แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แสดงบทความทั้งหมด

ปัตตวรรคที่ ๓

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ

จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

ปัตตวรรคที่ ๓ มี ๑๐ สิกขาบท
๑. ปัตตสิกขาบท
ความว่า บาตรอันเป็นอติเรก คือบาตรดิน บาตรเหล็กที่ได้มาใหม่ ภิกษุได้รับได้หวงเอาเป็นเจ้าของแล้ว ยังไม่ได้อธิษฐานและวิกัป ก็พึงเก็บไว้ได้ภายใน ๑๐ วัน ถ้าพ้น ๑๐ วันไปแล้ว บาตรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าบาตรอธิษฐานไว้ใช้มีอยู่บาตรหนึ่งแล้วอธิษฐานขึ้นเป็นสองไม่ได้ ถึงจะมากเท่าใดก็ให้วิกัปไว้แก่ภิกษุหรือสามเณร เช่นอติเรกจีวรนั้นเถิด

๒. อูนปัญจพันธนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีบาตรดินอันรานร้าว มีที่ผูกยังไม่ถึง ๕ แห่ง คือ มีรอยร้าวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว ไปแลกเปลี่ยนขอร้องเสาะแสวงขวนขวายหาบาตรใหม่ ได้มา บาตรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าบาตรนั้นร้าวหลายแห่ง ๆ ละ ๒ นิ้ว ๔ นิ้ว ๕ นิ้วบ้าง คิดบรรจบครบ ๑๐ แล้วจะเที่ยวขอก็ควร แต่ต้องขอจากญาติที่ปวารณา ตามพระพุทธานุญาตเถิด

บาตรนิสสัคคีย์นั้น ให้ภิกษุเจ้าของบาตรพึงสละในท่ามกลางสงฆ์ พระสงฆ์ผู้รู้วัตรพึงรับไว้ พระเถรานุ
เถระจึงให้บาตรของตนแลของตนทดแทนทอนกันต่อ ๆ ลงไปตามลำดับพรรษา จนถึงภิกษุบวชใหม่ ภิกษุนั้นจึงเปลี่ยนบาตรของตนให้แก่ภิกษุเจ้าของบาตรนิสสัคคีย์นั้นให้ใช้แทนไปจนกว่าจะแตกทำลาย อันนี้เป็นวัตรชอบตามพระพุทธาธิบาย

๓. ปัญจเภสัชชสิกขาบท
ความว่า ยาที่ภิกษุใช้จะพึงฉัน ๕ อย่าง เนยใส ๑ เนยข้น ๑ น้ำมันลูกไม้หรือเปลวสัตว์ ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำอ้อย ๑ ภิกษุรับประเคนแล้ว จึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน ถ้าฉันไม่หมด พึงสละให้ภิกษุอื่นเสีย อย่าหวงเอาไว้เป็นของตัวให้ล่วง ๗ วันไป ถ้าหวงไว้จนรุ่งขึ้นวันที่ ๘ แล้ว ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๔. วัสสิกสาฎีกสิกขาบท
ความว่า ผ้าสำหรับไว้ผลัดอาบน้ำฝน ให้ภิกษุเสาะแสวงหา ขอร้องในที่ญาติและที่ปวารณา อย่าให้เป็นอกตวิญญัติ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๗ ถึงวันดับ เป็นสมัยที่เที่ยวหาตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันเพ็ญ เป็นสมัยที่ตัดฉีกเย็บย้อม ถึงวันเข้าพรรษาแล้วพึงอธิษฐานไว้ผลัดอาบน้ำ ตลอดถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ สิ้นฤดูฝน ถ้าหาได้ ทำไม่ทันในการที่ว่ามานี้ จะทำได้เมื่อไร เย็บย้อมแล้วเมื่อใดล้ำเข้ามา ณ ภายในฤดูฝนก็ได้ จึงอธิษฐานไว้อาบน้ำฝนจนสิ้นฤดูตามปรารถนาเถิดไม่ต้องห้าม แต่จะหาจะทำให้ลับล่วงออกไป ฝ่ายข้างขึ้นเดือน ๗ เป็นอันล่วงพระพุทธบัญญัติ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถึงว่าจะขอมาแต่บิดามารดา แต่ตั้งใจว่าจะเอามาไว้ทำผ้าอาบน้ำฝน ก็มิพ้นโทษในสิกขาบทนี้

