ที่มาการแบ่งนิกายของพุทธ

ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้มีพระมหาเถระได้นิพพานก่อนไปแล้วหลายองค์ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ฝ่ายคฤหัสถ์หลายท่านก็ได้สวรรคตไปก่อน เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ส่วนพระมหาเถระที่ยังเหลืออยู่เป็นกำลังสำคัญต่อมาคือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพานแล้ว โทณพราหมณ์ก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนแล้วมอบให้แก่เมืองต่าง ๆ ที่ส่งตัวแทนมาขอ เหตุการณ์อันเป็นรอยร้าวของคณะสงฆ์ก็เริ่มเกิดขึ้นจากบุคคล ๒ คน คือ พระสุภัททะบรรพชิตผู้เฒ่าและพระปุราณกับพวก อันนำไปสู่การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก

การสังคายนาครั้งที่ ๑
 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว และเมื่อข่าวนี้กระจายออกไปทั่วชมพูทวีปทั้งหมด พุทธศาสนิกชนต่างร่ำให้โศกาดูร พระสาวกที่เป็นปุถุชนก็เช่นกัน ต่างร่ำไห้ถึงการจากไปของพระพุทธองค์ ต่างคร่ำครวญว่าพวกเรายังเป็นปุถุชนอยู่ยังไม่ถึงฝั่ง พระพุทธองค์ก็มาเสด็จจากไปเสียแล้ว แล้วใครจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ เมื่อพระองค์ไม่อยู่ ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เรา

แต่หลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๗ วันก็ปรากฏว่ามีพระแก่รูปหนึ่งนามว่าสุภัททะ ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและแสดงอาการปีติ กล่าวว่าท่านทั้งหลายจะมามัวร้องไห้รำพันอยู่ทำไม พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก็ดีแล้ว เพราะเมื่อพระองค์ทรงอยู่ทรงสอนโน้น สอนนี้ ทรงห้ามโน้น ห้ามนี้ บัดนี้เราหมดพันธะแล้ว เป็นอิสระแล้วเป็นต้น

ในขณะที่มหากัสสปะเถระเจ้ากำลังพำนักอยู่ ณ เมืองปาวา ใกล้เมืองกุสินาราแดนปรินิพพานเมื่อได้ทราบข่าวจากพระสงฆ์ว่า พระสุภัททะพูดเช่นนั้น จึงเกิดธรรมสังเวชในใจว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไม่นานนักเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็มีภิกษุ อลัชชีไม่มียางอายจ้วงจาบพระธรรมวินัยในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะมียิ่งไปกว่านี้อีกหรือ อย่ากระนั้นเลย เราควรเรียกประชุมสงฆ์เพื่อหาทางป้องกันและกำจัดอลัชชีให้หมดไป

เมื่อถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าจึงเรียกประชุมสงฆ์ ยกวาทะของพระสุภัททะมากล่าวอ้าง ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่และคัดเลือกพระอรหันต์ และภายหลังจึงได้บรรลุก่อนการทำสังคายนา


เมืองราชคฤห์เป็นที่ประชุม 

เมืองราชคฤห์ มีหลายชื่อ เช่นเมืองวสุมติ เมืองภารหะธรถะปุระ คิริวราชา กุสากระปุระ และราชคฤิหะ (Rajgriha) คำว่า วสุมติ พบในคัมภีร์รามายณะ โดยมีพระเจ้าวสุเป็นผู้ก่อตั้งเมืองราชคฤห์เป็นองค์แรก พระเจ้าวสุเป็นโอรสของพระพรหม ได้รับคำสั่งให้สร้างเมืองนี้ขึ้น คำว่า เมืองภารหะธรถะปุระ พบในคัมภีร์มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ ตั้งตามชื่อกษัตริย์ พฤหัสธรถะ ปู่ของพระเจ้าชราสันธะที่เคยเสด็จมาที่นี่ คำว่าคิริวราชา เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ๕ ลูกล้อมรอบทุกด้าน ภูเขาทั้ง ๕ คือ

๑. เวภาระ
๒. ปัณฑวะ
๓. เวปุลละ
๔. อิสิคิริ
๕. คิชฌกูฏ

ในคัมภีร์มหาภารตะเรียกชื่อภูเขาทั้ง ๕ ต่างกับคัมภีร์ บาลี คือ

๑. ไวภาระ
๒. วลาหะ
๓. วฤศภะ
๔. ฤาษีคิริ
๕. ไชยยากะ

ปัจจุบันชาวอินเดียเรียกดังนี้
๑. ไวภาระ
๒. วิปุลละ
๓. รัตนะ
๔ .ฉหัตถะ
๕. ไสละ

ถ้ำสัตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต สถานที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

คำว่า กุสากระปุระ พบในจดหมายเหตุที่พระถังซัมจั๋งกล่าวไว้ นอกจากนั้นยังเจอในวรรณกรรมของศาสนาเชน แปลว่า เมืองที่รายรอบด้วยหญ้ากุสะ และคำว่า ราชคฤห์ ภาษาบาลีคือราชคหะ แปลว่าเมืองหรือพระราชวังของพระราชา หลังพุทธปรินิพพาน ปกครองโดยพระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร

จากสถานที่ประชุมเพลิงศพของพระพุทธองค์ คือ เมืองกุสินาราเป็นระยะที่ไกลมาก พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายน่าจะทำสังคายนาที่เมืองกุสินารา แต่ที่ท่านเลือกเมืองราชคฤห์เป็นที่ทำสังคายนา เพราะเหตุว่า

๑. ราชคฤห์เป็นเมืองที่เหมาะสม ชัยภูมิที่สะดวก
๒. ปัจจัย ๔ หาได้สะดวกเพราะเป็นเมืองใหญ่
๓. พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความเลื่อมใสพุทธศาสนา
๔. แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่เป็นรัฐมหาอำนาจ และภาษามคธก็เป็นภาษาราชการ

เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อย แล้ว พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายจึงออกเดินทางจากเมืองกุสินาราสู่เมืองราชคฤห์ เมื่อไปถึงแล้วจึงแจ้งเรื่องให้พระเจ้าอชาตศัตรูทราบ พระองค์ทรงยินดีให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ พระองค์รับสั่งให้ปราบหน้าถ้ำสัตตบัณณคูหาให้สะอาด และรับสั่งให้ปูลาดอาสนะทำซุ้มปะรำ ถวายภัตตาหารตลอดการประชุม

สังคายนาครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตร

ปรับอาบัติพระอานนท์

ในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายได้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับอาบัติพระอานนท์ แม้ว่าท่านจะบรรลุพระอรหันต์แล้วก็ตามเพราะเหตุว่า

๑. ไม่ได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่ให้ถอนได้หมายเอาสิกขาบทใด
๒. ข้อที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฏกของพระพุทธองค์
๓. ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน และนางร้องไห้จนน้ำตาเปียกพระสรีระ
๔. ไม่อ้อนวอนพระศาสดาให้ทรงอยู่ตลอดกัปป์แม้ทรงจะมีนิมิตโอภาส
๕. ช่วยเหลือให้สตรีบวชในพุทธศาสนา

พระอานนท์กล่าวแก้ข้อกล่าวหาทั้ง ๕ ข้อดังต่อไปนี้

๑. ไม่ทูลถามสิกขาบท เพราะไม่ได้ระลึกถึง
๒. ที่เหยียบเพราะพลั้งเผลอ ไม่ใช่เพราะไม่คารวะ
๓. ให้สตรีถวายบังคมก่อน เพราะค่ำมืดเป็นเวลาวิกาล
๔. ไม่ทรงอ้อนวอนพระศาสดา เพราะถูกมารดลใจจึงไม่ได้อ้อนวอน
๕. เพราะเห็นว่าพระนางประชาปดีโคตมีนี้ เป็นพระมารดาเลี้ยงถวายขีโรทก (น้ำนม) แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าในวัยเยาว์จึงขวนขวายให้สตรีบวช

แม้พระอานนท์จะทราบว่าตัวเองไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์พิจารณาลงโทษ ปรับอาบัติท่านก็ยอมรับ ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด เพราะความเป็นนักประชาธิปไตยของท่าน

พระปุราณะคัดค้านการประชุม

การสังคายนาครั้งนี้ได้กระทำขึ้นโดยสงฆ์ฝ่ายที่นับถือพระมหากัสสปเถระ แต่ยังมีสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะที่ไม่ยอมรับการประชุมครั้งนี้ จึงได้พาบริวาร ๕๐๐ รูป เดินทางจากทักขิณาคิริชนบทมาสู่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระสงฆ์ฝ่ายที่สังคายนาเสร็จแล้วได้แจ้งให้พระปุราณะทราบ แต่ท่านกลับตอบว่า "พวกท่านทำสังคายนาก็ดีแล้ว แต่พวกผมได้ฟัง ได้รู้มาอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น" ความจริงพระปุราณะยอมรับการสังคายนาทั้งหมด แต่มีสิกขาบท ๘ อย่างที่ยังไม่ยอมรับคือ

๑. อันโตวุตถะ ของอยู่ภายในที่อยู่
๒. อันโตปักกะ ให้สุกภายในที่อยู่
๓. สามปักกะ ให้สุกเอง
๔. อุคคหิตะ หยิบของที่ยังไม่ได้รับประเคน
๕. ตโตนีหฏะ ของที่ได้มาจากการนิมนต์
๖. ปุเรภัตตะ ของรับประเคน ในเวลาก่อนภัตร
๗. นวัฏฐะ ของอยู่ในป่า
๘. โปกขรฏฐะ ของอยู่ในสระ

พระปุราณะกล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้ แต่พระมหากัสสปะแย้งว่าทรงอนุญาตจริง แต่ในเวลาข้าวยากหมากแพงเท่านั้นเมื่อพ้นสมัยแล้วทรงให้ยกเลิก แต่พระปุราณะก็ไม่เชื่อเพราะไม่ได้ยิน แล้วพาคณะไปทำสังคายนาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำที่ไหน เมื่อไหร่ ใช้ภิกษุกี่รูป นี้เป็นรอยแยกครั้งแรกในสังฆมณฑลหลังพุทธปรินิพพาน

ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ

พระฉันนะเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าสุทโธทนะ และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที แล้วจึงกลับ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์จนพุทธศาสนา แผ่ไปกว้างไกล ฉันนะจึงพร้อมด้วยเจ้าศากยะหลายองค์ตามออกบวช เมื่อบวชแล้วกลับมีความหยิ่งจองหอง ดูหมิ่นเหยียดหยามภิกษุอื่น เพราะถือว่าตัวเองใกล้ชิดพระพุทธองค์และตามเสด็จออกบวชด้วย และด่าบริภาษภิกษุอื่นว่าตอนที่พระองค์เสด็จออกบวชไม่เห็นมีใคร แต่พอเป็นพระศาสดาแล้วกลับอ้างว่า คนนี้คือสารีบุตร คนนี้คือโมคคัลลานะ คนนี้คือพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น

แม้จะถูกพระพุทธองค์ตรัสห้ามก็หาได้ยุติไม่ พระองค์จึงให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือประกาศมิให้ภิกษุรูปอื่นตักเตือนว่ากล่าว ห้ามพูดคุย ห้ามช่วยเหลือ เป็นต้น ในภายหลังสำนึกตัว และแสดงโทษต่อคณะสงฆ์ ต่อมาขวนขวายประพฤติธรรมจนสามารถบรรลุพระอรหันต์

บทสรุปการสังคายนาครั้งที่ ๑

๑. ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา บนภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเถระเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย ส่วนพระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
๓. พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๔. พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เข้าร่วมประชุม
๕. ปรับอาบัติพระอานนท์
๖. ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
๗. พระปุราณะคัดค้านการประชุม และแยกตัวไปทำสังคายนาใหม่
๘. วัตถุประสงค์เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่
๙. เริ่มทำเมื่อหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน
๑๐. ใช้เวลา ๗ เดือน จึงสำเร็จ
๑๑. มีการฉลองถึง ๖ สัปดาห์

เมื่อการสังคายนาสำเร็จลงแล้ว สถานการณ์ในสังฆมณฑล ก็สงบลงพอสมควร แต่ก็ยังมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับการสังคายนา แล้วไปทำต่างหากคือคณะของพระปุราณะ อย่างไรก็ตามผลสำเร็จของการสังคายนาครั้งนี้ที่เห็นชัดเจนในครั้งนี้คือ

