๓. อนัตตตา และอนัตตลักษณะ
🔅 ก) ขอบเขตความหมาย
ขอทวนความก่อนว่า อนัตตตา คือความเป็นอนัตตา มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมมากกว่าความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ ขอบเขตนั้นกว้างแคบกว่ากันแค่ไหน เห็นได้ชัดเจนทันทีในพุทธพจน์ที่แสดงหลักนั้นเอง คือ
สพเพ สงฺขารา อนิจจา สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง
สพเพ สงขารา ทุกขา สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์
สพเพ ธมมา อนตุตา ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา
พุทธพจน์แสดงหลักธรรมนิยาม อันบ่งบอกถึงไตรลักษณ์นี้ ชี้ชัดว่า เฉพาะสังขารเท่านั้นที่เป็นอนิจจังและเป็นทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ ยังมีธรรมบางอย่างที่ไม่เป็นอนิจจังและไม่เป็นทุกขัง ได้แก่ธรรมที่ไม่เป็นสังขาร แต่ธรรมทุกอย่าง รวมทั้งธรรมที่ไม่เป็นสังขารนั้นด้วย เป็นอนัตตา คือล้วนมิใช่อัตตา ไม่มีอัตตา ไม่เป็นอัตตา หมดทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นสิ่งใดทั้งนั้น ไม่มีอะไรมีอัตตา ไม่มีอะไรเป็นอัตตาเลย คำว่า “ธรรม” ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือคำว่า “ธรรม” ไม่ว่าสิ่งใดๆ ใช้คำว่าธรรมเรียกได้ทั้งหมด เมื่อธรรมครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรม จึงจำแนกออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่อาจจัดประมวลได้เป็นกลุ่มเป็นประเภท การจัดกลุ่มหรือประเภทที่เข้ากับเรื่องในที่นี้ คือ ธรรม ทั้งปวงจำแนกเป็น ๒ จำพวก ได้แก่ สังขตธรรมและอสังขตธรรม
สังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือสภาวะที่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกง่ายๆ ว่า “สังขาร” ได้แก่ รูปธรรมและนามธรรมทั่วไป ที่จัดเข้าในขันธ์ ๕
อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง หรือสภาวะที่มิใช่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิสังขาร” ได้แก่ สภาวะอันพ้นจากขันธ์ทั้ง ๕ คือนิพพาน
โดยนัยนี้ จึงแสดงหลักธรรมนิยามแบบขยายความได้ ดังนี้
๑. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง ไม่เที่ยง
๒. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง เป็นทุกข์
๓. ธรรม คือ สังขตธรรม และอสังขตธรรม ทั้งปวง ไม่มีไม่เป็นอัตตา
พึงสังเกตไว้ให้ตระหนักชัดว่า พระพุทธเจ้าตรัสมาตามลำดับใน ๒ ข้อแรก ทั้งข้อไม่เที่ยง และข้อเป็นทุกข์ เหมือนกันว่า “สังขารทั้งปวง” แต่พอถึงข้อ ๓ ที่เป็นอนัตตา ทรงเปลี่ยนเป็น “ธรรม ทั้งปวง” เมื่อมองตรงตามพุทธพจน์นี้ พุทธประสงค์ หรือพุทธาธิบายเกี่ยวกับขอบเขตแห่งความหมายของ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้ว ว่าข้อไหนแค่ใด ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม
🔅 ข) ความหมายพื้นฐาน
อนัตตา จะแปลว่า ไม่เป็นอัตตา หรือไม่มีอัตตา คือ ไม่เป็นตัวตน หรือไม่มีตัวตน ก็ได้ ที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสภาวะที่มีอยู่ เป็นอยู่หรือเป็นไปของมัน เป็นธรรมดาอย่างนั้นๆ เอง ไม่เป็นไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับอะไรให้เป็นหรือให้ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ปรารถนา ในเมื่ออนัตตตาปฏิเสธความเป็นอัตตา ถ้าจะเข้าใจความเป็นอนัตตา ก็ต้องเข้าใจความหมายของอัตตานั้นก่อน
อัตตา (เรียกอย่างสันสกฤตว่า อาตมัน) คือ ตัวตนอันแท้อันจริง ที่เป็นแก่นเป็นแกนหรือซึมแทรกซ้อนแฝงหรือโอบคุมสิ่งนั้นๆ อันเที่ยงแท้ถาวร เป็นตัวอยู่ตัวยืนตัวคงที่ ซึ่งสิงอยู่ สถิตอยู่ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง เป็นตัวผู้ทำการ เป็นตัวผู้เสพเสวยความรู้สึกต่างๆ อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย รวมทั้งอยู่เบื้องหลังชีวิตนี้ ซึ่งมีอำนาจในตัว สามารถบงการหรือบังคับบัญชาสิ่งนั้นๆ ให้เป็นไปตามต้องการ หรือตามปรารถนา ในลัทธิศาสนาบางพวก สอนซ้อนลึกลงไปอีกว่า เบื้องหลังโลกแห่งปรากฏการณ์ทั้งหมด และเหนืออัตตาหรืออาตมันของสัตว์และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ มีอัตตาสูงสุดที่มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นตัวผู้สร้างและกำหนดจัดสรรบันดาลบงการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือเป็นแหล่งที่มาและที่กลับเข้าไปรวมสุดท้ายของสรรพสิ่งสรรพชีพ ดังที่ในศาสนาฮินดูเรียกว่า พรหมัน หรือปรมาตมัน
สาระสำคัญของหลักอนัตตตา ก็คือการปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตาที่ว่ามานี้ โดยสอนให้รู้ว่า อัตตานั้นเป็นเพียงภาพที่เกิดจากการยึดถือของมนุษย์ปุถุชน ที่ไม่มองเห็นสภาวธรรมคือสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่มนุษย์ปุถุชนนั้นได้สร้าง(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนขึ้นมาซ้อนไว้บนสภาวธรรม และ(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนนั้นเอง ก็ บดบังเขาไม่ให้มองเห็นสภาวธรรม ความรู้เข้าใจอนัตตตา จะไถ่ถอนความยึดถือนั้น และสลาย(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนที่ซ้อนบดบังสภาวธรรมลงไป ทำให้รู้เห็นสภาวธรรมคือสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น หลักอนัตตตาเป็นเรื่องของความรู้เข้าใจมองเห็นด้วยปัญญาตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสภาวธรรม ซึ่งมีอยู่เป็นอยู่และเป็นไปตามสภาวะ หรือตามธรรมดาของมันๆ ไม่มีอัตตาหรือตัวตนอะไรเป็นแก่นเป็นแกนหรือสิงซ้อนแฝงโอบคุมกุมไว้ ที่จะเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำบงการบัญชา ไม่ขึ้นต่ออำนาจของใคร ไม่ว่าอยู่ข้างใน หรือจากข้างนอก จะเห็นว่า ความหมายพื้นฐานแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม หรืออสังขตธรรม ไม่ว่าสังขาร หรือวิสังขาร ก็ง่ายๆ สั้นๆ เหมือนกันหมดว่า สิ่งทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นสภาวธรรม ซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน และเป็นอยู่หรือเป็นไปตามธรรมดาของมันๆ ถ้ามีอัตตาเป็นแก่นเป็นแกนแฝงซ้อนหรือโอบคุม สภาวธรรมก็เป็นอยู่เป็นไปตามภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงสภาวธรรมก็มีอยู่เป็นอยู่ของมันอย่างนั้นๆ จึงชัดเจนแน่แท้ว่าอัตตาไม่มีจริง แต่ในตอนที่อธิบายขยายความหมายออกไป จุดที่แยกกัน หรือทำให้มีรายละเอียดของคำอธิบายต่างกัน ก็คือสภาวะของสังขตธรรม กับสภาวะของอสังขตธรรม หรือธรรมดาของสังขาร กับธรรมดาของวิสังขาร ที่เป็นคนละอย่างต่างกันไป
ถ้าเป็นอสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน ก็ชัดอยู่แล้วว่า นิพพานนั้นเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตาม
