นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
[๐] ชาวโลกพร้อมทั้งทวยเทพผู้รักษาโลก ย่อมนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐพระองค์ใดในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตทั้งหลายพึงทราบคำสอนอันประเสริฐ ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น
(ศาสนาทั้ง ๓ ประการ เรียกว่าคำสอนอันประเสริฐ, ในบรรดาศาสนา ๓ ประการเหล่านั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่า สูตร). สูตรมี ๑๒ บท, สูตรทั้งปวงนั้นจัดเป็นพยัญชนบท (ศัพท์) และอรรถบท (อรรถ) ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบโดยสังเขปว่า ศัพท์คืออะไร อรรถคืออะไร
คัมภีร์เนตติที่มีหาระ ๑๖, นัย ๕, มูลบท ๑๘ ซึ่งช่วยให้เข้าใจปริยัติศาสนานี้ พระมหากัจจายนเถระได้แสดงไว้
หาระ ทั้งหลายช่วยในการพิจารณาศัพท์ของสูตร, นัย ๓ อย่าง (คือ นันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีฬิตนัย) ช่วยในการพิจารณาอรรถของสูตร, หาระ และ นัย ทั้ง ๒ อย่างนั้น สามารถนำไปใช้ในสูตรทั้งปวงได้, คัมภีร์เนตติที่เป็นสังวรรณนาสูตรนี้ ย่อมขยายความตามสมควรแก่สังวัณเณตัพพสูตร (สูตรที่ควรขยาย)
ผู้ศึกษาพึงทราบพระบาลีและอรรถแห่งพระบาลีทั้งสองอย่างนั้น ในการศึกษานั้น หาระ และนัยที่จะกล่าวเป็นลำดับต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจ อรรถแห่งพระพุทธพจน์ อันมีองค์ ๙
สังคหวาระ จบ
เรียบเรียงการขยายความโดย พระอาจารย์ สมบัติ นันทิโก
๑. สังคหวาระ คือการสรุปใจความของคัมภีร์
คัมภีร์เนตติปกรณ์คือคัมภีร์ที่ทําให้รู้จักอรรถกับพยัญชนะนั่นเองว่าเออศัพท์เนี่ยสามารถมองได้กี่แง่กี่มุมเหมือนกับว่าใครไปเลือกซื้อของอย่างหนึ่ง ปกติย่อมไม่ใช่เห็นแล้วซื้อเลย จะต้องเอามาเลือกดูโดยรอบเสียก่อน ดูจนรอบหมดแล้วก็ต้องสอบถามราคา ถามราคาเทียบกับที่อื่น ทั้งหมดแล้วจึงตัดสินใจซื้อ ฉันใด เราอ่านพระไตรปิฎกก็เหมือนกัน ผู้ที่เรียนเนติปกรณ์จะมองคําสอนในพระไตรปิฎกโดยรอบ ทีนี้ไอ้การที่จะมองโดยรอบเค้าก็มีวิธีมอง วิธีพิจารณาที่จะให้เห็นโดยรอบนั่นก็คือหาระกับนัยยะ ใจความของพระไตรปิฎกก็มีอยู่สองอย่างนี้เท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคืออรรถกับพยัญชนะ อรรถ มี ๖ พยัญชนะ มีอีก ๖
- หาระ คือ คําอธิบายพยัญชนะ
- นัย คือ คำอธิบายอรรถ
ทีนี้มาขึ้นตัวคัมภีร์ เนตติปกรณ์นี้โดยสรุปในเนื้อหามีหาระ ๑๖ มีนัย ๕ และก็มีมูลบท ๑๘ ซึ่งช่วยให้เข้าใจปริยัตติศาสนา ชื่อว่าสูตร สูตรมี ๑๒ บท, สูตรทั้งปวงนั้นจัดเป็นพยัญชนบท (ศัพท์) และอรรถบท (อรรถ) ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบโดยสังเขปว่า ศัพท์คืออะไร อรรถคืออะไร โดยพระมหากัจจายนะเถระแสดงไว้แล้ว ในคาถา เป็นคําประกาศถึงลักษณะปริยัติศาสนา คืออรรถกับพยัญชนะ ส่วนคัมภีร์เนติปกรณ์จะกล่าวถึงหาระ ๑๖ นัย ๕ มูลบท ๑๘ ที่เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจในอรรถกับพยัญชนะทั้งหมด หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือวิชาว่าด้วยการตีความตามคําสอนก็ไม่ผิด คือศึกษาแล้วก็มีหลักในการไปตีความคําสอน
