แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๒ อายตนะ ๖ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๒ อายตนะ ๖ แสดงบทความทั้งหมด

บันทึกพิเศษท้ายบท (บันทึกที่ ๑ เรื่อง ปัญญา ๓)

บันทึกพิเศษท้ายบท

เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

🔅 บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓
ปัญญานั้น แท้จริงก็มีอย่างเดียว ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความรู้เข้าใจสภาวะ คือหยั่งถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่ก็นิยมจำแนกแยกประเภทออกไปเป็นหลายอย่าง ตามระดับของความรู้เข้าใจบ้าง ตามหน้าที่หรือแง่ด้านของการทำงานของปัญญาบ้าง ตามทางที่ปัญญานั้นเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

ปัญญาชุดหนึ่งซึ่งจำแนกตามแหล่งที่มา หรือทางเกิดของปัญญา ได้แก่ ปัญญา ๓ อย่าง ชุดที่แยกออกไปเป็นสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คำท้ายคือปัญญาเป็นตัวกลางร่วมกัน ส่วนคำข้างหน้าที่ต่างกัน บอกที่มาหรือแหล่งเกิดของปัญญานั้น ว่า หนึ่ง เกิดจากสุตะ (การสดับฟัง การอ่าน และเล่าเรียน) สอง เกิดจากจินตะ (การคิดไตร่ตรองพิจารณา) และสาม เกิดจากภาวนา (การปฏิบัติต่อจากนั้น)

ปัญญา ๓ อย่างชุดนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อย แต่มีผู้นำมาพูดกันค่อนข้างบ่อย ข้อสำคัญคือเข้าใจความหมายกันไม่ค่อยชัด จึงควรแสดงคำอธิบายที่พ่วงมากับถ้อยคำเหล่านี้สืบแต่เดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เริ่มด้วยการเรียงลำดับ ปัญญา ๓ นั้น ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก แต่ของเดิมในพระไตรปิฎก ทั้งในพระสูตร (ที.ปา.๑๑/๒๒๔/๒๓๑) และในพระอภิธรรม (อภิ.วิ.๓๕๗๙๗/๕๒๒) เริ่มด้วยจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก อย่างไรก็ตามในเนตติปกรณ์ ซึ่งพระเถรวาทสายพม่าถือเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย (จัดรวมไว้ใน ขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก) เรียงสุตมยปัญญาขึ้นก่อน (และเรียกชื่อต่างไปเล็กน้อยเป็น สุตมยปัญญา จินตามยีปัญญา ภาวนามยปัญญา) และต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ฎีกา นิยมมากขึ้นในทางที่จะเรียกชื่อเป็น สุตมยญาณ จินตามยญาณ และภาวนามยญาณ ในที่นี้ ขอเรียงลำดับ ปัญญา ๓ ตามพระไตรปิฎกชั้นเดิมไว้ก่อน พร้อมด้วยแสดงความหมายสั้นๆ ดังนี้

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาเกิดจากโยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง)
๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาเกิดจากปรโตโฆสะ)
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ (ปัญญาเกิดจากปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการในประดาสภาวธรรม)

การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาขึ้นก่อน หรือสุตมยปัญญาขึ้นก่อนนั้น จับความได้ว่า อยู่ที่การคำนึงถึงบุคคลเป็นหลักหรือมองธรรมตามความเกี่ยวข้องของบุคคล ในกรณีที่เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก ก็คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภทมหาบุรุษก่อน หมายความว่า พระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยสุตะ ไม่ต้องมีปรโตโฆสะคือการฟังจากผู้อื่น แต่รู้จักคิดพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง สามารถสืบสาว เรียงต่อ ไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอด จนหยั่งเห็นความจริงได้ จากจินตามยปัญญาจึงต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย ไม่ต้องอาศัยสุตมยปัญญา)

แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก โดยมีคำอธิบายตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟังได้สุตะ ได้ข้อธรรม ได้ข้อมูลแล้ว เกิดศรัทธาขึ้นเป็นพื้นเบื้องต้น จึงนำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณาได้ความรู้เข้าใจในสุตะนั้น ก็เกิดเป็นสุตมยปัญญา แล้วในขั้นต่อไป อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจสอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไป มองเห็นเหตุผลความสัมพันธ์เป็นไปชัดเจน เกิดเป็นจินตามยปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย (พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อาศัยหรือตั้งอยู่ในปัญญาทั้งสองนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา (สุตจินตามยญาเณสุ หิปติฏฐิโต วิปสุสน์ อารภูติ, เนตุติ.) แล้วเกิดญาณ มีความรู้สว่างประจักษ์แจ้งความจริง เป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น ก็เป็นภาวนามยปัญญา

พึงสังเกตด้วยว่า สำหรับคนทั่วไปนี้ ถึงจะได้รับสุตะคือข่าวสารข้อมูลมากมาย แต่คนจำนวนมากก็ได้แค่สุตะเท่านั้นหาได้ปัญญาไม่ คือ ในข้อที่ ๑ นั้น ต้องแยกว่า คนจำนวนมากได้แค่สุตะ มีเพียงบางคนที่อาศัยสุตะนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดสุตมยปัญญา น่าสังเกตว่า ในคัมภีร์วิภังค์แห่งอภิธรรมปิฎก ท่านอธิบายภาวนามยปัญญาว่า ได้แก่ “สมาปนนสุส ปญญา” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ปัญญาของผู้ประกอบ” หรือ “ปัญญาของผู้ถึงพร้อม” (สมาปนุน คือประกอบ หรือถึงพร้อมนี้ ในที่ทั่วไป ใช้ได้ทั้งทางดีและทางร้าย เช่น ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ ประกอบการบรรพชา ถึงพร้อมด้วยอิจฉาและโลภะ ประกอบการสนุกสนาน เล่นหัว ประกอบด้วยโสกะปริเทวะ เปี่ยมด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ฯลฯ แต่เวลาใช้โดดๆ ในทางธรรม มักหมายถึงเข้าฌานสมาบัติ) และอรรถกถาแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น (วิภงด.อ.๕๔๑) ไขความว่า “สมาปตฺติสมงคิสส, อนุโตสมาปตติย์ ปรตุตา ปญญา ภาวนามยา นาม” (ปัญญาของผู้ประกอบด้วยสมาบัติ อันเป็นไปในสมาบัติ ชื่อว่าเป็นภาวนามัย) ทำให้รู้สึกว่าความหมายจำกัดเฉพาะมาก แต่คัมภีร์ต่างๆ เช่น ปรมัตถมัญชุสา อธิบายว่า คำไขความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่าง โดยสาระก็มุ่งเอาการเห็นแจ้งความจริงที่เป็นมัคคปัญญาอันเป็นไปด้วยวิปัสสนานั่นเอง

มีแง่ของการอธิบายที่กินความคลุมถึงฌานสมาบัติ และมองได้กว้างออกไป พร้อมทั้งเข้าใจง่ายขึ้นด้วย คือจับที่คำว่าอัปปนา ซึ่งหมายถึงสมาธิที่เป็นแกนของฌานทั้งหมด ดังที่ท่านไขความว่า “ปัญญาที่สำเร็จด้วยอำนาจภาวนา อันถึงอัปปนาชื่อว่า "ภาวนามัย" (วิสุทธิ.๓/๔) คำไขความตรงนี้ ที่กล่าวถึงภาวนา โยงไปถึงข้อความข้างต้นที่ว่าขะมักเขม้นมนสิการในประดาสภาวธรรม ซึ่งก็คือ🔎วิปัสสนา เมื่อวิปัสสนาปัญญาเห็นแจ้งชัดถึงขีด จิตก็เป็นสมาธิถึงอัปปนา (ถึงฌาน) ความประจักษ์แจ้งจดจิตสนิทแน่ว ถึงกับทำให้สิ่งหมักหมมผูกรัดหุ้มพอกจิต ที่เรียกว่ากิเลส ถูกสลายล้างออกไป จิตพ้นจากกิเลสสิ้นเชิงหรือบางส่วนก็ตาม ความรู้แจ้งถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างนี้ได้ คือภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นมรรคญาณ 

