แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มหาวิภังค์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มหาวิภังค์ แสดงบทความทั้งหมด

๑. เวรัญชภัณฑ์

เริ่มต้นด้วยเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โคนไม้สะเดา ใกล้เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่, ได้ทราบกิตติศัพท์สรรเสริญ จึงเข้าไปเฝ้า แต่มิได้ถวายบังคม หลังจากทักทายปราศรัยแล้ว ก็ได้กล่าวว่า ได้ข่าวเขาพูดกันว่าพระสมณโคดมไม่ยอมไหว้หรือลุกขึ้นต้อนรับพราหมณ์ผู้สูงอายุ การที่พระสมณโคดมทำเช่นนั้น ย่อมไม่สมควร

พระพุทธเจ้า ตรัสรับว่าพระองค์มิได้ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุจริง

เวรัญชพราหมณ์ จึงกล่าววาจารุกรานด้วยถ้อยคำที่ถือกันในสมัยนั้นว่า เป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม รวม ๔ ข้อ เช่น คำว่า

  • พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรสชาติ
  • เป็นคนไม่มีสมบัติ
  • เป็นคนนำให้ฉิบหาย
  • เป็นคนเผาผลาญ เป็นต้น

แต่พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายคำเหยียดหยามนั้นไปในทางดี เช่นว่า

  • ใครจะว่า ไม่มีรสชาติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดรส คือรูป เสียง เป็นต้น
  • ใครจะว่าไม่มีสมบัติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดสมบัติ คือรูป เสียง เป็นต้น
  • ใครจะว่านำให้ฉิบหายก็ถูก เพราะท่านแสดงธรรมให้ทำบาป อกุศล ทุกอย่าง ให้ฉิบหาย
  • ใครจะว่าเป็นคนเผาผลาญก็ถูก เพราะท่านเผาผลาญบาป อกุศล อันเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนทั้งหมด

เมื่อตรัสตอบแก้คำดูหมิ่นเหยียดหยามของพราหมณ์ตกทุกข้อโดยไม่ต้องใช้วิธีด่าตอบ หากใช้วิธีอธิบายให้เป็นธรรมะสอนใจได้ดังนั้นแล้ว จึงตรัสอธิบายเหตุผลในการที่พระองค์ไม่ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุโดยเปรียบเทียบว่าลูกไก่ตัวไหนเจาะฟองไข่ออกมาได้ก่อน ลูกไก่ตัวนั้น ควรนับว่าแก่กว่าลูกไก่ตัวอื่น พระองค์เจาะฟองไข่คืออวิชชาก่อนผู้อื่น จึงถือได้ว่าเป็นผู้แก่กว่าผู้อื่น เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังก็เลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกราบทูลอาราธนาให้ทรงจำพรรษาอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับโดยดุษณีภาพ

ในสมัยนั้น เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย หาอาหารได้ยาก ถึงขนาดต้องใช้สลากในส่วนอาหาร ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต ได้อาศัยข้าวแดงจากพ่อค้าที่พักแรมฤดูฝน ณ เมืองนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญภิกษุเหล่านั้นว่า เป็นผู้ชนะ (ที่สามารถต่อสู้กับความยากลำบากได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีแสวงหาในทางที่ผิด เช่น อวดตนเป็นผู้วิเศษ เป็นต้น)

พระโมคคัลลานะเสนอวิธีแก้ไขความอดอยากหลายประการ รวมทั้งการไปเที่ยวบิณฑบาตในที่อื่น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต

ส่วนพระสารีบุตรคำนึงถึงความตั้งมั่นแห่งพรหมจรรย์ จึงกราบทูลถามถึง เหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นและไม่ตั้งมั่น พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่การบัญญัติสิกขาบท การสวดปาฏิโมกข์ (สวดทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน) ว่าเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งมั่น การไม่ทำเช่นนั้นเป็นเหตุให้พรหมจรรย์อันตรธาน พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังไม่ถึงเวลา คือพระสงฆ์ยังไม่มาก ลาภสักการะยังไม่มาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน) ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ก็ยังไม่ต้องบัญญัติสิกขาบท

ถ้าพระสงฆ์มาก ลาภสักการะมาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะปรากฏในสงฆ์ จึงควรบัญญัติสิกขาบท ทั้งขณะนั้นภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธเจ้า ก็ล้วนเป็นพระอริยบุคคล คืออย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงชวนพระอานนท์ไปบอกลาเวรัญชพราหมณ์ ในฐานะผู้นิมนต์ให้จำพรรษา เวรัญชพราหมณ์นิมนต์พระองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น ทรงรับนิมนต์และไปฉันตามกำหนดแล้ว แสดงธรรมโปรดเวรัญชพราหมณ์ แล้วเสด็จจาริกไปสู่เมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสส์ เมืองกัณณกุชชะ โดยลำดับ เสด็จข้ามลำน้ำคงคา ที่ท่าชื่อปยาคะ ไปสู่กรุงพาราณสี จากพาราณสี สู่เวสาลี ประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน


วิกิ

ผลการค้นหา