แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงบทความทั้งหมด

โลกุตรจิตพิสดาร ๔๐ ดวง

การนับโลกุตรจิตนั้น มี ๒ นัย

    ๑)โลกุตรจิต นับโดยย่อ มีจำนวน ๘ ดวง
    ๒) โลกุตรจิต นับโดยพิสดาร มีจำนวน ๔๐ ดวง

โลกุตรจิต โดยย่อ ๘ ดวงนั้น ได้แสดงไว้แล้ว ซึ่งได้แก่ มัคคจิต ๔ และผลจิต ๔ รวมเป็น ๘ ดวง โลกุตรจิตที่นับโดยย่อนี้ หมายถึงโลกุตรจิตที่ประกอบด้วย อารัมมนูปนิชฌาน โดยที่ ผู้ปฏิบัติพิจารณาการเกิดดับของสังขารธรรม รูป นาม เป็นอารมณ์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ที่เรียกว่า สุขวิปัสสกพระอรหันต์ โลกุตรจิตที่ไม่มี อารัมมนูปนิชฌานนี้ อนุโลมนับรวมอยู่ในปฐมฌาน โดยเหตุที่ว่า มีเจตสิกที่เป็นองค์ของปฐมฌานประกอบอยู่ครบ แต่พระโยคาวจรผู้เป็นสุขวิปัสสกไม่สามารถพิจารณาองค์ฌานให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ และไม่อาจละองค์ฌาน มีวิตก วิจาร เป็นต้นได้ และไม่สามารถ เข้าปฐมฌานได้ หรือพระโยคาวจรฌานลาภีบุคคล ที่นิยมวิปัสสนา ไม่นิยมฌานที่ตนได้ แต่พิจารณาสังขารธรรม มีรูป นาม เป็นอารมณ์ ก็เป็นสุขวิปัสสกเหมือนกัน 

ความแตกต่างขแฉองโลกุตรจิตตามประเภททา ืมมมมืืของฌาน จึงไม่มีในโลกุตรจิตที่ไม่ได้ประกอบ ด้วยอารัมมนูปนิชฌาน จึงมีได้เพียง ๔ ดวง ตามจำนวนที่นับโดยย่อเท่านั้น ส่วนโลกุตรจิตที่นับโดยพิสดารนั้น หมายถึง โลกุตรจิตโดยย่อ ๔ ดวงนั้น เมื่อประกอบกับอารัมมนูปนิชฌาน และมีความเบื่อหน่ายในองค์ฌานอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งมี ๕ ชั้น คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ ปัญจมฌาน จึงเป็นจำนวน ๔๐ ดวง หมายความว่า จิตของพระอริยบุคคลที่ได้ฌาน ด้วยนั้น เมื่อโลกุตรจิตเกิดขึ้น โดยอาศัยฌานจิตเป็นบาท จิตแต่ละดวงนั้นประกอบด้วย ฌานแต่ละชั้น จึงต่างกันเป็นชั้นละประเภท โลกุตรจิต ๘ ดวง ประกอบด้วยฌาน ๔ ชั้น จึงเป็นจำนวน ๘ X ๕ = ๔๐ ดวง

โลกุตรจิตพิสดาร มีจำนวน ๔๐ ดวงนี้ จำแนกได้เป็นมัคคจิตพิสดาร ๒๐ ดวง และผลจิตพิสดารอีก ๒๐ ดวง ดังพระบาลีแสดงว่า
๑๐. จตุมคฺคปุปเภเทน    จตุธา กุสลนุตถา
ปากนฺตสฺส ผลตฺตาติ       อฎฐธานุตฺตรํ มตํฯ
            ฯลฯ                             ฯลฯ
๑๔. ฌานงฺคโยคเภเทน   กเตวเกกนฺต ปญฺจธา
วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ            จตฺตาฬีสวธนฺติ จฯ

พึงทราบว่า โลกุตรจิตโดยย่อ มี ๘ ดวง คือ กุศลจิตว่าโดยประเภทแห่งมรรคมี ๔ วิบากจิตก็มี ๔ เพราะเป็นผลของมรรคทั้ง ๔ โลกุตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดารมี ๔๐ ดวงนั้น เพราะว่าโดยประเภทแห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โลกุตรจิตดวงหนึ่ง ๆ มีฌาน ๔ ฉะนั้น โลกุตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐

ข้อสังเกต
โลกุตรจิตไม่ได้จำแนกไปตามอรูปฌานอีก ๔ ฌาน เพราะอรูปฌานทั้ง ๔ นั้น นับเป็นปัญจมฌาน และเมื่อว่าโดยองค์ฌาน ก็มีเพียง ๒ คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา และเหมือนกันกับรูปาวจรปัญจมฌาน ต่างกันแต่อารมณ์เท่านั้น ส่วนองค์ฌานคงเท่ากัน ดังนั้น จึงนับว่า ฌานทั้ง ๙ ฌาน มีองค์ฌานเพียง ๕ ชั้น โลกุตรจิต ๘ ดวง จำแนก ตามฌาน ๕ ชั้น จึงมี ๔๐ ดวง

🔅 จิตเภท

จิตเภท หมายถึง การจำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ จิตทั้งหมดเมื่อนับโดยย่อมีจำนวน ๘๙ ดวง และนับโดยพิสดารมี ๑๒๑ ดวง เมื่อจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน ๙ นัย คือ : -
  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ, กุศลชาติ, วิปากชาติ และกิริยาชาติ
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ จำแนกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ได้แก่ กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยอโสภณะ และโสภณะ
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยโลกียะ และโลกุตระ
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยอเหตุกะ และสเหตุกะ
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยอฌาน และฌาน
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยเวทนา ๕ ได้แก่ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, โสมนัสเวทนา, โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยสัมปยุต และวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยอสังขาริกและสสังขาริก



🔅 ๑. จำแนกจิต ๘๙ โดยชาติเภทนัย
จิต ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติ หรือตระกูลแห่งการเกิดขึ้นของจิตแล้วมี ๔ ชาติด้วยกัน ดังนี้
คาถาสังคหะ
๑๑. ทุวาทสากุสลาเนว        กุสลาเนกวีสติ
              อตุตีเสว วิปากานิ        กุริยาจิตฺตานิ วีสติฯ

แปลความว่า จิตทั้งหมด ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยแล้ว มี ๔ ชาติ คือ อกุศลชาติ ๑๒ กุศลชาติ ๒๑ วิปากชาติ ๓๖ และกิริยาชาติ ๒๐
        อกุศลชาติ ๑๒  เป็นชาติที่เป็นแดนเกิดแห่งโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง
        กุศลชาติ ๒๑    เป็นชาติอันเป็นแดนเกิดที่ปราศจากโทษ และให้ผลเป็นความสุข ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ คือ : -
มหากุศลจิต            ๘ ดวง 
มหัคคตกุศลจิต       ๙ ดวง
โลกุตรกุศลจิต        ๔ ดวง

        วิปากชาติ ๓๖ เป็นชาติที่เป็นผลของบาปและบุญ ได้แก่
อกุศลวิบากจิต          ๗ ดวง
อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง
มหาวิบากจิต             ๘ ดวง
มหัคคตวิบากจิต        ๙ ดวง
โลกุตรวิบากจิต          ๔ ดวง

        กิริยาชาติ ๒๐  เป็นชาติของจิตที่ไม่เป็นบุญและบาป และทั้งไม่ใช่เป็นผลของบุญหรือบาปด้วย เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจตามหน้าที่เท่านั้น ได้แก่
อเหตุกกิริยาจิต         ๓ ดวง
มหากิริยาจิต             ๘ ดวง 
มหัคคตกิริยาจิต        ๙ ดวง      

วิปากชาติ และกิริยาชาตินี้ เรียกว่า อัพยากตชาติ หมายถึง เป็นชาติของจิตที่ไม่ใช่อกุศลชาติ และกุศลชาติทั้ง ๒

🔅 ๒. จำแนกจิต ๘๙ โดยภูมิเภทนัย
จิตทั้ง ๘๙ ดวง เมื่อจำแนกโดยภูมิ คือสถานที่เกิด หรือที่อยู่อาศัยของจิตแล้วมี ๔ ภูมิด้วยกัน ดังนี้

คาถาสังคหะ
๑๒. จตุปญฺญาสธา กาเม    รูเป ปณฺณรสิริเย
จิตฺตานิ ทฺวาทสารูเป           อฎฐธานุตฺตโร ตถาฯ

ฺแปลความว่า จิตทั้งหมด ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้ว ได้กามาวจรภูมิ ๕๔ รูปาวจรภูมิ ๑๕ อรูปาวจรภูมิ ๑๒ และโลกุตรภูมิ ๘ เท่านั้น

กามาวจรภูมิ ๕๔ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของกามาวจรจิต ได้แก่
  • อกุศลจิต    ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต    ๑๘ ดวง
  • มหากุศลจิต    ๘ ดวง
  • มหาวิบากจิต    ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต    ๘ ดวง
รูปาวจรภูมิ ๑๕ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปาวจรจิต ได้แก่
  • รูปาวจรกุศลจิต  ๕ ดวง
  • รูปาวจรวิบากจิต  ๕ ดวง
  • รูปาวจรกิริยาจิต  ๕ ดวง
อรูปาวจรภูมิ ๑๒ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของอรูปาวจรจิต ได้แก่
  • อรูปาวจรกุศลจิต  ๔ ดวง
  • อรูปาวจรวิบากจิต  ๔ ดวง
  • อรูปาวจรกิริยาจิต  ๔ ดวง
โลกุตรภูมิ ๘ เป็นที่เกิดของจิตที่พ้นจากภูมิทั้ง ๓ ข้างต้น ได้แก่
  • โลกุตรกุศลจิต  ๔ ดวง
  • โลกุตรวิบากจิต  ๔ ดวง
หมายเหตุ ความหมายของคำว่า ภูมิ แปลได้หลายนัย คือ แปลว่า แผ่นดิน, ที่อยู่อาศัย, พื้นเพหรือชั้นก็ได้ ความหมายของภูมิในที่นี้ หมายถึง ชั้น อันเป็นที่อาศัยของจิตต่าง ๆ ซึ่งจำแนกด้วยอำนาจของตัณหา ที่เรียกว่าอวัตถาภูมิ



จำแนกประเภทการนับจำนวนจิต
คาถาสังคหะ
๑๓. อิตฺถเมกูนนวุติปฺ    ปเภทํ ปน มานสํ
เอกวีสสตํ วาถ    วิภชนุติ วิจกฺขณาฯ

