ปริจิตเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค
ความเบื้องต้น พระอนุรุทธาจารย์ได้รวบรวมพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๓ ขึ้น อันมีชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค
- ปกิณกกะ แปลว่า กระจัดกระจาย, คละกัน, เบ็ดเตล็ด, เรี่ยราย โดยทั่ว ๆ ไป
- สังคหะ แปลว่า รวบรวม
- วิภาค แปลว่า ส่วน หรือ ตอน
ฉะนั้น ปกิณณกสังคหวิภาค จึงแปลว่า ส่วนที่รวบรวมจิตและเจตสิก ที่กระจัดกระจายอยู่โดยทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ แสดงการรวบรวมจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น โดยประเภทแห่งเวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์ และวัตถุ ตามสมควร
พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๓ ว่าด้วยปกิณณกสังคหวิภาคนี้ พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงคาถาสังคหะไว้ ๑๔ คาถา ซึ่งจะได้ขยายความตามลำดับคาถา ดังต่อไปนี้
คาถาสังคหะ
๑. สมฺปยุตฺตา ยถาโยคํ เตปญฺญาส สภาวโต
จิตฺตเจตสิกา ธมฺมาส เตสํ ทานิ ยถารหํ ฯ
แปลความว่า สภาวธรรม ๕๓ คือจิตและเจตสิก มีชื่อว่า นามเตปญฺญาสน (นาม ๕๓) ได้แสดงโดยลักษณะของตน ๆ ที่ประกอบด้วย เอกุปฺปาทตา (ความเกิดพร้อมกัน) เป็นต้น และการประกอบซึ่งกันและกัน ตามที่ประกอบได้โดยพิสดาร แสดงมาแล้วในปริจเฉทที่ ๒
สภาวธรรม ๕๓ อย่างที่กล่าวนี้ หมายถึง จิต ๑ และเจตสิก ๕๒ ซึ่งนับโดยการถือเอาสภาวลักษณะแห่งนามธรรมนั้นๆ เป็นประการสำคัญโดยนัยเป็นต้นว่า
- จิต แม้มีจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงก็ตาม เมื่อนับโดยสภาวลักษณะแล้วก็มีเพียง ๑ คือ มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ)
- ผัสสเจตสิก มีการกระทบถูกต้องอารมณ์เป็นลักษณะ (ผุสนลกฺขณา)
- เวทนาเจตสิก มีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ (อนุภวนลกฺขณา) เจตสิกทั้ง ๕๒ ประเภทนี้ มีสภาวลักษณะโดยเฉพาะ ๆ แตกต่างกันทั้ง ๕๒ ประเภท ฉะนั้น เมื่อรวมจิตและเจตสิกเข้าแล้วก็ได้สภาวธรรม ๕๓ ที่ชื่อว่า นามเตปญฺญาส (นาม ๕๓) ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ในปริจเฉทที่ ๓ อันว่าด้วยปกิณณกสังคหวิภาคนี้ เป็นการแสดงธรรม ๖ หมวด จากการเกิดขึ้นของจิตและเจตสิก ดังคาถาสังคหะที่ ๒ คือ
คาถาสังคหะ
๒. เวทนาเหตุโต กิจฺจ ทฺวาราลมฺพนวตฺถุโต
จิตฺตุปฺปาทวเสเนว สงฺคโห นาม นียเต ฯ
แปลความว่า บัดนี้ จักแสดงการสงเคราะห์กันของจิตและเจตสิก ว่าด้วยอำนาจการเกิดขึ้นของจิต โดยประเภทแห่งเวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์ และวัตถุ ตามสมควรที่ประกอบได้
คาถานี้ พระอนุรุทธาจารย์มีความมุ่งหมาย แสดงเพื่อให้เป็นปุพพานุสนธิและอปรานุสนธิ คือ เชื่อมโยงกันระหว่างปริจเฉทที่ ๒ ที่ได้แสดงไปแล้ว กับปริจเฉทที่ ๓ ที่จะแสดงต่อไป และเพื่อกำหนดหัวข้อในปริจเฉทที่ ๓ นี้ว่าจะแสดงสังคหะ ๖ อย่าง มีเวทนาสังคหะ เป็นต้น ทั้งเพื่อแสดงปฏิญญาว่าจะขยายความแห่งการเกิดขึ้นของจิตโดยประเภทแห่งเวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๓ นี้ พระอนุรุทธาจารย์ จึงได้แสดงไว้แต่การจำแนกจิตเพียงอย่างเดียว มิได้แสดงการจำแนกเจตสิกไว้ด้วย แต่การเกิดขึ้นของจิตที่เรียกว่า จิตฺตุปฺปาท คือ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกที่ประกอบ ฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่จะได้แสดงการสงเคราะห์ทั้งจิตและเจตสิกโดยประเภทแห่งเวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุไว้ให้พิสดาร โดยนัยที่จะได้แสดงต่อไปตามลำดับ