แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พุทธธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พุทธธรรม แสดงบทความทั้งหมด

๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในที่ใดๆ ภาวะใดๆ มีความสุข ก็ย่อมบัญญัติภาวะนั้นๆเข้าเป็นความสุข ความสุขสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด โดยมีลักษณะที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

เป็นสุขตลอดเวลา : ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำของชีวิต มีอยู่กับตัว
เป็นสุขอิสระ : ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพอย่างเต็มที่
เป็นสุขล้วน : บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เมื่อมองที่ตัวสภาวะตามกฏไตรลักษณ์ (มองขั้นปรมัตถสัจจะ) สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาเป็นสังขารธรรม จึงย่อมมีความสิ้น สลาย จางหาย แปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ดังทรงแสดงในพระสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา … พระดำรัสที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอะไร”

“ดีละ ดีละ ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ สมจริงดังคำที่เรากล่าวว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’

“คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง ฯลฯ มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความแตกไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลมีความแปรผันเป็นธรรมดา” (รโหคตสูตร)

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสุขจากกามและฌาน เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา ยังต้องขึ้นต่ออารมณ์ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์ ได้แก่ ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความกังวลใจใดๆ เช่น ทำงานสำคัญเสร็จ, หายจากการป่วยหนัก, พ้นจากการเป็นหนี้ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่แล้วในตัว

ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำของฌานสมาบัติได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันใดๆเลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง เบิกบาน แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพาน ไม่ถือว่านี่คือนิพพานของเราด้วย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือพร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข เพราะไม่นึกอยากเสพ เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่าจนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยแล้ว

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ลาภ ยศ การไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำความดีเพื่อขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อลดละกิเลส ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ พัฒนาชีวิตก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย ท่านจึงกล่าวแสดงภาวะของนิพพานอยู่บ่อยครั้งว่า คือ ความเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี ตัวอย่างจากพระสูตรบางตอน เช่น

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมองนิพพานว่าเป็นสุข จึงจะเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง ดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้” (นิพพานสูตร)

พระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความสามารถในการพัฒนาการมีความสุข การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไป

“ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์” (คาถาธรรมบท อรหันตวรรค)

จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่า กระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมาฉะนี้แล


จบการย่อความหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย


๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข

ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ มีความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคำนึงด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌานชั้นต่ำกว่าฟุ้งขึ้นมาในใจได้ ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็เป็นภาวะปรุงแต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรสร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา ส่วนข้อดีที่สำคัญของฌานสุข นอกจากความสุขที่ดื่มด่ำกว่ากามสุขแล้ว ฌานสุขยังเป็นสุขที่ไม่มีความเบียดเบียน เพราะเป็นการเสพอารมณ์ภายใน ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก (อามิส) จึงจัดฌานสุขเป็นนิรามิสสุข ส่วนนิพพานเป็นยอดแห่งนิรามิสสุข

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำมีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุข ว่าเป็นปุถุชนสุข ตรงข้ามกับฌานสุข ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน มีพุทธพจน์ตรัสว่า ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก ผู้ใดเข้าถึงฌาน (จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม) ท่านเรียกผู้นั้นว่าได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก ส่วนผู้ใดสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก้าวล่วงความยึดติดถือมั่นในฌานสุขไปได้ เป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้


ส่วนแทรกเสริม

ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ ท่านว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีฌานถึงไม่เสื่อม พระโสดาบัน พระสกทาคามี ฌานอาจเสื่อมได้ มิใช่ด้วยเหตุอกุศล แต่เป็นเพราะธรรมอันเป็นข้าศึกบางอย่าง เช่น ความกังวลใจในการงานที่จะต้องทำ ส่วนโลกุตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก, ประกอบด้วยมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑.ที่ได้สำเร็จแล้วของพระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีวันเสื่อมได้เลย



๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข

ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานหวานชื่นที่คนปรารถนา กามอำนวยให้เพียงชั่วครู่ยามในเวลาที่เสพ ไม่มีความจิรังยั่งยืน ไม่ให้ความสุขที่เต็มอิ่มแท้จริง เมื่อเสพนานเข้าก็เกิดความเบื่อหน่าย ต้องเปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ ดังพุทธพจน์

“ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก” (รัฐปาลสูตร)

ในเวลาที่ไม่ได้เสพ รวมถึงเมื่อกามสุขจางคลายหายลับล่วงผ่านไปแล้ว กลับเหลือความเจ็บปวดชอกช้ำ เสียดายหวนหาอาลัยทุกข์ทรมานประทับลงอย่างแน่นแฟ้น ความลำบากทุกข์ยากในการแสวงหา ระวังรักษากามวัตถุไว้เสพเสวย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท แย่งชิง จนไปถึงสงครามเข่นฆ่ากัน ครั้นประกอบการทุจริตแล้ว ตายไปก็ยังได้รับโทษ คือ ความทรมานในอบาย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุจากกาม



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คำว่า “กาม” โดยปกติจะใช้ในความหมายกว้าง คือหมายถึง ความอยากในสิ่งเสพทางประสาทสัมผัสทางกาย ๕ ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้ใช้ในความหมายแคบดังที่ใช้ใน ศีล ๕ ข้อ ๓ อันเจาะจงเฉพาะการเสพเมถุน ท่านที่บรรลุความสุขประณีตอย่างสูงแล้ว หลายท่านก็ยังดำเนินชีวิตโดยเสพเสวยสุขควบกันไปทั้งสองอย่าง (เสพเสวยกามอย่างรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง) จึงมีทางเลือกในการเสวยความสุขมากขึ้น เมื่อประสบความทุกข์ก็มีทางบรรเทาพิษภัยของกิเลสโดยไม่ต้องถูกบีบบังคับให้พึ่งกามสุขเพียงอย่างเดียว คือ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางเลือกและทางออก (นิสสรณะ)

ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น
เพราะกามสุขที่บริหารจัดการได้ดี ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตนั้นก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหาและการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงามยิ่งขึ้นไปอีก เพราะบุคคลผู้นั้น มีหลักประกันในด้านความสุขสำหรับตนเองแล้ว และเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สูงกว่า ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอันเป็นสุขระดับล่างอีกเลย




๓.๕ ระดับขั้นของความสุข

ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำความดีหรือกรรมดีทั่วๆไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า

“บุญเป็นชื่อของความสุข” (ปุญญวิปากสูตร)

ในการเจริญภาวนา บำเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปทัฏฐานให้เกิดสมาธิ แม้ฌานในระดับสูง ไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน ก็พึงเข้าใจว่าเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน เป็นบรมสุข คือ สุขสูงสุด ก็พึงบรรลุได้ด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ (หมายถึง ทุกรกิริยา, ไม่พึงสับสนกับ ทุกขาปฏิปทา ซึ่งคำว่าทุกข์ในที่นั้น หมายถึง ปฏิบัติด้วยความยากลำบาก)


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๑ : แบ่งออกเป็น ๑๐ ขั้น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑. กามสุข (ขั้นที่ ๑) กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)
ระดับที่ ๒. ฌานสุข (ขั้นที่ ๒-๙) ได้แก่ รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน
ระดับที่ ๓. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ ๑๐) เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็น นิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม

สุขทั้ง ๓ ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก

ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้ (อาจารย์บางท่านจึงมักแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบวชเจริญอุปจารสมาธิให้ได้ก่อนเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร, ธรรมเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)

สำหรับคฤหัส พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้องกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย กล่าวคือ ทั้งที่กามคุณยังเป็นของขาดพร่องแหว่งเว้านี้แหละ เมื่อรู้จักบริหารจัดการได้ดี ก็ยังเป็นคุณที่ดีแก่ชีวิตและขยายออกไปให้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่สังคมให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ยิ่งกว่านั้น ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ


กามโภคีสุข ๔ : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม
๒. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์
๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

ความที่ยกมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เพราะกามไม่มีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก และข้อสำคัญคือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขยิ่งกว่า อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๒ : แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ

ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ : ขั้นโลกียะ
๑.๑) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)
๑.๒) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)

ความสุขทุกกาล โดยไม่ต้องสนองความต้องการ : ขั้นโลกุตระ
ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง 

ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)

เทียบกับแนวที่ ๑. ขั้นที่ ๑-๙ เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ ๑๐ เป็นโลกุตรสุข

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ดูก่อนอานนท์ มีฐานะอยู่ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ในความสุข ข้อนั้นคืออะไรกัน? เป็นไปได้อย่างไรกัน? ดูก่อนอานนท์ท่านพึงชี้แจงว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงบัญญัติในความสุขหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียว ในที่ใดๆย่อมหาความสุขได้ ในฐานะใดๆมีความสุข พระผู้มีพระภาคย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆในความสุข” (ภิกขุสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน ๓ ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และโลกุตรสุข โดยยังไม่ทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด

บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎พระโสดาบัน



๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข

“คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ยอมสิ้นหวังที่จะได้ประสบความสุข” (มหาชนกชาดก)

“ความเสื่อมจากญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจากปัญญา “ความเจริญด้วยญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา” (กัลยาณมิตตาทิวรรค)

        ความสุขมีมากมาย หลายขั้น หลายระดับ และความสุขนั้นพัฒนาได้ ทุกคนจึงควรพัฒนาขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสุขที่ดีเลิศยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อพูดถึงความสุขระดับต่างๆ พึงพิจารณาดูว่า ความสุขอย่างนี้มีข้อดีอย่างไร (อัสสาทะ) มีข้อเสียอย่างไร (อาทีนวะ) และในเมื่อมันยังไม่สมบูรณ์ เราจะมีทางพัฒนาให้พ้นไปจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร (นิสสรณะ) ซึ่งลักษณะสำคัญของความสุขที่พัฒนาสูงขึ้นไปนั้น ก็คือเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความสุข การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา พูดในสำนวนหนึ่ง ก็คือการพัฒนาให้ก้าวไปในความสุขเหล่านี้ และจะพูดว่า พระพุทธศาสนา คือระบบการพัฒนาความสุข ก็ได้

วิธีปฏิบัติต่อความสุข ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข แม้ที่ชอบธรรมนั้น เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป, เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง


ส่วนแทรกเสริม เมื่อจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัส ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พึงพิจารณาว่า ถึงกายป่วยแต่ใจเราจะไม่ป่วย ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่นกุลบิดาผู้ชราความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย” (นกุลปิตาสูตร) (พระสารีบุตรได้ขยายความตอบนกุลบิดาว่า บุคคลชื่อว่ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เพราะละสักกายทิฏฐิ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ถือเป็นการฝึกขันติ ความอดทน)

“ขันติความอดทน เป็นตบะ อย่างยิ่ง” (มหาปทานสูตร)

พระอริยสาวกที่ท่านบรรลุอรหัตตผลในขณะเจ็บป่วยทุกขเวทนาใกล้จะดับขันธ์ก็ยังมี เราอาจหาประโยชน์อะไรจากการพิจารณาความทุกข์ความลำบากนี้ได้บ้างก็เป็นได้ (เช่น โคธิกสูตร อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป เป็นต้น)



๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ

ศีล คือ ความประพฤติดีงามสุจริต, เป็นคุณสมบัติของคนตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ ไม่ได้เป็นข้อๆ

วินัย ความหมายตามศัพท์ แปลว่า การชี้นำอย่างวิเศษหรือการจัดการให้ดี (ที่จะฝึกคนให้มีศีล), วินัยจึงเป็นประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา ข้อฝึกความประพฤติ คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่าสิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์ ตามที่ว่ามานี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย

การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย ก็เป็นศีล เช่น สิกขาบท ๕ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของคฤหัสถ์ เมื่อประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล, สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของภิกษุ ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยนี้ ประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล กล่าวคือ วินัย และสิกขาบท มีเป้าหมายเพื่อ ศีล

พรต หมายถึง การสมาทานถือปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์ทั้งหลาย (ธุดงค์ ๑๓ เป็น พรต ที่พระพุทธเจ้ายอมรับให้นำไปปฏิบัติได้) ไม่เป็นศีล ถือเป็นส่วนพิเศษเพื่อความเคร่งครัด ขัดเกลา ฝึกอบรมตนเองให้ยิ่งกว่าปกติ เน้นที่ความมักน้อยสันโดษ เป็นเรื่องของความสมัครใจและความเหมาะสมของแต่ละคน ใครจะถือปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ไม่มีความผิด โดยถือหลักว่าถ้ารับข้อใดมาปฏิบัติแล้ว กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ก็เป็นอันว่าผู้นั้นควรปฏิบัติข้อนั้น ต่างจากศีลซึ่งสมาชิกทุกคนของหมู่พึงรักษาเสมอเหมือนกัน ถ้าไม่รักษาย่อมมีผลเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

พรตบางอย่างเช่น ไม่พูด ฉันอาหารเฉพาะผลไม้ที่ตกพื้นเท่านั้น ถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นการทรมานตนเกินพอดี

วัตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมและมารยาทอันควรปฏิบัติ

ตบะ มีความหมาย ๒ นัย 
        ๑. ความหมายตามแนวพระพุทธศาสนา คือ การบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่งเพื่อกำจัดกิเลส
        ๒. ความหมายตามแนวศาสนาอื่น คือ พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตน



๓.๒ ความสุข และปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ความสุข คืออะไร ?
ความสุข (ความหมายพื้นฐาน) คือ การได้สนองความต้องการ ความสมอยากสมปรารถนา

ที่จริงความสมอยาก หรือการได้สนองความต้องการนั้น พูดอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือการทำให้ความต้องการสงบระงับไปนั่นเอง เหมือนอย่างระงับความกระหาย ด้วยการดื่มน้ำ หรือระงับความหิว ด้วยการกินอาหาร เมื่อความหิวสงบไป หรือเมื่อความกระหายสงบไป ก็เป็นความสุข ดังนั้น เมื่อพูดตามความหมายนี้ ความสงบระงับไปของความต้องการนั่นเอง เป็นความสุข หรือพูดให้สั้นว่า ความสุขคือความสงบ เมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้วพยายามระงับด้วยการไม่สนองมัน ฝืนข่มบังคับ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการรุนแรง เร่าร้อนกระวนกระวายมากขึ้น ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน และอาจเป็นภัยแก่ผู้อื่น ไม่ใช่สงบจริง เป็นขั้นการฝึกหัดฝืนข่มใจ แต่การฝึกฝนพัฒนายังมีแนวทางวิธีมากกว่านี้ กล่าวคือ

วิธีที่ ๑. วิธีการทางจิต โดยให้ฝ่ายกุศลมีกำลังเหนือกว่า เช่น อยากหนีเรียนกินเหล้าเที่ยวเตร่ ให้เจริญฉันทะที่ใฝ่รู้ใฝ่ดีอยากศึกษาหาความรู้ จนแรงเข้มกว่าตัณหา, อยากขโมยเงิน ให้เจริญเมตตากรุณา นึกถึงว่าเขาหามาด้วยความลำบาก ไม่ควรไปเบียดเบียนเขา เป็นต้น

วิธีที่ ๒. วิธีทางปัญญา ก็เช่นว่า เขาเอาทองมาขายให้ในราคาถูก ก็ตาลุกอยากได้เหลือเกิน แต่พอรู้ทันว่าเป็นทองเก๊ ความอยากได้ก็หายวับไปหมดสิ้น สงบลงได้ แต่ปัญญาอย่างนี้ ควรเรียกล้อว่าเป็นปัญญาเทียม แค่รู้ทันทองเก๊ พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปที จะเป็นปัญญาแท้ ก็ต้องอย่างพระสาวกที่มองเห็นความจริงว่า เงินทองเพชรนิลจินดาประดาทรัพย์ ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต ไม่เป็นของเราของเขาของใครจริง ทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐเป็นสุขแท้จริงไม่ได้ ทั้งเราทั้งมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คืออนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น ถ้าจะอยู่กับมัน ก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เป็นเหตุก่อทุกข์ภัย อย่างนี้คือปัญญาที่ทำให้ตัณหาไม่มีที่ตั้งตัว จึงสงบจริง

รวมแล้ว ไม่ว่าจะสงบระงับด้วยการสนองความต้องการก็ตาม หรือสงบระงับด้วยวิธีทางจิตทางปัญญาให้ไม่ต้องสนองความต้องการที่ไม่ถูกไม่ดีก็ตาม ความสงบนั้นก็เป็นความสุข และความสุขก็คือความสงบ สันติเป็นสุข สุขเป็นสันติ คือสันติสุข ดังความหมายที่ได้ว่ามา


ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
การจะพัฒนาความสุขได้นั้น ก็ต้องพัฒนาความอยาก ความปรารถนาด้วย มิฉะนั้น การพัฒนาความสุข ก็จะไม่สำเร็จ ความอยาก (ทั้งการกระทำและไม่กระทำ) นี้เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องเข้าใจกันให้ชัดเต็มที่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าถึงพระพุทธศาสนา ในชีวิตของคนที่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เรามิใช่มีตัณหาเท่านั้นเป็นแรงจูงใจ แต่เรามีความอยากหรือความต้องการอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ฉันทะ แต่เดิม คำว่า ฉันทะ เป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมความอยากที่เป็นแรงจูงใจของมนุษย์ทุกอย่าง ทั้งด้าน อกุศล และกุศล ดังในพุทธพจน์ที่ใช้ ฉันทะ ในความหมายเดียวกับ ตัณหา

“อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีฉันทะเป็นมูล” (ปุณณมสูตร)
“ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิดก็เกิด ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นต้นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์” (คันธภกสูตร)

