แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามวันที่ของการค้นหา อสุภกรรมฐาน จัดเรียงตามความเกี่ยวข้อง แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามวันที่ของการค้นหา อสุภกรรมฐาน จัดเรียงตามความเกี่ยวข้อง แสดงโพสต์ทั้งหมด

โสภณเจตสิก

โสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีงาม เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตผ่องใสไม่เศร้าหมองเร่าร้อน ตั้งอยู่ในความดีงาม เว้นจากบาปธรรมและทุจริตกรรมต่างๆ เจตสิกประเภทนี้ จึงชื่อว่า โสภณเจตสิก ส่วนจิตที่มีชื่อว่า อโสภณจิตนั้น ย่อมแสดงว่าจิตเหล่านั้นมิได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย ฉะนั้นจึงเห็นว่าโสภณเจตสิกนั้น ย่อมประกอบได้ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น

โสภณเจตสิก มีจำนวน ๒๕ ดวง ตามแผนผังต่อไปนี้ :-



โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง แบ่งออกเป็น ๔ นัย คือ :-

  • ก. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
  • ข. วิรตีเจตสิก ๓ ดวง
  • ค. อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง
  • ง. ปัญญินทรียเจตสิก ๑ ดวง


อธิบาย ก. โสภณสาธารณเจตสิก

มี ๑๙ ดวง เป็นเจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง หมายความว่า เมื่อโสภณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นก็ตาม จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนี้ ประกอบกับจิตนั้นด้วยเสมอ โสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมดมี ๑๙ ดวง จะได้แสดงสภาวะของเจตสิกต่างๆ เหล่านี้โดยลำดับ

➤  สัทธาเจตสิก

สัทธาเจตสิก คือ ความเชื่อและเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อ ได้แก่ ความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อเหตุผลในเรื่องกรรม และผลของกรรมตามความเป็นจริง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สทฺธหน ลักขณา มีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นลักษณะ
    ปสาทน รสา มีการยังสัมปยุตธรรมให้ผ่องใส เป็นกิจ
    อกาฬุสสิย ปัจจุปัฏฐานา มีความไม่ขุ่นมัว เป็นผล
    สทฺเธยฺยวตฺถุ ปทฏฺฐานา มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของสัทธาเจตสิกอีกนัยหนึ่ง

    โอกปฺปน ลกฺขณา มีความปลงใจเชื่อด้วยปัญญา เป็นลักษณะ
    ปกฺขนฺทน รสา มีความแล่นไป เป็นกิจ
    อธิมุตติ ปจฺจุปฏฺฐานา มีความน้อมใจเชื่อ เป็นผล
    สทฺธมฺมสวนาทิ โสดาปตฺติยงฺค ปทฏฺฐานา มี🔎องค์แห่งโสดาปัตติมรรค มีการฟังพระสัทธรรม เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัทธานี้ จัดเป็นธรรมเบื้องต้น ในอันที่จะทำให้บุคคลได้ประกอบคุณงามความดีเป็นบุญกุศลขึ้นมา และสัทธาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ ได้แก่พระรัตนตรัย กรรม และผลของกรรมเป็นต้น สัทธา คือความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อนี้ จำแนกออกไปได้ ๔ ประการคือ :-

    กัมมสัทธา ได้แก่ ความเชื่อกรรม (เชื่อเหตุ)
    วิปากสัทธา ได้แก่ เชื่อผลของกรรม (เชื่อผล)
    กัมมัสสกตาสัทธา ได้แก่ เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนๆ (เชื่อทั้งเหตุ และผล)
    ตถาคตโพธิสัทธา ได้แก่ เชื่อในความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งสัทธา มี ๔ ประการคือ :-

    ๑. รูปปฺปมาณสทฺธา เชื่อเพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม
    ๒. ลูขปฺปมาณสุทธา เชื่อเพราะเห็นความประพฤติเคร่งครัด
    ๓. โฆสปฺปมาณสทฺธา เชื่อเพราะได้ฟังเสียงลือว่า ชื่อเสียงดีต่างๆ
    ๔. ธมฺมปฺปมาณสทฺธา เชื่อเหตุผลเพราะได้ฟังธรรมของผู้ที่ฉลาดในการแสดง

สัทธานั้น เมื่อเกิดขึ้นขณะใด ย่อมมีอันทำให้สัมปยุตธรรมผ่องใสประดุจสารส้มที่ทำน้ำที่ขุ่นให้ใสขึ้นฉะนั้น


➤  สติเจตสิก

สติเจตสิก คือ ธรรมชาติที่มีความระลึกได้ในอารมณ์ และให้สังวรอยู่กับกุศลธรรมเป็นลักษณะ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อปิลาปนลกฺขณา มีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ เป็นลักษณะ
    อสมฺโมหรสา มีความไม่หลงลืม เป็นกิจ
    วิสยาภิมุขภาวปจฺจุปฏฺฺฐานา มีความจดจ่อต่ออารมณ์ เป็นผล
    ถิรสญฺญา ปทุฏฐานา (วา) มีความจำอันมั่นคง เป็นเหตุใกล้
     (หรือ) กายาทิสติปัฏฐาน ปทฏฺฐานา มีสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเหตุใกล้

สติ มีลักษณะ ๒ ประการ ดังที่แสดงในมิลินทปัญหา คือ :-

    ๑. อปิลาปนลักขณาสติ
    ๒. อุปคัณหณลักขณาสติ

๑. อปลาปนลักขณาสติ ได้แก่ สติที่เตือนให้ระลึกไปในธรรมทั้งหลายว่า ธรรมสิ่งนี้ดีสิ่งนั้นชั่ว, สิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์, ธรรมสิ่งนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔, สิ่งนี้เป็นพละ ๕, สิ่งนี้เป็นโพชฌงค์ ๗, สิ่งนี้เป็นมรรค ๘ หรือสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน, สิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน, สิ่งนี้เป็นฌาน, เป็นสมาบัติ, เป็นวิชา, เป็นวิมุตติ, เป็นกองจิต, กองเจตสิก เมื่ออปิลาปนลักขณาสติ เตือนให้ระลึกถึงธรรมเหล่านี้แล้ว ก็มิได้ส้องเสพธรรมอันมิควรเสพ กลับเสพธรรมที่ควรเสพ สตินี้ จึงหมายถึงสติที่ประกอบทั่วไปในโสภณจิต ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรม โดยทำหน้าที่กั้นกระแสแห่งนิวรณ์ธรรม จะประกอบด้วยปัญญา หรือมิได้ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถให้ระลึกถึงกุศลธรรมโดยชอบได้

๒. อุปคัณหณลักขณาสติ ได้แก่ สติที่ชักชวนให้ถือเอาคติในธรรมอันดี ย่อมระลึกว่า ธรรมสิ่งนี้มีอุปการะ, ธรรมสิ่งนี้มิได้มีอุปการะ ถือเอาแต่ธรรมที่เป็นประโยชน์ ธรรมที่เป็นอุปการะ ดุจนายประตูของพระบรมกษัตริย์ ถ้าเห็นผู้ใดประหลาดเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง ก็ห้ามเสียมิให้เข้า ผู้ใดมีอุปการะแก่พระบรมกษัตริย์ ก็ปล่อยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน ย่อมกำจัดเสียซึ่งคนอันไม่ใช่ข้าฯเข้าเฝ้า ถือเอาแต่คนที่เป็นข้าฯให้เข้าสู่พระราชฐานนั้นได้ อุปคัณหณลักขณาสติ จึงเป็นสติที่อุปการะแก่ปัญญาโดยตรง ได้แก่สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณากาย, เวทนา, จิต, ธรรม ที่เรียกว่าเจริญ “สติปัฏฐาน ๔” อันเป็นปุพพภาคมรรค ซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งมรรค พรหมจรรย์ที่จะอุปการะให้แจ้งพระนิพพาน

ฉะนั้น สติ จึงมี ๒ อย่างคือ :-

  • สติ ที่ประกอบกับโสภณจิตโดยทั่วไป ในขณะระลึกรู้อารมณ์ที่อดีตสัญญาเก็บจำไว้ตามนัยปริยัติด้วยอปลาปนลักขณาสติ
  • สติ ที่กระทำความรู้สึกตัวขณะกำหนดรูปนามตามความจริงในการเจริญสติปัฏฐานตามนัยปฏิบัติด้วยอุปคุณหณลักขณาสติ

➤   หิริเจตสิก

หิริเจตสิก คือธรรมชาติที่ละอายต่อบาป ได้แก่ สภาพความเกลียดและละอายต่อการงานอันเป็นทุจริต มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    ปาปโต ชิคุจฺฉนลกฺขณา มีความเกลียดต่อบาป เป็นลักษณะ
    ปาปานํ อกรณรสา 
มีการไม่ทําบาป เป็นกิจ
    ปาปโต สงฺโกจนปัจฺจุปฏฺฐานา 
มีความละอายต่อบาป เป็นผล
    อตฺตคารว ปทฏฺฐานา 
มีความเคารพตนเอง เป็นเหตุใกล้


➤  โอตตัปปเจตสิก

โอตตัปปเจตสิก คือธรรมชาติที่สะดุ้งกลัวต่อบาป ได้แก่ สภาพความสะดุ้งกลัวต่อการงานอันเป็นทุจริต มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อุตฺตาสนลกฺขณํ มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นลักษณะ
    ปาปานํ อกรณรสํ มีการไม่ทําบาป เป็นกิจ
    ปาปโต สงฺโกจนปจจุปฏฐานํ มีความละอายต่อบาป เป็นผล
    ปรคารว ปทฏฺฐานํ มีความเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้


👉 หิริ และโอตตัปปเจตสิก ทั้งสองนี้ย่อมปรากฏขึ้นในโอกาสที่เว้นจากความชั่ว หิริ นั้นมีอันเกลียดบาปเป็นลักษณะ โอตตัปปะ นั้น มีอันสะดุ้งกลัวต่อบาปเป็นลักษณะ หิริ เปรียบเหมือนหญิงสาวผู้มีสกุล ที่ขยะแขยงรังเกียจต่อบาปธรรมด้วยอำนาจความเคารพตน และอาศัยเหตุภายในเป็นสมุฏฐาน ได้แก่เหตุภายใน ๘ ประการ คือ

  • ๑. กุละ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน
  • ๒. วยะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงวัยของตน
  • ๓. พาหุสัจจะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงการศึกษาของตน
  • ๔. ชาติมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงชาติภูมิอันประเสริฐของตน
  • ๕. สัตถุมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงพระศาสดา, บิดามารดา, ครูอาจารย์
  • ๖. ทายัชชมหัคคะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงทายาทที่เป็นใหญ่
  • ๗. สหพรหมจารีมหัคคตะ  ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงเพื่อนสหพรหมจารี ที่เป็นใหญ่
  • ๘. สุรภาวะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงความแกล้วกล้าเข้มแข็งของตน

