แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๔ ปฐวีกสิณนิเทศ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๔ ปฐวีกสิณนิเทศ แสดงบทความทั้งหมด

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

ก็แหละ เมื่อได้บรรลุตติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลพึงสั่งสม 🔎วสี ด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วนั่นแล ครั้นออกจากตติยฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในตติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อปีติอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้ยังมีองค์อันทุรพล เพราะสุขเป็นสภาพที่หยาบดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า "องค์อันใดแล ที่ทำใจให้พะวงว่าเป็นสุขในตติยฌานนั้น ด้วยองค์นั้น ตติยฌานนี้จึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบ" ฉะนี้แล้วพึ่งมนสิการถึงจตุตถฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในตติยฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุจตุตถฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากตติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น สุขคือโสมนัสอันเกิดขึ้นทางใจจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ อุเปกขาเวทนากับจิตเตกัคคตาจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ที่หยาบและเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้นมโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิตเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า จตุตถฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้นไป ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแล ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลหรือมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงหนึ่งที่สุดท้ายเข้าเป็น🔎 รูปาวจรกุสลจิตขั้นจตุตถฌาน ดวงที่เหลือนอกนั้นเป็น กามาวจรกุสลจิต มีประการดังกล่าวแล้วใน🔎ปฐมฌานนั่นเทียว ส่วนที่พิเศษกว่ากันนั้น ดังนี้ คือ เพราะเหตุที่สุขเวทนาเป็นปัจจัยโดยอาเสวนาปัจจัยแก่อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ และอทุกขมสุขเวทนาจะต้องเกิดขึ้นในจตุตถฌานฉะนั้น ชวนจิตเหล่านั้นจึงย่อมประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา และแม้ปีติก็เป็นอันสร่างหายไปในจตุตถฌานนี้ด้วย เพราะเหตุที่จตุตถฌานประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั่นแล แหละด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่เบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ จตุตถฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะละสุขและทุกข์เป็นต้น
ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะละสุขและละทุกข์ ความว่า เพราะละกายิกสุขคือสุขทางกายและกากทุกข์คือทุกข์ทางกาย คำว่า แต่เบื้องต้น ความว่าการละนั้นแล ได้ละมาแต่เบื้องต้นแล้ว ไม่ใช่ละในขณะแห่งจตุตถฌาน คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไป ความว่า เพราะความดับหายไปแต่เบื้องต้นแห่งเวทนา แม้ทั้ง ๒ นี้ คือ สุขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ ทุกขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ อธิบายว่า เพราะละเวทนาทั้ง ๒ เสียได้แต่ในเบื้องต้นนั่นเอง

ถาม - ก็แหละ การละเวทนาเหล่านั้น ละในขณะไหน ?
ตอบ - ละในขณะแห่งอุปจาระของฌานทั้ง ๔ อธิบายว่า โสมนัสเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของจตุตถฌาน ทุกขเวทนา โทมนัสเวทนาและสุขเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของปฐมฌาน ทุติยฌานและตติยฌาน ตามลำดับ

นักศึกษาพึงทราบอย่างนี้ การละซึ่งสุข ทุกข์ โสมนัส และโทมนัสเวทนาทั้งหลายแม้ในจตุตถฌานนี้ซึ่งแม้จะมิได้ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการละซึ่งเวทนาเหล่านั้น แต่ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการแสดงซึ่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์นั่นเทียว

ถาม - ก็แหละ ถ้าองค์ธรรมเหล่านี้ ย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานนั้น ๆ จริงแล้ว ก็เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงแสดงความดับแห่งองค์เหล่านั้นไว้ตรงที่ฌานทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างนี้ว่า ก็ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ย่อมบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ปฐมฌานนี้และโทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมบรรลุซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา และโสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่จตุตถฌานนี้
ตอบ - การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับแห่งองค์ธรรมทั้งหลายไว้ตรงที่ฌานโดยเฉพาะเช่นนั้น เพราะทรงประสงค์เอาความดับอย่างสนิท อธิบายว่า ในขณะแห่งฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับอย่างสนิทขององค์ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ความดับอย่างสามัญ ส่วนในขณะแห่งอุปจาระเป็นความดับอย่างสามัญ ไม่ใช่ความดับอย่างสนิท (ในที่นี้ ท่านแสดงเวทนาไว้โดยแสดงลำดับตามลำดับแห่งอินทรีย์ มิได้แสดงตามลำดับแห่งการละ ลำดับแห่งการละนั้น คือ ละทุกข์, โทมนัส, สุข, และโสมนัส ส่วนลำดับแห่งอินทรีย์นั้น คือ สุขินทรีย์, ทุกอินทรีย์, โสมนัสสินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย์)

🔅 ละทุกข์ได้สนิทที่ปฐมฌาน
เป็นความจริงอย่างนั้น แม้ทุกข์ที่ดับไปในขณะอุปจาระแห่งปฐมฌาน ซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ด้วยถูกเหลือบและยุงกัด หรือด้วยการปวดเมื่อยเพราะนั่งไม่เรียบ แต่ภายในอัปปนาฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เล อีกประการหนึ่ง แม้ทุกข์ที่ดับไปแล้วในขณะอุปจารฌานนี้ ชื่อว่า ยังดับไม่สนิทดีเพราะยังไม่ได้ถูกปฏิปักขธรรมทำลาย ส่วนภายในอัปปนาฌานนั้นทั่วสรรพางค์กายอันสุขชโลมแล้วเพราะปีติแผ่ซ่านไป และบุคคลผู้มีกายอันสุขชโลมแล้วนั้นย่อมมีความทุกข์ดับไปอย่างสนิท เพราะถูกปฏิปักขธรรมทำลายแล้ว

🔅 ละโทมนัสได้สนิทที่ทุติยฌาน
อนึ่ง แม้โทมนัสที่ละได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายเช่นกันนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเมื่อมีความลำบากกาย และมีความเหนื่อยใจ อันมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย โทมนัสนี้ก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีวิตกและวิจารเป็นปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นไม่เลย ส่วนในฌานใดที่โทมนัสเกิดขึ้นได้อยู่ ในฌานนั้นยังมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย และวิตกและวิจารนั้นก็ยังละไม่ได้ที่เดียวในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌาน ดังนั้น โทมนัสนั้นจึงยังบังเกิดขึ้นได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานนั้น แต่ในขณะทุติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะละปัจจัยคือวิตกและวิจารเสียแล้ว

🔅 ละสุขได้สนิทที่ตติยฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้สุขที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งตติยฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แก่ฌานลาภิบุคคล ผู้มีกายอันรูปประณีตซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไป แต่ในขณะตติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะในขณะตติยฌานนั้นปีติอันเป็นปัจจัยแก่สุขได้ดับไปแล้วโดยสิ้นเชิง

🔅 ละโสมนัสได้สนิทที่จตุตถฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้โสมนัสที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งจตุตถฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้อย่างหนึ่ง เพราะยังไม่บรรลุถึง อัปปนาฌานอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่มีอุเบกขาอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่ผ่านไปโดยชอบอย่างหนึ่งแต่ในขณะจตุตถฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด

แหละเพราะเหตุดังพรรณนามานี้นั่นแหละ ศัพท์ว่า อปริเสสํ ที่แปลว่า ไม่มีเหลือ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ในฌานนั้น ๆ ว่า เอตถุปฺปนนํ ทุกขินฺทริยํ อปริเสสํ นิรุชฺณติ ความว่า ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ฌานนั้น ฉะนี้

🔅 เหตุที่ทรงแสดงเวทนา ๔ ในจตุตถฌาน
หากจะมีผู้กล่าวติงในอธิการว่า ก็แหละ แม้เวทนาเหล่านี้เป็นอันละได้แล้วในอุปจาระแห่งฌานนั้น ๆ อย่างนี้ เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงยกมาไว้ในจตุตถฌานนี่อีกเล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า การที่พระพุทธองค์ทรงยกเวทนาเหล่านี้มาแสดงในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะให้ถือเอาใจความได้ง่าย อธิบายว่า อทุกขมสุขเวทนานี้ใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ว่า อทุกขมสุขํม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ อทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นสภาพละเอียดเข้าใจได้ยาก ใคร ๆ ก็ไม่อาจที่จะถือเอาความหมายได้โดยสะดวก เพราะเหตุนั้น เพื่อให้ถือเอาความหมายได้โดยสะดวก พระผู้มีพระภาคได้ทรงสงเคราะห์เอาเวทนาทั้งหมดมาไว้ในจตุตถฌาน นี้แหละ ครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านี้รวมไว้อย่างนี้แล้ว ย่อมทรงสามารถที่จะให้ใคร ๆ จับเอาอทุกขมสุขเวทนานี้ได้ว่า ธรรมชาติใดที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่โสมนัสไม่ใช่โทมนัส ธรรมชาตินี้คือ อทุกขมสุขเวทนา ดังนี้ เช่นเดียวกับโคดุร้ายที่ใคร ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไปคล้องเอามันได้ด้วยวิธีใด ๆ เพื่อที่จะให้คล้องเอาได้โดยสะดวก เจ้าของโคจึงต้อนโคทั้งหมดเข้ามาไว้ในคอกเดียวกัน ทีนั้นจึงไล่ให้ออกไปทีละตัวแล้วสั่งให้คล้องเอาโคตัวนั้นซึ่งออกมาตามลำดับว่า นี้แหละโคตัวนั้น ช่วยคล้องให้ที ฉะนี้

🔅 เวทนา ๔ เป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ
อีกอย่างหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่า แม้เวทนา ๔ เหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อจะทรงชี้ถึงปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ จริงอยู่ปฐมฌานอันเป็นเครื่องละซึ่งทุกข์เป็นต้น จัดเป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุตินั้น สมดังที่พระธัมมทินนาเถรี แสดงไว้ว่า อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคืออทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่างแล อาวุโส ภิกษุในศาสนานี้ บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้นแล อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคือ อทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่าง เหล่านี้แล

🔅 จตุตถฌานเหมือนตติยมรรค
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบแม้อย่างนี้ว่า สังโยชน์ ๑๐ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ถึงจะละได้มาแล้วแต่ในมรรคอื่น ๆ แต่ก็ทรงแสดงไว้ว่าละได้ในตติยมรรค (อนาคามิมรรค) นั้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะสรรเสริญคุณแห่งตติยมรรค ฉันใด เวทนา ๔ เหล่านี้ ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะทรงสรรเสริญคุณแห่งฌานนี้ ฉันนั้น

🔅 ราคะโทสะอยู่ไกลจตุตถฌานมาก
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบดังนี้ว่า เวทนา ๔ เหล่านี้ที่ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงราคะและโทสะเป็นสภาพที่อยู่ห่างไกลมาก เพราะได้ทำลายสิ่งที่เป็นปัจจัยมาแล้ว จริงทีเดียว ในบรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่ราคะ ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทมนัสเวทนา โทมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทสะ และราคะโทสะพร้อมทั้งปัจจัย ชื่อว่าอันจตุตถฌานนี้กำจัดไปแล้วด้วยเหตุที่ได้ทำลายสุขเวทนาเป็นต้นมาแล้ว ดังนั้นราคะและโทสะจึงชื่อว่า มีอยู่ในที่ห่างไกลมาก ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
คำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น มีอรรถาธิบายว่า ที่ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะเหตุที่ทุกข์ไม่มี ที่ชื่อว่า ไม่มีสุข เพราะเหตุที่สุขไม่มี ด้วยคำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนี้ ท่านแสดงถึงเวทนาที่ ๓ (คืออุเปกขาเวทนา) อันเป็นปฏิปักษ์แก่ทุกขเวทนาและสุขเวทนาในจตุตถฌานนี้ ไม่ใช่แต่เพียงแสดงความไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเท่านั้น และ อทุกขมสุขเวทนาชื่อว่าเวทนาที่ ๓ เรียกว่าอุเปกขาเวทนาก็ได้ นักศึกษาพึงทราบว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น มีอันเสวยอารมณ์ที่ผิดจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลาง ๆ เป็นรส มีความปรากฏชัดเป็นอาการปรากฏ มีความดับไปแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นปทัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
คำว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นั้นหมายความว่า ความบริสุทธิ์แห่งสติอันอุเบกขาให้เกิดแล้ว อธิบายว่า สติในฌานนี้เป็นสภาพบริสุทธิ์มาก และความบริสุทธิ์ใดแห่งสตินั้นความบริสุทธิ์นั้นอันอุเบกขาปรุงแต่งให้มิใช่สิ่งอื่นปรุงแต่งให้เพราะฉะนั้น ฌานนี้พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า สตินี้เป็นสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์และผุดผ่องเพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

🔅 อุเบกขาคือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ก็แหละ ความบริสุทธิ์แห่งสติในจตุตถฌานนี้ ย่อมสำเร็จเพราะอุเบกขาอันใด อุเบกขานั้น นักศึกษาพึงทราบว่า โดยใจความก็ได้แก่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก และไม่ใช่แต่สติเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น แม้สัมปยุตธรรมทั้งสิ้นก็เป็นสภาพบริสุทธิ์โดยแท้แล แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้ด้วย ทรงยกสติเป็นประธาน

🔅 อุเบกขาเวทนาเหมือนราตรี
ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเหมือนดวงจันทร์ แม้ว่า ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ จะมีอยู่ในฌานทั้ง ๒ ข้างต้นนั้นก็ตาม แต่ก็เปรียบเหมือนดวงจันทร์ในเวลากลางวัน จะมีอยู่ก็ไม่สว่างไม่ขาวนวล ทั้งนี้ เพราะแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีอันมีส่วนเข้ากันได้ โดยเป็นที่ส่องแสงหรือโดยเป็นอุปการะแก่ตน ฉันใด แม้ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีอยู่ในประเภทแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ทั้งนี้ เพราะเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรี คืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ อนึ่ง เมื่อตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นยังไม่บริสุทธิ์ แม้สหชาตธรรมทั้งหลาย (ธรรมที่เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน) เช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนแสงจันทร์ที่ไม่ขาวนวลในเวลากลางวัน เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ในบรรดาฌานทั้ง ๓ นั้น แม้เพียงฌานเดียว พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงแสดงว่ามีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ส่วนในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะไม่มีเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกัน และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ และเพราะเหตุที่ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพบริสุทธิ์แล้วนั้น แม้สหชาตธรรมทั้งหลายเช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เช่นเดียวกับแสงจันทร์อันสว่างขาวนวล ฉะนั้น เพราะเหตุดังพรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบว่า จตุตถฌานนี้เท่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฉะนี้

 อธิบาย จตุตถฌาน

ที่แปลว่าที่ ๔ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานที่เรียกว่าที่ ๔เพราะเป็นลำดับของการคำนวณ หรือฌานนี้ที่จัดเป็นที่ ๔ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ ๔ ดังนี้ก็ได้

🔅 จตุตถฌานละองค์ ๑
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ใน ๒ ข้อนั้น ข้อว่า จตุตถฌานละองค์ ๑ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจที่ละซึ่งโสมนัสเวทนา และโสมนัสเวทนานั้นละมาได้แต่ในชวนจิตดวงต้น ๆ ในวิถีเดียวกันนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น โสมนัสเวทนานั้น จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของจตุตถฌานนี้

🔅 จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อที่ว่า จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบ ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ อุเบกขาเวทนา ๑ จิตเตกัคคตา ๑ คำที่เหลือมีนัยดังที่แสดงมาแล้วในปฐมฌานนั่นแล ตามที่พรรณนามานี้เป็นแนวในฌาน ๔ ประเภท ที่บังเกิดด้วยอำนาจแห่งฌานที่เป็นจตุกกนัย เป็นประเภทแรก