แปลความว่า จิตทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว มีการนับ ๒ ประเภท คือ นับจิตมี ๘๙ ดวง ประเภทหนึ่ง และนับจิตมี ๑๒๑ ดวง อีกประเภทหนึ่ง จำนวนที่ต่างกันของจิต ๒ ประเภทนั้น ต่างกันที่โลกุตรจิตแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนกามาวจรจิต, รูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต มีจำนวนเท่าเดิม ไม่มีจำนวนที่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด


🔅 ๓. จำนวนจิต ๘๙ โดยโสภณเภทนัย
การจำแนกจิต เป็นประเภทจิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า “โสภณจิต” และจิตประเภทอื่นที่นอกจากโสภณจิต ที่เรียกว่า “อโสภณจิต” นั้น จำแนกออกได้ดังนี้

โสภณจิต มี ๕๙ ดวง ได้แก่
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
อโสภณจิต มี ๓๐ ดวง ได้แก่
  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
🔅 ๔. จำแนกจิต ๘๙ โดยโลกเภทนัย
การจำแนกจิตเป็นประเภทจิตที่ยังต้องท่องเที่ยว วนเวียนไปในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก, รูปโลก และอรูปโลก ที่เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากการท่องเที่ยวไปในโลก เรียกว่า “โลกุตรจิต” จำแนกได้ดังนี้

โลกียจิต มี ๘๑ ดวง ได้แก่
  • กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตรจิต มี ๘ ดวง ได้แก่
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
🔅 ๕. จํานวนจิต ๘๙ โดยเหตุเภทนัย
การจำแนกจิตโดยเหตุเภทนัย หมายถึง การจำแนกจิต ๘๙ ดวง โดยประเภทที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ เรียกว่า “อเหตุกจิต” ส่วนประเภทที่มีสัมปยุตเหตุ เรียกว่า “สเหตุกจิต”

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบาป และเหตุบุญประกอบ คือ ไม่มี โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ และไม่มีอโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ
  • อกุศลวิบากจิต ๗
  • อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ 
  • อเหตุกกิริยาจิต ๓
สเหตุกจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ทั้งเหตุบาปและเหตุบุญตามสมควร คือ สเหตุกจิตบางดวง มีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว เรียกว่า “เอกเหตุกจิต” บางดวงก็มีเหตุประกอบได้ ๒ เหตุ เรียกว่า “ทวิเหตุกจิต” และบางคราวก็มีเหตุประกอบได้ถึง ๓ เหตุ เรียกว่า “ติเหตุกจิต” จิตประกอบด้วยเหตุอย่างมากที่สุดได้เพียง ๓ เหตุเท่านั้น ดังนั้น สเหตุกจิตทั้ง ๓ ประเภท จึงจำแนกออกได้ดังนี้ คือ : -
    ๑) เอกเหตุกจิต มี ๒ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ๒ มี โมหเหตุ เพียงเหตุเดียว
    ๒) ทวิเหตุกจิต มี ๒๒ ดวง ได้แก่
  • โลภมูลจิต ๘ มี โลภเหตุ กับ โมหเหตุ
  • โทสมูลจิต ๒ มี โทสเหตุ กับ โมหเหตุ
  • มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
  • มหาวิบากญาณวิปปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
  • มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต ๔  มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
    ๓) ติเหตุกจิต มี ๔๗ ดวง ได้แก่
  • มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • มหาวิบากญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • มหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรกุศลจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรวิบากจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรกิริยาจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรกุศลจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรวิบากจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • โลกุตรจิต ๘ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
รวมความว่า จิต ๘๙ ดวง เมื่อจำแนกโดยเหตุเภทนัยแล้ว ได้แก่ “อเหตุกจิต ๑๘ ดวง” และ “สเหตุกจิต ๗๑ ดวง


🔅 ๖. จำแนกจิต ๘๙ โดยฌานเภทนัย
การจำแนกจิตโดยประเภทแห่งฌานนั้น หมายถึง การจำแนกจิตที่ประกอบด้วยอารัมมนูปนิชฌาน หรือประกอบด้วยองค์ฌาน เรียกว่า “ฌานจิต” และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยอารัมมนูปนิชฌาน หรือไม่ได้ประกอบด้วยองค์ฌานที่เรียกว่า “อฌานจิต” จำแนกได้ดังนี้

ฌานจิต มี ๓๕ ดวง ได้แก่
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
อฌานจิตมี ๕๔ ดวง ได้แก่
  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง
ข้อสังเกต สำหรับโลกุตรจิตที่จัดเป็น ฌานจิต นั้น แม้โลกุตรจิตของพระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เมื่อมัคคจิตเกิดเป็นอัปปนาจิตที่มีองค์ของปฐมฌานร่วมด้วย จึงสงเคราะห์เป็นฌานจิตด้วย แต่ถ้าเป็นมรรค-ผลของฌานลาภีบุคคลแล้ว โลกุตรจิต ซึ่งต้องนับโดยพิสดาร ๔๐ ดวง โลกุตรจิตนี้ ต้องจัดเป็น “ฌานจิต” โดยแน่นอน

จําแนกโลกุตรจิตโดยองค์ฌาน
อวสานคาถา
๑๔. ฌานงฺคโยคเภเทน    กเตฺวเกกนฺตุ ปญฺจธา
วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ    จตุตาฬีสวิธนฺติ จฯ  
 
แปลความว่า โลกุตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดาร ๔๐ ดวง เพราะว่าโดยประเภทแห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โดยโลกุตรจิตดวงหนึ่ง ๆ มีฌาน ๕ ฉะนั้น โลกุตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐ คาถาบทนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า โลกุตรจิต ๘ นั้น เมื่อแสดงโดยพิสดารย่อมจำแนกออกไปตามจำนวนองค์ฌานที่ประกอบ จึงจัดว่า โลกุตรจิต โดยพิสดารนั้นเป็น “ฌานจิต” แน่นอน


สงเคราะห์โลกุตรจิตกับฌาน
คาถาสังคหะ
๑๕. ยถา จ รูปาวจรํ    คยุหตานุตฺตรํ ตถา
ปฐมาทิชฺฌานเภเท    อารุปฺปญฺจาปิ ปญฺจเมฯ

แปลความว่า โลกุตรจิต ๘ นั้น ถือเสมือนว่า ปฐมฌาน เป็นต้น ฉันใด แม้อรูปาวจร ก็ถือเสมือนว่า ปัญจมฌาน ฉันนั้น หมายความว่า โลกุตรจิตที่พระอริยบุคคลได้บรรลุมรรคผลนั้น ย่อมมีองค์ฌานประกอบด้วยทั้งสิ้น ไม่ว่าพระอริยบุคคลนั้น จะได้เคยสำเร็จฌานมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ถ้าเคยสำเร็จฌานมาก่อน องค์ฌานย่อมเกิดพร้อมกันในขณะมรรคผลปรากฏ แต่ถ้าไม่เคยได้กระทำฌานมาก่อน และไม่มีบุพพาธิการอบรมฌานไว้ องค์ฌานย่อมไม่มีโอกาสปรากฏ แต่จะอย่างไรก็ตาม องค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร, ปีติ, สุข และเอกัคคตา ย่อมมีอยู่พร้อมกันในขณะที่มรรคจิต หรือผลจิตเกิดขึ้น จึงนับได้ว่าโลกุตรจิตถือเสมือนว่าตั้งอยู่ใน ปฐมฌานด้วย



🔅 ๗. จำแนกจิต ๘๙ โดยเวทนาเภทนัย
การจำแนกจิตโดยเวทนาเภทนัย หมายถึงการจำแนกจิตทั้ง ๘๙ ดวง ที่เกิดพร้อมกับเวทนาต่าง ๆ ซึ่งได้แก่เวทนา ๕ ประการ คือ
๑. สุขเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับสุขเวทนา (สุขกาย) ได้แก่สุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ดวง
๒. ทุกขเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับทุกขเวทนา (ทุกข์กาย) ได้แก่ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ดวง
๓. โสมนัสเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนามี ๓๘ ดวง ได้แก่

          กามโสมนัส ๑๘
  • โสมนัสโลภมูลจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง
  • โสมนัสหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง                                  
  • โสมนัสมหากุศลจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสมหาวิบากจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสมหากิริยาจิต ๔ ดวง
         ฌานโสมนัส ๒๐
  • รูปาวจรปฐมฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรทุติยฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรตติยฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรจตุตถฌาน ๓ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว การจำแนกจิต ๘๙ โดยเวทนานั้น โลกุตรจิต ๘ ดวงนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา แต่ถ้าจำแนกจิต ๑๒๑ ดวง โดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว ก็จัดเป็นโสมนัสโลกุตรจิต ๓๒ ดวง คือ โลกุตรจิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานแห่งปฐมฌาน ๘ ดวง, ทุติยฌาน ๘ ดวง, ตติยฌาน ๘ ดวง และจตุตถฌาน ๘ ดวง เป็นโสมนัสโลกุตรจิต ส่วนปัญจมฌาน ย่อมเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา 

๔. โทมนัสเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับโทมนัสเวทนา ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง
๕. อุเบกขาเวทนา จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา มี ๔๗ ดวง คือ

         กามอุเบกขา ๓๒
  • อุเบกขาโลภมูลจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขาโมหมูลจิต ๒ ดวง
  • อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔ ดวง
  • อุเบกขามหากุศลจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขามหาวิบากจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขามหากิริยาจิต ๔ ดวง

    มหัคตอุเบกขา ๑๕

  • รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

🔅 ๘. จำแนกจิต ๘๙ โดยสัมปโยคเภทนัย

การจำแนกจิตโดยสัมปโยคเภทนัย คือ การจำแนกจิตที่มีสภาพธรรมบางอย่างประกอบ เรียกว่า “สัมปยุต” และไม่มีสภาพธรรมอย่างนั้นประกอบ เรียกว่า “วิปปยุต เมื่อจำแนกจิต ๘๙ โดย “สัมปยุต” และ “วิปปยุต” แล้ว ได้ดังนี้ คือ

สัมปยุตจิต มี ๕๕ ดวง แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐิคตสัมปยุตจิต มี ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสมปยุต ๔ ดวง
๒. ปฏิฆสัมปยุตจิต มี ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง
๓. วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต มี ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ ที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุต
๔. อุทธัจจสัมปยุตจิต มี ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ที่มีอุทธัจจสัมปยุต
๕. ญาณสัมปยุตจิต มี ๔๗ ดวง ได้แก่
            - กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ ดวง
            - มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
            - โลกุตรจิต ๘ ดวง

