🙏 พระพุทธดำรัส 🙏
🔅 ทุกข์เกิดจากยึดถือขันธ์ ๕ เป็นต้น
ปัญหา ความยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ก่อให้เกิดทุกข์อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ในโลกนี้มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเห็นรูป (เป็นต้น) ในตน ย่อมเห็นตนในรูป (เป็นต้น) รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณของเขานั้นย่อมแปรปรวนไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะเหตุที่รูป (เป็นต้น) ของเขาแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ(จิต) ของเขาจึงพลอยผันแปรไปตามความผันแปรแห่งรูป (เป็นต้นนั้น) ความสะดุ้งและความทุกข์อันเกิดแต่ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปรแห่งรูป (เป็นต้น) ย่อมเข้าครอบงำจิตของปุถุชนนั้น เพราะจิตถูกครอบงำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจ มีความห่วงใย และความสะดุ้งอยู่ เพราะความถือมั่น... ความสะดุ้งและความถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล....”
อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๑
🔅 สุขเกิดเพราะไม่ยึดขันธ์ ๕ เป็นต้น
ปัญหา ความไม่ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ก่อให้เกิดสุขอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมไม่เห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป (เป็นต้น) ย่อมไม่เห็นรูป ในตน ย่อมไม่เห็นตนในรูป รูป ของอริยสาวกนั้นย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไปเพราะรูป แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ (จิต) ของเขาจึงไม่ผันแปรไปตามความผันแปรแห่งรูป (เป็นต้นนั้น) ความสะดุ้ง และความทุกข์อันเกิดแต่ความหมุนเวียนแปรปรวนแห่งรูป ย่อมไม่เข้าครอบงำจิตของอริยสาวกนั้น เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบากใจ ไม่มีความห่วงใย และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล”
อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๑
🔅 อัตตา-อนัตตา ในขันธ์ ๕
ปัญหา การเห็นหลัก อัตตา และ อนัตตา คือเห็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ยังมิได้เรียนรู้ในโลกนี้ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ส่วน อริยสาวกในพระพุทธศาสนา ผู้ได้เรียนรู้แล้วย่อมพิจารณาเห็นว่า รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.....”
อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๒
🔅 ขันธ์ ๕ ในกาลทั้ง ๓ กับไตรลักษณ์
ปัญหา พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนอย่างไร คิดอย่างไร เกี่ยวกับขันธ์ ๕ ในกาลทั้ง ๓?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นอดีตและอนาคตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนรูป (เป็นต้น) ที่เป็นปัจจุบันนั้นไม่ต้องพูดถึง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีความอาลัยในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในรูป (เป็นต้น) ที่เป็นอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน”
อตีตานาคตปัจจุปันนสูตร ที่ ๑-๓
🔅 ไตรลักษณ์เกี่ยวข้องกัน
ปัญหา ไตรลักษณ์ทั้ง ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวกพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง....”
อนิจจาสูตร ที่ ๒
🔅 เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์
ปัญหา ทำไมขันธ์ ๕ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้ปัจจัยที่ให้รูป (เป็นต้นนั้น) เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รูป (เป็นต้น) ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาเล่า?”
อนิจจเหตุสูตรฯ
🔅 นิโรธดับอะไร
ปัญหา อริยสัจจ์ที่ ๓ คือ นิโรธ ที่แปลว่าความดับนั้น คือ ดับอะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา... มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา... มีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่ง รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นเรียกว่า นิโรธ... ความดับแห่งธรรมเหล่านี้แลเรียกว่า นิโรธ...”
อานันทสูตร
🔅 ภาระหนักของมนุษย์
ปัญหา ภาระอันหนักของมนุษย์คืออะไร? จะปลงลงได้อย่างไร ?
ปัญหา ภาระอันหนักของมนุษย์คืออะไร? จะปลงลงได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ภาระ อุปาทานขันธ์ ๕ คืออะไร? คือ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เรียกว่า ภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้แบกภาระคือใคร? ผู้แบกภาระ คือ บุคคล... ที่มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ นี่เรียกว่า ผู้แบกภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกรณ์สำหรับแบกภาระคืออะไร ? ตัณหาที่นำไปเกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี ทำให้หลงเพลิดเพลินในภพนั้น ๆ กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้ เรียกว่า อุปกรณ์ เครื่องแบกภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปลงภาระคืออย่างไร? คือการดับตัณหา สิ้นความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง การสละทอดทิ้งหลุดพ้นจากตัณหาอย่างไม่มีเยื่อใยนี้ เรียกว่า การปลงภาระลง...”
