แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามวันที่ของการค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามความเกี่ยวข้อง แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามวันที่ของการค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามความเกี่ยวข้อง แสดงโพสต์ทั้งหมด

กิจจสังคหะ

แสดงการรวบรวมจิต เจตสิก โดยประเภทแห่งกิจชื่อว่า “กิจจสังคหะ

คาถาสังคหะ
ปฏิสนฺธาทโย นาม-  กิจฺจเภเทน จุทฺทส
ทสธา ฐานเภเทน   จิตฺตุปฺปาทา ปกาสิตา ฯ

แปลความว่า บรรดาจิตทั้งหลายที่ปรากฏขึ้น มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น ว่าโดยประเภทแห่งกิจ มี ๑๔ กิจ ว่าโดยประเภทแห่งฐาน มี ๑๐ ฐาน

🔅 อธิบาย

ในบรรดาการงานทั้งหลาย ที่เกี่ยวด้วย กาย, วาจา หรือใจ ต่าง ๆ เหล่านี้ จะสำเร็จลุล่วงลงได้ ก็ล้วนแต่จะต้องอาศัยจิตและเจตสิก เป็นผู้ควบคุมและสั่งการให้การงานที่เกี่ยวด้วย กาย, วาจา ใจ ต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นไปได้จนเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือ ทางกาย ให้สำเร็จเป็นการกระทำต่าง ๆ มีการนั่ง-นอน-ยืน-เดิน-ขีด-เขียน เป็นต้น การงานเหล่านี้สำเร็จลงได้ เพราะจิตเจตสิกสั่งให้กระทำ ถ้าจิตเจตสิกไม่สั่งให้กระทำแล้ว การงานนั้นๆ ก็จะสำเร็จลงไม่ได้

ทางวาจา ให้สำเร็จเป็นการพูด, การอ่าน, การร้องเพลง, ร้องไห้, การปาฐกถา, การแสดงธรรม, การด่าทอ-บริภาษ เป็นต้น เหล่านี้สำเร็จลงได้เพราะจิตและเจตสิกสั่งให้กระทำ ถ้าจิตและเจตสิกไม่สั่งให้พูดแล้ว การงานนั้นก็จะสำเร็จลงไม่ได้แน่นอน

ทางใจ การงานที่เกี่ยวกับใจ มีการคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ นั้น จิตและเจตสิกเป็นผู้สั่งตนเองให้กระทำการคิดถึง ไม่ได้สั่งให้กายหรือวาจากระทำ อุปมา


ปกิณณกสังคหวิภาค จิต เจตสิกนั้น เหมือนหัวหน้าผู้บริหารงานต่าง ๆ มีหน้าที่สั่งให้ผู้อื่นทำ คือ กายและวาจาเป็นผู้กระทำการงาน เป็นการทำงาน, การพูด และสั่งตนเอง คือ สั่งให้ จิต-เจติก คิดนึกเรื่องราวต่างๆ อีกด้วย ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า จิต เจตสิก เกิดขึ้นและดับไปเหมือนกระแสน้ำ มีความเป็นไปแห่งจิต เจตสิกรวดเร็ว ดุจแล่นไปในอารมณ์อยู่ตลอดเวลาและด้วยสามารถยังกิจต่างๆ ให้สำเร็จหลายๆ อย่าง โดยที่จิต เจตสิกนั้นเป็นประธานในธรรมทั้งปวง มีการนั่ง, นอน, พูด และคิดนึก เป็นต้น

ฉะนั้น จิต เจตสิกทุกดวงที่ปรากฏขึ้นนั้น ย่อมมีหน้าที่การงานของตน ๆ อยู่เสมอ จิต เจตสิกจะปรากฏขึ้นโดยไม่มีหน้าที่การงานอะไรเลยนั้นย่อมไม่มี อนึ่ง การทำกิจการงานของจิต เจตสิกนั้น จำเป็นต้องมีสถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานนั้น สถานที่ทำกิจของจิต เจตสิกเหล่านี้ ชื่อว่า ฐาน

ถ้าจะอุปมาแล้ว จิต เจตสิก เปรียบเหมือนผู้ทำงาน กิจ เปรียบเหมือนการงานต่าง ๆ ฐาน เปรียบเหมือนสถานที่ทำงาน ความสำเร็จแห่งการงานต่างๆ นั้น จึงย่อมประกอบด้วย จิต เจตสิก กิจ คือ หน้าที่การงาน และฐาน คือ สถานที่ทำงาน เรื่องจิต เจตสิกนั้นได้แสดงมาแล้วในปริจเฉทก่อนๆ ต่อนี้ไปจะได้แสดง กิจและฐาน โดยลำดับต่อไป


แสดงกิจของจิต ๑๔ 

หน้าที่ของจิต เจตสิก ที่ทำกิจการงานทั้งหมดนั้น มีอยู่ ๑๔ อย่าง คือ

๑. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ คือ หน้าที่ของจิต ที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นสืบต่อไปในภพใหม่ เป็นขณะจิตแรกที่ปรากฏขึ้นในภพใหม่นั้น และจะปรากฏขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้นในภพชาติหนึ่ง ๆ

๒. ภวังคกิจ ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ คือ จิตที่ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ หมายความถึงรักษากรรมวิบากของรูปธรรม นามธรรม สืบต่อจากปฏิสนธิวิบากจิต และปฏิสนธิกัมมชรูป ให้ดำรงอยู่ได้ในภพนั้นๆ ตราบเท่าอำนาจแห่งชนกกรรมจะส่งผลให้เป็นไปเท่าที่อายุสังขาร จะพึงตั้งอยู่ได้ ภวังคจิตนี้ เป็นหน้าที่ตามธรรมดาของจิต ที่จะต้องทำกิจนี้อยู่เสมอ จิตจะหยุดทำกิจนี้ ก็ต่อเมื่อขณะที่มีอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันมาคั่นตอน ให้จิตขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันเสียเท่านั้น พ้นจากการขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่แล้ว จิตจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาองค์แห่งภพนี้อยู่เสมอตลอดเวลา

๓. อาวัชชนกิจ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏใหม่ คือ จิต ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ ที่มาถึงตนทั้งทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร เป็นจิตขณะแรกที่ทิ้งจากภวังคกิจ แล้วจะต้องทำหน้าที่อาวัชชนกิจนี้ทันที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นจิตที่ทำหน้าที่ต้อนรับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันภพ กล่าวได้ว่าเป็นจิตดวงที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่

๔. ทัสสนกิจ ทำหน้าที่เห็น คือ จิตที่ทำหน้าที่เห็นรูปารมณ์ จิตนี้มีชื่อเรียกว่าจักขุวิญญาณเพราะอาศัยจักขุวัตถุรู้เห็นรูปารมณ์ ถ้าไม่มีจักขุปสาททำหน้าที่เป็นจักขุวัตถุแล้วทัสสนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่เห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่เห็นนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ทัสสนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นในจักขุทวารวิถีเท่านั้น

๕. สวนกิจ ทำหน้าที่ได้ยิน คือ จิตที่ทำหน้าที่ได้ยินสัททารมณ์ จิตนี้มีชื่อว่าโสตวิญญาณเพราะอาศัยโสตวัตถุเกิด เพื่อได้ยินสัททารมณ์ ถ้าไม่มีโสตปสาททำหน้าที่เป็นโสตวัตถุแล้ว สวนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินจะเกิดขึ้นไม่ได้และจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ สวนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ขณะที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นในโสตทวารวิถี

๖. ฆายนกิจ ทำหน้าที่รู้กลิ่น คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้กลิ่นคันธารมณ์ จิตนี้ชื่อว่าฆานวิญญาณ เพราะอาศัยฆานวัตถุรู้กลิ่นคันธารมณ์ถ้าไม่มีฆานปสาททำหน้าที่เป็นฆานวัตถุแล้วฆายนกิจ คือจิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นก็มีขึ้นไม่ได้ และกิจที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นนี้ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ฆายนกิจ จะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะที่ฆานวิญญาณเกิดขึ้นในฆานทวารวิถี

๗. สายนกิจ ทำหน้าที่รู้รส คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้รสารมณ์ จิตนี้เรียกว่าชิวหาวิญญาณ เพราะอาศัยชิวหาวัตถุรู้รสารมณ์ ถ้าไม่มีชิวหาปสาททำหน้าที่เป็นชิวหาวัตถุแล้ว สายนกิจจิตที่ทำหน้าที่รู้รสารมณ์ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่รู้รสนี้ ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ สายนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือ ชิวหาวิญญาณ ที่เกิดในชิวหาทวารวิถี

๘. ผุสนกิจ ทำหน้าที่รู้สัมผัสกาย คือ จิตที่ ทำหน้าที่รู้การกระทบโผฏฐัพพารมณ์ จิตนี้ชื่อว่ากายวิญญาณ เพราะอาศัยกายวัตถุเพื่อทำกิจรู้ การกระทบถูกต้องสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ถ้าไม่มีกายปสาทเพื่อทำหน้าที่เป็นกายวัตถุแล้วผุสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้ การกระทบโผฏฐัพพารมณ์ก็จะมีขึ้นไม่ได้ และจิตที่ทำหน้าที่ผุสนกิจนี้ ในวิถีจิตหนึ่งๆ ผุสนกิจจะมีได้เพียงขณะจิตเดียว คือขณะกายวิญญาณเกิดในกายทวารวิถีเท่านั้น

