แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิสุทธิมรรค แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิสุทธิมรรค แสดงบทความทั้งหมด

อธิบายหัวข้อเบ็ดเตล็ด

อันนักศึกษาเมื่อได้ศึกษาเข้าใจถึงกสิณ ๑๐ ประการ อันเป็นเหตุให้ได้ฌาน ๔ และฌาน ๔ ในรูปาวจรภูมิ ที่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ และเข้าใจถึงนัยแห่งการภาวนาซึ่งกสิณ ๑๐ เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงศึกษาถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดในกสิณทั้ง ๑๐ ประการนั้น ให้เข้าใจดียิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้

๑. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปฐวีกสิณ

ในบรรดากสิณ ๑๐ ประการนั้น ฤทธิ์ย่อมสำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปฐวีกสิณ มีอาทิดังนี้คือ คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้เป็นต้น เนรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปด้วยเท้าได้สำเร็จอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นในอากาศหรือในน้ำได้ได้อภิภายตนะ* โดยนัยมีอารมณ์นิดหน่อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ (คำว่า ได้อภิภายตนะ คือ สามารถข่มปฏิปักขธรรมได้ และสามารถข่มอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ไม่ให้เกิดในใจได้)

๒. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโปกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ มีอาทิดังนี้คือ ดำลงไปในพื้นแผ่นดิน และผุดโผล่พื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ บันดาลให้ฝนตกได้ บันดาลให้เกิดเป็นแม่น้ำและเป็นมหาสมุทรเป็นต้นได้บันดาลแผ่นดิน ภูเขา และปราสาทเป็นต้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนได้

๓. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจเตโชกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บังหวนควันได้ บันดาลให้ไฟลุกโพลงขึ้นได้ บันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกได้ บันดาลไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลงด้วยไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของตนได้ มีความสามารถที่จะเผาผลาญสิ่งที่ตนประสงค์ให้พินาศลงได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้ เผาสรีระศพตนเองได้ด้วยเตโชธาตุในเวลาปรินิพพาน

๔. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจวาโยกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณมีอาทิดังนี้ คือ เหาะไปได้เร็วเหมือนอย่างลมพัด บันดาลฝนพายุให้ตกได้

๕. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียวได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้เกิดขึ้นได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยมีผิวพรรณงามและมีผิวพรรณน่าเกลียด การบรรลุสุภวิโมกข์คือบรรลุมรรคผลและนิพพานโดยง่ายสะดวกสบาย

๖. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปีตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปีตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ เสกเหล็ก ทองเหลือง ทองแดงเป็นต้นให้เป็นทองคำได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๗. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโลหิตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจโลหิตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีแดงได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๘. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโอทาตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีขาวได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุทิพย์ได้

๙. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโลกกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้บันดาลความมีแสงสว่างได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้

๑๐. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอากาสกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บันดาลสิ่งที่ปกปิดกำบังไว้ให้ปรากฏเห็นได้เนรมิตช่องว่างขึ้นในแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น แล้วไปสำเร็จอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนได้ ทะลุออกไปภายนอกฝาหรือกำแพงได้ ไม่มีอะไรกีดกั้นได้


🙏ความต่างกันของกสิณ ๑๐

กสิณหมดทั้ง ประการนั้น ย่อมได้ความต่างกันด้วยสามารถแห่งการขยายดังนี้คือ ขยายขึ้นข้างบน ขยายลงข้างล่าง ขยายไปรอบ ๆ ตัว ไม่ขยายคราวละ ๒ กสิณปะปนกัน ขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้มีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายปฐวีกสิณขึ้นไปข้างบน บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปรอบ ๆ ตัว บางคนขยายอย่างไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ บางคนขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยายขึ้นข้างบน คือขยายให้บ่ายหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าข้างบน คำว่า ขยายลงข้างล่าง คือขยายให้บ่ายหน้าลงสู่พื้นดินข้างล่าง คำว่า ขยายไปรอบ ๆ ตัว คือขยายไปอย่างกำหนดเอาโดยรอบด้าน เหมือนอย่างขอบเขตที่เป็นวงกลม จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายกสิณขึ้นไปข้างบนอย่างเดียว บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น ๆ ฌานลาบุคคลจึงขยายอย่างนี้ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ขยายขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง ไปโดยรอบ ดังนี้ แหละคำว่า ไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่ากสิณอันหนึ่ง ๆ ไม่เข้าไปปะปนกับกสิณอีกอันหนึ่ง เหมือนกับน้ำย่อมปรากฏเป็นน้ำนั่นเอง อยู่ในทั่วทุกทิศแก่บุคคลผู้เข้าไปดู ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ ฉันใด ปฐวีกสิณย่อมปรากฏ เป็นปฐวีกสิณอยู่นั่นเอง ความปะปนกับกสิณอย่างอื่นมีอาโปกสิณเป็นต้นย่อมไม่มีแก่ ปฐวีกสิณนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในกสิณอื่น ๆ ทุกกสิณก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ คําว่า ไม่มีกําหนดประมาณ นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจที่ไม่มีประมาณแห่งการขยายซึ่งปฐวีกสิณนั้น จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขยายปฐวีกสิณนั้นไปด้วยใจ ย่อมขยายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว หาได้ถือเอากําหนดประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลางของปฐวีกสิณนั้น ดังนี้ไม่ ด้วยประการฉะนี้

ผู้บำเพ็ญภาวนาไม่สำเร็จโดยธรรมนิยาม
ก็แหละ สัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมก็ดี เป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลสก็ดี ทั้งเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีปัญญาทึบ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น อภัพพสัตว์ไม่สมควรที่จะหยั่งลงสู่ธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย การภาวนาย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์เหล่านั้นสักคนเดียว แม้ในกสิณภาวนาข้อเดียว

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม นั้น หมายเอาสัตว์ผู้ทำ🔎อนันตริยกรรม ๔ ประการข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส นั้น หมายเอาสัตว์จําพวกที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (คืออเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ) ๑ จําพวกที่เป็นอุภโตพยัญชนกะ (คน ๒ เพศ) ๑ และจําพวกที่เป็นบัณเฑาะก์ (กะเทย) ๑ คำว่า สัตว์ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นอเหตุกปฏิสนธิและที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ( อเหตุกปฏิสนธิ แยกเป็น ๒ คือ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายอกุศล ๑ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายกุศล ๑ ฝ่ายอกุศลนั้นให้ปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นทุคติบุคคล ฝ่ายกุศลให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่เป็นคนบ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดเรียกว่าสุคติบุคคล ส่วนทวิเหตุกปฏิสนธินั้นได้แก่มหาวิบากจิตญาณวิปปยุต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นเหตุกบุคคลซึ่งมีปัญญาทึบ) คำว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คําว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากกัตตุก้มยตาฉันทะในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกคือในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่มรรคได้แก่ในวิปัสสนาอันสมควรแก่อริยสัจ คำว่า เป็นผู้มีปัญญาทึบ หมายความว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คำว่า เป็นอภัพพสัตว์ ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่ธรรมนิยาม และภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่สมควรเพื่อที่จะหยั่งลงสู่อริยมรรคกล่าวคือธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ความจริงการที่ภาวนาไม่สําเร็จผลแก่สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมเป็นต้นแม้แต่สักคนเดียวนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในกสิณกัมมัฏฐานนี้อย่างเดียว แม้ในกัมมัฏฐานทั้งหลายอย่างอื่น ໆ ด้วย


🙏คําตักเตือนกุลบุตร
เพราะฉะนั้น กุลบุตรพุทธศาสนิกผู้ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว พึงหลีกเว้นเครื่องกั้นคือกรรมและเครื่องกั้นคือกิเลสให้ห่างไกล แล้วจึงเพิ่มพูนศรัทธาฉันทะและปัญญาด้วยการตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ และด้วยการคบหาสมาคมกับสัตบุรุษคือผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจเป็นต้น แล้วจึงลงมือบำเพ็ญเพียรในอันประกอบพระกัมมัฏฐานนั้นเถิด ฉะนี้แล  (คำว่า ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว ได้แก่กุลบุตรผู้พ้นจากอเหตุกปฏิสนธิ และทวิเหตุกปฏิสนธิแล้วคือเกิดมาด้วยเหตุกปฏิสนธิมีปัญญาเปรื่องปราดสามารถที่จะบรรลุฌานหรือมรรคผลได้อยู่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอย่าได้ทำอนันตริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอย่าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ จงทำการคบค้าสมาคมกับบัณฑิตและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน แล้วลงมือบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานด้วยอุตสาหะวิริยภาพต่อไป)