๕. จีวรัจฉินทนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้ให้จีวรแก่ภิกษุอื่นด้วยตน แต่ให้ด้วยสัญญาว่ายังเป็นของตนเหมือนอย่างให้ยืมนุ่งห่ม ครั้นจึงโกรธเคืองขึ้นมา กลับแย่งยื้อชิงเอาคืนมาเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นชิงมาก็ดี จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถึงบริขารอื่น ๆ ก็อนุโลมเข้าในจีวรเหมือนกัน ถ้าให้ด้วยขาดอาลัยเป็นของภิกษุรับแล้วกลับชิงเอาคืนมานั้น ความปรับปรุงเป็นธุรนิกเขปาวหารตามราคาจีวรนั้น

๖. สุตตวิญญัติสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงไปขอเส้นด้ายแก่คฤหัสถ์ซายหญิงที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา เอามาวานช่างหูกที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา ให้ทอเป็นผืนผ้าควรวิกัป ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเจ้าของด้ายหรือช่างหูกเป็นญาติ หรือเป็นผู้ปวารณาอยู่แต่ฝ่ายหนึ่ง เป็นแต่อาบัติทุกกฏ

๗. มหาเปสการสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานีคฤหัสถ์ชายหญิงอันมิใช่ญาติ จึงไปจ้างช่างหูกให้ทอผ้าไว้ หมายใจออกวาจาว่าจะถวายแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ แต่หาได้ปวารณาให้ภิกษุไปดูแลว่ากล่าวให้ทอตามใจชอบไว้แต่ก่อนไม่ ภิกษุได้ยินข่าวแล้วจึงไปสู่หาช่างหูก ว่ากล่าวบังคับให้ทอผ้าให้ยาว กว้าง เนื้อแน่นเรียบร้อย งามดี ให้เกินกำหนดเส้นด้ายที่เจ้าของกำหนดไว้ เพิ่ม บำเหน็จให้แก่ช่างหูกบ้างสักเล็กน้อย โดยที่สุดถึงโภชนบิณฑบาต เมื่อได้ผ้ามาถึงมือเมื่อใด ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้ากำหนดให้ทอไม่เกินเส้นด้ายของทายกไป ก็ไม่มีโทษ

๘. อัจเจกจีวรสิกขาบท
ความว่า วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ยังอีก ๑๐ วัน จึงจะถึง
🔎วันมหาปวารณา(๖๒) อัจเจกจีวร คือผ้ารีบผ้าด่วนจะพึงเกิดแก่ภิกษุ คือผ้าที่ทายกเป็นไข้หนัก หรือรีบจะไปการศึกสงคราม จะเร่งถวายให้ทันใจจะรอไว้ช้าวันไปไม่ได้ เฉพาะจะถวายตั้งแต่วันขึ้น ๕ ค่ำไป ชื่อว่าอัจเจกจีวร ภิกษุรู้ว่าผ้ารีบผ้าด่วนแล้วพึงทำเถิด จะไม่ได้วิกัปหรืออธิษฐาน ก็พึงไว้ได้ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้าได้กรานกฐินอนุโมทนาแล้ว ก็คุ้มได้ออกไปถึงเพ็ญเดือน ๔ ถ้าไม่วิกัปอธิษฐาน พ้นนั้นแล้วผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. สาสังกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันเข้าปุริมพรรษาในคามันตเสนาสนะ คือวัดใกล้บ้านถ้วนไตรมาสแล้ว เมื่อจะไปอยู่ในเสนาสนะป่าไกลบ้านออกไป ตั้งแต่ ๕๐๐ ชั่วคันธนู คือนับว่า ๒๕ เส้นไปถึง ๑๐๐ เส้น ที่นั้นมีภัยด้วยใจรป่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ฝากจีวรไว้ผืนใดผืนหนึ่งในบ้าน 
🔎โคจร(๖๓) ไกลแต่เสนาสนะมาชั่ว ๕๐๐ คันธนู เป็นอันคุ้มไตรจีวรได้ตลอดถึงเดือนเพ็ญ ๑๒ ถ้าจะมีที่ไปจากเสนาสนะนั้น พึงมายังเสนาสนะนั้นภายใน ๖ วัน ถ้าไม่ทัน🔎อรุณ(๖๔) ในวันที่ ๗ ขึ้นแล้ว ไตรจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุใช้ได้จีวรอวิปวาสสมมติ จึงไม่เกิดอาบัติปาจิตตีย์

