แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มานะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มานะ แสดงบทความทั้งหมด

อัตตา กับ มานะ

อัตตา กับ มานะ

ปัจจุบันนี้ ได้มีความสับสนเกิดขึ้นบ้างในการใช้คำศัพท์ที่มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องตัวตน และการยึดถือตัวตน ซึ่งเห็นว่าควรจะนำมาชี้แจงเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกไว้ ณ ที่นี้ด้วย คำที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ คือ “อัตตา" เป็นคำบาลี รูปสันสกฤตเป็น “อาตมัน” แปลว่า ตน ตัว หรือตัวตน พุทธธรรมสอนว่า ตัวตนหรืออัตตานี้ ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้น หรือตั้งขึ้น สำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ อัตตานี้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมา ว่ามีตัวตนจริงๆ หรือเป็นตัวตนจริงๆ เรียกว่ารู้ไม่เท่าทันความเป็นจริง หรือหลงสมมติ

ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอัตตานี้ พึงทราบว่า อัตตาไม่ใช่เป็นกิเลส มิใช่สิ่งที่จะต้องละ เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้ อัตตามีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่มีอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา อย่างที่เรียกว่า รู้ทันสมมติเท่านั้น พูดอีกนัยหนึ่งว่า ละความยึดถือในอัตตา ละความยึดถือว่าเป็นอัตตา หรือถอนความหลงผิดในภาพของอัตตา หรือในบัญญัติแห่งอัตตาเสียเท่านั้นเรื่องอัตตาและการปฏิบัติต่ออัตตาในความหมายที่ใช้ทั่วไป มีเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ดี ในสุตตนิบาตที่ได้ยกมาอ้างในข้อก่อน ท่านใช้คำว่า อัตตา คู่กับ นิรัตตา (หรือ อัตตังคู่กับ นิรัตตัง) และได้ขยายความหมายของ “อัตตา" ในกรณีนี้ออกไปว่า หมายถึงการยึดถือในอัตตา หรือการยึดถือว่ามีอัตตา และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่ยึดถือไว้ คู่กับ “นิรัตตา” ซึ่งหมายถึงการยึดถือว่าไม่มีอัตตา หรือการถือว่าอัตตาขาดสูญไป และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละ ความหมายของอัตตาในกรณีนี้ เป็นความหมายแบบขยายตัวเป็นศัพท์ คือ มุ่งเน้นที่ ทิฏฐิ อันได้แก่ความเชื่อถือหรือความยึดถือในอัตตา ที่เรียกว่า อัตตทิฏฐิ หรือ อัตตานุทิฏฐิ ซึ่งก็คือความเชื่อว่ามีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนถาวร ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ดังนั้น ในคัมภีร์มหานิทเทสและจูฬนิทเทส ที่อธิบายสุตตนิบาตตอนที่อ้างนั้น จึงไขความคำ “อัตตา” หรือ “อัตดัง” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ ในเมื่ออัตตาในกรณีนี้หมายถึงตัวทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลส (คือ ทิฏฐิต่ออัตตา หรือทิฏฐิว่ามีอัตตา) จึงเป็นสิ่งที่ต้องละ ฉะนั้น ในสุตตนิบาตนั้น จึงมีข้อความบาลีกล่าวถึงการละอัตตาว่า “ผู้ละอัตตา (อตฺตญชโห) บ้าง “ละอัตตา (คืออัตตทิฏฐีหรือสัสสตทิฏฐิ) ได้แล้ว (อตตํ ปหาย) บ้าง 

ยังมีการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการถืออย่างทิฏฐิ กล่าวคือ ทิฏฐินั้นเป็นการถือว่ามีตัวตนหรือเป็นตัวตน เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวตน เห็นว่าตัวตนเป็นของถาวร เป็นต้น ส่วนการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นการถือสำคัญ หมายความว่า ถือเทียบเคียงระหว่างตัวเองกับตัวอื่น ถือเอาไว้วัดไว้แข่งกัน ถือสูงต่ำ ถือตัวตนในลักษณะที่จะเอาตัวตนนั้นไปเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นว่า ฉันเป็นนี่ ฉันแค่นี้ ฉันสูงกว่า ฉันต่ำกว่า เราต้อยกว่า เราเท่ากับเขา เป็นต้น การถืออย่างนี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า มานะ แปลว่า ความถือตัว ความทะนงตน ความสำคัญตนว่าสูง ต่ำ เด่น ต้อย เท่าเทียม เทียบเขาเทียบเรา ตลอดจนความรู้สึกภูมิๆ พองๆ ถือตัวอยู่ภายใน มานะนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องละหรือต้องกำจัดเสีย