จบ ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า เสสกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้ เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้


๑๐. ปริจฉินนากาสกสิณภาวนา

แม้ในปริจฉินนากาสกสิญภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาซึ่งอากาสกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอาซึ่งนิมิตในที่ว่าง ๆ คือที่รูฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ดังนี้ ฉะนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอมรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ที่ได้เห็นรูฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นในทันที


วิธีภาวนาอากาสกสิณ
สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องเจาะที่หลังคาปะซึ่งมุงอย่างสนิท หรือเจาะช่องที่ผืนหนังและที่เสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นช่องกว้างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วจึงลงมือภาวนาซึ่งช่องนั้นนั่นแหละ หรือช่องชนิดอื่นอันต่างด้วยช่องฝาเป็นต้น ด้วยบทภาวนาว่า อากาโส-อากาโส หรือว่า ที่ว่าง ที่ว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ในอากาสกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏ เป็นเหมือนช่องที่กำหนดด้วยที่สุดรอบของฝา และอุคคหนิมิตแม้จะขยายก็ขยายไม่ได้เพราะภาวนายังมีกำลังน้อยอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพคล้ายดวงกลมของช่องว่างนั้น และเมื่อขยายก็ขยายได้ คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนาไว้ใน🔎ปฐวีกสิณนั้นทุกประการ


จบปริจฉินนากาสกสิณ




๙. อาโลกกสิณภาวนา

ก็แหละ ในอาโลกกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาอาโลกกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในแสงสว่าง คือ ที่ฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ฉะนี้ ดังนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นดวงกลม ໆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องฉายเข้าไปตามรูฝาเป็นต้นแล้วปรากฏติดอยู่กับฝาหรือที่พื้นนั้น ๆ หรือดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องทะลุออกมาตามหว่างกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบหรือตามหว่างปะรำที่มุงด้วยกิ่งไม้อย่างหนาทึบ แล้วมาปรากฏติดอยู่กับพื้นนั้นนั่นแหละ อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

วิธีภาวนาอาโลกกสิณ
ฝ่ายโยบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องลงมือภาวนาซึ่งดวงกลมของแสงสว่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ด้วยคำภาวนาว่า โอภาโส-โอภาโส หรือว่า แสงสว่าง - แสงสว่าง ดังนี้ก็ได้ หรือว่า อาโลโก-อาโลโก ความสว่าง - ความสว่าง ดังนี้ก็ได้ ภาวนาเรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น แต่เมื่อโยคีบุคคลไม่สามารถจะทำให้อุคคหนิมิตเกิดขึ้นด้วยวิธีภาวนาซึ่งดวงกลมแห่งแสงสว่างเช่นนั้น พึงจุดตะเกียงใส่ไว้ในหม้อแล้วปิดปากหม้อเสีย เจาะรูที่ข้างหม้อแล้วเอาไปตั้งหันหน้ารูนั้นเข้าใส่ฝา แสงสว่างของตะเกียงก็จะส่องออกจากรูหม้อนั้นไปติดเป็นรูปวงกลมอยู่ที่ฝา โยคีบุคคลพึงภาวนาซึ่งดวงกลมนั้นนั่นแลว่า อาโลโก อาโลโก หรือว่า ความสว่างความสว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ดวงกลมของแสงตะเกียงนี้ย่อมตั้งอยู่ได้นาน มากกว่าดวงกลมของแสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์นั้น ในอาโลกกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพเหมือนกับดวงกลมซึ่งติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ใหญ่โตและสดใสมาก คล้าย ๆ กับก้อนแห่งแสงสว่าง คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎นีลกสิณแล

คำแนะนำเพิ่มเติม
คำภีร์วิสุทธิมรรคนี้พระพุทธโฆสเถระ ท่านรจนาขึ้นก่อนที่โลกนี้จะมีไฟฟ้าใช้ราว ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้นในยุคปัจปัจจุบันนี้ ท่านโยคาวจรทั้งหลายจะพึงใช้แสงจากไฟฉาย หรือใช้กระป๋องน้ำเจาะรูนำมาครอบหลอดไฟ, โคมไฟ เพื่อใช้แสงกำหนดกรรมฐานแทนก็ได้ 

จบอาโลกกสิณ



๘. โอทาตกสิณภาวนา

แม้ในโอทาตกสิณภาวนานี้ เพราะคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่าเมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโอทาตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุ ที่มีสีขาว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นพุ่มไม้ดอกซึ่งกำลังมีดอกบานสะพรั่งอยู่เห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น หรือเห็นกองแห่งดอกบัวขาว หรือเห็นผ้าขาว และสีขาวธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น แม้ในแผ่นกลมแห่งดีบุก แผ่นกลมแห่งเงินและในดวงจันทร์อุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนั่นเทียว

วิธีภาวนาโอทาตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้สีขาวซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว เอาผ้าขาว หรือเอาสีขาวธรรมชาติ มาทำให้เป็นดวงกสิณตามนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิญภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้วจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โอทาตํ - โอทาตํ หรือว่า สีขาว -สีขาว ดังนี้เรื่อย ๆ ไปร้อยครั้ง หรือพันครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้นนั่นเทียว คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนี้ลูกสิณทุกประการ

คำแนะนำเพิ่มเติม
ในบรรดากสิณสีทั้ง ๔ กองนี้ มี 🔎นีลกสิณ (กสิณสีเขียว) 🔎ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง) 🔎โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง) โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ กสิณสีขาวนี้ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต

จบโอทาตกสิณ

๗. โลหิตกสิณภาวนา

แม้ในโลหิตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนั่นแล เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลหิตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุที่มีสีแดง คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น แม้ในโลหิตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั่ง เช่น ดอกชบาเป็นต้นเห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งดอกไม้ในที่บูชาหรือเห็นสีธรรมชาติ คือ ผ้าและแก้วสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

วิธีภาวนาโลหิตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้นต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้เช่นดอกชัยพฤกษ์ ดอกชบา และดอกไม้ที่มีสีแดง หรือเอาผ้าแดง หรือเอาสีธรรมชาติ เช่น ดินสอแดงหรือสีแดงชาดมาทำเป็นดวงกสิณ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ใน🔎นีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ โลหิตกํ หรือว่า สีแดง สีแดง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบโลหิตกสิณ

๖. ปีตกสิณภาวนา

แม้ในปีตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปิตกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเหลือง คือในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ฉะนั้น แม้ในปีตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าหรือธาตุสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ได้ยินว่า เมื่อท่านจิตตคุตตเถระนั้นเห็นอาสนะบูชาที่ทำด้วยดอกจันทน์เหลืองในวัดจิตดลบรรพตวิหาร อุคคนิมิตประมาณเท่ากับอาสนะบูชาได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านพร้อมกับการที่ได้เห็นนั่นเที่ยว

วิธีทำปีตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น จึงสร้างดวงกสิณขึ้นด้วยดอกกรรณิการ์หรือด้วยผ้าสีเหลืองหรือด้วยธาตุสีธรรมชาติ โดยนัยดังที่ได้แสดงมาแล้วใน🔎นีลกสิณภาวนา นั่นแล แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า ปีตกํ ปีตกํ หรือว่า สีเหลือง สีเหลือง ฉะนี้ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบปีตกสิณ



๕. นีลกสิณภาวนา

ก็แหละ ลำดับต่อจาก🔎วาโยกสิณภาวนานั้น เพราะมีคำพระบาลีของโบราณอรรถกถาอยู่ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอานีลกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเขียว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนนั้นเพียงแต่ได้เห็นกอดอกไม้ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ ณ สถานที่บูชา หรือเห็นผ้าเขียวและแก้วเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้

วิธีทำนีลกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องทำกสินขึ้นเอง ต้องไปเก็บเอาดอกไม้ เช่น ดอกบัวเขียว และดอกกรรณิการ์เขา เป็นต้น เอามาจัดใส่ให้เต็มตะกร้าหรือฝาสมุกพอเสมอขอบปาก เอาแต่กลีบดอกล้วน ๆ โดยที่ไม่ให้มีเกสร หรือก้านปรากฏให้เห็นเลย อีกอย่างหนึ่ง จึงเอาผ้าสีเขียวมาม้วนให้เป็นห่อแล้ว บรรจุใส่
ให้เต็มเสมอขอบปากของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้น หรือเอาผ้าสีเขียวนั้นมาผูกขึงที่ปากขอบของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้นให้ตึงเหมือนอย่างหน้ากลองก็ได้ อีกแบบหนึ่ง จึงเอาธาตุสีธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาสีเขียวสัมฤทธิ์ สีเขียวใบไม้ และสีเขียวดอกอัญชัญ มาทาทำเป็นดวงกสิณ ชนิดที่เคลื่อนที่ได้หรือชนิดที่ติดอยู่กับฝา แล้วทาตัดด้วยสีที่ไม่กลืนกัน โดยทำนองดังที่แสดงมาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณนั่นแลไม้เหล่านี้มีดอกสีเขียวแก่หรือสีฟ้าโดยธรรมชาติ

วิธีภาวนานีลกสิณ
ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นโยคีบุคคลพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า นีล - นีล หรือว่า สีเขียว สีเขียว ฉะนี้ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ในปฐวีกสิณ แม้ในนีลกสิณภาวนานี้ ในขั้นอุคคหนิมิต โทษแห่งกสิณยังปรากฏให้เห็นอยู่ คือ เกสร ก้าน และระหว่างกลีบเป็นต้นย่อมปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตพ้นไปจากโทษกสิณย่อมปรากฏ เป็นเช่นกับตาลปัตรแก้วมณีที่อยู่กลางแจ้ง คำที่เหลือนักศึกษาจึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้นนั่นเทียว

จบนีลกสิณ


๔. วาโยกสิณภาวนา

🙏 ๔. วาโยกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งวาโยกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงพยายามจับเอาซึ่งนิมิตในลม ก็แหละ นิมิตนั้นจะพึงจับเอาได้ด้วยสามารถที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้อง เพราะเหตุที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาวาโยกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในลม คือ ย่อมกำหนดยอดอ้อยที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไผ่ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไม้ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไป หรือกําหนดปลายผม ลมพัดให้ล้มลงให้ล้มราบลง หรือกำหนดตรงที่ลมมาถูกต้องกาย ฉะนั้น โยคีบุคคลครั้นได้เห็นอ้อยหรือไผ่หรือต้นไม้ซึ่งมีใบหนาขึ้นอยู่อย่างมียอดเสมอกัน ถูกลมพัดอยู่ก็ดี หรือได้เห็นศีรษะของบุรุษผู้มีผมดกยาวประมาณ ๔ องคุลี ถูกลมพัดอยู่ก็ดี จึงตั้งสติไว้ว่า ลม ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้นหรือพึ่งตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่าง หรือทางรูฝาแล้วมากระทบประเทศของกายครั้นแล้วในบรรดาชื่อของลมทั้งหลาย เช่น วาโต, มารุโต, อนิล เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถแห่งชื่อที่ปรากฏรู้จักกันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่าวาโต - วาโต หรือว่า ลม ลม ดังนี้เรื่อย ๆ ไป



ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
ในวาโยกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตมีลักษณะคล้ายกับเกลียวไอของข้าวต้มที่ปลงลงจากเตาใหม่ ๆ ย่อมปรากฏเป็นสภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตเป็นสภาพสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนอุคคหนิมิต คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วใน 🔎ปฐวีกสิณภาวนานั้นนั่นเทียว

จบวาโยกสิณ

๓. เตโชกสิณภาวนา

 🙏 ๓. เตโชกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งเตโชกสิณกัมมัฏฐานนั้น ก็พึงจับเอานิมิตในไฟ ในโยบุคคล ๒ จําพวกนั้น สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจับตาเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดา คือเพ่งดูเปลวไฟในที่ใดที่หนึ่ง คือ ที่เปลวตะเกียง ที่เตาไฟ ที่กองไฟสําหรับระบมบาตรหรือที่ไฟไหม้ป่า อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ท่านจิตตคุตตเถระนั้นเข้าไปในโรงอุโบสถในวันธรรมสวนะ ขณะที่ท่านเพ่งดูเปลวตะเกียงอยู่นั่นแล อุคคหนิมิตได้เกิดขึ้นแล้ว

วิธีทําเตโชกสิณ
ส่วนโยบุคคลผู้ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน ต้องทํากสิณขึ้นเอง วิธีทำเตโชกสิณนั้นดังนี้ คือ เอาไม้แก่นชนิดที่มียางมาผ่าตากแดดให้แห้งแล้วตัดทอนเป็นท่อน ๆ แล้วเอาไปที่โคนไม้หรือที่ปะรำอันเหมาะสม ทำไม้นั้นให้เป็นกองโดยอาการเหมือนจะระบมบาตร ติดไฟให้ลุกแล้วจึงเจาะช่องกลม ๆ ที่เสื่อลำแพนหรือที่ผืนหนัง หรือที่ผืนผ้า ขนาดโต ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วยกไปตั้งข้างหน้ากองไฟนั้น

วิธีภาวนาเตโชกสิณ
โยคีบุคคลพึงนั่งเข้าที่ โดยทำนองดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล แต่นั้นอย่าได้มนสิการถึงหญ้าและฟื้นข้างล่าง หรืออย่ามนสิการถึงเปลวควันข้างบน จึงจับตาเอานิมิตในเปลวไฟอันหนาทึบตรงระหว่างกลางนั้น อย่าพิจารณาถึงสีของไฟด้วยสามารถแห่งสีเขียวหรือสีเหลืองเป็นต้น อย่ามนสิการถึงลักษณะด้วยสามารถเป็นสภาวะที่ร้อนจึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติ ด้วยอำนาจธาตุไฟซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น ในบรรดาชื่อของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก, กณหวตตนิ, ชาตเวโท, หุตาสโน เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่า เตโช เตโช หรือว่า ไฟ-ไฟ ดังนี้เรื่อย ๆ ไป


ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไปนั่นแล อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ตามทำนองที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นเที่ยว ในนิมิต ๒ อย่างนั้น อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นเหมือนเปลวไฟขาดตกหายไป ๆ แต่เมื่อจับเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาแล้ว (จิตไม่จับไปตรงไฟอย่างเดียว ไปมนัสสิการอย่างอื่นเข้ามาด้วย) โทษแห่งกสิณย่อมจะปรากฏให้เห็น กล่าวคือลูกไฟบ้าง ก้อนถ่านบ้าง ขี้เถ้าบ้าง ควันบ้าง ก็จะปรากฏขึ้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสภาวะที่ไม่เคลื่อนไหว ย่อมปรากฏเหมือนท่อนผ้ากัมพลแดงที่อยู่กลางแจ้ง และเหมือนตาลปัตรทองคำ หรือเหมือนเสาทอง โยคีบุคคลนั้นย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นทีเดียว และย่อมจะบรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล

จบเตโชกสิณ

๒. อาโปกสิณภาวนา

ปริจเฉทที่ ๕ เสสกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญกสิณ ที่เหลืออีก ๙ ประการ

🙏 ๒. อาโปกสิณภาวนา

ก็แหละ 🔎ปฐวีกสิณกัมมัฏฐาน ฉันใด แม้อาโปกสิณกัมมัฏฐานก็ทำนองเดียวกันกล่าวคือ โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาอาโปกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วจับเอานิมิตในน้ำ วิธีการทั้งปวงในอาโปกสิณนี้ เช่น อาโปกสิณที่สร้างขึ้น หรืออาโปกสิณที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบความพิสดารโดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นทุกประการ แหละในอาโปกสิณนี้ ฉันใด ในกสิณต่อ ໆ ไปทั้งหมดก็เหมือนกัน เบื้องหน้าแต่นี้ไป อรรถาธิบายเช่นนี้ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาซ้ำอีก จักพรรณนาแต่เฉพาะที่ต่างกันเท่านั้น