🔅 อธิบาย ฌานปัญจกนัย
ส่วนโยคืบุคคลผู้จะเจริญฌานปัญจกนัยให้บังเกิดขึ้นนั้นออกจากปฐมฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิตกเป็นสภาพที่หยาบฉะนี้แล้ว จึงมนสิการถึงทุติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้ว จึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป

🔅 บรรลุทุติยฌาน
ก็แหละ กาลใด เมื่อโยคืบุคคลออกจากปฐมฌานแล้วมีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิตกอย่างเดียวก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ องค์ฌานอื่น ๆ มีวิจารเป็นต้น คงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน ดังนี้ เพื่อจะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ละเอียดอยู่นั้น ทุติยฌานก็จะบังเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของทุติยฌานนั้นมีวิตกอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๔ มีวิจารเป็นต้น คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั้นเที่ยว

🔅 บรรลุตติยฌาน
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นอย่างนี้แล้ว โยคีบุคคลนั้นถึงทำให้วสีสามารถดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่างโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วแล้วพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อวิตกอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ครั้นแล้ว มนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุตติยฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิจารก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบขึ้น องค์ฌานอื่น ๆ มีปีติเป็นต้นคงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดอยู่ กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน ฉะนี้ เพื่อที่จะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น ตติยฌานก็จะเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของตติยฌานนั้นมีแต่วิจารอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๒ มีปีติเป็นต้น เหมือนกับในทุติยฌานโดยจตุกกนัย คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั่นเที่ยว

สรุปฌานปัญจกนัย
ด้วยประการฉะนี้ ทุติยฌานใดในฌานจตุกกนัยนั้น ในฌานปัญจกนัยนี้ทุติยฌานนั้นแยกออกเป็น ๒ ฌาน คือ เป็นทุติยฌานและตติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน ในฌานจตุกกนัยนั้นแยกเป็นจตุตถฌานและปัญจมฌานในฌานปัญจกนัยนี้ ส่วนปฐมฌานคงเป็นปฐมฌานตามเดิม ฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๔ ชื่อว่า ปฐวีกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้น เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้

อุเบกขา ๑๐ ประการ

อุเบกขา ๑๐ ประการ

ก็แหละ อุเบกขานั้นมี ๑๐ ประการ คือ
๑. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖
๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาพรหมวิหาร
๓. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์
๔. วีริยุเปกขา อุเบกขาคือวีริยะ
๕. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
๖. เวทนุเปกขา อุเบกขาเวทนา
๗. วิปัสสนุเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
๘. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาเจตสิก
๙. ฌานุเปกขา อุเบกขาในฌาน
๑๐. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก 

🔅 ๑. อธิบาย ฉฬังคุเปกขา
ในอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขาของพระขีณาสพอันใด คืออาการที่ไม่ละปกติ ภาวะอันบริสุทธิ์ ในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ดีใจ ย่อมไม่เสียใจ เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฉฬังคุเปกขา

🔅 ๒. อธิบาย พรหมวิหารุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปทางทิศหนึ่งอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเปกขา

🔅 ๓. อธิบาย โพชฌงคุเปกขา
อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสหชาตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมยังอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยนิพพานให้เกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า โพชฌงคุเปกขา

🔅 ๔. อธิบาย วิริยุเปกขา
อุเบกขาอันใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และที่ไม่หย่อนยานเกินไป ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้โยคืบุคคล ย่อมมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาลโดยกาล อุเบกขานี้ชื่อว่า วิริยุเปกขา

🔅 ๕. อธิบาย สังขารุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่พิจารณาข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้นโดยสภาวะแล้วจึงลงความเห็นซึ่งมีอาการเป็นกลาง ๆ ในการยึดถือสังขาร อันมาแล้วอย่างนี้ว่า สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมถะมีเท่าไร ? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอำนาจมีวิปัสสนามีเท่าไร ? สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะมี ๘ สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนามี ๑๐ อุเบกขานี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา

🔅 ๖. อธิบาย เวทนุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข (คือเฉย ๆ) ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยใดกามาวจรกุสลจิตอันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนุเปกขา

🔅 ๗. อธิบาย วิปัสสนุเบกขา
อุเบกขาอันใด คือความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณา ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่าขันธ์ ๕ ใดมีอยู่ ขันธ์ ๕ ใดปรากฏชัด โยคีบุคคลย่อมละขันธ์ ๕ นั้น ย่อมได้อุเบกขาในขันธ์ ๕ นั้น อุเบกขานี่ชื่อว่า วิปัสสนุเปกขา

🔅 ๘. อธิบาย ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปเสมอกัน ซึ่งมาแล้วในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา

🔅 ๙. อธิบาย ฌานุเปกขา
อุเบกขาอันใด ที่ไม่ให้เกิดความเอนเอียงไปในฝ่าย แม้ในฝ่ายสุขอันเลิศนั้นก็ตาม ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า และเป็นผู้มีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฌานุเปกขา

🔅 ๑๐. อธิบาย ปาริสุทธุเปกขา
แหละอุเบกขาอันใดที่บริสุทธิ์จากข้าศึกทั้งปวงมีนิวรณ์และวิตกวิจารเป็นต้น มีอันไม่ขวนขวายแม้ในการสงบแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกเหล่านั้นสงบไปแล้ว ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า จตุตถฌาน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธุเปกขา


อุเบกขา ๖ ความหมายเหมือนกัน

ในบรรดา อุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขา ๖ ประการเหล่านี้คือ ฉฬังคุเปกขา ๑ พรหมวิหารุเปกขา ๑ โพชฌงคุเปกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ๑ ฌานุเบกขา ๑ และปาริสุทธุเปกขา ๑ โดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็น ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั่นเอง แต่ความต่างกันแห่งอุเบกขานั้นนี้ ย่อมมีด้วยความต่างแห่งอวัตถานนั้น ๆ เช่นเดียวกับความต่างกันแม้แห่งบุคคลคนเดียว ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสนาบดีและเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น เพราะเหตุนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า ในบรรดาอุเบกขา ๖ ประการนั้น ฉฬังคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีโพชฌงคุเปกขาเป็นต้น แหละหรือโพชฌงคุเปกขามี ณ ที่ใด ณ ที่นั้นย่อมไม่มีฉฬังคุเปกขาเป็นต้น (คำว่า ตัตรมัชฌัตตตา เป็นชื่อของเจตสิกดวงหนึ่งในโสภณเจตสิก ๒๕ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั้น มีหน้าที่ทำจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันให้เป็นไปสม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ยิ่งและหย่อนจึงจัดเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขา)

อุเบกขา ๒ ความหมายเหมือนกัน

แหละอุเบกขา ๖ ประการนี้ โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ฉันใด แม้สังขารุเปกขากับวิปัสสนุเปกขา โดยความหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน ฉันนั้น จริงอยู่ อุเบกขานั้น ก็คือปัญญานั่นเอง ที่แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยอำนาจทำหน้าที่ต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาไม้เท้าแพะแล้วค้นหางู ซึ่งเลื้อยเข้าไปในเรือนในเวลาเย็น ๆ ไปพบงูนั้นนอนซ่อนอยู่ในลังแกลบ ใคร่ครวญอยู่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่หนอ ครั้นเห็นลายดอกจัน ๓ แฉกแล้วก็หมดสงสัย แต่นั้นย่อมเกิดความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณาที่ว่าจะเป็นงูหรือมิใช่งูนั้น ฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่นั้นเห็นลักษณะทั้งสามของสังขารด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว ความเป็นเฉย ๆ ในการพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น ความเป็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขาแหละเมื่อบุรุษนั้น ใช้ไม้เท้าแพะกดไว้อย่างแน่นแล้ว ค้นคิดหาวิธีการที่จะปล่อยงูอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เบียดเบียนงูนี้ให้ลำบากด้วย ไม่ให้มันกัดเราด้วยแล้วปล่อยมันไปฉะนี้ ความเฉย ๆ ในการกดไว้นั้น ย่อมมีฉันใด เมื่อโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นภพทั้งสามเป็นเหมือนถูกไฟเผา เพราะได้เห็นลักษณะทั้งสามของสังขาร ย่อมเกิดความเห็นเฉย ๆ ในการยึดถือสังขาร ฉันนั้นเหมือนกัน ความเห็นเฉย ๆ นี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา

ด้วยประการฉะนี้ เมื่อ วิปัสสนุเปกขา สำเร็จแล้ว แม้ สังขารุเปกขา ก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วเหมือนกัน และอุเบกขานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการ ด้วยการทำ หน้าที่คือความเฉย ๆ ในการพิจารณาและการยึดถือ ดังพรรณนามานี้

อุเบกขา ๒ ความหมายต่างกัน
ส่วน วีริยุเปกขา กับ เวทนุเปกขา ๒ อย่างนี้ โดยความหมาย ต่างกันเองด้วย ต่างจากอุเบกขาทั้งหลายที่เหลือด้วย

อุเบกขาที่ประสงค์ ณ ที่นี้
บรรดาอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น ณ ที่นี้ประสงค์เอา ฌานุเปกขา เท่านั้น ฌานุเบกขานั้น มีความเป็นกลาง ๆ เป็นลักษณะ มีความไม่ห่วงใยเป็นรส มีความไม่ขวนขวายเป็นอาการปรากฏ มีความสร่างหายไปแห่งปีติเป็นปทัฏฐาน หากจะมีผู้ท้วงติงว่า - ก็แหละ ฌานุเปกขา นี้ โดยความหมาย ก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา นั่นเอง และตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นย่อมมีมาแม้แต่ในปฐมฌานและทุติยฌานแล้ว เพราะเหตุนั้น แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น ก็ควรที่จะต้องแสดงฌานุเบกขานี้ไว้ด้วยคำว่า อุเปกขโก จ วิหรติ ซึ่งแปลว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ แต่เหตุไฉน จึงไม่ทรงแสดง ณานุเปกขา นั้นไว้เล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า - ที่ท่านไม่แสดง ฌานุเปกขา ไว้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น เพราะฌานุเปกขายังไม่มีหน้าที่ปรากฏ จริงอยู่ หน้าที่ของฌานุเบกขาในปฐมฌานและทุติยฌานนั้นยังไม่ปรากฏชัด เพราะถูกข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น กันท่าไว้ แต่ในตติยฌานนี้ ฌานุเปกขานี้เกิดมีหน้าที่ปรากฏชัด เป็นเสมือนโงศีรษะขึ้นมาแล้ว เพราะไม่มีวิตกและวิจารกันท่าแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงทรงแสดงไว้ อรรถาธิบายอย่างสิ้นเชิง ของคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่ ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบาย ผู้มีสติมีสัมปชัญญะ
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ต่อไป บุคคลใดย่อมระลึกได้ ฉะนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่าผู้ระลึกได้ คือผู้มีสติ บุคคลใดย่อมรู้โดยชอบ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าผู้รู้โดยชอบ คือผู้มีสัมปชัญญะ พึงทราบว่า ท่านแสดงสติสัมปชัญญะด้วยบุคคลาธิษฐาน ในสติและสัมปชัญญะนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะ มีความไม่หลงเป็นลักษณะ มีความไตร่ตรองเป็นรส มีความส่องเห็นเป็นอาการปรากฏจำปรารถนาสติและสัมปชัญญะในฌานเหล่านั้น ถึงแม้ว่าสติและสัมปชัญญะนี้จะมีมาแต่ในฌานต้น ๆ แล้วก็ตาม เพราะเหตุที่โยคีบุคคลเผลอสติไม่มีสัมปชัญญะนั้น แม้เพียงขั้นอุปจารฌานก็สำเร็จไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงขั้นอัปปนาฌานกันละ แต่กระนั้น การดำเนินไปของจิตก็เป็นความสะดวกสบาย เพราะฌานเหล่านั้นเป็นสภาพที่หยาบ เปรียบเหมือนการเดินไปบนพื้นแผ่นดินของบุรุษ และหน้าที่ของสติและสัมปชัญญะในฌานต้น ๆ นั้น ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนฌานนี้เพราะเป็นสภาพที่ละเอียด โดยเหตุที่ละองค์ฌานที่หยาบแล้ว จึงจำต้องปรารถนาการดำเนินของจิตที่มีสติและสัมปชัญญะทำหน้าที่ประคับประคองอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการเดินไปใกล้คมมีดของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ ไว้แต่ในตติยฌานนี้

เปรียบสุขเหมือนลูกโคติดแม่
พึงทราบอรรถาธิบายยิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยเหมือนอย่างลูกโคที่ยังติดแม่โคนมอยู่ ถึงจะถูกพรากไปจากแม่โคนมแล้ว เมื่อไม่คอยระวังรักษาไว้ให้ดี มันก็จะวิ่งเข้าไปหาแม่โคนมอีกโดยทันที ฉันใด อันสุขในตติยฌานนี้ก็เหมือนกัน อันโยคีบุคคลพรากออกจากปีติแล้ว เมื่อไม่ได้รักษาไว้เป็นอย่างดีด้วยเครื่องอารักขาคือสติและสัมปชัญญะแล้ว มันก็จะพึงกลับเข้าไปหาปีติอีกโดยทันที คือพึ่งประกอบกับปีตินั่นแหละ ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายจะกำหนัดยินดีนักในสุข และสุขนี้เล่าก็เป็นสิ่งที่อร่อยยิ่งนักสำหรับสัตว์ทั้งหลาย เพราะนอกเหนือไปจากสุขนั้นแล้ว ก็ไม่มีสุขอะไร ถึงกระนั้น ที่ในตติยฌานนี้ไม่มีความกำหนัดยินดีในสุข ก็ด้วยอานุภาพแห่งสติและสัมปชัญญะเท่านั้น มิใช่ด้วยเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ทรงแสดงคำว่า เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ นี้ไว้เฉพาะแต่ในตติยฌานนี้ ก็เพื่อที่จะทรงชี้ถึงความหมายอันพิเศษกว่ากัน ดังที่พรรณนามานี้

อธิบาย เสวยสุขด้วยนามกาย
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย นี้ต่อไป โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานย่อมไม่มีความพะวงในการเสวยสุขโดยแท้ แม้ถึงความจริงจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่เพราะเหตุที่สุขของโยคีบุคคลเข้าอยู่ในตติยฌานนั้นประกอบอยู่กับนามกายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นถึงแม้จะออกจากฌานแล้วก็จะพึงได้เสวยสุข เพราะรูปกายของท่านอันรูปที่ประณีตยิ่ง ซึ่งมีสุขอันประกอบอยู่กับนามกายนั้นเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไปทั่วแล้ว ดังนั้น เมื่อจะชี้ถึงซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ จึงได้ทรงแสดงไว้ว่า และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ฉะนี้

อธิบาย เป็นเหตุให้พระอริยเจ้าสรรเสริญผู้บรรลุว่าเป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข
บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำว่า อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ต่อไป ในคำนี้ นักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมตรัสบอก ย่อมทรงแสดง ย่อมทรงบัญญัติ ย่อมทรงตั้งไว้ ย่อมทรงเปิดเผย ย่อมทรงจำแนก ย่อมทรงทำให้ตื้น ย่อมทรงประกาศ คือ ย่อมทรงสรรเสริญซึ่งบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌานนั้น เพราะมีฌานใดเป็นเหตุ เพราะมีฌานใดเป็นการณ์ สรรเสริญว่าอย่างไร ? สรรเสริญว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้ โยคีบุคคลนั้น บรรลุแล้วซึ่งฌานนั้น ได้แก่ตติยฌานอยู่