มีความรู้ประกอบอีกหน่อยว่า ในเนตติปกรณ์ (เนตติ.๘) ท่านโยงปัญญา ๓ นี้ กับการจัดประเภทบุคคล ๔ ด้วย โดยแสดงความหมายของบุคคล ๓ ประเภทแรกที่เป็นเวไนย (เวไนย ๓) ให้เห็นทุนเดิมก่อนจะก้าวสู่ภาวนามยปัญญาว่า
  • คนที่มี ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น อุคฆฏิตัญญู (ผู้รู้ได้ฉับพลันเพียงแค่ฟังหัวข้อก็เข้าใจ) 
  • คนที่มีสุตมยปัญญาอย่างเดียว เป็น วิปจิตัญญ (ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อมีการขยายความ)
  • คนที่ยังไม่มีปัญญา ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น เนยยะ (ผู้ที่จะพึงแนะนำโดยฝึกสอนอบรมให้เข้าใจต่อไป) 
ส่วนปทปรมะ (พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ) ไม่เป็นเวไนย เป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อรู้เข้าใจหลักต่างๆ ข้างต้นเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะประมวลเป็นคำอธิบาย ปัญญา ๓ สำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ คร่าวๆ ทวนความก่อนว่า อัจฉริยบุคคล ในขั้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นนักคิดที่แท้จริง คือมีปัญญายิ่งใหญ่เหนือคนทั่วไป อย่างที่ว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ทั้งหลาย ที่คนอื่นๆ พบเห็นกันมาเป็นสิบปีร้อยปีพันปีแล้ว กี่รุ่นกี่ชั่วคน เขาก็อยู่กันมา ก็รู้เข้าใจตามๆ กันมาอยู่แค่นั้น แต่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา ทรงมีโยนิโสมนสิการ ที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่มุมอื่นๆ ที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง มองไม่เห็น สามารถคิดสืบสาวหยั่งเห็นความจริงที่ลึกล้ำอยู่เบื้องหลัง คิดริเริ่มใหม่ๆ ในสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยคิด ทำให้มีการมองใหม่เห็นใหม่ค้นพบใหม่ ได้ความรู้ความเข้าใจใหม่ และก้าวต่อไปในโยนิโสมนสิการนั้น จนเข้าถึงความจริงที่ไม่มีใครอื่นหยั่งถึงได้

ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยโยนิโสมนสิการของตนเองอย่างนี้ เรียกว่าจินตามยปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีโดยไม่ต้องอาศัยการสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น และก็ไม่มีคนอื่นมีปัญญารู้ที่จะมาบอกมาสอนให้ได้ จึงเป็นปัญญาของบุคคลพิเศษ ที่คนทั่วไปไม่มี ถ้าไม่มีบุคคลพิเศษที่มีจินตามยปัญญาอย่างนี้ การค้นพบใหม่ การแหวกวงล้อมหรือกรอบทางปัญญาออกไป ก็ไม่อาจเป็นไปได้ และคนก็อยู่ก็รู้ก็คิดตามๆ กันเรื่อยๆ ไป ในเมื่อคนทั่วไปไม่มีจินตามยปัญญาจากการใช้โยนิโสมนสิการเริ่มคิดด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการสดับตรับฟังเล่าเรียนคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่นเป็นจุดเริ่ม นี่คือเริ่มจากการสร้างสุตมยปัญญาก่อน ในขณะที่บุคคลพิเศษข้ามสุตมยปัญญานี้ไป

สำหรับในที่นี้ เมื่อแยกบุคคลพิเศษออกไปแล้ว จึงจะกล่าวถึง ปัญญา ๓ ครบจำนวน และเรียงลำดับโดยถือเอาคนทั่วไปเป็นที่ตั้ง ดังนี้

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นได้ โดยต้องอาศัยสุตะ คือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึง มองอะไรๆ ไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอนบอกให้ เช่นมีท่านที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ ครูอาจารย์ มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาจากการเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกลลึกรอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่อไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้นได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาสองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ (หมายถึงโยนิโสมนสิการ) ที่ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้แจ้งจริงที่สำเร็จเป็นมรรคให้บรรลุผล

ขอให้สังเกตไว้เป็นข้อสำคัญประการแรกว่า ภาวนามยปัญญานี้ อาศัยและต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ไปนั่งสมาธิ แล้วมาบอกว่าเข้าฌานได้ภาวนามยปัญญา อย่างนั้นไม่ใช่ พึงตระหนักว่า คนทั่วไปนี้แม้แต่จินตามยปัญญาก็ยังทำให้เกิดเองไม่ได้ ต้องเริ่มจากสุตมยปัญญา (สุตมยปัญญาก็ยังไม่ค่อยจะได้ มีแต่ได้แค่สุตะ อย่างที่พูดแล้วข้างต้น)

จุดสังเกตสำคัญประการที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ เป็นตัวทำงาน เรียกได้ว่าเป็นแกนในการพัฒนาหรือสร้างปัญญาทั้งสามอย่างนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่บุคคลพิเศษอย่างพระพุทธเจ้า ที่ว่าตั้งต้นด้วยจินตามยปัญญา โดยไม่ต้องอาศัยสุตะจากคนอื่น (ไม่ต้องพึ่งปรโตโฆสะ) ก็คือใช้โยนิโสมนสิการที่มีขึ้นมาเป็นของเริ่มต้นในตนเอง เป็นที่มาของปัญญาที่เกิดจากการคิด ที่ทำให้คิดเป็นได้อย่างเฉพาะพิเศษ ส่วนคนทั่วไป แม้จะได้พึ่งสุตะจากผู้อื่น แต่เมื่อจะก้าวต่อไปจากนั้น จะให้ปัญญาพัฒนาขึ้นไป ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการจนกระทั่ง ในที่สุดการเกิดของปัญญาข้อที่ ๓ อันสูงสุดนั้น มีการทำงานของโยนิโสมนสิการเป็นสาระสำคัญเลยทีเดียว

เรื่องจึงเป็นอย่างที่พูดแล้วแต่ต้นว่า ปัญญา ๓ อย่างในชุด สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญานี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อยนัก พระสารีบุตรประมวลมาแสดงไว้ เป็นการให้มองเห็นแหล่งที่เกิดที่มาของปัญญา ไม่เป็นหลักที่ท่านเน้นย้ำมาก

เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ตรัสอยู่เสมอ ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำให้เกิดปัญญา เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ปัญญาทั้งสามนั้นก็มาได้ และให้สัมฤทธิ์บรรลุจุดหมาย

ก็มาสรุปไว้ท้ายนี้อีกทีว่า คนทั้งหลายที่รับข่าวสารข้อมูลกันนั้น บางคนได้แค่สุตะ โดยไม่ได้ปัญญาเลย แม้แต่สุตมยปัญญาก็ไม่ได้ บางคนรู้จักมนสิการไตร่ตรองพิจารณาสุตะนั้นแล้ว สามารถทำสุตมยปัญญาให้เกิดขึ้น บางคนได้สุตมยปัญญาแล้ว รู้จักมนสิการคิดพินิจยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาจินตามยปัญญาให้เกิดขึ้นมา บางคน ใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา ที่มีที่ได้แล้วนั้น เป็นฐาน พัฒนาปัญญาด้วยโยนิโสมนสิการยิ่งขึ้นไป ก็อาจทำภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้นได้

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท
    บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓


คุณค่าทางจริยธรรม

คุณค่าทางจริยธรรม

๑. อายตนะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของทางแยกระหว่างกุศลกับอกุศล ทางสายหนึ่งนำไปสู่ความประมาทมัวเมา ความชั่ว และการหมกติดอยู่ในโลก อีกสายหนึ่งนำไปสู่ความรู้เท่าทัน การประกอบกรรมดี และความหลุดพ้นเป็นอิสระ ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หากไม่มีการฝึกฝนอบรมให้เข้าใจและปฏิบัติในเรื่องอายตนะอย่างถูกต้องแล้ว ตามปกติมนุษย์ทั่วไปจะถูกชักจูงล่อให้ดำเนินชีวิตในทางที่มุ่งเพื่อเสพเสวยโลก เที่ยวทำการต่างๆ เพียงเพื่อแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะที่ชอบใจ และความสนุกสนานบันเทิงต่างๆ มาปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจอยากของตน พอกพูนความโลภ โกรธ หลง แล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น

พอจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเบียดเบียนกัน การขัดแย้งแย่งชิง การกดขี่บีบคั้น เอารัดเอาเปรียบกัน ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้น และที่แก้ไขกันไม่สำเร็จ โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็สืบเนื่องมาจากการดำเนินชีวิตแบบปล่อยตัว ให้ถูกล่อถูกชักจูงไปในทางที่จะปรนเปรออายตนะอยู่เสมอ จนเคยชินและรุนแรงยิ่งขึ้นๆ นั่นเอง คนจำนวนมาก บางที่ไม่เคยได้รับการเตือนสติให้สำนึกหรือยั้งคิด ที่จะพิจารณาถึงความหมายแห่งการกระทำของตน และอายตนะที่ตนปรนเปรอบ้างเลย และไม่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือสังวรระวังเกี่ยวกับอายตนะหรืออินทรีย์ของตน จึงมีแต่ความลุ่มหลงมัวเมายิ่งๆ ขึ้น การแก้ไขทางจริยธรรมในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การสร้างความเข้าใจให้รู้เท่าทันความหมายของอายตนะและสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของตนแค่ไหน เพียงไร และอีกส่วนหนึ่ง ให้มีการฝึกฝนอบรมด้วยวิธีประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุม การสำรวมระวังใช้งาน และรับใช้อายตนะเหล่านั้นในทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคม

๒. อายตนะเป็นแหล่งที่มาของความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไปและความเพียรพยายามเฉพาะกิจแทบทุกอย่างของปุถุชน ด้านสุขก็เป็นการแสวงหา ด้านทุกข์ก็เป็นการหลีกหนีนอกจากสุขทุกข์จะเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความประพฤติดีประพฤติชั่วที่กล่าวในข้อ ๑ แล้ว ตัวความสุขทุกข์นั้น ก็เป็นปัญหาอยู่ในตัวของมันเอง ในแง่ของคุณค่า ความมีแก่นสาร และความหมายที่จะเข้าพึ่งพาอาศัยมอบกายถวายชีวิตให้อย่างแท้จริงหรือไม่

คนไม่น้อย หลังจากระดมเรี่ยวแรงและเวลาแห่งชีวิตของตนวิ่งตามหาความสุขจากการเสพเสวยโลกจน
เหนื่อยอ่อนแล้ว ก็ผิดหวัง เพราะไม่ได้สมปรารถนาบ้าง เมื่อหารสอร่อยหวานชื่น ก็ต้องเจอรสขื่นขมด้วย บางที ยิ่งได้สุขมาก ความเจ็บปวดเศร้าแสบกลับยิ่งทวีล้ำหน้า เสียค่าตอบแทนในการได้ความสุขไปแพงกว่าได้มา ไม่คุ้มกันบ้าง ได้สมปรารถนาแล้วแต่ไม่ชื่นเท่าที่หวัง หรือถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายแล้วความสุขกลับวิ่งหนีออกหน้าไปอีก ตามไม่ทันอยู่ร่ำไปบ้าง บางพวกก็จบชีวิตลงทั้งที่กำลังวิ่งหอบ ยังตามความสุขแท้ไม่พบหรือยังไม่พอ ส่วนพวกที่ผิดหวังแล้วก็เลยหมดอาลัยปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง อยู่อย่างทอดถอนความหลังบ้าง หันไปดำเนินชีวิตในทางเอียงสุดอีกด้านหนึ่ง โดยหลบหนีตีจากชีวิตไปอยู่อย่างทรมานตนเองบ้าง การศึกษาเรื่องอายตนะนี้ มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสภาพความจริง และประพฤติปฏิบัติด้วยการวางท่าทีที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นมากนัก อย่างน้อยก็ให้มีหลัก พอรู้ทางออกที่จะแก้ไขตัว นอกจากจะระมัดระวังในการใช้วิธีการที่จะแสวงหาความสุขเหล่านี้แล้ว ยังเข้าใจขอบเขตและขั้นระดับต่างๆ ของมัน แล้วรู้จักหาความสุขในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปด้วย ความประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสุขทุกข์นี้ ย่อมเป็นเรื่องของจริยธรรมไปด้วยในตัว

๓. อายตนะในแง่ที่เป็นเรื่องของกระบวนการรับรู้และการแสวงปัญญา ก็เกี่ยวข้องกับจริยธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพราะถ้าปฏิบัติในตอนเริ่มแรกไม่ถูกต้อง การรับรู้ก็จะไม่บริสุทธิ์ แต่จะกลายเป็นกระบวนการรับรู้ที่รับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือเป็นส่วนประกอบของกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏไปเสีย ทำให้ได้ความรู้ที่บิดเบือน เอนเอียง เคลือบแฝง มีอคติ ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง หรือตรงกับสภาวะตามที่มันเป็น การปฏิบัติในทางจริยธรรมที่จะช่วยเกื้อกูลในเรื่องนี้ ก็คือวิธีการที่จะรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในอุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงตรงไม่เอนเอียง ไม่ให้ถูกอำนาจกิเลสมีความชอบใจไม่ชอบใจเป็นต้นเข้าครอบงำ


๔. การปฏิบัติทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับอายตนะโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง มีหลายอย่าง บางอย่างก็มีไว้เพื่อใช้ในขั้นตอนต่างๆ กัน ทั้งนี้สุดแต่ว่าปัญหามักจะเกิดขึ้นที่จุดใด ทุกข์และบาปอกุศลมักได้ช่องเข้ามาที่ช่วงตอนใด อย่างไรก็ตาม ท่านมักสอนให้ใช้วิธีระวังหรือป้องกันตั้งแต่ช่วงแรกที่สุด คือ ตอนที่อายตนะรับอารมณ์ทีเดียว เพราะจะทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเลย จึงเป็นการปลอดภัยที่สุด ในทางตรงข้าม ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คือ บาปอกุศลธรรมได้ช่องเข้ามาแล้ว มักจะแก้ไขยาก เช่น เมื่อปล่อยให้อารมณ์ที่ล่อเร้าเย้ายวนครอบงำใจ จิตถูกปรุงแต่งจนราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีความสำนึกในสิ่งชอบธรรมอยู่ แต่ก็ทนต่อความเย้ายวนไม่ได้ ลุอำนาจกิเลส ทำบาปอกุศลลงไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงย้ำวิธีระมัดระวังป้องกันให้ปลอดภัยไว้ก่อนตั้งแต่ต้น