๑๐. ปริณตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุผู้รู้อยู่ว่าลาภสิ่งของอันทายกตั้งจิตจะอุทิศถวายสงฆ์ พึงว่ากล่าวชักโยงหน่วงโน้มมาให้ถวายแก่ตน ถ้าถึงมือเมื่อใด ลาภสิ่งของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

จบปัตตวรรค ๑๐ สิกขาบท

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

โกสิยวรรคที่ ๒

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ

จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

โกสิยวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สิกขาบท
๑. โกสิยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ซึ่ง
🔎สันถัต(๕๔) รองนั่งหล่อเจือด้วยเส้นไหมสันถัตนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นสันถัตทอ ไม่เป็นอาบัติ

๒. สุทธกาฬกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำซึ่งสันถัดด้วยขนเจียมมีสีดำล้วน ไม่หล่อปนอย่างละส่วนให้ต่างสี สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๓. ทวิภาคสิกขาบท
ความว่า ภิกษุจะให้ทำสันถัตใหม่หล่อด้วยขนเจียม จึงให้ถือเอาขนสีดำ ๒ ส่วน ขนสีขาว ๑ ส่วน  เป็น ๓ ส่วน ขนเจียมสีแดง ๑ ส่วน เป็น ๔ ส่วน ถ้าไม่เอาตามประมาณที่กำหนดไว้นี้ สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ขนเจียมสีดำเฉพาะ ๒ ส่วนถ้วน ขนเจียมสีขาว สีแดง ถึงจะเกินกว่าส่วนหนึ่งขึ้นไป ก็ไม่เป็นอาบัติ สันถัตเป็นนิสสัคคีย์ทั้ง ๓ นี้ แม้สละเป็นวินัยกรรมแล้ว ผู้รับจะคืนให้ ก็ไม่ควรจะบริโภคได้อีกเลย

๔. ฉัพพัสสสิกขาบท
ความว่า ภิกษุให้ทำสันถัตหล่อขึ้นใหม่แล้ว พึงทำไว้อาศัยใช้สอยรองนั่งไปตลอด ๖ ปี ถ้ายังไม่ถึง ๖ ปี จะสละแก่ภิกษุอื่นก็ดี ไม่สละก็ดีให้ทำให้หล่อสันถัตใหม่อื่นอีกเล่า สันถัตนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุอันได้สมมติแต่สงฆ์แล้ว แม้จะหล่อสันถัดใหม่ ก็ไม่เป็นอาบัติ

๕. นิสีทนสันถัตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุจะให้ทำให้หล่อสันถัตรองนั่งขึ้นใหม่ พึงให้เอาสันถัตเก่าไว้คืบพระสุคต ๑ โดยรอบ เพื่อจะทำให้เสียสี ถ้าไม่ทำดังว่านี้สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ สันถัตเป็นนิสสัคคีย์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าภิกษุสละเป็นวินัยกรรมแล้วเอามาบริโภคได้ ไม่เป็นอาบัติ