๑. ทำให้การร้อยกรองพระไตรปิฎกเป็นหมวดหมู่ขึ้นเป็นครั้งแรก
๒. ทำให้พุทธศาสนากระจายไปสู่ถิ่นอื่นอย่างรวดเร็ว
๓. ทำให้พุทธศาสนามั่นคงและสืบทอดมาจนทุกวันนี้
๔. การปฏิบัติของพระอานนท์และการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเป็นแบบอย่างที่ดีในหลักประชาธิปไตยและ ธรรมาธิปไตยอย่างชัดเจน
๕. แสดงถึงความสามัคคีของภิกษุที่ได้พรั่งพร้อมทำสังคายนาเพื่อรักษาพุทธศาสนา

พระเจ้าอชาตศัตรูย้ายเมือง

เมื่อพระพุทธองค์ได้ปรินิพพานได้ ๑๗ ปี พระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายราชธานี จากภายในหุบเขาเมืองราชคฤห์ ออกมาข้างนอก และย้ายต่อไปอยู่ฝั่งแม่น้ำคงคา เรียกเมืองใหม่ว่า ปาฏลีบุตร (Patariputra) (ปัจจุบันเรียกว่า ปัฏนะ Patna เมืองหลวงของรัฐพิหารปัจจุบัน) สาเหตุที่ย้ายนครเพราะเหตุผลทางด้านการเมือง เพราะพระองค์กำลังเตรียมพร้อมทำสงครามกับรัฐอื่นอยู่ ในสมัยพุทธกาลนี้มคธกลายเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดกว่าทุกอาณาจักร และไม่เคยล่มสลายเหมือนเมืองอื่น จนกระทั้งถึงราชวงศ์ปาละ พ.ศ.๑๖๐๐ ปี แม้ว่าเมืองเวสาลี (Vishali) จะได้ถูกพระองค์ยึดมาอยู่ในพระราชอาณาจักรแล้วก็ตาม แต่เพราะเมืองราชคฤห์อยู่ในหุบเขายากต่อการขายเมือง อีกทั้งเมืองใหม่อยู่ข้างแม่น้ำคงคาสะดวกต่อการคมนาคม

พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์มีพระมเหสีที่สำคัญคือ พระนางปัทมาวดี (Patmavati) มีพระโอรสที่สำคัญคือ เจ้าชายอุทัยภัทร หรือในตำราเชนเรียกว่า อะทายีภัททะ (Udayibadda) ปกครองปาฏลีบุตรนครใหม่ของพระองค์จนถึง พ.ศ. ๒๔ ก็ถูกพระราชโอรสยึดอำนาจ ปลงพระองค์เสียจากชีวิต รวมปกครองนครราชคฤห์และปาฏลีบุตรได้ ๓๒ ปี

พ.ศ. ๒๔ พระเจ้าอุทัยภัทร (Udayabdhra) พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ยึดอำนาจโดยการปรงพระชนม์พระบิดา แล้วขึ้นครองราชสมบัติต่อ ณ นครปาฏลีบุตร ต่อมาทรงสร้างเมืองใหม่ไม่ไกลจากปาฏลีบุตรมากนัก นั่นคือ กุสุมานคร หรือบุปผาบุรี เป็นเมืองคู่แฝดของปาฏลีบุตร

พระอุบาลีมหาเถระ ผู้เป็นองค์วิสัชนาพระวินัยในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ได้นิพพานในสมัยพระเจ้าอุทัยภัทรนี้ นำความโศกเศร้ามายังพุทธศาสนิกชนชาวมคธและใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้จัดให้ทำฌาปนกิจพระมหาเถระอย่างสมเกียรติ

ส่วนพระมหากัสสปเถระและพระอานนท์ยังมีชีวิตอยู่ พระอานนท์เถระเจ้ามีพรรษา ๑๐๔ ปีแล้วนับว่าชรามาก แต่ก็สามารถทำศาสนกิจ โปรดพุทธศาสนิกชนเป็นตัวแทนพระศาสดาโดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อคราวพระบรมศาสดามีพระชนม์อยู่ เมื่อเห็นพระศาสดาที่ใด ย่อมได้เห็นพระอานนท์ที่นั้นดุจเงาตามตัว

แม้มาถึงสมัยนี้จะไม่ได้เห็นพระศาสดาแล้ว แต่พุทธศาสนิกชนก็ยังอุ่นใจเพราะยังได้เห็นพระอานนท์เป็นตัวแทนอยู่บางตำรากล่าวว่าทุกที่ที่ย่างไป พระอานนท์ยังได้นำบาตรของพระพุทธองค์ไปด้วยเสมอ
พระเจ้าอุทัยภัทร มีพระโอรสที่ปรากฏพระนาม ๑ พระองค์ คือ เจ้ายชายอนุรุทธะพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๔๐ รวมครองราชย์ ๑๖ ปี

พ.ศ. ๔๐ เจ้าชายอนุรุทธะ (Anuruddha) ตัดสินใจเป็นกบฏยึดอำนาจจากพระบิดา จับพระเจ้าอุทัยภัทรสำเร็จโทษแล้ว พระองค์ก็ครองนครปาฏลีบุตร

ต่อมา พระอานนท์มหาเถระก็ได้นิพพานในสมัยนี้ สร้างความเศร้าสลดให้กับพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าคราวที่พระบรมศาสดาปรินิพพาน เพราะพระอานนท์เปรียบเหมือนตัวแทนของพระศาสดา จาริกโปรดพุทธบริษัทไปทุกหนแห่ง แม้ไม่เห็นพระศาสดาก็ยังได้เห็นพระอานนท์ซึ่งเป็นดุจเงาของพระบรมศาสดา เมื่อมานิพพานเสียแล้วจึงยังความโศกเศร้าให้กับพุทธบริษัทเป็นยิ่งนัก แม้กระทั่งพระราชาเอง พระเจ้าอนุรุทธะมีราชโอรสที่ปรากฏพระนาม ๑ พระองค์คือ เจ้าชายมุณฑกะ พระองค์ครองราชสมบัติได้ไม่นานแค่ ๔ ปี จนถึง พ.ศ.๔๔ ก็สวรรคตเพราะถูกพระโอรสยึดอำนาจรวมครองราชสมบัติ ๔ ปี

