คํานอบน้อมพระพุทธเจ้า


คาถา
ยํ  โลโก ปูชยเต   สโลกปาโล สทา นมสฺสติ จ
ตสฺเสต สาสนวรํ   วิทูหิ เญยฺยํ นรวรสฺส

"ชาวโลกพร้อมทั้งทวยเทพผู้รักษาโลก ย่อมนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์ใด ในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตทั้งหลายพึงทราบคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น"

คําว่า "ชาวโลก" ชาวโลกในที่นี้ได้หมายถึงหมู่สัตว์ทั้งหลาย ส่วนคำว่า "ทวยเทพผู้รักษาโลก" ขยายได้เป็น สมมตติเทวดา กับ เทพเทวาที่เป็นอุปติเทวดา ทีนี้ 
    - สมมติเทวดา ก็คือพระราชามหากษัตริย์ทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ทั้งหลายท่านก็เรียกว่าเป็นผู้รักษาโลก 
คือรักษาหมู่ประชากร 
    - อุปปัตติเทวดา หรืออุปปัตติเทพ ก็คือผู้รักษาโลกสวรรค์ชั้นต่างๆ อย่างชั้นจาตุมหาราชิกา ก็มีท้าวจตุโลกบาลก็เป็นผู้รักษาโลก คือรักษาดูแลสวรรค์ชั้นนั้น รวมถึงรักษาหมู่พวกนาค, ครุฑ, ยักษ์ทั้งหลายแหล่ที่ที่เป็นบริษัทของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ถ้าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มีท้าวสักกเทวราชเป็นผู้รักษาโลก ถ้าสวรรค์ชั้นยามาก็คือพระสุยามเทวาธิราช หรือเรียกว่า พระสุยามะเป็นผู้ดูแลรักษา สวรรค์ชั้นดุสิต ก็มีท้าวสันตุสิตเทวราชเป็นผู้รักษา ถ้าสวรรค์ชั้นนิมมานรตีก็ท้าวสุนิมมิตเป็นผู้รักษา ถ้าสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีท้าวปรนิมมิตตเทวราช หรือ ท้าววสวัตตีเทวราชเป็นผู้รักษา ถ้าพรหมโลกก็มีท้าวมหาพรหมเป็นผู้รักษา ซึ่งคาถานี้แปลว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายใน ๓ ภพ ทั้งที่เป็นกามภพ รูปภพ และอรูปภพ สัตว์ที่มีปัญญาในภพทั้งหมดนี้ ท่านย่อมนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า เราอาจมีคำถามว่า ทําไมผู้ที่นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าถึงมีขอบเขตเลยไปถึงอรูปภพด้วย? นั่นก็เพราะว่าพระอริยะที่ไปเกิดในอรูปภพนั้นมีอยู่ ท่านเหล่านั้นก็ยังนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า เพราะฉนั้นผู้ที่นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าเท่ากับว่าโลกในภพภูมิทั้ง ๓ ภพอันนี้หมายถึงผู้มีบุญทั้งหลาย ผู้มีปัญญาทั้งหลายที่เป็นผู้นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า


คำว่า "นอบน้อม" ปกติก็เป็นการนอบน้อมด้วยกายนอบน้อมด้วยวาจาและนอบน้อมด้วยใจ 
    - การนอบน้อมด้วยกาย ก็คือการยกมือไหว้การกราบ หรือแบบไทยก็มีการก้มหัวให้ หลีกทางให้  การแสดงสัมมาคารวะก็เรียกว่านอบน้อมด้วยกาย 
    - การนอมน้อมด้วยวาจา ก็คือกล่าวกล่าวคํานอบน้อม เช่น นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง) คํากล่าวเหล่านี้แสดงถึงความนอบน้อมทางวาจา
    - การนอบน้อมทางใจ ก็คือระลึกถึงพระพุทธองค์ ตั้งท่านเอาไว้ในใจเป็นฐานะอันหนักแน่น ทําท่านเป็นที่เคารพเป็นที่ยําเกรง แล้วก็ทําจิตของเราให้อ่อนลงคือลดมานะ, ลดการยึดมั่นถือมั่นและทิฎฐิของตนลงอย่างนี้ ก็เรียกว่านอบน้อมเคารพท่านทางใจ 