สภาวะของมัน มีอยู่ ตามธรรมดาของสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัย เป็นนิสสัตตะนิชชีวะ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่ขึ้นต่อใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ
ส่วนสังขตธรรม คือสังขารทั้งหลาย อันได้แก่ขันธ์ ๕ ก็ชัดอยู่แล้วเช่นเดียวกัน คือ ทุกอย่างนั้น ดำรงอยู่
ตามสภาวะของมัน มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน แต่เป็นธรรมดาของสังขตธรรม ซึ่งตรงข้ามกับ
ธรรมดาของ อสังขตธรรม กล่าวคือ มีอยู่ ตามธรรมดาของสังขตธรรม ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร ไม่มีตัวตนอะไรสิงซ้อนอยู่อาศัยที่จะเป็นตัวทำการในการเสพเสวย สั่งบังคับ หรือมีอำนาจบงการบัญชาให้ขันธ์ ๕ นั้น ไม่ว่าทั้งหมด หรือแต่ละอย่าง ให้เป็นไปตามความต้องการของตน โดยเป็นอิสระจากการทำตามหรือทำที่เหตุปัจจัย
ความหมายพื้นฐานที่ท่านอธิบายอนัตตตา ความเป็นอนัตตา ความไม่เป็นไม่มีตัวตนนี้ โดยทั่วไปใช้คำสั้นๆ เพียงว่า “อวสวตุตนภูเรน” หรือ “อวสวตุตนโต” (“อวสวตติโต” บ้างก็มี) คือ (ที่ว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะว่า หรือด้วยความหมายว่า) ไม่เป็นไปในอำนาจ คือไม่อยู่ใต้อำนาจ ใครจะเรียกร้องหรือสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามความปรารถนาของตนไม่ได้ (สำนวนเก่าว่า ไม่อาจได้ตามปรารถนาของตน) ความหมายพื้นฐานของอนัตตตา เป็นดังที่ว่ามานี้
🔅 ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
ก่อนจะอธิบายต่อไป จึงทำความเข้าใจก่อนว่า พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องตัวตนหรืออัตตาเพียงในระดับสมมติเท่านั้น คือเป็นสมมติสัจจะ ไม่ถือว่าเป็นของมีจริงแท้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนตามหลักที่มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาที่ไม่ยกเรื่องอัตตาขึ้นตั้งเป็นหลัก คือไม่ถือว่ามีอัตตาจริงเลย ดังนี้
“ดูกรเสนิยะ ศาสดานี้ใด ทั้งในปัจจุบัน ก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ และในเบื้องหน้า ก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ นี้เรียกว่าศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ ” (*๑๕๗)
โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้ปรารภที่จะพิจารณา และไม่ได้ยกเป็นข้อที่จะพิจารณาว่า อัตตามีหรือไม่ หรืออะไรๆ เป็นอัตตาหรือไม่ เรียกว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องอัตตา (ในแง่หรือในระดับปรมัตถสัจจะ) กันเลยพร้อมนั้นก็มีพุทธพจน์สำทับอีกว่า
“บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (ทิฏฐิสัมบัน คือพระโสดาบัน) เป็นผู้ไม่อาจเป็นไปได้ ที่จะยึดถือธรรมใดๆ ว่าเป็นอัตตา” (*๑๕๘)
เมื่อบรรลุธรรมสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่จะมานึกถึงอัตตาอีกเลย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระอรหันต์ว่าเป็น อตฺตญชโห/อัตตัญชหะ (*๑๕๙) แปลว่า “ผู้ละอัตตา” หรือทิ้งอัตตาแล้ว คือละการถืออัตตหรือเลิกเห็นว่าเป็นหรือมีตัวตนแล้ว บางแห่งก็ตรัสแบบอธิบายว่า พระอรหันต์นั้น อตฺตํ ปหาย อนุปาทิยาโน (*๑๖๐) แปลว่า ละอัตตาแล้ว ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรๆ เพื่อให้เป็นข้อสรุปที่อ้างอิงกันได้สะดวก ในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงเป็นคำวินิจฉัยไว้ว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติ เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้” (*๑๖๑) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตตาจะไม่มีจริง แต่การยึดติดถืออัตตาก็มีอยู่ และมันก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปยึดติดถือมั่นกันอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาจึงมุ่งมาปฏิเสธอัตตาที่เขายึดกันอยู่ คือมุ่งให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นที่เขาจมวนกันอยู่นั้น พูดง่ายๆ ว่า ในพระพุทธศาสนา อัตตาไม่ได้เป็นสาระหรือเป็นเรื่องที่ใส่ใจหรือนึกถึงหรือคำนึงว่ามีอยู่จริงเลย แต่พระพุทธศาสนามองไปที่การยึดติดถือมั่นในอัตตา หรืออัตตาที่มีอยู่ในความยึดติดถือมั่นของคนทั้งหลายนั้น อันจะต้องสลัดถอนทิ้งไปเสีย พระพุทธศาสนาจึงมีแต่สอนให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นในอัตตานั้น และเมื่อถอนละความยึดติดนั้นได้แล้ว ก็จบเรื่อง หมดภาระ ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดถึงอัตตาอีก รวมความว่า เมื่อรู้สังขารหรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตาแล้ว ก็จบเรื่องอัตตา-อนัตตา ผู้บรรลุธรรมถึงอสังขตธรรมแล้ว ก็ไม่คิดถึงและไม่พูดถึงอะไรอีกว่าเป็นอัตตา และอสังขตธรรมคือนิพพานก็ไม่มีใครต้องมาอธิบายว่าเป็นอนัตตาอย่างไรอีก
การที่ไม่ต้องอธิบายเรื่องนิพพานเป็นอนัตตา ไม่เป็นอัตตา สรุปได้ว่า มีเหตุผล ดังนี้
ก) สิ่งที่คนทั้งหลายยึดถือกันอยู่และสามารถยึดถือได้ว่าเป็นอัตตา ก็คือและแค่สังขาร หรือขันธ์ ๕
ข) ปุถุชนคือคนทั่วไป รู้จัก เข้าใจ คิดนึกถึงอะไรๆ ได้ในขอบเขตของขันธ์ ๕ แม้เมื่อพูดถึงนิพพาน นิพพานที่เขาพูดถึงนึกถึง ก็ไม่ใช่นิพพานจริง แต่เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ นั่นเอง ส่วนอริยชนก็รู้เข้าใจถึงนิพพานเองแล้ว และหมดความถือความเห็นว่าเป็นอัตตาไปแล้ว จึงไม่พูดและไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้อีก ถ้าพูด ก็มีแต่บอกว่าพระอรหันต์เป็นผู้ละหมดอัตตาแล้ว (อัตตัญชหะ) ไม่ถืออะไรเป็นอัตตาเลย
ค) งานที่ผู้สอนจะต้องทำในเรื่องอัตตานั้น ก็คือและแค่ให้คนรู้แล้วละความเห็นผิดที่ทำให้เขายึดติดเอาสังขาร หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา
ง) เมื่อรู้แล้ว ละความเห็นผิด เลิกยึดติดเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตาแล้ว ก็ไม่ไขว่คว้าหายึดอะไรเป็นอัตตาอีก เพราะได้ประจักษ์แจ้งอสังขตธรรมคือนิพพาน ที่พ้นจากขันธ์ ๕ และพ้นจากการยึดถืออัตตาพร้อมไปด้วยกัน
(ผู้มีปัญญารู้แจ้งนิพพาน มองเห็นอสังขตธรรมคือนิพพานนั้นตามสภาวะของมันเอง อันไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนมาสวมมาซ้อนมาครอบมาครอง เรียกว่าเห็นความเป็นอนัตตาของอสังขตธรรมเองแล้ว ก็ไม่ต้องมาพูดมาอธิบายอะไรกันอีก พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อพ้นความเป็นปุถุชนไปแล้ว เป็นอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ได้เห็นประจักษ์ความจริงแล้ว ทั้งความยึดติดและความสงสัยไขว่คว้าหาอัตตาก็หมดสิ้นไปแล้ว การที่จะต้องพูดถึงความเป็นอนัตตาของอสังขตธรรม ก็ยุติไปเอง หรือพูดสั้นๆว่า ไม่มีเรื่องอัตตาอะไร ที่จะขึ้นไปสู่การยึดถือ การสงสัย หรือการถกเถียงอย่างใดๆ ของอริยชน) เมื่อเป็นเช่นนี้ ในคำอธิบายสามัญเกี่ยวกับอนัตตา ท่านจึงมุ่งไปที่สังขตธรรมคือเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป หมายความว่ามนุษย์ปุถุชนก็คิดนึกพูดกันอยู่แค่นั้น