พ.ศ. ๔๔ เจ้าชายมุณฑกะ (Mundaka) หลังยึดอำนาจพระบิดาได้แล้ว ทรงปลงพระชนม์พระบิดาเช่นกัน นับเป็นราชวงศ์ปิตุฆาตโดยแท้ นับจากพระเจ้าอชาตศัตรูยึดอำนาจจากพระเจ้าพิมพิสารมา
พระเจ้ามุณฑกะมีพระโอรส ๑ พระองค์คือเจ้าชายนาคทาสกะ ครองราชย์อยู่ไม่นานเช่นกันเพียง ๔ ปีที่ครองราชย์ก็ถูกยึดอำนาจ รวมครองราชสมบัติ ๔ ปี

ต่อมา พ.ศ. ๔๘ เจ้าชายนาคทาสกะ (Nagadasaka) โดยการสนับสนุนของอำนาตย์ ราชบริพารบางคนยึดอำนาจจากพระบิดาสำเร็จ แล้วปกครองนครปาฏลีบุตรสืบมา ในช่วงปลายราชการบ้านเมืองเกิดจลาจล หลายฝ่ายมองว่าราชวงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาตมาโดยตลอด ปกครองไปจะนำความอับจนความเป็นเสนียดมาสู่ราชอาณาจักรจึงสนับสนุนอำมาตย์สุสูนาคเป็นกบฏและยึดอำนาจสำเร็จ พระเจ้านาคทาสกะครองราชบัลลังก์มาได้ ๒๔ ปี จนถึง พ.ศ. ๗๒ ก็สวรรคต

ในด้านสังฆมณฑล กษัตริย์ราชวงศ์พระเจ้าพิมพิสารทั้ง ๖ พระองค์ด่างสนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จนกระจายไปสู่หลายแคว้น ที่พุทธศาสนาไปไม่ถึง สังฆมณฑลโดยทั่วไปก็ยังไม่เรียบร้อยนักเพราะมีความเห็นผิดหลายประการ โดยเฉพาะมติของพระปุราณะ จนทำให้สังฆมณฑลแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างกลาย ๆ แต่เหตุการณ์ยังไม่รุนแรง เพราะในยุคนั้นพระอรหันตสาวกมีมากจึงยังไม่มีปัญหามากนัก

พ.ศ. ๗๒ อำมาตย์สุสูนาค เป็นกบฏและยึดอำนาจจากพระเจ้านาคทาสกะสำเร็จ ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตรย์ ปกครองราชบัลลังก์ปาฏลีบุตรสืบมา

พระเจ้าสุสูนาคไม่ใช่ราชวงศ์พระเจ้าพิมพิสาร แต่เป็นสายเจ้าลิจฉวี แห่งเมืองเวสาลี มีพระมารดาเป็นหญิงงามเมืองที่เมืองเวสาลี

สมัยนั้นเมืองเวสาลี เป็นที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับความสวยของสตรี และปรากฏว่า มีโสเภณีหลายคน รวมทั้งพระมารดาของพระเจ้าสุสูนาคด้วย ที่มีชื่อเสียงในสมัยพุทกาล คือ นางสาลวดีเป็นผู้มีความสวยงามเป็นเลิศ จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นโสเภณี พระเจ้าสุสูนาคมีพระโอรส (เท่าที่ปรากฏ) ๑ พระองค์คือเจ้าชายกาฬาโศก พระองค์ปกครองแคว้นมคธจนถึง พ.ศ. ๙๐ ก็สวรรคต

พ.ศ. ๙๐ หลังจากพระบิดาสวรรคตแล้วเจ้าชายกาฬาโศกก็ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ตำราบางเล่มโยงพระเจ้ากาฬาโศกกับพระเจ้าอโศกเป็นองค์เดียวกัน สร้างความสับสนให้ประวัติศาสตร์ยุคนี้พอสมควร แต่ส่วนมากยังเชื่อว่าเป็นคนละองค์เพราะมีหลักฐานยืนยันหลายเล่ม และระยะเวลาก็ห่างไกลกันมาก

ในสมัยนี้สังฆมณฑลเริ่มเกิดความยุ่งยาก เพราะมีคณะภิกษุกลุ่มหนึ่งละเมิดพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิมคธ จึงเป็นที่มาของการสังคายนาครั้งที่ ๒

ความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา

พ.ศ. ๑๐๐ หรือพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุเมืองเวสาลี (สันสกฤตเรียกว่า ไวศาลี หรือ ไพศาลี Vishali) ได้แตกเป็น ๒ ฝ่าย ด้วยความเห็นขัดแย้งกันในวัตถุ ๑๐ ประการ และเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง วัตถุ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์เคยห้ามไว้ แต่พระวัชชีบุตรกล่าวว่าสมควรทำได้

วัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้คือ

๑. สิงคโลณกัปปะ พระภิกษุสั่งสมเกลือในกลักเขาเป็นต้น แล้วนำไปผสมอาหารอื่น ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งผิดพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสั่งสมของเคี้ยวของฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์
๒. ทวังคุลกัปปะ ภิกษุฉันอาหารเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอาหารในยามวิกาล ถ้าฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๓. คามันตรกัปปะ ภิกษุฉันจากวัด แล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารก็ฉันได้อีกในเวลาเดียวกัน แม้ไม่ได้ทำวินัยกรรมมาก่อนซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอดิเรก ถ้าฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์
๔. อาวาสกัปปะ อาวาสใหญ่มีสีมาใหญ่ ทำอุโบสถแยกกันได้ ในพระวินัยห้ามการทำอุโบสถแยกกัน ถ้าแยกกันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๕. อนุมติกัปปะ ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมาจะทำอุโบสถก่อนก็ได้ แต่พระวินัยห้ามไม่ให้กระทำเช่นนั้น
๖. อาจิณกัปปะ ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครูบาอาจารย์ แม้ประพฤติผิดก็ควร
๗. อมัตถิกกัปปะ ภิกษุฉันอาหารแล้วไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ไม่ได้แปลเป็นนมส้มไม่ควร แต่วัชชีบุตรว่าควร
๘. ชโลคิง ปาตุง เหล้าอ่อนที่ไม่ได้เป็นสุราน้ำเมาฉันได้ ซึ่งขัดพระวินัยที่ห้ามดื่มน้ำเมา
๙. อทศกัง นิสีทนัง ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
๑๐. ชาตรูปรชตัง ภิกษุรับเงินและทองก็ได้