๙. สัมปฏิจฉนกิจ ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ในปัญจทวารวิถีหนึ่ง ๆ สัมปฏิจฉนกิจจะเกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น

๑๐. สันตีรณกิจ ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉนกิจในปัญจทวารวิถีจิตหนึ่ง ๆ สันตีรณกิจจะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ โวฏฐัพพนกิจ คือ จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ โดยความเป็น กุศล, อกุศล เป็นต้น จิตนี้ ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารวิถีในวิถีจิตที่สมบูรณ์ วิถีจิตหนึ่ง ๆ ย่อมเกิดได้ขณะจิตเดียว ในวิถีจิตที่ไม่สมบูรณ์ คือ ในโวฏฐัพพนวาระ อาจเกิดได้ ๒-๓ ขณะ

๑๒. ชวนกิจ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ คือ จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์ ๖ ด้วย กุศลจิต, อกุศลจิต, สเหตุกกิริยาจิต, หสิตุปปาทจิต และโลกุตตรวิบากจิต ในวิถีจิตหนึ่ง ๆ ที่เป็นกามวิถีแล้ว ส่วนมากเกิดติดต่อกัน ๗ ขณะ และในอัปปนาวิถี อาจเกิดขึ้นได้มากมายจนประมาณมิได้ก็มี

๑๓. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ  คือ จิตที่ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนจิตเสพแล้ว ในกามอารมณ์ทั้ง ๖ ที่มีกำลังแรง ในวิถีจิตทีรับอติมหันตารมณ์หรือวิภูตารมณ์ ซึ่งมีจิตที่ชื่อว่า ตทาลัมพนจิต แล้วจะทำตทาลัมพนกิจ และเป็น ๒ ขณะจิตสุดท้ายในวิถีจิตที่เป็นตทาลัมพนวาระ

๑๔. จุติกิจ ทำหน้าที่ดับสิ้นไปจากภพ คือ จิตที่ ทำหน้าที่สิ้นจากภพปัจจุบัน เป็นจิตดวงสุดท้ายที่จะปรากฏในภพชาตินั้น และจะปรากฏได้เพียงขณะจิตเดียว ในภพชาติหนึ่ง คล้ายคลึงกับปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำหน้าที่จุตินี้ เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตนั่นเอง


แสดงการจำแนกกิจ ๑๔ โดยจิต

๑. ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันติรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘  ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง
๒. ภวังคกิจ จิตที่ทำหน้าที่รักษาองค์แห่งภพ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง

๓. อาวัชชนกิจ จิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่ มี ๒ ดวง คือ : -

  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

๔. ทัสสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่เห็น มี ๒ ดวง คือ :-

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง

๕. สวนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ได้ยิน มี ๒ ดวง คือ :-

  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง

๖. ฆายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่น มี ๒ ดวง คือ :-

  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง

๗. สายนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รู้รส มี ๒ ดวง คือ :-

  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง

๘. ผุสนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ถูกต้องสัมผัส มี ๒ ดวง คือ :-

  • กายวิญญาณ ๒ ดวง

๙. สัมปฏิจฉนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์ มี ๒ ดวง คือ :-

  • สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง

๑๐. สันตีรณกิจ จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนปัญจารมณ์ มี ๓ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ มี ๑ ดวง คือ :-

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

๑๒. ชวนกิจ จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์ มี ๕๕ ดวง คือ :-

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง
  • มหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

๑๓. ตทาลัมพนกิจ จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ มี ๑๑ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต ๓ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง

๑๔. จุติกิจ จิตที่ทำหน้าที่ดับสิ้นไปจากภพ มี ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง


แสดงการจำแนกจิตโดยประเภทแห่งกิจ

๑. จิตที่ทำกิจได้ ๕ อย่าง มี ๒ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ทำกิจ ๕ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. สันตีรณกิจ
  • ๕. ตทาลัมพนกิจ

๒. จิตที่ทำกิจได้ ๔ อย่าง มี ๘ ดวง ได้แก่ มหาวิปากจิต ๘ ทำกิจ ๔ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. ตทาลัมพนกิจ

๓. จิตที่ทำกิจได้ ๓ อย่าง มี ๙ ดวง ได้แก่ มหัคคตวิปากจิต ๙ ทำกิจ ๓ อย่าง คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ

๔. จิตที่ทำกิจได้ ๒ อย่าง มี ๒ ดวง ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ทำกิจ ๒ อย่าง คือ :-

  • ๑. สันตีรณกิจ
  • ๒. ตทาลัมพนกิจ

มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ทำกิจ ๒ อย่าง คือ :-

  • ๑. โวฏฐัพพนกิจ
  • ๒. อาวัชชนกิจ (มโนทวารวิถี)

๕. จิตที่ทำกิจได้ ๑ อย่า มี ๖๘ ดวง (หรือ ๑๐๐ ดวง) ได้แก่

ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทำกิจ อาวัชชนกิจ (ปัญจทวารวิถี)
จักขุวิญญาณ ๒ ทำกิจ ทัสสนกิจ
โสตวิญญาณ ๒ ทำกิจ สวนกิจ
ฆานวิญญาณ ๒ ทำกิจ ฆายนกิจ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ทำกิจ สายนกิจ
กายวิญญาณ ๒ ทำกิจ ผุสนกิจ
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ทำกิจ สัมปฏิจฉนกิจ
อกุศลจิต ๑๒ ทำกิจ ชวนกิจ
หสิตุปปาทจิต ๑ ทำกิจ ชวนกิจ
มหากุศลจิต ๘ ทำกิจ ชวนกิจ
มหากิริยาจิต ๘ ทำกิจ ชวนกิจ
มหัคคตกุศลจิต ๙ ทำกิจ ชวนกิจ
มหัคคตกิริยาจิต ๙ ทำกิจ ชวนกิจ
โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ทำกิจ ชวนกิจ

แสดงการจำแนกเจตสิก ๕๒ โดยกิจ ๑๔ มี ๗ นัย

๑. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๑ กิจ มี ๑๗ ดวง :-

  • อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้นและอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น ทำหน้าที่เสพอารมณ์ เป็นชวนกิจอย่างเดียว
  • วิรตีเจตสิก ຕ ดวง ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ เป็นชวนกิจ 

๒. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๔ กิจ มี ๒ ดวง คือ :

  • อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๔ อย่าง คือ ปฏิสนธิกิจ,ภวังคกิจ, จุติกิจ,ชวนกิจ

อธิบาย อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงนี้ ถ้าประกอบกับมหากุศลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๔, รูปาวจรกุศลจิต ๔, รูปาวจรกิริยาจิต ๔ ทำหน้าที่ชวนกิจ แต่ถ้าประกอบกับรูปาวจรวิบาก ๔ ทำหน้าที่ ๓ อย่าง คือ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ รวมอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ทำกิจได้ ๔ กิจ ดังกล่าวข้างต้น

๓. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๕ กิจ มี ๒๑ ดวง คือ :-

  • ฉันทเจตสิก ๑ ดวง
  • โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
  • ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง

เจตสิกทั้ง ๒๑ ดวงนี้ทำหน้าที่ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. ชวนกิจ ๕. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย ฉันทเจตสิก ๑, โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙, ปัญญาเจตสิก ๑ รวมเจตสิก ๒๑ ดวงนี้ ไม่ประกอบในอเหตุกจิต ๑๘ จึงเว้นกิจที่อเหตุกจิตทำหน้าที่ ๙ กิจ คือ อาวัชชนกิจ, ทัสสนกิจ, สวนกิจ, ฆายนกิจ, สายนกิจ, ผุสนกิจ, สัมปฏิจฉนกิจ, สันตีรณกิจ และโวฏฐัพพนกิจ ซึ่งกิจทั้ง ๔ นี้ เป็นหน้าที่ของอเหตุกจิตโดยเฉพาะ ฉะนั้น จึงคงทำหน้าที่ได้เพียง ๕ กิจ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง

๔. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๖ กิจ มี ๑ ดวง คือ :-

  • ปีติเจตสิก ทำหน้าที่ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. สันตีรณกิจ ๕. ชวนกิจ ๖. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย ปีติเจตสิกนี้
๑. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็นอกุศล, กุศล, กิริยา และผลจิต ย่อมทำหน้าที่ ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับโสมนัสสันตีรณจิต ทำหน้าที่สันตีรณกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็นรูปาวจรวิบาก ๓ ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ
๔. เมื่อประกอบกับโสมนัสสหคตจิต ที่เป็น มหาวิบาก ๔ ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และตทาลัมพนกิจ

๕. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๗ กิจ มี ๑ ดวง คือ

  • วิริยเจตสิก ทำหน้าที่ ๗ กิจ คือ ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. จุติกิจ ๔. อาวัชชนกิจ ๕. โวฏฐพพนกิจ ๖. ชวนกิจ ๗. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย วิริยเจตสิกนี้
๑. ประกอบกับอกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิตและผลจิต ทำหน้าที่ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับมโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ และ โวฏฐัพพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับมหาวิบากจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๔. เมื่อประกอบกับมหัคคตวิบากจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ

๖. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๙ กิจ มี ๓ ดวง คือ :-

วิตกเจตสิก, วิจารเจตสิก, อธิโมกข์เจตสิก ทำหน้าที่ ๙ กิจ ได้แก่

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒.ภวังคกิจ 
  • ๓.จุติกิจ 
  • ๔. อาวัชชนกิจ 
  • ๕. สัมปฏิจฉนกิจ
  • ๖. สันตีรณกิจ
  • ๗. โวฏฐพพนกิจ
  • ๘. ชวนกิจ
  • ๙.ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย วิตก วิจาร และอธิโมกข์เจตสิก ๓ ดวงนี้
๑. เมื่อประกอบกับอกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิต และผลจิต ก็ทำหน้าที่ ชวนกิจ
๒. เมื่อประกอบกับมโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ และ โวฏฐพพนกิจ
๓. เมื่อประกอบกับสัมปฏิจฉนจิต ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ
๔. เมื่อประกอบกับสันตีรณจิต ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ, ตทาลัมพนกิจ, ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ
๕. เมื่อประกอบกับมหาวิบากจิต ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
๖. เมื่อประกอบกับมหัคคตวิบากจิต ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ และ จุติกิจ


๗. เจตสิกที่ทำหน้าที่ ๑๔ กิจ มีจำนวน ๗ ดวง คือ :-

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๒ ทำหน้าที่ ๑๔ กิจ คือ :-

  • ๑. ปฏิสนธิกิจ
  • ๒. ภวังคกิจ
  • ๓. จุติกิจ
  • ๔. อาวัชชนกิจ
  • ๕.ทัสสนกิจ
  • ๖. สวนกิจ
  • ๗. ฆายนกิจ
  • ๘. สายนกิจ
  • ๙. ผุสนกิจ
  • ๑๐. สัมปฏิจฉนกิจ
  • ๑๑. สันตีรณกิจ
  • ๑๒. โวฏฐพพนกิจ
  • ๑๓. ชวนกิจ
  • ๑๔. ตทาลัมพนกิจ

อธิบาย สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ ๑๔ อย่างได้ทั้งหมด การจำแนกกิจโดยจิต และจำแนกจิตโดยกิจได้แสดงมาแล้ว ต่อไปนี้จะได้แสดงฐาน คือ สถานที่ทำการงานของจิตและเจตสิก ซึ่งมีอยู่โดยสังเขป ๑๐ ฐาน

แสดงฐาน ๑๐ อย่าง

๑. ปฏิสนธิฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานสืบต่อภพใหม่
๒. ภวังคฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานรักษาองค์แห่งภพ
๓. อาวัชชนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานพิจารณาอารมณ์ใหม่
๔. ปัญจวิญญาณฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงาน เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, รู้รส, รู้ถูกต้องสัมผัส
๕. สัมปฏิจฉนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานรับปัญจารมณ์
๖. สันตีรณฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานไต่สวนปัญจารมณ์
๗. โวฏฐัพพนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานตัดสินปัญจารมณ์
๘. ชวนฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานเสพอารมณ์
๙. ตทาลัมพนฐาน คือ สถานที่ ที่ทำงานรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ
๑๐. จุติฐาน คือ สถานที่ ที่จิตทำงานสิ้นจากภพ


แสดงการจำแนกฐาน โดยจิต

๑. ปฏิสนธิฐานเป็นสถานที่ทำงานสืบต่อภพใหม่ของจิต ๑๙ ดวง คือ: -

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

๒. ภวังคฐาน เป็นสถานที่ทำงานรักษาองค์แห่งภพของจิต ๑๙ ดวง คือ : -

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

๓. อาวัชชนฐาน เป็นสถานที่ทำงานพิจารณาอารมณ์ของจิต ๒ ดวง คือ :-

  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑

๔. ปัญจวิญญาณฐาน เป็นสถานที่ทำงานในการ เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, รู้รส, รู้ถูกต้องสัมผัส ของจิต ๑๐ ดวง คือ :-

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐

๕. สัมปฏิจฉนฐาน เป็นสถานที่รับปัญจารมณ์ของจิต ๒ ดวง คือ :-

  • สัมปฏิจฉนจิต ๒

๖. สันตีรณฐาน เป็นสถานที่ไต่สวนปัญจารมณ์ของจิต ๓ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต 

๗. โวฏฐพพนฐาน เป็นสถานที่ตัดสินปัญจารมณ์ของจิต คือ :-

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑

๘. ชวนฐาน เป็นสถานที่เสพอารมณ์ของจิต ๕๕ ดวง คือ :-

  • อกุศลจิต ๑๒
  • หสิตุปปาทจิต ๑
  • มหากุศลจิต ๘
  • มหากิริยาจิต ๘
  • มหัคคตกุศลจิต ๙
  • มหัคคตกิริยาจิต ๙
  • โลกุตตรจิต ๘

๙. ตทาลัมพันฐาน เป็นสถานที่ทำงานรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะของจิต ๑๑ ดวง คือ :-

  • สันตีรณจิต ๓
  • มหาวิบากจิต ๘
๑๐. จุติฐาน เป็นสถานที่ทำงานสิ้นไปจากภพ ของจิต ๑๙ ดวง คือ :-

  • อุเบกขาส้นตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

แสดงการจำแนกจิตโดยกิจและฐาน

คาถาสังคหะ

อฏฺฐสฏฐิ ตถา เทฺว จ   นวาฎฺฐ เทฺว ยถากฺกมํ
เอกทฺวิติจตุปญฺจ—   กิจฺจฐานานิ นิทฺทิเส ฯ

แปลความว่า แสดงจำนวนจิตโดยหน้าที่ และฐาน ตามลำดับ ดังนี้คือ

จิตมีหน้าที่ ๑ และฐาน ๑ มีจำนวน ๖๘ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๒ และฐาน ๒ มีจำนวน ๒ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๓ และฐาน ๓ มีจำนวน ๙ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๔ และฐาน ๔ มีจำนวน ๘ ดวง
จิตมีหน้าที่ ๕ 
และฐาน ๕ มีจำนวน ๒ ดวง

อธิบาย

จิตที่ทำหน้าที่ ๑ อย่าง ที่ฐาน ๑ ฐาน มีจำนวน ๖๘ ดวง คือ :-

จักขุวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
โสตวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ สวนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ฆานวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ฆายนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ชิวหาวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ สายนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
กายวิญญาณ ๒ ทำหน้าที่ ผุสนกิจ ที่ ปัญจวิญญาณฐาน
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทำหน้าที่ อาวัชชนกิจ ที่ อาวัชชนฐาน
สัมปฏิจฉนจิต ๒  ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ ที่ สัมปฏิจฉนฐาน
ชวนจิต ๕๕ ทำหน้าที่ชวนกิจ ที่ ชวนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๒ อย่าง ที่ฐาน ๒ ฐาน มีจำนวน ๒ ดวง คือ :-

โสมนัสสันตีรณจิต ๑ 
- ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ ที่ สันตีรณฐาน
- ทำหน้าที่ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน
มโนทวาราวัชชนจิต ๑
- ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ ที่ อาวัชชนฐาน
- ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ที่ โวฏฐัพพนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๓ อย่าง ที่ฐาน ๓ ฐาน มีจำนวน ๙ ดวง คือ :-

มหัคคตวิบากจิต ๙
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๔ อย่าง ที่ฐาน ๔ ฐาน มีจำนวน ๘ ดวง คือ :-
มหาวิบากจิต ๘
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน
- ทำหน้าที่ ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน

จิตที่ทำหน้าที่ ๕ อย่าง ที่ฐาน ๕ ฐาน มีจำนวน ๒ ดวง คือ :-
อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
- ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่ ปฏิสนธิฐาน
- ทำหน้าที่ ภวังคกิจ ที่ ภวังคฐาน
- ทำหน้าที่ จุติกิจ ที่ จุติฐาน
- ทำหน้าที่ สันตีรณกิจ ที่ สันตีรณฐาน
- ทำหน้าที่ ตทาลัมพนกิจ ที่ ตทาลัมพนฐาน

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

คำว่า “อัญญสมาน” นี้ เมื่อแยกศัพท์แล้วได้ ๒ ศัพท์ คือ :-

อัญญ หมายถึง ธรรมอื่น
สมาน หมายถึง เหมือนกัน

อัญญสมาน จึงหมายถึง เหมือนธรรมอื่น ธรรมอื่นในที่นี้ หมายถึง เจตสิกธรรม ที่เป็นทั้งโสภณเจตสิกและอกุศลจิต ฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิก จึงหมายถึงเจตสิกที่มีสภาพเหมือนธรรมอื่น กล่าวคืออัญญสมานาเจตสิก ย่อมประกอบกับโสภณเจตสิก และอกุศลเจตสิกได้ทั้ง ๒ พวก

ส่วนโสภณเจตสิก ซึ่งไม่เหมือนกับอกุศลเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกซึ่งไม่เหมือนโสภณเจตสิก ทั้ง ๒ พวกนี้ จึงไม่อาจประกอบกันได้ เหมือนอย่างอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

