อกุศลเจตสิก

อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายชั่ว, ที่หยาบ, ที่บาป, ไม่ดีงาม และไม่ฉลาด เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตเศร้าหมองเร่าร้อน ตกเป็นอกุศลจิตไปด้วย อกุศลเจตสิกนี้ จึงประกอบได้เฉพาะอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับจิตประเภทอื่น (อเหตุกจิต ๑๘ หรือ โสภณจิต ๕๙) ไม่ได้เลย

















อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แบ่งออกเป็น ๕ นัย คือ
    ก. โมจตุกเจตสิก ๔ ดวง
    ข. โลติกเจตสิก
    ค. โทจตุกเจตสิก
    ง. ถีทุกเจตสิก
    จ. วิจิกิจฉาเจตสิก

อธิบาย

🔅 ก. โมจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโมหเจตสิกเป็น
ประธาน มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โมหเจตสิก, อหิริกเจตสิก, อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก 

โมจตุกเจตสิกนี้ ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง จึงมีชื่อเรียก
อีกอย่างหนึ่งว่า “สัพพากุสลสาธารณเจตสิก” ซึ่งหมายความว่า เป็นเจตสิกที่ประกอบทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด

โมหเจตสิก

โมหเจตสิก คือความหลงใหลในอารมณ์ ได้แก่ หลงจากรูปนามเพราะความไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อญาณ ลกฺขโณ มีความไม่รู้ความจริงของสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    อารมฺมณ สภาวจฺฉาทน รโส มีการปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
    อนฺธการ ปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจต่ออารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

อรรถ ๔ ประการ ของโมหเจตสิก อีกนัยหนึ่ง

    จิตฺตสฺส อนฺธภาว ลกฺขโณ มีความมืดบอดแห่งจิต เป็นลักษณะ
    อสมฺปฏิเวธ รโส มีความไม่แทงตลอดในสภาวธรรม เป็นกิจ
    อสมฺมาปฏิปตฺติ ปจฺจุปฏฐาโน มีการปฏิบัติผิด เป็นผลปรากฏ
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการใส่ใจในอารมณ์โดยไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

โมหเจตสิกนี้เป็นองค์ธรรมของอวิชชา ซึ่งแปลว่า “ไม่รู้” หรือธรรมชาติที่ตรงข้ามกับปัญญา ฉะนั้น การไม่รู้ของโมหเจตสิก จึงไม่ได้หมายถึงการไม่รู้อะไรๆ เอาเสียเลย แต่หมายถึงการไม่รู้ธรรม ตามความเป็นจริงที่ควรรู้คือ รู้แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่าความหลงจากรูปนามที่เป็นความจริงนั่นเอง การไม่รู้ตามความเป็นจริงที่ควรรู้ของอวิชชาหรือโมหะนี้ จึงมี ความหมายจำกัดเฉพาะความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ

๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์
๒. ทุกขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. ทุกฺขนิโรธ อญาณํ ไม่รู้ธรรม อันเป็นที่ดับแห่งทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้ทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์
๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอดีต
๖. อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอนาคต
๗. ปุพฺพนฺตา ปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต
๘. อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกัน ตามนัยปฏิจจสมุปบาท

โมหเจตสิกนี้ เป็นมูล เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง

อหิริกเจตสิก

อหิริกเจตสิก คือความไม่ละอายต่อบาปธรรมได้แก่ สภาพที่ไม่มีความละอายต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อชิคุจฺฉน ลกฺขณํ(วา) มีความไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น (หรือ) อลชฺชา ลกขณํ มีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    อตฺตอคารว ปทฏฐานํ มีความไม่เคารพตน เป็นเหตุใกล้


อโนตตัปปเจตสิก

อโนตตัปปเจตสิกคือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาปกรรม ได้แก่ สภาพที่ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่ออกุศลทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    กายทุจฺจริตาทีหิ อสารชฺช ลกฺขณํ (วา) มีความไม่กลัวกายทุจริต เป็นต้น  (หรือ) อนุตฺตาส ลกฺขณํ มีความไม่หวาดเสียวกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    ปาปานํ กรณรสํ มีการกระทำบาป เป็นกิจ
    อสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่ท้อถอยต่อบาปธรรม เป็นผล
    ปรอคารว ปทฏฺฐานํ มีความไม่เคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโนตตัปปะนี้ เป็นความไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการกระทำอกุศลกรรม เกิดขึ้นโดยอาศัยความไม่เคารพต่อผู้อื่นคือ ไม่เกรงกลัวว่าใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากตนเองจะรู้เห็นการกระทำอกุศลกรรมของตนเองนั้นแต่อย่างใด