ทีนี้โลกกับทั้งเทวโลกเหล่านี้ ไม่ได้นอบน้อมแต่เฉพาะทางกาย ทางวาจา ทางใจอย่างเดียว ยังมีการบูชาอื่นอีก แบ่งออกเป็นอีกสองอย่าง คือ
    ๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ มีดอกไม้, ธูปเทียน เป็นต้น เช่นการไปเวียนเทียน เราก็ยกดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ หรือเครื่องบูชาที่เป็นวัตถุต่างๆ ก็เรียกว่าอามิสบูชา เช่นบางคนชอบไฟก็บูชาด้วยประทีป บางท่านก็บูชาด้วยข้าว ด้วยน้ํา ก็แล้วแต่ศรัทธาตามแต่วัตถุทั้งหลายที่มีอยู่
    ๒. ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติตั้งใจจะทําพุทธบูชาด้วยการเช่นตั้งแต่สมาทานเบญจศิลป์ขึ้นไป เรียกว่าการปฏิบัติบูชา เช่น ขอสมาทานศีล ๕ เป็นพุทธบูชา สมาทานศีล ๘ เป็นพุทธบูชาหรือรักษาศีล ๑๐ เป็นพุทธบูชา หรือบวชเป็นสามเณรเป็นพุทธบูชา บวชเป็นพระภิกษุปฏิบัติตามจตุปาริสุทธิศีลเพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดจนถึงสมถ, วิปัสสนาทั้งหลายที่บุคคลเจริญเพื่อทําเป็นพุทธบูชา

การแบ่งออกเป็นบูชาด้วยกายวาจาใจ ไม่ว่าจะเป็นบูชาด้วยอามิส หรือบูชาด้วยการปฏิบัติก็ดี พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการบูชาด้วยการปฏิบัติมากกว่า แต่จริงๆ แล้วสรรพสัตว์ทั้งหลายแม้แ
ต่สัตว์ในอบายอย่างพญานาคทั้งหลายก็ยังมีการบูชาพระพุทธเจ้า ราชาของนาคก็ทําพุทธบูชา มนุษย์ทั้งหลายก็บูชา พระราชาของหมู่มนุษย์ก็บูชา หรือเทวดาต่างๆรวมถึงผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ทุกชั้นบุคคลเหล่านั้นท่านก็เคารพพระพุทธเจ้า นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า ดังเช่น เกศาธาตุกับโลมาธาตุของพระพุทธเจ้า แม้บนโลกมนุษย์เราจะฌาปนกิจสรีระธาตุขันธ์ของพระพุทธองค์ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ไหม้หมดไปจริงๆ พระเกศาธาตุกับพระโลมาธาตุได้ถูกเทวดาอัญเชิญไปอยู่ตามจักรวาลต่างๆ เพื่อนำไปเป็นพุทธบูชา พวกพระสรีระธาตุนี้กระจายอยู่ทั่วไปหมด จะมารวมตัวอีกครั้งคือวันที่หมดพุทธเขตนี้ พระธาตุเหล่านั้นจะมารวมตัวกันใหม่อีกครั้งเพื่อที่จะถูกเตโชธาตุเผาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในเวลานี้ยังมีพระสรีระธาตุของพระพุทธเจ้าให้เราบูชาได้ มีอยู่ในทุกทิศ ดังนั้นขอให้เราตั้งจิตนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าเถอะ ไหว้ได้ทุกทิศ

พระพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ ถามว่าพระองค์นี้ประเสริฐอย่างไร? คือประเสริฐกว่าบรรดาพุทธะทั้งหลาย พุทธะนี่มี ๔ ศักดิ์
           ๑. สัพพัญญูพุทธะ ตรัสรู้โดยชอบโดยถูกต้องด้วยพระองค์เองแล้วมีรัตนะ ๓ เกิดเป็นศาสนา มีการสั่งสอนบุคคลเหล่าอื่นให้สืบทอดศาสนาได้
           ๒. ปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้เองแต่ท่านไม่ตั้งศาสนาให้มีการเผยแผ่กว้างขวางออกไป ก็เรียกว่าปัจเจกพุทธะ
           ๓. จตุสัจจพุทธะ พระอรหันต์  คือพุทธะที่บรรลุตามพระพุทธเจ้าได้แล้ว
           ๔. สุตพุทธะ ผู้เป็นพหูสูต พุทธะนี้ขอบเขตคือรู้อริยสัจ รู้อริยสัจโดยการฟังนี้เรียกว่า "สุตพุทธะ"

พระพระพุทธองค์เป็นบุคคลประเภทสัมมาสัมพุทธะ จึงประเสริฐกว่าพุทธะเหล่าอื่นทั้งหมด 
ประเสริฐกว่าสุตตะพุทธะ ประเสริฐกว่าสาวกพุทธะ ประเสริฐกว่าปัจเจกพุทธะ พระพุทธเจ้าจะเสมอกับพระพุทธเจ้าด้วยกันเท่านั้น จึงถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดที่สุดในโลก