แผนผังอัญญสมานาเจตสิก


อัญญสมานาเจตสิกนี้ มีอยู่ ๒ นัย คือ

🔆 นัยที่ ๑. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 
สัพพจิตสาธารณเจตสิก เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ สพฺพ + จิตฺต + สาธารณ
        สัพฺพ หมายถึง ทั้งหมด
        จิตฺต หมายถึง จิต
        สาธารณ หมายถึง ทั่วไป
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก จึงหมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปแก่จิตทั้งหมด เจตสิกประเภทนี้มี ๗ ดวงคือ

๑. ผัสสเจตสิก

ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์ ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของผัสสเจตสิก มีอยู่ ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ คือ :

    ผุสฺสนลกฺขโณ มีการกระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ
    สงฺฆฏฺฏนรโส มีการประสาน(อารมณ์-ทวาร วิญญาณ) เป็นกิจ
    สนฺนิปาตปัจจุปัฏฐาโน มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
    อาปาตคตวิสัยปทุฏฐาโน มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสเจตสิกที่มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะนั้น เพราะผัสสะนั้นมีอรรถว่า กระทบถูกต้อง ผัสสะนี้เป็นอรูปธรรม การกระทบนั้นจึงเป็นไปโดยการกระทบอารมณ์นั้น เหมือนคนที่เห็นผู้อื่นรับประทานของเปรี้ยว แล้วเกิดน้ำลายไหล คล้ายกับว่า ตนเองกำลังกระทบกับของเปรี้ยว ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นไปโดยอาการที่ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั่นเอง แม้ผัสสะ ซึ่งเป็นอรูปธรรม จะเป็นตัวกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ และเมื่อกระทบแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีอะไรเหลือเป็นส่วนติดค้างอยู่ก็จริง แต่ผัสสะนั้นก็เป็นตัวประสานจิตกับอารมณ์ให้เกิดรู้ขึ้นมา เหมือนประสานรูปกับตาให้เห็น ประสานเสียงกับหูให้ได้ยิน เป็นต้น จึงชื่อว่าผัสสะ มีการประสานจิตกับอารมณ์เป็นกิจ เมื่อผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์แล้วสภาพธรรมอันเป็นผลของผัสสะนั้น จึงเกิดขึ้น ๓ ประการคือ อารมณ์ ๑ ทวาร ๑ และวิญญาณ ๑

กล่าวคือ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ประการดังกล่าวแล้วนั้นจึงชื่อว่า ผัสสะ มีการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ๓ ประการเป็นผลปรากฏ ผัสสะ ย่อมมีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ กล่าวคือ เมื่อมีอารมณ์มาครอง(ทวาร) ประกอบด้วยการเอาใจใส่ที่เหมาะสม อันอินทรีย์ปรุงแต่งดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุใกล้ให้ผัสสะเกิดขึ้น โดยไม่มีอะไรขัดขวาง

๒. เวทนาเจตสิก

เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ ธรรมชาติที่ชื่อว่า เวทนานั้นมีอรรถว่า รับรู้ คือเสวยรสแห่งอารมณ์ จริงอยู่แม้สัมปยุตธรรมอื่นนอกจากนี้ ก็ย่อมมีการเสวยอารมณ์ได้ด้วยเหมือนกัน แต่เป็นการเสวยอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ผัสสะ มีการเสวยอารมณ์ชั่วขณะกระทบถูกต้อง สัญญาก็มีการเสวยเพียงจำเก็บอารมณ์เท่านั้น เจตนาก็เพียงการตั้งใจต่ออารมณ์เท่านั้น มิได้มีการเสวยโดยลิ้มรสของอารมณ์ โดยตรงเหมือนอย่างเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาจึงนับว่าเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจในการเสวยอารมณ์โดยตรง ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาเปรียบเวทนาเหมือนพระราชา สัมปยุตธรรมนอกจากนี้เหมือนพ่อครัวผู้ปรุงโภชนะที่มีรสดีต่างๆ แล้วเก็บใส่ภาชนะประทับตรา นำเข้าถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจเสวยได้ตามพระราชประสงค์ ส่วนสัมปยุตธรรมนอกนั้นเสวยรสอารมณ์ได้เพียงบางส่วน เหมือนพ่อครัวหรือต้นเครื่อง เพียงแต่ดมกลิ่น ชิมทดลองพระกระยาหารแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ทั้งหมด โดยตรงและแน่นอน

ลักษณะของเวทนา ตามนัยของปฏิจจสมุปบาท

    อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ
    วิสยรสสมฺโภครสา มีการเสวยรสของอารมณ์ เป็นกิจ
    สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และมีทุกข์ เป็นผลปรากฏ
    ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้

การรับรู้หรือการเสวยอารมณ์ของเวทนานั้น ถ้าจะจำแนกความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์, อนิฏฐารมณ์ และมัชฌัตตารมณ์แล้ว ได้ความรู้สึกสุขสบายเรียกว่า สุขเวทนา, ความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา, ความรู้สึกเฉยๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา การจำแนกเวทนาเป็น ๓ ประเภท ตามความรู้สึกในการเสวยอารมณ์นี้เรียกว่า จำแนกโดย อารัมมณานุภวนลักขณนัย แต่ถ้าจำแนกโดยความเป็นใหญ่ในการรับอารมณ์คือ การเสวยอารมณ์ที่เกี่ยวกับกายและเกี่ยวกับใจแล้ว ก็จำแนกออกเป็น ๕ ประเภทคือ :-

ทางกาย มี ๒ ได้แก่
ความรู้สึกสบายกาย เรียกว่า สุขเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายกาย เรียกว่า ทุกขเวทนา

ทางใจ มี ๓ ได้แก่
ความรู้สึกสบายใจ เรียกว่า โสมนัสเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายใจ เรียกว่า โทมนัสเวทนา
ความรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

การจำแนกเวทนาโดยความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ออกเป็น ๕ ประเภทนี้ เรียกว่า จำแนกโดย อินทริยเภทนัย จะได้แสดงลักษณะพิเศษเฉพาะตนของเวทนาทั้ง ๕ ประการ ตามนัยดังกล่าวนี้ คือ :-
    

  • ๑. สุขเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ แสดงว่า
    อิฏฐโผฏฺฐพฺพานุภวนลกฺขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ พยุหนรสา มีการทำให้สัมปยุตธรรมเจริญ เป็นกิจ
    กายิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มึความยินดีทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๒. ทุกขเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐโผฏฐพฺพานุภวนลกขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    สมฺปยุตฺตานํ มิลาปนรสา มีการทำสัมปยุตธรรมให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    กายิกาพาธ ปจฺจุปฏฺฐานา  มีความอาพาธทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๓. โสมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    อิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความแช่มชื่นยินดีทางใจ เป็นผล
    ปสฺสทฺธิปทฏฺฐานา มีความสงบกายใจ เป็นเหตุใกล้
  • ๔. โทมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    อนิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่ไม่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกาพาธปัจจุปฏฺฐานา มีความอาพาธทางใจ เป็นผล
    หทยวตฺถุปทฏฺฐานา มีหทัยวัตถุ เป็นเหตุใกล้
  • ๕. อุเบกขาเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์เฉยๆ ทางใจ ไม่โทมนัสและไม่โสมนัส มีลักขณาทิจตุกะ คือ :
    มชฺฌตฺต เวทยิตลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ปานกลาง เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ นาติอุปพยูหน มิลาปนรสา มีการรักษาสัมปยุตธรรม ไม่ให้เจริญและไม่ให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    สนฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
    นิปฺปีติกจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตที่ไม่มีความปีติยินดี เป็นเหตุใกล้

อย่างไรก็ตาม สุข ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส หรืออุเบกขา ก็ล้วนแต่ อาการเสวยรสแห่งอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น เวทนาเจตสิก จึงกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก

สัญญาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ เช่น จำอารมณ์นี้ว่า เป็นสีเขียว, สีแดง หรือยาว, สั้น, กลม, แบน หรือเหลี่ยมเป็นต้น มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :-

  • สัญชานน ลักฺขณา มีความจํา เป็นลักษณะ
  • ปุนสญฺชานน ปจฺจยนิมิตุตกรณรสา มีการทำเครื่องหมายเพื่อให้รู้ต่อไป เป็นกิจ
  • ยภาคหิต นิมิตฺตัวเสน อภินิเวสกรณ์ปัจจุปฏฺฐานา มีความจำเครื่องหมายที่กำหนดให้ไว้ เป็นผล
  • ยถาอุปฏจิตวิสยปทฏฺฐานา มีอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเหตุใกล้

๔. เจตนาเจตสิก

เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จัดแจงเอาธรรมที่สัมปยุตกับตนไว้ในอารมณ์คือ มีภาวะที่กระตุ้นเตือนให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ตั้งใจทำกิจของตนๆ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • เจตนาภาวลกฺขณา มีความตั้งใจ เป็นลักษณะ
  • อายูหนรสา มีการประมวลมา เป็นกิจ
  • สวิธานปจฺจุปฏฺฐานา มีการจัดแจง เป็นผล
  • เลสขนฺธตฺตยปทฏฐานา มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