เหตุที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ
ถาม - ก็แหละ เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้นอย่างนี้ ?
ตอบ - เพราะเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญ อธิบายว่า บุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนี้ ย่อมเป็นบุคคลสมควรแก่การสรรเสริญนั้น เพราะเหตุที่เป็นผู้เฉย ๆ ในตติยฌาน แม้อันเป็นสุขที่มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นยอดสุดแห่งความสุข และอันความสุขฉุดดึงเข้าไว้ในสุขนั้นไม่ได้ และปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการใดก็เป็นผู้มีสติตั้งมั่นอยู่ด้วยประการนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เสวยความสุขอันสะอาดด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ที่อริยชนร้องเสพแล้ว ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อจะประกาศคุณอันเป็นเหตุแห่งความสรรเสริญเหล่านั้น จึงได้สรรเสริญซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุตติยฌานนั้น โดยเป็นผู้สมควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้ว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติอยู่เป็นสุข ฉะนี้

อธิบาย ตติยฌาน
คำว่า ตติยฌาน ที่แปลว่า ฌานที่ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานนี้ชื่อว่าตติยะ หรือที่ ๓ เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ อีกอย่างหนึ่ง ฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ ๓ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าสู่เป็นอันดับที่ ๓ ดังนี้ก็ได้ตติยฌานละองค์ ๑ ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่าตติยฌานละองค์ ๑ นั้น ด้วยอำนาจการละ ซึ่งปีติ แหละปีตินี้นั้นอันโยคีบุคคลละได้ในขณะแห่งอัปปนา เช่นเดียวกับวิตกและวิจารของทุติยฌานที่โยคีบุคคลละได้ขณะแห่งอัปปนานั้น ด้วยเหตุนั้น ปีตินั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของตติยฌานนั้น

ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อว่า ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์วิภังค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ อุเปกขา สติ สัมปชัญญะ สุขและจิตเตกัคคตา ดังนี้ ข้อนั้นทรงแสดงไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงแสดงถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่ง แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้ว ตติยฌานนี้ประกอบด้วยองค์ ๒ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพ่งได้ โดยยกเอาอุเบกขา สติ และสัมปชัญญะออกเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานประกอบด้วยองค์ ๒ ย่อมมีในสมัยนั้น ได้แก่อะไร ? ได้แก่สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ ฉะนี้คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล


อธิบาย การบรรลุตติยฌาน

อธิบาย การบรรลุตติยฌาน

ก็แหละ ครั้นได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐมฌานนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่าสมาบัตินี้ ยังใกล้ต่อวิตกและวิจารอันเป็นข้าศึก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะเป็นสภาพที่หยาบด้วยปีติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปีติในทุติยฌานนั้นใดซึ่งทำใจให้กำเริบ ทุติยฌานนั้นจึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบเพราะปีตินั้น ฉะนี้แล้ว พึงมนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งตติยฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น ปีติก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ สุขกับเอกัคคตาจะปรากฏเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่าปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชซนจิตก็จะตัดภวังคจิตเกิดขึ้นเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า ตติยฌาน จักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้น ในอารมณ์ปฐวีกสิณนั้นนั่นแล ชวนจิตก็แล่นไป ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ดวงหนึ่งสุดท้ายเข้าเป็น รูปาวจรกุสลจิตขั้นตติยฌาน ส่วน ๓ หรือ ๔ ดวงที่เหลือข้างต้นเป็นกามาวจรกุสลจิต ตามนัยที่กล่าวแล้วในทุติยฌานนั่นแล ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้น เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติและเพราะวิตกและวิจาร สงบไปและได้เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุแล้วซึ่งตติยฌาน อันเป็นเหตุให้พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข ฉะนี้ 

ตติยฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะก้าวล่วงซึ่งปีติ มีอรรถาธิบายดังนี้ ความเบื่อหน่าย หรือความก้าวล่วงซึ่งปีติอันมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า วิราคะ แปลว่า ความก้าวล่วงปีติ ส่วน ศัพท์ระหว่างบททั้ง ๒ คือ ปีติ จ วิราคะ หมายความว่า รวบรวม กล่าวคือ จ ศัพท์นั้นรวบรวมเอาซึ่งความสงบ หรือซึ่งความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบ แต่อย่างเดียว คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา กิญฺจิ ภิยฺโย วูปสมา จ แปลว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติ และความสงบโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในการเรียงประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่า ความเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้นจึงทราบความหมายว่า เพราะเบื่อหน่ายปีติและความสงบ ฉะนี้ แต่คราวใด จ ศัพท์ รวมเอาความสงบแห่งวิตกและวิจารด้วย คราวนั้นนักศึกษาพึงทราบการเรียงเข้าประโยคดังนี้ ปีติยา จ วิราคา, กิญฺจ ภิยฺโย วิตกฺกวิจารานญฺจ วูปสมา ซึ่งแปลว่า เพราะก้าวล่วงปีติไป และเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจารโดยยิ่ง ๆ ไป และในการเรียงเข้าประโยคเช่นนี้ วิราค ศัพท์ แปลว่าก้าวล่วง เพราะฉะนั้น พึงทราบความหมายว่า เพราะก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้

ถึงวิตกและวิจารทั้ง ๒ นี้ได้สงบไปแล้วแต่ในทุติยฌานนั้นก็จริง แต่ที่ท่านนำมาแสดงไว้อีกก็เพื่อที่จะประกาศแนวทางอันเป็นอุบายของตติยฌานนี้ และเพื่อจะสรรเสริญคุณของตติยฌานนี้ จริงทีเดียว เมื่อพรรณนาว่า เพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ฉะนี้ ตติยฌานนี้ย่อมปรากฏเด่นชัด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร จึงเป็น แนวทางของตติยฌานนี้อย่างแน่นอน เหมือนอย่างในอริยมรรคที่ ๓ (อนาคามิมรรค) ท่านพรรณนาถึงการประหานสัญโญชน์ทั้งหลายแม้ที่ไม่ได้ประหานมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นว่า เพราะประหานสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ฉะนี้ ก็เป็นการสรรเสริญคุณอริยมรรคที่ ๓ นั้น คือ เป็นการยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ผู้ขวนขวายเพื่อจะบรรลุอริยมรรคที่ ๓ นั้น ฉันใด ความสงบไปแห่งวิตกและวิจารแม้ที่ไม่ได้สงบซึ่งท่านพรรณนาในตติยฌานนี้ ก็เป็นอันสรรเสริญคุณแห่งตติยฌานนี้ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น จึงได้ทรงแสดงความหมายว่า เพราะการก้าวล่วงปีติไปและเพราะความสงบไปแห่งวิตกและวิจาร ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่
ในคำว่า เป็นผู้เห็นเสมอกันอยู่นี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมชาติใดย่อมเห็นโดยกำเนิด คือเห็นเสมอกัน เห็นไม่ตกไปในฝ่าย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าอุเปกขา โยคีบุคคลผู้เข้าอยู่ในตติยฌาน เรียกว่า อุเปกขโก ผู้เห็นเสมอกัน เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันบริสุทธิ์ อันยิ่งใหญ่ ถึงซึ่งความมั่นคง



อธิบาย การบรรลุทุติยฌาน

อธิบาย การบรรลุทุติยฌาน

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้มีวสีอันได้สั่งสมดีแล้วในวสี ๕ ประการเหล่านี้ ออกจากปฐมฌานที่ทำให้คล่องแคล่วดีแล้ว แต่นั้นพิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึก เพราะเพิ่งละนิวรณ์ได้เป็นครั้งแรก และว่า สมาบัตินี้มีองค์อันทุรพลเพราะวิตกและวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ฉะนี้แล้วพึงมนสิการถึง ทุติยฌาน โดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป

อธิบายว่า พระพุทธรักขิตเถระพอเหลียวเห็นพญาครุฑบินมา ก็รีบเข้าฌานแล้วรีบออกทำฌานให้เป็นปทัฏฐาน แสดงอภิญญาคือนิรมิตภูเขาขึ้นขวางพญาครุฑโดยฉับพลันทันที ก่อนที่พญาครุฑจะมาถึงเฉียวเอาพญานาคไป เมื่อพระเถระจับพญานาคเข้าซ่อนไว้ในหลืบภูเขาแล้ว พญาครุฑยังไม่ทันจึงกระทบเข้ากับภูเขาอย่างแรง เมื่อเห็นเสียท่าไม่ได้การแล้วจึงบินหนีไป นี้แสดงถึงความสามารถด้วย🔎วสีทั้ง ๕

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลนั้นออกจากปฐมฌาน มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาถึงองค์ฌานอยู่นั้น วิตกและวิจารย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ ปีติ สุข และเอกัคคตาย่อมจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน ฉะนี้เพื่อละเสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบ และให้ได้มาซึ่งองค์ฌานที่ละเอียดอยู่นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์ตัดภวังคจิตเกิดขึ้น เหมือนจะบอกให้รู้ว่า ทุติยฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลและมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงสุดท้าย ๑ ดวงเป็น 🔎รูปาวจรกุสลจิตทุติยฌาน ดวงที่เหลือนอกนี้เป็น 🔎กามาวจรกุสลจิต เหมือนดังที่กล่าวมาแล้วในปฐมฌานนั้นทุกประการ

ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่ง ทุติยฌาน อันเป็นภายใน ทำจิตให้เลื่อมใส เป็นภาวะที่ให้สมาธิชั้นเอกเกิดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไปแล้ว มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ทุติยฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๒ ประกอบด้วยองค์ ๓ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะวิตกและวิจารสงบไป
ในคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นั้น มีอรรถาธิบายว่า เพราะองค์ฌานทั้ง ๒ คือวิตกและวิจารนี้สงบไป คือ เพราะก้าวล่วงวิตกและวิจารทั้ง ๒ ไป ได้แก่ เพราะไม่มีวิตกและวิจารทั้ง ๒ ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌานในฌานทั้ง ๒ นั้น ถึงแม้ว่าธรรมที่มีในปฐมฌานแม้ทุก ๆ อย่าง จะไม่มีในทุติยฌาน เพราะเจตสิกธรรมทั้งหลายเช่นผัสสะเป็นต้นในปฐมฌานก็เป็นอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ก็ตาม แต่กระนั้น การบรรลุฌานอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไป เช่น ทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีได้เพราะผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้นนักศึกษาพึงทราบว่า เพื่อที่จะแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ ท่านจึงกล่าวว่าเพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เป็นภายใน
คำว่า เป็นภายใน ณ ที่นี้ หมายเอาภายในที่เกิดในตน ส่วนในคัมภีร์วิภังคาปกรณ์ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า คำว่า เป็นภายในคือ "เป็นไปเฉพาะตน" และเพราะในคำว่า เป็นภายใน นี้ ประสงค์เอาภายในที่เกิดในตน ฉะนั้น จึงมีอรรถาธิบายว่า เกิดแล้วแก่ตนอย่างหนึ่ง เกิดแล้วในตนอย่างหนึ่ง บังเกิดในสันดานของตนอย่างหนึ่ง ฉะนี้อธิบาย สมุปสาทนํ ประกอบด้วยความเลื่อมใส

คำว่า ประกอบด้วยความเลื่อมใส นั้น มีอรรถาธิบายว่า ศรัทธา เรียกว่า ความเลื่อมใส แม้ฌานก็เรียกว่าความเลื่อมใส เพราะประกอบด้วยความเลื่อมใส เหมือนที่เรียกว่า ผ้าเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียว ฉะนั้น อธิบาย สมุปสาทน์ ทำจิตให้เลื่อมใสอีกประการหนึ่ง เพราะฌานนั้นย่อมทำจิตให้เลื่อมใส โดยเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใส และโดยเหตุที่สงบเสียได้ซึ่งความวุ่นวายเพราะวิตกและวิจาร ฉะนั้น 
ท่านจึงกล่าวว่า สมุปสาทน แปลว่า ทำจิตให้เลื่อมใส แหละในอรรถวิกัปนี้พึงทราบถึงการเชื่อมบทเข้าด้วยกันอย่างนี้คือ สมุปสาทนํ เจตโส แปลว่า ทำจิตให้เลื่อมใส ส่วนในอรรถวิกัปต้นต้องยกเอาบทว่า เจตโส ไปประกอบเข้ากับบทว่า เอโกทิภาวํ เป็น เจตโส เอโกทิภาวํ แปลว่า เป็นภาวะที่ให้สมาธิชั้นเอกเกิดขึ้นแก่ใจ

🔅 อธิบาย เอโกทิภาวํ
ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ สมาธิใดเป็นเอกเกิดขึ้นฉะนั้น สมาธินั้นชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า เป็นเอกเกิดขึ้น อธิบายว่า เป็นธรรมล้ำเลิศเป็นธรรมประเสริฐเกิดขึ้น เพราะไม่ถูกวิตกและวิจารเกิดขึ้นครอบงำ จริงอยู่บุคคลผู้ประเสริฐเขาก็เรียกกันว่าเป็นเอกในโลก หรือจะพูดว่าสมาธิเป็นเอกคือไม่มีเพื่อน เพราะเว้นจากวิตกและวิจาร ฉะนี้บ้างก็ได้ อีกประการหนึ่ง สมาธิใดยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น คือให้ตั้งขึ้น ฉะนั้นสมาธินั้นชื่อว่า อุทิ แปลว่า สภาพที่ยังสัมปยุตธรรมให้เกิดขึ้น สมาธิที่เป็นเอกเพราะอรรถว่าประเสริฐนั้นด้วย ทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า เอโกทิ แปลว่า สมาธิชั้นเอกและทำให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น คำว่า เอโกทิ นี้เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาวํ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดขึ้น คือทำให้เจริญขึ้น ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้น เป็นสมบัติของใจ มิใช่ของสัตว์ มิใช่ของชีวะ ฉะนั้นท่านจึงแสดงไว้ว่า เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้ แปลว่า ทุติยฌานเป็นภาวะ ที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่ใจ

ถาม - แม้ในปฐมฌาน ก็มีศรัทธานี้ด้วย มีสมาธิที่ชื่อว่าเอโกที่นี้ด้วยแล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงกล่าวเฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้นว่า ทำจิตให้เลื่อมใส เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น ฉะนี้เล่า ?

