แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสถียร โพธินันทะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสถียร โพธินันทะ แสดงบทความทั้งหมด

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๒

👉 หน้าที่แล้ว ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

        ก่อนพุทธกาลนั้นเมืองสองเมืองปาวาและกุสินารา ถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองกุสาวดี ซึ่งปรากฏในบาลีมหาสุทัศนะสูตร ทีฆะนิกาย ที่พรรณนาไว้ว่าเมืองกุสาวดีนั้นมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อมาเมืองกุสาวดีก็ร่วงโรยตามไปตามความอนิจจังของสังขาร หนักเข้าก็กลายเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไป ในที่สุดแยกเป็นสองเมือง เมืองหนึ่งเรียกว่ากุสินารา อีกเมืองหนึ่งเรียกว่าปาวา เส้นทางเสด็จพุทธดำเนินของพระองค์ ก็เสด็จมาแวะที่เมืองปาวา ก่อนที่จะไปสู่กุสินารา ระยะทางจากเมืองปาวาไปกุสินารานั้น ต้องใช้เวลาเดินเกือบวันและที่เมืองปาวานี้เองเรื่องสูกรมัททวะก็เกิดขึ้น

ที่เมืองปาวานี้ นายจุนทะ กัมมารบุตร แปลว่า นายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง นายจุนทะนี้เขาเป็นช่างทอง ทำทองขาย มีจิตศรัทธา ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งภิกษุสาวก ให้ไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วในคืนวันนี้เองนายจุนทะก็ตระเตรียมขาทนียะและโภชนียะ เพิ่มคน คุมคนการเตรียมกันอย่างขมีขมัน ทำกันเป็นการใหญ่ เพราะพระสงฆ์สาวกที่ติดตามพระพุทธองค์มานั้นมีจำนวนหลายร้อยรูป อินเดียครั้งนั้นไม่เหมือนประเทศไทยสมัยนี้ ประเทศไทยนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื้อหนังมังสาบริบูรณ์ จะซื้อหาจับจ่ายก็ง่าย คนโบราณนั้นจะเลี้ยงพระก็ยากกว่าสมัยนี้ ตลาดไม่ใช่จะหาง่ายอย่างเดี๋ยวนี้นะ พอออกจากประตูบ้านก็เจอตลาดขายของ ของขายไม่ได้หาง่าย ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ ตลาดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ๆ เล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายก จะเลี้ยงพระทีละหลายร้อยรูป ต้องเตรียมอาหารกันเป็นวัน ๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่เช่นนั้นอาหารไม่พอเลี้ยงพระเพื่อให้เหมาะกับพระสงฆ์ที่จะมารับในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่านอกจากอาหารที่เป็นขาทนียะและโภชนียะแล้ว นายจุนทะได้ทำอาหารขึ้นชนิดหนึ่งจากขาทนียะและโภชนียะเรียกว่า สูกรมัททะ ทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พอกับภิกษุสงฆ์ ปัญหาว่า สูกรมัททวะนี้คืออะไร ?

ซึ่งเป็นประเด็นอันสำคัญของปาฐกถาในวันนี้ สูกรมัททวะ ตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกระ กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าปัญหานั้นไม่ยุติเพียงเท่านั้น ประเด็นว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุรูปอื่นฉันสูกรมัททวะนี้ และเพราะเหตุใดพระองค์จึงรับสั่งให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะนี้ไปฝังเสีย ไปทำลายไม่ให้เป็นอาหารแก่คนและสัตว์ต่อไป และเพราะเหตุใดจึงตรัสแก่นายจุนทะว่า สูกรมัททวะนี้ ตถาคตมองไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมารและพรหมที่จะกินเข้าไปแล้วจะย่อยได้ เว้นแต่เราตถาคตผู้เดียว ที่จะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสเช่นนี้

เป็นอาหารอะไรหรือ ถ้าเป็นเนื้อย่อยทำไมจึงตรัสเช่นนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัย มีพระอรรถกถาจารย์ ๒ ท่าน และปรากฏในสองคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องสูกรมัททวะนี้ และก็แปลกอีกอย่างหนึ่งที่สูกรมัททวะนี้ปรากฏที่มาที่นี่แห่งเดียว ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ปรากฏที่อื่นอีกเลย มาโผล่ปรากฏที่มหาปรินิพพานสูตรตอนเดียวเท่านั้น ในที่อื่น ๆ แล้ว ไม่พบคำนี้เลย น่าอัศจรรย์มาก เป็นอาหารพิเศษ ประหลาดเหลือเกิน พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์นั่นเอง ก็ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัย เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไร คิดดูซิ แล้วพวกเราซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะไปแน่ใจได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยการวินิจฉัย ข้อความใดที่ใกล้เคียงและมีเหตุผลเราก็ยึดถือข้อความนั้น บัดนี้ได้นำมติของสุมังคลวิลาลินีมาให้ท่านทั้งหลายฟัง ในสุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้นัยมาอธิบายไว้ ๓ นัย 

🔅 นัยที่ ๑. สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป ตํ กิร มุทญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ ฯ ตํ ปฏิยาทาเปตฺวา สาธุกํ ปจฺจาเปตฺวาติ อตฺโถ = ได้ยินว่า เนื้อนั้นเป็นของอ่อนนุ่มสนิทดี อธิบายว่า นายจุนทะให้ตกแต่งเนื้อนั้นปรุงให้เป็นอาหารชนิดดี สรุปมติที่ ๑ ท่านแปล สูกรมัททวะว่า เนื้อ เพราะนายจุนทะนั้นให้หาเนื้อหมูอย่างดี ได้แก่เนื้อสุกรที่ไม่แก่ไป ถ้าแก่เกินไปเนื้อเหนียวเคี้ยวยาก เป็นเนื้อชนิดดีมาปรุงแล้วอร่อยดีนี้เรียกว่า สูกรมัททวะ


🔅 นัยที่ ๒ เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่าสูกรมัททวะนี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปานะ ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สูกรมัททวะ ก็ได้แก่ข้าวสาลีหุงด้วยน้ำนมโค ข้าวชนิดมธุระเอร็ดอร่อยมาก เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคนี้อร่อยจริง ๆ กระผมเองก็เคยรับประทาน คือเพื่อนชาวอินเดียในประเทศไทยนี่เองหุงให้กิน และเอร็ดอร่อยมากและเขาบอกว่า นี่แหละสูกรมัททวะ เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สุกรมัททวะได้แก่ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคที่เรียกว่าควปาน หุงด้วยเบญจโครส เอร็ดอร่อย ใส่น้ำตาลหน่อย ใส่นมหน่อย อร่อยดี ทั้งมัน ทั้งหอม ทั้งหวาน นี่เรียกว่าสูกรมัททวะ

🔅 นัยที่ ๓ เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนนิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ ฯ อาจารย์บางท่านกล่าวอีกว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย นัยที่ ๓ นี่ก็สำคัญ นัยนี้พูดกันง่ายคือเป็นยา สูกรมัททวะคือยา เป็นโอสถชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงขึ้นถวายพระผู้มีพระภาค เพราะด้วยความตั้งใจว่า เมื่อพระองค์ได้ฉันโอสถชนิดนี้ จะได้ไม่ต้องนิพพาน และก็ตรงกับคัมภีร์ไสยศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ เป็นคัมภีร์ตำหรับพิเศษ ปรุงถวายเพื่อจะรักษาโรคพระผู้มีพระภาค

สรุปแล้วมีทั้ง ๓ นัยด้วยกัน แม้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็มิได้ตัดสินลงไปว่าสูกรมัททวะนี้ได้แก่อะไร ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาลินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย ตอนแก้มหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ที่ ๒ คือคัมภีร์ปรมัตถทีปนีท่านผู้แต่งคือท่านธรรมปาลจริยะ เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ท่านก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรกัน แต่ท่านก็ให้นัยแปลกจากพระพุทธโฆษาจารย์อีก คือให้ไว้ ๔ ข้อ พ้องกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็มี แปลกกันก็มี

🔅 ๑. สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทะสินิทฺธํ ปวตฺตมํสนฺติ มหาอฏฐกถายํ วุตฺตํ ฯ แปลความว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกีฬาว่า คำว่าสูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ ของสุกรที่อ่อนนุ่มสนิทดี ปวัตตมังสะนั้น ได้แก่ เนื้อที่สมควรที่พระจะบริโภคได้ ไม่ใช่อุทิศมังสะ คือไม่ใช่เนื้อที่เห็นเขาฆ่าเพื่อตน ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน และก็สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน พ้นจากมลทิน ๓ ข้อนี้ เรียกว่าปวัตตมังสะ เนื้อที่ควรที่พระจะบริโภคได้ ตามนัยท่านธรรมปาลจริยะท่านทักว่า คัมภีร์มหาอรรถกถานี้เป็นคัมภีร์เก่าก่อนกว่าอรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่ง กล่าวว่าสูกรมัททวะนั้น ได้แก่ เนื้อหมูอ่อนที่เป็นปวัตตมังสะ

🔅 ๒. เกจิ ปน สูกรมทฺทวนฺติ น สูกรมํสํ สูกเรหิ มทฺทิตวํสกลีโรติ วทนฺติ ฯ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่า กล่าวว่า “คำว่า สูกรมัททวะนั้น ไม่ใช่เนื้อสุกร หากเป็นหน่อไม้ที่สุกรชอบกิน” มตินี้เข้าที คำว่า สูกรมัททวะนี้ ถ้าจะแปลอีกนัยหนึ่งว่า อ่อนสำหรับหมูก็ได้ ซึ่งนอกจากที่แปลว่า เนื้อหมูอ่อน คือเนื้อมันอ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกินก็ได้ คืออ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกิน ถ้าตามนัยนี้แล้ว สูกรมัททวะก็แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกิน เข้าทีเหลือเกิน เพราะดีทั้งรูปศัพท์และความหมาย ถ้าเราวิเคราะห์ศัพท์ว่า สูกรมัททวะว่าอ่อนสำหรับหมูละก็ หมูชอบกินอะไรบ้างล่ะ หน่อไม้หมูก็ชอบ อาจจะเป็นหน่อไม้บางประเภทกระมัง

🔅 ๓. อญฺเญ สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกนฺติ แปลความว่า อาจารย์บางเหล่ากล่าวอีกว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ เห็ดที่เกิดในประเทศที่สุกรเหยียบย่ำ แม้นัยนี้ก็เข้าทีอีกเช่นเดียวกัน ในคำว่า อหิฉตฺตก นั้น อหิ แปลว่า งู ฉตฺต หรือ ฉตฺตก แปลว่า ร่ม อหิฉตฺตก นั้นแปลว่าเห็ด ตามรูปศัพท์แปลว่า มีอาการ ฉัตรแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู ตามรูปศัพท์เพ่งเอาเห็ดชนิดหนึ่งที่มีภาพแผ่แม่เบี้ยประดุจงู ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานทุกสูตรทุกปกรณ์ และชาวพุทธในมหายานยึดถือเอาคตินี้ คือสูกรมัททวะแปลว่าเห็ดชนิดหนึ่ง ที่มีอาการแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู คือเป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งจีนเรียกว่า จันทันจี่ย่น ภาษาจีนเหนือว่าจันทันสู้อ้อ โดยบอกว่าเห็ดชนิดนี้เกิดที่ต้นไม้จันทร์ เป็นเห็ดพิเศษ ไม่ได้เกิดบนภูมิภาคทั่ว ๆ ไป

🔅 ๔. อปเร ปน สุกรมทฺทวนามกํ รสายตนนฺติ ภณนฺติ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่าก็กล่าวอีกว่า ได้แก่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ ตํ หิ จุนฺโท กมฺมารปุตฺโต อชฺช ภควา ปรินิพฺพายิสสตีติ สุตฺวา อปฺเปวนาม น ปริภุญฺชิตฺวา จิรตรํ ติฏเฐยฺยาติ สตฺถุ จิรชีวิตุกมฺยตาย อทาสีติ วทนฺติ แปลว่า เพราะว่านายจุนทะบุตรของช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ถวายเครื่องดื่มชนิดนั้น เพื่อต้องการให้พระผู้มีพระภาคมีพระชนม์อยู่ได้นาน ด้วยความหวังว่า ไฉนหนอ ขอพระศาสดาเสวยเครื่องดื่มนี้แล้ว พระชนมายุอยู่ได้ไปอีกนานเถิด นี่เป็นนัยที่ ๔ ตรงกับนัยในมังคลวิลาลินีเหมือนกัน ที่แปลว่า ยาที่ปรุงตามวิธีรสายนเวช เป็นยาชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ตามมติในสองคัมภีร์นี้ เราก็ได้ความว่า แม้แต่พระโบราณาจารย์ก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไรลงไปแน่นอนว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรแน่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายซึ่งเป็นปัจฉิมาชนตาชน ห่างไกลจากสมัยของท่านตั้ง ๑,๕๐๐ ปี เพราะสมัยแต่งอรรถกถานั้นก็หลังพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เราห่างจากท่านประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถ้ารวมพุทธกาลแล้วเราห่างตั้ง ๒,๕๐๐ ปีเศษ จะวินิจฉัยสูกรมัททวะได้อย่างไร ในข้อนี้กระผมก็อยากจะเสนอความเห็นส่วนตัวประกอบเกี่ยวกับสูกรมัททวะ ถ้าสูกรมัททวะแปลว่าเนื้อหมูอ่อนง่าย ๆ ตามศัพท์แล้วกระผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อนแล้ว ทำไมจึงเป็นพิษกับพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วไม่มีผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่เป็นมนุษย์และเทพเจ้าจะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสอย่างนั้น ถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อน ก็คำที่ว่า เป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย พระก็ฉันได้ ทำไมจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไปฝังเสีย เพื่อไม่ให้ใครกินต่อไป ตรัสแก่จุนทะว่าสำหรับอาหารอื่น ๆ นั้น เธอเอาไปอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด แต่สำหรับสูกรมัททวะ เธอจงอังคาสตถาคตผู้เดียวเถิด ตรัสกับจุนทะอย่างนี้เหลือมานั้นเธอจงเอาไปฝังเลยเถิด ตรัสอย่างนั้น บางท่านก็แก้ว่า อาจจะเป็นเนื้อหมูบูดกระมั้ง มีตัวพยาธิตัวจี๊ด ตัวเชื้อโรค พระองค์ทราบเช่นนั้นจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไม่ให้พระอื่นฉัน ส่วนตัวพระองค์ยอมเสวยเพื่อฉลองศรัทธาของนายจุนทะ ผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้าแก้ว่าเนื้อหมูบูด เพราะฐานะของนายจุนทะนั้นไม่ใช่คนยากคนจน รู้ได้ก็เพราะนายจุนทะมีศรัทธา รับอาสาเลี้ยงพระทั้งคณะ ที่มากับพระพุทธองค์ เป็นจำนวนร้อย ๆ ถ้าเป็นคนมีฐานะยากจนแล้ว ไหนเลยจะกล้ารับเลี้ยงพระได้เป็นร้อย ๆ ฐานะของนายจุนทะต้องเป็นคนมีอันจะกินมั่งคั่งเป็นอย่างน้อย ไม่ถึงกับจะต้องหาเนื้อบูดของเสียมาถวาย คนจะทำบุญนั้นเขาจะไม่รู้หรือว่าของนั้นบูดเสีย ต้องรู้ของบูดเสีย แม้คนยากจนเขาก็ยังไม่ถวายพระ เพราะแม้ตัวเขาเองก็กินไม่ได้ แล้วยิ่งนายจุนทะไม่ได้ทำคนเดียว แม่ครัวตั้งมากมายจะไม่รู้หรือว่าของนี้บูดเน่า ถ้าบูดเน่าก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำเป็นอาหารไปถวายพระ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นเนื้อบูดเน่า แต่สูกรมัททวะนี้ จะต้องไม่ใช่เนื้อหมูแน่นอน

แต่มีประเด็นของสูกรมัททวะที่น่าสนใจคือ ที่แปลว่าเห็ดอย่างหนึ่ง และที่แปลว่ายารักษาโรคอย่างหนึ่ง และที่แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกินอย่างหนึ่ง ๓ อย่าง ในประเด็นที่แปลว่าหน่อไม้ ถ้าแปลว่าหน่อไม้ก็ไม่น่าจะเป็นพิษภัยแก่พระรูปอื่นที่จะฉัน ทำไมพระองค์จึงรับสั่งให้เอาไปฝัง ถ้าพระองค์ฉันแล้วจะเป็นเหตุให้โรคกำเริบ เพราะอาจเป็นของแสลงในเมื่อพระองค์เองก็อาพาธอยู่แล้ว ก็พระสงฆ์ที่ดี ๆ ไม่เป็นโรคอยู่ตั้งมากมาย ทำไมจึงรับสั่งไม่ให้ถวายพระให้นายจุนทะไปฝังเสีย ถ้าแปลว่าเห็ดก็มีเค้าเข้าทีดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเห็ดพิษที่คนกินแล้ว บางทีทั้งครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาล ดังเคยปรากฏ ข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ แกงเห็ดมาถวายให้ฉัน ๆแล้วเกิดพิษ เข้าในกรณีที่แปลว่าเห็ด แต่ถ้าเป็นเห็ดแล้ว ทำไมนายจุนทะไม่รู้หรือ ว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดพิษ ถ้าอ้างว่านายจุนทะไม่รู้ พระองค์ก็น่าที่จะบอกแก่นายจุนทะว่า จุนทะ เห็ดเหล่านี้เป็นเห็ดพิษนะ ต่อไปพวกเธอจะทำอาหารถวายพระก็ตาม หรือพวกเธอจะกินเองก็ตาม เธออย่าได้เอาเห็ดชนิดนี้มาทำอาหารนะ เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำไมพระองค์ไม่ตรัสเล่า พระองค์ควรจะสงเคราะห์นายจุนทะ บอกนายจุนทะว่า เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดมีพิษ บอกกันได้นี่ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไม่เป็นการทำลายศรัทธา แต่เป็นการสงเคราะห์เพื่อจะได้รู้ตัวว่า อ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ซื้อหาเห็ดชนิดนี้มารับประทานอีกแล้ว เพราะเรากินเองก็มีภัย คนอื่นกินก็มีภัย เป็นการเซฟชีวิตของคนไว้ แต่ไม่ตรัสเลย กลับรับสั่งให้นำไปฝังเสีย เพราะฉะนั้น รูปกรณีอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นเห็ด ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อสุดท้ายว่า เป็นยารักษาโรค โดยวิธีรสายนเวช ในคัมภีร์รสายนศาสตร์ของพราหมณ์เขา

ข้อนี้เข้าทีมาก หรือข้อที่แปลว่า เป็นควปาน ควปานก็ไม่สมควรเพราะข้าวอ่อนหุงด้วยน้ำนมโคนั้น อร่อยไปเลยด้วยซ้ำไป จะมีพิษที่ไหน กินเข้าไปแล้วเป็นยาชูกำลังดีพิลึกแล แต่ทำไมท่านห้ามไม่ให้พระอื่นฉันเล่า จริงอยู่ ปัญหาเรื่องรสายนะนี้ กระผมสมัครใจจะเชื่อว่าสูกรมัททวะนี้ คือยานั่นเอง นายจุนทะปรุงยาขึ้นเพื่อถวายพระพุทธเจ้า โดยความปรารถนาจะรักษาพระชนมชีพของพระองค์ให้ยืนยาว เห็นพระผู้มีพระภาคกระปรกกระเปลี้ยมาและก็รู้อยู่กับตัวเองว่า พระองค์จะดับขันธ์ในวันนี้แหละ ในคืนวันนี้จะดับขันธ์แล้ว เพราะฉะนั้น ตอนเช้าของวันที่จะดับขันธ์นี้นายจุนทะจึงเตรียมหุงอาหารชนิดนี้ในค่ำวันนั้น ค่ำวันนั้นก่อนรุ่งขึ้นเตรียมอาหารไว้ก่อน และในบาลีท่านจัดสูกรมัททวะนี้อยู่นอกประเด็นขาทนียและโภชนียด้วย ท่านบอกว่า ทำขาทนียโภชนียะและสูกรมัททวะ แสดงว่าสูกรมัททวะไม่ใช่อาหารธรรมดา เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ ที่นายจุนทะตั้งใจปรุงถวายรักษาอาพาธของพระบรมศาสดา ปัญหาว่า ถ้าเป็นยาพิเศษ ทำไมจึงชื่อว่าสูกรมัททวะเล่า เนื้อหมูอ่อนเล่า ถ้าเราเชื่ออย่างนี้ ก็น่าจะบอกว่ายาเภสัชชะก็สิ้นเรื่อง ทำไมจะต้องใช้สูกรมัททวะเล่า อ้าว ! ถ้าเราสงสัยอย่างนี้ละก็ ไม่ต้องอื่นไกล เราดูตำรายาไทยก็พอ ยาตำราไทยของเรานี่มีชื่อพิลึก ๆ ไหมละ เช่นตำรายาหอมชื่อ จักรวาฬครอบเอย ยาจตุรพักตร์ชีวิตเอย ยามณีส่องภพเอย ชื่อเพราะ ๆ ทั้งนั้น แล้วถ้าเรามาหาตัวยาว่า ยาอย่างนั้นมันมีสี่หน้า เราก็แย่เต็มทน คือไม่รู้เท่าภาษาของเขา เขาตั้งชื่อว่ายาจตุรพักตร์ นึกว่ายาจะต้องมีสี่หน้า เราไปหาจนตายก็ไม่พบไอ้ตัวยามีสี่หน้า ว่ายาสี่หน้ามันเป็นอย่างไร หรือว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า น้ำนมราชสีห์ นี่ถ้าเราไปถือว่าเราจะต้องเอาน้ำนมจากสิงโตจริง ๆ ละก็แย่ ประเทศไทยไม่มีสิงโต ยานี้เป็นยาโบราณ แท้ที่จริงน้ำนมราชสีห์นั้นเป็นต้นสมุนไพรชนิดหนึ่ง รสชาติมันขม เขาเอาเข้าทำยาผสมให้หญิงแม่ลูกอ่อนกิน รักษาน้ำนม ให้น้ำนมมากให้ลูกอ่อน เรียกน้ำนมราชสีห์ แต่ถ้าเราถือตามศัพท์ว่าน้ำนมราชสีห์ เราก็จะต้องไปคั้นเอาจากเต้านมจริง ๆ ละก็ ไม่ต้องรักษาโรคกันแล้วเลิกได้ เพราะหาทั้งประเทศไทยก็ไม่พบ ต้องไปหาถึงประเทศอาฟริกา เพราะฉะนั้น น้ำนมราชสีห์ในตำราไทยเป็นฉันใด สูกรมัททวะในตำราโบราณในอินเดียก็เป็นฉันนั้น