ฉะนั้น สรุปว่าพระองค์นี้เป็นที่เคารพสักการะจากเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอดแม้กระทั่งพระอริยะทั้งหลายท่านก็เคารพพระพุทธเจ้า พระองค์นี้เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในโลก อย่างที่จริงๆ แล้วท่านพูดคํานี้ได้ตั้งแต่ท่านมาเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย ท่านก็กล่าวคำว่า "อคโคหมสมิ โลกสส เชฏฺโฐ เสฏโฐหมสฺมิ อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว" แปลว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป"

ทีนี้บัณฑิตเพิงทราบคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ คําสอน ในที่นี้หมายถึงพระธรรม คําสอนอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าสอน ว่าโดยย่อๆรวมๆ คําสอนของพระพุทธเจ้าสอนเพื่อประโยชน์ในโลกนี้ ๑ สอนเพื่อประโยชน์ของโลกหน้า ๑ สอนเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งอีก ๑ พระไตรปิฏกคือคําสอนด้วยประโยชน์ ๓ ประโยชน์โลกนี้ประโยชน์โลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งถามว่าประโยชน์โลกนี้ไม่ใช่ลักษณะกอบโกยแต่เป็นคําสอนลักษณะว่าทําอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อโลกนี้และไม่ทิ้งประโยชน์ของโลกหน้า ถึงแสวงหาประโยชน์โลกหน้าก็ต้องไม่ลืมประโยชน์อันสูงสุดด้วย ทั้งหมดเป็นการชี้ประโยชน์โลกนี้ที่ไม่ขัดกับประโยชน์โลกหน้า ชี้ประโยชน์ของโลกหน้าโดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง อันนี้เป็นคําสอนในพระไตรปิฎก ว่าโดยย่อย่อคือสอนด้วยประโยชน์ ๓ ประโยชน์โลกนี้ประโยชน์โลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง

แล้วพระพุทธองค์สอนพร้อมทั้งเหตุและผล เช่นสอนเรื่องกรรมและผลของกรรม แยกกุศลและอกุศลทั้งวิบากของกุศลและวิบากของอกุศล ถ้าแยกตามวิบากของกุศล, อกุศลเ ท่ากับว่าพระอภิธรรมปิฏกมาหมด "กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา ฯ"  แต่ว่าโดยรวบยอดแล้วคําสอนของพระองค์ก็ "สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม" พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วแสดงไว้ดีแล้วทั้งปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ พระองค์ตรัสไว้ดีหมดเลย "สันทิฏฐิโก" แปลว่า เป็นธรรมะที่ผู้ศึกษา และปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง "อกาลิโก" แปลว่า เป็นธรรมะที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาลเวลา ผู้ที่ปฏิบัติจะเข้าถึงโลกุตระมัคคฺและให้ผลโดยไม่มีระหว่างขั้น "โอปนยิโก" แปลว่า เป็นธรรมะ ที่ควรน้อมน้อมเข้ามาใส่ตัว คือน้อมจิตของตนไปเพื่อบรรลุมรรคน้อมจิตไปเพื่อแทงตลอดทั้งพระนิพพาน "เอหิปัสสิโก" เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของดีที่สุดเพราะฉะนั้นเรียกให้คนอื่นดูได้ แต่ใครล่ะที่ดูแล้วจะรู้ตามได้ ? "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" แปลว่า เป็นธรรมะ ที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน วิญญูชนคือ อุคฆฏิตัญญู ๑ ผู้เข้าใจได้ฉับพลัน   วิปจิตัญญู ๑ ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น   เนยยะ ๑ ผู้ที่พอจะแนะนำได้ 

ทีนี้ถามว่าผู้ที่รู้ทราบตัวนั้นเนี่ยแปลว่ารู้คําสอนถามว่าผู้ใดเป็นผู้รู้คําสอนของพระพุทธเจ้าได้ชัดเจน ?
คํานี้หมายถึงพระสาวกอย่างเดียว คนที่จะทราบคําสอนได้ดี พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ ผู้ที่เห็นอริยสัจก็คือพระสาวก เพราะฉะนั้นในคําว่า "ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ" ก็คือในความสูงสุดของพระพุทธเจ้า บัณฑิตนั้นหมายถึงพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นผู้ทราบคําสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มๆ ก็คือ
     ๑. ธรรมะที่ควรรู้ยิ่ง
     ๒. ธรรมะที่ควรกําหนดรู้
     ๓. ธรรมะที่ควรละ
     ๔. ธรรมะที่ควรเจริญ