มีความตั้งใจเป็นลักษณะนั้น ก็คือ ความมุ่งหวัง เพื่อให้ธรรมที่สัมปยุตด้วยตนเป็นไปในอารมณ์ มีการประมวลมาเป็นกิจ มุ่งหมายถึงมีหน้าที่ประมวลมาซึ่ง กรรม มีกุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นกิจ มีความจัดแจงเป็นผล หมายถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งธรรมที่เป็นสังขตะ จึงจำแนกไว้ในประเภท สังขารขันธ์ เพราะอรรถว่าปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม เป็นผล

มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้ คือนามขันธ์ ๔ นั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน และช่วยอุดหนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้น นามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

๕. เอกัคคตาเจตสิก

เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่สงบ และทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อวิกฺเขปลกฺขณา มีการไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา มีการรวบรวมสหชาติธรรม เป็นกิจ
  • อุปสมปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
  • สุขปทฏฺฐานา มีสุขเวทนา เป็นเหตุใกล้

๖. ชีวิตินทรียเจตสิก

ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตธรรม ที่ชื่อว่า “ชีวิต” เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องดำรงอยู่แห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และชื่อว่า “อินทรีย์” เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการอนุบาลธรรมที่เกิดร่วมกัน เพราะเป็นเครื่องดำรงอยู่ และเป็นใหญ่ในการอนุบาลสัมปยุตธรรม จึงชื่อว่า ชีวิตินทรียเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สหชาตานํ อนุปาลนลกขณํ มีการรักษาสหชาติธรรม เป็นลักษณะ
  • เตสํ ปวตฺตนรสํ มีความตั้งอยู่ และเป็นไปได้แห่งสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
  • เตสญฺเญ ถปนปจจุปฏฺฐานํ มีการดำรงอยู่ได้แห่งสหชาตธรรม เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทฏฺฐานํ มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

ชีวิตินทรียเจตสิก ที่มีการอนุบาลสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้น เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัวให้ดำรงความสดอยู่ ฉะนั้น

๗. มนสิการเจตสิก

การกระทำ ชื่อว่า “การะ” การกระทำไว้ในใจ ชื่อว่า “มนสิการ” มนสิการเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เหนี่ยวนำสัมปยุตธรรม เข้าสู่อารมณ์อยู่เสมอ เช่น เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุปสาทแล้ว จักขุวิญญาณจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยมนสิการเจตสิก ขณะเดียวกันนั้นเอง มนสิการเจตสิกก็เป็นผู้นำให้จิตและเจตสิกดวงอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับตนนั้น มุ่งเข้าสู่รูปารมณ์ ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ได้อุปมามนสิการเจตสิกนี้ เป็นเหมือนนายสารถีที่ชักม้าไปสู่ทิศทางที่ตนต้องการ คือให้มุ่งหน้าตรงต่ออารมณ์นั้นเอง มนสิการเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สารณลกฺขโณ มีการทำให้สัมปยุตธรรมแล่นไปในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • สมฺปยุตฺตานํ อารมุมเณ สโยชนรโส มีการประกอบสัมปยุตธรรมไว้กับอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมุมณภิมุขีภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีการทำสัมปยุตธรรมให้มุ่งตรงอารมณ์เสมอ เป็นผล
  • อารมฺมณปทฏฺฐาโน มีอารมณ์ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต และกาลวิมุตติ) เป็นเหตุใกล้

มนสิการ แปลว่า การกระทำในใจ คือ ความใส่ใจว่าโดยทั่วไปแล้ว มนสิการ มี ๓ อย่าง คือ :-

๑. วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการที่ทำให้วิถีจิตเกิดทางปัญจทวาร ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เริ่มรับอารมณ์ใหม่เข้า มากระทบทวารทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทำให้จักขุทวารวิถี เป็นต้นเกิดขึ้น จึงชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่วิถี
๒. ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการ ที่ทำให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์ โดยความเป็นกุศล, อกุศล หรือกิริยาชวนจิต ตามธรรมดา ปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี ที่มีชวนจิตเกิดขึ้นได้นั้น เพราะอาศัยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นเหตุ ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตแล้ว ชวนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตจึงชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่ชวนะ
๓. อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ คือ มนสิการที่ทำให้สัมปยุตธรรมคือ จิต, เจตสิก แล่นไปในอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มนสิการเจตสิก มนสิการที่เป็นเจตสิกปรมัตถ์นั้น มุ่งหมายเอาอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ นั่นเอง


🔆 นัยที่ ๒ ปกิณณกเจตสิก

คำว่า ปกิณณก นั้น เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ :-

    ป แปลว่า โดยทั่วไป
    กิณฺณ แปลว่า กระจัดกระจายไป
    ก ไม่มีคำแปลโดยเฉพาะ

ฉะนั้น คำว่า “ปกิณฺณก” จึงแปลว่า กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป “ปกิณณกเจตสิก” จึงหมายความว่า เจตสิกที่กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วๆไป คือปกิณณกเจตสิกบางดวงประกอบกับอกุศลจิตบ้าง, กุศลจิตบ้าง, วิบากจิตหรือกิริยาจิตบ้าง เป็นการประกอบได้ทั่วไป ทั้งฝ่าย อโสภณะ และโสภณะ หรือทั้งโลกียะ และโลกุตตระ แต่การประกอบของปกิณณกเจตสิกนี้ ประกอบได้แต่เพียงบางดวงเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบได้กับจิตทั้งหมด เหมือนอย่างสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ซึ่งประกอบกับจิตทั่วไป และประกอบได้ทั้งหมด ปกิณณกเจตสิกนี้ มีจำนวน ๖ ดวง คือ :-

๑. วิตกเจตสิก

วิตกเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ยกจิตเข้าไว้ในอารมณ์ คือ ยกเอาสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้นมาจดจ่อที่อารมณ์ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว วิตก คือการตรึกอยู่ในอารมณ์ ซึ่งมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อภินิโรปนลกฺขโณ มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อาหนปฺปริยาหนรโส มีการกระทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นกิจ
  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อานยน ปัจจุปัฏฺฐาโน มีจิตที่นำเข้าไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฺฐาโน(วา) มีอารมณ์ (หรือ) เลสขนฺธตฺตยปทุฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

สภาพของวิตกเจตสิกนั้น เป็นเหมือนนำสัมปยุตธรรมเหล่านั้นบรรจุเข้าไว้ในอารมณ์ อุปมาเหมือนคนบางคนที่อาศัยญาติ หรือมิตรสหาย ซึ่งเป็นข้าราชบริพารพาเข้าสู่ราชมณเฑียรได้ ฉันใด จิตก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องอาศัยวิตกเจตสิก จึงขึ้นสู่อารมณ์ได้ฉันนั้น

ความแตกต่างระหว่าง เจตนา, มนสิการ และวิตกเจตสิก

สภาวะของเจตสิกธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ มีลักษณะและกิจหน้าที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก จึงสมควรที่จะได้ทราบความต่างกัน ดังต่อไปนี้ คือ :

- ลักษณะและกิจของเจตนาเจตสิก ก็คือ การกระตุ้นเตือนสัมปยุธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้เข้าจับอารมณ์นั้น เป็นลักษณะ และพยายามให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ติดต่อกับอารมณ์นั้นๆ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ เจตนา ทำให้จิตและเจตสิก สำเร็จการงานเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

- ลักษณะและกิจของมนสิการเจตสิก ก็คือ การทำให้สัมปยุตธรรมมุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ เป็นลักษณะ และทำให้สัมปยุตธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ มนสิการ ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้มุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้หันเหไปทางอื่น

- ลักษณะและกิจของวิตกเจตสิกก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะมีการตั้งต้นกระทบในอารมณ์นั้นบ่อยๆเป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ วิตก ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ก้าวขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ย่อท้อถอยหลัง

อุปมา เจตนา, มนสิการ และวิตก เหมือนกับเรือแข่ง ซึ่งมีฝีพายอยู่ ๓ คน คนหนึ่งพายหัว, คนหนึ่งพายกลาง และอีกคนหนึ่งถือท้าย จริงอยู่แม้จะทำงานพายเรืออย่างเดียวกัน แต่คนหัวกับคนท้าย จะต้องมีหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้น โดยคนหัวมีความมุ่งให้เรือถึงหลักชัย และเมื่อถึงแล้ว ต้องพยายามคว้าธงเอามาให้ได้ด้วย คนหัวนี้จึงเปรียบได้กับ เจตนา ที่พยายามทำให้สำเร็จการงานต่างๆ คนพายกลางมีหน้าที่แต่เร่งฝีพายให้เรือถึงหลักชัยอย่างเดียว ซึ่งเปรียบได้กับ วิตก ซึ่งทำหน้าที่ให้จิตและเจตสิกก้าวขึ้นสู่อารมณ์ ส่วนคนถือท้ายมุ่งให้เรือตรงเข้าสู่หลักชัย ซึ่งเปรียบได้กับมนสิการ ซึ่งทำหน้าที่ให้สัมปยุตธรรมเข้าประกอบในอารมณ์ ความต่างกันของเจตนา มนสิการ และวิตก จึงมีดังกล่าวนี้