๖. เอพกโลมสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเดินทางไกลไปกำหนดด้วย ๑๐๐ โยชน์ จะพึงมีผู้นำเอาขนเจียมมาถวาย เมื่อปรารถนาจะได้ก็พึงรับเถิด ถ้าไม่มีผู้ช่วยนำไปให้ พึงนำไปเองได้ล่วงทางไกลเพียง ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเกิน ๓ โยชน์ออกไปสักเส้นผมหนึ่ง ขนเจียมนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗. เอหกโลมโธวาปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงใช้ภิกษุณีอันมิใช่ญาติให้ซักหรือย้อม ให้สางเส้นขนเจียม ขนเจียมนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๘. รูปิยคหณสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับเงินทองด้วยมือตนเองก็ดี บังคับให้ผู้อื่นรับไว้เพื่อตนก็ดี ยินดีมุ่งตรงเฉพาะต่อเงินทองที่ตนให้เก็บไว้ก็ดี เงินทองนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ใช่จะเป็นนิสสัคคิยวัตถุแต่เงินทองเท่านั้นหามิได้รูป
🔎มาสก(๕๕) ที่สำหรับซื้อจ่ายต่าง ๆ เหมือนอย่างหอยเบี้ยกะแปะปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนเงินเป็นต้น โดยอย่างต่ำถึงซี่ไม้ไผ่ เม็ดในผลไม้ที่โลกสังเกตกำหนดไว้ใช้ซื้อจ่ายแลกเปลี่ยนได้ตามประเทศนั้น ๆ ภิกษุจะรับยินดีก็ไม่ควร ล้วนเป็นมหานิสสัคคิยวัตถุทั้งสิ้น ก็แลอุบายที่จะบริโภคจตุปัจจัย เพราะอาศัย🔎กัปปิย(๕๖) มูล ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้นั้นก็มีอยู่ ถ้ามีผู้นำเอาเงินทองและรูปมาสกมาถวายเป็นราคาจตุปัจจัยสี่ ก็พึงห้ามเสีย อย่าพึงรับ อย่าพึ่งยินดีตรงต่อเงินทองนั้น (เพราะเงินทองเป็นปัจจัยสี่ ทำจีวรไม่ได้ ทำบิณฑบาตไม่ได้ ทำเสนาสะไม่ได้ ทำยาแก้ไข้ก็ไม่ได้ แต่ถ้าไวยาวัจกรเอาเงินไปแลกเปลี่ยนเอาปัจจัยสี่มาถวาย ภิกษุยินดีตรงปัจจัยสี่สักเท่าไร ก็ไม่เป็นนิสสัคคีย์สักบาทเดียว ถ้าภิกษุถูกต้องเสียแล้วก็เป็นนิสสัคคีย์อยู่นั่นแหละ)

ถ้าเขามอบไว้แก่ไวยาวัจกรก็พึงปฏิบัติเช่นอย่างราคาจีวร ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ในราชสิกขาบทเท่านั้น ถ้ามีผู้เอาเงินทองมากองลงต่อหน้า แล้วว่า “ข้าพเจ้าจะถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าไว้ จะได้ซื้อหาสิ่งของอะไรตามปรารถนา” ภิกษุยินดีด้วยใจ แต่ว่าห้ามด้วย กาย วาจา ให้รู้ว่ารับไม่ได้ ไม่ควร ก็ไม่เป็นอาบัติ เมื่อมิได้ห้ามด้วยกาย วาจา แต่ห้ามด้วยจิตว่าไม่ควรรับเป็นแท้ ก็ไม่เป็นอาบัติ ถ้าภิกษุได้ห้ามด้วยกาย หรือวาจาแลจิต แต่อย่างหนึ่งแล้วเขาก็ว่า “ข้าพเจ้าถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าเป็นอันขาด” แล้วก็หลีกไปถ้ามีอุบาสกอื่นมาเห็นเขาแล้ว จึงถามขึ้น ภิกษุพึงบอกเล่าไปตามเหตุ อุบาสกนั้นเป็นผู้รู้
🔎วัตรปฏิบัติ(๕๗) ของภิกษุได้รับเข้าแล้วมาว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาเป็นไวยาวัจกร รักษาไว้เอง พระผู้เป็นเจ้าจงแสดงที่รักษาให้ข้าพเจ้าเถิด” ภิกษุบอกว่า “ที่นี้แหละเป็นที่เก็บกัปปิยมูล” จะว่าอย่างนี้ก็ควร แต่อย่าพึ่งบังคับว่า “ท่านเก็บไว้ที่นี้ มิควร ไม่พ้นอาบัติ”