ทีนี้ท่านก็สรุปว่าหาระทั้ง ๑๖ นะช่วยกันพิจารณาศัพท์ของสูตร ส่วนนัย ๕ สามนัยแรกคือ นันทิยาวัฎฎนัย ๑ ติปุกขลนัย ๑ สีหวิกกีฬิตนัย ๑ อันนี้ช่วยพิจารณาอรรถของสูตร ที่เหลืออีกสองนัยใช้ดึงมาเข้าในสามนัย (มีอธิบายในภายหลัง) หาระและนัย สามารถนําไปใช้ได้ในสูตรทั้งหมด สรุปว่าคัมภีร์เนตติปกรณ์สามารถนำไปใช้ได้ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย
พระไตรปิฎกเอาหลักเนตติปกรณ์ไปพิจารณา
คัมภีร์เนตติปกรณ์ที่เป็นสังวรรณนาสูตรนี้ ย่อมขยายความตามสมควรแก่สังวัณเณตัพพสูตร ก็สองคําเองนะ สังวรรณนากับสังวัณเณ สังวรรณนาแปลว่าคําอธิบาย สังวัณเณตัพพะแปลว่าควรอธิบาย อย่างเช่นสังวัณเณตัพพหมายถึงพระไตรปิฎกคือก็ต้องอธิบายอีกครั้งหนึ่ง สังวรรณนาคือเนตติปกรณ์ เป็นตัวอธิบายพระไตรปิฎก หรือถ้าพูดในหนึ่งก็บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนเทศน์ พระมหากัจจายนะเป็นคนอธิบาย ว่านั้นเถอะสังวัณเณตัพพตัวนั้นหมายถึงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธพจน์ สังวรรณนาหมายถึงพระมหากระจายนะผู้แสดงอธิบายให้เห็น ก็คํานวณว่าต้องตีความให้คนเค้ารู้ เดี๋ยวเราคนไม่รู้ไปตีความกันเอาเองก็เดือดร้อนเหมือนกัน
ผู้ศึกษาพึงทราบพระบาลีและอรรถแห่งพระบาลีทั้งสองอย่างนั้นในการศึกษานั้น หาระและนัยที่จะกล่าวเป็นลําดับต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจอรรถแห่งพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙
- ๑. สุตตะ ได้แก่ พระสูตรทั้งหลาย รวมถึงพระวินัยปิฎก และนิทเทส
- ๒. เคยยะ คือ พระสูตรทั้งหมดที่มีคาถา
- ๓. เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎก และพระพุทธพจน์ที่ไม่จัดเข้าในองค์ ๘
- ๔. คาถา คือ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อสูตรในสุตนิบาต
- ๕. อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ
- ๖. อิติวุตกะ คือ พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา (ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว)
- ๗. ชาตกะ คือ เรื่องอดีตชาติของพระผู้มีพระภาคและพระสาวก
- ๘. อัพภูตธรรม คือ พระสูตรที่ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม (ธรรมที่ยิ่งด้วยคุณพิเศษอันน่าอัศจรรย์)
- ๙. เวทัลละ คือ พระสูตรที่เมื่อถามแล้ว จะได้ความรู้แจ้ง และความยินดียิ่งๆ ขึ้น
อรรถะก็คืออรรถ ๖ ประการ พระพุทธพจน์เนี่ยถ้าว่าไปจะนับว่าเป็น ๑ ก็ได้ นับ ๒ ก็ได้ นับ ๓ ก็ได้นับ ๕ ก็ได้นับ ๙ ก็ได้ คําสอนของพระพุทธเจ้าถ้า นับ ๑ ก็คือมีจุดประสงค์อันเดียว เพื่อวิมุตติรส เหมือนน้ําทะเลเนี่ยนะทะเลถึงจะไปลงที่ประเทศไหนก็ตามถ้าดื่มน้ําเค็มเหมือนกันหมด ที่กล่าวไปหมายถึงว่าพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่แรกตรัสรู้จนถึงก่อนวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็มีจุดมุ่งหมายอยู่อันเดียว คือ วิมุตติรส ความหลุดพ้นแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น แปลว่ามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนคืออรหัตผล นับ ๒ แบ่งเป็นธรรมกับวินัย ธรรม คือรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปสู่อบาย ส่วนวินัยก็คืออุบายเป็นเครื่องฝึกกายวาจาเป็นต้นนั่นเอง แบ่งเป็น ๓ ก็คือไตรปิฎก ๓ ปิฎก ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา วินัยปิฎกเป็นศีล สุตตันปิฏกเป็นสมาธิ อภิธรรมปิฏกเป็นปัญญา