อาโปกสิณที่เป็นเอง
แม้ในอาโปกสิณกัมมัฏฐานนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อนนั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในน้ำที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาคือ ในสระ ในบึง ในทะเลสาบ หรือในมหาสมุทร เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจูฬสิวเถระ ได้ยินว่า ท่านจูฬสิวเถระนั้นสละทิ้งลาภและสักการะด้วยตั้งใจว่า จักไปพักอยู่อย่างเงียบ ๆ จึงไปขึ้นเรือที่ท่าใหญ่ไปยังชมพูทวีป ได้เพ่งดูน้ำในมหาสมุทรไป ในระหว่างทางกสิณนิมิตคล้ายกับน้ำมหาสมุทรนั้นได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ด้วยประการฉะนี้

วิธีทําอาโปกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจะทำอาโปกสิณต้องหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง คือ อย่าเอาน้ำที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จึงเอาน้ำฝนที่รองรับเอาด้วยผ้าสะอาดในกลางแจ้งซึ่งยังไม่ทันจะตกถึงพื้นดิน หรือน้ำอย่างอื่น ๆ ที่ใสสะอาดปราศจากโทษเหมือนอย่างน้ำฝนนั้น มาใส่ให้เต็มเสมอขอบปากบาตรหรือคนโท แล้วเอาไปตั้งไว้ ณ โอกาสลับ ๆ ตรงท้ายวัดซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณภาวนานั้น

วิธีภาวนาอาโปกสิณ
ครั้นแล้วโยคีบุคคลพึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วอย่าพิจารณาถึงสีของน้ำ อย่ามนสิการถึงลักษณะของน้ำซึ่งมีลักษณะไหลซึมซาบและเกาะกุม จึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติด้วยอำนาจธาตุน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น แล้วพึงภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันโดยมากว่า อาโป อาโป หรือว่า น้ำ น้ำ ดังนี้ ในบรรดาชื่อของน้ำทั้งหลาย คือ อมพุ, อุทก, วาร, สลิล เป็นต้น

ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยลำดับ โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นนั่นแล แต่ว่าในอาโปกสิณนี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นดุจกระเพื่อมอยู่ ถ้าน้ำมีฟองและต่อมเจือปน อุคคหนิมิตจะปรากฏเป็นเช่นนั้นนั่นเทียว โทษแห่งกสิณย่อมปรากฏให้เห็น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั่นย่อมปรากฏเป็นสภาพที่นิ่ง เหมือนตาลปัตรแก้วมณีที่ปักไว้กลางแจ้ง และเหมือนวงกลมกระจกเงาที่ทำด้วยแก้วมณี ฉะนั้น โยคีบุคคลนั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับด้วยการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล และย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยทำนองดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั่นเทียว

จบอาโปกสิณ

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

ก็แหละ เมื่อได้บรรลุตติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลพึงสั่งสม 🔎วสี ด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วนั่นแล ครั้นออกจากตติยฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในตติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อปีติอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้ยังมีองค์อันทุรพล เพราะสุขเป็นสภาพที่หยาบดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า "องค์อันใดแล ที่ทำใจให้พะวงว่าเป็นสุขในตติยฌานนั้น ด้วยองค์นั้น ตติยฌานนี้จึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบ" ฉะนี้แล้วพึ่งมนสิการถึงจตุตถฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในตติยฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุจตุตถฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากตติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น สุขคือโสมนัสอันเกิดขึ้นทางใจจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ อุเปกขาเวทนากับจิตเตกัคคตาจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ที่หยาบและเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้นมโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิตเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า จตุตถฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้นไป ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแล ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลหรือมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงหนึ่งที่สุดท้ายเข้าเป็น🔎 รูปาวจรกุสลจิตขั้นจตุตถฌาน ดวงที่เหลือนอกนั้นเป็น กามาวจรกุสลจิต มีประการดังกล่าวแล้วใน🔎ปฐมฌานนั่นเทียว ส่วนที่พิเศษกว่ากันนั้น ดังนี้ คือ เพราะเหตุที่สุขเวทนาเป็นปัจจัยโดยอาเสวนาปัจจัยแก่อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ และอทุกขมสุขเวทนาจะต้องเกิดขึ้นในจตุตถฌานฉะนั้น ชวนจิตเหล่านั้นจึงย่อมประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา และแม้ปีติก็เป็นอันสร่างหายไปในจตุตถฌานนี้ด้วย เพราะเหตุที่จตุตถฌานประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั่นแล แหละด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่เบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ จตุตถฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะละสุขและทุกข์เป็นต้น
ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะละสุขและละทุกข์ ความว่า เพราะละกายิกสุขคือสุขทางกายและกากทุกข์คือทุกข์ทางกาย คำว่า แต่เบื้องต้น ความว่าการละนั้นแล ได้ละมาแต่เบื้องต้นแล้ว ไม่ใช่ละในขณะแห่งจตุตถฌาน คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไป ความว่า เพราะความดับหายไปแต่เบื้องต้นแห่งเวทนา แม้ทั้ง ๒ นี้ คือ สุขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ ทุกขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ อธิบายว่า เพราะละเวทนาทั้ง ๒ เสียได้แต่ในเบื้องต้นนั่นเอง

ถาม - ก็แหละ การละเวทนาเหล่านั้น ละในขณะไหน ?
ตอบ - ละในขณะแห่งอุปจาระของฌานทั้ง ๔ อธิบายว่า โสมนัสเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของจตุตถฌาน ทุกขเวทนา โทมนัสเวทนาและสุขเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของปฐมฌาน ทุติยฌานและตติยฌาน ตามลำดับ

นักศึกษาพึงทราบอย่างนี้ การละซึ่งสุข ทุกข์ โสมนัส และโทมนัสเวทนาทั้งหลายแม้ในจตุตถฌานนี้ซึ่งแม้จะมิได้ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการละซึ่งเวทนาเหล่านั้น แต่ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการแสดงซึ่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์นั่นเทียว

ถาม - ก็แหละ ถ้าองค์ธรรมเหล่านี้ ย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานนั้น ๆ จริงแล้ว ก็เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงแสดงความดับแห่งองค์เหล่านั้นไว้ตรงที่ฌานทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างนี้ว่า ก็ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ย่อมบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ปฐมฌานนี้และโทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมบรรลุซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา และโสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่จตุตถฌานนี้
ตอบ - การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับแห่งองค์ธรรมทั้งหลายไว้ตรงที่ฌานโดยเฉพาะเช่นนั้น เพราะทรงประสงค์เอาความดับอย่างสนิท อธิบายว่า ในขณะแห่งฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับอย่างสนิทขององค์ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ความดับอย่างสามัญ ส่วนในขณะแห่งอุปจาระเป็นความดับอย่างสามัญ ไม่ใช่ความดับอย่างสนิท (ในที่นี้ ท่านแสดงเวทนาไว้โดยแสดงลำดับตามลำดับแห่งอินทรีย์ มิได้แสดงตามลำดับแห่งการละ ลำดับแห่งการละนั้น คือ ละทุกข์, โทมนัส, สุข, และโสมนัส ส่วนลำดับแห่งอินทรีย์นั้น คือ สุขินทรีย์, ทุกอินทรีย์, โสมนัสสินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย์)

🔅 ละทุกข์ได้สนิทที่ปฐมฌาน
เป็นความจริงอย่างนั้น แม้ทุกข์ที่ดับไปในขณะอุปจาระแห่งปฐมฌาน ซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ด้วยถูกเหลือบและยุงกัด หรือด้วยการปวดเมื่อยเพราะนั่งไม่เรียบ แต่ภายในอัปปนาฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เล อีกประการหนึ่ง แม้ทุกข์ที่ดับไปแล้วในขณะอุปจารฌานนี้ ชื่อว่า ยังดับไม่สนิทดีเพราะยังไม่ได้ถูกปฏิปักขธรรมทำลาย ส่วนภายในอัปปนาฌานนั้นทั่วสรรพางค์กายอันสุขชโลมแล้วเพราะปีติแผ่ซ่านไป และบุคคลผู้มีกายอันสุขชโลมแล้วนั้นย่อมมีความทุกข์ดับไปอย่างสนิท เพราะถูกปฏิปักขธรรมทำลายแล้ว