วิปปยุตจิต มี ๓๔ ดวง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐิคตวิปปยุตจิต มี ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง
๒. ญาณวิปปยุตจิต มี ๑๒ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณญาณวิปปยุตจิต ๑๒ ดวง
๓. วิปปยุตจิต มี ๑๘ ดวง ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง สําหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวงนั้น ไม่มีทิฏฐิ, ปฏิฆะ, วิจิกิจฉา, อุทธัจจะหรือฌานแม้อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบในอเหตุกจิตเลย จึงจัดเป็นวิปปยุตจิต เพราะไม่มีสัมปยุตธรรม ๕ อย่างดังกล่าวนั้นเลย

🔅 ๙. การจำแนกจิต ๘๙ โดยสังขารเภทนัย
การจำแนกจิตโดยสังขารเภทนัย ก็คือ การจำแนกจิตที่เกิดขึ้นโดยอุตสาหะของตนเอง หรือจิตที่เกิดขึ้นได้โดยต้องอาศัยมีการชักชวน จิตที่เกิดขึ้นโดยอุตสาหะแห่งตน ไม่มีการชักชวนนั้นชื่อว่า “อสังขาริกจิต” และจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมีการชักชวนนั้น ชื่อว่า “สสังขาริกจิต” เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งสังขารแล้ว ได้ดังนี้

อสังขาริกจิต มี ๓๗ ดวง ได้แก่
  • อกุศลอสังขาริกจิต ๗
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณอสังขาริกจิต ๑๒
สสังขาริกจิต มี ๕๒ ดวง ได้แก่
  • อกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง
  • กามาวจรโสภณสสังขาริกจิต ๑๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
สำหรับพระอริยบุคคลเคยได้ฌานมาก่อนแล้วฌานใดฌานหนึ่ง ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน เมื่อสำเร็จมรรคผล องค์ฌานนั้น ๆ ก็เกิดพร้อมด้วยแม้ในอรูปฌานทั้งหมด ก็ปรากฏเหมือนปัญจมฌาน และฌานจิตทั้งหมดสงเคราะห์เป็นสสังขาริกจิต

ฌานจิต ๖๗
คาถาสังคหะ
๑๖. เอกาทสวิธํ ตสฺมา    ปฐฺมาทิกมีริตํ
ฌานเมเกกมนฺเต ตุ    เตวีสติวิธํ ภเวฯ

แปลความว่า ปฐมฌาน เป็นต้น ท่านกล่าวว่า แต่ละฌานมี ๑๑ ดวง ที่สุด คือ 
ปัญจมฌานนั้น มี ๒๓ ดวง
หมายความว่า ในจำนวนจิตพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น นับตามจิตที่เข้าถึงฌานแล้วมีดังนี้คือ 

ปฐมฌานจิ ๑๑ ดวง 
คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘         
ตติยฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
จตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
ปัญจมฌานจิต ๒๓ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๑๕ โลกุตรจิต ๘ 

รวมฌานจิตทั้งหมด ๖๗ ดวง ได้แก่
มหัคคตจิต ๒๗ ดวง 
 
โลกุตรจิต ๔๐ ดวง





จำแนกกุศลจิต และ วิบากจิตโดยพิสดาร
คาถาสังคหะ
๑๗. สตฺตตึสวิธํ ปุญฺญํ    ทฺวิปญฺญาสวิธนฺตถา
ปากมิจฺจาหุ จิตฺตานิ    เอกวีสสตมฺพุธาติฯ

แปลความว่า กุศลจิต ๓๗ และวิบากจิต ๕๒ อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นการกล่าวโดยจิตพิสดาร
หมายความว่า ตามคาถาสังคหะที่ ๑๑ ได้แสดงแล้วว่า กุศลจิต ๒๑ และวิบากจิต มี ๓๖ นั้น เป็นการแสดงชาติของจิตโดยย่อ ๘๙ เท่านั้น แต่เมื่อมีการแสดงชาติของจิตโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวงแล้ว ได้ดังนี้

กุศลจิต 
๓๗ ดวงนั้น ได้แก่
  • กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง
  • โลกุตรกุศลจิต ๒๐ ดวง
วิบากจิต ๕๒ ดวงนั้น ได้แก่
  • กามาวจรวิบาก ๒๓ ดวง
       - อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง
       - อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง
       - มหาวิบาก ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบาก ๙ ดวง
  • โลกุตรวิบาก ๒๐ ดวง
เมื่อขยายความตามคาถาที่ ๑๗ อันเป็นคาถาสุดท้ายแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ จึงขอแสดงการจำแนกจิตโดยพิสดารไว้ดังนี้ คือ : -

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยชาติเภทนัย
อกุศลชาติ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง
กุศลชาติ ได้แก่ กุศลจิต ๓๗ ดวง
วิบากชาติ ได้แก่ วิบากจิต ๕๒ ดวง
กิริยาชาติ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยภูมิเภทนัย
กามภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปภูมิ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปภูมิ ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตรภูมิ ได้แก่ โลกุตรจิต ๔๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยโสภณเภทนัย
อโสภณะ ได้แก่ อโสภณจิต ๓๐ ดวง
โสภณะ ได้แก่ โสภณจิต ๙๑ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยโลกเภทนัย
โลกียะ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ ดวง
โลกุตระ ได้แก่ โลกุตรจิต ๔๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยเหตุเภทนัย
อเหตุกะ ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
สเหตุกะ ได้แก่ สเหตุกจิต ๑๐๓ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยฌานเภทนัย
จิตที่ไม่ประกอบด้วยฌาน ได้แก่ อฌานจิต ๕๔ ดวง
จิตที่ประกอบด้วยฌาน ได้แก่ ฌานจิต ๖๗ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยเวทนาเภทนัย
สุขเวทนา ได้แก่ สุขสหคตจิต ๑ ดวง
ทุกขเวทนา ได้แก่ ทุกขสหคตจิต ๑ ดวง
โสมนัสเวทนา ได้แก่ โสมนัสสหคตจิต ๖๒ ดวง
โทมนัสเวทนา ได้แก่ 
โทมนัสสหคตจิต ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาสหคตจิต ๕๔ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสัมปโยคเภทนัย
สัมปโยค มี ๒ อย่าง คือ “สัมปยุต” และ “วิปปยุต
สัมปยุต ได้แก่ สัมปยุตจิต ๘๗ ดวง
วิปปยุต ได้แก่ วิปปยุตจิต ๓๔ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสังขารเภทนัย
อสังขาร ได้แก่ อสังขาริกจิต ๓๗ ดวง
สสังขาร ได้แก่ สสังขาริกจิต ๘๔ ดวง



ข้อสังเกตพิเศษ
อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าใน วิปปยุตจิต
ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าใน สัมปยุตจิต

โมหมูลจิต ๒ สงเคราะห์เข้าใน อสังขาริกจิต
อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าใน อสังขาริกจิต

ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าใน สสังขาริกจิต


อวสานคาถา
อิจฺจานุรุทฺธรจิเต    อภิธมฺมตฺถสงฺคเห
ปฐโม ปริจฺเฉโทยํ    สมาเสเนว นิฏฐิโต ฯ

ปริจเฉทที่ ๑ “จิตตสังคหวิภาค” ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ที่พระอนุรุทธาจารย์ได้รจนาไว้ จบแล้วโดยย่อเพียงเท่านี้















โลกุตรจิต ๘

โลกุตรจิต เป็นจิตที่พ้นจากโลก หมายความว่า เป็นจิตที่มีอารมณ์เหนือสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลก หรือเป็นจิตที่มีความสามารถรับอารมณ์พิเศษที่เหนือโลก คือ นิพพานอารมณ์ จิตเหล่านี้มีจำนวน ๘ ดวง และสามารถรับนิพพพานอารมณ์ โดยแน่นอนอย่างเดียว จึงเรียกจิต ๘ ดวงนี้ว่า โลกุตรจิต

โลกุตตรจิตฺต เมื่อแยกศัพท์ ย่อมได้แก่ โลก  + อุตฺตร + จิตฺต = โลกุตตรจิตฺต โลก หมายถึง โลกทั้ง ๓ คือ กามโลก (กามภูมิ) รูปโลก (รูปภูมิ) และอรูปโลก (อรูปภูมิ) หรืออีกนัยหนึ่ง “โลก” หมายถึง สิ่งที่ต้อง แตกดับ สูญสิ้นไป เป็นธรรมดา “อุตตร” หมายความว่า เหนือ หรือ พ้น โลกุตรจิต จึงหมายถึงจิตที่เหนือโลกทั้ง ๓ หรือจิตที่พ้นจากการท่องเที่ยวไปในโลกทั้ง ๓ หมายความว่า จิตนี้มีอารมณ์ที่เหนือโลก มีอารมณ์ที่พ้นจากโลก กล่าวคือ โลกุตรจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ และนิพพานนี้จัดเป็นธรรมที่พ้นโลก เป็นธรรมที่เหนือโลกทั้ง ๓

โลกุตรจิต เป็นจิตที่มีอารมณ์พ้นจากการเกิดดับนั้น ก็มิได้หมายความว่าจิตจะไม่เกิด-ดับ จิตก็ยังคงมีอาการเกิดดับตามสภาพของจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์พิเศษอันพ้นจากการเกิดดับ อารมณ์ที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ “นิพพาน” เป็นอารมณ์ที่ไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความพินาศ เป็นธรรมที่พ้นจากการถูกปรุงแต่งเป็นอสังขตธรรม

ธรรมดาธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในโลกทั้ง ๓ ย่อมเกิดดับทั้งสิ้น แต่นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ เป็นธรรมที่พ้นจากการเกิดดับ นิพพานจึงเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก เป็นธรรมที่เหนือโลก พ้นจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยธรรม คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ทั้งสิ้น

คาถาสังคหะ
จตุมคฺคปฺปเภเทน จตุธา กุสลนฺตถา
ปากนฺตสฺส ผลตฺตาติ อฏฺฐธานุตฺตรํ มตํฯ

แปลความว่า โลกุตรจิตโดยย่อ มี ๘ คือ โลกุตรจิตว่าโดยประเภทแห่งมรรคมี ๔ และโลกุตรวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของโลกุตรกุศลจิต ก็มี ๔