อหิริกเจตสิก และอโนตตัปปเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกันคือ ทำให้กล้าทำอกุศลกรรมด้วยกัน แต่เมื่อกล่าวโดยอรรถแล้วย่อมมีความต่างกันคือ อหิริกะ ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่มีความละอาย หรือไม่เกลียดต่อบาปธรรม ส่วนอโนตตัปปะนี้ หมายถึง ภาวะแห่งบุคคลที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปธรรม ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา เปรียบเทียบไว้ว่า บุคคลผู้ไม่มีหิริ ย่อมไม่เกลียดบาป เหมือนสุกรไม่เกลียดคูถ บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมไม่กลัวบาปดุจตั๊กแตนไม่กลัวไฟ ฉะนั้น"

อหิริกะ และอโนตตัปปะ ทั้งสองประการนี้ เป็นเหตุ เป็นพละกำลังในการทําทุจริตทั้งปวง

อุทธัจจเจตสิก

อุทธัจจเจตสิก คือความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ สภาพจิตที่รับอารมณ์ไม่มั่นคง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อวูปสม ลกฺขณํ มีความไม่สงบ เป็นลักษณะ
    อนวตฺถาน รสํ มีความไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นกิจ
    ภนฺตตฺต ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความพล่านไปในอารมณ์ เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีความใส่ใจอันไม่แยบคายในอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

ความหมายของอุทธัจจะโดยปริยายอื่น ตามอัฏฐสาลินีอรรถกถาได้แสดงไว้ดังนี้ คือ :-

    จิตฺตสฺส อุทฺธจฺจํ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
    อวูปสโม ความไม่สงบแห่งจิต
    เจตโสวิกฺเขโป ความวุ่นวายใจ
    ภนฺตตฺตํ จิตฺตสฺส ความพล่านแห่งจิต

อกุศลเจตสิกที่กล่าวแล้ว ๔ ดวง คือ โมหะ, อหิริกะ, อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ชื่อว่า “โมจตุกเจตสิก” โดยยกโมหเจตสิกเป็นประธาน และโมจตุกเจตสิกนี้เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในจิตทั้งหมด ฉะนั้นเมื่ออกุศลจิตเกิด สภาพของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมต้องประกอบกับอกุศลจิตพร้อมกัน แต่เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีสภาวะลักษณะที่ตรงกันข้าม ไม่น่าที่จะประกอบในจิตดวงเดียวกันได้ แก้ว่า เพราะสภาพของจิตนั้นเกิดดับรวดเร็วมาก จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งก็รับอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิกทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้รับอารมณ์เดียวนั้นอยู่ได้นานเท่าที่กำลังสามารถของเอกัคคตาเจตสิกจะกระทำได้แต่ละในขณะจิต ส่วนอุทธัจจเจตสิกเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านรับอารมณ์ไม่มั่นคง เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้ว จิตดวงหลังก็เกิดขึ้นอุทธัจจะก็จะปรุงแต่งให้รับอารมณ์อื่นต่อไป อกุศลจิตที่เกิดขึ้นทุกดวงนั้น จึงมีเจตสิกทั้ง ๒ ดวงประกอบพร้อมกันได้ในลักษณะดังกล่าวนั้น อารมณ์ของอกุศลจิตแต่ละดวงจะตั้งมั่นหรือฟุ้งซ่าน ย่อมแล้วแต่กำลังอำนาจของเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ว่าฝ่ายใดจะมีกำลังยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามธรรมดาแล้วกำลังอำนาจของเอกัคคตาเจตสิกในอกุศลจิต ย่อมมีกำลังอ่อนกว่ากำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิกเอกัคคตาเจตสิกจะมีกำลังมาก ก็ต่อเมื่อประกอบกับกุศลจิต ยิ่งกุศลจิตขึ้นสู่อัปปนาชวนะแล้ว เอกัคคตาเจตสิกก็ยิ่งสามารถทำให้จิตรับอารมณ์เดียวได้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะอุทธัจจเจตสิกฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น หรือปรุงแต่งจิตให้เปลี่ยนรับอารมณ์อื่นอยู่เสมอเช่นนี้ กำลังอำนาจของอุทธัจจเจตสิก จึงขวนขวายประมวลกรรมไว้ได้อ่อนลง ฉะนั้นในอุทธัจจสัมปยุตแห่งอกุศลจิตนั้นจึงมีกำลังอำนาจน้อย ไม่อาจนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้เหมือนอย่างอกุศลจิตอื่น ๑๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิตที่สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ


🔆 ข. โลติกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโลภเจตสิกเป็นประธาน มี
อยู่ด้วยกัน ๓ ดวงคือ โลภเจตสิก, ทิฏฐิเจตสิก และมานเจตสิก โลติกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิต ที่เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่น เช่น โทสมูลจิตและโมหมูลจิตไม่ได้เลย ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโลติกเจตสิกตามลำดับ

โลภเจตสิก

โลภเจตสิก คือธรรมชาติที่เป็นความยินดีติดใจอยู่ในอารมณ์ ได้แก่สภาพความปรารถนา ความอยากได้ และความติดใจอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มี อรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อภิสงฺค รโส มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ
    อปริจาค ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความไม่ยอมละ เป็นผล
    สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสน ปทฏฺฐาโน มีการเห็นความสำราญในสังโยชนธรรม เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ได้อุปมาสภาพของโลภเจตสิกว่า

    มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง
    มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่ซัดไปบนกระเบื้องอันร้อนจัด
    มีความไม่ยอมละไป ดุจการติดสีที่อาบน้ำมัน

ความหมายของโลภะโดยปริยายอื่น ในปรมัตถทีปนีฎีกาได้แสดงเววจนะธรรม คือ ธรรมที่ใช้แทนกันได้ไว้ ๑๐ ประการ คือ :

๑) ตัณหา ได้แก่ ความต้องการ
๒) ราคะได้แก่ ความกำหนัด
๓) กามะ ได้แก่ ความใคร่
๔) นันทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลิน
๕) อภิชฌา ได้แก่ ความเพ่งเฉพาะ
๖) ชเนตติ ได้แก่ ความก่อกิเลส
๗) โปโนพภวิกะ ได้แก่ ความนำให้เกิดในภพใหม่.
๘) อิจฉา ได้แก่ ความปรารถนา
๙) อาสา ได้แก่ ความหวัง
๑๐) สังโยชน์ ได้แก่ ความผูกพันเกี่ยวรัดไว้

ความหมายต่างๆ ของโลภะดังกล่าวข้างต้นนั้น คำว่า “ตัณหา” ย่อมเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง แต่ความเข้าใจของคนส่วนมากนั้น เข้าใจคำว่า “ตัณหา” เป็นความยินดีในทางเพศไป ที่แท้จริง “ตัณหา” นั้นหมายถึงความติดใจในอารมณ์ทุกชนิด ดังพระบาลี “ปริตสฺสตีติ = ตณฺหา” ความต้องการอารมณ์ชื่อว่า “ตัณหา

กาโม จโส ตณฺหาจาติ = กามตณฺหา สภาวธรรมที่ต้องการกามารมณ์ทั้ง ๖ ด้วย ติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย สภาวธรรมนั้นชื่อว่า กามตัณหา

สสฺสตทิฏฺฐิ สหคโต หิราโค ภวตณฺหาติ วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยสัสสตทิฏฐิชื่อว่า ภวตัณหา

อุจฺเฉททิฏฐิ สหคโต หิราโค วิภวตณฺหา วุจฺจติ ฯ ตัณหาที่เกิดพร้อมด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า วิภวตัณหา

ฉะนั้น ความหมายของคำว่า “ตัณหา” คือความต้องการอารมณ์นั้นจึงเป็นความหมายที่กว้างขวาง แม้เป็นความต้องการ หรือความยินดีติดใจในการเจริญกรรมฐาน ก็ชื่อว่าเป็นตัณหา คือเป็นธรรมราคะ ธรรมนันทิ หรือ ธรรมตัณหา แต่ตัณหาประเภทที่กล่าวนี้ หามีโทษถึงทุคติไม่ เพราะความต้องการกุศลธรรมเช่น อยากทำสมถกรรมฐาน จิตจะได้สงบ หรืออยากได้ฌานนั้น ฌานนี้ ความอยากเกิดขึ้นด้วยอำนาจโลภมูลจิตก็จริง แต่ขณะกระทำกรรมฐานเพื่อสนองความอยากนั้น ทำด้วยจิตอื่นไม่ใช่โลภมูลจิต จะต้องกระทำด้วยมหากุศลจิตเป็นเบื้องต้น จนถึงฌานกุศลจิตเป็นที่สุด แม้การอยากทำวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกัน วิบากจิตที่เป็นผลนั้น ย่อมต่างกัน ฉะนั้นความอยากหรือความต้องการในกุศลธรรม จึงไม่มีโทษแต่กลับเป็นคุณประโยชน์

