แสดงปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับจิต



ในสัมมาทิฏฐิสูตร แสดงฐานะของปัญญาไว้ ๖ ประการ คือ

๑. กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรม เป็นของตน
๒. ฌานสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่รู้อุบาย ในการทำใจให้สงบจากนิวรณ์ ตลอดจนปัญญาในอภิญญาจิต
๓. วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เข้าไปรู้เห็น รูป-นามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
๔. มรรคสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่ทำกิจ ในการประหารอนุสัยกิเลส โดยมีพระนิพพาน เป็นอารมณ์
๕. ผลสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เสวยผลจากการที่มรรคญาณได้ทำการประหารอนุสัยกิเลสแล้ว โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า “เสวยวิมุตติสุข”
๖. ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังมรรคญาณผลญาณสำเร็จแล้ว เพื่อพิจารณาธรร,อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ ประการคือ :- ๑) กิเลสที่ละแล้ว ๒) กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ๓) มรรคจิต ๔) ผลจิต ๕) พระนิพพาน

🔅 สัมปโยคนัย
อารัมภบทแห่งสัมปโยคนัย

คาถาสังคหะ

เตสํ จิตฺตาวิยุตตานํ  ยถาโยคมิโต ปรํ
จิตฺตุปฺปาเทสุ ปจฺเจกํ  สมฺปโยโค ปวุจฺจติ ฯ

แปลความว่า ต่อไปนี้ จะแสดงการประกอบโดยเฉพาะของเจตสิกธรรมที่มีสภาพเกิดพร้อมกับจิต ขณะที่จิตเกิดขึ้นตามที่จะประกอบได้

อธิบาย ธรรมที่ชื่อว่า

“จิตฺตาวิยุตฺต” มีอรรถว่า “ไม่แยกกันกับจิต” ซึ่งได้แก่ เจตสิก
“จิตฺตุปฺปาท” มีอรรถว่า ความเกิดขึ้นของจิตพร้อมทั้งธรรมที่สัมปยุตด้วย ฉะนั้น สัมปโยคนัยจึงมีความหมายว่า เจตสิกแต่ละดวงนั้น ดวงหนึ่งๆ ประกอบกับจิตได้เท่าไร ได้แก่จิตอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการยก เจตสิกเป็นประธานว่าสามารถประกอบกับจิตได้กี่ดวง

หลักเกณฑ์แห่งสัมปโยคนัย

คาถาสังคหะ

สตฺต สพฺพตฺถ ยุชฺชนุติ  ยถาโยคํ ปกิณฺณกา
จุฑฺทสากุสเลเสฺวว  โสภเณเสฺวว โสภณา ฯ

แปลความว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประกอบได้ในจิตทั้งหมดทุกดวง
ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบได้ในจิตเฉพาะเท่าที่ควรประกอบได้
อกุศลเจตสิก ๑๔ ประกอบได้ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น
โสภณเจตสิก ๒๕ ประกอบได้ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง เท่านั้น

อธิบาย คาถาสังคหะนี้ เป็นการแสดงหลักเกณฑ์ของสัมปโยคนัยโดยสังเขป เพื่อเป็นหลักในการศึกษาสัมปโยคนัย โดยพิสดารต่อไป


สัมปโยคนัยแห่งอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง มีสัมปโยคะ ๗ นัยคือ :-

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และมนสิการเจตสิก ประกอบได้ในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ทั้งหมดทุกดวง นับเป็น ๑ นัย
ปกิณณกเจตสิก ๖ ได้แก่ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ และฉันทะ เจตสิก ประกอบได้ในจิต เฉพาะเท่าที่ควรประกอบได้ ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง นับเป็นสัมปโยคะ ๖ นัย

  • นัยที่ ๑ สัมปโยคของสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้น ประกอบได้ในจิตทั้งหมด มีความหมายชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนปกิณณกเจตสิก ๖ ดวงนั้น มีคาถาสังคหะที่ ๕ และที่ ๖ แสดงความหมายได้ดังต่อไปนี้คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๕)