เมื่อได้ทราบความหมายเดิมที่แผกผันหลากหลายของคำว่าฉันทะแล้ว ก็ควรจะสรุปให้ยุติเพื่อให้สะดวกในการใช้และไม่สับสน โดยสอดคล้องตามมติที่ถือสืบมาของอรรถกถาและคัมภีร์ทั้งหลาย จึงใช้คำว่า
        ฉันทะ ในความหมายที่เป็นกุศล เป็นความอยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆเอง อยากทำให้ดี ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อความดี เพื่อความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ
        ตัณหา ในความหมายที่เป็นอกุศล เป็นความอยากเพื่อตัวตนของเรา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเสพ อยากเป็น อยากทำลาย

คนมีฉันทะรักที่จะทำเหตุของความเจริญ คนมากด้วยตัณหาได้แต่รอเสพผลของความเจริญนั้น พูดสั้นๆว่า พวกฉันทะเป็นนักสร้าง มีความสุขในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม พวกตัณหาเป็นนักเสพมีสุขต่อเมื่อได้เสพ จุดต่างที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ตลอดกระบวนการของความอยากแบบฉันทะนี้ มีแต่ความอยาก แต่ไม่เกิดตัวผู้อยาก เมื่อไม่สมอยากจึงไม่กระทบกระทั่งในจิตใจ ตรงข้ามกับกระบวนการของตัณหา ที่จะต้องเกิดมีอัตตาตัวตนขึ้นมาเป็นผู้เสพ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น ชีวิตก็ลดขบวนงานของ อวิชชา > ตัณหา > เจตนา (อกุศลธรรม) ให้น้อยลงไป พร้อมกันนั้น ก็เปิดให้ขบวนงานที่ก้าวหน้าของ ปัญญา > ฉันทะ > เจตนา (กุศลธรรม) ที่เป็นความอยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์ตามสภาวะของมัน เข้ามาดำเนินการมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของอริยชนในที่สุด

จะเห็นว่าเมื่อยกเอาตัณหาออกไปแล้ว การเคลื่อนไหว การกระทำ ก็ยังคงดำเนินต่อไป แถมดีขึ้นอีกด้วย จึงควรหันไปสร้างเสริมปัญญา ปลูกฉันทะขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี ตัณหา สามารถนำมาใช้เป็นอุบายในการนำเข้าไปให้ถึงจุดหมายได้ เช่นตัวอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎก ภิกษุรูปหนึ่ง (พระนันทะ ภายหลังบรรลุอรหัตตผล เป็นเอตทัตตะทางด้าน อินทรีย์สังวรณ์) เกิดความคิดถึงคู่รัก เบื่อหน่ายพรหมจรรย์ คิดจะสึก พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงพาไปเที่ยวชมนางฟ้า ภิกษุนั้นหายคิดถึงคู่รัก เกิดความอยากได้นางฟ้าแทน พระพุทธเจ้าจึงตรัสรับรองว่าภิกษุนั้นจะได้นางฟ้า ๕๐๐ ตน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ต่อมาเมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ภิกษุนั้นก้าวหน้าต่อไปจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

ซึ่งวิธีการล่อด้วยตัณหานี้ ไม่ปรากฏว่าท่านใช้บ่อย ท่านคงใช้เมื่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ กำหนดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และคงใช้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลติดตาม และวิธีนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อตัณหาชักจูงให้เกิดฉันทะขึ้นมาร่วมด้วย มีข้อสังเกตว่า คนไทยทั่วไปโดยเฉพาะชาวพุทธไทยนี้เอง พอพูดถึงความอยาก ก็มักจะบอกว่าไม่ดี ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ แล้วก็ชอบบอกกัน สอนกันไม่ให้อยาก ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย อาจกลายเป็นการตัดรอนพัฒนาการของคน และขัดขวางการพัฒนาสังคมประเทศชาติ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลยเถิดไปในทางตรงข้าม ชอบพูดชอบสอนว่าให้อยากได้อยากเอา อยากมั่งอยากมี บางทีถึงกับสอนให้โลภ อยากเด่นดัง เป็นใหญ่เป็นโต บอกว่าอย่างนี้สังคมจึงจะพัฒนา แต่ไม่ได้พัฒนาจริงเลย มีแต่พัฒนาไปสู่ความไม่ยั่งยืน จนถึงพินาศ พาคนพาโลกออกจากสันติภาพ ทั้งสองพวกนี้ ก็คือสุดโต่งไปคนละด้าน แต่เหมือนกันคือไม่รู้จักความอยาก ไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมชาติของความต้องการ แล้วก็จัดการกับความอยากนั้นไม่ถูกต้อง

เรื่องความอยากนั้น เมื่อแยกได้แล้ว เรื่องราวอะไรต่างๆ ก็จะกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้นอย่างมากมาย ฉันทะในกรณีที่ใช้กับสรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ด้วยกันนี้ เป็นส่วนสำคัญ ท่านจึงมีศัพท์พิเศษให้แทนที่จะใช้คำว่าฉันทะคำเดียว คือ แยกเป็น ๔ คำ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา โดยใน ๓ ขั้นแรก เป็นขั้นของความรู้สึก มาจบเต็มที่อุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากมีปัญญาเข้ามาร่วมเพื่อรักษาธรรม เป็นตัวสร้างสมดุล ให้ ๔ ข้อ ครบบริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง จึงเป็นพระพรหมผู้อภิบาลโลกได้จริง ตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา (พรหมวิหาร ๔ : ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ)

“ถึงผู้ใดจะชนะเหล่าชน ได้พันครั้งในสงคราม ก็หาชื่อว่าเป็นผู้ชนะยอดเยี่ยมไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแล ชื่อว่าผู้ชนะยอดเยี่ยมในสงคราม “ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เพียรพยายามจริงจังมั่นคง เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า” (สหัสสวรรค)



๓.๑ อารยธรรมวิถี (วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม)

ทางดำเนินเพื่อเข้าถึงธรรมของอริยชน, วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม

ในยุคสมัยแห่งบริโภคนิยม มีวัตถุสิ่งเสพปรนเปรออยู่เป็นอันมาก คนยุคปัจจุบันอาจมีความรู้สึกต่อนิพพานในทางลบ เห็นเป็นภาวะที่พึงผละหนี หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ในสภาพเช่นนี้ นอกจากจะต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว มีภูมิธรรมระดับหนึ่งที่ควรช่วยกันชักจูงคนให้หันมาสนใจ คือความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยบุคคลระดับต้นในชุมชนอารยะ ซึ่งมีภาวะชีวิตที่ไม่ห่างไกลสำหรับปุถุชนทั้งหลาย แม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งอีกด้วย

แม้พระพุทธองค์เอง ก็ได้ตรัสแนะนำย้ำไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าชน ทั้งคนที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ และคนที่พอจะรับฟังคำสอน ไม่ว่าจะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงมั่น ในองค์คุณของโสดาบัน ๔ ประการ” (มิตตามัจจสูตร)

“เลิศล้ำ เหนือความเป็นเอกราชบนผืนปัฐพี ดีกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์ ประเสริฐกว่าสรรพโลกาธิปัตย์ คือ ผลการตัดถึงกระแสแห่งโพธิธรรม (โสดาปัตติผล)” (โลกวรรค)

หากว่ายังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมที่จะเดินทางได้ เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน (ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม) เริ่มได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษา คือผู้ได้เล่าเรียน ได้รู้จักอารยธรรม หรือเป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียกแล้ว สำหรับในขั้นต้นนี้ สุตะ (การหาความรู้) ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการพัฒนาชีวิต ที่จะก้าวไปในอริยมรรคา เพราะเมื่อมีความรู้ถูกต้องแล้ว ศรัทธาก็เกิดขึ้น และมีแรงที่จะปฏิบัติคุณธรรมอื่นๆ

“ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้น นับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้”

“สตรีใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, สตรีเช่นนั้น เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตร)

บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎พระอริยะบุคคล
บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎โสดาปัตติยังคะ ๔

หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์, คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑. สัจจะ แปลว่า ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง
ประการที่ ๒. ทมะ แปลว่า การฝึกฝน, การปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา (เน้นด้านปัญญา)
ประการที่ ๓. ขันติ แปลว่า ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย (เน้นด้านวิริยะ)
ประการที่ ๔. จาคะ แปลว่า ความเสียสละ, ใจกว้าง ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว ไปจนถึงสละกิเลส

พระพุทธเจ้าทรงแนะให้คิดพิจารณาดูว่า
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่


สุขของคฤหัสถ์
หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)

อัตถิสุข : สุขเกิดจากความมีทรัพย์
โภคสุข : สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ทั้งการเสพบริโภคและบำเพ็ญประโยชน์
อนณสุข : สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้
อนวัชชสุข : สุขเกิดจากความประพฤติสุจริต ไม่มีโทษ