ตอบ - ก็ปฐมฌานนั้นยังไม่ผ่องใสดีนักโดยเหตุที่ยังวุ่นวายอยู่เพราะวิตกและวิจารเปรียบเหมือนน้ำที่ถูกรบกวนอยู่ด้วยระลอกและลูกคลื่นฉะนั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ศรัทธาจะมีอยู่ก็ตาม ท่านก็ไม่แสดงว่า สมุปสาทนํ ทำจิตให้เลื่อมใส และเพราะเหตุที่ยังผ่องใสไม่ดีนักนั่นเอง แม้สมาธิในปฐมฌานนั้นจึงยังไม่เด่นชัดดี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่แสดงว่า เอโกทิภาวํ เป็นภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้น ส่วนในทุติยฌานนี้ ศรัทธาได้โอกาสและมีกำลังมาก เพราะเหตุไม่มีเครื่องกังวล คือวิตกและวิจารรบกวน และแม้สมาธิเล่าก็เด่นชัดเพราะเหตุที่ได้เพื่อนคือศรัทธาอันมีกำลัง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงเช่นนี้เฉพาะทุติยฌานนี้เท่านั้น นักศึกษาพึงเข้าใจความหมาย ฉะนี้

(ในส่วนคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เพียงว่า ความเชื่อ ความเชื่อฟัง ความหยั่งใจลงเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง อันใด นี้ชื่อว่า ความเลื่อมใสความตั้งอยู่แห่งจิต.... ความตั้งมั่นโดยชอบแห่งจิต อันใด นี้ชื่อว่า ภาวะที่ทำสมาธิชื่อเอโกทิให้เจริญขึ้นแก่จิต และการพรรณนาความนี้ย่อมไม่ผิดกับพระบาลีในคัมภีร์ ดูเทียบ อภิ. วิ. (ไทย) ๓๕/๕๗๔-๕๗๕/๔๐๔)

วิภังค์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วอย่างนั้น คือย่อมเทียบกันได้ ย่อมเข้ากันได้ด้วยประการใด นักศึกษาพึงทราบด้วยประการนั้นเทอญ

🔅 อธิบาย ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
คำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นั้น มีอรรถาธิบายว่า วิตก ไม่มีในทุติยฌานนี้หรือวิตกไม่มีแก่ทุติยฌานนี้ เพราะเหตุที่ละได้แล้วด้วยภาวนา เพราะเหตุนั้น ทุติยฌานนี้จึงชื่อว่า อวิตกก แปลว่าไม่มีวิตก คำว่า อวิจาร ก็มีอรรถวิเคราะห์โดยทำนองเดียวกันนี้แล แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า วิตกนี้ด้วย วิจารนี้ด้วยเป็นสภาพสงบแล้ว ระงับแล้ว สงบด้วยดีแล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงภาวะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แน่แล้ว ถึงภาวะที่พินาศไปแล้ว ถึงภาวะที่พินาศแน่แล้ว เหือดแห้งไปแล้ว เหือดแห้งแน่แล้ว ถูกทำให้หมดที่สุดแล้ว ฉะนี้ เพราะฉะนั้นทุติยฌานนี้จึงเรียกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ในอธิการนี้ จะมีผู้กล่าวติงขึ้นว่า แม้ด้วยคำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไปนี้ ก็เป็นอันสำเร็จความหมายนี้แล้วมิใช่หรือ เออก็ เหตุไฉนจึงทรงแสดงว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ฉะนี้ซ้ำอีกเล่า ?

ข้าพเจ้าจะวิสัชนาต่อไป ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง ความหมายนี้ก็สำเร็จแล้วจริง คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ มิได้บ่งถึงความหมายที่ว่า ไม่มีวิตกและวิจาร นั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วมิใช่หรือว่า การบรรลุฌานขั้นอื่น ๆ จากปฐมฌานขึ้นไป เช่นทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีได้เพราะการผ่านองค์ฌานที่หยาบ ๆ ไป ดังนั้น เพื่อที่จะทรงแสดงความหมายดังอธิบายมานี้ จึงตรัสว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ด้วยประการฉะนี้ อีกประการหนึ่ง คำว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุแห่งความเลื่อมใสและภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้นของทุติยฌานอย่างนี้ว่าทุติยฌานนี้ ชื่อว่า ประกอบด้วยความเลื่อมใส เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่กิเลสซึ่งเกิดฟุ้งขึ้นตามกาลสงบไป และที่ชื่อว่า เป็นภาวะที่ทำสมาธิชั้นเอกให้เจริญขึ้น เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่ประหานนิวรณ์ เหมือนอุปจารฌาน และมิใช่เพราะเหตุที่องค์ฌานปรากฏเด่นชัดเหมือนปฐมฌาน และอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องแสดงถึงเหตุแห่งภาวะที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารอย่างนี้ว่า ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะเหตุที่วิตกและวิจารสงบไป มิใช่เพราะเหตุที่วิตกวิจารไม่มีมาแต่เดิม เหมือนอย่างตติยฌานและจตุตถฌาน และเหมือนอย่างทวิปัญจวิญญาณเช่นจักขุวิญญาณเป็นต้น แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจาร ส่วนคำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงแต่เพียงสักว่าความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้ทรงแสดงมาแล้วตอนต้นว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไป ก็จำที่จะต้องทรงแสดงว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ซ้ำอีกนั่นเทียว

🔅 อธิบาย เกิดแต่สมาธิเป็นต้น
คำว่า เกิดแต่สมาธิ นั้น มีอรรถาธิบายว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ คือ ปฐมฌาน อีกนัยหนึ่ง มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิที่ประกอบร่วมกัน ในสมาธิทั้ง ๒ นั้นถึงแม้ปฐมฌานจะเกิดแต่สมาธิที่ประกอบร่วมกันก็ตาม แต่กระนั้น สมาธิ คือทุติยฌานนี้เท่านั้นควรที่จะกล่าวได้ว่า เป็นสมาธิที่สนิท เพราะเป็นสภาพที่มั่นคงอย่างยิ่งและเป็นสภาพที่ผ่องใสที่สุดโดยเว้นจากความวุ่นวายเพราะวิตกและวิจารแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงว่า เกิดแต่สมาธิ ดังนี้นั้น ก็เพื่อประสงค์ที่จะทรงสรรเสริญคุณของสมาธินี้ คำว่า ปีติและสุข นั้น มีนัยดังพรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล คำว่า ฌานที่ ๒ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าที่ ๒ เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณฌานนี้ชื่อว่าเป็นที่ ๒ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ ๒ ดังนี้ก็ได้ ฌานนี้เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ ๒ แม้เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ฌานที่ ๒ ดังนี้ก็ได้

🔅 อธิบาย ทุติยฌานละองค์ ๒
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า ทุติยฌานละองค์ ๒ ประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ที่ว่า ทุติยฌานละองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการละซึ่ง วิตก ๑ วิจาร ๑ แหละโยคีบุคคลย่อมละนิวรณ์ทั้งหลายในขณะอุปจาระของปฐมฌาน ฉันใด หาได้ละวิตกและวิจารในขณะอุปจาระของทุติยฌานนี้เหมือนอย่างนั้นไม่ แต่ทุติยฌานนี้ย่อมเกิดโดยปราศจากวิตกและวิจารทั้ง ๒ ในขณะแห่งอัปปนานั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น วิตกและวิจารทั้ง ๒ นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นองค์สำหรับละของทุติยฌานนั้น

🔅 อธิบาย ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ ๓
ส่วนที่ว่า ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๓ เหล่านี้ คือ ปีติ ๑ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ เพราะฉะนั้น พระพุทธวจนะใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ฌาน ได้แก่ ความเลื่อมใส ความเอิบอิ่ม ความสุข และภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว ดังนี้พระพุทธวจนะนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้โดยอ้อม เพื่อจะทรงชี้ถึงฌานพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่งด้วย แต่เมื่อว่าโดยตรงแล้วทุติยฌานนี้ย่อมประกอบด้วยองค์ ๓ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งองค์ที่ถึงซึ่งลักษณะที่เพิ่งได้ โดยยกเว้นความเลื่อมใสเสีย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น คือ ปีติ ๑ สุข ๑ จิตเตกัคคตา ๑ คำที่เหลือมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐมฌานนั่นแล







อธิบายปฐมฌานปฐวีกสิณ

อธิบายปฐมฌานปฐวีกสิณ

บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ปฐมฌานปฐวีกสิณย่อมเป็นอันโยคืบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ต่อไปที่ชื่อว่า ปฐม ซึ่งแปลว่า ที่หนึ่ง เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ ที่ชื่อว่าปฐม เพราะว่า เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนี้ก็ได้ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเพ่งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น แหละมณฑลแห่งดินคือวงกลมแห่งดิน เรียกว่า ปฐวีกสิณ ด้วยความหมายว่าดินทั้งสิ้น นิมิต ที่ได้เพราะอาศัยปฐวีกสิณนั้นก็ชื่อว่า ปฐวีกสิณ ฌานที่ได้นิมิตปฐวีกสิณ ก็เรียกว่า ปฐวีกสิณ ใน ๒ อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ฌานปฐวีกสิณประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้ (มิใช่นิมิตปฐวีกสิณ) ข้าพเจ้าหมายเอาฌานปฐวีกสิณนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ปฐมฌานปฐวีกสิณย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วด้วยประการฉะนี้

🔅 ต้องจำอาการที่บรรลุฌานไว้ให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่อได้บรรลุปฐมฌานอย่างนี้แล้ว อันโยคีบุคคลนั้นจึงกำหนดสังเกตอาการทั้งหลายขณะที่ได้บรรลุไว้ให้แม่นยำ เหมือนนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัวเปรียบเหมือนนายขมังธนูยิงขนทราย อธิบายว่า เหมือนนายขมังธนูผู้ชาญฉลาด ประกอบกรรมในการยิงขนทราย เมื่อยิงถูกขนทรายในวาระใดเขาจะพึงกำหนดสังเกตอาการที่ยันเท้า อาการแห่งคันธนู อาการแห่งสายธนู และอาการแห่งลูกธนู ในวาระนั้นไว้อย่างแม่นยำว่า เรายืนท่านี้ จับคันธนูท่านี้ ขึ้นสายธนูอย่างนี้ วางลูกธนูอย่างนี้ แล้วจึงยิงขนทราย จำเดิมแต่นั้น เขายังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยประการนั้นนั่นแหละ ย่อมยิงถูกขนทรายอย่างไม่ผิดพลาดเลยฉันใด แม้อันโยคีบุคคลนี้ ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือ เธอพึงกำหนดสังเกตกิริยาอาการทั้งหลายมีอาการอันเป็นที่สบายเป็นต้นเหล่านี้ว่าเราบริโภคอาหารชนิดนี้ คบหาสมาคมบุคคลเห็นปานนี้ จึงได้บรรลุปฐมฌานนี้ ในเสนาสนะชนิดนี้ ด้วยอิริยาบถอย่างนี้ ในเวลาเช่นนี้ ครั้นสังเกตจดจำอาการไว้ได้อย่างนี้แล้ว แม้เมื่อสมาธิขั้นอ่อน ๆ นั้น เสื่อมหายไป โยคีบุคคลนั้น จักสามารถเพื่อที่จะทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมแล้วทำสมาธินั้นให้กลับเกิดขึ้นอีกได้ หรือจักสามารถเพื่อที่จะทำสมาธิที่ยังไม่คล่องแคล่วให้คล่องแคล่วกลับเป็นอัปปนาสมาธิบ่อย ๆ โดยไม่ลำบากเลย

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนพ่อครัวทำการเลี้ยงอาหารเจ้านาย คอยสังเกตอาการนั้น ๆ ที่เจ้านายชอบบริโภคไว้เป็นอย่างดี แต่นั้น ก็พยายามเตรียมจัดเฉพาะแต่สิ่งที่เจ้านายชอบใจเท่านั้นเข้าไปให้ เขาย่อมจะเป็นผู้มีส่วนได้รับรางวัล ฉันใด แม้โยคีบุคคลนี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คอยกำหนดจับเอาอาการทั้งหลายมีอาการอันเป็นที่สบายเป็นต้นในขณะที่บรรลุปฐมฌาน แล้วยังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ ไม่ให้เลอะเลือน เมื่อสมาธินั้นเสื่อมหายไป ก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิกลับคืนมาเสมอ ๆ เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลนั้น จึงจำต้องคอยสังเกตจำอาการทั้งหลาย ในขณะที่ได้บรรลุปฐมฌานไว้ เหมือนดังนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัว ข้อนี้สมจริงดังพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ซึ่งมีความว่า :-

พระบาลีรับสมอ้างข้ออุปมา
"ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาด ทำการต้อนรับพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยอาหารทั้งหลายนานาชนิด คืออาหารที่มีรสเปรี้ยวบ้าง มีรสขมบ้าง มีรสเผ็ดบ้าง มีรสหวานบ้าง มีรสกร่อยบ้าง มีรสไม่กร่อยบ้าง มีรสเค็มบ้าง มีรสจืดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล เขาย่อมคอยจับดูอาการของเจ้านายของตนว่า วันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารชนิดนี้ หรือเจ้านายของเราเอื้อมมือเอาอาหารอย่างนี้หรือเจ้านายของเราหยิบอาหารชนิดนี้มาก หรือเจ้านายของเราพูดชมคุณอาหารอย่างนี้ หรือว่าวันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารมีรสเปรี้ยว หรือเอื้อมมือเอาแต่อาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือชอบหยิบเอาอาหารมีรสเปรี้ยวเป็นส่วนมากหรือพูดชมคุณอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือว่า... พูดชมคุณอาหารที่มีรสจืด

ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแลเขาย่อมได้เครื่องนุ่งห่มด้วย ได้เครื่องบำเหน็จรางวัลด้วย ได้เครื่องบรรณาการด้วยข้อนั้น เพราะมีอะไรเป็นเหตุ ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น เขาคอยจับตาดูอาการของเจ้านายของเขาด้วยประการดังกล่าวแล้ว ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดบางรูปในศาสนานี้ นี้ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือเธอย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชฌา ความดีใจ และโทมนัส ความเสียใจในโลกออกเสียได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมเป็นสมาธิ อุปกิเลสทั้งหลายย่อมหายไป เขาย่อมจ้องจับเอานิมิตนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล ย่อมไต้การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมได้สติและสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะมีอะไร เป็นเหตุเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น คอยจ้องจับเอานิมิตแห่งจิตของตนได้เป็นเหตุโดยแท้ พึงรักษาฌานให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ"

แหละเมื่อโยคีบุคคล ทำอาการทั้งหลายให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยการคอยจ้องจับเอานิมิตนั้น อัปปนาสมาธิเพียงสำเร็จคืนมาได้อีกเท่านั้น แต่หาได้สำเร็จเป็นการให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ ไม่ ส่วนที่จะให้อัปปนาสมาธิดำรงอยู่ได้นาน ๆ นั้น ย่อมสำเร็จได้เพราะการชำระล้างธรรมทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดี


🔅 เหตุอยู่ในสมาบัติไม่ได้นาน

จริงอยู่ ภิกษุใดไม่ได้ข่มกามฉันทนิวรณ์ไว้เป็นอย่างดีด้วยอุบายวิธีมีการพิจารณาเห็นโทษของกามเป็นต้น ไม่ได้ทำความกระวนกระวายทางกายให้สงบลงด้วยดี ด้วยอำนาจทำกายให้สงบ ไม่ได้บรรเทาถีนมิทธนิวรณ์ด้วยดี ด้วยอำนาจมนสิการถึงอารัมภธาตุ คือการปรารภความเพียรเป็นต้น ไม่ได้ถอดถอนออกด้วยดี ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ด้วยอำนาจมนสิการถึงสมถนิมิตเป็นต้น แม้ธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิอย่างอื่น ๆ ก็ไม่ได้ชำระล้างให้สะอาดด้วยดีแล้วเข้าสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะออกจากฌานสมาบัติเสียโดยเร็วพลันนั่นเทียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัย ซึ่งมิได้ชำระให้สะอาด และเหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สกปรก ย่อมไม่สามารถที่จะทรงทนอยู่ได้นาน

🔅 เหตุให้อยู่ในสมาบัติได้นาน

ส่วนภิกษุใด ชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดีเสียก่อนแล้วจึงเข้าสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะอยู่ได้ภายในแห่งสมาบัตินั่นแล แม้ตลอดกาลอันเป็นส่วนแห่งวันทั้งสิ้นทีเดียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัยซึ่งได้ชำระให้สะอาดแล้วเป็นอย่างดี และเหมือนพระราชาเสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดเป็นอย่างดี ฉะนั้นด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงได้ประพันธ์สุภาษิตไว้ ซึ่งมีความว่าโยคีบุคคล จึงกำจัดปัดเป่าเสียซึ่งความพอใจในกามทั้งหลาย ๑ ความเคียดแค้น ๑ ความฟุ้งซ่าน ๑ ความเซื่องซึม ๑ และความสงสัย ๑ แล้วพึงมีใจปราโมชซึ่งเกิดแต่ความสงัดจากนิวรณกิเลส อภิรมย์ชมชื่นอยู่ในฌานนั้น เหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดตลอดสุดบริเวณ ย่อมทรงอภิรมย์ชมชื่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้น เพราะเหตุฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่จะให้ฌานนั้นดำรงอยู่ได้นาน ๆ ก็จงชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นให้สะอาด แล้วจึงเข้าสู่ฌานสมาบัตินั้นเถิด

