🔆 สุขของพระพุทธเจ้า
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์ โคใช้ ๑๔ ตัว ของเราไม่มีเลย แต่ของท่านหายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ ดูก่อนพราหมณ์ งาทั้งหลายอันเลว มีใบหนึ่งและสองใบในไร่ของเรา ไม่มีเลย ..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ ดูก่อนพราหมณ์ หนูทั้งหลายในฉางเหล่าย่อมไม่รบกวนเรา ด้วยการยกหูหางขึ้นแล้วกระโดดโลดเต้น ..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ ดูก่อนพราหมณ์ เครื่องลาดของเรา ใช้ตั้งเจ็ดเดือนไม่ดารดาษด้วยสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ ดูก่อนพราหมณ์ หญิงหม้าย บุตรธิดา มีบุตรคนหนึ่งและสองคนของเราไม่มีเลย..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ดูก่อนพราหมณ์ แมลงวันมีตัวอันลาย ไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้า (ของมัน) ย่อมไม่ไต่ตอมเราเลย ..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข “ ดูก่อนพราหมณ์ ในเวลาใกล้รุ่ง เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมไม่ทวงเราเลยว่าท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ..... เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข”
ปัญหา วันหนึ่งกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเตรียมจะไถนาพระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาต พราหมณ์เห็นแล้วกล่าวขึ้นว่า เขาเองไถและหว่านแล้วจึงบริโภค และขอให้พระพุทธองค์ไถและหว่านแล้วบริโภคเช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสว่าเราก็ไถและหว่านแล้วบริโภคเหมือนกัน พราหมณ์จึงกล่าวว่า พระองค์ตรัสว่าเป็นชาวนา แต่เขาไม่เห็นไถของพระองค์เลย ?
พุทธดำรัสตอบ “ ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตักเรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้าด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก”
“นี่การไถ เราไถอย่างนี้แล้ว ย่อมมีอมฤตเป็นผล ครั้นไถอย่างนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
กสิสูตร
🔆 ทำบ่อย ๆ ดี
ปัญหา พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านอุทัยพราหมณ์ติดกัน ๓ ครั้ง อุทัยพราหมณ์ก็ใส่บาตรทั้ง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ ได้กล่าวขึ้นว่า พระสมณโคดมนี้ติดในรส (อาหาร) จึงเสด็จมาบ่อย ๆ?
พุทธดำรัสตอบ “ กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญญชาติบ่อย ๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อย แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ ผู้ต้องการน้ำนม ย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อย ๆ บุคคลย่อยลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อย ๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรค แล้วไม่เกิดอีก ดังนี้”
อุทัยสูตร
🔆 บุคคลที่ควรยำเกรง
ปัญหา (มานัตถัทธพราหมณ์ทูลถาม) ไม่ควรทำมานะ (เย่อหยิ่งต่อ) ในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงใคร บูชาใครด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี ?
พุทธดำรัสตอบ “ ไม่ควรทำมานะในมารดาบิดา พี่ชายและในอาจารย์ เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี บุคคลพึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความกระด้างในพระอรหันต์ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น”
มานัตถัทธสูตร
🔆 แม้พระพุทธเจ้ายังทรงปวารณา
ปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดแล้วทั้งกาย วาจา ใจ ไม่น่าจะมีข้อผิดพลาดบกพร่องใดๆ ที่จะต้องสารภาพต่อผู้อื่น และให้ผู้อื่นตักเตือนมิใช่หรือ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอปวารณาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะไม่ติเตียนกรรมได ๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ?