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

คฤหัสถ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ควรมีทั้ง ๔ สถาน
๑. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
๒. ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข
๓. แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดี
๔. ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้นโดยรู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละชื่อว่าได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก” (อัตตวรรค)



๒.๗ ความไม่ประมาท

ชีวิตมนุษย์หรือสังคม จะเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมก็ได้ ปัจจัยสำคัญคือ ความไม่ประมาท ถ้ามนุษย์สามารถศึกษาพัฒนาตนเอง จนมีความรู้ความเข้าใจในอนิจจัง (ความเจริญและความเสื่อม) รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมหลีกเลี่ยงแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยนั้น, รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ทำด้วยความเพียร ก็จะรักษาความเจริญป้องกันความเสื่อมได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป นี่แหละคือ ความไม่ประมาท กล่าวอีกแง่หนึ่ง ความไม่ประมาท คือหลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้

    บัณฑิตเพียงเห็นภัยมาถึงผู้อื่น ก็ไม่ประมาทขวนขวายเพื่อให้ตนพ้นไปจากภัยนั้น ส่วนผู้ที่มีปัญญาน้อยลงมา ต้องประสบทุกข์ภัยเองกับตัว จึงจะเกิดสติ เริ่มตั้งความเพียร ส่วนคนเขลาเมื่อประสบทุกข์ภัยกับตัวแล้ว ได้แต่คร่ำครวญ

    ความสำเร็จและความสุขสบาย มักทำให้เกิดความประมาท คนที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง รวมไปถึงคนที่สุขสบายมาแต่ต้น เมื่อสุขสบายแล้วมักจะหยุดหรือเฉื่อยชา หลงเพลินในความสุขความสำเร็จนั้น ทำให้เกิดเป็นวงจรของความเจริญและความเสื่อมขึ้น

    ดังปรากฏซ้ำๆในประวัติศาสตร์ คือ เมื่อเจอความทุกข์ ก็ดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็เจริญขึ้นมา แต่พอเจริญรุ่งเรืองแล้ว มีความสุขสำราญ พรั่งพร้อม ก็เริ่มหลงมัวเมา ไม่ขยันหมั่นเพียรทำกิจหน้าที่ ก็กลับเสื่อมลงไปใหม่ เป็นวงจรเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อเจริญขึ้นแล้ว ไม่ประมาท รักษาความเพียรไว้ ทำกิจที่ควรทำ ก็จะรักษาความเจริญไว้ได้ รวมถึงทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าบางเรื่องก็หลีกหนีความเสื่อมไม่พ้น เช่น ร่างกายส่วนที่เป็นรูปธรรม, ความเปลี่ยนแปลงต่างๆอันอยู่นอกเหนือจากที่เราสามารถควบคุมได้ ซึ่งเราก็ควรพิจารณารู้ทันว่า เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้ เราก็ทำ เราทำดีที่สุดได้แค่นี้ๆ ตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไปเพราะความเปลี่ยนแปลงแห่งอนิจจัง


พึงยึดถือตามพุทธพจน์

“ผู้ปรารถนาโภคสมบัติอันโอฬาร ยิ่งๆขึ้นไป พึงมีความไม่ประมาท, บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย, บัณฑิตไม่ประมาท จึงยึดเอาได้ซึ่งอัตถะทั้ง ๒ ประการ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า), คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุอัตถะ” (อัปปมาทสูตร)

“วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุเหลือน้อยเข้าทุกที สัตว์โลกถูกมฤตยูห้ำหั่น ถูกชราปิดล้อม แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น” (เตมิยชาดก)

“อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนั้น พึงประพฤติเหมือนดังถูกไฟใหม้ศีรษะ การที่มัจจุราชจะไม่มาหานั้น เป็นอันไม่มี วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตก็หดสั้นเข้า อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป เหมือนดังน้ำในธารน้ำน้อย” (คุหัฏฐกสุตตนิทเทส)

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลทั้งหลาย เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว คือความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (ฐิติสูตร)

“ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการนอนในที่สงัด หรือด้วยเหตุเพียงความดำริเท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้” (ธัมมัตถวรรค)

“ผู้ไม่ประมาท ความเจริญอย่างเดียวเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อม” และปัจฉิมวาจา อันเป็นพุทธพจน์สำคัญยิ่ง “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (มหาปรินิพพานสูตร)



๒.๖ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์

พระพุทธเจ้าตรัสถึงปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ) นี้บ่อยมาก สามารถตั้งเป็นจุดกำหนดได้เลยว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ พอการปฏิบัตินั้นเข้าทางถูกต้องดี ก็จะมาถึงจุดร่วมที่เดียวกันว่า “เกิดปราโมทย์” เช่น

เมื่อตั้งใจปฏิบัติดี รักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็เกิดปราโมทย์
ยกหลักธรรมคำสอนที่ได้เล่าเรียนมาพิจารณาเกิดความเข้าใจ ก็เกิดปราโมทย์
ดำเนินชีวิตดีงาม มีความมั่นใจว่า แม้ถึงคราวจะตาย ก็ต้องไปเกิดดีแน่ ก็เกิดปราโมทย์
ระลึกถึงพระพุทธคุณ มีความเลื่อมใสลึกซึ้ง แล้วเพียรพยายามปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปโดยไม่ประมาท ก็เกิดปราโมทย์

อย่างไรก็ตาม ปราโมทย์ ปีติ สุข ไม่ใช่ว่าจะเป็นของดีทุกกรณี บางทีระคนอยู่กับเรื่องบาปอกุศล เช่นที่เกี่ยวกับอามิส และเกิดจากกิเลส จึงไม่ใช่ความเจริญก้าวหน้าในธรรมเสมอไป, ที่พึงประสงค์นั้น จะต้องไม่พึ่งพาหรือขึ้นต่ออามิส และไม่ต้องอาศัยกิเลส แต่เป็นอิสระ ทำให้จิตที่เป็นกุศลมีกำลังเข้มแข็ง (คัมภีร์อภิธรรม อธิบายว่า โลภะ เป็นเหตุให้เกิดโสมนัสจิตได้ เช่น ใกล้สิ้นเดือนก็รู้สึกปีติยินดีที่จะได้เงินเดือนไปจับจ่ายใช้สอยตามต้องการ เป็นต้น ทั้งนี้ ความสุขที่เกิดจากโลภะจิตเช่นนี้ ในระดับคฤหัสท่านไม่ได้ให้ปฏิเสธแต่แนะให้ไม่หมกมุ่นจนเกิดพอดี)

ถ้าใครปฏิบัติธรรมได้ผล ก็จะเกิดปราโมทย์ ส่วนถ้าเดินไม่ถูกทาง อาจจะเกิดภาวะตรงข้าม คือ ความเครียด เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวรบกวน ตัวกีดขวาง จิตใจไม่ดี ไม่ปลอดโปร่ง เลยพัฒนาไม่ไป หรือเอาดีไม่ได้



๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔

วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน
กรรมฐาน หมายถึง อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายหรือวิธีฝึกจิตเจริญปัญญา

กรรมฐาน มี ๒ คือ
๑. สมถกรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ เจริญสมาธิ
๒. วิปัสสนากรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา (พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม)

ในที่นี้ด้านสมถกรรมฐานจะยกตัวอย่าง อานาปานสติ, โอทาตกสิณ, อัปปมัญญา ส่วนด้านวิปัสสนาจะยกตัวอย่าง สติปัฏฐาน ๔ อย่างไรก็ตาม ในกรรมฐานทุกชนิดสามารถถือเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาขึ้นอยู่กับแง่ด้านในการปฏิบัติ เช่น การฝึกอานาปานสติเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นด้านสมถะ ฝึกแล้วพิจารณาความเกิดดับของสภาวธรรมที่เกิดขึ้นขณะกำลังเจริญอานาปานสติก็เป็นด้านวิปัสสนา เป็นต้น

๑. สมถกรรมฐาน
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี ๔๐ อย่าง ท่านแนะนำว่า แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย ความโน้มเอียงของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่าจริยา (จริต) ต่างๆ ถ้าเลือกได้ถูกกันเหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดี และรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้า หรือไม่สำเร็จผล อย่างไรก็ตามอย่าถึงกับตายตัวทีเดียว พูดอย่างกว้างๆ กรรมฐานทุกอย่างก็เป็นประโยชน์ ช่วยข่มอกุศล และเกื้อหนุนกุศลธรรมได้ทั้งนั้น

“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง” (สมาธิสูตร)

อานาปานสติ
“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น” (เวสาลีสูตร)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงอานาปานสติ ก็พึงกล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง, ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม ปลอดโปร่งจากโยคะ (โยคะ มี ๒ ความหมาย คือ กิเลส, ความเพียร) อานาปานสติอันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ, ภิกษุเหล่าใดที่เป็นอรหันตขีนาสพ อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (อิจฉานังคละสูตร)