ถ้ามีพ่อค้าขายสิ่งของต่าง ๆ อย่างพ่อค้าร้องขายบาตรมา แม้ว่าภิกษุนั้นอยากจะได้บาตร ฟังว่า “เราก็อยากจะได้บาตรอยู่ กัปปิยมูลก็มีอยู่ แต่ไม่มี🔎กัปปิยการก(๕๘) จะสำเร็จให้” ถ้าว่าพ่อค้านั้นรับเข้ามาว่า “ข้าพเจ้าจะขอรับเป็นกัปปิยการกเอง พระผู้เป็นเจ้าจงเผยประตูชี้ที่เก็บกัปปิยมูลให้ข้าพเจ้าเถิด” ภิกษุจะเผยประตูชี้ที่เก็บให้ว่า “กัปปิยมูลเขาเก็บไว้ที่นี้” ก็ควร แต่อย่าพึ่งบังคับว่า “ท่านจงเอาไป” ดังนี้เป็นอันไม่ควรถ้าพ่อค้าจะให้บาตรควรแก่ราคา ก็พึงรับบาตรนั้นตามปรารถนาเถิด แต่เห็นว่าราคามันมากเกินไป จะห้ามว่า “เราไม่พอใจบาตรของท่านแล้ว กัปปิยมูลนั้นเป็นอย่างใดก็เอาไว้ตามที่เถิด” ดังนี้ก็ควร

ว่ามาทั้งนี้ด้วยประสงค์จะให้รู้อุบายที่จะบริโภคปัจจัยจะไม่ให้เกิดอาบัติ เพราะจิตมิได้ยินดีตรงรูปิยะเงินทองฝ่ายเดียว ถ้าทายกเขามอบหมายกัปปิยมูลไว้กับกัปปิยการก ก็อย่าพึ่งยินดีตรงๆต่อรูปิยะเงินทองนั้นพึงตั้งจิตว่าเราจะได้อาศัยบริโภคปัจจัยที่ควร เมื่อจะปรารถนากัปปิยภัณฑะสิ่งไร ก็อย่าได้บังคับว่า “ท่านจงไปซื้อสิ่งของอันนั้นมาให้แก่เรา” บังคับว่าอย่างนี้ไม่ควรพึ่งบอกเล่าว่า “เราต้องการสิ่งของอันนั้นๆ” พอเป็นกลาง ๆ อย่างนี้จึงควร แต่อันจะห้ามจิตมิให้ยินดีมุ่งตรงต่อรูปิยะเงินทองนั้นยากนัก อาศัยภิกษุมีเจตนาหนักในสิกขาบทนั้นเป็นประมาณ อย่าเห็นแต่การจะรักษากายเลี้ยงท้องให้ยิ่งกว่าการรักษาสิกขาบทเลย

๙. รูปิยสังโวหารสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงถึงซึ่ง
🔎รูปิยสังโวหาร(๕๙) มีประการต่าง ๆ คือซื้อจ่ายสิ่งของที่แล้วด้วยรูปิยะเงินทองเช่นเดียวกัน แลซื้อจ่ายของที่ควรแก่วัตถุสิ่งของ ซื้อด้วยรูปิยะเงินทอง แลขายด้วย🔎สมณบริขาร(๖๐) เอารูปิยะเงินทองเก็บไว้ สิ่งของทั้งปวงนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

วัตถุสิ่งของซื้อมาด้วยรูปิยะเงินทอง สำเร็จด้วยอกัปปิยโวหารนั้น เป็นมหานิสสัคคีย์ ซึ่งจะสละเป็นวินัยกรรม แล้วเอามาใช้สอยไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าสิ่งของเป็นมหานิสสัคคีย์แล้ว ถ้าว่าจะเอาไปปะปนคละเคล้าเข้ากับสิ่งของที่บริสุทธิ์ รสน้ำย้อมเป็นต้นซาบกัน สิ่งที่บริสุทธิ์นั้นก็พลอยเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย เหมือนอย่างรางย้อมผ้าที่เป็นมหานิสสัคคีย์ แล้วรสน้ำย้อมติดซาบอยู่ในรางนั้น ถ้าเอาผ้าที่บริสุทธิ์ไปย้อมลงในรางนั้นเล่า
ให้รสน้ำย้อมติดซาบมาในผ้าที่บริสุทธิ์ ก็พลอยให้ผ้าที่บริสุทธิ์นั้นเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย อนึ่งวัตถุที่บริสุทธิ์แท้แต่อาศัยด้วยมหานิสสัคคีย์วัตถุ ก็พลอยเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย เหมือนอย่างเข็มเย็บผ้าหรือพร้าขวานที่ถากไม้กรัก หม้อที่จะต้มน้ำย้อมผ้า แลฟันที่จะเป็นเชื้อใส่ไฟก็ดี ถ้าเป็นมหานิสสัคคีย์เสียแล้ว ก็พลอยให้ผ้าที่สุย้อมลงในน้ำย้อมนั้นเป็นผ้านิสสัคคีย์ไปด้วย ว่ามาทั้งนี้พอเป็นตัวอย่างที่ภิกษุจะหลบหลีกอาบัติเสีย ไปบริโภคปัจจัยที่ควรตามปรารถนา ไม่ให้เกิดอาบัติได้