โอตตัปปะ เปรียบเหมือนหญิงแพศยา ผู้มีความเกรงกลัวต่อบาปธรรมด้วยอำนาจเคารพผู้อื่น และโอตตัปปะนี้อาศัยเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน ได้แก่เหตุภายนอก ๔ ประการ คือ :-

  • ๑. อตฺตานุวาทภยํ กลัวต่อการติเตียนตนเอง
  • ๒. ปรวาทานุภยํ กลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น
  • ๓. ทณฺฑภยํ กลัวต่อราชทัณฑ์ คือกฎหมายบ้านเมือง
  • ๔. ทุคฺคติภยํ กลัวต่อภัยในอบายภูมิ

ความละอายและความสะดุ้งกลัว อันเป็นสภาพธรรมของหิริ และโอตตัปปะนี้ไม่เป็นอกุศล เพราะเป็นการละอายและเกรงกลัวในบาปทุจริตโดยพิจารณาเห็นโทษแล้วว่า ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ เหมือนกับผู้พิจารณามรณานุสสติโดยเอาความตายมาเป็นอารมณ์ หรือผู้ที่กำลังพิจารณาอสุภกรรมฐาน ซึ่งขณะจิตที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายอกุศล หิริและโอตตัปปะนี้ก็เช่นกัน ย่อมพิจารณาถึงบาปทุจริตแล้วไม่กระทำกรรมชั่ว ย่อมบริหารตนให้หมดจด ด้วยเหตุนี้หิริและโอตตัปปะ จึงจัดว่าเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก สมดังพุทธดำรัสในอังคุตรนิกายทุกนิบาตว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประเภทนี้ย่อมคุ้มครองโลก ธรรม ๒ ประการคืออะไรบ้าง คือหิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายสุกกธรรม ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก ถ้าหากสุกกธรรม ๒ ประการนี้ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ในโลกนี้จะไม่พึงปรากฏคำว่า มารดา บิดา พี่ ป้า น้า อา สามี ภรรยา ครู อาจารย์ ฯ ชาวโลกจักได้ถึงความปะปนกันเหมือนอย่าง แพะ แกะ ไก่ สุกร และสุนัข ฉะนั้นดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้แลคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้นจึงยังปรากฏคำว่า มารดา บิดา พี่ ป้า น้า อา ครู อาจารย์ ฯ” ดังนี้

➤  อโลภเจตสิก

อโลภเจตสิก คือธรรมชาติที่ไม่อยากได้ไม่ติดใจในอารมณ์ ได้แก่สภาพจิตที่ไม่อยากได้ และไม่ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ หรือธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ ชื่อว่าอโลภะ เป็นมูลรากแห่งกุศลธรรม มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อลคฺคภาวลกฺขโณ (วา) มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์ เป็นลักษณะ
     (หรือ) อเคธลกฺขโณ มีความไม่กำหนัดยินดีในอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อปริคฺคหรโส มีความไม่หวงแหน เป็นกิจ
    อนลฺลินภาวปัจจุปัฏฐาโน  มีความไม่ยึดมั่นในอารมณ์ เป็นผล
    โยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการกระทำในใจต่ออารมณ์อันแยบคาย เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโลภะ ที่มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์เป็นลักษณะนั้น เหมือนหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว มีความไม่หวงแหนเป็นกิจเหมือนภิกษุผู้ปล่อยวาง มีความไม่ยึดมั่นในอารมณ์เป็นผลเหมือนบุรุษผู้ตกลงไปในของที่ไม่สะอาด ฉะนั้นคุณธรรมของอโลภะ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค ย่อมได้เสพแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ

➤  อโทสเจตสิก

อโทสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ไม่ประทุษร้าย ได้แก่ สภาพที่ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์ มีความไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่เบียดเบียน เป็นมูลรากแห่งกุศลธรรม มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อจณฺฑิกลกฺขโณ (วา) มีความไม่ดุร้าย เป็นลักษณะ
    (หรือ) อวิโรธลกฺขโณ มีความไม่แค้นเคือง เป็นลักษณะ
    อาฆาตวินยรโส (วา) มีการกำจัดความอาฆาต เป็นกิจ 
    (หรือ) ปริฬาหวินยรโส มีการกำจัดความเร่าร้อน เป็นกิจ
    โสมภาวปจฺจุปฏฐาโน มีความร่มเย็นผ่องใส เป็นผล
    โยนิโสมนสิการ ปทุฏฐาโน มีการกระทำในใจต่ออารมณ์อันแยบคาย เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโทสะที่มีความไม่ดุร้ายหรือไม่มีความเกรี้ยวกราดเป็นลักษณะเปรียบเหมือนมิตรผู้อนุบาลช่วยเหลือ มีการกำจัดความอาฆาตหรือกำจัดความเร่าร้อนเป็นกิจ เปรียบเหมือนกลิ่นจันทร์หอม มีความร่มเย็นเป็นผล เปรียบเหมือนแสงจันทร์วันเพ็ญ ฉะนั้นคุณธรรมของอโทสะนี้ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความหนุ่มสาว เพราะคนที่ไม่โกรธ ไม่ถูกไฟคือโทสะแผดเผาให้หนังเหี่ยวย่นเป็นริ้วรอยและให้ผมหงอก ย่อมยังความเป็นหนุ่มสาวให้อยู่ได้นานๆ ขันติ คือ ความอดทนต่อเหตุที่ทำให้เจ็บใจ เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั่นเอง

➤ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

ตัดตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เป็นกลางในสัมปยุตธรรมนั้นๆ ได้แก่ การทำเจตสิกให้สม่ำเสมอในโสภณกิจของตน ไม่มีความยิ่งหย่อน มี อรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา มีการทำจิต และเจตสิกให้เป็นไปสม่ำเสมอ เป็นลักษณะ
    อูนาธิกตานิวารณรสา (วา) มีการห้ามจิตและเจตสิก ไม่ยิ่งและหย่อน เป็นกิจ
    (หรือ) ปกฺขปาตุปจฺเฉทนรสา มีการตัดขาดการตกไปในความยิ่งและหย่อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    มชฺฌตฺตภาวปัจฺจุปฏฺฐานา มีความฉลาดเป็นกลาง โดยเพ่งเฉยต่อจิตและเจตสิก เป็นผล
    สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตธรรม เป็นเหตุใกล้
    
ตัดตรมัชฌัตตตาเจตสิกนี้ เป็นตัวกลางที่ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น ทำกิจของตนๆ โดยสม่ำเสมอ เหมือนสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งเรียบไป ฉะนั้น

➤ กายปัสสัทธิเจตสิก และ จิตตปัสสัทธิเจตสิก

กายปัสสัทธิเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตปัสสัทธิเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :

    กายจิตฺตานํ ทรถวูปสมลลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความเร่าร้อน เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตทรถนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความเร่าร้อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อปริปุผนฺทนสีติภาวปัจฺจุปัฏฐานา มีความเยือกเย็น ไม่ดิ้นรน เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

พระพุทธองค์ตรัสว่า เวทนากฺขนฺธสฺส เพราะทรงประสงค์เอาเจตสิกขันธ์ ๓ ว่า เป็น กาย และทรงประสงค์เอาวิญญาณขันธ์ เป็น จิต ธรรมชาติที่ชื่อว่า ปัสสัทธิ เพราะเป็นเหตุให้ธรรมเหล่านั้น (นามขันธ์ ๔) สงบ ปราศจากความกระวนกระวายถึงความปลอดโปร่ง กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ นี้จึงประกอบกับโสภณจิตเท่านั้น และปัสสัทธิเจตสิกแม้จะประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงก็จริง แต่ย่อมยังความสงบในชั้นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ให้แตกต่างกัน


➤ กายลหุตาเจตสิก และ จิตตลหุตาเจตสิก

กายลหุตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเบาให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตลหุตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเบาให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตครุภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกบรรเทาจากความหนัก เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตครุภาวนิมฺมทุนรสา มีการกำจัดความหนักของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อทนฺธตาปัจจุปัฏฐานา มีความไม่หนักของจิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

ธรรมที่มีชื่อ กาย มุ่งหมายถึง เจตสิกขันธ์ ๓ และ จิต มุ่งหมายถึงวิญญาณขันธ์ ดังกล่าวแล้วในสภาวะของกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ ฉะนั้น กายลหุตา และจิตตลหุตาเจตสิกนี้ จึงหมายถึงอาการแห่งภาวะที่เบา ชื่อว่า ลหุตา และความเบานี้ มีความหมายว่า ธรรมเหล่านี้เปลี่ยนไปได้เร็ว “ลหุปริณามตา” คือ สามารถเป็นไปได้โดยฉับพลัน, อทนฺธนตา ปฏิเสธความหนัก คือภาวะที่ไม่เป็นภาระหนัก, อวิตฺถนตา คือ ความกระด้างเพราะไม่มีกิเลสภาระ ได้แก่ ถีนมิทธะ เป็นต้น

กายลหุตาเจตสิก และจิตตลหุตา ที่เป็นอาการแห่งภาวะที่เบาของเจตสิกขันธ์ ๓ และวิญญาณขันธ์ (นามขันธ์ ๔) ซึ่งอยู่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น


➤ กายมุทุตาเจตสิก และ จิตตมุทุตาเจตสิก

กายมุทุตาเจตสิก คือธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตมุทุตาเจตสิก คือธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ โอนอ่อนรับอารมณ์อันเป็นกุศลได้ง่าย มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    กายจิตฺตถมฺภวูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความกระด้าง เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตถทฺธภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความกระด้างของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    อปฺปฏิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่โกรธ ไม่อาฆาต เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

กายมุทุตา และจิตตมุทุตาเจตสิกนี้ เป็นภาวะที่อ่อนของเจตสิกขันธ์ ๓ และวิญญาณขันธ์ ภาวะที่อ่อนชื่อว่า มุทุตา ขยายความว่า ความสนิทเกลี้ยงเกลาชื่อว่า มทฺทวตา ภาวะที่ไม่กักขฬะชื่อว่า อกกฺขลตา และภาวะที่ไม่กระด้างชื่อว่า อกถินตา มุทิตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส และเป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้จิตนั้นอ่อนไหว น้อมรับอารมณ์อันเป็นกุศลได้อย่างสนิทสนม