เราจะไปนึกว่า เอ ทำไมจึงมาเรียกยาขนานนี้ว่าสูกรมัททวะ ว่าเนื้อหมูอ่อนทำไม ทำไมไม่เรียกยาบำรุงให้รู้ไป อ้าวก็ตำราเขาเรียกกันอย่างนั้น ถ้าเป็นยา ก็เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแล้ว ทำไมจึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วคนอื่นยังสูกรมัททวะนี้ให้ย่อยไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าธรรมดาว่ายานั้นมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ ยานี่คนดี ๆ ให้กินยาแก้ไข้มาก ๆ ดีไม่ดีตาย ไม่มีไข้ไปกินยาลดไข้มาก ๆ ดีไม่ดีชีพจรหยุดเลย ยิ่งเป็นโรคหัวใจอ่อนอยู่แล้ว ไปกินยาลดไข้ ลดความร้อนมาก ๆ โดยที่ตนเองไม่มีไข้ หัวใจหยุดเต้นพอดีเลยแพ้ยาตาย คนดี ๆ กินวิตามินเยอะ ๆ ไม่ช้าแพ้วิตามิน ไม่มีโรคกลับเป็นโรค อีกประการหนึ่ง ตำรายาโบราณนั้นเขามีน้ำหนัก คุณธาตหนักเบา ไม่ใช่ยาหม้อหนึ่งรักษาได้ทุกคน หม้อยาหม้อนั้นคนนั้นกินหาย อีกคนกินตาย ยาหม้อเดียวกันนั่นแหละ ตัวสมุนไพรกับคุณธาตุหนักเบานั่นมันแล้วแต่ใคร ธาตุใครธาตุมัน ต้องเอามาบวกลบคูณหารกันเข้า แล้วจึงวางยาหนักเบาไปตามสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะก็เหมือนกัน เมื่อนายจุนทะตั้งใจทำถวายพระพุทธองค์แล้ว ก็เหมาะเฉพาะพระพุทธองค์พระอื่น ๆ ไม่เหมาะสมเพราะท่านไม่ได้อาพาธอะไร ท่านดี ๆ สมบูรณ์อยู่ พระองค์จึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ตรัสว่าเว้นเราแล้วภิกษุอื่นอย่าได้ฉันเลย เพราะคนอื่นๆ ดี ไม่ได้เป็นโรค แต่พระองค์เป็นอยู่นี่ คนอื่น ๆ ไม่มีอาพาธ แต่พระองค์อาพาธอยู่ พระสงฆ์ทุกรูปที่ตามเสด็จมาแข็งแรงทั้งนั้น ไม่มีโรคไม่มีภัย ดีไม่ดีถ้าขืนฉันไปแล้วจะเกิดโรค จึงรับสั่งให้นำไปฝังเสีย ที่ให้นายจุนทะนำไปฝังเลย ก็เพราะถ้าขืนตั้งไว้คนอื่นฉวยไปภายหลังไม่รู้คิดว่า เอ ยาขนานนี้นายจุนทะทำถวายพระศาสดา เอ ถ้าจะดีแน่ ขอยาทดลองบ้างเถอะ กินเข้าไปไม่ช้าเกิดเรื่อง เป็นอันตราย พระองค์จึงรับสั่งให้ฝังให้ทำลายเสีย เว้นเราเสีย คนอื่นไม่มีใครย่อยได้ ยาขนานนี้เป็นลางเนื้อชอบลางยา เหมาะกับพระองค์ เหมาะกับอาพาธที่พระองค์เป็นอยู่ คนอื่นไม่เหมาะ นายจุนทะทำปรุงขึ้นเพื่อพระองค์ จึงตรัสอย่างนี้ ข้างนายจุนทะก็ตั้งใจทำขึ้นว่า เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแก่พระองค์แล้วก็จะนึกเผื่อแผ่ไปยังคนอื่น ๆ บ้าง (โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ) แต่หารู้ไม่ว่า ยานั้นบางอย่างให้คุณอนันต์ก็ให้โทษมหันต์ ลางเนื้อชอบลางยา เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงตัดปัญหาเลย (เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลในภายหลัง) ว่าให้ไปทำลายเสียเถอะ อย่าให้พระรูปอื่นฉันยานี้เลย นี่เป็นอย่างนั้น ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า

พระบรมศาสดาฉันสูกรมัททวะนี่ไปแล้ว อาพาธกำเริบเพราะเหตุแห่งอาหารมื้อนี้กระนั้นหรือ ?
กระผมไม่เชื่อเลย ไม่สมัครใจจะเชื่อว่า พระอาพาธของพระองค์จะกำเริบขึ้นเพราะอาหารมื้อนี้เป็นเหตุ คือสูกรมัททวะนี้ แล้วกำเริบเพราะอาหารนี้ ไม่บอกไว้หรอก แต่กลับไปบอกในคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ท่านประพันธ์เอาไว้ ในที่นั้นแหละ เป็นมติของพระสังคีติกาจารย์ ไม่ใช่เนื้อความในบาลีสูตร เป็นเนื้อความที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองเข้ามาที่หลัง สอดแทรกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระศาสดาได้ฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว อาพาธกำเริบแล้ว ได้เกิดขึ้น ลงพระโลหิต ประชวรด้วยปักขันทิกาพาธแล้วไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินารา แต่ว่าตามความเข้าใจของกระผมนั้น สูกรมัททวะนี้มีคุณแก่พระองค์มาก ไม่ได้เป็นเหตุให้พระองค์ประชวรหนัก ที่อาการประชวรหนักของพระองค์นั้น เป็นไปตามอาการของพระโรคกำเริบขึ้นตามอายุขัยของพระองค์ เพราะพระองค์จะดับขันธ์ในวันนั้นแล้ว โรคกำเริบขึ้นตามอาการของโรคจะเป็น ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ สูกรมัททวะนี่เอง กลับเป็นคุณแก่พระองค์ ทำให้พระองค์มีกำลังกาย เสด็จดำเนินไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ถ้าไม่ได้อาหารมื้อนี้แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเสด็จไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ดูซิ พระชนม์มากอยู่แล้วถึง ๘๑ แล้วแก่หง่อมเต็มทีแล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปตลอดทั้งวัน ทรงประชวรก็หนัก แต่ยังเสด็จพุทธดำเนินไปได้ นำพระสงฆ์เดินตลอดทั้งวัน ได้อาหารสูกรมัททวขัของนายจุนทะนี้ เป็นเหตุให้พระองค์ กระปรี้กระเปร่า มีพระกำลังกายเดินทางต่อไปกระทั่งไปดับขันธ์ดังที่ประสงค์เอาไว้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีพุทธดำรัสว่า สูกรมัททวะนี้แหละ อาหารมื้อนี้แหละ มีอานิสงส์มาก เป็นอาหารมื้อสุดท้าย แต่ว่ามีอานิสงส์มหาศาล ดังตอนใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คนภายหลังจะกล่าวคำตำหนินายจุนทะว่า จุนทะท่านไม่ได้บุญแล้ว ท่านไม่ได้ลาภแล้ว พระผู้มีพระภาคเสวยอาหารของท่านแล้วอาพาธหนัก จะทำให้นายจุนทะเกิดความเสียใจ ดูก่อนอานนท์ ถ้ามีคำจ้วงจาบกล่าว่านายจุนทะเช่นนั้นแล้ว เธอจงแก้คำกล่าวหานั้นว่า ตถาคตตรัสบอกว่าอาหารที่นายจุนทะทำถวายนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก อำนวยคุณประโยชน์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ บุญที่นายจุนทะทำนี้เป็นไปเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ บิณฑบาตทั้งสองคราวที่ตถาคตรับนี่ ครั้งหนึ่งบิณฑบาตที่รับจากนางสุชาดา ในวันคืนที่จะตรัสรู้หนึ่ง และปัจฉิมบิณฑบาตที่รับกับนายจุนทะหนึ่ง ทั้งสองบิณฑบาตนี้ เทฺว เม ปิณฺฑปาตสมผลา สมสมวิปากา บิณฑบาตทั้งสองคราวนี้ มีผลเสมอ ๆ กัน มีวิปากเสมอ ๆ กัน ถ้าอาหารมื้อนี้เป็นเหตุให้พระโรคกำเริบแล้ว จะมีวิปากเสมอกัน มีผลเสมอกันกับบิณฑบาตของนางสุชาดาได้อย่างไร นี่แหละกระผมจึงอยากเชื่อว่า อาพาธที่กำเริบขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ แต่เป็นไปตามอาการของอาพาธเอง และขอสรุปปาฐกถาในวันนี้ว่า สูกรมัททวะนี้ไม่ใช่เนื้อหมูอ่อน แต่เป็นยารักษาโรค ขอจบปาฐกถาวันนี้เพียงเท่านี้ 

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายปาฐกถาในวันนี้เป็นเรื่องหนักไปในทางวิชาการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวค้นคว้าข้อเปรียบเทียบในการที่จะต้องสันนิษฐานและวินิจฉัยในปัญหาบางประการที่สำคัญ ที่มีคนส่วนมากกล่าวว่า เป็นเหตุทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพาน ในการที่ไปเสวยสูกรมัททวะของนายจุนทกัมมารบุตรเข้า การที่จะพูดกันถึงเรื่องนี้ จำจะต้องเล่าทบทวนเหตุการณ์ในตอนปลายสมัยพุทธกาลเสียก่อน และก็ต้องเล่าเรื่องที่พระพุทธองค์อาพาธ ในตอนสมัยพุทธกาลนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับพระชนมายุของพระศาสดา ตามความเข้าใจของเราชาวพุทธทั่วไปก็ว่า พระบรมศาสดาดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ แต่ตามการค้นคว้าของผมได้ประจักษ์หลักฐานว่า พระบรมศาสดาดับขันธปรินิพพานนั้นเมื่อพระชนมายุ ๘๑ ไม่ใช่ ๘๐ คือย่างเข้าปี ๘๑ ยังไม่เต็ม ดับขันธ์ปรินิพพานในปีนั้นไม่ใช่ ๘๐ ถ้วน

ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ อันนำไปสู่ประเด็นสูกรมัททวะในตอนปลายนั้น ก็จำต้องเล่าทบทวนเสียก่อนว่า ในปีที่พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ นั้นเข้าใจว่าในตอนต้น ๆ ปีคงจะประทับอยู่ที่แคว้นโกศล เพราะมีข้อความปรากฏในบาลีธรรมเจติยสูตร กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ และได้แสดงความเลื่อมใสปสาทนียกิจยิ่งนักในพระผู้มีพระภาค คือเสด็จเข้าไปนวดที่พระยุคลบาททั้งสอง และจุมพิตพระยุคลบาททั้งสองประกาศนามว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก"
พระบรมศาสดาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิว่า "ดูก่อนมหาราช เหตุไฉนพระองค์จึงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในตถาคตเห็นปานเช่นนี้" พระเจ้าปเสนทิก็พรรณนาพุทธคุณมีเอนกปริยายต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ แต่มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ แม้หม่อมฉันก็มีพระชนมายุได้ ๘๐ พระผู้มีพระภาคเป็นชาวโกศลแม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อออกจากที่เฝ้าแล้ว ราชโอรส คือ เจ้าชายวิฑูฑภะเป็นกบฏต่อพระราชบิดา ปิดประตูเมืองสาวัตถีไม่ให้ต้อนรับ ช่วงชิงเอาราชสมบัติไป พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงต้องซัดเซพเนจร หวังที่จะมาพึ่งหลานชาย คือเจ้าอชาตศัตรู ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วก็เลยเสด็จสวรรคตที่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง เพราะแก่เฒ่าชรามากแล้ว อายุตั้ง ๘๐ ปีแล้ว เดินทางข้ามเมืองข้ามประเทศบุกป่าฝ่าดงรอนแรมมาหลายวัน ข้าวปลาอาหารก็ไม่ได้ตกถึงท้อง ความลำบากตรากตรำประกอบที่ทรงเสียพระทัยที่ลูกชายเนรคุณอกตัญญูเป็นกบฏผสมกันเข้า และอากาศในคืนนั้นก็หนาวเย็นผสมกัน จึงมีเหตุให้พระเจ้าปเสนทิเสด็จสวรรคต ในวันรุ่งขึ้น

ข่าวนี้ได้ทราบไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรูผู้หลาน กว่าจะเห็นองค์ก็เป็นพระบรมศพไปแล้ว จึงได้จัดกาพระบรมศพของพระมาตุลาธิราช ถ้าในปัจจุบันแล้ว มีฐานะเป็นพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูนี้เป็นสามีของเจ้าวัชรีพล เพราะฉะนั้นก็มีศักดิ์เป็นทั้งพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู และเป็นทั้งลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องราวตอนนี้ก็บ่งว่าพระเจ้าวิฑูฑภะชิงราชสมบัติสำเร็จ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองกบิลพัสดุ์ กำจัดพวกศากยวงศ์ ทำลายเมืองกบิลพัสดุ์เสียราบไป เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ปรินิพพานจะเกิดขึ้นในปีเดียวกันไม่ได้ เพราะเป็นขณะที่วิฑูฑภะยกกองทัพมากำจัดพวกศากยวงศ์ก็ดี หรือกรณีที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกลูกชายเป็นกบฏ กำจัดเสียจากราชสมบัติก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไปนิพพานในปีที่พระชนมายุย่างเข้า ๘๑ แล้ว ไม่ใช่ ๘๐ ต้องถัดไปอีกปีหนึ่ง

หลังจากที่เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงจะดับขันธปรินิพพานในปีนั้นได้ ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไปว่าพระองค์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ นั้นเพราะว่าจำนวนเลขที่ลงตัวอยู่แล้ว เพื่อจำง่ายและสะดวกด้วย เพราะเรื่องเศษเลขเป็นเรื่องออกจะจำยาก ไม่เหมือนเลขที่ลงตัว แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏในธรรมเจติยสูตรก็ดี และหลักฐานที่เจ้าชายวิฑูฑภะยกกองทัพไปกำจัดศากวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ก็ดี บ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคต้องเสด็จมาห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะถึง ๓ ครั้ง โดยเสด็จอยู่โคนต้นไม้ใบโกร๋นริมทางที่กองทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะจะผ่าน ในขณะเดียวกับที่มีร่มไม้ใบหนาอยู่ริมทางอีกมากต้น เจ้าชายวิฑูฑภะ พอเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่อย่างนั้น ที่ชายแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นโกศล ก็ไม่กล้ายกกองทัพข้ามแดนไปด้วยความเกรงพระหฤทัยพระบรมศาสดา แต่นึกในใจว่า แน่นอน พระศาสดาต้องเสด็จมาคุ้มครอง

สุดท้ายพระพุทธองค์ทรงเล็งการณ์แล้วเห็นว่า ห้ามไม่ได้แล้ว เป็นผลกรรมของบรรดาศากยวงศ์ในอดีตชาติ ซึ่งเคยเบื่อยาลงในแม่น้ำ ทำให้ปลา เต่า ตายเป็นจำนวนมหาศาล ผลกรรมอันนี้ได้ติดตามมาสนองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมิอาจจะห้ามไว้ได้ จึงมิได้เสด็จไปประทับห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะอีก เจ้าชายวิฑูฑภะจึงได้ยาตราเข้าไปในเมืองกบิลพัสดุ์ได้โดยสะดวก และฆ่าฟันพระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เสียมากต่อมาก เรื่องราวตอนนี้ต้องเกิดขึ้นในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ แล้วลองมาเทียบเคียงในบาลีมหาปรินิพพานสูตร เริ่มต้นก็กล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ว่า อยู่ที่แขวงเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ก็เรื่องราวอันนี้ เกิดขึ้นในตอนต้นปีที่ประทับอยู่ในเมืองราชคฤห์ เพราะฉะนั้นจะเป็นต้นปี หรือกลางปีที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน แล้วไปพ้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องลำดับเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิ กับเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะกำจัดศากยวงศ์นั้น จะต้องเกิดขึ้นต้นปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๘๐ หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากแคว้นโกศล ไปประทับอยู่แขวงเมืองราชคฤห์ ราว ๆ กลางปีก่อนจะเข้าพรรษา ในระหว่างประทับอยู่เมืองราชคฤห์นี้ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเช่นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์ทั้งแคว้นโกศลและมคธ เวลานั้นเจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อยาตราทัพไปกำจัดศากยวงศ์ได้แล้ว ผลกรรมก็ติดตามไปสนอง พักพลอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เกิดน้ำหลากท่วมมาหนีน้ำไม่ทัน ตายกันหมดทั้งกองทัพ รวมทั้งเจ้าชายวิฑูฑภะก็จมน้ำตาย ผลกรรมให้ผลทันตาเห็น เมื่อราชบัลลังก์ของแคว้นโกศลว่างกษัตริย์ เจ้าชายอชาตศัตรู ในฐานะเป็นทั้งหลานและลูกเขยของพระเจ้าปเสนทิ เพราะฉะนั้นจึงโอนโกศลไปขึ้นกับมคธอีก พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้ครอบครองแคว้นโกศลอีกแคว้นหนึ่ง แล้วก็ได้เริ่มคิดวางแผนแผ่จักรวรรดิโดยจะฮุบเอาแคว้นวัชชี โดยการจัดเตรียมวางกลยุทธเพื่อเข้าโจมตีแคว้นวัชชี อันเป็นแคว้นอยู่ตรงกันข้ามกับแคว้นมคธ คนละฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำคงคาเป็นเขตแดนกั้น เรื่องจะตีแคว้นวัชชีนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ

ถ้าเราจะสังเกตจะเห็นได้ว่า ในปีสุดท้ายแห่งพระชนมายุของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีเป็นเวลานานเหลือเกิน ประทับอยู่เป็นเวลาตั้งเกือบ ๘ เดือน โดยไม่ยอมไปเสด็จประทับในที่อื่นใดทั้งหมด ดูราวประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงตั้งพระหฤทัยต้องการที่จะป้องกันแคว้นวัชชี ให้พ้นจากภัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสรรพสัตว์ ด้วยเกรงว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในแคว้นวัชชีจะเป็นอันตรายไป แม้ข้อความตอนนี้ แม้จะไม่ได้บ่งชัดในพุทธประวัติมหาปรินิพพานสูตรก็จริง แต่ดูตามเหตุการณ์ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก็ควรจะเป็นไปในฐานะเช่นนั้น เพราะเมื่อเสด็จออกจากแคว้นมคธแล้ว ก็เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา มุ่งเข้าสู่แคว้นวัชชี ประทับอยู่ที่แคว้นวัชชีถึงหนึ่งพรรษาเต็ม ๆ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น ออกพรรษาแล้วก็ยังเสด็จวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตำบลต่าง ๆ ในแคว้นวัชชี ซึ่งประทับอยู่ที่ ภัณฑุคาม อัมพุคาม โภคนครเป็นต้น อันเป็นตำบลต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ เมืองเวสาลี ไม่ได้ตั้งพระหฤทัยจะเสด็จจากไปง่าย ๆ เมื่อพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีตราบใด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่กล้ายกกองทัพมาเบียดเบียนแคว้นวัชชีตราบนั้น ด้วยเกรงพระบารมี เพราะมีความเคารพในพระพุทธเจ้า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในที่ใด ก็นำความผาสุกมาสู่ที่นั้น ไม่เบียดเบียนผู้ใด จนกระทั่งในพรรษาสุดท้ายนั่นเอง เมื่อพระองค์เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ตำบลบ้านเวฬุวคาม อันเรียกกันง่าย ๆ ว่าตำบลบ้านไผ่ ในพรรษานั้นพระองค์ได้ประชวรหนัก เกือบที่จะเอาพระชนม์ชีพไม่รอด แต่ก็มีมติในพระหฤทัยว่า ถ้าเราจะมาปรินิพพานเสียระหว่างนี้เป็นการไม่สมควรแก่เรา เรายังไม่ได้บอกลาบรรดาภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ยังไม่ได้แจ้งให้กับคณะสงฆ์ทราบเป็นทางการแล้วอยู่ ๆ จะมาดับขันธ์เช่นนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสมควร เมื่อมีความปริวิตกเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงใช้อิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธทั้งหมดให้พ้นไป เรื่องการเจริญอิทธิบาทขับไล่อาพาธให้หายนั้น นับว่าเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไป เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นการต่ออายุได้ ขับไล่อาพาธได้นั้น อิทธิบาท ๔ นั้นเจริญอย่างไร เจริญธรรมอะไร เพราะอิทธิบาทนั้นเป็นกริยาเข้าไปเจริญ จะต้องมีธรรมอะไรที่ถูกเข้าไปเจริญ ที่เป็นผล หรือต้นตอพื้นฐานรองรับธรรมะคืออิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่น่าวินิจฉัยมาก เพราะส่วนมากเราทราบกันทั่ว ๆ ไปเพียงว่า เพราะอิทธิบาท ๔ ต่อพระชนมายุได้ ทราบกันเพียงแค่นี้ และอิทธิบาท ๔ ที่เรารู้กันก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องกันได้ ถ้า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ธรรมดาพื้น ๆ นี้เป็นอิทธิบาทแล้ว คนที่เขารำพัดคือเล่นไพ่ เขาก็มีอิทธิบาทเหมือนกันหนา เพราะฉันทะเขาก็มีความพอใจที่จะเล่น วิริยะ ขยัน พากเพียร ขวนขวายที่จะเล่น จิตตะ ความใส่ใจหมกมุ่น วิมังสา ไตร่ตรองหาอุบาย ใช้เล่ห์อุบายที่จะเอาชนะให้ได้ ต้องมีพร้อม มิเช่นนั้นแล้วจะเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ ๓ วัน ๓ คือ ไม่ต้องลุกขึ้นจากที่ ไม่ต้องขี้เยี่ยวกัน ไม่ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วมกัน ขี้เยี่ยวหายไปไหนหมดเวลารำพัดกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วอิทธิบาท ๔ ก็เป็นธรรมะที่ต่ำไป ถ้าเข้าใจอิทธิบาท ๔ เช่นนี้แล้ว ก็เป็นการเข้าใจอิทธิบาทเป็นธรรมะที่พื้น ๆ ดาด ๆ เกินไป

แท้จริง อิทธิบาทที่กล่าวดังนี้ หาใช่อิทธิบาทดังที่ชาวบ้านสามัญชนเข้าใจกันอย่างนั้นไม่ คือไม่ใช่เป็นแต่เพียงความพอใจ ฉันทะ วิริยะ มีความพากเพียร จิตตะ มีความใฝ่ใจ วิมังสา คือ การใช้ปัญญา นี้ไม่ใช่ เพราะธรรมดาคาถาว่า จะต้องเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งและสูงกว่านั้น เราจะมาวินิจฉัยกันในประเด็นนี้ ก่อนอื่นเราต้องวินิจฉัยว่า อะไรเป็นตัวอิทธิบาท ๔ ได้แก่ธรรมะอะไร ? ธรรมะอะไรที่พระองค์เข้าไปเจริญให้มาก ทำให้มาก ธรรมะอันนั้นคืออะไร ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก ควรพิจารณาข้อความในพุทธภาษิตในตอนนี้ ในระหว่างพรรษานั้นพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เห็นเหตุการณ์หมดว่าพระองค์ได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงต่ออาพาธนั้น และได้ทรงขับไล่อาพาธนั้นด้วยอิทธิบาทภาวนา พอออกพรรษาแล้ว เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ พระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า ธรรมะก็ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ ทิศทั้งหลายก็เป็นที่มืดมัวแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ การคิดปัญหาธรรมะต่าง ๆ ที่เคยแจ่มแจ้งไม่แจ่มแจ้งเสียแล้วในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะข้าพระองค์ได้มองเห็นความอดกลั้นยิ่งนัก ต่ออาพาธอันแรงกล้าของพระผู้มีพระภาคในระหว่างพรรษา แต่ก็ยังมีความหวังใจอยู่ว่า พระองค์ยังไม่คงรีบด่วนมาละพระสงฆ์สาวกไปเสีย"  เมื่อพระอานนท์กราบทูลไปในทำนองนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอยังจะมาหวังอะไรในตัวตถาคตอีกเล่า สรีระของตถาคตก็มีกาลผ่านวัยมาตั้ง ๘๐ แล้ว ก็เหมือนเกวียนที่คร่ำคร่า ผุพัง ที่อยู่ได้ปะทะปะทังใช้การได้ก็ด้วยลำไม้ไผ่ที่มาผูกเอาไว้ จึงจะพอใช้การได้ แต่ก็เป็นเกวียนที่คร่ำคร่าเต็มทีแล้ว เธอยังจะมาหวังอะไร แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสใจความได้ว่า ตถาคตสฺส โข อานนฺท จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ภาวิตา พาหุลีกตา" เป็นต้น ความว่า "ดูก่อนอานนท์อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ดุจยาน กระทำให้ดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารถนาดีแล้ว ตถาคตนั้นเมื่อดำรงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ตลอดกัปป์ หรือเกินกว่ากัปป์ก็ได้" ตรัสอย่างนี้ ข้อความนี้ ก็เข้าประเด็นที่ว่าทรงใช้อิทธิบาท ๔ เจริญธรรมะ อะไรข้อนี้เราไม่ต้องไปหาหลักฐานที่ไหน เพราะข้อความบ่งชัดในมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง คือในมหาปรินิพพานสูตรตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า.. "ยสฺมึ อานนฺท สมเย ตถาคโต สพฺพญฺญุตญาณํ อมนสิการา เอกจฺจานํ เวทนานํ นิโรธาอนิมิตฺตํ เจโตสมาธึ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ผาสุกโร อานนฺท ตสฺมึ สมเย ตถาคตสฺส กาโย โหติ แปลความว่า อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุข" ตรัสอย่างนี้

เมื่อพระอานนได้กราบทูลว่า หลังจากได้เห็นอาการอดทนของพระผู้มีพระภาคต่ออาพาธ พระอานนท์ก็มีจิตใจทุกข์ร้อนไม่สบาย ธรรมะที่เคยขบคิด แจ่มแจ้งก็ไม่แจ่มแจ้ง รู้สึกว่ามันมืดมัวใจไปเสียทุกหนทุกแห่ง หมดหวังไปเสียทุกหนทุกแห่ง แต่ว่ายังเคราะห์ดีที่ว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ตรัสล่ำลาภิกษุสงฆ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นอันหวังได้ว่าชนมชีพของพระองค์จะอยู่ยั่งยืนอยู่กับพวกพระสงฆ์ต่อไป เป็นมิ่งขวัญของชาวพุทธต่อไปทำนองนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ให้สติแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้หวังอะไรกับพระองค์มากเลย พระองค์ก็มีพระชนมายุสูงมากแล้ว๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว เหมือนกับเกวียนที่คร่ำคร่าจะต้องปะทะปะทังด้วยลำไม้ไผ่จึงเป็นไปได้อยู่ และได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ในสมัยที่ใจไม่ไปใฝ่หรือกำหนดในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ สมัยนั้นร่างกายของตถาคตรู้สึกผาสุกเหลือเกิน พระพุทธพจน์ตอนนี้เอง ที่เป็นการตอบปัญหาไปในตัวว่า ที่พระองค์หายจากอาพาธได้ จะเป็นเหตุให้อายุยั่งยืนต่อไปอีกตั้งเกือบปีหนึ่งได้ ก็เพราะอานุภาพของอนิมิตตเจโตสมาธิ อนิมิตตเจโตสมาธิที่พระองค์เจริญ ทำให้มากแล้วก็หมายความวา ถ้าพระองค์ใช้อิทธิบาท ๔ ให้เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิอยู่เนือง ๆ กระทำให้มาก กระทำให้เคยชินเป็นเวลานาน ๆ แล้ว ถ้าพระองค์จะปรารถนาให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่ากัปป์ก็ย่อมเป็นไปได้ คำว่ากัปป์ หรือยิ่งกว่ากัปป์ (บาลีเป็นกัปป์ สันสกฤตเป็นกัลป์) คำนี้ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก แต่เป็นกัปป์ของอายุชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก ถ้าเป็นอายุกัปป์ของโลก กัปป์หนึ่งมีกี่ปี ถ้าคติตามศาสนาพราหมณ์ หนึ่งกัปป์มี ๔,๐๐๐ กว่าล้านปี โลกเรานี้เพิ่งจะมีมนุษย์ก็เพิ่งจะราว ๆ กว่าล้านปีมานี่เอง ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์นี้ และมีหน้าตาครึ่งลิงครึ่งคนคือเป็นมนุษย์วานรนี่เมื่อห้าแสนปีมานี่ และที่จะมีหน้าตาเหมือนกับมนุษย์เรานี้ ก็คงจะสองสามพันปีมานี่กระมัง แต่อายุของกัปป์นั้นสี่พันกว่าล้านปี คิดดูเอาเองว่าอายุมากแค่ไหน ตามคติของศาสนาพราหมณ์ แต่ตามคติของพุทธกาลที่เราจะคำนวณอายุของกัปป์หนึ่งนั้นยาก แต่มีข้ออุปมาว่า เหมือนกับพระพรหมเอาผ้าสไบที่ทอด้วยใยผ้า มาปัดยอดเขาพระสุเมรุหนึ่งครั้งต่อหนึ่งร้อยปี จนกว่ายอดเขาพระสุเมรุจะราบเรียบเสมอกับพื้นมหาสมุทรเป็น ๑ กัปป์ ไม่ทราบเวลาเท่าใดกันเป็นอัประไมย โลกในยุคหนึ่ง พอพ้นจากยุคหนึ่ง ก็มีไฟทำลายสิ้นยุคสิ้นกัลป์ จักฉิบหายเพราะไฟบ้าง เพราะลมบ้าง เพราะน้ำบ้างจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โลกแตกก็เป็นกัลป์หนึ่ง เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์ที่ว่า เจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มาก เจริญให้มาก อบรมให้มากเป็นต้น จะมีอายุกัปป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปป์หนึ่ง คำว่ากัปป์ในที่นี้ เป็นอายุกัปป์ของมนุษย์ อายุกัปป์ของมนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าใครมีอายุถึงร้อยปีก็ประเสริฐนักหนาแล้ว หรือยิ่งกว่าร้อยก็ยิ่งประเสริฐนักหนา อายุของคนในปัจจุบันไม่ต้องเสียใจว่า เกิดมาอายุสั้นเพราะว่าเป็นอายุกัปป์ประเมิน อายุไขแห่งกัปป์ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นอย่างนั้น ในสมัยพุทธกาลนั้นใครมีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นกำหนดหรือเกินกว่าร้อยมีจำนวนน้อยก็เป็นของประเสริฐ เป็นลาภแล้ว

ในที่นี้ถ้าหากพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิแล้ว ก็อย่างมากก็จะยืดอายุของพระองค์ต่อไปอีก ๒๐-๒๕ ปี เช่นว่าเป็น ๑๐๐ หรือ ๑๐๕ ปี อาจจะมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย แต่ไม่ใช่จะมีอายุมาถึงปัจจุบันนี่ไม่ใช่ นี่เป็นอายุการกำหนดในยุคนั้น เพราะฉะนั้น การที่พระองค์ตรัสให้เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว ใครเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว คนนั้นจะอาศัยอำนาจสมาธินี้ ดับอาพาธ ดับทุกขเวทนาทางกายได้หมด แล้วเป็นการเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายใหม่หมด เช่นว่ามีเซลล์มันจะตายไปบ้างหรือสึกหรอไปบ้าง ก็เปลี่ยนใหม่หมด เซลล์ต่าง ๆ เป็นของใหม่หมด ร่างกายก็กระปรี้กระเปร่า มีพละ กำลัง อาจจะมีอายุยืนต่อไปอีกตั้งหลายปี เป็นการต่ออายุ คราวนี้อรรถกถาจารย์ท่านแก้ความไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่า ได้แก่การเข้าผลสมาบัติชื่อว่าเป็นเครื่องทำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ผลสมาปตฺติ ธมฺมาติ ชีวโต สงฺขาโร แล้วพระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ก็พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงเข้าผลสมาบัติในกาลก่อนบ้างเลยหรือ เพิ่งจะมาเข้าตอนที่มาเกิดอาพาธ ในพรรษาสุดท้ายตอนที่ประทับอยู่ที่เวฬุคามกระนั้นหรือ แก้ว่า พระองค์ก็ได้ทรงเข้าผลสมาบัติมาก่อนเหมือนกัน ผลสมาบัติแต่ก่อนนั้น ๆ เป็นขณิกสมาบัติชั่วขณะ ไม่นานนักมีอานุภาพข่มเวทนาได้ เฉพาะในเวลาที่อยู่ในสมาบัติเท่านั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว เวทนาก็สามารถครอบงำ สรีระของบุคคลได้ เปรียบเหมือนท่อนไม้หรือสาหร่ายแหวกออกชั่วครูแล้วก็กลับมารวมตัวปิดน้ำไว้อีก ส่วนสมาบัติที่เข้าด้วยอำนาจแห่งมหาวิปัสสนา สมาบัตินั้นมีอานุภาพมาก สามารถข่มเวทนาได้อย่างแน่นอนสนิท อุปมาดังบุรุษที่เดินลงไปในสระน้ำ ใช้มือและเท้าแหวกสาหร่ายออก และเหวี่ยงไปโดยกำลังแรง สาหร่ายที่กระจายออกไป กว่าจะกลับมารวมตัวอย่างเดิมอีกก็มีระยะเวลานานกว่า

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธินั้น ที่พระองค์เข้าเจริญในพรรษาสุดท้ายที่บ้านเวฬุคาม เป็นเหตุให้มีพละกำลังกายยืนยาวต่อไปถึงกระทั่งนิพพานในปีหน้า ก็แตกต่างจากอานุภาพของผลสมาบัติ เจโตสมาธิที่มีนิมิตนั้นเอง เรียกผลสมาบัติ ปัญหามีว่า ทำไมก่อนหน้านี้พระองไม่เคยเข้าผลสมาบัติบ้างเลยหรือ? ตอบว่าก่อนนี้ก็เคยเข้า แต่เข้าแต่ละครั้งนั้นไม่นาน เพราะพระองค์มีกรณียกิจที่จะต้องบำเพ็ญเกี่ยวกับการบริหารงานพระศาสนา ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นพระบรมศาสดาจะต้องออกเที่ยวสั่งสอนสรรพสัตว์ ไม่มีเวลามาเข้าสมาธิได้เป็นเวลาหลายวัน หรือติด ๆ กันเป็นเวลาสัปดาห์ ไม่มี เข้าสมาธิก็เข้าได้นิดหน่อย เรียกว่า ขณิกสมาบัติ ชั่วขณะก็ต้องออกแล้วเพราะว่าพุทธกิจในฐานะเป็นพระบรมศาสดานั้นมีมาก เพิ่งจะมาเข้าสมาบัติจริง ๆ ที่ใช้เวลามากติดต่อกันก็ตอนอาพาธในระหว่างพรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่บ้านเวฬุคาม ต้องเข้าใช้เวลานาน เพราะต้องการใช้อำนาจสมาธิไประงับทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ แล้วท่านก็เปรียบว่า เหมือนกับมีบึงใหญ่อยู่บึงหนึ่ง ในบึงนั้นมีบัวและสรรพสิ่งขึ้นปกคลุมไปหมด ถ้าเราเอาก้อนอิฐเพียงก้อนเดียวขว้างปาลงไปในบึงป๋อมหนึ่งก็จะมีคลื่นเพียงนิดเดียว เพราะกำลังแรงมันน้อยป๋อมหนึ่งมันก็แหวกพวกบัวเป็นช่องนิดหนึ่งแล้ว ประเดี๋ยวมันก็รวมตัวกันอย่างเดิมฉันใด ผลสมาบัติที่เข้าประเดี๋ยวประด๋าวชั่วขณะนั้น ระงับทุกขเวทนาได้ในขณะที่เข้า พอออกมาแล้วเวทนาที่ระงับไปในขณะที่เข้าสมาบัติมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก แม้โรคภัยไข้เจ็บที่ระงับไปในขณะที่เข้า เมื่อออกแล้วมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก คราวนี้ถ้าหากเข้าผลสมาบัตินาน ๆ ก็ทำให้มีอานุภาพเหมือนหนึ่งบุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรง เดินลงไปในบึง เอามือตีน้ำแหวกใบบัวและสรรพสิ่งให้ออกไปเป็นช่อง เหวี่ยงไปด้วยกำลังแรงด้วยมือทั้งสองข้าง กว่ามันจะกลับมารวมตัวเป็นเวลานานมากหน่อย เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ามหาวิปัสสนานั่นแหละ คือ ผลสมาบัติที่พระพุทธองค์เข้าขับไล่อาพาธ มหาวิปัสสนานั้นคืออะไร ? ก็ปรากฏว่ามหาวิปัสสนานั้นมีถึง ๑๘ อย่างคือ
    ๑. อนิจจาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่เที่ยง
    ๒. ทุกขาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความทุกข์
    ๓. อนัตตา วิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ว่าไม่ใช่ตน
    ๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความเบื่อหน่าย
    ๕. วิราคาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความคลาย ราคะ
    ๖. นิโรธวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความดับสนิท
    ๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความสละคืน
    ๘. วิตกฺกวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความตรึก
    ๙. วยาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเสื่อม
    ๑๐. วิปริณามาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแปรเปลี่ยน
    ๑๑. อนิมิตตวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีเครื่องหมาย
    ๑๒. อปณิหิตานุวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีที่ ตั้ง
    ๑๓. สุญญตาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นความว่างเปล่า
    ๑๔. อธิปัญญาคมวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแจ้งในธรรมคือปัญญาอันยิ่ง
    ๑๕. ยถาภูตถาณทัสสนวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นตามความเป็นจริงโดยญาณ 
    ๑๖. อาทีนววิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ตามความเป็นจริงโดยญาณ
    ๑๗. ปฏิสังขารวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเข้าใจกระจ่าง 
    ๑๘. วิวัฏฏวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความปราศจากวัฏฏะ

นี่แหละญาณทัสสนะที่เป็นไปทั้ง ๑๘ อย่างนี้เรียกว่ามหาวิปัสสนา ปรากฏว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ ที่พระองค์เข้าขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุนั้นอยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด คืออนิมิตตวิปัสสนาใน ๑๘ ประการนี้ พระองค์ทรงใช้ประการที่สิบเอ็ด ความจริงใช้ได้ทุกประการ แต่ทรงเลือกเอาข้อหนึ่งเพื่อขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุ

คราวนี้อิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญในอนิมิตตเจโตสมาธิ นั้นเป็นอิทธิบาทสามัญหรือ ? ข้อนี้ไม่ใช่อิทธิบาทธรรมดาสามัญ ถ้าหากเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ กระนั้นในวงรำพัดเขาก็มีกันได้ อิทธิบาทนี้ ต้องเป็นอิทธิบาทพิเศษ เรียกว่า ฉันทสมาธิปธานสังขาร วิริยสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร คือจะต้องเป็นอิทธิบาทที่ประกอบด้วยสมาธิปธานสังขารด้วย ไม่ใช่เป็นอิทธิ-บาทเฉย ๆ ไม่ใช่ฉันทะเฉย ๆ วิริยะเฉย ๆ จิตตะเฉย ๆ วิมังสาเฉย ๆ ต้องประกอบด้วยสมาธิปธานสังขาร จึงเป็นอิทธิบาทที่ประสงค์ในที่นี้ ถึงจะเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ และจะต้องประกอบด้วยความแข็งแกร่งมั่นคงไพบูลย์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธินั้น ๆ ท่านเรียกว่าปธานสังขาร หลักฐานที่กล่าวนี้มีมาในบาลีสังยุตตนิกาย