🔅 ละโทมนัสได้สนิทที่ทุติยฌาน
อนึ่ง แม้โทมนัสที่ละได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายเช่นกันนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเมื่อมีความลำบากกาย และมีความเหนื่อยใจ อันมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย โทมนัสนี้ก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีวิตกและวิจารเป็นปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นไม่เลย ส่วนในฌานใดที่โทมนัสเกิดขึ้นได้อยู่ ในฌานนั้นยังมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย และวิตกและวิจารนั้นก็ยังละไม่ได้ที่เดียวในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌาน ดังนั้น โทมนัสนั้นจึงยังบังเกิดขึ้นได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานนั้น แต่ในขณะทุติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะละปัจจัยคือวิตกและวิจารเสียแล้ว

🔅 ละสุขได้สนิทที่ตติยฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้สุขที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งตติยฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แก่ฌานลาภิบุคคล ผู้มีกายอันรูปประณีตซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไป แต่ในขณะตติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะในขณะตติยฌานนั้นปีติอันเป็นปัจจัยแก่สุขได้ดับไปแล้วโดยสิ้นเชิง

🔅 ละโสมนัสได้สนิทที่จตุตถฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้โสมนัสที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งจตุตถฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้อย่างหนึ่ง เพราะยังไม่บรรลุถึง อัปปนาฌานอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่มีอุเบกขาอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่ผ่านไปโดยชอบอย่างหนึ่งแต่ในขณะจตุตถฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด

แหละเพราะเหตุดังพรรณนามานี้นั่นแหละ ศัพท์ว่า อปริเสสํ ที่แปลว่า ไม่มีเหลือ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ในฌานนั้น ๆ ว่า เอตถุปฺปนนํ ทุกขินฺทริยํ อปริเสสํ นิรุชฺณติ ความว่า ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ฌานนั้น ฉะนี้

🔅 เหตุที่ทรงแสดงเวทนา ๔ ในจตุตถฌาน
หากจะมีผู้กล่าวติงในอธิการว่า ก็แหละ แม้เวทนาเหล่านี้เป็นอันละได้แล้วในอุปจาระแห่งฌานนั้น ๆ อย่างนี้ เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงยกมาไว้ในจตุตถฌานนี่อีกเล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า การที่พระพุทธองค์ทรงยกเวทนาเหล่านี้มาแสดงในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะให้ถือเอาใจความได้ง่าย อธิบายว่า อทุกขมสุขเวทนานี้ใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ว่า อทุกขมสุขํม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ อทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นสภาพละเอียดเข้าใจได้ยาก ใคร ๆ ก็ไม่อาจที่จะถือเอาความหมายได้โดยสะดวก เพราะเหตุนั้น เพื่อให้ถือเอาความหมายได้โดยสะดวก พระผู้มีพระภาคได้ทรงสงเคราะห์เอาเวทนาทั้งหมดมาไว้ในจตุตถฌาน นี้แหละ ครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านี้รวมไว้อย่างนี้แล้ว ย่อมทรงสามารถที่จะให้ใคร ๆ จับเอาอทุกขมสุขเวทนานี้ได้ว่า ธรรมชาติใดที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่โสมนัสไม่ใช่โทมนัส ธรรมชาตินี้คือ อทุกขมสุขเวทนา ดังนี้ เช่นเดียวกับโคดุร้ายที่ใคร ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไปคล้องเอามันได้ด้วยวิธีใด ๆ เพื่อที่จะให้คล้องเอาได้โดยสะดวก เจ้าของโคจึงต้อนโคทั้งหมดเข้ามาไว้ในคอกเดียวกัน ทีนั้นจึงไล่ให้ออกไปทีละตัวแล้วสั่งให้คล้องเอาโคตัวนั้นซึ่งออกมาตามลำดับว่า นี้แหละโคตัวนั้น ช่วยคล้องให้ที ฉะนี้

🔅 เวทนา ๔ เป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ
อีกอย่างหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่า แม้เวทนา ๔ เหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อจะทรงชี้ถึงปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ จริงอยู่ปฐมฌานอันเป็นเครื่องละซึ่งทุกข์เป็นต้น จัดเป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุตินั้น สมดังที่พระธัมมทินนาเถรี แสดงไว้ว่า อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคืออทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่างแล อาวุโส ภิกษุในศาสนานี้ บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้นแล อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคือ อทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่าง เหล่านี้แล

🔅 จตุตถฌานเหมือนตติยมรรค
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบแม้อย่างนี้ว่า สังโยชน์ ๑๐ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ถึงจะละได้มาแล้วแต่ในมรรคอื่น ๆ แต่ก็ทรงแสดงไว้ว่าละได้ในตติยมรรค (อนาคามิมรรค) นั้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะสรรเสริญคุณแห่งตติยมรรค ฉันใด เวทนา ๔ เหล่านี้ ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะทรงสรรเสริญคุณแห่งฌานนี้ ฉันนั้น

🔅 ราคะโทสะอยู่ไกลจตุตถฌานมาก
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบดังนี้ว่า เวทนา ๔ เหล่านี้ที่ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงราคะและโทสะเป็นสภาพที่อยู่ห่างไกลมาก เพราะได้ทำลายสิ่งที่เป็นปัจจัยมาแล้ว จริงทีเดียว ในบรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่ราคะ ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทมนัสเวทนา โทมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทสะ และราคะโทสะพร้อมทั้งปัจจัย ชื่อว่าอันจตุตถฌานนี้กำจัดไปแล้วด้วยเหตุที่ได้ทำลายสุขเวทนาเป็นต้นมาแล้ว ดังนั้นราคะและโทสะจึงชื่อว่า มีอยู่ในที่ห่างไกลมาก ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
คำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น มีอรรถาธิบายว่า ที่ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะเหตุที่ทุกข์ไม่มี ที่ชื่อว่า ไม่มีสุข เพราะเหตุที่สุขไม่มี ด้วยคำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนี้ ท่านแสดงถึงเวทนาที่ ๓ (คืออุเปกขาเวทนา) อันเป็นปฏิปักษ์แก่ทุกขเวทนาและสุขเวทนาในจตุตถฌานนี้ ไม่ใช่แต่เพียงแสดงความไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเท่านั้น และ อทุกขมสุขเวทนาชื่อว่าเวทนาที่ ๓ เรียกว่าอุเปกขาเวทนาก็ได้ นักศึกษาพึงทราบว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น มีอันเสวยอารมณ์ที่ผิดจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลาง ๆ เป็นรส มีความปรากฏชัดเป็นอาการปรากฏ มีความดับไปแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นปทัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
คำว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นั้นหมายความว่า ความบริสุทธิ์แห่งสติอันอุเบกขาให้เกิดแล้ว อธิบายว่า สติในฌานนี้เป็นสภาพบริสุทธิ์มาก และความบริสุทธิ์ใดแห่งสตินั้นความบริสุทธิ์นั้นอันอุเบกขาปรุงแต่งให้มิใช่สิ่งอื่นปรุงแต่งให้เพราะฉะนั้น ฌานนี้พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า สตินี้เป็นสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์และผุดผ่องเพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

🔅 อุเบกขาคือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ก็แหละ ความบริสุทธิ์แห่งสติในจตุตถฌานนี้ ย่อมสำเร็จเพราะอุเบกขาอันใด อุเบกขานั้น นักศึกษาพึงทราบว่า โดยใจความก็ได้แก่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก และไม่ใช่แต่สติเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น แม้สัมปยุตธรรมทั้งสิ้นก็เป็นสภาพบริสุทธิ์โดยแท้แล แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้ด้วย ทรงยกสติเป็นประธาน