แต่คัมภีร์พุทธศาสนามหายานจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ที่มีชื่อว่า เภทธรรมติจักรศาสตร์ กล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่ใช่สาเหตุมาจากวัตถุ ๑๐ ประการ แต่มาจากมติ ๕ ข้อของพระมหาเทวะ สาเหตุที่แท้จริงมาจากมติเหล่านี้คือ

๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนได้ด้วยความฝัน
๒. บุคคลเป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่รู้ตัวต้องให้ผู้อื่นพยากรณ์
๓. พระอรหันต์ยังมีความสงสัยของพระพุทธเจ้า
๔. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้โดยไม่มีพระพุทธเจ้าไม่ได้
๕. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้ด้วยการเปล่งว่า ทุกข์หนอ ๆ

ประวัติพระมหาเทวะ

สำหรับพระมหาเทวะ ผู้มีมติ ๕ ประการนั้น เดิมเป็นบุตรนายพาณิชย์แห่งแคว้นมถุรา ปรากฏว่าเป็นผู้มีรูปงาม เป็นที่ต้องใจของเพศตรงกันข้าม เมื่อบิดาได้ไปขายสินค้าต่างแดน ได้ลักลอบเป็นชู้กับแม่ของตนเอง เมื่อบิดากลับจากค้าขายก็กลัวความลับแตกจึงลอบฆ่าบิดาเสีย แล้วพามารดาไปเมืองปาฏลีบุตรอยู่กินกันที่นั้น

ต่อมาได้รู้จักพระเถระที่เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งที่ตนสนิทคุ้นเคย เพราะกลัวความลับจะแตกจึงได้ลอบฆ่าท่านเสีย เมื่อมารดาแอบไปมีชู้จึงฆ่ามารดาตัวเองเสีย เกิดความกระวนกระวายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำอนันตริยกรรมทั้งฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดาตัวเอง แล้วไปขออุปสมบทที่กุกกฏาราม คณะสงฆ์ไม่ทราบเรื่องที่ได้ก่อ จึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อบวชแล้วกลับเป็นผู้มีความจำดี มีเสียงไพเราะ มีรูปร่างดี จึงมีชื่อเสียงทั่วกรุงปาฏลีบุตร

ต่อมาคืนหนึ่งได้ฝันถึงกามวิตกทำให้อสุจิเคลื่อน เมื่อให้ศิษย์ไปซักให้ตอนเช้า เมื่อศิษย์เห็นจึงกล่าวว่า ผู้เป็นอรหันต์ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่หรือ ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์อาจถูกมารกวนในความฝันได้

ต่อมาพระมหาเทวะต้องการยกย่องลูกศิษย์ จึงกล่าวว่าคนนี้เป็นโสดาบัน คนนี้เป็นพระอรหันต์ เมื่อศิษย์ (ผู้ที่ได้รับการพยากรณ์ว่าตนเป็นพระอรหันต์) ถามว่าคนที่เป็นพระอรหันต์ย่อมมีความรอบรู้ในทุกสิ่งมิใช่หรือ เหตุใดตนจึงไม่ทราบอะไร พระมหาเทวะจึงตอบว่า พระอรหันต์อาจจะไม่รู้ได้บางเรื่องต้องให้คนอื่นพยากรณ์จึงจะทราบ เมื่อศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่กังขาในธรรม แต่เหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่แจ่มแจ้งในธรรม

พระมหาเทวะตอบว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมมีความกังขาได้ ต่อมาศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมรู้แจ้งด้วยตนเองว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ครบแล้ว แต่เหตุใดข้าพเจ้าต้องให้อาจารย์พยากรณ์ให้

พระมหาเทวะตอบว่า พระอรหันต์ต้องให้คนอื่นพยากรณ์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็อาศัยพระพุทธองค์พยากรณ์ และต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อท่านทำกรรมมาก ๆ เข้าจึงเกิดความทุกข์ร้อนรนในใจจึงเปล่งอุทานว่า ทุกข์หนอ ๆ เมื่อศิษย์ได้ยินและถามว่า เมื่อเป็นพระอรหันต์เหตุใดจึงมีทุกข์ พระมหาเทวะตอบว่า ผู้จะบรรลุธรรมได้ต้องอุทานว่าทุกข์หนอ ๆ เป็นเพราะท่านเป็นพระธรรมกถึกมีลูกศิษย์มากจึงรวบรวมพรรคพวกได้มาก และนี้คือสาเหตุการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ตามนัยคัมภีร์เภทธรรมติจักรศาสตร์ ของพระวสุมิตร แต่หลักฐานยังไม่เป็นที่เชื่อถือมากนัก ส่วนมากยังถือว่าเหตุสังคายนามาจากวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ต่อมาพระยสเถระ ซึ่งเป็นบุตรของกากัณฑพราหมณ์ ได้เดินทางมาจากเมืองโกสัมพีมายังเมืองเวสาลี และเมื่อทราบเหตุเหล่านี้จึงเข้าไปห้ามปราม แต่ภิกษุเหล่านั้นหาเชื่อฟังไม่

นอกจากนั้นพวกภิกษุ ได้นำถาดทองสัมฤทธิ์ใส่น้ำเต็มเปี่ยมไปตั้งไว้ในโรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้น เพื่อถวายภิกษุแล้วนำไปแจกและได้แบ่งส่วนให้พระยสะด้วย แต่พระยสะไม่ยอมรับทั้งได้กล่าวติเตียนภิกษุชาววัชชี ว่าการกระทำนี้ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับ ทั้งผู้ถวาย พวกภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจ

จึงประกาศลงปฏิสาราณิยกรรมแก่พระยสะ โดยให้ท่านไปขอขมาโทษทายกเสีย แทนที่จะไปขอขมาโทษตามคำแนะนำของภิกษุชาววัชชี แต่พระยสะกลับชี้แจงแก่ทายก จนทายกเข้าใจและเป็นพวกกับพระเถระ ทายกส่วนมากเข้าใจดีว่าการที่พวกเขาทำไปเช่นนั้นเป็นการชอบด้วยธรรมวินัยแล้ว และการกระทำของภิกษุชาววัชชีเป็นการผิด

เมื่อพระยสะปรับความเข้าใจแก่ทายกเช่นนี้แล้ว ก็มีคนเลื่อมใสในพระยสะเป็นอันมาก ภิกษุชาววัชชีเมื่อได้รับข่าวทราบนั้นก็พากันแสดงความโกรธ ให้ลงโทษพระยสะ คือประกาศจะทำอุกเขปนียกรรม ถึงกับได้พากันห้อมล้อมกุฏิของพระยสะ แต่ท่านทราบเสียก่อน จึงได้หลบหนีไปยังเมืองโกสัมพี เมื่อไปถึงเมืองโกสัมพีแล้ว พระยสะได้ส่งข่าวไปให้ภิกษุชาวเมืองปาวาและภิกษุชาวเมืองอวันตีทราบ นิมนต์เหล่านั้นมาประชุมเพื่อตัดสินปัญหาธรรมวินัยและเพื่อป้องกันรักษาพระวินัย จากนั้นพระยสะได้เดินทางไปหาพระสัมภูเถระ ที่อโหคังคบรรพต เพื่อชี้แจงพฤติการณ์ของภิกษุชาววัชชีทั้งหลายให้ท่านทราบ

ต่อมามีภิกษุเดินทางมาจากเมืองปาวา ๖๐ องค์ และจากเมืองอวันตี ๘๐ องค์ มาร่วมประชุมที่อโหคังคบรรพต ทุกท่านล้วนเป็นพระขีณาสพ ภิกษุทั้งหลายที่ได้เดินทางมาร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนั้นได้จัดการประชุมกันขึ้น ที่ประชุมได้มีมติว่าควรนิมนต์ท่านเรวตเถระเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะท่านเป็นขีณาสพ เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ เป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก ทั้งยังแตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสของภิกษุหมู่ใหญ่ จึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่าน ที่เมืองโสเรยยะ ใกล้เมืองตักสิลา แต่ไม่พบท่าน ทราบว่าท่านเดินทางไปยังสหชาตินครในแคว้นเจตี พระภิกษุเหล่านั้นได้ติดตามท่านไปยังเมืองสหชาตินคร

ฝ่ายภิกษุชาวเมืองวัชชี เมื่อได้ทราบข่าวว่าภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระยสะที่เดินทางมาจากปาวาและอวันตี กำลังร่วมชุมนุมกันเพื่อตัดสินอธิกรณ์ของพวกตนจึงได้จัดพระภิกษุไปนิมนต์ท่านเรวตเถระ ที่สหชาตินครเพื่อมาเป็นฝักฝ่ายของตน ได้ส่งสมณบริขาร เป็นต้นว่าบาตร จีวร กล่องเข็มผ้านิสีทนะและผ้ากรองน้ำไปถวายพระเรวตเถระ ภิกษุชาววัชชีเหล่านั้นได้ลงเรือจากเมืองเวสาลีไปยังเมืองสหชาตินคร เมื่อไปถึงแล้วได้ให้พระอุตตระซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเรวตเถระ นำเข้าถวายบริขารและกราบเรียนพฤติการณ์ทั้งหลายให้ท่านทราบตลอดทั้งได้ขอร้องให้ท่านเข้ามาเป็นฝักฝ่ายของตนด้วย

พระเรวตเถระไม่เห็นดีด้วย เพราะท่านเห็นว่าวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงทำให้พระภิกษุชาววัชชีผิดหวัง เสียใจมากเพราะได้ขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญไปจึงเดินทางกลับไปยังเมืองเวสาลี ได้ขอความช่วยเหลือจากบ้านเมือง ฝ่ายพระเจ้ากาลาโศกได้ถวายความอุปถัมภ์และคุ้มครอง ป้องกันภิกษุชาววัชชี มิให้ภิกษุสงฆ์ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเบียดเบียนได้

ครั้งต่อมา มีนางภิกษุณีองค์หนึ่งชื่อว่า นันทาเถรี ซึ่งได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว เป็นพระญาติองค์หนึ่งของพระเจ้ากาลาโศกทราบข่าวการแตกสามัคคีของพระสงฆ์ จึงได้เข้าไปห้ามมิให้พระเจ้ากาลาโศกหลงเชื่อคำของภิกษุของชาววัชชี ซึ่งพระเจ้ากาลาโศกได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และเมื่อทรงทราบความเป็นไปโดยละเอียดของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว พระองค์ทรงกลับพระทัยมาบำรุงอุปถัมภ์ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระยสะหรือภิกษุฝ่ายวินัยวาที

ฝ่ายภิกษุฝ่ายวินัยวาที ครั้งแรกก็ได้ตั้งใจว่าจะพิจารณาหาทางระงับอธิกรณ์เสียที่สหชาตินครนั้น แต่พระเรวตเถระไม่เห็นด้วยที่จะทำกันในที่นั้น โดยให้เหตุผลว่าควรไปทำที่เมืองเวสาลี เพราะเหตุเกิดที่เมืองไหนควรไประงับที่เมืองนั้น ที่ประชุมเห็นด้วย จึงได้เดินทางไปเมืองเวสาลีเพื่อประชุมสังคายนา

สังคายนาครั้งที่ ๒

แล้วคณะสงฆ์โดยการนำของพระสัพพกามีจึงจัดให้มีการประชุมสังคายนาครั้งที่ ๒ กันขึ้น ที่ว่าลุการาม (อารามดินทราย) เมืองเวสาลีในการประชุมครั้งนี้ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมถึง ๗๐๐ รูป ทำให้การประชุมไม่ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพราะเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมมากไป ต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานาน ที่ประชุมจึงได้ตกลงเลือกเอาพระขีณาสพที่มาจากประเทศตะวันออก ๔ รูป คือ

๑. พระสัพพกามี
๒. พระสาฬหะ
๓. พระกุชชโสภิตะ
๔. พระวาสภคามิกะ

ทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นและจากประเทศ ตะวันตก (เมืองปาวา) อีก ๔ รูป คือ