ธรรมะที่ควรทําให้แจ้งเนี่ยคือคําสอนของพระพุทธเจ้าก็จะแบ่งเป็นกลุ่มลักษณะนี้ พระ
สาวกทั้งหลายก็ทํากิจรอบรู้ด้วยปริญญากิจตามนี้ ปหานะกิจได้จริงแทงตลอดนิโรจน์ได้จริงแล้วก็เจริญอริยมรรคคือโสดาปัตติมรรคได้จริง เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นจึงเป็นผู้ทราบคําสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี ส่วนบุคคลที่เหลือนั้นก็ได้ฟังคําสอนของพระพุทธเจ้าแต่ถ้าใช้คําว่าได้ฟังแล้วก็ถือว่ามีบุญมากเลยนะ เพราะว่าการฟังนี่แหละพระนนท์ท่านบอกว่า "เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์" เราจะสําเร็จหรือไม่ก็ตาม อยู่ที่ฟังแล้วก็ทํากิจของสาวกหรือไม่ ของเราได้ฟังกับพระสาวกท่านฟังต่างกันตรงไหน? ต่างกันตรงว่าพระสาวกท่านฟังแล้วท่านทํากิจของการฟังด้วย เช่นปริญญากิจท่านก็ทํา ปหานะกิจท่านก็ทํา กิจในการทําให้แจ้งท่านก็ทํา กิจในการเจริญท่านก็ทํา นั่นคือพระสาวก สวนเรานี่ก็ได้ยินได้ฟังถ้าใครทํากิจก็อนุโมทนาด้วย ส่วนใครยังไม่ทําถ้ารู้ตัวก็ขออนุโมทนาอีกเหมือนกัน เพราะว่าคนที่เป็นพาลรู้ว่าเป็นพาลก็พอจะเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่ถ้าใครเป็นพาลแล้วก็ยังไม่รู้ตัวเองเลยมันก็พาลของแท้

ทีนี้คําสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าเป็นคําสอนที่บัณฑิตจะพึงรู้ได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นบัณฑิตรู้ตามได้ยาก และตามอรรถกถาของอิติวุตตกะเป็นต้น ก็กล่าวว่า เป็นคําสอนที่ที่ลึกซึ้งผู้ไม่มีบุญ พึ่งได้ยาก ท่านว่างั้น ถามว่าเหมือนอะไร? เหมือนกับทะเลนี้เอาสัตว์บกไปอาศัยอยู่ในทะเลได้ไหม (ไม่ได้) จะต้องเป็นที่อาศัยของสัตว์บางประเภท ฉันใดก็ตามพระศาสนานี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่จะศึกษาเข้าใจได้ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญ แต่ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว เอ..เรามีบุญหรือเราไม่มีบุญ เราก็ไม่ควรคิดว่าเรามีหรือเราไม่มี แต่ควรคิดว่าเราจะทําบุญ เพราะถ้าคิดว่าได้ทําบุญ เราก็จะได้มีกําลังใจเจริญสั่งสมบุญต่อไป แต่ถ้าเราคิดว่าเราบุญน้อย ก็จะกลายเป็นโทสะไปอีกใช่ไหม โทมนัสอีก หนักๆเข้าเราไม่มีบุญก็อย่าไปรู้อย่าไปศึกษามันซะเลย อีกพวกหนึ่งก็บอกเราเนี่ยรู้แล้ว พอคิดว่าตัวรู้แล้วก็เลยไม่เอาอีกเหมือนกันเลยไม่เรียน แต่เราก็ควรคิดว่าเราจะทําบุญสร้างบุญก่อน คือคําสอนพระพุทธเจ้าเนี่ยท่านก็สอนไว้ให้พวกเรานั่นแหละเรียน ก็เพื่อประโยชน์อนุเคราะห์คนเช่นเรานั้นแหละ แต่ทีนี้ถ้าเราไม่รับคำสอนเลยก็ ๔ อสงไขย แสนมหากัปก็น่าเสียดายมากอะนะ ที่พระพุทธเจ้าสร้างบารมีมานี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลยสําหรับเรา ฉะนั้นใน ๔ บรรทัดแรกเป็นคาถากล่าวถึงความประเสริฐของพระพุทธเจ้า ความประเสริฐของคําสอนและพระสาวกทั้งหลาย นั้นจึงเป็นคาถานอบน้อมพระรัตนตรัย