ปวารณาสูตร
🔆 กำเนิดมนุษย์ในครรภ์
ปัญหา (อินทกยักษ์ทูลถาม) ถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าว่า รูปหาใช่ชีพไม่ สัตว์นี้จะประสบร่างกายนี้ได้อย่างไรหนอ กระดูกและก้อนเนื้อ จะมาแต่ไหน สัตว์นี้จะติดอยู่ในครรภ์ได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็น เปสิ จากเปสิ เป็นฆนะ จากฆนะ เกิดเป็น ๕ ปุ่ม ต่อจากนั้นก็มีผมขนและเล็บเกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใดสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ก็ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้น ในครรภ์นั้น
อินทกสูตร
🔆 อธิบายปฏิจจสมุปบาท
ปัญหา ช่วงต่างๆ ของปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่ลึกซึ้งยากกาการเข้าใจนั้น หมายถึงอะไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ชราและมรณะเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก.... นี้เรียกว่าชรา ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความทำลาย.... ความแตกแห่งขันธ์.... นี้เรียกว่ามรณะ
“ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด.... ความปรากฏแห่งขันธ์.... นี้เรียกว่าชาติ
“ก็ภพเป็นไฉน ภพ ๓ เหล่านี้ คือ กามภพ รูปภาพ อรูปภาพ นี้เรียกว่าภพ
“ก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัมพพตุปาทาน อัตตาวาทุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทาน
“ก็ตัณหาเป็นไฉน ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา นี้เรียกว่าตัณหา
“ก็เวทนาเป็นไฉน เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่าเวทนา
“ก็ผัสสะเป็นไฉน ผัสสะ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าผัสสะ
“ก็สฬายตนะเป็นไฉน อาตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่า สฬายตนะ
“ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป
“ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าววิญญาณ
“ก็สังขารเป็นไฉน สังขาร ๓ เหล่านี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร นี้เรียกว่าสังขาร
“ก็อวิชชาเป็นไฉน ความไม่รู้ทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่า อวิชชา.....”
วิภังคสูตร
🔆 มีอาหารแต่ไม่มีผู้กิน
ปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หมู่สัตว์ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ๔ อย่างคือ
๑. กวฬึงการาหาร
๒. ผัสสาหาร
๓. มโนสัญเจตนาหาร
๔. วิญญาณาหาร
พระโมลิยผัคคุณะได้ทูลถามว่า ใครเป็นผู้กินวิญญาณาหาร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่ากลืนกิน (วิญญาณาหาร) ถ้าเรากล่าวว่า “กลืนกิน” ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า ใครหนอย่อมกลืนกิน? แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น
“....ผู้ใดพึงถามเรา อย่างนี้ว่า วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรหนอ ? อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่อความบังเกิดใหม่ในภพต่อไป เมื่อวิญญาณาหาร นั้นเกิดมีแล้ว จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.... เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา... เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา.... เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน.... เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ.... เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมี ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัสอุปายาส..... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้”
ผัคคุณสูตร
🔆 สัมมาทิฐิคืออะไร
ปัญหา (พระกัจจานโคตรทูลถาม ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงชื่อว่า สัมมาทิฐิ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกัจจานะ โลกนี้โดยมากอาศัยส่วนสุด ๒ อย่าง คือ ความมี (สัสสตทิฏฐิ-ความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเที่ยง - มีอยู่ตลอดไป) ๑ ความไม่มี (อุจเฉททิฏฐิ ความเป็นว่าสิ่งทั้งปวงขาดสูญไม่มี) ๑ ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความ (เห็นว่า) ไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความ (เห็นว่า) มีในโลกย่อมไม่มี “โลกนี้โดยมาก ยังพัวพันด้วย อุบาย อุปาทาน และอภินิเวส แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัย อันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเราดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั้นแหละเมื่อบังเกิดขึ้นย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.... จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ
“ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่หนึ่งนี้มีว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่สองมีอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ.... นามรูป... สฬายตนะ.... ผัสสะ.... เวทนา.... อุปาทาน.... ภพ....
ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.....”
กัจจานโคตตสูตร
🔆 มีทุกข์แต่ไม่มีผู้เสวย
ปัญหา อเจลกัสสปปริพพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าทุกข์ตนทำเองหรือผู้อื่นทำให้ หรือทั้งตนทั้งผู้อื่นทำ หรือไม่ใช่ทั้งตนทั้งผู้อื่นทำ ? พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่างกล่าวอย่างนั้น อเจลกัสสปทูลถามต่อไปว่า ทุกข์ไม่มีหรือ? พระพุทธองค์ตรัสว่า ทุกข์มีแน่ และพระองค์ทรงรู้จักดี เมื่ออเจลกัสสปทูลขอให้อธิบายทุกข์พระพุทธองค์ตรัสตอบดังต่อไปนี้....