๑. พระเรวตะ
๒. พระสาณสัมภูตะ
๓. พระยศกากัณฑบุตร
๔. พระสุมนะ

มีหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่เสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์ รวมทั้งหมด ๘ รูป เป็นผู้ทำการสาธยาย พระธรรมวินัยและนำอธิกรณ์เข้าสู่สงฆ์เพื่อระงับ และในจำนวน ๘ รูปนี้ ๖ รูป เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ คือ พระสัพพกามี, พระเรวตะ, พระกุชชโสภิตะ, พระสาณสัมภูตะ และ พระยศกากัณฑบุตร อีก ๒ รูป คือ พระวาสคามิกะ และพระสุมนะ เป็นลูกศิษย์ของพระอนุรุทธะ ที่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งให้ พระอชิตะ เป็นผู้จัดสถานที่ ประชุมสังคายนา พระสัพพกามี เป็นประธานในที่ประชุม

พระอรหันต์ทั้ง ๗๐๐ องค์ เริ่มทำสังคายนา ครั้งที่ ๒ ที่เวลุการาม นครไวศาลี สาเหตุที่คณะสงฆ์เลือกเอาพระสัพพกามีเป็นประธานในที่ประชุมนั้นเพราะท่านเป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก คือ มีพรรษา ๑๒๐ ปี แก่กว่าพระภิกษุทั้งหลายในที่ประชุม ทั้งเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในฐานะควรเคารพสักการะของภิกษุและประชาชนทั่วไป

การประชุมครั้งสุดท้ายนี้ มีพระขีณาสพเข้าร่วมเพียง ๘ รูปเท่านั้น และได้ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า การปฏิบัติของภิกษุชาววัชชีไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยได้ประชุมกันที่วาฬุการามนอกเมืองเวสาลี พระเจ้ากาฬาโศกอุปถัมภ์ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

ฝ่ายพระวัชชีบุตรเมื่อไม่ได้การอุปถัมภ์จึงเสียใจ แล้วพร้อมใจกันไปทำสังคายนา ต่างหากที่เมืองปาฏลีบุตรมีผู้เข้าร่วมถึง ๑๐,๐๐๐ รูป เรียกตนเองว่ามหาสังคีติ เพราะมีพวกมาก เป็นอันว่าพุทธศาสนามหายานเริ่มมีเค้าเกิดขึ้นในสมัยนี้เองเพราะเหตุแห่งความขัดแย้งนี้

บทสรุปการสังคายนาครั้งที่ ๒

๑. ทำที่วาลิการาม (หรือวาลุการาม) เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
๒. พระสัพพกามีมหาเถระเป็นประธาน
๓. พระอชิตะเป็นผู้จัดสถานที่การประชุม
๔. พระเจ้ากาฬาโศกเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๕. พระอรหันต์ ๗๐๐ รูปเข้าร่วมประชุม
๖. ได้ยกวัตถุ ๑๐ ประการมาเป็นเหตุสังคายนา
๗. ใช้เวลาทำ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
๘. ทำเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี

สรุปว่า การแตกนิกายในสังคายนาครั้งนี้มีเพียง ๒ นิกายเท่านั้น คือ ฝ่ายพระสัพพกามีเถระ และภิกษุชาววัชชีที่เรียกตนเองว่ามหาสังคีติ กาลต่อมา จึงแตกออกเป็น ๑๘ นิกายคือ

แยกออกจากเถรวาทดั้งเดิม ๑๑ นิกาย
แยกออกจากมหาสังฆิกะ (มหายาน) ๗ นิกาย

และ ๗ นิกายที่แตกจากมหาสังฆิกะ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐

ส่วน ๑๑ นิกายที่แตกจากเถรวาท เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๑๑๘ พระเจ้ากาฬาโศก ผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๒ ก็ เสด็จสวรรคต รวมครองราชสมบัติ ณ กรุงปาฏลีบุตรได้ ๒๘ ปี ในหนังสือชินกาลมาลินีกล่าวว่า พระองค์มีพระโอรส ๑๐ ประองค์คือ

๑. เจ้าชายภัทรเสน
๒. เจ้าชายโกรัณฑวรรณ
๓. เจ้าชายมังกร
๔. เจ้าชายสัพพัญชหะ
๕. เจ้าชายชาลิกะ
๖. เจ้าชายสัญชัย
๗. เจ้าชายอุภคะ
๘. เจ้าชาโกรพยะ
๙. เจ้าชายนันทิวัฒนะ
๑๐. เจ้าชายปัญจมตะ

ต่อมาเจ้าชายภัทรเสนและพระอนุชาช่วยกันปกครองปาฏลีบุตรแบบคณะ จนมาถึง พ.ศ. ๑๔๐ ปีก็ถูกโจรนันทะยึดอำนาจสำเร็จ ราชวงศ์สุสูนาคจึงสิ้นสุดลงแค่นี้ รวมเวลาที่พระเจ้าภัทรเสนปกครอง ๒๒ ปี

ต่อมา พ.ศ. ๑๔๐ มหาโจรนันทะ ซ่องสุมผู้คนได้เป็นจำนวนมากแล้วเข้ายึดปาฏลีบุตรจากพระเจ้าภัทรเสนสำเร็จ ตั้งราชวงศ์นันทะขึ้นปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ ปกครองแคว้นมคธต่อมา

พระเจ้านันทะ มีพระโอรส ๙ พระองค์คือ

๑. เจ้าชายอุคคเสนนันทะ
๒. เจ้าชายยกนกนันทะ
๓. เจ้าชายจันคุติกนันทะ
๔. เจ้าชายภูติปาละนันทะ
๕. เจ้าชายรัฐปาลนันทะ
๖. เจ้าชายโควิสาณกนันทะ
๗. เจ้าชายทศสิทธิกนันทะ
๘. เจ้าชายเกวัฏฏนันทะ
๙. เจ้าชายธนนันทะ