ทิฏฐิเจตสิก

ทิฏฐิเจตสิก คือความเห็นผิด ได้แก่ความเห็นที่มิใช่ตามความเป็นจริงหรือความเห็นที่คลาดเคลื่อน เพราะเชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า สภาพของทิฏฐิ มีสภาพต่างกันอย่างตรงกันข้ามกับปัญญาคือ ปัญญารู้อารมณ์ได้ตามสภาพที่เป็นจริง แต่ทิฏฐินั้นละสภาพที่เป็นจริงเสีย และกลับไปยึดถือเอาโดยสภาพที่ไม่เป็นจริง ทิฏฐิเจตสิกมีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อโยนิโสอภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยหาปัญญามิได้ เป็นลักษณะ
    ปรามาส รสา มีความถือผิดจากสภาวธรรม เป็นกิจ
    มิจฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีการยึดถือความเห็นที่ผิด เป็นผล
    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

คำว่า “ทิฏฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง “มิจฉา” แต่ “ทิฏฐิเจตสิก” ตามความหมายในอภิธรรมแล้ว ทิฏฐิ” คือความเห็นผิด ฉะนั้น เมื่อพบคำว่า “ทิฏฐิ” แล้วจึงเข้าใจว่าเป็นความเห็นผิด แต่ถ้าจะแสดงความหมายถึงความเห็นถูกแล้ว จะต้องใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะ ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดจากความเป็นจริงนั้น อาจจำแนกได้เป็น ๒ ประการคือ :- ทิฏฐิสามัญ และทิฏฐิพิเศษ

ทิฏฐิสามัญ คือ ความเห็นผิดที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน, เราเขาที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ จัดเป็นทิฏฐิสามัญ เพราะมีอยู่ประจำทั่วทุกตัวคนและสัตว์ เป็นปกติวิสัย เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะละความเห็นผิดชนิดนี้ได้

ทิฏฐิพิเศษ คือ ความเห็นผิดที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุ, นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในผล, อกิริยทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุและผลของกรรม และ สัสสตทิฏฐิ มีความเห็นว่าเที่ยง, อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ตลอดทั้งความเห็นผิดในทิฏฐิ ๖๒ ประการ ที่นอกจากสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิพิเศษนี้ปรากฏได้เฉพาะในบุคคลบางคน และบางโอกาสเท่านั้น ไม่ได้เกิดเป็นประจำในบุคคลอื่นทั่วไป เป็นปกติวิสัยอย่างทิฏฐิสามัญ

ธรรมชาติที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผิดโดยไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง มิจฉาทิฏฐินั้นมีความวิปริตเช่นเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผลเป็นลักษณะ มิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นมโนทุจริต มีองค์ ๒ คือ :-

๑. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปริตตา มีเรื่องที่วิปริตจากอาการที่เป็นจริงยึดถือไว้
๒. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสูปฏฐานํ ความปรากฏแห่งเรื่องนั้น ไม่เป็นอย่างที่ยึดถือ

บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมถึงกรรมบถเป็นมโนทุจริตด้วย นัตถิกทิฏฐิ, อเหตุกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิเท่านั้น หาถึงเพราะทิฏฐิเหล่าอื่นไม่ มิจฉาทิฏฐินี้ถ้ายึดดิ่ง ก็มีโทษมาก ไม่ยึดดิ่ง ก็มีโทษน้อย ในสามัญผลสูตร แสดงความไม่เชื่อในผล คือ นัตถิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ ได้แก่
    ๑. นตฺถิ ทินฺนํ 
เห็นว่า การให้ทาน ไม่มีผล
    ๒. นตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่มีผล
    ๓. นตฺถิ หุตํ เห็นว่า การต้อนรับปฏิสันถาร ไม่มีผล
    ๔. นตฺถิ สุกต ทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดี ทำชั่วไม่มีผล
    ๕. นตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้ไม่มี
    ๖. นตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพอื่นไม่มี
    ๗. นตฺถิ มาตา เห็นว่า คุณของมารดา ไม่มี
    ๘. นตฺถิ ปิตา เห็นว่า คุณของบิดา ไม่มี
    ๙. นตฺถิ โอปฺปาติกา เห็นว่า สัตว์ผุดเกิดเติบโตขึ้นทันที ไม่มี (เช่น สัตว์นรก, เปรต, เทวดา)
    ๑๐. นตฺถิโลเก สมณพฺรหฺมณา สมคฺคตา สมฺมา ปฏิปนฺนา เย อิมญฺจโลกํ ปรญฺจ โลกํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ เห็นว่า สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้า ด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงสมณพราหมณ์ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้น ไม่มี