๑๐. กยวิกกยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงถึงซึ่งความแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ คือยื่นให้และรับเอาสิ่งของที่เป็นกัปปิยะต่อสิ่งของที่เป็นกัปปิยะเหมือนกันกับคฤหัสถ์นอกจากสหธรรมิกบริษัททั้ง ๕ คือ
        ภิกษุ ๑
        ภิกษุณี ๑
        
🔎สิกขมานา(๖๐) ๑
        สามเณร ๑
        สามเณรี ๑
สิ่งของที่ภิกษุแลกเปลี่ยนได้มานั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ แม้ว่าบิดามารดาของตัวก็แลกเปลี่ยนสิ่งของนั้นไม่ได้ในสิกขาบทนี้ แต่จะให้กันขอกันไม่ต้องห้าม ตามที่นับว่าญาติและปวารณา อย่าให้เป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายต่อกัน จึงจะพ้นอาบัติ

จบโกสิยวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

จีวรวรรคที่ ๑

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ
จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

จีวรวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. ปฐมกฐินสิกขาบท
ความว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว คือภิกษุได้เข้าปุริมพรรษาในวันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่งแล้ว ได้กรานหรือได้อนุโมทนากฐินแล้ว ถ้ายังมี
🔎ปลิโพธ(๔๓) อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงเพ็ญเดือน ๔ ไปแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๔ ไปถึงเพ็ญเดือน ๑๑ ถ้าภิกษุได้อดิเรกจีวรมา คือผ้าที่ยังไม่ได้🔎วิกัป(๔๔) หรือว่าอธิษฐาน ตั้งแต่ผ้ากว้างคืบหนึ่ง ยาวศอกหนึ่งขึ้นไป พึงเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้วิกับหรือวิกัปอธิษฐานล่วงราตรีที่ ๑๐ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ควรสละให้ภิกษุอื่นเป็นวินัยกรรม ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์นับเท่าผืนผ้านั้น ก็แต่อติเรกจีวรที่เกิดภายใน ๕ เดือนตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำหนึ่ง ถึงเพ็ญเดือน ๔ นั้น ถึงไม่วิกัป ไม่ได้🔎ธิษฐาน(๔๕) ก็ยังไม่เป็นนิสสัคคีย์ ถ้าเข้า🔎ปริมพรรษา(๔๖) แต่ไม่ได้กราน ไม่ได้อนุโมทนากฐิน คุ้มอติเรกจีวรได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้าเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือน ๙ หรือภิกษุขาดพรรษาไซร้ ก็ไม่มีกาลจะคุ้มอติเรกจีวรได้ เมื่อได้มาถึง ก็ถึงวิกัปหรืออธิษฐานเสียภายใน ๑๐ วันนั้น