🔅 จำแนกโลกุตรจิต ๘ โดยประเภทแห่งชาติ

โลกุตรจิต ๘ นั้น มีอยู่ ๒ ชาติ คือ : -

  • ๑. ชาติกุศล ชื่อว่า โลกุตรกุศลจิต หรือ มัคคจิต มีจำนวน ๔ ดวง เรียกตามชื่อของญาณที่เกิดในขณะจิตนั้นๆ เพราะเป็นจิตประเภทที่ประกอบด้วยอริยมรรค
  • ๒. ชาติวิบาก ชื่อว่า โลกุตรวิบากจิต หรือ ผลจิต เพราะเป็นผลของโลกุตรกุศลจิต จึงมีจำนวน ๔ ดวงเหมือนกัน

จึงรวมเป็นโลกุตรจิต ๘ ดวง จำง่ายๆ ว่า มรรค คือ กุศล ผล คือ วิบาก ซึ่งมีความหมายว่า มัคคจิต เป็นชาติกุศล และผลจิต เป็นชาติวิบาก

👉ข้อควรสังเกต โลกุตรจิตนี้ มีแต่โลกุตรกุศล และโลกุตรวิบากเท่านั้นไม่มีโลกุตรกิริยาด้วยเลย ทั้งนี้ เพราะถ้ามีโลกุตรกิริยา ก็ย่อมหมายถึงโลกุตรกุศลที่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ทำนองเดียวกับมหากุศล หรือมหัคคตกุศล ถ้าเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ที่ชื่อว่า มหากิริยา หรือมหัคคตกิริยา และทั้งมหากิริยาและมหัคคตกิริยานั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในสันดานของพระอรหันต์

แต่ส่วนมัคคจิตนั้น เกิดได้เพียงมรรคละครั้งเดียว คือ โสดาปัตติมรรค, สทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค ตลอดจนอรหัตมรรค จะเกิดได้มรรคละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะมัคคจิตนั้นเกิดขึ้นได้แต่ละครั้ง เพื่อกิจในการประหาณอนุสัยกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย จึงไม่ต้องมีมัคคจิต เพื่อประหาณกิเลสอีก ฉะนั้น โลกุตรกิริยา จึงไม่มี

โลกุตรธรรม หมายถึง มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ และนิพพาน ๑ รวมสภาวะที่เป็นโลกุตรธรรม มี ๙ ประเภท โลกุตรจิต ๘ แม้เป็นโลกุตรธรรม แต่ยังเป็นสังขตธรรมอยู่ นิพพานเท่านั้นที่เป็นทั้งโลกุตรธรรม และอสังขตธรรมด้วย

🔅 โลกุตรกุศล หรือ มัคคจิต

โลกุตรกุศล มีความหมายเป็นหลายนัย คือ

  • นัยที่ ๑ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ทำให้ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก ได้แก่ กามภูมิ ๑๑, รูปโลก ได้แก่ รูปภูมิ ๑๖ และ อรูปโลก ได้แก่ อรูปภูมิ ๔
  • นัยที่ ๒ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นอริยบุคคล
  • นัยที่ ๓ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลจิตที่เกิดขึ้นรับ โลกุตรอารมณ์ คือ นิพพาน
  • นัยที่ ๔ โลกุตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลจิตที่มีอำนาจเหนือโลกียกุศลด้วยเหตุว่า ดับอกุศล หรือ ประหาณกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน

กุศลอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ ที่ชื่อว่า โลกียกุศล นั้น ย่อมก่อ จุติ และปฏิสนธิ ทำให้สัตว์เจริญอยู่ในวัฏฏะ ฉะนั้น โลกียกุศล อันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ จึงชื่อว่าเป็น อาจยคามี หรือ วัฏฏคามินีกุศล แต่ในโลกุตรกุศลนั้น ย่อมเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้าม คือ โลกุตรกุศลนี้ ย่อมรื้อทำลายจุติและปฏิสนธิแห่งสัตว์ที่โลกียกุศลก่อไว้แล้วโดยกระทำความบกพร่องแห่งปัจจัยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด โลกุตรกุศลนี้ชื่อว่า อปจยคามี หรือ วิวัฏฏคามินีกุศล

โลกุตรกุศลจิต หรือ มัคคจิตนี้ กล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

๑. โสดาปัตติมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๑
๒. สกทาคามิมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๒
๓. อนาคามิมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๓
๔. อรหัตมัคคจิต เป็น มัคคจิต ดวงที่ ๔

อธิบาย
นัยที่ ๑
โลกุตรกุศล หมายถึง เป็นกุศลที่ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ นั้น คือ
- โสตาปัตติมัคคจิต กับ สกทาคามีมัดจิต ทำให้ข้ามพ้นจากกามโลกได้ ๔ ภูมิ คือ อบายภูมิ ๔
- อนาคามีมรรค ทำให้ข้ามพ้นจากกามโลกทั้งหมด คือ กามภูมิทั้ง ๑๑ ภูมิ
- อรหัตมัคคจิต ทำให้ข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก, รูปโลก, อรูปโลก



นัยที่ ๒ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลที่ทำให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคล คือ
    โสดาปัตติมัคคจิต ทำให้เป็น โสดาปัตติมัคบุคคล
    สกทาคามิมัคคจิต ทำให้เป็น สกทาคามิมัคบุคคล
    อนาคามิมัคคจิตทำให้เป็น อนาคามิมัคบุคคล   
    อรหัตมัคคจิต ทำให้เป็น อรหัตมัคบุคคล

นัยที่ ๓ โลกุตรกุศล หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นรับโลกุตรอารมณ์ คือ พระนิพพานนั้น เพราะพระนิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยให้แก่มัคคจิต ๔ กล่าวคือ โลกุตรกุศลจิต ๔ ดวงนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของพระนิพพานเป็นปัจจัยเพราะพระนิพพานนั้นเป็นโลกุตรธรรม มัคคจิตทั้ง ๔ ดวงนี้ จึงเรียกว่า โลกุตรกุศล เพราะเป็นกุศลธรรมที่เกิดจากโลกุตรธรรม

นัยที่ ๔ โลกุตรกุศล หมายถึง กุศลจิตที่มีอำนาจดับอกุศล หรือประหาณกิเลสได้ เป็นสมุจเฉทปหาน


🔅 ลักษณะของการประหาณกิเลส

กิเลส คือ ธรรมที่เศร้าหมองเร่าร้อน ในพระอภิธรรมได้แบ่งกิเลสตามอาการ แสดงออกได้เป็น ๓ ชั้น คือ :-    ก. วีติกกมกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างหยาบที่สามารถก่อให้เกิดการ เคลื่อนไหวออกมาทางกายทวาร หรือวจีทวารได้ เป็น ทุจริตกรรม กิเลสชนิดนี้ ประหาณได้ด้วยศีล เป็นการสงบระงับชั่วครั้งชั่วคราว ขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ การประหารกิเลสได้ชั่วขณะนี้ เรียกว่า ตหังคปหาน

ข. ปริยุฏฐานกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างกลางที่เกิดอยู่ภายในมโนทวาร ไม่ถึงกับแสดงอาการล่วงออกมาทางกายทวารหรือวจีทวาร นิวรณ์กิเลสชนิดนี้ประหาณได้ด้วยสมาธิ คือฌาน ย่อมดับไว้หรือระงับไว้ได้ตามอำนาจของฌาน ได้นานตราบ เท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม เรียกว่า วิกขัมภนปหาน

ค. อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันไม่มีใครอื่นที่สามารถจะรู้ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุสัยกิเลสชนิดนี้ต้อง ประหาณด้วยปัญญาในมัคคจิต และมัคคจิตนี้เอง ที่สามารถประหาณกิเลสได้หมดสิ้น สูญเชื้อ ไม่กลับมีขึ้นมาใหม่อีก เรียกการประหาณนี้ว่า “สมุจเฉทปหาน”

สรุปความว่า

วิติกกมกิเลส ต้องประหาณด้วยมหากุศลจิตที่เกี่ยวกับศีล เป็น ตทังคปหาน
ปริยุฏฐานกิเลส ต้องประหาณด้วยมหัคคตกุศลจิต เป็น วิกขัมภนปหาน   
อนุสัยกิเลส ต้องประหาณด้วยมัคคจิต เป็น สมุจเฉทปหาน


🔅 การประหาณกิเลสชนิดสมุจเฉทปหาน

กิเลส อันเป็นที่ยังจิตให้เศร้าหมองเร่าร้อนนี้ ย่อมเกิดพร้อมและประกอบด้วยอกุศลจิตเท่านั้น ฉะนั้นการประหาณกิเลสก็เท่ากับประหาณอกุศลจิตนั่นเอง ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงอกุศลไว้ ๙ กอง คือ :-   