ในปัจจุบัน ได้เริ่มมีความนิยมขึ้นบ้างในบางท่านหรือบางหมู่ที่จะใช้ “อัตตา” ในความหมายของมานะ อย่างนี้ เช่นว่า คนนั้นมีอัตตามาก อัตตาเขาใหญ่ อย่าเอาอัตตามาว่ากัน อย่าให้อัตตาแรงนัก ดังนี้เป็นต้นพึงตระหนักว่า การใช้ "อัตตา” ในความหมายอย่างนี้ เป็นเพียงความนิยมเท่านั้น แต่ไม่ถูก คำที่ถูกต้องสำหรับกรณีนี้คือ “มานะ” ซึ่งเป็นกิเลสตัวการที่ทำให้ไม่ฟังกัน ไม่ลงกัน ไม่ยอมกัน ทำให้แข่งให้อวด ตลอดจนกดข่มกัน อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า แม้แต่การถือตัวว่าเท่ากับเขา ก็เป็นมานะ เป็นกิเลส เช่นเดียวกับการถือว่าสูงกว่าเหนือกว่าเขา หรือต่ำกว่า ด้อยกว่าเขา เพราะตราบใดที่ยังเป็นการถือ ตราบนั้นก็ยังเป็นการเทียบตัว และการกดบีบหรือเบ่งพองของจิต ซึ่งอาจไม่ตรงเท่ากับความเป็นจริง หรือเอาความจริงมาเป็นฐานก่อความกำเริบกดบีบเบ่งพองจิตจึงยังเป็นภาวะไม่อิสระ ไม่ปลอดโปร่งผ่องใส การที่จะไม่ให้เป็นมานะ ไม่ให้เป็นกิเลส ก็คือการรู้ตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะรู้ว่าสูง ต่ำ หรือเท่ากันก็ตาม ถ้าเป็นการเข้าถึงความรู้และเป็นเพียงแค่รู้ ก็ไม่เป็นมานะ ไม่เป็นกิเลส

ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า “อัตตา” และ “มานะ” เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับตัวตน และการยึดถือตัวตน ๒ คำ ที่เข้ามาในภาษาไทยแล้ว มีความหมายเพี้ยนไป และสับสนกัน สันนิษฐานได้ว่า ตอนแรก มานะถูกใช้เพี้ยนไปก่อน คือ มานะ แทนที่จะหมายถึงการถือตัวถือตน คนไทยใช้กันไปมา กลายเป็นหมายถึงความพากเพียร เมื่อมานะมีความหมายเพี้ยนเป็นความเพียรไปเสียแล้ว ต่อมา คนไทยจะพูดถึงความยึดถือตัวตน หรือความถือตัวถือตนนั้นก็ต้องหาคำอื่นมาใช้ เห็นคำว่า “อัตตา” มีความหมายใกล้กัน ก็เลยเอาคำว่าอัตตามาใช้ในความหมายของมานะ ทำให้ทั้งมานะและอัตตามีความหมายคลาดเคลื่อนไปทั้งสองคำ และแถมยังทำให้สับสนกันเสียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องของภาษานี้ เมื่อคนหมู่ใหญ่นิยมใช้กันไปกว้างขวางยาวนานแล้ว ก็แก้ไขได้ยาก มักจะต้องปล่อยไป ยอมให้เป็นความหมายที่งอกไปอีกแง่หนึ่ง แต่สำหรับผู้ศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องรู้เท่าทันและใช้ด้วยความระมัดระวังโดยไม่ประมาท เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาศึกษาธรรม จะให้เข้าใจถึงสภาวะ ก็ต้องรู้ให้ถึงความหมายแท้ที่ถูกต้องชัดเจน

ใจความของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า อัตตา เป็นปัญหาของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ ว่าจริงหรือเท็จ มีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสภาวะหรือสภาพความเป็นจริงที่จะต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้ารู้ไม่ถึงสภาวะที่แท้ ก็เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดว่ามีตัวมีตน มีอัตตาจริงๆ ก็เป็นทิฏฐิขึ้นมา จึงว่าเป็นปัญหาของปัญญา คือจะต้องแก้ด้วยปัญญา หน้าที่ของเราก็เพียงแค่รู้เข้าใจ หรือรู้ความจริง พอเกิดปัญญารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อัตตาไม่มีจริง มีแค่สมมติกัน สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีไม่เป็นอัตตา เท่านั้นเรื่องก็จบ

ส่วน มานะ เป็นปัญหาของจิตใจ เป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี (เรียกว่ากิเลส) เป็นอาการของจิตที่มุ่งจะถือให้ตัวสำคัญ จะยกตัวขึ้น จะกดเขาลง มัวหมอง กดดัน หนัก เครียด ขัดแย้ง แบ่งแยก เบียดเบ่ง ให้ตัวป่อง ให้ตัวพองโต ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่เบาสบาย เป็นอาการของจิตที่จะต้องแก้ไขไถ่ถอน หน้าที่ของเราคือฝึกจิตพัฒนาใจ พยายามเลิกละ กำจัดมันเสีย และหัดเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน อ่อนน้อม ถ่อมตน รู้จักให้เกียรติ ให้โอกาส ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น เป็นต้น

พูดให้ง่ายว่า มานะเป็นปัญหาด้านจริยธรรม เพื่อไม่ให้ปล่อยใจไปตามกิเลส ก็สอนว่า ไม่ควรถือตัวถือตนส่วนอัตตาเป็นปัญหาด้านสัจธรรม ที่แก้ไขด้วยการที่ปัญญารู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตนที่จะถือแล้วในขั้นสุดท้าย ทั้งสองอย่างนี้ก็มาบรรจบกัน คือ การรู้เข้าใจอนัตตา ทำให้ละมานะไปเอง เมื่อรู้เข้าใจว่าไม่มีอัตตา ไม่ยึดเอาอะไรเป็นอัตตาแล้ว ความยึดถืออัตตาหายไป มานะก็หมดไป เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายไม่เป็นตัวตน มองเห็นความไม่เป็นตัวตน (เห็นอนัตตา) แล้ว ปัญญาก็ปลดปล่อยจิตใจให้หมดความถือตัวถือตน ไม่ทะนงตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่ลำพองตน เลิกสำคัญตนว่าสูงต่ำ ยิ่งใหญ่เป็นต้น (หมดมานะ)ดังพุทธพจน์ว่า

"ผู้หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ
(ความถือพองว่าเป็นตัวกู) เป็นนิพพานในปัจจุบันที่เดียว"

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา





วิกิ

ผลการค้นหา