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกัสสป เมื่อบุคคลถืออยู่ นั่นผู้กระทำ นั้นผู้เสวย ถ้าเราจักกล่าวว่า ทุกข์ตนกระทำเอง ดังนี้ อันนี้เป็นสัสสตทิฐิไป “เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทงอยู่ (ย่อมเข้าใจไป) ว่า ผู้กระทำคนหนึ่งผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง ถ้าเราจักกล่าวว่า ทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ดังนี้ อันนี้เป็นอุจเฉททิฐิไป
“.....ดูก่อนกัสสป ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้น ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ.... นามรูป... สฬายตนะ.... ผัสสะ.... เวทนา.... อุปาทาน.... ภพ....ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ “เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ สฬายตนะดับ.... ผัสสะ.... เวทนา.... อุปาทาน.... ภพ.... ชาติ.... ชรา..... มรณะ....จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.....”
อเจลกัสสปสูตร
🔆 ใครเป็นผู้สร้าง
ปัญหา ทุกข์ทั้งปวง ตั้งแต่อวิชชาเป็นต้นไปถึง ชาติ ชรา มรณะ มีใครเป็นผู้สร้างหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย....
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ....
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ....
เพราะอุปทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ....
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปทาน....
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา....
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา....
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ....
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ....
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป....
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ....
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร....
เพราะตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธรรมฐิติ (เป็นสภาพตั้งอยู่ตามธรรมดา) ธรรมนิยาม (เป็นสภาพแน่นอนตามธรรมดา) อิทัปปัจจัย (เป็นมูลเหตุอันแน่นอน) ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำ ให้ตื้น และตรัสว่าท่านทั้งหลายจงดูดังนี้.....”
ปัจจัยสูตร
🔆 ทางหนีทุกข์
ปัญหา จงแสดงสายแห่งความทุกข์ และสายแห่งความดับทุกข์ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เป็นขั้นๆ ไป?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย สฬายตนะมีนามรูปเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสิทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูญาณทัสสนะ (การรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง) มีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทา(ความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่ายในกองทุกข์) มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะ (ความสิ้นกำหนัด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความคลายออกได้หายติด) มีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุต(ความหลุดพ้น) มีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป (อรหัตตผล) มีวิมุติเป็นที่อิงอาศัย”
อุปนิสสูตร
🔆 เหตุของทุกข์
ปัญหา สมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทุกข์ตนทำเองบ้าง ผู้อื่นทำเองบ้าง ทั้งตนทั้งผู้อื่นทำบ้าง ไม่ใช่ทั้งตนไม่ใช่ทั้งผู้อื่นทำบ้าง ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีทรรศนะอย่างไร?
พระสารีบุตรตอบ (พระพุทธเจ้าทรงรับรอง) “.....ดูกรท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะ เกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้ง การคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้
ดูกรท่าน ทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม บัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็น ปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่น ทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าว กรรมบัญญัติว่าเกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขา ย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม.....”
อัญญติตถิยสูตร
🔆 สมณพราหมณ์ที่แท้จริง
ปัญหา สมณพราหมณ์ที่แท้จริงตามความหมายทางพระพุทธศาสนานั้น ควรจะมีคุณสมบัติที่สำคัญอะไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่กำหนดรู้ชราและมรณะ ย่อมกำหนดรู้เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมกำหนดรู้ความดับแห่งชราและมรณะ ย่อมกำหนดรู้ ชาติ ...ภพ.... อุปาทาน.... ตัณหา....เวทนา....ผัสสะ...สฬายตนะ....นามรูป.... วิญญาณสังขาร ย่อมไม่กำหนดรู้เหตุเกิดแห่งสังขาร... ความดับแห่งสังขาร.... ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับสมมติว่าเป็นสมณะ ในหมู่สมณะ หรือไม่ได้รับสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านี้จะทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ไม่ได้....”