  • ๑. อาสวะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องหมักดองอกุศล มี ๔ อย่าง คือ :-
    - กามาสวะ ความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    - ภวาสวะ ความยินดีในภพภูมิต่าง ๆ 
    - ทิฏฐาสวะ ความยินดีตามความเห็นผิด
    - อวิชชาสวะ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๒. โอฆะ เป็นธรรมอันเปรียบเสมือนห้วงน้ำ อันยังสัตว์ทั้งหลายให้จมอยู่ใน สังสารวัฏ คือ :-
    - กาโมฆะ ความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    - ภโวฆะ ความยินดีในอัตภาพและภพภูมิต่าง ๆ 
    - ทิฏโฐฆะ ความยินดีในความเห็นผิด
    - อวิชโชฆะ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๓. โยคะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องประกอบสัตว์กับภพภูมิต่าง ๆ ไว้ มี ๔ คือ :-
    - กามโยคะ คือ ความยินดีในกามคุณอารมณ์ทั้ง ๕
    - ภวโยคะ คือ ความยินดีในภพภูมิต่าง ๆ
    - ทิฏฐิโยคะ คือ ความยินดีในความเห็นผิด
    - อวิชชาโยคะ คือ ความยินดีในความไม่รู้ตามความเป็นจริง 
  • ๔. คันถะ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ไม่ให้หลุดรอดพ้นไปจากโลกได้ มี ๔ คือ : -
    - อภิชฌากายคันถะ ได้แก่ ความโลภทั้งหลาย
    - พยาปาทกายคันถะ ได้แก่ ความโกรธทั้งหลาย
    - สีลัพตปรามาสกายคันถะ ได้แก่ ลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด
    - อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ยึดความเห็นผิดอย่างเหนียวแน่น 
  • ๕. อุปาทาน เป็นธรรมที่เป็นเครื่องยึดถือให้ผูกพันอยู่กับความเป็นไปในโลก มี ๔ คือ :-
    - กามุปาทาน ได้แก่ ความยึดถือติดอยู่กับภพและกามคุณอารมณ์
    - ทิฏฐุปาทาน ได้แก่ ยึดมั่นอยู่ในความเห็นผิด
    - อัตตวาทุปาทาน ได้แก่ ยืดความเห็นผิดว่ามีตัวตน 
    - สีลัพพัตตุปาทาน ได้แก่ ถือการปฏิบัติที่ผิด เพราะไม่รู้ข้อปฏิบัติอันไหนที่จะ นำให้พ้นทุกข์อย่างถูกต้อง
  • ๖. นิวรณ์ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นความดี มี ๖ อย่าง คือ : -
    - กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ ความยินติดใจในกามคุณอารมณ์
    - พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ความที่จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ต่าง ๆ
    - อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยลังเลใจ
    - อวิชชานิวรณ์ ได้แก่ ความไม่รู้ในสัจจธรรม
  • ๗. อนุสัย เป็นธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน มี ๗ อย่าง คือ : -
    - กามราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอารมณ์
    - ทิฏฐานุสัย ได้แก่ ความเห็นผิด
    - ปฏิฆานุสัย ได้แก่ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - ภวราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีในความเป็นอยู่แห่งภพ
    - มานานุสัย ได้แก่ ความอวดดื้อถือตัว
    - วิจิกิจฉานุสัย ได้แก่ ความลังเลสงสัยในสภาวธรรม
    - อวิชชานุสัย ได้แก่ ความไม่รู้ในสัจจธรรม
  • ๘. สัญโภญชน์ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องร้อยรัดสัตว์ทั้งหลายไว้ในสังสารวัฏมี ๑๐ อย่าง คือ :-
    - กามราคสัญโญชน์ ได้แก่ ความยินดีในกามคุณอารมณ์
    - ภวราดสัญโญชน์ ได้แก่ ความยินดีในความเป็นอยู่แห่งภพ
    - มานสัญโญชน์ ได้แก่ ความอวดดื้อถือตัว
    - ทิฏฐิสัญโญชน์ ได้แก่ ความเห็นผิด
    - วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ได้แก่ ความลังเลสงสัยในเหตุผลแห่งธรรม
    - สีลัพพัตตปรามาสสัญโญชน์ ได้แก่ ถือปฏิบัติที่ผิด คิดว่า พ้นทุกข์ได้
    - อิสสาสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่อยากให้คนอื่นดีกว่าตน
    - มัจฉริยสัญโญชน์ ได้แก่ ความหวงแหนในสมบัติของตน
    - ปฏิฆสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่ชอบใจในอารมณ์ต่าง ๆ
    - อวิชชาสัญโญชน์ ได้แก่ ความไม่รู้สัจธรรม
  • ๙. กิเลส เป็นธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง มี ๑๐ อย่าง คือ
    - โลภกิเลส ได้แก่ ความโลภ
    - โทสกิเลส ได้แก่ ความโกรธ
    - โมหกิเลส ได้แก่ ความหลง
    - มานกิเลส ได้แก่ ความถือตน
    - ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ ความเห็นผิด
    - วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ความลังเลสงสัย
    - ถีนกิเลส ได้แก่ ความท้อถอย
    - อุทธัจจกิเลส ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน
    - อหิริกกิเลส ได้แก่ ความไม่ละอายต่อบาปทุจริต
    - อโนตตัปปกิเลส ได้แก่ ความไม่กลัวต่อบาปทุจริต


🔅 
มัคคจิตทำลายอกุศล

มัคคจิต หรือ โลกุตรจิต ทำลายอกุศล ๙ กอง ดังนี้ คือ

โสดาปัตติมัคคจิต 
ทำลาย 
- อาสวะ ได้ ๑ คือ ทิฏฐาสวะ
- โอฆะ ได้ ๑ คือ ทิฏโฐฆะ
- โยคะ ได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ
- คันถะ ได้ ๒ คือ สีลัพพัตตปรามาส และ อิทังสัจจาภินิเวส
- อุปาทาน ได้ ๓ คือ ทิฏฐปาทาน, อัตตวาทุปาทาน, สีลัพพัตตุปาทาน
- นิวรณ์ ได้ ๒ คือ วิจิกิจฉานิวรณ์, กุกกุจจนิวรณ์
- อนุสัย ได้ ๒ คือ ทิฏฐานุสัย, วิจิกิจฉานุสัย
- สัญโญชน์ ได้ ๕ คือ ทิฏฐิสัญโญชน์, วิจิกิจฉาสัญโญชน์, อิสสาสัญโญชน์, มัจฉริยสัญโญชน์, สีลัพพัตตปรามาสสัญโญชน์
- กิเลส ได้ ๒ คือ มิจฉาทิฏฐิ, วิจิกิจฉา

สกทาคามิมัคคจิต หรือ มัคคจิตดวงที่ ๒ นั้น ทำลายอกุศลส่วนหยาบๆ ที่เหลือจากโสดาปัตติมัคคจิตได้ทำลายมาแล้ว และการทำลายอกุศลของสกทาคามิมัคคจิตนี้ เพียงแต่ทำลายอกุศลให้เบาบางลงเท่านั้น

อนาคามิมัคคจิต ทำลาย
- อาสวะ ได้ ๑ คือ กามาสวะ
- โอฆะ ได้ ๑ คือ กาโมฆะ
- คันถะ ได้ ๑ คือ พยาปาทกายคันถะ
- นิวรณ์ ได้ ๒ คือ กามฉันทนิวรณ์ และ พยาปาทนิวรณ์
- อนุสัย ได้ ๒ คือ กามราคานุสัย, ปฏิฆานุสัย
- สัญโญชน์ ได้ ๒ คือ กามราคสัญโญชน์ และ ปฏิฆสัญโญชน์
- กิเลส ได้ ๑ คือ โทสกิเลส

อรหัตมัคคจิต ทำลายอกุศลที่เหลือทั้งหมด ที่เป็นส่วนเหลือจากมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ ยังไม่ได้ทำลาย


🔅 
การละอกุศลกรรมบถโดยล่าดับของมัคคจิต

ปาณาติปาต                โสดาปัตติมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
อทินนาทาน                                                        "
กาเมสุมิจฉาจาร                                                  "
มุสาวาท                                                              "
มิจฉาทิฏฐิ                                                           "

อกุศลกรรมบถที่เหลือ สกทาคามิมัคคจิตละได้โดยกระทำให้เบาบางลงเป็นตนุกรปหาน

ปิสุณวาจา                   อนาคามิมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
ผรุสวาจา                                                            "
พยาปาท                                                            "

สัมผัปปลาปะ              อรหัตมัคคจิตละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
อภิชฌา                                                            "


🔅 โลกุตรวิบาก หรือ ผลจิต

โลกุตรวิบากจิต หรือผลจิตนี้ เป็นจิตที่เป็นผลของโลกุตรกุศลจิตหรือมัคคจิตนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลสไปแล้ว ผลจิตก็จะเกิดติดต่อขึ้นในทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น คือ ไม่มีจิตประเภทอื่นใดเกิดขึ้นมาแทรกแซงคั่นกลางไว้เลย เมื่อมัคคจิตเกิดและดับลงแล้ว ผลจิตก็เกิดทันที จึงเรียกมัคคจิตและผลจิตนี้ว่า เป็น อกาลิโก คือ เป็นเหตุให้ผลจิตเกิดขึ้นในปัจจุบันทันใดไม่ต้องรอเวลาแห่งการเกิดขึ้นของจิตเลย ผลจิตนี้จะต้องเกิดขึ้นทันทีที่มัคคจิตดับลงเพื่อเสวยผลเนื่องจากการประหาณกิเลสของมัคคจิตโดยเฉพาะ ๆ แต่ละประเภทของมรรคทั้ง ๔ ฉะนั้น โลกุตรวิบากจิตหรือผลจิตจึงมีจำนวน ๔ ดวง เท่ากันกับมัคคจิต คือ

๑. โสดาปัตติผลจิต
๒. สกทาคามิผลจิต
๓. อนาคามิผลจิต
๔. อรหัตผลจิต


🙏 อรรถแห่งโลกุตรจิต ๘ 🙏 

พระโสดาบัน

ต่อไปนี้จะได้แสดงความหมายของโลกุตรจิต โดยมัคคจิตและผลจิตไปตามลำดับ

๑. โสตาปตฺติมคฺคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๔ ศัพท์ คือ โสต + อาปตฺติ + มคฺค + จิตฺต

  • โสต แปลว่า กระแสน้ำ หรือหมายถึงองค์มรรค ๘ ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำ
  • อาปตฺติ แปลว่า เข้าถึงอริยมรรคครั้งแรก
  • มคฺด แปลว่า ทาง หมายถึง องค์มรรค ๘
  • จิตฺต แปลว่า จิต หมายถึง จิตที่ประกอบองค์มรรค ๘

รวมความแล้ว โสดาปัตติมัคคจิต มีอรรถว่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเข้าสู่อริยมรรค หรือเข้าถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรก มีพระบาลีแสดงว่า “สวติ สุนฺทตีติ โสโต” แปลโดยอรรถว่า กระแสน้ำชื่อว่า โสต เพราะเป็นผู้ไหลไปไม่ทวนกลับ ได้แก่ กระแสน้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำ หรือ “โสโต วิยาตีติ = โสโต” อริยมรรค ๘ ชื่อว่า โสตะ เพราะเหมือนกระแสน้ำ “อาทิโต ปชฺชนํ = อาปตฺติ" การเข้าถึงอริยมรรคครั้งแรก ชื่อว่า อาปตฺติ “โสตสฺส อาปตฺติ = โสตาปตฺติ" การเข้าถึงอริยมรรคที่สภาพเหมือนกระแสน้ำ ของปุถุชนเป็นครั้งแรก ชื่อ “โสตาปตฺติ” 

“นิพฺพานตฺถิเกหิ มคฺคียตีติ = มคฺโค” ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ ที่ผู้ปรารถนานิพพานทั้งหลายควรได้แสวงหา ฉะนั้น ทางสายกลาง จึงชื่อว่า “มรรค” หรือ “กิเลเส มาเรนุโต คจฺฉตีติ = มคฺโค” ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ นี้ เป็นผู้ประหาณกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานทางสายกลางนี้ จึงชื่อว่า “มรรค