องค์ธรรมสำคัญที่ใช้ระมัดระวังตั้งแต่ต้น ก็คือ สติ ซึ่งเป็นตัวควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับหลัก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง เหมือนเชือกสำหรับดึงจิต สติที่ใช้ในขั้นระมัดระวังป้องกันเกี่ยวกับการรับอารมณ์ของอายตนะแต่เบื้องต้นนี้ ใช้หลักที่เรียกว่า 🔎อินทรียสังวร ซึ่งแปลว่า การสำรวมอินทรีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การคุ้มครองทวาร หมายถึง การมีสติพร้อมอยู่ เมื่อรับอารมณ์มีรูป เป็นต้น ด้วยอินทรีย์มีตาเป็นอาทิ ก็ไม่ปล่อยใจถือไปตามนิมิตหมายต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความติดพันขุ่นเคืองชอบใจไม่ชอบใจ แล้วถูกอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตใจ การปฏิบัติตามหลักนี้ ช่วยได้ทั้งด้านป้องกันความชั่วเสียหาย ป้องกันความทุกข์ และป้องกันการสร้างความรู้ความคิดที่บิดเบือนเอนเอียง (ในแง่ความรู้ความคิดที่เอนเอียงบิดเบือนนั้น ในที่นี้หมายเฉพาะปลอดภัยจากเหตุใหม่ ไม่พูดถึงเหตุที่สั่งสมไว้เก่า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหาก)

อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผล มิใช่ว่าจะนำหลักมาใช้เมื่อไรก็ได้ตามปรารถนา เพราะสติจะตั้งมั่นเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จำต้องมีการฝึกฝนอบรม อินทรียสังวรจึงต้องมีการซ้อมหรือใช้อยู่เสมอ การฝึกอบรมอินทรีย์ มีชื่อเรียกว่า อินทรียภาวนา (แปลตามแบบว่าการเจริญอินทรีย์) เรียกเต็มว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ที่ฝึกอบรมหรือเจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมปลอดภัยจากบาปอกุศลธรรม ความทุกข์ และความรู้ที่เอนเอียงบิดเบือนทั้งหลาย เพราะป้องกันไว้ได้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น หรือแม้หากความชอบใจไม่ชอบใจจะหลุดรอดเกิดขึ้นมา ก็สามารถระงับ หรือสลัดทิ้งไปได้เร็วพลัน

อินทรียสังวรนี้จัดว่าเป็นหลักธรรมในขั้นศีล แต่องค์ธรรมสำคัญที่เป็นแกนคือสตินั้นอยู่ในจำพวกสมาธิทำให้มีการใช้กำลังจิตและการควบคุมจิตอยู่เสมอ จึงเป็นการฝึกอบรมสมาธิไปด้วยในตัว หลักธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านแนะนำให้เป็นข้อปฏิบัติในเรื่องนี้ เป็นหลักในระดับปัญญา เรียกว่าโยนิโสมนสิการ หลักนี้ใช้ในช่วงตอนที่รับอารมณ์เข้ามาแล้ว โดยให้พิจารณาอารมณ์นั้นเพื่อเกิดความรู้เท่าทัน เช่น พิจารณาคุณ โทษ ข้อดีข้อเสียของอารมณ์นั้น พร้อมทั้งภาวะอันเป็นอิสระปลอดภัยอยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์นั้น ในแง่ที่จะต้องให้คุณและโทษของมันเป็นตัวกำหนดความสุข ความทุกข์และชะตาชีวิต ข้อปฏิบัติที่กล่าวถึงเหล่านี้ มีแนวปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ข้างต้นบ้างแล้ว และบางหลักก็จะอธิบายต่อไปข้างหน้าอีก จึงพูดไว้โดยย่อเพียงเท่านี้

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
    คุณค่าทางจริยธรรม
บันทึกพิเศษท้ายบท



พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ

 พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง" (สิ่งทั้งปวง, ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิต: อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง: ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐพพะ ใจกับธรรมารมณ์ - นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง”

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก?”
“ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ตัวยจักขุวิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหูมีจมูก...มีลิ้นมีกายมีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณมีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ ที่นั้นก็มีโลกหรือบัญญัติว่าโลก"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้ ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำความสิ้นทุกข์ได้"

(พระอานนท์กล่าว:) “ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดังนี้: บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย.” “ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก? ด้วยตาตัวยหู ตัวยจมูกด้วยลิ้น...ด้วยกาย...ด้วยใจ คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก, จงฟังเถิด.
การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน?
อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,
ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ,
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี,
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี,
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี,
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี,
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี,
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก”

"อาศัยหู...อาศัยจมูก....อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอุทัยพร้อมแห่งโลก”

"อัสดงแห่งโลกเป็นไฉน?
อาศัยตาและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,
ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือ ผัสสะ,
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา,
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี,
เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกตับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี,
เพราะตับอุปาทาน ความดับภพจึงมี,
เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี,
เพราะดับชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ,
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด ย่อมมีได้อย่างนี้ นี้เรียกว่าอัสดงแห่งโลก”

อาศัยหู....อาศัยจมูก..อาศัยลิ้น....อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอัสดงของโลก"

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์” เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติว่ามารจึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์ จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์"

“ตูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ
มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ตัวยมโนวิญญาณ,
ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์....ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์"

“เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์,
 เมื่อตาไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์,
เมื่อหู....จมูก...สิ้น....กาย...ใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์,
เมื่อหู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์,

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ตา...จมูก ลิ้น กายใจไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”

"รูป...เสียงกลิ่น...รส..โผฏฐพพะธรรมารมณ์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย, โคกินข้าวกล้าลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด, ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวร์ในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลิน ประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้"

🔅 “ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้ หู-เสียง, จมูก-กลิ่น: ลิ้นรส กาย-โผฏฐพพะ, ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้, ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ?"

“(หามิได้) ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้,
รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้,
ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด) ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น
ใจก็ไม่ใช่เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์,
ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ,
ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจธรรมารมณ์นั้น” “หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร์, การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้"

"แต่เพราะเหตุที่ตาไม่ใช่เครื่องผูกล่ามรูป, รูปมิใช่เครื่องผูกล่ามตา, ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น เพราะเหตุฉะนั้น การครองชีวิตประเสริฐเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ”

“พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระจักษุ, พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ, (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว: พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระโสต....พระฆานะพระชิวหา...พระกาย...พระทัย.... (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว"

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ! ถึงแม้ข้าพระองค์ชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับก็ตาม ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่

"แน่ะมาลุงกยบุตร! ท่านเห็นเป็นประการใด? รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุอย่างใดๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
🙏ทูลตอบ “ไม่มี พระเจ้าข้า”
"เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐพพะธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใดๆ เธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ และทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
🙏ทูลตอบ “ไม่มี พระเจ้าข้า”
“มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่เห็นได้ยินรู้ทราบเหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน จักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ลิ้มดมแตะต้อง จักมีแค่รู้ (รสกลิ่นแตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบ จักมีแค่ทราบ"
"เมื่อใด (เธอมีแค่เห็นได้ยินได้รู้ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั้น (อรรถกถาอธิบายว่าไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ), เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็นเป็นต้นนั้น), เมื่อไม่มีที่นั่น เธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีที่โน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง) นั่นแหละคือที่จบสิ้นแห่งทุกข์ (พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า)

“พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์ แล้วก็สยบอยู่กับอารมณ์นั้นเอง" "เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน” “พอได้ยินเสียง..พอได้กลิ่น..พอลิ้มรส..พอถูกต้องโผฏฐพพะ..พอรู้ธรรมารมณ์ สติก็หลง หลุด ฯลฯ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน”

“เห็นรูปก็ไม่ติดในรูป ด้วยมีสติมั่นอยู่, มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น; เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป และถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม; เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน” “ได้ยินเสียงได้กลิ่น ลิ้มรสถูกต้องโผฏฐพพะรู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน

🔅 “ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ มิใจเล็กจ้อยอยู่ ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ, ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ต้องโผฏฐพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ๆลฯ”

“ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพันด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ, ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ"

“ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท? เมื่อภิกษุสังวรจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ, เมื่อมีจิตไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ก็เกิด, เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด, เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ, ผู้มีกายสงบ ย่อมเป็นสุข, ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ, เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ, เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้นจึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

🔅 "อานนท์ การอบรมอินทรีย์ ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) เป็นอย่างไร? เพราะเห็นรูปด้วยตาเพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น...เพราะต้องโผฏฐพพะด้วยกาย...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจบ้าง แก่ภิกษุ เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น, ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง), (ครั้นแล้ว) ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น ก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น”

“สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตาแล้วหลับตา นี้เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน..."