🔅 ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
ดังได้กล่าวแล้วว่า คำอธิบายสามัญของอนัตตตา ท่านมุ่งไปที่สังขตธรรม เพราะเป็นการพูดกับมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป ที่ยังต้องฝึกต้องศึกษาต้องเรียนต้องสอนกันอยู่ ยิ่งกว่านั้น ขอย้ำว่า สิ่งที่มนุษย์ปุถุชน หรือคนทั่วไป รวมทั้งนักทฤษฎีและเจ้าลัทธิทั้งหลาย จะมาคิดนึก พูดจาเอาเป็นอัตตากันได้ ก็มีแค่เรื่องของสังขาร คือสิ่งที่อยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งนั้น และเท่านั้น ดังนั้น การชี้ความเป็นอนัตตาจึงเจาะเพียง และจบพอ ที่เรื่องขันธ์ ๕ นั้น ทั้งนี้สอดคล้องกับพุทธดำรัสที่ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลาย ก็ดี พราหมณ์ทั้งหลาย ก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ก็ตาม ที่มองเห็นอัตตา/ตัวตน แบบต่างๆ หลากหลายเป็นอเนก ย่อมมองเห็นอุปาทานขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่ก็มองเห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในบรรดาอุปาทานขันธ์เหล่านั้น (ว่าเป็นอัตตา) กล่าวคือ: “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้เรียนสดับ ย่อมมองเห็นรูปว่าเป็นอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตามีรูปบ้าง ย่อมมองเห็นรูปในอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมมองเห็นเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ (ทำนองเดียวกัน) โดยนัยดังกล่าวนั้น การมองเห็นนี้แล ก็กลายเป็นความปักใจยึดถือของเขาว่า “ตัวเรามี/ตัวเราเป็น” (*๑๖๒)
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า (การยึดถือ)อัตตามีแค่ที่มีขันธ์ ๕ และมีเพราะไปยึดมั่นขันธ์ ๕ นั้นไว้ ตามพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดถืออะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่านั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา” “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป ... เมื่อเวทนา ... เมื่อสัญญา เมื่อสังขาร .. เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัย (รูป - เวทนา สัญญา สังขาร ) วิญญาณ เพราะยึดมั่น (รูป, สัญญา สังขาร ...) วิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา” (*๑๖๓)
ถึงตอนนี้ จึงมาดูคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ แบบทั่วๆ ไป ที่ท่านขยายความออกไปในแง่ต่างๆแม้ว่าในคำอธิบายทั่วๆ ไปนี้ ท่านแสดงความหมายกันไว้หลายนัย แต่เราอาจจะเริ่มต้นด้วยคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ที่แสดงอรรถของอนัตตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็น อนัตตา โดยความหมายว่าไม่มีสาระ (อสารกฏเจน)” (*๑๖๔) ที่ว่าไม่มีสาระ ก็คือ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแก่น หรือไม่มีแกน หมายความว่า ไม่มีสิ่งซึ่งเป็นตัวแท้ที่ยืนยงคงตัวอยู่ตลอดไป ดังคำอธิบายว่า “โดยความหมายว่าไม่มีสาระ หมายความว่าไม่มีสาระคือตัวตน (อัตตสาระ = ตัวตนที่เป็นแก่น หรือตัวตนที่เป็นแกน) ที่คาดคิดกันเอาว่าเป็นอาตมัน (อัตตา = ตัวตน) เป็นผู้สิงอยู่หรือครองอยู่ (นิวาสี) เป็นผู้สร้างหรือผู้สร้างสรรค์บันดาล (การกะ) เป็นผู้เสวย (เวทกะ) เป็นผู้มีอำนาจในตัว (สยังวสี) เพราะว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ (คงตัวอยู่ไม่ได้) มันไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยง หรือความบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไป แม้ของตัวมันเองได้ แล้วความเป็นผู้สร้างผู้บันดาล เป็นต้นของมัน จะมีมาจากที่ไหน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (มีความบีบคั้นขัดแย้งข้องขัดต่างๆ) ดังนี้เป็นอาทิ (*๑๖๕)
จะสังเกตเห็นว่า ความหมายที่ว่าไม่มีสาระคือตัวตนนี้ ท่านกล่าวไว้โดยสัมพันธ์กับความหมายว่าบันดาลไม่ได้หรือไม่มีอำนาจในตัว ทั้งนี้เพราะถ้ามีตัวตนคงที่ยั่งยืนอยู่เป็นแก่นเป็นแกนจริงแล้ว ก็ย่อมขึ้นย่อมฝืนความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งถ้าเป็นผู้ครอบครอง ก็ย่อมต้องมีอำนาจ บังคับสิ่งที่ถูกครอบครองให้เป็นไปอย่างไรๆ ก็ได้ตามปรารถนา แต่ตามความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความไม่เป็นตัวตนและความไม่มีตัวตนสิงสู่อยู่ครอง จึงมีความหมายเด่นในแง่ที่ว่าไม่มีอำนาจบังคับ ไม่เป็นไปในอำนาจขัดแย้งต่อความปรารถนา พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายนี้ แม้แต่พระพรหม พระผู้เป็นเจ้า หรือเทพเจ้าสูงสุดใดๆ ก็ตาม ที่ถือว่าเป็นผู้สร้างผู้บันดาล ทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นสังขาร รวมอยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น โดยนัยนี้ คัมภีร์รุ่นอรรถกถาจึงนิยมแสดงความหมายของอนัตตตาว่า “ชื่อว่าอนัตตา โดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ (อวสวตุตนฎเจน หรือ อวสวตุตนโต = เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ) (*๑๖๖) และอธิบายในทำนองว่า ไม่มีใครมีอำนาจบังคับ (ตามใจปรารถนาโดยไม่ทำตามเหตุปัจจัย) ต่อสังขารทั้งหลายว่า สังขารที่เกิดขึ้นแล้วจงอย่าถึงความทรงอยู่ ที่ถึงความทรงอยู่แล้ว อย่าชรา ที่ถึงชราแล้ว จงอย่าแตกดับ จงอย่าบอบโทรมด้วยการเกิดขึ้นและการเสื่อมสลาย (*๑๖๗) ตลอดจนอ้างพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “บุคคลย่อมไม่ได้ (ตามปรารถนา) ในรูป (และในขันธ์อื่นๆ) ว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้” (*๑๖๘)
ขยายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏเป็นต่างๆ นั้น เมื่อวิเคราะห์ตามสภาวะถึงที่สุดแล้ว หาใช่มีตัวแท้ตัวจริงที่คงที่คงตัวยั่งยืนอยู่ยงดังที่เรียกชื่อกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ แต่เป็นเพียงกระบวนธรรม (ธรรมปวัตติ) คือกระบวนการแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย หรือกระบวนแห่งรูปธรรมและนามธรรม (ขันธปวัตติ) ที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมหรือประมวลกันเข้า และองค์ประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างๆ ล้วนมีการเกิดขึ้น และ ความเสื่อมสลาย เป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์สืบเนื่องส่งทอดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน ทั้งภายในกระบวนธรรมที่กำหนดแยกว่าเป็นกระบวนหนึ่งๆ และระหว่างกระบวนธรรมต่างกระบวนทั้งหลาย ในสภาวะเช่นนี้ มีสิ่งที่ควรกำหนดเป็นข้อเด่นอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งนั้นยืนตัวเป็นแท่นเป็นแกนอยู่
๒. สภาพที่ปรากฏนั้น เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันปรุงแต่งขึ้น
๓. องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน ประมวลขึ้นเป็นกระบวนธรรม
