อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า ๑)

คำว่า “อเหตุกะ” หมายถึง ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จึงหมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ตามธรรมดาจิตที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบุญ ก็เหตุบาป อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กุศลเหตุ อกุศลเหตุ

เหตุบาป หรือ อกุศลเหตุนั้น ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, และโมหเหตุ
เหตุบุญ หรือ กุศลเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

รวมเหตุบุญและเหตุบาปมีอยู่ด้วยกันเพียง ๖ เหตุนี้เท่านั้น ธรรมที่เป็นเหตุนี้เป็นเจตสิกธรรม ที่ประกอบกับจิต จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุดังกล่าวประกอบด้วยนั้น ชื่อว่า “สเหตุกจิต” แต่ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๖ เหตุดังกล่าวแล้วนั้นเลย จิตประเภทนี้แหละ ที่ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบุญและเหตุบาปประกอบด้วยเลย เหตุที่ประกอบนี้ มุ่งหมายถึง สัมปยุตเหตุ คือเหตุที่ประกอบกับจิตทันที แต่อุปัตติเหตุ คือเหตุที่ทำให้จิตแต่ละดวงปรากฏขึ้น เหล่านี้ย่อมมีอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุนี้ มีอยู่ ๑๘ ดวง แบ่งออกตามที่แสดงไว้ในคาถาสังคหะได้ ๓ จำพวก

คาถาสังคหะ

สตฺตากุศลปากานิ  ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กริยาจิตฺตานิ ตีณีติ  อฏฐารส อเหตุกา ฯ แปลความว่า อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวงนี้ เป็น "อเหตุกจิต"

🔆 แสดงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อกุศลวิปากจิต ๗ เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม หมายความว่า อกุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่อดีต ย่อมไม่สูญหายไปไหน จะคอยโอกาสเพื่อสนองให้ได้รับผลเป็นอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส รับ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ อันมีแต่จะเป็นผลให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน จิตที่รับรู้ผลของอกุศลกรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อกุศลวิปากจิต ซึ่งมีจำนวน๗ ดวง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หมายความว่ากุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายดี คือ บุญ ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ย่อมจะไม่สูญหายไปไหนเช่นเดียวกัน จะคอยโอกาสที่จะสนองให้ได้รับผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้ากุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมีกำลังอ่อน คือเป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร หรือกุศลชวนะดวงที่ ๑ ในปัจจุบันภพนี้ ย่อมจะมีกำลังในการให้ผลอ่อนเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ มีการเห็น ได้ยินได้กลิ่น รู้รสที่ดีๆ เป็นต้น ผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนนี้ ย่อมให้จิตรับรู้โดยความเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต คือเป็นจิตที่รับรู้ผลในทางที่มีอยู่ ๘ ดวง

อเหตุกกิริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมแต่อย่างใด และก็ไม่ใช่เป็นกุศลจิตด้วย หรืออกุศลจิตด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่เปิดทวารให้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ได้ผ่านเข้ามากระทบกับ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็นกิริยาของจิตที่จะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น จึงชื่อว่า เป็นอเหตุกกิริยาจิตมีจำนวน ๓ ดวง


ข้อควรสังเกต จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลวิปากจิต” แต่ส่วนจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เรียกว่า “อเหตุกกุศลวิปากจิต” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะอกุศลกรรมนั้น มีกำลังอ่อน ให้ผลแต่ในประเภทอเหตุกจิตประเภทเดียว ทั้งนี้เพราะอกุศลกรรมย่อมเกิดจากอกุศลจิต และอกุศลจิตทุกดวง สัมปยุตด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ทำให้จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคงทำให้อกุศลเจตนาที่ประกอบด้วยเหตุนั้นอ่อนกำลังลง และไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากชนิดที่ประกอบด้วยเหตุได้ฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม จึงมีแต่ประเภทอเหตุกจิตฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นประเภทสเหตุกจิต เหมือนอย่างผลของมหากุศล จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อเหตุกอกุศลวิปากจิต” คงเรียกแต่ “อกุศลวิปากจิต”เท่านั้น

ส่วนผลของกุศลกรรมนั้น ถ้ากุศลกรรมมีกำลังมาก ก็ให้ผลเป็นสเหตุกจิต คือ มีกุศลเหตุเข้าประกอบ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุสัมปยุตด้วย แต่ถ้ากุศลกรรมมีกำลังในการให้ผลน้อย เพราะกุศลมีอกุศลเป็นบริวารแล้ว ก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีกุศลสัมปยุตเหตุ ด้วยเหตุนี้ ผลของกุศลจึงมี ๒ ฝ่าย คือ สเหตุกกุศลวิปากจิต และอเหตุกกุศลวิปากจิต ฉะนั้น ผลของกุศลที่มีกำลังน้อย จึงต้องแยกเรียกเป็น“อเหตุกกุศลวิปากจิต”

