เหตุสังคหะ

แสดงการรวบรวมจิตและเจตสิก โดยประเภทแห่งเหตุ ชื่อว่า “เหตุสังคหะ”

คาถาสังคหะ

โลโภ โทโส จ โมโห จ    เหตู อกุสลา ตโย
อโลภาโทสาโมหา จ    กุสลาพฺยากตา ตถา ฯ

แปลความว่า โลภะ, โทสะ โมหะเป็นอกุศลเหตุ อโลภะ, อโทสะ อโมหะเป็นกุศลเหตุ และอพยากตเหตุ

อธิบาย

“เหตุ” คือ ธรรมชาติที่ให้ผลธรรมเกิดขึ้น และให้ผลธรรมนั้นมีสภาพมั่นคงอยู่ในอารมณ์ กับทั้งยังผลธรรมนั้นให้เจริญยิ่งขึ้น ดังวจนัตถะว่า

หิโนติ วตฺตติ ผลํ    เอเตหิ อิติ เหตุโว 
ลทฺธเหตูหิ เต ถิรา    รูฬฺหมูลาว ปาทปา ฯ

แปลความว่า ผลย่อมเป็นไปด้วยธรรมชาติเหล่านั้น ฉะนั้นธรรมชาติเหล่านั้น ชื่อว่า “เหตุ” (โอชา) ที่ตนได้แล้วนั้น เหมือนกับต้นไม้ทั้งหลายที่มีรากเจริญมั่นคงด้วยเหตุ
หมายความว่า ธรรมทั้งหลายได้รับอุปการะจากเหตุ ย่อมมีสภาพมั่นคงในอารมณ์ และเจริญยิ่งขึ้น ประดุจต้นที่ตั้งมั่น และงอกงามเผยแผ่ไปฉะนั้น

ธรรมที่เป็นเหตุ ทำให้ผลธรรมปรากฏขึ้น มี ๖ ประการ คือ :-

โลภเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
โทสเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก
โมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก

อโลภเหตุ องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก
อโทสเหตุ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก
อโมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก

ผลธรรมที่เกิดจากเหตุ ได้แก่ กุศลจิต, อกุศลจิต, อพยากตจิต หรือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เนื่องจากกุศลเหตุบ้าง อกุศลเหตุบ้าง อพยากตเหตุบ้าง หรือขันธ์ ๕ ที่ปรากฏขึ้นทั้งในปฏิสนธิ และปวัตติกาลที่ชื่อว่า ผลที่ได้เกิดจากเหตุ

อารมณ์ที่รองรับผลธรรม ให้ตั้งมั่น และให้เจริญขึ้น ได้แก่ อารมณ์ ๖ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส สภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางใจอันเกี่ยวด้วยสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตต่าง ๆ

เหตุทั้ง ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และอโลภะ อโทสะ อโมหะนี้ เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ผลธรรมได้รับอุปการะจากเหตุ ๒ ประการ คือ

เหตุทำให้ผลธรรมตั้งมั่นได้ในอารมณ์ คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงเป็นต้น ตลอดจนคิดนึกเรื่องต่าง ๆ นั้นแล้ว อกุศลจิต คือ โลภมูลจิต, โทสมูลจิต และโมหมูลจิต หรือกุศลจิต มีความไม่โลภ ไม่โกรธ และมีปัญญา เหล่านี้ ย่อมปรากฏขึ้น และยึดถืออารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นไว้อย่างมั่นคง นี้คืออกุศลจิต หรือ กุศลจิต เป็นต้น ที่เป็นผลตั้งมั่นอยู่ได้ในอารมณ์ อันเกิดจากเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น