ผู้มีนัตถิกทิฏฐินี้ ปฏิเสธผล เท่ากับปฏิเสธเหตุแห่งกุศล และอกุศลกรรมด้วย นับเป็นทิฏฐิพิเศษ ย่อมเกิดกับบุคคลผู้มิได้สดับพระสัทธรรม


มานเจตสิก

มานเจตสิก คือ ความถือตัว ความทะนงตน ได้แก่ สภาพความถือตัวว่าเราสำคัญกว่าคนอื่น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อุนฺนติ ลกฺขโณ มีการทะนงตน เป็นลักษณะ
    สมฺปคฺคห รโส มีการยกย่อง (ตนและสัมปยุตตธรรม) เป็นกิจ
    เกตุกมฺยตา ปจฺจุปฏฺฐาโน มีความปรารถนาสูงเหมือนธง เป็นผล
    ทิฏฐิวิปปยุตฺตโลภ ปทฏฺฐาโน มีความโลภที่ปราศจากทิฏฐิ เป็นเหตุใกล้

มานะ คือ ความถือตัวนี้ จำแนกเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ ประการคือ :-

๑. อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
๒. ยาถาวมาน ความถือตัวที่เป็นไปตามความเป็นจริง

ความถือตัวทั้ง ๒ ประการนี้ อาจแยกย่อยได้อีก ๙ ประการคือ :-

อยาถาวมาน ถือตัวที่ไม่เป็นความจริง ๖ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า ตัวเป็นคนชั้นต่ำ
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง

ยาถาวมาน ถือตัวที่เป็นไปตามความจริง ๓ ประการ
    ตัวเป็นคนชั้นสูง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นสูง
    ตัวเป็นคนชั้นกลาง ถือตัวว่า เป็นคนชั้นกลาง
    ตัวเป็นคนชั้นต่ำ ถือตัวว่า เป็นคนชั้นต่ำ

รวมมานะความถือตัวทั้งสิ้น ๙ ประการ

อยาถาวมาน ความถือตัวที่ไม่ตรงความจริง ละได้ด้วย โสดาปัตติมรรค
ยาถาวมาน ความถือตัวที่ตรงความจริง ละได้ด้วย อรหัตตมรรค

ความถือตัวนี้ แม้จะถือว่า ตนเป็นคนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ อย่างไรก็ตามและการถือตัวนั้น จะเป็นไปตามความจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เห็นว่าตนเป็นคนสำคัญกว่าผู้อื่น ไม่ยินดีคบหาสมาคมกับใคร ไม่ต้อนรับใคร และไม่ยอมอ่อนน้อมแก่ใคร อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, สารัมภะ แข่งดี, ถัมภะ หัวดื้อ, สาเลยยะ โอ้อวด เหล่านี้จัดเป็นมานะทั้งสิ้น อนึ่ง ถ้ามีการเปรียบเทียบ ระหว่างเรากับเขาขึ้นเมื่อใด และไม่ว่าการเปรียบเทียบนั้น เปรียบด้วยโคตร, สกุล, รูป, สมบัติ, ทรัพย์, ศิลปวิทยา การงาน ก็เป็นมานะทั้งสิ้น

เจตสิก ๓ ดวงที่กล่าวมาแล้วนี้ ชื่อว่าโลกเจตสิก เพราะมีโลภเจตสิกเป็นประธาน และเป็นเจตสิกที่ประกอบเฉพาะในโลภมูลจิต ๘ ดวงตามสมควรเท่านั้น


🔆 ค. โทจตุกเจตสิก
หมายถึง กลุ่มเจตสิกที่มีโทสเจตสิกเป็นประธาน

มีอยู่ด้วยกัน ๔ ดวงคือ โทสเจตสิก, อิสสาเจตสิก, มัจฉริยเจตสิก และ กุกกุจจเจตสิก

โทจตุกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบในอกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิต ๒ ดวง ตามสมควรเท่านั้น จะประกอบในอกุศลจิตประเภทอื่นเช่น โลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตไม่ได้ ต่อไปนี้ จะได้แสดงสภาวธรรมของโทจตุกเจตสิกตามลำดับ