พระเจ้านันทะปกครองปาฏลีบุตรนานพอสมควรก็สวรรคต เจ้าชายธนนันทะปกครองต่อมา

ในยุคนี้ ที่ชายแดนด้านตะวันตก อาณาจักรมาเซโดเนียของกรีก เริ่มเรืองอำนาจ สามารถยึดอาณาจักรหลายแห่งให้อยู่ในอำนาจได้ ต่อมาพระเจ้าธนนันทะ ก็ถูกจันทรคุปตะซ่องสุมผู้คนเป็นกบฏ ครั้งแรกพระองค์ปราบปรามสำเร็จ แต่ครั้งที่สองก็พ่ายแพ้ต้องสิ้นประชนม์ในสนามรบ รวมราชวงศ์นันทะปกครองมคธ ๒๒ ปี

พุทธศาสนา ๑๘ นิกาย (The eighteen sects)

ร่องรอยแห่งการแบ่งแยกในวงการพุทธศาสนา ได้มีมาตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน กล่าวคือพระปุราณะไม่ยอมรับการสังคายนาที่จัดโดยพระมหากัสสปะ ณ เมืองราชคฤห์ จึงได้นำคณะสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งไปทำสังคายนาต่างหาก เรียกคณะตัวเองว่ามหาสังคีติ จึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เริ่มแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย แต่ที่ชัดเจนเริ่มเมื่อ พ.ศ.๑๐๐ เป็นต้นมา หลักฐานที่เขียนเหตุการณ์แตกแยกเป็น ๑๘ นิกายมีปรากฏในคัมภีร์มหาวงส์ และทีปวงส์ของลังกากถาวัตถุ

ในอินเดีย จดหมายเหตุพระถังซัมจังก็กล่าวถึงเช่นกัน และการสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่กัศมีร์หรือ ชาลันธร ได้จัดขึ้นก็เพื่อขจัดความขัดแย้งของ ๑๘ นิกายเป็นสำคัญ

นิกายทั้ง ๑๘ นั้นยังแบ่งออกไปอีก ๔ รวมเป็น ๒๒ นิกาย มีโครงสร้างดังนี้



นิกายเหล่านี้ยังแตกออกเป็น ๕ นิกาย คือ
๑๙. อปรเสลิยะ
๒๐. นิกายอุตตรเสลิยะ
๒๑. นิกายอุตตรปถะ
๒๒. นิกายวิภัชชวาทิน
๒๓. นิกายเวตุลลวาท
โดยฝ่ายเถรวาทได้แบ่งออกเป็น ๑๒ นิกายหลังจากพุทธปรินิพพานราว ๒๐๐ ปี ส่วนมหาสังฆิกะนั้นได้เริ่มแบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยราวพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ปี
ในยุคปัจจุบัน มีนิกายหลักๆ ๒ นิกาย คือ เถรวาท และ มหายาน นอกจากนั้นยังมีนิกายย่อยอีกจำนวนมากตามแต่ละประเทศพอสังเขป ดังนี้
เถรวาทในบังกลาเทศ
๑)สังฆราชนิกาย
๒)มหาสถพีรนิกาย
เถรวาทในพม่า
๑)สุธัมมนิกาย
๒)ชเวจินนิกาย
๓)ทวารนิกาย

เถรวาทในศรีลังกา
๑)สยามนิกาย
๒)มัลวัตตะ
๓)อัสคิริยะ
๔)วาทุลวิลา หรือ มหาวิหารวังศิกศยาโมปาลีวนาวาสนิกาย
๕)อมรปุรนิกาย
๖)ธรรมรักษิต
๗)คันดุโบดา หรือ ชเวจินนิกาย
๘)ตโปวนะ หรือ กัลยาณวงศ์
๙)รามัญนิกาย
๑๐)กัลดุวา หรือ ศรีกัลยาณีโยคาศรม สังสถา
๑๑)เดลดูวา

เถรวาทในไทย, กัมพูชา
๑)มหานิกาย
๒)ธรรมยุติกนิกาย

มหายานในอินเดีย
๑)นิกายมัธยมกะ
๒)นิกายโยคาจาร
๓)นิกายจิตอมตวาท
๔)นิกายตันตระ

มหายานในจีน
๑)นิกายโกศะ หรือจวี้เส่อจง
๒)นิกายสัตยสิทธิ หรือเฉิงซื่อจง
๓)นิกายตรีศาสตร์ หรือซานหลุ่นจง
๔)นิกายทศภูมิกะ หรือตี้หลุ่นจง
๕)นิกายนิพพาน หรือเนี่ยผ่านจง
๖)นิกายสังปริคระศาสตร์ หรือเซ่อหลุ่นจง
๗)นิกายสุขาวดี หรือจิ้งถู่
๘)นิกายฌาน หรือฉานจง หรือเซน
๙)นิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ หรือเทียนไถ
๑๐)นิกายซันเฉีย หรือซันเจียเจี้ยว
๑๑)นิกายอวตังสกะ หรือ หัวเหยียน
๑๒)นิกายธรรมลักษณะ หรือ นิกายฝ่าเซียง
๑๓)นิกายวินัย หรือลวื้อจง
๑๔)นิกายเจิ้นเหยียน หรือมนตรยาน หรือวัชรยาน

มหายานในเกาหลี
๑)นิกายซัมนอน หรือนิกายตรีศาสตร์
๒)นิกายเกยูล หรือนิกายวินัย
๓)นิกายยอนพัล หรือนิกายนิพพาน
๔)นิกายฮวาออม หรือนิกายอวตังสกะ
๕)นิกายชอนแท หรือนิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ
๖)นิกายซอน หรือนิกายเซน
๗)นิกายแทโก
๘)นิกายโชเก

มหายานในญี่ปุ่น
๑)นิกายเทนได
๒)นิกายชินกอน หรือชินงอน
๓)นิกายโจโด
๔)นิกายเซน
๕)นิกายนิชิเรน
๖)นิกายซานรอน
๗)นิกายฮอสโส
๘)นิกายเคงอน
๙)นิกายริตสุ
๑๐)นิกายกุชา
๑๑)นิกายโจจิตสึ

มหายานในเวียดนาม
๑)นิกายจุ๊กลัม

มหายานในทิเบต
๑)นิกายนิงมะ
๒)นิกายกาจู
๓)นิกายสักยะ
๔)นิกายเกลุก

มหายานในเนปาล
๑)นิกายไอศวาริก
๒)นิกายสวาภาวิก
๓)นิกายการมิก
๔)นิกายยาตริก



วิกิ

ผลการค้นหา