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า: อะไรเป็นคุณของจักษุ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย) ของจักษุ? อะไรเป็นทางออก (พ้นอาศัยเป็นอิสระ) แห่งจักษุ? อะไรเป็นคุณเป็นโทษเป็นทางออกแห่งโสตะ... ฆานะ..ชิวหา...กาย...มโน?”
“เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้: สุข โสมนัส ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี้คือคุณของจักษุ,
ข้อที่จักษุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือโทษของจักษุ
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ
(ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

“ตราบใด เรายังมิได้รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้โดยเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยเป็นโทษ, ซึ่งทางออกโดยเป็นทางออก, ตราบนั้นเราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าเราบรรลุแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ..." (ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้นแห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน) (ทบทวน คุณ, โทษ, ทางออก อายตนะ ๖ ดูใน 🔎มหาสติปัฎฐานสูตร หมวด อายตนะ)

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เห็นจักขุวิญญาณตามที่มันเป็น รู้เห็นจักขุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติตพันในเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย"

“เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป อนึ่ง ตัณหาที่เป็นตัวการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแต่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ที่จะถูกละไปเสียด้วย, ความกระวนกระวายทางกายก็ดี ความกระวนกระวายทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกายก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจก็ดี ย่อมถูกเขาละได้"

“ผู้นั้นย่อมเสวยทั้งความสุขทางกาย ทั้งความสุขทางใจ, บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ, มีความดำริใด ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ, มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ, มีความระลึกใด ความระลึกนั้นก็เป็นสัมมาสติ มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ, ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีมาแต่ต้นทีเดียว ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐงคิกมรรค อันถึงความเจริญบริบูรณ์” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นกัน)

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
    พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
บันทึกพิเศษท้ายบท



ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓

 ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓

วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติ ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตาไม่ให้มองเห็นสัจภาวะ วิปลาสมี ๓ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
๒. จิตตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง

วิปลาส ๓ประเภทนี้เรียงตามลำดับความมีกำลังแรงกว่ากัน

🔅 สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กาและกวางป่ามองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟโฆษณากะพริบอยู่กับที่เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น

🔅 จิตตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหารของตน คนจิตฟันเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหาคิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงาเคลื่อนไหวในที่มืดสลัวคิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูมได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่นคิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น

🔅 ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจากสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตามนั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาดไปตามอย่างนั้น เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึดถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้าประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษาพูดว่าเป็นความวิปลาสขั้นวิปริต ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึงขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้นจะสอดคล้องประสานกันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่างดังนี้: สื่อย่างอะไรบ้าง? (กล่าวคือ)
๑. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
๒. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
๓. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งมิใช่ตัวตน ว่าตัวตน
๔. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม"

วิปลาสเหล่านี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรมเจริญปัญญา และก็เป็นเป้าหมายของการฝึกอบรมปัญญาที่จะกำจัดมันเสีย การพัฒนาความรู้และเจริญปัญญาตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว ล้วนช่วยแก้ไขบรรเทาและกำจัดวิปลาสได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โยนิโสมนสิการแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย และแยกแยะองค์ประกอบตรวจดูสภาวะ โดยมีสติพรั่งพร้อมอยู่

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
        ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓
บันทึกพิเศษท้ายบท


ก. สัจจะ ๒ ระดับ

ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้

เรื่องราวที่ควรทราบเกี่ยวกับความรู้ ยังมีอีกหลายอย่าง ไม่อาจแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด จึงจะกล่าวอีกเพียงเรื่องเดียว คือ ความถูกต้องผิดพลาดของความรู้ และแม้ในหัวข้อนี้ ก็จะกล่าวถึงหลักที่ควรทราบเพียง ๒ อย่าง เท่านั้น

ก. สัจจะ ๒ ระดับ

ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ๆ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ๆ ควรยินดีแต่ของของตน ไม่ควรอยากได้ของของผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนควรช่วยเหลือกัน ดังนี้ เป็นต้น แต่บางแห่งว่าพึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็แค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พึ่งรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น แล้วมองไปว่า คำสอนในทางพระศาสนาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็งง แล้วไม่เข้าใจ หรือบางคนเข้าใจบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสนผิดพลาด ดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในเวลาที่ควรพูดควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ เป็นต้น ทำให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะหรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ (ความคิดเกี่ยวกับสัจจะ ๒ นี้ เริ่มแสดงออกเป็นคำบัญญัติในคัมภีร์กถาวัตถุ แต่ยังไม่ระบุแบ่งเป็นถ้อยคำชัดเจน คือ กล่าวถึง สมมติสัจจะ ใน อภิ.ก.๓๗/๑๐๖๒/๓๓๔ และกล่าวถึง สัจฉิกัตถปรมัตถ์ และ ปรมัตถ์ ใน อภิก ๓๗/๓-๑๙๐/๑-๘๓: การระบุชัดปรากฏใน ปญจ.อ.๑๕๓,๒๔๑ นอกจากนี้มีกล่าวถึงและใช้อธิบายธรรมในที่อื่นหลายแห่ง เช่น ม.อ.๑/๒๙๙ = ส.อ.๒/๑๖; ธ.อ.๗/๕๖; สงคณี มูลฎีกา ๑๖๕, ๒๘๐, ๒๔๗, สงคณี อนุฎีกา ๓๒๘, วิสุทธิ ฎีกา ๒/๑๔๐; อุ.อ.๕๐๑; อิติ.อ.๒๑๓; สงคห.ฎีกา ๒๕๕)

    🔅 ๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ ความจริงโดยโวหารหรือโดยสำนวนพูด) คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือหมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น (conventional truth) ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น

    🔅 ๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ คือ จริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้อย่างยิ่งหรือ ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทำให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไป ทำให้วางใจวางท่าที่ต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริง

สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ ฯลฯ (ultimate truth) ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า คำว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น ยังไม่ตรงสภาวะแท้ อาจมีแง่ความหมายที่คลุมเครือ หรือเขวได้ น้ำแท้ๆ คือ Hydrogen Oxide (H,0) เกลือสามัญก็เป็น Sodium Chloride (NaCl) จึงถูกแท้ ดังนี้เป็นต้น (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่า ในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่น ของสิ่งสามัญ)

อย่างไรก็ดี ความคิดเกี่ยวกับสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ที่ท่านระบุออกมาเป็นคำบัญญัติในพระอภิธรรมนั้น ก็ยกเอาความในพระสูตรนั่นเองเป็นที่อ้าง แสดงว่า ความคิดความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นของมีแต่เดิม แต่ในครั้งเดิมนั้น คงเป็นที่เข้าใจกันดี จนไม่ต้องระบุคำบัญญัติ ๒ คำนี้ ข้อความในพระสูตรที่ท่านยกมาอ้างนั้นเป็นคำของพระภิกษุณีชื่อวชิรา มีเนื้อความดังนี้

“นี่แน่ะมาร! ท่านจะมีความเห็นยึดถือว่าเป็นสัตว์ได้อย่างไร, ในสภาวะที่เป็นเพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย" เปรียบเหมือนว่า เพราะคุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ศัพท์ว่า รถ ย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ ก็ย่อมมี ฉันนั้น

