แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๑ ขันธ์ ๕ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๑ ขันธ์ ๕ แสดงบทความทั้งหมด

บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕

บันทึกพิเศษท้ายบท เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕

มีรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ซึ่งควรทราบไว้เป็นความรู้ประกอบเบื้องต้น ดังนี้
๑. รูป ตามแนวอภิธรรมแบ่งรูปเป็น ๒๘ อย่าง คือ
    ๑) มหาภูตรูป ๔ (เรียกง่าย ๆ ว่า ธาตุ ๔) คือ ปฐวีธาตุ (สภาพที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่) อาโปธาตุ (สภาพที่ดึงดูดซาบซึม) เตโชธาตุ (สภาพที่แผ่ความร้อน) วาโยธาตุ (สภาพที่สั่นไหว)
    ๒) อุปาทายรูป ๒๔ (รูปอาศัยหรือรูปที่สืบเนื่องมาจากมหาภูตรูป) คือ
            ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น 
(จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา และกาย)
            อารมณ์ ๔ คือ รูป เสียง กลิ่น รส (รูปะ สัททะ คันธะ รสะ; โผฏฐพพะ
ไม่นับ เพราะตรงกันกับ ปฐวี เตโช และวาโย)
            ความเป็นหญิง ๑ (อิตินทรีย์)
            ความเป็นชาย ๑ (ปุริสินทรีย์)
            ที่ตั้ง
ของจิต ๑ (หทัยวัตถุ)
            การแสดงให้รู้ความหมายด้วยกาย ๑ (กายวิญญัติ)
            การแสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจา ๑ 
(วชีวิญญัติ)
            ชีวิตินทรีย์ ๑
            ช่องว่าง ๑ (อากาศ)
            ความเบาของรูป ๑ (รูปสุส ลหุตา)
            ความอ่อนหยุ่นของรูป ๑ (รูปสุส
มุทุตา)
            ภาวะที่ควรแก่การงานของรูป ๑ (รูปสุส กมุมญญตา)
            ความเจริญหรือขยายตัวของรูป ๑ (รูปสุส อุปจย)
            การสืบต่อของรูป ๑ (รูปสุส สนุตติ)
            ความเสื่อมตัว ๑ (ชรตา)
            ความสลายตัว ๑ (อนิจจตา)
            อาหาร ๑ (หมายถึง
โอชา)

พึงสังเกตว่า คำว่า “หทัยวัตถุ” ซึ่งแปลกันว่าหัวใจ และถือว่าเป็นที่ทำงานของจิตนั้น เป็นมติในคัมภีร์
รุ่นหลัง ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก

๒. เวทนา แบ่งเป็น ๓ คือ สุข (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) ทุกข์ (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) อทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข คือเฉยๆ บางทีเรียกว่า (อุเบกขา); อีกอย่างหนึ่ง แบ่งเป็น ๕ คือ สุข (ทางกาย) ทุกข์ (ทางกาย) โสมนัส (ดีใจ) โทมนัส (เสียใจ) อุเบกขา (เฉยๆ); แบ่งตามทางที่เกิดเป็น ๕ คือ เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจักขุ ทางโสตะ ทางฆานะ ทางชิวหา ทางกาย และทางมโน

๓. สัญญา แบ่งเป็น ๖ ตามทางแห่งการรับรู้ คือ
    ๑. รูปสัญญา ความหมายรู้รูป เช่นว่า ดำ แดง เขียว ขาว เป็นต้น
    ๒. สัททสัญญา ความหมายรู้เสียง เช่นว่า ดัง เบา หุ้ม แหลม เป็นต้น
    ๓. คันธสัญญา ความหมายรู้กลิ่น เช่นว่า หอม เหม็น เป็นต้น
    ๔. รสสัญญา ความหมายรู้รส เช่นว่า หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม เป็นต้น
    ๕. โผฏฐพพสัญญา ความหมายรู้สัมผัสทางกาย เช่นว่า อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด ร้อน เย็น เป็นต้น
    ๖. ธัมมสัญญา ความหมายรู้อารมณ์ทางใจ เช่นว่า งาม น่าเกลียด เที่ยง ไม่เที่ยง เป็นต้น

๔. สังขาร ตามหลักอภิธรรม แบ่งเจตสิกเป็น ๕๒ อย่าง ถ้าเทียบกับการแบ่งแบบขันธ์ ๕ เจตสิกก็ได้แก่ เวทนา สัญญา
และสังขารทั้งหมด คือในจำนวนเจตสิก ๕๒ นั้น เป็นเวทนา ๑ เป็นสัญญา ๑ ที่เหลืออีก ๕๐ อย่าง เป็นสังขารทั้งสิ้น สังขารขันธ์ จึงเท่ากับเจตสิก ๕๐ อย่าง ซึ่งแยกย่อยได้ดังนี้
    ๑) อัญญสมานาเจตสิก ๑๑  (เจตสิกที่เข้าได้ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว) (นับครบมี ๑๓ เพราะเวทนาและสัญญาเป็นเจตสิกหมวดนี้ แต่ไม่เป็นสังขาร จึงตัดออกไป) คือ
        (๑) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก  (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) คือ ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา (สมาธิ) ชีวิตินทรีย์ มนสิการ (จำนวนเดิมมี ๗ ทั้งเวทนา กับสัญญา)
        (๒) ปกิณณกเจตสิก  (เกิดกับจิตได้ทั่วๆ ไป ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว แต่ไม่ตายตัว) คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์ (ความปักใจ) วิริยะ ปีติ ฉันทะ
    ๒) อกุศลเจตสิก ๑๔ (เจตสิกที่เป็นอกุศล)  คือ
        (๑) อกุศลสาธารณเจตสิก  (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลทุกดวง) คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และ อุทธัจจะ
        (๒) ปกิณณกอกุศลเจตสิก ๑๐ (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลแต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถิ่นะ มิทธะ และวิจิกิจฉา
    ๓) โสภณเจตสิก ๒๕ (เจตสิกดีงาม คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต)  คือ
        (๑) โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ (เกิดกับจิตดีงามทุกดวง) คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ (เมตตา) ตัตรมัชฌัตตตา (บางที่เรียกอุเบกขา) กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา (ความชื่อตรงแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตุชุกตา
        (๒) ปกิณณกโสภณเจตสิก   (เกิดกับจิตฝ่ายดีงาม แต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (รวมเรียก วีรตีเจตสิก ๓) กรุณา มุทิตา (เรียกรวมกันว่า อัปปมัญญาเจตสิก ๒) และปัญญา

(🙏 ศึกษาเพิ่มความเข้าใจในอภิธรรมเบื้องต้น เจตสิกกลุ่มที่ ๑- ๓)

ในพระสูตร (เช่น สํ.ข.๑๗/๑๑๖/๗๔) ตามปกติ ท่านแสดงความหมายของสังขารว่า ได้แก่ เจตนา ๖ หมวด คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐพพสัญเจตนา และธรรมสัญเจตนา แปลว่า เจตจำนงหรือความคิดปรุงแต่ง เกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์