ศีลกําจัดโทสะสมาธิกําจัดราคะ ปัญญากําจัดโมหะ ถ้าแบ่งเป็น ๕ ก็เรียกว่าองค์นิกาย ๕ ทีฆนิกาย (หมวดยาว ๓๔ สูตร) มัชฌิมนิกาย (หมวดปานกลาง ๑๕๒ สูตร) สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเนื้อหา ๗๗๖๒ สูตร) อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์มี ๙๕๕๗ สูตร) ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย ในพระสูตรมี ๑๕ คัมภีร์ พระวินัยก็สงเคราะห์ลงในขุททกนิกาย พระอภิธรรมก็สงเคราะห์ลงในขุททกนิกาย) แต่ถ้าว่าโดยองค์ มีองค์ ๙ คือ สุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ คือสังคหวาระ เนื้อความโดยสรุปของคัมภีร์เนติปกรณ์
ศาสนาของพระพุทธเจ้าคือโดยเฉพาะปริยัติ เนี่ยแบ่งออกเป็น ๒ คืออรรถกับพยัญชนะ อรรถนี้แบ่งออกเป็น ๖ พยัญชนะแบ่งออกเป็น ๖ พระมหากระจายนะท่านแสดงคัมภีร์เนติปกรณ์กล่าวถึงหาระ ๑๖ นัย ๕ มูลบท ๑๘ ก็เพื่อให้ผู้ศึกษาพระไตรปิฏกเข้าใจในอรรถ ๖ กับพยัญชนะ ๖ ให้มากยิ่งขึ้น ทีนี้ย้อนมาถึงคําว่า คัมภีร์เนติปกรณ์ มีความหมายว่าอย่างไร ? พระบาลีนั่นแหละคือศัพท์, คือพยัญชนะ เนื้อความแห่งพระบาลีนั่นแหละคืออรรถ พระพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรมย่อมสมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ ใช้ถ้อยคําสมบูรณ์หมด เนื้อความก็เข้าใจถูกต้อง เขามีอย่างนี้ว่า "คําพูดใดที่ไม่มีอรรถคําพูดนั้นไร้ประโยชน์" คําพูดใดที่ตั้งคําพูดไว้ไม่ดี เนื้อความ เนื้อหาก็คลาดเคลื่อน แต่พระพุทธเจ้าสอนไม่เป็นอย่างนั้น ของพระพุทธองค์สมบูรณ์ทั้งคําพูด สมบูรณ์ทั้งเนื้อหา ทีนี้ดูในคัมภีร์เนติปกรณ์ซึ่งประกอบไปด้วยหาระ ๑๖ นัย ๕ และมูลบท ๑๘ นักศึกษาควรจดจํา ถ้าจําไม่ได้ก็เข้ามาดูบ่อย ๆ คําว่าคําภีร์เนตติ แปลว่า สามารถนําเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน
คือตัวที่นําสัตว์เนี่ยเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้สัตว์บรรลุมรรคผลนิพพาน คําว่าเนตติ แปลว่า นําไป เช่นตัณหาเนี่ยก็ชื่อว่าเนตติเหมือนกัน นำไปเหมือนกัน แต่ตัณหานี่นําไปสู่กามภพ รูปภพและอรูปภพตัณหาชื่อว่าเนตติ ตัณหานําไปเกิดใหม่ ฉันใด คัมภีร์เนตติปกรณ์ก็นําไปเหมือนกัน แต่นําไปสู่มรรคผลนิพพาน ตัณหานําไปเกิด แต่คัมภีร์เนตติปกรณ์นําไปเพื่อเลิกเกิด จุดหมายคือ "นํา" เหมือนกันแต่คนละทางกัน เปรียบเทียบอุปมาว่าถ้าตัดต้นไม้ ใช้อะไรตัด ก็ใช้ขวานตัดใช่มั้ย เครื่องมือในการช่วยตัด ถ้าจะเดินทางไปไกลๆ ตามทางนี้อาศัยอะไร ก็อาศัยรถเป็นเครื่องมือในการช่วยเดินทาง ผู้ที่จะมีความรู้เข้าใจคําสอนพระพุทธเจ้าเหมือนกันก็ใช้คัมภีร์เนตติปกรณ์นี้แหล่ะ เป็นเครื่องมือช่วยนําให้เข้าใจคําสอน หรือคัมภีร์เป็นที่แนะนําเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน ซึ่งหมายความว่านักศึกษาทั้งหลายที่ปรารถนามรรคผลนิพพานต้องมาเรียนคัมภีร์นี้นะ แต่บางท่านก็บอก เอ๊ะ..เรียนคัมภีร์นี้คำภีร์เดียวก็พอหรือ ? (ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก) คือหมายถึงว่าสําหรับผู้ที่อยากจะขยายพุทธพจน์ย่อให้พิสดารได้ คือไม่คิดอะไรแง่เดียว ไม่มองอะไรสิ่งเดียว ควรศึกษาเนตติปกรณ์ เพราะเนตติปกรณ์เป็นคัมภีร์ที่ไม่ได้มองอะไรแง่เดียว แต่มองรอบด้านจริงๆ โดยการมองรอบทั้งอรรถและพยัญชนะเป็นอย่างดี