ความคล้ายกันนี้ ที่เน้นในแง่ปฏิบัติ คือ ความรู้เท่าทันสมมติ และเข้าใจปรมัตถ์ แล้วรู้จักใช้ภาษา เป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ยึดติดในสมมติเป็นทาสของภาษา สามารถยกบาลีที่เป็นพุทธพจน์มาอ้างได้อีกหลายแห่ง เช่น "ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ..จะพึงกล่าวว่า ฉันพูด ดังนี้ก็ดี เขาพูดกับฉัน ดังนี้ก็ดี เธอเป็นผู้ฉลาด รู้ถ้อยคำที่เขาพูดกันในโลก ก็พึงกล่าวไปตามโวหารเท่านั้น เหล่านี้เป็นโลกสมัญญา เป็นโลกนิรุติ เป็นโลกโวหาร เป็นโลกบัญญัติ ซึ่งตถาคต์ใช้พูดจา แต่ไม่ยึดติด”

อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์บรรยายลักษณะของพระสูตร (สุตตันตปิฎก) ว่าเป็น โวหารเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยโวหาร คือ ใช้ภาษาสมมติ ส่วนพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยปรมัตถ์ คือ กล่าวตามสภาวะแท้ๆ นี้เป็นข้อสังเกตเพื่อประดับความรู้อย่างหนึ่ง

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
        ก. สัจจะ ๒ ระดับ
บันทึกพิเศษท้ายบท




ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์

ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์

ความรู้ที่จัดโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ได้แก่ความรู้ที่เนื่องด้วยปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสื่อสาร ถ่ายทอด แสวงหา เอ่ยอ้าง นับถือ สังกัด และที่เป็นมรดกตกทอดต่อกันมา เป็นสมบัติของมวลมนุษย์ เป็นความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรม ความรู้ที่จัดตามแนวนี้ พอจำแนกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. สุตะ หรือ สุติ ความรู้ที่ได้สดับ เล่าเรียน หรือถ่ายทอดต่อกันมา แบ่งย่อยได้เป็น ๒
    ก) ความรู้ที่ได้สดับตรับฟัง บอกเล่า สอนเรียน ถ่ายทอดต่อกันมา โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า สุตะในทางพระพุทธศาสนาถือว่า สุตะเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญมาก เมื่อมองในแง่ของพัฒนาการทางปัญญา ท่านจัดเข้าเป็นปรโตโฆสะ และเน้นปรโตโฆสะที่ดี โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ การเรียนการสอน ข่าวสาร ความรู้ประเภทตำรับตำรา และตำนานทั้งหลาย เป็นสุตะ แม้พระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎกก็เป็นสุตะ (ทุกสูตรตามปกติขึ้นต้นว่า เอวมเม สุต)
    ข) ความรู้ที่บางศาสนาถือว่าได้รับการเปิดเผยแจ้งดลใจจากองค์บรมเทพ เช่น พราหมณ์ถือว่าพระเวทเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพระพรหมโดยตรง ความรู้ในข้อนี้มักเรียกชื่อจำเพาะว่า สุติ ตรงกับคำสันสกฤตว่า ศรุติ แต่ในทางพระพุทธศาสนาไม่ถือเป็นความรู้พิเศษต่างหากออกไป จึงรวมเข้าในประเภทสุตะเหมือนกันหมด จะเรียกว่า สุตะ หรือสูติ ก็มีค่าทางปัญญาไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาสาระ

๒. ทิฏฐิ ความเห็น ทฤษฎี ลัทธิ ความเชื่อถือต่างๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้ลงข้อสรุปให้แก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความยึดถือผูกพันกับตัวตน หรือมีลักษณะอาการที่อาจให้เกิดการถือแบ่งเป็นของเขาของเราเป็นต้นได้ ดังเคยกล่าวถึงแล้วในข้อก่อน แต่ที่จัดเข้าในชุดนี้ เพราะมองในแง่สังคมโดยฐานเป็นกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ในเมื่อความยึดถือนั้นขยายออกมา มีการแสดงหรือเผยแพร่ความเห็นออกไป มีผู้เชื่อถือหรือยึดถือตาม อาจมีการรวมหมู่รวมกลุ่ม ตลอดจนจัดตั้งเป็นสำนัก เป็นต้น ทิฏฐินี้ (ตรงกับคำสันสกฤตว่า ทฤษฏิ) มีไวพจน์มากมายหลายคำ แต่ที่ใช้มากยิ่งและควรทราบคือ ขันติ (ข้อที่เห็นเข้ากันได้, หลักการที่เห็นสม) รุจิ (ข้อที่ถูกใจ, หลักการที่ชื่นชอบ) และ ลัทธิ (ข้อที่ได้ไว้, หลักการหลักความเชื่อ หลักปฏิบัติที่คิดขึ้นได้ หรือถือเป็นการได้รับผล) รวมทั้งความเชื่อทางศาสนา

๓. ญาณ ความรู้ ความหยั่งรู้ ความรู้บริสุทธิ์ ความรู้ตรงตามสภาวะ หรือปัญญาที่ทำงานออกผลเป็นเรื่องๆ หรือมองเห็นตลอดสายในด้านหนึ่งๆ ญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ และเป็นผลสำเร็จสำคัญของมนุษย์ ญาณไม่ว่าจะเป็นโลกิยญาณหรือโลกุตรญาณ เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรมของมนุษยชาติ ญาณที่ยิ่งใหญ่สูงสุดเรียกชื่อเฉพาะว่า โพธิ หรือ โพธิญาณ แปลกันว่า ความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ สัมมาสัมโพธิญาณ จึงทำให้เกิดพระพุทธศาสนา เป็นดวงตาใหญ่ของโลก 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีจำแนกความรู้อย่างอื่นอีก ซึ่งอาจถือว่าเป็นวิธีเบ็ดเตล็ด เอาความรู้ในชุดต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้นมาคลุกเคล้าเข้าหมวดกัน เช่นแห่งหนึ่งท่านกล่าวไว้ สรุปได้เป็นความรู้ต่างชนิด ดังนี้
๑. อิติหะ อิติกิรา ปรัมปรา ความรู้ที่ได้จากการบอกกล่าว เล่าลือ ตรับฟัง เล่าเรียนถ่ายทอด นำสืบกันมา
๒. ปิฏกสัมปทา ความรู้ตามแบบแผนตำรา
๓. ตักกะ นยะ อาการปริวิตก ความรู้ที่ได้จากการคิดหาเหตุผล คือ ตรรก อนุมาน การตริตรองตามแนวเหตุผล
๔. ทิฏฐนิชฌานักขันติ ความรู้ที่พิจารณาเห็นสมกับหรือยอมรับเข้าเป็นทิฏฐิหรือทฤษฎีของตน
๕. สยมภิญญา หรือสักขิธรรม ความรู้ที่ได้ด้วยรู้แจ้งชัดประจักษ์กับตัว (เป็นอัตตประจักษ์) ขยายความว่า ความรู้ที่ได้เห็นจริง ได้รู้จริง ได้ฟังเหตุผล ได้ไตร่ตรอง ได้ทำให้แจ่มชัด ปรากฏชัดแล้ว

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท




ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)

 ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)

เมื่อพิจารณาในแง่พัฒนาการ ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องก็คือ ความรู้ประเภทที่เป็นภาเวตัพพธรรม (สิ่งที่ควรเจริญหรือฝึกปรือ) ส่วนความรู้ประเภทปริญไญยธรรม (สิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือรู้จัก) ก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง ดังนั้น ความรู้ที่เรียกว่า วิญญาณ จึงไม่จัดเข้าในหัวข้อนี้ ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของการฝึกอบรม จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท เรียงตามลำดับแห่งพัฒนาการ หรือความเจริญแก่กล้า ที่ออกผลมาเป็นอย่างๆ ดังนี้