๕. วิญญาณ แบ่งตามทางที่เกิดเป็น ๖ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ 
มโนวิญญาณ (แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ) ตามแนวอภิธรรม เรียกวิญญาณขันธ์ทั้งหมดว่า “จิต” และจำแนกจิตออกไปเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง คือ
    ก. จำนวนตามภูมิ หรือระดับของจิต เป็นกามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตรจิต ๘ (แยกพิสดารเป็น ๔๐)
    ข. จำแนกโดยคุณสมบัติเป็น อกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗) วิบากจิต ๓๖ (พิสดารเป็น ๕๒) กิริยาจิต ๒๐ ในที่นี้ จะไม่แสดงรายละเอียดชื่อของจิตแต่ละอย่างๆ เพราะเกินจำเป็น และจะทำให้ฟันเฟือ


🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
บันทึกพิเศษท้ายบท
    บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕



ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิตกับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา

 ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิต กับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา

ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์ในอริยสัจข้อที่ ๑ นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”

พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสำคัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้ มี “อุปาทาน” นำหน้ากำกับไว้ด้วย สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ ต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง” “ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตามเหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕” อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ (สาสวะ) เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน (อุปาทานิยะ) เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕” “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน และตัวอุปาทานเธอทั้งหลายจงฟัง” รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด หรืออยากอย่างแรงจนยึดติด) ในรูป..เวทนา สัญญา สังขาร..วิญญาณ นั้นคืออุปาทาน ใน (สิ่ง) นั้นๆ” หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อๆ ไป

คุณค่าทางจริยธรรมตามปกติ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะยึดถืออยู่เสมอว่า ตัวตนที่แท้ของตนมีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง บ้างก็ยึดเอาจิตเป็นตัวตน” บ้างก็ยึดว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงซ้อนอยู่ในจิตนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของ และเป็นตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากายและใจนั้นอีกชั้นหนึ่ง การแสดงขันธ์ ๕ นี้ มุ่งให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” “ตัวตน” เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นเหลืออยู่ที่จะมาเป็นตัวตนต่างหากได้ และแม้ขันธ์ ๕ เหล่านั้น แต่ละอย่างก็มีอยู่เพียงในรูปที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน ไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ แต่ละอย่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ตัวตนอีกเช่นกัน รวมความว่า หลักขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็นอนัตตา ให้เห็นว่าชีวิตเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบต่างๆ หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนได้ ความเป็นอนัตตานี้ จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของขันธ์ ๕ ในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป

อนึ่ง เมื่อมองเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ และความเห็นผิดว่าเที่ยง ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นอกจากนั้น เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร กระบวนการแห่งความสัมพันธ์และอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายนี้ มีคำอธิบายอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง การมองสิ่งทั้งหลายโดยวิธีแยกส่วนประกอบออกไปอย่างวิธีขันธ์ ๕ นี้ เป็นการฝึกความคิด หรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อประสบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุดตันอึ้ง ยึดถือเฉพาะรูปลักษณะภายนอกเท่านั้น เป็นการสร้างนิสัยชอบสอบสวนสืบค้นหาความจริง และที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ ล้วนๆ ของมัน หรือตามแบบสภาววิสัย (objective) คือ มองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า สกวิสัย (subjective) คุณค่าอย่างหลังนี้ นับว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการของพุทธธรรมและของหลักขันธ์ ๕ นี้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยการใช้ตัณหาอุปาทาน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วยปัญญา

อย่างไรก็ดี ในการแสดงพุทธธรรมนั้น ตามปกติท่านไม่แสดงเรื่องขันธ์ ๕ ลำพังโดดๆ เพราะขันธ์ ๕ เป็นแต่สภาวะที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับพิจารณา และการพิจารณานั้นย่อมเป็นไปตามแนวแห่งหลักธรรมอย่างอื่นที่เป็นประเภทกฎสำหรับนำมาจับหรือกำหนดว่าขันธ์ ๕ มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร เป็นต้น คือ ต้องแสดงโดยสัมพันธ์กับหลักธรรมอย่างอื่น เช่น หลักอนัตตา เป็นต้น จึงจะปรากฏคุณค่าในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงขอยุติเรื่องขันธ์ ๕ ไว้เพียงในฐานะสิ่งที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับนำไปพิจารณาในหลักต่อๆ ไป

🙏พึงสังเกตพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้จะเข้าไปยึดถือร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ว่าเป็นตัวตน ยังดีกว่าจะยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน เพราะว่า กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ ยังปรากฏให้เห็นว่าดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓-๔-๕ ปีบ้าง ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง เกินกว่านั้นบ้าง แต่สิ่งที่เรียกว่าจิต มโน หรือวิญญาณนี้ เกิดดับอยู่เรื่อย ทั้งคืนทั้งวัน” (ส.นิ.๑๖/๒๓๑/๑๑๔)

🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
    ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิต กับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา
บันทึกพิเศษท้ายบท

ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ

ขันธ์ทั้ง ๕ อาศัยซึ่งกันและกัน รูปขันธ์เป็นส่วนกาย นามขันธ์ทั้งสี่เป็นส่วนใจ มีทั้งกายและใจ จึงจะเป็นชีวิต กายกับใจทำหน้าที่เป็นปกติและประสานสอดคล้องกัน ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมของจิตใจ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับโลก ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อารมณ์ทั้งห้าก็ดี ตา หู จมูกคือ เป็นฝ่ายกาย อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะพูดเน้นด้านจิตใจ โดยถือกายเป็นเสมือนอุปกรณ์สำเร็จรูปที่สร้างขึ้้นมารับใช้กิจกรรมของจิตใจ ถือว่าจิตใจเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมของชีวิต มีความกว้างขวาง ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก เป็นที่ให้คุณค่าและความหมายแก่ชีวิต และเกี่ยวข้องโดยตรงกับพุทธธรรมที่จะกล่าวต่อไป

นามขันธ์ ๔ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งอิทธิพลเป็นปัจจัยแก่กัน การเกิดขึ้นของนามขันธ์ทั้งสี่เหล่านั้น ตามปกติจะดำเนินไปตามกระบวนธรรมดังนี้ 🔅(รูป เสียง ฯลฯ + วิญญาณ) เป็นปัจจัย 👉การเสวยอารมณ์ (เวทนา) จึงมี; บุคคลเสวยอารมณ์ใด 👉ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด 👉ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (สังขาร)

    ตัวอย่าง: - นาย ก. ได้ยินเสียงระฆังกังวาน (หู + เสียง + วิญญาณทางหู) รู้สึกสบายหูสบายใจ (เวทนา) หมายรู้ว่าเป็นเสียงไพเราะ ว่าเป็นเสียงระฆัง ว่าเป็นเสียงระฆังอันไพเราะ (สัญญา) ชอบใจเสียงนั้น, อยากฟังเสียงนั้นอีก, คิดจะไปตีระฆังนั้น, อยากได้ระฆังนั้น, คิดจะไปซื้อระฆังอย่างนั้น, คิดจะลักระฆังใบนั้น ฯลฯ (สังขาร) พึงสังเกตว่า ในกระบวนธรรมนั้น เวทนามีบทบาทสำคัญมาก อารมณ์ใดให้สุขเวทนา สัญญาก็มักกำหนดหมายอารมณ์นั้น ยิ่งให้สุขเวทนามาก ก็จะกำหนดหมายมาก และเป็นแรงผลักดันให้คิดปรุงแต่งทำการต่างๆ เพื่อให้ได้เสวยสุขเวทนานั้นมากขึ้น ความเป็นไปอย่างนี้ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนธรรมง่ายๆ พื้นๆ เบื้องต้นเป็นแบบสามัญหรือแบบพื้นฐาน