คราวนี้เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้ปลงพระชนมายุในวันเพ็ญเดือน ๓ คือในวันมาฆบูชา วันมาฆบูชานั้นนอกจากจะเป็นวันสำคัญที่มีเกิดจาตุรงค์สันนิบาตแล้ว ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตั้งพระหฤทัยว่าตั้งแต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน เพ็ญเดือน ๓ ที่ว่านี้มิใช่เพียงเดือน ๓ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ปี เป็นปีย่างเข้า ๘๑ เพราะว่าในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ผมได้ลำดับเหตุการณ์แล้ว ว่าต้นปีพระองค์ทรงอยู่แคว้นโกศล เหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ศากยวงศ์ เนื่องจากวิฑูฑภะได้ยาตราเข้ามาทำลายศากวงศ์ พอจวนจะเข้าพรรษาเสด็จมาที่ราชคฤห์ แล้วข้ามแม่น้ำคงคาไปจำพรรษาที่เมืองเวสาลีเลย อยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชีถึง ๘ เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่เสด็จออกจากเมืองเวสาลีง่าย ๆ ยังคงประทับอยู่ที่อัมพุคาม ชมพุคาม โภคนคร อยู่ในละแวกตำบลต่าง ๆ ในเมืองเวสาลี ตลอดฤดูหนาวในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น พระองค์ประทับอยู่ที่แขวงเมืองเวสาลีโดยตลอด พอพ้นฤดูหนาวเข้าฤดูใหม่ย่างเข้าปีที่ ๘๑ แล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นวัชชีเสด็จต่อไป เมื่อตอนเสด็จออกจากแคว้นวัชชีนั้นพระองค์ทรงทำอาการกิริยาที่เรียกวา “นาคาวโลก”* คือการดูอย่างช้างตัวประเสริฐดู ทอดพระเนตรเหลียวกลับมาดูเมืองเวสาลีและตรัสกับพระอานนท์ว่า :- ดูก่อนอานนท์ การทัสสนาดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นปัจฉิมทัสสนา ต่อไปนี้ไม่มีโอกาสแลดูเมืองเวสาลีต่อไปแล้ว



ปัญหามีว่า ที่พระองค์จะทำกริยา นาคาวโลกนั้นดูทำไม มีพุทธประสงค์อย่างไร ? จึงตรัสกับพระอานนท์เช่นนั้น เรื่องนี้ถ้าเราพิจารณาดูเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว เราจะเข้าใจความหมาย เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานในปีนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธ ได้ยาตราทัพเข้าตีแคว้นวัชชีทันที ** ได้แคว้นวัชชีเป็นเมืองขึ้นหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นกับพระอานนท์ก็ด้วยความมหากรุณากับแคว้นวัชชี ทั้งนี้เพราะพระองค์ผู้อยู่กับพระหฤทัยว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แคว้นวัชชีจะต้องได้รับอันตรายจากกองทัพมคธเป็นแน่แท้ หนีไม่พ้นแล้ว เป็นกรรมของสัตว์ วาระของกรรมมันมาถึงแล้ว พระองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า การแลดูแคว้นวัชชีที่มีความรุ่งเรืองเป็นเอกราชอย่างนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ใครนึกไปทางเรื่องการเมือง ทรงหลีกเลี่ยงทุกประการในการพูดในทำนองที่จะไม่ให้นึกไปทางเรื่องการเมือง เพราะพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่พูดเรื่องการเมืองแล้ว การพูดเรื่องการเมืองเป็นติรัจฉานกถา แต่ท่านตรัสเป็นแต่เพียงให้นัยไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ การแลดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายก็เพียงเท่านี้เอง ส่วนความหมายนั้นแล้วแต่ใครจะไปคิดเอา ที่เรามาตีความกันในปัจจุบันนี้ว่า การแลดูเมืองเวสาลีของพระตถาคต ที่เป็นอิสรรัฐ มีความรุ่งโรจน์ ความเจริญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคง จนกระทั่งเป็นที่อิจฉาริษยาของแคว้นมคธนั้น เป็นทางให้แคว้นวัชชีต้องถูกทำลายจากแคว้นมคธนั้น เพราะความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองของแคว้นวัชชี แม้แต่การแต่งตัวของพวกเจ้าลิจฉวี ซึ่งได้ประดับประดาด้วยภูษิตาภรณ์ที่ประดับองค์ต่าง ๆ มีความสวยงามวิจิตรการมาก ถึงขนาดที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวกันอย่างไร ก็จงดูพระเจ้าวัชชีนี่แหละเขาแต่งตัวกันอย่างไร พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาแต่งร่างกายสวยงามอย่างนั้น ข้อนี้แปลความหมายได้ว่าแคว้นวัชชีเจริญถึงขั้นไหน การแต่งตัวเป็นแฟชั่นที่สวยงามมากถึงขั้นที่พระองค์ได้นำไปเปรียบเทียบว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวสวยอย่างไร พวกเจ้าวัชชีเขาแต่งตัวสวยอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ข้อเปรียบเทียบเพราะฉะนั้นการเสด็จไปจากวัชชีนี้ จึงทรงเหลียวกลับแลดูเป็นครั้งสุดท้าย นี่ในความหมายนี้ เมื่อออกจากวัชชีแล้วก็มุ่งจะไปเสด็จดับขันธ์ ณ เมืองกุสินารา ในระหว่างทางก่อนจะถึงแคว้นมัลละ เมืองกุสินารา ก็ทรงแวะที่เมืองปาวา ปาวาและกุสินาราทั้งสองเมืองนี้ ในทางโบราณคดีถือกันว่า เป็นเมืองเดียวกัน  👉 หน้าต่อไป 



ปฐมเหตุโลกและชีวิต

ถอดเทปคำบรรยาย เรื่อง ปฐมเหตุของโลก – ชีวิต
(โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙)

        พระคุณเจ้าทั้งหลาย ในวันนี้จะได้บรรยายถึงเรื่อง ปฐมเหตุของโลกและปฐมเหตุของชีวิต คือว่าเมื่อเราได้ทราบถึงข้อเหตุผล เกี่ยวกับ วัฏฏสงสาร และ เหตุผลกฎแห่งกรรมในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาที่จะติดตามมาก็ได้แก่ปัญหา วิวัฒนาการของโลก กับ วิวัฒนาการของชีวิต ว่าโลกและชีวิตนี้เป็นอย่างไร? ตามทรรศนะในพระพุทธศาสนาถือว่ามีสมุฏฐานเหตุมาจากอะไร ในประเด็นปัญหานี้เข้าในลักษณะอัพยากตะปัญหา คือ ปัญหาที่พระบรมศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ เกี่ยวกับ ปัญหาว่าโลกหน้ามีหรือ ชีวิตดวงนี้กับดวงหน้าเป็นอันเดียวกันหรือ สรีระนี้กับสรีระหน้าเป็นสรีระอันเดียวกันหรือ ปัญหาต่างๆทั้งหมด ในครั้งพุทธกาลนี้เคยมี พระบ้าง คฤหัสห์บ้าง นำมาผูกเป็นปัญหาทูลถามพระพุทธองค์ อย่าง พระมาลุงกยะ ได้ตั้งปัญหากระทู้ถามพระบรมศาสดา พร้อมกับตั้งข้อแม้ว่าถ้าพระบรมศาสดาไม่เฉลยปัญหาเหล่านี้กับพระมาลุงกยะแล้ว พระมาลุงกยะก็จะทูลลาสิกขาไม่อยู่บวชในพระพุทธศาสนาต่อไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอบพระมาลุงกยะ ว่าดูก่อนมาลุงกยะ การที่เธอมาบวชนี้ตถาคตเป็นผู้ขอร้องอ้อนวอนให้เธอมาบวชหรือเปล่า พระมาลุงกยะก็ทูลบอกว่าเปล่า เมื่อเปล่าแล้วเธอจะมาขอร้องบอกคืนกับใครล่ะ เราจะพยากรณ์ถึงเรื่องปัญหาโลกแตกดังที่ท่านตั้งมาถามเหล่านี้ จะพยากรณ์ก็ตาม ไม่พยากรณ์ก็ตาม ธรรมะเหล่าใดที่เราแสดงไปแล้ว อันบุรุษผู้มีความปรารถนาอย่างจริงใจรับไปปฏิบัติตามก็ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นการจะตอบหรือไม่ตอบนั้นไม่เป็นสาระสำคัญในพรหมจรรย์ของเราเลย การที่ตัวของเธอมาพัวพันยุ่งเหยิงกับปัญหาเหล่านี้ จะหนีลักษณะฉายาของโมฆะบุรุษไปได้อย่างไร

คือพระพุทธเจ้า ถ้าหากจะตรัสประณามใครอย่างแรงที่สุดก็ตรัสใช้คำว่าโมฆะบุรุษ หมายถึงคนเปล่า เปล่าจากสาระคือ คุณธรรมและคุณสมบัติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าในที่อื่น ๆ อาคตสถานแห่งอื่นบางแห่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์เอง โดยที่ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ อย่างในมหาปรินิพพานสูตร ตรัสพยากรณ์คติของบรรดาอุบาสก อุบาสิกากับพระอานนท์เถรเจ้าว่า ท่านผู้นั้นอุบาสกนั้น อุบาสิกานั้นเมื่อขันธ์แตกไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ชั้นนั้น ๆ พยากรณ์ไว้อย่างนี้ ตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้าว่า เราพยากรณ์อย่างนี้ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจให้แก่ปฏิมาชนตาชน ที่ได้รู้ว่าผลของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่เป็นโมฆะ (ข้อคิด: แสดงว่าผู้บรรลุโสดาบันบางท่านก็ไม่รู้ตัว พยากรณ์ตัวเองไม่ได้แต่บางท่านก็พยากรณ์ได้ ) ได้รับผลประโยชน์ทั้งในทิฏฐธรรม ในสัมปรายภพ จะได้เป็นกำลังใจ จะได้เป็นตัวอย่างแบบฉบับสำหรับคนชั้นต่อ ๆ ไปอย่างนี้ ทรงตรัสพยากรณ์เอง



เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนี้แล้วประหนึ่งว่าพระบรมศาสาดานั้นทำอะไรขัดกับพระองค์โดยปริยาย ประหนึ่งเป็นอย่างนั้นแหละครับ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า คนที่มาตั้งปัญหาเป็นอัพยากตปัญหาหรือที่เรียกกันว่าปัญหาโลกแตก ถ้าตั้งปัญหาเหล่านี้มาถามพระองค์ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างว่าพวกเหล่านี้มีทิฏฐิฝังอยู่ในสันดานแล้ว บางคนเป็นสัสสตทิฏฐิ บางคนเป็น อุจเฉทิฏฐิ ฝังแน่น เป็นทิฏฐิปรามาส ทิฏฐิปรามาส นี่หมายความว่าเป็น ทิฏฐิที่แรงมาก เป็นทิฏฐิชั้นคณาจารย์ ทิฏฐิของชาวบ้านธรรมดาที่เป็น มิจฉาทิฏฐิยังไม่แรงอย่างพวกมิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ มิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ถึงแม้ว่ารู้ว่าผิดก็ไม่ยอมกลับทิฏฐิอันนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญชัยเวรัฎบุตร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าดี เมื่อสาวกของตัวคือ พระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ เมื่อยังเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของ สญชัย มาชักชวนอาจารย์สัญชัยไปฟังธรรมในสำนักพระพุทธองค์ด้วยกัน อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป กลับย้อนถามท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ทั้งสองท่านว่า คนในโลก นี้ คนโง่ มากหรือ คนฉลาดมาก เมื่อได้รับคำตอบว่า คนโง่มากกว่าคนฉลาด สญชัยก็บอกว่าดีแล้ว คนฉลาดก็ไปหาพระสมณโคดม คนโง่ก็มาหาเรา เราได้ประโยชน์จากพวกคนโง่ ลาภสักกการะของเราก็มากกว่า เพราะคนโง่มีมากกว่า อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิปรามาสของบุคคลทั้งเจ้าหมู่เจ้าคณะนั้นมีความรุนแรง ถอนได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่มีสัสสตทิฏฐิอยู่ในสันดานหรือคนที่มี อุจเฉทิฏฐิอยู่ในสันดาน ถ้าหากว่ามาตั้งปัญหาประเภท อัพพะยากตปัญหา ถาม พระพุทธองค์แล้ว ถ้าพระองค์ไปมัวตอบปัญหาของพวกเจ้าทิฏฐิเหล่านี้ เหนื่อยเปล่า ป่วยการเปล่า เพราะตอบไปแล้ว พวกเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะกลับอกกลับใจมาเลื่อมใส มิหนำซ้ำเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย บางทีจะฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด อีก นึกว่าพระพุทธเจ้าสนับสนุนทรรศนะตัว ยกตัวอย่าง พระองค์บอกว่า ชาติหน้ามี ว่าคนเราตายแล้วต้องมีปฏิสนธิวิญญาณไปเวียนว่ายตายเกิดอีก ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนฟังแล้วก็นึกว่า โอ นี่พระสมณโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเช่นเดียวกับเราแล้ว คือแสดงว่า มีวิญญาณดวงนี้เป็นตัวตั้งตัวตีไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ นึกอย่างนั้นไม่ได้เฉลียวใจว่าคำว่า ปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนา ต่างกับปฏิสนธิวิญญาณในศาสนาอื่นอย่างไร คือ ปฏิสนธิวิญญาณในพุทธศาสนาเรานั้นไม่ใช่เป็นนิจจัง แต่ว่าเป็น อนิจจัง เกิดดับ ทุกขณะ ส่งไปด้วยอำนาจพลังกรรม กับ พลังตัณหา พลังอุปทาน ๓ อันนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต ใน อังคุตรนิกายว่า กรรมนี้เป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหานี้เป็นยางเหนียวในพืชนั้น สิเนโหตัณหา สิเนโห แปลว่า ยางเหนียว สิเนหะคือ เสน่หานี่แหละ แปลว่ายางเหนียว มีกรรมเป็นผืนนา มีวิญญาณเป็นพืช และก็มีตัณหาเป็นยางเหนียวในพืชนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อรับ พืช คือวิญญาณลงไปในแปลงนาคือ กรรม เมื่อวิญญาณนั้นยังมียางเหนียวอยู่ก็มีการเจริญเติบกล้าขึ้นมา เมื่อได้รับปัจจัยเช่น แสงแดด อาหาร น้ำ อันเป็นโอชะมาบำรุง วัฏฏสงสารก็เกิด ทรรศนะในเรื่องวิญญาณในพุทธศาสนาจึงต่างกับพวกสัสสตทิฏฐิ เพราะเราถือว่าวิญญาณก็เกิดจากกรรมเกิดจากสิเนหะ คือยางเหนียว ปรุงแต่งกัน เมื่อได้อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ไม่มีสภาวะที่เที่ยงในตัวมันเอง ต่างกับทรรศนะวิญญาณในฝ่ายสัสสตทิฏฐิที่ถือว่า วิญญาณนั้นเที่ยง วิญญาณดวงนี้ดวงเดียวยืนโรงอยู่ เป็นผู้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามภพต่างๆ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่มี สัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน หากมาฟัง พุทธพยากรณ์ แล้วก็จะฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด ดีอกดีใจ บอกว่าพระสมณะโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเหมือนกับเราอย่างนี้ ป่วยการเปล่านี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ถ้าหากว่ามีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนอยู่ ขันธะสันดาน พวกนี้จะตั้งปัญหาอัพยากตปัญหาทูลถามพระพุทธองค์เข้า พระพุทธองค์จะตรัสพยากรณ์ บอกว่าวิญญาณดวงที่ท่องเที่ยวต่างกับวิญญาณดวงนี้ ไม่ใช่วิญญาณดวงนี้ไปเกิดในภพหน้า แต่เป็นคนละอัน คนละดวงกัน ถ้าพยากรณ์อย่างนี้ พวกที่มีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด นึกว่า โอ พระสมณโคดมพยากรณ์ว่าวิญญาณขาดสูญ เพราะตรัสว่า ดวงนี้ไม่ใช่ดวงนั้น ขาดสูญแล้ว เป็นการสนับสนุนทิฏฐิของเรา พวกเจ้าลัทธิ ๒ พวกมีความโน้มเอียงไปในทางที่ตัวเชื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะมาพยากรณ์อัพยากตปัญหากับพวกเหล่านี้เหนื่อยเปล่า พระองค์จึงตัดบทเสีย ไม่พูด พูดไปแล้วก็เหนื่อย

แต่หากว่าคนที่เขาตั้งปัญหาถามชนิดที่ว่าอยากรู้อยากเห็นจริง ๆ มีความสงสัยในเรื่องนี้จริง ๆ โดยที่ไม่มีสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทุกรายไปเลยทีเดียว ไม่มีเลยที่จะไม่พยากรณ์ และก็บางครั้งไม่ต้องอาศัยใครมาทูลถามพระองค์ ๆ พยากรณ์ขึ้นมาเฉย ๆ ก็มี ปรารภเหตุต่าง ๆ และก็เล่าความเป็นไปต่างๆ ขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเข้าลักษณะว่า วาจาใดแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็จะไม่ตรัสเลย แต่ถ้าวาจาประเภทใดเป็นของแท้ของจริงแล้วมีประโยชน์ด้วย พระองค์จะเป็นผู้ที่รู้กาละที่จะตรัส ไม่ใช่ว่าถ้าของจริงแล้วมีประโยชน์จะตรัสพร่ำเพรื่อไม่เอา ตรัสไม่ดูบริษัท ไม่ดูบุคคล ไม่ถูก พระองค์เป็นผู้รู้กาลตรัส กาลที่ควรจะตรัสก็ตรัส และกาลที่ไม่ควรจะตรัส พระองค์ก็ไม่ตรัส นี่เป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ วิวัฒนาการของโลก หรือ วิวัฒนาการทางชีวิตตามพุทธคติ เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธต่างกับศาสนาอื่น ศาสนาในโลกนี้ เมื่อแบ่งกันแล้วก็มี ๓ พวกใหญ่ ๆ คือ

๑. ศาสนาประเภท พหุเทวนิยมพวกหนึ่ง
๒. ศาสนาประเภท เอกะเทวนิยมพวกหนึ่ง
๓. ศาสนาประเภท อะเทวนิยมพวกหนึ่ง

มี ๓ พวกนะครับ ศาสนาประเภท พหุเทวนิยม นั้นได้แก่ ศาสนาที่บูชาพระเป็นเจ้า ประจำธรรมชาติ มีพระเจ้าฟ้าร้อง พระเจ้าฟ้าผ่า พระเจ้าร้อน พระเจ้าหนาว พระเจ้าฝน พระเจ้าอบอุ่น พระเจ้าแสงแดด พระเจ้าอะไรมากมายตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติศาสนาพหุเทวนิยม นี้เป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ ติดมาตั้งแต่มนุษย์เรายังเป็นอนารยชน เป็นคนป่าร่อนเร่อยู่ในท่ามกลางป่าดงพงไพร เป็นศาสนาที่เกิดจากความกลัวของคนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตบอกว่าเมื่อมนุษย์เกิดมีความกลัวคุกคามแล้ว ก็ยึดเอาป่าเป็นที่พึ่งบ้าง ยึดเอาเจติยะ เอาต้นไม้ เอาภูเขา เป็นที่พึ่งบ้าง สุดแต่ว่าอะไรที่จะให้ใจตัวเข้าไปยึดเหนี่ยวแล้ว นึกว่าดับความกลัวได้ มนุษย์ก็แสวงหาเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ แต่ผู้ใดถึงพระรัตนตรัย มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ผู้นั้นจึงชื่อว่าได้มีที่พึ่งอันเกษม มีที่พึ่งอันประเสริฐ เพราะผู้ใดถึงที่พึ่งอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี่ในพุทธภาษิตตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกนักวิเคราะห์ทางจิตเขาบอกว่า “ คนที่นับถือศาสนาเป็นพวกที่มีจิตใจอ่อนแอ “ วิเคราะห์ทางจิต ฝ่ายวัตถุนิยมนะ เขาบอกว่าคนที่มีศาสนาเป็นคนจิตใจอ่อนแอก็จริง แต่ว่าศาสนาที่คนนับถือประเภทจิตอ่อนแอ ไม่ใช่ พุทธศาสนา เพราะว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประเภทที่ ๓ เป็นพวกอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ไม่ได้ให้เกียรติกับพระเจ้าองค์ไหน หรือ เทวดาองค์ไหนเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่ใช่