    ๑. สัญญา ความกำหนดได้ หมายรู้ ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการกำหนดหมาย หรือจำได้หมายรู้ซึ่งบันทึกไว้เป็นแบบสำหรับเทียบเคียงและเป็นวัตถุดิบของการรู้และการคิดต่อๆ ไป แบ่งได้เป็น ๒ พวก ดังได้อธิบายแล้วใน🔎ความรู้ชุด ก. เมื่อว่าโดยคุณภาพในกระบวนการพัฒนาความรู้ จะเห็นได้ว่า สัญญาที่เกิดขึ้นตามปกติในกระบวนการรับรู้ คือ สัญญาชั้นต้นทั้งหลายก็ดี สัญญาที่หมายรู้ตามความรู้ความเข้าใจที่เจริญเพิ่มพูนขึ้นในการฝึกอบรมปัญญาก็ดี แม้ว่าอาจแตกต่างกันได้เป็นความรู้หลายระดับ ตั้งแต่รู้คลุมเครื่อถึงรู้ชัดเจน ตั้งแต่รู้บางแง่ถึงรู้สมบูรณ์ ตั้งแต่รู้ผิดพลาดถึงรู้ถูกต้อง ก็เป็นเพียงเรื่องของการรู้และไม่รู้เท่านั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องของความรู้และการพัฒนาความรู้โดยตรง ส่วนสัญญาฟ้ามเฟ้อที่เรียกว่า ปปัญจสัญญา หรือ กิเลสสัญญา มีลักษณะตรงข้าม คือ เป็นเครื่องกีดกั้น ปิดบัง และบิดเบือนความรู้

    ๒. ทิฏฐิ ความเห็น ความเข้าใจโดยนัยเหตุผล ความจริงในความคิด หรือความรู้ที่ผสมปรุงแต่งจับถือเอาด้วยความคิด ได้แก่ ความรู้ที่ลงข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในทางใดทางหนึ่ง และประกอบด้วยความยึดถือโดยอาการผูกพันกับตัวตน อาจเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งภายนอก แต่ได้คิดกลั่นกรองยอมรับเอาหรือสรุปเข้าเป็นของตนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่มีเหตุผลมากหรือน้อย หรือแม้ไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม ตัวอย่างทิฏฐิ เช่น สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เข้าใจว่ามีอัตตาที่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปโดยไม่มีเหตุปัจจัย เป็นต้น

    ๓. ญาณ ความรู้ ความหยั่งรู้ เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา แต่มักใช้ในความหมายที่จำเพาะกว่า คือเป็นปัญญาที่ทำงานออกผลมาเป็นเรื่องๆ เช่น กัมมัสสกตาญาณ ความหยั่งรู้ภาวะที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน อตีตังสญาณ ปรีชาหยั่งรู้ส่วนอดีต สัจจานุโลมิกญาณ ความหยั่งรู้สอดคล้องกับสัจจะ ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยังรู้การณ์ที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย แนวโน้มความเชื่อความสนใจของสัตว์ทั้งหลายที่ต่างๆ กัน เป็นต้น กล่าวได้ว่า ญาณ คือ ความรู้บริสุทธิ์ที่ผุดโพลงสว่างแจ้งขึ้น มองเห็นตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ หรือเรื่องนั้นๆ แม้ว่าญาณจะมีหลายระดับ บางที่เป็นความรู้ผิด บางที่เป็นความรู้บางส่วน ไม่สมบูรณ์ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ล้วนๆ เพราะยังไม่มีความรู้สึกของตัวตนหรือความยึดถือเป็นของตนเข้าไปจับ บางครั้งญาณเกิดขึ้นโดยอาศัยความคิดเหตุผล แต่ญาณนั้นเป็นอิสระจากความคิดเหตุผล คือไม่ต้องขึ้นต่อความคิดเหตุผล แต่ออกไปสัมพันธ์กับตัวสภาวะที่เป็นอยู่จริง ข้อนี้นับว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างกันอย่างหนึ่งระหว่างทิฏฐิกับญาณ กล่าวคือ ความรู้แบบทิฏฐิเข้ามาอิงความยึดถือและความคิดเหตุผลข้างใน ส่วนความรู้ที่เรียกว่าญาณออกไปสัมผัสกับตัวสภาวะที่เป็นอยู่ข้างนอกโดยตรง (สงคห.ฎีกา ๑๐๒ แสดงความแตกต่างระหว่างทิฏฐิกับญาณว่า:- ทิฏฐิมีลักษณะยึดถือว่านี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ, ญาณรู้อารมณ์ตามสภาวะ ทิฏฐิละสภาวะตามที่เป็นเสีย ถือเอาโดยมิใช่ตามที่เป็น)

ในขั้นพื้นฐาน สัญญาเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดต่างๆ ดังนั้น ความรู้อีก ๒ ประเภท คือ ทิฏฐิและญาณ จึงต้องอาศัยสัญญา ทิฏฐิเกิดจากสัญญาอย่างไร มองเห็นได้ไม่ยาก เมื่อกำหนดหมายหรือหมายรู้สิ่งต่างๆ อย่างไร ก็ชวนให้ลงความเห็นสรุปเอาว่าเป็นอย่างนั้นๆ และสัญญาที่กำหนดหมายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แม้ใช้ได้สำเร็จประโยชน์บางอย่างในการดำเนินชีวิต แต่ก็มักกลายเป็นเครื่องกำบังปิดกั้นไม่ให้เห็นความจริงด้านอื่นๆ ของสิ่งนั้น ดังนั้น เมื่อไม่ใคร่ครวญวิเคราะห์ให้ดี คนก็ถูกสัญญาหลอกเอาหรือปิดบังปัญญาเอาได้ และชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มิใช่น้อย ทิฏฐิที่ผิดก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาผิดบ้าง ใช้สัญญาไม่ถูกต้องบ้าง มีบาลีแห่งหนึ่งกล่าวถึงทิฏฐิที่เกิดจากสัญญาว่า “ทิฏฐิแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากสัญญา ถูกสัญญาจัดแต่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นก็ดี สิ่งที่ได้ยินก็ดี สิ่งที่ได้สบทราบก็ดี ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น, อธิบายว่า ทิฏฐิ ซึ่งสัญญาก่อให้เกิดขึ้น กำหนดขึ้น ปรุงแต่งจัดแจงไว้ เพราะเหตุที่ทิฏฐิมีสัญญาเป็นหัวหน้า มีสัญญาเป็นเจ้าการใหญ่ และถือต่างกันด้วยสัญญานั้น เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นก็ดี ฯลฯ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพ (ขุ.ม.๒๙/๑๗๓/๑๓๓ (ไขความ ขุ.สุ.๒๕๔๑๒/๔๙๑-๒); และพึ่งอ้าง อ.อ.๔๗๒ ซึ่งกล่าวว่า “สัญญาเป็นนิมิต (ร่องรอยหรือจุดก่อตัว) ของทิฏฐิปปัญจะ”)


สัจจะที่แน่แท้ในโลก มิใช่จะมีต่างๆ มากหลาย นอกจากสัญญา (ทำให้เห็นต่างๆ กันไป) ญาณก็ต้องอาศัยสัญญาจึงเกิดขึ้นได้ ดังบาลีว่า “นี่แน่ะโปฏฐบาท! สัญญาย่อมเกิดก่อน ญาณย่อมเกิดทีหลัง, และเพราะสัญญาเกิดขึ้นญาณจึงเกิดขึ้น" อีกแห่งหนึ่งข้อความว่า “ท่านไม่ได้เห็นสัญญาแม้สักหน่อยจากนี่” ไขความว่า ท่านไม่ได้สัญญาในสิ่งที่เคยประกอบหรือสัญญาในสิ่งที่เคยถึง หรือสัญญาในลักษณะ หรือสัญญาในเหตุ หรือ สัญญาในฐานะ จากนี้ คือ จากความสงบภายใน หรือจากการปฏิบัติ หรือจากธรรมเทศนาท่านจะได้ญาณจากที่ไหน