ภารสูตร
🔅 ขันธ์ ๕ ควรเรียนรู้
ปัญหา ตามหลักพระพุทธศาสนา อะไรคือสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ ปริญญา ที่แท้จริงนั้นคืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรเรียนรู้นั้นคืออะไร ? รูป เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริญญาคือใคร? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่า ปริญญา "
ปริญญาสูตร
🔅 คนที่เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปัญหา บุคคลควรปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะสิ้นทุกข์ได้ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ไม่รู้จริง ไม่รู้ทั่วถึง ไม่เบื่อหน่าย ไม่สละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จัดเป็นคนอาภัพต่อการสิ้นทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่รู้จริง รู้ทั่วถึง เบื่อหน่าย และสละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จึงเป็นผู้เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปริชานสูต
🔅 วิธีดับขันธ์ ๕
ปัญหา บุคคลจะดับขันธ์ ๕ ได้อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความใคร่ ความพอใจ ในรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้รูป (เป็นต้นนั้น) ก็จะเป็นอันถูกละ ถูกตัดราก เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา....”
ฉันทราคสูตร
🔅 แง่ดีและเสียของขันธ์ ๕
ปัญหา ขันธ์ ๕ มีแต่แง่ทุกข์อย่างเดียว หรือว่ามีแง่สุขอยู่บ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราเคยรำพึงว่า อะไรหนอเป็นคุณของรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสละคืน? เรารำพึงต่อไปว่า ความสุข ความเบิกบานใจเกิดขึ้นเพราะอาศัยรูป (เป็นต้น) มีอยู่ นี้เป็นคุณของรูป รูป ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ.... การกำจัดเสีย การประหารเสียซึ่งความใคร่ ความพอใจในรูป (เป็นต้นนั้น) นี้เป็นการสละคืนขันธ์ ๕
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งการสละคืนว่าเป็นการสละคืนแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตราบนั้น เราก็ไม่ปฏิญาณว่าตนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเรารู้แจ้งตามความเป็นจริง.... เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณ... ญาณคือความเห็นแจ้งได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ความพ้นทุกข์ของเราไม่มีผันแปร ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีภพใหม่อีก....”
อัสสาทสูตรที่ ๑
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ รูป (เป็นต้นนั้น) มีคุณอย่างใด เราก็ได้พบคุณอย่างนั้น .... มีคุณเท่าใด เราก็ได้เห็นแจ้งด้วยปัญญาเท่านั้น .... เราเคยท่องเที่ยว แสวงหาโทษของ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เราก็ได้พบโทษ.... ได้เห็นโทษด้วยปัญญา..... เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาการสลัดออกซึ่งขันธ์ ๕ เราก็ได้พบการสลัดออก...”
อัสสาทสูตรที่ ๒
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่ยินดีเพลิดเพลินในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีเพลินเพลิด....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่เบื่อหน่ายในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะโทษแห่งรูป มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่าย...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าการสลัดออกซึ่ง รูป (เป็นต้นนั้น) จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่แล่นออกไปจากรูป แต่เพราะการสลัดออกมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงออกไป.....ได้
อัสสาทสูตรที่ ๓
🔅 เพลิดเพลินขันธ์ ๕ เพลิดเพลินทุกข์
ปัญหา คนเช่นใด มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์มากกว่าคนอื่น?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลิน รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลไม่เพลิดเพลินรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ผู้นั้นไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์
อภินันทนสูตร
🔅 มีขันธ์ ๕ ก็มีทุกข์
ปัญหา ขันธ์ ๕ กับทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรคทั้งหลาย เป็นความปรากฏแห่งชรา มรณะ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความสงบระงับความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นสงบระงับแห่งโรคทั้งหลาย เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชรา มรณะ
อุปปาทสูตร
🔅 ขันธ์ ๕ เหมือนใบไม้นอกตัวเรา
ปัญหา การถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตน เป็นการถูกต้องหรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย เพื่อละได้แล้วจักเป็นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข.... ก็อะไรเล่าไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย? รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงเก็บเอาไป หรือเผาไฟ หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสมซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในพระเชตวันนั้น ท่านควรคิดว่า ฝูงชนเอาไปหรือเผา หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสม ซึ่งเราทั้งหลายกระนั้นหรือ?
“ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า หามิได้พระเจ้าข้า
“พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร
“ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่เราหรือ นับเนื่องด้วยเรา
“อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่าน จงละเสีย เมื่อละได้แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข”
นตุมหากสูตร ที่ ๑
🔅 คิดถึงอะไร เป็นสิ่งนั้น
ปัญหา ภิกษุรูปหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดแต่โดยย่อ เพื่อจักได้นำไปปฏิบัติต่อไป พระโอวาทย่อว่าอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลย่อมครุ่นคิดในสิ่งใด ย่อมเข้าไปมีส่วนเป็นสิ่งนั้น บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่เข้าไปมีส่วนในสิ่งนั้น.... ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเข้าไปมีสวน เป็น รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงรูป (เป็นต้น) นั้น ก็ไม่เข้าไปมีส่วนเป็นรูป (เป็นต้นนั้น)”
ภิกขุสูตร ที่ ๑
🔅 เพราะหน่ายจึงรู้ เพราะรู้จึงพ้น
ปัญหา ชาวพุทธควรมีทัศนคติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คืออยู่ด้วยความเบื่อหน่ายอย่างมากใน รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเป็นผู้อยู่ด้วยความเบื่อหน่ายอย่างมากในรูป (เป็นต้น) ย่อมรอบรู้ รูป (เป็นต้นนั้น) เมื่อรอบรู้... ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความระทม ความแค้นใจ ความแห้งใจ เรากล่าวว่าย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมีธรรมอันเหมาะสม คือพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง.... เห็นความทุกข์... เห็นความเป็นอนัตตาในรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความเป็นอนัตตาในรูป ย่อมรอบรู้ในรูป เมื่อรอบรู้ .... ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ... เรากล่าวว่าย่อมหลุดพ้นจากทุกข์
อนุธรรมสูตร ที่ ๑-๔
🔅 ที่พึ่งของชาวพุทธ
ปัญหา อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริงของชาวพุทธ และจะพึ่งได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอจะมีตนเป็นที่พึ่ง.... มีธรรมเป็นที่พึ่ง....จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบว่า ความโศก ความคร่ำครวญ ความระทม ความแค้นใจ ความแห่งใจ มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ย่อมพิจารณาเห็น รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น เห็นตนว่ามีรูป (เป็นต้น) เห็นรูป ในตน ย่อมเห็นตนในรูป รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นของเขาย่อมแปรไป.....ความโศก ความคร่ำครวญ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้ว่า รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง แปรปรวนไป.... ดับไป เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบดังนี้ว่ารูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ในกาลก่อนและในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาดังนี้ ย่อมละความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ได้ เพราะละความโศกได้จึงไม่เดือดร้อน เพราะไม่เดือดร้อนจึงอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า เป็นผู้ดับเย็นแล้วอย่างครบถ้วน”
อัตตทีปสูตร
🔅 เกิดมีตน ก็เกิดมีทุกข์
ปัญหา ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน เกิดขึ้นได้อย่างไร ? และจะดับได้อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้แล้ว ในโลกนี้ ย่อมเข้าในรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น ย่อมเห็นตนว่ามีรูป (เป็นต้น) ย่อมเห็นรูป (เป็นต้น) ในตน ย่อมเห็นตนในรูป (เป็นต้น).... นี้เรียกว่าทางดำเนินอันจะให้เกิดความเห็นว่ามีตัวตน... อันจะยังสัตว์ให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในโลกนี้ ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมไม่เข้าใจ
รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น ย่อมไม่เข้าใจว่าตนมีรูป ย่อมไม่เข้าใจว่ารูป มีในตน ย่อมไม่เข้าใจว่าตนในรูป (เป็นต้น).....นี้เรียกว่าทางดำเนินอันจะยังสัตว์ให้เกิดความดับตัวตน... เรียกว่าการพิจารณาเห็นอันจะยังสัตว์ให้ถึงความดับทุกข์
ปฏิปทาสูตร
🔅 อุปาทานขันธ์ คืออะไร
ปัญหา สิ่งที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ นั้น คืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีตอยู่ในที่ไกลหรือใกล้ มีอาสวะ ในตัว เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทาน ขันธ์คือ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕
ปัญจักขันธสูตร
🔅 ขันธ์ตนกับขันธ์คนอื่น
ปัญหา บุคคลควรพิจารณาเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ของตนกับ ขันธ์ ๕ ของคนอื่นหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมพิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา... เราเท่าเทียมกับเขา.. เราเลวกว่าเขาโดย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง “..... ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา... เราเท่าเทียมกับเขา.. เราเลวกว่าเขาโดย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรมตามความเป็นจริง....”