อานาปานสติ เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ปฏิบัติได้สะดวก ร่างกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ปราชญ์บางท่านชี้ให้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างอานาปานสติ กับวิธีฝึกหัดเกี่ยวกับลมหายใจของลัทธิอื่นๆ เช่น โยคะ ว่าเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว โดยเฉพาะว่า อานาปานสติ “เป็นวิธีฝึกสติ” “ไม่ใช่ฝึกการหายใจ” คือ อาศัยลมหายใจ เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกสติ

วิธีปฏิบัติ
พึงทราบว่า ตัวอย่างวิธีปฏิบัติในที่นี้ เขียนตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ให้เห็นแบบแผนเดิม ผู้ปฏิบัติจะยักเยื้องไปอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น อย่างที่สำนักต่างๆในปัจจุบัน สอนให้ว่า พุทโธ แทนการนับเป็นต้น สาระอยู่ที่เป็นอุบายตรึงจิตไว้เท่านั้น

พึงหาสถานที่สงบสงัด นั่งในอิริยาบถที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบาย ไม่เมื่อยล้า และหายใจคล่องสะดวก โดยทั่วไปที่ได้ผลดีคือ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่สะดวก ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี ในช่วงแรกของการลงมือปฏิบัติ พระอรรถกถาจารย์ได้เสริมวิธีการนับเข้ามา เพื่อช่วยในการตรึงจิตได้ดี โดยเริ่มแรกให้นับเป็นคู่ๆ คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออก นับ ๑ เรื่อยไปจนถึง ๕/๕ แล้วตั้งต้นใหม่ จาก ๑/๑ ไปจนถึง ๖/๖ เพิ่มทีละคู่จนนับจาก ๑/๑ จนถึง ๑๐/๑๐ แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นที่ ๑/๑ ถึง ๕/๕ ใหม่อย่างนี้เรื่อยไป

ต่อมาให้นับเร็ว คือเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏชัดดีแล้ว คราวนี้ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าใน หรือออกนอก กำหนดแต่ลมที่มาถึงช่องจมูก แล้วนับจาก ๑ ถึง ๕ (ไม่ต้องนับเป็นคู่) ๑ ถึง ๖ เรื่อยไปจน ๑ ถึง ๑๐ แล้วเริ่มใหม่ เมื่อใช้การนับเร็ว กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่อง กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเมื่อใด แม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือลมหายใจเข้าออก (วัตถุประสงค์ของการนับ ก็เพิ่อให้สติตั้งอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านภายนอกได้นั่นเอง)

เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้ว ก็หยุดนับเสีย ใช้สติตามลมหายใจอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ (ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน) เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น หาได้ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อยไม่ แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลี่อยที่มาหรือไป เขาก็ตระหนักรู้ (ท่านว่าถ้าส่งจิตตามลมเข้าไป จะรู้สึกอึดอัด ถ้าส่งจิตตามลมออกไปข้างนอกจะฟุ้งซ่าน) ด้วยวิธีนี้ เมื่อกำหนดอารมณ์กรรมฐานเรื่อยไป นิมิตแห่งลมหายใจของผู้ปฏิบัติจะละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมีสติรักษาอารมณ์กรรมฐานนั้นไว้ (ซึ่งก็คือรักษาสมาธิด้วยนั่นเอง) มนสิการบ่อยๆ ให้เจริญงอกงาม ในที่สุด อัปปนาสมาธิ ก็จะเกิดขึ้น บรรลุปฐมฌาน

🔎อานาปานสติ เพิ่มเติม (ดูหัวข้อที่ ๑๐)

โอทาตกสิณ : กษิณสีขาว โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

สาธุชนผู้จะเจริญกสิณชนิดนี้ พึงขดไม้เป็นวงกลมกว้างโดยศูนย์ไส้สัก ๑๖ นิ้ว หรือราวนั้น พอตาจับได้ถนัด อย่าให้เล็กเกินจนนัยน์ตาจับเอาอื่นด้วย หรือใหญ่เกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ทั่ววง เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์หุ้ม แล้วเอาวางห่างจากที่นั่งสัก ๒ ศอกคืบ หรือราวนั้น พอเพ่งดูถนัด อย่าให้ชิดเกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ถนัด แล้วพึงนั่งเพ่งดูโดยอาการตามถนัด ตากำหนดจำกสิณนั้นใจนึกถึงสีว่า “โอทาตัง โอทาตัง” แปลว่า ขาว ขาว คุมนัยน์ตาอันแลเห็น กับใจอันนึก ให้อยู่ที่กสิณพร้อมกัน กิริยาที่ทำนี้เรียกว่า บริกรรม ดวงกสิณเรียกว่า บริกรรมนิมิต กิริยาที่นึกว่า “โอทาตัง โอทาตัง” เรียกว่า บริกรรมภาวนา นี้เป็นชั้น ๑ (บริกรรม แปลว่า ทำซ้ำๆ)

ครั้นทำในชั้นนี้ชำนาญแล้ว ถึงตั้งใจจำกสิณนั้นให้ติดตา ลองหลับตาดูในระหว่างๆ ถ้ายังไม่ติดตา ลืมตาดูใหม่ ในสมัยใดจำได้ติดตา หลับตาลง ดวงกสิณปรากฏในใจเหมือนแลเห็น ในสมัยนั้น นิมิตที่ปรากฏในใจนั้น เรียก อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่จิตจำได้ หรือนิมิตติดตา กิริยาที่นึกนั้น เรียก บริกรรมสมาธิ ที่กล่าวว่าปรากฏในใจนั้น เช่นกับคนขลาดได้พบสิ่งที่น่ากลัวอันให้ตกใจ หรือคนที่ผูกพันอยู่ในสิ่งหนึ่งหลับตาลง ย่อมแลเห็นสิ่งนั้นติดตา แต่ท่านไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของกัมกัฏฐาน เพราะเป็นเหตุตกใจ หรือเป็นเหตุติดข้อง บริกรรมสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๒

ครั้นในชั้นนี้ช่ำชองแล้ว พึงลองหลับตานึกถึงนิมิตนั้นขยายให้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่อย่าให้เสียส่วนตามสัณฐาน ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายของมีขนาดต่างกัน แต่ส่วนแห่งอวัยวะนั้นๆของรูปทั้งปวงทุกชนิด คงสมกันกับกาย ในสมัยใด จิตจำนิมิตนั้นได้จนขยายออกหรือย่นเข้าได้ สมัยนั้นนิมิตนั้นเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเทียบเคียง ภาวนานั้นเรียกว่า อุปจารภาวนา นี้เป็นชั้นที่ ๓

ผู้ทำได้แม่นยำจนถึงชั้นนี้แล้ว บำเพ็ญภาวนาต่อไปจนเข้าองค์กำหนดชั้นต้น (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) จัดได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เป็นสมาธิแน่นแฟ้น อัปปนาสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๔

ผู้ศึกษาในกัมมัฏฐานไม่ควรมุ่งเฉพาะคุณที่สูงอย่างเดียว ควรมุ่งเฉพาะคุณที่เป็นวิสัยของตน พึงเจริญกัมกัฏฐานอันเป็นที่สบายแก่ตน เช่น คนสามัญปรารถนาฐานันดรเป็นมหาอำมาตย์ จะได้สมหวังนั้นเทียวหรือถ้าไม่ได้ พยายามนั้นก็ไม่มีผล ใช้ในทางอื่นยังจะดีกว่า เพราะเหตุนั้น ต้องรู้จักกำลังของตน ทั้งแลเห็นช่องทางก่อน อุปมานี้ฉันใด ผู้จะเจริญกัมมัฏฐานก็พึงประพฤติฉันนั้น ไม่ควรจะละเลยคุณเบื้องต่ำ ซึ่งตนควรจะถือเอาได้ก่อน แม้แต่เพียงในชั้นบริกรรม ต่อมาในสมัยใด คุมจิตไว้ที่กสิณแห่งเดียวได้ ไม่คิดพล่านในทางอื่น ได้ให้ความแช่มชื่นไม่อึดอัดเบื่อหน่าย ในสมัยนั้น จัดว่าเป็นอันสำเร็จผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนั้น


อัปปมัญญา ๔
กรรมฐาน อีกชนิดหนึ่งที่ท่านสนับสนุนให้ปฏิบัติ ได้แก่ อัปปมัญญาเจโตวิมุตติ คือ การเจริญสมาธิด้วยการแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต อุเบกขาจิต ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วไปหมด ไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีประมาณ จนจิตน้อมดิ่งไปในคุณธรรมนั้นๆ เกิดอัปปนาสมาธิ

ตามหลักท่านให้เจริญเมตตา ไปตามลำดับ ดังนี้
๑. ตนเอง : เพื่อเป็นสักขีพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น
๒. ผู้เป็นที่รัก : เพราะเจริญได้ง่าย
๓. ผู้ที่เป็นกลางๆ
๔. ศัตรู