➤ กายกัมมัญญตาเจตสิก และ จิตตกัมมัญญตาเจตสิก

กายกัมมัญญตาเจตสิกเป็นธรรมชาติ ที่ทำความเหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศลให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) จิตตกัมมัญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศลให้จิต (วิญญาณขันธ์) กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตกมฺมญฺญภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกเข้าสู่สภาวะที่สงบจากความที่ไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตกมฺมญฺญภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความไม่ควรแก่การงานของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อารมฺมณกรณสมฺปตฺติ ปจฺจุปัฏฐานา มีความถึงพร้อมในการกระทำอารมณ์ให้สมควรแก่จิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้เกิดความพอดี สมควรแก่การงานอันเป็นกุศล

➤ กายปาคุญญตาเจตสิก และ จิตตปาคุญญตาเจตสิก

กายปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) คล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล จิตตปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต (วิญญาณขันธ์) คล่องแคล่วในการงานอันเป็นกุศล ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :

    กายจิตฺตานํ อเคลญฺญภาวลกฺขณา มีความไม่อาพาธของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตเคลญฺญนิมฺมทฺทรสา มีการกำจัดความอาพาธของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    นิราทีนวปจฺจุปฏฺฐานา มีความปราศจากโทษ เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้จิตเข้าถึงสภาวะที่คล่องแคล่ว ไม่อืดอาดต่อการงานอันเป็นกุศล

➤  กายุชุกตาเจตสิก และ จิตตุชุกตาเจตสิก

กายุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล จิตตุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต (วิญญาณขันธ์) มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตอชฺชวลกฺขณา มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตกุฏิลภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความไม่ซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ
    อชิมหตา ปจฺจุปฏฺฐานา มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทุฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้สามารถกำจัดปฏิปักษ์ธรรมคือ มายาปิดบังความชั่วและสาไถย ความโอ้อวดคุณธรรมที่ไม่มีในตนให้สิ้นไป และพร้อมกันนั้น ทำให้เจตสิกและจิตซื่อตรงไม่คดโค้งและงอนต่อการงานอันเป็นกุศล ในอัฏฐสาลินีกล่าวว่า ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๓ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “คด” เหมือนเยี่ยวโค ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๒ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “โค้ง” เหมือนเสี้ยวของดวงจันทร์ ผู้ใดมีกรรมและทวารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “งอน” เหมือนปลายคันไถ


อธิบาย ข. วิรตีเจตสิก

วิรดีเจตสิกเป็นธรรมชาติที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น ภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมหรือทุจริตกรรมนี้ชื่อวิรัติ และเรียกสภาวธรรม ที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรมว่าวิรตีเจตสิก ภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมที่ชื่อว่า วิรัตินั้นมี ๓ ประเภท คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ และสมุจเฉทวิรัติ ๑

    สัมปัตตวิรัติ งดเว้นจากบาปธรรม โดยความถึงพร้อมแห่งอัธยาศัย เช่น เว้นจากการฆ่าสัตว์ เพราะคิดว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมรักชีวิตตน
    สมาทานวิรัติ การงดเว้นจากบาปธรรม โดยการยึดเอาสิกขาบทที่บัญญัติไว้ เช่น การถือศีล ๕ หรืออุโบสถศีล โดยสมาทานจากภิกษุผู้ทรงศีล เป็นต้น
    สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นจากบาปธรรมโดยเด็ดขาด คือวิรัติที่ประกอบเป็นองค์อริยมรรค ทำให้พระโยคาวจรบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอริยบุคคลนั้นไม่เกิดความคิดแม้ว่าเราจะฆ่าสัตว์

วิรัติ อันเป็นภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมนี้ มีสภาวะเป็นเจตสิก ปรมัตถ์ที่ชื่อว่า วิรตีเจตสิก ซึ่งมีอยู่ ๓ ดวงคือสัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก และสัมมาอาชีวเจตสิก

➤  สัมมาวาจาเจตสิก

สัมมาวาจาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิต ทำให้เกิดการเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ มีการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปริคฺคหลกฺขณา มีการป้องกันไว้ซึ่งวจีทุจริต เป็นลักษณะ
    วิรมณรสา มีการเว้นจากมิจฉาวาจา เป็นกิจ
    มิจฺฉาวาจาปหานปจจุปฏฺฐานา มีการประหารมิจฉาวาจา เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปาทิคุณ ปทุฏฐานา มีคุณธรรม คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมาวาจามี ๓ ประการ คือ :-
๑. กถาสมฺมาวาจา คือการกล่าววาจาที่ดีมีศีลธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังเช่น การสอน การสนทนาธรรม เป็นต้น
๒. เจตนาสมฺมาวาจา คือตั้งใจกล่าววาจาสมาทานศีลว่า จะละเว้นจากวจีทุจริต มีการสมาทานว่า จะไม่พูดปด เป็นต้น
๓. วิรตีสมฺมาวาจา คือการงดเว้นวจีทุจริต ๔ และเป็นการงดเว้นเฉพาะหน้า ขณะมีอารมณ์ที่จะกล่าววจีทุจริตออกไป

➤  สัมมากัมมันตเจตสิก

สัมมากัมมันตเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิตทำให้เกิดการงานที่เว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สมุฏฐานลกฺขโณ มีการป้องกันกายทุจริต เป็นลักษณะ
    วิรมณรโส มีการเว้นจากมิจฉากัมมันตะ เป็นกิจ
    มิจฺฉากมฺมนฺต ปหานปจฺจุปัฏฐาโน มีการประหารมิจฉากัมมันตะ เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปุปาทิคุณปทฏฐาโน มีคุณธรรมคือสัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมากัมมันตะมี ๓ ประการ คือ :-
๑. ยถาพลํสมฺมากมุมนุต ได้แก่ การกระทำการงานที่ชอบ ที่ควร มีการประกอบทานกุศล อ่อนน้อมถ่อมตนหรือช่วยเหลือการงาน ที่เป็นประโยชน์ตามสมควรแก่กำลังของตน เป็นต้น
๒. เจตนาสมฺมากมุมนุต ได้แก่ ภาวะที่ตั้งใจสมาทานว่า จะละเว้นจากกายทุจริต มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๓. วิรตีสมฺมากมฺมนฺต ได้แก่ การเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ และเป็นการเว้นเฉพาะหน้า ขณะที่มีอารมณ์ที่จะให้ล่วงกายทุจริตมาปรากฏ

➤  สัมมาอาชีวเจตสิก

สัมมาอาชีวเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิต ทำให้เกิดการเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    โวทานลกฺขโณ มีความผ่องแผ้ว เป็นลักษณะ
    กายชิวปฺปวตฺติรโส มีความเป็นไปแห่งกายและวาจาอันบริสุทธิ์ เป็นกิจ
    มิจฺฉาอาชีวปหานปจฺจุปฏฐาโน มีการประหารมิจฉาชีพ เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปาทิคุณปทฏฐาโน มีคุณธรรมคือสัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมาอาชีวะมี ๒ ประการ คือ :-
๑. วิริยสมมาอาชีวะ ได้แก่ ความเพียรเพื่อกระทำการงานหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
๒. วิรตีสมมาอาชีวะ ได้แก่ การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ และเป็นการงานเว้นเฉพาะหน้าขณะมีอารมณ์เกี่ยวกับอาชีพที่จะให้ล่วงทุจริตกรรมมาปรากฏ

วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงที่กล่าวแล้ว อันได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะร่วมกันอีก คือ :-

    กายทุจฺจริตาทิวตฺถุนํ อวีติกุกสลกฺขณา มีการไม่ก้าวล่วงกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    กายทุจฺจริตาทิวตฺถุโต สงฺโกจนรสา มีการเบือนหน้าจากวัตถุแห่งกายทุจริต เป็นต้น เป็นกิจ
    อกิริยาปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่กระทำวัตถุแห่งกายทุจริต เป็นต้น
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปิจฺฉตาทิคุณปทุฏฐานา มีคุณธรรม คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ และอัปปิจฉตา (ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย) เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ เป็นผล

วิรตีเจตสิก จะเกิดได้ย่อมอาศัยวัตถุอันพึงเว้นจากการก้าวล่วงทุจริตกรรม วัตถุอันพึงเว้นนั้นชื่อว่า วิรมิตัพพวัตถุ วิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ ประกอบในมหากุศลจิตได้ไม่แน่นอน และไม่พร้อมกัน ส่วนขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ย่อมประกอบได้แน่นอนและพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง เรียกว่า นิยตเอกโต เป็นศีลในองค์มรรค เพื่อทำหน้าที่ประหารทุจริตทุราชีพโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน


อธิบาย ค. อัปปมัญญาเจตสิก

อัปปมัญญาเจตสิก หมายถึง ธรรมที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายโดยหาประมาณมิได้ ดังวจนัตถะว่า อปฺปมาเณสุ สตฺเตสุ ภวาติ = อปฺปมญฺญฺา แปลความว่า ธรรมที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ไม่มีจำกัด ชื่อว่า อัปปมัญญา

ธรรมที่ชื่อว่า อัปปมัญญามี ๔ อย่าง ดังแสดงไว้ในพระบาลีว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เจติ อิมาจตสฺโส อปฺปมญฺฺโญนาม พฺรหฺม วิหาโรติ จปวุจฺจติฯ” แปลความว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ธรรม ทั้ง ๔ อย่างนี้ชื่อว่า อัปปมัญญา เพราะไม่มีประมาณ หรือที่ชนทั้งหลายเรียกว่าพรหมวิหาร เพราะผู้ปฏิบัติธรรมใน ๔ อย่างนี้ ย่อมมีความเป็นอยู่เหมือนพรหม อัปปมัญญาเจตสิก ที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทนี้มี ๒ ดวงได้แก่ กรุณาเจตสิก และ มุทิตาเจตสิก ส่วน เมตตา มีองค์ธรรม คือ อโทสเจตสิก และอุเบกขา มีองค์ธรรม คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก อยู่แล้ว จึงมิได้นำมาแสดงไว้โดยนัยแห่งอัปปมัญญาเจตสิกนี้อีก ต่อไปนี้จะได้แสดงอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง คือ

➤  กรุณาเจตสิก

กรุณาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์ ได้แก่ ความสงสารสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ยากลำบากอยู่ หรือที่จะได้รับความทุกข์ยากลำบากในกาลข้างหน้า มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    ทุกฺขาปนยนาการปวตฺติลกฺขณา มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ เป็นลักษณะ
    ปรทุกฺขาสหนรสา มีความกำจัดทุกข์ของผู้อื่น เป็นกิจ
    อวิหึสาปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่เบียดเบียน เป็นผล
    ทุกฺขาภิภูตานํ อนาถภาวทสฺสน ปทุฏฐานา มีการเห็นสัตว์ผู้ไร้ที่พึ่งถูกทุกข์ครอบงำ เป็นเหตุใกล้

