ ด้วย
๓. โต้เถียงคนอื่นที่ติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

สังคหวัตถุ ๔ อย่าง
๑. ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว
คุณทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของผู้อื่นไว้ได้

สุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง
๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง
๑. ขอสมบัติจงเกิดแก่เราโดยทางชอบ
๒. ขอยศจงเกิดแก่เรากับญาติพวกพ้อง
๓. ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์

ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายมีอยู่ ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยบริจาคทาน
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

ตระกูลอันมั่นคงจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน ๔
๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔. ตั้งสตรีให้บุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน
ผู้หวังจะดำรงตระกูลควรเว้นสถาน ๔ ประการนี้เสีย

ธรรมของฆราวาส ๔
๑. สัจจะ สัตย์ซื่อแก่กัน
๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓. ขันติ อดทน
๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

ปัญจกะ
ประโยชน์เกิดแต่การถือโภคทรัพย์ ๕ อย่าง
แสวงหาโภคทรัพย์ได้ในทางที่ชอบแล้ว
๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่างๆ
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ

ก. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
ข. อติถิพลี ต้อนรับแขก
ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
ง. ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีภาษีอากร เป็นต้น
จ. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

ศีล ๕
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มน้ำเมา คือสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีล ๕ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง
๑. ค้าขายเครื่องประหาร
๒. ค้าขายมนุษย์
๓. ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
๔. ค้าขายน้ำเมา
๕. ค้าขายยาพิษ
การค้าขาย ๕ อย่างนี้ เป็นข้อห้ามอุบาสกไม่ให้ประกอบ

สมบัติของอุบาสก ๕ ประการ
๑. ประกอบด้วยศรัทธา
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา
๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา
อุบาสกพึ่งตั้งอยู่ในสมบัติ ๕ ประการ และเว้นจากสมบัติ ๕ ประการ ซึ่งวิปริตจากสมบัตินั้น

ทิศ ๖
๑. ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดา บิดา
๒. ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์
๓. ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง บุตร ภรรยา
๔. อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร
๕. เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว
๖. อุปริมทิส คือทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์

ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดา บิดา บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑.ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
๒. ทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยาที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย

ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ
๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
๓. ด้วยเชื่อฟัง
๔. ด้วยอุปัฏฐาก
๕. ด้วยศิลปวิทยาโดยเคารพ

อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕
๑. แนะนำดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือจะไปทิศไหนก็ไม่อดอยาก)

ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น
๓. ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ
๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี
๓. ไม่ประพฤติล่วงใจผัว
๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยให้ปัน
๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ
๓. ด้วยประพฤติประโยชน์
๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ
๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

มิตรได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕
๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์มิตร

เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บป่วย
๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน
๕. ด้วยปล่อยให้สมัย

บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕
๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย
๒. เลิกการงานทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้นๆ

อุปริมทิส คือทิศเบื้องบนสมณพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
๑. ด้วยกายกรรม คือทำอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๒. ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๓. ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน
๕. ด้วยให้อามิสทาน

สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖
๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่ม
๖. บอกทางสวรรค์ให้

อบายมุข คือเหตุเครื่องฉิบหาย ๖
๑. ดื่มน้ำเมา
๒. เที่ยวกลางคืน
๓. เที่ยวดูการเล่น
๔. เล่นการพนัน
๕. คบคนชั่วเป็นมิตร
๖. เกียจคร้านทำการงาน

ดื่มน้ำเมา มีโทษ ๖
๑. เสียทรัพย์
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เกิดโรค
๔. ต้องติเตียน
๕. ไม่รู้จักอาย
๖. ทอนกำลังปัญญา

เที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖
๑. ชื่อว่าไม่รักษาตัว
๒. ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
๓. ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย
๕. มักถูกใส่ความ
๖. ได้ความลำบากมาก

เที่ยวดูการเล่น มีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖
๑. รำที่ไหนไปที่นั่น
๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
๓. ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น
๔. เสภาที่ไหนไปที่นั่น
๕. เพลงที่ไหนไปที่นั่น
๖. เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

เล่นการพนัน มีโทษ ๖
๑. เมื่อชนะย่อมก่อเวร
๒. เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. ทรัพย์ย่อมฉิบหาย
๔. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
๕. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษตามบุคคลที่คบ ๖
๑. นำให้เป็นนักเลงการพนัน
๒. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. นำให้เป็นนักเลงเหล้า
๔. นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม
๕. นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า
๖. นำให้เป็นคนหัวไม้

เกียจคร้านการทำงาน มีโทษ ๖
๑. มักอ้างว่า หนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๒. มักอ้างว่า ร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน
๓. มักอ้างว่า เวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน
๔. มักอ้างว่า ยังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน
๕. มักอ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๖. มักอ้างว่า กระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน

ผู้หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์ พึงเว้นเหตุเครื่องฉิบหาย ๖ ประการนี้เสีย




วิกิ

ผลการค้นหา