เหตุทำให้ผลธรรมเจริญขึ้นได้ คือ เมื่อกุศลจิต อกุศลจิต เป็นต้น ยึดอารมณ์ต่าง ๆ นั้นไว้แล้ว จะค่อย ๆ มีกำลังมากขึ้น ๆ จนให้สำเร็จเป็นกายกรรม, วจีกรรม และมโนกรรม หมายความว่า โลภะ, โทสะ, โมหะ ก็ดี หรือ อโลภะ, อโทสะ อโมหะ ก็ดี เหล่านี้ ขณะเมื่อแรกเกิดขึ้นนั้น ยังมีกำลังอ่อนอยู่ ยังไม่สามารถทำให้การงานลุล่วงไปถึงทุจริตกรรม หรือสุจริตกรรมได้ ครั้นเมื่อได้ตั้งมั่นและมีกำลังมากขึ้นแล้ว ย่อมสามารถทำให้การกระทำทุจริต หรือสุจริตก้าวสู่กรรมบถ ทั้งกุศลกรรมบถ หรืออกุศลกรรมบถเกิดขึ้นได้ นี้คือผลธรรมเจริญขึ้นได้โดยอาศัยเหตุ ๖ ประการเหล่านั้น


⛯ 
แสดงการจำแนกจิตโดยเหตุ

คาถาสังคหะ

อเหตุกาฎฺฐารเสก- เหตุกา เทฺว ทวาวีสติ
ทฺวิเหตุกา มตา สตฺต - จตุตาลีส ติเหตุกา ฯ

แปลความว่า อเหตุกจิต มี ๑๘ เอกเหตุกจิต มี ๒ ทวิเหตุกจิต มี ๒๒ ติเหตุกจิต มี ๔๗

อธิบาย ในจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น เมื่อกล่าวถึงจิตที่ประกอบด้วยเหตุ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ :-

ก. อเหตุกจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมิได้ประกอบด้วยเหตุใด ๆ ในเหตุทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้วนั้นเลย มีจำนวน ๑๘ ดวง
ข. สเหตุกจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุ ๖ เหตุใดเหตุหนึ่ง หรือมีหลายเหตุประกอบด้วย มีจำนวน ๗๑ ดวง

ในคาถาสังคหะ ได้แสดงการจำแนกจิตโดยเหตุไว้ ๔ นัย คือ :-

๑. อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ประกอบเลย แม้สักเหตุเดียว อเหตุกจิต มีจำนวน ๑๘ ดวง ได้แก่

- ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
- ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
- สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง
- สันตีรณจิต ๓ ดวง
- มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
- หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง

รวมอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

๒.เอกเหตุกจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเพียงเหตุเดียว มีจำนวน ๒ ดวง ได้แก่
 โมหมูลจิต ๒ ดวง ซึ่งมี โมหเหตุประกอบเหตุเดียว

๓.ทวิเหตุกจิต เป็นจิตที่มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ มีจำนวน ๒๒ ดวง
โลภมูลจิต ๘ ดวง มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ โมหเหตุ
โทสมูลจิติ ๒ ดวง มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ
มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ
มหาวิบากญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ
มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ

๔. ติเหตุกจิต 
เป็นจิตที่มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ มีจำนวน ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง ได้แก่

มหากุศลญาณสัมปยุติจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
มหาวิบากญาณสัมปยุติจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
มหากิริยาญาณสัมปยุติจิต ๔ ดวง มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
มหัคคตจิต ๒๗ ดวง มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

⛯ จําแนกเหตุโดยประเภทแห่งโสภณะและอโสภณะ

อโสภณเหตุ มี ๓ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ ที่ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ตามสมควร ส่วนอเหตุกจิต ๑๘ ไม่มีเหตุประกอบแม้แต่เหตุเดียว

โสภณเหตุ มี ๓ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ ที่ประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ตามสมควร

เหตุ กับ ธรรม

เหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ, และอโลภะ, อโทสะ อโมหะ อันเป็นนามธรรม ย่อมอุดหนุนให้นามธรรม และรูปธรรม เกิดขึ้นในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งธรรมแล้ว มี ๓ ประการ คือ อกุศลธรรม, กุศลธรรม และอพยากตธรรม เมื่อจำแนกเหตุ ๖ โดยประเภทแห่งธรรมดังกล่าวแล้วนี้จึงจำแนกได้ดังนี้ คือ