สมณพราหมณ์สูตร
🔆 พระเสขะและพระอเสขะ
ปัญหา พระเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา ยังไม่ใช่อริยบุคคลชั้นอรหันต์) กับพระอเสขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษาได้บรรลุมรรคผลแล้ว) มีข้อปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติต่างกันอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ถูกละๆ สารีบุตร บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือ ขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลาดกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ว่า ขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดเพราะอาหาร ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญญา มีความดับเป็นธรรมดา ดูก่อนสารีบุตร บุคคลชื่อว่าเป็นเสขะได้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล
“ดูก่อนสารีบุตร ก็บุคคลชื่อว่าได้ตรัสรู้ธรรมแล้วเป็นไฉน ดูก่อนสารีบุตร บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือขันธปัญจกที่เกิดขึ้นแล้ว ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความไม่ถือมั่นซึ่งขันธปัญจกที่เกิดแล้วเพราะอาหาร ย่อมเห็นด้วยปัญญาดันชอบตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นซึ่งขันธปัญจกที่มีความดับเป็นธรรมดา ดูก่อนสารีบุตร บุคคลได้ชื่อว่า ตรัสรู้ธรรมแล้วด้วยการอย่างนี้แล.....”
ภูตมิทสูตร
🔆 ทุกข์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ปัญหา ทุกข์ทั้งหลายมี ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น ใครเป็นเจ้าของ ? เราจะกล่าวว่าทุกข์เป็นของเรา? เราจะกล่าวว่าทุกข์เป็นของเราดังนี้จะได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวว่า ชรา มรณะเป็นไฉน และชรามรณะนี้เป็นของใคร หรือพึงกล่าวว่า ชรามรณะเป็นอย่างอื่น และชรามรณะนี้เป็นของผู้อื่น คำทั้งสองของผู้นั้นมีเนื้อความอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีทิฐิว่า ชีพก็อันนั้น ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี หรือเมื่อมีทิฐิว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี ดูก่อนภิกษุ ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้น ดังนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะฯ”
อวิชชาปัจจยสูตร
🔆 ปิดประตูนรก
ปัญหา ทำอย่างไร จึงจะเชื่อแน่ได้ว่า คนจะไม่ตกนรก และจะไม่เกิดในอบายภูมิอื่น ๆ อย่างเด็ดขาด?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวสกย่อมประกอบด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมอย่างประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้วแทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเอง ได้ว่าเราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำหนดสัตว์เดียรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า
“ภัยเวร ๕ ประการสงบแล้วเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ฆ่าสัตว์.... บุคคลผู้ลักทรัพย์.... บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม..... บุคคลผู้พูดเท็จ.... บุคคลผู้ตั้งอยู่ในความประมาท เพื่อดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ย่อมประสบภัยเวรใดอันมีในชาตินี้บ้าง อันมีชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยทุกข์ทางใจคือโทมนัสบ้างเพราะปาณาติบาต.... เพราะอทินนาทาน.... เพราะกาเมสุมิจฉาจาร.... เพราะมุสาวาท.... เพราะการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นเหตุ.... กาเมสุมิจฉาจาร.... มุสาวาท.... การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้สงบแล้ว
“อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม อันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.... ในพระธรรม.... ในพระสงฆ์.... ย่อมประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อมเป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ครอบงำได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างนี้.....
“ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญาเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับด้วย ประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ ก็เพราะอวิชชาดับ.... สังขารจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมีด้วยประการอย่างนี้
“ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบแล้วเมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมย่อมประเสริฐนี้... อริยสาวกนั้น หวังอยู่พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว....”
ปัจจเวรภยสูตร
🔆 บ่อเกิดแห่งทุกข์
ปัญหา ความทุกข์เกิดขึ้นโดยวิธีใด?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นไฉนเพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์..เพราะอาศัยหูและเสียง.... เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น.... เพราะอาศัยลิ้นและรส.... เพราะอาศัยกาย และโผฏฐัพพะ.... เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะพาผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา.... นี้แล เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์....