๔. ถ้ากำหนดแยกออกเป็นกระบวนธรรมย่อยๆ มากหลาย ก็มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกัน ระหว่างต่างกระบวนธรรมด้วย
กระบวนธรรมที่องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเกิดสลายและสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันประมวลขึ้นนี้ ดำเนินไปเรื่อยๆ ปรากฏภาพและกลายไปต่างๆ ทั้งนี้จะปรากฏภาพและกลายไปอย่างไร ก็สุดแต่องค์ประกอบและความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันนั้นนั่นเอง เป็นเรื่องที่สำเร็จเสร็จสิ้นครบถ้วนในกระบวนการ โดยไม่มีตัวตนอะไรอื่นอีกที่จะเข้ามาแทรกแซงหรือทำให้เป็นไปอย่างอื่นได้ หมายความว่า ไม่มีตัวตนต่างหากจากกระบวนการนั้น ไม่ว่าจะในความหมายว่า เป็นตัวแกนภายในที่ยืนยงคงที่ฝืนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สามารถทำให้เป็นไปโดยลำพังตามปรารถนาของตนได้ หรือในความหมายว่าเป็นตัวการภายนอกที่สามารถสร้างสรรค์ดลบันดาลให้เป็นไปอย่างอื่นโดยไม่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ประชุมกันเข้า และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันปรากฏเป็นภาพรวมอย่างหนึ่งๆ ขึ้น มนุษย์มักตั้งชื่อเรียกภาพรวมนั้น เช่นว่า คน ม้า แมว มด รถ ร้าน บ้าน นาฬิกา ปากกา นาย ก. เด็กหญิง ข. เป็นต้น แต่ชื่อเหล่านั้นเป็นเพียงคำเรียกขานที่สมมติกันขึ้นใช้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสื่อสารสำหรับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เท่านั้น มันหาใช่เป็นสภาวะที่มีอยู่แท้จริงไม่ คือ มันไม่มีตัวตนอยู่จริงต่างหาก จากส่วนประกอบที่มารวมกันเข้านั้น ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหลายออกจากกัน ก็จะมีเพียงส่วนประกอบแต่ละหน่วยที่มีชื่อเรียกเฉพาะอย่างๆ ของมันอยู่แล้ว หาตัวตนของภาพรวมที่ตั้งชื่อให้นั้นไม่พบ จะชี้ตัวลงไปที่ไหนก็ไม่มี ชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพรวมนั้น เป็นตัวตนสมมติ ที่สร้างขึ้นซ้อนสภาวะที่เป็นจริง ซ้อนอยู่ลอยๆ ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง ไม่มีอำนาจ ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนธรรมที่กำลังเป็นไปอยู่นั้นเลย นอกจากโดยความยึดถือ (ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งอยู่ในกระบวนธรรมเอง) ในเมื่อเป็นเพียงของสมมติ และเป็นของซ้อนอยู่ลอยๆ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่มันจะไม่มีอำนาจหรือไม่มีทางที่จะไปบังคับกระบวนธรรมหรือองค์ประกอบใดๆ ในกระบวนธรรมให้เป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ กระบวนธรรม หรือกระบวนแห่งสังขารธรรมก็เป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อตัวตนที่ซ้อนลอยนั้น
ที่ว่าไม่เป็นไปตามความปรารถนา ก็เพราะเมื่อว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความปรารถนานั้นก็หาใช่เป็น ความปรารถนาของตัวตนไม่ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งอยู่ในกระบวนธรรม และเป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่ตัวให้สำเร็จกิจ มันจะให้สำเร็จผลได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นตัวผลักดันให้เกิดปัจจัยขั้นต่อไป คือการลงมือทำหรือปฏิบัติการ ซึ่งก็คือเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง การที่จะมีตัวตนซ้อนลอย เป็นตัวตนจริงๆ อยู่ต่างหาก ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นไปได้ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวคงที่ ซึ่งไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น ขวางขึ้นกระแสอยู่ พาให้องค์ประกอบต่างๆ เรรวนไปหมด ไม่เป็นกระบวนธรรม ยิ่งกว่านั้น ตัวตนซ้อนนั้น ก็กลายเป็นตัวการพิเศษ ซึ่งอาจจะขัดขวางแทรกแซงและบิดผันธรรมทั้งหลายให้เป็นไปอย่างอื่นจากความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอีกด้วย แต่ความเป็นไปที่จริงแท้ก็คือ สังขารธรรมทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น ตัวตนต่างหากจากกระบวนธรรมจึงไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกกระบวนธรรมนั้นก็ตาม จะมีได้ก็แต่ตัวตนสมมติที่จะพึงรู้จักใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ถ้ามิฉะนั้น หากไม่มีปัญญารู้เข้าใจ มันก็คือตัวแปลกปลอมที่คอยบีบคั้นบังคับและหลอกคนให้หลงก่อโทษทุกข์ภัยหลากหลายนานา
เมื่อส่วนประกอบทั้งหลายรวมกันเข้า ปรากฏรูปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีการบัญญัติเรียกชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันยอมรับกันโดยสมมติ เมื่อองค์ประกอบทั้งหลายพร้อมอยู่ ปัจจัยต่างๆ ค้ำจุนหล่อเลี้ยงอำนวย ก็คงรูปร่างหรือคงสภาพอยู่สมตามที่สมมติเป็นตัวตนอย่างนั้น แต่เมื่อใดองค์ประกอบทั้งหลายแยกพรากจากกันหรือปัจจัยแวดล้อมไม่เกื้อกูล สภาพตัวตนนั้นก็หายไป เหมือนดังเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง น้ำแข็งก็ละลาย ตัวตนที่ชื่อว่าน้ำแข็งหายไป เหลืออยู่แต่น้ำเหลว เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งโดยสัมพันธ์กับความกดอากาศ น้ำเหลวก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำ สภาพตัวตนของน้ำเหลวก็สิ้นไป หรือเมื่อกระดาษถูกเผาไฟไหม้หมดแล้ว เหลือแต่ฝุ่นเถ้าไฟ ก็หาตัวตนที่จะเรียกว่ากระดาษไม่ได้อีกต่อไป
ความหมายของอนัตตตาที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า สัมพันธ์กันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ว่างเปล่าจากตัวตนที่เป็นแกนอันยืนยงคงตัว ปราศจากตัวการที่สร้างสรรค์บันดาลนี้ เป็นความหมายพื้นฐานที่อาจจะอ้างความในคัมภีร์มาช่วยเสริมความเข้าใจได้หลายแห่ง เช่น พระบาลีว่า
“อาศัยเครื่องไม้ เถาเชือก ดินฉาบ และหญ้ามุง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียกกันว่าเป็นเรือน ฉันใด อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียกกันว่าเป็นตัวคน (รูป) ฉันนั้น ๆ” (*๑๖๙)
มารถามพระวชิราภิกษุณีว่า “สัตว์นี้ (ตัวบุคคลนี้) ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์เกิดที่ไหน สัตว์ดับที่ไหน?” พระวชิราภิกษุณีตอบว่า “นี่แน่ะมาร ท่านเชื่อหรือว่าเป็นสัตว์ (เป็นตัวบุคคล) ท่านมีความเห็น (อย่างนั้น) หรือ? นี้คือกองแห่งสังขารล้วนๆ จะหาตัวสัตว์ในนี้ไม่ได้เลย เพราะประชุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ย่อมมีศัพท์เรียกว่ารถ ฉันใด เมื่อขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม) ทั้งหลายมีอยู่ ก็มีสมมติเรียกว่าสัตว์ ฉันนั้น แท้จริงทุกข์ (สภาพไม่คงตัว) เท่านั้นเกิดมีและทุกข์ก็ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไป นอกจากทุกข์ (สภาพไม่คงตัว) ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ” (*๑๗๐)