โสณสูตร ที่ ๑
🔅 วิญญาณอาศัยขันธ์ ๕
ปัญหา วิญญาณจะมีอยู่โดยไม่ต้องอาศัยขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้ายึดรูป พึงดำรงอยู่ได้ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปซ่องเสพด้วยความยินดี พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์... วิญญาณที่เข้ายึดเวทนา... สัญญา.... สังขาร...พึงดำรงคงอยู่ได้ วิญญาณที่มี รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...เป็นอารมณ์ มี รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร... เป็นที่ตั้ง เข้าไปซ่องเสพ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร ) ด้วยความยินดี พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักบัญญัติการมา การไป การจุติ การอุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ โดยไม่ต้องอาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุละราคะในรูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญาณธาตุได้แล้ว อารมณ์ (แห่งวิญญาณ) ก็เป็นอันตัดขาดเพราะละราคะนั้นได้ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณที่ไม่มีที่ตั้งย่อมไม่งอกงาม ไม่สร้างต่อ (อนภิสงฺขจฺจ) ย่อมหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่นเพราะตั้งมั่นจึงอิ่มเอิบ (สนฺตุสิตํ) เพราะอิ่มเอิบจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งจึงดับเย็นสนิทเฉพาะตน ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ครบถ้วนแล้ว กิจที่ควรทำได้เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อให้เกิดผลเช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว”
อุปายสูตร
🔅 วิญญาณอาศัยรูป
ปัญหา วิญญาณธาตุ ต้องอาศัย รูป เวทนา สัญญา สังขารอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุพืช ๕ อย่างนี้... คือ พืชงอกจากเหง้า ๑ พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจากยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูกลม แดด ทำให้เสีย ยังเพาะขึ้น ที่เขาเก็บไว้อย่างดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ พืช ๕ อย่างนี้พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ ? ไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้.... ที่เขาเก็บไว้อย่างดี และมีดิน มีน้ำ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ? ....ได้ พระพุทธเจ้าข้า “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นที่ตั้งทั้ง ๔ ของวิญญาณ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร) เหมือนธาตุดิน พึงเห็นความยินดีเพลิดเพลินเหมือนธาตุน้ำ พึงเห็นวิญญาณพร้อมด้วยอาหารเหมือนพืช ๕ อย่าง...ฯ”
พืชสูตร
🔅 ขันธ์ ๕ ความเกิดและความดับขันธ์ ๕
ปัญหา ขันธ์ ๕ เหตุให้เกิดขันธ์ ๕ ความดับขันธ์ ๕ และทางปฏิบัติเพื่อดับขันธ์ ๕ คืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปคืออะไร คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป ความเกิดขึ้นแห่งรูปก่อนมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด.... เป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งรูป...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาคืออะไร เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนา เกิดแต่จักษุสัมผัส (ตากระทบกับรูป) โสตสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าเวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาย่อมมีเพราะเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งเวทนา
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาคืออะไร สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ ความจำหมายในรูป ความจำหมายในเสียง ความจำหมายในกลิ่น ความจำหมายในรส ความจำหมายในโผฏฐัพพะ ความจำหมายในธรรมารมณ์.... นี้เรียกว่าสัญญา ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งสัญญา
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารคืออะไร เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ สัญเจตนา (ความจงใจมุ่งหวังอย่างแรง) ในรูป สัญเจตนาในเสียง สัญเจตนาในกลิ่น สัญเจตนาในรส สัญเจตนาในโผฏฐัพพะ สัญเจตนาในธรรมารมณ์.... นี้เรียกว่าสังขาร ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งสังขาร
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณคืออะไร วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางตา...ทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น..ทางกาย...ทางมโน...นี้เรียกว่าวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ”
ปริวัฏฏสูตร
🔅 วิธีพิจารณา ขันธ์ ๕
ปัญหา พุทธศาสนิกชนควรจะรู้จักขันธ์ ๕ ในด้านไหนบ้างและควรเพ่งพินิจขันธ์ ๕ คืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษผู้เสร็จกิจ.... ฐานะ ๗ ประการเป็นอย่างไร
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดซึ่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
เหตุเกิดแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
คุณแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
โทษแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณฯ
รู้ชัดซึ่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
เหตุเกิดแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
คุณแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
โทษแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณฯ
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง
โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง
โดยเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง
อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ”
ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง
โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง
โดยเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง
อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ”
สัตตัฏฐานสูตร