ทุขนิโรธสูตร
🔆 ทุกข์ดับที่ไหน
ปัญหา ทุกข์ย่อมเกิดจากตาเห็นรูปเป็นต้นแล้วเกิด จักขุ วิญญาณ และผัสสะ เวทนา ตัณหา โดยลำดับ ถ้าจะดับทุกข์จะดับที่ไหน ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน เพราะอาศัยจักขุเป็นวิญญาณ.... เพราะอาศัยหูและเสียง จึงเกิดโสตวิญญาณ....เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น จึงเกิดฆานวิญญาณ.... .... เพราะอาศัยลิ้นและรส จึงเกิดชิวหาวิญญาณ........ เพราะอาศัยกาย และโผฏฐัพพะ จึงเกิดกายวิญญาณ........ เพราะอาศัยใจและธรรมจึงเกิดมโนวิญญาณ.... จึงเกิดมโนวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ (คือจักษุ+รูป+จักขุวิญญาณ) เป็นผัสสะ เพราะพาผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหานั้นเทียวดับ เพราะสำรอกโดยเหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส อุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้.... ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์....
ทุขนิโรธสูตร
🔆 อะไรเกิดขึ้นเมื่ออวิชชาดับ
ปัญหา เมื่ออวิชชาซึ่งเป็นต้นเค้าของทุกข์ดับไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแลภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้นภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา... เมื่อไม่ทำ เมื่อไม่จงใจ ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตนย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่สงบแล้ว... ภิกษุนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันคนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา ไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวยทุกขเวทนา... อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าทุขเวทนานั้น.... อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่ยึดถือ... ไม่เพลิดเพลินด้วยตัณหา ภิกษุนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนา... ทุกขมเวทนา อทุกขมสุขเวทนาก็วางเฉยเสวยไป... เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏ ทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็นที่สุด รู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น ตั้งแต่สิ้นชีวิตเพราะความแตกแห่งกาย”
ปริวีมังสนสูตร
🔆 จิต มโน วิญญาณ
ปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีทรรศนะเกี่ยวกับกายและจิตอย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จะพึงเบื่อหน่าย คล้ายยินดีหรือหลุดพ้นในร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (ย่อมเป็นไปได้) นั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ความเจริญ ความเสื่อม การเกิด หรือการตาย ของร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ นี้ ย่อมปรากฏ (เฉพาะ) ปุถุชนผู้ได้เรียนรู้ จึงเบื่อหน่าย คลายความยินดีหรือหลุดพ้นในร่างกายนั้นได้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใดที่เรียกกันว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง
การที่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จะพึงเบื่อหน่าย คลายความยินดีหรือหลุดพ้นในธรรมชาตินั้น (ย่อมเป็นไปไม่ได้) นั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าธรรมชาตินั้น ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ มาตลอดกาลช้านาน ฉะนั้นปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายความยินดี หลุดพ้นในธรรมชาตินั้นได้เลย
อัสสุตวตา
🔆 กายยังถาวรกว่าจิต
ปัญหา คนส่วนมากเข้าใจว่า ในคนเรามิจิต ซึ่งมั่นคงถาวรไม่รู้จักตาย แม้ร่างกายตายไปแล้ว จิตก็ยังอยู่ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไรในเรื่องนี้ ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนมิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่ถ้าจะเข้าไปยึดถือจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ แต่ธรรมชาติที่เรียกว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้างนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและในกลางวัน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่ จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใดธรรมชาติที่เรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้างนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวันก็ฉันนั้นแล ฯ”
อัสสุตวตาสูตร
🔆 ผัสสาหารคืออะไร
ปัญหา ผัสสาหาร อาหารคือการสัมผัส ซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาหารทั้ง ๔ นั้น คืออย่างไร? เราควรจะมีท่าทีความรู้สึกต่อผัสสาหารนั้นอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร ? เหมือนอย่างว่าแม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน ถ้ายืนอาศัยอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูกสัตว์จำพวกที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ กัดกินอยู่ร่ำไป ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใด ที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว”
ปุตตมังสสูตร
🔆 มโนสัญเจตนาหารคืออะไร
ปัญหา มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความตั้งใจ ซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาหารทั้ง ๔ นั้น คืออย่างไร? เราควรกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร ? เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่ง อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์เดินมา บุรุษ ๒ คน มีกำลัง จับเขาที่แขนข้างละคน คร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจ อยากจะไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหาร ได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เมื่ออริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว”
ปุตตมังสสูตร