พระเสลาภิกษุณีตอบว่า “ร่างนี้ ไม่มีใครสร้าง ตัวนี้ไม่มีใครบันดาล, อาศัยเหตุมันก็เกิดมี, เพราะเหตุสลายมันก็ดับ, เม็ดพืชอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาหว่านในนา อาศัยรสในแผ่นดินและยางในเมล็ดพืชทั้งสองอย่างนี้ ก็ย่อมงอกงามขึ้นได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ประดาขันธ์ ธาตุทั้งหลายและอายตนะทั้ง ๖ เหล่านี้ อาศัยเหตุย่อมเกิดมี เพราะเหตุสลาย ก็ย่อมดับไป” (*๑๗๑)
ช้างม้าเหล่าทหารและยานรบทั้งหลายรวมๆ เข้าด้วยกัน ก็เรียกว่ากองทัพ ตึกรามบ้านเรือนผู้คนและกิจการต่างๆ มากหลายชุมนุมกันอยู่ ก็เรียกว่าเมือง มือกับนิ้วรวบเข้าด้วยกันในท่าหนึ่ง เขาเรียกว่ากำปั้น หรือหมัด กำปั้นหรือหมัดไม่มีอยู่จริง มีแต่มือและนิ้ว มือและนิ้ว เมื่อแยกส่วนประกอบย่อยๆ ออกไป ก็ไม่มีเช่นเดียวกัน วิเคราะห์กระจายส่วนออกไปได้โดยลำดับ จนหาตัวตนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ พระสูตรทั้งหลายมากมาย แสดงแต่เรื่องนามรูป หรือนามธรรมและรูปธรรม ไม่กล่าวถึงสัตว์หรือบุคคลเลย (*๑๗๒)
เมื่อว่าโดยสรุป พระอรรถกถาจารย์ประมวลความหมายของอนัตตาแสดงไว้เป็นหมวด รวม ๔ นัย ซึ่งแม้ว่าท่านมักใช้อธิบายสังขตธรรม หรือขันธ์ ๕ ที่คนทั่วไปเกี่ยวข้อง แต่ก็อธิบายอสังขตธรรมได้เช่นกัน คือ (*๑๗๓)
๑. สุญฺญโต เพราะเป็นสภาพว่าง คือ เป็นแต่สภาวธรรมซึ่งมีภาวะของมันตามที่เป็นอย่างนั้นๆ เอง ปราศจากตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกน (อัตตสาระ = สาระ คือ ตัวตน) หรือว่างจากความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง ไม่มีตัวผู้สิงสู่อยู่ครอง ไม่มีตัวผู้สร้างสรรค์บันดาล ไม่มีตัวผู้เสวย นอกจากโดยการสมมติ พูดง่ายๆ ว่า ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จากความเป็นนั่นเป็นนี่ ที่ยึดถือกันไปหรือกำหนดหมายกันขึ้น
๒. อสฺสามิกโต เพราะเป็นสภาพไร้เจ้าของ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของของใครหรือของตัวตนใดๆ ไม่มีตัวตนที่จะเป็นเจ้าของครอบครองสภาวธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีภาวะอันเป็นของมันอย่างนั้นๆ ตามที่เป็นสังขตะหรืออสังขตะอยู่แล้ว
๓. อวสวตฺตนโต เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ คือ โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ มันจึงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่ขึ้นต่อผู้ใด ไม่มีตัวตนที่ไหนจะมีอำนาจสั่งบังคับมันได้ ใครจะเรียกร้องหรือปรารถนาให้มันเป็นอย่างใดๆ ไม่ได้ ใช้ศัพท์อีกอย่างหนึ่งว่า อนิสฺสรโต แปลว่า เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าใหญ่ ไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนจะมาเป็นใหญ่ ที่จะบงการหรือใช้อำนาจบังคับมันได้ บางแห่งใช้ว่า อกามการิยโต แปลว่า เพราะเป็นสภาพที่ไม่อาจทำได้ตามความอยาก คือ จะให้เป็นไปตามความอยากความปรารถนามิได้ หรือจะเอาใจอยากเข้าว่าไม่ได้ รวมความว่า ไม่มีตัวตนอะไรจะมาเป็นใหญ่เหนือมัน มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร ใครจะสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นต่ออำนาจหรือความปรารถนาของใคร ถ้าเป็นอสังขตธรรม ก็มีอยู่เป็นอยู่ตามสภาวะที่ไม่ขึ้นต่อปัจจัยอยู่อย่างนั้น (ไม่มีอัตตาที่ไหนไปครอบครองมีอำนาจเหนือมันได้อีก) ถ้าเป็นสังขตธรรม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ใครจะไปสั่งบังคับมันให้เป็นไปตามปรารถนาตามใจอยากไม่ได้ เช่น มันเกิดขึ้นแล้ว จะสั่งว่าอย่าตั้งอยู่ มันตั้งอยู่แล้ว จะสั่งว่าอย่าโทรม มันโทรมแล้ว จะสั่งว่าอย่าสลาย ไม่ได้ทั้งนั้น เมื่อมันขึ้นต่อเหตุปัจจัยของมัน จึงมีแต่ว่า ถ้าต้องการจะให้มันเป็นอย่างไร ก็ต้องทำการอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปของมันที่จะเป็นอย่างนั้น คือต้องทำเหตุทำปัจจัยเอา หรือต้องทำให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยขึ้นมา
๔. อตุตปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่ออัตตา คือ โดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธอัตตาอยู่ในตัว หมายความว่า โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ ถ้ามีอัตตา ก็ย่อมขัดแย้งกัน ทำให้ภาวะของสภาวธรรมไม่เป็นอยู่เป็นไปตามที่มันเป็นของมันอย่างนั้นๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอัตตา ในเรื่องนี้สำหรับคนทั่วไป ก็ดูง่ายๆ (และเพื่อปฏิบัติให้ได้ประโยชน์ด้วย) โดยดูที่สังขตธรรม ซึ่งเป็นกระบวนธรรมที่องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์กันดำเนินไปโดยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นการปฏิเสธอยู่ในตัวว่า ไม่มีตัวตนต่างหากซ้อนอยู่ที่จะมาแทรกแซงบงการ หรือแม้แต่ขวางขืนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และตัวตนต่างหากเช่นนั้นมีไม่ได้ เพราะถ้ามี ก็ไม่อาจมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่จะกลับกลายเป็นว่าต้องเป็นไปตามความบังคับบงการของตัวตนนั้น
อีกอย่างหนึ่ง กระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น มีความสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นและไม่อาจจะมีตัวการอย่างอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงสั่งการอีกได้ มีความหมายอีก ๒ อย่าง ซึ่งแม้จะรวมอยู่ในความหมาย ๔ ข้อต้นแล้ว แต่เห็นว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ควรนับเป็นข้อต่างหากไว้ เพราะเป็นลักษณะที่ใช้เสริมคำอธิบายได้ดี สำหรับสังขตธรรม ซึ่งมีความเป็นกระบวนธรรม อันจะเห็นเด่นชัดเมื่อวิเคราะห์กระบวนธรรมออกไป จึงขอนำมาเพิ่มต่อไว้ด้วย คือ
๕. สุทฺธสงฺขารปุญฺชโต หรือ สุทฺธธมุมปุญฺซโต เพราะเป็นกองแห่งสังขารทั้งหลายล้วนๆ หรือเป็นกองแห่งธรรมทั้งหลาย (รูปธรรมและ/หรือนามธรรม) ล้วนๆ หรือ องฺคสมฺภารโต เพราะเป็นการประกอบกันขึ้นของส่วนย่อยต่างๆ คือเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ ทั้งหลายมาประชุมหรือประมวลกันขึ้น ไม่เป็นตัวตนชิ้นอันที่สมบูรณ์ในตัว ที่จะยั่งยืนคงตัวอยู่ได้ ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนที่แท้จริงนอกเหนือจากส่วนประกอบเหล่านั้น (ความหมายข้อนี้เน้นอยู่แล้วในความหมายข้อที่ ๑. ข้างต้น)
๖. ยถาปจฺจยปวตฺติโต เพราะความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ องค์ประกอบทั้งหลายที่ประมวลหรือประชุมกันเข้านั้น ต่างสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน เรียกรวมๆ ว่า กระบวนธรรมนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร และไม่อาจมีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตัวแกนภายใน หรือตัวการภายนอก ที่จะขวางขึ้นหรือบงการบังคับมันได้ (ความหมายข้อนี้ แทรกอยู่ทั่วไปในความหมายทั้ง ๔ ข้อข้างต้น โดยเฉพาะข้อที่ ๓ และ ๔.)