🔅 การขยายปฏิภาคนิมิต 

อีกประการหนึ่ง โยคีบุคคลผู้ฌานลาภีนั้น จึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความเจริญไพบูลย์แห่งสมาธิภาวนา ภูมิที่จะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นมี ๒ ภูมิ ได้แก่อุปจารภูมิ หรือ อัปปนาภูมิ กล่าวคือ โยคีบุคคลบรรลุถึงอุปจารภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้บรรลุถึงอัปปนาภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว จะพึงขยายได้ในฐานะอันเดียว ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า จึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้ว ฉะนี้

🔅 วิธีขยายปฏิภาคนิมิต

แนวทางแห่งการขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ดังต่อไปนี้ อันโยคีบุคคลอย่าได้ขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ด้วยวิธีที่ขยายของบาตร วิธีขยายของขนม วิธีขยายของข้าวสุก วิธีขยายของเถาวัลย์ และวิธีขยายของผ้า พึงกะกำหนดประมาณแห่งนิมิตตามที่ได้มานั้นด้วยใจไว้ก่อนว่า ประมาณ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ๓ นิ้ว ๔ นิ้วโดยลำดับ แล้วจึงขยายไปเท่าที่กะกำหนดไว้เหมือนอย่างชาวนากะกำหนดสถานที่ซึ่งจะไถไว้ด้วยไถก่อน แล้วจึงไถเนื้อที่ภายในที่กำหนดไว้ แหละอีกประการหนึ่ง เหมือนภิกษุสงฆ์จะผูกสีมา กำหนดนิมิตทั้งหลายไว้ก่อนแล้วจึงผูกภายหลัง ฉะนั้น เมื่อไม่ได้กะกำหนดเสียก่อนแล้วอย่าเพิ่งขยาย ครั้นกะกำหนดขยายไปได้ขนาด ๔ นิ้วแล้ว แต่นั้นจึงขยายออกไปด้วยกำหนดเอาชั่วคืบหนึ่ง ศอกหนึ่ง ชั่วหน้ามุขหนึ่ง บริเวณหนึ่ง ชั่ววัดหนึ่ง หรือชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง ชั่วตำบลหนึ่ง ชั่วอำเภอหนึ่ง ชั่วจังหวัดหนึ่ง ชั่วประเทศหนึ่ง และชั่วมหาสมุทรหนึ่ง หรือพึงกำหนดขยายเขตออกไปชั่วจักรวาลหนึ่ง หรือแม้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ได้

เปรียบเหมือนลูกนกหงส์
เหมือนอย่างลูกนกหงส์ประเภทที่มีกำลังเร็ว นับแต่เวลาที่ขนปีกทั้งหลายงอกขึ้นเต็มที่แล้ว มันฝึกบินโฉบขึ้นไปคราวละเล็กละน้อยก่อน ครั้นฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วย่อมบินไปถึงที่ใกล้โลกพระจันทร์โลกพระอาทิตย์ก็ได้โดยลำดับ ฉันใด ภิกษุผู้ฌานลาภีก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือ เมื่อกำหนดขยายนิมิตออกไปโดยนัยที่กล่าวแล้วย่อมขยายออกไปจนถึงจักรวาลหนึ่งเป็นกำหนด หรือแม้ขยายให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไป
กว่านั้นก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิภาคนิมิตนั้นย่อมจะปรากฏแก่เธอในที่ขยายไปแล้วนั้น ๆ เหมือนหนังโคตัวผู้ที่ถูกเกี่ยวไว้ด้วยขอตั้งร้อยอัน ณ ตรงที่ดอนที่ลุ่มแห่งแผ่นดินตรงที่คดโค้งแห่งแม่น้ำ และตรงที่ลดหลั่นแห่งภูเขา

🔅 ต้องทำให้ชำนาญด้วยวสี ๕

ก็แหละโยคีบุคคลผู้แรกทำกัมมัฏฐาน ซึ่งได้บรรลุปฐมฌานในเพราะปฏิภาคนิมิตนั้น ต้องฝึกการเข้าฌานให้มาก ๆ แต่อย่าพิจารณาองค์ฌานให้มาก เพราะเมื่อพิจารณามากองค์ฌานทั้งหลายก็จะปรากฏเป็นสภาวะที่หยาบมีกำลังน้อย และเพราะเหตุปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น องค์ฌานเหล่านั้นก็จะถึงซึ่งความเป็นปัจจัยแก่ความขวนขวายเพื่อภาวนาเบื้องสูงขึ้นไปเสีย เมื่อเธอสาละวนขวนขวายอยู่ในฌานที่ยังไม่คล่องแคล่ว เธอก็จะเสื่อมจากปฐมฌานที่ได้บรรลุแล้วด้วย จะไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานด้วย

พระบาลีรับสมอ้าง
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่าเปรียบเหมือนแม่โคโง่ไม่ชำนาญภูเขา
"ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ตัวที่โง่ไม่ชำนาญไม่รู้เขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่เรียบราบ แม่โคนั้น จะพึงคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอเราจะพึงไปทิศที่ยังไม่เคยไป จะพึงได้กัดกินหญ้าที่ยังไม่เคยกัดกิน จะพึงได้ดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่ม ครั้นแล้วมันยังไม่ทันได้เหยียบเท้าหน้าไว้ให้ได้ที่ดีเสียก่อนแล้วยกเท้าหลังขึ้น มันก็จะไม่พึงไปถึงทิศที่ตนไม่เคยไป ไม่พึงได้กัดกินหญ้าที่ตนยังไม่เคยกัดกิน และไม่พึงได้ดื่มน้ำที่ตนยังไม่เคยดื่ม มิหนำซ้ำ มันยังไม่พึงกลับคืนมาโดยสวัสดียังสถานที่เดิมที่มันยืนคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงไปถึงทิศที่ยังไม่เคยไป จะพึงได้กัดกินหญ้าที่ยังไม่เคยกัดกิน จะพึงได้ดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่มฉะนี้ด้วย ข้อนั้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า แม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขานั้น มันโง่ มันไม่ชำนาญ มันไม่รู้จักเขตที่หากิน มันไม่ฉลาดเพื่อที่จะท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่เรียบราบโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือเป็นคนโง่เพราะไม่ได้ร้องเสพสมถนิมิต เป็นคนไม่ชำนาญ เพราะไม่ทำสมาธิให้เจริญขึ้น เป็นคนไม่รู้จักขอบเขต เพราะไม่หมั่นทำให้มาก และเป็นคนไม่ฉลาดเพื่อที่จะบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดอยู่

เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ได้ต้องเสพนิมิตนั้น ไม่ทำนิมิตนั้นให้เจริญขึ้น ไม่ทำให้มาก ๆ เข้า ไม่ทำให้ตั้งอยู่ด้วยดี ถึงเธอจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่งทุติยฌานอันเป็นภายใน ประกอบด้วยความเลื่อมใสแห่งใจ มีภาวะที่ให้ธรรมอันประเสริฐเกิดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไปแล้ว มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งทุติยฌาน นั้นได้

ถึงเธอจะมีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่าทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัดอยู่ เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน ... นั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้พลัดตกเสียแล้วจากฌานทั้ง ๒ เป็นผู้เสื่อมสูญแล้วจากฌานทั้ง ๒ เปรียบเหมือนแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ซึ่งเป็นสัตว์โง่ไม่ชำนาญ ไม่รู้จักขอบเขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่
เรียบราบนั้นๆ"

เพราะเหตุฉะนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจำต้องเป็นผู้สั่งสมวสีคือความสามารถด้วยอาการ ๕ อย่าง ในปฐมฌานนั้นนั่นเทียวเสียก่อน

วสี ๕ อย่าง
ในการสั่งสมวสีนั้น วสีมี ๕ อย่างดังนี้คือ :-
๑. อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยมโนทวาราวัชชนจิต
๒. สมาชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน
๓. อธิฏฐานวสี ความสามารถในการเข้าฌานดำรงอยู่ตามกำหนด
๔. วุฏฐานวสี ความสามารถในการออกจากฌานตามกำหนด
๕. ปัจจเวกขณวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิต

ฌานลาภิบุคคล ย่อมสามารถพิจารณาปฐมฌาน ตามที่ตนปรารถนาตลอดเวลาที่ต้องการ และในการพิจารณานั้นไม่มีความชักช้าเฉื่อยชา ดังนั้น จึงเรียกว่า อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌาน ฌานลาภีบุคคลย่อมสามารถเข้าปฐมฌานได้ตามที่ตนปรารถนาทุกครั้งตลอดเวลาที่ต้องการ และในการเข้านั้นก็ไม่มีความชักช้าเฉื่อยชา ดังนั้น จึงชื่อว่า สมาปัชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน แม้ วสี ๓ ที่เหลือ นักศึกษาก็พึงขยายความให้พิสดารโดยทำนองเดียวกันนี้

อรรถาธิบายวสี ๕ อย่าง
ก็แหละ ในวสี ๕ อย่างนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้:
๑. อธิบาย อาวัชชนวสี ขณะเมื่อฌานลาภีบุคคลออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาถึงองค์ฌาน คือวิตกนั้น ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีวิตกเป็นอารมณ์นั่นแลย่อมแล่นไป บางบุคคลที่ ๔ ขณะ บางบุคคลที่ ๕ ขณะ ต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ตัดภวังค์เกิดขึ้นนั้น ถัดนั้นภวังคจิต ก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากภวังคจิตนั้น มโนทวาราวัชชนจิตมีวิจารเป็นอารมณ์ก็เกิดขึ้นต่อไปอีก ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ก็เกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนะนั้น กาลใด ที่ฌานลาภีบุคคลสามารถส่งจิตไปพิจารณาในองค์ฌานทั้ง ๕ ติดต่อกันดังกล่าวมานี้ กาลนั้นชื่อว่า อาวัชชนวสี ย่อมสำเร็จแก่เธอ แหละอาวัชชนวสีที่กล่าวมานี้ ที่จัดเป็นวสีชั้นสูงถึงขั้นสุดยอด ย่อมมีได้แต่ในขณะที่พระผู้มีภาคทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ หรือในขณะที่เป็นที่บังเกิดขึ้นแห่ง อาวัชชนวสีอย่างฉับพลันของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะเป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว อาวัชชนวสีที่รวดเร็วฉับพลันเช่นนี้หามีไม่

๒. อธิบาย สมาปัชชนวสี แหละความสามารถในการเข้าฌานได้อย่างฉับพลัน เหมือนในการที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะทรมานพญานันโทปนันทนาคราช ชื่อว่า สมาชชนวสี

๓. อธิบาย อธิฏฐานวสี ความสามารถเพื่อที่จะทำให้ฌานดำรงอยู่ได้ ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่งหรือชั่วขณะประมาณ ๑๐ ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า อธิฏฐานวสี

๔. อธิบาย วุฏฐานวสี
ความสามารถเพื่อที่จะออกจากฌานได้อย่างฉับพลัน ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่ง หรือชั่วขณะประมาณ ๑๐ ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า วุฏฐานวสี การข่มภวังคจิตไว้ไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ฌานดำรงเป็นไปตามเวลาที่ต้องการเหมือนสะพานกั้นกระแสน้ำไม่ให้ไหลไปเร็ว ชื่อว่า อธิฏฐาน เมื่อภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วก็ชื่อว่า วุฏฐาน คือการออกจากฌาน ความสามารถในอันให้ฌานดำรงอยู่ได้ คือ ไม่ให้ภวังคจิตเกิดด้วยอำนาจแห่งการบริกรรมเบื้องต้นว่า จักให้ฌานดำรงอยู่ชั่วขณะประมาณเท่านั้นเท่านี้ ชื่อว่า อธิฏฐานวสี ฉันใด ความสามารถในอันออกจากฌานด้วย อำนาจบริกรรมเบื้องต้นว่า เราอยู่ในฌานจักออกจากฌานชั่วขณะประมาณเท่านั้น นักศึกษาพึงทราบว่าเป็นวุฏฐานวสี ฉันนั้น เพื่อที่จะแสดงวสีทั้ง ๒ คืออธิฏฐานวสีกับวุฏฐานวสีให้แจ่มแจ้ง ควรนำเรื่องพระพุทธรักขิตเถระมาเล่าประกอบด้วย ดังต่อไปนี้ ได้ยินมาว่า ท่านพุทธรักขิตเถระนั้น จำเดิมแต่อุปสมบทมาได้ ๔ พรรษาขณะที่ท่านนั่งอยู่ ณ ท่ามกลางพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ทั้งหลายประมาณ ๓,๐๐๐ องค์ ซึ่งพากันมายังที่เยี่ยมไข้ของพระมหาโรหณคุตตเถระที่เถรัมพัดถลวิหาร ท่านได้เหลียวเห็นพญาครุฑกำลังโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยหมายว่าจักเฉียวเอาพญานาคผู้อุปัฏฐาก ซึ่งกำลังถวายข้าวต้มแก่พระเถระอยู่ ท่านจึงนิรมิตภูเขาขึ้นในทันใดนั้นแล้วฉวยเอาพญานาคมาไว้ในหว่างแขนแล้วใส่เข้าไปในหลืบภูเขาที่ท่านนิรมิตขึ้นนั้น ฝ่ายพญาครุฑกระทบเข้ากับภูเขาเข้าปังใหญ่แล้วก็บินหนีไป” พระมหาโรหณคุตตเถระจึงได้พูดสรรเสริญว่า “อาวุโสทั้งหลาย ถ้ามิได้มีพระภิกษุพุทธรักขิตะแล้ว เราทั้งหมดนั้นก็จักถูกครหาว่า “ผู้มีฤทธิ์มากมายถึงเพียงนี้ ไม่สามารถรักษาอุปัฏฐากเพียงคนเดียวให้รอดพ้นจากครุฑได้ ฉะนี้”

๕. อธิบาย ปัจจเวกขณวสี
ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงไว้แล้วในอาวัชชนวสีนั้นแล้ว เพราะปัจจเวกขณชวนะ ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นติดต่อมโนทวาราวัชชนะในวิถีจิตเดียวกันนั้น กล่าวคือ ชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะเหล่าใดซึ่งเกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานมีวิตกเป็นต้นไปตามลำดับโดยความเป็นอาวัชชนวสี ชวนจิตเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานเหล่านั้น โดยความเป็น ปัจจเวกขณวสีด้วย นักศึกษาพึงทราบว่าความสำเร็จเป็นอาวัชชนวสีด้วยอารมณ์ใด ความสำเร็จเป็นปัจจเวกขณวสีก็ด้วยอารมณ์นั้น ด้วยประการฉะนี้




อธิบายการบรรลุปฐมฌาน

อธิบายการบรรลุปฐมฌาน

ก็แหละ ด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตกมีวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ปฐมฌานอันมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบายองค์สำหรับละของปฐมฌาน
ในคำพระบาลีอันแสดงถึงองค์สำหรับละของฌานนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้: อธิบายเพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย คำว่า เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ได้แก่ เพราะพรากแล้ว เว้นแล้ว หลีกออกแล้ว จากกามทั้งหลาย ส่วน เอวอักษรในบทว่าวิวิจฺเจวนี้นั้น มีความหมายว่าเป็นการแน่นอน และเพราะเหตุที่ เอว อักษรมีความหมายว่าเป็นการแน่นอน ฉะนั้น เอว อักษรจึงประกาศถึงภาวะทีปฐมฌานนั้นเป็นปฏิปักษ์แก่กามทั้งหลาย แม้ที่ไม่มีปรากฏอยู่ในขณะที่เข้าอยู่ในปฐมฌานนั้นด้วย และประกาศถึงการได้บรรลุปฐมฌานนั้น ด้วยการสละกามได้อย่างแน่นอนด้วย