ในกระบวนธรรมนี้ เวทนาเป็นตัวล่อและชักจูงใจ เหมือนผู้คอยเสนอให้เอาหรือไม่เอาหรือหลีกเลี่ยงอะไร สัญญาเหมือนผู้สะสมเก็บข้อมูลหรือวัตถุดิบ สังขารเหมือนผู้นำเอาข้อมูลหรือวัตถุดิบนั้นไปใช้ปรุงแปรตระเตรียมทำการ วิญญาณเหมือนเจ้าของงาน ใครจะทำอะไรคอยรับรู้ไปหมด เป็นทั้งผู้เปิดโอกาสให้มีการทำงานและเป็นผู้รับผลของการทำงาน ในกระบวนธรรมนี้มีความซับซ้อนอยู่ในตัว มิใช่ว่าเวทนาจะเป็นตัวชักจูงผลักดันขันธ์อื่นฝ่ายเดียว ขันธ์อื่นก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา เช่น เสียงดนตรี เสียงเพลงเดียวกัน คนหนึ่งได้ยินแล้ว สุขสบายชื่นใจ อีกคนหนึ่ง รู้สึกบีบคั้นใจเป็นทุกข์ หรือคนเดียวกันนั่นแหละ สมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นสุข ล่วงไปอีกสมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นทุกข์ (กระบวนธรรมที่ครบถ้วนของความที่อ้างนี้ พึงดูในตอนว่าด้วยอายตนะ)

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น เปรียบเทียบว่า รูปเปรียบเหมือนภาชนะ เวทนาเหมือนโภชนะ สัญญาเหมือนกับข้าว สังขารเหมือนผู้ปรุงอาหาร วิญญาณเหมือนผู้บริโภค หรือ รูปเหมือนเรือนจำ เวทนาเหมือนการลงโทษ สัญญาเหมือนโทษ สังขารเหมือนเจ้าหน้าที่ผู้ลงโทษ วิญญาณเหมือนนักโทษ (วิสุทธิมัคค์ ๓/๕๘; สงคห.ฎีกา ๒๒๗)

หลักทั่วไปคือ ของที่ชอบ ที่ต้องการ ตรงกับความปรารถนา เมื่อได้ประสบก็เป็นสุข ของไม่ชอบ ขัดความปรารถนา เมื่อได้ประสบก็เป็นทุกข์ ในกรณีเช่นนี้ สังขาร คือ ความชอบ ไม่ชอบ ปรารถนา เกลียดกลัว เป็นต้นเป็นตัวปรุงแต่งเวทนาอีกต่อหนึ่ง แต่ที่กล่าวอย่างนี้ ความจริงมีสัญญาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในตัว คือสังขารปรุงแต่งสัญญาไว้ แล้วกลับมามีอิทธิพลต่อเวทนา ตัวอย่างที่อาจจะชัดกว่า เช่น เคยเห็นคนที่รักที่นิยมชมชอบทำอากัปกิริยาบางอย่าง ก็กำหนดหมายเอาไว้ว่าอย่างนี้สวย น่ารัก เห็นกิริยาอาการบางอย่างของบางคนแล้วไม่ชอบ กำหนดหมายไว้ว่าอย่างนี้ น่าหมั่นไส้ (สัญญา) ต่อมาเห็นกิริยาอย่างที่นิยมหมายไว้ว่า สวย น่ารัก หรืออย่างที่หมายไว้ว่าน่าชัง น่าหมั่นไส้ ก็สบายตาชื่นใจ หรือเดือดร้อนตาบีบคั้นใจ (เวทนา) แล้วชอบหรือโกรธ (สังขาร) ไปตามนั้น ที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เช่น งานบางอย่าง หรือการเล่าเรียนบางอย่าง เป็นสิ่งยากลำบาก หากลำพังจะต้องทำหรือเล่าเรียนขึ้นมาโดดๆ แล้ว ก็จะต้องเกิดทุกขเวทนา แล้วก็ส่งผลต่อไปให้ไม่อยากทำไม่อยากเรียน แต่หากมีเครื่องล่อมาให้ ก็อาจกลับสนใจและตั้งใจทำตั้งใจเรียนต่อไปได้ เครื่องล่อนี้อาจเป็นเวทนาที่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่น วิธีการที่ให้สนุกสนานบันเทิง เป็นต้น หรืออาจเป็นสิ่งซับซ้อนเนื่องด้วยการกำหนดหมายเกี่ยวกับสุขเวทนาในอนาคต เช่น รางวัล ความสำเร็จของงาน ประโยชน์แก่ชีวิตตน แก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวม เป็นต้น แล้วแต่จะปรุงด้วยสังขารฝ่ายใด เช่น ด้วยตัณหา ด้วยมานะ หรือด้วยปัญญา เป็นอาทิ ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับมาทำให้การทำงาน หรือการเรียนนั้น เกิดมีความหมาย มีค่า มีความสำคัญขึ้นแก่ผู้ทำหรือผู้เรียน แล้วแต่งให้เขากลับได้รับสุขเวทนาในขณะที่เรียนหรือทำงานนั้นด้วย แม้อาจมีทุกขเวทนาทางกาย แต่ภายในใจมีสุขเวทนาเป็นโสมนัสอาบอยู่ ทำให้เล่าเรียนหรือทำงานนั้นแข็งขันต่อไป

เมื่อระฆังโรงเรียนกังวานขึ้นในเวลาเย็น นักเรียนทั้งหลายได้ยิน (วิญญาณ) รู้สึกเรื่อยๆ ต่อเสียงนั้น (เวทนา) เพราะชินชาอยู่ทุกวัน ต่างก็รู้กำหนดหมายว่าเป็นสัญญาณเลิกเรียน (สัญญา) เด็กคนหนึ่งดีใจ (สุขเวทนา + สังขาร) เพราะจะได้เลิกเรียนไม่ต้องนั่งปวดเมื่อยและจะได้ไปเล่นสนุกสนาน (สัญญาซ้อน), เด็กอีกคนหนึ่งเสียใจ (ทุกขเวทนา + สังขาร) เพราะจะต้องหยุดบทเรียนอันมีคุณค่า ขาดประโยชน์อันพึงได้ หรือเพราะจะต้องกลับไปพบกับผู้ปกครองที่แสนจะน่ากลัว (สัญญาซ้อน)

โดยนัยนี้ กระบวนธรรมตลอดสาย เริ่มแต่วิญญาณที่รับรู้เป็นต้นไป จึงล้วนสัมพันธ์กันเป็นเหตุปัจจัยซับซ้อน ร่วมเสริมสร้างบุคลิกภาพและกำหนดชะตาชีวิตของแต่ละบุคคลให้เป็นไปต่างๆ และให้แตกต่างจากกันและกัน ในกระบวนธรรมนี้ สังขารนั่นแหละเป็นตัวปรุงแต่ง และสังขารนั้น ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวแทน ก็คือชื่อตัวหรือชื่อที่เรียกกันในครอบครัว ของคำว่ากรรม ดังนั้น กรรมซึ่งเป็นชื่อประจำตำแหน่งหรือชื่อที่ออกงานของสังขาร จึงถูกกล่าวขวัญถึงอย่างเป็นผู้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้ต่างๆ ออกไป คือ ให้ทรามและให้ประณีต” “หมู่สัตว์เป็นไปเพราะกรรม”

🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
    ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ
บันทึกพิเศษท้ายบท







สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา

 สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา 

สัญญา วิญญาณ และปัญญา เป็นเรื่องของของความรู้ทั้ง ๓ อย่าง แต่เป็นองค์ธรรมต่างข้อกันอย่างละขันธ์ สัญญาเป็นขันธ์หนึ่ง วิญญาณเป็นขันธ์หนึ่ง ปัญญาอยู่ในสังขารก็อีกขันธ์หนึ่ง สัญญา และวิญญาณได้พูดมาแล้วพอเป็นพื้นความเข้าใจ

    ปัญญา แปลกันมาว่า ความรอบรู้ เติมเข้าไปอีกว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด คือ รู้ทั่วถึงความจริงหรือตรงตามความเป็นจริง ท่านอธิบายขยายความกันออกไปต่างๆ เช่นว่า รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุปัจจัย รู้ที่ไปที่มา รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย รู้ตามความเป็นจริง รู้ถ่องแท้ เข้าใจถ่องแท้ รู้เข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้พินิจพิจารณา รู้วินิจฉัย รู้ที่จะจัดแจงจัดการหรือดำเนินการอย่างไรๆ แปลกันอย่างง่ายๆ พื้นๆ ปัญญา คือความเข้าใจ (หมายถึงเข้าใจถูก เข้าใจชัด หรือเข้าใจถ่องแท้) เป็นการมองทะลุสภาวะหรือมองทะลุปัญหา ปัญญาช่วยเสริมสัญญาและวิญญาณ ช่วยขยายขอบเขตของวิญญาณให้กว้างขวางออกไปและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่องทางให้สัญญามีสิ่งกำหนดหมายรวมเก็บได้มากขึ้น เพราะเมื่อเข้าใจเพียงใดก็รับรู้และกำหนดหมายในวิสัยแห่งความเข้าใจเพียงนั้น เหมือนคิดโจทย์เลขคณิตข้อหนึ่ง เมื่อยังคิดไม่ออก ก็ไม่มีอะไรให้รับรู้และกำหนดหมายต่อไปได้ ต่อเมื่อเข้าใจ คิดแก้ปัญหาได้แล้ว ก็มีเรื่องให้รับรู้และกำหนดหมายต่อไปอีก

ปัญญา ตรงข้ามกับโมหะ ซึ่งแปลว่าความหลง ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด สัญญาและวิญญาณหาตรงข้ามกับโมหะไม่ อาจกลายเป็นเหยื่อของโมหะไปด้วยซ้ำ เพราะเมื่อหลง เข้าใจผิดไปอย่างใดก็รับรู้และกำหนดหมายเอาไว้ผิดๆ อย่างนั้น ปัญญาช่วยแก้ไขให้วิญญาณและสัญญาเดินถูกทาง สัญญา และ วิญญาณ อาศัยอารมณ์ที่ปรากฏอยู่จึงทำงานไปได้ สร้างภาพเห็นภาพขึ้นไปจากอารมณ์นั้น แต่ปัญญาเป็นฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ ริเริ่มกระทำต่ออารมณ์ (เพราะอยู่ในหมวดสังขาร) เชื่อมโยงอารมณ์นั้นกับอารมณ์นี้กับอารมณ์โน้นบ้าง พิเคราะห์ส่วนนั้นกับส่วนนี้กับส่วนโน้นของอารมณ์บ้าง เอาสัญญาอย่างโน้นอย่างนี้มาเชื่อมโยงกันหรือพิเคราะห์ออกไปบ้าง มองเห็นเหตุ เห็นผล เห็นความสัมพันธ์ ตลอดถึงว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร หาเรื่องมาให้วิญญาณและสัญญารับรู้และกำหนดหมายเอาไว้อีก

พระสารีบุตร เคยตอบคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวิญญาณกับปัญญาว่า คนมีปัญญารู้ (= รู้ชัด, เข้าใจ) ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ส่วนวิญญาณรู้ (= รู้แยกต่าง) ว่าเป็นสุข รู้ว่าเป็นทุกข์ รู้ว่าไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ แต่ทั้งปัญญาและวิญญาณนั้นก็เป็นองค์ธรรมที่ปนเคล้าหรือระคนกันอยู่ ไม่อาจแยกออกบัญญัติข้อแตกต่างกันได้ กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างก็มีอยู่ในแง่ที่ว่า ปัญญาเป็นภาเวตัพพธรรม คือเป็นสิ่งที่ควรฝึกอบรมทำให้เจริญขึ้น ให้เพิ่มพูนแก่กล้าขึ้น ส่วนวิญญาณเป็นปริญไญยธรรม คือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือทำความรู้จักให้เข้าใจ รู้เท่าทันสภาวะและลักษณะของมันตามความเป็นจริง (ปัญญา มักแปลกันว่า wisdom หรือ understanding)

ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา เช่น วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น อธิบายความแตกต่างระหว่างสัญญา วิญญาณ และปัญญาไว้ว่า สัญญาเพียงรู้จักอารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น (คือรู้อาการของอารมณ์) ไม่อาจให้ถึงความเข้าใจลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้, วิญญาณรู้อารมณ์ว่า เขียว เหลือง เป็นต้น ได้ด้วย ทำให้ถึงความเข้าใจลักษณะว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ด้วย (คือเข้าใจตามที่ปัญญาบอก) แต่ไม่อาจส่งให้ถึงความปรากฏแห่งมรรค (คือ ให้ตรัสรู้อริยสัจไม่ได้); ส่วนปัญญาทั้งรู้อารมณ์ ทั้งให้ถึงความเข้าใจลักษณะ และทั้งส่งให้ถึงความปรากฏขึ้นแห่งมรรค ท่านอุปมาว่า เหมือนคน ๓ คน มองดูเหรียญกษาปณ์
     สัญญาเปรียบเหมือนเด็กยังไม่เดียงสา มองดู
เหรียญแล้วรู้แต่รูปร่าง ยาว สั้น เหลี่ยม กลม สี และลวดลายแปลกๆ สวยงามของเหรียญนั้น ไม่รู้ว่าเป็นของที่เขาตกลงกันใช้เป็นสื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขาย
    วิญญาณเปรียบเหมือนชาวบ้าน เห็นเหรียญแล้วรู้ทั้งรูปร่างลวดลาย
และรู้ว่าใช้เป็นสื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ แต่ไม่รู้ซึ้งลงไปว่า เหรียญนี้แท้ เหรียญนี้ปลอม มีโลหะอะไรผสมกี่ส่วน
    ปัญญาเปรียบเหมือนเหรัญญิก ซึ่งรู้ทุกแง่ที่กล่าวมาแล้ว และรู้ชำนาญจนกระทั่งว่า จะมองดูก็รู้ ฟังเสียงเคาะก็รู้ ดม ชิม หรือเอามือชั่งดูก็รู้ รู้ตลอดไปถึงว่า เหรียญนี้ทำที่นั้นๆ ผู้ชำนาญคนนั้นๆ ทำ