ฉสฏฺฐี ปญฺจปญฺญาส  เอกาทศ จ โสฬส
สตฺตติ วีสติ เจว ปกิณฺณกวิวชฺชิตา ฯ

แปลความว่า “จิตทั้งหลายที่ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบไม่ได้นั้น มีจำนวนตามลำดับดังนี้คือ :- ๖๖ ดวง, ๕๕ ดวง, ๑๑ ดวง, ๑๖ ดวง, ๗๐ ดวง, ๒๐ ดวง” ซึ่งหมายความว่า

วิตกเจตสิก    ประกอบไม่ได้กับจิต    ๖๖ ดวง
วิจารเจตสิก                "                     ๕๕   "   
อธิโมกขเจตสิก          "                      ๑๑   "   
วิริยเจตสิก                  "                      ๑๖   "
ปีติเจตสิก                   "                      ๗๐   "
ฉันทเจตสิก                "                      ๒๐   " 

คาถาสังคหะ (ที่ ๖)

ปญฺจปญฺญาส ฉสฎฺจยฎ  จัสตุตติ ติสตฺตติ
เอกปญฺญาส เจกูน  สตฺตติ สปฺปกิณฺณกา ฯ

แปลความว่า “จิตทั้งหลายที่ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบได้นั้น มีจำนวนตามลำดับดังนี้ คือ :- ๕๕ ดวง, ๖๖ ดวง, ๗๘ (๑๑๐) ดวง, ๗๓ (๑๐๕) ดวง, ๕๑ ดวง, ๖๙ (๑๐๑) ดวง” ซึ่งหมายความว่า

วิตกเจตสิก    ประกอบได้กับจิต        ๕๕ ดวง
วิจารเจตสิก                "                     ๖๖   "   
อธิโมกขเจตสิก          "                      ๗๘ (๑๑๐) ดวง  
วิริยเจตสิก                  "                      ๗๓ (๑๐๕)   " 
ปีติเจตสิก                   "                      ๕๑ ดวง
ฉันทเจตสิก                "                      ๖๙ (๑๐๑) ดวง

อธิบาย ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ประกอบกับจิตเฉพาะที่ควรประกอบได้ดังคาถาสังคหะที่แสดงแล้วนั้นมี ๖ นัย ซึ่งจะได้แสดงการประกอบของปกิณณกเจตสิกทั้ง ๖ โดยพิสดารดังนี้


  • นัยที่ ๒ วิตกเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๖๖ ดวง

วิตกเจตสิก 
ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- อเหตุกจิต ๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- ปฐมฌานจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๖๖ ดวง คือ
- ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐
- ทุติยฌานจิต ๑๑
- ตติยฌานจิต ๑๑
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๓ วิจารเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๖ ดวง ประกอบไม่ได้ ๕๕ ดวง ได้แก่ :-
วิจารเจตสิก
ประกอบกับจิตได้
 ๖๖ ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- อเหตุกจิต ๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- ปฐมฌานจิต ๑๑
- ทุติยฌานจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๕๕ ดวง คือ
- ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐
- ตติยฌานจิต ๑๑
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๔ อธิโมกขเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๘ ดวง หรือ ๑๑๐ ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๑ ดวง ได้แก่ :-
อธิโมกขเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๗๘ (๑๑๐) ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๑ (เว้นวิจิกิจฉา ๑) 
- อเหตุกจิต ๘  (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๕๕ ดวง คือ
- วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑
- ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐


  • นัยที่ ๕ วิริยเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๓ ดวง หรือ ๑๐๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๖ ดวง ได้แก่ :-

วิริยเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๗๓ (๑๐๕) ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- มโนทวาราวัชชนจิต ๑
- หสิตุปาทจิต ๑
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๑๖ ดวง คือ
- อเหตุกจิต ๑๖ (เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปาทจิต ๑)


  • นัยที่ ๖ ปีติเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๗๐ ดวง ได้แก่ :-

ปิติเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง คือ
- โสมนัสโลภมูลจิต ๔ 
- โสมนัสสันตีรณจิต ๑
- โสมนัสหสิตุปาทจิต ๑
- โสมนัสกามาวจรโสภณจิต ๑๒
- ปฐมฌาณจิต ๑๑
- ทุติยฌาณจิต ๑๑
- ตติยฌาณจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๗๐ ดวง คือ
- อุเบกขาโลภมูลจิต ๔
- โทสมูลจิต ๒
- โมหมูลจิต ๒
- อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔
- กายวิญญาณจิต ๒
- อุเบกขากามาวจรโสภณจิต ๑๒
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๗ ฉันทเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๙ ดวง หรือ ๑๐๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๒๐ ดวง ได้แก่ :-

ฉันทเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๖๙ (๑๐๑) ดวง คือ
- โลภมูลจิต ๘
- โทสมูลจิต ๒
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๒๐ ดวง คือ
- โมหมูลจิต ๒
- อเหตุกจิต ๑๘

👉 ข้อสังเกต 👈 ถ้าเจตสิกดวงใดประกอบได้กับโลกุตตรจิตทั้งหมด ก็นับจิตอย่างย่อ (๘๙) ถ้าเจตสิกดวงใดประกอบกับโลกุตตรจิตไม่ได้ทั้งหมด นับจิตอย่างพิสดาร (๑๒๑)

อนึ่ง การประกอบของปกิณณกเจตสิก โดยเฉพาะวิตก วิจาร ปีติเจตสิก กับโลกุตตรจิตนั้น มุ่งหมายเอาโลกุตตรจิตของพระอริยบุคคลที่เป็นฌานลาภีเท่านั้น ถ้าพระอริยบุคคลนั้นเป็นสุกขวิปัสสก วิตก วิจาร ปีติเจตสิกย่อมประกอบได้ทั้งหมด ถ้าโลกุตตรจิตนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ปีติก็ประกอบได้ด้วย ถ้าโลกุตตรจิตนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ปีติก็ประกอบไม่ได้

สรุปความว่า สัมปโยคแห่งอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวงนั้นมี ๗ นัย คือ :-

  • นัยที่ ๑ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ประกอบได้กับจิตทั้งหมด
  • นัยที่ ๒ วิตกเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๖๖ ดวง
  • นัยที่ ๓ วิจารเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๖ ดวง ประกอบไม่ได้ ๕๕ ดวง
  • นัยที่ ๔ อธิโมกขเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๘ (๑๑๐) ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๑ ดวง
  • นัยที่ ๕ วิริยเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๓ (๑๐๕) ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๖ ดวง
  • นัยที่ ๖ ปีติเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๗๐ ดวง
  • นัยที่ ๗ ฉันทเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๙ (๑๐๑) ดวง ประกอบไม่ได้ ๒๐ ดวง


สัมปโยคนัยแห่งอกุศลเจตสิก

อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เมื่อกล่าวโดยสัมปโยค คือการประกอบของอกุศลเจตสิก กับอกุศลจิตนั้นมี ๕ นัย ดังแสดงในคาถาสังคหะที่ ๗ และที่ ๘ คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๗-๘)

สพฺพาปุญฺเญสุ จตฺตาโร   โลภมูเล ตโย กตา
โทสมูเลสุ จตฺตาโร   สสงฺขาเร ทฺวยนฺตถา ฯ
วิจิกิจฺฉา วิจิกิจฺฉา   จิตฺเต จาติ จตุทฺทส
ทฺวาทสากุสเลเสฺวว   สมฺปยุชชนฺติ ปญจธา ฯ

แปลความว่า “อกุศลเจตสิก ๑๔ ย่อมประกอบกับอกุศลจิตเท่านั้น” โดยจำแนกการประกอบได้เป็น ๕ นัยคือ :-

- เจตสิก ๔ ดวง ย่อมประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด
- เจตสิก ๓ ดวง ย่อมประกอบกับโลภมูลจิต
- เจตสิก ๔ ดวง ย่อมประกอบกับโทสมูลจิต
- เจตสิก ๒ ดวง ย่อมประกอบกับสสังขาริกจิต
- วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ย่อมประกอบกับวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต (โมหมูลจิต)

อธิบาย อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง มีสัมปโยค ๕ นัยคือ :-

