แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นักธรรมตรี แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นักธรรมตรี แสดงบทความทั้งหมด

สักกชนบทและศากยวงศ์

🔅สักกชนบท

ตั้งอยู่ตรงข้ามภูเขาหิมพานต์ ตอนเหนือของชมพูทวีป เหตุที่ชื่อว่า สักกชนบท เพราะถือตามภูมิประเทศเดิมเป็นดงไม้สักกะ

เมืองกบิลพัสดุ์

มีเรื่องเล่าโดยย่อว่า พระเจ้าโอกกากราชมีพระราชโอรส ๔ และพระราชธิดา ๕ พระองค์ เมื่อพระมเหสีทิวงคต พระองค์มีพระมเหสีใหม่ได้ประสูติพระราชโอรส ๑ พระองค์ ทรงเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง จึงพลั้งพระโอษฐ์ให้พร พระนางได้ตรัสขอราชสมบัติให้แก่พระโอรสของตน พระเจ้าโอกกากราชตรัสห้ามหลายครั้งก็ยังทูลขออยู่อย่างนั้น จึงยอมพระราชทานราชสมบัติให้ตามคำขอของพระนาง ครั้นจะไม่พระราชทานให้ก็กลัวจะเสียสัตย์ ตรัสเรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๙ พระองค์มาเข้าเฝ้าแล้วตรัสเล่าความจริงให้ทราบและให้ไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้วให้กลับมายึดราชสมบัติคืน ดังนั้นพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๙ พระองค์จึงไปสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ดงไม้สักกะ ได้พบกับกบิลดาบส ตรัสเล่าความประสงค์ของตนให้ทราบ พระดาบสได้แนะนำให้สร้างเมืองตรงที่อยู่ของตน และบอกว่าสถานที่นี้เป็นที่มงคล เมืองนี้จะมีชื่อเสียงต่อไปในภายภาคหน้า เมืองใหม่ได้ชื่อว่า กบิลพัสดุ์ เพราะว่าเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส

ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์

พระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อสร้างเมืองใหม่เสร็จแล้วพี่น้องจึงอภิเษกสมรสกันเองเพราะกลัวว่าชาติตระกูลของตัวเองจะไม่บริสุทธิ์ เว้นไว้แต่พระเชษฐภคินี (พี่สาวคนโต) ยกไว้ในฐานะพระราชมารดา กษัตริย์วงศ์นี้จึงได้ชื่อว่า ศากยวงศ์

ศากยวงศ์ ได้พระนามนี้ เพราะสาเหตุ ๓ ประการ คือ
        ๑. เพราะตั้งตามอาณาจักรหรือชนบท คือ สักกชนบท
        ๒. เพราะตั้งตามความสามารถของพระโอรสโดยลำพังปกครองประเทศได้รุ่งเรือง จนพระบิดาตรัสชมว่า เป็นผู้องอาจ
        ๓. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ได้อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้องที่เรียกกันว่า สกสกสังวาส

ส่วนพระเชษฐภคินีภายหลังมีจิตปฏิพัทธ์กับพระเจ้ากรุงเทวทหะจึงได้อภิเษกสมรสด้วยกัน ตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ กษัตริย์วงศ์นี้ชื่อว่า โกลิยวงศ์

กษัตริย์ศากยะได้สืบราชสมบัติมาถึงพระเจ้าชัยเสนะ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าสีหหนุและพระนางยโสธรา ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ครองราชสมบัติจึงอภิเษกสมรสกับพระนางกัญจนาน้องสาวของพระเจ้าอัญชนะ กรุงเทวทหะ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๗ พระองค์ พระราชโอรส ๕ พระองค์ คือ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ พระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ ปมิตาและอมิตา ส่วนพระนางยโสธราน้องสาวของพระเจ้าสีหหนุได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัญชนะกรุงเทวทหะ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ พระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ สุปปพุทธะและทัณฑปาณิ พระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ มายาและปชาบดีโคตมี

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเจริญวัย ได้อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ เมืองเทวทหะ มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ และเจ้าชายสิทธัตถะได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะกับพระนางอมิตา เมืองเทวทหะ มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ ชื่อว่า พระราหุล

สักกชนบท แบ่งออกเป็น ๓ นคร

๑. พระนครเดิมของพระเจ้าโอกกากราช
๒. พระนครกบิลพัสดุ์
๓. พระนครเทวทหะ

การปกครอง

การปกครองนครเหล่านี้ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน แต่สันนิษฐานตามประเพณี ปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งได้มีอำนาจสิทธิ์ขาด