อนึ่ง ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป บางทีมีแต่สัญญาและวิญญาณ หาได้มีปัญญาด้วยไม่ แต่คราวใดมีปัญญาเกิดร่วมด้วยกับสัญญาและวิญญาณ คราวนั้นก็ยากที่จะแยกให้เห็นความแตกต่างจากกันและกันเมื่อชาลีและกัณหา เดินถอยหลังลงไปซ่อนองค์ในสระน้ำ ด้วยเข้าใจว่าผู้ตามหาเห็นรอยเท้าแล้วจะเข้าใจว่า เธอทั้งสองขึ้นมาแล้วจากสระน้ำ ความคิดที่ทำเช่นนั้นก็เรียกว่าเป็นปัญญา ต่อมาเมื่อพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นรอยบาทของเธอทั้งสองแล้วทรงทราบทันทีว่าพระราชบุตรราชบุตรีดำเนินถอยหลังลงไปซ่อนอยู่ในสระน้ำ เพราะมีแต่รอยเท้าเดินขึ้นอย่างเดียว ไม่มีรอยลง อีกทั้งรอยนั้นก็กดลงหนักทางส้นเท้า ความรู้เท่าทันนี้ก็เรียกว่าปัญญา ในสองกรณีนี้จะเห็นได้ว่าปัญญามีความรอบคอบและลึกซึ้งกว่ากัน ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการที่ปัญญาใช้ประโยชน์จากสัญญาด้วย

การที่เจ้าชายสิทธัตถะ ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วทรงคำนึงเห็นความทุกข์ที่มวลมนุษย์ต้องประสบทั่วสากล และเข้าพระทัยถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ ล้วนเกิดขึ้นแล้วปรวนแปรและสิ้นสุดด้วยแตกดับ ควรระงับความทุกข์อันเนื่องมาจากสาเหตุเช่นนั้นเสีย ความเข้าใจนั้นก็เรียกว่าเป็นปัญญา เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ได้เสด็จไปโปรดพวกกัสสปชฏิล ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ ให้เลื่อมใสยอมรับคำสอนของพระองค์ก่อน พระปรีชาอันให้ดำริที่จะทรงกระทำเช่นนั้นก็เรียกว่าเป็นปัญญา

ปัญญาเป็นคำกลางสำหรับความรู้ประเภทที่กล่าวมานี้ และปัญญานั้นมีหลายชั้นหลายระดับ เช่น ที่แบ่งเป็นโลกิยปัญญา โลกุตรปัญญา เป็นต้น มีคำศัพท์หลายคำ ที่ใช้ในความหมายจำเพาะ หมายถึง ปัญญาในขั้นใดขั้นหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง แง่ใดแง่หนึ่ง หรือเนื่องด้วยกิจเฉพาะ คุณสมบัติเฉพาะหรือประโยชน์เฉพาะบางอย่าง เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา สัมปชัญญะ ปริญญา อภิญญา ปฏิสัมภิทา เป็นต้น

🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
    สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา
บันทึกพิเศษท้ายบท




สัญญา - สติ - ความจำ

สัญญา - สติ - ความจำ

มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่า สัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ คำว่า สติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ และมีตัวอย่างที่เด่น เช่นพระอานนท์ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่าสติ ดังพุทธพจน์ว่า “อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ” เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มีความสับสน ความจำไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจของกระบวนธรรมและในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุด

สัญญาก็ดี สติก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายของกระบวนการทรงจำ ตามหลักไตรวัฏฐ์ (ใน ปฏิจจสมุปบาท) จัดเวทนา สัญญา และวิญญาณ เป็นวิบาก สังขารเป็นกรรม, อนึ่ง สังขารที่จัดเป็นกรรมนั้น ท่านหมายเอาเฉพาะในเวลาที่เจตนานำหน้าออกปฏิบัติการเท่านั้น ส่วนตัวเครื่องปรุงเครื่องแต่งทั้งหลาย (ในฝ่ายสังสารวัฏภ์) ท่านจัดเป็นกิเลส ข้อที่พึงกำหนดหมายและระลึกไว้อย่างสำคัญคือ สัญญา และ สติ ทำหน้าที่คนละอย่างในกระบวนการทรงจำ

    สัญญา กำหนดหมายหรือหมายรู้อารมณ์เอาไว้ เมื่อประสบอารมณ์อีก ก็เอาข้อที่กำหนดหมายไว้นั้น มาจับเทียบหมายรู้ว่าตรงกันเหมือนกันหรือไม่ ถ้าหมายรู้ว่าตรงกัน เรียกว่าจำได้ ถ้ามีข้อต่างก็หมายรู้เพิ่มเข้าไว้ การกำหนดหมาย จำได้ หรือหมายรู้อารมณ์ไว้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ใช่นั่น ใช่นี่ (การเทียบเคียง และเก็บข้อมูล) ก็ดี สิ่งที่กำหนดหมายเอาไว้ (ตัวข้อมูลที่สร้างและเก็บไว้นั้น) ก็ดี เรียกว่าสัญญา ตรงกับความจำในแง่ที่เป็นการสร้างปัจจัยแห่งความจำ ลักษณะสำคัญของสัญญาคือ ทำงานกับอารมณ์ที่ปรากฏตัวอยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้า จึงกำหนดได้ หมายรู้หรือจำได้ซึ่งอารมณ์นั้น

    สติ มีหน้าที่ดึงอารมณ์มาสู่จิต เหนี่ยวอารมณ์ไว้กับจิต คุมหรือกำกับจิตไว้กับอารมณ์ ตรึงเอาไว้ไม่ยอมให้ลอยผ่านหรือคลาดกันไป จะเป็นการดึงมาซึ่งอารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว หรือดึงไว้ซึ่งอารมณ์ที่จะผ่านไปก็ได้ สติจึงมีขอบเขตความหมายคลุมถึง การระลึก นึกถึง นึกไว้ นึกได้ ระลึกได้ ไม่เผลอ ตรงกับความจำ เฉพาะในส่วนที่เป็นการระลึกและความสามารถในการระลึก ด้วยเหตุนี้สติจึงเป็นธรรมตรงข้ามกับสัมโมสะ ซึ่งแปลว่าการลืม (สัญญาไม่คู่กับลืม) สติเป็นการริเริ่มเองจากภายใน โดยอาศัยพลังแห่งเจตจำนง ในเมื่ออารมณ์อาจจะไม่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เป็นฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ จึงจัดอยู่ในพวกสังขารสัญญาบันทึกเก็บไว้ สติดึงออกมาใช้ สัญญาดี คือ รู้จักกำหนดหมายให้ชัดเจน เป็นระเบียบ สร้างขึ้นเป็นรูปร่างที่มีความหมายและเชื่อมโยงกันดี (ซึ่งอาศัยความใส่ใจและความเข้าใจเป็นต้นอีกต่อหนึ่ง) ก็ดี สติดี คือมีความสามารถในการระลึก (ซึ่งอาศัยสัญญาดี และการหมั่นใช้สติ ตลอดจนสภาพจิตที่สงบผ่องใส ตั้งมั่นเป็นต้น อีกต่อหนึ่ง) ก็ดี ย่อมเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดความจำดี


👬 นายแดง กับนายดำ เคยรู้จักกันดี แล้วแยกจากกันไป ต่อมาอีกสิบปี นายแดงพบนายดำอีก จำได้ว่าผู้ที่ตนพบนั้นคือนายดำ แล้วระลึกนึกได้ต่อไปอีกว่าตนกับนายดำเคยไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นๆ ได้ทำสิ่งนั้นๆ ฯลฯ การจำได้เมื่อพบนั้นเป็นสัญญา การนึกได้ต่อไปถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เป็นสติ วันหนึ่ง นาย ก. ได้พบปะสนทนากับนาย ข. ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นาย ก. ถูกเพื่อนถามว่า เมื่อเดือนที่แล้ววันที่เท่านั้นๆ นาย ก. ได้พบปะสนทนากับใคร นาย ก. นึกทบทวนดู ก็จำได้ว่าพบปะสนทนากับ นาย ข. การจำได้ในกรณีนี้ เป็นสติ

☎ เครื่องโทรศัพท์ตั้งอยู่มุมห้องข้างหนึ่ง สมุดหมายเลขโทรศัพท์อยู่อีกมุมห้องด้านหนึ่ง นายเขียวเปิดสมุดหาเลขหมายโทรศัพท์ที่ตนต้องการ พบแล้วอ่านและกำหนดหมายเลขเอาไว้ แล้วเดินไปหมุนหมายเลขที่เครื่องโทรศัพท์ตามต้องการ ระหว่างเดินไปก็นึกหมายเลขนั้นไว้ตลอด การอ่านและกำหนดหมายเลขที่สมุดโทรศัพท์ เป็นสัญญา การนึกหมายเลขนั้นตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไป เป็นสติ เมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้าแล้ว ก็กำหนดหมายได้ทันที แต่เมื่ออารมณ์ไม่ปรากฏอยู่ และถ้าอารมณ์ นั้นเป็นธรรมารมณ์ (เรื่องในใจ) ก็ใช้สติดึงอารมณ์นั้นมาแล้วกำหนดหมาย อนึ่ง สติสามารถระลึกถึงสัญญา คือดึงเอาสัญญาที่มีอยู่เก่ามาเป็นอารมณ์ของจิต แล้วสัญญาจะกำหนดหมายอารมณ์นั้น สำทับเข้าอีกให้ชัดเจนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือกำหนดหมายแนวใหม่เพิ่มเข้าไปตามวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งก็ได้ (สติ ด้านหนึ่งแปลกันว่า recall, recollection อีกด้านหนึ่งว่า mindfulness)




ตัวสภาวะ (ขันธ์ ๕)

ตอน ๑. ชีวิตคืออะไร?


ก. ชีวิตตามสภาพของมันเอง
ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต

🔅ตัวสภาวะ

        พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสภาวะ อันมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ที่เป็นของมันอย่างนั้น เช่นนั้น ตามธรรมดาของมัน มิใช่มีเป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ที่จะยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ครอบครอง บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรๆ ได้ บรรดาสิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ “รถ” เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ” แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมเข้าด้วยกัน เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ

การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร โดยวิธีแบ่งแบบขันธ์ ๕ (The Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่าเบญจขันธ์ คือ

๑. รูป (Corporeality) ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกาย และพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
๒. เวทนา (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
๓. สัญญา (Perception) ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์ (object) นั้นๆ ได้
๔. สังขาร (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ปัญญา โมหะ โลภะ โทสะ มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่ายๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เครื่องปรุงของความคิด หรือเครื่องปรุงของกรรม
๕. วิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ 

(*คำว่า “อารมณ์” ในบทความนี้ ทุกแห่งใช้ในความหมายทางธรรมเท่านั้น คือหมายถึงสิ่งที่จิตรับรู้หรือสิ่งที่ถูกรับรู้ โดยอาศัยทวารทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์ ความนึกคิดต่างๆ) ไม่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปในภาษาไทย ดูเพิ่มเติม 🔎ผัสสเจตสิก)
(อุเบกขา เป็นธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่ง และมักมีผู้เข้าใจความหมายสับสนผิดพลาดอยู่เสมอ จึงควรศึกษาให้เข้าใจชัด 🔎อย่างน้อยต้องสามารถแยกอุเบกขาในหมวดสังขาร ซึ่งตรงกับ ตัตรมัชฌัตตตา ออกจากอุเบกขาในหมวดเวทนา ซึ่งตรงกับ อทุกขมสุข อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ)

ขันธ์ ๔ ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและเพื่อป้องกันความสับสน ดังนี้

สัญญา เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่างๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา ทุ้ม แหลม อ้วน ผอม โต๊ะ ปากกา หมู หมา ปลา แมว คน เขา เรา ท่าน เป็นต้น การหมายรู้หรือกำหนดรู้นี้ อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้ว ดังตัวอย่าง นาย ก. รู้จักนายเขียว ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง นาย ก. เห็นนายเขียวอีก และรู้ว่าคนที่เขาเห็นนั้นคือนายเขียว อย่างนี้เรียกว่า จำได้ (พึงสังเกตว่า ในที่นี้ “จำได้” ต่างจาก “จำ” คัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงลักษณะหน้าที่เป็นต้นของสัญญาไว้ว่า:- สัญญา มีลักษณะจำเพาะคือสัญชานน์ (จำได้, รู้จัก) มีหน้าที่ทำเครื่องหมายไว้เป็นปัจจัยแห่งการจำได้ (หรือรู้จัก) ต่อไปว่า “นั่นคือสิ่งนั้น” เหมือนดังช่างไม้ เป็นต้น ทำเครื่องหมายไว้ที่วัสดุมีตัวไม้เป็นอาทิ; มีผลปรากฏคือ เกิดความยึดถือไปตามเครื่องหมายที่กำหนดเอาไว้ เหมือนพวกคนตาบอดคลำช้าง ยึดถือไปตามเครื่องหมายที่ตนจับได้ (ว่าช้างเป็นอย่างนั้นๆ); มีปทัฏฐาน คืออารมณ์ตามที่ปรากฏ เหมือนลูกเนื้อเห็นหุ่นคนที่ผูกด้วยมัดหญ้า สำคัญหมายว่าเป็นคนจริงๆ (วิสุทธิมัคค์ ๓/๓๕); ถ้าเทียบกับหลักจิตวิทยาฝ่ายตะวันตก สัญญาจะครอบคลุมเรื่อง perception, conception และ recognition แต่ไม่ใช่ memory ทั้งหมด)

ถ้าประสบการณ์ใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์หรือความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วนั่นเอง มาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนกันในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือ ตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่ อย่างนี้เรียกว่ากำหนดหมายหรือหมายรู้
การหมายรู้เช่นนี้ย่อมมีหลายชั้น หมายรู้ไปตามความตกลงอันเนื่องด้วยความรู้สามัญบ้าง เช่นว่า เขียว ขาว เหลือง แดง เป็นต้น ตามนิยมของโลก ของสังคม ของวัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้นบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สุภาพ อย่างนั้นสวยงาม อย่างนั้นถูกธรรมเนียม อย่างนี้ผิดธรรมเนียม เป็นต้น ตามนิยมและปรุงแต่งจำเพาะตนบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สวย อย่างนั้นน่าชม อย่างนี้น่าหมั่นไส้ เป็นต้น