  • นัยที่ ๑ เจตสิก ๔ ดวง ที่ชื่อว่า “โมจตุกเจตสิก” คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจเจตสิก ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด (๑๒ ดวง)
  • นัยที่ ๒ เจตสิก ๓ ดวง ที่ชื่อว่า “โลติกเจตสิก” คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะเจตสิกนั้น
    - โลภเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง
    - ทิฏฐิเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้เฉพาะในทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง
    - มานเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้เฉพาะในทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง
  • นัยที่ ๓ เจตสิก ๔ ดวง ที่ชื่อว่า “โทจตุกเจตสิก” คือ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจเจตสิก ย่อมประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
  • นัยที่ ๔ เจตสิก ๒ ดวง ที่ชื่อว่า “ถีทุกเจตสิก” คือ ถีนะกับมิทธเจตสิก ย่อมประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง ได้แก่
    - โลภมูลจิต ที่เป็นสสังขาริกจิต ๔ ดวง
    - โทสมูลจิต ที่เป็นสสังขาริกจิต ๑ ดวง
  • นัยที่ ๕ วิจิกิจฉาเจตสิก ประกอบได้ในวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑ ดวงเท่านั้น


สัมปโยคนัยแห่งโสภณเจตสิก

โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง ย่อมประกอบกับโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น จำแนกการประกอบออกเป็น ๔ นัย ตามคาถาสังคหะที่ ๙ และที่ ๑๐ คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๙-๑๐)

เอกูนวีสติ ธมฺมา  ชายนฺเตกูนสฏฺฐิยํ
ตโย โสฬสจิตฺเตสุ  อฏฺฺฐวีสติยํ ทฺวยํ ฯ
ปญฺญา ปกาสิตา สตฺต  จตุตาฬีสวิเธสุปิ
สมฺปยุตตา จตุเธวํ  โสภเณเสฺวว โสภณา ฯ

แปลความว่า “โสภณเจตสิก ๒๕ ย่อมประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น” โดยจำแนกการประกอบได้เป็น ๔ นัยคือ :-

- เจตสิก ๑๙ ดวง ย่อมประกอบกับจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง
- เจตสิก ๓ ดวง  ย่อมประกอบกับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง
- เจตสิก ๒ ดวง ย่อมประกอบกับจิต ๒๘ ดวง
- ปัญญาเจตสิก ๑ ย่อมประกอบกับจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง

อธิบาย โสภณเจตสิก ๒๕ ดวงนั้น ย่อมประกอบได้เฉพาะในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับอโสภณจิต คืออกุศลจิตและอเหตุกจิตไม่ได้ ฉะนั้น การประกอบในโสภณจิตจึงแสดงไว้โดยสัมปโยคนัยได้ ๔ นัย คือ :-

  • นัยที่ ๑ เจตสิก ๑๙ ดวง ที่ชื่อว่า “โสภณสาธารณเจตสิก” คือ :-

สัทธาเจตสิก ๑
สติเจตสิก ๑
หิริเจตสิก ๑
โอตตัปปเจตสิก ๑
อโลภเจตสิก ๑
อโทสเจตสิก ๑
ตัตตรมัชฌัตตตา ๑
กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ ๒
กายลหุตา จิตตลหุตา ๒
กายมุทิตา จิตตมุทุตา ๒
กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา ๒
กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา ๒
กายชุกตา จิตตุชุกตา ๒

เจตสิก ๑๙ ดวงนี้ประกอบได้กับโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง คือ ขณะใดที่โสภณจิตทั้ง ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น โสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวง ต้องเข้าประกอบพร้อมกับจิตนั้นเสมอไม่มีเว้นเลย เจตสิกนี้จึงชื่อว่า “โสภณสาธารณเจตสิก"

  • นัยที่ ๒ เจตสิก ๓ ดวง ที่ชื่อว่า “วิรตีเจตสิก” คือ :-
สัมมาวาจาเจตสิก ๑
สัมมากัมมันตเจตสิก ๑
สัมมาอาชีวเจตสิก ๑

เจตสิก ๓ ดวงนี้ประกอบได้กับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงเหล่านั้น