โสตาปตฺติ จ สา มคฺโค จาติ = โสตาปตฺติมคฺโค ทางสายกลาง คือ องค์มรรค ๘ เป็นผู้เข้าถึงอริยมรรค ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย และเป็นทางที่ควรแสวงหาด้วย จึงชื่อว่า “โสดาปัตติมรรค" ที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นผู้ประหารกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานด้วย จึงชื่อว่า “โสดาปัตติมรรค"

โสตาปตฺติ มคฺเคน สมปยุตตํ จิตฺตนฺติ = โสตาปตฺติมคฺคจิตตํ จิตที่ประกอบกับองค์มรรค ๘ ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงอริยมรรคที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นทางที่ควรแสวงหาด้วย จึงชื่อว่า โสดาปัตติมรรค หรืออีกนัยหนึ่งจิตที่ประกอบกับองค์มรรค ๘ ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงอริยมรรคที่มีสภาพเป็นกระแสน้ำเป็นครั้งแรกด้วย เป็นผู้ประหาณกิเลส และเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานด้วย ชื่อว่า “โสดาปัตติมัคคจิต”

เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้น ย่อมสำเร็จกิจดังนี้ คือ

๑. โสดาปัตติมัคคจิต เกิดแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่าโสดาปัตติมรรคบุคคล
๒. โสดาปัตติมัคคจิต ทำให้พ้นจากกามภูมิในส่วนที่เป็นอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน
๓. โสดาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลสทำลายอกุศลจิต ๕ ดวง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป คือ โลภจิตที่มีทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวง และ โมหจิตที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุต ๑ ดวง และนอกจากนั้น ยังให้กิเลสที่ประกอบในทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง และโทสมูลจิต ๒ ดวง เบาบางลง จนไม่อาจจะนำไปสู่อบายภูมิได้


๒.โสดาปัตติผลจิต
เป็นโลกุตรจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นเพื่อเสวยสันติสุขที่โสดาปัตติมัคคจิตประหาณอนุสัยกิเลสลงแล้ว กล่าวคือ เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นประหาณอนุสัยกิเลสและดับไป ทันใดนั้น โสดาปัตติผลจิตก็จะเกิดขึ้นเสวยผลที่เป็นสันติสุขอันเกิดแต่โสดาปัตติมัคคจิตได้ประหาณอนุสัยกิเลสลงแล้ว

หรืออีกนัยหนึ่ง โสดาปัตติผลจิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในโอกาสที่พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติ เมื่อโสดาปัตติผลจิตเกิด ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ
    ๑) โสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าโสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกว่า พระโสดาบัน หรือบางทีก็เรียกว่า “เสกขบุคคล” คือบุคคลที่ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีก จนกว่าจะพ้นจากสภาวะที่ไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกเป็นอเสกขบุคคล หรือ พระอรหันต์
    ๒) โสดาปัตติผลจิต ทำให้พ้นจากอบายภูมิโดยเด็ดขาด กล่าวคือพระโสดาบัน เมื่อจุติย่อมไม่ไปปฏิสนธิในอบายภูมิอีก เพราะได้ทำลายอกุศลกรรมที่เป็นตัวการนำไปสู่อบายได้อย่างเด็ดขาดแล้ว
    ๓)โสดาปัตติผลจิต ย่อมเกิดขึ้น เพื่อเสวยสันติสุขจากการประหาณทิฏฐิและวิจิกิจฉา ที่ละได้แล้วโดยเด็ดขาด

ประเภทของพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนาจำแนกพระโสดาบันได้เป็น ๓ ประเภท โดยกำหนดภพชาติไว้เป็นที่แน่นอน คือ

๑. เอกพีซีโสดาบัน คือ พระโสดาที่มีชาติกำเนิดอีกชาติเดียว เอกํ พีชํ อสุสาติ = เอกพิซี เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกชาติเดียวก็จะบรรลุอรหัต แล้วก็จะเข้าปรินิพพานในชาตินั้น
๒. โกลังโกลโสดาบัน คือ พระโสดาบันผู้จะต้องมีพืชกำเนิดระหว่าง ๒-๖ ชาติ กุลโต กุลํ คจฺฉตีติ = โกล์โกโล เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกตั้งแต่ ๒ ถึง ๖ ชาติ เป็นอย่างมาก ก็จะบรรลุอรหัตผลแล้วจึงปรินิพพาน
๓. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือพระโสดาบันผู้ต้องมีพืชกำเนิดอีก ๗ ชาติ สตฺตกฺขตตุ ปรมํ อสุสาติ = สตฺตกฺขตตุปรโม เป็นพระโสดาบันที่จะต้องปฏิสนธิต่อไปอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ ก็จะบรรลุอรหัตผลแล้วจึงปรินิพพาน

เหตุที่ทำให้พระโสดาบันบรรลุอรหัตผลต่างกัน การที่พระโสดาบันบรรลุอรหัตผลแตกต่างกันออกไปได้ ถึง ๓ ประเภทนั้นเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

  • ๑. ต่างกันด้วยกำลังแห่งอินทรีย์ ที่ได้สร้างสมอบรมมาแต่อดีต กล่าวคือ ถ้าในอดีตชาติได้อบรมอินทรีย์ คือ สัทธินทรีย์, วิริยินทรีย์, สตินทรีย์, สมาธินทรีย์และปัญญินทรีย์มาแล้วอย่างแก่กล้า ครั้นเมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็นเอกพิซีโสดาบัน ถ้าในอดีตชาติได้สร้างสมอบรมบารมีอินทรีย์มาปานกลางเมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็น โกลังโกลโสดาบัน ถ้าในอดีตชาติได้สร้างสมอบรมบารมีอินทรีย์ไว้อย่างอ่อนเมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะเป็น สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน
  • ๒. ต่างกันด้วยความมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ กล่าวคือ ถ้าพระโสดาบันที่มีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียรเจริญวิปัสสนา ด้วยกำลังเจตนาอันแรงกล้าก็เป็นเอกพีซีโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันที่มีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียรเจริญวิปัสสนาด้วยกำลังเจตนาอย่างปานกลาง ก็เป็นโกลังโกลโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันมีจิตมุ่งมั่นต่ออริยมรรคเบื้องบน ๓ ด้วยอุตสาหะ เพียร เจริญวิปัสสนาด้วยกำลังเจตนาอย่างอ่อน ก็เป็น สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

พระโสดาบันที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๓ ประเภทนี้ แม้จะแตกต่างกันด้วยการอบรมบารมีอินทรีย์ที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรือแม้จะแตกต่างกันด้วยจิตที่มุ่งมั่นในอริยมรรคเบื้องบน และยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างไรก็ตาม พระโสดาบันเหล่านั้น ก็จะไม่ต้องถือปฏิสนธิในภพชาติที่ ๘ อีก ดังปรากฏในสุตตนิบาตพระบาลีว่า "เย อริยสัจฺจาน วิภาวยนฺติ คมฺภีรปญฺเญน สุเทสิตานิ กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา น เต ภวํ อฏฺฐมมาทิยนฺติฯ" ชนเหล่าใดได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้วนั้น ชนเหล่านั้น แม้ประมาทมากก็ไม่ถือเอาภพที่ ๘ คือจะเกิดได้อีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ฉะนั้น พระอริยโสดาบันทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเทศนาการสิ้นสุดแห่งภพชาติไว้เป็นการแน่นอน

แต่ยังมีพระโสดาบันอีกประการหนึ่ง ที่ไม่นับรวมอยู่ในพระอริยโสดาบันประเภทที่กล่าวมานั้น พระอริยโสดาบันประเภทนี้ เรียกว่า "วัฏฏาภิรตโสดาบัน" เป็นพระอริยโสดาบันที่มีอัธยาศัยยังยินดีพอใจในวัฏฏะปรารถนาที่จะเที่ยวปฏิสนธิไปในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น ตลอดไปจนถึงอกนิฏฐภพ ดังปรากฏในบุคคลบัญญัติอรรถกถาว่า เอกจฺโจหิ โสตาปนฺโน วัฏฏชฺฌาสโย โหติ วุฎฏาภิรโต ปุนปฺปุนํ วัฏฺฏสมึเยว วิจรติ สนฺทิสฺสติ อนาถบิณฑิกเสฏฐิ วิสาขา อุปาฬิกา จูฬรตฺถ มหารตฺถ เทวปุตฺต อเนกวณฺโณ เทวปุตโต สกโก เทวราชา นาคทตฺโต เทวปุตโต อิเมหิ เอตตฺถาชนา วฎฺฏชฺฌาสยา วฎฺฏาภิรตา อาทิโต ปฏฐฺาย ฉ เทวโลกํ โสธิตฺวา อกนิฏฺเฐ จตวา ปรินิพฺพาเย สนฺติ อิเม อิเม น คหิตาฯ ยังมีพระโสดาบันบางจำพวก มีอัธยาศัยยินดีพอใจในวัฏฏะ ท่องเที่ยวไปปรากฏในวัฏฏะบ่อย ๆ ชนเหล่านั้น คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขาอุบาสิกา จูฬรัตถเทพบุตร มหารัตถเทพบุตร อเนกวรรณเทพบุตร ท้าวสักกเทวราช นาคทัตตเทพบุตร ท่านเหล่านี้ยังมีอัธยาศัยยินดีพอใจในวัฏฏะ กระทำเทวโลกทั้ง ๖ ให้หมดจดตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะดำรงอยู่ในอกนิฏฐภพ จึงจปรินิพพาน พระโสดาบันเหล่านี้ ท่านประมวลเข้าในสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

ฉะนั้น จึงมีข้อยกเว้นสำหรับวัฏฏภิรตโสดาบันว่า พระโสดาบันอาจถือปฏิสนธิมากกว่า ๗ ชาติก็ได้ แต่อีกมติหนึ่งว่า วัฏฏาภิรตโสดาบันนี้ หมายถึง พระโสดาบันที่ย่อมมีอายุขัยโดยตลอด จะไม่สิ้นชีวิตก่อนอายุขัย แต่จะไม่เกิน ๗ ชาติ


พระสกทาคามี

๓. สกทาคามิมคฺคจิตฺต
แยกศัพท์ออกได้ ๔ ศัพท์ คือ

สกึ (ครั้งเดียว) + อาคามี (กลับมา) + มคฺค (ทาง) + จิต แปลความว่า จิตที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีกเพียงครั้งเดียว ชื่อว่า “สกทาคามี” ดังบาลีที่แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า “สกึ เอกวาร์ ปฏิสนธิวเสน อิมํ มนุสฺสโลกํ อาคจฺฉตีติ” = สกทาคามี แปลความว่า พระอริยบุคคลส่วนมากที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิอีกเพียงครั้งเดียว ชื่อว่า สกทาคามี ตสฺส มคฺโค = สกทาคามิมคฺโคฯ ทางปฏิบัติของพระสกทาคามีนั้น ชื่อว่า สกทาคามิมรรค