สภาพของกรุณานี้ มีการสงบระงับวิหิงสาเป็นสมบัติ และมีการเกิดความโศกเป็นวิบัติ ที่ชื่อว่า “กรุณา” เพราะย่อมกระทำจิตใจของคนดีให้หวั่นไหวในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ชื่อว่า “กรุณา” เพราะถ่ายทุกข์ของผู้อื่น หรือกำจัดความทุกข์ของผู้อื่นให้พินาศ ชื่อว่า “กรุณา” เพราะด้วยอำนาจการแผ่กระจายไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์ เมื่อกรุณาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าถึงความไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำลายความโศกที่เกิดขึ้นกับตนให้หายไป กรุณานี้จึงประกอบได้กับโลกียกุศลจิต และมหากิริยาจิต

➤  มุทิตาเจตสิก

มุทิตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความพลอยยินดีต่อสุขิตสัตว์ ได้แก่ความพลอยยินดีต่อผู้ที่กำลังประสบความสุขอยู่ หรือผู้ที่จะประสบความสุขในกาลข้างหน้า มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ

    ปรสมฺปตฺติอนุโมทนลกฺขณา มีความพลอยยินดี ในสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ
    อนิสฺสายนรสา มีความไม่ริษยา เป็นกิจ
    อรติวิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีการกำจัดความไม่ยินดี เป็นผล
    ปรสมฺปตฺติ ทสฺสนปทฏฺฐานา มีการเห็นสมบัติของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

สภาพของมุทิตาเจตสิกนี้ ย่อมทำให้จิตใจเข้าถึงการสงบระงับความไม่ยินดีทั้งปวง เป็นสมบัติ และเกิดความกำหนัดยินดีร่าเริง เป็นวิบัติ

➤  ปัญญินทรีย์เจตสิก

ปัญญินทรีย์เจตสิก คือธรรมชาติที่รู้เหตุผลในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้แก่ ธรรมชาติที่รู้เหตุผลของกรรม ตลอดจนรู้เรื่องอริยสัจ โดยนัยเป็นต้นว่า นี้คือทุกข์ หรือที่ชื่อว่า ปัญญา เพราะรู้ไตรลักษณ์ มีอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นต้น ปัญญา ชื่อว่า เป็นอินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่โดยครอบงำอวิชชาเสียได้และมีหน้าที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วไปตามความเป็นจริง ฉะนั้น “ปัญญา” จึงชื่อว่า ปัญญินทรีย์เจตสิก ซึ่งมีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ คือ :-

    ธมฺมสภาวปฏิเวธลกฺขณา มีการรู้แจ้งสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    ธมฺมานํ สภาวปฏิจฺฉาทกโมหนฺธการวิทฺธสนรสา (วา) มีการกำจัดความมืดมนอนธกาล คือโมหะ อันปกปิดมิให้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง เป็นกิจ
    ตถปฺปกาสนรสา (วา) หรือมีการประกาศความจริง เป็นกิจ
    ปรมตฺถปกาสนรสา (วา) หรือมีการประกาศปรมัตถธรรม เป็นกิจ
    จตุสจฺจวิภาวนกิจฺจานรสา มีการยังอริยสัจ ๔ ให้แจ่มแจ้ง เป็นกิจ
    อสมฺโมหปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่หลงจากความจริง เป็นผล
    สมาธิปทฏฺฐานา มีสมาธิ เป็นเหตุใกล้

โดยอรรถดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่า ปัญญามีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาด เป็นลักษณะ ดุจการแทงถูกที่หมายแห่งลูกศรของนายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไปฉะนั้น มีการส่องให้เห็นอารมณ์โดยความเป็นจริง เป็นกิจ ดุจดวงประทีปที่ส่องให้เห็นวัตถุในความมืดฉะนั้น มีความไม่หลงลืม เป็นผล ดุจผู้ชี้ทางแก่คนที่จะไปในป่าฉะนั้น และมีความสงบ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่เข้ากันได้และไม่ได้ ดุจนายแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้จักเภสัชอันเป็นที่สบายหรือไม่สบายแห่งคนไข้ทั้งหลาย ฉะนั้น สภาวะของปัญญานั้น โดยอรรถว่า ทำให้ปรากฏคือ ทำเนื้อความนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง หรือรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ คือ รู้ว่ามีภาวะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น ภาวะของปัญญา จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่โลกียปัญญาจนถึงโลกุตตรปัญญา ซึ่งเมื่อจำแนกประเภทของปัญญา โดยสังเขปแล้วได้ ๓ ประการคือ :-

๑. กัมมัสสกตาปัญญา คือปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
๒. วิปัสสนาปัญญา คือปัญญาที่รู้ว่า ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, สัจจะ ๔, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ได้แก่ สภาวะของรูปนาม ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคงและบังคับบัญชาไม่ได้คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
๓. โลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ มีทุกข อริยสัจ เป็นต้น

ปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน หรือกัมมัสสกตาปัญญานั้น คือปัญญาที่มีความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงต่ออารมณ์ที่เรียกว่า ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ มี ๑๐ ประการคือ :-

๑. อตฺถิ ทินฺนํ เห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้ว ย่อมมีผลดี
๒. อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาต่างๆ ที่กระทำแล้วย่อมมีผลดี
๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญบวงสรวง ย่อมมีผลดี
๔. อตฺถิ สุกตทุกฺกตานํ กมุมานํ ผลํวิปากโก เห็นว่า การทำดี หรือทำชั่วมีการให้ได้ผล ทั้งทางตรง และทางอ้อม
๕. อตฺถิ อยํโลโก เห็นว่า โลกนี้มีอยู่คือ ผู้ที่เกิดมาในโลกนี้มี
๖. อตฺถิ ปโรโลโก เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่คือ ผู้ที่จะไปเกิดในโลกอื่นมี
๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่า คุณมารดามีอยู่คือ การทำดีทำชั่วต่อมารดานั้น ย่อมจะต้องได้รับผลดีผลร้าย
๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่า คุณบิดามีอยู่คือ การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมจะต้องได้รับผลดีผลร้าย
๙. อตฺถิ สตฺตาโอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เกิดขึ้น ปรากฏกายโตทันทีนั้นมีอยู่ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบางจำพวก เทวดา และพรหม
๑๐. อตฺถิ โลเกสมณพรหฺมณา สมฺมาปฏิปันนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นได้รู้ตามนั้นมีอยู่

ปัญญาที่รู้ความจริงทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวแล้วนี้ชื่อ กัมมัสสกตาญาณ คือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนโดยแท้

กัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญาทั้ง ๒ นี้ จัดว่าเป็นโลกียปัญญาคือปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรู้โลกียอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น ตามความเป็นจริงซึ่งได้แก่ปัญญา ที่ประกอบในกามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ ดวง และมหัคคตจิต ๒๗ ดวง ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น เป็นปัญญาที่ไม่เกี่ยวกับการรู้โลกียอารมณ์ แต่เป็นการรู้นิพพานอารมณ์ อันเป็นอารมณ์พิเศษที่พ้นจากการปรุงแต่งใดๆ ในโลก ได้แก่ ปัญญา ที่ประกอบในโลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวง



๗ สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

๑. ธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยทรงมุ่งหวังประโยชน์ของผู้ฟังแต่ละหมู่คณะตามความเป็นจริง เนื้อหาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุและชาวบ้านจึงมีระดับของความยากง่ายและความลึกซึ้งที่ต่างกันอยู่พอสมควร ในระดับชาวบ้านท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ทาน ศีล และความเมตตากรุณา ส่วนในระดับพระภิกษุท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่ยึดติดถือมั่นซึ่งเป็นโลกุตรธรรมโดยตรง ดังตัวอย่างใน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ความโดยย่อว่า พระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งกำลังป่วยหนักจวนเจียนจะสิ้นชีพ โดยธรรมกถามีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมีกถาจบแล้ว ท่านเศรษฐีซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างยิ่ง กล่าวว่าไม่เคยได้สดับธรรมเห็นปานนี้ (แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีโอกาศใกล้ชิดได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่เคยเทศนาเรื่องของอัตตาให้ท่านเศรษฐีฟังแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเรื่องของอัตตาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากและพระพุทธองค์ก็ทรงระวังในเรื่องนี้เพราะหากผู้ฟังยังไม่พร้อมก็จะเกิดทิฎฐิให้ยึดอัตตาให้เหนี่ยวแน่นกว่าเดิม เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงส่งพระสารีบุตรไปเทศนาสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) พระอานนท์ตอบว่า ธรรมีกถาเห็นปานนี้ไม่แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต (อนาถปิณฑิโกวาทสูตร) 

ความไม่ยึดติดถือมั่น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงโลกุตรธรรมโดยย่อ ดังที่ท่านตรัสตอบแก่ผู้ต้องการฟังธรรมอย่างย่นย่อ ในจูฬตัณหาสังขยสูตรว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นั่นเอง แต่ควรเข้าใจว่าเป็นธรรมในระดับสูงและไม่ใช่ง่ายที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ จึงควรศึกษาด้วยความระมัดระวัง การประเมินตัวเองตามความเป็นจริงและเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะกับตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากธรรมในระดับสูงที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว ธรรมเพื่อความอยู่ดีมีสุขในสังคมที่สามารถจะเอื้อประโยชน์และปฏิบัติได้ไม่ยากมีอยู่มากมาย เช่น บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำความดี), สังคหวัตถุ (หลักประสานสามัคคี) เป็นต้น ธรรมเหล่านี้นอกจากสะดวกต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่ธรรมในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกด้วย


๒. ศึกษาหลักธรรมสำคัญที่เป็นพื้นฐานให้เข้าใจเพียงพอก่อน
เนื่องจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม กล่าวในภาพรวมแล้วล้วนมีวัตถุประสงค์ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ เพื่อละวางเสียจากความยึดติดถือมั่นเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมสำคัญอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดความไขว้เขวในการปฏิบัติได้

