กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่ยังท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ คือภูมิอันเป็นแดนเกิดแห่งกิเลสกาม และวัตถุกาม แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ประพฤติเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ ปราศจากโทษร้ายภัยพิบัติ กามาวจรโสภณจิตนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า
คาถาสังคหะ
เวทนาญาณสังขาร เภเทน จตุวีสติ สเหตุกามาวจร ปุญฺญปากกริยา มตาฯ
แปลว่า “จิต ๒๔ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่ง เวทนา ญาณ และสังขารเรียกว่า สเหตุกกามาวจรกุศลจิต สเหตุกกามาวจรวิบากจิต และ สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต”
อธิบาย
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เหตุที่ประกอบกับจิตนี้ เป็นฝ่ายโสภณเหตุหรือเหตุบุญ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ตามสมควร จิตที่มีเหตุต่างๆ ประกอบนี้ เรียกว่า “สเหตุกจิต” ในกามาวจรโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวงนี้ มีเหตุประกอบทุกดวง จึงชื่อว่าเป็นสเหตุกจิตทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยออกไปเป็น ๓ ประเภทแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอาคำ “สเหตุก” นำหน้าอีก คงใช้แต่ กามาวจรกุศล กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิตเท่านั้น
แสดงการจําแนกกามาวจรโสภณจิต ๓ ประเภท
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง
- กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
- กามาวจรวิบากจิต ๘ ดวง
- กามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง
กามาวจรกุศลจิต กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิต ทั้ง ๓ ประเภทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหากุศลจิต มหาวิบากจิต และมหากิริยาจิต
กุจฺฉิเต ปาปธมฺเม สลยติ กมุเปติ วิทฺธํเสตีติ = กุสลํ
แปลว่า ธรรมชาติใด ย่อมทำให้หวั่นไหว หรือย่อมทำลายซึ่งบาปธรรม อันบัณฑิตทั้งหลายจึงเกลียด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า กุศล
คำว่า “กุศล” หมายถึง กุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ปราศจากความเศร้าหมองเร่าร้อนไม่มีโทษ และให้ผลเป็นความสุขมีความหมายอยู่ ๕ ประการ คือ
๑.อโรคยตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสราคะ เป็นต้น เสียดแทงจิตใจและร่างกาย ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เหล่านี้ ชื่อว่า “โรค” เพราะเสียดแทงประทุษร้ายจิตใจและร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย
๒. สุนทรตฺก มีอรรถว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายได้
๓. เฉกตฺถ มีอรรถว่า เป็นสิ่งฉลาดเรียบร้อย คือ เมื่อเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศลจึงมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม
๔. อนวชฺชตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโทษอันใดจะพึงติเตียนได้
๕. สุขวิปากตฺถ มีอรรถว่า ให้ผลเป็นความสุขสมปรารถนา
อรรถแห่งบุญ
อตฺตโน สนฺตานํ ปุนาติ โสเธตีติ = ปุญฺญํ
แปลว่า การกระทำใด ย่อมชำระสันดานของตนให้ขาวสะอาด ฉะนั้นการกระทำนั้น ชื่อว่า บุญ