เตน สมฺปยุตตํ จิตฺตํ = สกทาคามิมคฺคจิตตํ จิตที่ประกอบด้วยองค์ของสกทาคามิมรรค ชื่อว่า สกทาคามิมัคคจิต

เมื่อสกทาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ

  • สกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า สกทาคามิมรรค
  • สกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณกิเลส ที่เหลือจากโสดาปัตติมัคคจิตได้ประหาณมาแล้วโดยกระทำให้กิเลสเหล่านั้นเบาบางลงอีกเรียกว่า ตนุกรปหาน

๔. สกทาคามิผลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นทันทีที่สกทาคามิมัคคจิตดับลง หรือเกิดขึ้นได้กับสกทาคามีที่เข้าผลสมาบัติ เมื่อสกทาคามิผลจิตปรากฏขึ้น ย่อมสำเร็จกิจ คือ

    ๑) สกทาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใดในขณะแรกทันที บุคคลนั้นได้ชื่อว่า “สกทาคามิผลบุคคล” สกทาคามิผลบุคคล ก็คือ ผู้ที่เรียกกันว่า พระสกทาคามี หรือบางทีก็เรียกว่า พระสกิทาคา พระอริยบุคคลในชั้นนี้ ยังเป็นเสกขบุคคล เพราะยังจะต้องศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้สำเร็จเป็นอรหันต์ต่อไป
    ๒) สกทาคามิผล เกิดขึ้นเพื่อเสวยผลที่สกทาคามิมัคคจิตได้ประหาณกิเลสชนิดตนุกรปหานแล้ว และเพื่อเสวยวิมุตติสุขขณะเข้าผลสมาบัติ

ประเภทของพระสกทาคามี ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา แสดงว่า พระสกทาคามีนั้น มี ๕ ประเภท คือ

    ๑) อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล ในมนุษยภูมิและบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมิชาติเดียวกัน
    ๒) ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล ในเทวโลกและบรรลุอรหัตผลในเทวภูมิชาติเดียวกัน
    ๓) อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพพายีฯ เป็นพระสกทาคามีบุคคล ในมนุษยภูมิ แล้วจุติจากมนุษยภูมิไปปฏิสนธิในเทวภูมิ และบรรลุอรหัตผลในเทวภูมินั้น
    ๔) ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในเทวภูมิแล้วจุติจากเทวภูมิมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิ และบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมินั้น
    ๕) อิธ ปตวา ตตฺถ นิพพฤติตฺวา อิธ ปรินิพพายีฯ สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในมนุษยภูมิแล้ว จุติจากมนุษยภูมิไปปฏิสนธิในเทวภูมิ แล้วจุติจากเทวภูมิกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีก และบรรลุอรหัตผลในมนุษยภูมินี้

พระสกทาคามีบุคคลประเภทที่ ๑ ถึงประเภทที่ ๔ เป็นนัยที่แสดงไว้โดยปริยาย ส่วนประเภทที่ ๕ เป็นนัยโดยตรง ตามพระบาลีในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า สกึ เอกวาร์ ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ มนุสฺสโลกํ อาคจฺฉตีติ = สกทาคามี พระอริยบุคคลส่วนมากที่จะกลับมาปฏิสนธิในมนุษยภูมิอีกเพียงครั้งเดียวชื่อว่าพระสกทาคามี

พระอนาคามี

๕. อนาคามิมคฺคจิตฺต
เป็นมัคคจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นเพื่อละกามราคะและพยาบาทไม่ให้เหลือ อนาคามิมคคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์แล้ว ได้แก่ น (ไม่) + อาคามี (กลับมา) + มคฺค (ทาง) + จิตฺต (จิต) = มีความหมายว่า จิตที่ถึงซึ่งทางที่จะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามภูมิอีก ชื่อว่า อนาคามี ดังมีวจนัตถะว่า ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ กาเมธาตุํ น อาคจฺฉตีติ = อนาคามีฯ ผู้ที่จะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามภูมิอีก ชื่อว่า อนาคามี ตสฺส มคฺโค = อนาคามิมคฺโคฯ ทางปฏิบัติของผู้บรรลุอนาคามีนั้น ชื่อว่า อนาคามิมรรค เตน สมุปยุตฺตํ จิตฺตํ = อนาคามิคฺคจิตตํฯ

จิตที่ประกอบด้วยองค์แห่งอนาคามิมรรคนั้น ชื่อว่า อนาคามิมัคคจิต เมื่ออนาคามิมัคคจิตปรากฏขึ้น ย่อมให้สำเร็จกิจดังนี้ คือ : -
    ๑) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น แก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า อนาคามิมรรคบุคคล
    ๒) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น เพื่อข้ามพ้นจากการกลับมาเกิดในกามโลกอีก และจะเกิดในพรหมโลกแน่นอน
    ๓) อนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้น เพื่อประหาณกามราคะและพยาบาทโดยสิ้นเชิง

๖. อนาคามิผลจิตฺต เป็นผลจิตดวงที่ ๓ ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับที่อนาคามิมัคคจิตดับลงทันที ไม่มีระหว่างคั่นเป็นอกาลิโก หรืออนาคามิผลจิตย่อมเกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีเข้าผลสมาบัติ อนาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า “อนาคามิผลบุคคล” หรือ “อนาคามี” ซึ่งก็ยังเป็นพระเสกขบุคคลอยู่ ยังจะต้องศึกษา คือ เจริญปัญญาต่อไปจนบรรลุอรหัตผล

อนาคามิผลจิต เป็นจิตที่โทสะและโลภะ ที่เกี่ยวกับกามราคะ ถูกประหาณแล้วโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน อนาคามิผลจิต จึงเป็นจิตที่พ้นจากกามโดยเด็ดขาด คือ พระอนาคามี เมื่อจุติแล้วจะไม่ปฏิสนธิในกามภูมิอีกเลย จะไปปฏิสนธิเป็นพรหมในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ ตามสมควรแก่การเจริญสมถภาวนาของอริยบุคคลผู้พ้นจากกาม

ประเภทของพระอนาคามี

ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา แสดงว่า พระอนาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ :
    
๑) อนุตรปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผล และจะปรินิพพานภายในกึ่งแรกแห่งอายุขัยของภูมินั้นๆ
๒) อุปหลุจปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผล และจะปรินิพพานภายในกึ่งหลังแห่งอายุขัยของภูมินั้นๆ
๓) อสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วบรรลุอรหัตผลได้สะดวกไม่ต้องใช้ความพยายามมากก็บรรลุได้
๔) สสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งซึ่งบรรลุอรหัตผลได้โดยยากลำบาก จะต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะบรรลุอรหัตผลได้
๕) อุทฺธโสต อกนิฏฐฺคามี ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลที่ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิเบื้องต่ำ ตั้งแต่อวิหาภูมิ แล้วจะจุติและปฏิสนธิในภูมิที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ คือ อตัปปาภูมิ สุทัสสา สุทัสสี จนถึง อกนิฏฐาภูมิ และจะได้บรรลุอรหัตผลแล้วปรินิพพานในยอดภูมินั้น

๗. อรหตุตมคฺคจิตฺต เป็นมัคคจิตดวงที่ ๔ เมื่อพระอนาคามีได้เจริญวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว อรหตุตมคฺคจิตฺต จะเกิดขึ้นเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ไม่ให้มีเหลือ อรหตุตมคฺคจิตฺต เมื่อแยกศัพท์แล้ว ได้แก่ อรหตุต (ผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง) + มคฺค (ทาง) + จิตฺต (จิต) รวมความว่า เป็นจิตถึงซึ่งทางที่เป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง ดังปรากฏวจนัตถะว่า

๑) อคฺคทักขิเณยุยภาเวน ปูชาวิเสสํ อรหีติอรหาฯ พระอริยบุคคลผู้ควรแก่การบูชาของเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาอันเลิศนั้น จึงชื่อว่า อรหันต์
๒) ตสฺส ภาโว อรหตฺตํ จตุตฺถผลสุสเสตํ อธิวจนํฯ ความเป็นอริยบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอันวิเศษ ชื่อว่า อรหัต หมายถึง อรหัตผล
๓) ตสฺส อาคมนภูโต มคฺค อรหตุตมคฺโคฯ ทางอันเป็นที่มาแห่งอรหัตผลนั้น ชื่อว่า “อรหัตมัค
๔) เตน สมฺปยุตตํ อรหตุตมคฺคจิตตํฯ จิตที่ประกอบด้วยองค์แห่งอรหัตมัค ชื่อว่า “อรหัตมัคคจิต”

เมื่ออรหัตมัคคจิตปรากฏขึ้น ย่อมให้สำเร็จการงาน ดังนี้ คือ

- อรหัตมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ชื่อว่า "อรหัตมัคคบุคคล"
- อรหัตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังข้ามพ้นรูปโลก อรูปโลก โดยเด็ดขาด
- อรหัตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหาณกิเลส กล่าวโดยจิต ก็เป็นการกำลังประหานอกุศลจิต ที่เหลือจากอริยมัคจิตเบื้องต่ำได้ประหาณแล้ว คงเหลืออีก๕ ดวง คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุต ๔ โมหมูลจิต ที่เป็นอุทธัจจสัมปยุต ๑ ดวง, กล่าวโดยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อรหัตมัคคจิตเป็นจิตที่กำลังประมาณอกุศลกรรมบถที่เหลืออีก ๒ คือ สัมผัปปลาปะ และอภิชฌา

๘. อรหตุตผลจิตฺต เป็นผลจิตดวงที่ ๔ และเป็นโลกุตรจิตดวงสุดท้ายที่เกิดขึ้นทันทีที่อรหัตมัคคจิตดับลง โดยไม่มีจิตอื่นมาคั่น หรืออีกนัยหนึ่ง อรหัตผลจิตย่อมเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์เข้าผลสมาบัติ