แล้วในพุทธศาสนาก็รับด้วยว่าถูกศาสนาที่มีบ่อเกิดมาจากความกลัวนั้นคือ ศาสนาสมัยยุคอนารยะ ยุคคนป่าเกิด เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ มนุษย์ยังไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ พอเจอแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือโรคระบาด ก็นึกว่าจะต้องมีผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือผีสางอะไรเป็นผู้ดลบันดาลเป็นผู้สั่งการ ไม่เช่นนั้นอยู่ดี ๆ ทำไมฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างลงมาได้ อยู่ดีๆ ทำไมแผ่นดินไหวขึ้นมาได้ จะต้องมีคนดลบันดาล นึกอย่างนั้น จากความโง่เขลาของคนป่าในยุคกระโน้นกลัวขึ้นมา กลัวก็อ้อนวอนบวงสรวงบูชาสมมุติให้เป็นพระเจ้า เป็นตัวเป็นตนขึ้น เรียกว่า พหุเทวนิยมมากมาย เทวดามากมาย พระเจ้ามากมาย สมมติกันขึ้นเป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ ศาสนาประเภทนี้มนุษย์ในโลกภาคต่างๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่ายุโรปอเมริกาหรือเอเชียเหมือนกันหมด นับถือพระเจ้าประจำธรรมชาติ การนับถือพระเจ้าประจำธรรมชาตินั้นบางทีก็พลอยนับถือพวก “ สัตว์เดรัจฉานเป็นพระเจ้าด้วย “ เพราะไปเจอสัตว์เดรัจฉานที่มีเขี้ยวเล็บมาก ๆ มีความดุร้ายมาก ๆ ก็เลยสมมติว่ามีวิญญาณที่ดุร้ายสิงสู่อยู่นับถือพวก เสือ พวกจระเข้ หนักเข้านับถือ หมู แมว บูชา หมู หมา แมว ไปด้วยเลย อย่างศาสนาโบราณของพวกอียิปต์นับถือ แมวเป็นพระเจ้าก็มี นับถือแมวนะ อย่างพวกฮินดูนับถือ โคเป็นพระเจ้า ว่าโคนี่เป็นพาหนะของพระอิศวร เฝ้าอยู่ประตูเขาไกรลาศเป็นเทวดาอยู่ และเวลาพระอิศวรจะขี่ก็แปลงเป็นวัวให้พระอิศวรขี่นับถือวัวเป็นพระเจ้า พวกฮินดูจึงไม่กล้ากินเนื้อโคเพราะเขาถือว่าโคเป็นเทวดาแปลงแล้วพวกคนป่าบางเผ่านับถือ จระเข้เป็นพระเจ้า นับถือ เสือเป็นพระเจ้า นับถือช้างเป็นพระเจ้า มีมากมาย นี่เกิดจากความกลัวของมนุษย์ทั้งนั้น ก็ตรงกับหลักนักจิตวิทยาในปัจจุบัน แล้วเขาบอกว่าศาสนาเกิดจากคนที่ใจอ่อนแอ อย่างนี้ต้องจำกัดความหมายว่า ยกเว้นพุทธศาสนานะ เพราะว่าพุทธศาสนานี้ไม่มีลักษณะที่เกิดจากความอ่อนแอ หรือเกิดจากความกลัว ไม่ใช่ นี่เป็นศาสนาประเภทพหุเทวะนิยม

ต่อมาเมื่อสังคมมนุษย์เจริญขึ้น สังคมของมนุษย์มีส่วนสะท้อนไปถึงศาสนาประเภท พหุเทวนิยมด้วย เพราะว่าในสมัยบุพพกาล มนุษย์เราไม่ได้อยู่เป็นประเทศ สังคมเป็นสังคมย่อย ๆ เป็นกลุ่มก้อน มีรัฐ มีพ่อบ้าน มีพ่อหมู่ ประจำหมู่ ประจำคณะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยู่กันเป็นหมู่ๆ พระเจ้าก็มีมากไปตามหมู่ บางหมู่ก็นับถือช้าง บางหมู่ก็นับถือเสือ บางหมู่ก็นับถือดาว นับถือพระอาทิตย์ แล้วแต่ เพราะฉะนั้นลักษณะ พหุเทวนิยม ก็คล้อยไปกับลักษณะสังคมในยุคโบราณของมนุษย์เมื่อแยกเป็นหมู่เป็นคณะ ต่อมาเมื่อโลกวิวัฒนาการเจริญขึ้น เกิดมีประเทศเป็นหลักเป็นฐาน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา และลักษณะของความแตกเป็นหมู่เป็นคณะก็หมดไปกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ๆ ตั้งขึ้นเป็นประเทศ ก็มีพระเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้น เป็นผู้คุ้มครองประเทศเป็นพ่อเมือง ไม่ใช่พ่อหมู่ ศาสนาก็เปลี่ยนไปตามกาลนิยม คือเมื่อมนุษย์ไม่นับถือเทวดาพระเจ้ามาก ๆ องค์ ก็มาตั้งปัญหาถามว่าพระเจ้าเหล่านี้มีมาก ๆ เวลามีภัยมาปรากฏกับเราแล้ว เราจะอ้อนวอนองค์ไหนจะได้มีฤทธิ์เดช จะได้มาคุ้มครองเรา หนักเข้าก็ไม่รู้จะอ้อนวอนองค์ไหนดี เพราะต่างองค์ต่างก็ศักดิ์สิทธิ์ขลังด้วยกันทั้งนั้น ความรู้สึกของมนุษย์ก็นึกว่าในหมู่พระเจ้าคงจะเหมือนคน คือจะต้องมีประธานของพระเจ้ามาสักองค์หนึ่ง เป็นเทวาดิเทพ บังคับบัญชาบรรดา เทวดาบริวาร เหล่านี้เหมือนอย่างมนุษย์เรามี พระเจ้าแผ่นดินเพราะฉะนั้นก็เลยสมมติให้มี เทวาดิเทพองค์หนึ่งเป็นประธานพระเจ้า เกิดศาสนาประเภท เอกะเทวนิยม ขึ้น เมื่อเกิดประธานพระเจ้าแล้ว การที่จะไปเอาอกเอาใจพวกตีนโรงตีนศาลก็หมดไป ไม่จำเป็น มาอ้อนวอนพวกตีนโรงตีนศาลหรอกหนัก ๆ เข้าก็ตัดพระเจ้าปลีกย่อย ๆ พระเจ้าเบ็ดเตล็ด ๆ หายเข้าโรงไปทีละองค์สององค์หมดไป เหลือแต่พระบิดาของโลกองค์หนึ่ง ตามความเข้าใจของคนโบราณในยุคนั้น ท่านผู้นั้นคือพระเจ้าผู้สร้างโลก ผู้รังสฤษดิ์ความเป็นไปต่างๆ ในสากลจักรวาล เป็นศาสนาเอกเทวนิยม ค่อยๆพัฒนามาจากศาสนา พหุเทวนิยม นี่เป็นลักษณะ พัฒนาการของศาสนา เป็น เอกะเทวนิยมเสียแล้ว เพราะฉะนั้นลักษณะนี้เราจะเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้ว



มนุษย์ที่สร้างพระเจ้านั้นเป็นมนุษย์สมัยยุคอนารยะที่ยังไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ สร้างพระเจ้าจากความกลัวของตัวเองขึ้นมาแล้วตัวเองก็อ้อนวอนบูชาในสิ่งที่ตัวสร้างขึ้น นี่เป็นสมัยวิวัฒนาการศาสนาจาก พหุเทวนิยมเป็นเอกเทวนิยม ต่อมาเมื่อปัญญาของมนุษย์เฉลียวฉลาดขึ้น รู้ข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์ก็เลิกที่จะบูชาพระเจ้าภายนอก หันมาขบคิดปัญหาชีวิตภายในตัวเราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อันนี้ความคิดเห็นของมนุษย์ในยุคนี้ทำให้เกิด ปรัชญาเมธีต่างๆ ทำให้เกิดการคิดที่จะสร้างระบบ ยกระดับชีวิตจิตใจให้พ้นจากห้วงทุกข์ห้วงกิเลส ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในบรรดาหมู่เจ้าลัทธิในศาสนาพราหมณ์เกิดปรัชญาอุปนิษัท ได้สร้างเรื่องอาตมันหรือวิญญาณสากลขึ้น เพราะฉะนั้นลักษณะนี้วิวัฒนาการจากวัตถุมาเป็นจิตใจ พระเจ้าก็เป็นวัตถุของภายนอก เป็นตัวเป็นตนเหมือนอย่างเรา มีโลภ มีโกรธ มีหลง เหมือนอย่างมนุษย์ คือมนุษย์สร้างพระเจ้าจากจินตนาการของตัวเอง มนุษย์อยากจะให้คนเอาใจ มนุษย์ก็นึกว่าพระเจ้าต้องการคนเอาใจบ้างไปประจบประแจงพระเจ้า มนุษย์รู้ตัวเองว่าเวลาใครทำขัดใจตัว ตัวโกรธ ก็นึกว่าพระเจ้าต้องโกรธ ถ้าไปขัดใจพระองค์ ต้องคอยเอาใจพระเจ้า นี่เพราะฉะนั้นพระเจ้าก็เป็นผลจากมนุษย์เสกสรรค์ขึ้น ต่อมาเมื่อมนุษย์มีปัญญาเฉลียวฉลาด เลิกบูชาสิ่งภายนอก เห็นว่าแท้จริงเราจะไปบูชาอ้อนวอนสักกี่มากน้อย ความทุกข์ก็ไม่หมด ความทุกข์ในชีวิตก็ไม่หมด อย่าเลยมาค้นหาความจริงภายในดีกว่า ว่าตัวเรานี่เป็นใคร มาแต่ไหน การที่ต้องการจะขบปัญหาว่าตัวเราเป็นใคร มาแต่ไหนนี่จึงได้เกิดปรัชญาชนิดที่ว่า อาตมัน หรือ ปรัชญาประเภท นิยม อัตตะ ขึ้นมา เกิดขบไปขบมาก็เห็นว่าตัวเราที่จริงไม่ใช่ตัว ๆ นี้ ตัว ๆ นี้เป็นเพียงแต่เรือนร่าง ตัวเราที่จริงเป็นเจ้าของเรือนร่างอันนี้เป็นผู้อาศัยร่าง บังคับบัญชาเรือนร่างอันนี้ ตัวเราอันนี้จะต้อง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่แตกไม่สูญ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อ ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงยุคที่ ๓ คือ ยุคที่ค้นหา ความจริงภายใน จึงได้เกิดลัทธิปรัชญาประเภท สัสสตทิฏฐิ ที่ถือ อาตมัน หรือ วิญญาณสากลเป็นบรรทัดฐานแล้ว วิญญาณสากล หรือ อาตมันนี้ก็เรียกว่า เป็นพรหมบ้าง เป็นปรมาตมันบ้าง หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่เถิด จิตสากลบ้าง อะไรต่างๆ อย่างแม้ในทางตะวันตกก็เหมือนตะวันออก ตะวันตกอย่างปรัชญาของ สปิโนซ่า อย่างนี้สปิโนซ่า ก็ถือว่ามี ยูนิเวอร์แซลไมนด์ คือ จิตที่เป็นจิตสากล เป็นที่รวมของจิตต่าง ๆ ของโลก ความเป็นไปของโลก รังสฤษดิ์ออกมาจากยูนิเวอร์แซลไมนด์ อันนี้คือจิตสากล อันนี้สะท้อนภาพแบ่งแยกออกมา อันนี้เราจะเห็นว่าค่อย ๆ เจริญขึ้นมา ระดับนี้มนุษย์เลิกเชื่อ อภินิหารพระเจ้าภายนอกแล้วนึกว่าตัวเรานี่คือพระเจ้า คือ พรหม อหัมพรัมมัสมิ ตัสวัมอสิ นี่เป็นหัวใจในปรัชญาฮินดูเขา ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ที่เป็นขั้น อัลทิเมท (Ultimate) คือชั้นสูงสุด ชั้นโลกุตระของเขาเขามีคำขวัญประจำปรัชญาใน อุปนิษัท บอกว่า อหัมพรัมมัสมิ ตัวเรานี่เป็นพรหม ตัสวัมอสิ แม้สูก็เช่นเดียวกัน พูดกันอย่างง่ายๆ บอกว่าไม่ต้องไปบูชาพระเจ้าภายนอกหรอก พระเจ้าสร้างโลกภายนอกเก๊ทั้งนั้นแหละ แต่ของข้านี่เป็น พระเจ้า คือ อัตตานี่แหละเป็นตัวพระเจ้า แม้แต่ตัวท่านก็มีพระเจ้าในตัวท่านเอง คือ อัตตาที่ที่แท้ของท่านก็เป็นพระเจ้า ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงขั้นนี้ก็ถือเอาตัวตนของตัวเองเป็นพระเจ้า อัตตา ที่แท้จริงเป็นพระเจ้า โซล (Soul)

อาตมัน เป็นพระเจ้า เป็นพรหม นี่เป็นจุดสูงสุดในศาสนาประเภทที่วิวัฒนาการมาพอปัญญาของมนุษย์ฉลาดขึ้น อีกยุคหนึ่งคือมาในสมัยที่พุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ถือ อเทวนิยม ไม่ให้ความสำคัญแก่ พระเจ้าหรือ ก๊อด (God) เลย นี่เป็นลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นในท่ามกลางบรรดาเจ้าหมู่เจ้าคณะที่กำลังคิดว่าตัวตนเป็น พระเจ้า และในอินเดียเราก็ทราบแล้วว่า ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาที่จะเรียกแล้วก็เป็นศาสนา จับฉ่าย คือถ้าจะเปรียบเทียบเป็นห้างสรรพสินค้าก็มีสินค้าหลายประเภทตั้งแต่ บุ้งกี๋ ไม้กวาด ที่นอน หมอน มุ้ง กระทั่งโทรทัศน์ จำหน่าย สำหรับให้คนที่ต้องการสินค้าภายในหยิบเอาไป ในศาสนาพราหมณ์นะครับ พวกที่มีปัญญาสูงหน่อยก็นับถือพระเจ้าในตัวของตัวเอง ถืออัตตาของตัวเป็นพระเจ้า พวกที่โง่ลงมาก็นับถือพระเจ้าภายนอกเป็นตัวเป็นตน มี ๔ มือ ๘ มืออะไรต่างๆ เป็นนารายณ์ ศิวะไป พวกที่ต่ำยิ่งกว่านั้น ก็นับถือพระเจ้าประเภทสัตว์เดรัจฉานไป ไหว้วัว ไหว้ค่าง ไหว้หนุมาน เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ลิงไหว้ค่างไป นี่ต่ำไปกว่านั้น ที่ต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ บูชาศิวลึงค์บ้าง เครื่องเพศของมนุษย์ นี่ต่ำลงยิ่งกว่าบูชา เดรัจฉานอีก ค่อย ๆ ต่ำลงมา ศาสนาพราหมณ์มีหมด ผมถึงบอกเปรียบเหมือนกับห้างสรรพสินค้าหรือสโตร์ มีสินค้าสารพัด

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางศาสนาที่มีสปิริตทั้งสูงทั้งต่ำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่ พุทธศาสนา อุบัติขึ้นจึงเท่ากับว่าได้เปรียบยิ่งกว่าทุกศาสนาในโลก ได้เปรียบมาก ได้เปรียบกว่าทุกศาสนา พระพุทธเจ้าเราได้เกิดในหมู่คนฉลาด การที่พระองค์ประดิษฐานพุทธศาสนานี้ ถ้าไม่ดีจริงละก็ตั้งไม่ได้แน่ คนอื่นเขาเจ๊งไปหมด นี่ถ้าไม่ดีนะ ไม่เหมือนกับศาสนาบางท่าน ไปเกิดในทะเลทรายบ้าง ไปเกิดในบ้านเล็กเมืองน้อยในที่ที่อารยธรรมไม่เจริญ จะพูดอะไรคนก็เชื่อง่าย แต่การที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดในอินเดียในครั้งกระนั้น ไม่ใช่พูดอะไรคนจะเชื่อเอาง่าย ๆ ถ้าไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักข้อพิสูจน์ดีจริงที่ทนต่อการพิสูจน์แล้วอยู่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าตั้งศาสนาขึ้นจึงไม่ใช่มีสมุฏฐานมาจากความกลัว ไม่ใช่ เป็นศาสนาเดียวที่ไม่ได้ตั้งขึ้นจากความกลัวหรือความอ่อนแอในทางจิตใจของมนุษย์ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธศาสนาเกิดจากอะไร… ? เกิดจากเจตจำนงที่ปรารถนาแสวงหาความจริง เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เกิดจากความกลัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ แต่สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ที่เราเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้คนกลัวทุกข์ละก็เราต้องฆ่าตัวตายกันแล้ว ทุกข์ กลัวไม่ได้ ต้องกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น ทุกข์อริยสัจ จึงอยู่ในข้อที่เรียกว่า ปริญญาตัพพะกิจ ในกิจในอริยสัจ ๔ เรายกได้ทีเดียว ใครมากล่าวหาตั้งข้อปรับวาทะประณามว่าพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานี่ก็เหมือนศาสนาอื่น ๆ เกิดจากความกลัว ความอ่อนแอของคนเรา ไม่จริงหรอก พระองค์ตรัสบอกว่า ปริเญยยกิจ ต้องเข้าไปกำหนดรู้ ไม่ได้สอนให้กลัว ไม่ได้สอนให้หนี ไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ สอนให้หนีทุกข์ เปล่า สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ สิ่งที่ทรงสอนให้หนีคือ ตัณหา ต่างหากเล่า อันเป็น สมุทัยอริยสัจ ต้อง ปหานสัพพกิจ ต้องเข้าไปตัด เพราะฉะนั้นคนที่นับถือพุทธศาสนาแล้วเกิดจิตใจอ่อน เป็นด้วยความเข้าใจผิดของคนนั้นเอง ที่เข้าไม่ถึงแก่นในพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่เกิดจากความต้องการแสวงหาความจริงในชีวิตเกิดจากความต้องการจะแก้ปมเรื่องทุกข์ของมนุษย์ให้แตกหักออกไป หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากน้ำใจอันกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการที่ต้องการต่อสู้กับความทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์ อันนี้สำคัญนะครับท่าน ต้องย้ำให้ดี เพราะมีคนโจมตีพุทธศาสนาว่าเป็น เพสซิมิสต์ มองโลกในแง่ร้าย มัวแต่สอนกันเรื่องทุกข์ ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะ เห็นทุกสิ่งเป็นทุกข์หมด อย่างนี้ใจคอห่อเหี่ยวหมด เราต้องแก้เขาบอกว่าท่านเข้าใจผิดแล้ว

ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หนีทุกข์นะ สอนให้สู้กับทุกข์ ถ้าสอนให้หนีทุกข์ละก็ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาสอนคนแล้ว ทิ้งบ้านทิ้งช่องอยู่ในป่า พระอรหันต์ตรัสรู้แล้วก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพง รีบอนุปาสิเสสะนิพพาน ไม่ต้องมาทรมานทรกรรม ชีวิตทำประโยชน์ให้แก่โลก พุทธศาสนาสอนให้สู้หน้ากับทุกข์ คือสู้หน้ากับความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ทุกข์นี่เป็นความจริง เป็นอริยสัจ ให้สู้หน้ากับความจริง ทุกข์นี่เป็นของจริง เป็นอริยสัจให้สู้หน้ากับความจริง ให้รับรู้ในความจริงอันนั้น สิ่งที่เราจะถอนจะละ ตัณหา ต่างหาก ไม่ใช่ตัวทุกข์ เราต้องรู้จักอธิบายครับ แก้คนที่ยังหลงผิด เข้าใจพุทธศาสนาผิด ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เกิดจากสมุฏฐานของความกลัว ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานของความอ่อนแอเช่นนี้ โลกทัศน์ ในพุทธศาสนาจึงแตกต่างกัน โลกทัศน์ ในศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมด

ศาสนาที่เป็นฝ่ายอเทวนิยมในโลกนี้มีเพียง ๒ ศาสนา คือ พุทธกับศาสนาเชน ซึ่งตั้งโดย มหาวีระ เจ้าลัทธิที่มีชีวิตร่วมพุทธสมัยเป็นเชื้อสายกษัตริย์เมืองเวสาลี มหาวีระ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิครนถ์นาฏบุตร ครูทั้ง ๖ ครู คนหนึ่งในครู ๖ คน นิครนถ์นาฏบุตรนี่ ศาสนาเชน ก็เป็นศาสนาที่อยู่ในประเภท อเทวนิยมไม่มีพระเจ้า ปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธการสร้างโลกจากพระเจ้า ถือว่าโลกเกิดจากกรรมเป็นผู้สร้าง เหมือนพุทธศาสนา แต่พุทธกับเชนแม้จะตรงกันในข้อนี้ แต่ไปเลี่ยงกันในวิธีปฏิบัติคือ เชน เป็นฝ่ายถือ อัตตกิละมถานุโยค ให้ทรมานตัวให้แสนเผ็ดอย่างสาหัส เมื่อบำเพ็ญตบะถึงขั้นสุดท้าย ใครอดข้าวจนตายตลอดชีวิต ถือว่าหลุดพ้น เข้า นิพพาน อดข้าวจนตาย นี่อัตตกิละมถานุโยค อย่างสาหัส พระพุทธเจ้าท่านเลือกเดินทางสายกลาง นี่ต่างกับเชน ตรงนี้ ในทางปฏิบัตินะครับในทางทฤษฏีเชนรับรองมี อาตมัน หรือ อัตตา แต่พุทธปฏิเสธอัตตา นี่เพราะฉะนั้น พุทธศาสนากับศาสนาเชน ตรงกันในข้อที่ว่าเป็น อเทวนิยม เหมือนกัน ปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลกเหมือนกัน ถือว่ากรรมเป็นผู้ปรุงโลก สร้างโลกเหมือนกัน แตกต่างกันคือ