🔅 อุเบกขาเวทนาเหมือนราตรี
ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเหมือนดวงจันทร์ แม้ว่า ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ จะมีอยู่ในฌานทั้ง ๒ ข้างต้นนั้นก็ตาม แต่ก็เปรียบเหมือนดวงจันทร์ในเวลากลางวัน จะมีอยู่ก็ไม่สว่างไม่ขาวนวล ทั้งนี้ เพราะแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีอันมีส่วนเข้ากันได้ โดยเป็นที่ส่องแสงหรือโดยเป็นอุปการะแก่ตน ฉันใด แม้ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีอยู่ในประเภทแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ทั้งนี้ เพราะเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรี คืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ อนึ่ง เมื่อตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นยังไม่บริสุทธิ์ แม้สหชาตธรรมทั้งหลาย (ธรรมที่เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน) เช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนแสงจันทร์ที่ไม่ขาวนวลในเวลากลางวัน เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ในบรรดาฌานทั้ง ๓ นั้น แม้เพียงฌานเดียว พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงแสดงว่ามีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ส่วนในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะไม่มีเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกัน และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ และเพราะเหตุที่ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพบริสุทธิ์แล้วนั้น แม้สหชาตธรรมทั้งหลายเช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เช่นเดียวกับแสงจันทร์อันสว่างขาวนวล ฉะนั้น เพราะเหตุดังพรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบว่า จตุตถฌานนี้เท่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฉะนี้

 อธิบาย จตุตถฌาน

ที่แปลว่าที่ ๔ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานที่เรียกว่าที่ ๔เพราะเป็นลำดับของการคำนวณ หรือฌานนี้ที่จัดเป็นที่ ๔ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ ๔ ดังนี้ก็ได้

🔅 จตุตถฌานละองค์ ๑
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ใน ๒ ข้อนั้น ข้อว่า จตุตถฌานละองค์ ๑ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจที่ละซึ่งโสมนัสเวทนา และโสมนัสเวทนานั้นละมาได้แต่ในชวนจิตดวงต้น ๆ ในวิถีเดียวกันนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น โสมนัสเวทนานั้น จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของจตุตถฌานนี้

🔅 จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อที่ว่า จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบ ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ อุเบกขาเวทนา ๑ จิตเตกัคคตา ๑ คำที่เหลือมีนัยดังที่แสดงมาแล้วในปฐมฌานนั่นแล ตามที่พรรณนามานี้เป็นแนวในฌาน ๔ ประเภท ที่บังเกิดด้วยอำนาจแห่งฌานที่เป็นจตุกกนัย เป็นประเภทแรก

🔅 อธิบาย ฌานปัญจกนัย
ส่วนโยคืบุคคลผู้จะเจริญฌานปัญจกนัยให้บังเกิดขึ้นนั้นออกจากปฐมฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิตกเป็นสภาพที่หยาบฉะนี้แล้ว จึงมนสิการถึงทุติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้ว จึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป

🔅 บรรลุทุติยฌาน
ก็แหละ กาลใด เมื่อโยคืบุคคลออกจากปฐมฌานแล้วมีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิตกอย่างเดียวก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ องค์ฌานอื่น ๆ มีวิจารเป็นต้น คงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน ดังนี้ เพื่อจะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ละเอียดอยู่นั้น ทุติยฌานก็จะบังเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของทุติยฌานนั้นมีวิตกอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๔ มีวิจารเป็นต้น คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั้นเที่ยว

🔅 บรรลุตติยฌาน
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นอย่างนี้แล้ว โยคีบุคคลนั้นถึงทำให้วสีสามารถดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่างโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วแล้วพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อวิตกอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ครั้นแล้ว มนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุตติยฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิจารก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบขึ้น องค์ฌานอื่น ๆ มีปีติเป็นต้นคงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดอยู่ กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน ฉะนี้ เพื่อที่จะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น ตติยฌานก็จะเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของตติยฌานนั้นมีแต่วิจารอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๒ มีปีติเป็นต้น เหมือนกับในทุติยฌานโดยจตุกกนัย คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั่นเที่ยว

สรุปฌานปัญจกนัย
ด้วยประการฉะนี้ ทุติยฌานใดในฌานจตุกกนัยนั้น ในฌานปัญจกนัยนี้ทุติยฌานนั้นแยกออกเป็น ๒ ฌาน คือ เป็นทุติยฌานและตติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน ในฌานจตุกกนัยนั้นแยกเป็นจตุตถฌานและปัญจมฌานในฌานปัญจกนัยนี้ ส่วนปฐมฌานคงเป็นปฐมฌานตามเดิม ฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๔ ชื่อว่า ปฐวีกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้น เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้

อุเบกขา ๑๐ ประการ

อุเบกขา ๑๐ ประการ

ก็แหละ อุเบกขานั้นมี ๑๐ ประการ คือ
๑. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖
๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาพรหมวิหาร
๓. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์
๔. วีริยุเปกขา อุเบกขาคือวีริยะ
๕. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
๖. เวทนุเปกขา อุเบกขาเวทนา
๗. วิปัสสนุเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
๘. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาเจตสิก
๙. ฌานุเปกขา อุเบกขาในฌาน
๑๐. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก 

🔅 ๑. อธิบาย ฉฬังคุเปกขา
ในอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขาของพระขีณาสพอันใด คืออาการที่ไม่ละปกติ ภาวะอันบริสุทธิ์ ในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ดีใจ ย่อมไม่เสียใจ เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฉฬังคุเปกขา

🔅 ๒. อธิบาย พรหมวิหารุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปทางทิศหนึ่งอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเปกขา

🔅 ๓. อธิบาย โพชฌงคุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสหชาตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมยังอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยนิพพานให้เกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า โพชฌงคุเปกขา

🔅 ๔. อธิบาย วิริยุเปกขา
อุเบกขาอันใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และที่ไม่หย่อนยานเกินไป ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้โยคืบุคคล ย่อมมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาลโดยกาล อุเบกขานี้ชื่อว่า วิริยุเปกขา

🔅 ๕. อธิบาย สังขารุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่พิจารณาข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้นโดยสภาวะแล้วจึงลงความเห็นซึ่งมีอาการเป็นกลาง ๆ ในการยึดถือสังขาร อันมาแล้วอย่างนี้ว่า สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมถะมีเท่าไร ? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจมีวิปัสสนามีเท่าไร ? สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะมี ๘ สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนามี ๑๐ อุเบกขานี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา

🔅 ๖. อธิบาย เวทนุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข (คือเฉย ๆ) ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยใดกามาวจรกุสลจิตอันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนุเปกขา

🔅 ๗. อธิบาย วิปัสสนุเบกขา
อุเบกขาอันใด คือความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณา ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่าขันธ์ ๕ ใดมีอยู่ ขันธ์ ๕ ใดปรากฏชัด โยคีบุคคลย่อมละขันธ์ ๕ นั้น ย่อมได้อุเบกขาในขันธ์ ๕ นั้น อุเบกขานี่ชื่อว่า วิปัสสนุเปกขา

🔅 ๘. อธิบาย ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปเสมอกัน ซึ่งมาแล้วในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา

🔅 ๙. อธิบาย ฌานุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ไม่ให้เกิดความเอนเอียงไปในฝ่าย แม้ในฝ่ายสุขอันเลิศนั้นก็ตาม ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า และเป็นผู้มีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฌานุเปกขา

🔅 ๑๐. อธิบาย ปาริสุทธุเปกขา
แหละอุเบกขาอันใดที่บริสุทธิ์จากข้าศึกทั้งปวงมีนิวรณ์และวิตกวิจารเป็นต้น มีอันไม่ขวนขวายแม้ในการสงบแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกเหล่านั้นสงบไปแล้ว ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า จตุตถฌาน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธุเปกขา


อุเบกขา ๖ ความหมายเหมือนกัน

ในบรรดา อุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขา ๖ ประการเหล่านี้คือ ฉฬังคุเปกขา ๑ พรหมวิหารุเปกขา ๑ โพชฌงคุเปกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ๑ ฌานุเบกขา ๑ และปาริสุทธุเปกขา ๑ โดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็น ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั่นเอง แต่ความต่างกันแห่งอุเบกขานั้นนี้ ย่อมมีด้วยความต่างแห่งอวัตถานนั้น ๆ เช่นเดียวกับความต่างกันแม้แห่งบุคคลคนเดียว ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสนาบดีและเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น เพราะเหตุนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า ในบรรดาอุเบกขา ๖ ประการนั้น ฉฬังคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีโพชฌงคุเปกขาเป็นต้น แหละหรือโพชฌงคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีฉฬังคุเปกขาเป็นต้น (คำว่า ตัตรมัชฌัตตตา เป็นชื่อของเจตสิกดวงหนึ่งในโสภณเจตสิก ๒๕ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั้น มีหน้าที่ทำจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันให้เป็นไปสม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ยิ่งและหย่อนจึงจัดเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขา)

อุเบกขา ๒ ความหมายเหมือนกัน

แหละอุเบกขา ๖ ประการนี้ โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ฉันใด แม้สังขารุเปกขากับวิปัสสนุเปกขา โดยความหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน ฉันนั้น จริงอยู่ อุเบกขานั้น ก็คือปัญญานั่นเอง ที่แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยอำนาจทำหน้าที่ต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาไม้เท้าแพะแล้วค้นหางู ซึ่งเลื้อยเข้าไปในเรือนในเวลาเย็น ๆ ไปพบงูนั้นนอนซ่อนอยู่ในลังแกลบ ใคร่ครวญอยู่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่หนอ ครั้นเห็นลายดอกจัน ๓ แฉกแล้วก็หมดสงสัย แต่นั้นย่อมเกิดความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณาที่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่งูนั้น ฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่นั้นเห็นลักษณะทั้งสามของสังขารด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว ความเป็นเฉย ๆ ในการพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น ความเป็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขาแหละเมื่อบุรุษนั้น ใช้ไม้เท้าแพะกดไว้อย่างแน่นแล้ว ค้นคิดหาวิธีการที่จะปล่อยงูอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เบียดเบียนงูนี้ให้ลำบากด้วย ไม่ให้มันกัดเราด้วยแล้วปล่อยมันไปฉะนี้ ความเฉย ๆ ในการกดไว้นั้น ย่อมมีฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นภพทั้งสามเป็นเหมือนถูกไฟเผา เพราะได้เห็นลักษณะทั้งสามของสังขาร ย่อมเกิดความเห็นเฉย ๆ ในการยึดถือสังขาร ฉันนั้นเหมือนกัน ความเห็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา

ด้วยประการฉะนี้ เมื่อ วิปัสสนุเปกขา สำเร็จแล้ว แม้ สังขารุเปกขา ก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วเหมือนกัน และอุเบกขานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยการทำ หน้าที่คือความเฉย ๆ ในการพิจารณาและการยึดถือ ดังพรรณนามานี้

อุเบกขา ๒ ความหมายต่างกัน
ส่วน วีริยุเปกขา กับ เวทนุเปกขา ๒ อย่างนี้ โดยความหมาย ต่างกันเองด้วย ต่างจากอุเบกขาทั้งหลายที่เหลือด้วย

อุเบกขาที่ประสงค์ ณ ที่นี้
บรรดาอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น ณ ที่นี้ประสงค์เอา ฌานุเปกขา เท่านั้น ฌานุเบกขานั้น มีความเป็นกลาง ๆ เป็นลักษณะ มีความไม่ห่วงใยเป็นรส มีความไม่ขวนขวายเป็นอาการปรากฏ มีความสร่างหายไปแห่งปีติเป็นปทัฏฐาน หากจะมีผู้ท้วงติงว่า - ก็แหละ ฌานุเปกขา นี้ โดยความหมาย ก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา นั่นเอง และตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นย่อมมีมาแม้แต่ในปฐมฌานและทุติยฌานแล้ว เพราะเหตุนั้น แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น ก็ควรที่จะต้องแสดงฌานุเบกขานี้ไว้ด้วยคำว่า อุเปกขโก จ วิหรติ ซึ่งแปลว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ แต่เหตุไฉน จึงไม่ทรงแสดง ณานุเปกขา นั้นไว้เล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า - ที่ท่านไม่แสดง ฌานุเปกขา ไว้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น เพราะฌานุเปกขายังไม่มีหน้าที่ปรากฏ จริงอยู่ หน้าที่ของฌานุเบกขาในปฐมฌานและทุติยฌานนั้นยังไม่ปรากฏชัด เพราะถูกข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น กันท่าไว้ แต่ในตติยฌานนี้ ฌานุเปกขานี้เกิดมีหน้าที่ปรากฏชัด เป็นเสมือนโงศีรษะขึ้นมาแล้ว เพราะไม่มีวิตกและวิจารกันท่าแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงทรงแสดงไว้ อรรถาธิบายอย่างสิ้นเชิง ของคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบาย ผู้มีสติมีสัมปชัญญะ
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ต่อไป บุคคลใดย่อมระลึกได้ ฉะนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่าผู้ระลึกได้ คือผู้มีสติ บุคคลใดย่อมรู้โดยชอบ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าผู้รู้โดยชอบ คือผู้มีสัมปชัญญะ พึงทราบว่า ท่านแสดงสติสัมปชัญญะด้วยบุคคลาธิษฐาน ในสติและสัมปชัญญะนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะ มีความไม่หลงเป็นลักษณะ มีความไตร่ตรองเป็นรส มีความส่องเห็นเป็นอาการปรากฏจำปรารถนาสติและสัมปชัญญะในฌานเหล่านั้น ถึงแม้ว่าสติและสัมปชัญญะนี้จะมีมาแต่ในฌานต้น ๆ แล้วก็ตาม เพราะเหตุที่โยคีบุคคลเผลอสติไม่มีสัมปชัญญะนั้น แม้เพียงขั้นอุปจารฌานก็สำเร็จไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงขั้นอัปปนาฌานกันละ แต่กระนั้น การดำเนินไปของจิตก็เป็นความสะดวกสบาย เพราะฌานเหล่านั้นเป็นสภาพที่หยาบ เปรียบเหมือนการเดินไปบนพื้นแผ่นดินของบุรุษ และหน้าที่ของสติและสัมปชัญญะในฌานต้น ๆ นั้น ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนฌานนี้เพราะเป็นสภาพที่ละเอียด โดยเหตุที่ละองค์ฌานที่หยาบแล้ว จึงจำต้องปรารถนาการดำเนินของจิตที่มีสติและสัมปชัญญะทำหน้าที่ประคับประคองอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการเดินไปใกล้คมมีดของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ไว้แต่ในตติยฌานนี้

เปรียบสุขเหมือนลูกโคติดแม่
พึงทราบอรรถาธิบายยิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยเหมือนอย่างลูกโคที่ยังติดแม่โคนมอยู่ ถึงจะถูกพรากไปจากแม่โคนมแล้ว เมื่อไม่คอยระวังรักษาไว้ให้ดี มันก็จะวิ่งเข้าไปหาแม่โคนมอีกโดยทันที ฉันใด อันสุขในตติยฌานนี้ก็เหมือนกัน อันโยคีบุคคลพรากออกจากปีติแล้ว เมื่อไม่ได้รักษาไว้เป็นอย่างดีด้วยเครื่องอารักขาคือสติและสัมปชัญญะแล้ว มันก็จะพึงกลับเข้าไปหาปีติอีกโดยทันที คือพึ่งประกอบกับปีตินั่นแหละ ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายจะกำหนัดยินดีนักในสุข และสุขนี้เล่าก็เป็นสิ่งที่อร่อยยิ่งนักสำหรับสัตว์ทั้งหลาย เพราะนอกเหนือไปจากสุขนั้นแล้ว ก็ไม่มีสุขอะไร ถึงกระนั้น ที่ในตติยฌานนี้ไม่มีความกำหนัดยินดีในสุข ก็ด้วยอานุภาพแห่งสติและสัมปชัญญะเท่านั้น มิใช่ด้วยเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ นี้ไว้เฉพาะแต่ในตติยฌานนี้ ก็เพื่อที่จะทรงชี้ถึงความหมายอันพิเศษกว่ากัน ดังที่พรรณนามานี้