หมายรู้สองชั้น (แบบสัญลักษณ์) บ้าง เช่นว่า สีเขียวแดงหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสียงระฆังสองครั้งหมายถึงการกินอาหาร ตลอดจนตามการศึกษาอบรมในทางธรรม เช่น หมายรู้ในภาวะที่ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง หมายรู้ในภาวะที่เป็นอนัตตา เป็นต้น มีทั้งความหมายรู้สามัญและความหมายรู้ที่ละเอียดซับซ้อน (คือสัมพันธ์กับขันธ์อื่นมากขึ้น) มีทั้งหมายรู้เกี่ยวกับรูปธรรมและหมายรู้เกี่ยวกับนามธรรม คำที่แปลสัญญากันว่า จำได้ กำหนดได้ หมายรู้ กำหนดหมาย จำหมาย สำคัญหมาย ล้วนแสดงแง่ต่างๆ แห่งความหมายของกองสัญญานี้ทั้งสิ้น พูดเพื่อเข้าใจกันอย่างง่ายๆ สัญญาก็คือกระบวนการเรียกเก็บ รวบรวมสั่งสมข้อมูลของการเรียนรู้และวัตถุดิบสำหรับความคิดนั่นเอง

สัญญาเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโทษมิใช่น้อย เพราะมนุษย์จะยึดติดตามสัญญา ทำให้สัญญากลายเป็นเครื่องกีดกั้นกำบังตนเองและห่อหุ้มคลุมตัวสภาวะไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป ขอแยกสัญญาออกอย่างคร่าวๆ เป็น ๒ ระดับ คือ สัญญาอย่างสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมัน อย่างหนึ่ง สัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง “ปปัญจสัญญา” อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้าย อีกอย่างหนึ่ง การแยกเช่นนี้จะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วิญญาณ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้น หรือความรู้ที่เป็นตัวยืน เป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน เป็นต้น (เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจหรือบีบคั้นใจ (เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (สัญญา) จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่างๆ (สังขาร) เช่น เห็นท้องฟ้า (วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ (เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสาย ฟ้าบ่าย ฟ้าสวย (สัญญา) ชอบใจฟ้านั้น อยากเห็นฟ้านั้นนานๆ ไม่อยากให้เวลาผ่านไป โกรธชายคาที่บังไม่ให้เห็นฟ้านั้นเต็มที่ คิดหาวิธีจะทำให้ได้นั่งดูฟ้านั้นได้สบายๆ ชัดเจนและนานๆ ฯลฯ (สังขาร) ที่รู้ตาม คือรู้ควบไปตามกิจกรรมของขันธ์อื่นๆ เช่น รู้สึกสุขสบาย (เวทนา) ก็รู้ว่าเป็นสุข (วิญญาณ; จึง
สังเกตว่า รู้สึกสุข กับรู้ว่าเป็นสุข ไม่เหมือนกัน) รู้สึกบีบคั้นใจไม่สบาย (เวทนา) ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ (วิญญาณ) หมายรู้ว่าอย่างนี้เป็นสุข อย่างนั้นเป็นทุกข์ (สัญญา) ก็รู้ไปตามนั้น เมื่อคิดนึกปรุงแต่งตั้งเจตจำนงไปอย่างใดๆ (สังขาร) ก็ย่อมมีความรู้ควบอยู่พร้อมกันด้วยโดยตลอด กระแสความรู้ยืนขึ้น ซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปรับนามขันธ์อื่นๆ หรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ นี้เรียกว่า วิญญาณ

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณ คือ วิญญาณ เป็นการรู้ความต่างจำเพาะ รู้ความหมายจำเพาะ หรือรู้แยกต่าง ความหมายนี้จึงเข้าใจด้วยตัวอย่าง เช่น เมื่อเห็นผืนผ้าลาย ที่ว่าเห็นนั้น แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าอะไรเป็นอะไร ก็ย่อมเห็นลักษณะอาการ เช่น สีสัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันเป็นพื้นอยู่พร้อมด้วยเสร็จ นี้เป็นความรู้ขั้นวิญญาณ เพราะวิญญาณรู้เห็นความแตกต่างนั้นอยู่ สัญญาจึงหมายรู้อาการที่แตกต่างกันนั้นได้ว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เช่น เป็นเขียว ขาว แดง เป็นต้น หรืออย่างเมื่อรับประทานผลไม้ ถึงจะไม่กำหนดหมายว่าเป็นรสหวาน รสเปรี้ยว ก็รู้รสที่หวาน ที่เปรี้ยวนั้น ซึ่งแตกต่างกัน และแม้ในรสที่เปรี้ยวหรือหวานด้วยกัน แม้จะไม่กำหนดหมายว่าเป็นรสเปรี้ยวมะม่วง เปรี้ยวมะปราง เปรี้ยวมะขาม เปรี้ยวมะนาว เปรี้ยว สับปะรด หรือหวานกล้วยหอม หวานกล้วยน้ำว้า หวานกล้วยไข่ หวานแอปเปิ้ล เมื่อลิ้มก็ย่อมรู้รสที่ต่างจำเพาะนั้น ความรู้อย่างนี้คือวิญญาณ เป็นความรู้ยืนพื้น เมื่อรู้แล้วนามขันธ์อื่นจึงจะทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น รู้สึกอร่อยไม่อร่อย (เวทนา) จำได้หมายรู้ว่ารสหวานอะไร รสเปรี้ยวอะไร (สัญญา) เป็นต้น

ส่วนในแง่ที่ว่ารู้ความหมายจำเพาะนั้นอธิบายสั้นๆ ว่า เมื่อเกิดวิญญาณขึ้น คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้น ว่าที่จริงแล้วจะเป็นการเห็นการได้ยินจำเพาะบางแง่ บางความหมาย ของสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จะเป็นการเห็นการได้ยินตามความหมายจำเพาะแง่จำเพาะอย่างที่เราใส่ให้แก่สิ่งนั้น ทั้งนี้ สุดแต่สังขารที่เป็นปัจจัยให้วิญญาณนั้นเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในท้องทุ่งแห่งหนึ่ง เป็นที่โล่งกว้าง มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ต้นเดียว เป็นต้นใหญ่มาก แต่มีผลอยู่เพียงไม่กี่ลูก และใบห่าง แทบจะอาศัยร่มเงาไม่ได้ มีชาย ๕ คน เดินทางมาถึงต้นมะม่วงนั้นในโอกาสต่างๆ กัน คนหนึ่งวิ่งหนีสัตว์ร้าย คนหนึ่งกำลังหิวมาก คนหนึ่งร้อนแดด กำลังต้องการร่มไม้ คนหนึ่งกำลังหาผักผลไม้ไปขาย คนหนึ่งกำลังหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงของตนเพราะจะแวะไปธุระในย่านใกล้เคียง คนทั้งห้านั้นมองเห็นต้นมะม่วงใหญ่ทุกคน แต่จะเป็นการเห็นในแง่และขอบเขตความหมายต่างๆ กัน วิญญาณเกิดขึ้นแก่ทุกคน แต่วิญญาณของแต่ละคนหาเหมือนกันไม่ เพราะแตกต่างกันไปตามเจตจำนงของตนๆ ต่อต้นมะม่วง ในเวลาเดียวกัน สัญญาคือการกำหนดหมายของแต่ละคนก็จะต่างๆ กันไปภายในขอบเขตแห่งความหมายที่ตนเห็นในขณะนั้นด้วย แม้เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน เช่น
        คนที่วิ่งหนีสัตว์ร้าย เห็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วดีใจ เพราะเห็นเครื่องช่วยให้หนีรอดปลอดภัย
        คนที่หิวมากก็ดีใจเพราะผลมะม่วงเพียง ๓ – ๔ ลูก ก็จะช่วยให้ตนอิ่มพ้นอดตายได้
        คนร้อนแดดอาจเสียใจ เพราะผิดหวังที่ไม้ใหญ่ไม่มีร่มให้อย่างที่ควรจะเป็น
        คนหาผลไม้ไปขายก็อาจเสียใจเพราะผิดหวังต่อจำนวนผลไม้ที่น้อย
        ส่วนคนหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงอาจจะรู้สึกสบายใจแต่เพียงเล็กน้อย แค่โล่งใจว่าไม่ต้องจูงสัตว์ไปหรือไปหาที่ผูกที่อื่น