๒. ทุติยกฐินสิกขาบท
ที่เรียกว่า อุทโธสิตสิกขาบทนั้น ความว่า เมื่อมีจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้วมีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าหากว่าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้แต่ราตรีเดียว คือละไตรจีวรไว้นอก
🔎หัตถบาส(๔๗) เมื่อราตรีรุ่งขึ้น ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุใช้ที่สงฆ์สมมติให้อยู่ปราศจากไตรจีวร ละไว้ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๓. ตติยกฐินสิกขาบท
ความว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว มีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าว่า
🔎อกาลจีวร(๔๘) จึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุ คือมีทายกนำผ้ามาถวายให้เป็นอกาลจีวร ภิกษุปรารถนาจะทำไตรจีวร ก็พึงรับเอาไว้ แล้วรีบเร่งทำเสียให้เสร็จภายใน ๑๐ วัน ถ้าผ้านั้นยังไม่พอแก่🔎สังฆาฏิ(๔๙) หรือ🔎อุตตราสงฆ์(๕๐) หรือ🔎อันตรวาสก(๕๑) ผืนใดผืนหนึ่งก็ดี ถ้าหมายใจเป็นแน่ว่ายังจะได้ผ้าอื่นมาบรรจบให้พอได้ภายใน ๑ เดือนแล้ว ก็พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้อีกเพียงเดือน ๑ เป็นอย่างยิ่ง ถ้าพ้นจากนั้นไม่วิกัปหรืออธิษฐานไว้ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าว่าได้ผ้าอื่นมาในภายเดือน ๑ เอามาผสมยังไม่พอเล่า แม้ยังหมายใจว่าจะได้ผ้าอื่นต่อไปอีก ก็พึงวิกับหรืออธิษฐานผ้าเดิมนั้นเก็บไว้ ผ้าที่ได้มาใหม่นั้นตั้งเป็นผ้าเดิมขึ้นไว้ใหม่ได้อีกเดือน ๑ ต่อไป เพื่อจะได้บรรจบกับผ้าที่จะได้มาใหม่เป็นไตรจีวรให้พอตามความปรารถนา

๔. จีวรโธวาปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติ หรือคฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา ให้ชัก หรือย้อม หรือทุบ รีดจีวรเก่า ตั้งแต่ผ้าที่ได้นุ่งห่ม หนุนศีรษะนอนแต่คราวหนึ่งขึ้นไป จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์

๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับจีวรแต่มือนางภิกษุณีอันมิใช่ญาติ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ผ้านั้นไม่เป็นนิสสัคคีย์ ไม่เป็นอาบัติ

๖. จีวรวิญญัติสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงขอจีวรแต่คฤหัสถ์ คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ จีวรที่ได้มาต้องนิสสัคคีย์ ภิกษุผู้ขอต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยที่ขอได้ คือเป็นคราวเมื่อจีวรอันโจรตีชิงเอาไปเสียหรือว่าไฟไหม้ หนูกัด ปลวกกัดกินเป็นต้น จนมีผ้านุ่งผืนเดียว หรือต้องตัดใบไม้นุ่งแล้ว เที่ยวไปขอได้ ไม่มีโทษต้องห้าม