อธิบาย เสวยสุขด้วยนามกาย
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย นี้ต่อไป โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานย่อมไม่มีความพะวงในการเสวยสุขโดยแท้ แม้ถึงความจริงจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่เพราะเหตุที่สุขของโยคีบุคคลเข้าอยู่ในตติยฌานนั้นประกอบอยู่กับนามกายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นถึงแม้จะออกจากฌานแล้วก็จะพึงได้เสวยสุข เพราะรูปกายของท่านอันรูปที่ประณีตยิ่ง ซึ่งมีสุขอันประกอบอยู่กับนามกายนั้นเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไปทั่วแล้ว ดังนั้น เมื่อจะชี้ถึงซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ จึงได้ทรงแสดงไว้ว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ฉะนี้

อธิบาย เป็นเหตุให้พระอริยเจ้าสรรเสริญผู้บรรลุว่าเป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ต่อไป ในคำนี้ นักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมตรัสบอก ย่อมทรงแสดง ย่อมทรงบัญญัติ ย่อมทรงตั้งไว้ ย่อมทรงเปิดเผย ย่อมทรงจำแนก ย่อมทรงทำให้ตื้น ย่อมทรงประกาศ คือ ย่อมทรงสรรเสริญซึ่งบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานนั้น เพราะมีฌานใดเป็นเหตุ เพราะมีฌานใดเป็นการณ์ สรรเสริญว่าอย่างไร ? สรรเสริญว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้ โยคีบุคคลนั้น บรรลุแล้วซึ่งฌานนั้น ได้แก่ตติยฌานอยู่

เหตุที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ
ถาม - ก็แหละ เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้นอย่างนี้ ?
ตอบ - เพราะเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญ อธิบายว่า บุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนี้ ย่อมเป็นบุคคลสมควรแก่การสรรเสริญนั้น เพราะเหตุที่เป็นผู้เฉย ๆ ในตติยฌาน แม้อันเป็นสุขที่มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นยอดสุดแห่งความสุข และอันความสุขฉุดดึงเข้าไว้ในสุขนั้นไม่ได้ และปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการใดก็เป็นผู้มีสติตั้งมั่นอยู่ด้วยประการนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เสวยความสุขอันสะอาดด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ที่อริยชนร้องเสพแล้ว ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อจะประกาศคุณอันเป็นเหตุแห่งความสรรเสริญเหล่านั้น จึงได้สรรเสริญซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้น โดยเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้ว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติอยู่เป็นสุข ฉะนี้

อธิบาย ตติยฌาน
คำว่า ตติยฌาน ที่แปลว่า ฌานที่ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานนี้ชื่อว่าตติยะ หรือที่ ๓ เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ อีกอย่างหนึ่ง ฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ ๓ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าสู่เป็นอันดับที่ ๓ ดังนี้ก็ได้ตติยฌานละองค์ ๑ ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่าตติยฌานละองค์ ๑ นั้น ด้วยอำนาจการละ ซึ่งปีติ แหละปีตินี้นั้นอันโยคีบุคคลละได้ในขณะแห่งอัปปนา เช่นเดียวกับวิตกและวิจารของทุติยฌานที่โยคีบุคคลละได้ขณะแห่งอัปปนานั้น ด้วยเหตุนั้น ปีตินั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของตติยฌานนั้น

ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อว่า ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์วิภังค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ อุเปกขา สติ สัมปชัญญะ สุขและจิตเตกัคคตา ดังนี้ ข้อนั้นทรงแสดงไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงแสดงถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่ง แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้ว ตติยฌานนี้ประกอบด้วยองค์ ๒ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพ่งได้ โดยยกเอาอุเบกขา สติ และสัมปชัญญะออกเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานประกอบด้วยองค์ ๒ ย่อมมีในสมัยนั้น ได้แก่อะไร ? ได้แก่สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ ฉะนี้คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล


อธิบาย การบรรลุตติยฌาน

อธิบาย การบรรลุตติยฌาน

ก็แหละ ครั้นได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐมฌานนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่าสมาบัตินี้ ยังใกล้ต่อวิตกและวิจารอันเป็นข้าศึก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะเป็นสภาพที่หยาบด้วยปีติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปีติในทุติยฌานนั้นใดซึ่งทำใจให้กำเริบ ทุติยฌานนั้นจึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบเพราะปีตินั้น ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งตติยฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น ปีติก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ สุขกับเอกัคคตาจะปรากฏเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่าปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชซนจิตก็จะตัดภวังคจิตเกิดขึ้นเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า ตติยฌาน จักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้น ในอารมณ์ปฐวีกสิณนั้นนั่นแล ชวนจิตก็แล่นไป ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ดวงหนึ่งสุดท้ายเข้าเป็น รูปาวจรกุสลจิตขั้นตติยฌาน ส่วน ๓ หรือ ๔ ดวงที่เหลือข้างต้นเป็นกามาวจรกุสลจิต ตามนัยที่กล่าวแล้วในทุติยฌานนั่นแล ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้น เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติและเพราะวิตกและวิจาร สงบไปและได้เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุแล้วซึ่งตติยฌาน อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้ 

ตติยฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ มีอรรถาธิบายดังนี้ ความเบื่อหน่าย หรือความก้าวล่วงซึ่งปีติอันมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า วิราคะ แปลว่า ความก้าวล่วงปีติ ส่วน ศัพท์ระหว่างบททั้ง ๒ คือ ปีติ จ วิราคะ หมายความว่า รวบรวม กล่าวคือ จ ศัพท์นั้นรวบรวมเอาซึ่งความสงบ หรือซึ่งความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบ แต่อย่างเดียว คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา กิญฺจิ ภิยฺโย วูปสมา จ แปลว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติ และความสงบโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในการเรียงประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่า ความเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้นจึงทราบความหมายว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติและความสงบ ฉะนี้ แต่คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบแห่งวิตกและวิจารด้วย คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา, กิญฺจ ภิยฺโย วิตกฺกวิจารานญฺจ วูปสมา ซึ่งแปลว่า เพราะก้าวล่วงปีติไป และเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจารโดยยิ่ง ๆ ไป และในการเรียงเข้าประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่าก้าวล่วง เพราะฉะนั้น พึงทราบความหมายว่า เพราะก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้

ถึงวิตกและวิจารทั้ง ๒ นี้ได้สงบไปแล้วแต่ในทุติยฌานนั้นก็จริง แต่ที่ท่านนำมาแสดงไว้อีกก็เพื่อที่จะประกาศแนวทางอันเป็นอุบายของตติยฌานนี้ และเพื่อจะสรรเสริญคุณของตติยฌานนี้ จริงทีเดียว เมื่อพรรณนาว่า เพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้ ตติยฌานนี้ย่อมปรากฏเด่นชัด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร จึงเป็น แนวทางของตติยฌานนี้อย่างแน่นอน เหมือนอย่างในอริยมรรคที่ ๓ (อนาคามิมรรค) ท่านพรรณนาถึงการประหานสัญโญชน์ทั้งหลายแม้ที่ไม่ได้ประหานมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นว่า เพราะประหานสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ฉะนี้ ก็เป็นการสรรเสริญคุณอริยมรรคที่ ๓ นั้น คือ เป็นการยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ผู้ขวนขวายเพื่อจะบรรลุอริยมรรคที่ ๓ นั้น ฉันใด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจารแม้ที่ไม่ได้สงบซึ่งท่านพรรณนาในตติยฌานนี้ ก็เป็นอันสรรเสริญคุณแห่งตติยฌานนี้ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น จึงได้ทรงแสดงความหมายว่า เพราะการก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่
ในคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่นี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมชาติใดย่อมเห็นโดยกำเนิด คือเห็นเสมอกัน เห็นไม่ตกไปในฝ่าย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าอุเปกขา โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌาน เรียกว่า อุเปกขโก ผู้เห็นเสมอกัน เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันบริสุทธิ์ อันยิ่งใหญ่ ถึงซึ่งความมั่นคง



วิกิ

ผลการค้นหา