๒. วิจารเจตสิก

วิจารเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ประคองสัมปยุตธรรมให้อยู่กับอารมณ์ เพราะวิจารนั้น มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ และเมื่อเจตสิกธรรมนี้ปรากฏขึ้น จึงทำให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น เคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ไม่ปล่อยไปด้วย มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมณานุมุชชนลกฺขโณ มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • ตตฺถ สหชาตานุโยชนรโส มีการประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้น เป็นกิจ
  • จิตฺตอนุปฺปพนฺธปจจุปฏฺฐาโน มีการตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฐาโน (วา) มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ (หรือ) เสสขนฺธตฺตยปทฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือเป็นเหตุใกล้

สภาพธรรมของวิตกและวิจารนี้ใกล้ชิดติดกัน คือ การยกจิตไว้ในอารมณ์ครั้งแรกชื่อว่า “วิตก” การตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ชื่อว่า “วิจาร” อุปมาเหมือนการเคาะระฆัง เสียงระฆังที่ดังปรากฏขึ้นครั้งแรกเปรียบได้กับวิตก เสียงระฆังที่ดังกังวานสืบต่อไปเปรียบได้กับ วิจาร หรืออุปมาเหมือน นกเขาใหญ่ที่บินไปในอากาศ เมื่อกระพือปีกโผขึ้นสู่อากาศครั้งแรกเปรียบเหมือน วิตก เมื่อบินติดลมแล้ว ก็กางปีกร่อนไปในอากาศ เปรียบเหมือน วิจาร ดังนั้น จึงเห็นว่าวิจารเจตสิกนี้ รับอารมณ์ได้สุขุมกว่าวิตก และแม้จะเกิดพร้อมกัน ก็ปฏิบัติหน้าที่ตามหลังวิตก ความต่างกันของเจตสิกทั้งสองนี้ จะปรากฏชัดเจนในองค์แห่งปฐมฌาน และทุติยฌาน ของฌานลาภีบุคคล

๓. อธิโมกขเจตสิก

อธิโมกขเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีสภาพทำลายจิตที่รวนเร เป็นสองฝักสองฝ่ายในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีการตัดสินอารมณ์เด็ดขาด ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จะตัดสินถูกหรือผิดก็ตามและไม่ว่าการงานที่สุจริตหรือทุจริตก็ตาม ที่ได้ตัดสินใจสำเร็จลงได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของอธิโมกขเจตสิก ฉะนั้น ลักขณาทิจตุกะของอธิโมกขเจตสิก คือ :-

  • สนฺนิฏฐานลกฺขโณ มีการตัดสินใจเด็ดขาด เป็นลักษณะ
  • อสํสปฺปนรโส มีการตั้งมั่นไม่รวนเรในอารมณ์ เป็นกิจ
  • วินิจฺฉยปจฺจุปฏฐาโน มีการตัดสิน เป็นผล
  • สนฺนิฎเฐยยธมฺมปทฏฐาโน มีธรรม (อารมณ์) ที่จะต้องตัดสินใจ เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินี แสดงไว้ว่า ความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่า อธิโมกข์, และอรรถของอธิโมกข์ก็คือ มีความตกลงใจ เป็นลักษณะ, มีการไม่แส่ไป เป็นรส, มีการตัดสินใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน, มีธรรมที่จะต้องตกลงใจ เป็นปทัฏฐาน อธิโมกข์นั้นจึงเข้าใจว่าเหมือนเสาเขื่อน เพราะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ อธิโมกข์นี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา เพราะวิจิกิจฉาเป็นสภาพที่ลังเลสงสัยในอารมณ์ แต่อธิโมกข์ มีหน้าที่ทำลายความลังเลสงสัย

๔. วิริยเจตสิก

วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติเพียรพยายามต่ออารมณ์ คือ อดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ที่เกี่ยวกับการงานต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี และไม่ว่างานนั้นจะยากลำบากมากน้อยสักเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่ประกอบด้วยวิริยะแล้วย่อมสำเร็จไม่ได้ วิริยะจึงชื่อว่า ความเพียร อันได้แก่ความอุตสาหะซึ่งมีความหมายว่า สามารถอดทนต่อความยากลำบากที่กำลังได้รับอยู่ ดังวจนัตถะว่า “อุทุกขลาเภสหนํ อุสฺสาโห” ความสามารถอดทน เมื่อได้รับความลำบากชื่อว่า อุตสาหะ ได้แก่ วิริยเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

  • อุสฺสาหนลกฺขณํ มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ อุปตฺถมฺภนรสํ มีการอุดหนุนธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ
  • อสีสํทนปจจุปฏฐานํ มีการไม่ท้อถอย เป็นผลปรากฏ
  • สํเวควตฺถุ ปทุฏฐานํ (วา) มีความสลดคือ สังเวควัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้ หรือ วิริยารมฺภ วตฺถุ ปทฏฺฺฐานํ (หรือ) มีวิริยารัมภวัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย บรรดาสัมปยุตธรรมทั้งหลายคือ จิตและเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอุตสาหะ พากเพียร ไม่ท้อถอย เพราะอำนาจของวิริยะนั้นเองที่ช่วยอุดหนุนไว้ อุปมาเหมือนบ้านเก่าที่จวนจะพัง เอาเสาปักค้ำจุนไว้ให้ตั้งมั่นทานลมอยู่ได้ ฉะนั้น ส่วนการที่วิริยะจะเกิดขึ้นได้นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุที่มีสังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ :-

๑. ชาติทุกข์
๒. ชราทุกข์
๓. พยาธิทุกข์
๔. มรณทุกข์
๕. อบายทุกข์
๖. วัฏฏมูลกในอดีต
๗. วัฏฏมูลกในอนาคต
๘. อาหารปริเยฏฐมูลกในปัจจุบัน

สังเวควัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุให้วิริยะเกิดได้นั้น ย่อมมุ่งหมายถึงวิริยะที่เป็นฝ่ายดีคือ โสภณะเท่านั้น หมายถึงเมื่อพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และสัตว์ทั้งหลายต้องเสวยทุกข์ในอบายภูมิ บางพวกเกิดเบื่อหน่ายที่จะต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ ก็พยายามสร้างกุศลให้พ้นจากวัฏฏะ บางพวกก็กลัวภัยในอบายภูมิ ๔ ก็เพียรพยายามสร้างกุศลที่สามารถทำให้พ้นจากอบายได้ บางพวกเห็นโทษภัยของการเกิดในปัจจุบัน ต้องแสวงหาอาหารอยู่เป็นนิตย์ ก็เพียร สร้างกุศล ให้พ้นจากการเกิด สังเวควัตถุจึงเป็นเหตุใกล้ให้วิริยะฝ่ายดีเกิดขึ้น ฉะนั้นสภาวะที่เป็นตัวสังเวคนี้ จึงได้แก่ปัญญา ที่เกิดพร้อมด้วย โอตตัปปะ เป็นประธาน

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ได้แก่

๑. กมุม เกี่ยวกับการงานเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. การงานที่ทำสำเร็จแล้ว
    ข. การงานที่จะลงมือทำ
๒. มคฺค เกี่ยวกับการเดินทางเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :
    ก. การเดินทางที่เพิ่งมาถึง
    ข. การเตรียมจะเดินทางไป
๓. เคลญฺญ เกี่ยวกับสุขภาพเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีร่างกายที่เริ่มสบายขึ้น
    ข. มีร่างกายที่เริ่มไม่สบาย
๔. ปิณฺฑ เกี่ยวกับอาหารเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีอาหารไม่สมบูรณ์
    ข. มีอาหารบริบูรณ์

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุใกล้ให้วิริยะเกิดได้นั้น มุ่งหมายเอาวิริยะทั่วไปที่สัมปยุตกับจิตทั้งฝ่ายดี และไม่ดีก็ได้ ฉะนั้น ถ้าผู้มีอโยนิโสมนสิการและมีโกสัชชะมาก วิริยารัมภวัตถุ ๘ อย่างนี้ จะกลับกลายเป็นกุสิตวัตถุ คือ วัตถุที่เป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านขึ้นได้คือ เมื่อคิดถึงเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้วนั้นก็เกิดความท้อแท้เบี่ยงบ่ายไปตามอำนาจของกิเลสได้ จิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกประกอบเรียกว่า “อวิริยจิต” มี ๑๖ ดวง ได้แก่

ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐
สัมปฏิจฉนจิต ๒
สันตีรณจิต ๓
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

๕. ปีติเจตสิก

ปีติเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ได้แก่สภาพที่แช่มชื่น อิ่มเอิบใจ เมื่อได้รับอารมณ์นั้นๆ มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :

