พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า

อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำโดยง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่นพึงตั้งธรรมห้าอย่างไว้ในใจ คือ
๑.เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ
๒.เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ
๓.เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา
๔.เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส
๕.เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น

ภารกิจสำคัญของการศึกษาคือการฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ต่อผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ลีลาการสอน เมื่อมองกว้างๆ การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็น

ลีลาในการสอน ๔ อย่าง ดังนี้

๑. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา
๒. สมาทปนา จูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ
๓. สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
๔. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติ อาจผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือ ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน 

วิธีสอนแบบต่างๆ วิธีสอนของพระพุทธเจ้า มีหลายแบบหลายอย่าง ที่น่าสังเกตหรือพบบ่อย คงจะได้แก่วิธีต่อไปนี้
๑. แบบสากัจฉา หรือสนนทนา วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยไม่น้อยกว่าวิธีใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้มาเฝ้าหรือทรงพบนั้น ยังไม่ได้เลื่อมใสในพระศาสนา ยังไม่รู้ ไม่เข้า ใจหลักธรรม 
๒. แบบบรรยาย วิธีสอนแบบนี้ น่าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชน หรือพระสงฆ์จำนวนมาก และส่วนมากเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ กับมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว มาฟังเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมและหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าเป็นคนประเภทและระดับใกล้เคียงกัน พอจะใช้วิธีบรรยายอันเป็น แบบกว้างๆ ได้
๓. แบบตอบปัญหา ผู้ที่มาถามปัญหานั้น นอกจากผู้ที่มีความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่างๆ แล้ว โดยมากเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการรู้คำสอนทาง ฝ่ายพระพุทธศาสนา หรือเทียบเคียงกับคำสอนในลัทธิของตน บ้างก็มาถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็เตรียมมาถามเพื่อข่มปรามให้จน หรือให้ได้รับความอับอาย
๔. แบบวางกฎข้อบังคับ ในการสอนแบบนี้พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทโดยความเห็นชอบของสงฆ์ หมายความว่า ทรงบัญญัติ โดยชี้แจงให้เห็นแล้วว่า ถ้าไม่รับจะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อรับจะมีผลดีอย่างไร จนสงฆ์รับคำของพระองค์ว่า ดีแล้ว ไม่ทรงบังคับเอาโดยพลการ

 

กลวิธีและอุบายประกอบการสอน 

  • ๑. ยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำแม่น เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น 
  • ๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฎความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น 
  • ๓. การใช้อุปกรณ์ในการสอน ในสมัยพุทธกาล หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเตรื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ 
  • ๔. การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองสาธิตให้ดู 
  • ๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ 
  • ๖. อุบายเลือกคนและการปฏิบัติรายบุคคล ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นในถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน 
  • ๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้เรียนยังไม่พร้อม ก็ต้องมีความอดทน ไม่ชิงหักหาญหรือดึงดันทำ แต่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อถึงจังหวะหรือเป็นโอกาส 
  • ๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดให้การ สอนได้ผลดีที่สุด ก็จะทำในทางนั้น 
  • ๙. การลงโทษและให้รางวัล สำหรับผู้สอนทั่วไป อาจต้องคิดคำนึงว่า การลงโทษ ควรมีหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร แต่ผู้ที่สอนคนได้สำเร็จผลโดยไม่ต้องอาญาโทษเลย ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนมากที่สุด 
  • ๑๐. กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมอาศัยปฏิภาณ คือ ความสามารถในการประยุกต์หลัก วิธีการ และกลวิธีต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม เป็นเรื่อง เฉพาะครั้ง เฉพาะคราวไป 

ข้อสรุปที่เกี่ยวกับการสอน มีดังนี้ 

๑. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง 
๒. ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกัลลยาณมิตร ช่วยชี้นำทางการเรียน 
๓. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน 
๔. อิสรภาพทางความคิด เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างปัญญา

วิกิ

ผลการค้นหา