เมื่ออรหัตผลจิตเกิดขึ้นแก่ผู้ใด บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า "อรหัตตผลบุคคล" อรหัตผลจิต เป็นจิตที่พ้นจากความขัดข้องอยู่ในโลกใด ๆ กล่าวคือ พระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องไปปฏิสนธิที่ไหนอีกเลย เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ พ้นจากสังสารวัฏ อันไม่ต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อย-ภพใหญ่อีกต่อไป อรหัตผลจิตเป็นจิตที่อกุศลถูกประหาณสิ้นแล้วโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาณหรือกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ต้องไม่มีอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงเกิดขึ้นได้ในสันดานอีกเลย และ อรหัตผลจิต เป็นจิตที่อกุศลกรรมบถถูกประหาณสิ้นแล้วโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน หรือกล่าวได้ว่า พระอรหันต์นั้นไม่มีอกุศลกรรมบถ ๑๐ เกิดขึ้นในสันดานได้อีกเลย

พระอรหันต์

อรหัตผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ชื่อว่า อรหัตผลบุคคล และอรหัตผลบุคคลนี้ มีชื่อเรียกหลายอย่าง คือ

พระอรหันต์ หมายถึง บุคคลผู้ควรเคารพสักการะบูชายิ่ง ดังพระบาลีว่า ปูชาทิวิเสสํ อรหตีติ = อรหํ
พระขีณาสพ หมายถึง บุคคลผู้สิ้นกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง
พระเสกขบุคคล หมายถึง ผู้ไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกแล้ว (เพราะบริบูรณ์แล้วด้วยศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา) ดังพระบาลีในพระธรรมสังคณีปกรณ์ที่แสดงว่า อุปรสิกฺขิตฺตพฺพา ภาวโต น เสกฺชาติ = อเสกขา บุคคลเหล่าใด ไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะไม่มีธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่า "อเสกข"

ประเภทของพระอรหันต์

พระอรหันต์นั้น จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายประเภท ที่จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ : -

๑. พระอรหันต์ ที่สำเร็จโดย ปัญญาวิมุตติ  หมายถึง พระอรหันต์ที่สำเร็จด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาล้วนๆ ไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนา คือ ไม่ได้ทำฌานเลย และเมื่อมรรคผลเกิดขึ้น ก็ไม่มีอารัมมนูปนิชฌานเกิดขึ้นด้วย พระอรหันต์ผู้ที่ไม่ได้ฌานนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขวิปัสสกพระอรหันต์

๒. พระอรหันต์ ที่สำเร็จโดย เจโตวิมุตติ หมายถึง พระอรหันต์ที่สำเร็จด้วยวิปัสสนาภาวนาพร้อมสำเร็จสมถภาวนาจนได้ฌานด้วย และการได้มาซึ่งฌาน อาจได้มา ๒ วิธีด้วยกัน คือ :-

  • ก. ฌาน อาจได้มาด้วยการปฏิบัติสมถภาวนาจนสำเร็จฌาน เรียกการได้ฌานโดยวิธีนี้ว่า “ปฏิปทาสิทธิฌาน” คือได้ฌานจากการปฏิบัติสมถภาวนาแล้ว จึงยกฌานขึ้นมาเจริญวิปัสสนา จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์
  • ข. ฌาน อาจได้มาแม้ไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนา แต่เมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนาตามลำดับ จนบรรลุอรหัตมรรค อรหัตผล และขณะเมื่อได้มรรคผลนั้น อารัมมนูปฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ด้วยอำนาจแห่งบุญญาธิการแต่ปางก่อน ฌานที่เกิดขึ้นพร้อมนี้ เรียกว่า “มัคคสิทธิฌาน” คือได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมรรค และฌานประเภทนี้ อาจได้อภิญญาด้วยก็มี เช่น พระจูฬปันถก เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ได้อภิญญา แล้วได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์

พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตตินี้ เป็นผู้ที่สำเร็จฌานด้วย เรียกว่า พระอรหันต์ฌานลาภีบุคคล และพระอรหันต์ฌานลาภบุคคลนี้ บางองค์ไม่ได้อภิญญาด้วยก็มี แต่บางองค์ได้อภิญญาด้วยก็มี พระอรหันต์ฌานลาภีบุคคลที่ได้อภิญญาด้วยนั้น ความสามารถในการสำเร็จอภิญญายังต่างกันก็มี คือบางองค์ได้เพียงอภิญญา ๓ บางองค์ก็ได้ถึงอภิญญา ๖

อภิญญา ๓” หรือที่เรียกว่า “วิชชา ๓” นั้น ได้แก่

    ๑. บุพเพนิวาสานุสติญาณ มีปัญญาที่ระลึกชาติในอดีตได้
    ๒. ทิพยจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ มีตาทิพย์ หรือ รู้จุติ และ ปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย
    ๓. อาสวักขยญาณ มีปัญญารู้วิชาที่ทำให้สิ้นอาสวะกิเลส

สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ หรือฌานลาภีพระอรหันต์ที่ได้อภิญญา หรือไม่ได้อภิญญาด้วยก็ตาม เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ต้องมีอภิญญาข้อที่ ๓ นี้ด้วยกันทุกองค์

"อภิญญา ๖" หรือ "วิชชา ๖" นั้น ได้แก่ อภิญญา ๓ หรือ วิชชา ๓ นั่นเอง และมีความรู้เพิ่มขึ้นอีก ๓ ประการ คือ

    ๔. ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ คือมีความรู้ซึ้งถึงจิตใจผู้อื่น
    ๕. ทิพโสตญาณ มีหูทิพย์
    ๖. อิทธิวิธ สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้


พระอรหันต์ที่จำแนกเป็น ๒ ประเภทอีกนัยหนึ่ง การจำแนกพระอรหันต์เป็น ๒ ประเภทตามนัยนี้ คือ

๑. พระอรหันต์ ผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ คือ ถึงพร้อมด้วยความรู้อันแตกฉานในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รอบรู้อรรถ รู้ธรรมต่าง ๆ
๒. พระอรหันต์ ผู้ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณ

ปฏิสัมภิทาญาณ มี ๔ ประการ คือ

        ๑.๑. อตฺถปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในผลทั้งปวง อันบังเกิดจากเหตุอตฺถ หมายถึง ผล ได้แก่ ธรรม ๕ ประการ คือ : -

  • ๑) ยํกิญฺจิ ปจฺจยสมฺภูตํ คือ รูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้น มีปัจจัยประชุมปรุงแต่ง
  • ๒. นิพฺพานํ คือ พระนิพพาน
  • ๓. ภาสิตตฺโถ คือ อรรถที่กล่าวแก้ให้รู้วิบากขันธ์ ๓๒ ดวง
  • ๔. กฺริยจิตฺตํ คือ กิริยาจิต ๒๐ ดวง
  • ๕. ผลจิตฺตํ คือ ผลจิต ๔ ดวง

        ๑.๒. ธมฺมปฏิสมฺภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในเหตุที่ทำให้บังเกิดผล ธมฺม หมายถึงเหตุ ได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ : -

  • ๑. โย โกจิ ผลนิพฺพตฺตโก เหตุ คือ เหตุทั้งปวงบรรดาที่ยังผลให้เกิดขึ้น
  • ๒. อริยมคุโค คือ มัคคจิตทั้ง ๔ ดวง
  • ๓. ภาสิตํ คือ พระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก
  • ๔. กุสลจิตฺตํ คือ โลกียกุศลจิต ๑๗ ดวง
  • ๕. อกุสลจิตฺตํ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง

        ๑.๓. นิรุตติปฏิสมภิทาญาณ คือ แตกฉานในภาษาอันเป็นบัญญัติที่เนื่องด้วยหมายความว่า ในการอธิบายขยายความแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและธรรมปฏิสัมภิทา ให้ผู้สดับตรับฟังรู้และเข้าใจได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งโดยอัตถปฏิสัมภิทาและธรรมปฏิสัมภิทาถูกต้องและถี่ถ้วนจำเป็นต้องรู้จักใช้ถ้อยคำหรือภาษาอันเป็นบัญญัติที่เรียกว่า รู้จักใช้โวหาร เช่นนี้ ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา

        ๑.๔. ปฏิภาณปฏิสมภิทาญาณ คือ ปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทาเบื้องต้นทั้ง ๓ หมายความว่า มีปัญญาว่องไวเฉียบแหลมคมคาย ไหวพริบดีในการโต้ตอบอัตถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ทั้ง ๓ นั้น ได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ชัดแจ้งความรู้แตกฉาน เช่นนี้ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

พระอรหันต์ที่จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท จำแนกได้ดังนี้ คือ : -

๑. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และสามารถโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้โดยแนะให้ถึงอริยมรรค อริยผลได้ เพราะทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยญาณ อันเป็นเครื่องโปรดสัตว์ ๓ ประการ คือ : -

  • ก. อาสยานุสยญาณ คือ ญาณที่สามารถหยั่งรู้อนุสัยกิเลส และ อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
  • ข. อินฺทฺริยปโรปริยตฺติญาณ คือ ญาณที่สามารถรู้อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่งหรือหย่อนเพียงใด
  • ค. สพฺพญฺญุตฺญาณ คือ ญาณที่สามารถรอบรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรม รวมทั้งบัญญัติธรรมสิ้นทั้งปวง พระอรหันต์ประเภทนี้ จึงได้ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเหมือนกัน แต่ไม่สามารถบัญญัติพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ถึงพร้อมด้วยญาณอันเป็นเครื่องโปรดสัตว์ ๓ ประการ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ พระอรหันต์ประเภทนี้ได้ชื่อว่า พระอรหันตปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า

๓. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ธรรม สำเร็จอรหัตผล ตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ได้ชื่อว่า “พระอรหันต์” ซึ่งได้แก่ พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป ที่นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า อรหันตสาวก, สุตพุทธ, อนุพุทธ

อรหันตสาวก มี ๓ ประเภท คือ : -

  • ๑. ปกติสาวก หมายถึง สาวกที่บรรลุอริยสัจจะสิ้นอาสวกิเลสแล้วโดยทั่วไป
    ๒. มหาสาวก หมายถึง พระอรหันต์ที่เป็นสาวกผู้ใหญ่ใกล้ชิดกับพระศาสดาได้รับยกย่อง (เอตทัคคะ) เป็นพิเศษ ๔๑ องค์ อีก ๓๙ องค์ ไม่ได้รับยกย่อง รวม ๘๐ องค์
    ๓. อัคคสาวก หมายถึง สาวกที่เป็นยอดสูงสุด อยู่เบื้องขวา และเบื้องซ้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แก่พระสารีบุตร (เบื้องขวา) และพระโมคคัลลาน์ (เบื้องซ้าย)









วิกิ

ผลการค้นหา