จำแนกเหตุโดยประเภทแห่งธรรม

อกุศลเหตุ มี ๓ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ ที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ ตามสมควร
กุศลเหตุ มี ๓ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ ที่ประกอบในกุศลจิต ๒๑ ตามสมควร
อพยากตเหตุ มี ๓ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ ที่ประกอบในสเหตุกวิบากจิต ๒๑ ตามสมควร เรียกว่า “วิบากอพยากตเหตุ” และที่ประกอบในสเหตุกกิริยาจิต ๑๗ ตามสมควร เรียกว่า “กิริยาอพยากตเหตุ”

⛯ จำแนกเหตุโดยประเภทแห่งชาติ

เหตุ ๖ ประการ อันได้แก่ โลภะ, โทสะ, โมหะ, อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ ถ้าแยกออกไปตามชาติ คือ การเกิดของจิตแล้ว นับตามชาติมี ๔ ชาติ และ นับตามเหตุ มี ๑๒ เหตุ คือ :-

อกุศลชาติ มี ๓ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
กุศลชาติ มี ๓ เหตุ อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ
วิปากชาติ มี ๓ เหตุ อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ
กิริยาชาติ มี ๓ เหตุ อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ

จำแนกเหตุโดยประเภทแห่งภูมิของจิต มี ๑๕ เหตุ คือ :-

กามภูมิ มี ๖ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
รูปาวจรภูมิ มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
อรูปาวจรภูมิ มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
โลกุตตรภูมิ มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ

จำแนกเหตุโดยประเภทแห่งบุคคล

ปุถุชน มี ๖ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
โสดาบันบุคคล มี ๖ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
สกทาคามีบุคคล มี ๖ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
อนาคามีบุคคล มี ๕ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
พระอรหันต์ มี ๓ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ

ข้อสังเกต
อโสภณจิต
- อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุประกอบ
- อกุศลจิต เป็นจิตที่มีเหตุ ประกอบอย่างมาก ๒ เหตุ อย่างน้อย ๑ เหตุ
โสภณจิต เป็นจิตที่มีเหตุประกอบอย่างมาก ๓ เหตุ อย่างน้อย ๒ เหตุ

สำหรับจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๔-๕-๖ เหตุนั้น ไม่มี เพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นฝ่ายอโสภณเหตุ และอโลภะ, อโทสะ อโมหะ เป็นฝ่ายโสภณเหตุ ทั้งสองฝ่ายจะประกอบกับจิตร่วมกันไม่ได้

⛯ แสดงเหตุกับเจตสิก

เหตุ ๖ โลภะ, โทสะ โมหะ, อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ อันเป็นเจตสิกธรรมซึ่งจะต้องเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต และมีที่อาศัยอันเดียวกันกับจิต เหตุ ๖ นอกจากเกิดพร้อมกับจิตดังกล่าวแล้ว ยังเกิดพร้อมกับเจตสิกอื่น ๆ ตามที่ประกอบได้อีกด้วย ฉะนั้น เจตสิกใด เกิดพร้อม หรือประกอบกับเหตุ ๖ อันใดบ้าง มีการแสดงไว้เป็น ๒ นัย คือ

๑. อคหิตัคคหนนัย คือ เจตสิกที่นับแล้ว ไม่นับอีก หมายความว่า เจตสิกใดที่ได้ยกขึ้นเป็นหัวข้อแสดงแล้ว ไม่นำมากล่าวอ้างนับซ้ำอีก ได้แก่การยกเอาเจตสิกทั้ง ๕๒ ขึ้นมาแสดงแต่ละดวงว่าประกอบกับเหตุใดได้บ้าง หยิบยกมาแสดงจนครบจำนวนทั้ง ๕๒ ดวงโดยไม่มีการซ้ำกันเลย 