ยกตัวอย่างเช่น หลักไตรลักษณ์แม้จะเป็นหลักธรรมที่ท่องจำกันได้คล่อง แต่โดยสาระแท้ๆแล้วกลับสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง ส่วนที่ง่ายมีเพียงบางส่วนที่ตื้นและปรากฏชัด เช่น เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆทั่วไป เห็นปัญหาความเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
หลักไตรลักษณ์แสดงความเป็นจริงตามธรรมชาติของโลกในระดับที่ลึกซึ้งถึงสภาวะ ซึ่งครอบคลุมเสมอกันไปหมด (สามัญลักษณะ) ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจให้ถูกแท้ ทั้งนี้ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้าผู้ปฏิบัติก้าวไปถูกก็จะส่งเสริมความเข้าใจหลักธรรมต่างๆให้มากขึ้นพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในระดับหลักการควรที่จะมีให้ชัดไว้ก่อน (🔎ไตรลักษณ์, 🔎อริยสัจ, 🔎ปฏิจจสมุปบาท, 🔎นิพพาน เป็นต้น) เปรียบเสมือนสร้างตึกสูงต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง และสมดังที่ท่านตรัสว่า “ธรรมรถมีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี” นั่นเอง

๓. ระวังการมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นคนมีความสุขยาก
เมื่อได้ยินได้ฟังเนื้อหาบางตอนเช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ดังนี้แล้ว บางท่านเกิดความเห็นแล่นเลยเถิดไปว่าความสุขนั้นไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง มองไปทางใดก็พบเจอแต่ทุกข์ ด้วยความเห็นนี้เขาย่อมละทิ้งสุขอันชอบธรรม แล้วเอาทุกข์เข้าท่วมทับตน ซึ่งเป็นทางดำเนินที่ผิดพลาด เสียประโยชน์ ในเบื้องต้นควรเข้าใจว่า “ทุกข์” ในที่นี้แปลโดยย่อว่า ความเป็นภาวะบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นศัพท์ต่อเนื่องกับ อนิจจัง ความเกิดดับไม่เที่ยง เป็นการมองที่ตัวสภาวะแท้ อันเป็นสามัญลักษณะของโลก มิใช่มองแต่เพียงว่าเป็น ความทุกข์ระทม ขมขื่น ซึ่งเป็นความหมายอย่างแคบๆ

การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ, วิภวตัณหา”
ซึ่งทำให้ใจเป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญาน” ทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน ทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายและผลลัพธ์ต่อชีวิตจิตใจต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องแยกให้ออกว่าการมองสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นทุกข์นี้ เป็นการมองแบบเจาะลึกลงไปในขั้นสภาวะ (ปรมัตถสัจจะ) ไม่ได้เป็นการกล่าวตามความรู้สึกทั่วไป (สมมติสัจจะ) ซึ่งพุทธพจน์ที่ท่านตรัสตามความรู้สึกทั่วไป (ว่าเป็นสุข) ก็มีอยู่มากมายแม้แต่กามสุข พระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความสุข เพียงแต่ท่านเตือนว่ามีโทษมากและมีสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า (ดู ธรรมหมวด🔎กามโภคีสุข ๔ (สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)  นอกจากนี้พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นของไม่สวยไม่งาม (🔎อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ เช่น 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา) เป็นการปฏิบัติในขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้ข่ม ตัณหา ราคะ ที่ฟุ้งขึ้นให้สงบลง ส่วนในขั้นวิปัสสนา มองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามความเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม เป็นแต่ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบกันเข้า

ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง มิใช่การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งการมองโลกตามความเป็นจริงย่อมต้องมองทั้งสองระดับ คือ ในระดับของความรู้สึก ความรู้สึกสุข ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นสวยงามมีอยู่ในขั้นสมมติก็เข้าใจไปตามเป็นจริง (สมมติสัจจะ) ส่วนในระดับของสภาวะแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นธาตุมาประกอบกันเข้า เกิดดับไม่คงอยู่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) ถูกความแปรปรวนบีบคั้น (ทุกขัง) ไม่มีอัตตาตัวตน (อนัตตา) เมื่อมองในแง่นี้ ก็เข้าใจไปตามความเป็นจริงเช่นกัน ทั้งนี้ การตั้งมุมมองและทัศนคติในภาพรวมว่า “พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข” ผู้จดบันทึกเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ศึกษาส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ (รวมถึงตัวผู้บันทึกเองซึ่งนิยมชมชอบมุมมองนี้เป็นอย่างมาก) เนื่องจากการตั้งหลักคิดที่มั่นคงแข็งแรงโดยถือเอามุมมองด้านประโยชน์สุขเป็นที่ตั้งเช่นนี้ เป็นการปิดความเสี่ยงที่ตัวผู้ศึกษาจะตกไปในฝั่งของการมองโลกในแง่ร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ้างในระหว่างการพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ เหตุเพราะยังไม่เข้าถึงความเป็นจริงได้โดยสมบูรณ์ (🔎พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข) อย่างไรก็ตาม การมองพุทธศาสนาในแง่มุมอื่น เช่น เป็นศาสนาแห่งความพ้นทุกข์ เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นต้น ล้วนเป็นแง่มุมที่น่าศึกษาพิจารณาทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนถ้าความเห็นนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง สุดท้ายแล้วย่อมส่องให้เห็นสัจธรรมเดียวกัน

๔. ปัญหาเรื่องการหมดแรงจูงใจในชีวิต
ดังที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จประยุทธ์ฯ ได้กล่าวสอนไว้ว่า “เมื่อศึกษาเรื่องการปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นแล้ว ควรทำความเข้าใจให้ชัด มิใช่กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยปราศจากเป้าหมาย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่า ซึ่งถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง” ข้อนี้ผู้จดบันทึกเองเคยมีปัญหาว่า เมื่อพิจารณาโลกุตรธรรมอย่างเข้มข้นแล้ว เป็นเหตุให้แรงจูงใจในการดำเนินชีวิตลดลงอย่างมาก ทั้งยังเกิดความรู้สึกชังชีวิตอยู่ลึกๆ จนน่ากังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อความสำเร็จทางโลกได้ จึงต้องเตือนสติตัวเองให้กลับมาตั้งหลักให้ดี เพราะในความเป็นจริง ถ้าเรารู้สึกว่าการศึกษาธรรมะนั้น ก่อให้เกิดผลเสียไม่ว่าจะในแง่ใดๆก็ตาม ควรตระหนักว่า เป็นความผิดพลาดในการศึกษาพิจารณาของเราเอง มิใช่ธรรมะนั้นมีโทษ หลักธรรมทั้งหลายท่านตรัสไว้ดีแล้ว มีแต่คุณประโยชน์ถ้าทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับตน หากแต่ต้องยอมรับว่า โลกุตรธรรมนั้นเป็นของยาก ก็คงจะมีบ้างที่ความเข้าใจของผู้ศึกษาเอนเอียง เฉไฉไปบ้าง ไม่ถูกต้องถ่องแท้ตามความหมายที่แท้จริง จึงเกิดโทษบางประการจากความเห็นที่ไม่ตรงนั้น

ในภาพรวมถ้าศึกษาพิจารณาธรรมะใดแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าเกิดความรู้สึกในแง่ลบ หดหู่ กดดัน เคร่งเครียด จนเกินไป หรือสูญเสียแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตปกติไปอย่างมาก มีความเป็นไปได้สูงว่าการปฏิบัตินั้นจะผิดทาง หรืออาจไม่ผิดแต่ยังไม่เหมาะสมกับตน กรณีเช่นนี้ ขอให้ตั้งหลักให้ดีแล้วมองภาพรวมกว้างๆว่า เราศึกษาปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็เพื่อความสุขและความเจริญ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ)”

๕. สงบนิวรณ์เพื่อให้ปัญญาแสดงศักยภาพได้เต็มที่
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย 🔎นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้” (อาวรณสูตร)

ดังที่พบเห็นได้ว่า ผู้ที่จิตใจถูกกลุ้มรุมไปด้วยกิเลส เมื่อจะคิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ยากก็เป็นเสมือนยาก คิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ซับซ้อนไม่น่าจะผิดพลาดก็กลับผิดพลาดไปได้ คนเราถ้าจะก่อความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่รู้สึกว่าไม่น่าให้อภัยตัวเอง ก็มักเกิดขึ้นในเวลาที่สติปัญญามืดบอดเพราะถูกกิเลสกลุ้มรุมเข้ามาอย่างรุนแรงนี่เอง กล่าวคือ แม้ในการคิดพิจารณาเรื่องทั่วๆไป กิเลสก็ฉุดรั้งปัญญาให้ถดถอยลงจนหวังผลสำเร็จได้ยากแล้ว
เมื่อเล็งถึงการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เห็นแจ้งในธรรมอันเป็นของลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมต้องสงบความฟุ้งซ่านของนิวรณ์ลงให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อน จึงสามารถใช้ศักยภาพทางปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่

ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์ (นีวรณปหานวรรค, ๒๐/๑๗-๒๑)
ละกามราคะ ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความเพ่งเล็งในโลก, พิจารณาอสุภนิมิตโดยแยบคาย
ละพยาบาท ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความคิดประทุษร้าย, เจริญเมตตา
ละถีนมิทธะ ด้วยการกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง (เมื่ออยู่ในที่มืดก็ง่วงซึมได้ง่าย) ,ปรารภความเพียรมั่น
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ด้วยความสงบใจ (ไม่ให้ฟุ้งซ่าน)
ละวิจิกิจฉา ด้วยการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ไม่คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความสามารถด้านสมาธิ นิวรณ์ย่อมถูกข่มลงได้ชั่วคราวด้วยกำลังของอุปจารสมาธิเป็นต้นไปนั่นเอง การเจริญวิปัสสนาต่อเนื่องจากการเจริญสมาธิจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมนอกจากนี้ ท่านผู้ปรารถนาจะทำเหตุปัจจัยแวดล้อมให้นิวรณ์สงบลงได้ง่าย เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้ง พึงดูการปฏิบัติ สีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อย่างผู้เจริญแล้ว จากพระสูตรหลายบทในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เช่น สามัญญผลสูตร, อัมพัฏฐสูตร เป็นต้น

๖. ไม่ควรละเลยการปฏิบัติด้านสมถกรรมฐาน
ความสำเร็จในด้านสมาธินั้น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงสุขประณีตลึกซึ้งอันเกิดจากความสงบได้ด้วยตัวเองในปัจจุบัน ดังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสสนับสนุนไว้ทั้งในด้านการเป็นฐานของปัญญาและในด้านความสุข เช่น “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ …” (ปาสาทิกสูตร) เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง
การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอนรากถอนโคนกิเลสนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของปัญญา หากแต่ถ้าปราศจากความสนับสนุนทางด้านสมาธิแล้ว ก็คล้ายกับการเข้าสู่สนามรบโดยปราศจากอาวุธที่ยอดเยี่ยม แม้อาจมีหวังชนะได้แต่คงจะยากมิใช่น้อยเลย ดังจะเห็นได้จากในพระสูตรมากมายหลายบทที่ท่านกล่าวถึงการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ๔ ในลักษณะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อเชื่อมต่อไปให้ถึงการเกิดญาณทัสสนะ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสุขจากสมาธิอยู่เป็นประจำ ความจำเป็นต้องพึ่งพาสุขจากสิ่งเสพบริโภคย่อมลดลง ความโลภ การแก่งแย่ง ความอิจฉา ความขัดข้องใจต่างๆ ก็มักจะบรรเทาเบาบางลงไป จึงมีชีวิตที่เป็นสุขและสามารถจะมีศีลที่ดีได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานในประไตรปิฎกพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติก็มีอยู่ เช่น ในปุตตสูตร ซึ่งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้จัดแบ่งพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสก (อาจารย์บางท่านกล่าวว่าได้ฌานเฉพาะในขณะจิตที่เกิดมรรคผล)