๑. เชนถือว่ามีอัตตา อัตตาเที่ยง พุทธถือ อนัตตา เช่นบอกว่าทำอัตตกิละมถานุโยคดี ทำแล้วหลุดพ้นทุกข์ พุทธบอกว่าไม่ดี ต้องเดิน มัชฌิมาปฏิปทา ต่างกันตรงนี้
๒. ศาสนานี้ ศาสนาเชนเวลานี้มีคนนับถือราว ๆ ไม่เกิน ๑๐ ล้านคนในอินเดีย และเป็นศาสนาที่ไม่เคยแพร่หลายออกนอกประเทศอินเดียเลย เพราะเป็นศาสนาที่รุนแรงเกินไปในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถที่จะแพร่หลายไปในต่างประเทศได้ หาคนนับถือได้ยาก เป็นศาสนาพวกชีเปลือย พวกนิครนถ์

คราวนี้โลกทัศน์ในพุทธศาสนา เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า เรื่องวิวัฒนาการหรือสมุฏฐานของชีวิตว่ามีมาจากอะไร เราก็แตกต่างกับโลกทัศน์ในศาสนาอื่น คือ โลกทัศน์ในศาสนาอื่นมักจะตั้งปัญหาถามบอกว่าตัวเรามาจากไหน วิญญาณของเรามาแต่ไหน การตอบปัญหาเหล่านี้ก็พุ่งไปในทางที่ว่าโลกมาจากพระเจ้าผู้สร้าง พอมนุษย์มาอัดอั้นตันอุราก็ต้องโยนกลองให้พระเจ้าตะพึดตะพือ เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นดีที่สุด โลกมาจากพระเจ้าผู้สร้างตัวเราหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้างวิญญาณเรามาอย่างไร นี่เป็นคำตอบอย่างกำปั้นทุบดินของพวกที่นับถือ พหุเทวนิยม หรือ เอกะเทวนิยม สำหรับพุทธศาสนานั้นไม่ได้ตั้งปัญหาถามอย่างนี้ พุทธศาสนาขึ้นต้นตั้งปัญหาว่า ทุกข์นี่มาแต่ไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีประการใด ต่างกับศาสนาอื่นแล้ว ศาสนาอื่นเขาตั้งปัญหาถาม บอกว่าโลกนี้มาแต่ไหน วิญญาณนี่สืบมาจากใคร ใครเป็นผู้สร้างวิญญาณ ปัญหาเพ่งออกนอกตัว ออกไปข้างนอก แต่พุทธเราเพ่งเข้าข้างใน บอกว่าทุกข์นี้มาจากไหน ตั้งปัญหาถาม บอกว่าทุกข์นี่มาจากไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด นี่มีประเด็นอันเป็นสมุฏฐานบ่อเกิดศาสนาแตกต่างกันอย่างนี้ คำตอบหรือคำเฉลยในปัญหา ๒ ประการนี้จึงแตกต่างไปอย่างซ้ายข้างหนึ่ง ขวาข้างหนึ่งทีเดียว ศาสนาประเภทที่มีเทวนิยมก็ต้องพุ่งไปว่าพระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าเป็นผู้รังสฤษดิ์โลก เป็นผู้สร้างดวงวิญญาณ แต่พุทธเราเพ่งไปทางปฏิจสมุปบาท เมื่ออวิชชาดับ ทุกข์ก็ดับ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนาบอกว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สิ่งเดียวที่ตถาคตสอนกับพวกเธอคือ ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น “ นี่เป็นคำสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนา ทรงแสดงเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ คำนี้เป็นคำย่อ ๆ แต่เริ่ม ปฏิจสมุปบาท รวมอริยสัจ ๔ อยู่ในนี้หมด หรือพูดอย่างพระอัสชิก็ เยธัมมา เหตุปัพภวา นี่แหละ รวมอยู่ในคำว่าทุกข์กับความดับทุกข์ อันนี้เป็นหัวใจในพุทธศาสนา แล้วแต่ใครจะไปพลิกแพลงพูดในโวหารต่าง ๆ กัน แต่สรุปแล้วก็อยู่ในคำสองคำนี้ ทุกข์กับความดับทุกข์ นี่เป็นสาระในพุทธศาสนาของเรา ถ้าหากว่ามีคนเขาตั้งปรับวาทะถามบอกว่า ในพุทธศาสนาสอนบอกว่ามีพระเจ้าผู้สร้างไหม เราบอกไม่มี เขาตั้งปัญหาถามว่าถ้าโลกไม่มีพระเจ้าผู้สร้างแล้ว บ้านที่ท่านอยู่เกิดขึ้นเองได้ไหม ต้องมีผู้สร้างไหมบ้านนี่ เราบอกว่ามี มีนายช่างสร้าง เขาก็ย้อนบอกว่าโลกนี้ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้สร้างสิ ไม่มีผู้สร้างจะเกิดเป็นโลกได้อย่างไร เขาตั้งปัญหาถามอย่างนี้ แล้วท่านจะตอบเขาอย่างไร พวกที่ถือ เทวนิยม เขาตั้งปัญหาอย่างนี้ วิธีการตอบ ของเราชาวพุทธ เราก็มีวิธีตอบ เราถามบอกว่า แหม ขอบคุณมากที่ท่านนิยมเหตุผลนะ โลกเป็นผลมาจากพระเจ้าเป็นเหตุ แหม เหตุผลดีเหลือเกิน พุทธศาสนาก็เป็นศาสนานิยมเหตุผล โลกเป็นผล พระเจ้าเป็นเหตุในประการเดียวกัน อยากจะย้อนเอาเหตุผลที่ท่านใช้กับข้าพเจ้านี่ ย้อนถามท่านหน่อยเถิดว่าแล้วพระเจ้าเล่า ใครเป็นผู้สร้าง เขาบอกว่า เกิดขึ้นเองไม่ต้องมีใครสร้าง แล้วกัน นี่ท่านกำลังค้านตัวเองนะ เมื่อกี้นี้หยก ๆ ท่านบอกว่าต้องมีเหตุต้องมีผล ผลมาจากเหตุ แต่ในขณะนี้ท่านอ้างเป็นตุเป็นตะบอกว่าโลกนี้เป็นผล จะต้องมาจากเหตุคือผู้สร้าง แล้วเวลานี้ท่านกำลังค้านตัวท่านเอง แล้วบอกไม่ต้องพระเจ้าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นการค้านเหตุผลในตัวท่านเองแล้วถ้าหากว่าพระเจ้าท่านเกิดขี้นเองได้ ทำไมท่านไม่ยอมให้พวกข้าพเจ้าหรือว่าโลกนี้เกิดโดยธรรมดาบ้างไม่ได้หรือ เขาบอกไม่ได้ ต้องมีช่างไม้ ต้องมีช่างปูน เราถามบอกว่าช่างไม้ช่างปูนก่อนจะมาสร้างบ้านนี่ ใครจ้างเขามา ใครเรียกเขามา ช่างไม้ช่างปูนก็เป็นผลนะ ต้องมีผู้จ้าง เงินไม่ออกจากกระเป๋า เขาก็ไม่มาสร้างให้ฟรี ๆ นะ จะบอกให้



การที่จะมาสร้างบ้านอะไร เรือนโรงก็ต้องมีสัมภาระวัตถุในการก่อสร้างเช่น อิฐ เหล็ก ดิน ทราย มันต้องมีซิ แล้วจะเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้าง พระเจ้าของท่านเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้างโลก มีอุปกรณ์สร้างบ้างไหม นายช่างจะสร้างบ้านก็ต้องมีอุปกรณ์สร้าง เครื่องไม้เครื่องมือในการสร้าง แล้วพระเจ้าจะสร้างโลกนี่ก็ต้องมีอุปกรณ์เหมือนกัน อุปกรณ์อันนี้มาจากไหน บอกบันดาลให้มีเอง อ้าว แล้วกัน นี่กำลังพูดถึงเหตุผล ท่านเองก็กล่าวเรื่องเหตุเรื่องผลเป็นตุเป็นตะ แล้วเวลานี้ท่านกำลังปฏิเสธเหตุผลที่ท่านกล่าวอ้างมาเสียแล้ว บอกว่าเกิดเองได้อีกแล้ว มีหรือเกิดขึ้นเอง ถ้าเกิดเองได้ ก็มีโลกเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ ท่านจะยอมไหม ให้โลกเกิดเองถ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเกิดเองได้เหมือนกัน ว่าอย่างนั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โลกเกิดเองได้ เราก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเขาเกิดเองได้ ไม่ได้ซิ เสมอกันซิ เวลาจะมาเล่นงานพุทธศาสนา รู้จักเอาเหตุผลมายกมาอ้าง แล้วตัวเองไม่รู้จักเอาเหตุผลในข้อเดียวกันมาถามตัวเองบ้าง พอถูกฝ่ายพุทธเล่นงานเข้าบ้าง บอกว่าเกิดเอง แล้วพูดบอกว่าโลกเกิดเอง กลับตอบไม่ยอม นี่เราบอกว่าให้วิญญูชนพิจารณาดูเถิดว่าใครจะเป็นคนนิยมเหตุผลกันแน่ ให้พิจารณาดู ติ๊งคราวนี้ ต่างว่าโลกมีพระเจ้าจริง เอาละ เรายอมรับละ โลกมีพระเจ้าจริง สมมตินะ โลกมีพระเจ้าจริง อยากจะทราบว่า พระเจ้าองค์ไหนเป็นผู้สร้าง พระศาสนาต่างๆ ในโลกมีมากมายที่มีพระเจ้า ของจีนก็มีเง็กเซียนฮ่องเต้ ฮ่วนกูสี เป็นผู้สร้างโลก ของคริสต์ก็มียะโฮวาเป็นผู้ก่อสร้างโลก ของอียิปต์ก็มีเทพเจ้าราบ้าง สุริยเทพเป็นผู้สร้างโลก ศาสนาชินโตของญี่ปุ่น สุริยเทพ ไม่ใช่ผู้ชาย เป็นผู้หญิงชื่อ อมะเตระสุ นางเทพีสุริยะ เป็นผู้สร้างโลกศาสนาพราหมณ์ก็มีอิศวร นารายณ์ พรหม เป็นผู้สร้าง และมิหนำซ้ำ พระเจ้า ๓ องค์นี้ยังทะเลาะกัน แย่งตำแหน่งผู้สร้างเสียด้วยซ้ำ ศาสนาพราหมณ์เองพระเจ้า ๓ องค์ยังขัดคอกันอยู่เลย ใครเป็นผู้สร้างแน่ ยังไม่รู้เลยพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ไวษณพ นิกาย ก็บอกว่านารายณ์นี่แหละสร้างพระพรหมกับสร้างอิศวร พระพรหมเกิดจากนาภีพระนารายณ์ ในเวลาบรรทมกระสินธุ์ สมุทรอยู่บนพญานาคราช อนันตนาคราชในกระแสสินธสาคร เข้าฌาน ไปเกิด ดอกบัวโผล่มาจากนาภี คือ พระนารายณ์แล้วดอกบัวบานมาเป็นพระพรหม เกิดในดอกบัวพระพรหมนี่ต่างหากเล่า เป็นลูกพระนารายณ์ พราหมณ์พวก ไวษณพนิกายถืออย่างนั้น



สวรรค์อยู่ที่ไหน

ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์ ออกจะเป็นปัญหาที่คนทั่วไป ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้ในอนาคตพากันสนใจ เพราะว่ามนุษย์เรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ถ้าหากว่าขาดความหวังเสียอย่างเดียวแล้ว รสชาติของความเป็นมนุษย์ก็หมดไปด้วย แต่ทว่า มนุษย์เราก็มีอายุขัยจำกัด เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ที่ได้รับอยู่ในชีวิตชั่วอายุขัยหนึ่งนั้น จึงไม่เพียงพอกับความหวังของมนุษย์เรา เรื่องปรโลก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่มนุษย์ถูกใจ เพราะเท่ากับเป็นการต่ออายุความหวังของมนุษย์เราให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น ถ้าสมมติว่า ในชาตินี้เราหวังสิ่งใดไม่สมปรารถนา เรายังหวังไว้ว่าในชาติหน้า เราจะได้สิ่งนั้นดังนึก เรื่องของปรโลกซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็กลายเป็นปัญหาที่ทุกผู้นามสนใจ ศาสนาและลัทธิปรัชญาต่าง ๆ เกิดขึ้นก็เพื่อที่จะแก้ข้อข้องใจของมนุษย์ในปัญหาเหล่านี้ด้วย ประการหนึ่ง แต่ว่าเฉพาะในทรรศนะพระพุทธศาสนาเรา สวรรค์นรกคืออะไรอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ ได้ตรัสแสดงนัยไว้อย่างไร ข้อนี้เราน่าจะพิจารณากันดู

ในสมัยพุทธกาลได้มีลัทธิปรัชญาบางสำนัก ซึ่งเรียกกันว่าเป็นลัทธิ “โลกายตะ” แปลว่าลัทธิที่ดำเนินไปตามโลก ลัทธิหนึ่ง กับลัทธิ “อุจเฉทวาทะ” คือลัทธิที่ว่าด้วยการขาดสูญอีกลัทธิหนึ่ง สองลัทธินี้ไม่ยอมรับเรื่องปรโลกว่าเป็นของมีอยู่จริง

ลัทธิโลกายตะ รับรองว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เนื้อหนังมังสัง การที่เราตามใจกิเลสได้เป็นดีที่สุด หาทางป้อนกิเลสมากเท่าไรเป็นสบายมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ลัทธินี้จึงมีชื่อว่า “โลกายตะ” แปลว่าดำเนินไปตามโลก ลัทธินี้ไม่คำนึงถึงเรื่องปรโลกว่าสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าปัจจุบันทำอย่างไร เราถึงจะได้หาเนื้อหนังมังสังของเราให้สมบูรณ์
ลัทธิอุจเฉทวาท ลัทธินี้ก็ไม่คำนึงถึงปรโลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่ยอมรับรองคุณค่าของศีลธรรมจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นสองลัทธินี้ พระพุทธองค์จึงทรงประฌานไว้แล้วว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้ใดที่เกิดมีทรรศนะพ้องกับสองลัทธินี้ ผู้นั้นห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานหมด แต่ว่าอีกลัทธิหนึ่งชื่อว่า

ลัทธิสัสสตทิฏฐิ ลัทธินี้ถือว่าวิญญาณเที่ยง ถ้าเกิดเป็นคนต้องเกิดเป็นคนกันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ เกิดเป็นสัตว์ก็ต้องเป็นสัตว์กันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ หรือถือว่าอัตตาเที่ยง แม้จะเปลี่ยนแปลงทางรูปกายเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นอินทร์บ้าง เป็นพรหมบ้าง แต่ว่าคน ๆ นั้นแหละ อัตตาตัวนั้นแหละเป็นผู้ไปเกิดเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ลัทธิอย่างนี้เรียกว่า “สัสสตทิฏฐิ”

ลัทธินี้พระพุทธองค์เพียงตรัสว่า ห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน ไม่ห้ามสวรรค์ เพราะว่าอย่างน้อย เมื่อเราถือว่ามีอัตตา มีตัวตน เราก็รักนวลสงวนตัว อยากจะให้ตัวเองมีความสุข ไม่กล้าไปประกอบกรรมทำชั่ว มีความหวังว่าชาติหน้า จะได้รับผล ความสุขในการทำความดีของตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พวกนี้ยังมีความหวงแหนตัว ยังเห็นคุณค่าของจริยธรรม มีความรักตัวสงวนตัว เพราะฉะนั้นพวกนี้จึงเพียงแต่ว่าห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ ยังไปสวรรค์ได้

เฉพาะพวก “โลกกายตะ” กับพวก “อุจเฉททิฏฐิ” แล้วเป็นอันห้ามทั้งสวรรค์ มรรค ผล นิพพานไปหมดเลย มีทางเดียวที่จะบ่ายหน้าไปก็คือ โลกันตนรก ไปสู่อบายทางเดียว เมื่อแสดงมติเช่นนี้ ก็เป็นอันแสดงได้แล้วว่า พระพุทธศาสนาเราถือว่านรกสวรรค์มีจริง

ถ้านรกสวรรค์มีจริงจะพิสูจน์ให้คนปัจจุบันเรารู้เห็นเชื่อได้อย่างไรว่ามีจริง ?  
ข้อนี้แหละเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง การพิสูจน์ว่านรกสวรรค์ในปัจจุบันนี้มีจริงนั้น ภาษาธรรมะจึงบัญญัติว่าตาเราเห็นได้คือสี ถ้าไม่มีสีเสียอย่างเดียว ตาเราเห็นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่วัตถุสิ่งนั้นวางอยู่ต่อหน้า เราก็มองไม่เห็น ทีนี้สีอันนั้นภาษาธรรมะ เรียกว่าเป็นวรรณรูป-รูปายตนะอันเป็นวิสัยแห่งจักษุที่จะเข้าไปรับรู้นี้เป็นวรรณรูป แล้วธรรมดาสีนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาว่าอย่างไง วิทยาศาสตร์บอกว่าสีที่แท้จริงไม่มีในโลกหรอก ที่เราเห็นว่ากุหลาบสีแดง มะลิสีขาว ที่เราเห็นสีต่าง ๆ แม้กระทั่งถึงสีสันต่าง ๆ ของเสื้อผ้า สีต่าง ๆ ในโลก ถ้าว่าโดยตามสัจจ์ตามจริงสีไม่มี มันมีแต่คลื่น วิทยาศาสตร์ว่าเป็นคลื่นแสงแล่นมากระทบแล้วแต่ช่วงของมัน คลื่นบางอย่างช่วงระยะยาวทำให้เป็นสีแดง คลื่นบางอย่างกระทบช่วงระยะสั้น เห็นเป็นสีเหลือง คลื่นบางอย่างมาในระยะเท่านั้นเท่านี้เห็นเป็นสีน้ำเงิน สีเขียว สีแสด

เพราะฉะนั้นคลื่นนี้แหละมากระทบแล้ว ที่พุทธศาสนาเราเรียกว่ารูป คำว่ารูปนี้ รูปธาตุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่หมายความเป็นเพียงแต่วัตถุธรรมอย่างเดียว แม้พลังงาน แม้คลื่นแสง ก็เป็นรูป รูปธาตุหรือรูปายตนะด้วย อันนี้เราจะเห็นว่าความก้าวหน้าของธรรมะในพุทธศาสนาเราล้ำยุคกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเป็นผลงานของสัพพัญญุตญาณ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ค้นคว้ามาก่อนหน้าวิทยาศาสตร์จะรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ถึง ๒๔๐๐ กว่าปี อันเป็นพุทธคุณที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ก็เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมากระทบเราทางตานั้นมันมาในรูปของคลื่นสั้นบ้าง คลื่นยาวบ้าง คลื่นช้าบ้าง คลื่นเร็วบ้าง อย่างนี้แล้ว คลื่นบางชนิดที่มันมีอยู่รอบตัวเรากระทบตาเราวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง แต่เราไม่เห็นก็มี คลื่นชนิดนั้นเรียกว่าอะไร คืออุลตราไวโอเลต แสงอุลตราไวโอเลต ภาษาวิทยาศาสตร์ว่ามีอยู่ในโลก เวลานี้ก็มีคลื่นชนิดนี้ สีชนิดนี้ แต่ตาเรามองไม่เห็นทั้ง ๆ ที่ตาเราไม่บอด มองจ้องมันก็ไม่เจอ แล้วเราจะปฏิเสธว่า คลื่นอุลตราไวโอเลตไม่มีได้ไหม ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเรามองไม่เห็นแล้วปฏิเสธสิ่งนั้นว่าไม่มี ถ้าหากว่าเราอยากจะเห็นคลื่นอุลตราไวโอเลต เราก็ต้องมีเครื่องอุปกรณ์ช่วยทางจักษุสัมผัสของเราให้มีประสิทธิภาพสูง เราจึงสามารถจับแสงของคลื่นอุลตราไวโอเลตได้ฉันใด เราจะเห็นนรกสวรรค์ภูตผีปีศาจเทวดาได้ ก็ต้องสร้างประสาทพิเศษ สร้างอุปกรณ์พิเศษที่จะเป็นสื่อนำจักษุสัมผัสของเราไปประจวบกับรูปายตนะของเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์เหล่านี้ได้ฉันนั้นเหมือนกัน



เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้เราก็หักได้ข้อหนึ่งว่า ข้อสมมติฐานของพวกที่ไม่เชื่อนรกสวรรค์ บอกว่านรกสวรรค์ถ้ามีฉันต้องเห็น เทวดาผีสางมีทำไมฉันมองไม่เห็นล่ะ ข้อนี้ก็เป็นอันพับผ่านไปได้แล้ว เถียงไม่ขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ไม่เห็นน่ะเยอะแยะทั้งที่ตาเราไม่บอดแต่เราก็มองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์ที่เขามีความรู้ดี เขาจึงไม่กล้าค้านว่าสรรค์ไม่มี นรกไม่มี เขาไม่กล้าค้านหรอก อย่างมากเขาก็เพียงบอกว่า สวรรค์กับนรกน่ะ เป็นสิ่งซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ค้นคว้าไปไม่ถึง ตอบอย่างนี้เป็นการตอบอย่างไม่เสียภูมินักปราชญ์ พวกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ปลอมหรือวิทยาศาสตร์เทียม พวกนี้ต่างหากล่ะที่รีบตอบว่าไม่มี เพราะฉันไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง และถ้าอย่างนั้น ถ้าหากว่ายอมรับว่านรกสวรรค์มีล่ะ มันตั้งอยู่ที่ไหน ?
นรกสวรรค์มีมันจะไปตั้งอยู่ที่ไหน ความจริงภูมิของนรกสวรรค์นี้ ทางพุทธศาสนาเราแยกเป็น ๓ ประเด็นด้วยกันนะครับ ข้อต้นเมื่อมีคนมาถามพระพุทธองค์ว่า นรกสวรรค์มีไหม พระพุทธเจ้าจะพิจารณาว่า คนตั้งปัญหานี้ เขาถามด้วยความสงสัยอยากรู้จริง ๆ หรือถามเพื่อที่จะชวนวิวาท

ถ้าหากเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นจะชวนวิวาทอย่างนี้แล้ว พระศาสดาไม่ทรงตอบ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแล้วว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่เราประพฤตินี้ ไม่ใช่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวง ไม่ใช่เพื่อจะตั้งตัวเป็นเจ้าลัทธิสำหรับแก้วาทะอย่างโน้น แก้วาทะอย่างนี้ โต้แย้งกัน เราประพฤติพรหมจรรย์อันนี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง ไม่ใช่ทั้งนั้น แต่ที่แท้พรหมจรรย์นี้ตถาคตบัญญัติ และสั่งสอนพวกเธอก็ด้วยมีวิราคะเป็นแก่นสาร มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีนิโรธะ มีนิพพานเป็นแก่นสาร พระพุทธเจ้าพระองค์ประกาศเจตจำนงของศาสนาออกมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ถ้าหากว่าตั้งปัญหาประเด็น แบบชวนวิวาทแล้ว เป็นอันยกเลิกไม่ตอบหมดเลย

แต่ถ้าปัญหาประเด็นที่เรียกว่าอยากรู้จริงด้วยความสงสัยจริง ๆ อย่างนี้แล้วจะทรงตอบ แล้วก็ตอบออกเป็น ๓ นัย วิธีการตอบปัญหาแบ่งเป็น ๓ นัยนี่แหละ พระองค์ได้ตรัสบอกว่าภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นวิกขวาที หาใช่เอกังสวาทีไม่ ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นกรรมวาที เป็นวิรยวาที คือว่าเป็นผู้ที่กล่าวว่ามีกรรมมีความพากเพียรเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ แล้วก็เป็นผู้กล่าวจำแนกตามเหตุการณ์ อย่างประเด็นที่ถามว่านรกสวรรค์มีไหมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้วิภขพยากรณ์ คือว่า
        ๑ ต้องแบ่งว่านรกสวรรค์น่ะมี ทั้งที่เป็นปัจจุบันและที่เป็นสัมปรายภพ เฉพาะประเภทที่เป็นปัจจุบันน่ะยังแบ่งอีกเป็น ๒ คือ
                ประการที่ ๑. ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ ประเภทนี้พระองค์ทรงชี้นรกสวรรค์อยู่ที่อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไปเสพอารมณ์ชนิดใด อันเป็นที่ตั้งแห่งความสุขความโสมนัสปรีดา นั้นแหละเป็นสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าอารมณ์ที่มาให้เราเสพเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนาแล้ว อันนั้นเป็นนรก เพราะสวรรค์ก็ตาม นรกก็ตาม คุณสมบัติอยู่ที่ว่าความเพลิดเพลิน หรือความทุกข์เข็ญของอารมณ์ทางทวาร ๖ ใช่หรือไม่ เราตัดสินความสุขกับความทุกข์น่ะ ไม่ใช่ตัดสินที่วัตถุว่า ต้องตึกหลังใหญ่ ๆ ถึงจะเป็นความสุข มหาเศรษฐีที่อยู่ตึกหลังใหญ่ ๆ นอนก่ายหน้าผากลืมตาโพลงมีเยอะแยะไป เพราะฉะนั้นตึกใหญ่ ๆ นี่ก็ไม่ใช่ความสุขจริง ๆ มันเป็นอุปกรณ์ของความสุข แต่ก็ไม่ใช่ตัวความสุข เรากล่าวบอกว่าคุกตะรางเป็นความทุกข์มหันต์ แต่นักโทษที่เห็นคุกเป็นวิมานก็มี ถึงกำหนดปล่อยออกมาวันนี้แล้ว อ้อนวอนบอกว่าออกไปทำมาหากินลำบาก เดี๋ยวจะต้องไปแก่งแย่งเขากิน สมัครงานก็ยาก ยิ่งเขารู้ว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตะรางอย่างนี้แล้ว ใครเขาอยากจะรับกัน ไม่อยากรับ ลูกเต้าก็ไม่มีแล้ว เมียก็ไปมีผัวใหม่แล้ว พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าเลยจะขอสมัครอยู่ในคุกกินข้าวหลวงฟรีเถอะ อยู่บ้านฟรี กินข้าวหลวงฟรี ใช้น้ำประปา ไฟฟ้าฟรี เสื้อผ้าก็หลวงก็แจกฟรี ขออยู่ที่นี่ต่อไปดีกว่า หลวงก็ไม่ยอม บอกไม่ได้ แกพ้นโทษแล้ว แทงบัญชีขาดแล้วออกไป อ้ายหมอนั่นพอออกจากคุก ก็รีบหาไม้ไปตีกบาลหัวคนเข้า เพื่อที่จะหาเหตุให้ตำรวจจับมาเข้าคุกใหม่ ตำรวจบอกว่า ทำไมเจ้าเพิ่งปล่อยเมื่อเช้านี้ บ่ายนี้เห็นหน้าบนโรงพักอีกแล้ว มันเรื่องอะไร นักโทษก็บอกว่า เรื่องมันมีอย่างนี้แหละหมู่ เพราะหตุที่ว่าการครองชีพก็ลำบาก เมียก็ไปมีครอบครัวใหม่แล้ว ไม่มีญาติโกญาติเกที่ไหนแล้ว เพราะฉะนั้นขอกลับคืนมาที่นี่ เมื่อไม่ให้อยู่กันดี ๆ ก็ต้องหาเหตุเป็นอาชญากรรมมาอยู่คุกต่อไปน่ะซี เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ จึงไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์แวดล้อม แต่หากว่าอยู่ที่อารมณ์ของจิตใช่หรือไม่ การตัดสินสวรรค์นรกก็เหมือนกัน อยู่ที่อารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นเสวยสวรรค์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นตกนรก แม้จะอยู่ในเวียงวังปราสาทราชฐาน แต่ถ้ามีจิตรุ่นร้อนเหมือนอยู่ในไฟแล้วคนนั้นก็ตกนรกเหมือนกัน นี่เป็นประเภที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ คือบัญญัติ นรกสวรรค์ที่อายตนะ ๖ รับอารมณ์ ๖ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง เป็นสวรรค์

             ประการที่ ๒ นรกสวรรค์ที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียะ อีกอย่างหนึ่ง ก็ทรงชี้ไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ภายนอกของบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เช่นว่าพระมหากษัตริย์ เราก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นสมมติเทพ พระมหากษัตริย์ เจ้านายในราชวงศ์ เราก็ถือว่าเป็นสมมติเทพ เพราะมีความสุข ความเป็นอยู่ อุปกรณ์ภายนอกประณีตกว่าชาวบ้านธรรมดาสามัญชนคนที่เป็นทุกขตะเข็ญใจ เป็นง่อยเปลี้ยเสียขาพิกลพิการวิปริตต่าง ๆ ลำบากลำบนทรมานอยู่ เราก็เรียกกันว่าเป็นนรก เป็นสัตว์นรก เสวยทุกข์ในนรก อย่างนี้เป็นการชี้สวรรค์นรกในทางวัตถุธรรมภายข้างนอก

ชีวิตในสังคมที่เราประสบกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะฉะนั้นนรกสวรรค์ ๒ ประเด็นนี้ก็ได้แก่ นรกสวรรค์ที่เราอาจจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อในปัจจุบันทิฏฐธรรมเวทนียะนี้แหละ คราวนี้มาถึงนรกสวรรค์อันเป็นปรโลภที่เราจะมองด้วยตาเนื้อไม่เห็น แปลว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติหน้าจริง ๆ แล้ว สวรรค์นรกประเภทนี้ เป็นประเภทที่สำคัญมาก เพราะจะต้องอาศัยกรณีแวดล้อมพิสูจน์ต่าง ๆ ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหนนะ ทุกวันนี้ความรู้ทางอวกาศเจริญมากแล้ว บางคนก็บอกว่า เอ ขี่จรวดขี่เครื่องบินไม่เห็นเจอ ไม่เห็นชมวิมานเทวดาเสียที ก็เคยดูในภาพเขียนตามศาลาตามโบสถ์ตามวิหารเขียนว่าวิมานเทวดาอยู่บนก้อนเมฆ คราวนี้เครื่องบินที่เร็วกว่าเสียง บินเหนือก้อนเมฆ มิหนำซ้ำยังมีจรวดบินพ้นโลกตั้งระยะตั้งเป็นร้อย ๆ ไมล์ ก็ไม่เห็นวิมานเทวดาไปอยู่ที่ไหน คนโบราณหลอกเอาเสียละมัง ว่าสวรรค์นรกมีจริงน่ะ ถ้าเราจะไปวิมานเทวดาในก้อนเมฆรับรองผิดหวัง ๑๐๐% เพราะเรื่องวิมานเทวดา บนก้อนเมฆน่ะเป็นเรื่องของจิตกรเขา เขาเขียนด้วยมโนภาพ ความจริงสวรรค์นรกไม่ได้ตั้งอยู่บนก้อนเมฆหรอก สวรค์เป็นโลกธาตุโลกหนึ่ง เป็นดาวดวงหนึ่งคล้าย ๆ โลกเรานี่ โลกเราก็เป็นดาวหนึ่ง เรียกว่าเป็นท่อนหนึ่งของราหู วิชาโหราศาสตร์เขาแบ่งดาวใหญ่ ๆ เป็นนพเคราะห์ ๙ โลกราหูถูกตัดเป็นสองท่อน โลกเรานี่เป็นหางราหูนะ ท่อนตัวท่อนหัวราหูออกไปเป็นอีกโลกหนึ่ง ท่อนหางคือโลกที่เราอยู่นี้ เพราะฉะนั้นดาวราหู วิชาโหราศาสตร์เขาทายบอกว่า ถ้าจะทายมัวเมาให้ดูราหู ราหูเสวยอายุเป็นกาลี คนนั้นแปลว่าอยู่ในความหลง จิตใจมัวเมาขุ่นข้อง ไม่มีความสว่างแจ่มใสเลย ถ้าใครราหูเป็นอายุกุมลัคนาอีก คนนั้นก็แย่ มืดเมามัว มีโมหคติมาก อย่างนี้เป็นต้น เพราะถ้าเผอิญใครว่าราหูเล็งอายุ เล็งลัคนา เล็งจันทร์ อย่างนี้ต้องให้ทายบอกว่า คนนั้นสายตาไม่ดี อาจจะเป็นโรคในจักษุ หรืออะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันตามตำราโหราศาสตร์ แต่เอาความว่าโลกเรานี้เป็นท่อนหางราหู เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่เกิดมาในโลกนี้จึงหลงมัวเมาด้วยโลภมาก โหราศาสตร์เขาว่าอย่างนั้น 

แต่มันก็ปรับความจริงกับดาราศาสตร์ว่า โลกเรานี้เป็นสะเก็ดของดาวนพเคราะห์ดวงมหึมา แตกแยกออกมา และนอกจากโลกเราแล้วยังมีดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับโลกเรา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง นับไม่ถ้วนดวง ไม่เชื่อตอนกลางคืนเราก็แหงนคอมองบนท้องฟ้าดูซิจริงไหม ใครสามารถนับดวงดาวบนท้องฟ้าได้ว่ามีกี่ดวง รับรองไม่มีใครนับได้ ความจริงมันมีมากกว่าที่เราเห็นเสียอีก ที่เราเห็นแสงดาวนั้น ดวงดาวดวงหนึ่งกว่าจะส่งรัศมีมาให้เราเห็นน่ะต้องเดินทางเป็นล้าน ๆ ๆ ปีแสง หนึ่งวินาทีต่อความเร็วของแสงเดินนะ เดินหนึ่งวินาทีต่อสองแสนไมล์ แสงมันเดินเร็วอย่างนี้ ไม่มีอะไรจะเดินเร็วเท่าแสง แสงเดินเร็วยิ่งกว่าเสียงอีก เสียงยังเดินช้ากว่าแสงตามวิชาวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นหนึ่งวินาทีน่ะแสงเดินถึง ๒ แสนไมล์ เราเห็นดวงดาวดวงหนึ่งเห็นว่ามันระยิบระยับ ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่าการที่แสงของดวงดาวนั้นมาสัมผัสกับจักษุประสาทของเรานี้ มันเดินทางล้าน ๆๆ โกฏิปีของแสงถึงจะมาถึง แต่ถึงกระนั้น เราเองก็แหงนคอทีไรก็เห็นมันระยิบระยับทุกทีในเวลากลางคืนทุกทีเลย หารู้ไม่ว่า นั่นแหละกว่าจะมาเข้าสัมผัสกับจักษุเราน่ะเป็นโกฏิ ๆ ล้านปีแสงแล้ว เพราะฉะนั้นอันนั้นก็จักรวาลในสุริยะระบบต่าง ๆ จึงรูปมีเอนกอนันตัง ซึ่งทางวิชาอวกาศและดาราศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้แล้ว ในข้อนี้ หากจะปรับสมมติเข้าเทียบเคียงพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเราก็ก้าวไปลิบลับ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีความรู้ในห้วงอวกาศก่อนหน้านักวิทยศาสตร์ถึงสองพันกว่าปี ตรัสว่ามีจุลหัสสีโลกธาตุ มหาสหัสสี ติสหัสสี โลกธาตุ โลกธาตุน้อยหนึ่งพัน โลกธาตุใหญ่โลกธาตุน้อยอีกสามพัน แล้วก็ยังมีอีก ใช้คำว่าแสนโกฏิจักรวาลอีก คำว่าแสนโกฏิจักรวาลนี่ แปลว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้แล้วว่ามีดวงดาวต่าง ๆ เป็นโลกธาตุมากมายในอวกาศนี้นับไม่ถ้วน ก็เมื่อโลกเรายังมีมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ ทำไมโลกอื่นซึ่งเขามีสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับโลกเราจะมีสิ่งมีชีวิตบ้างไม่ได้เล่า เพราะฉะนั้นในข้อนี้ ความเจริญของอวกาศกลับมาพิสูจน์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่า นรกสวรรค์ที่เป็นภูมิเป็นโลกสัณฐานต่างจากโลกเรานี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องโกหกมดเท็จ แต่ว่าไม่ใช่ตั้งอยู่บนก้อนเมฆ เพราะก้อนเมฆเป็นเรื่องใกล้ ๆ ไม่ใช่เรื่องไกลอะไร ก้อนเมฆที่เราเห็นทุกชั้นนี้ลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้านี่นะเป็นเรื่องใกล้ ๆ ระยะทางเหนือจากโลกเราไม่กี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงก้อนเมฆแล้ว ขี่เครื่องบินยังเหนือเมฆเสียกว่าอีก บางทีเราขึ้นไปบนยอดเขาสูง ๆ ก้อนเมฆยังลอยต่ำกว่ายอดเขาเสียอีก ไม่เชื่อลองขึ้นไปบนภูพานหรือภูกระดึงดูซิ ก้อนเมฆลอยต่ำกว่ายอดเขา เวลามีพยับพโยมเมฆฝนตกนี้ ก้อนเมฆพยับพโยมน่ะลอยต่ำกว่าที่เราเหยียบ เพราะฉะนั้นเราจะไปหาวิมานบนก้อนเมฆน่ะ ไม่เจอแน่ อยากจะเจอวิมานเทวดาต้องไปหาบนดวงดาวอีกโลกหนึ่ง แต่จะไปอย่างไรล่ะ เวลานี้ไม่ใช่ว่าจรวดยังไปไม่ถึง แค่ดาวพระจันทร์คนก็ยังไปไม่ถึงเลยนี่ แล้วก็อะไรที่จะรับประกันได้ว่า ในดาวพระจันทร์จะมีวิมาน