แสดงการจําแนกเจตสิกที่ประกอบกับเหตุโดยอคหิตคดหนนัย เจตสิกที่นับแล้วไม่นับอีก มีการแสดง ๗ นัย  คือ 

นัยที่ ๑  อเหตุกเจตสิก เจตสิกที่ไม่มีเหตุประกอบนั้น ไม่มี   
นัยที่ ๒ เอกเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ มี ๓ ดวง คือ : -

  • โลภเจตสิก มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • โทสเจตสิก มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • วิจิกิจฉาเจตสิก มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ

นัยที่ ๓ ทวิเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ มี ๔ ดวง คือ : -

  • โมหเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ
  • ทิฏฐิเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ
  • มานเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ
  • อิสสาเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • มัจฉริยเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • กุกกุจจเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • อโลภเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อโทสเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโมหเหตุ
  • ปัญญาเจตสิก มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ

นัยที่ ๔ ติเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ มี ๒๗ ดวง คือ :-

  • อหิริกเจตสิก มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • อโนตตัปปเจตสิก มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • อุทธัจจเจตสิก มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • ถีนเจตสิก มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • มิทธเจตสิก มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นอโลภะ, อโทสะ, ปัญญา) มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ

นัยที่ ๕  จตุเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๔ เหตุ ไม่มี
นัยที่ ๖  ปัญจเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๕ เหตุ มี ๑ ดวง คือ

  • ปีติเจตสิก มีเหตุประกอบ ๕ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ

นัยที่ ๗ ฉเหตุกเจตสิก เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๖ เหตุ มี ๑๒ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๒  (เว้นปีติเจตสิก) มีเหตุประกอบ ๖ เหตุ ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ, อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ

รวมเจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ มี ๓ ดวง
เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ มี ๙ ดวง
เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ มี ๒๗ ดวง
เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๕ เหตุ มี ๑ ดวง
เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๖ เหตุ มี ๑๒ ดวง

รวมเจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๕๒ ดวง

นี่คือ การแสดงว่า เจตสิก ๕๒ ดวง มีเหตุใดประกอบได้บ้าง และ เป็นการยกเอาเจตสิก ๕๒ ดวงนั้น มาแสดงแล้ว ไม่นำมาแสดงซ้ำอีก เรียกการนับเจตสิกที่ประกอบกับเหตุนี้ว่า “อคหิตัคคหนนัย” คือเจตสิกที่นับแล้วไม่นับอีก

๒.คหิตัคคหนนัย คือ เจตสิกที่นับแล้วนับอีก หมายความว่า เมื่อยกเอาเจตสิกใดมาแสดง โดยการประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว หากเจตสิกดวงที่ยกมาแสดงแล้ว ยังอาจประกอบกับเหตุอื่นได้อีก ก็ยังต้องยกมากล่าวอ้างอีก ดังเช่น โมหเจตสิกที่นับโดยการประกอบกับโลภมูลจิตแล้ว ยังต้องนำมานับซ้ำอีกเมื่อโมหเจตสิกนั้น ประกอบกับโทสมูลจิตได้อีกด้วย

แสดงการจําแนกเจตสิก ประกอบกับเหตุโดย คหิตคคหนนัย เจตสิกที่นับแล้วนับอีก ตามที่ประกอบกับจิต มีการแสดง ๔ นัย คือ

นัยที่ ๑  อเหตุกเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่มีเหตุประกอบ มี ๑๓ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นฉันทะ) ที่ประกอบกับอเหตุกจิต ๑๘
  • โมหเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒

นัยที่ ๒  เอกเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๑ เหตุ มีจำนวน ๒๐ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ (เว้นปีติ, ฉันทะ) ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • อหิริกะ ๑ ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒  มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • อโนตตัปปะ ๑ ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒  มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • อุทธัจจะ ๑ ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒  มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • วิจิกิจฉา ๑ ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒  มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • โลภเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับโลภมูลจิต ๘  มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • โทสเจตสิก ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โมหเหตุ
  • โมหเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับโลภมูลจิต ๘ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โลภเหตุ ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ โทสเหตุ
  • อโลภเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับญาณวิปปยุตจิต ๑๒ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ อโทสเหตุ
  • อโทสเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับญาณวิปปยุตจิต ๑๒ มีเหตุ ๑ เหตุ คือ อโลภเหตุ

นัยที่ ๓ ทวิเหตุกเจตสิก คือเจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ มีจำนวน ๔๘ ดวง คือ

ก. เจตสิก ๔๕ (เว้นเหตุกเจตสิก ๖ และวิจิกิจฉา ๑) ที่ประกอบกับทวิเหตุกจิต ๒๒

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ หรือ ๑๒ ที่ประกอบกับโลภมูลจิต ๘ มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ ที่ประกอบกับญาณวิปปยุตจิต ๑๒ มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ
  • อหิริกะ ๑, อโนตตัปปะ ๑, อุทธัจจะ ที่ประกอบกับโลภมูลจิต ๘ มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • ทิฏฐิ ๑ ที่ประกอบกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ
  • มานะ ๑ ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ
  • อิสสา ๑, มัจฉริยะ ๑, กุกกุจจะ ๑ ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • ถีนะ ๑ ที่ประกอบกับโลภมูลสสังขาริกจิต มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ, โมหเหตุ
  • มิทธะ ๑ ที่ประกอบกับโทสมูลสสังขาริกจิต มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ, โมหเหตุ
  • โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นอโลภะ, อโทสะ อโมหะ) ที่ประกอบกับญาณวิปปยุตจิต ๑๒ มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ

ข. เจตสิก ๓ ดวง คือ อโลภะ, อโทสะ, และอโมหะ ที่ประกอบกับติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙

  • อโลภเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับญาณสัมปยุตจิต ๔๗ หรือ ๗๙ มี ๒ เหตุ คือ อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อโทสเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับญาณสัมปยุตจิต ๔๗ หรือ ๗๙ มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโมหเหตุ
  • ปัญญาเจตสิก ๑ ที่ประกอบกับญาณสัมปยุตจิต ๔๗ หรือ ๗๙ มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ

นัยที่ ๔ ติเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ มีจำนวน ๓๕ ดวง คือ 

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ที่ประกอบกับติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙ มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ 
  • โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นอโลภะ, อโทสะ อโมหะ) ที่ประกอบกับติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙ มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ


การนับจํานวนเหตุโดยพิสดาร

๑. อกุศลเหตุ มีจำนวน ๒๒ คือ
- โลภเหตุ มี ๘
- โทสเหตุ มี ๒
- โมหเหตุ มี ๑๒

รวมอกุศลเหตุ มี ๒๒

๒.กุศลเหตุ มีจำนวน ๑๐๗ คือ
- อโลภเหตุ มี ๓๗
- อโทสเหตุ มี ๓๗
- อโมหเหตุ มี ๓๓

รวมกุศลเหตุ มี ๑๐๗

๓. วิปากเหตุ มีจำนวน ๑๐๗ คือ
- อโลภเหตุ มี ๓๗
- อโทสเหตุ มี ๓๗
- อโมหเหตุ มี ๓๓

รวมวิปากเหตุ มี ๑๐๗

๔.กิริยาเหตุ มีจำนวน ๔๗ คือ
- อโลภเหตุ มี ๑๗
- อโทสเหตุ มี ๑๗
- อโมหเหตุ มี ๑๓

รวมกิริยาเหตุ มี ๔๗

รวมจำนวนเหตุโดยพิสดาร มีจำนวน ๒๘๓ คือ
- อกุศลเหตุ มี ๒๒
- กุศลเหตุ มี ๑๐๗
- วิปากเหตุ มี ๑๐๗
- กิริยาเหตุ มี ๔๗

- จบเหตุสังคหะ –