รวมความว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ถ้าเป็นสังขตะ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เหตุปัจจัยมี (ที่จะให้เป็นอย่างนั้น) มันก็เกิด (เป็นอย่างนั้น) เหตุปัจจัย (ที่จะให้เป็นอย่างนั้น) หมด มันก็ดับ (จากสภาพอย่างนั้น) มันหาฟังเสียงใครอ้อนวอนขอร้องหรือปรารถนาไม่ มันไม่เป็นตัว ไม่เป็นอะไรๆ (อย่างที่ว่ากัน) หรือเป็นของใครทั้งนั้น ความหมายของอนัตตาเท่าที่กล่าวมาในตอนนี้ เน้นในแง่ที่เป็นลักษณะของสังขารหรือสังขตธรรม ซึ่งคนทั่วไปเกี่ยวข้องและควรจะรู้เข้าใจ ดังได้ชี้แจงไว้ข้างต้นแล้ว จุดสำคัญที่มีความเข้าใจไขว้เขวและหลงผิดกันมาก ก็คือความรู้สึกว่า มีตัวผู้คิด ต่างหากจากความคิด (= ผู้คิดความคิด) มีผู้จงใจหรือเจตนา ต่างหากจากเจตนา มีผู้เสพเสวยเวทนา ต่างหากจากเวทนา ตลอดจนมีตัวผู้ทำกรรม ต่างหากจากกรรม หรือต่างหากจากการกระทำ แม้แต่นักปราชญ์ใหญ่ๆ มากมาย ก็พากันติดอยู่ในกับดักของความหลงผิดอันนี้ จึงไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ล้วนๆ บริสุทธิ์ปราศจากการเคลือบคลุมของความรู้สึกที่เป็นอัตตวิสัย ดังเช่น นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง พิจารณาไตร่ตรองเป็นนักหนาเกี่ยวกับความสงสัย ครุ่นคิดไปมาแล้ว ก็ลงข้อสรุปว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมี” (*๑๗๔) ความรู้สึกในตัวตน คืออัตตาหรืออาตมัน ที่แยกออกมาอย่างนี้ เป็นความรู้สึกสามัญของปุถุชนโดยทั่วไป เป็นความรู้สึกที่นึกน่าสมจริงและคล้ายจะสมเหตุสมผลโดยสามัญสำนึก แต่เมื่อสืบสาวลึกลงไปให้ตลอดสาย จะมีความขัดแย้งในตัวเอง
คำถามทำนองนี้ได้มีผู้ยกขึ้นทูลถามพระพุทธเจ้ามาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่นว่า “ใครหนอผัสสะ (ใครรับรู้?) ใครเสวยเวทนา? ใครอยาก? ใครยึด?” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คำถามเช่นนั้นใช้ไม่ได้ เป็นคำถามที่ตั้งขึ้นตามความรู้สึก ไม่สอดคล้องกับสภาวะ เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่แท้ไม่ได้ ถ้าจะให้ถูก ต้องถามว่า อะไรเป็นปัจจัยให้มีการรับรู้? อะไรเป็นปัจจัยให้มีเวทนา? อะไรเป็นปัจจัยให้มีการอยาก การยึด (*๑๗๕)
อธิบายว่า การคิดก็ดี ความจงใจเจตนาก็ดี การอยากการปรารถนาก็ดี การเสวยเวทนาก็ดี เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนการแห่งรูปธรรมและนามธรรม ฉันใด ความรู้สึกถึงตัวผู้คิด หรือตัวผู้เจตนา เป็นต้น ก็เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนธรรมนั้น ฉันนั้น และองค์ประกอบเหล่านั้นก็สัมพันธ์โดยอาการเป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบทอดต่อกัน มีแต่การคิดและความรู้สึกถึงตัวผู้คิด (คือความหลงผิดว่ามีตัวผู้คิด ไม่ใช่มีตัวผู้คิดเอง) เป็นต้น ที่เกิดสืบต่อกันอยู่ในกระบวนธรรมเดียวกันว่าที่จริง ความรู้สึกว่ามีตัวผู้คิด ก็เป็นอาการคิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างง่ายๆ ว่า เป็นขณะหนึ่งในกระบวนการคิด การที่เกิดความหลงผิด (คิดผิด) รู้สึกว่ามีตัวผู้คิด ก็เพราะไม่รู้จักแยกองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบต่อกันอยู่ในกระบวนธรรม และไม่สามารถกำหนดแยกความเป็นไปในแต่ละขณะๆ ในขณะกำลังคิด ย่อมไม่มีความรู้สึกถึงตัวผู้คิด และในขณะกำลังรู้สึกถึงตัวผู้คิด ก็ไม่มีการคิด กล่าวคือ ในขณะกำลังคิดเรื่องที่พิจารณา ย่อมไม่มีการคิดถึงตัวผู้คิด และในขณะกำลังคิดถึงตัวผู้คิด ก็ย่อมไม่มีการคิดเรื่องที่กำลังพิจารณา แท้จริงแล้ว การคิดเรื่องก็ดี ความรู้สึกถึงตัวผู้คิดหรือความคิดว่ามีตัวผู้คิดก็ดี ต่างก็เป็นความคิดต่างขณะกัน ที่อยู่ในกระบวนธรรมเดียวกัน ส่วนตัวผู้คิด ก็เป็นเพียง(ภาพ)ความคิดปรุงแต่ง ที่กลับมาเป็นอารมณ์ (ส่วนประกอบอย่างหนึ่ง) ของความคิดอีกขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ความเข้าใจเขวหรือหลงผิดที่กล่าวมานี้ เกิดจากการพิจารณาโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เข้าหลักทิฏฐิ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในพุทธพจน์ที่ว่า “เมื่อปุถุชนนั้น มนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖ อย่าง ย่อมเกิดขึ้น คือ เขาย่อมเกิดทิฏฐิ (ยึดถือ) เอาเป็นจริงเป็นแท้ว่า เรามีอัตตา ๑, เราไม่มีอัตตา ๑.... เรากำหนดรู้อัตตาด้วยอัตตา ๑... เรากำหนดรู้สภาวะที่มิใช่อัตตาตัวยอัตตา ๑ เรากำหนดรู้อัตตาตัวยสภาวะที่มิใช่อัตตา ๑, หรือมิฉะนั้น ก็จะมีทิฏฐิดังนี้ว่า อัตตาของเรานี้แหละที่เป็นตัวบงการ เป็นผู้เสวย ประสบวิบากแห่งกรรมที่ดีและชั่ว ณ ที่นั้นๆ ๑”
ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพรวม เป็นตัวตนสมมติที่ซ้อนอยู่ลอยๆ ไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนธรรมเลย นอกจากโดยความยึดถือนั้น ขอขยายความเสริมเข้าอีกว่า ถึงแม้ตัวตนจะไม่มีอยู่จริงก็ตาม แต่ความยึดถือในตัวตนนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะความยึดถือนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในกระบวนธรรม เมื่อเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง มันก็เป็นปัจจัยแก่องค์ประกอบอย่างอื่นและทำให้เกิดผลกระทบแก่กระบวนธรรมได้ เนื่องจากความยึดถือตัวตนนั้น เป็นปัจจัยฝ่ายอกุศล คือไม่เกื้อกูล เพราะเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ตามเป็นจริง และเกิดขึ้นโดยอาการแทรกแซงเข้ามาขวางขึ้นกระแส คือ ทั้งที่ไม่แก้ไขเหตุปัจจัย ก็จะไม่ยอมให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงก่อให้เกิดผลทางร้าย ในด้านหนึ่ง ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในกระบวนธรรม จนออกผลเป็นความรู้สึกบีบคั้นที่เรียกว่าทุกขเวทนา ดังนั้น ผู้ไม่รู้เท่าทันตามเป็นจริง หลงยึดติดในสมมติ ถือมั่นตัวตนที่สมมติขึ้นเป็นจริงจัง ก็จะถูกความยึดติดถือมั่นนั้นแหละบีบคั้นกระทบกระแทกเอา ทำให้ได้รับความรู้สึกทุกข์เป็นอันมาก ส่วนผู้รู้เท่าทันสมมติ ไม่ยึดติดถือมั่นในตัวตนนั้น ก็มองเห็นแต่กระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เขาสมมติเรียกขานกระบวนธรรมนั้นกันอย่างไร ก็รู้เข้าใจเรียกขานไปตามนั้น แต่เมื่อต้องการอย่างไร ก็แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย ไม่หลงให้ความอยากความยึดมาเป็นเครื่องบีบคั้นตัว ก็ไม่ต้องได้รับความทุกข์จากความยึดติดถือมั่นนั้น เรียกว่า รู้จักใช้สมมติให้เป็นประโยชน์ โดยทำการได้สำเร็จด้วยปัญญาที่หยั่งถึงความจริงแห่งเหตุปัจจัย และทั้งอีกด้านหนึ่งก็ไม่ต้องประสบโทษทุกข์ภัยจากความยึดติดในสมมตินั้นด้วย ความยึดถือในตัวตนจะก่อผลทางร้าย หนุนให้เกิดองค์ประกอบฝ่ายอกุศลที่เรียกว่ากิเลส ขึ้นในกระบวนธรรมตามติดมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะ ตัณหา คือความเห็นแก่ตัว ทะยานอยากแส่หาเครื่องบำรุงบำเรอปรนเปรอตน มานะ คือความถือตัว สำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ ใฝ่แสวงอำนาจมาเชิดชูตน และ ทิฏฐิ คือ ความยึดติดในความเห็นของตน ถือรั้นเอาความเห็นของตนเป็นความจริง หรือถือมั่นให้ความจริงจะต้องเป็นอย่างที่ตนเห็น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความบีบคั้นขัดแย้งขยายเพิ่มพูนและกว้างขวางออกไปทั้งภายในและภายนอก ผู้ไม่รู้เท่าทันสมมติ หลงยึดติดถือมั่นตัวตนเป็นจริงจัง จะปล่อยให้กิเลสเหล่านี้เป็นตัวบงการบัญชาการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของตน ทำให้ความทุกข์แพร่หลายและเพิ่มทวีทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนผู้รู้เท่าทันสมมติ ไม่หลงยึดติดถือมั่นในตัวตนนั้น ย่อมปลอดพ้นจากอำนาจบงการของกิเลสเหล่านี้ ไม่ยึดถือด้วยความหลงว่า นี่ของฉัน ฉันเป็นนี่ นี่เป็นตัวของฉัน ครองชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันสมมติ และให้ทำการตามเหตุปัจจัย เป็นฐานที่ตั้งและที่แพร่ขยายแห่งความปลอดภัยไร้ทุกข์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่งที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด ก็คือ การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่ง ไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่าเป็นของจริงแท้คงที่ถาวร สัตว์ บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมติ สัตว์ บุคคล มีตัวจริงตัวแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าคนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน ดวงชีวะ อาตมัน หรืออัตตา (soul) นี้ ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายไปด้วย บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้รออยู่เพื่อไปสู่นรกหรือสวรรค์นิรันดรสุดแต่คำตัดสินของเทพสูงสุด ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ หรือ สัสสตวาท แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตา เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เห็นว่ามีตัวตนเช่นนั้นอยู่ คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่สัตว์ บุคคล นั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้ เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์บุคคล ก็ขาดสูญ ตัวตนก็หมดไป ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หรือ อุจเฉทวาท แปลว่า ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่า สัตว์บุคคล ตัวตนหรืออัตตา ไม่เที่ยงแท้ถาวร ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในทิฏฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนตายเวียนเกิด) ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ
จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ ความเห็นว่า หรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่พวกหนึ่งยึดถือว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้น คงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่าตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกายแตกสลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด สัตว์ บุคคลตัวตน หรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย ความไม่มีสัตว์ ก็คือไม่มีผู้รับผล เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆ ก็ไม่มีผล ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม หรือพูดง่ายๆ ว่ากรรมไม่มีนั่นเอง ความเห็นและความยึดถือแนวนี้ ถ้าแยกละเอียดออกไปก็มี ๓ทิฏฐิ คือ พวกหนึ่งเห็นว่า ทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือว่าการกระทำไม่มีผล เรียกชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ หรือ อกิริยวาท พวกหนึ่งเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอย สุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ ว่าเห็นว่าไม่มีเหตุ เรียกชื่อว่า อเหตุกทิฏฐิ หรือ อเหตุวาท และพวกหนึ่งเห็นว่า หรือถือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักเป็นสาระได้ เรียกชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือ นัตถิกวาท
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นกระบวนธรรม เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประมวลกันขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ย่อมไม่มีทั้งตัวตนที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืน และทั้งตัวตนที่จะดับสิ้นขาดสูญ คือ แม้แต่ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่แล้ว จะเอาตัวตนที่ไหนมายั่งยืน จะเอาตัวตนที่ไหนมาขาดสูญ เป็นอันปฏิเสธทั้งสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปอยู่ โดยองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะว่าไม่มีอะไรได้อย่างไร และจะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอยตามความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธทั้งนัตถิกทิฏฐิและอเหตุกทิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปตามเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเหตุอยู่ในกระบวนธรรมนั้น จึงย่อมจะต้องมีผล ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง (เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา และความแปรเปลี่ยนหรือเสริมคุณสมบัติของจิตใจหรือบุคลิกภาพ เป็นต้น จะเรียกอย่างกึ่งสมมติก็ว่ากระบวนธรรมนั้นแหละเป็นผู้รับผล) ซึ่งเป็นการเกิดผลที่แน่นอนยิ่งกว่าการมีตัวตนเป็นผู้รับผลเสียอีก (เพราะถ้ามีตัวตนที่เที่ยงแท้คงตัว ตัวตนนั้นอาจปฏิเสธไม่ยอมรับผลก็ได้) ในเมื่อความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมีอยู่ เหตุและผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรม กระบวนธรรมก็แปรเปลี่ยนไป จะว่าทำไม่เป็นอันทำหรือการกระทำไม่มีผลได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธอกิริยทิฏฐิ หรืออกิริยวาท
ข้อความต่อไปนี้ จากคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ อาจช่วยเสริมความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ จึงขอยกคำแปลมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ “ว่าโดยความจริงแท้ (สัจจะ) ในโลกนี้มีแต่นามและรูป (นามธรรมและรูปธรรม) ก็แลในนามและรูปนั้น สัตว์หรือคน ก็หามีไม่ นามและรูปนี้ว่างเปล่า ถูก (ปัจจัย) ปรุงแต่งขึ้นเหมือนดังเครื่องยนต์ เป็นกองแห่งทุกข์ (สิ่งไม่คงตัว) เช่นกับหญ้าและฟื้น” (*๑๗๗)
“ทุกข์นั่นแหละมีอยู่ แต่ผู้ทุกข์หามีไม่, การกระทำมีอยู่ แต่ผู้ที่กระทำไม่มี, นิพพานมีอยู่ แต่คนผู้นิพพานไม่มี, ทางก็มีอยู่ แต่ผู้เดินทางไม่มี” (*๑๗๘)
“ผู้ทำกรรมก็ไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป (กระบวนธรรม), อย่างนี้นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อกรรมและวิบาก (ผลของกรรม) พร้อมทั้งเหตุ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ตัน ปลาย ก็ไม่เป็นที่รู้ได้ เหมือนดังก่อนหรือหลังแห่งเมล็ดพืชกับต้นไม้ เป็นต้น แม้ในอนาคต เมื่อสังสาระยังมีอยู่ ก็ยังมองไม่เห็นการที่จะไม่เป็นไป (ของกรรมและวิบาก)”
“พวกเดียรถีย์ไม่รู้ความข้อนี้ จึงไม่เป็นอิสระ (อสยํวสี = ไม่มีอำนาจในตน หรือไม่เป็นตัวของตนเอง ต้องขึ้นต่อผู้อื่นด้วยการยึดถือผิด) ยึดเอาสัตตสัญญา (ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล) แล้ว มีความเห็นไปว่า เที่ยงแท้ยั่งยืน (เป็นสัสสตะ) บ้าง ว่าขาดสูญ (เป็นอุจเฉทะ) บ้าง พากันถือทิฏฐิ ๖๒ อย่าง ขัดแย้งกันและกัน, พวกเขาถูกมัดด้วยเครื่องพันธนาการคือทิฏฐิ ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป, เมื่อล่องลอยไปตามกระแสตัณหาก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนภิกษุพุทธสาวก รู้กระจ่างความที่ว่ามาอย่างนี้ ย่อมเข้าใจปรุโปร่ง (แทงตลอด) ถึงปัจจัยที่ลึกซึ้งละเอียดและว่าง”
“กรรมไม่มีในวิบาก วิบากก็ไม่มีในกรรม ทั้งสองอย่างว่างจากกันและกัน, แต่ปราศจากกรรม ผลก็ไม่มี เหมือนดังว่า ไฟมิใช่อยู่ในแสงแดด มิใช่อยู่ในแว่นแก้ว (อย่างเลนส์นูน) มิใช่อยู่ในมูลโคแห้ง (ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง) แต่ก็มิใช่อยู่ภายนอกจากวัตถุทั้งสามนั้น หากเกิดจากการประกอบพร้อมเข้าด้วยกัน ฉันใด, วิบากก็หาไม่ได้ที่ภายในกรรม แต่ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้ ส่วนกรรมเล่าก็ไม่มีในวิบากนั้น กรรมว่างจากผล ผลก็ไม่มีในกรรม แต่ผลก็อาศัยกรรมนั่นแหละ เกิดขึ้นจากกรรมนั้น ฉันนั้น แท้จริง ในกระบวนแห่งสังสาระนี้ เทพก็ตามพรหมก็ตาม ผู้สร้างสังสาระ หามีไม่ มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป ด้วยอาศัยการประชุมพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย” (*๑๗๙)
“ธรรมชาตินี้ มีเหตุ เกิดขึ้นพรั่งพร้อมแล้วอย่างนี้ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง คลอนแคลนเป็นของชั่วคราว ไม่ยั่งยืน, ธรรมทั้งหลาย ก็เกิดจากธรรมทั้งหลาย โดยเป็นเหตุกัน, ในกระบวนความเป็นไปนี้ จึงไม่มีทั้งตัวตน (อัตตา) ไม่มีทั้งตัวอื่น”
“ธรรมทั้งหลายยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น โดยความประกอบพร้อมแห่งเหตุปัจจัย, พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งเหตุทั้งหลาย. เมื่อเหตุทั้งหลายระงับไป วงจร (วัฏฏะ) ขาด ก็ไม่หมุนต่อไป, ชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ย่อมมีเพื่อการทำความจบสิ้นทุกข์อย่างนี้ เมื่อหาตัวสัตว์ไม่ได้ จึงไม่มีทั้งขาดสูญ ไม่มีทั้งเที่ยงแท้ยั่งยืน” (*๑๘๐)
กล่าวโดยสรุป หลักอนัตตาช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันและมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการต่อไปนี้ คือ
👉 ก. ปฏิเสธทั้งลัทธิที่ถือว่าเที่ยง (สัสสตวาท) และลัทธิที่ถือว่าขาดสูญ (อุจเฉทวาท)
👉 ข. ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่ามีเทพสูงสุดผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก กำหนดโชคชะตาชีวิตของมนุษย์ (อิศวรนิรมิตวาท)
👉 ค. เป็นเครื่องสนับสนุนหลักกรรมตามความหมายของพุทธธรรม พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่าการกระทำไม่มีผล ทำไม่เป็นอันทำ (อกิริยวาท) ปฏิเสธลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตวาท เช่น ลัทธินิครนถ์) ปฏิเสธลัทธิกรรมแบบมีอาตมัน หรือลัทธิกรรมแบบมีวรรณะ (เช่น ลัทธิฮินดู) ปฏิเสธลัทธิเสี่ยงโชคที่ถือว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างเลื่อนลอยสุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย (อเหตุวาท) และปฏิเสธลัทธิที่ถือว่าไม่มีอะไรเลย (นัตถิกวาท)
👉 ง. แสดงลักษณะแห่งบรมธรรม (ธรรมสูงสุด คือจุดหมายสุดท้าย) ของพระพุทธศาสนา ซึ่งต่างจากจุดหมายของลัทธิศาสนาจำพวกอาตมวาท (ลัทธิที่ถือว่ามีอาตมันหรืออัตตา เช่น ศาสนาฮินดู เป็นต้น)
ลักษณะทั้งสาม คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่ได้บรรยายมานี้ เป็นภาวะที่สัมพันธ์เนื่องอยู่ด้วยกัน เป็นอาการสามด้าน หรือสามอย่าง ของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ดังพุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยๆ ว่า
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (ยทนิจจ์ ต์ ทุกข์, ย์ ทุกข์ ตทนตตา)”
และมักมีข้อความที่ตรัสต่อไปอีกด้วยว่า
“สิ่งใดเป็นอนัตตา, สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา” (*๑๘๑)
หรือที่ตรัสในรูปคำถามคำตอบในที่หลายแห่งว่า
“รูป ฯลฯ เที่ยง หรือไม่เที่ยง?”
เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ตรัสต่อไปว่า
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข?”
เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสต่อไปว่า
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปได้เป็นธรรมดา, ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?" (*๑๘๒)
ความเนื่องอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์สืบต่อกัน ความเป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ของลักษณะทั้งสามนี้ อาจกล่าวให้สั้นที่สุดได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ประมวลกันเข้า องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์กันโดยอาการที่ต่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับสลาย เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดกัน ผันแปรเรื่อยไป รวมเรียกว่าเป็นกระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในสภาพนี้
๑. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายเกิดสลายๆ องค์ประกอบทุกอย่าง หรือกระบวนธรรมทั้งหมด ไม่คงที่อนิจจตา
๒. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายหรือกระบวนธรรมทั้งหมดถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลายๆ ต้องผันแปรไป ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ ไม่คงตัว = ทุกขตา
๓. ภาวะที่เกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ไม่มีตัวแกนถาวรที่จะบงการ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นตัว = อนัตตตา
ถ้ามองดูลักษณะทั้งสามอย่างนี้พร้อมไปด้วยกัน ก็จะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สมมติเรียกเป็นตัวตนอันหนึ่งๆ นั้น เป็นที่รวมขององค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่มาแออัดยัดเยียดกันอยู่ และองค์ประกอบเหล่านั้น ทุกอย่าง ล้วนกำลังเกิดดับ แตกสลาย ไม่คงที่ และต่างก็จะแยกพรากกระจัดกระจายกันออกไป เต็มไปด้วยความบีบคั้นกดดันขัดแย้งกัน อันทำให้ผันแปรสภาพไป ไม่คงตัว ต้องอาศัยความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย เป็นเครื่องควบคุมความเป็นไปให้คงรูปเป็นกระแส เป็นกระบวนธรรมอันหนึ่งอยู่ ไม่เป็นตัวใดๆ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอันใดไม่เที่ยง อันนั้นย่อมเป็นทุกข์ อันใดเป็นทุกข์ อันนั้นย่อมเป็นอนัตตา ก็จริง แต่อันใดเป็นอนัตตา อันนั้นไม่จำเป็นต้องไม่เที่ยง ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์เสมอไป กล่าวคือ สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงนั้น ย่อมเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่ธรรมทั้งปวง คือทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม หรือทั้งสังขาร และวิสังขาร แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เสมอไป คือ ส่วนที่เที่ยงและไม่เป็นทุกข์ ก็มี หมายความว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร (คือ นิพพาน) แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์ โดยนัยนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะทั้งสามเท่าที่แสดงมาในตอนนี้ ซึ่งมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน จึงมุ่งสำหรับสังขารหรือสังขตธรรม ตามความที่กล่าวนำหน้าไว้ ส่วนความเป็นอนัตตาของวิสังขารหรืออสังขตธรรม พึ่งเข้าใจตามนัยที่ได้อธิบายก่อนแล้วข้างต้น
๑๕๗ อภิก ๓๗/๑๘๘/๘๒, อภิ.ปุ ๓๖/๑๐๓/๑๗๙
๑๕๘ องฺ ฉกฺก๒/๓๑/๔๘๕
๑๕๙ ขุ-สุ ๒๕/๔๑๑/๔๙๑
๑๖๐ ขุ-สุ ๒๕/๔๑๒/๕๔๑
๑๖๑ วินย.๘/๘๒๖/๒๒๔
๑๖๒ สํ ข.๑๗/๙๔/๕๗
๑๖๓ สํ.ข.๑๗/๔๑๙/๒๕๐
๑๖๔ ขุ. ปฏิ.๓๑/๗๙/๕๓, ๑๐๐/๗๗; ๖๗๕/๕๘๔; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕
๑๖๕ วิสุทธิ.๓/๒๓๕-๖
๑๖๖ วิสุทธิ.๓/๒๖๐,๒๗๖
๑๖๗ วิสุทธิ.๓/๒๔๖-๗; วินยฎีกา ๔/๗๙
๑๖๘ วิภงด.อ.๖๓-๖๔, วินย.ฎีกา ๔/๘๐ อ้างพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร, สํ.ข.๑๗/๑๒๗/๘๒ ๑๖๙ ม.มู.๑๒/๓๔๖/๓๕๘
๑๗๐ สํ.ส.๑๕/๕๕๓/๑๙๘
๑๗๑ สํ.ส.๑๕/๕๕๑/๑๙๗
๑๗๒ ดู วิสุทธิ.๓/๒๑๔-๕
๑๗๓ วิสุทธิ.๓/๒๔๗, ม.อ.๒/๑๕๑; วิภงฺค.อ.๖๓; และดูประกอบที่ วินยฎีกา ๔/๗๙-๘๐, วิสุทธิฎีกา ๓/๔๘๐
๑๗๔ “Cogito, ergo sum” (วาทะของ René Descartes, 1596-1650)
๑๗๕ สํ.นิ ๑๖/๓๓-๓๖/๑๖-๑๗ (ดู หนังสือนี้ หน้า ๑๙๖)
๑๗๖ ม มี ๑๒/๑๒/๑๔
๑๗๗ วิสุทธิ.๓/๒๑๖
๑๗๘ วิสุทธิ.๓/๑๐๑
๑๗๙ วิสุทธิ.๓/๒๒๖-๗
๑๘๐ วิสุทธิ ฎีกา ๓/๓๘๓
๑๘๑ เช่น สํ.สฬ.๑๘/๑/๑
๑๘๒ เช่น สํ.ข.๑๗/๑๒๘/๘๓
๑๘๓ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็น อตุตา และ นิรตต์ บ้าง เป็น อตต์ และ นิรตุติ บ้าง ดู ขุ.สุ.๒๕/๔๑๐/๔๘๘ ; ๔๑๗, ๔๒๑/๕๑๔, และดูประกอบ ๒๕/๔๑๑/๔๘๙, ๔๑๒/๔๙๑, ๔๓๕/๕๔๕) แต่ฉบับอื่นๆ เท่าที่พบเป็น อตุตา และ นิรตุตา ทั้งนั้น
๑๘๔ ดู ขุ.ม.๒๙/๑๐๗/๙๗; ๔๒๗/๒๔๗; ๗๒๑/๔๒๖ และดูประกอบ ขุ.ม.๒๙/๑๒๒/๑๐๗; ๑๖๔/๑๒๙; ขุ.จู.๓๐/๔๐๒/๑๙๓
🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
๓. อนัตตตา และอนัตตลักษณะ
ก) ขอบเขตความหมาย
ข) ความหมายพื้นฐาน
ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
คุณค่าทางจริยธรรม
จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