เวทนา แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม เช่น

เห็นรูปที่น่าปรารถนาน่าใคร่ ➜  เกิดความสุขสบาย ก็ชอบใจต่ออารมณ์นั้น 
(จักขุ + อิฏฐารมณ์ 👉จักขุวิญญาณ) ➜  (สุขเวทนา) ➜ (สังขาร:- ราคะ)

ได้ยินเสียงที่ไม่ปรารถนาน่ารำคาญ  เกิดความทุกข์ ไม่สบาย  ก็ไม่ชอบใจต่ออารมณ์นั้น
(โสตะ + อนิฏฐารมณ์ 👉โสตวิญญาณ )  (ทุกขเวทนา)  (สังขาร : โทสะ)

เวทนา มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งมุ่งประสงค์ เสาะแสวง (หมายถึงสุขเวทนา) และเป็นสิ่งเกลียดกลัวเลี่ยงหนี (หมายถึงทุกขเวทนา) สำหรับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เวทนาจะเป็นขั้วต่อและเป็นต้นทางแยก ที่ชี้แนะหรือส่งแรงผลักดันแก่องค์ธรรมอื่นๆ ว่าจะดำเนินไปในทางใด อย่างไร เช่น ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้วสุขสบาย ก็จะกำหนดหมายอารมณ์นั้นมาก และในแง่หรือในแนวทางที่จะสนองเวทนานั้น และคิดปรุงแต่งเพื่อให้ได้อารมณ์นั้นมาเสพเสวยต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น 

เวทนา จัดอยู่ในจำพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่วโดยลำพังตัวของมัน
 (ดู ตอนว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท) 

สังขาร หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ และกระบวนการแห่งเจตจำนงที่ชักจูง เลือกรวบรวมเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสมปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายตามแนวขันธ์ ๕ ท่านมุ่งแสดงตัวสภาวะให้เห็นว่าชีวิตมีองค์ประกอบอะไร มากกว่าจะแสดงกระบวนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น คำอธิบายเรื่องสังขาร ในขันธ์ ๕ ตามปกติจึงพูดถึงแต่ในแง่เครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ว่ามีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น ส่วนการอธิบายในแง่กระบวนการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นขั้นออกโรงแสดง ท่านยกไปกล่าวใน 🔎หลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ในหลักปฏิจจสมุปบาท ความหมายของสังขารจึงมีรูปร่างแบบปฏิบัติการ คือจำแนกออกเป็น
        กายสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงออกทางกาย หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย
        วจีสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางวาจา หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา
        จิตตสังขาร การปรุงแต่งแสดงเจตจำนงทางใจ หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ

ต่างจากคำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ซึ่งจำแนกสังขารเป็นองค์ธรรมเครื่องปรุงแต่งต่างๆ มี ศรัทธา สติ เมตตา กรุณา ปัญญา โลภะ โทสะ เจตนา สมาธิ เป็นต้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับเรื่องรถ คำอธิบายแนวขันธ์ ๕ ก็เหมือนรถที่ตั้งแสดงให้ดูส่วนประกอบต่างๆ อยู่กับที่ ส่วนคำอธิบายแนวปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวข้างหน้า เป็นเหมือนอธิบายเรื่องรถที่เดินเครื่องออกแล่นใช้งานจริง

บรรดาเครื่องแต่งคุณภาพของจิตทั้งหลายนั้น เจตนาเป็นตัวนำหรือเป็นหัวหน้า ดังนั้น ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่าเจตนาเป็นคำแทนหมายถึงสังขารทั้งหมดที่เดียว ด้วยเหตุนี้จึงอาจให้ความหมายคำว่าสังขารได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร คือ เจตนาพร้อมทั้งสัมปยุตธรรม” ธรรมที่ประกอบร่วมหรือเครื่องประกอบ ซึ่งแต่งจิตให้ดี หรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ บางครั้ง ท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนาคำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด หรือแสดงความหมายทำนองจำกัดความคำว่าสังขารด้วยคำว่าเจตนา และเจตนาก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ คำว่า สังขาร เจตนา และกรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆ เท่ากัน เปรียบเหมือนว่า พระครูแก้วเป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นผู้แทนวัดนั้นไปรับมอบพระไตรปิฎกร่วมกับผู้แทนของวัดอื่นๆ หลายวัด ในที่ประชุมนั้น จะออกชื่อว่า พระครูแก้ว เจ้าอาวาสวัดกลาง คณะวัดกลาง หรือว่าวัดกลาง ก็ได้ความหมายที่ประสงค์อย่างเดียวกัน

นอกจากความสำคัญที่กล่าวมาแล้ว เจตนายังเป็นตัวแสดงลักษณะพิเศษของสังขาร ที่ทำให้สังขารขันธ์ต่างจากขันธ์อื่นๆ อีกด้วย เจตนา แปลว่า ความจำนง ความจงใจ ความตั้งใจ ลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันระหว่างสังขารขันธ์กับนามขันธ์อื่น ก็คือ นามขันธ์อื่น อันได้แก่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ทำงานกับอารมณ์ที่เข้ามาปรากฏอยู่แล้ว เป็นสภาพที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ อาศัยอารมณ์จึงดำเนินไปได้และเป็นฝ่ายรับ แต่สังขารมีการริเริ่มเองได้ จำนงต่ออารมณ์และเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะมองเห็นเหตุผลว่า ทำไมความสบาย ไม่สบาย จัดเป็นเวทนา แต่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ซึ่งเกิดถัดจากสบายไม่สบายนั้น จึงจัดเข้าในสังขาร ทำไมสัญญากับสติ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องความจำด้วยกัน แต่กลับแยกอยู่คนละขันธ์ (สติอยู่ในสังขารขันธ์) ทำไมปัญญาซึ่งก็เป็นเรื่องของความรู้เช่นเดียวกับสัญญาและวิญญาณ จึงแยกไปอยู่ในสังขารขันธ์



วิกิ

ผลการค้นหา