ส่วนประโยคต่อไปว่า ศาสนาทั้ง ๓ ประการเรียกว่าคําสอนอันประเสริฐ ในบรรดา ๓ ประการเหล่านั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่าสูตร สูตรมี ๑๒ บท สูตรทั้งปวงนั้นจัดเป็นพยัญชนะบทคือหมายถึงศัพท์และอรรถบทคืออรรถ ทั้งสองอย่างนั้นพึงทราบโดยสังเกตโดยย่อว่าศัพท์เนี่ยคืออะไร อรรถนี่คืออะไร คือในบรรดาคําสอนของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เราจะศึกษาได้ตอนนี้ คือปริยัติ ส่วนปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตัว ส่วนปฏิเวธก็ยังไม่ถึง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรมาสนใจคือปริยัติศาสนา ถามว่าเอ๊ะนี่แค่ปริยัติ เอ่อ..บางท่านก็นึกดูถูกหรือตําหนิว่าแค่ปริยัติ จริงๆ อย่าไปว่าแค่ปริยัติ เพราะคําว่าปริยัติเนี่ยหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเลย หมายถึงพระพุทธเจ้านี้อย่าไปคิดว่าเป็นของเล็กอย่าไปคิดว่าเป็นของน้อย จริงแล้วเป็นของประเสริฐเพราะฉะนั้นในอรรถกถาฎีกาหรือโบราณาจารย์ทั้งหลายท่านกล่าวว่า ๑ พระธรรมขันธ์เท่ากับพระพุทธเจ้า ๑ พระองค์ เพราะแต่ละพระธรรมขันธ์ช่วยทําให้บุคคลปฏิบัติตามบรรลุอริยสัจได้ เพราะฉะนั้น ๑ พระธรรมขันธ์เทียบเท่ากับ ๑ พระพุทธเจ้าเลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้ศึกษาเรียนรู้ รู้คุณของปริยัติธรรมแม้แต่สูตรเดียวก็นับว่ามีประโยชน์มากที่จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ ปริยัตินี้ถือว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติ ถ้าตั้งคําถามว่าระหว่างปริยัติกับปฏิบัติอันไหนเป็นอายุของศาสนา ? ตอบตรงๆว่า ปริยัติเป็นอายุของศาสนา ก็เปรียบเทียบอุปมาเหมือนว่าถ้ายังมีสระน้ํา มีรั้วรอบขอบชิด มีคันขอบอย่างดี ถ้ามีฝนตกลงมาน้ำยังขังได้อยู่ใช่ไหม ถ้ามีน้ําขังอยู่เนี่ยคิดว่าจะมีบัวบานได้ไหม? (ได้)

ปริยัติคําสอนก็เหมือนกับขอบคันที่เอาไว้กักน้ํา เพราะฉะนั้นผู้ที่มาศึกษาเรียนรู้พระธรรมก็เหมือนกับถ้ามีน้ําขังเต็มในบ่อ บัวก็ยังพอมีหวังว่าจะบานได้ บัวบานก็เหมือนกับการตรัสรู้อริยสัจนั่นแหละเพราะฉะนั้นปริยัตินี้จึงถือว่าเป็นเบื้องต้น เป็นเบื้องบาทแล้วก็เป็นอายุของพระศาสนา พระศาสนาที่เสื่อมนั่นก็เพราะปริยัติเสื่อม 
ปริยัตินี้จะเรียกว่าเป็นองค์พระพุทธเจ้าก็ได้ ไม่ผิด เพราะว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่พระองค์ก็แสดงอย่างนี้แหละ ทั้งเบื้องต้น ทั้งเบื้องปลาย พระองค์ก็สอนอย่างเดียวกัน แรกตรัสรู้ยังไงใกล้จะนิพพานก็สอนอย่างนั้น แต่อาจจะใช้พยัญชนะต่างกันบ้าง แต่เนื้อหาไม่มีความแตกต่างกัน แรกตรัสรู้ก็ประกาศอริยสัจ ใกล้จะปรินิพพานก็ประกาศอริยสัจ แรกตรัสรู้พระองค์แสดงธรรมจักรก็ประกาศอริยสัจ ตอนปรินิพพานแสดงความไม่ประมาท ก็ชื่อว่าประกาศอริยสัจ คือมรรคสัจ ความไม่ประมาทเป็นชื่อของการไม่ปราศจากสติ ก็คือมรรคสัจนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้มีพ้นอริยสัจอะไร ทีนี้ใน คําสอนว่าด้วยปริยัติศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ คือ ๑. โดยอรรถ ๒. โดยพยัญชนะ 
ทีนี้ในอรรถกับพยัญชนะก็แบ่งเป็นอย่างละ ๖ อรรถมี ๖ พยัญชนะมี ๖ ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง


วิกิ

ผลการค้นหา