๗. พึงนึกเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็น กรรมวาที วิริยะวาที
ถือความเพียรพยายามเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในความเจริญก้าวหน้า ดังพุทธพจน์มากมายที่ตรัสถึงความเพียร อาทิเช่น “บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี” (คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘)
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ” (คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกียจคร้านอาเกียรณ์ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทสพลสูตรที่ ๒)



๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔

วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน
กรรมฐาน หมายถึง อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายหรือวิธีฝึกจิตเจริญปัญญา

กรรมฐาน มี ๒ คือ
๑. สมถกรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ เจริญสมาธิ
๒. วิปัสสนากรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา (พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม)

ในที่นี้ด้านสมถกรรมฐานจะยกตัวอย่าง อานาปานสติ, โอทาตกสิณ, อัปปมัญญา ส่วนด้านวิปัสสนาจะยกตัวอย่าง สติปัฏฐาน ๔ อย่างไรก็ตาม ในกรรมฐานทุกชนิดสามารถถือเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาขึ้นอยู่กับแง่ด้านในการปฏิบัติ เช่น การฝึกอานาปานสติเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นด้านสมถะ ฝึกแล้วพิจารณาความเกิดดับของสภาวธรรมที่เกิดขึ้นขณะกำลังเจริญอานาปานสติก็เป็นด้านวิปัสสนา เป็นต้น

๑. สมถกรรมฐาน
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี ๔๐ อย่าง ท่านแนะนำว่า แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย ความโน้มเอียงของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่าจริยา (จริต) ต่างๆ ถ้าเลือกได้ถูกกันเหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดี และรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้า หรือไม่สำเร็จผล อย่างไรก็ตามอย่าถึงกับตายตัวทีเดียว พูดอย่างกว้างๆ กรรมฐานทุกอย่างก็เป็นประโยชน์ ช่วยข่มอกุศล และเกื้อหนุนกุศลธรรมได้ทั้งนั้น

“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง” (สมาธิสูตร)

อานาปานสติ
“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น” (เวสาลีสูตร)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงอานาปานสติ ก็พึงกล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง, ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม ปลอดโปร่งจากโยคะ (โยคะ มี ๒ ความหมาย คือ กิเลส, ความเพียร) อานาปานสติอันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ, ภิกษุเหล่าใดที่เป็นอรหันตขีนาสพ อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (อิจฉานังคละสูตร)

อานาปานสติ เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ปฏิบัติได้สะดวก ร่างกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ปราชญ์บางท่านชี้ให้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างอานาปานสติ กับวิธีฝึกหัดเกี่ยวกับลมหายใจของลัทธิอื่นๆ เช่น โยคะ ว่าเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว โดยเฉพาะว่า อานาปานสติ “เป็นวิธีฝึกสติ” “ไม่ใช่ฝึกการหายใจ” คือ อาศัยลมหายใจ เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกสติ

วิธีปฏิบัติ
พึงทราบว่า ตัวอย่างวิธีปฏิบัติในที่นี้ เขียนตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ให้เห็นแบบแผนเดิม ผู้ปฏิบัติจะยักเยื้องไปอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น อย่างที่สำนักต่างๆในปัจจุบัน สอนให้ว่า พุทโธ แทนการนับเป็นต้น สาระอยู่ที่เป็นอุบายตรึงจิตไว้เท่านั้น

พึงหาสถานที่สงบสงัด นั่งในอิริยาบถที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบาย ไม่เมื่อยล้า และหายใจคล่องสะดวก โดยทั่วไปที่ได้ผลดีคือ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่สะดวก ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี ในช่วงแรกของการลงมือปฏิบัติ พระอรรถกถาจารย์ได้เสริมวิธีการนับเข้ามา เพื่อช่วยในการตรึงจิตได้ดี โดยเริ่มแรกให้นับเป็นคู่ๆ คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออก นับ ๑ เรื่อยไปจนถึง ๕/๕ แล้วตั้งต้นใหม่ จาก ๑/๑ ไปจนถึง ๖/๖ เพิ่มทีละคู่จนนับจาก ๑/๑ จนถึง ๑๐/๑๐ แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นที่ ๑/๑ ถึง ๕/๕ ใหม่อย่างนี้เรื่อยไป

ต่อมาให้นับเร็ว คือเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏชัดดีแล้ว คราวนี้ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าใน หรือออกนอก กำหนดแต่ลมที่มาถึงช่องจมูก แล้วนับจาก ๑ ถึง ๕ (ไม่ต้องนับเป็นคู่) ๑ ถึง ๖ เรื่อยไปจน ๑ ถึง ๑๐ แล้วเริ่มใหม่ เมื่อใช้การนับเร็ว กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่อง กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเมื่อใด แม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือลมหายใจเข้าออก (วัตถุประสงค์ของการนับ ก็เพิ่อให้สติตั้งอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านภายนอกได้นั่นเอง)

เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้ว ก็หยุดนับเสีย ใช้สติตามลมหายใจอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ (ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน) เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น หาได้ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อยไม่ แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลี่อยที่มาหรือไป เขาก็ตระหนักรู้ (ท่านว่าถ้าส่งจิตตามลมเข้าไป จะรู้สึกอึดอัด ถ้าส่งจิตตามลมออกไปข้างนอกจะฟุ้งซ่าน) ด้วยวิธีนี้ เมื่อกำหนดอารมณ์กรรมฐานเรื่อยไป นิมิตแห่งลมหายใจของผู้ปฏิบัติจะละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมีสติรักษาอารมณ์กรรมฐานนั้นไว้ (ซึ่งก็คือรักษาสมาธิด้วยนั่นเอง) มนสิการบ่อยๆ ให้เจริญงอกงาม ในที่สุด อัปปนาสมาธิ ก็จะเกิดขึ้น บรรลุปฐมฌาน

🔎อานาปานสติ เพิ่มเติม (ดูหัวข้อที่ ๑๐)

โอทาตกสิณ : กษิณสีขาว โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

สาธุชนผู้จะเจริญกสิณชนิดนี้ พึงขดไม้เป็นวงกลมกว้างโดยศูนย์ไส้สัก ๑๖ นิ้ว หรือราวนั้น พอตาจับได้ถนัด อย่าให้เล็กเกินจนนัยน์ตาจับเอาอื่นด้วย หรือใหญ่เกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ทั่ววง เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์หุ้ม แล้วเอาวางห่างจากที่นั่งสัก ๒ ศอกคืบ หรือราวนั้น พอเพ่งดูถนัด อย่าให้ชิดเกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ถนัด แล้วพึงนั่งเพ่งดูโดยอาการตามถนัด ตากำหนดจำกสิณนั้นใจนึกถึงสีว่า “โอทาตัง โอทาตัง” แปลว่า ขาว ขาว คุมนัยน์ตาอันแลเห็น กับใจอันนึก ให้อยู่ที่กสิณพร้อมกัน กิริยาที่ทำนี้เรียกว่า บริกรรม ดวงกสิณเรียกว่า บริกรรมนิมิต กิริยาที่นึกว่า “โอทาตัง โอทาตัง” เรียกว่า บริกรรมภาวนา นี้เป็นชั้น ๑ (บริกรรม แปลว่า ทำซ้ำๆ)

ครั้นทำในชั้นนี้ชำนาญแล้ว ถึงตั้งใจจำกสิณนั้นให้ติดตา ลองหลับตาดูในระหว่างๆ ถ้ายังไม่ติดตา ลืมตาดูใหม่ ในสมัยใดจำได้ติดตา หลับตาลง ดวงกสิณปรากฏในใจเหมือนแลเห็น ในสมัยนั้น นิมิตที่ปรากฏในใจนั้น เรียก อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่จิตจำได้ หรือนิมิตติดตา กิริยาที่นึกนั้น เรียก บริกรรมสมาธิ ที่กล่าวว่าปรากฏในใจนั้น เช่นกับคนขลาดได้พบสิ่งที่น่ากลัวอันให้ตกใจ หรือคนที่ผูกพันอยู่ในสิ่งหนึ่งหลับตาลง ย่อมแลเห็นสิ่งนั้นติดตา แต่ท่านไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของกัมกัฏฐาน เพราะเป็นเหตุตกใจ หรือเป็นเหตุติดข้อง บริกรรมสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๒

ครั้นในชั้นนี้ช่ำชองแล้ว พึงลองหลับตานึกถึงนิมิตนั้นขยายให้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่อย่าให้เสียส่วนตามสัณฐาน ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายของมีขนาดต่างกัน แต่ส่วนแห่งอวัยวะนั้นๆของรูปทั้งปวงทุกชนิด คงสมกันกับกาย ในสมัยใด จิตจำนิมิตนั้นได้จนขยายออกหรือย่นเข้าได้ สมัยนั้นนิมิตนั้นเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเทียบเคียง ภาวนานั้นเรียกว่า อุปจารภาวนา นี้เป็นชั้นที่ ๓

ผู้ทำได้แม่นยำจนถึงชั้นนี้แล้ว บำเพ็ญภาวนาต่อไปจนเข้าองค์กำหนดชั้นต้น (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) จัดได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เป็นสมาธิแน่นแฟ้น อัปปนาสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๔

ผู้ศึกษาในกัมมัฏฐานไม่ควรมุ่งเฉพาะคุณที่สูงอย่างเดียว ควรมุ่งเฉพาะคุณที่เป็นวิสัยของตน พึงเจริญกัมกัฏฐานอันเป็นที่สบายแก่ตน เช่น คนสามัญปรารถนาฐานันดรเป็นมหาอำมาตย์ จะได้สมหวังนั้นเทียวหรือถ้าไม่ได้ พยายามนั้นก็ไม่มีผล ใช้ในทางอื่นยังจะดีกว่า เพราะเหตุนั้น ต้องรู้จักกำลังของตน ทั้งแลเห็นช่องทางก่อน อุปมานี้ฉันใด ผู้จะเจริญกัมมัฏฐานก็พึงประพฤติฉันนั้น ไม่ควรจะละเลยคุณเบื้องต่ำ ซึ่งตนควรจะถือเอาได้ก่อน แม้แต่เพียงในชั้นบริกรรม ต่อมาในสมัยใด คุมจิตไว้ที่กสิณแห่งเดียวได้ ไม่คิดพล่านในทางอื่น ได้ให้ความแช่มชื่นไม่อึดอัดเบื่อหน่าย ในสมัยนั้น จัดว่าเป็นอันสำเร็จผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนั้น