โทสเจตสิก

โทสเจตสิก คือความโกรธ ความไม่ชอบใจ ความประทุษร้าย ได้แก่ สภาพธรรมที่ประทุษร้ายในอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    จณฺฑิกลกฺขโณ มีความดุร้ายหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ
    อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส (วา) มีการเผาที่อาศัยของตนเอง เป็นกิจ(หรือ) วิสปฺปนรโส มีความกระสับกระส่าย พลุ่งพล่าน เป็นกิจ
    ทุสฺสน ปจฺจุปฏฐาโน มีประทุษร้ายตน และผู้อื่น เป็นผล
    อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้

โทสเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพดุร้าย เหมือนอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่ายเหมือนถูกวางยาพิษ หรือมีการเผาที่อาศัยของตนเหมือนไฟไหม้ป่า มีการประทุษร้ายตนเหมือนศัตรูที่ได้โอกาส และโทสะนี้ย่อมอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตก่อให้เกิด 

อาฆาตวัตถุ อันเป็นเหตุใกล้ ก่อให้เกิดโทสะนั้น มี ๑๐ ประการคือ :-
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาได้เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขากำลังทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตเขา เพราะคิดว่า เขาจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เราเกลียด
    อาฆาตที่เกิดขึ้น นอกจากฐานะทั้ง ๙ ประการดังกล่าวแล้ว (เช่น โทสะเกิดเมื่อเดินสะดุด หรือเหยียบหนาม เป็นต้น)

อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุใกล้ให้โทสะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า โทสจิตตุปบาท ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโทมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ และโทมนัสที่เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ย่อมแสดงว่าจิตกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นโดยสภาวะที่ไม่พอใจ การกระทบอารมณ์โดยสภาวะที่ไม่พอใจนี้ชื่อว่า “ปฏิฆะ” โทสมูลจิตจึงชื่อว่า “ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ” เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือประกอบกับโทสเจตสิก เพราะกระทบอารมณ์อันไม่พอใจ โทสมูลจิตหมายรวมถึงจิตที่มีความไม่ชอบใจ เสียใจ กลุ้มใจ หงุดหงิดรำคาญใจ โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้นด้วย เมื่อ โทสะ เกิดแล้ว พยาบาท ย่อมเกิด ดังในกรรมบถที่เป็นมูลทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสว่า “โทโสโหติ” โทสะย่อมเกิด “พยาปาโทโหติ” พยาบาทนี้ย่อมเกิด

ย่อมแสดงให้เห็นว่า โทสะย่อมเป็นมูลให้เกิดพยาปาทะ ที่ชื่อว่า
พยาปาทะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ถึงความฉิบหาย คือเข้าถึงความเสียแห่งจิต หรือเพราะอรรถว่า ทำให้ระเบียบกิริยามารยาท อวัยวะร่างกายและประโยชน์เป็นต้น ให้ถึงความพินาศไป แต่โดยเนื้อความแล้ว พยาปาทะก็คือโทสะนั่นเอง ฉะนั้นโทสะจึงมีชื่อเรียกว่า “ปฏิฆะ” หรือ “พยาปาทะ” ก็ได้

อิสสาเจตสิก

อิสสาเจตสิก คือสภาพที่ไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่นมีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปรสมฺปตฺตีนํ อุสฺสูยนลกฺขณา มีความริษยาสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ
    ตตฺเถว อนภิรติรสา มีความไม่ยินดีในสมบัติผู้อื่น เป็นกิจ
    ตโตวิมุขภาว ปจฺจุปฏฐานา มีการเบือนหน้าหนีจากสมบัติผู้อื่น เป็นผล
    ปรสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานา มีสมบัติของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

ความไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่น ถ้าเป็นเพียงความไม่พอใจด้วยเห็นว่าไม่ใช่ของตนแล้ว ก็ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พอใจด้วยเห็นว่าผู้อื่นนั้นไม่ควรจะมีแล้วย่อมชื่อว่า “ริษยา” จึงจะมีโทษ และเป็นสภาพของอิสสา จึงเห็นว่าสภาพของอิสสานี้เป็นภาวะที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์จึงย่อมจะผูกพันสัตว์ไว้ในภพน้อยใหญ่ ซึ่งเรียกสภาพธรรมที่ผูกสัตว์นั้นว่า “สังโยชน์” อันได้แก่ “อิสสาสังโยชน์”