เมื่อชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องแบ่งแยกกลุ่ม แผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขต

“พึงแผ่ไม่ตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มารดาถนอมบุตรน้อยคนเดียวผู้เกิดจากตน แม้ด้วยยอมสละชีวิต ฉันใด พึงเจริญเมตตาไม่จำกัดในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น” (กรณียเมตตสูตร)

🔎อัปปมัญญา ๔ เพิ่มเติม

ข้อควรรู้เพิ่มเติมสำหรับกรรมฐานต่างๆ โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

บุคคลผู้มีถีน มิทธะ (ความหดหู่ เซื่องซืม) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง (เช่น มีศีลดี มีความเอื้อเฟื้อ นิยมให้ทาน) พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ เพราะความก้าวไปข้างหน้า เป็นคู่ปรับกับความหดหู่เซื่องซึม
บุคคลราคะจริต ผู้มีกามฉันท์ เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอสุภกรรมฐาน หรือ กายคตาสติ
บุคคลผู้มีอุทธัจจะ กุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) เป็นเจ้าเรือน ควรเพ่งกสิณ หรือ มรณานุสติ
บุคคลผู้มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร

ในบุคคลผู้เดียว นิวรณ์เหล่านี้อาจเข้าครอบงำต่างคณะ ต่างสมัย พึงเจริญกรรมฐานให้เหมาะสม

ข้อสำคัญ พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม (อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ) เรียกว่าอยู่ขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้แก้กิเลสของตน ส่วนวิปัสสนามองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม ไม่มีสวย ไม่มีน่าเกลียด

อรรถกถาเมตตสูตร

“ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต, กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต”



๒.๕.๓.๑ ระดับของสมาธิ

ในชั้นอรรถกถาท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ

ระดับขั้นของสมาธิ
ระดับที่ ๑ ขณิกสมาธิ
: สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้

ระดับที่ ๒ อุปจารสมาธิ : สมาธิจวนจะแน่วแน่ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน จัดเป็นขั้นสูงสุดของกามาวจรสมาธิ มีที่กำหนดชัดเจนคือ ในอุปจารสมาธิ นิวรณ์ก็ถูกละได้ระดับหนึ่งแล้ว และองค์ฌานก็เริ่มเกิดคล้ายกับอัปปนาสมาธิ มีข้อแตกต่างเพียงว่า องค์ฌานยังไม่มีกำลังดีพอ ได้นิมิตพักหนึ่ง ก็ตกภวังค์พักหนึ่ง ขึ้นตกๆเหมือนเด็กตั้งไข่ เขาพยุงลุก ก็คอยล้ม ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลังดีแล้ว จิตตัดภวังค์แล้วคราวเดียว ก็ตั้งอยู่ได้ทั้งคืนทั้งวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ยืนขึ้นแล้วก็ยืนได้ตลอดวัน

ระดับที่ ๓ อัปปนาสมาธิ : สมาธิแน่วแน่ หรือ สมาธิที่แนบสนิท นิวรณ์ ๕ สงบระงับไปด้วยกำลังของสมาธิ เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้งหลาย (ฌานทุกลำดับจัดเป็นอัปปนาสมาธิ) ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ เกิดขึ้นได้ด้วยการรักษาอุปจารสมาธิที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย จนในที่สุด ก็เกิดเป็นอัปปนาสมาธิ บรรลุปฐมฌาน เป็นขั้นเริ่มแรกของรูปาวจรสมาธิ

ระดับขั้นของฌาน

🙏รูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ คือ วิตก (การจรดจิตลงไปในอารมณ์, ตรึก) วิจาร (การเอาจิตผูกพันอยู่กับอารมณ์, ตรอง) ปีติ (ความยินดีในการได้อารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นสังขารขันธ์) สุข (ความสุขในการได้เสวยรสอารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นเวทนาขันธ์) เอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว)
ระดับที่ ๒ ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๓ ตติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๔ จตุตถฌาน มีองค์ประกอบ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อาจมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า เหตุใดในฌานระดับที่สูงขึ้นองค์ประกอบที่ดูน่าพึงพอใจอย่าง ปีติ และสุข จึงหายไป เหลือเพียง อุเบกขา ข้อนี้ขอให้พิจารณาทำความเข้าใจไปตามลำดับ

ในปฐมฌาน : การฟุ้งขึ้นของ นิวรณ์ ๕ เป็นอาพาธของปฐมฌาน
ในทุติยฌาน : ละวิตก วิจาร เพราะเป็นภาระของจิต เป็นโทมนัสอย่างละเอียด เป็นอาพาธของทุติยฌาน
ในตติยฌาน : ละปีติ ความยินดี เพราะเป็นสภาพที่ทำใจให้กำเริบ พะวงในการเสวยสุขอันยอดเยี่ยมนั้น เป็นอาพาธของ ตติยฌาน
จตุตถฌาน : ละความกำหนัดยินดีในสุข ละความคำนึงแห่งใจว่าเรากำลังเสวยสุข เพราะถือเป็นส่วนหยาบ เป็นปัจจัยแห่งรูปราคะ เป็นอาพาธของจตุตถฌาน

อุเบกขา ในที่นี้ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ ในความหมายของพรหมวิหาร คือ ความมีใจเป็นกลาง ดูอย่างสงบ ซึ่งมีในฌานทุกชั้น โดยจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ และในความหมายของ อทุกขมสุขเวทนา คือ ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ เป็นสภาวะละเอียดประณีต เป็นปัจจัยสนับสนุนสติให้บริสุทธิ์ (ไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนา ในความหมายของ ความสุขอย่างอ่อนๆ ความทุกข์อย่างอ่อนๆ หรือความรู้สึกเฉยๆ)

การที่จตุตถฌาน มีองค์ประกอบหลัก คือ อุเบกขา และเอกัคคตา ไม่ได้หมายความว่าพ้นจากภาวะที่เป็นสุข ตรงกันข้ามจตุตถฌานเป็นภาวะที่เป็นสุขประณีตอย่างยิ่ง เนื่องจากห่างไกลจากเสี้ยนหนามทางใจต่างๆ แม้อย่างละเอียด ส่วนทุกข์ทางกายนั้นดับไปตั้งแต่เข้าปฐมฌาน 

(สมาธิขั้นที่สูงถึงขั้นจตุตถฌานขึ้นไป แม้ไม่มีสุขเป็นองค์ธรรมแต่ก็จัดเป็นสุขที่ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ พบได้ในพระสูตรหลายบท เช่น พหุเวทนียสูตร, ปัญจกังคสูตร, นอกจากนี้ ผู้สนใจศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติมจาก นิพพานสูตร, อรรถกถามหาวิภังค์ ปฐมภาค ; วิสุทธิมรรค ; หนังสือพุทธธรรม  เป็นต้น)


🙏
อรูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ ฌานที่กำหนดอากาส คือ ที่ว่าง อันอนันต์
ระดับที่ ๒ วิญญาณัญจายตนะ ฌานที่กำหนดวิญญาณ (อันแผ่ไปในที่ว่าง) อันอนันต์
ระดับที่ ๓ อากิญจัญญายตนะ ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ
ระดับที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (ไม่มีสัญญาหยาบ มีสัญญาละเอียด)

วิธีปฏิบัติขั้น อรูปฌาน คือ เมื่อเจริญสมาธิถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ก็ปล่อยกรรมฐานที่ยึดเป็นอารมณ์ออก มายึดอารมณ์ของอรูปฌาน แต่ละลำดับแทน อรูปฌานทั้งหลายมีองค์ฌานเพียง ๒ อย่างเหมือนจตุตถฌาน คือ มีอุเบกขา และเอกัคคตา แต่มีข้อพิเศษคือสมาธิในอรูปฌานประณีตลึกซึ้งห่างไกลจากสิ่งรบกวนมากกว่ากันตามลำดับขั้น

ปุถุชนบำเพ็ญสมถะสำเร็จ สูงสุดได้เท่านี้ ส่วนพระอนาคามี และพระอรหันต์ มีกำลังสมาธิ และปัญญา รวมถึงจิตที่น้อมดิ่งไปสู่นิพพาน สามารถเข้าถึงภาวะที่ประณีตสูงสุดอีกขั้นหนึ่ง นับเป็นขั้นที่ ๙ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความสุขขั้นสูงสุด ถือเป็นภาวะที่ใกล้เคียงนิพพานมากที่สุด แต่ไม่ควรเข้าใจผิดว่าเมื่อเข้าสมาบัตินี้แล้วก็ตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตตผลต่อไปภายในสมาบัตินั้นเลย พึงเข้าใจว่าเป็นปัจจัยเกื้อกูล อบรมสมาธิไว้ให้พร้อมสำหรับการบรรลุอาสวักขยญาณในลำดับต่อไป