ถาม-ข้อนี้ มีอรรถาธิบายอย่างไร ?
ตอบ-อธิบายว่า เมื่อ เอว อักษรทำความแน่นอนให้ในคำว่า เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย อย่างนี้ ปฐมฌานย่อมปรากฏชัด จริงทีเดียว กามทั้งหลายย่อมเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน เมื่อกามเหล่าใดมีอยู่ ฌานนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนเมื่อความมืดมีอยู่แสงสว่างแห่งตะเกียงก็ชื่อว่ายังไม่เกิดขึ้น และการบรรลุถึงฌานนั้นจะมีได้ ก็ด้วยการละเสียได้ซึ่งกามเหล่านั้นอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนการไปถึงฝั่งโน้นได้ก็ด้วยการละซึ่งฝั่งนี้เสีย เพราะฉะนั้น เอว อักษรจึงชื่อว่า ทำความแน่นอน ฉะนี้

🔅 เอว อักษรประกอบในสองบท
จะพึงมีคำถามขึ้นในเรื่อง เอว อักษรนั้นว่า ก็แหละ ทำไม เอว อักษรนี้ ท่านจึงแสดงไว้แต่ในบทต้นบทเดียว ไม่แสดงไว้ในบทหลัง หรือว่า โยคีบุคคลนั้นแม้ไม่สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะพึงบรรลุฌานได้อยู่ ? ขอวิสัชนาว่า ก็แหละ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เอว อักษรไว้ในบทต้นนั้น ท่านเข้าใจอย่างนั้นหาถูกไม่ เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดง เอวอักษรไว้ในบทต้นนั้น ก็โดยที่ฌานเป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามนั้นต่างหาก

จริงอยู่ ฌานนี้เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลายแน่นอน เพราะเป็นปฏิปทาเครื่องก้าวล่วงซึ่งกามธาตุด้วย เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกามราคะด้วย สมกับที่ทรงแสดงไว้ว่าเนกขัมมะ คือฌานนี้นั้น เป็นเครื่องสลัดทิ้งซึ่งกามทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในบทหลังก็ต้องยกเอา เอว อักษรมาแสดงประกอบไว้ด้วยเหมือนอย่างที่ท่านยกมาแสดงประกอบไว้ในคำนี้ว่า อิเธว ภิกขุเว สมโณ, อิธ ทุติโย สมโณ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีในศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ ก็มีในศาสนานี้เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่าใคร ๆ ก็ตาม ที่ยังไม่สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ 🔎นิวรณ์ แม้ข้ออื่น ๆ จากกามฉันทะแล้ว ก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งฌานได้เลย เพราะเหตุนั้น เอว อักษรนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าประกอบไว้ในบททั้งสองว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺเจว อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ฉะนี้

🔅 อธิบาย วิวิจุจ - สงัดแล้ว
อนึ่ง ด้วยคำว่า วิวิจจ ที่แปลว่าสงัดแล้วนี้ อันเป็นคำร่วมกันในทั้งสองบทย่อมสงเคราะห์เอาวิเวกคือความสงัดแม้หมดทุกอย่าง คือ วิเวก ๕ (ตทั้งควิเวก ๑ วิกขัมภนวิเวก ๑ สมุจเฉทวิเวก ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวก ๑ นิสสรณวิเวก ๑) และวิเวก ๓ (จิตตวิเวก ๑ กายวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑)

ก็จริง แต่กระนั้น ณ ที่นี้นักศึกษาพึงเข้าใจว่า หมายเอาเพียงวิเวก ๓ อย่าง คือ กายวิเวก ความสงัดกาย ๑ จิตตวิเวกความสงัดใจ ๑ วิกขัมภนวิเวก ความสงัดเพราะข่มกิเลสไว้ ๑

🔅 กาม หมายเอาวัตถุกามและกิเลสกาม
ก็แหละ ด้วยบทว่า กาเมหิ ที่แปลว่า จากกามทั้งหลายนี้ วัตถุกามเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศโดยนัยมีอาทิว่า วัตถุกามทั้งหลายเป็นไฉน ? วัตถุกามทั้งหลาย คือ รูปทั้งหลายอันเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ และกิเลสกามเหล่าใด ที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์มหานิเทศนั่นแหละ และในคำภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยอย่างนี้ว่า ฉันทะ ความพอใจ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม ฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยความพอใจ ชื่อว่ากาม สังกัปปะ ความดำริ ชื่อว่ากาม ราคะ ความกำหนัด ชื่อว่ากาม สังกัปปราคะ ความกำหนัดด้วยความดำริ ชื่อว่ากาม อกุศลธรรมเหล่านี้ เรียกว่ากามนักศึกษาพึงเข้าใจ ท่านสงเคราะห์เอาวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้นแม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้

🔅 วิเวก ๒ อย่าง
แหละเมื่อสงเคราะห์เอากามทั้ง ๒ อย่างเช่นนี้ คำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากวัตถุกามทั้งหลายแต่อย่างเดียว หาได้หมายเอาว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสกามทั้งหลายไม่ และด้วยความสงัดจากวัตถุกามนั้นเป็นอันท่านแสดงถึง กายวิเวก คือความสงัดกาย คำว่าสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันหมายความว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกิเลสทั้งหลายหรือจากอกุศลธรรมทั้งปวง และด้วยความสงัดจากกิเลสกามนั้น เป็นอันท่านแสดงถึง จิตตวิเวก คือความสงัดจิต

อธิบายวิเวก ๒ อย่าง
ก็แหละ ในวิเวกทั้ง ๒ นั้น ด้วยบทที่ ๑ เป็นอันท่านประกาศถึงความสละซึ่งกามสุข เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามทั้งหลายนั่นเอง ด้วยบทที่ ๒ เป็นอันท่านประกาศถึงการถือเอาซึ่ง เนกขัมมสุข สุขเพราะออกจากกาม เพราะคำว่าสงัดจากกิเลสกามทั้งหลายนั่นเอง (อนึ่ง ในบททั้ง ๒ นั้น ด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งวัตถุแห่งสังกิเลส ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการประหานซึ่งตัวสังกิเลสมีตัณหาเป็นต้น เพราะคำว่าสงัดจากวัตถุกามและกิเลสกามนั่นเอง, อนึ่งด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งความโลเล ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการสละซึ่งเหตุแห่งความเป็นพาล, อนึ่ง ด้วยบทที่ ๑ ท่านประกาศถึงความบริสุทธิ์แห่งประโยคคือการกระทำ ด้วยบทที่ ๒ ท่านประกาศถึงการชำระอัชฌาสัยให้บริสุทธิ์) นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้ บรรดากามที่ท่านกล่าวไว้ในบทว่า กาเมหิ นี้ ในฝ่ายวัตถุกาม มีนัยเพียงเท่านี้ก่อน

🔅 อธิบายกิเลสกาม
ส่วนในฝ่ายกิเลสกามนั้น กามฉันทะซึ่งมีประเภทเป็นอันมาก เช่น ฉันทะและราคะ เป็นต้นนั่นเทียว ท่านประสงค์เอาว่า กาม แหละกามนั้น แม้ถึงจะนับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรมแล้วก็ตาม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแยกไว้ต่างหากโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่ฌาน ดังในคัมภีร์ฌานวิภังค์โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น กามเป็นไฉน ? ฉันทะชื่อว่ากาม อีกประการหนึ่ง ในบทต้น ท่านแสดงกามไว้โดยความเป็นกิเลสกาม ในบทที่ ๒ ท่านแสดงไว้ด้วยเป็นสภาพที่นับเนื่องอยู่ในอกุศลธรรม แหละเพราะกามนั้นมีประเภทเป็นอันมาก ท่านจึงไม่แสดงเป็นเอกพจน์ว่า กามโต จากกาม แต่แสดงเป็นพหูพจน์ว่า กาเมหิ จากกามทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

🔅 องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ ๕
แหละถึงแม้ว่าธรรมทั้งหลายอื่น ๆ เช่นทิฏฐิมานะเป็นต้น มีภาวะเป็นอกุศลมีอยู่แต่ในคัมภีร์ฌานวิภังค์ พระผู้มีพระภาคตรัสเอาเฉพาะนิวรณ์ทั้งหลายเท่านั้น โดยที่ทรงแสดงถึงภาวะที่เป็นปฏิปักษ์แก่องค์ฌานทั้งหลายต่อ ๆ ไป โดยนัยมีอาทิว่า ในบรรดาธรรมเหล่านั้นอกุศลธรรมเป็นไฉน ? อกุศลธรรมได้แก่กามฉันทะ จริงอยู่ นิวรณ์ทั้งหลายเป็นข้าศึกแห่งองค์ฌาน องค์ฌานทั้งหลายนั้นเล่าก็เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์เหล่านั้น คือเป็นเครื่องกำจัด เป็นเครื่องทำลายนิวรณ์เหล่านั้น เป็นความจริงเช่นนั้น ท่านพระมหากัจจายนะแสดงไว้ในคัมภีร์เปฎกะ (คัมภีร์เปฎกะ นี้ เป็นคัมภีร์ที่พรรณนาความย่อของพระไตรปิฎก พระมหากัจจายนะเป็นผู้แสดง ในคราวสังคายนาพระไตรปิฎกที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เรียกว่า ฉัฏฐสังคีตินั้น สังคาหกาจารย์ได้ยกคัมภีร์นี้ขึ้นสู่ พระบาลีด้วย เรียกว่า เปฎโกปเทส พิมพ์เป็นเล่มเดียวกันกับคัมภีร์ เนตฺติ) ว่า :-

๑. สมาธิ เป็นปฏิปักษ์แก่ กามฉันทะ
๒. ปีติ เป็นปฏิปักษ์แก่ พยาปาทะ
๓. วิตก เป็นปฏิปักษ์แก่ ถีนมิทธะ
๔. สุข เป็นปฏิปักษ์แก่ อุทธัจจะกุกกุจจะ
๕. วิจาร เป็นปฏิปักษ์แก่ วิจิกิจฉา

บททั้ง ๒ เป็นเครื่องเป็นเครื่องข่มกิเลสต่างกัน
ด้วยประการฉะนี้ ในบททั้ง ๒ นั้น ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย นี้ พระพุทธองค์ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทว่า สงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ทรงประสงค์เอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ

แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดไว้แล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจความหมายดังนี้ ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามฉันทนิวรณ์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มนิวรณ์ทั้งหลายที่เหลือในอกุศลมูล ๓ ก็เหมือนกัน คือ ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโลภะอันมีกามคุณ ๕ ต่างชนิดเป็นอารมณ์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มโทสะและโมหอันมีอาฆาตวัตถุต่างชนิดเป็นต้นเป็นอารมณ์

อีกประการหนึ่ง ในบรรดาอกุศลธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มกามโอฆะ กามโยคะ กามาสวะ กามุปาทานะ อภิชฌากายคันถะ และกามราคสังโยชน์ ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัด เพราะข่มโอฆะ โยคะ อาสวะ อุปาทานะ คันถะ และสังโยชน์ข้อที่เหลือ 

อีกอย่างหนึ่งด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มตัณหาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับตัณหานั้น ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอวิชชาและธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับอวิชชานั้น

อีกประการหนึ่ง ด้วยบทที่ ๑ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท ๘ ดวง ซึ่งประกอบด้วยโลภะ (โลภมูลจิต ๘ ดวง) ด้วยบทที่ ๒ ทรงหมายเอาความสงัดเพราะข่มอกุศลจิตตุปบาท ๔ ดวงที่เหลือ (คือโทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒)

อรรถาธิบายความในคำว่า สงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลายสงัดแล้วแน่นอน จากอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ ยุติเพียงเท่านี้

🔅 อธิบาย องค์ประกอบของปฐมฌาน
ก็แหละ ครั้นข้าพเจ้าได้แสดงองค์สำหรับละของปฐมฌานด้วยอรรถาธิบาย เพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงองค์ที่ประกอบของปฐมฌานนั้น ข้าพเจ้าจะอรรถาธิบายคำว่า มีวิตก มีวิจาร เป็นต้นต่อไป

อธิบายวิตก
ความนึกถึงอารมณ์ ชื่อว่าวิตก ได้แก่ความกำหนดเอาอารมณ์ วิตกนี้นั้นมีอันยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันตะล่อมอารมณ์ไว้ ตะล่อมอารมณ์ไว้โดยรอบเป็นกิจ จริงอย่างนั้นเพราะวิตกนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า โยคาวจรบุคคลย่อมทำอารมณ์กัมมัฏฐานให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้แล้วให้เป็นอันวิตกตะล่อมไว้โดยรอบแล้วฉะนี้ แหละวิตกนั้นมีอันรั้งจิตเข้าไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏ

อธิบายวิจาร
การพิจารณา เรียกว่า วิจาร ได้แก่การไตร่ตรองดูอารมณ์ วิจารนี้นั้นมีอันพิจารณาอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้นเป็นกิจ มีอันตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์เป็นอาการปรากฏวิตกหยาบและเกิดก่อนวิจาร ถึงแม้ว่า ในจิตบางดวงคือในปฐมฌานจิตและกามาวจรจิตตุปบาท วิตกและวิจาร นั้นจะไม่มีการแยกกันก็ตาม แต่กระนั้น วิตกก็ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ก่อนด้วยความหมายว่าเป็นสิ่งที่หยาบกว่าวิจาร และเกิดก่อนวิจาร เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังซึ่งหยาบกว่าเสียงครางแห่งระฆัง และเกิดก่อนเสียงครางนั้น เปรียบวิตกวิจารเหมือนอาการบินของนกและแมลงภู่ อนึ่ง ในวิตกและวิจารนั้น วิตก ยังมีความไหวอยู่ คือทำให้จิตไหว ๆ ในเวลาเกิดขึ้นครั้งแรก เปรียบเหมือนการโบกปีกของนกขนาดใหญ่ที่เตรียมจะบินไปในอากาศ และเหมือนการบินมุ่งหน้าไปหาดอกปทุมของแมลงภู่ ซึ่งมีจิตติดพันในกลิ่นดอกไม้ ส่วนวิจารมีพฤติการณ์สงบ คือมีภาวะไม่ทำจิตให้ไหวมาก เปรียบเหมือนการกางปีกของนกที่บินขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้ว และเหมือนการเคล้าคลึงอยู่ที่ดอกปทุมของแมลงภู่ที่บินไปถึงดอกปทุมแล้ว

ส่วนในอรรถกถาทุกนิบาตอังคุตตรนิกาย ท่านแสดงไว้ว่า วิตกเป็นไปโดยภาวะที่ยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนนกชนิดใหญ่ เมื่อบินอยู่บนอากาศ มันกวักปีกทั้งสองเอาลม แล้วกางปีกไว้เฉยบินไป วิจารเป็นไปโดยภาวะที่ตามพิจารณาอารมณ์ เหมือนการบินของนกที่กระดิกปีกทั้งสองเพื่อให้กินลม ฉะนี้

คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้นถูกต้อง ในขณะที่วิตกวิจารเป็นไปโดยต่อเนื่องกันในอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ส่วนความต่างกันของวิตกและวิจารนั้น ย่อมปรากฏชัดในปฐมฌานและทุติยฌานในปัญจกนัยแล้ว เปรียบวิตกวิจารเหมือนคนขัดภาชนะ อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลจะขัดภาชนะสัมฤทธิ์ที่สนิมจับ เอามือข้างหนึ่งจับภาชนะไว้อย่างแน่น แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งขัดด้วยแปรงขนสัตว์ที่ชุบด้วยน้ำมันเป็นผง วิตกเปรียบเหมือนมือที่จับภาชนะไว้อย่างแน่น วิจารเปรียบเหมือนมือที่ขัดภาชนะ เปรียบวิตกวิจารเหมือนช่างตีหม้อ อีกประการหนึ่ง เมื่อช่างหม้อทำหม้อ ใช้เครื่องจักรช่วยหมุนไม้ตีหม้อ วิตกเปรียบเหมือนมือที่กุมบีบก้อนดินไว้ วิจารเปรียบเหมือนมือที่คอยลูบคลำข้างโน้น ข้างนี้เปรียบวิตกวิจารเหมือนเหล็กวงเวียนอีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลทำวงกลมที่ภาชนะสัมฤทธิ์เป็นต้น วิตกซึ่งยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่ใช้ปักติดไว้ตรงใจกลาง วิจารซึ่งตามพิจารณาอารมณ์ เปรียบเหมือนเหล็กแหลมที่หมุนไปรอบ ๆ ข้างนอก

🔅 ปฐมฌานมีวิตกมีวิจาร
ฌานย่อมเกิดร่วมกับวิตกนี้ด้วย เกิดร่วมกับวิจารนี้ด้วย เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดพร้อมกับดอกและผล ดังนั้น ท่านจึงเรียกฌานนี้ว่า มีวิตกมีวิจาร ด้วยประการฉะนี้ ส่วนในคัมภีร์วิภังค์พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นบุคคลาธิษฐาน โดยนัยมีอาทิว่า ฌานลาภิบุคคล เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิตกนี้และด้วยวิจารนี้ ฉะนี้ แต่อรรถาธิบายแม้ในวิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอย่างที่อธิบายมาแล้วนี้นั่นแล

🔅อธิบายเกิดแต่ความสงัด
ในคำว่า เกิดแต่ความสงัด นี้ มีอรรถาธิบายว่า ความสงบเงียบชื่อว่า ความสงัด หมายความว่า การปราศจากนิวรณ์ อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมที่สงบ ชื่อว่าธรรมอันสงัด หมายเอากองธรรมที่ประกอบกับฌานซึ่งสงบจากนิวรณ์ เพราะฉะนั้นปีติและสุขที่เกิดแต่ความสงัดนั้น หรือที่เกิดในธรรมอันสงัดนั้น ชื่อว่า วิเวกช แปลว่า เกิดแต่ความสงัดหรือเกิดในธรรมอันสงัด ก็ได้

🔅 อธิบายปีติ
ในคำว่า ปีติและสุข นี้ มีอรรถาธิบายว่า ธรรมชาติใดที่ทำให้เอิบอิ่มธรรมชาตินั้นชื่อว่า ปีติ ปีตินั้นมีความเอิบอิ่มเป็นลักษณะ มีอันทำกายและใจให้เอิบอิ่มเป็นกิจ หรือมีอันแผ่ซ่านไปในกายและใจเป็นกิจก็ได้ มีอันทำกายและใจให้ฟูขึ้นเป็นอาการปรากฏ

ปีติ ๕ อย่าง
ก็แหละ ปีตินี้นั้น มี ๕ อย่าง คือ:
๑. ขุททกาปีติ ปีติทำให้ขนชูชันเล็กน้อย ลุกชูชันเบา ๆ แล้วก็หายไป ไม่เกิดขึ้นอีก
๒. ขณิกาปีติ ย่อมเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ๆ หลาย ๆ ครั้ง เปรียบเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ
๓. โอกกันติกาปิติ ปีติที่กระทบกายเกิดขึ้นแล้วหายไป กระทบกายแล้วก็หายไป เหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่ง
๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีกำลังมากทำกายให้ลอยขึ้นได้ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
๕. ผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน แผ่ไปทั่วร่างกาย

เรื่องท่านมหาติสสเถระ
เป็นความจริงอย่างนั้น ท่านมหาติสสเถระที่อยู่ ณ วัดปุณณวัลลิกวิหาร เวลาเย็นแห่งวันเพ็ญวันหนึ่ง ท่านได้ไปยังลานพระเจดีย์ เห็นแสงเดือน จึงหันหน้าสู่พระมหาเจดีย์ พลางคิดว่า “เออหนอ ป่านนี้พวกพุทธบริษัททั้ง ๔ คงกำลังพากันไหว้พระมหาเจดีย์อยู่” ดังนี้ แล้วได้ทำอุพเพงคาปีติที่มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจอารมณ์ที่ตนได้เห็นมาตามปกติ ท่านได้ลอยขึ้นบนอากาศไปตกลงที่ลานพระมหาเจดีย์นั่นแล มีอาการเหมือนลูกฟุตบอลอันวิจิตรงดงามตกลงที่พื้นปูนขาว ฉะนั้น

เรื่องกุลธิดาคนหนึ่ง
แม้กุลธิดาคนหนึ่ง อยู่ที่บ้านวัตตกาลกคาม ใกล้ ๆ กับวัดคิริกัณฑกวิหาร ก็ได้ลอยไปบนอากาศด้วยอุพเพงคาปีติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อย่างแรงเหมือนกัน ได้ยินว่า มารดาบิดาของนางกุลธิดานั้น เมื่อจะไปฟังธรรมที่วัดในเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้สั่งเธอว่า “หนู ! เจ้ามีภาระธุระมากจึงไม่อาจที่จะไปในเวลาที่มิใช่กาล แม่และพ่อจักฟังธรรม แบ่งส่วนบุญให้แก่หนูด้วย” ครั้นแล้วก็ได้ออกเดินทางไป ฝ่ายนางกุลธิดาถึงปรารถนาจะไปแทบใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจขัดขืนคำสั่งของมารดาบิดา จึงค้างแขวนอยู่ที่บ้าน เธอไปยืนอยู่ที่เนินบ้าน มองเห็นองค์พระเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ที่กลางแจ้ง ณ วัดคิริกัณฑกวิหารด้วยแสงเดือน ได้เห็นแสงไฟบูชาพระ เจดีย์และหมู่พุทธบริษัททั้ง ๔ กำลังเดินปทักษิณทำการบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น และได้ยินเสียงสวดสาธยายของหมู่พระภิกษุสงฆ์ ขณะนั้น นางจึงรำพึงอยู่ว่า “ชนเหล่าใด มีโอกาสได้ไปวัดแล้วเดินเวียนไปบนลานพระเจดีย์เห็นปานนี้ และได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะเห็นปานนี้ ชนเหล่านั้น ช่างมีบุญจริงหนอ” ฉะนี้แล้ว อุพเพงคาปีติได้เกิดขึ้นแก่นาง ขณะที่นางเห็นองค์พระเจดีย์เหมือนดังกองแก้วมุกดานั่นแล เธอได้ลอยขึ้นไปบนอากาศ ไปลงจากอากาศที่ลานพระเจดีย์ก่อนกว่ามารดาบิดาเสียอีก ไหว้พระเจดีย์แล้วได้ยืนฟังธรรมอยู่ ภายหลังมารดาบิดามาถึงแล้วจึงถามนางว่า “แม่หนู เจ้ามาทางไหน ?” นางตอบว่า “หนูมาโดยทางอากาศ มิได้มาโดยทางเท้าค่ะ” เมื่อมารดาบิดาติงว่า “แม่หนู พระอรหันตขีณาสพต่างหาก จึงจะสัญจรไปโดยอากาศได้ นี่หนูมาได้อย่างไร ?” เธอจึงตอบชี้แจงว่า “ขณะที่หนูยืนแลดูพระเจดีย์ด้วยแสงเดือนหงายอยู่นั้น ปีติอันมีกำลังแรงซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ได้เกิดแก่หนู เมื่อเป็นเช่นนี้ หนูก็มิได้ทราบถึงภาวะที่ตนยืนอยู่ มิได้ทราบถึงภาวะที่ตนนั่งอยู่ แต่แล้วได้ลอยขึ้นไปบนอากาศมาตกลงที่ลานพระเจดีย์นี้ ด้วยนิมิตที่หนูยึดเอานั่นเอง” ฉะนี้แล อุพเพงคาปีติ ย่อมมีกำลังมาก ขนาดที่ทำให้ลอยไปบนอากาศได้ ด้วยประการฉะนี้

เรื่องอุพเพงคาปีติ ทำให้ตัวเบาจนลอยไปได้ไกล ๆ ดังตัวอย่างนี้ คนธรรมดาโดยมากไม่ค่อยจะเชื่อกัน บางพวกก็เข้าใจว่า เป็นเรื่องไร้สาระโกหกกันเล่น ความจริง สิ่งอัศจรรย์เช่นนี้เป็นสิ่งที่มีได้เป็นได้จริง ๆ ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ปรากฏเป็นประจักษ์แก่นักปฏิบัติทั้งหลายว่า สามเณรรูปหนึ่งลอยขึ้นไปอยู่บนฝาผนังอุโบสถ ซึ่งปรักหักพังไม่มีหลังคาโดยไม่รู้ตัว เวลาลงต้องช่วยกันหาบันไดมาพาดให้ สามเณรอีกรูปหนึ่ง ณ วัดเดียวกันนี้ลอยไปถึงบ้านโยมมารดาของตน (อาสภเถร)

ปีติที่ประสงค์เอา ณ ที่นี้ก็แหละ ปีติ ๕ ประการนี้นั้น เมื่อถือเอาห้อง ถึงความแก่เต็มที่แล้ว ย่อมทำปัสสัทธิ ๒ ประการให้บริบูรณ์ คือ กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต ๑ เมื่อปัสสัทธิถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้ว ย่อมทำสุขทั้ง ๒ ประการให้บริบูรณ์ คือ กายิกสุข สุขกาย ๑ เจตสิกสุข สุขใจ ๑ เมื่อสุขถือเอาห้องถึงความแก่ได้ที่แล้ว ย่อมทำสมาธิ ๓ ประการให้บริบูรณ์ คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ ในบรรดาปีติ ๕ ประการนั้น ผรณาปีติ อันใดที่เจริญแก่กล้าขึ้นพอจะเป็นมูลฐานแก่อัปปนาสมาธิ ถึงซึ่งอันประกอบเข้ากับสมาธิได้ ปีตินี้ประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้

🔅 อธิบายสุข
ก็แหละ ความสบายอื่นจากปีติ ชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมกินเสียซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขนั้น มีความดีใจเป็นลักษณะ มีอันเพิ่มพูนสัมปยุตธรรมให้เจริญเป็นกิจ มีอันอนุเคราะห์เป็นอาการปรากฏความต่างกันระหว่างปีติกับสุข แหละถึงแม้ในจิตบางดวง เช่น ปฐมฌานจิตเป็นต้น จะไม่มีการแยกกันระหว่างปีติกับสุขก็ตาม แต่ความยินดีที่เกิดขึ้นเพราะได้อิฏฐารมณ์ จัดเป็น ปีติ การเสวยรสแห่งอารมณ์ที่ได้มานั้น จัดเป็น สุข ปีติมีในจิตใด ในจิตนั้นก็มีสุขด้วยแต่สุขมีในจิตใด ในจิตนั้นไม่มีปีติเสมอไป ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์ เปรียบเหมือนเมื่อคนสิ้นเสบียงในทางทุรกันดาร ในขณะที่ได้เห็นหรือได้ข่าวซึ่งป่าไม้หรือน้ำ ปีติย่อมเกิด ในขณะที่เข้าไปถึงร่มเงาป่าไม้หรือรับประทานน้ำแล้ว สุขย่อมเกิด นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ปีติและสุขนี้ท่านกล่าวหมายเอาโตยเป็นสิ่งที่ปรากฏในสมัยนั้นๆ (คำว่า ปีติถือเอาห้อง หมายความว่า ปีติเจริญเต็มที่ ควรจะเป็นเหตุให้เกิดปัสสัทธิต่อไปได้)

🔅 อธิบายมีปีติและสุข
ปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วย ย่อมมีแก่ฌานนั้น หรือย่อมมีในฌานนั้น ดังนั้น ฌานนั้นท่านจึงเรียกว่า มีปีติและสุข ด้วยประการฉะนี้ อีกประการหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่า ปีติและสุข เช่นคำว่า ธรรมและวินัยเป็นต้น ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด มีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น ดังนี้ ฌานนั้นชื่อว่า มีปีติและสุขเกิดแต่ความสงัด แม้ด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างว่า ฌานย่อมเกิดแต่ความสงัด ฉันใด ปีติและสุขในที่นี้ ก็ย่อมเกิดแต่ความสงัดเหมือนกันฉันนั้น อนึ่ง ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดนั้น ย่อมมีแก่ฌานนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวบวกเข้าเป็นบทเดียวกันว่า วิเวกชมปีติสุขํ ซึ่งแปลว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดดังนี้ ก็ใช้ได้ แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยนัยมีอาทิว่า สุขนี้ ประกอบด้วยปีตินี้ ฉะนี้ แม้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น นักศึกษาก็พึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน

🔅 อธิบายบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน
คำว่า ปฐมฌาน จักอธิบายให้แจ่มแจ้งข้างหน้า คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่เข้าไปถึงแล้ว คือประสบแล้ว อีกนัยหนึ่ง คำว่า บรรลุแล้ว ได้แก่ทำให้ถึงพร้อมแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว แต่ในคัมภีร์วิภังค์ทรงแสดงไว้ว่า การได้เฉพาะ การถึง การถึงพร้อม การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน ชื่อว่า บรรลุแล้ว แม้พระพุทธพจน์นั้นอันนักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน

🔅 อธิบายวิหรติ ที่แปลว่าอยู่
คำว่า วิหรติ ที่แปลว่า อยู่ นั้น อธิบายว่า โยคีบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยฌานมีประการดังกล่าวฉะนี้ ย่อมยังการกระทำของอัตภาพร่างกาย คือการประพฤติ การเลี้ยง การเป็นไป การให้เป็นไป การเที่ยวไป และการผัดผ่อนแห่งอัตภาพร่างกายให้สำเร็จ โดยการอยู่ด้วยอิริยาบถชนิดที่สมควรแก่อัตภาพนั้น ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า คำว่า ย่อมอยู่ นั้น คือ ย่อมกระทำ ย่อมประพฤติ ย่อมเลี้ยง ย่อมเป็นไป ย่อมให้เป็นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมเดินไป เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า วิหรติ ย่อมอยู่ ฉะนี้ (ดูเทียบ อภิ. วิ. (ไทย) ๓๕/๕๔๐/๓๙๖. คำว่า ย่อมอยู่ นั้น มิได้หมายความว่าอยู่นิ่ง ๆ ด้วยอิริยาบถเดียว แต่ย่อมอยู่ด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ตามสะดวกสบาย)

🔅 อธิบายละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้
องค์สำหรับละมี ๕ นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌานละองค์ ๕ ด้วยอำนาจที่ประหานนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
๒. พยาปาทะ ความไม่ชอบใจ
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาและความเชื่องซึม
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความสงสัยตัดสินใจไม่ได้

ก็เมื่อโยคีบุคคลยังละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ไม่ได้ ฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนั้น นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของฌานนั้น ถึงแม้ว่าในขณะฌานเกิดนั้น แม้อกุศลธรรมอย่างอื่น ๆ อันฌานลาภิบุคคลย่อมละได้ก็จริง แต่กระนั้นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้เท่านั้นที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษเป็นความจริง จิตที่ถูก กามฉันทะนิวรณ์ รบเร้าไว้ในอารมณ์ต่าง ๆ แล้ว ย่อม ไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นเอกภาพคือมีอารมณ์อย่างเดียว หรือจิตที่ถูกกามฉันทนิวรณ์ครอบงำแล้วนั้น ย่อมไม่ดำเนินไปสู่ปฏิปทาเพื่อประหานเสียซึ่งกามธาตุ (คือกามโลก) และจิตที่ถูก พยาปาทะนิวรณ์ กดดันไว้ในอารมณ์ ย่อมเป็นไปอย่างกระพร่องกระแพร่งไม่บริบูรณ์ จิตที่ถูก ถีนมิทธะนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมไม่ควรแก่อันที่จะประกอบการภาวนา จิตที่ถูก อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ครอบงำแล้ว ย่อมหมุนคว้างไปไม่สงบอยู่ได้เลย จิตที่ถูก วิจิกิจฉานิวรณ์ เข้าแทรกแซงแล้ว ย่อมไม่หยั่งลงสู่ปฏิปทาอันจะให้สำเร็จการบรรลุถึงซึ่งฌานได้ด้วยประการฉะนี้ เฉพาะนิวรณ์ ๕ นี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นองค์สำหรับละ เพราะเป็นข้าศึกที่ทำอันตรายแก่ฌานโดยพิเศษ

องค์แห่งปฐมฌาน ๕
แหละ เพราะเหตุที่ วิตก ย่อมยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์ วิจาร ตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ ปีติ อันเป็นที่เกิดแห่งประโยคสมบัติของจิตซึ่งมีประโยคอันวิตกและวิจารให้ถึงพร้อมแล้วด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมทำให้จิตเอิบอิ่ม สุข ย่อมทำสัมปยุตธรรมให้เจริญและถัดมา เอกัคคตา อันความยกขึ้น ความตามผูกพัน ความเอิบอิ่มและความเจริญเหล่านี้อนุเคราะห์แล้ว ย่อมตั้งจิตนั้นพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมที่เหลือไว้ในอารมณ์อันเป็นเอกภาพ อย่างสม่ำเสมอ โดยถูกต้อง ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบถึงภาวะที่ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ ๕ เหล่านี้ คือ ธรรมชาติที่ยกจิตสู่อารมณ์ธรรมชาติที่พิจารณาอารมณ์ธรรมชาติที่ทำจิตให้เอิบอิ่ม
๑. วิตก
๒. วิจาร
๓. ปีติ
๔. สุข ธรรมชาติที่ทำจิตให้ยินดี
๕. จิตเตกัคคตา ความมีอารมณ์อย่างเดียวของจิต

ก็เมื่อองค์ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่า ฌานเกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น องค์ ๕ เหล่านี้ จึงเรียกว่าองค์ที่ประกอบของฌานนั้น นักศึกษาพึงยึดหลักไว้เถิดว่า ขึ้นชื่อว่า ฌาน อื่นจากที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้หามีไม่ ก็แหละ เหมือนอย่างที่ชาวโลกเรียกขานกันว่า เสนามีองค์ ๔ ดนตรีมีองค์ ๕ มรรคมีองค์ ๘ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้น ฉันใด แม้ฌานนี้นักศึกษาก็พึงเข้าใจว่า ที่ท่านเรียกว่า มีองค์ ๕ หรือประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น ด้วยอำนาจสักว่าองค์เท่านั้นเช่นเดียวกัน

🔅 องค์ฌาน ๕ มีกำลังมากกว่าจิตปกติ
แหละ แม้ว่าองค์ฌานทั้ง ๕ เหล่านี้ จะได้มีในขณะอุปจารสมาธิเกิด และในขณะอุปจารสมาธินั้นจะมีกำลังมากกว่าจิตปกติก็ตาม ส่วนในปฐมฌานนี้ องค์ฌานทั้ง ๕ มีกำลังมากกว่าอุปจารสมาธิขึ้นไปอีก เพราะบรรลุถึงลักษณะที่เป็นรูปาวจรกุศลจิตแล้ว จริงอยู่ในปฐมฌานนี้ วิตก ย่อมเกิดยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์โดยอาการอันบริสุทธิ์ที่สุด วิจาร ย่อมเกิดขึ้นตามพิจารณาอารมณ์อย่างดีที่สุด ปีติและสุขย่อมเกิดแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่า ณ ที่ตรงไหนทั่วสรรพางค์กายของฌานลาภีบุคคลนั้น ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดจะไม่ถูกต้องนั้นเป็นอันไม่มี ฝ่าย จิตเตกัคคตา คือภาวะที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียวนั้น ย่อมเกิดขึ้นถูกต้องทั่วอารมณ์ทั้งหลาย มีอาการเหมือนดั่งฝาสมุกอันบนสวมลงถูกตัวสมุกอันล่างโดยทั่วสิ้นฉะนั้น อรรถาธิบายนี้เป็นความต่างกันระหว่างปีติและสุขกับองค์ฌานอื่น ๆ แม้นอกนี้

🔅 จิตเตกัคคตาเป็นองค์ฌานอันหนึ่ง
ในบรรดาองค์ฌานทั้ง ๕ นั้น ถึงแม้ว่าจิตเตกัคคตาจะมิได้ทรงแสดงไว้ในพระบาลีที่ว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ เป็นต้นนั้นก็ตาม แม้กระนั้น จิตเตกัคคตาก็จัดเข้าเป็นองค์ฌานองค์หนึ่งเหมือนกัน เพราะเหตุที่ทรงเทศนาไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และจิตเตกัคคตา ชื่อว่า ฌาน ดังนี้ อธิบายว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาพระบาลีไว้โดยนัยมีอาทิว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ด้วยข้อพระพุทธาธิบายอย่างใด ก็เป็นอันว่าข้อพระพุทธาธิบายนั้น พระองค์ทรงประกาศแสดงไขไว้แล้วว่า จิตเตกัคคตา ดังนี้ ในคัมภีร์วิภังค์นั้น ฉะนั้น นักศึกษาอย่าพึ่งเข้าใจเขวไปว่า จิตเตกัคคตา นั้นท่านไม่ได้ทรงถือเอาในพระบาลีที่แสดงถึงฌานนั้น ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบายมีความสงบ ๆ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวสังเขปไว้ว่า มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ นั้น มีอรรถาธิบายโดยพิสดารดังต่อไปนี้: นักศึกษาพึงทราบความงาม ๓ อย่างของปฐมฌาน ด้วยอำนาจความงามในเบื้องต้น ๑ ความงามในท่ามกลาง ๑ และความงามในที่สุด ๑ และพึงทราบความสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ประการของปฐมฌาน ด้วยอำนาจลักษณะของความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง และความงามในที่สุดเหล่านี้นั้นนั่นแล ในการแสดงถึงความงามและลักษณะแห่งความงามของปฐมฌานนั้นมีคำพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ :

ความงาม ๓ ประการ
ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน
ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา เป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน
ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌาน

ลักษณะแห่งความงามเบื้องต้น ๓ ประการ
ข้อว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา เป็นความงามเบื้องต้นของปฐมฌานนั้น ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน มีลักษณะ ๓ ประการ คือ จิตย่อมบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก ๑ เพราะเหตุที่จิตบริสุทธิ์ จิตจึงดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง ๑ เพราะเหตุที่จิตดำเนินไป จิตจึงแล่นตรงไปในสมถนิมิตอันเป็นกลางนั้น ๑

อาการที่จิตบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึก อาการที่จิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลางด้วยเหตุที่บริสุทธิ์ และอาการที่จิตแล่นตรงไปในสมถนิมิตอันเป็นกลางด้วยเหตุที่ดำเนินไปแล้วเหล่านี้เป็นลักษณะ ๓ ประการ แห่งความงามในเบื้องต้นของปฐมฌาน ซึ่งมีความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาเป็นความงามในเบื้องต้น ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่าปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้นและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ด้วยประการฉะนี้

ลักษณะแห่งความงามท่ามกลาง
ข้อว่า ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลางของปฐมฌานนั้น ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในท่ามกลางของปฐมฌานมีลักษณะ ๓ ประการ คือ โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตอันบริสุทธิ์แล้ว ๑ ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว ๑ ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพ แล้ว ๑ อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่บริสุทธิ์แล้ว อาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และอาการที่เพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้ว เหล่านี้เป็นลักษณะประการแห่งความงามในท่ามกลางของปฐมฌาน ซึ่งมีความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาเป็นความงามในท่ามกลาง ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า ปฐมฌานมีความงามในท่ามกลางและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ด้วยประการฉะนี้

ลักษณะแห่งความงามในที่สุด ๔ ประการ
ข้อว่า ความร่าเริงใจ เป็นความงามในที่สุดของปฐมฌานนั้น ความงามในที่สุดของปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร ? ตอบ ความงามในที่สุดของปฐมฌานมีลักษณะ ๔ ประการ คือ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดในฌานจิตนั้นไม่ล่วงล้ำค่ำเกินกัน ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่อินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ทำให้วิริยะอันสมควรแก่อินทรีย์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น ๑ ความร่าเริงใจเพราะผลที่ได้อาเสวนปัจจัย ๑ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ๔ ประการแห่งความงามในที่สุดของปฐมฌานซึ่งมีความร่าเริงใจเป็นความงามในที่สุด ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปฐมฌาน มีความงามในที่สุดและสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๔ ด้วยประการฉะนี้แล

มติวัดอภัยคิรีวิหาร
ในความงาม ๓ อย่างนั้น อุปจารสมาธิพร้อมทั้งธรรมเครื่องปรุงแต่ง คือบริกรรมในอาวัชชนะต่าง ๆ ชื่อว่า ปฏิปทาวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา อัปปนาสมาธิ ชื่อว่าความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา ปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาฌานที่ได้บรรลุแล้ว ชื่อว่า ความร่าเริงใจ อธิบายนี้ท่านอาจารย์ทั้งหลายชาววัดอภัยคิรีวิหาร (วัดใหญ่ในลังกา) พรรณนาไว้

มติในปฏิสัมภิทามรรค
แต่เพราะเหตุที่ในพระบาลีแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านแสดงไว้ว่า จิตที่ถึงเอกภาพแล้ว จึงจะเป็นอันแล่นไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา จึงเป็นอันเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขา และจึงจะเป็นอันร่าเริงแล้วด้วยญาณ ดังนี้ ฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาจะมีได้ก็ด้วยอำนาจที่มาถึงภายในอัปปนาสมาธิเท่านั้น ความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขาจะมีได้ด้วยการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขาและความร่าเริงใจจะมีได้ด้วยอำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณอันทำให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ล่วงล้ำกันเป็นต้นให้สำเร็จ (หมายความว่า อรรถาธิบายของพวกอาจารย์วัดอภัยคิรีวิหารผิดจากพระบาลีปฏิสัมภิทามรรค) ถาม ข้อนี้ มีอรรถาธิบายอย่างไร ? ตอบ มีอรรถาธิบายว่า ในวาระที่อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น จิตจึงจะบริสุทธิ์จากกลุ่มกิเลสคือนิวรณ์อันเป็นข้าศึกของฌานนั้น เพราะจิตเป็นสภาพที่บริสุทธิ์แล้ว จึงจะหลีกเว้นจากนิวรณ์เครื่องกั้น ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง สมถนิมิตอันเป็น กลางนั้นได้แก่อัปปนาสมาธิที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอนั่นเอง

🔅 อธิบายความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทา
ก็แหละ จิตดวงก่อน ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยแก่อัปปนาจิตนั้น ได้แก่โคตรภูจิตกำลังเข้าไปสู่ภาวนาที่แท้ ชื่อว่า ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นกลาง ด้วยนัยที่แปรไปแห่งสันตติเพียงอันเดียว เพราะจิตดำเนินไปด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า แล่นไปในสมถนิมิตนั้นด้วยการดำเนินเข้าสู่ภาวะที่แท้ นักศึกษาจึงเข้าใจถึงความบริสุทธิ์แห่งปฏิปทาอันให้สำเร็จอาการที่บริสุทธิ์จากอันตรายเป็นต้นซึ่งมีอยู่ในจิตดวงก่อนแห่งอัปปนาจิต ด้วยอำนาจที่มาถึงในอุปปาทขณะแห่งปฐมฌาน ด้วยประการฉะนี้ก่อน

🔅 อธิบายความเจริญได้ที่แห่งอุเบกขา
แหละเมื่อจิตนั้นบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์อีก เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องทำให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตอันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อจิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตด้วยการเข้าสู่สภาวะที่สงบ โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตตั้งมั่นอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้ว และเมื่อฌานจิตนั้น ละความคลุกคลีด้วยกิเลสเข้าไปตั้งอยู่โดยความเป็นเอกภาพ โดยภาวะที่ดำเนินไปสู่สมถนิมิตแล้วนั่นแล โยคีบุคคลก็ไม่ทำความขวนขวายในอันที่จะทำให้จิตปรากฏเป็นเอกภาพอีก ชื่อว่า ย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ปรากฏเป็นเอกภาพแล้ว นักศึกษาพึงเข้าใจถึงความเจริญได้ที่ของอุเบกขา ด้วยอำนาจการทำกิจของตัตรมัชฌัตตุเบกขา ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบายความร่าเริงใจ
แหละอาการทั้งหลาย คือ เมื่อฌานจิตเจริญได้ที่แล้วด้วยอุเบกขาอย่างนี้ ธรรมที่เนื่องเป็นคู่กันคือสมาธิกับปัญญาซึ่งเกิดแล้วในฌานจิตนั้น เป็นไปไม่ล้ำเกินซึ่งกันและกัน อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น เป็นไปมีรสเป็นอันเดียวกันด้วย วิมุตติรส เพราะหลุดพ้นจากกิเลสนานาชนิด ๑ โยคีบุคคลนั้นทำวีริยะอันควรแก่ธรรมเหล่านั้นคือสมควรแก่ภาวะที่ธรรมเหล่านั้นไม่ล้ำเกินกันและมีรสเป็นอันเดียวกันให้เป็นไปอยู่ ๑ การเสพอารมณ์ของฌานจิตนั้นเป็นไปในขณะนั้น (ภังคขณะ) ๑ โดยเหตุที่อาการทั้งหมดนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะโยคีบุคคลเห็นโทษและอานิสงส์นั้น ๆ ในความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของภาวนาด้วยญาณ จึงได้ร่าเริงใจแล้ว ทำให้จิตบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ด้วยประการนั้น ๆ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า นักศึกษาจึงเข้าใจว่า ความร่าเริงใจจะมีได้ก็ด้วยอำนาจความสำเร็จแห่งการทำกิจของญาณให้ผ่องใส โดยยังภาวะที่ธรรมทั้งหลายไม่ล้ำเกินกันเป็นต้นให้สำเร็จ

🔅 ญาณปรากฏชัดด้วยอุเบกขา
เพราะในภาวนาจิตนั้น ญาณย่อมปรากฏด้วยอำนาจอุเบกขาเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูเฉยซึ่งจิตที่ตนประคองไว้อย่างนั้นเป็นอย่างดี ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่ง ด้วยอำนาจอุเบกขา ด้วยอำนาจปัญญา จิตย่อมหลุดพ้นจากกิเลสอันมีสภาวะต่าง ๆ ด้วยอำนาจอุเบกขา ปัญญินทรีย์ย่อมมีประมาณยิ่งด้วยอำนาจความหลุดพ้น คือ ศรัทธากับปัญญาและวีริยะกับสมาธิ และด้วยอำนาจปัญญา ย่อมมีรสเป็นอันเดียวกันคือ ทำกิจเท่ากัน เพราะผลที่มีรสเป็นอันเดียวกัน จึงชื่อว่า ภาวนา ฉะนั้น ความร่าเริงใจอันเป็นกิจแห่งญาณ ท่านจึงกล่าวว่าเป็นความงามในที่สุดฉะนี้

วิกิ

ผลการค้นหา