มัจฉริยเจตสิก

มัจฉริยเจตสิก คือความตระหนี่ ได้แก่ สภาพความหวงแหนทรัพย์สมบัติ หรือคุณงามความดีของตน มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อตฺตโนสมฺปตฺตีนํ นิคูหนลกฺขณํ มีความหวงแหนสมบัติของตน เป็นลักษณะ
    เตสํ เยว ปเรหิ สาธารณภาวอกฺขมนรสํ มีการไม่ชอบให้สมบัติของตนเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่น เป็นกิจ
    สงฺโกจน ปจฺจุปฏฐานํ (วา) มีการบูดเบี้ยวหน้า เป็นผล (หรือ) กฎกญฺจุกตา ปจฺจุปัฏฐานํ มีความเหนียวแน่น เป็นผล
    อตฺตสมฺปตฺติ ปทฏฺฐานํ มีสมบัติของตน เป็นเหตุใกล้

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ มี ๕ ประการ คือ :-
๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย
๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ หรือความงาม
๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ ความรู้ธรรม

อธิบาย อาวาสมัจฉริยะ คือตระหนี่ที่อยู่อาศัยนั้น นอกจากจะหวงแหนที่อยู่อาศัย อันได้แก่ อาคารบ้านเรือน กุฏิวิหารแล้ว แม้หวงที่นั่ง, ที่นอน, ที่ยืน, ที่เดิน ก็ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ

กุลมัจฉริยะ คือ ตระหนี่ตระกูล ได้แก่ การที่ภิกษุหวงตระกูลอุปัฏฐากไม่ยินดีให้ภิกษุอื่นไปรู้จักคุ้นเคยกับอุปัฏฐากของตน และสำหรับฆราวาสการกีดกันพวกพ้องวงศ์ตระกูลของตน ไม่ให้เกลือกกลั้วพัวพันกับตระกูลอื่นก็ชื่อว่ากุลมัจฉริยะ แต่ถ้าการกีดกันนั้นเพราะเห็นว่า บุคคลตระกูลอื่นนั้นเป็นอันธพาลชน ก็ไม่เป็นกุลมัจฉริยะ

ลาภมัจฉริยะ คือตระหนี่ลาภ ได้แก่การหวงแหนวัตถุสิ่งของอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อผู้อื่นมาขอ ก็มีความหวงแหน ไม่ให้ปันตามสมควรชื่อว่าลาภมัจฉริยะ แต่ถ้าผู้มาขอวัตถุสิ่งของอันเป็นลาภนั้น เป็นอันธพาลชนผู้ไม่ให้ลาภ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นลาภมัจฉริยะ

วัณณมัจฉริยะ คือ ตระหนี่วรรณะ วรรณะมี ๒ อย่าง คือ สรีรวัณณะ และคุณวัณณะ
    (๑) สรีรวัณณมัจฉริยะ หมายถึง ความอยากให้มีรูปร่างสวยงามเฉพาะตนผู้เดียว ไม่ยินดีในความสวยของผู้อื่น แม้ได้ยินใครกล่าวคำยกย่องความสวยงามของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า สรีรวัณณมัจฉริยะ
    (๒) คุณวัณณมัจฉริยะ หมายถึง หวงแหนคุณงามความดีไว้เฉพาะตน แม้มีผู้สรรเสริญคุณงามความดีของผู้อื่น ก็ไม่พอใจฟัง ดังนี้ชื่อว่า คุณวัณณมัจฉริยะ ธัมมมัจฉริยะ คือตระหนี่ธรรม ได้แก่ ความหวงแหนปริยัติธรรมมีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาต่างๆ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ตามที่ตนรู้ ชื่อว่า ธัมมปัจฉริยะ

กุกกุจจเจตสิก

กุกกุจจเจตสิก คือสภาพความเดือดร้อนใจ ได้แก่ ความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้ว และในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปจฺฉานุตาปลกฺขณํ มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง เป็นลักษณะ
    กตากตานุโสจน รสํ มีความเศร้าโศกเนืองๆในกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ เป็นกิจ
    วิปฺปฏิสาร ปญฺจุปัฏฐานํ มีความร้อนใจ เป็นผล
    กตากต ปทฏฺฐานํ มีอกุศลกรรมที่ทำแล้วและกุศลกรรมที่ยังไม่ได้ทำ เป็นเหตุใกล้

ความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร หรือสำคัญว่า ไม่ควรในของที่ควร เป็นมูลแก่กุกกุจจะ



🔆 ง. ทุกเจตสิก
หมายถึง เจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ ถีนเจตสิก และ 
มิทธเจตสิก ชื่อว่า ถีทุกะ โดยยกถีนเจตสิกเป็นประธาน เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ถ้าจะเกิดขึ้นประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง ก็เกิดพร้อมกันทั้ง ๒ ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิดด้วยกัน