กิริยาจิตก็มี ๒ ฝ่าย คล้ายกุศลวิปากจิต คือมีทั้งสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่กระทำการงานต่าง ๆ เป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่ามหากิริยาจิตมีจำนวน ๘ ดวง และอเหตุกิริยาจิต ซึ่งได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่การงานเปิดทวารรับกระทบอารมณ์ใหม่ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายมีจำนวน ๒ ดวง และจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” เกิดขึ้น เพราะประสบอนิฏฐารมณ์อีก ๑ ดวง จิตทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ ไม่มีสัมปยุตเหตุ จึงชื่อว่า “อเหตุกจิต” และสักแต่ว่ามีหน้าที่ในการกระทำกิจการงานจึงชื่อว่า “อเหตุกกิริยาจิต” ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดต่อไป


👉 อกุศลวิปากจิต ๗

อกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต มีจำนวน ๗ ดวง ได้แก่

๑. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม เห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดี
๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดี
๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้รสที่ไม่ดี
๕. ทุกขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญญาณ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศลกรรม ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สมปฏิจฉนจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆเป็นผลของอกุศลกรรม รับอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ) ที่ไม่ดี
๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สนุรณจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่ไม่ดี

ในอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการ คือ

        ๑. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนั้น มีชื่อเรียกต่างกัน คือ เรียกว่า “วิญญาณ” บ้าง เรียกว่า “จิต” บ้าง ที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้น ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา คือ เห็น
  • โสตวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยิน
  • ฆานวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่น
  • ชิวหาวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รส
  • กายวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้สัมผัสถูกต้อง

การบัญญัติชื่อเรียก จิต ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัย เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม ในที่นี้จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุทวาร ถ้าเรียกว่า จักขุจิต จะทำให้เข้าใจไปว่า “จักขุ” นั้นเป็น “จิต” แท้ที่จริงแล้วจักขุมีสภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่อาจรู้อารมณ์ได้ สภาพที่รู้อารมณ์ได้แก่วิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม แต่วิญญาณนี้อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” วิญญาณอื่นๆ มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกัน แต่ส่วนอกุศลวิปากจิตที่เหลืออีก ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนั้น เรียกว่า “จิต” ไม่เรียกว่า “วิญญาณ”

เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว จักขุวิญญาณ เป็นต้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัยทวารและวัตถุ ซึ่งเป็นชื่อของรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดไปว่า รูปธรรมนั้นเป็นจิตได้ ส่วนสัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนี้ บัญญัติโดยอาศัยกิจคือ หน้าที่การงานของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และจิตก็เป็นผู้กระทำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอาคำว่าวิญญาณมาซ้อนกับจิตอีกซึ่งเรียกชื่อโดยตรงว่า “สัมปฏิจฉนจิต” เป็นจิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์โดยตรง และ “สันตีรณจิต” ก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญจารมณ์โดยตรง

        ๒. เวทนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลวิปากจิตนั้น มี ๒ เวทนา คือ อุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉนจิตและสันตีรณจิต จิตทั้ง ๖ นี้ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือความเฉยๆ ไม่รู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูป กับ อุปาทายรูป คือ รูปารมณ์ กับ จักขุปสาท เป็นต้น อุปมาเหมือนสำลีกระทบกับสำลีย่อมมีกำลังแห่งการกระทบกันน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขนาดเป็นทุกข์ เป็นสุขขึ้นมาได้ ส่วนกายวิญญาณนั้น จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายอกุศลวิบากกายวิญญาณจิตย่อมเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป คือ ปถวี เตโช วาโย ธาตุ (เว้นอาโป คือ ธาตุน้ำ) กับอุปาทายรูป (กายปสาท) อุปมาเหมือนเอาฆ้อนทุบสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังในการกระทบกันแรง จึงก่อให้เกิดทุกขเวทนาปรากฏขึ้นได้