  • สมฺปิยายนลักฺขณา มีความแช่มชื่นใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • กายจิตฺตปินฺนรสา (วา) มีการทำให้อิ่มกายอิ่มใจ หรือ ผรณรสา มีการทำให้ซาบซ่านทั่วร่างกาย เป็นกิจ
  • โอคยุยปัจจุปัฏฐานา มีความฟูใจ เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทุฏฐานา มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ธรรมชาติของปีตินี้ เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจมีหน้าตา และกาย วาจา ชื่นบาน แจ่มใส เป็นพิเศษ บางทีก็ทำให้รู้สึกซาบซ่านในร่างกายนั่นเอง และทำให้จิตใจของผู้นั้นแช่มชื่น เข้มแข็งไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์ อาการปรากฏของปีตินี้คือ การทำจิตใจฟูเอิบอิ่มขึ้นมา ส่วนปีติที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เวทนาขันธ์ที่เป็นเหตุใกล้ให้ปิติเกิดขึ้นย่อมอาศัย สุขเวทนา เท่านั้นเป็นเหตุให้ปิติเกิด ด้วยเหตุนี้เอง บางทีเราเข้าใจว่า ปีติ และ สุข นั้น เป็นอันเดียวกันแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งความจริงนั้น เป็นสภาวะที่ต่างกันคือ ปีติ เป็นธรรมชาติที่มีความยินดีเพราะได้ประสบอิฏฐารมณ์ “ปีติในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่สุขในที่ใด ปีติอาจจะไม่มีในที่นั้นก็ได้” ปีติ เป็น สังขารขันธ์ แต่ สุข เป็น เวทนาขันธ์

อุปมา ปีติเหมือนบุรุษเดินทางไกลไปในที่กันดาร มีเหงื่อโทรมกายกระหายน้ำ ครั้นเห็นบุรุษอีกคนหนึ่งเดินมา ก็ถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง บุรุษผู้นั้นตอบว่า พอพ้นดงก็พบสระน้ำ ท่านไปที่นั้นก็จะได้น้ำดื่ม บุรุษผู้เดินทางไกลนั้นตั้งแต่ได้ยินว่า มีสระน้ำจนกระทั่งได้เห็นสระน้ำนั้น ก็จะเกิดปีติมีอาการแช่มชื่นเบิกบานในอารมณ์ที่ได้ยินว่า มีสระน้ำ หรือได้เห็นสระน้ำนั้น นี้เป็นธรรมชาติของปีติ แต่ถ้าบุรุษนั้นได้ดื่มน้ำหรือได้อาบน้ำ ก็จะรู้สึกว่าสุขสบายดีจริง ฉะนั้น สุขจึงดำรงอยู่ด้วยการเสวยรสแห่งอารมณ์ เราจึงเห็นความต่างกันของปีติและสุขได้ชัดเจนว่า ปีติเกิดจากความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ส่วนสุขเกิดจากการตามเสวยอารมณ์ที่ดี

เมื่อปีติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทางใจเช่นนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับโสมนัสเวทนาขึ้นมา แต่ถึงกระนั้นปีติก็ไม่ใช่โสมนัสอยู่นั่นเอง เพราะโสมนัสเป็นเวทนาขันธ์ เกิดได้ในจิต ๖๒ ดวง ปีติเป็นสังขารขันธ์เกิดกับจิตได้เพียง ๕๑ ดวง จตุตถฌานลาภีบุคคล ย่อมเห็นความต่างกันแห่งโสมนัสและปีตินี้ได้ชัดเจน

ปีติเจตสิก ธรรมชาติที่ปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจนั้นมี ๕ ประการคือ :-
๑. ขุททกาปีติ ปลาบปลื้มเพียงเล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
๒. ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มชั่วขณะเหมือนสายฟ้าแลบ เกิดขึ้นและก็หายไป แต่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ
๓. โอกนฺติกาปีติ ปลาบปลื้มเป็นพักๆ และมีการไหวเอนโยกโคลงเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
๔. อุพฺเพงฺคาปีติ ปลาบปลื้มจนตัวลอย
๕. ผรณาปีติ ปลาบปลื้มชนิดอิ่มเอม ซาบซ่านไปทั่วร่างกายเกิดในอัปปนาจิต และตั้งอยู่ได้นาน ดังเช่น รูปพรหมทั้งหมด ไม่ต้องกินอาหาร อยู่ได้ด้วยผรณาปีติ

อนึ่ง อาการรู้สึกขนลุกอาจเกิดจากการประสบอารมณ์ที่น่ากลัว เช่นกลัวผีก็รู้สึกขนลุกเหมือนกัน แต่เป็นไปด้วยอำนาจโทสะ ชนิดปฏิกกมโทสะ คือ โทสะชนิดถอยหลัง ไม่ใช่ขุททกาปีติ

๖. ฉันทเจตสิก

ฉันทเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความพอใจในอารมณ์ ได้แก่ สภาพที่มีความพอใจในอารมณ์ที่ต้องการ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ

  • กตฺตุกมฺยตาลกฺขโณ มีความปรารถนาเพื่อจะรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อารมฺมณปริเยสนรโส มีการแสวงหาอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมฺมเณน อตฺถิกตา ปัจฺจุปัฏฺฐาโน มีความปรารถนาอารมณ์ เป็นผล
  • อารมฺมณปทุฏฐาโน มีอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ฉันทเจตสิก ที่มีความปรารถนาเพื่อจะกระทำเป็นลักษณะนั้นหมายถึงมีความปรารถนารูปารมณ์ เพื่อจะเห็น, ปรารถนาสัททารมณ์เพื่อจะได้ยิน, ปรารถนาคันธารมณ์ เพื่อจะได้กลิ่น เป็นต้น รวมความแล้วความต้องการเห็น, ได้ยิน ได้กลิ่น, รส, ถูกต้องสัมผัส, คิด อารมณ์นี้เองเป็นลักษณะของฉันทะ เมื่อมีความต้องการอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะแล้ว ก็ต้องมีการแสวงหาอารมณ์ที่ต้องการต่างๆ นั้น มาสนองความต้องการ การแสวงหาอารมณ์ต่างๆ นี้ จึงเป็นกิจของฉันทะ เมื่อพิจารณาอาการของฉันทะนั้น ก็จะได้รู้ด้วยปัญญาว่า ฉันทะมีความปรารถนาอารมณ์เป็นผลปรากฏ และอารมณ์นั้นเองที่เป็นเหตุใกล้ให้ฉันทะเกิดขึ้น

ข้อสังเกต ฉันทะกับโลภะนั้น มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก คือ มีความต้องการอารมณ์ด้วยกัน แต่ความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่เหมือนกับความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะ กล่าวคือ ความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะนั้น ย่อมยึดและติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น ส่วนความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่ยึดและไม่ติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น อุปมาเหมือนบุคคลที่ต้องการรับประทานขนม กับบุคคลที่ต้องการรับประทานยา ความต้องการขนมนั้น เป็นความต้องการที่เป็นโลภะ เพราะเป็นความต้องการที่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ ส่วนความต้องการยานั้นเป็นความต้องการชนิดที่เป็นฉันทะ เพราะไม่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ เมื่อหายป่วยแล้ว ก็ไม่มีความต้องการรับประทานยาอีก



มหาวิบากจิต ๘

วิบากจิต มีสภาพดังนี้ คือ : -

๑. ไม่ใช่เป็นจิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นเหตุแล้ววิบากจิต คือ ผล ก็ต้องมีแน่นอน
๒. วิบากจิต เป็นจิตที่สงบ ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวาย หรือวิริยะ อุตสาหะ ยังมีกำลังอ่อน ต่างกับกุศล อกุศล และกิริยา
๓. วิบากจิต ไม่ปรากฏชัด ที่รู้สึกปรากฏชัดเฉพาะขณะหลับ ส่วนเวลาตื่น จิตขึ้นสู่วิถี เป็นกุศลบ้าง อกุสลบ้าง กิริยาบ้าง ย่อมเด่นชัดมากกว่าวิบากจิต
๔. เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ก็มีกำลังอ่อนไปด้วย รวมทั้งปฏิสนธิ กัมมชรูปและจิตชรูป ที่เกิดจากวิบากจิตนั้น ก็ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้ว ความชราจะต้องมีแน่นอน

🔅สเหตุกกามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก)

สเหตุกามาวจรวิบากจิต นิยมเรียกกันว่า กามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากเพราะเป็นจิตที่เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต หรือ มหากุศลจิต ๘ ดวงโดยตรง กล่าวคือ

มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นเหตุให้มหาวิบากจิตเกิด ๘ ดวง เป็นผล และย่อมให้ผลตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหากุศลจิต เป็นโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ก็ให้ผลเป็น มหาวิบากโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ด้วยเหมือนกัน ดังนี้ เป็นต้น กามาวจรวิบากจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมี ๒๓ ดวง คือ

        กามาวจรวิบากจิต
                🅞 อเหตุกะ >> อกุศลวิบาก ๗ 
                                  >> กุศลวิบาก ๘ 
                🅞 สเหตุกะ >> กามาวจรวิบาก ๘

                      รวมเป็นจิตที่เกิด ๒๓ ดวง

ในกามาวจรวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ และสเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ รวมจิต ๑๖ ดวงนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ หรือที่เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง เพราะเหตุที่ให้ผลมากกว่าตน เช่นนี้เอง แม้อเหตุกกุศลวิบากจิต และมหาวิบากจิต จะเนื่องแต่มหากุศลจิตอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความแตกต่างกันระหว่างอเหตุกกุศลวิบากจิต กับ มหาวิบากจิตย่อมมีอยู่เสมอ คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศล แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใด ๆ ประการหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็ไม่มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้กว้างขวาง ทั้งในกามภูมิและรูปภูมิตามสมควร ประการหนึ่ง

มหาวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต แต่ประกอบด้วยเหตุประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นประการหนึ่ง

ฉะนั้น สเหตุกกามาวจรวิบากจิต หรือมหาวิบากจิต ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงหมายถึงจิตที่จะเป็นผลของมหากุศล เพราะเมื่อกล่าวโดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขารแล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ จึงชื่อว่า "มหาวิบากจิต" สเหตุกกามาวจรวิบากจิตนี้ มีจำนวน ๘ ดวง และมีชื่อเหมือนกันกับมหากุศลจิต คือ 

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

🔅 มหาวิบากเป็นอัพยากตธรรม

มหาวิบากที่เป็นอัพยากตธรรม คือ ในสมัยใด เพราะกามาวจรกุศล อันได้กระทำไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดผลเป็นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับความยินดีบ้าง ความเฉยๆ บ้าง ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีรูปารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน หรือมีการชักชวน เป็นมหาวิบากจิต ๘ ดวง

ในสมัยนั้น ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์มนสิการ สัทธา ฯลฯ เกิด อวิกเขป คือ สภาวะที่สงบอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน สภาวธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมเป็นอัพยากต เพราะมีอัพยากตมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ เป็นมูลฐานให้สภาวธรรมเหล่านั้น ปรากฏขึ้น

🔅 มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล

มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล คือ ในมหากุศลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันแห่งกรรม, ทวาร, กรรมบถและบุญกิริยาวัตถุ แต่ความแตกต่างกันเหมือนในมหากุศลนั้นไม่มีในมหาวิบาก ทั้งนี้ เพราะมหาวิบากไม่ยังวิญญัติให้เกิด เพราะมหาวิบากเป็นผลที่สุกแล้ว ไม่มีวิบากต่อไปอีก และเพราะมหาวิบากไม่ได้กระทำสัตวบัญญัติให้เป็นอารมณ์ คือ กรุณา มุทิตา และแม้วิรัติ คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวจาและสัมมาอาชีวะ ไม่มี ธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนั้น จึงเกิดกับมหาวิบากจิตไม่ได้เลย ส่วนสภาวะแห่งสังขารธรรมนั้น คือ ประเภทแห่งอสังขาริกและสสังขาริกเหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ

🔅 ฐานะที่อำนวยผลของมหาวิบาก

มหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น ย่อมอำนวยผลในฐานะ ๔ ประการ คือ

ในฐานะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิกิจ
ในฐานะที่รักษาภพชาติที่ดำรงอยู่นั้นไว้ เรียกว่า ภวังคจิต
ในฐานะสิ้นไปจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติกิจ
ในฐานะหน่วงอารมณ์ที่เหลือจากการที่เสพแล้ว เรียกว่า ตทาลัมพนกิจ

 🅞 ฐานะผู้อำนวยผลเป็นปฏิสนธิกิจ ผู้ที่เคยทำบุญกุศล ทั้งชนิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม อำนาจแห่งกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวงนั้น ย่อมยังผลให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเป็นเทวดา ชั้นกามาวจร ผู้ปฏิสนธิ คือ มหาวิบากจิต ๘ และกัมมชรูป
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นภวังค์กิจ เมื่อสัตว์ทั้งหลายผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว ก็อำนวยผลเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ในการรักษาภพชาติของมนุษย์ หรือเทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นไว้ในปวัตติกาลตลอดอายุขัย ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตามสมควรแก่อายุขัยแห่งสัตว์ในภพภูมิที่เป็นอยู่นั้น
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นตทาลัมพูนกิจ ยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือต่อจากขณะเสพอารมณ์นั้น ได้แก่ รับอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนจิตวิบากจิตที่จะอำนวยผลเป็นตทาลัมพนกิจนี้มีได้แต่เฉพาะกามสัตว์ที่ในกามภูมิ เท่านั้น คือ เป็นกามบุคคล มีกามอารมณ์ และกามชวนะ
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นจุติกิจ ในมรณกาลแห่งภพชาติที่เป็นอยู่นั้น มหาวิบากจิตที่ปรากฏครั้งแรกในภพชาตินั้นๆ และดำรงสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนไปจากภพชาติที่เป็นอยู่ ฉะนั้น มหาวิบากจิตประเภทเดียวกับที่ถือปฏิสนธินั่นเอง เป็นผู้จุดสิ้นไปจากภพชาตินั้น



ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มหาวิบากทั้ง ๘ ดวงนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งต้นสัตว์ให้ปรากฏขึ้นใหม่ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่กำลังของมหากุศล ซึ่งทำให้สัตว์แตกต่างกันด้วยภูมิหรือกำเนิด และแม้อยู่ในภูมิเดียวกัน ก็ยังต่างกันด้วยอำนาจแห่งกิเลสและต่างกันด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ปัญญาของกุศลเจตนาในอดีต อันยังเป็นวิบากที่ให้สัตว์เหล่านั้นพึงได้รับภายหลังจากที่ได้เกิดมาแล้ว สัตว์เหล่านี้ บางพวกมีโลภะเป็นส่วนมาก บางพวกมีโทสะเป็นส่วนมาก และบางพวกมีโมหะเป็นส่วนมาก ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ธรรมอันใดเป็นผู้กำหนดภาวะที่เป็นส่วนข้างมาก ก็ให้ปรากฏเป็นผลขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น คำตอบ ก็คือ เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เป็นผู้กำหนดให้ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ขวนขวายประกอบกรรมในปัจจุบัน ความแตกต่างในการขวนขวายของบรรดาสัตว์เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นผลที่แตกต่างกัน คือ 


  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ อโมหะ แรง แต่อโลภะ โทสะ และโมหะอ่อน ผู้นั้นเป็นคนมักได้ ชอบสบาย มักไม่โกรธ แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง แต่มีอโลภะ อโทสะ และโมหะอ่อน ย่อมเป็นคนมักได้และฉุนเฉียว แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักได้ โง่เขลาและชอบสบาย มักไม่โกรธง่าย
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ โมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักได้ ฉุนเฉียวและลุ่มหลง
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ โมหะ แรง ผู้นั้นย่อมมักน้อย แต่เป็นผู้ฉุนเฉียว และมีปัญญาน้อย
  • ผู้ใด มีอโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักน้อย ไม่ฉุนเฉียว และ เป็นคนเขลา
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักน้อย และมีปัญญาแต่เป็นผู้ฉุนเฉียว มักโกรธ
  • ผู้ใด มือโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้ง ๓ แรง ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่ฉุนเฉียวและมีปัญญา

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ว่า เหตุเบื้องต้น ย่อมกำหนดผลให้ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอุปการะในการประกอบกรรมในปัจจุบัน ความต่างกัน จึงย่อมปรากฏขึ้นในขณะขวนขวายประกอบกรรมนั้น ๆ ภาวะที่ติดมาแต่อดีตนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวิบากนั่นเอง แต่การที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า วิบากใด เป็นผลของกรรมอันไหน ได้ทำไว้แล้วเมื่อใด ย่อมไม่อาจชี้เจาะจงลงได้ และยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ในจตุกนิบาตอังคุตรพระบาลีว่า การค้นหาวิบากกรรมนั้น เป็นสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ใด เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะค้นคิดได้พระองค์ตรัสมีใจความว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ที่ชื่อว่า อจินไตยธรรม มีอยู่ ๔ ประการ และถ้ามีผู้ใดเอามาคิด ผู้นั้นอาจจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พุทธวิสัย คือ เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
ฌานวิสัย คือ ฌานอภิญญาแห่งท่านทั้งหลายผู้ทรงฤทธิ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
กรรมวิบาก คือ ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
โลกจินตา คือ ความเป็นไปของโลก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง ดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดคิดผู้นั้นจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามคิดในเรื่องของวิบากไว้นั้น ก็เพราะสภาวะที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมจะห้ามวิบากไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบกรรมให้เป็นไปตามกุศล อกุศลกรรมแห่งตน อันย่อมประพฤติเพื่อความหมุนเวียนเปลี่ยนไปในคติทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า "สมังคีตา" สมังคีตา ๕ หมายถึง กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมยังความพร้อมแห่งธรรม ๕ ประการให้เกิดขึ้น คือ

๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ ความเพียร ในขณะกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่ เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศล อกุศลกรรม เจตนา สมังคีตานี้ มีในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในพระอรหันต์
๓. กมุมสมงฺคิตา ได้แก่ กุศลกรรม อกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ครบองค์แห่งกรรมบถ
๔. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ ผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน ถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคีตาอยู่ตราบนั้น คือ จะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ
๕. อุปฎฐานสมงฺคิตา ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้จะตายอุปัฏฐานสมังคีตานี้มีกำลังอ่อนกว่าสมังคีทั้งปวงอำนาจของกรรมที่จะส่งผลย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


วิกิ

ผลการค้นหา