อัปปมัญญา ๔
กรรมฐาน อีกชนิดหนึ่งที่ท่านสนับสนุนให้ปฏิบัติ ได้แก่ อัปปมัญญาเจโตวิมุตติ คือ การเจริญสมาธิด้วยการแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต อุเบกขาจิต ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วไปหมด ไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีประมาณ จนจิตน้อมดิ่งไปในคุณธรรมนั้นๆ เกิดอัปปนาสมาธิ

ตามหลักท่านให้เจริญเมตตา ไปตามลำดับ ดังนี้
๑. ตนเอง : เพื่อเป็นสักขีพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น
๒. ผู้เป็นที่รัก : เพราะเจริญได้ง่าย
๓. ผู้ที่เป็นกลางๆ
๔. ศัตรู

เมื่อชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องแบ่งแยกกลุ่ม แผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขต

“พึงแผ่ไม่ตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มารดาถนอมบุตรน้อยคนเดียวผู้เกิดจากตน แม้ด้วยยอมสละชีวิต ฉันใด พึงเจริญเมตตาไม่จำกัดในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น” (กรณียเมตตสูตร)

🔎อัปปมัญญา ๔ เพิ่มเติม

ข้อควรรู้เพิ่มเติมสำหรับกรรมฐานต่างๆ โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

บุคคลผู้มีถีน มิทธะ (ความหดหู่ เซื่องซืม) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง (เช่น มีศีลดี มีความเอื้อเฟื้อ นิยมให้ทาน) พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ เพราะความก้าวไปข้างหน้า เป็นคู่ปรับกับความหดหู่เซื่องซึม
บุคคลราคะจริต ผู้มีกามฉันท์ เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอสุภกรรมฐาน หรือ กายคตาสติ
บุคคลผู้มีอุทธัจจะ กุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) เป็นเจ้าเรือน ควรเพ่งกสิณ หรือ มรณานุสติ
บุคคลผู้มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร

ในบุคคลผู้เดียว นิวรณ์เหล่านี้อาจเข้าครอบงำต่างคณะ ต่างสมัย พึงเจริญกรรมฐานให้เหมาะสม

ข้อสำคัญ พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม (อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ) เรียกว่าอยู่ขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้แก้กิเลสของตน ส่วนวิปัสสนามองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม ไม่มีสวย ไม่มีน่าเกลียด

อรรถกถาเมตตสูตร

“ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต, กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต”



๕. อสุภะ ๑๐

 อสุภะ ๑๐

อสุภะ หมายถึง ไม่สวยงาม มุ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่ตายไป การเจริญอสุภกรรมฐานคือ การพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆกัน ๑๐ ลักษณะ ให้เห็นความน่าเกลียดไม่สวยงาม โดยจะพิจารณาซากศพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ใน ๑๐ ลักษณะ ได้แก่

๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่ขึ้นอืดพอง
๒. วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง แตกปริ
๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ถูกฟันขาดออกจากกันเป็น ๒ ท่อน 
๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น สุนัข กา แร้ง ทึ้งแย่ง
๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่กระจายเรี่ยราด ศีรษะ มือ เท้า อยู่คนละทาง 
๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด ถูกแทงด้วยหอก
๘. โลหิตกะ ซากศพที่มีเลือดไหลอาบ
๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีหนอนไชอยู่ทั่วร่าง
๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่เหลือแต่กระดูก

การพิจารณาซากศพหรือเจริญอสุภกรรมฐานทุกชนิด ผู้ปฏิบัติต้องยืนอยู่เหนือลม อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นเน่าเหม็นของศพจะรบกวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก อย่ายืนใกล้หรือไกลเกินไป ต้องยืนในระยะให้เห็นซากศพชัดเจนทั้งร่าง ควรยืนกลางลำตัวศพ อย่ายืน ด้านศีรษะหรือปลายเท้าของศพ ศพที่ใช้พิจารณาควรเป็นเพศเดียวกับผู้พิจารณา เช่น ผู้พิจารณาหรือเจริญอสุภกรรมฐานเป็นหญิง ก็ใช้ศพหญิง เป็นชายก็ใช้ศพชายในการพิจารณา นอกจากจะพิจารณาศพในแนววิปัสสนาจึงจะใช้ศพเพศใดก็ได้ เช่นในกรณีของพระกุลลเถระ ที่หลงรูปโฉมนางสิริมาหญิงงามเมือง

ครั้นนางสิริมาสิ้นชีวิตลง พระพุทธเจ้าทรงให้พระกุลลเถระผู้มีราคจริตพิจารณาศพของนางสิริมา ที่พระภิกษุหนุ่มหลงรักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ่ายถอนความลุ่มหลงรักใคร่ได้ในที่สุด การเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นไปได้ทั้งในแง่สมถกรรมฐาน และวิปัสสนา-กรรมฐาน หากเจริญในแง่สมถะ ก็ให้เห็นความเป็นสิ่งที่น่าเกลียดไม่สวยงาม ปฏิบัติแล้วทำให้ฌานเกิดขึ้นได้ ส่วนในแง่วิปัสสนาให้พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ คือ ให้เห็นว่าตัวของเราก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนซากศพที่นอนอยู่ต่อหน้านั้นเช่นกัน เพียงแต่ศพนี้ ชายนี้ หญิงนี้ ตายก่อนเราเท่านั้น ชีวิตร่างกายของเราแม้จะผ่านทุกข์ทรมาน ได้รับความยากลำบากต่างๆนานามาเพียงใด ก็ไม่ทุกข์เท่าตอนที่จะตายร่างกายแตกดับ ในขณะนั้นจะทุกข์ที่สุด คือทุกข์จนทนอยู่ไม่ได้ต้องตายไปเช่นศพนี้

ดังพุทธดำรัสที่ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และพิจารณาศพที่อยู่ตรงหน้าของเรานี้ว่า เมื่อศพนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาหรือเธอผู้นี้ไม่เคยปรารถนาที่จะตาย ไม่เคยต้องการจะเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปเช่นนี้ ใจปรารถนาแต่กายไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่อาจบังคับบัญชาได้ เขาหรือเธอก็ไม่ใช่เจ้าของร่างกายนี้โดยแท้จริง เพราะหากเป็นเจ้าของร่างกายนี้ก็ต้องไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตามคำสั่งตามบัญชา แม้ร่างกายของเราเองก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา รูปนาม ทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสังขารร่างกายเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร

ส่วนการพิจารณาซากศพโดยนัยของสมถะต้องพิจารณาศพโดยอาการ ๖ และอาการ ๕

พิจารณาซากศพโดยอาการ ๖
๑. พิจารณาสี โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นคนผิวสีอะไร ดำ ขาว หรือผิวเหลือง
๒. พิจารณาวัย โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นเด็ก วัยกลางคนหรือคนชรา โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย
๓. พิจารณาสัณฐาน โดยกำหนดดูว่า นี่คือศีรษะ คอ แขน มือ ท้อง อก เอว แข้ง ขา เท้า เป็นต้น
๔. พิจารณาทิศ โดยกำหนดว่าตั้งแต่สะดือขึ้นไปจนถึงศีรษะเป็นส่วนบน จากใต้สะดือลงมาเป็นส่วนล่าง หรืออีกนัยหนึ่ง คือให้รู้ว่าเรายืนอยู่ทางทิศนี้ ซากศพอยู่ทางทิศนี้
๕. พิจารณาที่ตั้ง โดยกำหนดว่า มืออยู่ตรงนี้ เท้าอยู่ตรงนี้ ศีรษะอยู่ตรงนี้ เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งให้รู้ว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ ศพอยู่ตรงนั้น
๖. พิจารณาขอบเขต ให้รู้ว่าเบื้องต่ำสุดของซากศพคือพื้นเท้า เบื้องบนสุดเพียงปลายผม ทั่วตัวสุดแค่ผิวหนัง เต็มไปด้วยของเน่าเหม็น อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น

พิจารณาโดยอาการ ๕
๑. ดูส่วนต่อหรือที่ต่อ ให้รู้ว่าในสรีระร่างของศพมีส่วนต่อใหญ่ๆอยู่ ๑๔ แห่ง คือมือขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง มือซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง คอมีที่ต่อ ๑ แห่ง และเอวมีที่ต่อ ๑ แห่ง
๒. ให้ดูช่อง เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ศพหลับตาหรือลืมตา อ้าปากหรือหุบปาก
๓. ให้ดูหลุม หรือส่วนที่เว้าลงไป พิจารณาว่าเป็นหลุมตา หลุมคอ เป็นต้น
๔. ให้ดูที่ดอน หรือส่วนที่นูนขึ้น โดยให้กำหนดรู้ว่าส่วนนูนนี้ คือหัวเข่า คือหน้าผาก หน้าอก เป็นต้น
๕. ให้ดูทั่วไป รอบๆ ด้านของศพ ส่วนใดปรากฏชัดตามลักษณะของศพ เช่นความพองอืดปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพพองอืดนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) หรือเห็นศพที่มีสีเขียวคล้ำปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆ ๆ (ศพวินีลกะ หรือศพเขียวคล้ำนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ศพลักษณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ในขณะบริกรรมก็ให้ตั้งจิตกำหนดลงที่ลักษณะตรงส่วนนั้นๆ ของศพ


วิธีการเจริญอสุภะ ๑๐

๑. อุทธุมาตกอสุภะ
พิจารณาความน่าเกลียดของศพว่าพองอืด พร้อมบริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่พองอืดนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลืมตาดูและหลับตาพิจารณาสลับไปเช่นนี้ ถ้าเมื่อใดหลับตาแล้วปรากฏภาพซากศพนั้น เหมือนเมื่อลืมตาก็จะได้อุคคห-นิมิต อุคคหนิมิตเป็น