👉 อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘

อเหตุกกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือจิตที่เกิดจากอำนาจของกุศลเจตนาในมหากุศลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่เพราะความบกพร่องแห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ เจตนาก่อนการกระทำกุศลกรรม เจตนาขณะกำลังกระทำกุศลกรรม และเจตนาภายหลังที่ได้กระทำกุศลกรรมนั้นแล้ว กาลใดกาลหนึ่งจึงทำให้ผลแห่งกุศลเจตนานั้น มีกำลังอ่อน และให้ผลเป็นอเหตุกะ คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบในฐานะเป็นสัมปยุตเหตุ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ จึงปรากฏขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต มีจำนวน ๘ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดีๆ
๒. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี
๓. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี
๔. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี
๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมกับสุขเวทนาเป็นผลของกุศล ได้สัมผัสสิ่งที่ดี
๖. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สมปฏิจฉนจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๗. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สนุรณจิตตํ จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนุตีรณจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีเป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวงนี้ เป็นสภาพจิตที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารทำนองเดียวกับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่ว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนี้ เป็นผลในทางดีที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัสแต่ที่ดีๆ ซึ่งเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับอกุศลวิปากจิต เป็นที่น่าสังเกตว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนั้น มีจำนวน ๘ ดวง ซึ่งมีมากกว่าอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิต ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสันตีรณจิต เป็นจิตที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอารมณ์ และอารมณ์ทางฝ่ายกุศลวิปากจิตนั้นจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างธรรมดาอย่างหนึ่ง
  • อติอิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
กุศลวิบากสันตีรณจิตนั้นเมื่อเวลาได้รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา กุศลวิบากสันตีรณจิตนี้ จึงชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต << ขยายความ เช่น ท่านได้ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทุกวัน ๆ  อาหารเป็นกุศลวิบากที่ท่านได้รับ แต่อารมณ์ที่ได้ลิ้มรสอาหารมันก็ธรรมดาๆ เหมือนๆเ ดิม อารมณ์ในการกินอาหารจึงเป็นได้แค่อิฎมัชฌัตตารมณ์ แต่ถ้าวันไหนมื้อเช้าเปลี่ยนจากข้าวต้ม เป็นอาหารเริสรสอย่างอื่น เป็นเป็ดย่าง ขาหมูรมควัน อารมณ์ท่านก็จะดียิ่งขึ้น มีความโสมนัส ความพอใจยิ่งๆกว่าเก่า เกิดขึ้น อารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นโสมนัสนี้ก็เรียกว่า อติอิฎฐารมณ์ >> เมื่อเวลาได้รับอติอิฏฐารมณ์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา กุศลวิบากชนิดนี้ จึงชื่อว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

แต่ส่วนอกุศลวิบากสันตีรณจิตนั้น เมื่อเวลาได้รับอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างธรรมดา หรือได้รับอติอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ไม่อาจเกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเฉพาะทางใจ) ได้เพราะโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ) นั้น จะต้องประกอบกับโทสมูลจิตเท่านั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าโทสมูลจิตนี้ เมื่อว่าโดยชาติตระกูลของจิตแล้วก็เป็นอกุศลชาติ และเมื่อว่าโดยเหตุแล้ว ก็เป็นอกุศลเหตุ คือ โทสะเหตุ แต่สันตีรณจิตนั้น ย่อมเป็นจิตที่เป็นวิปากชาติอย่างเดียว คือ เป็นจิตชนิดที่เป็นผล ไม่ใช่ชนิดที่เป็นเหตุ และยังเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นอกุศลวิบากสันตีรณจิต ถึงแม้จะได้รับอารมณ์ชนิดที่เป็นอติอนิฏฐารมณ์ ก็เกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนาไม่ได้เลยต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อกุศลวิปากจิต จึงต้องมีเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าอเหตุกกุศลวิปากจิตอยู่ ๑ ดวง <<ตรงนี้ให้พิจารณา อกุศลวิบากสันตีรณจิตก็เป็นจิตดวงนึง โทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นจิตดวงนึง ตัวสันตีรณะ เป็นวิบากจิตก็จริง ตัวมันเองไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่ก็เป็นเหตุส่งต่ออารมณ์ให้จิตดวงต่อไปว่าจะเกิดเป็นโทสะ,โทมนัส หรือ มีปัญญาไต่สรวญอารมณ์ที่ไม่ดีให้ยุติที่อุเบกขาคือรู้ตามสภาพจริงว่ามันคืออกุศลวิบาก ข้อนี้พระพุทธองค์จึงกล่าวแยกจิตออกเป็น ๒ ดวง เพราะแม้แต่ผู้บรรลุอรหันตผลแล้วก็ยังต้องรับอกุศลวิบากอยู่ แต่การปรุงแต่งของจิตต่อจากนั้นไม่มีแล้ว คือก็สักแต่ว่ารับรู้จิตดวงที่เป็นอกุศลวิบากแต่จิตที่เป็นโทสะจะไม่เกิดขึ้นตาม โทสะมูลจิตไม่เกิดโทมนัสก็เกิดไม่ได้>>

อนึ่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ที่เป็นไปทั้งฝ่ายอกุศลวิบาก และ กุศลวิบากนั้น นิยมเรียกกันว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งหมายถึงจิต ๑๐ ดวง ที่อาศัยเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกายทั้งทางฝ่ายดี และไม่ดีเพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และเรียกชื่อจิตเหล่านั้นนั่นเอง

👉 หน้าต่อไป

วิกิ

ผลการค้นหา