ความสำคัญของฌานสมาบัตินั้นพึงเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าเป็น วิขัมภนนิโรธ (ดับนิวรณ์ด้วยการข่มไว้ด้วยกำลังสมาธิ), ทิฏฐธรรมนิพพาน (นิพพานเห็นทันตา), สันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง) เป็นนิพพานโดยปริยาย (โดยอ้อม) กล่าวคือ เป็นการดับกิเลสเหมือนกัน แต่เป็นการดับกิเลสเพียงข่มไว้ได้เท่านั้น เมื่อออกจากฌาน กิเลสก็เกิดได้อีก จึงไม่ใช่นิพพานที่แท้จริง เพราะนิพพานที่แท้จริงนั้นดับกิเลสได้โดยเด็ดขาดแล้ว กิเลสไม่เกิดขึ้นได้อีก ส่วนนิโรธสมาบัติเป็นภาวะที่ถือว่าใกล้เคียงอนุปาทิเสสนิพพานมากที่สุดท่านจัดเป็นนิพพานโดยนิปริยาย (โดยตรง) แต่ก็เป็นของชั่วคราวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะของสมาธินั้นเป็นของชั่วคราว แต่ก็เป็นฐานของปัญญา และเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขอันเกิดจากความสงบ ซึ่งเอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าในทางปัญญาอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า นิพพานนี้เป็นสุข, ภิกษุถามท่านว่า นิพพานนี้ไม่มีเวทนาจะเป็นสุขได้อย่างไร ท่านกล่าวตอบว่า “นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข ดูก่อนอาวุโส กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูก่อนอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่า กามสุข

“ภิกษุเมื่อบรรลุปฐมฌานอยู่ สัญญาอันสหรคตด้วยกามฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุทุติยฌาน เพราะวิตกวิจารสงบไป เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ (ในฌานและอรูปฌานลำดับถัดๆไปก็แนวเดียวกันนี้ คือ สัญญาของฌานลำดับก่อนหน้าอาจฟุ้งขึ้นมาเบียดเบียนให้ภาวะอันสุขสงบปราณีตนั้นต้องพร่องไป เมื่อสัญญาดังกล่าวที่ฟุ้งขึ้นสงบไปก็เป็นสุข)

“ภิกษุเมื่อบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้” (นิพพานสูตร,)


อภิญญา
อรรถกถาได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งพอสรุปได้ความว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง ๘ แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ อย่างไรก็ตามโลกิยอภิญญา เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายเลย ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าส่วนมากจึงเป็นพระปัญญาวิมุต และอีกมากมายหลายท่านแม้เป็นอุภโตภาควิมุต ก็มิได้ทำอภิญญา ๕ เหล่านั้นให้เกิดขึ้น



๒.๕.๓ หมวดสมาธิ : สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะ เป็นเรื่องของความเพียร แยกเป็น ๔ ข้อ เรียกว่า 🔎ปธาน ๔ คือ
๑. เพียรระวัง อกุศลที่ยังไม่เกิด
๒. เพียรกำจัด อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรเจริญ กุศลที่ยังไม่เกิด
๔. เพียรรักษา กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
พูดสั้นๆคือ ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้นความเพียรเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียรแทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง

“ธรรมนี้ เป็นของสำหรับผู้ปรารภ (กล่าวถึง ริเริ่ม ตั้งต้น) ความเพียร มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน” (อนุรุทธสูตร)

การทำความเพียรก็ต้องมีความพอดี และมีความสมดุลกันของอินทรีย์อื่นๆ ดังพุทธพจน์ที่เปรียบเทียบความพอดีของความเพียรเหมือนสายพิณที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป “ … แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ … ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย” (โสณสูตร)

อรรถกถาขยายความว่าพระโสณะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตก ท่านจึงคุกเข่าเดินจงกรมจนทั้งเข่าทั้งฝ่ามือแตก ข้อนี้ผู้ศึกษาไม่ควรเข้าใจผิดว่าความเพียรอันแรงกล้านั้นเป็นสิ่งไม่ดี ความสุดโต่งไปทางการทรมานตน และความเพียรที่ไม่ถูกที่ถูกทางต่างหากที่ควรหลีกเลี่ยง พึงพิจารณาร่วมกับพุทธพจน์อื่นๆ

“บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” (อาฬวกสูตร)

“คนขยันทั้งคืนวัน เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค” (ภัทเทกรัตตสูตร)

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น” (สรภชาดก)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข” (เอกธัมมบาลี)

บางคนต้องให้ตนประสบทุกข์หนักก่อนจึงเกิดความสังเวชริเริ่มความเพียร คนเขลาแม้ตนจะประสบทุกข์หนักก็ไม่สังเวชไม่ริเริ่มความเพียร ส่วนบัณฑิตริเริ่มความเพียรอยู่เสมอ เดินหน้าไปสู่ฝั่งอันเกษม


สัมมาสติ  การระลึกได้, การกำหนดจับอารมณ์, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ ความหมายของ สติ มีความใกล้ชิดกับความไม่ประมาท (อัปปมาท) ซึ่งท่านถือว่าเป็นยอดของธรรม เพราะธรรมทั้งหมดประชุมลงในความไม่ประมาทได้ ผู้ไม่ประมาท พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค ดังปัจฉิมวาจา

“สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” (มหาปรินิพพานสูตร)

สติ เกิดร่วมกับ ปัญญา จึงจะมีกำลัง ขาดปัญญา ย่อมอ่อนกำลัง

สัมมาสมาธิ  ความตั้งมั่นของจิต, ภาวะที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) กล่าวคือ เพื่อเป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา สนับสนุนให้ปัญญาเจริญ จนบรรลุจุดหมายนั่นเอง

พึงเข้าใจว่า หลักการที่ท่านแสดงไว้ ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ อันเป็นสมาธิในระดับตั้งแต่ขณิกสมาธิ ไปถึงอุปจารสมาธิ แต่สมาธิระดับที่สูงขึ้นย่อมเป็นฐานให้ปัญญาเจริญได้ดีขึ้นไปตามลำดับ

สมาธิ มีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่ง มิใช่ลืมตัว หมดความรู้สึก หรือถูกกลืนรวมหายไปในอะไรๆ แต่มีสติสัมปชัญญะเจริญขึ้นตามลำดับขั้นของสมาธิ



๒.๕.๒ หมวดศีล : สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ

มรรคในหมวดศีล มี ๓ ข้อดังนี้

สัมมาวาจา  เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ

หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ หมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน ความชั่วที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในขั้นต้น มี ๓ อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม, การครอบครองทรัพย์ไว้โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์, การใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นโทษ ในขั้นสูง เน้นที่ ความรู้เท่าทันเข้าใจขอบเขตแห่งคุณค่า และโทษของทรัพย์ มีจิตใจเป็นอิสระเป็นนาย ไม่เป็นทาสของทรัพย์ ใช้ทรัพย์เพื่อทำประโยชน์และความสุข มิใช่กลายเป็นเหตุเพิ่มทุกข์ เป็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตปัญญายิ่งๆขึ้นไปจนถึงขั้น นิสสรณปัญญา

สาระของศีล
ศีล คือเจตนาอันคิดจะระวังรักษาความประพฤติกายวาจาให้เรียบร้อยดีงามปราศจากโทษ ศีลเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม มีความปกติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันในสังคม รวมถึงแสดงสิ่งที่พึงปฏิบัติในสังคมด้วย ดังที่ท่านจัดธรรมหมวด*สังคหวัตถุอยู่ในหมวดศีล (สังคหวัตถุ ๔ อย่าง ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว) ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง เป็นธัมมานุธรรมปฏิบัติ

คุณค่าของศีล
แยกออกได้เป็น ๒ ด้าน คือ เพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง และเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยเฉพาะในวินัยของสงฆ์ ท่านเน้นความสำนึกในประโยชน์ของผู้อื่นไว้หนักแน่น เพราะวิถีชีวิตของสงฆ์สมควรเป็นไปเพื่อปสาทะ คือ ความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว (การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีล จึงมิใช่เพื่อมุ่งประโยชน์ที่พึงมีแก่ตนจากความเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดพลาดอย่างเต็มที่ แต่ต้องมุ่งเพื่อ การขัดเกลาตน และประโยชน์สุขของสงฆ์ในส่วนรวมและชาวบ้านที่ได้มาเลื่อมใสนั้น)

วัตถุประสงค์ในภาพรวมในขั้นศีล
เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิ ให้พร้อมและสามารถใช้กำลังงานของจิต ให้เป็นบาทฐานของปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระ, เจตนาที่จะงดเว้น หรือการไม่มีความดำริในการที่จะทำความชั่วใดอยู่ในใจ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดวุ่นวายขุ่นมัวหรือกังวลใดๆ มารบกวน จิตใจจึงสงบ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย (ส่วนการไปสวรรค์ พ้นจากอบายภูมิ เป็นต้น เป็นผลพลอยได้ในระหว่าง ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย)

ธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเรียกเป็นมรรค เป็นโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสัมมัปปธานก็ตาม คนตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงจะปฏิบัติได้ผล เปรียบเหมือนคนจะทำงานที่ใช้กำลัง ก็ต้องอาศัยพื้นแผ่นดินเป็นฐาน พ้นจากศีลขึ้นไป แรงหนุนสำคัญในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นตัวเด่น ที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำบ่อยมาก ก็คือ ความไม่ประมาท ความมีกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ

การปฏิบัติ การพัฒนา การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อจับหลักนี้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น ตัวศีลจริงๆแท้ๆ มีเท่านี้ ต่อจากนี้ ก็แบ่งซอยย่อยต่อออกไป เช่น เมื่อจะจัดการฝึกการศึกษาแก่คนพวกไหน กลุ่มใด ความเป็นอยู่อย่างไร ความมุ่งหมายใด เน้นหนักด้านใด ก็แยกย่อยรายละเอียดออกไป เป็น ศีลพระ ศีลสามเณร ศีลชาวบ้าน เป็นต้น

ศีล เป็นสภาพปกติทางกาย วาจา และอาชีวะ ของผู้ที่มีชีวิตดีงามบรรลุภูมิธรรมอันสูงแล้ว สำหรับในคนทั่วไป ศีลขั้นพื้นฐาน ในมรรค ๘ นี้ สาระเดียวกับ ศีล ๕ โดยถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติของมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้อยู่ในภาวะที่เกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาที่สูงขึ้นไป

ศีล ๕ โดยสาระมีดังนี้
๑. งดเว้นจากการเบียดเบียนประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
๒. งดเว้นจากการลักขโมย แย่งชิง ล่วงละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ บริโภคกามแต่ในทางที่ปราศจากโทษ
๔. งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา
๕. งดเว้นจากสุรา ยาเสพติด อันเป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ศีล ให้ดูที่เจตนา ดังแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก พระสงฆ์ทำผิดสิกขาบทโดยไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นอาบัติ, ส่วนคฤหัสถ์ ศีล ๕ ดูที่เจตนาไม่เบียดเบียน อย่างไรก็ตาม เจตนานั้นเป็นของละเอียดไม่ควรตัดสินอย่างง่ายๆเกินไป เช่น ขับรถชนคนตาย ถ้าขับเร็วด้วยความคึกคะนอง หรือดื่มสุรา แม้ไม่เจตนาขับรถชนผู้อื่น แต่ย่อมถือว่ามีเจตนาประมาทชัดเจน เรื่องของศีลถ้าจะให้ดี ท่านจึงว่าควรถือข้างเคร่งไว้ก่อน ขอยกเนื้อหาที่น่าสนใจจากปาฐกถาธรรม จัดโดยชุมนุมพุทธธรรมศิริราช วันที่ ๒๕ ก.พ. ๓๖ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ตอบคำถามที่บุคคลากรทางการแพทย์ถามเกี่ยวกับศีลข้อปาณาติบาต ความโดยย่อดังนี้

การรับประทานยาถ่ายพยาธิเพื่อรักษาโรค ต้องตั้งเจตนาให้ถูกต้อง คือใช้ยาด้วยเจตนาจะรักษาโรค รักษาร่างกาย ไม่ใช่มีเจตนามุ่งร้ายจะทำลายจะฆ่าชีวิตผู้อื่น ก็ไม่เป็นปาณาติบาต ไม่ผิดศีล

ส่วนการทำแท้ง ในกรณีที่มีเหตุผลบางอย่างเช่น การทำแท้งในวัยนักศึกษาซึ่งไม่พร้อมจะมีบุตร หรือเด็กมีความพิการรุนแรง กรณีเช่นนี้เป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง ทำแท้งก็เป็นการฆ่าเด็ก เป็นปาณาติบาต ไม่ทำแท้งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เมื่อเป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง จะทำได้ก็แค่พิจารณาว่าทางเลือกไหน มีคุณหรือโทษมากกว่ากัน โดยใช้หลักในการพิจารณาคือ ตัดสินใจด้วยเจตนาที่ดีที่สุด โดยใช้ปัญญาให้มากที่สุด เมื่อทำด้วยความรับผิดชอบ ไม่ประมาท ไม่ทำไปแบบเอาง่ายๆ ลากเข้าหาตัว สะดวกตัวเข้าว่า ก็พูดได้ว่าบาปน้อยกว่าการฆ่าด้วยเจตนาที่เป็นโทสะเต็มที่ แต่เมื่อทำบาปแล้ว ก็ยอมรับกับตนเองว่าบาป ไม่หลอกตัวเอง ส่วนนี้เป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาต่อไป

ศีล ๕ เป็น มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ (ปุญญาภิสันทสูตร)

ในกรณีของชาวบ้าน การถือศีล ๕ สาระมีเพียงอยู่ในขั้นไม่กระทำชั่ว ยังไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาก้าวไปในวิถีของพระพุทธศาสนา ธรรมชุดที่ถือว่าครบถ้วนสำหรับชาวบ้าน คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ (มนุษยธรรม) หรือ อารยวัฒิ ๕ ซึ่งมีเรื่องการพัฒนา สมาธิ และปัญญาด้วย จึงครบองค์มรรค

ศีลนั้นคลุมไปถึงทานด้วย ซึ่งทานนั้นแม้เป็นในแง่ของการช่วยเหลือผู้อื่น แต่การช่วยผู้อื่นนั้น ก็คือการที่ตัวเองได้ปฏิบัติธรรมและพัฒนาฝึกฝนตนเองไปมากมายเช่นเดียวกัน การบำเพ็ญทาน เป็นจิตตาลังการ คือเป็นอลังการของจิต หมายความว่า ส่งผลทางจิตใจมาช่วยประกอบประดับปรับแต่งจิตให้นุ่มนวล อ่อนโยน โน้มน้อมไปในกุศล เสริมเพิ่มกำลังให้แก่จิต โปร่ง เบา ผ่อนคลาย เอื้อต่อการพัฒนาสูงขึ้นไป เพราะอย่างนี้ แม้จะเป็นอริยสาวก ก็นิยมบำเพ็ญทาน

พุทธพจน์เกี่ยวกับทาน
“ดูกรอานนท์ บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า (น่าจะหมายถึงอย่างมากไม่เกินร้อยเท่า คือ ถ้าเหตุปัจจัยครบถ้วนสมบูรณ์ก็ได้ผลร้อยเท่า), ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า, ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า, ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (พวกฤๅษีที่ได้ฌานสมาบัติ) พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้, จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน และท่านผู้ที่คุณธรรมสูงยิ่งกว่านั้น” (ทักขิณาวิภังคสูตร)

เรื่องตัวเลขในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ๕๐๐ ๑,๐๐๐ ๘๔,๐๐๐ แสนโกฏิ เป็นต้นนั้น ในสมัยพุทธกาลบ่อยครั้งใช้ในลักษณะเป็นสำนวน หมายความว่ามีจำนวนมาก เข้าใจว่าบางครั้งก็ไม่ได้ใช้สื่อถึงจำนวนดังกล่าวตรงๆเสมอไป

“ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง, ผู้ให้ผ้านุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ, ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสะดวก, ผู้ให้ดวงประทีป ชื่อว่าให้ดวงตา, ผู้ใดให้ที่พำนักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทั้งหมด, ผู้ใดสั่งสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย” (กินททสูตร)

“การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรมะ ย่อมชนะรสทั้งปวง” (ตัณหาวรรค)

“ภิกษุทั้งหลาย การให้ธรรม เป็นยอดแห่งทาน” (พลสูตร)

“ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู (ภิกษุทุศีล) มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานแก่สงฆ์ได้เฉพาะในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น (สังฆทาน) ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่ให้เจาะจงไปที่ตัวบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย” (ทักขิณาวิภังคสูตร)

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระนางปชาบดีโคตมีถวายผ้าที่นางทอเองนั้นแก่สงฆ์ โดยตรัสว่าเมื่อถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันได้บูชาทั้งพระพุทธเจ้าและสงฆ์ รวมความว่า คฤหัสถ์เมื่อจะอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ พึงคำนึงถึงประโยชน์ที่สถาบันสงฆ์ในภาพรวมจะได้รับ แม้ในกรณีที่เป็นปาฏิปุคคลิก เมื่อจะเลือกเกี่ยวข้องหรือบำรุงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พึงทำด้วยประสงค์ที่จะให้สงฆ์ดำรงอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากตลอดกาลยาวนาน ดังข้อความในพระไตรปิฏก “ให้ด้วยพิจารณา พระศาสดาทรงสรรเสริญ” (สาธุสูตร)



วิกิ

ผลการค้นหา