ถีนเจตสิก

ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ สภาพที่จิตคลายลงจากอำนาจความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อนุสฺสาห ลกฺขณํ มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
    วิริยวิโนทน รสํ มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
    สํสีทน ปจฺจุปฏฐานํ มีความท้อถอย เป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

มิทธเจตสิก

มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้เจตสิกเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อกมฺมญฺญตา ลักขณํ มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
    โอนหน รสํ มีการกั้นกำบังสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
    ลีนตา ปจฺจุปฏฺฐานํ (วา) มีความท้อถอย เป็นผล (หรือ) จปลายิกานิทฺทา ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการโงกง่วงเป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฐานํ มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้


ข้อสังเกต

ถีนเจตสิก มีหน้าที่ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ 
มิทธเจตสิก มีหน้าที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดพร้อมตนท้อถอยจากอารมณ์ อุปมา ถีนะ เหมือนดวงไฟ มิทธะเหมือนแสงสว่างจากดวงไฟ เมื่อดวงไฟหรี่ แสงสว่างก็จะลดน้อยลงพร้อมๆ กันด้วย ถีนมิทธเจตสิกนี้ ละได้ด้วยอรหัตตมรรค จึงแสดงว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ได้หลับนอนด้วยกิเลส แต่หลับนอนด้วยความอ่อนเพลียของกรัชกาย

🔆 จ. วิจิกิจฉาเจตสิก
เป็นธรรมชาติที่มีความเคลือบแคลงสงสัยใน
อารมณ์ เจตสิกดวงนี้จะเกิดขึ้นประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตได้ดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉาเจตสิก

วิจิกิจฉาเจตสิก คือสภาพที่มีความสงสัย ไม่อาจแก้ไขเยียวยาด้วยญาณปัญญาของตนได้ จึงสงสัยในคุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นต้น มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สํสย ลกฺขณา มีความสงสัย เป็นลักษณะ
    กมฺปน รสา มีความหวั่นไหวในอารมณ์ เป็นกิจ
    อนิจฺฉย ปจฺจุปัฏฐานา มีความไม่สามารถตัดสินใจได้ ป็นผล
    อโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐานา มีการกระทำในใจต่ออารมณ์ไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้

ความสงสัยในความหมายของวิจิกิจฉานั้น ไม่ใช่เป็นความสงสัยในวิชาการต่างๆ หรือบัญญัติธรรมอื่นๆ แต่หมายเฉพาะความสงสัยในลักษณะ ๘ ประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ :-

๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่ สงสัยในพระสรีระ หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ
๒. สงสัยในพระธรรม ได้แก่ สงสัยในมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกว่า เป็นธรรมที่จะนำออกจากวัฏฏทุกข์ได้โดยเด็ดขาดจริงหรือ?
๓. สงสัยในพระสงฆ์ ได้แก่ สงสัยว่า พระอริยสงฆ์นั้นมีจริงหรือ? พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน มีหรือ? ผลแห่งทานที่ถวายแก่พระสงฆ์นั้น มีจริงหรือ?
๔. สงสัยในสิกขา ๓ ได้แก่ สงสัยว่า ศีล สมาธิ ปัญญาดีจริงหรือ? และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขา ๓ นั้นมีจริงหรือ?
๕. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอดีต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติก่อนนั้น มีหรือ?
๖. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคต ได้แก่ สงสัยสภาพตัวตน คน สัตว์ ว่าชาติหน้าจะ มีอีกจริงหรือ?
๗. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตและอนาคต ได้แก่สงสัยในสภาพตัวตน คน สัตว์ว่า ทั้งอดีตและอนาคตชาติหน้านั้น จะมีจริงหรือ?
๘. สงสัยในปฏิจจสมุปบาทธรรม ได้แก่ สงสัยในสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล อาศัยกันเกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกันไปไม่ขาดสายเลยนั้น มีจริงหรือ?

ความสงสัยประการอื่น ที่นอกจากสงสัยในสภาพธรรม ๘ ประการนี้ เช่น สงสัยในวิชาการต่างๆ อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัตินั้น เพราะสัญญายังอ่อน ไม่ใช่สภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก ที่ประกอบด้วยอกุศลจิต ชนิดที่เป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุต ความสงสัยประเภทนี้ชื่อว่า “ปฏิรูปกวิจิกิจฉา” ซึ่งไม่จัดว่าเป็นกิเลสที่ประกอบในโมหมูลจิต อาจสงเคราะห์ในอุทธัจจสัมปยุตจิตได้



วิกิ

ผลการค้นหา