🔅พระโคตรของศากยวงศ์

เรียกว่า “โคตมะ” แต่บางครั้งก็เรียกว่า “อาทิตยโคตร” (ครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระเจ้าพิมพิสารขณะเสด็จไปเมืองราชคฤห์เมื่อออกบวชใหม่ๆ)

พระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าชัยเสนะ ทวด (พระไปยกา)
พระเจ้าสีหหนุ ปู่ (พระอัยกา)
พระนางกัญจนา ย่า (พระอัยยิกา)
พระเจ้าอัญชนะ ตา (พระอัยกา)
พระนางยโสธรา ยาย (พระอัยยิกา)
พระเจ้าสุปปพุทธะ ลุง (พระมาตุลา)
พระนางอมิตา ป้า (พระปิตุจฉา)
พระนางปชาบดี น้า (พระมาตุจฉา)
พระเจ้าสุทโธทนะ พ่อ (พระชนก)
พระนางสิริมหามายา แม่ (พระชนนี)
พระนันทกุมาร น้องชาย (พระอนุชา)
พระนางรูปนันทา น้องสาว (พระขนิษฐภคินี)
พระนางยโสธรา (พิมพา) ภรรยา (พระชายา)
พระราหุล ลูก (พระโอรส)



ปริเฉทที่ ๑ ชมพูทวีปและประชาชน

ดินแดนเป็นที่เกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา หรือดินแดนที่เรียกว่าประเทศอินเดียในสมัยก่อน เรียกว่า ชมพูทวีปในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศและภูฏาน ตั้งอยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ของประเทศไทย


ชนชาติที่อาศัยอยู่ในชมพูทวีปมี ๒ พวก

๑. พวกมิลักขะ เจ้าถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ก่อน
๒. พวกอริยกะ พวกที่อพยพมาใหม่โดยอพยพมาทางด้านภูเขาหิมาลัยรุกไล่เจ้าถิ่นเดิมถอยร่นไปอยู่รอบนอก


ชมพูทวีป แบ่งเป็น ๒ เขต

การปกครองในสมัยก่อนแบ่งออกเป็น ๒ เขต บางครั้งเรียกเป็นจังหวัด คือ
๑. มัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศ คือ ประเทศภาคกลางเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกอริยกะ
๒. ปัจจันตชนบทหรือปัจจันตประเทศ คือ ประเทศปลายแดนเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกมิลักขะ


แคว้นใหญ่ มี ๑๖ แคว้น

อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจดี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ และที่ปรากฏในคัมภีร์อื่นอีกมี ๕ แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ แคว้นเหล่านี้ บางแคว้นปกครองโดยกษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาด บางแคว้นปกครองโดยสามัคคีธรรม


วรรณะ ๔

คนอินเดียแบ่งเป็นชั้นวรรณะด้วยชาติกำเนิดตามหลักศาสนาพราหมณ์ มี ๔ วรรณะ คือ

๑. กษัตริย์ นักปกครอง นักรบ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยุทธวิธี
๒. พราหมณ์ สั่งสอน ทำพิธีกรรมทางศาสนา ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมต่างๆ
๓. แพศย์ ทำนา ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ ช่างฝีมือ และหัตถกรรมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทำนาค้าขาย เป็นต้น
๔. ศูทร พวกกรรมกรใช้แรงงาน ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงาน

แต่ละวรรณะจะไม่แต่งงานข้ามวรรณะกัน ถ้าแต่งงานข้ามวรรณะลูกที่คลอดออกมากลายเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง เรียกว่า จัณฑาลเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนทั่วไป



ความเห็นที่แตกต่าง

ประชาชนในสมัยก่อนสนใจศึกษาธรรมะกันมาก มีความเห็นเกี่ยวกับการเกิด การตาย ความสุข และความทุกข์ของมนุษย์แตกต่างกันไป จึงมีเจ้าลัทธิและนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อสั่งสอนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เมื่อสรุปมี ๒ อย่าง คือ

๑. เห็นว่าตายแล้วเกิด
๒. เห็นว่าตายแล้วสูญ

ใครมีความคิดเห็นและมีความเชื่ออย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามความคิดเห็นและความเชื่ออย่างนั้น


ศาสนาพื้นเมือง

ลัทธิหรือศาสนาพื้นเมือง คือ ศาสนาพราหมณ์ มีคัมภีร์ไตรเพทอันประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท เป็นคำสอนหลัก ถือว่าโลกธาตุทั้งปวงเป็นของเทวดา มีเทวดาประจำอยู่ในธาตุต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ใครปรารถนาผลอันใดก็เซ่นสรวงอ้อนวอน หรือด้วยการประพฤติตบะ ทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ


วิกิ

ผลการค้นหา