ข้อสังเกตจากสัมปโยคนัยที่ ๒

วิรตีเจตสิกประกอบได้กับมหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ นั้น เพราะวิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ เมื่อประกอบกับมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นโดยการเว้นจากทุจริตกรรม เป็นการเว้นชั่วขณะหนึ่งๆ ในการรับโลกียอารมณ์เท่านั้น จึงเป็นกุศลชาติ คือ มหากุศลจิตเกิดเสมอ จะเป็นอกุศลชาติ,วิปากชาติ หรือกิริยาชาติไม่ได้ โดยเหตุนี้ วิรตีเจตสิก ๓ ดวง จึงไม่ประกอบกับมหาวิบากจิต และไม่ประกอบกับมหากิริยาจิตด้วย เพราะมหากิริยาจิตนั้นเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเว้นจากทุจริตกรรมทั้งปวง อันมรรคจิตประหารแล้วโดยเด็ดขาด จึงไม่จำเป็นต้องมีวิรตีประกอบอีก

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ที่ไม่ประกอบกับมหัคคตจิตนั้น เพราะอารมณ์ของมหัคคตจิตนั้น มีกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีวิรมิตัพพวัตถุเป็นอารมณ์ เพื่อให้เกิดการเว้นจากทุจริตกรรม ฉะนั้นวิรตีเจตสิก ๓ ดวง จึงไม่ประกอบกับมหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมเป็นโลกุตตรวิรตีมีฐานะเป็นมัคคังคเจตสิก ถ้าวิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ไม่เกิด โลกุตตรจิตก็เกิดไม่ได้เพราะไม่ครบองค์แห่งมรรค ฉะนั้นการประกอบกับโลกุตตรจิตของวิรดีเจตสิกจึงต้องต่างกับโลกียวิรตีที่ประกอบกับมหากุศลจิต ย่อมประกอบได้ทีละดวง เช่น มหากุศลจิตใดเกิดขึ้นโดยเว้นจากมิจฉาวาจา ในมหากุศลจิตนั้นย่อมมีสัมมาวาจาเจตสิกประกอบ ส่วนสัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวเจตสิกไม่ประกอบดังนี้เป็นต้น จะประกอบพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง อย่างโลกุตตรวิรดีที่ประกอบกับโลกุตตรจิตไม่ได้

  • นัยที่ ๓ เจตสิก ๒ ดวง ที่ชื่อว่า “อัปปมัญญาเจตสิก” คือ :-

กรุณาเจตสิก ๑
มุทิตาเจตสิก ๑

เจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบได้กับจิต ๒๘ ดวง ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรจิต ๑๒ (เว้นรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓)

ข้อสังเกตจากสัมปโยคนัยที่ ๓

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ไม่ประกอบกับมหาวิบากจิต ๘ ดวง รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ไม่ประกอบในมหาวิบากจิต ๔ เพราะมหาวิบากจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปรมัตถกามอารมณ์ ส่วนอัปปมัญญานั้นอาศัยสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ อัปปมัญญาเจตสิกจึงประกอบไม่ได้ในมหาวิบากจิต ๘ ดวง

อัปปมัญญาไม่ประกอบในรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวง เพราะรูปาวจรปัญจมฌานจิตมีมัชฌัตตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง บัญญัติอารมณ์อื่นบ้าง ซึ่งไม่ใช่ทุกขิตสัตว์หรือสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ฉะนั้นอัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบในรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวงดังกล่าว 

อัปปมัญญาเจตสิกไม่ประกอบในอรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง เพราะอรูปาวจรจิตทั้ง ๑๒ ดวงนั้น เป็นจิตที่รับมหัคคตารมณ์ และบัญญัติอารมณ์อื่นๆอันเป็นอารมณ์ละเอียด จึงเสวยอารมณ์เป็นอุเบกขาเวทนา ดังนั้น ทุกขเวทนาและสุขเวทนาแห่งสัตว์ จึงเป็นกรรมฐานของอรูปาวจรจิตไม่ได้ อัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบในอรูปาวจรทั้ง ๑๒ ดวงนั้น อัปปมัญญาเจตสิกไม่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๔ หรือ ๔๐ เพราะโลกุตตรจิตนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ใช่มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ฉะนั้นอัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

  • นัยที่ ๔ ปัญญาเจตสิก หรือปัญญินทรียเจตสิก ประกอบได้กับจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ มหัคคตจิต ๒๗ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐



วิกิ

ผลการค้นหา