นิมิตที่ปรากฏทางใจ จะเห็นเป็นซากศพที่น่าเกลียดน่ากลัว ชวนให้ขยะแขยงสะอิดสะเอียน เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะได้ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพีล่ำสันนอนนิ่งอยู่ ปฐมฌานก็จะเกิดขึ้น ศพที่ขึ้นอืดเป็นกรรมฐานที่หาเจริญได้ยากกว่าอสุภกรรมฐานอื่น ๆ เพราะศพที่พองอืดจะมีอาการพองเพียง ๑ หรือ ๒ วัน ก็จะแปรสภาพเป็นเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มต่อไป หากขณะที่เจริญอุทธุมาตกอสุภะแล้วยังไม่ได้อุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต แต่ศพแปรสภาพไปแล้วก็ต้องไปหาศพใหม่ที่พองอืด

๒. วินีลกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่มีสีเขียว น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตของวินีลกอสุภะ คือลักษณะของศพมีสีเขียวคล้ำ ส่วนปฏิภาคนิมิตจะไม่น่าเกลียดน่ากลัว จะเหมือนรูปปั้นมีสีแดง สีขาว สีเขียวเจือกัน

๓. วิปุพพกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีน้ำเหลืองแตกปริ บริกรรมว่า วิปุพพกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิปุพพกะ มีน้ำเหลืองไหลนี้ น่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำๆ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนตัวศพนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นเหมือนรูปปั้นนอนนิ่งไม่มีน้ำเหลืองไหล

๔. วิจฉิททกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกฟันขาดเป็น ๒ ท่อน ถ้าศพที่จะพิจารณานั้น กระเด็นอยู่ห่างกันเกินไปให้นำส่วนที่ขาดมาวางใกล้ให้ต่อกันห่างกันประมาณ ๑ องคุลี แล้วบริกรรมว่า วิจฉิททกะ ปฏิกูละๆๆ (ศพวิจฉิททกะ ถูกฟันขาด ๒ ท่อนนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตปรากฏเป็นภาพศพขาด ๒ ท่อนนั่นเอง ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพสภาพเรียบร้อยนอนแน่นิ่งอยู่

๕. วิกขายิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสัตว์ทึ้งแย่งเรี่ยราด บริกรรมว่า วิกขายิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขายิกตะนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเหมือนที่พิจารณา ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นสภาพเหมือนกับรูปปั้นที่ใสสะอาด เรียบร้อย วางไว้นิ่งอยู่เป็นท่อนเดียวกัน

๖. วิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่กระจาย อวัยวะกระเด็นไปคนละทิศละทาง ต้องนำส่วนที่กระจายในที่ต่างๆ มากองไว้ในที่เดียวกัน กำหนดบริกรรมว่า วิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขิตตกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตเหมือนซากศพที่เห็นปรากฏแก่สายตา ปฏิภาคนิมิตจะเห็นว่า อสุภะมีความสมบูรณ์ตลอดกาย

๗. หตวิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด บริกรรมว่า หตวิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพหตวิกขิตตกะนี้เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น เป็นสภาพศพที่เป็นริ้วรอยเพราะถูกฟัน ปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพที่เรียบร้อย สมบูรณ์

๘. โลหิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีเลือดไหล บริกรรมว่า โลหิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพโลหิตกะนี้ เป็นของน่าเกลียดน่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเป็นสภาพศพที่เลือดไหล บางครั้งก็จะเหมือนผ้าแดงต้องลมพัดไหวๆ อยู่ส่วนปฏิภาคนิมิต จะเห็นซากศพเหมือนรูปปั้นกำมะหยี่สีแดง

๙. ปุฬุวกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำชอนไชอยู่ บริกรรมว่า ปุฬุวกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพปุฬุวกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเห็นเป็นศพที่หมู่หนอนคลานไต่ไปมา แต่ปฏิภาคนิมิต จะเห็นเป็นสภาพศพที่เรียบร้อยเหมือนกองข้าวสาลีสีขาวกองอยู่

๑๐.อัฏฐิกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่เหลือแต่กระดูก บริกรรมว่า อัฏฐิกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพอัฏฐิกะนี้ เป็นของน่าเกลียด ) การพิจารณาจะพิจารณากระดูกที่ติดกันหมดทั้งร่างก็ได้ หรือจะพิจารณากระดูกที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ เป็นชิ้นๆ ก็ได้ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น ก็สุดแต่ว่าจะพิจารณากระดูกในลักษณะใด ถ้าพิจารณาทั้งร่าง อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกทั้งร่าง ถ้าพิจารณาเป็นท่อน อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกเป็นท่อนแต่ปฏิภาคนิมิตจะเหมือนกันคือ เป็นร่างกายที่สมบูรณ์

อัฏฐิกอสุภะ หรือ ซากศพที่เป็นกระดูก สามารถนำมาพิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐานมีอยู่ ๕อย่าง คือ
    ๑. ร่างกระดูกที่ยังมีเนื้อ เลือด เส้นเอ็นรัดรึงเป็นรูปร่างอยู่
    ๒. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อ แปดเปื้อนด้วยเลือด ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๓. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อและเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๔. กระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดรึงแล้ว กระจัดกระจายทั่วไป
    ๕. กระดูกเป็นท่อนมีสีขาวดังสีสังข์

การเจริญอสุภกรรมฐานนั้น สำหรับผู้ที่มีนิสัยขลาดกลัวหรือกลัวผี เมื่อเกิดอุคคหนิมิต และขาดอาจารย์คอยควบคุมสอนการปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติศึกษาไม่ดี ไม่เข้าใจในรูปแบบหรือลักษณะของนิมิตนั้นๆอย่างแท้จริง ก็อาจเข้าใจผิดว่าตนเองถูกผีหลอก เกิดเจ็บป่วยได้ จึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติให้ดี

บางทีก่อนที่อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติอาจนึกคิดไปว่าศพนี้จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นยืน ควรมีเพื่อนไปร่วมปฏิบัติด้วย และให้ทำความเข้าใจว่าศพนั้นที่จริงไม่ต่างกับท่อนไม้ ไม่มีวิญญาณครอง ไม่มีจิตใจ จะลุกขึ้นมาหลอกหลอนไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราคิดไปเอง วาดภาพไปเอง ในบางกรณีที่ศพยังใหม่ยังสดอยู่ เส้นเอ็นยึดทำให้ลุกขึ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ใช้ไม้ตีให้ล้มลง

การพิจารณาอสุภะนั้น นอกจากพิจารณาซากศพ หรือร่างกายที่ปราศจากชีวิต ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพิจารณาความเป็นอสุภะ หรือความไม่สวยงามในร่างกายของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาร่างกายของตนเอง หรือผู้อื่นก็ได้ดังต่อไปนี้

๑. พิจารณาเมื่อร่างกาย หรือ อวัยวะบวมขึ้น ให้พิจารณาโดยความเป็นอุทธุมาตกะ (พองอืด)
๒. พิจารณาเมื่ออวัยวะเป็นแผล ฝี มีหนองไหลออกมา ให้พิจารณาโดยความเป็นวิปุพพกะ (น้ำเหลืองไหล แผลแตกปริ)
๓. พิจารณาเมื่อ แขน ขา มือ เท้า หรืออวัยวะขาดด้วน เพราะอุบัติเหตุ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้พิจารณาโดยความเป็นวิจฉิททกะ (อวัยวะขาดเป็นท่อน)
๔. พิจารณาเมื่อมีโลหิตเปรอะเปื้อนร่างกาย ให้พิจารณาโดยความเป็นโลหิตกะ (เลือดไหล)
๕. พิจารณาขณะที่แลเห็นฟัน ให้พิจารณาโดยความเป็นอัฏฐิกะ (กระดูก)

หากจะพิจารณาไปแล้วความเป็นอสุภะหรือไม่สวยงาม ไม่ได้เป็นเฉพาะเมื่อตาย
ลงหรือเป็นซากศพเท่านั้น ร่างกายที่มีชีวิตอยู่นี้หากพิจารณาให้ดีก็ไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่เพราะการตบแต่งประดับประดา และความหลงผิดทำให้คิดไปว่าเป็นของสวยงาม น่ารัก น่าใคร่ จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น หวงแหน

การเจริญอสุภะ สามารถให้บรรลุฌานขั้นปฐมฌานเท่านั้น การพิจารณาอสุภะในซากศพ จะมีความน่ากลัว อุคคหนิมิตจะเกิดได้เร็วกว่าการพิจารณาอสุภะในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การเจริญอสุภกรรมฐานทำให้ได้ปฐมฌาน หรือฌานเบื้องต้น หากต้องการจะได้ทุติยฌานต่อไปให้เปลี่ยนไปเพ่งสีที่ปรากฏชัดที่ศพ เช่น เพ่งสีแดงของเลือดที่ไหล จัดเป็นวรรณกสิณ หรือกสิณสี พร้อมบริกรรมว่าแดงๆ หรือศพสีเขียวก็เพ่งสีเขียว บริกรรมว่าเขียว ๆ ตามวิธีการของวรรณกสิณ ก็จะได้บรรลุทุติยฌาน


อานิสงส์ของการเจริญอสุภกรรมฐาน
ได้แก่

๑. มีสติ
๒. มองเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย (อนิจจสัญญา)
๓. มองเห็นความตายว่าจะบังเกิดกับทุกคน (มรณสัญญา)
๔. มีความรังเกียจในร่างกาย
๕. ทำให้กามตัณหาไม่ครอบงำ
๖. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในรูป
๗. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งน่าเพลิดเพลิน (อิฏฐารมณ์)
๘. อยู่เป็นสุข
๙. เข้าถึงอมตธรรม คือ พระนิพพาน เฉพาะสำหรับผู้ที่เจริญสมถะจนได้ฌาน แล้วเอาฌานเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ 

ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ก่อนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติสมถกรรมฐาน เป็นความรู้เบื้องต้นพื้นฐาน เพื่อให้มีความรู้ก่อนลงมือปฏิบัติอย่างมีหลักที่ถูกต้อง การเพ่งกสิณและ อสุภะ ซึ่งจัดว่าเป็นอารมณ์สมถะกรรมฐานที่ค่อนข้างจะพิจารณายาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน การที่จะหาศพมาพิจารณาก็ยาก ตลอดจนความเพียรของผู้ปฏิบัติเองก็อาจจะยังไม่มากพอ และทั้งกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยก็ไม่ใคร่นิยมปฏิบัติกัน

ฉะนั้น หากจะปฏิบัติก็ต้องศึกษาทบทวน และสอบทานตัวเองก่อนว่าเข้าใจจริงหรือไม่แล้วจึงลงมือปฏิบัติ ในระหว่างการปฏิบัติก็ต้องทบทวน สอบทานความรู้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันการปฏิบัติผิด ตำราที่ผู้ปฏิบัติจะสอบทานผลการปฏิบัติของตนได้ คือ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค และวิมุตติมรรค



วิกิ

ผลการค้นหา