สมมติว่าอเมริกาสามารถผลิตจรวดเอาคนออกนอกโลกไปลงดวงจันทร์ได้ในอีกห้าปีข้างหน้า ตามที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกาคาดพยากรณ์ไว้ สมมติว่าอย่างนั้น คราวนี้ถ้าเราจะขี่จรวดจากดวงจันทร์ เอาดวงจันทร์เป็นสถานีกลาง จะไปเที่ยวเมืองสวรรค์ละ ไปค้นคว้าว่าเมืองสวรรค์น่ะมีอยู่ในดวงนพเคราะห์ดวงไหน ขี่ไป เราตายเปล่า จรวดไปไม่ถึง เราตายในกลางจรวดแล้ว เพราะอายุขัยมนุษย์มีจำกัด คนอย่างมากอยู่ ๑๒๐ ตาย เป็นอายุกัปปะ ในสัตว์ ในภัทรกัปนี้ อายุสัตว์ในศาสนาพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ ๑๒๐ ปี เรียกว่าอายุยืนที่สุดแล้ว เป็นกำหนดเป็นอายุขัย ของกัลป์ ของมนุษย์ในกัลป์นี้ เรียกว่า อายุขัยของมนุษย์ คราวนี้โลกสวรรค์ต่างจากโลกมนุษย์ เราเปรียบว่าห่างกันล้านล้านไมล์เถอะนะ เราขี่จรวดวิ่งไป เหาะไป จรวดสมมติว่า วินาทีหนึ่งมีความเร็วประมาณร้อยไมล์ เราไปตายกลางทางแล้ว แก่หง่อมตายไปเลย ถ้าจะไปถึงก็จะมีแต่จรวดเปล่า เราไม่ได้ตามจรวดไปด้วย มีแต่ศพติดไป อาจจะเหลือแต่โครงกระดูกกองหนึ่งอยู่ในจรวดก็ได้ ไปถึงเมืองสวรรค์แล้ว เพราะฉะนั้นการจะไปเมืองสวรรค์ด้วยการขี่จรวดน่ะ รับรองว่าไม่ทางสำเร็จ เพราะว่าเมืองสวรรค์อยู่ห่างจากโลกมนุษย์นี้หลายล้านหลายโกฏิพันล้านไมล์ อย่างที่ว่ามานี้แหละว่า ถ้าไปทางกายไม่ได้ ไปได้ทางเดียว คือทางใจ ทางใจนี่แหละ เพราะว่าใจนั้นไม่ได้ถูกอำนาจขอบเทศะจำกัด เทศะจำกัดใจเราไม่ได้ แต่ว่าใจเองก็ถูกอำนาจกาละจำกัด ถ้าใจไม่ถูกอำนาจกาละจำกัดแล้ว ใจก็เป็นอมตะเป็นนิพพานน่ะซิ ใจยังเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ มีอุปปาทะ ฐิติภังคะ เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นทาสของกาละแต่ไม่เป็นทาสของเทศะ สมมติว่า เรานั่งที่นี่ เราจะคิดถึงจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ เมืองนอกเมืองนาที่เราเคยไป เราไม่ต้องเอาใจไปขี่จรวดขี่เครื่องบิน นั่งที่นี่คิดปับก็ถึงปุ๊บนี่แสดงว่าใจเราน่ะ ไม่ถูกเทศะจำกัดเลย ไปคล่อง ไปรวดเร็ว มาเร็วทีเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ลหุปริวตฺตํ จิตฺตํ จิตนี้นะเป็นไปอย่างรวดเร็วเชียว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึง นี่แสดงว่ามันไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คราวนี้ถ้าหากว่ากาย กายเราจำกัดด้วย เทศะ เรานั่งเก้าอี้ตัวนี้ใครจะมานั่งซ้อนเราไม่ได้ จะมานั่งตรงที่เรานั่งไม่ได้ นอกจากนั่งซ้อนบนตักเราน่ะซิ นั่งได้ แต่จะมานั่งตรงที่เรานั่งสัมผัสอยู่แล้วไม่ได้ นี่แปลว่า กายน่ะมันเทอะทะ มันจำกัด มันเกะกะรุงรัง เป็นของหนัก แต่ไอ้ใจนี่น่ะคนร้อยคน พันคน พุ่งใจไปในจุดเดียวกันไม่เกะกะ ไม่เชื่อท่านทั้งหลายลองส่งกระแสจิตไปที่พระพุทธรูปองค์นี้ซิ จะเห็นว่าไม่มีเนื้อที่เกะกะใจเราเลย ไม่ว่ากี่ร้อยกี่พันกี่แสนโกฏิดวง ส่งกระแสจิตพุ่งมาที่พระพุทธรูป พระพุทธรูปท่านรับกระแสจิตทุกคนไว้หมด ถ้าหากว่าคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะไปนั่งเก้าอื้ตัวเดียวกัน นั่งกันไม่ได้แล้ว เกะกะแล้ว ต้องนั่งซ้อนบนตักแล้ว จะมานั่งบนที่เขานั่งก่อนไม่ได้แล้ว นี่แหละจึงแสดงให้เห็นว่า ใจนี้ไม่มีอำนาจเทศะจำกัด แต่ว่าถูกจำกัดด้วยกาละ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยากจะไปสวรรค์ทางกาย ไม่มีทาง เพราะจะต้องไปตายกลางทางไปไม่ถึงหรอก มันไกล ก็ไปได้ทางเดียวคือทางใจ ทางใจจะไปอย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้เครื่องอุปกรณ์เหมือนหนึ่งเราจะขึ้นเครื่องบิน ก็ต้องอาศัยเครื่องบินเป็นอุปกรณ์ เครื่องบินก็ต้องอาศัยนักบิน อาศัยน้ำมันเป็นอุปกรณ์ มันถึงบินได้ ไม่ใช่ว่ามีเครื่องบินเปล่า ๆ แล้วเราจะบินได้เมื่อไรเล่า เราขับเครื่องบินก็ไม่เป็น ขับเครื่องบินเป็นไม่มีน้ำมัน เครื่องบินมันก็ไม่บินให้ เพราะฉะนั้นการไปเที่ยวโลกสวรรค์ก็เหมือนกัน ต้องมีอุปกรณ์ นอกจากมีใจแล้วต้องอุปกรณ์ของใจสำหรับพาเราไปเที่ยว อุปกรณ์ในที่นี้ก็คือว่า การฝึกจิตตามวิธีของฌาน เราฝึกจิตตามวิธีของฌานจนกระทั่งเกิดอภิญญา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เรื่องของฌานเป็นเรื่องของจิตกรีฑา คือเป็นกีฬาเครื่องเล่นของจิตเหมือนกับ เรามองดูเขาเล่นกรีฑาทางโลก บางคนก็กระโดดสูงตั้งสองสามเมตร เรากระโดดได้ไหม ให้เรากระโดดสูงตัง ๒ - ๓ เมตร เรากระโดดได้ไหม เรากระโดดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกใช่ไหม บางคนว่ายน้ำ ว่ายเร็ว เพียง ๕ นาทีนี่ มีความเร็วเป็นระยะตั้ง ๕ เส้น ๖ เส้น นี่ถ้าเรามาว่ายบ้าง เราไปไม่ไหว เพราะเราไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำนี่ บางคนขว้างจานได้ไปที่ตั้งไกล ๆ ขว้างตั้งห่างกันตั้ง ๒ เส้น ๓ เส้น เราขว้างเองไม่ถึง แค่เส้นหนึ่งก็ไม่ถึงแล้วสุดกำลังของเรา เพราะอะไร เราไม่ใช่นักขว้างจาน เราไม่ได้ฝึกในทางขว้างจาน บางคนวิ่ง วิ่งทน วิ่งมาราธอน เขาอาจจะวิ่งรอบสนามหลวงตั้งสามรอบ ของเราล่ะ แค่ครึ่งรอบก็แย่แล้ว อย่าว่าแต่สามรอบเลยไปไม่ไหว บางคนไต่เส้นลวดเท่านิ้วหัวแม่มือ เขาเดินสองขาไต่สบายข้ามตึกหลังหนึ่งไปยังตึกอีกหลังหนึ่ง ตึกสูงลิ่ว ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น เอาเส้นลวดขึงจากตึกฟากนี้ไปตึกฟากโน้น แล้วก็เดินไต่ไป มิหนำซ้ำก็ยังปล่อยมืออีก ไม่มีเครื่องอุปกรณ์ ทำไมเขาไม่พลัดตกลงมา เราเองเดินท้องร่องสวน ต้นหมากต้นหนึ่งยังตกโครมลงไปในท้องร่อง ทำไมเป็นอย่างนั้น นี่แสดงว่าเป็นเพราะการฝึก คนฝึกกับคนไม่ฝึก มันมีความสามารถต่างกันฉันใด ผู้ที่ฝึกจิตเล่นจิตกรีฑาบ่อย ๆ จนกระทั่งมีวสีความเชี่ยวชาญในฌานมาก ๆ แล้ว ผู้นั้นก็อาจจะทำสิ่งซึ่งคนธรรมดาทำไม่ได้ มองเห็นเป็นเรื่องเหลือวิสัยไป คือว่ามีทิพยจักษุ มีทิพยโสต อาจจะติดต่อโลกทิพย์กายทิพย์ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจงมีความไว้วางใจเถิดว่า สวรรค์มีจริงแน่ ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญเท่าไร ก็ยิ่งพิสูจน์ความจริงว่า สวรรค์มีไม่ใช่ว่าไม่มี

ก็เมื่อสวรรค์มีจริงแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสวรรค์ คือนรก ทำไมจักมีไม่ได้ นรกก็คือโลกหนึ่งเหมือนกัน อีกดาวพระเคราะห์อีกดวงหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเป็นดาวพระเคราะห์ที่มีอุตุนิยมไม่มี อุณหภูมิก็ไม่ดี อาหารก็ไม่ดี ดินฟ้าอากาศก็ไม่ดี ใครไปเกิดที่นั่นก็ทรมานทรกรรมด้วยดินฟ้าอากาศ, ด้วยอุตุ, ด้วยการหาอาหารบริโภค หาฝืดเคืองลำบากอดแห้งอดแล้ง อด ๆ อยาก ๆ กินกรวด กินดิน กินทราย กินอิฐ กินปูน กินของร้อน กินของสกปรก กินพวกนี้ ไม่เหมือนกับพวกที่ไปเกิดในโลกสวรรค์ กินอาหารที่เป็นของประณีต เป็นของทิพย์ เพราะฉะนั้นนรกก็ได้แก่โลกทรมานที่ไปเกิดขึ้นแล้ว ก็เริ่มทรมานด้วยชีวิต ความเป็นอยู่ลำบากลำบน วิกลวิการต่าง ๆ นานา เพราะอำนาจดินฟ้าอากาศที่โหดร้ายทารุณ อำนาจแห่งสังคมที่โหดร้ายทารุณ อำนาจความเป็นอยู่ที่โหดร้ายทารุณ ท่านจึงเรียกว่าโลกนั้นเป็นนรกอย่างคำว่า ตายแล้วตกใต้เถรอเวจีให้ไฟลุกเผาไหม้ตลอดกัปตลอดกัลป์ พูดอย่างนี้เป็นคำอุปมา ความจริงใต้เถรอเวจีนรก ก็คือว่าเป็นโลก ๆ หนึ่งที่อากาศแสนจะร้อนเหลือหลาย ใครไปเกิดที่นั่นแล้วต้องถูกดินฟ้าอากาศเผาผลาญกาย เผาผลาญใจ ไม่มีความสุขชั่วมื้อชั่วยาม ไม่มีเลย นี่แหละอเวจีนรกละ สมมติว่าไปเกิดในโลกที่มีภูเขาไฟเยอะ ๆ ดีไม่ดีก็ตกนรกเขาเรียกว่าตกนรกกระทะทองแดง ตกหลุมถ่านเพลิง นรกหลุมถ่านเพลิงหมายความว่าไปเกิดในโลกดาวพระเคราะห์ที่มีแผ่นดินไหวบ่อย ๆ และมีภูเขาไฟระเบิดบ่อย ๆ มองไปสารทิศมีแต่ภูเขาไฟลุกนั้นก็กำลังคุ ลูกนี้ ก็กำลังคุ ลูกโน้นก็กำลังคุ ดีไม่ดีเดินไป ๒ ก้าวก็แผ่นดินแยกตกหลุมไป ไฟกรดในใต้โลกมันพุ่งขึ้นมาเผาผลาญไหม้มอดไปหมด นี่แหละเรียกว่า นรกหลุมถ่านเพลิง



นรกป่างิ้ว ต้นงิ้วนะ ทำศีลผิดข้อกาเมไปตกนรกป่างิ้ว ก็หมายความว่า ไปเกิดในดาวพระเคราะห์ที่อุดมไปด้วยป่า ป่าไม้ ป่าไม้โบราณสมัยหลายล้านปี แต่ละต้นแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็นยอด เวลานี้ไม้โบราณไม่ต้องไปหานรกงิ้วดูหรอก โลกมนุษย์ก็มีต้นไม้โบราณอย่างที่ว่าในแคนาดา ประเทศแคนาดากับในสหรัฐอเมริกา มีต้นไม้ยักษ์ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้น Giant sequoia เฉพาะลำต้นของมันนะ เจาะเป็นอุโมงค์รถเก๋งสวนกันได้ ๓ คันสบาย ๆ ท่านทั้งหลายเชื่อไหมว่าต้นไม้ต้นหนึ่งในอเมริกาในแคนาดานี่ โพรงของมันเขาตัดถนนทะลุโพรงไม้ต้นนี่ รถเก๋ง ๓ คันสวนกันไปสวนกันมา เข้า ๆ ออก ๆ สบาย ๆ แล้วยอดของมันหรือแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็น หายไปในทิวเมฆ ต้นซีคอยยามีในอเมริกากับแคนาดา รัฐบาลของแคนาดากับอเมริกา เขารักษาเป็นป่าสงวนเอาไว้ เพราะว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นพืชพันธุ์ของต้นไม้ยักษ์สมัยโลกล้านปีสืบทอดมา ตานี้ต้นงิ้วอย่างนรกฉิมพลี ที่ว่าป่าไม้งิ้วนี้ก็ได้แก่ไปเกิดในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ดาวพระเคราะห์ที่มีความเจริญยุคดึกดำบรรพวิวัฒนาการยัง ไม่ถึงขั้นความเจริญอย่างโลกมนุษย์เรา แล้วก็เป็นป่าไปหมด เป็นป่าไม้หนาม หนามแต่ละอันนี้ยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก ธรรมดาต้นงิ้วในบ้านเรา ไม่มียาว ๒ ศอก ๓ ศอกหรอก แต่ว่าต้นไม้ยักษ์ในโลกที่ว่านี้หนามงิ้วมันยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก สัตว์โลกที่ไปเกิดในแดนนั้น จะหากินก็แสนจะลำบาก ต้องปีนป่ายต้นไม้ ประเภทนี้ขึ้นไปหาก็ถูกหนามงิ้วนั้นแหละมันทิ่มตำเอาตาย เรียกว่าตกนรกป่าไม้ฉิมพลี ตกนรกต้นงิ้วปีนต้นงิ้ว

 ฉะนั้นเรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักอ่านรู้จักถอดโดยเอาหลักความรู้ของดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาปรับแล้วเราจะเชื่อมั่นว่า เรื่องของปรโกลนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องนิยายเลย เป็นเรื่องจริง แล้วความรู้พวกนี้ใครรู้ ผู้ที่รู้คือผู้ที่มีทิพยจักษุญาณตั้งแต่พระพุทธองค์ลงมา แม้กระทั่งฤษีชีไพรนอกศาสนาที่เขาทำอภิญญาได้โลกียอภิญญา เขาก็รู้เห็นแล้ว ไม่ต้องโลกุตตระหรอก เอาแค่โลกียอภิญญานี่แหละ เขาก็รู้เห็น เมื่อเขารู้เห็น เขาก็มาถ่ายทอดให้เราฟังว่ามีนะนรกอย่างนั้นน่ะ นรกทุกข์ สวรรค์สบาย ถ่ายทอดให้เราฟัง อย่างว่าเทวดากินอาหารทิพย์ไม่ต้องหุงหาอาหาร นั่งเฉย ๆ ก็อิ่ม อยากจะกินอาหารก็ลอยมา อิ่มทิพย์ ฟังดูคล้าย ๆ เป็นเรื่องนิยาย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังจะทำให้เราอิ่มทิพย์แล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหม? นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมันเขาค้นพบบอกว่า ในอากาศที่เราหายใจนี่มีวิตามินเยอะแยะ เขาว่าเขากำลังสกัดวิตามินในอากาศให้เรากิน ต่อไปนี้เราไม่ต้องไปปลูกผักปลูกหญ้า ทำไร่ไถนาให้ลำบากแล้ว โลกของเราในอนาคต ความเจริญของวิทยาศาสตร์ซึ่งเขากำลังค้นคว้าอยู่ เขาจะสกัดเอาวิตามินในอากาศนี่มาเป็นอาหารเราแล้ว ใครอยากกินก็อ้าปากขึ้นมองในอากาศ แล้วใช้เครื่องสกัดนี้สกัดแผล็บเดียว แค่ไม่ถึงวินาที แล้วหุบปาก หุบเอาแต่ลมเข้าไป พอหุบกลืนลงไปในท้องเราอิ่มขึ้นมาทันที สบายกันมื้อหนึ่งอิ่มไปได้เป็นวัน กิริยาอย่างนี้ คล้าย ๆ กับแม่หนุมาน-นางสวาหะ ยืนขาเดียวกินวาตา กินลมอิ่ม เรื่องนิยายกลายเป็นเรื่องจริงแล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหมวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์แล้วว่าในอากาศมีวิตามินเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเทวดาอิ่มทิพย์ คืออิ่มอย่างนี้ ท่านอิ่มด้วยวิธีนี้ คือวิตามินมันมีไม่ต้องไปกินอะไร ไม่ต้องไปทำไร่ไถนาปลูกผักให้ลำบาก เพียงอ้าปากกินก็อิ่มแล้ว อาหารทิพย์สำเร็จรูปปรุงมาเลยในอากาศ หมายความว่าโลกสวรรค์ วิทยาศาสตร์เขาล้ำยุคยิ่งกว่าโลกเราตั้งกี่โกฏิเท่าก็ไม่รู้ในโลกสวรรค์ ส่วนโลกนรกน่ะเป็นที่ด้อยพัฒนา ไม่มีความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ มิหนำซ้ำยังถูกดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมลงโทษ ต้องให้มีความเป็นอยู่อย่างทรมานทรกรรม

เราจึงเรียกว่าโลกนรก มนุษย์เราเป็นก้ำกึ่งของสวรรค์และนรก คือว่ามีทั้งสุขอนันต์และทุกข์มหันต์ในโลกเรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จึงต้องมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ถ้าไปตรัสรู้ในโลกสวรรค์ ไปสอนให้เทวดาฟัง ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นอนิจจัง เทวดายากที่จะเห็นได้ เพราะแต่ละองค์แต่ละองค์ อายุยืนกันเหลือเกิน เทวดาชั้นจตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นชั้นต่ำของสวรรค์ ๑ วันเท่ากับ ๔๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ เรา ๔๐๐ ปี ตายแล้ว เกิดไม่รู้กี่ชาติ เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาเพิ่ง ๒๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจะไปเทศนาสั่งสอนพวกเทพพวกพรหมบอกว่า รูปํ อนิจจํ สงฺขารา อนิจฺจา พวกนี้ยากที่จะหยั่งถึงธรรม นอกจากเทวดาที่มีสัมมาทิฏฐิ ได้สร้างบารมีมาแต่โลกมนุษย์ติดตัวขึ้นไปแล้ว อย่างนี้แหละก็เห็นธรรมได้ง่าย ถ้าหากว่าเป็นพวกที่ประมาทเป็นพวกที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิมาก่อนแล้ว ไปเกิดเป็นพวกกายทิพย์แล้วละก็ยากนักที่จะเห็นในเรื่องอนิจจังได้ เพราะความที่อายุของโลกสวรรค์มันยืนมาก มูลเหตุที่ยืนมากน่ะไม่ใช่อะไรหรอก เกี่ยวกับกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพระเคราะห์ดวงนั้น บางดวงหมุนช้าไป บางดวงหมุนเร็ว โลกเรากำหนดวัน เดือน ปี ด้วยอะไรล่ะ ด้วยการหมุนใช่ไหม หมุนรอบตัวเอง ๒๔ ชั่วโมง เป็นหนึ่งวัน หมุนรอบดวงอาทิย์ ๓๖๕ วัน เป็นหนึ่งปี ดาวพระเคราะห์บางดวงกว่าจะหมุนรอบพระอาทิตย์กินเวลาโลกเรา ๑๑ ปีเศษ ดาวพฤหัสฯ นี่นะใหญ่กว่าโลกเราตั้งพันเท่า ใหญ่มหึมากว่าโลกเรา ตั้งพันโลกจึงเท่าพฤหัสดวงหนึ่ง ดาวพฤหัสหมุนรอบดวงอาทิตย์ ๑๑ ปีเศษ ถ้าเราไปเกิดในดาวพฤหัสแล้ว ๑ ปีของดาวพฤหัสจะเท่ากับ ๑๑ ปีเศษของโลกเรา นี่ดาราศาสตร์ เขาพิสูจน์มาอย่างนี้ จะป่วยการไปไยกับโลกสวรรค์ ซึ่งห่างจากโลกเราแสนโกฏิล้านไมล์ อายุก็ต้องยืนเป็นธรรมดา เพราะมันเกี่ยวกับการหมุนเวียนรอบตัวกับดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์ยิ่งเจริญก็ทำให้เรายิ่งเชื่อว่า นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลกน่ะมีจริง ๆ ใครเชื่อเรื่องนี้ คนนั้นก็มีกัมมัสกตญาณเป็นโลกียสัมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นองค์ของมรรคในมรรคองค์ ๘ นั้น ท่านจัดเป็นโลกียทิฏฐิอย่างหนึ่ง

โลกุตตรสัมมาทิฏฐินั้น คือ กัมมัสกตาญาณหนึ่ง ตถาคตโพธิสัทธาหนึ่ง ความที่มีญาณทัสสนะแทงทะลุเห็นอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นชาวพุทธทั่วไปจึงควรที่จะปลูกโลกียสัมมาทิฏฐิ คือ ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว ใครทำดีได้ดีใครทำชั่วได้ชั่ว จังหวะของกรรมดีกรรมชั่วจะให้ผลนั้น อยู่ที่คิวของมัน เพราะว่าเราทำกรรมดีกรรมชั่วมามากมายอเนกอนันต์นับไม่ถ้วนชาติ มันก็มีคิว ต้องต่อคิวกันซิ จะมาให้ผลทันตาเราไม่ได้หรอก ไม่ใช่ว่าตักบาตรทอดกฐินวันนี้ แล้วอธิษฐานว่า พรุ่งนี้แทงลอตเตอรี่ให้ถูกที่หนึ่งเถอะ อำนาจผลบุญที่รวมอนุโมทนากฐิน ขอให้ลอตเตอรี่ถูกที่หนึ่งเถอะ แล้วพอไม่ถูก มาโทษบอกว่าทำบุญไม่เห็นได้ผลบุญเลย ไม่ถูก มันอยู่ที่คิว ก่อนที่จะถูกเราต้องรอคิวเสียก่อนว่าบางทีกรรมชั่วเราทำมาก คิวของกรรมชั่วต้องเรียงมาตั้งเป็นชาติ ๆ รอเราอยู่ เราก็ต้องชดใช้หนี้มันก่อนซิ เหมือนเราทำกรรมชั่วเหมือนกันแหละ วันนี้ไปปล้นเขาปิดบังหลักฐานได้ก็หัวเราะชอบใจว่าตำรวจไม่รู้ เราไม่ต้องเข้าคุก เพราะฉะนั้นใครทำชั่วก็ไม่ได้ผลชั่ว ไม่จริงหรอก ที่ศาสนาสอนไม่จริง อย่างนี้แปลว่าคิวดีของเขายังไม้ผลอยู่ คิวชั่วยังมาไม่ถึง ก็เหมือนเราตีตั๋วนี่แหละ เราไปช้าก็ต้องไปยืนหลังเขา ใครไปก่อนก็ไปยืนหน้าเรา แล้วเราจะไปต่อว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอก ไม่ถูกไม่ต้องไม่ได้ กรรมดีกรรมชั่วมันมีจังหวะจะให้ผล เราปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ ปลูกพริก ปีหนึ่งก็ได้กินผล ปลูกทุเรียนปีหนึ่งได้กินผลไหม ไม่ได้ ห้าปี หกปี เจ็ดปีกว่าจะได้กินผลทุกเรียน ปลูกมะม่วงสามปีสี่ปีก็ได้กินผลแล้ว เมื่อปลูกพริกปีหนึ่งห้าเดือนหกเดือนก็ได้กินแล้ว สามเดือนได้กินแล้ว ปลูกพริกฉันใด กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน มันมีจังหวะเร็วจังหวะช้า เพราะฉะนั้นเราจึงควรเชื่อกัมมัสกตาญาณว่า นรกสวรรค์มีจริงดีกว่า เป็นเครื่องอุ่นใจให้เรามีความหวัง มีความพากเพียรวิริยะที่จะประกอบกรรมดีต่อไป แล้วก็ได้ดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้าด้วย


วิกิ

ผลการค้นหา