๗. ตทุตตรสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้วิญญัติสมัย คือคราวที่จะเที่ยวขอได้เช่นนั้น แล้วเที่ยวขอจีวรอยู่ ถ้ามีคหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติมาปวารณาด้วยผ้ามากหลายผืนนำมาถวายให้ทำไตรจีวรจนพอประโยชน์ ก็พึงยินดีรับแต่เพียงสองผืน คือผ้าอันตรวาสกและผ้าอุตตราสงค์ ที่เรียกว่าสบงจีวรครองตามสังเกตทุกวันนี้ พอจะได้นุ่งผืนหนึ่งเท่านั้น ผ้าของตนยังมีอยู่ผืนหนึ่งพึงรับได้อีกเพียงผืน ๑ ถ้ายินดีรับยิ่งกว่า ๒ ผืนขึ้นไป ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
๘. ปฐมอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ พึงตั้งกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรถวายภิกษุชื่อนั้น แต่หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นก่อนไม่ ภิกษุนั้นครั้นรู้แล้ว ก็อยากจะได้จีวรที่ดี จึงเข้าไปสู่หากล่าวกำหนดให้ซื้อผ้าที่เนื้อดีให้ยาว ให้กว้าง ให้เกินราคาที่เขากำหนดไว้ เขาได้ผ้ามาถวายถึงมือเมื่อไร ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติเป็นสองพวกสองหมู่ ต่างคนต่างกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรคนละผืนถวายแก่พระภิกษุเฉพาะองค์เดียวกัน แต่ก็หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นไม่ ครั้นภิกษุนั้นรู้ข่าวแล้ว ก็อยากได้จีวรเนื้อดีที่งามตามชอบใจแต่สักผืนดียว จึงเข้าไปสู่หาว่ากล่าวชักโยงคนทั้งสองฝ่ายให้รวมราคาเข้ากันกำหนดให้ซื้อจีวรที่เนื้อดีกว้างยาวตามใจชอบแต่ผืนเดียวให้เกินราคาที่เขากำหนดให้ เขาซื้อผ้ามาถวายถึงมือเมื่อใด ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๑๐. ราชสิกขาบท
ความว่า พระเจ้าแผ่นดินก็ดีอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คฤหบดีก็ดี จึงมอบหมายราคาจีวรให้แก่ทูต บังคับให้ไปซื้อจีวรมาถวายแก่พระภิกษุที่ตนเฉพาะไว้ แต่ทูตนั้นหาได้ซื้อจีวรไปถวายตามคำที่ใช้ไม่ นำเอารูปิยะเงินทองราคาซื้อจีวรไปถวายแก่พระภิกษุนั้นแจ้งว่า “ราคาจีวรนี้ท่านผู้นั้นใช้ให้ข้าพเจ้านำมาถวายแก่ท่านผู้มีอายุ ขอท่านผู้มีอายุจงซื้อหาจีวรตามปรารถนาเถิด” ภิกษุพึงกล่าวแก่ทูตนั้นว่า “อันเราจะรับทรัพย์เงินทองเป็นราคาจีวรนี้ไม่ได้ ไม่ควร จะควรรับได้ก็แต่จีวรที่ควรตามกาล” ทูตนั้นถามว่า “
🔎ไวยาวัจกร(๕๒) ของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่หรือหามิได้เล่า” ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงแสดงไวยาวัจกร คือผู้รักษาอารามหรืออุบาสกว่า “ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย” ทูตนั้นจึงนำราคาจีวรไปมอบหมายส่งให้ไว้แก่ไวยาวัจกร แล้วจึงมาบอกเล่าแก่ภิกษุนั้นว่า “ราคาจีวรนั้นข้าพเจ้าได้มอบหมายสั่งไวยาวัจกรไว้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะประโยชน์ด้วยจีวรเมื่อไร จงไปบอกเล่าแก่ไวยาวัจกรเถิด เขาจะได้จัดหามาถวายตามประสงค์”

ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงไปทวงเตือนไวยาวัจกรนั้นว่า “เราประโยชน์ด้วยจีวร” ดังนี้ ถ้าทวงเตือนครั้งที่ ๑ แล้วก็ยังไม่ได้มา ก็ให้ทวงเตือนซ้ำได้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เมื่อครบ ๓ ครั้งแล้ว จีวรนั้นไม่ได้มา ก็พึ่งไปยืนนิ่งเฉยพอให้รู้ว่า “ทวงจีวร” ได้อีก ๖ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปยืนครบ ๖ ครั้งแล้ว ไวยาวัจกรนั้นให้จีวรสำเร็จมาได้ก็เป็นอันดี ถ้าไม่สำเร็จได้เล่า เมื่อภิกษุทำเพียรไปยืนให้ยิ่งกว่า ๖ ครั้ง จึงให้จีวรสำเร็จมาได้ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

ถ้าภิกษุไปทวงเตือน ๓ ครั้งแล้วไปยืน ๖ ครั้งตามกำหนดนี้แล้ว ไวยาวัจกรไม่ให้จีวรมา ราคาจีวรนั้นอันทูตได้นำมาแต่ตระกูลใด ให้ภิกษุนั้นไปเอง หรือส่งทูตไปยังตระกูลนั้น ให้บอกเล่าว่า “ท่านทั้งหลายได้ส่งราคาจีวรไปแก่ทูต อุทิศต่อพระภิกษุรูปใด ก็หาสำเร็จประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ท่านจงทวงคืนมาเสียเถิด อย่าให้ของ ๆ ตนสูญจากประโยชน์เลย” อันนี้แลเป็นวัตรในราคาจีวรที่ทายกส่งไปเฉพาะภิกษุนั้น ถ้าภิกษุไม่ไปบอกเล่าให้เจ้าของเดิมรู้ ต้องอาบัติ🔎วัตตเภท(๕๓) ทุกกฏ

จบจีวรวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

วิกิ

ผลการค้นหา