บุรุษหนึ่งมองเห็นใบไม้แก่ร่วงหล่น บังเกิดวิปัสสนาญาณสว่างขึ้น มองเห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย ญาณนั้นอาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับชีวิตและความทรงตัวอยู่ของสิ่งทั้งหลายเกี่ยวกับความแก่ ความทรุดโทรม เกี่ยวกับการร่วงหล่น ความตาย ความสิ้นสุด เกี่ยวกับเบื้องบน เบื้องล่าง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดญาณดังกล่าวแล้วนั้น หรือตัวอย่างเกี่ยวกับโลกิยญาณอย่างอื่น เช่น นายนิวตันมองเห็นผลแอปเปิลตกลงมา เกิดความรู้สว่างแจ้งเห็นกฎแห่งความดึงดูด ความรู้โพลงทั่วนั้นก็อาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับการร่วงหล่นและการเข้าหากันระหว่างสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับช่องว่าง เกี่ยวกับแรง เกี่ยวกับการดึงการเหนี่ยว การเคลื่อนที่ การหลุดหนี การลอย เส้นตรง เส้นคดโค้ง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วตลอดในด้านหนึ่ง ทำให้เกิดความหยั่งรู้นั้นขึ้น 

ญาณก็ทำให้เกิดทิฏฐิได้
ตัวอย่างที่ชัดในคัมภีร์ เช่น พกพรหมมีญาณระลึกชาติได้ตลอดกาลยาวนาน อย่างดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด มองเห็นสัตว์อื่นทั้งหลายเกิดดับนับไม่ถ้วน แต่ตนเองคงอยู่อย่างเดิมตลอด จึง
เกิดทิฏฐิ คือ ยึดถือความเห็นขึ้นว่า สถานะแห่งพรหมนั้นยั่งยืนคงที่ มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร พรหมเป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง หรืออย่างผู้เกิดความหยั่งรู้ดังท่านนิวต้นนั้น ครั้นความหยั่งรู้สว่างแจ้งเกิดขึ้น ใช้ความหยั่งรู้หรือญาณนั้น มองดูสภาวะทั้งหลาย ก็เห็นเป็นไปอย่างนั้น แต่ไม่เห็นปรุโปร่งตลอดไปทุกกรณีโดยสิ้นเชิง มีติดหรือเคลือบคลุมบ้างในบางจุดบางด้าน ความรู้นั้นก็อาจต้องถูกยึดถือไว้โดยอาการที่เรียกได้ว่าเป็นทิฏฐิ ทิฏฐิระดับสูงมักเกิดจากการได้ญาณบางอย่างขึ้นก่อน ส่วนทิฏฐิก็เป็นเครื่องหนุนช่วยให้เกิดญาณได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า ทิฏฐิไม่น้อย เป็นผลความคิดและเป็นข้อยึดถือของปราชญ์ผู้มีปัญญามาก และเป็นทิฏฐิที่มีเหตุผลมาก ดังนั้น ถ้าไม่มีความยึดติตในทิฏฐินั้นเหนียวแน่นจนเกินไป และรู้จักสดับรู้จักมองรู้จักใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ก็ย่อมมีโอกาสมากที่จะเกิดญาณซึ่งช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป และสามารถทำลายจุดที่ยังติดตันผ่านต่อไปได้

เมื่อทิฏฐิก็ดี ญาณก็ดี เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดหมาย หรือหมายรู้ตามทิฏฐิหรือตามญาณนั้นเกิดเป็นสัญญาใหม่ขึ้นอีก ทิฏฐิและญาณจึงทำให้เกิดสัญญาซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดอื่นสืบต่อไป ข้อแตกต่างกันคือ ทิฏฐิมักพลอยทำให้เกิดสัญญาใหม่ที่ผิดพลาด ส่วนญาณจะช่วยให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง และแก้สัญญาที่ผิดพลาด ความรู้ที่ออกรูปมา ๓ แบบ ในกระบวนการพัฒนาปัญญาภายในบุคคลนี้ พึงพิจารณาโดยสัมพันธ์กับวิธีทำให้เกิดปัญญา ๓ วิธี ที่ท่านแสดงไว้ในเรื่อง ปัญญา ๓ ประเภท ด้วย คือ

        ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
        ๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียนหรือถ่ายทอดต่อกันมา
        ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม

นอกจากตัววิธีที่เป็นหลักใหญ่แล้ว ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่พึงใช้ประกอบในกระบวนการก่อให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะในวิธีที่ ๓ กิจกรรมที่สำคัญๆ คือ การฟัง ซักถาม สอบค้น (สวนะ และปริปุจฉา) การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา) การสังเกตดู เฝ้าดู ดูอย่างพินิจ (ปัสสนะ และนิชฌาน) การพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ หรือ โยนิโสอุปปริกขา) การชั่งเหตุผล (ตุลนา) การไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง และเฟ้น (วิมังสา และวิจัย) การเสพคุ้น ฝึกหัด ทำบ่อย ทำให้มาก (อาเสวนะ ภาวนา และพหุลีกรณ์) การคิด การเล่าเรียนสดับฟัง และการปฏิบัติฝึกปรือ ย่อมเป็นเครื่องช่วยให้สัญญา ทิฏฐิและญาณนั้นเกิดมีใหม่ขึ้นบ้าง ก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นบ้าง ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องขึ้นบ้างว่าที่จริง สุตะคือความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมา ก็ดี การคิดอะไรได้ต่างๆ ก็ดี และปัญญาที่รู้เข้าใจอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ดี ย่อมเป็นความรู้แบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลด้วยเหมือนกัน แต่ความรู้ที่จะออกผลเป็นชิ้นเป็นอันเป็นรูปสำเร็จขึ้นในตัวบุคคล ก็คือ ความรู้ ๓ อย่างข้างต้น คือ สัญญา ทิฏฐิ และญาณนั้น อาจพูดได้ว่าสัญญาทิฏฐิ และญาณ ก็คือ ผลข้างปลายของสุตะ จินตา และภาวนานั่นเอง

เมื่อความรู้ออกรูปเป็นสัญญา ทิฏฐิ และญาณแล้ว ย่อมมีผลต่อชีวิตของบุคคลมาก สัญญามีอิทธิพลยิ่งต่อการรับรู้ การมองเห็น การเข้าใจโลกรอบตัว และการที่จะสร้างความรู้อย่างอื่นต่อๆ ไป ทิฏฐิตั้งแต่ความยึดถือลัทธิศาสนา และอุดมการณ์ต่างๆ ตลอดลงมาจนถึงค่านิยมต่างๆ เป็นตัวชี้นำแนวทางแห่งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของบุคคลได้ทั้งหมด ส่วนความรู้ประเภทญาณ เป็นความรู้กระจ่างชัดและลึกซึ้งที่สุด เป็นผลสำเร็จทางปัญญาสูงสุดที่มนุษย์จะทำได้ สามารถชำระล้างลงไปถึงจิตสันดานของบุคคล สร้างหรือเปลี่ยนแปลงท่าทีแห่งการมองโลกและชีวิต ที่เรียกว่าโลกทัศน์และชีวทัศน์ได้ใหม่ มีผลต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของบุคคลอย่างเด็ดขาดและแน่นอนยั่งยืนยิ่งกว่าทิฏฐิ ความรู้ชุดนี้ สัมพันธ์กับความรู้ที่จำแนกอีกแบบหนึ่ง ในชุดต่อไปด้วย

พึ่งเทียบบาลีว่า: ชนเหล่าใดคิดคาดคะเน อิงอาศัยทิฏฐิคู่นี้ คือ ภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมไม่มีญาณในนิโรธ (และ) จึงเป็นเหตุให้ชาวโลกมีสัญญาวิปริต (ขุ.ปฏิ.๓๑/๒๕๕/๒๔๐)

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท

วิกิ

ผลการค้นหา